แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย บัดนี้เราก็จะได้ศึกษาธรรมะต่อจากครั้งที่แล้วมา ก ข ก กา แห่งความดับทุกข์ ภาคที่ 2 ในภาคที่ 1 เรื่องความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ภาคที่ 2 ก็มีว่าความทุกข์จะดับไปอย่างไร ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรเราก็พูดกันแล้วเมื่อวาน ก็ให้ระลึกนึกถึงแจ่มแจ้งแล้วก็เอามาต่อกัน ครั้งที่แล้วมาพูดเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นโดยละเอียด อย่างที่เรียกว่า ก ข ก กา แจกรูปกันอย่างละเอียดที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็เอานั่นหละเป็นหลักชัดเจนอยู่ว่าความทุกข์มีอยู่อย่างไร ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร จะได้ศึกษาต่อไปโดยง่ายว่าจะดับมันอย่างไร สรุปความสั้นๆก็ว่า ความทุกข์มันเกิดก็มีชาติ คำศัพท์ข้อสุดท้ายของปฏิจจสมุปบาทก็เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดขึ้น จงอย่าลืมคำว่าชาติ การเกิดแห่งตัวกูในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ มันเสร็จไปแล้ว มันทีเดียวพอ มันเสร็จไปแล้ว แต่ว่าชาติในทางจิตใจเกิดจากตัณหา อุปาทานนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามีชีวิตอยู่ก็ยังเกิดอยู่จนกว่าจะดับมันได้ถึงจะได้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ทำนองนั้น ชาติเหล่านั้นจึงจะหมดไป ไม่มีชาติก็ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูก็ไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ หรือเกิดทุกข์ ที่ว่าชาติที่แล้วพรหมจรรย์จบแล้ว เป็นคำสรุปท้ายของการปฏิบัติ ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์จบแล้ว สิ่งที่ควรทำได้ทำแล้ว สิ่งที่ต้องทำอีกเพื่อความดับทุกข์ไม่มีอีกต่อไป นี้เราจะต้องมากันจนถึงนั่นจึงจะเรียกว่าดับทุกข์ ขอ
บอกกล่าวให้ทราบว่าความลำบากยุ่งยากที่สุดในการศึกษาธรรมะก็คือ คำพูดนั่นเอง คำพูดมันไม่พอใช้ คำพูดมันไม่ถูกต้อง มันเข้าใจคำพูดผิดๆ โดยเฉพาะเช่นคำว่าชาติ รู้จักกันแต่ชาติที่เกิดจากพระมารดา ชาติที่เกิดจากอุปาทาน กิเลสตัณหานี่ไม่สนใจกันซะทีเดียว แล้วก็ไม่รู้ว่ามีด้วยซ้ำไปสำหรับบางคน พอบอกว่าวันเดียวมันมีชาติมามายไม่รู้กี่ร้อยกี่พัน มันก็ฟังไม่จบไม่รู้ ฟังไม่รู้เรื่อง ในวันเดียวมันมีการเกิด เกิดแห่งตัวกูมากมายนับไม่ไหว สุขาจาติ ปุณะปุณณัง เกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที ตัวกูเกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที บางทีก็ทุกข์อย่างสวยงามสนุกสนาน บางทีก็ทุกข์แทบทนไม่ไหว แต่เรามันก็มีความทุกข์ ความทุกข์คือสิ่งที่มีปัญหารบกวน มันจะเกิดอยู่อย่างสนุกสนานมันก็เป็นทุกข์ ในความหมายที่ว่าเป็นของหนักเป็นของต้องต่อสู้ แม้แต่เกิดความดีใจๆๆ คุณคิดดู ดีใจ กินข้าวไม่อร่อยนอนไม่หลับก็เหมือนกัน ดีใจมากก็เป็นบ้าเหมือนกันนี่เรียกว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดแล้วมันก็ไม่ไหว เพราะมันมีภพภาวะภพอย่างใดอย่างหนึ่ง มันมีความหนักอยู่ในตัวมันเอง สิ่งที่เรียกว่าชีวิตมันกลายเป็นความหนักในตัวมันเอง เรียกว่าเป็นอะไรก็หนักแบบนั้น เป็นพ่อก็หนักแบบพ่อ เป็นแม่ก็หนักแบบแม่ เป็นสามีก็หนักแบบสามี เป็นภรรยาก็หนักแบบภรรยา เป็นชาวนาก็หนักอย่างชาวนา เป็นชาวเมืองก็หนักอย่างชาวเมือง เป็นเศรษฐีก็หนักอย่างเศรษฐี เป็นขอทานก็หนักอย่างขอทาน ต้องพูดว่าต่อให้เป็นเทวดาก็หนักอย่างการเป็นเทวดา นั่นคือความทุกข์อันเกิดมาจากความเป็นอย่างใดอย่างนึงแล้วก็ต้องแบกหรือถือหรือทูนหรือหิ้วหอบความเป็น หรือภาวะภพอย่างนั้นไว้มันจึงเป็นทุกข์ ภพคือให้มีความเกิด ความเป็นขึ้นมา เกิดขึ้นมาเป็นความเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบความทุกข์นี้ไว้ ตรัสเปรียบภพความเป็นอันเป็นทุกข์ นิดเดียวก็เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนอุจจาระ นิดเดียวก็เหม็น เล็กน้อยจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน นิดเดียวขนาดนั้นมันก็ยังเหม็น ขึ้นชื่อว่าอุจจาระแล้วก็เหม็น ขึ้นชื่อว่าภพแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ เป็นภพใหญ่ ภพน้อย ภพเล็กจนเกือบจะมองไม่เห็น คือแทบจะไม่รู้สึก มันก็เป็นความหนักเพราะมันมีตัวกู การถืออุปาทาน คือถือเข้าไว้ๆ มันบอกอยู่ในตัวว่ามันหนัก ถืออะไรมือมันก็หนัก เพียงแต่ทำท่าถือยกมือทำท่าถืออะไรไว้ มันก็ยังหนักด้วยมือมันนั่นเอง มือเป็นของหนัก ถ้าถือแล้วเป็นของหนัก แล้วก็เป็นทุกข์ ดูให้ดีว่าชีวิตในแต่ละวันๆมันเกิดตัวกู หรือมีภพเป็นตัวกูอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวกูเช่นเราๆ อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอะไรก็ตามเช่นการงานที่เราหาได้ เป็นพ่อค้า ข้าราชการ เป็นเศรษฐี เป็นขอทาน ต่อให้เป็นเทวดาดังที่กล่าวแล้ว ข้อนี้มันไม่มีสอนมันไม่มีเรียนกันในมหาวิทยาลัยในโลก ตัวภพตัวชาติมันเป็นตัวความทุกข์ แล้วมันก็มีความทุกข์เพราะยึดถือ ยึดถือสิ่งใดไว้สิ่งนั้นก็เป็นของหนัก ของหนักๆถือไว้ก็เป็นความทุกข์ นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนาที่มันไม่เหมือนใคร ที่อื่นมันมีแต่สอนให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เป็นอย่างโน้นเป็นมหาเศรษฐีเป็นผู้ครองโลก คิดอย่างนั้น ลองคิดดูถ้ามันครองโลกมันยึดถือโลกว่าด้วยความเป็นของตน มันจะหนักสักกี่มากน้อย ดังนั้นจึงต้องรู้จักในความไม่ยึดถือว่าตัวตนว่าของตน ไอ้คนที่ไม่รู้มันก็โง่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็ฆ่าตัวตายซิ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ฆ่าตัวตายก็ลองดูซิ การฆ่าตัวตายมันไม่ได้ทำให้หมดทุกข์ มันก็ทุกข์จนตาย ถ้าว่ามันเกิดใหม่มันก็ทุกข์อีกเพราะมันยังมีตัวตนอยู่ นี่ขอให้เรามีชีวิตชนิดที่ไม่มีความยึดถือ อย่าเข้าใจผิดตามคนไม่รู้เหล่านั้นว่าไม่ยึดถือก็คือไม่มีชีวิต เรามีชีวิตโดยที่ไม่ต้องยึดถือ มีเงินโดยไม่ต้องยึดถือมันก็ไม่มาหนักอยู่บนศรีษะ ขออภัยพูดตรงๆ เดี๋ยวนี้เก็บไว้ในธนาคาร ฝากไว้ในธนาคาร แต่มันมาหนักอยู่บนศรีษะบนหัวบนจิตใจของผู้มีอุปาทาน เงินอยู่ในธนาคารแต่มันหนักอยู่บนหัวของคนที่ยึดถือ วัวควายไร่นามันอยู่ที่ทุ่งนาแต่มันมาหนักอยู่บนหัวของคนที่ยึดถือนี่แหละเรียกว่าชีวิตที่มีความยึดถือ ไม่ยึดถือมันก็ไม่ไปไหนอะ ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือตามธรรมชาติ มันก็ยังอยู่นั่นแหละ กฎหมายก็ยังคุ้มครอง เงินทอง บ้านเรือนของคนนั้นๆ ตามระเบียบตามกฎหมายก็คุ้มครองเราไม่ต้องยึดถือ งั้นลองฝึกชีวิตของเราอย่างไม่มีความยึดถือและไม่ยึดถือแม้แต่ตัวชีวิตนั่นเอง อย่าไปพูดถึงวัวควายไร่นาเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติอำนาจวาสนาบารมี อันนั้นมันยังนอกตัวไป ไอ้ตัวชีวิตนั่นเองอย่าไปยึดถือว่าเป็นของกูเป็นตัวกู จิตมันก็ไม่ได้ถืออะไรไว้ จิตมันก็อิสระ จิตมันก็หลุดพ้นจากความยึดถือไม่ติดคุกไม่ติดตารางแห่งความยึดถือของตัวเอง คุกที่คนไม่รู้แล้วก็ติดคุกนี้อยู่ทุกคนก็คือทุกข์แห่งตัวตน ทุกข์คือความยึดถือว่าตัวตน ว่าติดคุกๆอยู่ตลอดเวลา นี่ถึงว่าขอร้องให้เราอดทนหน่อยๆเพื่อการศึกษานี้ต้องฝึกอดทนหน่อยเพราะว่ามันละเอียด มันเป็นธรรมะที่ละเอียด แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่ามันเป็นธรรมะที่ละเอียดไอ้เรื่องไม่มีตัวตนยึดถือเนียะ เพราะท่านตรัสรู้แล้ว ท่านคิดว่า ไม่สอน ไม่ต้องสอน ป่วยการไม่มีใครฟังถูกไม่สอนดีกว่า มันละเอียดลึกซึ้งถึงขนาดนั้น แต่ต่อมาความกรุณามหากรุณาที่มากมาย เกิดเรื่องขึ้นมาก็ไม่เปนไร เหนื่อยก็เหนื่อยแต่สอนเถอะว่าคงจะมีคนบางคนๆที่อาจจะเข้าใจได้ พระพุทธองค์จึงกลับพระทัยสอนๆไป งั้นขอให้พวกเราทั้งหลายเหล่านี้เป็นหนึ่งในบางคนที่อาจจะรู้ได้ พระพุทธเจ้าเห็นแก่คนบางคน อัปลัคชาติกา ในชาติแห่งธุลีดวงตาเล็กน้อย เป็นชาติแห่งบุคคลผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย คือมันไม่โง่เกินไป พวกนี้มันจะฟังถูกและมันจะได้รับประโยชน์ บางคนมีอยู่เพียงอาจจะได้รับประโยชน์เป็นคำสอน ขอให้พวกเราอย่าได้นับรวมอยู่ในพวกนั้น อย่าอยู่ในพวกที่ไม่มีทางที่จะรู้ แต่ก็ต้องอดทนในการศึกษาอย่างละเอียด อย่าทำเล่นๆ กับเรื่องที่มันลึกซึ้งและละเอียดอย่างนี้ อาตมาจึงว่าเรามาเรียนกันอย่างละเอียด อย่างเรียน ก ข ก กา ก็แจกรูป แจกพยัญชนะ แจกผันไปตามวรรณยุกต์ ทุกอย่างๆตามลำดับ รู้กันอย่างครบถ้วนอย่างนั้นแต่ไม่เกินไม่เฟ้อมันพอดีสำหรับที่จะดับทุกข์ สรุปความเรื่องนี้ก็ว่ามีชาติมันก็มีทุกข์ ทุกข์มันก็มาจากชาติทั้งนั้น ช่วยจำไว้ว่าถ้าเราจะพูดให้มันใกล้ชิดละก็ทุกข์มันมาจากชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง ก็ทุกข์เป็นปัจจัยก็มี เพราะชาติเป็นปัจจัยก็มีทุกข์มีทุกข์ ทีนี้เพราะเหตุที่ว่าชาติมันมาจากอุปาทาน ยังพูดอีกอันนึงว่าทุกข์มาจากอุปาทานคือมันขยับถอยกลับไปนิดนึง นี่ก็พูดมาก สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา สวดมนต์กันอยู่เรื่อยไปว่า … (นาทีที่ 16:36) ที่มีอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ นี้ก็ได้อุปาทานมาจากไหนมาจากตัณหา เป็นตัณหาความโง่เป็นตัณหา ถ้าถามว่าทุกข์มาจากไหนคุณก็ตอบได้ตามความรู้สึกเห็นแจ้งอยู่จริงๆ ตอบให้ใกล้ชิดที่สุดมันมาจากชาติ การเกิดแห่งตัวกู เขยิบไปหน่อยมาจากอุปาทานซึ่งเป็นเหตุให้เกิดชาติ ให้ขยับไปหน่อยมาจากตัณหาที่ทำให้เกิดอุปาทานนั่น ตัณหามาจากไหนเอาขยับไปหน่อยมันมาจากอวิชชา อวิชชามีพร้อมอยู่สำหรับที่จะครอบงำในทุกๆกรณีที่มันเกิดขึ้นในตาเห็นรูปมีอวิชชา มีหูฟังเสียงมีอวิชชา จมูกได้กลิ่นมีอวิชชา ลิ้นได้รสมีอวิชชา กายสัมผัสผิวหนังก็มีอวิชชา จิตคิดนึกอะไรก็มีอวิชชามันอยู่ที่นั่น งั้นเราจะต้องมองเห็นเหมือนกะเรามองเห็นทิวทัศน์ทั่วๆไป มองไปก็เห็นอวิชชาอยู่ทนโท่ ใกล้เข้ามาหน่อยก็เป็นตัณหา ใกล้เข้ามาอีกก็อุปาทาน ใกล้เข้ามาอีกก็คือชาติ ก็ชาติมันติดอยู่กับทุกข์ มีชาติเป็นปัจจัยความทุกข์ทั้งปวงก็เกิดขึ้น ขอให้พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมเหล่านี้ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ไม่มีทางรู้เรื่องที่จะดับทุกข์ได้ เข้าใจคำว่าชาติมีสองอย่างคือชาติจากท้องแม่กับชาติจากความโง่ที่มีอยู่ตลอดเวลา มาจากชาติก็ได้ มาจากอุปาทานก็ได้ มาจากตัณหาก็ได้ จากอวิชชาก็ได้ เข้าใจคำว่าชาติ คำว่าอุปาทาน คำว่าตัณหา คำว่าอวิชชาให้ดีที่สุด รู้จักมันให้ดีที่สุด เรารู้จักอะไรๆในบ้านเรือนของเรา ดีที่สุดอย่างไร แล้วทำไมเราไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ที่มันเป็นศัตรูอันร้ายกาจให้ดีเหมือนอย่างนั้น เรารู้จักเรื่องกินเรื่องนอนเรื่องเล่นเรื่องหัวเรื่องพักผ่อน อบายมุข เรารู้จัก แต่ที่มันเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้นกลับไม่รู้จัก มันก็เกิดทุกข์ตามลักษณะของปฏิจจสมุปบาท ที่กล่าวกันมาแล้วอย่างยืดยาวในการบรรยายครั้งแรกเมื่อวานซึ่งเป็นภาค 1 คือความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันต่อไปถึงภาคที่ 2 คือว่าความทุกข์มันจะดับลงไปอย่างไร และเราก็พบว่าความทุกข์มันมาจากชาติ จากอุปาทาน จากตัณหา จากอวิชชา งั้นเราต้องดับสิ่งเหล่านี้เสียแล้วความทุกข์ก็จะไม่อาจจะเกิด ทีนี้เราชอบชาติ เป็นนั่นเป็นนี่หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภพ ภาวะเป็นนั่นเป็นนี่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นพระ มีภรรยาเป็นเศรษฐีเป็นที่ที่น่าเป็น แต่แล้วก็ไม่พ้นจากความทุกข์ ที่ไม่น่าเป็นมันก็ไม่อยากเป็น แต่มันก็ยังต้องเป็นและมันก็ยังเป็นทุกข์ มันมีทั้งเราไม่อยากมันก็เป็นโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เราอยากเป็นชอบที่จะเป็น เป็นแล้วก็ยังมันเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าภพภาวะภพความเป็นทั้งหลาย เรายังมีความทุกข์เพราะมันเกิดชาติแล้วมันก็เกิดทุกข์ ขอให้เข้าใจคำเหล่านี้ให้ดีที่สุดจึงจะรู้ธรรมะ ในพระพุทธศาสนา นักศึกษาใหม่ๆ จะเรียกว่าโง่หรือฉลาดก็สุดแล้วแต่มันไม่สนใจคำเหล่านี้ เพราะเห็นว่าคำเหล่านี้คึคละเป็นเรื่องของยายแก่ทำศาลาวัด ทำที่ไหนกันก็ไม่รู้ ไม่เห็นว่ามันจำเป็นสำหรับคนที่ยิ่งฉลาด ยิ่งเรียนมากยิ่งต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ ยิ่งเรียนมากยิ่งฉลาดนั่นแหละมันจะเป็นทุกข์มาก ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ อย่าเข้าใจว่าเรียนมาก ฉลาดๆ จบมหาวิทยาลัยไม่รู้กี่แห่งๆกี่แห่งแล้วมันจะดับทุกข์ ป่วยการ มันจะยิ่งโง่เสียอีก โง่ด้วยงการดับทุกข์ มันจะเป็นนั่นเป็นนี่ด้วยการยึดถือ ด้วยอุปาทานมากเกินไป มาสรุปความเสียใหม่ถ้าจะเป็นอะไรจะเอาอะไรจะมีอะไรจะได้อะไรก็ขอให้มีให้เป็นอย่างถูกต้องคืออย่ามีอุปาทานในสิ่งนั้น ได้อะไรก็ได้ถูกต้อง เป็นอะไรก็เป็นให้ถูกต้อง มีอะไรก็มีให้ถูกต้อง อย่าได้อย่ามีอย่าเป็นด้วยความโง่เพื่ออวิชชาเกิดตัณหาอุปาทานแล้วก็เกิดทุกข์ มองได้แง่ของศิลปะก็เป็นศิลปะลึกซึ้งสูงสุดงดงามที่สุด ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์มีให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นอยู่ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ขอแถมว่าจะตายก็ตายให้เป็นไม่เป็นทุกข์ดีกว่า นั่นแหละคือความรู้ธรรมะในพระพุทธศาสนา ขอเชิญดูความทุกข์ให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่งสำหรับการปรับทุกข์โดยเราจะเห็นความทุกข์ในทุกความหมาย ในความทุกข์ที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติไม่ต้องพูดถึงตัวคนเราหรือตัวตนมันมีอยู่ตามธรรมชาติ นั่นก็คือความที่ธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติมันก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปและมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และก็ไม่ตามใจใคร มันก็ต้องเป็นทุกข์นี่เรียกว่าเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมชาติของธรรมชาติ ขอให้เห็น มันจะเป็นเพียงลักษณะแห่งความทุกข์ก็ขอให้เห็น แล้วมันเป็นตัวทุกข์ที่ขบกัดอยู่จริงๆก็ขอให้มองให้เห็น คำว่าทุกข์คำนี้มันมีความหมายที่หลายความหมายเหมือนกัน คือเป็นทุกข์เจ็บปวดทรมานก็เรียกว่าทุกข์ มันมีลักษณะแห่งความทุกข์ก็เรียกว่าทุกข์ สิ่งใดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นลักษณะ เป็นก้อนอิฐ ก้อนหิน เป็นสิ่งของเหล่านี้มันมีลักษณะแห่งการเปลี่ยนแปลง มันก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าทุกข์เพราะมีลักษณะแห่งความทุกข์ ทีนี้พอไปยึดถือมันเข้ามันก็เป็นทุกข์ตามแบบของมัน มันก็เลยกัดๆเอาผู้ที่เข้าไปยึดถือ นี่แหละคือความทุกข์ที่เรียกว่ามันทรมานเจ็บปวด สิ่งนี้มีอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมชาติทั้งหลายนอกจากพระนิพพาน นอกจากธรรมชาติปล่อย สังขารขันธ์ ให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น ทั่วสากลจักรวาล ไปยึดถือเข้าที่ไหนก็มีความทุกข์ที่นั่น นี่แหละเรียกว่าความทุกข์ตามธรรมชาติของธรรมชาติ นี้ดูกันหมดเลย จะเป็นมนุษย์ในโลกมนุษย์ เป็นเทวดาในเมืองเทวดา มีตัณหาอุปาทาน ไปยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ตามธรรมชาติดูให้เห็นกันก่อน นี้ที่มาแคบเข้ามาเห็นทุกข์อยู่ที่นามรูปก็ตามธรรมชาติเหมือนกัน ที่หมายเฉพาะร่างกายและจิตใจ นามคือใจรูปคือรูป นามรูปคือกายและใจมันมีความทุกข์อยู่ที่นี่ ตัวนามรูปทั้งนั้นแหละมันก็มีความทุกข์เป็นธรรมชาติที่มีเหตุมีปัจจัยมันอยู่กับเหตุอยู่กับปัจจัยมันจึงต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีเหตุมีปัจจัยต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยบังคับมันไม่ได้ไปเอามาเป็นของตนแล้วมันก็กัดเอา นี่แหละชีวิตมันกัดเจ้าของ ไปยึดถือนามรูปคือกายใจ เป็นของตนมันก็กัดเจ้าของ นี่คือความทุกข์ของนามรูปของกายใจของชีวิต ทีนี้ให้มันละเอียดกว่านั้นก็คือความทุกข์ของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู โดยอุปาทานยึดถือสิ่งใดว่าตัวกูว่าของกู ดูที่ตัวกูนั่นแหละความทุกข์โดยตรงอยู่ที่นั่น มีตัวกูมีความรู้สึกว่าตัวกูที่ไหนมันก็เป็นทุกข์อยู่ที่นั่นมันกัดที่นั่น นี่เรียกว่าความทุกข์ที่เกิดจากตัวกู อย่ามีความรู้สึกว่าตัวกูมันก็ไม่มีความทุกข์ ที่มีความรู้สึกว่าตัวกูในสิ่งไหนมันก็กัดที่นั่น มีความรู้สึกว่าของกูที่สิ่งใดก็กัดที่นั่นนี่เรียกว่า แคบเข้ามาเจาะจงที่สุดในความทุกข์ของตัวกู ตัวกูเป็นอย่างนั้นตัวกูเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างไรก็กัดในความเป็นอย่างนั้น ถ้ายึดถือขึ้นชื่อว่ามันมีของกูอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับกูก็เป็นของกู มีอะไรเป็นของกูมันก็กัด ฉะนั้นมีอย่ายึดถือมีบุตรภรรยาสามี มีเงินทองแก้วแหวนมีอำนาจวาสนา ไอ้ของกูของกูก็อย่าไปยึดถือมันเลย มีตามธรรมชาติใช้ไปตามธรรมชาติ ใช้ประโยชน์ไปตามธรรมชาติ ขอให้อย่ายึดถือเป็นของกูตัวกูเลยมันก็ไม่กัด นี้ขอแนะว่า 3 อย่างนี้มันก็จะพอหรือเกินพอแล้ว ความทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไปสากลจักรวาล นั้นความทุกข์ที่มีอยู่ในนามรูป คือกายกับใจหรือตัวชีวิตที่มันตรงเจาะจงอยู่กับความทุกข์ที่มันมีอยู่ที่ตัวกูๆ มีตัวกูที่ไหน มันก็มีความทุกข์ที่นั่น ท่านทั้งหลายไม่ต้องเชื่ออาตมาและไม่ต้องเชื่อพระคัมภีร์หรือว่าไม่ต้องเชื่อคำว่าพระพุทธเจ้า ข้อนี้เข้าใจผิดกันมาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเองอย่าเชื่อเพราะเหตุที่ว่าผู้พูดเป็นพระศาสดาของเรา ท่านให้เสรีภาพถึงขนาดนี้ ไม่ต้องเชื่อที่ท่านพูดหรอก เชื่อด้วยความเห็นด้วยตาของท่านที่มันเห็นๆ อยู่ว่ามันเป็นทุกข์อย่างนั้นๆ เชื่อที่นั่นแหละ ยึดถืออะไรก็เป็นทุกข์เพราะอย่างนั้นก็ดูที่ความยึดถือดูที่ตัวความทุกข์โดยตรง ไม่ต้องเชื่อใคร ไปฝากความเชื่อไว้กับสิ่งใดก็ไม่ถูกตามพระพุทธประสงค์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรสูตรหนึ่งเรียกว่ากาลามสูตร คอยขวนขวาย ศึกษาให้เข้าใจ และก็ไม่ต้องเชื่อแม้แต่ไอ้กาลามสูตรกูก็ไม่เชื่อ มันเชื่อตัวเองเชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในตัวสิ่งนั้นเอง ไม่ต้องเชื่อแม้แต่กาลามสูตร ท่านบอกว่าไม่ต้องเชื่ออะไร เค้าลือเค้ากระฉ่อนเชื่อกันทั้งโลก ฉันก็ไม่เชื่อเพราะเหตุนั้น มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกฉันก็ไม่เชื่อเพราะเหตุนั้น คิดโดย logic คิดโดย philosophy ได้ผลอย่างไรฉันก็ไม่เชื่อโดยเหตุนั้น ไม่เชื่อโดยภายนอก แต่ว่าเชื่อในภายในคือเห็นความจริงที่มีอยู่ที่สิ่งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสคำไหนออกมามันมีเหตุผลแห่งความจริงแสดงอยู่ที่นั่นและจงดูที่นั่นและจงเชื่อที่ตรงนั้น นี่แหละที่เรียกว่าไม่ต้องเชื่อที่พระพุทธเจ้าไม่ต้องเชื่อพระคัมภีร์ ไม่ต้องเชื่อทั้งหมด 10 ประการด้วยกัน นี่จงดูความทุกข์ ก็เพราะมันบอกตัวเองมันฟ้องตัวเองว่าฉันพร้อมที่จะกัดแกนะ แกมายึดถือฉันเมื่อไหร่ฉันก็กัดแกเมื่อนั้น ความทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็ดีที่มีอยู่ที่นามรูปก็ดีที่มีอยู่ที่ตัวกูก็ดี แกยึดถือเมื่อไหร่ฉันก็กัดแกเมื่อนั้น เห็นอยู่อย่างนี้เหมือนกับเราเห็นเสือไม่ต้องเชื่อใครว่าเสือ มันจะกัดหรือไม่ ไม่ควรจะไปยุ่งกับเสือมันก็รู้ได้เองว่าเสือมันจะกัด เห็นความทุกข์แล้วก็เห็นได้เองว่าความทุกข์มันพร้อมที่จะกัด รู้จักไอ้ตัวความทุกข์ด้วยตนเอง เพราะมันได้กัดอยู่แล้วด้วยความโง่อยู่ตลอดเวลาที่แล้วมาแต่หนหลังมันกัดอยู่แล้ว มีความรักเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น มีความโกรธเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น มีความเกลียดเมื่อไรก็กัดเมื่อนั้น มีความกลัวเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น มีความตื่นเต้นๆเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์เมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น อิจฉาริษยาเมื่อไหร่ก็กัดเมื่อนั้น มีความหวงเมื่อไหร่มีความหึงเมื่อไหร่มันก็กัดเมื่อนั้น มันฟ้อง เกี่ยวข้องตัวเองหรือแสดงบทบาทให้เห็นกันอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่จะต้องเห็นเป็นพื้นฐาน เห็นตัวความทุกข์จึงจะกลัวความทุกข์และอยากจะดับทุกข์ ถ้าไม่เห็นความทุกข์มันก็ไม่มีปัญหา ฉะนั้นจะมาหาธรรมะมาวัดมาวานี้มันต้องเห็นความทุกข์ไล่ต้อนมา ไม่ใช่หลับหูหลับตาตื่นๆตูมตามกันมาไปวัดโว้ยไปวัดโว้ยแล้วก็ไปปฏิบัติไปปฏิบัตโว้ยแล้วก็ปฏิบัติโดยที่ไม่รู้ว่าอะไรนี่ก็มีอยู่มาก งั้นก็เห็นว่าไอ้ความทุกข์นี้มันร้ายกาจต้องรีบไปหาที่พึ่งนั่นคือธรรมะ แล้วก็ช่วยตนเองด้วยการปฏิบัติธรรมะตามคำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี้เรียกว่าช่วยตัวเองพึ่งตัวเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่าหวังให้พระพุทธเจ้ามาช่วยโดยตรงมันเป็นไปไม่ได้ ท่านตรัสว่าคถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกผู้ชี้ผู้แนะ ความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง มันต้องเห็นความจริงข้อนี้แล้วท่านก็มาวัด มาศึกษาธรรมะมาปฏิบัติธรรมะอย่างที่กำลังกระทำกันอยู่ เมื่อความทุกข์มันไล่ต้อนมา ความทุกข์มันขบกัดเอามันก็ไล่ต้อนมา เราจะต้องออกไปเสียจากปัญหาข้อนี้ อยู่ที่บ้านมันก็เป็นทุกข์เพราะไม่รู้ว่าทำผิด จึงมาเรียนให้รู้เพื่อจะถูกต้องและก็จะไม่ทำผิด สรุปความว่าความทุกข์มันมาจากชาติแห่งตัวกู อุปาทานแห่งตัวกู ทำอย่างไรจึงจะไม่มีทุกข์มันก็คือไม่มีตัวกู มีสติๆๆไม่ให้เกิดตัวกูๆในทุกๆกรณีมันก็ไม่มีความทุกข์ในทุกกรณี นี่เรียกว่าพูดอย่างสุ่มครอบมีสติไม่เกิดตัวกูในทุกกรณี ไม่ต้องเชื่ออาตมาในพระคัมภีร์ก็ว่าอย่างนี้ แต่ว่าไม่ต้องเชื่อพระคัมภีร์ไม่ต้องเชื่ออาตมาไม่ต้องเชื่อตัวสูต เชื่อลูกตาของท่านที่มองเห็นว่าความทุกข์มันกัดเอา มีตัวกูมันก็กัดเอาเห็นอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ทำอย่างไรไม่ให้เกิดตัวกูก็มีสติๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องผุดสติๆต้องมีสติมากพอ ต้องมีความเร็วมากพอ สติงุ่มง่ามก็ใช้ไม่ได้ เค้าไม่ได้เรียกว่าสติ ความระลึกได้ช้าๆงุ่มง่ามไม่ได้เรียกว่าสติ เพราะคำว่าสติหมายถึงสิ่งที่แล่นเร็วอย่างลูกศร คำว่าสติมีรากศัพท์คำเดียวกับคำว่าลูกศร สระธาตุแล่นไปเร็ว สติก็คือสิ่งที่แล่นไปเร็ว เพราะฉะนั้นต้องมีสติเร็ว มันก็เนื่องกันไปว่าสติเร็วระลึกเร็วแล้วระลึกอะไร ระลึกว่าปัญญาเอาปัญญามาก็มีอะไรพร้อมหมดเกี่ยวกับสติ มีสติเอาปัญญามาทำเป็นสติสัมปชัญญะแล้วก็มีสมาธิเป็นกำลังเป็นน้ำหนักหรือตามที่ได้เคยพูดแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้ว มีสติ คำแรก คนเอาปัญญามาแล้วก็มีสัมปชัญญะคือถูกต้องกับเรื่องของมันเฉพาะเรื่อง เราไม่ต้องเอาปัญญามาทั้งหมดหรอกมันมากแม้ว่าจะรู้มากแต่ก็ยังไม่พร้อม เอาปัญญามาเฉพาะเรื่องนั้นแล้วก็ใช้น้ำหนักคือสมาธิระดมทุ่มเทกำลังไปแก้ปัญหากำจัดปัญหาเรื่องนั้น พูดสั้นๆว่ามีสติคำเดียวแต่มันมาอยู่ในรูปของปัญญาของสัมปชัญญะของสมาธิ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่อย่างถูกต้องๆแก่กรณี คำว่าถูกต้องนี้อย่าไปเชื่อใครอย่าไปเชื่อคำสอนแบบไหน ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาคือมันดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือถูกต้อง คือมันไม่เป็นโทษมันมีแต่ประโยชน์นั่นแหละคือความถูกต้อง ถ้าไปคิดตามแบบ philosophyของฝรั่งก็ยืดยาวๆหาจุดจบไม่ได้ คิดตามแบบ logic มันก็ฟัดไปฟัดมาไม่รู้จักยุติ เอาถูกต้องๆตามหลักธรรมะดีกว่าคือมันดับทุกข์ได้คือความถูกต้องนี้เราจะต้องฝึกให้มีสติเพียงพอแล้วทันแก่เวลา คำว่าทันแก่เวลาเป็นหลักสากลทั่วไปที่ไหนเค้าก็ต้องทันแก่เวลาไม่ทันแก่เวลาก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีความทุกข์อยู่ไหนชาตินี้แล้วไปดับเอาชาติหน้า มันจะบ้าบอกี่มากน้อย มีความทุกข์วันนี้จะไปดับพรุ่งนี้มะรืนนี้ มันก็บ้าบอกี่มากน้อย มันต้องทันแก่เวลาเหมือนเปิดสวิตซ์ไฟ กดปั๊บสว่างจ้า ให้มันทันแก่เวลา ทันแก่เวลา เราจึงต้องฝึกให้มีธรรมะ ตรงนี้คือสติ อย่างเพียงพอและทันแก่เวลา ที่ไม่รู้จะฝึกอย่างไรก็มาศึกษาๆ รู้ว่าฝึกกันอย่างไรเราก็ฝึกกันเสียด้วย ถ้าทำกันจริงๆช่วงเวลา 10 วันนี้จะต้องมีความรู้พอที่ว่าฝึกอย่างไรๆ ถ้ายังฝึกไม่สำเร็จภายใน 10 วันก็กลับไปฝึกที่บ้านหรือไปต่อๆไปข้างหน้าก็ได้ ถ้ามีความรู้อย่างเพียงพอที่จะไปฝึกได้ด้วยตนเองก็ขอให้มันมีหลักการอย่างนี้ ฝึกสติให้เพียงพอก็คือฝึกระบบอานาปานสติซึ่งก็จะได้ทำความเข้าใจกันพอสมควรเรื่องอานาปานสติที่นี้บอกให้รู้ล่วงหน้าว่าคือฝึกอานานปานสติที่ท่านกำลังฝึกอยู่นั่นแหละ เป็นการฝึกที่ทำให้มีสติเพียงพอและเร็วทันเวลา จงพอใจจงยินดีที่ฝึกอานานปานสติในฐานะเป็นการฝึกหาที่พึ่งๆที่จะช่วยให้รอด ทีนี้จะมาดูกันอย่างทั่วๆไป จะกำหนดบทเรียนว่าฝึกการทำอะไรให้มีสติก่อน นี้รู้สึกตัวมีสติเสียก่อนที่จะทำอะไรลงไป นี่จำเป็นมาก จะทำอะไรขอให้ทำเมื่อมีสติแล้วๆ ยกตัวอย่างง่ายๆที่สุดอย่างเด็กๆ จะปิดประตูห้องท่านต้องมีสติเสียก่อนแล้วก็ปิดประตูๆ มันจะได้ไม่เกิดปัญหาที่ว่าออกไปนอกบ้านแล้วอ้าวประตูปิดแล้วหรือยังไม่รู้ เป็นทุกข์เป็นห่วงขึ้นมาทันที ถ้าท่านมีการปฏิบัติว่ามีสติเสียก่อนที่จะทำอะไร แล้วท่านก็ปิดประตูด้วยสติอย่างนี้ มันไม่ลืม มันเคยแล้วมันปิดประตูแล้ว จะทำอะไรซักนิดก็ต้องมีสติเสียก่อน จะกินอะไร จะอะไรแม้แต่จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็มีสติเสียก่อน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องใหญ่โต ที่จะทำกิจการใหญ่โต ทำมาค้าขายใหญ่โตซึ่งต้องมีสติเสียก่อนๆ มันจะมีแต่ความถูกต้องตลอดไป อาตมาเมื่อเป็นเด็กๆ เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนหนังสือแบบเรียนนั้นก็มีเรื่อง นับสิบก่อน เด็กหญิงเด็กชายพี่ชาย อย่างเด็กหญิงทำอะไรพลวดพลาดแม่ก็สอน ทำอะไรนับ10ก่อน วันนั้นเค้าถือกระป๋องเมล็ดดอกไม้ไปปลูกแล้วเค้าทำหกเค้าก็นั่งอึ้งอยู่นับ 10 จึงค่อยจัดการเพื่อห้ามความโกรธ พี่ชายก็ถามว่านั่นทำอะไร ก็บอกว่านับ 10 ก่อนเพื่อจะไม่โกรธและเพื่อจะไม่เกิดเป็นทุกข์ นิทานสอนเด็กเรื่องนี้คือ เตือนสตินั่นสูงสุดในพระพุทธศาสนา จำไอ้คำนั้นมาใช่ก็ได้ ทำอะไรนับ 10 ก่อน คือมีสติสมบูรณ์ก่อนแล้วจึงทำอะไร เช่นโกรธมาแล้วก็นับ 10 ก่อน พอนับ 10 ก่อนมันก็ลดความโกรธ พอมันหายโกรธมันก็ไม่พูดออกไปด้วยความโกรธ คือมันไม่ทำผิด ถ้าไม่รู้สึกเสียก่อนมันก็มีแต่ทำผิด แล้วมันก็ต้องเสียใจทีหลัง นับ 10 ก่อนนี่ขอให้ขยายความออกไป จะทำอะไรนะนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน พอไปที่จะพูดเรื่องส่วนตัวว่าอาตมาถือหลักอย่างนี้ จะทำอะไรจะคิดอะไรจะพูดอะไรจะสั่งการอะไรจะทำอะไรนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ใช้คำที่ดีกว่านั้นก็ทำอะไรถามพระพุทธเจ้าก่อน ขอให้ช่วยจำให้มีประโยชน์ที่สุดว่าจะทำอะไร ถามพระพุทธเจ้าก่อนว่าควรทำหรือไม่ควรทำ มิฉะนั้นมันจะบ้าๆบอๆทำอะไรพลวดพลาด ผลุนผลันไม่ค่อยจะมีประโยชน์เสีย เสียเวลามาก มันเป็นคนโง่ ทำอะไรไม่ถามพระพุทธเจ้าก่อน ถามที่ไหนหละ นอกจากนิพพานแล้ว มันก็คือความรู้ธรรมะที่เราได้รับมาจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่เราได้สะสมมาตลอดเวลาที่ศึกษาธรรมะนั่นแหละคือองค์พระพุทธเจ้า ทำอะไรให้สำรวมจิตใจ และระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วถามว่าจะทำอย่างไร ไอ้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันจะบอกให้เองว่าควรทำอย่างไร ทีนี้ทำกันอย่างโง่ๆ เหมือนพระเณรองค์ที่เป็นหัวหน้าหัวตามันทำอะไรสับเพร่ามันทำอะไรไม่ถามพระพุทธเจ้าก่อน มันผิดๆ ซะเป็นส่วนมาก ขอให้ท่านฆราวาสทั้งหลายถือหลักอันเดียวกันว่าจะทำอะไรถามพระพุทธเจ้าก่อน ถามที่ไหนคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่เราสะสมไว้ในจิตใจเป็นองค์พระพุทธเจ้า เอามาแขวนคอก็ได้แต่ให้รู้สึกว่าไม่ใช่แขวนเครื่องราง เอาความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเอามาแขวนไว้ที่คอ อาตมาคิดว่ามันยังไม่ดี พระพุทธเจ้าที่แท้จริงอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ ในรูปภาพในตึกนั้นรูปแรกทางด้านซ้ายข้างประตู รูปแรกนะพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ คุณอย่าไปหาพระพุทธเจ้าที่วัด อย่าไปหาพระพุทธเจ้าที่อินเดีย ที่ใดเลย อาตมาเคยโง่มาแล้วไปหาพระพุทธเจ้าที่อินเดีย พอได้เห็นภาพนี้พบคำสอนนี้ พระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของแต่ละคนๆ แหวกม่านแห่งความโง่ออกไปเสียนิด พนะพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ตรงนั้นแหละ ขอให้ถือหลักอย่างนี้ พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ แหวกม่านแห่งความโง่ก็พบกับพระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนั้นแล้วก็ถามท่านซิว่าจะใช้เงินบาทนี้อย่างไร จะทำงานนี้อย่างไร จะทำเท่าไหร่ ทำอย่างไรทูลถามเถิด จะได้คำตอบ คำบอกอย่างถูกต้องและก็ทำอะไรพอดีๆ ไม่ขาดไม่เกินแล้วก็ถูกต้อง อย่างนี้เรียกว่ามีสติในการทำที่จะทำอะไร ก็มีสติเสียก่อนๆ ขยายความออกไปว่าถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน แทนคำว่านับ 10 ก่อน ใช้คำว่าทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน อย่าผลุนผลัน เรื่องบางเรื่องมีเวลามีโอกาสให้ทูลถามพระพุทธเจ้าเป็นชั่วโมงเป็นวันๆก็ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดที่จะต้องใคร่ครวญเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆก็ได้ เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าหลายๆวันก็ได้ ทูลถามพระพุทธเจ้าก่อนจะทำอะไรแล้วก็สรุปความออกมาว่าจะทำอย่างไรๆ จะทำอะไรนี่คือมีสติ ความมีสติ อย่างดีที่สุดๆ จะใช้นับว่า 10 ก่อนก็ได้หรือทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อนก็ได้ สำรวมระวังความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเต็มที่เสียก่อนก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าความมีสติๆด้วยกันทั้งนั้น งั้นเราก็ฝึกๆการมีสติอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ได้พูดมันแล้วว่าจะกระดุกจะกระดิกไปในทางไหน จะเคลื่อนไหวไปในทางไหนอย่างไร ก็มีสติเสียก่อน มีสติในชีวิตประจำวัน กิจการประจำวันก็เรื่องพูดเรื่องจาเรื่องกินอาหารเรื่องถ่ายอุจจาระปัสสาวะเรื่องอาบน้ำอาบท่าเรื่องจัดการแต่งเนื้อแต่งตัวเรื่องบ้านเรื่องเรือน มีสติในชีวิตประจำวัน แต่คนประมาทเค้าไม่ทำหรอก เค้าโง่ เค้าอวดดีว่าไม่ต้องกูทำถูก ไม่ต้องคิดนึกไม่ต้องศึกษาไม่ต้องระมัดระวังนั่นหละคือคนโง่ ความโง่เปรียบเหมือนความหลับ พุทธะเป็นความตื่นวิจชาโพธินี่เป็นความตื่น แต่อวิชชา อโพธินี่เป็นความหลับ เค้าอยู่ด้วยความหลับก็คิดดูว่ามันจะเจอกับความถูกต้องได้อย่างไร มันเป็นความหลับหูหลับตา ฉะนั้นต้องตื่นๆอยู่ นี่อะไรเป็นความตื่นก็สติแหละคือความตื่น บาลีว่าสะติ โลกัสมิ ชาคะโร สติเป็นธรรมะซึ่งตื่นอยู่ในโลก ชาคะโรแปลว่าตื่นคือไม่หลับ มีสติคือตื่นไม่หลับ จงเป็นคนไม่หลับคือมีความตื่นอยู่ด้วยสติปัญญา แล้วก็อยู่ในโลกนี้ด้วยความตื่นตื่นอยู่อย่างถูกต้อง ถูกต้องก็คือดับทุกข์ได้ คำว่าถูกต้องมันมีความหมายมากมาใช้เวลากันสักหน่อยมั้ย สัมมาแปลว่าความถูกต้อง สัมมัตตแปลว่าความถูกต้อง ท่านจงจำความหมายของคำว่าถูกต้องไว้ให้ดีๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าท่านมันเป็นความถูกต้องคือเป็นสัมมา สำมาแล้วมันต้องเป็นวิเวกัตนิติตตัง วิรากัตนิติตัง นิโรกัตนิจิตตัง วุสะขะปรินามิง 4 คำนี้สำคัญมาก มันต้องเป็นไปเพื่อวิเวกคือสงัด เงียบสงัดคือไม่กลุ้มรุมอยู่ที่ฟุ้งซ่านต้องเงียบสงัด แล้วก็วิราคะคือให้มันคลายความโง่ คลายความยึดมั่นถือมั่น จึงจะเรียกว่าถูกต้อง นิโรธะก็คือเป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญหา เพื่อความดับแห่งความทุกข์ โวสสัคคะปริณามิง สรุปรวมความแล้วว่าสละออกไปอย่าเอามายึดถือไว้ว่าเป็นตัวกูของกู ข้อปฏิบัติใดๆก็ตามถ้าไม่ประกอบอยู่ด้วย 4 อย่างนี้ องค์ 4อย่างนี้ ไม่ถูกต้องไม่เป็นเพื่อนิพพาน ท่านจะรักษาศีลจนตายมันก็ไม่ได้ช่วยได้ ถ้าไม่ประกอบอยู่ในองค์ประกอบ 4 อย่างนี้ จะให้ทานทำบุญใดๆก็ตามถ้ามันไม่ประกอบอยู่ได้อย่างนี้มันไม่เป็นสัมมา สัมมาศีล สัมมาทาน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาทั้งหลาย ต้องประกอบอยู่ด้วย 4อย่างนี้ ถ้าไม่ประกอบอยู่ด้วยอย่างนี้ก็เป็นธรรมะธรรมดา ไม่ประกอบอยู่ในความถูกต้องสำหรับการบรรลุนิพพาน นี่มันวิเวกจากสิ่งที่ซุ่มรุมห่อหุ้มฟุ้งซ่านให้มันมีราคะคือเป็นไปด้วยจางออกคลายออกแห่งความโง่และความยึดถือ ให้มันเป็นไปด้วยความดับแห่งปัญหา สรุปรวมความว่าให้มันเป็นการโยนทิ้งออกไปซึ่งอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ โยนทิ้งสิ่งนั้นออกไปเสีย เรียกว่า โวสสัคคะปริณามิง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในสูตรอื่นไม่ได้ตรัสไว้ในสูตรธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรสูตรแรก แต่ท่านยืนยันไว้อย่างนี้ว่า จะให้มันเป็นสัมมาก็ต้องให้ประกอบด้วย 4 อย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเป็นทิฏฐิธรรมดาไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ มันจะเป็นสังกัปปะธรรมดาไม่ใช่สัมมาสังกัปปะ มันจะเป็นสัมวาจาธรรมดา กัมมันตะธรรมดา สมาธิธรรมดา อะไรธรรมดา มันไม่เป็นสัมมาและไม่เป็นองค์แห่งมรรค ถ้าจะให้มันเป็นองค์แห่งมรรคคือถูกต้องต่อพระนิพพาน ท่านระวังๆ ให้การกระทำทุกชนิดมันก็ประกอบอยู่ในองค์ 4 ประการคือมันออกไปจากความฟุ้งซ่าน ความไม่วิเวก แล้วมันคลายความยึดถือ ให้มันดับทุกข์ มันเป็นการโยนทิ้งไอ้สิ่งที่ยึดถือไว้อย่างพะรุงพะรัง แล้วก็ให้ทานแท้ เบื้องต้นที่สุดก็ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด มันเป็นเพื่อวิเวก เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิโรธะ เป็นไปเพื่อโวสสัคคะปริณามิง นั่นแหละคือสัมมา มีความถูกต้องอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าสัมมะตะคือความถูกต้อง 8 ประการแล้ว มันก็จะมีสัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุติ อีก 2 ประการ คือรู้อย่างถูกต้องและหลุดพ้นออกไป ถ้าพูดแต่เพียง 8 ประการนั่นเป็นเหตุของเรื่องส่วนเหตุที่เป็นการกระทำ เติมเข้าไปอีก 2ข้อส่วนผลของการกระทำหลุดพ้นเป็นนิพพาน ความถูกต้องมีอยู่ 10 ประการ ที่เป็นส่วนเหตุ 8 ประการ ที่เป็นส่วนผล 2 ประการรวมกันเป็น 10 ประการ นี่คือความถูกต้องขอให้ท่านมีชีวิตที่ตื่นอยู่ๆอย่างมีความถูกต้อง ให้ชีวิตประจำวันมันเป็นไปด้วยวิเวก คือไม่มีเรื่องกลุ้มรุมให้มันฟุ้งซ่าน แล้วมันสลัดออกๆซึ่งจางออกกิเลสตัณหา แล้วมันก็จะดับทุกข์ดับปัญหา มันโยนคืนกลับไปสิ่งที่ยึดถือไว้ด้วยความโง่อยู่ตลอดเวลา ฝึกอย่างนี้เรียกว่ามีสติเป็นผู้ตื่นอยู่ในชีวิตประจำวัน จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุญญตาสมาธิ สมาธิที่มี สุญญตา คือความว่างเป็นอารมณ์ เรื่องนี้ก็พูดแล้วเมื่อวาน พอเดินมาจาก center มาที่นี่ก็เดินมาอย่างไม่มีผู้เดินที่มีสติ เดินมาอย่างไม่มีตัวผู้เดิน นั่นแหละคือสุญญตาสมาธิในการเดิน ไปนั่งไปนอนไปอยู่ที่ไหนก็ให้มีสุญญตาสมาธิอยู่ทุกๆกิริยาบทแล้วมันจะไม่เกิดปฏิจจสมุทบาทอันร้ายกาจ ปฏิจจสมุทบาทแห่งความทุกข์ มันจะเกิดฝ่ายตรงกันข้ามคือฝ่ายที่ดับทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าสุญญตาสมาธิท่านทำได้ทุกแห่งไม่ว่าเมื่อใดไม่ว่าที่ไหน แม้นั่งอยู่ในรถไฟก็ทำได้ มีสมาธิในการไม่มีตัวกูๆ เพ่งอยู่ที่ความไม่มีตัวกู ว่างจากตัวกู เบาสบายที่สุด แล้วถ้าท่านเป็นอยู่อย่างแบบนี้ มีชีวิตเป็นอยู่อย่างแบบนี้ก็จะได้ชื่อว่า สุญญตาวิหาร ขณะใดมีสุญญตาสมาธิ ขณะนั้นท่านจะมีสุญญตาวิหาร คำนี้ประเสริฐสูงสุด สุญญตาวิหาร มีความเป็นอยู่ด้วยสุญญตา มีชีวิตอยู่ด้วยสุญญตา เรียกว่าสุญญตาวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอรหันต์ พระอรหันต์ทุกองค์มีชีวิตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ท่านอยู่ด้วยสุญญตาหรือว่างจากตัวตน ไม่มีอะไรมาทำเป็นทุกข์ได้ ที่เป็นสูงสุดๆของสุญญตาวิหารเป็นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเองท่านตรัสยืนยันว่าคถาคตอยู่ด้วยปรมานุตตรสุญญตาวิหาร ปรมาก็อย่างยิ่ง อนุตร ไม่มีอะไรยิ่งกว่า นี่ท่านตรัสนะไม่ได้ว่าท่านอวด แต่ท่านบอกให้รู้ว่าคถาคตอยู่ในสุญญตาวิหาร อะไรๆจะเข้ามามันไม่หวั่นไหวไปหมดเดี๋ยวพระราชายกขบวนมาเต็มวัดมันก็มีจิตใจอย่างนั้น เดี๋ยวคนบ้าเข้ามาในวัดท่านก็มีจิตใจอย่างนั้น เดี๋ยวอุบาสกอุบาสิกามาเต็มวัดท่านก็มีจิตใจอย่างนั้น เดี๋ยวมีพวกข้าศึกฝ่ายตรงกันข้าม เดรถีอื่นเข้ามาท่านก็มีจิตใจอย่างนั้น จิตใจคงที่อย่างงั้นเรียกว่าสุญญตาวิหาร ปรมานุตตรสุญญตาสำหรับพระพุทธเจ้า พวกเราเอาแต่สุญญตาวิหาร อย่าหวั่นไหวเดี๋ยวนี้พอเห็นบุรุษไปรษณีย์เข้ามาในบ้านก็หวั่นไหวไม่รู้เรื่องดีเรื่องร้าย รับโทรเลขเปิดนี่มือสั่นไม่รู้ว่าเรื่องดีหรือเรื่องร้าย นี่มันไม่มีสุญญตาวิหาร เอาเสียเลย เดี๋ยวฝันร้ายบ้าง เดี๋ยวอะไรบ้าง ยุ่งไปหมด ไม่มีสุญญตาวิหาร นั้นคอยเอาอย่างพระพุทธเจ้าเดินตามพระพุทธเจ้า มีความเป็นอยู่ด้วยสุญญตาวิหารคงที่ไม่หวั่นไหวไม่ดีใจไม่เสียใจไม่บวกไม่ลบไม่บ้าดีไม่บ้าชั่วไม่อะไรหมด นี่ก็เป็นสุญญตาวิหาร แล้วก็ฝึกมีสุญญตาสมาธิอย่างที่ว่าอยู่เป็นประจำ นั่งนอนยืนเดินกินอาบถ่าย ทำการทำงานการพูดการนิ่ง ในสุญญตาสมาธิไม่ลืมความว่างจากอุปาทาน นี่คือคำตอบว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีตัวกู ก็มีสุญญตาคือว่างจากตัวกูแล้วท่านจะสามารถมีสติเพียงพอต่อเมื่อปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จ นั้นขอให้ท่านทั้งหลายมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คืออิทธิบาทให้เพียงพอในการที่จะฝึกอานาปานสติให้สำเร็จต้องมีสติ นี่สำเร็จแล้วก็สบายแล้วอยู่ได้ด้วยสุญญตาสมาธิ อยู่ได้ด้วยสุญญตาวิหารนั่นแหละมันเป็นทางดับทุกข์สิ้นเชิงในชีวิตประจำวัน กินเวลาเข้าไปแยะขอพูดเรื่องอานาปานสติสักหน่อย งั้นมาฝึกอานาปานสติ ครูอาจารย์ผู้ฝึกก็คงจะได้อธิบายโดยรายละเอียดตลอดถึงการฝึก หนังสือคู่มือมันก็มีอยู่โดยสมบูรณ์หาไปอ่าน เดี๋ยวนี้อาตมาจะพูดเฉพาะที่เป็นใจความเป็นความลับหรือเป็นใจความของเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะมองเห็น ก็เพียงแต่อาจารย์สอนให้ทำหรืออ่านหนังสือเข้าใจมันก็ไม่ยากนัก แต่ใจความสำคัญหรือหัวใจของมันอยู่ที่ไหนต้องจับให้ได้ แล้วจะรู้เรื่องนี้ดีก็จะต้องก็ควรจะรู้จะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้แต่ว่าควรจะรู้ ประวัติความเป็นมาของอานาปานสติพูดสั้นๆที่เกิดคือใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์ ใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์นั่นแหละคือหัวใจของอานาปานสติท่านรู้แล้วหรือยัง คนโบราณสมัยดึกดำบรรพ์เค้าก็รู้แล้วแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ที่จริงสติก็มีโดยธรรมชาติโดยที่ไม่มีการสอน มันก็มีโดยธรรมชาติแต่มันมีน้อยมันไม่เพียงพอ นี่เค้าก็รู้จักใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์ หายใจอย่างไรดีมีประโยชน์ กระทั่งหายใจอย่างไรดี มีฤทธิ์มีเดชมีปาฏิหารย์อีก คนโบราณคนสมัยนู้นเค้าก็รู้กันแล้วพอสมควร แต่ไม่รู้ถึงขนาดดับทุกข์ได้ จะดับกิเลสตัณหาได้ แต่แล้วมันก็เจริญขึ้นมาๆจนถึงสูงสุดเมื่อพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น ท่านก็สอนอานาปานสติสูงสุดแก้ปัญหาทุกอย่างทุกประการได้ นั่นแหละอานาปานสติมันมีประวัติอย่างนี้ เคยอ่านหนังสือรามเกียรติ์ถูกหอกถูกอาวุธ มันลูบเอาธรรมสมาธิและลูบร่างกาย 13ทีลุกขึ้นรบได้ มันถูกตีขาหักกระดูกหักมันทำอานาปานสติ ลูบร่างกายสองสามทีลุกขึ้นรบได้ มีแม้แต่เรื่องจักรๆวงศ์ๆ แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ เราไม่เอาเรื่องไสยศาสตร์ เราไม่เอา เราจะเอาแต่ที่มันดับทุกข์ได้ สูงขึ้นมาๆเค้าเรียกเป็นกลางๆทั่วๆไปว่าปราณายามะ ปราณะคือปราณ คือลมหายใจ ยามะแปลว่าควบคุม ปราณ+อายามะคือปราณยามะ ควบคุมลมหายใจ ให้ได้เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้นี่เป็นหลักทั่วไปของธรรมชาติ ใช้กันทุกลัทธิทุกศาสนาในอินเดีย แต่มันแปลกๆกันเท่านั้นเองแต่รวมความแล้วมันควบคุมลมหายใจด้วยกันทั้งนั้น ในพุทธศาสนาเราก็แยกเอามาส่วนหนึ่งมาจัดมาทำมาจนเกิดระบบอานาปานสติ แล้วอานาปานสติที่ไม่สูงถึงขนาดนั้นมันก็มีอยู่ในครั้งพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าทำให้มันสูงสุดๆ ในพุทธประวัติ เด็กสิทธัตถะเด็กตัวน้อยๆ ไปแรกนาขวัญไปทำอานาปานสติอยู่ที่ริมนา ถ้าไม่มีเรื่องรู้จะทำอย่างไรได้ๆ มันก็มีการรู้กันเป็นทั่วไปกันเป็นความรู้พื้นฐานโดยเฉพาะคนหนุ่ม จะต้องได้รับการฝึกในเรื่องนี้ มันเป็นพื้นฐานเต็มบ้านเต็มเมือง เด็กน้อยๆ ตัวน้อยๆเด็กทารกเป็นสิทธัตถะจะต้องทำได้ เว้นแต่ว่าดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงลงมาที่เงาต้นไม้เอนไปตามดวงอาทิตย์ เมื่อเด็กชายสิทธัตถะกำลังทำอานาปานสติอยู่ริมเงาต้นไม้หยุดไม่โน้มไปตามแสงอาทิตย์ อย่างนี้เป็นต้นขอให้รู้เถิดว่ามันเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้ว คนหนุ่มจะต้องฝึกเรื่องทางจิตใจอย่างนี้ไว้สำหรับเป็นคู่มือเป็นอาวุธสำหรับต่อสู้กับเหตุการณ์ ฉะนั้นคนหนุ่มจึงไปหาฤาษีมุนีหาอาจารย์เพื่อฝึกส่วนที่เป็นเรื่องที่เป็นจิตใจหรือจะเรียกว่าเวทมนตร์คาถาก็ได้ ขอให้ได้ความว่าเค้ารู้จักกันมานานดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลแล้วก็ดีขึ้นๆ จนมาสูงสุดจนเป็นอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอน มีคำตรัสว่าเมื่อคถาคตอยู่ด้วยอานาปานสติวิหารก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญานเป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุทบาทหรือเรื่องอริยสัจก็ดีเพราะมีอานาปานสติเป็นวิหารธรรมพึ่งอยู่ตลอดมาๆ จนวันหนึ่งวันหัวรุ่งคล้ายๆเวลาอย่างนี้ก็ได้ตรัสรู้ งั้นขอให้เราลูกศิษย์ได้รับมรดกธรรมมาใช้เป็นประโยชน์สำเร็จ ท่านมาตั้งระบบของท่านเองไม่เหมือนกับระบบอื่นระบบอื่นไอ้พวกอื่นก็มีไม่ใช่ไม่มีเค้าก็เรียกอานาปานสติได้เหมือนกัน ก็มันมีหลักในทางคำพูดว่าถ้าเราเอาอะไรมาทำไว้ในความรู้สึกในจิตใจอยู่ทุกกิริยาบท ให้อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกก็เรียกอานาปานสติ ท่านคิดถึงบ้านที่กรุงเทพอยู่ทุกหายใจเข้าออกก็เป็นอานาปานสติ ท่านคิดถึงบ้าน คิดถึงบุตรภรรยาสามีถึงเพื่อนฝูงถึงอะไรอยู่ทุกกิริยาทุกครั้งที่หายใจเข้าออกมันก็เป็นอานาปานสติทั้งนั้น ขอให้เข้าใจอย่างนั้นเดี๋ยวนี้เราเอาสิ่งที่มีประโยชน์ที่จะให้คุณสูงสุดมาทำอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกจึงเรียกว่าอานาปานสติโดยเฉพาะของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา พวกอื่นก็เอาอันอื่นมาทำแต่เราเอา 4 อย่างนี้มาทำเรียกว่าอานาปานสติ 4 หมวด หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิตและ หมวดธรรม หมวดที่หนึ่ง เราจะทำให้กายกายเนื้อหนังก็ดีกายลมคือลมหายใจก็ดีอยู่ในอำนาจของเรา หัวใจมันมีอย่างนี้หมวดที่หนึ่งมันมีอยู่อย่างนี้ ทำให้ร่างกายและลมหายใจอยู่ในอำนาจของเรา บังคับได้ ใช้มันได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ต่อเมื่อทำได้อย่างนี้จึงเรียกว่าสำเร็จประสบความสำเร็จในหมวดที่หนึ่งคือเรื่องกาย รายละเอียดอย่างไรก็อาจารย์ผู้สอนคงจะสอนให้แล้ว ถ้ามาพูดกันยืดยาวก็เป็นชั่วโมงๆ มันทำไม่ได้ ถ้าบอกว่าหัวใจๆของมันก็คือทำให้ร่างกาย เนื้อหนัง กาย ลมหายใจ ซึ่งมันเนื่องกันอยู่นั้นมันอยู่ในอำนาจของเรา จะใช้ประโยชน์อย่างไรก็ได้ จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อย่างไรก็ได้ นี่คือหมวดที่หนึ่งมีข้อปฏิบัติสี่ขั้น รู้ลมหายใจยาว รู้จักลมหายใจสั้น รู้กายทั้งปวงคือกายเนื้อและกายลม แล้วบังคับกายเนื้อทางกายลมแล้วก็มีสงบระงับ กายเนื้อก็ดีกายลมก็ดีอยู่ในกำมือเราแล้ว เราเป็นนาย เหนือสิ่งที่เรียกว่ากายแล้วนี้คือหมวดที่หนึ่ง ปฏิบัติตามนี้แหละแล้วก็จะประสบผล
อย่างนี้ ถึงหมวดที่สองเวทนาก็ทำให้เวทนาอยู่ในอำนาจของเรา เวทนาคือเป็นความรู้สึก ตื่นเต้น มันเป็นจิตสังขารมันคอยเกิดความคิดนั่นนี่ยุ่งไปหมด เวทนาเป็นจิตสังขาร งั้นเราก็ทำเวทนาหรือจิตสังขารอยู่ในอำนาจของเรา บังคับมันได้ไม่ให้มันทำให้เราเป็นทุกข์ ให้มันคิดแต่ที่ควรจะคิด ให้หยุดคิดก็ได้ ให้คิดแต่ในทางที่ควรจะคิดหรือถูกต้อง ประสบความสำเร็จ นี่ก็คือมีเวทนาหรือจิตสังขารอยู่ในอำนาจของเรา เราจะทำผิดยังไงได้ สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้นมันเหลือประมาณมันคือทั้งหมดของจักรวาล เพราะอะไรๆที่มีอยุ่ในสากลจักรวาลมันเพื่อให้เกิดเวทนาอย่างที่มนุษย์ต้องการ เราจึงมีเงิน มีทองมีข้าวมีของมีบุตรภรรยาสามี มีอะไรก็ตามมันก็เพื่อสุขเวทนา ทุกคนหวังในเวทนาในระบบ positive ที่ฝ่ายดีฝ่ายต้องการแล้วมันก็ครอบงำเอาๆ ถ้าไม่รู้เท่าทันมันก็ทำผิดหมด เกิดกิเลสตัณหา รู้เท่าทันเวทนาควบคุมมันให้ได้ ก็คือควบคุมจิตสังขารให้ปรุงแต่งแต่ในทางที่ถูกต้อง นี่คือหัวใจของอานาปนสติหมวดที่สอง
หมวดที่สามจิตตานุปัสนา ทำจิตและพลังของจิตให้อยู่ในอำนาจของเรา เราปฏิบัติบทนี้แล้วจิตมันจะอยู่ในกำมือของเรา พลังจิตเกิดจากจิตก็อยู่ในอำนาจของเรา เราจะใช้มันได้แต่ในทางที่ถูกต้อง ถ้ามันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันไปบ้าบอมันเกิดกิเลสเกิดปัญหายุ่งยากทั้งนั้น ใช้พลังจิตผิดๆเห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่น อย่างนี้ก็มี ฉะนั้นจงฝึกจิตอยู่ในอำนาจ แล้วพลังของจิตคือกำลังของจิตคือสมาธิแหละพูดตรงๆ อยู่ในอำนาจของเราใช้มันแต่ในทางที่ถูกต้อง สูงสุดเลย นี่เรียกว่าหมวดที่สาม
หมวดที่สี่ เราฝึกมีสติที่ว่าจะมีอำนาจเหนืออุปาทาน คำนี้ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ มีอำนาจเหนืออุปาทาน คือว่ามีสติปัญญาที่ถูกต้องอยู่ในอำนาจของเรา แล้วเราก็ควบคุมอุปาทานได้ ยึดมั่นนั่นนี่ว่าเป็นตัวตนเป็นของตนผิดๆไปจนเกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามีสติปัญญาควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ เราจะมีอำนาจเหนืออุปาทานทุกประการอุปาทานทุกความหมายเดี๋ยวนี้เราควบคุมได้มันอยู่ในกำมือของเรา ควบคุมอุปาทานก็ได้ หรือควบคุมสติปัญญาให้ถูกต้องก็ได้ความหมายเหมือนกัน ถ้ามันควบคุมสติปัญญาได้ มันก็ควบคุมอุปาทานได้นี่คือหัวใจหมวดที่สี่
นี่คือหัวใจถ้าไม่รู้ก็งุ่มง่ามผิดทางไปเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่จะสอนให้มันถูกต้องเรียกว่าอานาปานสติสี่หมวดโดยเฉพาะหมวดสุดท้ายที่ว่ามีสติปัญญาสูงสุดที่ควบคุมอุปาทานได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด อุปาทานจางออกๆจนหมดสิ้น เจ้าควรรู้เรื่องวิปัสสนาเก้าตาหรือเก้าอย่างนี่อาตมารวบรวมมาเองไม่มีในพระบาลี แต่รวบรวมจากพระบาลีทั้งหลายเอามาจัดชุดเรียกว่าเก้าตา
เรียกว่าเก้าตา และอุปมาเหมือนลูกตาเก้าลูกมองเห็นเก้าอย่างจริงๆมันเป็นชื่อของธรรมะหรือภาวะที่ควรจะรู้ควรจะเห็นเก้าตาสำเร็จประโยชน์อยู่ในอานาปานสติหมวดที่สี่ไปศึกษาให้ดี ถ้าปฏิบัติหมวดที่สี่โดยเฉพาะอนิจจานุปัสสี ขั้นแรกของหมวดที่สี่สูงสุดไปได้ถึงเก้าตา ขอให้กำหนดประโยชน์ในการฝึกอานาปานสติ มีฝึกอานาปานสติสำเร็จแล้วมีธรรมะมหาศาล สติก็มาก ปัญญาก็มาก สัมปชัญญะก็มาก สมาธิก็มากสี่อย่างนี้พอกินแล้ว จะมีอื่นๆอีกเยอะแยะขอเก็บไว้ก่อน แต่ขอให้มีสติมีปัญญามีสัมปชัญญะมีสมาธิเอามาใช้ให้ทันเหตุการณ์ทันท่วงทีในทุกๆกรณี มีสติได้มาจากการฝึกอานาปานสติแล้วเราก็ใช้มัน เราไปหาเครื่องมือศาสตราอาวุธหยูกยาอะไรก็ตามมาได้แล้วเราก็ใช้มัน ใช้มันให้ถูกต้อง สติก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเมื่อมันมี การกระทำของอายตนะและผัสสะ ข้อนี้พูดละเอียดแล้วในการบรรยายครั้งก่อน อายตนะถึงกันถ้าว่าเกิดวิญญาณก็เกิดผัสสะ ใช้สติอย่าให้เกิดอายตนะผิดๆ เกิดวิญญาณผิดๆ หรือเกิดผัสสะผิดๆ ไม่มีความผิดพลาดในการเกิดทางอายตนะ วิญญาณและผัสสะ ก็ใช้มันเป็นเครื่องมือต่อสู้ไม่ให้เกิดกิเลสและความทุกข์ ตัวอย่างสิบอย่างนั้นขอให้จำไว้เถิดมันมีประโยชน์ รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง ตัวอย่างเก้าอย่างนี้ก็ครอบ มันจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งเหล่านี้มันจะไม่มากัดเรา แล้วก็ในการทำงานประจำวันก็จงมีสติก็จงใช้สติแล้วจะมีความสุขในการได้รับผลจากการงานก็มีสติรับผล หาเงินให้ถูกต้อง แล้วก็มีเงินให้ถูกต้องแล้วก็ใช้เงินให้ถูกต้อง นี้เรียกว่ามีสติ แม้แต่พักผ่อนก็พักผ่อนด้วยสติให้มันถูกต้อง มิฉะนั้นมันไม่ใช่การพักผ่อนหรอก มันไปกินเหล้าเมายาเที่ยวชายทะเลไม่ใช่การพักผ่อน พักผ่อนให้ถูกต้องต้องมีสติควบคุม นั้นจะไปพักผ่อนชายทะเลก็ต้องมีสติควบคุม ทีนี้เมื่อทำประโยชน์ผู้อื่นเราก็ยังต้องใช้สติให้มันถูกต้อง ให้มันสำเร็จประโยชน์ตามนั้น นี่เห็นมั้ยเรื่องอานาปานสติใช้ประโยชน์ในการควบคุมกระแสแห่งปฎิจจสมุทบาทที่ไหลเชี่ยวเป็นเกรียวไปตั้งแต่อวิชชาจนถึงความทุกข์ เอาสติมาควบคุมกระแสแห่งปฎิจจสมุทบาท สูงสุดวิเศษมีพระพุทธเจ้าอยู่กับตัว ทรงตรัสว่าผู้ใดเห็นปฎิจจสมุทบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา วิปฎิจจสมุทบาทมีธรรมก็คือมีเรา เรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักปฎิจจสมุทบาทเนี่ย ก ข ก กา แห่งความทุกข์ฝ่ายดับทุกข์ เมื่อวานพูดเรื่องฝ่ายเกิดทุกข์ วันนี้พูดเรื่องฝ่ายดับทุกข์ มีสติอย่างนี้แล้วใช้กับมันในการกำจัดและควบคุมกระแสแห่งปฎิจจสมุทบาทอย่าให้ความทุกข์หรือความผิดพลาดเกิดขึ้นแม้แต่น้อยในชีวิตประจำวัน ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ถ้ามีสติแล้วแม้นอนหลับก็ไม่ทำอะไรผิดในเวลาหลับ ไม่ฝันร้ายไม่เดือดร้อน เนี่ยะมีสติในการควบคุมกระแสแห่งปฎิจจสมุทบาท ยกเอาเรื่องของปฎิจจสมุทบาทมาเป็นเรื่องใหญ่แล้วก็ใช้สติกำจัดปัญหาทั้งปวงออกไป นี่ได้หัวข้อว่าสติควบคุมกระแสแห่งปฎิจจสมุทบาทก็สิ้นสุดกันในส่วนเรื่องนั้น
ทีนี้มาพูดถึงชื่ออื่นกันบ้าง พูดถึงเรื่องขันธ์ 5 กันบ้างที่มีสติควบคุมขันธ์ 5 ถ้าใครไม่รู้จักนี่แย่มาก ถ้าไม่รู้จักขันธ์ 5 รูปร่างกายเรียกว่ารูปขันธ์ เวทนารู้สึกสุขทุกข์เป็นเวทนาขันธ์ แล้วก็หมายมั่นในเวทนานั้นว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้อย่างโน้นเรียกว่า สัญญาขันธ์ ว่าเกิดความคิดไปตามสัญญานั้นเรียกว่า สังขารขันธ์ แล้ววิญญาณที่คอยเกิดขึ้นรู้แจ้งตาหูจมูกลิ้นกายใจเรียกว่า วิญญาณขันธ์ นี้เรียกว่า ขันธ์ 5 ที่มันประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตเป็นตัวชีวิตเป็นตัว
อัตตภาพ ถ้ามันโง่มันก็เอารูปขันธ์เป็นตัวตนเป็นอัตตา เพราะตาหูจมูกลิ้นกายใจรูปขันธ์ มันคิดและรู้สึกอะไรได้ก็เอารูปขันธ์มาเป็นอัตตา เลิกเสีย รูปขันธ์ก็เป็นธรรมชาติเป็นรูปขันธ์ ที่เวทนาขันธ์ มีสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้างก็หลงเอาว่าเป็นของกูหรือเป็นตัวกูเป็นตัวเวทนาที่จะมาเป็นของกู เวทนาก็สักว่าเวทนาอย่าเอามาเป็นตัวกูอย่าเอามาเป็นของกู นี่สัญญาสำคัญมั่นหมายเวทนาสุขเวทนาทุกข์เวทนาอย่างนั้นอย่างนี้หรือว่าสิ่งอื่นที่นอกไปจากเวทนาก็เป็นที่ตั้งสำคัญมั่นหมายได้ทั้งนั้น สำคัญว่าตัวกูสำคัญว่าของกู มันก็มีความสำคัญต่อออกไปว่าเป็นบ่าวเป็นนายเป็นลูกจ้างเป็นผัวเป็นเมียเป็นมั่งมีเป็นญาติกันสัญญามั่นหมายอย่างใดอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้เป็นสัญญา ไอ้สัญญาตัวสัญญานั้นเป็นเพียงธรรมชาติเป็นเจตสิกธรรมญาเอาสัญญามาเป็นตัวกู แม้มันจะโง่สัญญาว่าตัวกูสัญญาขึ้นมาว่าตัวกูสัญญาว่าเที่ยงสัญญาว่าสุขก็อย่าเอามาเป็นตัวกู มันเป็นสัญญาสักว่าสัญญาตามธรรมชาติ ทีนี้สังขารส่วนที่มันคิดลึกอย่างนั้นอย่างนี้คิดได้วิเศษวิโสนานาประการก็อย่าเอาจิตนั้นมาเป็นตัวกู แล้ววิญญาณที่ไวมันก็เหมือนไวทั้งหลายรู้แจ้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจรู้แจ้งได้ ทั้งด้วยสัมผัสแรกและสัมผัสหลัง ทั้งปฏิฆสัมผัสทั้งอธิวจนสัมผัสวิญญาณเหล่านั้นก็อย่าเอามาเป็นตัวกู ถ้าเอามาเป็นตัวกูเป็นลัทธิฮินดูเป็นลัทธิอื่นไป นี้เรียกว่าไม่เอาขันธ์ 5 มาเป็นตัวกู
ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมันจะแยกดูเป็นขันธ 5 ก็ได้ นั้นขันธ 5 จะขยายออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาทก็ได้ ถ้าเรามาทำให้มันสั้นน้อยเข้ามาน้อยเข้ามาก็ดูเป็น 5 อย่างก็พอ ดูที่ร่างกายเป็นรูปขันธ ดูเวทนาที่รู้สึกสุขทุกข์ ดูสัญญาที่สำคัญมั่นหมายเป็นนั่นเป็นนี่เป็นนู่น ดูสังขาร การคิดนึกจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ที่เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม แล้วก็วิญญาณที่แสนจะวิเศษรู้ได้หมดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ 5 อย่างนี้เรียกว่าขันธ 5 ในบางทีบางระบบยกเอาขันธ 5 มาเป็นบทของการศึกษา แต่อาตมาขอบอกตามความรู้สึกนะว่าสู้เรื่องปฎิจจสมุทบาทไม่ได้ สมบูรณ์กว่าละเอียดละออกกว่าเรื่องปฎิจจสมุทบาท เมื่อพระพุทธเจ้าท่านยังเอาท่อง เอามาท่องตั้งแต่เด็ก ท่องสูตรคูณ แต่จะสรุปให้เหลือเพียงขันธ 5 ก็ได้ ขันธ 5 เป็นอนัตตาทุกๆขันธมันก็พอแล้ว แล้วทีนี้ก็จะให้มันละเอียดเป็นวิทยาศาสตร์มากไปกว่านั้นอีก ก็มาถึง หมวดอายตนิกธรรม แปลว่าสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่กับอายตนะ คือตัวอายตนะนั่นเองตาหูจมูกลิ้นกายใจรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์เรียกว่าตัวอายตนะ พอมีตัวอายตนะก็มีตัววิญญาณ กระทบกับอายตนะเกิดวิญญาณ วิญญาณก็เรียกว่า อายตนิกธรรม มีวิญญาณแล้วก็มีผัสสะ ผัสสะก็เรียกว่าอายตนิกธรรม ก็ออกมาเป็นเวทนา ก็เรียกว่าอายตนิกธรรม บรรดาสิ่งใดๆที่มันเนื่องกันอยู่กับอายตนะมันก็เรียกว่าอายตนิกธรรมจนหมดสิ้น อายตนะ วิญญาณ
ผัสสะ เวทนา มันก็มีทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นตัวอายตนะนอกในเป็น6 วิญญาณ 6 ผัสสะ 6 เวทนา มันมีหกหกแล้วหกหกมันมีได้ห้าอย่างนั้นมันก็เป็น 30 อย่างเรียกว่าอายตนิกธรรม มีสติมองเห็นเป็นอายตนิกธรรม อย่าให้มันมาเป็นตัวกูเป็นของกู นี้ว่ามีสติควบคุมรู้สึกรู้จักอายตนิกธรรมทั้งหกหมวดทั้ง 30 รายการ อายตนภายใน ตาหูจมูกลิ้นกายใจ หมวดอายตนะภายนอกรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์นี่คือหมวดหนึ่งเรื่อง วิญญานทั้ง 6 ผัสสะทั้ง 6เวทนาทั้ง 6 เวทนามันมีอยู่ 6 อย่าง ในห้าลักษณะมันก็เป็น 30 อย่างมันจะมาในรูปไหนก็เห็นแบบอนัตตามีสติไม่หลงใหลใน
อายตนิกธรรมว่าเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้ถ้าเราจะเลือกศึกษาอย่างนี้มันก็ได้เหมือนกัน มันศึกษากันคนละแง่คนละรูปแบบกับอานาปานสติ แม้แต่เรื่องปฏิจจสมุทบาทเอาปฏิจจสมุทบาทมาเป็นบทของการศึกษาก็ได้เอาขันธ 5 มาเป็นบทของการศึกษาก็ได้ เอาอายตนิกธรรมเป็ยบทของการศึกษาก็ได้ แต่ถ้าว่าเอามันมากไปเอาให้มันมากอย่าง มหาสติปัฏฐานสูตร แล้วก็เรียกว่าปิยรูป สาตรูปมาเป็นบทเรียนบทศึกษาก็ได้คือมันมีอายตนิกธรรม 5 อย่างแล้วเมื่อตะกี้ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา มีต่อจากนั้นไปอีก 5 อย่างคือมีเวทนา มีสัญญาในเวทนานั้น แล้วก็มีสัญญเจตนาจะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับสัญญานั้น แล้วก็มีตัณหาซึ่งความอยากไปตามเจตนานั้น แล้วก็มีวิตกๆไปตามนั้น วิจารณ์ๆใคร่ครวญไปตามนั้น อย่างนี้เป็น 10 อย่าง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา สัญญเจตนา ตัณหา วิตก วิจารณ์ นี้มันก็เป็นอภิธรรมมากขึ้นถ้าไม่ชอบมากๆก็ไม่ต้องเอาก็ได้ ทำหมวดเพียงขันธ 5 เพียงปฏิจจสมุทบาทตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็ได้ แต่ถ้าจะเป็นนักเลงเอาเป็น 10 หมวดขึ้นมาอีกก็ได้เรียกว่า ปิยรูป
สาตรูป คือสิ่งที่ตัณหามันรัก ที่ตัณหามันต้องการ ที่ตัณหามันหลงใหลมัวเมานี้เรียกว่า อายตนิกธรรม เป็นบทแห่งการศึกษา ทีนี้ก็จะข้ามไปยังธรรมะฝ่ายที่จะช่วยให้ดับทุกข์ได้แล้วก็มีสติในธรรมะนั้น นี้ก็เรียกว่าใน โพธิปักขิยธรรม
จำแม่นๆ คือธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ แล้วก็มีสติปัฏฐานเป็นข้อแรก ข้อนำเป็นประธานของเรื่องทั้งหมด
มีสติปัฏฐาน 4 เป็นข้อแรกจะต้องมีสติในสติปัฏฐาน 4 มันก็มี สัมมัปปธาน ความเพียร ๔ มีสติในความเพียร 4 แล้วก็มีอิทธิบาท 4 มีสติในอิทธิบาท 4 แล้วก็มีอินทรีย์ 5 พละ 5 อย่างละ 5 แล้วก็มีโพชชงค์ 7 แล้วก็มี มรรค มีองค์ 8 อันนี้ก็ดูจะมากมายไปหน่อยแต่ถ้าจำไว้ได้มันก็ดี มันไม่เหลือวิสัยที่จะจำ จำไว้ได้ก็ดี สติปัฏฐาน มันเกี่ยวกับสติให้ถูกต้อง สัมมัปปธานเกี่ยวกับความเพียรเพียรให้มันถูกต้องในสติปัฏฐาน และมีอิทธิบาทประสบความสำเร็จด้วยอิทธิบาท แล้วก็มีอินทรีย์ที่ว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา 5 อย่างในลักษณะที่เป็นคำสำคัญเรียกว่าอินทรีย์ ในฐานะที่มันทำให้เกิดกำลังเรียกว่าพละ 5 แล้วก็หลักใหญ่ โพชชงค์ 7 อยู่ที่นี่ นี้วิเศษเอาไปยืมไปใช้เรื่องโลกเรื่องบ้านเรื่องเรือนก็ได้แต่ว่ามันเป็นเรื่องของการตรัสรู้ ข้อหนึ่งมีสติ สติระลึกหมดอะไรเป็นอะไร ระลึกหมด ธรรมวิจยะเลือกเอามาเฉพาะที่ควรจะทำในเรื่องนี้ พอครบแล้วก็วิริยะกระทำด้วยความพากเพียร แล้วก็มีปิติหล่อเลี้ยงการกระทำให้มีกำลังการกระทำ แล้วก็มีปัสสัทธิ ระงับเข้ารูปเข้ารอยแล้วก็มีสมาธิ
สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็ระดมกำลังกันหมดแล้วก็มีอุเบกขาควบคุมให้มันไปอย่างถูกต้องจนกว่าจะถึงที่สุด ข้อหนึ่งเลือกเอามาหมดว่าอะไรๆกี่อย่างเลือกเอามาหมด แล้วก็แยกเอามาอะไรแล้วเราจะทำอะไรเราจะต้องการข้อไหน แล้วก็มีวิริยะทำๆแล้วก็หล่อเลี้ยงด้วยปิติก็พอใจในการกระทำ ปัสสัทธิ มันก็จะเข้ารูปเข้ารอย ปรับตัวกันเข้ารูปเข้ารอยเป็นความถูกต้อง ที่ว่าระดมกำลังจิตทั้งหมดลงไปเรียกว่าสมาธิ ครบอย่างนี้แล้วก็มองดูเฉยอยู่ให้มันเป็นไปๆเหมือนอย่างจะทำนา ทำนาแท้ๆก็มีสติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ข้าวมันก็ออกรวงมาเองอย่าไปมีตัณหา อุปาทาน เข้าออกรวงๆมันบ้า ทำให้มันถูกต้องครบทุกอย่างของโพชชงค์มันก็ออกผลมา ทำให้ถูกต้องแล้วผลมันก็จะออกมาใน 7 ประการนี้ แม่ไก่ฟักไข่อย่างถูกต้อง โดยที่ฟักโดยอุณหภูมิ โดยการกก โดยการเขี่ย โดยการอะไรที่แม่ไก่ฟักไข่ แล้วลูกไก่มันก็ออกมาเองโดยแม่ไก่ไม่ต้องคิดว่าลูกไก่จงออกมาๆ มันบ้ามันมีตัณหา มันมีอุปาทาน แม่ไก่บ้า อย่าเอากับมันเลย ทำให้มันถูกต้อง ๆ มันก็เดินไปๆ ควบคุมเฉยอยู่ด้วยอุเบกขา คุมความถูกต้องควบคุมความถูกต้องอยู่เฉยๆให้มันเป็นไป พ้นมันก็ออกมานี่เรียกว่า โพชชงค์ จงมีสติๆควบคุมโพชชงค์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องนี่แหละควบคุมโพชชงค์ให้มันถูกต้องแล้วมันจะพอแล้วมั้ง ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาทให้ถูกต้องด้วยสติ ควบคุมขันธ 5 ให้ถูกต้องด้วยสติไม่ต้องยึดถือ แล้วก็ควบคุมอายตนิกธรรมให้ถูกต้อง ควบคุมปิยรูป สาตรูปให้มันถูกต้อง ควบคุมโพธิปักขิยธรรม ให้มันถูกต้องแล้วบรรลุนิพพาน จะพูดให้มากกว่านี้ก็ได้แต่พูดเท่านี้ก็ชักจะมากไปแล้ว แต่ก็น่าจะพยายามควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาท ควบคุมการเกิดดับแห่งขันธ 5 ควบคุมอายตนิกธรรมที่เป็นไปในทางอายตนะ ควบคุมปิยรูป สาตรูปซึ่งเป็นอารมณ์แห่งตัณหา ควบคุมโพธิปักขิยธรรม คือกระแสแห่งพระนิพพาน แล้วก็เป็นมรรคมีองค์ 8 ประการโดยตัวเองจนถึงพระนิพพานมีมรรคผลนิพพานนี้ สติต้องใช้กันอย่างดี จะสมบูรณ์แบบมันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากจะจำมันมากมายอย่างนี้ก็ใช้เรื่องปฏิจจสมุทบาทควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาทในชีวิตประจำวันไปทบทวนความจำใหม่ศึกษาใหม่ว่าในกระแสปฏิจจสมุทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร เราควบคุมให้มีสติทุกขั้นตอนแห่งปฏิจจสมุทบาท นี่คือความดับทุกข์เรื่องฝ่ายความดับทุกข์คือใช้สติให้ถูกต้องแล้วมันจะก็จะเกิดการดับทุกข์ด้วยสติ
มาดูกันเรื่องสุดท้ายประโยชน์อานิสงค์ของสติมีประโยชน์อย่างไร ดุกันไว้สุดท้าย สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาท สตินั้นจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาทกั้นไว้ไม่ให้มันไหลไปสู่ความทุกข์ ให้มันหยุดชะงักหรือให้มันย้อนกลับไหลไปในทางที่จะดับทุกข์โดยจะสามารถควบคุมกระแสปฏิจจสมุทบาทในชีวิตประจำวันให้เป็นไปแต่ในทางที่จะทำให้มันไม่เกิดทุกข์หรือให้มันหยุดเสียเลยก็ได้ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งปฏิจจสมุทบาท ต่อไปก็ว่าสติเป็นเครื่องตื่นอยู่ในโลก ถ้าไม่มีสติก็เท่ากับว่าเป็นคนหลับอยู่ตลอดเวลา ดูเอาเองก็แล้วกันว่าถ้ามันหลับแล้วมันจะทำอะไรได้ก็เท่ากับความโง่ชนิดหนึ่ง แม้ว่าเดินอยู่ วิ่งอยู่ ตื่นอยู่อย่างนี้ถ้ามันไม่มีสติมันก็เท่ากับหลับ ท่านจะทำอะไรอยู่ก็ตามถ้ามันไม่มีสติมันก็เท่ากับหลับคือมันไม่รู้ มันทำให้ถูกต้องไม่ได้ สติเป็นความตื่นเป็นเครื่องตื่นเราควรจะต้องใช้ความตื่นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอันว่าสตินี้จะต้องใช้ในที่ทั้งปวงไม่ว่าในกรณีไหนมันจะมีกี่กรณีที่มนุษย์จะต้องกระทำและต้องใช้สติ มีบาลีว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติเป็นสิ่งที่จำปรารถนานำมาใช้ในทุกๆกรณีไม่ว่าจะกรณีอะไร กรณีที่เป็นเหตุ กรณีที่เป็นผล กรณีที่จะเสวยผล ทุกๆกรณี จะเดินยื่นนั่งนอนจะกินจะอาบจะถ่ายจะทำประโยชน์ตนจะทำประโยชน์ท่าน จะทำงานที่ office จะทำงานที่บ้าน จะพักผ่อนหลับนอนในทุกๆกรณีต้องมีสติ นี่คือประโยชน์ของสติ แล้วเราจะชี้ไปที่ประโยชน์ที่ทุกคนจะเห็นได้แม้แต่เด็กอย่าให้มันเป็นอภิธรรมลึกๆที่มองไม่เห็น มันเห็นได้ๆว่า ถ้ามีสติแล้ว ฟังให้ดีจะไม่ตกไปสู่อำนาจของสิ่งที่หลอกลวง ในโลกนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ล่อลวงให้เข้าใจผิดตรงกันข้าม ถ้าเรามีสติแล้วมันหลอกเราไม่ได้ คือมันจะหลอกเราให้หลงรักไม่ได้ หลงเกลียดไม่ได้ มันมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้นแหละ รักหรือเกลียด บวกหรือลบ มันจะหลอกเราให้รู้สึกเป็นบวกไม่ได้ให้รู้สึกเป็นลบไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกเป็นบวกก็บ้าบวกหลงบวกบ้าดีหลงดีสนุกสนานเพลิดเพลินจนเกินขอบเขตซึ่งกำลังเป็นอยู่โดยมาก พวกเราในโลกเวลานี้มันบ้าบวกหลงบวก เค้าว่าไอ้การโฆษณามันหลอกลวง ไปซื้อหาสิ่งของที่ไม่จำเป็นมาไว้เต็มบ้านเต็มเรือน จริงไม่จริงก็ลองคิดดู เราไม่รู้มีอวิชชามันก็ถูกหลอกลวงด้วยการโฆษณาให้หลงบวก ดูโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ล้วนแต่เรื่องหลอกลวงให้หลงบวก เราก็ไปซื้อหามาด้วยหลงโฆษณา ไปดูบ้านเรือนก็เต็มไปด้วยของที่ไม่จำเป็นหรือของเกินจำเป็น นี่มันหลงบวก ถ้ามันหลงลบมันก็กลัวมันก็หวั่นวิตกมันก็หาความสุขไม่ได้ อย่าหลงบวกอย่ากลงลบ นี่เป็นความหมายที่จะใช้ทั่วสากลโลกอย่าหลง positive อย่าหลง negative / positive ก็ดึงไปทาง negative ก็ดึงไปทาง positive ก็ดึงให้รักดึงให้หวงแหน ดึงให้ยึดครองไปในทางนั้น negative ก็ดึงไปในทางให้หวาดกลัว ดึงไปในทางร้ายดึงไปทางให้ฆ่าเขาให้ทำลายเขาให้อิจฉาริษยา อย่าหลงบวกอย่าหลงลบ ถ้าพูดอีกทีก็ว่าอย่าหลงดีอย่าหลงชั่ว ถ้าพูดว่าหลงบวกหลงลบมันเป็นคำวิทยาศาสตร์มากเกินไป ชาวบ้านจะไม่รู้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ว่าอย่าหลงดีอย่าหลงชั่วอย่าบ้าดีอย่าบ้าชั่ว หลงดีบ้าดีเมาดีก็ชิบหายไม่ทันรู้ อย่าหลงชั่วเพราะว่าทำชั่วก็ชิบหายเหมือนกัน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้ามันไม่บ้าบวกบ้าลบบ้าดีบ้าชั่วแล้วมันไม่มีปัญหาอะไรเลย พอไปบ้าสิ่งเหล่านี้แล้วปัญหาก็เต็มไปหมด ศาสนายิวแต่โบราณก่อนพวกคริสต์เค้าสอนว่าอย่าไปหลงดีหลงชั่ว good and evil คือว่าพอพระเจ้าสร้างมนุษย์เสร็จแล้วเป็นคู่แรกแล้วพระเจ้าก็สั่งกำชับว่าแกอย่าไปกินผลไม้ต้นที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว the fruit of the tree of the knowledge of good and evil อย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว ถ้าแกกินแกจะตาย ผัวเมียคู้นั้น อาดัมกับอีฟมันไม่เชื่อมันกินมันแก้ตัวว่าถูกงูมันหลอกให้กิน คนมันรู้ดีรู้ชั่วมันก็เกิดปัญหา ความจริงและความลับอันสูงสุดคือว่าปัญหามันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราแยกเป็นดีเป็นชั่วจิตดีจิตชั่ว ถ้าไม่บ้าดีมันก็ไม่มีปัญหาเรื่องทางดี ถ้าไม่บ้าชั่วมันก็ไม่มีปัญหาเรื่องทางชั่ว ข้อความถัดจากนั้นไปในคัมภีร์นั้นก็มีว่าไอ้ผัวเมียคู่นั้นมันมีลูกออกมาทีนี้ลูกที่เป็นพี่ชายมันหลอกน้องชายไปฆ่าเสียในป่า เพราะว่าพ่อมันรักน้องไม่รักกูไม่รักตัวเอง ไอ้เด็กคนนี้มันบ้าดีมันหลงดีพ่อไม่รักกูรักน้องก็เลยฆ่าน้องเสีย บ้าดีมันเป็นอย่างนั้นมันทำเป็นอย่างนั้น นั้นอย่าบ้าดีอย่าบ้าชั่วอย่าหลงดีหลงชั่ว
เรานี้ก็เหมือนกันออกมาจากท้องแม้ไม่มีความหมายเรื่องดีเรื่องชั่ว ทารกเติบโตขึ้นมาจนรู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่วแล้วก็แยกเป็นหลงดีหลงชั่ว ปัญหามันก็เกิดทันที พอไปแยกเป็นดีเป็นชั่วปัญหามันก็เกิดทันที ปัญหาขั้นดีก็เกิดแบบขั้นดี ปัญหาขั้นชั่วก็เกิดแบบขั้นชั่ว งั้นเราไม่หลงดีหลงชั่วบ้าดีบ้าชั่วแล้วก็มีความถูกต้องๆอยู่ตรงกลาง นี่เรียกว่าไม่บ้าดีบ้าชั่วหลงบวกหลงลบ กล่าวตามที่คัมภีร์มันมีอยู่ พวกยิวก่อนคริสต์ตั้ง 6000 ปี หรือ8000 ปีแล้วก็ไม่ทราบเค้าพูดกันอย่างนั้น ก็สอนเรื่องไม่กินผลไม้ที่ทำให้รู้จักดีจักชั่วยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ บาปตั้งต้นที่ตรงนี้จุดตั้งต้นของมนุษย์อยู่ตรงที่บ้าดีบ้าชั่วหลงดีหลงชั่ว ทีนี้ก็มาดูฝ่ายนี้บ้าง ประเทศจีนมีเหลาจื๊อเกิดขึ้น คำสอนของเหลาจื๊อไม่ให้หลงบวกหลงลบเหมือนกันหรือว่าหยินหยาง ภาษาจีนแต้จิ๋วบอกอินเอี้ยง อย่าไปหลงบวกหลงลบ ถ้าหลงบวกหลงลบก็ต้องเป็นทุกข์ อย่าไปหลงบวกหลงลบ มันก็ไม่มีทุกข์นี่คือความหมายเดียวกัน ในอินเดียพวกฮินดูก็สอนให้อย่าไปหลงบุญหลงบาป แล้วอาตมันก็จะรอดอยู่เป็นอาตมันถาวร ไม่หลงบุญหลงบาป ที่พระพุทธเจ้าว่าอย่าไปหลงกุศลอย่าไปหลงอกุศล มันก็จะสิ้นสุดหมดปัญหาคือไม่มีตัวตนก็เป็นนิพพาน มันจะนิพพานได้ก็ต่อเมื่อไม่หลงกุศลไม่หลงอกุศล อยู่เหนืออิทธิพลของกุศลและอกุศลก็คือไม่หลงบวกหลงลบนั่นแหละ ถ้าเราจะใช้คำพูดสากลเป็นวิทยาศาสตร์สากลก็ใช้คำว่าไม่หลงบวกหลงลบ ถ้าใช้ธรรมดาก็ไม่หลงดีหลงชั่ว นี้เรียกว่าไม่หลงบุญไม่หลงบาปไม่หลงสุขไม่หลงทุกข์ไม่หลงได้ไม่หลงเสียไม่หลงเรื่องแพ้ไม่หลงเรื่องชนะไม่หลงเรื่องกำไรเรื่องขาดทุนไม่หลงเรื่องเสียเปรียบหรือได้เปรียบ ไม่หลงทุกอย่างกระทั่งว่าไม่หลงว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย ไม่หลงทุกคู่ๆของสิ่งที่เป็นปัญหา นี่สามารถทำได้ด้วยสติ มีสติสมบูรณ์แล้วก็ไม่ไปหลงในคำที่เป็นคู่ที่หลอกๆทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็หลอกอย่างบวกฝ่ายหนึ่งก็หลอกอย่างลบ มันก็มีความทุกข์ด้วยหลงบวกหลงลบ ถ้ามีสติไม่หลงบวกหลงลบเราก็ไม่มีความทุกข์เลย แล้วจะเป็นอย่างไร ชีวิตนี้ก็เย็นและเป็นประโยชน์ อาตมาขอร้องหลายหนแล้วบ่อยๆว่าให้ทำถึงที่สุดให้ชีวิตนี้มีความเย็นสงบเย็นและก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ความเย็นเป็นประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ผู้อื่นเป็นเรื่องประโยชน์ผู้อื่น พอมันได้ทั้งสองฝ่ายเรื่องมันก็จบ เอาแต่เพียงสงบเย็นและเป็นประโยชน์มันพอแล้ว เกินนั้นมันบ้ามั๊ง ถ้าเกินนั้นมันไม่มีอะไรมันก็บ้า ตัวเองสงบเย็นๆ เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ครบแล้ว ในที่สุดสรุปเป็นใจความสั้นๆว่าชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความถูกต้อง เพราะอำนาจของสติ สติควบคุมไว้ให้มีแต่ความถูกต้อง ชีวิตนี้ก็จะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป กัดเจ้าของก็โดย 10อย่าง รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง นี่ตัวอย่างว่ากัดเจ้าของนี่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านั้นไม่มาเยี่ยมกรายอีกต่อไปชีวิตเยือกเย็นและเป็นประโยชน์ไม่กัดเจ้าของ เยือกเย็นและเป็นประโยชน์และก็ไม่กัดเจ้าของ พวกฝรั่งที่มาๆเค้าชอบคำนี้มากที่สุด ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ คือชีวิตที่ไม่ถูกหลงใหลยึดว่าเป็นตัวกูของกูว่ามันไม่กัดเจ้าของ จึงมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของอย่าหลงว่าตัวตน ถ้ารู้สึกว่ามันเป็นตัวตนก็รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวตนเราพูดกันตามภาษาพูดว่าตัวตนกัดจิตใจอย่ามีตัวตน สมัครเป็นคนปากอย่างใจอย่างก็พูดว่าสามีของกูภรรยาของกูก็ขอให้มันพูดแต่ปากอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเดี๋ยวมันจะกัดเอา ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของอำนาจวาสนาบารมีของกู กูมีก็ได้แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เงินมันอยู่ในธนาคารก็อย่าเอามาอยู่บนหัวกู อย่ามีอะไรที่มายึดมั่นถือมั่นว่าอยู่ว่าเป็นของกูๆ ชีวิตนี้มันก็จะเบาสบายและหลุดพ้นๆ มีเสรีภาพหลุดพ้นจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นความทุกข์โดยประการทั้งปวงเรียกว่าวิมุตในพระพุทธศาสนา วิมุตหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้แล้วก็บรรลุนิพพานเยือกเย็นเป็นสุขเป็นความสงบสุขไม่ใช่เย็นที่คู่กับร้อน ที่คู่กับร้อนมันหนาวนะถ้าหนาวก็ไม่ไหวร้อนก็ไม่ไหว เยือกเย็นสบายเยือกเย็นนี้ใช้ได้ก็ขอให้มีชีวิตเย็นเป็นประโยชน์ ด้วยอำนาจของสติในการพูดกันเรื่องก ข ก กา ของความดับทุกข์ตอนที่ 2 ตอนที่ 1 เกิดทุกข์ ตอนที่ 2 ดับทุกข์ สามารถดับทุกข์ได้ด้วยการมีสติมีสติได้ด้วยการปฏิบัติอานาปานสติ ขอให้ท่านทั้งหลายมีอิทธิบาท 4 ในการฝึกอานาปานสติ ให้สำเร็จและก็มีสติแก้ปัญหาทั้งปวง ขอแนะว่าถ้าใน 10 วันนี้มันปฏิบัติได้ไม่ถึงที่สุดก็เอาไปปฏิบัติที่บ้านที่นู่นต่อไป แต่ขอให้ 10 วันนี้ขอให้เข้าใจๆ อย่างถูกต้องเรื่องปฏิบัติอานาปานสติอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติต่อไปเถอะ เป็นอันรับประกันได้ว่าชีวิตนี้จะถูกต้องจะเข้ามาอยู่ในครองของพระธรรมแห่งพระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดา แล้วเราก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา มีแต่จะสร้างความถูกต้องๆจนบรรลุมรรคผลนิพพาน เวลาก็หมดแล้ว 2 ชั่วโมงขอบคุณเป็นผู้ฟังที่ดี 2 ชั่วโมง อดทนขอให้ประสบความสำเร็จตามความประสงค์จำนงหมายที่มาเพื่อฝึกเพื่อศึกษานี้มีความสุขสวัสดีอยู่ตลอดเวลาทุกธิวาราตรีกาล เทอญ ฯ