แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คือเนื่องจากเมื่อตอนเย็นนี้ได้รับขอร้องให้อธิบาย แนะวิธีการทำอานาปานสติ ต่อจากที่ได้อธิบายไว้แล้วตอนหนึ่ง ดังนั้นในวันนี้ก็จะได้พูดถึงเรื่องอานาปานสติแทนการบรรยายธรรมะ เมื่อจะพูดต่อไป ก็ยังอยากจะขอร้องให้ทบทวนไอ้ที่แล้วมา ได้จดได้จำไว้อย่างไร ก็ต้องทบทวนกันดูใหม่ หัวข้อใหญ่ ๆ ก็มีว่า ขั้นที่หนึ่ง วิ่งตาม วิ่งตามลม ขั้นที่สอง ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ขั้นที่สาม ว่าทำไอ้มโนภาพให้เกิดขึ้นที่จุดนั้น ซึ่งไม่ใช่เป็นของจริง ทีนี้ ขั้นที่สี่ ก็เปลี่ยนแปลงภาพไอ้นั้นได้ตามความต้องการ คืออยู่ในอำนาจ แล้วก็เลือกเอาอันที่ดีที่สุดคงไว้ ขั้นที่ห้า ก็พยายามทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้งห้าให้ครบถ้วน ให้กลมกลืนกันดี ให้สมส่วนกันดี จนได้เรียกว่าเป็นสมาธิ แท้จริงคือเป็นอัปปนาสมาธิ หรือปฐมฌานเป็นอย่างน้อย
ทีนี้ก็ทบทวนมาถึงข้อที่หนึ่งใหม่ ที่ว่าวิ่งตาม ให้ทำการหายใจโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่ให้มันวิ่งตามได้ง่าย หายใจออก หายใจเข้า พยายามทำเหมือนกับควงให้เป็นวงยาว ๆ หายใจให้แรงให้กำหนดได้โดยง่าย แล้วสติ หรือจะเรียกว่าจิต หรือจะเรียกว่าเรา ก็สุดแท้ ก็วิ่งตามกระแสลมที่ ออก เข้า ออก เข้า นี่เรียกว่าการวิ่งตามสำหรับขั้นที่หนึ่ง ในขั้นที่หนึ่งเท่านั้นแหละ ขั้นวิ่งตามเท่านี้ ยังมีบทเรียนที่จะต้องทำให้ดีถึงสามบท คือให้รู้เรื่องลมหายใจยาวบทหนึ่ง ให้รู้เรื่องลมหายใจสั้นบทหนึ่ง ให้รู้กายทั้งปวงอีกบทหนึ่ง เป็นสามบท บทที่ว่าให้รู้จักลมหายใจยาวนั่นก็หมายความว่า รู้จักลักษณะอาการ หรือว่าอิทธิพล อำนาจอะไรของมัน เมื่อมีลมหายใจยาว ลมหายใจยาวมีผลมีปฏิกิริยาอะไรต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ก็ควรสังเกตไว้เลย เมื่อได้ชื่อว่าหายใจยาว ก็รู้ว่าหายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็เหมือนกัน รู้ว่าความสั้นเป็นอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไรกับร่างกาย และในชั้นแรกนี่ก็ไม่สนใจอะไรหมด และไม่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ลังเลอะไรหมด นอกจากมาสนใจแต่จะรู้กันเรื่องสั้น เรื่องยาวเรื่องสั้น เรื่องลมหายใจเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าในโลกนี้ไม่มีอะไร เราจะรู้แต่เรื่องลมหายใจ ในบทเรียนนั้นก็ได้พูดถึงลมหายใจยาวก่อนเป็นข้อที่หนึ่ง ก็พยายามทำให้ยาวจนรู้เรื่องยาวให้ดี ยังจะไม่ตั้งปัญหาอะไรให้มันมาก ให้มันฟุ้งซ่าน ไปทำความสงสัย หรือมีปัญหาอะไรขึ้นมา มันก็ทำไม่ได้ ถ้าจะทำสมาธิ ก็ให้จิตมันปักอยู่แต่นิมิต หรืออารมณ์ที่เอามากำหนดเท่านั้น อย่าไปมัวตั้งปัญหาอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นอยู่ ตอนนี้เราอาจจะกำหนดแต่ความยาว หรือลมที่ยาว รู้จักความยาว วิ่งตามไปเรื่อย ๆ การวิ่งตาม ออก เข้า ออก เข้า นั้นทำ ๆ ๆ ก่อนแล้ว ทำเสร็จแล้ว ทำก่อนแล้ว ทำจนเรียกว่าเป็นระเบียบดีแล้ว ถึงจะเลื่อนมากำหนดความยาว เพื่อรู้จักลมหายใจยาว เมื่อได้ดีแล้วจึงเลื่อนมาสังเกตลักษณะของลมหายใจสั้น อิทธิพลของลมหายใจสั้น ถ้ามันเกิดบังเอิญสลับกันด้วยเหตุอย่างอื่น มันสั้นบ้างยาวบ้างเป็นบางครั้งนี้ก็เรียกว่ามันไม่ปรกติ ก็รู้ไว้ด้วยเหมือนกัน ว่ามันผิดปกติอย่างไร และมีผลอะไรเกิดขึ้น แล้วคอยนั่งเผ้ากำหนดความยาวความสั้น เมื่อทำได้ดีพอสมควรแล้วมันก็ควบคุมได้ มันยาวเสมอ ยิ่งกว่านั้นก็ให้มันละเอียด ประณีต ให้ลมหายใจมันละเอียดกว่าธรรมดา คนเราหายใจหยาบ เมื่ออารมณ์มันเสีย เมื่อโกรธ หรือเมื่ออะไรก็ตามอย่างนี้อารมณ์มันเสีย ก็หายใจหยาบ เมื่อร่างกายยังไม่รำงับมันก็หายใจหยาบ ก็ทำให้ละเอียด ให้ลมมันละเอียด ร่างกายมันก็รำงับ คือเมื่อร่างกายมันรำงับก็รู้ได้ว่าการหายใจมันละเอียด ละเอียดอยู่ตามธรรมชาตินั้นก็มี ทีนี้ให้ละเอียดกว่าธรรมชาติยิ่งขึ้นไปอีกก็มี คือทำได้ นี่ยังเป็นนักศึกษาก็รู้จักลมหายใจก็ให้ถึงที่สุดจริง ๆ คือว่าทำเล่น ๆ ไม่ได้ แล้วก็ทำอย่างที่ ที่ทำอยู่นี้คงไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำจริง วันหนึ่งหัวเราะเสียมาก เล่นหัวหรือสนใจเรื่องอื่นเสียมาก มันก็ มันก็เลือนไป มันต้องตัดไอ้เรื่องอื่น ๆ ออกไป ให้มีเวลาเป็นอิสระ จิตใจสงบรำงับ แล้วก็ดูกันอย่างจริงจัง เหมือนคนที่ไม่เหลวไหลดูหนังสือสอบไล่นี่ มันก็ดูจริง ๆ มันก็ได้ผลจริง ๆ ไอ้คนเหลวไหล จะสอบไล่อยู่แล้วมันก็ยังเที่ยวหัวเราะ เล่นหัวอยู่กับคนนั้นคนนี้ มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ทีนี้เรื่องกำหนดลมหายใจนี้มันยิ่งไปกว่าดูหนังสือสอบไล่อีก ต้องอุทิศให้มัน มันเกือบจะทำได้เอง รู้ได้เอง สอนได้ในตัวเอง ว่าลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร นี่ค่อย ๆ คืบคลานเข้าไป สังเกตกำหนดถึงความที่ว่า มันสัมพันธ์อะไรกันกับร่างกาย มันจึงเกิดคำว่า รู้กายทั้งปวง ขึ้นมา ลมหายใจนี้ก็เป็นกายชนิดหนึ่ง บางทีก็เรียกว่ากายสังขารก็ได้ บางทีเรียกว่ากายก็ได้ กายเฉย ๆ ก็ได้ ทีนี้ไอ้เนื้อหนังร่างกายนี้ก็เป็นกายชนิดหนึ่ง นี้สัมพันธ์กันอย่างไร อย่าจดไป หรือว่าท่องจำไว้มันสัมพันธ์กันอย่างไรนั้นไม่มีประโยชน์ ต้องรู้จักความที่มันสัมพันธ์กันจริง ๆ รู้ด้วยความรู้สึกที่เราสังเกตรู้ เรากำหนดรู้ ไม่พะวงถึงไอ้เรื่องจำได้ หรืออะไรจดไปอย่างไร นี่ไม่ ๆ ต้อง คือให้สังเกตเอาเองว่า ไอ้ลมหายใจกับร่างกายนี่มันสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อหยาบก็หยาบด้วยกัน หรือละเอียดก็ละเอียดด้วยกัน เมื่อฟุ้งก็ฟุ้งด้วยกัน เมื่อสงบก็สงบด้วยกัน อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เรียกว่ากายทั้งปวง คำว่ากายนี่แปลว่าหมู่ หมู่ลมทั้งปวงก็ได้ หมู่เนื้อหนัง ร่างกายทั้งปวงนี้ก็ได้ มีแต่เพียงสองกายเท่านั้นก็เรียกว่าทั้งหลายได้แล้ว ทั้งหลายแล้วก็ทั้งปวงได้ คือมันมากกว่าหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ต้องรู้สึก รู้จากความรู้สึก และรู้สึกอยู่จริง ๆ ในการฝึกอานาปานสติ
ขั้นแรกใช้คำว่าขั้นแรกนี่กำหนดเอาเอง ตั้งขึ้นเอง เรียกว่า ขั้นแรก คือวิ่งตาม เมื่อวิ่งตามได้ดีจริง ๆ แล้วจึงค่อยกำหนดเรื่องของความยาว กำหนดเรื่องของความสั้น และกำหนดเรื่องของกายทั้งปวง หรือสองกายที่มันสัมพันธ์กันอยู่ และในบทวิ่งตามนี่มันมีเรื่องมากอยู่ แล้วต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าในขั้นนี้ทำให้ดีที่สุดไม่ได้ ก็เป็นอันว่าจะ จะไม่มีหวัง หรือหวังยากที่จะทำขั้นต่อไปให้ได้ ฉะนั้นเราจะต้องสนใจ ทำให้ดีที่สุดไปทุก ๆ ขั้นตั้งแต่ต้น นี่เรื่องวิ่งตาม บทเรียนที่ว่าด้วยการวิ่งตามมีอยู่อย่างนี้ คือวิ่งตามแล้วกำหนดความยาว แล้วกำหนดความสั้น แล้วกำหนดข้อเท็จจริงทั้งหลาย คือธรรมะทั้งหลาย เกี่ยวกับกายสองกายนี้
ทีนี้ก็ถึงบทที่สอง หรือขั้นที่สองแล้วแต่จะเรียก เรียกขั้นเฝ้าดู เมื่อทำอย่างวิ่งตามได้ดีแล้วเป็นที่พอใจ ก็เลื่อนมาขั้นเฝ้าดู ซึ่งมันจะยาก มันจะลำบาก แล้วมันจะประณีตขึ้นไปอีก คำว่าเฝ้าดู คือเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง และจุดที่เหมาะที่สุดนั้นก็คือที่จะงอยจมูก ที่ลมจะต้องกระทบทั้งเข้าและทั้งออก ทีนี้ไม่วิ่งตาม มากำหนดอยู่ที่จุดนั้นอย่างเดียว มันก็ยากขึ้น คือมันจะเปิดโอกาสให้สตินี่หนีไปจากอารมณ์ หรือที่ ๆ กำหนดนั้นได้ง่าย ได้ง่ายขึ้น เพราะมันเพียงแต่เฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่ง มันไม่ได้วิ่งตามไปด้วยกัน เข้าออก เข้าออก แต่ก็รู้ความที่หายใจเข้าออก ไอ้การกำหนด ๆ อยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว ในตอนนี้ถ้ามันจะไม่สำเร็จ คือว่าทำได้ด้วยความยากลำบากแล้วก็ต้องพยายามหายใจให้มันเนื่องกันอยู่เสมอ คือให้มีลมหายใจที่ผ่านที่ตรงจุดจะงอยจมูกนั้นอยู่เสมอ ทั้งเข้าและทั้งออก เมื่อลมหายใจมันกระทบอยู่ทั้งเข้าและทั้งออก ไม่ขาดระยะมันก็กำหนดง่ายขึ้น มันต้องหายใจค่อนข้างหยาบหรือค่อนข้างธรรมดาอยู่ก่อน ไม่ใช่กำหนดแต่ที่ตรงนั้นได้โดยง่าย จงรู้ว่ามันละเอียด หรือมันประณีตนี่มันยากยิ่งกว่าบทที่หนึ่ง ดังนั้นต้องทำแยบคายกว่ากันจึงจะสำเร็จ
เมื่อลมหายใจมันผ่านจุดนั้นอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดลง มันจะกลับเข้ามาอีก ก็เริ่มขั้นต้นกลับเข้ามานี่ มันอาจจะมีระยะยาวมากสำหรับจิตจะหนีไป ไอ้ระยะที่มันว่าง ๆ จากการกำหนด เพราะเราไม่ได้ทำอย่างติดพันกันไปเรื่อย มันมีคอยแต่เฝ้าดูว่าเมื่อไหร่มันจะออกไป หรือเมื่อไหร่มันจะกลับเข้ามาอีก มันต้องเรียกว่าทำได้เก่งกว่า ถ้าทำได้ก็เก่งกว่าขั้นที่หนึ่ง ให้ทำสมมุติเหมือนกับว่าไอ้ตรงจะงอยจมูกด้านในนั้นที่ ๆ ลมกระทบนั้น เป็นเนื้อที่อ่อน หรือไวต่อความรู้สึก เหมือนกับมีแผลอยู่อย่างนี้ก็จะดี คือว่าถ้ามันมีแผลมันเป็นเนื้ออ่อนมันก็ไวต่อความรู้สึก ลมพัดมันก็ยังรู้สึก เหมือนเมื่อเรามีแผลที่เนื้ออ่อน ลมพัดมีมาถูก รู้สึกยิ่งกว่าไอ้เนื้อที่มันไม่มีแผลอย่างนี้ นี้สมมุติว่าให้มันรู้สึกได้เหมือนอย่างกับว่าไอ้เนื้อตรงนั้นมันอ่อน หรือมีแผล ในชั้นครั้งแรก ๆ ก็ทำอย่างหยาบ ๆ อย่างนี้ แล้วต่อไปมันก็ค่อย ๆ เข้ารูปของมันเองได้ นี่เรียกว่า เฝ้าดูอยู่ที่จุดนั้น พอเข้าไป ๆ ออกมา ๆ เข้าไป ๆ ออกมา ๆ ๆ มันไม่ต้องวิ่งกระโจนตามไปด้วย ดังนั้นมันจึงประณีตกว่า สงบกว่า รำงับกว่า นี่ตอนนี้มันจึงเป็นบท เป็นอานาปานสติขั้นที่สี่ที่ว่า ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออกเข้า แต่นี้เป็นการเริ่ม เริ่มทำกายสังขารให้รำงับ คือทำลมหายใจให้มันรำงับโดยตรงสำหรับบทเรียนบทนี้ ไอ้บทเรียนแรกที่วิ่งตามกำหนดยาว กำหนดสั้น กำหนดอะไรได้ทั้งปวง ยังไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันรำงับ และมันจะต้องชัดเจนด้วย มันจึงไม่ต้องการความรำงับ ต้องการความชัดเจน
พอมาถึงไอ้บทที่เฝ้าดูนี่ มันจะเลื่อนมาสู่อานาปานสติขั้นที่เรียกว่า ทำกายสังขารให้รำงับ นั่นมันจะต้องปรับลมหายใจให้ไปในทางที่จะรำงับ คือจะต้องมีความระมัดระวัง นี่ละเอียดลออกว่าเดิมมันถึงจะรำงับ นี่บทที่สอง หรือขั้นที่สองก็แล้วแต่จะเรียก มันปนกันยุ่ง ไอ้เรียกบท เรียกขั้น เรียกตอนนี้ แต่บทเรียนที่สองนี้หมายถึงว่า เฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่ง ลมมันกระทบที่ตรงไหน ก็เอาที่ตรงนั้นแหละ มันจะประณีตขึ้นจนถึงกับว่า ไม่ค่อยได้ยินอะไรแล้ว ถ้ามันยังได้ยินอะไร หรือยังรู้สึกอะไรอยู่ มันจะกำหนดที่ตรงนั้นไม่ได้ ดังนั้นต้องจัดให้มันละเอียดประณีตถึงกำหนดได้ จนถึงกับว่ามันไม่ จริตมันจะไม่ได้ยินอะไร มันเริ่มจะไม่ได้ยินอะไร หรือไม่รู้สึกอะไร นอกจากจะรู้สึกแต่ที่ตรงนั้นแห่งเดียว ก็ทำไป ๆ คล้ายกับว่าในโลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่ความรู้สึกอยู่ที่จุดนั้นจุดหนึ่งเท่านั้น แม้มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในการเห็นนั้น เห็นนั่นเห็นนี้เข้ามาก็ช่าง ช่างมันเถอะ เราจะกำหนดแต่ที่ตรงนั้น เพราะต่อไปนี้มันจะทำให้มีไอ้ภาพที่เป็นเพียงมโนภาพ ปรากฏออกมาที่ตรงนั้น ถ้าทำไอ้ตอนที่ว่าเฝ้าดูนี้ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีทางที่จะทำขั้นต่อไปที่เรียกว่าทำมโนภาพให้เกิดที่ตรงนั้นให้สำเร็จได้ นั้นเป็นอันว่านี่มันเนื่องกันอยู่มากทีเดียว คือเฝ้าดูแล้วทำมโนภาพให้เกิดขึ้นที่จุดนั้น คือขั้น บทเรียนที่สองกับบทเรียนที่สามนี่มันเนื่องกันมาก ไม่ได้กำหนดที่ตรงนั้นมันก็เฝ้าดูที่ตรงนั้นจนไม่ได้ยินอะไรไม่เห็นอะไร หรือมันจะถึงกับว่ามันมืดหมด ไม่มีอะไร นอกจากว่าความรู้สึกอยู่ที่ตรงนั้น นี่มันว่างไปหมด ไม่มีอะไร นอกจากความรู้สึกที่มันอยู่ตรงนั้น กับไอ้จังหวะที่มันหายใจ ออก เข้า ๆ ๆไอ้การหายใจออกเข้า ๆ นี้ก็ต้องกำหนดให้รู้อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ากำหนดจุดนั้นแล้วจะไม่รู้สึกต่อการหายใจที่ออกและเข้า เพราะบทเรียนมันตายตัว มันต้องรู้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก ทุกครั้งที่หายใจเข้า กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น ตลอดเวลาที่หายใจออกและหายใจเข้า ถึงว่าการหายใจออกการหายใจเข้า มันจะประณีตยิ่งขึ้นแต่มันก็ยังรู้สึก มันเป็นเครื่องควบคุมไม่ให้มันเถลไถล หรือไม่ให้มันลืมตัว ลืมสติ เผลอสติ นั่นเหมือนกับว่าเครื่องให้จังหวะ จะเปรียบเหมือนกับว่าเครื่องให้จังหวะดนตรี ไอ้ดนตรีอื่นมันจะแสดงเสียง ออกเสียงมาอย่างไรก็สุดแท้แต่ดนตรีประเภทจังหวะเช่นฉิ่ง เช่นอะไรอย่างนี้มันจะต้องมีอยู่ แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง ดนตรีประเภทจังหวะนั่น มีหน้าที่ทำจังหวะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไอ้ดนตรีประเภทที่เป็นดนตรี เป็นตัวมิวสิค จริง ๆนั้นมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องของมัน นอกจากดนตรีจังหวะที่ไม่เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้มันก็มีดนตรีจังหวะ โดยการหายใจ ออกเข้า ๆ ๆ นี่เหมือนกับดนตรีจังหวะ นี่การกำหนดนั่นกำหนดไปตามบทที่เรากำลังกระทำอยู่ บทไหนก็ตาม ทีนี้แม้ว่าจะเฝ้าดูอยู่จุดหนึ่ง ความรู้สึกต่อการออกเข้า ๆ มันก็ไม่ใช่ นี่ยังรู้สึกอยู่ อย่างน้อยมันเป็นสองเรื่องที่ทำคราวเดียวกัน คนที่ไม่เคยทำ หรือทำไม่ได้ แล้วก็จะบอกว่ามันทำไม่ได้ ที่จะทำสองเรื่องคราวเดียวกัน นี่ต้องไปทำ ทำดูเองนะถึงจะรู้ว่าทำได้หรือทำไม่ได้
แม้จะมีหลักว่าจิตนี้ทำอะไรได้เพียงครั้งละอย่างนี่ แต่นั่นหมายถึงจิตสำนึกแท้ ๆ จิตที่ไม่ถึงสำนึกก็ยังมีอยู่และช่วยทำได้ เหมือนกับว่าอาบน้ำอยู่เราจะคิดอะไรพลางก็ได้ หรือมันถูฟันอยู่อาจจะคิดอะไรไปพลางก็ได้ ทำไมมันทำได้ อย่างนี้ก็ต้องการให้รู้สึกในลมหายใจออกเข้าอยู่ด้วย แล้วก็จุดที่กำหนดที่มันกระทบนั้นด้วย ในการกำหนดนั้นมาเพ่งแรงอยู่ตรงที่จุดที่ลมมันมากระทบ ทีนี้เมื่อทำไปสำเร็จ ก็เรียกว่าไอ้บทเรียนที่สองคือเฝ้าดูนี่สำเร็จ ก็เลื่อนชั้นขึ้นบทเรียนที่สามจริง ๆ แต่อย่าลืมว่าพยายามให้มันเนื่องกัน คือให้มันดึงไปหาบทเรียนที่สามได้จนเกือบจะเป็นอัตโนมัติ คือว่ามันกำหนดที่ตรงนั้นหนักเข้า ๆ ๆ จนเป็นใต้สำนึก ครึ่งสำนึก มันจึงจะสามารถทำมโนภาพอะไรให้ขึ้นมาที่ตรงนั้นแทน เหมือนกับว่าเดี๋ยวนี้เราจะเป็นคนมีสติชนิดพิเศษ รู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นว่างไปหมด มันมืดไปหมด มันคงจะรู้สึกแต่การหายใจออกเข้าของอะไรก็ไม่รู้ แล้วภาพนั้นก็เห็นในท่ามกลางความว่าง คือสมมุติว่ามืดเสียดีกว่า มืดจนไม่มีอะไร นอกจากว่าไอ้จุดที่ตรงนั้นซึ่งจะค่อยเด่นขึ้นมา โชติช่วงขึ้นมา เหมือนกับไฟที่มันแสดงแสงแรงขึ้น ๆ นี่ก็เรียกว่าภาพนั้นเป็นมโนภาพคือไม่ใช่ของจริง เป็นการที่นึกสร้างขึ้นมาด้วยความนึก จิตน้อมนึกเป็นอะไรมันก็จะเห็นภาพด้วยตาข้างในนั้นอย่างนั้น นี้มันก็เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ของผิดธรรมชาติ สามารถสร้างไอ้ภาพ มโนภาพเช่นนี้ขึ้นมาได้ ก็หมายความว่ามันละเอียดประณีต สุขุมหรือยากกว่าไอ้บทเรียนที่สองซึ่งเพียงแต่เฝ้าดูไอ้ลมจริง ๆ มันมากระทบ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เรียกว่ามีอะไรมากระทบ หรือไม่กำหนดมีอะไรมากระทบ มันจะหายใจเป็นจังหวะอยู่ แล้วก็เห็นภาพอะไรที่ตรงนั้นที่โชติช่วงอยู่ มันเป็นเพียงอุบายที่เราจะต้องใช้ภาพชนิดนี้ ไม่อย่างนั้นมันไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกำหนด นี่ถ้าคนเขาเป็นคนไม่ซื่อตรง เป็นคนคดโกง มันก็จะเห็นเป็นการได้สิ่งที่วิเศษวิโส จะเข้าใจว่าตัวเป็นผู้วิเศษ มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพอะไร หรือว่าจะไปอวดคนอื่น ก็มันเป็นของที่แปลกอยู่เหมือนกัน แปลกมาก ๆ อยู่เหมือนกัน นี่จะไปรู้สึกทำนองนั้นว่ามันแปลก หรือมันพิเศษหรือว่ามันเป็นของจริงอะไร เป็นแต่เพียงอุบายที่เราต้องทำอย่างนี้ แล้วสิ่งที่เห็นนี้มันก็ไม่ใช่ของจริง แต่มันเห็นจริงหรือมันปรากฏอยู่จริง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ผลว่าเดี๋ยวนี้จิตของเรามันนิ่มนวลลง อ่อนโยนลง อยู่ในบังคับมากขึ้น มันจึงบังคับให้เห็นอย่างนั้นได้ จิตนี้มันนิ่มนวลอ่อนโยนประณีตขึ้น สำหรับภาพที่เห็นนั่นแล้วแต่มันจะเห็นเป็นภาพอะไร หรือมันจะเปลี่ยนไปก็ตามใจ แต่ว่าเราไม่ได้บังคับให้มันเปลี่ยน เราเพ่งแต่จะให้เห็น ถ้าจะเข้าใจโดยง่ายก็จงสังเกตดูว่าบางคราวเราไม่ตั้งใจทำสมาธินะ แต่มันมีอะไรทำให้เห็นภาพได้เหมือนกัน เช่นนอนไม่หลับ หรือว่าเช่นมีร่างกายวิปริตอะไรบ้าง มันก็เห็นภาพอะไรขึ้นมาได้ เห็นภาพหน้าของใครขึ้นมาก็ได้ แล้วก็อย่าไปตกใจ อย่าไปกลัว อย่าไปทำอะไรให้มันผิดไป ค่อย ๆ ปรับปรุงจิตให้ดี เพ่งมันให้มากขึ้น ๆ คือมันก็ชัดขึ้น ๆ ๆ จะเป็นภาพลวดลายก็ได้ ภาพลวดลายที่เกิดขึ้นเพราะตามันลาย หรือมันสมองไม่ปรกติก็ได้ หรือแล้วแต่มันจะมีภาพอะไรเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิ แต่มันเห็นแล้วก็จะอาจจะ เราก็อาจจะรักษามัน ภาพนั้นให้เห็นอยู่แล้วก็ให้แรงขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าคนที่เคยเพ่งกสิณมาก่อนมันก็ยิ่งทำง่าย เช่น เพ่งดวงไฟ หรือเพ่งอะไรก็ตาม จนติดตาสำเร็จมาแล้วนี้มันก็ยิ่งทำง่าย ขอยืมอันนั้นมาใส่เข้าที่จุดนั้นสำหรับอานาปานสติในขั้นนี้ มันก็ได้เหมือนกัน ทีนี้ไอ้ที่ว่า เนื้อหนังนี้มันไม่มีความรู้สึก แต่มันรู้สึกเป็นภาพอันหนึ่งขึ้นมาแทน ในบัญชีชื่อของไอ้อุคคหนิมิตชนิดนี้มีมาก เช่นว่าเป็นดวงแก้วแวววาวอยู่ที่นั่น หรือเป็นดวงอาทิตย์เล็ก ๆ เป็นดวงจันทร์เล็ก ๆ อะไรอยู่ที่นั่น หรือเป็นไอ้ปุยขาว ๆ เหมือนกับปุยนุ่นอยู่ที่นั่น กระทั่งเหมือนกับว่ามีวอแหวนอยู่ที่ตรงนั่นที่มีรัศมี มีเพชร คือมันมีไอ้ความเห็นเหมือนกับรัศมีที่ออกมาจากดวงไฟ หรือว่ามันเหมือนกับว่าใยแมงมุมที่อยู่กลางแดดในตอนเช้ามันวาว ๆ มันไม่ได้ตายตัวจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ มันแล้วแต่ใครคนใดคนนั้นมันจะมีร่างกายอย่างไร หรือมันจะชวนให้เห็นอะไร แต่เป็นอันว่าได้เสมอกันหมด มันถนัดอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ดังนั้นจะนั่งกำหนดไอ้ภาพที่สร้างขึ้นอย่างติดตาอย่างนี้ เช่นดูสักพักหนึ่งสักยุคหนึ่งก็ได้ ถ้าไม่โง่ไปเห็นว่ามันเป็นของจริงหรือวิเศษวิโสแล้วก็ไม่บ้าแน่ แต่ถ้าคนมันละโมบ คนมันโง่ มันไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมีทางที่จะฟั่นเฟือนได้ เพราะว่าเขาเป็นคนไม่ตรง อยากจะได้ในสิ่งที่จะทำให้เป็นผู้วิเศษวิโส แต่ถ้าเขาเป็นคนซื่อตรงมุ่งหมายแต่เพียงว่าต้องการจิตสงบ จิตที่ละเอียด จิตที่ประณีต จิตที่นิ่มนวลยิ่งขึ้นไปเท่านั้นก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เห็นอะไรแปลก ๆ รู้สึกอะไรแปลก ๆ มันก็ไม่ทำให้หลง เผลอสติว่าเราเป็นผู้วิเศษ เป็นอะไรไปได้ ที่ว่าทำอานาปานสตินี่แล้วเป็นบ้าไปเลยนี่ก็มีจริงเหมือนกัน เพราะมันคดโกงมาตั้งแต่ทีแรกนู้น ตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำเข้ามาฝึกนี่มันก็มีเจตนาชั่ว จะหาประโยชน์เป็นผู้วิเศษ แล้วจะไปหากินหรือจะไปทำอะไรเอาเปรียบคนอื่น ตบตาคนอื่น หรือแม้ที่สุดแต่มันอยากจะเป็นผู้มีฤทธิ์นี่มันก็เป็นข้อเสีย มันก็เสียหลัก คิดแต่จะเหาะได้ด้วยการกระทำอย่างนี้แล้วมันก็ค่อยเผลอ ๆ ๆ ไป จนคิดว่าเหาะได้แล้วก็กระโดดลงมา เขาเคยเล่าให้ฟังก็มี กระโดดลงมาจากกุฏิ มันคิดว่าจะเหาะไป แต่มันเหาะไปไม่ได้ มันก็ผลัดตกลงมาจากกุฏิ แล้วเป็นบ้าเลย นี่เพราะว่าเขามันไปยึดถือไอ้สิ่งที่เป็นเพียงมโนภาพ หรือเป็นของที่ไม่ได้จริงจังอะไร จิตมันน้อมไปเห็นได้ทั้งนั้นแหละจะ เห็นตัวเองเหาะไปก็ได้ อะไรก็ได้ นี่บทเรียนที่สามว่าสามารถทำมโนภาพให้เกิดขึ้นที่นั่นได้อย่างแน่วแน่ตามความประสงค์
ทีนี้บทเรียนที่สี่มันก็เขยิบออกไปอีกนิดเดียว คือว่าให้สามารถถึงกับว่าเปลี่ยนแปลงมันได้ตามชอบใจ เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เห็นด้วยนัยน์ตาข้างในได้ตามชอบใจ ถ้าฝึกขึ้นมาดีถึงขั้นนี้แล้ว มันจะเป็นธรรมชาติที่ง่ายมาก คือว่าพอน้อมนึกจะเห็นอะไรมันจะเห็นอย่างนั้น มันเหมือนกับหลอกตัวเอง แต่มันก็ไม่ใช่หลอกตัวเอง เพราะว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว มันน้อมไปเห็นอะไรมันก็เห็นอันนั้น สิ่งที่เห็นนั่นไม่จริง แล้วก็เห็นไอ้แปลก ๆ บังคับได้แปลก ๆ บทเรียนนี้ดูเหมือนจะเป็นการทดสอบมากกว่า เมื่อมันถึงขนาดที่เราบังคับสิ่งที่เรียกว่าจิต ทั้งกลุ่ม คือทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งอะไรต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวกับจิตนี่ได้ตามต้องการ สมมุติว่าเห็นเป็นดวงแก้วดวงหนึ่งอยู่ที่จุดนั้น พอถึงบทที่ว่าบังคับได้ตามต้องการนี้ก็บังคับตามที่น้อมนึกให้มันเล็กลง ให้มันใหญ่ขึ้น ให้มันเปลี่ยนสี หรือว่าให้มันเคลื่อนไป ให้มันออกไป ให้มันเข้ามา ให้มันลอยไป ให้มันลอยมา นี้ก็แล้วแต่ใจนึก แล้วมันจะเป็นไปตามความนึก เห็นภาพไปตามความนึก ดู ๆ คล้ายกับวิเศษวิโสมาก แต่ที่จริงคือจิตที่มันฝึกได้เท่านั้นเอง นี้อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงการฝึกที่จะให้เลยไปจนถึงเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ซึ่งธรรมดาก็ไม่มีใครต้องการกี่คน แล้วก็ไม่จำเป็นสำหรับทุกคน นี้เมื่อพูดก็พูดให้มันหมดเรื่อง นี้เมื่อขั้นที่ว่าบังคับมโนภาพนั่นได้ตามต้องการแล้ว ก็เป็นเครื่องวัดว่าจิตนี้มันพร้อมที่จะทำให้เป็นสมาธิขั้นสุดท้าย
พอถึงขั้นที่ห้าก็ทำความรู้สึก ทดสอบเกี่ยวกับองค์ฌาน แล้วก็ทำให้สิ่งที่เรียกว่า องค์ฌานนั้นมันมั่นคง พอมาถึงตอนนี้มันก็ไม่ใช่เปลี่ยนมโนภาพอีกแล้ว คือเลือกว่าอันที่ดีที่สุด ที่กระจ่างที่สุด ที่ชัดเจนที่สุด ที่บริสุทธิ์ที่สุดนี่มา มาภาพหนึ่งมาเพ่งอยู่อย่างนิ่ง ๆ ก็เลยกำหนดสังเกตดูว่าไอ้อาการต่าง ๆ ที่เขาเรียกกันแล้วที่มีชื่อไว้แล้วตามพระคัมภีร์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ห้าคำนี้สมบูรณ์หรือยัง แจ่มแจ้ง ชัดเจน มั่นคงหรือยัง คำแรกก็เรียกว่า วิตก คือความที่จิต หรือสติก็แล้วแต่จะเรียก กำหนดอยู่ที่อารมณ์ แน่นแฟ้นอยู่ อันที่สองเรียกว่า วิจาร คือความที่จิตรู้สึกซึมซาบต่ออารมณ์ทั่วถึง นี้อย่างหนึ่ง แล้ว ปีติ ระหว่างนั้นเรารู้สึก ปีติ คือความพอใจในความสำเร็จ เรียกว่าปีติ ก็รู้สึกอยู่ เป็นปีติอยู่ อันที่สามเรียกว่า สุข ซึ่งเกิดมาจากปีติ ถ้าเรามีปีติ มันต้องมีสุข รู้สึกเป็นสุขอยู่ ปีตินั้นมีความหมายเป็นความพอใจ และเป็นสิ่งที่ไม่หยุด คือว่าค่อนข้างจะสั่น หรือจะสะเทือนอย่างนี้ แต่ถ้าว่าสุขนี่มันจะหยุด หรือมันจะสงบ แต่แล้วก็ต้องมีด้วยกัน ทั้งปีติและสุข คือรู้สึกพอใจอยู่ด้วย รู้สึกเป็นสุขอยู่ด้วย อันสุดท้ายก็เรียกว่า เอกัคคตา คือ ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นยอดสุด สุดยอดอยู่ที่จุดนั้น จิตมีอารมณ์อันเดียว เป็นที่รู้สึกอย่างสูงสุด เอกัคคตา (๔๑.๐๐) มียอดสุดอันเดียว แปลว่าจิตมันแตะต้องอยู่ที่อันนั้นอันเดียว สิ่งเดียวอย่างเดียว เป็นที่สูงสุด เหมือนกับจุดแหลมอย่างนั้นนะ ทบทวนดูอีกทีว่า วิตก คือ ความที่จิตเกาะอยู่ที่อารมณ์นั้น วิจาร คือ มันซึมซาบ รู้สึก รู้อะไรทุกอย่างเกี่ยวกับอารมณ์นั้น แล้ว ปีติ นี่รู้สึกพอใจที่ว่าทำได้สำเร็จ แล้ว สุข นี่คือรู้สึกเป็นสุขชนิดหนึ่งซึ่งไม่เคยจะรู้สึกเป็นสุขอย่างนี้มาก่อน แล้วความที่จิตมีจุดเล็ก ๆ จุดสูงสุด จุดแหลม จุดอะไรที่กำหนดอยู่ที่อารมณ์นั้น เหมือนว่าอยู่บนยอด นี่ก็เรียกว่า องค์ทั้งห้าแห่งปฐมฌาน ถ้ามันไม่สมส่วนกันมันจะปรากฏครบทั้งห้าไม่ได้ มันจึงมีล้มลุกคลุกคลาน นั้นต้องขยับขยายกันหน่อย ต้องจัดกันหน่อย ให้ทั้งห้าความรู้สึกนี่ครบถ้วนเรียบร้อยดี อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิถึงขั้นสมบูรณ์ของความเป็นสมาธิในอันดับแรก เรียกว่า ปฐมฌาน คือฌานที่หนึ่ง เป็นผลสุดท้ายของอานาปานสติขั้นที่สี่ที่เรียกว่า ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ๆ ๆ จนถึงที่สุด คือความเป็นอย่างนี้ รำงับอยู่อย่างขั้นต้น ๆ ขั้นต่ำ ๆ ก็ได้ ก็เรียกว่ารำงับอยู่เหมือนกัน และความรำงับอยู่นั่นมากขึ้น มันสูงขึ้น มันลึกขึ้น มันประณีตขึ้น มันก็จะมาอย่างที่ว่านี้ คือรำงับไปตามลำดับ เมื่อเฝ้าดูอยู่ในขั้นที่สอง ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดนั้น มันก็รำงับเข้ามามากแล้ว จากที่วิ่งตาม นี้มาสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น มันก็รำงับยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเปลี่ยนมโนภาพได้ตามประสงค์ นี่ก็เป็นเครื่องวัดว่าสามารถควบคุมจิตได้ หรือให้มันรำงับยิ่งขึ้นไปอีกได้ มันยิ่ง ยิ่งอยู่ในอำนาจของผู้นั้นมากขึ้น ทีนี้ก็ใช้ไอ้อิทธิฤทธิ์นี้ สำหรับกำหนดอารมณ์ที่ประณีต ละเอียดสูงสุด จนมันรำงับถึงกับว่า กายก็รำงับ อะไรก็รำงับไปทั้งหมด ดูให้ดีแล้วก็มีองค์ทั้งห้าองค์นั้นครบถ้วนอยู่จริง ๆ นี่วันนี้ก็ถือโอกาสอธิบาย ไอ้สี่ขั้นที่เหลือ ไอ้ขั้นเฝ้าดู ขั้นสร้างมโนภาพ ขั้นบังคับมโนภาพตามประสงค์ ขั้นที่ทำองค์ฌานให้เกิดขึ้นก็มีเท่านี้ เรียกว่าปฐมฌานมีองค์ห้านะ มันเป็นการกระทำสำเร็จครั้งแรก ต้องดึงกันถึงทั้งห้าองค์ มันดึงก็โยงกันอยู่ถึงห้าองค์ นี่ถ้ารำงับ ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เป็นทุติยฌาน ฌานที่สอง ก็สลัดไอ้ความรู้สึกสององค์แรกที่เรียกว่า วิตก วิจาร อย่าให้มารู้สึก อย่าให้มีความรู้สึก มันก็ประณีตขึ้นไปอีก แล้วถึงฌานที่สาม ก็ละ ปีติ เสียอีก ฌานที่สี่ก็ละความรู้สึกที่เป็น สุข ทำให้เฉยเสียอีก ความเป็น เอกัคคตา นั้นคงอยู่ตลอดเวลา
นี้เป็นหลักวิชาที่มีกล่าวไว้ในเรื่องสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเขาคงทำกันได้ นับแต่ก่อนพระพุทธเจ้านะ เกิดรูปฌาน อรูปฌาน มีพูดถึงแล้วตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เป็นสิ่งที่ใช้ได้ตลอดมา พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้เลิกล้างสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ไม่ต้องบัญญัติใหม่ เอาตามระเบียบระบอบที่มันมีอยู่แล้ว สำหรับสิ่งที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน ที่นี้ก็มาพูดถึงเรื่องอานาปานสติกันใหม่ แล้วสามารถทำให้ได้ถึงขนาดนั้น ถึงรูปฌานทั้งหมดมันก็ดีเหมือนกัน แต่ก็เรียกว่าเกินจำเป็น แม้แต่ว่าจะไม่ถึงกับฌานโดยสมบูรณ์ มันก็ยังได้ แล้วต้องการความสงบ รำงับแห่งกายสังขารกว่าธรรมดาเท่านั้นเอง ถ้าจะทำต่อไปมันก็ยังจะต้องเปลี่ยนกระแสทำไม คือว่า เมื่อทำปีติให้เกิดขึ้นได้แล้วในปฐมฌานเป็นต้นนี่ ก็เอาปีตินี่ เอาความสุขนี้มาศึกษาต่อไปในหมวดเวทนา ที่เรียกว่า รู้พร้อมเฉพาะเรื่องปีติ รู้พร้อมเฉพาะเรื่องความสุข รู้พร้อมซึ่งจิตตสังขาร คือเวทนานั้นเองมันเป็นจิตตสังขาร แล้วทำจิตสังขารให้รำงับอยู่ นี่เป็นหมวด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน กระทั่งหมวดจิตตา หมวดธัมมา นั้นก็ไปตามเรื่องของอานาปานสติ จะพูดไปมันก็ยุ่งหรือเฝือเปล่า ๆ เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่เรื่องทำสมาธินะ แล้วตามแบบอานาปานสติ ก็เอาหมวดที่หนึ่งของอานาปานสติมาเป็นหลัก ซึ่งก็สวดมนต์กันอยู่แล้ว อานาปานสติ ๑๖ ขั้น มีขั้นแรกเรียกว่าหมวดที่หนึ่ง เมื่อหายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น ก็รู้กายทั้งปวง ก็ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ที่มีเพียง ๔ ขั้นเท่านี้ นั่นเป็นหลักเรียกว่าหลักวิชา มีอยู่ ๔ ขั้นตามลำดับอย่างนั้น พอถึงทีปฏิบัติจริง ๆ ก็มีวิธีปฏิบัติ หรือมีเคล็ด หรือมีวิธีลัดอะไรก็ตาม เมื่อมาตั้งเป็นแบบขึ้นมาว่า วิ่งตาม บทเรียนวิ่งตามนี่รู้ทั้งความยาว รู้ทั้งความสั้น รู้ทั้งไอ้กายทั้งปวง นี่พอมาถึงเฝ้าดู หรือ ทำมโนภาพให้เกิดขึ้น หรือว่าบังคับมโนภาพได้ นี่มันเป็นเรื่องของกายสังขารให้รำงับอยู่ ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออกเข้า คือขั้นที่สี่นั่นเอง กระทั่งเป็นฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น ถ้าว่าสมาธิมันก็ไปสิ้นสุดอยู่แค่ขั้นที่สี่เท่านั้นแหละ ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ ต่อไปนี้มันเริ่มเป็นปัญญา เป็นอะไรต่อไปข้างหน้า ไม่ต้องพูด หรือไม่ควรจะเอามาพูด มันจะยุ่งจะปนจะเฝือกันหมด ผู้ที่อยากจะฝึกสมาธิก็มีเพียงเท่านั้น
ก็ไปทบทวนให้แม่นยำอยู่เสมอว่า หนึ่งวิ่งตาม สองเฝ้าดู สามทำมโนภาพให้เกิดขึ้นที่จุดนั้น สี่บังคับมโนภาพได้ตามความประสงค์ ห้าทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้งห้าให้ครบถ้วน มีเท่านี้เอง เมื่อตอนเย็นนี้มีผู้ไปขอร้องให้พูดเรื่องนี้ให้จบเดี๋ยวเขาจะกลับ ก็เลยพูด ส่วนเรื่องเบ็ดเตล็ดอย่างอื่นนั่นก็ไปปรับปรุงกันได้ เป็นเรื่องประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปคิดเอาเองก็ได้ ไปทดลองเอาเองก็ได้ ที่พูดนี้ก็มีแต่หลักใหญ่ ๆ เท่านั้น ทีนี้สมาธิแบบอื่นก็มี อีกหลายอย่าง หลายชุด หลายหมวด แต่ผมไม่ชอบ แล้วเห็นว่าไม่จำเป็น แล้วเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่าไอ้ชุดนี้ ไอ้หมวดนี้ คือ หมวดอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญที่สุด แล้วก็สะดวกที่สุด ไม่ต้องหอบหิ้วอะไรไปที่ไหนเพราะว่าลมหายใจมันมีอยู่กับเนื้อกับตัวเรื่อยไป ถ้าไปทำอย่างอื่นนั่นมันยุ่งยากลำบาก จะทำกับซากศพ ต้องไปที่ป่าช้า จะหัดกสิณ ก็ต้องเที่ยวหอบหิ้วดวงกสิณ ต้องไปที่นั่นที่นี่อย่างนี้เป็นต้น สู้ไอ้ระบบอานาปานสตินี้ไม่ได้ จะไปนั่งที่ไหน ไปนอนตรงไหน ไปยืนตรงไหน มันก็สามารถจะทำได้ นี่คนอื่นก็อาจจะรู้สึกอย่างอื่น เห็นอย่างอื่น ก็อย่าเอาไปว่ากัน อย่าเอาไปคัดค้านกัน เมื่อขอให้ผมเป็นผู้อธิบายก็อธิบายสิ่งที่ผมชอบก็มีเท่านี้เอง เอาแหละทีนี้ต่อไปก็จะมีถามปัญหาอะไรบ้างก็ได้ เวลายังเหลืออยู่บ้าง
(นาทีที่52.35 ถามคำถาม)
ท่านพุทธทาส :เราเพียงตั้งใจที่ว่าจะให้มันเกิด เมื่อไปเพ่งเข้าที่จุดนั้นหนักเข้า ๆ ๆ คือละเอียด ลึกซึ้งหนักเข้า ความเต็มสำนึกของจิตมันก็หายไป มันเหลือครึ่งสำนึก ใต้สำนึกแล้วมันน้อมไปให้เห็นอะไรก็ได้ หรือน้อมไปให้ได้กลิ่นอะไรก็ได้ ได้ฟังเสียงอะไรก็ได้ ต้องตั้งใจที่จะเห็นภาพนั้น ก็ไปทำดูมันก็ตอบได้เอง
(นาทีที่53.43 ถามคำถาม)
ท่านพุทธทาส :จุดไหนที่เราเฝ้าดู มันจะเกิดที่จุดนั้น คือมันต้องมีจุดที่เป็นที่กำหนด ไม่อย่างนั้นมันทำไม่ได้ บทที่สองเฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่ง จุดตรงนั้นมันเหมาะ ง่ายกว่าที่อื่น มันก็ใช้จุดนั้นเป็นที่เฝ้าดู ๆ ๆ ๆ ๆ จะมีอะไร ชนิดที่เป็นมโนภาพแสดงออกมาด้วย ที่จริงมันก็เนื้อ เนื้อในจมูก ด้านในจมูกที่ลมมันกระทบ ๆ ๆ ๆ ๆ ถ้ามันรู้สึกอย่างนี้อยู่ มันก็เป็นไอ้นิมิตชนิดที่เป็นบริกรรมนิมิต คือเขาเรียกกัน ตามภาษานักเลงสมาธิ คือมันเป็นไอ้นิมิตตามธรรมดา หรือนิมิตตามปกติ นิมิตจริง ๆ ของปกติ จึงไม่เรียกว่ามโนภาพ แต่เมื่อได้กำหนดที่ตรงนั้นเพียงพอแล้ว ที่ตรงนั้นมันง่ายแล้ว สะดวกแล้วที่จะสร้างมโนภาพขึ้นแทน ทีนี้ก็มาเอามโนภาพนี้เป็นนิมิตก็เลยเปลี่ยนชื่อเรียกว่า อุคคหนิมิต บ้างอะไรบ้าง ไม่ต้องรู้ก็ได้ มันยุ่งเปล่า ๆ เฝ้าดูแล้วก็ทำมโนภาพให้เกิดขึ้นที่ตรงนั้น แล้วทำจิตให้ละเอียด แอ๊ดยานซ์ (๕๕.๓๕) อย่างนั้นอย่างนี้ ละเอียดจน ให้มันละเอียดจนมันเปลี่ยนได้ตามที่เราต้องการ พวกที่เขาจะกลับวันนี้ พูดสำหรับพวกที่เขาจะกลับพรุ่งนี้ ไอ้พวกที่ยังเหลืออยู่ก็ให้ถาม ค่อยให้เขาซ้อมต่อไป
(นาทีที่56.10 คำถาม)
ท่านพุทธทาส :ไม่เคยกลัวผี ถ้ามันไม่กลัวจริง ๆ ไม่เชื่อว่าผีมีจริง มันก็จะไม่เห็นแน่ เว้นไว้แต่มันจะสูญเสียความปรกติ เช่น มันเป็นไข้ หรือมันเป็นอะไร ร่างกายไม่ปรกติ นี่มันเห็นได้ เพราะเส้นประสาทมันกำลังไม่ปรกติ มันก็ไม่ใช่ผี มันก็เป็นเพียงภาพที่เห็น
คำถาม :อาจารย์ครับแล้วอย่างเสียงที่ได้ยินกับมโนภาพนี่มันต่างกันไหมครับ
ท่านพุทธทาส :อ๋อ, ถ้าว่าภาพ มันก็เรียกว่ามโนภาพ ถ้าเสียงก็เรียกมโนเสียง คือเสียงที่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่เราทำให้ได้ยินขึ้นมา เสียงที่สร้างขึ้นมาด้วยใจ กลิ่นก็เป็นมโนกลิ่น กลิ่นที่สร้างขึ้นมาด้วยใจ ไม่ใช่กลิ่นจริง ๆ บางทีมันก็เป็นเนื่อง ๆ ๆ กัน อย่างคนไป คุณเคยไปป่าช้าเผาศพอะไรกลับมาถึงวัด ตั้งวัน สองวันแล้วยังได้กลิ่นนั้นอยู่ มีไหม ไอ้นี่มันยังติดมา คือจิตมันยังสร้างขึ้นได้ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก ยังมีอีกสองนาทีนะจะหมดเวลา
(นาทีที่57.49 คำถาม)
ท่านพุทธทาส : เอ้า,นั่นพูดคนละเรื่อง พูดคนละเรื่อง ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องเสียง เฝ้าดูแล้วก็สร้างมโนภาพขึ้นที่จุดนั้นเท่านั้น นั่นมันพูดอย่างอธิบายคำว่า ที่เราสร้างขึ้น หรือว่าตั้งใจให้เห็น บังคับให้เห็น มันอีกเรื่องอื่นสำหรับผู้ที่จะฝึกไปในแบบหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรทิพย์นู่นอย่าไปสนใจมันเลยให้ป่วยการ ไม่มีปัญหา เพราะว่าคงไม่ได้ทำลองดู หรือว่าไม่ได้ทำจริง ๆ จัง ๆ เลยไม่มีปัญหา
(นาที่ที่ 58.49 คำถาม)นั่นพูดตั้งแต่ทีแรกแล้ว นี่ไม่ได้จำหรือไม่ได้ฟัง ว่าลงมือทำสมาธินั่นควรจะลืมตาหรือว่าหลับตา พูดมาแต่ทีแรกแล้ว มันได้ทั้งนั้นแหละ จะหลับตาหรือจะลืมตาก็ได้ แต่ว่าถ้านักเลงแท้ ๆ เขาลืมตา เพื่อให้ตามันปรกติ หรือเพื่ออะไรก็สุดแท้ แต่ว่าลืมตานั้นเป็นนักเลงกว่า ไอ้หลับตานี่อาจจะง่วงนอน เราลืมตาเพ่งดูที่ปลายจมูกจนไม่เห็นอะไรอย่างนั้น เป็นนักเลงกว่าที่หลับตา เพิ่งมา แล้วรู้ได้ยังไงเรื่องวันก่อน ถามเพื่อน ถ้าสนใจก็ถามเพื่อน การบรรยายเรื่องอานาปานสตินี่มันเรียกว่าทำผิดก็ได้ ทำผิดพลาด คือหลายปีมาแล้วอธิบายกันอย่างละเอียดเต็มที่ตามแบบสมบูรณ์แบบ กลับไม่สำเร็จ