แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน เอ่อ,ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้เป็นการบรรยายต่อจากที่ค้างไว้แต่วันก่อน คือในวันนั้นได้เตรียมหัวข้อมาสำหรับจะบรรยายจำนวนหนึ่งแล้วก็บรรยายได้ไม่หมด เพียงครึ่งเดียว จึงเหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงจะได้ถือโอกาสบรรยายตามหัวข้อที่ตั้งใจไว้แต่เดิมนั้น ติดต่อกันกับการบรรยายครั้งที่แล้วมา และขอซ้อมความเข้าใจซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การบรรยายในที่นี้มิได้เป็นการบรรยายเป็นเรื่องราวใหญ่สืบต่อกันไปโดยละเอียดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการบรรยายในลักษณะที่เป็นเพียงหัวข้อสำคัญๆ สำหรับนักศึกษาผู้มีปัญญาจะได้นำไปพิจารณาศึกษาค้นคว้าหรือขยายความเอาเอง ทั้งนี้ เอ่อ,นอกจากจะเป็นการประหยัดเวลาแล้ว ยังจะเป็นการช่วยอีกทางหนึ่งคือช่วยในเรื่องหัวข้อที่เป็นหลัก ที่แล้วมาเราขาดเอ่อ,หัวข้อที่เป็นหลัก ที่เป็นหลักฐาน ที่มีที่มาเอ่อ,อย่างเป็นหลักฐานในรูปพระพุทธภาษิตและในพระไตรปิฎก เป็นต้น ฉะนั้นจึงถือว่าเราควรจะแก้ปัญหาอันนี้ให้สิ้นสุดกันไปเสียสักคราวหนึ่งก่อน แล้วต่อไปเราอาจจะ เอ่อ,บรรยายในรูปอื่น ฉะนั้นอาตมาจึงถือโอกาสบรรยายสองครั้งนี้ในลักษณะที่เรียกว่าตั้งปัญหาเป็นหัวข้อขึ้นแล้วก็ตอบไปเลย คือถามเองตอบเองในลักษณะที่เรียกว่า เวทัลละ เอ่อ,ในแบบของพุทธศาสนา
ทบทวนที่แล้วมาก็เป็นเรื่องที่เริ่มด้วยคำถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรและก็ตอบได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ และก็สอนอย่างไร ก็สอนว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตน ก็ถือว่านั่นเป็นหัวใจเอ่อ,ของพระพุทธศาสนา และว่าปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติโดยวิธีที่เมื่อมีรูปมากระทบตา มีเสียงกระทบหูเป็นต้นแล้ว ก็มีสติสัมปชัญญะ ทำสิ่งที่มากระทบนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่ให้ความรู้หรือให้การศึกษาแก่เราไปเสีย แทนที่จะให้เป็นสิ่งที่ปรุง ให้เกิดเป็นตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลส และเป็นทุกข์ ว่าเราจะเรียนกันที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้เรียนกันในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ซึ่งมีพร้อมทั้งปัญญาและจิตใจ คือร่างกายที่เป็นๆ พร้อมตรัสว่าในนั้นได้บัญญัติเรื่องโลก เรื่องเหตุให้เกิดโลก เรื่องความดับสนิทแห่งโลก และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกไว้ครบถ้วนในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ เราไม่ต้องเรียนจากภายนอกนี้ ถ้าเรียนจากภายนอกนี้เช่นเรียนคัมภีร์เรียนปริยัติก็เรียนเพื่อจะให้รู้วิธีที่จะมาเรียนเอาจากร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ และธรรมะที่เรียนที่ปฏิบัตินี้ก็ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ให้ถือว่าเป็นเหมือนพาหนะเช่นเรือแพสำหรับข้ามฟากเท่านั้นเอง ไม่ต้องเอามาแบกมาทูนไว้ แล้วก็ขึ้นไปบนบกไม่ได้ แล้วก็ฆราวาสควรเรียนเรื่องอะไร ฆราวาสควรเรียนๆ สุญญะ เอ่อ,สุญตะ สุตตันตะ ซึ่งกล่าวเรื่องสุญญตาที่เป็นพุทธภาษิต ซึ่งเคยกลัวกันมาก ว่าเป็นเรื่องที่ว่างไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร แต่แล้วแสดงให้เห็นว่ามันตรงกันข้าม มันมีอะไรและมันได้อะไรมากมายทีเดียว และอมตธรรมคืออะไร อมตธรรม คือ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ รู้สึกได้ในชีวิตนี้ ในปัจจุบันชาตินี้ และคำสอนที่มากที่สอนมากที่สุด ก็คือเรื่องเอ่อ,สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเพราะเป็นอนัตตา เป็นขันธ์ห้า เป็นอนัตตา สอนให้เชื่อใคร สอนให้เชื่อความรู้สึกของตนเอ่อ,ที่มองเห็นชัดอยู่ว่าเป็นอย่างไร ไม่ให้เชื่อทันทีตามพระไตรปิฎก ตามคำเล่าลือ ตามคำของครูบาอาจารย์ เราไม่จำเป็นจะต้องยึดถึงกับว่าพอพูดแล้วก็เชื่อ แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าอย่าฟังคำครูบาอาจารย์ รึอย่าอ่านพระไตรปิฎก แต่เมื่อได้ฟังและได้อ่านแล้วก็คิดดูในส่วนที่จะคิดเห็นได้เอง เอ่อ,ว่าเมื่อปฏิบัติลงไปอย่างนั้นได้ผลอย่างนั้นจริงแล้วก็เชื่อ แล้วก็ลองทำตามดูแล้วได้ผลอย่างนั้นจริงและจึงเชื่อถึงที่สุด นี้เป็นกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้สำหรับการเชื่อ
เพราะฉะนั้นที่ว่าในอริยวินัยกับในเอ่อ,ธรรมเนียมความรู้สึกของชาวบ้านต่างกันอย่างไร นี้ก็ทำให้ได้รับปัญหาฉบับหนึ่ง ในธรรมเนียมของอริยวินัยว่าการร้องเพลงเท่ากับการร้องไห้ การฟ้อนรำเท่ากับอาการของคนบ้า การหัวเราะคืออาการของเด็กนอนในเบาะ ก็มีปัญหาส่งมาถามว่า การห้ามไม่ให้หัวเราะ เต้นรำในพุทธศาสนานั้นกระผมเข้าใจว่า การละเว้นการกระทำเหล่านี้คงเกิดจากการสังเวชในตัวบุคคลนั้นเอง แต่ถ้าสภาพของเอ่อ, สภาพจิตของบุคคลนั้นยังไม่สงบสว่างพอที่จะระงับความขบขันแต่พยายามข่มกายข่มใจไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์แล้ว จะมิเป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่กายไปหรือ และคำสอนนี้มิเป็นการทำลายศรัทธาของคนหนุ่มคนสาว ทำให้เขาไม่กล้า ห่างไกล อ่า, ทำให้เขาห่างไกล คือไม่กล้าเข้าใกล้พุทธศาสนาไปเสียหรือ นี่เอ่อ,ขอซ้อมความเข้าใจว่าเอ่อ,เรื่องนี้เป็นเรื่องบอกกล่าวหลักอันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าผู้ที่มีความรู้สึกสูงจะมองเห็นสิ่งทั้งสามนี้ในลักษณะอย่างนี้ เช่นการร้องเพลงเท่ากับการร้องไห้ การฟ้อนรำคืออาการของคนบ้า หัวเราะคืออาการของเด็กอมมือ มิได้หมายความว่าจะห้ามไม่ให้ใครเอ่อ,ทำอย่างนั้น เอ่อ,ในเมื่อยังประสงค์จะทำ แต่ประสงค์จะให้รู้ความจริง เอ่อ, ข้อนี้ว่าเอ่อ,มันมีความรู้สึกชนิดที่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากันอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ต้องทำ การพยายามบังคับตัวเองไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์นี้ เอ่อ,เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้าบังคับตัวเองไม่ได้ก็ยากที่จะ เอ่อ,ดำเนินตนไปในทาง เอ่อ,ที่จะ เอ่อ,ที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ การข่มกายข่มใจไม่ให้ทำไปตามอารมณ์เช่นนี้ เอ่อ,ไม่ใช่เป็นการสร้างความทุกข์ แต่เป็นไปเพื่อเอ่อ,ชนะความทุกข์ เพื่อให้เรารู้จักหาวิธีอื่นที่จะ เอ่อ,ไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจของการบีบคั้นของความรู้สึกที่เป็นไป เอ่อ,ในทางตามใจตัวเองหรือที่เรียกว่ากิเลส เราควรจะนึกในลักษณะที่ว่าเราไม่ยอมให้ถูกกิเลสจับตัวเราขึ้นเชิด การเอ่อ,เต้นรำนี่ลองนึกดูว่าเราถูกกิเลสกระตุ้นและจับตัวเราขึ้นเชิดสักเท่าไร ก็ต้องมีอาการชนิดที่เรียกว่าเอ่อ,ถูกเชิดนั้น แล้วมันจะเป็นอิสระหรือไม่เป็นอิสระอย่างไร ที่เรียกว่าอริยวินัยนี่หมายความว่าระเบียบของพระอริยเจ้า คือความรู้สึกในระดับของพระอริยเจ้า ถ้าเรายังอยู่ในระดับที่ไม่ใช่เป็นพระอริยเจ้า เราอยากจะลองก็ได้ แต่ถ้าเราลองไปๆ เราก็จะรู้ได้เองว่า เป็นสิ่งที่น่าขบขันบ้าง เป็นสิ่งที่น่าระอาในที่สุด และเราก็ขึ้นไปอยู่ในระดับ ถือระเบียบของอริยวินัยเอ่อ,หรือพระอริยเจ้าได้ ปัญหาข้อนี้เอ่อ,มีอย่างนี้
ทีนี้ว่าเอ่อ,จะมีหัวข้อต่อไปว่าการปฏิบัติอย่างไรเรียกว่าเดินทางตามธรรมดา ปฏิบัติอย่างไรเรียกว่าเดินทางลัด การที่เราปฏิบัติเอ่อ,อย่างเคร่งเครียดไปตามลำดับ ในเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสมาธิ ปัญญา อย่างนี้เรียกว่าเดินตามทางธรรมดา หรือว่าจะปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์แปดเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา กัมมันโต กัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ สมาธิ เรื่อยไปอย่างนี้ก็เรียกว่าเดินตามทางธรรมดา แต่ถ้าต้องการลัดเอ่อ,ด้วยวิธีสั้นที่สุดแล้วก็ปฏิบัติในการที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเอ่อ,โดยความเป็นตัวตน ของๆตน โดยเฉพาะเมื่อรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู จมูกเอ่อ,กลิ่นมากระทบจมูกเป็นต้นเหล่านี้ เราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นและอาการต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งเหล่านั้น แต่ละอย่างๆ เป็นของที่ยึดถือไม่ได้ และก็ไม่ได้ยึดถือเพื่อมีจิตใจเป็นไปในทางรู้สึกหรือฉลาดขึ้น มีสติปัญญาขึ้น เพื่อไม่ยึดถือสิ่งใด ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าเป็นทางลัด ทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วนขึ้นมาทันที ทำให้อริยมรรคมีองค์แปดครบถ้วนขึ้นมาทันที ง่ายดายเหมือนกลิ้งๆ ครกลงจากภูเขา
ปัญหาต่อไปว่า ทรงสอนเรื่องกรรมว่าอย่างไร ทรงสอนว่ากรรมๆ นี่หมดเมื่อ ราคะ โทสะ โมหะหมด ให้พยายามปฏิบัติเพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะหมด เมื่อกิเลสเหล่านี้หมด กรรมก็หมดลงไปทันที มีผลทั้งอดีตและทั้งอนาคต คือกรรมเก่าก็สิ้นไป กรรมใหม่ก็ไม่มี และการที่จะให้โลภะ โทสะ โมหะหมดนี้ต้องประพฤติกรรมที่สาม กรรมที่รู้จักกันโดยมากก็คือ หนึ่ง กรรมชั่ว สอง กรรมดี กรรมที่สามไม่ค่อยรู้จักกัน กรรมที่สามคือกรรมที่ไม่ชั่วไม่ดีไม่ดำไม่ขาว เป็นที่ระงับแห่งกรรมดำกรรมขาว การปฏิบัติกรรมที่สามนี้คืออริยมรรค เดินตามอริยมรรค ปฏิบัติตามอริยมรรค เรียกว่าประพฤติกรรมที่สามซึ่งจะเป็นที่สิ้นสุดของกรรมดีและกรรมชั่ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคนี้เป็นสิ่งที่เหนือดีเหนือชั่ว ก็ต้องมีผลทำให้ได้รู้ความไม่มีตัวตนของตนในสิ่งทั้งปวง มันจึงดับราคะ โทสะ โมหะได้ และกรรมที่สามนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เอง ท่านๆตรัสว่าท่านรู้ของท่านเอง คือไม่ได้เรียนมาจากผู้อื่นหรือว่าไม่มีผู้ใดได้สอนอยู่แต่ก่อน
ทีนี้ก็มีปัญหาว่าการปฏิบัติธรรมะดับทุกข์ได้นี้ต้องฟังจากพระพุทธองค์เสมอไปเทียวหรือ หรือว่าแม้ไม่เคยฟังจากพระพุทธองค์โดยตรงก็มีส่วนที่จะเดินถูกทางได้เหมือนกัน มีพระพุทธภาษิตตรัสว่าแม้จะไม่เคยฟังจากพระองค์โดยตรง เมื่อคิดค้นศึกษา ไต่สวน สอบสวนซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยๆไป นัยยะต่างๆก็ปรากฏขึ้น และก็รู้ได้และปฏิบัติได้ และก็บรรลุธรรมดับทุกข์ได้สิ้นเชิงเหมือนกัน และขอร้องให้ท่านทั้งหลายสนใจเป็นพิเศษว่า พระพุทธเจ้านี้มีความบริสุทธิ์มากถึงอย่างนี้ คือไม่ได้ผูกขาดอะไรไว้สำหรับพระองค์ ไม่ได้ยกพระองค์เป็นผู้ผูกขาดอะไร ยังเปิดกว้างไว้ถึงอย่างนี้ ไม่เหมือนบางลัทธิบางศาสนาที่ผูกขาด
ทีนี้ว่าปัญหาต่อไปว่าพระพุทธเจ้าเอ่อ,ทรงเคารพใคร มีคำตอบของพระองค์เองว่า เคารพธรรม สิ่งที่เรียกว่าธรรม เป็นที่เคารพทั้งของพระพุทธเจ้า ของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต และมีการเคารพต่อคณะสงฆ์ที่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่ คือคณะสงฆ์ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ เราจะพบพระพุทธเจ้าได้ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ไม่ได้ตรัสเล็งถึงวัต เอ่อ,ร่างกาย หรือองค์ องค์ท่าน แต่ตรัสว่าเมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นตถาคต เพราะฉะนั้นเราต้องพบพระพุทธองค์ที่แท้จริงได้ที่การเห็นธรรม พระพุทธองค์ยังทรงอยู่ถึงเดี๋ยวนี้หรือเปล่า ก็อาศัยพุทธภาษิตที่ตรัสจวนจะปรินิพพานอยู่หยกๆแล้วว่า ธรรมะก็ดี วินัยก็ดี ที่แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั่นจะอยู่เป็นศาสดาของพวกเธอในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งตถาคต นี้ย่อมแสดงว่าพระศาสดาที่เป็นองค์จริงนั้นยังอยู่ ส่วนเปลือกของท่านคือร่างกายนั้นก็ไม่ปรากฏแล้ว อย่างที่เราเรียกว่าดับไปแล้ว แต่พระองค์จริงไม่รู้จักดับ โดยหลักที่ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคตนี้ไม่จำกัดเวลา และโดยหลักที่ว่าธรรมวินัยที่บัญญัติแล้วแสดงแล้วนั้นอยู่เป็นพระศาสดา นี่ก็คือสิ่งที่จะทำให้เห็นธรรม หรือเป็นตัวธรรมอยู่ในตัว คือถือว่าพระศาสดาของเรายังอยู่และไม่รู้จักดับตลอดเวลาที่ธรรมวินัยยังอยู่ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ และด้วยการได้รับผลของการปฏิบัติ
ทีนี้ถ้าถามว่าพระพุทธองค์ทรงหมดกรรมหรือเปล่า นี้จะตอบได้ด้วยหลักต่างๆ ข้างต้นที่แล้วมาว่า เมื่อหมดกิเลสก็หมดกรรม แต่แล้วทีนี้อยากจะบอกว่า ไอ้ภาวะที่ว่าหมดกรรมนี่เป็นสิ่งที่เอ่อ,ยกย่องกันมาก หวังกันมากในสมัยนั้น มีคนสนใจในพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้หมดกรรม นี้แสดงว่าในสมัยพุทธกาลนั้นมีคนสนใจคือเรื่องจะหมดกรรมกันเหมือนกันกับเดี๋ยวนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ พอได้ยินว่าใครเป็นผู้หมดกรรมนั้นก็รีบวิ่งไปหา นี่พราหมณ์พาวรีได้ยินคำนี้จึงได้ส่งศิษย์ตั้งสิบกว่าคนไปเฝ้า ไปทูลถาม ไปซักไซ้ เพราะเครดิตของคำว่าหมดกรรม เขาถามว่าพระพุทธองค์ทรงอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างไรในวันหนึ่งๆ มีพระพุทธภาษิตตรัสว่าอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร วิหารธรรมเครื่องอยู่ก็คือความรู้สึกในใจ ความรู้สึกที่ว่าสิ่งเอ่อ,ทั้งปวงว่าง หรือว่าภาวะที่รู้สึกว่าว่างไม่มีอะไรปรุงแต่งรบกวนนี้เรียกว่า สุญญตาวิหาร พระพุทธเจ้าทรงอยู่มากด้วยความวันหนึ่งๆ ด้วยความรู้สึกที่เป็นสุญญตาวิหาร จึงเป็นการพักผ่อนอย่างยิ่ง
ทีนี้ปัญหาต่อไปว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าโลกนี้ว่าง ทั้งที่มันมีอะไรเต็มไปหมด มีพระพุทธภาษิตที่สรุปไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า ที่ว่าโลกนี้ว่างก็เพราะว่าว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน มันมีอะไรมากมายอย่างไร ประณีตอย่างไร สุขุมละเอียดก็เกิดอย่างไร ก็ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน เพราะเหตุนั้นจึงถือว่าโลกนี้ว่าง ทีนี้ทำอย่างไรที่เรียกว่าจิตว่าง หมายความว่าจิตที่กำลังเห็นเอ่อ,โลกโดยความเป็นของว่างอยู่นี่ จิตนั้นมันไม่รู้ที่จะยึดถืออะไร มันจึงว่างจากการยึดถือและเป็นจิตว่าง คือจิตที่กำลังไม่ยึดถือ มีบาลีเอ่อ, สัทธัมมปัชโชติกา ระบุไว้ชัดว่าเพราะว่างจากราคะ โทสะ โมหะทั้งหลายจึงชื่อว่าว่าง จิตที่เห็นโลกเป็นของว่างนี้ไม่มีทางที่จะปรุงเป็นราคะ โทสะ โมหะ แม้ในขณะ แม้ชั่วขณะ หรือแม้ตลอดกาลก็ตาม ถ้าไม่ปรุงเป็นราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียกว่าว่าง ถ้าไม่ปรุงตลอดกาลก็ว่างตลอดกาลคือเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่ปรุงชั่วครู่ชั่วยามก็เป็นคนธรรมดา หรือถ้าปรุงน้อยขึ้นไปอีกก็เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นๆ แต่ว่าในขณะที่ว่างนั้นไม่มีความทุกข์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนที่ว่างเองเช่นนอนหลับนี้เอ่อ,มันไม่เกี่ยวกับการกระทำของเราไม่ต้องพูดถึง แต่ก็ต้องรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ไม่มีทุกข์ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นว่างจากการยึดถือเมื่อไร ไม่มีทุกข์เมื่อนั้น มีการยึดถือคือไม่ว่างเมื่อไรก็มีทุกข์เมื่อนั้น จิตไม่ว่างเพราะเห็นโลกนี้มีอะไรให้น่ายึดถือ จึงได้ไปยึดเข้า ถ้าจิตว่างก็เป็นว่าโลกนี้ว่าง ไม่มีอะไรที่เอ่อ,จะไปยึดถือได้เลย
ถ้าว่างถึงที่สุดเรียกว่าอะไร ในปฏิสัมภิทามรรคมีข้อความว่า ว่างถึงที่สุดเรียกว่านิพพาน นิพพานเอ่อ,เป็นอะไร เอ่อ,นิพพานเป็นสิ่งที่เรียกอย่างหนึ่งว่าอมตธาตุ คือธาตุที่ไม่ตาย คือความว่างจากราคะ โทสะ โมหะนั่นเอง เพราะเมื่อไม่มีโมหะแล้วจะไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อไม่มีเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ไม่มีอะไรจะตาย เพราะฉะนั้นความว่างจากความยึดถือว่าเอ่อ,ตัวตนนั้นเองคืออมตธรรม หรือนิพพาน พอใจในความว่างหรือพอใจในนิพพานนี้เรียกว่าอะไร ความพอใจชนิดนี้เรียกว่า ธรรมราคะ ธรรมนันทิ ที่ฟังแล้วน่าตกใจ หรือว่าจะใช้คำว่าราคะหรือนันทิเหมือนกัน แต่มันมีความหมายอย่างหนึ่งคือพอใจด้วยเอ่อ,วิชชา ด้วยปัญญา ไม่ใช่พอใจด้วยอวิชชา แต่ว่านิพพานกันต่อตายแล้ว หรือที่นี่ในชาตินี้ ถ้าถือตามหลักของพระพุทธเจ้าก็ว่านิพพานนี้ในๆชาตินี้ในชาติปัจจุบันนี้ เพราะว่านิพพานกันต่อตายแล้วไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่า ตทังคนิพพาน หรือ สันทิฏฐิกนิพพาน ในลักษณะที่เป็นตัวอย่างหรือชิมลอง ในขณะใดมีจิตอันว่างจากการเอ่อ,ปรุงแต่ง แผดเผาของราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นเป็นนิพพานชิมลอง ให้มีชื่อเรียกว่า ตทังคนิพพาน เนื่องจากคำนี้ไม่ค่อยแพร่หลาย ไม่ค่อยเอามาๆๆบอกมากล่าวกัน จึงไม่ค่อยมีใครรู้จัก และสันเอ่อ,และทิฏฐธรรมนิพพานนั้นก็คือนิพพานในทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรม คือธรรมที่เห็นได้เองในชาตินี้และระบุอย่างหนึ่งความรู้สึกเป็นสุขในขณะแห่งรูปฌานเป็นต้น และมีกล่าวไว้ชัดว่าความสิ้นราคะ โทสะ โมหะนี้เป็นสันทิฏฐิกัง เป็นอกาลิกัง เป็นเอหิปัสสิกัง เป็นโอปนยิกัง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ นี้ล้วนแต่มีลักษณะส่อว่ารู้สึกได้ในชาตินี้ ในเอ่อ,ด้วยใจของตัวเองนี้ และถึงกับกล้าเรียกผู้อื่นให้มาดู หรือจริงมีความหมายว่าเอ่อ, อยู่ มีชีวิตอยู่ และก็สามารถจะบรรลุนิพพานในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่นตทังคนิพพานชั่วคราวหรือชิมลอง และก็นิพพานโดยสมบูรณ์คือสิ้นกิเลส เพราะว่าเมื่อร่างกายแตก ทำลาย แตกตายไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอ่อ,เป็นนิพพานขึ้นมา ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ใด พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไม่ได้สอน ไม่ได้แนะในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ใด
มีหัวข้อต่อไปว่า สัตว์เดรัจฉานนิพพานได้หรือไม่ นี้ก็มีพระบาลีที่กล่าวไว้ชัดว่าสัตว์เดรัจฉานที่ฝึกจนหมดพยศแล้วเรียกว่า ปรินิพพุโต คือปรินิพพาน ทำนองเดียวคนที่หมดพยศคือกิเลสแล้วคือปรินิพพาน แต่เนื่องจากคำว่านิพพานนี้โดยเหตุหมายถึงไม่มีกิเลส โดยผลหมายถึงความสงบเย็น เพราะฉะนั้นเมื่อใดกิเลสไม่รบกวน และมีความสงบเย็นแล้วเราถือว่าเป็นตทังคนิพพาน เพราะฉะนั้นทุกคนก็อาจจะรู้รสของนิพพานในชีวิตประจำวันแต่ละวันๆ คือในขณะที่กิเลสไม่รบกวนและมีความเย็นสนิท แม้จะสักอึดใจหนึ่งก็ยังดี คำว่านิพพานนี้ใช้ได้แม้แต่วัตถุ สิ่งของเช่น ถ่านไฟแดงๆร้อนๆ พอเย็นลง ภาษาบาลีเขาเรียกว่านิพพานเหมือนกัน ถ่านไฟก็นิพพานได้ สัตว์เดรัจฉานก็นิพพานได้ แล้วทำไมคนจะนิพพานไม่ได้ อะไรเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ ก็ตอบว่านิพพานนั่นเอง เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา ซึ่งแปลว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง นี่ล่ะนิพพานนี้เล็งถึงความไม่มีทุกข์ ความเย็นสนิท จึงไม่มีอะไรเอ่อ,สูงสุดไปกว่านี้ แล้วก็หมด เอ่อ,หัวข้อที่บรรยายในครั้งที่แล้วมา
นี่ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงหัวข้อๆ เป็นข้อๆไป มีความสำคัญมากน้อยอย่างไร และตั้งอยู่ในลักษณะเป็นหัวข้อพื้นฐานอย่างไร แม้แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าใจถูกต้องในหลักพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ย่อมจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่เราจะศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้องและสำเร็จประโยชน์ แล้วเรามาจึงมุ่งแสดงในลักษณะที่เป็นหัวข้อพื้นฐานนี้ต่อไป
ทีนี้มีปัญหาต่อไปว่า เวลานี้ในโลกนี้มีพระอรหันต์หรือไม่ ข้อนี้ตอบได้ด้วยพระพุทธภาษิต ในเอ่อ,ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกบาลีเล่ม ๑๐ หน้า ๑๗๖ ถ้าอาตมากล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกล่ะขอได้ถือว่าเป็นฉบับบาลี ฉบับสยามรัฐ ปกเหลืองมีช้างแดงอยู่ที่สัน มีอยู่ว่าเอ่อ,ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักอยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่เป็นคำตรัสใกล้ๆจะปรินิพพานอยู่หยกๆ แล้วในวันนั้นเอง สเจ เม ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบไซร้ อสุญโญ โลโก อรหันเตหิ อัสสะ โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้ถ้าท่านมีข้อสงสัยหรือมีคำถามว่า เดี๋ยวนี้มีพระอรหันต์หรือไม่ ท่านอย่าตอบลงไปโดยส่วนเดียวว่ามีหรือไม่มี จะเป็นความผิดพลาดที่สุด ท่านจงตอบเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าถ้าภิกษุเป็นอยู่โดยชอบ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทีนี้ปัญหาก็เหลืออยู่ที่ว่าอย่างไรที่เรียกว่าอยู่โดยชอบ ฟังดูแล้วมันง่ายเกินว่าอยู่โดยชอบนี่ แต่ที่จริงมันก็มีความหมายพิเศษ อยู่โดยชอบคือว่าอยู่โดยวิธีที่กิเลสจะไม่ได้กินอาหาร คืออยู่โดยวิธีที่กิเลสจะไม่ถูกปรุงขึ้นมานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรอีกนอกไปจากว่าอยู่ด้วยจิตที่ว่างตลอดไป คือจิตที่มองเห็นโลกทั้งหมดโดยความเป็นของว่าง และจิตไม่จับฉวยสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน จะพูด จะคิด จะทำ จะขวนขวาย จะกินจะใช้จะสอยอะไรก็ตาม ไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวตนหรือของตน แต่ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ ทำไปด้วยปัญญา ทำไปด้วยความรู้เท่าถึงการณ์ เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ คือเป็นอยู่ในลักษณะที่กิเลสไม่มีทางจะเกิด กิเลสเอ่อ,ไม่มีทางที่จะได้อาหาร หรือถ้าจะกล่าวเป็นระบุชื่อก็เช่นว่าอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์แปดอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ เพราะสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฎฐินั้นเป็นองค์ที่หนึ่งของอริยมรรคนั้น หมายถึงความรู้ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งที่ถูกต้องว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงทำให้การใฝ่ฝันหรือการพูดจาหรือการอะไรต่างๆ เป็นไปในลักษณะที่ไม่ยึดถือทั้งนั้น เป็นอยู่ชอบอย่างนี้ กิเลสผอม ผ่ายผอมลงไปเองและหมดสิ้นไป คือไม่มีทางที่จะเกิด ไม่มีความเคยชินในการที่จะเกิด มันก็เกิดไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนอนในสันดานนั้นเป็นเพียงความเคยชินเท่านั้น แต่คนก็ไม่รู้ก็คิดว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนกลายเป็นสัสสตทิฎฐิไปเลย กิเลสเป็นตัวเป็นตนนอนมืดอยู่ในสันดานนี้เป็นพวกสัสสตทิฎฐิ พวกที่มีความรู้ความเข้าใจตามหลักของพระพุทธเจ้าคือสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ มันมีเหตุผลมันเกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่นี้ความที่เกิดจนเคยชิน ชินยิ่งกว่าชิน ชินจนดูเป็นของมีประจำ คล้ายๆกับมีประจำอยู่ในสันดานนี้มันเข้าใจว่ามันนอนรออยู่ในสันดานตลอดเวลา เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนั้นเป็นเพียงความเคยชิน ชินอย่างยิ่ง ชินเหลือเกิน จึงได้ใช้คำว่าอนุสัย
ปัญหาต่อไปว่า เป็นพระอรหันต์ยากหรือง่าย มีคนแทบทั้งหมดตอบว่ายากเหลือแสน ไม่มีใครกล้าคิดกล้าพูดว่าง่าย ทีนี้ขอให้ถือหลักอย่างเดียวกันอีกว่าอย่าตอบอะไรลงไปโดยส่วนเดียว ผู้ใดตอบอะไรลงไปโดยส่วนเดียว เช่นตอบว่ามีหรือไม่มี ตอบว่าง่ายหรือยากลงไปโดยส่วนเดียวอย่างนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ผู้ที่ดำเนินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีหลักแห่งเหตุแห่งปัจจัย ถ้าทำถูกหลักแห่งเหตุแห่งปัจจัยมันก็ง่าย ถ้าทำผิดหลักแห่งเหตุแห่งปัจจัยมันก็ยากเหลือแสนเหมือนกัน ทีนี้ความที่คนเราเคยชินแต่เรื่องของกิเลสนี้ มันจึงยาก มันจึงปรากฎเป็นของยาก นี้ก็ต้องนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่าอยู่โดยชอบแล้วโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่อยู่โดยชอบนี้ไม่ยาก ไม่เหลือวิสัย อยู่โดยอุบายที่ปิดล้อมกิเลสไว้ ไม่ให้ได้อาหาร เหมือนกับเราจะฆ่าเสือสักตัวหนึ่งเราก็ล้อมไว้ไม่ให้กินอาหารก็ตายเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปเผชิญกับเสือให้เสือมันกัดมันข่วน อย่างนี้จึงเรียกว่าไม่เหลือวิสัย และเป็นอุบายและวิธี และอยู่ในลักษณะที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นการเป็นพระอรหันต์นั้นจะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แล้วแต่ว่าทำถูกหรือผิดวิธี แต่ถ้าถือตามพระพุทธภาษิตแล้วก็ไม่ยาก ให้อยู่โดยชอบโลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์
ทีนี้ปัญหาที่ว่าเราจะรู้จักพระอรหันต์ได้หรือไม่ นี้ชอบถามกันมาก เช่นบางคนสงสัยว่าเราอาจจะไม่รู้จักพระอรหันต์ที่กำลังมีอยู่ในโลกเวลานี้ก็มี ถ้าถามอย่างนี้คือถามว่าเราจะรู้จักพระอรหันต์ได้หรือไม่ ถ้าเดินมา ตอบว่าถ้าถึงบทที่จะไม่รู้หรือถึงคราวที่จะไม่รู้แล้ว แม้แต่พระอรหันต์เอง พระอรหันต์กันเองก็ไม่รู้จักกันว่าเป็นพระอรหันต์ มีคำกล่าวในจุลวรรคอุทานเล่ม ที่ ๒๕ หน้า ๑๙๘ ว่าพระสารีบุตรไม่รู้ว่าพระลกุณฏกภัททิยะนี้เป็นพระอรหันต์ มัวพูดธรรมะเพื่อความเป็นพระอรหันต์แก่พระลกุณฏกภัททิยะเรื่อย นี่แสดงว่าพระสารีบุตรก็ไม่รู้ว่าพระลกุณฏกเป็นพระอรหันต์ ทีนี้ถ้าถึงคราวที่จะรู้แล้ว แม้พรหมในพรหมโลกที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ก็ยังรู้ว่าใครตายอย่างนิพพาน ใครตายอย่างไม่นิพพาน เป็นผู้พยากรณ์ได้ นี่มีข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม ๒๓ หน้า ๗๗ นั้นเมื่อถามว่าจะรู้จักพระอรหันต์ได้ไหม จำเป็นจะต้องตอบว่า รู้ได้ก็ได้ ไม่อาจจะรู้ได้ก็ได้ มันแล้วแต่กรณี แม้เป็นอรหันต์กันเองก็ยังไม่รู้ก็มี ดังนั้นไม่ควรจะกล่าวตอบโดยส่วนเดียวว่ารู้ได้หรือรู้ไม่ได้ เหมือนพวกอาจารย์ตามศาลาวัดที่ชอบพูดว่า รู้ได้บ้าง รู้ไม่ได้บ้าง
ทีนี้ปัญหาต่อไปว่าจะหาพบพระอรหันต์ได้ที่ไหนกัน ก็ต้องหาพบพระอรหันต์ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส อย่าไปมัวหาตามป่าตามวัดตามถ้ำตามเขาตามบ้านตามเมืองตามสำนักวิปัสสนา จงไปค้นหาพระอรหันต์ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส จงพิสูจน์หรือว่าค้นคว้าหรือทดลองหรืออะไรก็ตามให้รู้ความสิ้นไปแห่งกิเลส ถ้าไม่มีทางก็ไม่ต้องค้นต้องหา รู้ของตัวก็แล้วกัน ถ้ามีความสิ้นไปแห่งกิเลสก็เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นหลักกลางๆที่สุดที่เราจะต้องถืออย่างนี้
พระอรหันต์เป็นฆราวาสไม่ได้ใช่หรือไม่ นี้อย่าไปตอบโดยส่วนเดียวว่าได้หรือไม่ได้ จะต้องตอบว่าพระอรหันต์อยู่เหนือความเป็นฆราวาส และเหนือความเป็นบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้นการที่36.27กับที่พูดว่าเป็นพระอรหันต์แล้วต้องรีบออกบวชภายใน ๗ วัน มิฉะนั้นจะตายนี่มันเป็นคำพูดของคนอวดดีในชั้นหลัง ในอรรถกถา ในฎีกาในอะไรก็ตามใจ พระอรหันต์ต้องอยู่เหนือความเป็นฆราวาส และเหนือความเป็นบรรพชิตเสมอ ไม่มีใครจับพระอรหันต์ใส่ลงไปในความเป็นฆราวาสได้ และอยู่เหนือความเป็นบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดเรื่องว่าพระอรหันต์อยู่บ้านเรือนได้หรือไม่ แม้จะจับให้อยู่ในบ้านเรือน จับใส่ลงไปในบ้านเรือน มันก็ทำให้พระอรหันต์เป็นคนครองเรือนไม่ได้ จะอยู่เหนือความเป็นฆราวาส เหนือความเป็นบรรพชิตอย่างนี้
ทีนี้ปัญหาที่ว่าทำไมผู้ฆ่าคนตายจึงเป็นพระอรหันต์ นี้ตอบได้ง่ายนิดเดียว เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าคนน่ะต้องฆ่าเสียก่อนแล้วจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าสิ่งที่เรียกว่าคนนั้นไม่ถูกฆ่าแล้วไม่มีทางที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ที่จะต้องฆ่าความรู้สึกว่าคนว่าตัวว่าตนว่าเราว่าเขาว่าสัตว์ว่าบุคคลเสียก่อน คือไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นสัตว์เป็นคนเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป นี้เรียกว่าฆ่าคนหรือฆ่าสิ่งที่เรียกว่าคนเสียได้ก็เป็นพระอรหันต์ทันที เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าต้องฆ่าคนเสียก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ บางทีท่านก็กล่าวไว้ในที่บางแห่งยิ่งไปกว่านี้ว่า ต้องฆ่าบิดามารดาเสียก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ บิดามารดาก็คือกิเลสที่ปรุงแต่งโดยเฉพาะเช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือกรรมอะไรเหล่านี้ นี้กรรมอยู่ในฐานะเหมือนบิดามารดาคือมันคลอดออกมา คลอดความรู้สึกว่าคนออกมา เพราะฉะนั้นต้องฆ่ามันเสีย ก็คือฆ่าบิดามารดาของคนนั้นเสียและก็เป็นพระอรหันต์ได้ แม้ในเรื่องพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์เพราะฆ่าคนเสียได้ เมื่อได้ฟังคำว่าหยุดของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ท่านฟังถูกว่าหยุดนั้นหมายความว่าอะไร คนเขลาๆ อธิบายว่าพระพุทธเจ้าหยุดนั้น คือหยุดฆ่าคน หยุดวิ่งฆ่าคนเหมือนองคุลิมาล นี่ก็เรียกว่าหยุด ส่วนองคุลิมาลยังเที่ยวฆ่าคนอยู่เรียกว่าไม่หยุดอย่างนี้ไม่ถูก ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันหยุดแล้ว นั่นคือฉันหยุดเป็นคนแล้ว หยุดการเป็นคนซะแล้ว ทีนี้พระองคุลิมาลก็ฟังถูกว่าหยุดการเป็นคนเสียแล้ว แล้วท่านก็หยุดการเป็นคน ก็นี่เรียกว่าพระองคุลิมาลฆ่าคนเสียได้ ฆ่าความรู้สึกว่าคนนี้เสียได้ พระองคุลิมาลก็เป็นพระอรหันต์ตามพระพุทธเจ้า เนื่องด้วยการฆ่าคนอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า "หยุด" เท่านี้ก็ฟังกันไม่ถูกเสียแล้ว แล้วฟังผิด แล้วอธิบายกันผิด พูดกันผิด สอนกันผิดมันก็ค้านกันเองอยู่ในตัว ก็เพียงแต่หยุดเที่ยววิ่งไล่ฆ่าคนหรือหยุดเดินนี้จะเป็นพระอรหันต์ได้นี้มันน่าหัวเราะ เพราะฉะนั้นต้องหยุดความเป็นคน ฆ่าอุปาทานว่าบุคคลตัวตนเราเขาเสียได้จึงจะเป็นพระอรหันต์ นี่เรียกว่าฆ่าคนแล้วจะเป็นพระอรหันต์
ทีนี้เราจะดูไอ้สิ่งที่เป็นปัญหาปลีกย่อยเพื่อจะช่วยให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีขึ้น เช่นจะตั้งปัญหาถามว่าโลกนี้เต็มไปด้วยอะไร บางคนมองในลักษณะหนึ่งก็ตอบว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เช่นว่าทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป อย่างนี้มันก็เรียกว่าถูกเหมือนกัน แต่มันยังฟังยาก มันควรจะตอบอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ว่าง โลกนี้ว่างไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนหรือเป็นคน เพราะฉะนั้นอย่าไปดีใจว่า เพียงแต่พูดว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ทุกข์นี้ว่าเป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้ว มันถูกเหมือนกันแต่ว่ามันมีทางกำกวมได้ เผลอเข้าก็ผิดได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นถ้าไม่ไปยึดถือแล้วไม่เป็นทุกข์ ขอให้ฟังให้ดีว่าโลกก็ตามอะไรก็ตามที่รวมๆกันแล้วเรียกว่าโลกเนี่ย มันไม่ได้เป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อไปยึดถือเข้าจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือแล้วไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราไม่อาจจะพูดว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ พูดว่าชีวิตเป็นทุกข์นี้พูดตื้นๆ ง่ายๆไปทีก่อน ชีวิตถูกยึดถือจึงจะเป็นทุกข์ ชีวิตไม่ถูกยึดถือก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นชีวิตนี้มีแก่นสารไม่ใช่ไม่มีแก่นสาร ชอบพูดกันว่าชีวิตนี้ไม่มีแก่นสาร นั่นก็เพราะไม่รู้จักทำให้เป็นแก่นสาร ถ้ารู้จักใช้ชีวิตนี้เป็นเครื่องช่วยให้รู้ เรื่องโลก เรื่องเหตุให้เกิดโลก เรื่องความดับสนิทของโลก เรื่องวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของโลกแล้วชีวิตนี้ก็มีแก่นสาร คือเป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา เป็นที่ตั้งแห่งการประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งได้ผลแห่งการปฏิบัติ และเป็นที่ตั้งแห่งการรู้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับคือนิพพาน นั่นถือว่าชีวิตนี้เป็นแก่นสาร แต่ไม่มีแก่นสารอะไรสำหรับคนโง่เขลาซึ่งไม่รู้จักใช้มัน นี่โลกนี้เต็มไปด้วยอะไร มองในแง่หนึ่งก็ว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ คือเป็นทุกข์เท่านั้น แต่มองในแง่หนึ่งที่สูงขึ้นไปก็ว่าไม่ได้เป็นอะไร อย่างจะพูดว่ามีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี้ก็เหมือนกัน ต่อเมื่อไปยึดถือเข้ามันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือมันก็เป็นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของมันเองอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเราต้องถือว่าผู้ที่หลุดพ้นแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ของพระอรหันต์ไม่กล่าวว่าเป็นทุกข์ ไม่มีใครกล่าวว่าเป็นทุกข์ มีแต่การไหลเวียนเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยส่วนของเบญจขันธ์ นี่ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยอะไร เต็มไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์
ทีนี้ถามว่าบุญอย่างไหนมีผลน้อย บุญอย่างไหนมีผลมาก ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าบุญที่เป็นโอปปาติกะไม่ มีค่าไม่ได้เสี้ยวที่ ๑๖ สิบหกครั้งของการเจริญเมตตา บุญที่เป็นโอปปาติกะคือทำบุญเอาหน้า ทำบุญแลกวิมาน ทำบุญแลกสวรรค์ ทำบุญเพื่อเกิดสวยเกิดรวย ทำบุญเพื่อได้ความสุขทางกามาวจรอย่างนี้นี่บุญนี้เป็นโอปปาติกะ คือประกอบอยู่ด้วยอุปธิ อุปธิแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น บุญที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนี้บุญนะเป็นบุญเหมือนกัน แต่มีค่าไม่ได้ส่วนที่ ๑๖ สิบหกครั้งของการเจริญเมตตา การเจริญเมตตานี่คือมันไม่เห็นแก่ตัวตน มันเห็นแก่ผู้อื่น มีความรักผู้อื่นเป็นสากล เจริญเมตตา บุญที่เป็นการเจริญเมตตา เกิดจากการเจริญเมตตานี้เป็นบุญที่มาก ไอ้บุญที่เป็นโอปปาติกะ นั้นไม่ได้ส่วนที่ ๑๖ แบ่งกันสิบหกครั้งของการเจริญเมตตา นี่ขอๆๆให้ได้ทราบว่าภาษาบาลีใช้สำนวนอย่างนี้เสมอไป เมื่อจะเปรียบเทียบอะไรที่มันผิดกันมากนัก ส่วนที่ ๑๖ แห่งการแบ่งสิบหกครั้ง เช่นว่าเรามีอะไรอย่าง แบ่งออก ๑๖ ส่วนก่อน แล้วเอามาส่วนหนึ่ง ส่วนนั้นแบ่งออกสิบหกส่วนอีกทีแล้วเอามาส่วนหนึ่ง แล้วเอาส่วนนั้นมาแบ่งออกเป็นสิบหกส่วนอีกทีหนึ่ง แล้วก็เอามาแบ่งอีก ทำอย่างนี้เรื่อยไปๆครบ ๑๖ ครั้ง ส่วนที่ ๑๖ แห่งการแบ่งสิบหกครั้ง บุญที่เป็นโอปปาติกะ ไม่ได้ส่วนเมื่อเทียบแล้วไม่ได้ส่วนที่ ๑๖ แห่งการแบ่งสิบหกครั้งของสิ่งที่เรียกว่าเมตตา นี่อิติวุตตกะ เล่มที่ ๒๕ หน้า ๒๔๔ เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจในเรื่องบุญนี้ลองไปคิดดู
ทีนี้ว่าบุญมากอยู่ที่ไหน มีพระบาลีในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เล่ม ๒๓ หน้า ๔๐๖ ว่า เจริญอนิจจสัญญา เจริญอนิจจสัญญาชั่วเวลาดีดนิ้วทีเดียว สำเร็จ เจริญสำเร็จชั่วเวลาดีดนิ้วทีเดียวนี้มีผลคือมีบุญมากกว่าเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งหมดและมีพระพุทธเจ้าเองเป็นประมุข หมายความว่าถ้าเราสามารถนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนามารวมกับพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วก็เลี้ยงอาหาร ก็ยังได้บุญไม่เท่ากับเจริญอนิจจสัญญาสำเร็จชั่วเวลาลัดนิ้วหนึ่ง นี่ข้อแรกที่สุด จงดูความบริสุทธิ์ใจของพระพุทธเจ้าที่ท่านกล่าวมาอย่างนี้ นี้เป็นพระพุทธภาษิตที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่อย่างนี้ ทีนี้เราก็เอ่อ,มองเห็นถึงข้อแรกว่าพระพุทธเจ้านี้น่าเลื่อมใสยิ่งกว่าน่าเลื่อมใสจนไม่รู้ว่าจะเลื่อมใสอย่างไร เพราะท่านมีความบริสุทธิ์ใจจนถึงกับกล้ากล่าวออกมาอย่างนี้ ด้วยเอาพระองค์เองเข้าไปเป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบ เพราะฉะนั้นคำว่ามหากุศลนั้นน่ะระวังให้ดีๆมาก มหากุศลของบางคนตามศาลาวัดนั้นเป็นเรื่องกามาวจร มหากุศลที่แท้จริงควรจะเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า เจริญอนิจจสัญญาลัดนิ้วมือเดียวยังดีกว่าการเลี้ยงพระแบบนี้
ทีนี้ถ้ามีปัญหาถามว่าสุขคติ สุขคติอยู่ที่ไหน ไปสุขคติกันที่ไหน มีข้อความที่เป็นพุทธภาษิตในอิติวุตตกะอีกเหมือนกัน เล่ม ๒๕ หน้า ๒๘๙ กล่าวถึงเรื่องเทวดาจะตาย หรือเทวดาจะจุติ สิ้นบุญ สิ้นอายุ จะตาย ก็ต้องการจะไปสุขคติ ค้นหาว่าจะไปสุขคติที่ไหน ในที่สุดก็ตกลงว่าสุขคติอยู่ที่มนุษยโลก เทวดาทั้งหลายก็อนุโมทนา แต่ว่าขอให้สำเร็จตามความต้องการ ไปสุขคติที่มนุษยโลก คำว่าสุขคติที่มนุษยโลกนี้น่ะ ก็หมายความว่าในโลกมนุษย์นี่มีเอ่อ,มีภาวะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นได้ง่ายกว่าในเทวโลก ในเทในมนุษยโลกมีพระพุทธเจ้า ในมนุษยโลกมีพระอรหันต์ มีพระสงฆ์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สมบูรณ์ ในเทวโลก ดงแห่งกามารมณ์นั้นไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงมาสุขคติที่มนุษยโลก แล้วเทวดาทั้งหลายก็อนุโมทนากันเป็นการใหญ่ นี่มันน่าหัวที่ว่ามนุษย์ที่นี่ต้องการจะไปสุขคติที่เทวโลก ของใครผิดของใครถูกอย่างไรก็ขอให้พิจารณาดู ว่าสุขคติที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน และคนที่ลงทุน ทำบุญ ให้ทาน ขายบ้านขายเรือนไปสร้างอะไรที่วัดต้องการสวรรค์วิมานในชาติหน้าในเทวโลกเพื่อสุขคตินี้มันเป็นอย่างไร
ทีนี้ต่อไปถึงสิ่งที่เรียกว่าฤทธิ์ มีปัญหาที่จะตั้งขึ้นมาว่าสิ่งที่เรียกว่าฤทธิ์นี่น่าสนใจอย่างไร จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าฤทธิ์ก่อน คำว่าฤทธิ์นี่ อิทธินี่ สันสกฤตเป็นอิทธิฤทธินี่ ทีแรกทีเดียวก็เป็นคำธรรมดา เป็นเอ่อ,คำธรรมดาที่เล็งถึงสิ่งที่มีสมรรถภาพ ช่วยให้เกิดความสำเร็จ ตามธรรมดาทั่วๆไปนี่สิ่งใดมีสมรรถภาพ ช่วยให้เกิดความสำเร็จ สิ่งนั้นเรียกว่าฤทธิ์ ทีนี้ต่อมามันขยายขึ้นไปถึงไอ้ความสำเร็จในทางน่าอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์จนกระทั่งไปพบไอ้ฤทธิ์ชนิดที่เป็นเรื่องทางนามธรรมเรื่องรูปขึ้นมา เพราะว่าเมื่อเป็นนามธรรมนี่มันมีทางที่จะปรุงแต่งหรือว่าปรับปรุงให้มันไปได้ไกล ให้มีความน่าอัศจรรย์ได้ไกลกว่าเรื่องที่เป็นวัตถุ เหมือนอย่างว่าเรามีเครื่องทุ่นแรง สมัยนี้มีรถแทรกเตอร์ทำงานแป๊บเดียวก็ทำถนนได้มากมายอย่างนี้ มันก็เรียกว่าฤทธิ์เหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องทางวัตถุ นี่ความน่าอัศจรรย์มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง เรื่องทางจิตใจทางเอ่อ,นามธรรมที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุนั้น มันก็เป็นไปแต่ในทางจิตใจ ฝึกกันจนสามารถทำให้ผู้อื่นรู้สึกได้ตามที่ผู้แสดงฤทธิ์ต้องการให้รู้สึก จนสามารถบังคับให้เขาได้เห็นภาพด้วยตาเหมือนที่เขาต้องการให้เห็น ให้เขาได้ยินเสียงด้วยหูประจักษ์ชัดเหมือนที่ต้องการให้ได้ยิน ให้เขาได้กลิ่นทางจมูกเหมือนที่เราต้องการให้เขาได้กลิ่น ต้องการให้เขารู้สึกที่ลิ้มรสหรือกินเข้าไปนี่มันเหมือนกับที่รู้สึกทางลิ้นจริงๆ สัมผัสทางผิวหนัง นิ่มนวล กระด้าง อะไรก็ให้รู้สึกเหมือนกัน กระทั่งให้รู้สึกในทางจิตใจ ให้กลัว ให้เอ่อ,รัก ให้อะไรก็ได้ โดยที่ผู้นั้นไม่รู้สึกตัว นั้นจึงสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง แต่เรื่องทางจิตใจอย่างนี้ไม่สำเร็จเป็นวัตถุ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถจะเอ่อ,เนรมิตวัตถุแท้ๆขึ้นมาสำหรับใช้สำเร็จประโยชน์ได้ เช่นว่าจะเนรมิตกุฎี วิหารอยู่เอง เนรมิตข้าวปลาอาหารขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ ไม่ต้องเดือดร้อน อย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ มันชั่วเวลาที่แสดงฤทธิ์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ หรือรู้สึกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะสร้างกุฏิ วิหารอยู่เอง ต้องมีคหบดีสร้างถวาย เป็นพระเชตวัน เป็นเวฬุวัน หรืออะไรก็สุดแท้ และบางคราวพระพุทธเจ้าก็อดอาหารเพราะทุพภิกขภัย ต้องฉันข้าวตากเลี้ยงม้า วันละฟายมืออย่างนี้ก็มี เป็นพระไตรปิฎกเล่มแรกเปิดดู ตอนวินัยปิฎก ก็แปลว่าเรื่องทางวัตถุกับเรื่องทางจิตใจนั้นมันคนละเรื่อง เอ่อ,สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องฤทธิ์ทางจิตใจ แต่ทรงขยะแขยงที่จะแสดงฤทธิ์ในทางจิตใจชนิดนั้น เพราะเป็นมายาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงห้ามไม่ให้ภิกษุแสดง และพระองค์ก็ไม่ทรงแสดง เราไม่พบในบาลีพระไตรปิฎกว่าพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์ แต่ว่าพบในอรรถกถา ที่เป็นอรรถกถาธรรมบทในหนังสือรุ่นหลังนี้พระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์ เราจึงไม่ค่อยจะเชื่อ หรือว่าเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าจริงหรือไม่จริง ทีนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ฤทธิ์ต่างๆ ที่แสดงกันด้วยอิทธิวิธี เหาะเหิน หายตัว หรือเนรมิตนั่น เนรมิตนี่ มีหูทิพย์ ตาทิพย์อะไรเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นฤทธิ์ชนิดที่เป็น สาสวา อุปธิกา สาสวาคือประกอบด้วยอาสวะ หมายความว่าต้องทำด้วยจิตที่ยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นไปเพราะความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้เรียกว่า สาสวา อุปธิกานี่ก็เป็นไปเพื่ออุปธิ เป็นไปกับด้วยอาสวะเป็นไปกับด้วยอุปธิ อุปธิแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น เป็นฤทธิ์ที่เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น กระทำด้วยจิตที่ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นฤทธิ์ประเภทนี้เป็นสาสวา เป็นอุปธิกา ทีนี้ขอให้สนใจฤทธิ์ประเภทที่สองที่เรียกว่า อนาสวา อนุปธิกา นั้นคือการบังคับจิตของตนเองได้ตามประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างไว้ในเรื่องปฏิกูล ให้เห็นสิ่งปฏิกูลโดยความเป็นปฏิกูล โดยเห็นสิ่งไม่ปฏิกูลโดยความเป็นปฏิกูล เห็นทั้งหมดโดยความเป็นปฏิกูล เห็นทั้งหมดโดยความไม่ปฏิกูล เห็นทั้งหมดโดยไม่มีเอ่อ,อะไรเลยนี้ โดยไม่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นทั้งปฏิกูลอย่างนี้ นี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงว่าสามารถบังคับจิตใจได้สำเร็จ จนกระทั่งมีสติสัมปชัญญะและอุเบกขาอยู่ได้เอ่อ,ในที่เฉพาะหน้าแห่งอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มาปรุงแต่งนี่ จิตมีสติ มีสัมปชัญญะ มีอุเบกขาอยู่ได้นี่คือฤทธิ์ และเป็นฤทธิ์ประเภท อนาสวาไม่มีอาสวะ อนุปธิกา ไม่มีอุปธิ ไม่เศร้าหมองไม่ยึดมั่น ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น นี่สิ่งที่เรียกว่าฤทธิ์มีอยู่อย่างไรและน่าสนใจอย่างไร ถ้าเปรียบเทียบกันอีกอย่างหนึ่งว่า ไอ้ฤทธิ์ที่จะแสดงกันจริงๆเพื่อให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ประเภท สาสวา อุปธิกา นั้นก็ยังทำยาก มีการปฏิบัติมากเป็น 56.21ใหญ่ ทำได้แต่เพียงบางคนไม่กี่คน มีว่าถ้าทำได้จริง ทีนี้ที่ไม่ทำได้จริงก็เป็นเรื่องหลอกลวงเล่นกลได้สนิท เป็นพวกมายาวีก็มีอยู่พวกหนึ่งเหมือนกัน ในบาลีก็มีกล่าวถึงมนต์ชื่อ 56.37มนิกาอะไรต่างๆนี้เป็นพวกเล่นกล แสดงปรากฎการณ์ได้เหมือนกับพลิกจริงๆเหมือนกันก็มีแต่ล้วนแต่ฝึกยากลำบากทั้งนั้น ไอ้ฤทธิ์ที่เป็น อนาสวา อนุปธิกา กลับอยู่ในวิสัยที่คนทุกคนควรจะทำได้ มันน่าๆๆคิดไปในส่วนนี้ ทีนี้เราไปสนใจในฤทธิ์ส่วนที่ไม่ๆอาจจะทำได้ ฤทธิ์ส่วนที่ควรจะทำได้และมีประโยชน์ที่สุดเราก็ไม่สนใจ แต่เราก็ยังชอบไอ้สิ่งที่เรียกว่าฤทธิ์อยู่ดี นี่ขอให้คิดกันดูเสียใหม่ ทีนี้อาตมาจะได้กล่าวถึงหัวข้อที่ว่าสุขทุกข์เกิดมาจากอะไร หรือความทุกข์เกิดมาจากอะไร มักจะพูดกันว่าสุขทุกข์เกิดมาจากกรรมหนหลัง นี้เป็นคำถูกเอ่อ,คำตอบที่ถูกน้อยที่สุด เพราะว่าทุกข์มีเหตุเอ่อ,เป็นสิ่งที่มาจากเหตุจากปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยนั้นมีหลายแบบหลายชนิด หลายอย่าง อวิชชาก็เป็นเหตุ ตัณหาก็เป็นเหตุ อุปาทานก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยด้วยกันได้ทั้งนั้น ทีนี้ไอ้ที่ว่ามาจากกรรมนี่ มันน่าจะนึกถึงกรรมใหม่ๆ ในปัจจุบันชาตินี้ นึกถึงอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใหม่ๆในปัจจุบันชาตินี้ว่านี่เป็นตัวการแห่งทุกข์เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ และจะต้องนึกว่าไอ้กรรมเก่านั้นน่ะสู้กรรมใหม่ไม่ได้ เพราะว่าเราสามารถสร้างกรรมใหม่คือกรรมที่สามเพื่อเลิกละกรรมเก่าเสีย เพราะว่ากรรมเก่านั้นมีแต่กรรมดีกรรมชั่วนั่นเอง ไม่มีกรรมอะไรมากกว่านั้น ทีนี้กรรมใหม่นี่เรามีกรรมที่สามคืออริยมรรคเวลาเราทำขึ้นมามันระงับไอ้กรรมที่หนึ่งที่สอง ถ้าทำถึงที่สุดคือหมดกิเลสแล้ว กรรมใหม่คืออริยมรรคนี้ก็ระงับกรรมเก่าทั้งดีทั้งชั่วเสียได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ากรรมเก่านั้นมันสู้กรรมใหม่ไม่ได้ เพราะกรรมใหม่นี้มันเป็นกรรมที่สาม ไอ้กรรมเก่าเป็นเพียงกรรมที่หนึ่งที่สองเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจงสนใจในสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรค อย่างที่ได้กล่าวมาทีแรกว่าถ้าปฏิบัติตามธรรมดาเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติตามทางลัดเป็นอย่างไร ปฏิบัติตามทางลัดก็คือตรงไปยังการพิจารณาเพื่อทำลายความยึดมั่นว่าตัวตนว่าของตน กรรมนั้นน่ะจะเป็นกรรมใหม่ที่รุนแรงที่สุด ที่เกิดขึ้นแล้วจะคมกริบ สามารถจะทำลายกรรมเก่าที่มากมายยืดยาวได้ จิตแห่งความทุกข์มันเกิดมาจากเอ่อ,กรรมใหม่ๆ คืออวิชชา ตัณหา อุปาทานใหม่ๆหยกๆวันนี้ที่เกิดขึ้นเพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสเมื่อวานเมื่อวานซืนนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างกรรมใหม่หยกๆเหมือนกันมาทำลายมันถึงจะได้ ไปมัวหลงว่าเป็นกรรมเก่า แล้วกรรมเก่ามันก็มีเหตุของมันอยู่ที่ถอยหลังเข้าไปจากนั้นไปอีกและจะไปตามมันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงสู้รู้เรื่องกรรมใหม่คือกรรมที่สามนี้ไม่ได้ จะระงับกรรมเก่าเสียได้สิ้นเชิง จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาถามว่าเราจะดับทุกข์ที่ไหน แล้วก็ไม่ดับทุกข์ที่วัด ที่ป่า ที่บ้าน ที่ภูผา ต้องดับทุกข์ที่เหตุของความทุกข์นั้นเอง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาให้รู้ว่าความทุกข์ที่เกิดอยู่กับเราเป็นประจำวันนี่มันคืออย่างไร มาจากเหตุอะไร และก็ต้องตัดต้นเหตุนั้นโดยเฉพาะ ให้ทุกข์ที่มันแล้วไปแต่หลังเมื่อวานนี้มันจะมาอีกไม่ได้ มันๆเลิกกันไปแล้ว แต่ทุกข์ที่มันจะเกิดวันนี้หรือพรุ่งนี้มันมีปัญหา ทุกข์พรุ่งนี้ก็ยังมีปัญหาเพราะว่ามันยังไม่เกิดมันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่นี่จะต้องดับ และจะดับที่ไหนก็ต้องดับที่เหตุของมัน เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้จนให้รู้ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าความทุกข์แล้วเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ความเกิด ความแก่ ความตายเป็นทุกข์นี่ พูดโดยโวหารที่กำกวม เข้าใจผิด ความเกิดไม่เป็นทุกข์ ความแก่ไม่เป็นทุกข์ ความตายไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นว่าความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา เดี๋ยวนี้มันเราไปยึดมั่นพร้อมไปในตัวความเกิดแก่เจ็บตายนั้นว่าของเรา ถ้าไม่ยึดก็ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของสังขารเท่านั้นเอง สังขารเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความเกิด สังขารเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความแก่ สังขารเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเรียกว่าความตาย เป็นต้น แต่เราไม่เห็นถึงสังขารเปลี่ยนแปลง เราเห็นเป็นตัวความเกิด และยังว่าความเกิดของเรานั้น ความแก่ของเรานั้น ความตายของเรานั้น นี้มันเป็นมายาหลายซับหลายซ้อน เพราะว่าตัวเราก็เป็นมายาแล้ว แล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังขารว่าความเกิดนี้เป็นมายาจริงๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังขารว่าความแก่นี้ก็เป็นมายาจริง ไม่เห็นว่าเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของสังขาร พอเห็นเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ความเกิด ความแก่ ความตายก็หายไป พร้อมกับที่ตัวเราก็หายไปคือไม่มีตัวเรา เพราะฉะนั้นอาการอย่างนั้นไม่เป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นี่คนจำนวนมากที่สุดคือแทบทั้งหมดเข้าใจผิด ชี้ระบุไปที่อาการเกิด อาการแก่ อาการตาย เป็นตัวทุกข์ อธิบายกันไม่ได้ก็มี อธิบายอ้อมแอ้ม อ้อแอ้ไปอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี เพราะลืมคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ตอนสุดท้ายก็ได้กล่าวอย่างนั้นหมดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสรุปว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เบญจขันธ์คือร่างกาย จิตใจนี้ที่รวมเรียกว่าคนคนหนึ่งนี้ ถ้ามีอุปาทานในสิ่งใดอยู่ว่าเราว่าของเรา เบญจขันธ์นั้นเป็นตัวทุกข์ มันหนักขึ้นที่เบญจขันธ์นั้น มันทุกข์ขึ้นที่เบญจขันธ์นั้น มันเร่าร้อนขึ้นที่เบญจขันธ์นั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าเบญจขันธ์ที่กำลังประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ทีนี้สมมติว่าเบญจขันธ์นี้อยู่ในสภาพที่เรียกกันว่าความแก่ แต่ถ้าจิตใจนี้มันไม่ยึดถือนี้ว่าความแก่ ไม่ยึดถือว่าความแก่นี้ของเรา มันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตใจที่เห็นว่ารูปก็ว่าง เวทนาก็ว่าง สัญญาก็ว่าง สังขารก็ว่าง อาการปรุงแต่งไหลเวียนก็ว่าง อะไรก็ว่างนี้ มันไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ได้ นี่คือเบญจขันธ์บริสุทธิ์ เบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบไปด้วยอุปาทาน เช่นเบญจขันธ์ของพระอรหันต์ ที่เราสมมติเรียกกันว่าเบญจขันธ์ของพระอรหันต์ ที่จริงพระอรหันต์จะป็นเจ้าของเบญจขันธ์ไม่ได้ เราถึงเล็งเห็นว่าไอ้ขันธ์ห้าที่กำลังเป็นที่รองรับคุณธรรมแห่งความเป็นพระอรหันต์นั้น จิตใจที่นั้นไม่ได้ยึดขันธ์ส่วนไหนว่าเป็นของเราเรียกว่าเป็นเบญจขันธ์ สมมติเรียกว่าเบญจขันธ์อันบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ นี่จึงว่า ทุกข์ ดับทุกข์ที่ไหน ต้องดับที่เหตุของความทุกข์คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดนั่นเอง ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นในเงินทองก็ต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่นนั้น ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอำนาจวาสนา เกียรติยศ ชื่อเสียง ก็ต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่นนั้น แล้วไอ้เงินไอ้ทองไอ้อำนาจวาสนาก็ไม่เป็นทุกข์เอง อย่างนั้นรวมความว่าเหตุเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น ภาษานักธรรมะโบราณเขาว่าขึ้นทางไหนให้ลงทางนั้น ขึ้นไปทางไหนมันงอกไปทางไหนให้มันลงทางนั้น
ทีนี้อาตมาอยากจะกล่าวถึงปัญหาในข้อต่อไปว่า ที่เรียกว่ารู้จริง รู้จริงนั้นต้องรู้ถึงขนาดไหน ขอตักเตือน ขอร้องนักศึกษานิสิตโดยเฉพาะว่าจงฟังคำนี้ของพระพุทธเจ้าที่อาตมาจะเอามากล่าวให้ฟัง ว่าที่ว่ารู้จริงนั้นน่ะต้องรู้ถึงขนาดไหน เราจะรู้จริงเอ่อ,ในสิ่งใด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าต้องรู้ในลักษณะเอ่อ, ๕ อย่างนี้ โดยตั้งปัญหาเกี่ยวกับสิ่งนั้นว่า สิ่งนั้นเอ่อ,มีลักษณะอย่างไร มีลักษณะหรือมีปรากฏการณ์อย่างไร และสิ่งนั้นมันเกิดมาจากอะไรนี่ข้อที่สอง และอัสสาทะ คือความยั่วยวนของสิ่งนั้น ความอร่อย ความมีเสน่ห์ของสิ่งนั้นคืออะไร และอันที่สี่ก็ว่า อาทีนวะ คือโทษอันร้ายกาจ พิษสงอันร้ายกาจเลวทรามที่มันซ่อนไว้คืออะไร และอันที่ห้าก็ว่า นิสสรณะ คืออุบายที่เราจะเอาชนะมันได้คืออะไร ให้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากอำนาจของสิ่งเหล่านี้คืออะไร อันนี้คือลักษณะมันอย่างไร ที่สองสมุทัยที่เกิดของมันคืออะไร อันที่สาม อัสสาทะคือเสน่ห์ของมันเป็นอย่างไร อันที่สี่ อาทีนวะคือพิษสงอันร้ายกาจของมันเป็นอย่างไร นิสสรณะ อุบายจะออกไปจากอำนาจของสิ่งเหล่านี้คืออะไร รวมเป็นห้าอย่าง ถ้าท่านศึกษาสิ่งใดในลักษณะนี้แล้วท่านจะชนะสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เราศึกษากันถึงขั้นมหาวิทยาลัย หรือบรมมหาวิทยาลัย หรืออะไรก็ตามใจ ไม่ศึกษาไปในลักษณะเหล่านี้จึงพ่ายแพ้แก่สิ่งเหล่านี้คือโลก ถ้าเราศึกษาโลกในลักษณะห้าประการนี้ละก็ไม่มีทางที่จะพ่ายแพ้แก่โลก เพราะฉะนั้นจงระวังให้ดีว่าสถาบันการศึกษาในโลกนี้ศึกษาไปทำไมกัน ศึกษาเพื่อประโยชน์อะไรในที่สุด แต่ถ้าศึกษาเพื่อจะสร้างสันติภาพให้แก่โลกแล้วระวังให้ดี มันจะไม่กำเนิดประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่ศึกษาตามหลักของพระอริยเจ้า ของพระพุทธเจ้าอย่างที่กล่าวนี้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะนี่คงจะไม่เคยได้ยินกันกระมัง แต่มันมีมากเต็มไปหมดในพระไตรปิฎก อัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ 3 คำนี้ไม่ค่อยมาปรากฏแก่สายตาหรือแก่หูของพวกเรานัก แต่ขอให้จำว่านี่เป็นคำที่มีมากในพระไตรปิฎก ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านต้องการให้รู้สิ่งใดๆ เมื่อสอนหรือเมื่อเตือนให้รู้สิ่งใดๆ ท่านสอนอย่างนี้ บางทีท่านลัดเอาแต่สามอย่างในขั้นปลาย อัสสาทะ เสน่ห์นั้นมันเป็นอย่างไร อาทีนวะ พิษสงนั้นมันเป็นอย่างไร สิ่งนั้นมีทั้งเสน่ห์และมีทั้งพิษสง และ นิสสรณะ คือไว ฉลาด เอาชนะมันได้เป็นอย่างไร อย่างว่าเอ่อ, เหยื่อ เอ่อ,มีๆเบ็ดหุ้มเหยื่อแขวนไว้ ไอ้ที่นั่นน่ะมันมีอัสสาทะ คือความเป็นเหยื่อที่น่ากิน ล่อปลาให้กิน นี่ส่วนนี้เรียกว่า อัสสาทะ ความเป็นเหยื่อของมัน ทีนี้ไอ้เบ็ดนั้นน่ะก็คือตัวอาทีนวะ คือพิษสงโทษอันร้ายกาจที่มันซ่อนอยู่ในเหยื่อ ทีนี้ถ้า นิสสรณะ อุบายที่จะชนะนี่ ปลาตัวนั้นต้องมีวิธีกินเหยื่อโดยไม่ติดเบ็ด ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเหยื่อก็กลายเป็นอาหารไป ไม่มีความหมายเป็นเหยื่ออีกต่อไป มีความหมายเป็นอาหารที่ปลาอันนั้นได้กินเข้าไป สบายไปและก็ไม่ต้องติดเบ็ดด้วย เพราะฉะนั้นเราจงดูโลกนี้ในลักษณะอย่างนี้เสมอไป โลกนี้เหลี่ยมหนึ่งมันมีอัสสาทะ คือเหยื่อที่ล่อให้คน หลงๆๆๆ เอ่อ,ไม่ๆๆสร่างไม่ลืมหูไม่ลืมตา แล้วมันก็มีเบ็ดอยู่ทำไม คนก็ติดโลกออกไม่ได้ ก็จมอยู่ในโลก คือความทุกข์ ทีนี้พระอริยะเจ้าท่านมองเห็นอัสสาทะเป็นอย่างนี้ อาทีนวะเป็นอย่างนี้ นิสสรณะเป็นอย่างนี้ ท่านก็อยู่ในโลกกินเหยื่อในโลก กลายเป็นอาหารไปและไม่ติดเบ็ด หรือว่าท่านจะรู้จนกระทั่งว่าลักษณะมันอย่างไร สมุทัยต้นเหตุนั้นเป็นอย่างไร อัสสาทะนั้นเป็นอย่างไร อาทีนวะเป็นอย่างไร แล้วจะทั้งห้านี้ก็ได้เหมือนกัน ก็ยิ่งละเอียดออกไป นี่คือลักษณะที่จะรู้สิ่งใดต้องเรียนให้รู้เอ่อ,ครบทั้งห้าประการนี้ หรือไม่อย่างสามประการหลัง เราจะทำอะไร จะเกี่ยวข้องสิ่งใด แม้แต่จะศึกษาเล่าเรียนอะไรก็จงพิจารณาโดยหลักเกณฑ์อย่างนี้ เราจะรู้จักเลือก เราจะได้รับประโยชน์ เราจะสำเร็จประโยชน์มากที่สุดเพราะความรู้อันนี้ นี้เรียกว่ารู้จริง โดยอาศัยความรู้นี้จะเป็นการง่ายในการที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส เรามองดูโลกในลักษณะอย่างนี้แล้วจะเห็นว่ามันเต็มไปด้วยอาทีนวะและอัสสาทะ เสน่ห์ล่ออยู่ข้างหน้า นิสสรณะเอ้อ,อาทีนวะอยู่ข้างใน เราก็รู้ว่าไอ้นี่มันเป็นความคดโกง เป็นคนโกง เป็นไอ้เรื่องที่มายา หลอกลวง ก็เลยไม่ติดในโลก ไม่หลงในโลก
จิตมองเห็นเอ่อ,จิตประกอบด้วยปัญญาที่มองเห็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์หกประการนี้ในลักษณะอย่างถูกต้องอย่างนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นโลกหรืออารมณ์หกประการนี้ก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจไม่สามารถจะชนะจิตใจหรือปรุงแต่งจิตใจให้เกิดตัณหา อุปาทาน เป็นตัวเป็นตนอะไรขึ้นมา เราก็มีความว่างอยู่ได้ตามปกติ ในที่สุดเอ่อ,ที่เรียกว่าเอ่อ,การปฎิบัติธรรมเพื่อก้าวไปสู่นิพพานนั้นก็เป็นของที่ไม่เหลือวิสัย
ทีนี้เราตั้งปัญหาต่อไปว่าอย่างไรเรียกว่าถึงกระแสแห่งนิพพาน ขอให้ระลึกถึงคำว่านิพพานในลักษณะอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือในลักษณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เสมอไป ถ้าเกิดมาทีหนึ่งไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่านิพพานหรือไม่ได้ชิมลองแม้แต่รสของนิพพานนี้ก็เรียกว่าเสียทีที่เกิดมา ทีนี้กระแสของนิพพานน่ะหมายความว่ามันมีแนวอยู่อันหนึ่งซึ่งถึงขนาดที่รับประกันได้ว่ามีแต่จะไหลเอียงไปทางนิพพาน ไปทางดับทุกข์ ไม่ย้อนกลับไปทางทุกข์หรือทางอบายต่อไป นี่เราเรียกไอ้แนวนี้ว่ากระแส ผู้ที่ได้ถึงกระแสคือพระโสดาบัน พระโสดาบันยังไม่ถึงนิพพานโดยสมบูรณ์ ถึงนิพพานประเภททิฏฐธรรมนิพพาน หรือตทังคนิพพาน หรืออะไรไปตามเรื่องของท่าน เอ่อ,แต่ว่าถึงกระแสแห่งนิพพานอันแท้จริง ถือว่าจะไม่กลับไปหลงอาทีนวะ อัสสาทะ อะไรในโลกอีกต่อไป โลกจะหลอกลวงท่านไม่ได้อีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านละไอ้การติดต่อกับโลกหรือแม้แต่การบริโภค กามารมณ์อย่างนี้เป็นต้นได้ แต่ว่าจิตใจนั้นมองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นของยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เต็มที่ และแน่ใจต่อการที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่ายังจะต้องยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความพลั้งเผลอบางคราว ข้อนี้ขอให้สังเกตลำดับของอนุสัยหรือสังโยชน์ ๑๐ ประการ ก็ต้องละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สามประการนี้ก่อนจึงจะเป็นพระอรหันต์เอ้อ,พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐินี้ก็ละโมหะชนิดหนึ่ง ละวิจิกิจฉานี่ก็ละโมหะชนิดหนึ่ง ละสีลัพพตปรามาสก็ละโมหะชนิดหนึ่ง กามราคะยังไม่ได้ละเลย พระสกิทาคามีก็ยังไม่ได้ละเลย นี้ก็แปลว่าท่านยังไม่อาจจะละกามราคะ แต่ท่านไม่ตกหลุมของกามราคะเท่านั้น แม้ท่านจะเกี่ยวข้องหรือบริโภคกามคุณก็ด้วยสติสัมปชัญญะตามแบบของพระอริยเจ้า แต่อย่าลืมว่าท่านละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ นั่นแหละคืออาการของท่านถึงกระแสของนิพพาน และแน่นอนต่อนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องการเอ่อ,ละความโง่ อย่าลืมว่าละความโง่ก่อนการละกามราคะ กามราคะยังไม่ใช่ปัญหาร้ายกาจ ปัญหาที่เอ่อ,หรือศัตรูที่ร้ายกาจหรือที่น่าหวาดเสียวอะไร ที่น่าหวาดเสียวคือเอ่อ,โมหะ มีบาลีแห่งหนึ่งว่าไอ้สิ่งที่มีกลิ่นเหม็นคาวที่สุดนั่นคือเอ่อ, มานะ การถือตัวถือตน นี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ระบุว่ากามคุณเป็นสิ่งที่มีกลิ่นเหม็นคาวที่สุด กลับไประบุไอ้โมหะชนิดที่เป็นเรื่องถือตัวถือตน นี่เรามักจะเข้าใจกันมากเกินกว่าขอบเขตดีเกินไปที่จะเกณฑ์ให้พระอรหันต์ละกามารมณ์ ไม่มีการเกี่ยว เอ่อ,ละให้พระโสดาบันละการเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ เมื่อมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ผิด มันก็ผิดไปหมด มันเอ่อ,มันไม่มีทางจะปรับเข้ากันได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าแรกถึงกระแสแห่งนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ยังไม่ละกามราคะแต่ต้องละความโง่ก่อน สักกายทิฏฐิไอ้ความเห็นแก่ตน ความเห็นแก่ตนในระดับธรรมดาสามัญทั่วไป นี่ก็เพราะไม่เห็นความว่างแม้แต่อย่างหยาบๆ มีจิตวุ่น ไม่ว่างเหมือนกัน จึงมีสักกายทิฎฐิ เพราะฉะนั้นเราจะต้อละสักกายทิฏฐิในลักษณะที่มันไม่ๆเกิดอีกจึงจะเป็นพระโสดาบัน ตามธรรมดามันก็เกิดๆดับๆ วันหนึ่งนี่สักกายทิฏฐิ หลายๆครั้ง แต่เวลาที่ไม่เกิดก็มีเหมือนกัน เราควรจะศึกษาว่า อย่างไรเป็นสักกายทิฏฐิ อย่างไรว่างจากสักกายทิฏฐิ ถ้ามีความเห็นแก่ตนก็เป็นสักกายทิฏฐิ
ทีนี้วิจิกิจฉาคือความลังเล จะเอากันอย่างไรแน่ ลังเล จะเชื่อพระพุทธเจ้าดีหรือไม่ก็ลังเล จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์สิ้นเชิงตามแบบโลกุตรหรือไม่ก็ลังเล ก็มีความลังเลอย่างนี้จึงไม่สนใจในธรรมะให้เพียงพอ วันหนึ่งๆน่ะสนใจธรรมะห้านาทีก็ทำยาก แต่ไปสนใจเรื่องเล่นเรื่องหัวเรื่องกินเรื่องดื่ม แม้กระทั่งเรื่องเล่าเรื่องเรียนเรื่องการเรื่องงาน กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นนาทีอย่างนี้เป็นต้น เวลาที่เอาไปเล่นหัวอย่างนั้นถ้ามาสนใจธรรมะจะรู้เรื่องนี้เร็วเข้า ความลังเล เอ่อ,จงมองดูว่าแม้แต่เด็กๆ แรกๆก็ลังเลว่าจะเรียนธรรมศาสตร์ดีหรือเรียนจุฬาฯดีจะเรียนพยาบาลดีหรือว่าจะเอ่อ,เรียนกฎหมายดี ลักษณะที่ลังเลอย่างนี้เป็นข้าศึกอย่างไรก็พอจะเห็นกันอยู่แล้ว ทีนี้สำคัญที่สุดที่มาลังเลตอนที่ว่าจะดับทุกข์ตามแบบพระพุทธเจ้าดีหรือไม่นี้เป็นความลังเลที่สำคัญมาก ที่จริงมีปัญหามากหรือร้ายกาจมาก ลังเลที่ว่าจะสมัครเดินในทางดับทุกข์ดีหรือไม่ดี เพราะโดยมากก็คิดแต่ว่าเรื่องนี้ไม่มีรสไม่มีชาติไม่สนุกสนานไม่มีเสน่ห์ แล้วเราก็ไปหลงในเสน่ห์ของโลก เพราะฉะนั้นจะต้องกำจัดความลังเล คือว่าเรามีความทุกข์เราจะต้องแน่ใจที่จะดับทุกข์
ทีนี้อันที่สามที่เรียกว่าวิเอ่อ, สีลัพพตปรามาส มีความงมงายจนเคยชิน มีอะไรที่ประพฤติมาอย่างงมงายจนเคยชินก็ไปสำรวจตรวจดูตัวเอง ถูกหลอกให้กลัวจิ้งจกตุ๊กแกจนเคยชิน อย่างนี้ก็เรียกว่าสีลัพพตปรามาสเหมือนกันอย่างต่ำๆเด็กๆ ถูกหลอกให้เชื่อต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ วัดวาศักดิ์สิทธิ์ ศาลพระภูมิศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสเหมือนกัน รวมความแล้วมันงมงายต่อสิ่งที่ตนกระทำ สิ่งนี้ควรใช้อย่างนี้เอาไปใช้อย่างอื่น เช่นบุญกุศล ควรจะใช้เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตนกลับเอาไปเพิ่มความเห็นแก่ตนอย่างนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้นการให้ทานที่เป็นสีลัพพตปรามาสก็มี การรักษาศีลเคร่งครัดแต่เป็นสีลัพพตปรามาสก็มี ทั้งของบรรพชิต ทั้งของคฤหัสถ์ นี้เรียกความงมงายจนเคยชิน ตลอดถึงเราเข้าใจผิดในสิ่งใดๆ ถึงเรื่อยมาจนบัดนี้อย่างงมงายแล้วก็ ก็จะต้องถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้นขออภัยที่ยกตัวอย่างสักอย่างหนึ่งเช่นว่า เรื่องอบาย อบายภูมิสี่ อบายสี่ที่เขียนตามฝาโบสถ์ หรือผนังโบสถ์ เรื่องนรก เรื่องเดรัจฉาน เรื่องเปรต เรื่องอสุรกาย สี่อย่างนี้เรียกว่าอบาย เราถูกสอนกันมาให้เชื่อว่า พอตายแล้วจึงจะไปตกอบาย เราไม่เคยถูกสอนว่ากำลังตกอบายอยู่ทุกวัน และอบายนี้จริงกว่า สำคัญกว่า อย่าตกเลย แต่ถ้าไม่ตกอบายนี้แล้ว อบายต่อตายแล้วเป็นไม่ตกแน่ๆ อย่างนี้ก็ไม่เคยสอน จึงไม่เข้าถึงความหมายหรือใจความอันถูกต้องของคำว่าอบายทั้งสี่ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช้เรื่องวัตถุไม่ได้เอาร่างกายเป็นหลัก ให้อบายจะไปถูกต้มถูกเผาในกระทะทองแดงนั้นเป็นเรื่องของร่างกายเป็นหลัก พระเจ้าท่านเอาเรื่องจิตใจเป็นหลัก ทีนี้เรามองดูว่าหมายถึงอะไร อบายสี่ ข้อแรกคือนรก นิริยะนรกนี้คือความร้อนใจ เมื่อใดมีความร้อนใจอย่างถูกไฟเผาอย่างนั้นเราเกิดเป็นสัตว์นรกทันควันไปโดยโอปปาติกะกำเนิดคือเกิดทางใจ ทั้งที่ตัวเป็นมนุษย์อย่างนี้หรือทั้งที่กำลังนุ่งห่มอย่างนี้ มันตกนรกนิริยะลงไปแล้วด้วยความร้อนใจ แม้แต่ร้อนใจก็ทำผิด ถูกลงโทษ ร้อนใจว่ากลัวจะเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงหรือร้อนใจอะไรก็ตาม ความร้อนใจเป็นนรก ทีนี้กำเนิดเดรัจฉานนั้นคือความโง่ เมื่อไรโง่ในสิ่งที่ไม่ควรจะโง่ แม้แต่โง่ในเรื่องที่จะรู้ว่า เอ่อ,ธรรมะหรือนิพพานเป็นสิ่งที่ควรปรารถนานี้ก็เรียกว่าเป็นความโง่ โง่จนไม่กล้าเข้ามาแตะต้องเข้ามาๆเข้าใกล้พระพุทธศาสนา โง่ว่าถ้าเข้ามาสนใจกับธรรมะหรือพุทธศาสนาแล้วจะทำให้ล้าสมัยไม่ทันเพื่อน ตัวเด็กๆเองก็เข้าใจอย่างนั้น พ่อแม่เองก็เข้าใจอย่างนั้น แล้วก็พยายามดึงกันออกไปให้ห่างจากธรรมะจากศาสนา นี้ก็เรียกว่าความโง่ จะเป็นความโง่ชนิดไหนก็ตามต้องเรียกว่าเป็นกำเนิดเดรัจฉานทั้งนั้น พอความโง่อย่างนี้เกิดขึ้นครอบงำ เราก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานโดยโอปปาติกะกำเนิด คือโดยการเกิดทางใจเป็นอบายที่สอง ทีนี้อบายที่สาม เปรตวิสัย คือหิวเรื่อย เพราะว่าความอยากมันวิ่งออกหน้าความเอ่อ, การได้รับสิ่งสนองเรื่อย มันหิวเรื่อยในทางจิตใจ มันจะหิวข้าวทางร่างกาย เพราะฉะนั้นอยากได้เงินพันบาท จวนจะได้พันบาทแล้วก็ๆกระโดดไปอยากได้หมื่นบาท พอจวนจะได้หมื่นบาท มันกระโดดไปเป็นแสนบาท พอจวนจะได้แสนบาทกระโดดเป็นล้านเป็นร้อยล้าน ไอ้นี่ไล่ไม่ทัน นี้ก็มีอาการหิวเรื่อยจึงมีลักษณะเป็นเปรต หรือก็ว่ามีท้องเท่าภูเขา มีปากเท่ารูเข็ม ทีนี้การดูดซึมเข้าไปมันไม่ทันกับความหิว มันจึงเป็นเปรตอยู่เรื่อย ในทางที่ตรงกันข้าม ได้มาสิบสตางค์ก็พอใจในการได้สิบสตางค์ ได้มายี่สิบสตางค์ก็พอใจในการได้ยี่สิบสตางค์ ท่านอย่าเข้าใจว่ามันทำให้หยุดชะงัก ถอยหลังไม่ๆๆสะสมอีก มันมีสติปัญญา มันรู้หน้าที่มันก็ทำไปตามลำดับ และมันอิ่มเรื่อยได้เรื่อย อิ่มเรื่อยได้เรื่อยสนุกสนานเพลิดเพลินในการหาอย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นเปรต คือไม่หิวเรื่อย ถึงว่าอยากด้วยกิเลสตัณหาเป็นเปรต อยากหรือสะสมด้วยสติปัญญานี้ไม่ใช่กิเลสไม่ใช่ตัณหาและไม่เป็นเปรต เป็นการปฏิบัติไปตามหน้าที่ เพราะฉะนั้นความอยากที่ประกอบอยู่ด้วยวิชชาหรือปัญญาเช่นอยากดับทุกข์อยากอะไรอย่างนี้ไม่ใช่ตัณหา อย่าได้สอนกันผิดๆว่าขึ้นชื่อว่าความอยากแล้วเป็นตัณหาเป็นความโลภไปหมด มันต้องเป็นความอยากที่มาจากเอ่อ,ความโง่ จึงจะเป็นตัณหาหรือเป็นโลภะ แม้ที่สุดแต่อยากไปนิพพาน ถ้าอยากนิพพานด้วยความโง่ ความหลงเห่อตามๆกันมา แห่กันไปทำวิปัสสนาโดยไม่รู้ว่าอะไรนี่มันก็เป็นกิเลสตัณหาเป็นความโลภ และเป็นความโง่และต้องเป็นความทุกข์เพราะมันมีความยึดมั่นถือมั่น ถ้าอยากไปนิพพานโดยมองเห็นความทุกข์อยู่อย่างชัดแจ้งด้วยสติปัญญามองเห็นลู่ทางว่าจะดับได้แล้วก็อย่างนั้นแล้วแห่กันไปทำวิปัสสนาให้ถูกต้องให้ เวลา1.25.33 อย่างนี้ความอยากนี้อยากไปนิพพานอย่างนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหาและไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นความอยากนี้ไม่ต้องเป็นกิเลสตัณหาเสมอไป มันแล้วแต่ว่ามันเกิดมาจากอะไร แต่ถ้ามันเกิดมาจากอวิชชาหรือกิเลสแล้ว มันจะมีอาการเหมือนกับหิวเรื่อย ไล่ไม่ทันอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าได้เกิดเป็นเปรตขึ้นมาแล้ว ในเมื่อหิวเรื่อยอย่างนี้ โดยโอปปาติกะกำเนิดเหมือนกัน ทีนี้อันสุดท้ายที่เรียกว่า เอ่อ,อสุรกายนี่ ให้เข้าใจคำว่าอสุรกาย สุรแปลว่ากล้าหาญ อ แปลว่าไม่ อสุรแปลว่าไม่กล้าก็คือขี้ขลาด กายลงหมู่หรือพวก เมื่อใดมีความขี้ขลาดอย่างที่ไม่ควรจะขลาดนั่นก็ให้ถือว่าเป็นอสุรกายขึ้นมาแล้วโดยโอปปาติกะกำเนิด นับตั้งแต่กลัวจิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งกือ ไส้เดือน อย่างไม่มีความหมายนี่ นี่มันก็เป็นความทุกข์แล้ว และกลัวโดยไม่จำเป็น กลัวสิ่งที่เอ่อ,คิดมากไปเองนี่ก็เป็นอสุรกายแล้ว เรากลัวเกินความจริง ยิ่งกว่าล้านเปอร์เซ็นต์ ร้อยล้านเปอร์เซ็นต์เสมอไปในเรื่องความตายในเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ความกลัวทรมานคนอยู่ตลอดเวลา นี่คือตัวที่ว่าตกนรก ตกอบายในข้ออสุรกาย และตกอยู่ทุกวัน หรือเป็นประจำวันประจำเดือนประจำปี ถ้าประพฤติถูกต้องจนไม่ตกอบายทำนองนี้แล้วรับรองได้ว่าหลังจากตายแล้วก็ไม่ตกนรกอบายชนิดที่เขียนตามฝาผนังโบสถ์ นี่เรียกว่าเรารู้ในเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร และเราไม่งมงายในเรื่องเหล่านี้ มีตัวอย่างแห่งการงมงายในเรื่องอบายที่กำลังงมงายกันอยู่ มันจึงยุ่งไปหมด มันจึงไม่เข้ารูปเข้ารอย เข้าเอ่อ,แนวอะไรได้ มันจึงตกอบายซ้ำๆซากๆอยู่เป็นประจำวัน เพราะไม่มีความรู้เรื่องอบาย แม้ความเชื่ออย่างนี้ก็ต้องถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาสที่น่าสมเพชที่สุดของพุทธบริษัทเรา ที่เข้าใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผิดแล้วมาปฏิบัติอยู่อย่างงมงาย เพราะฉะนั้นอย่าได้มองสีลัพพตปรามาสที่อื่นที่ในอรรถกถาเขียนไว้ว่าประพฤติอย่างวัว ประพฤติอย่างสุนัข ทั้งในอินเดียทั้งพุทธกาลเลย นั้นมันไม่มีมาอีกแล้ว แต่มันมามีอยู่ในรูปที่มีอยู่จริงๆอย่างที่ว่านี้ที่น่ากลัวที่สุด เพราะฉะนั้นจงละสีลัพพตปรามาสทำนองนี้เสีย แล้วก็เข้ากระแสแห่งพระนิพพาน เพราะละสักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะเอ่อๆ,สีลัพพตปรามาสสามอย่างนี้ได้ นี่เรียกว่าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน มีธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม ปราศจากความโง่เขลานั่นเอง เพราะฉะนั้นถือว่าปุถุชนเรามีความโง่เขลาอยู่ในระดับหนึ่ง คือไอ้สามอย่างนี้ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสอยู่เป็นประจำ เราต้องเลื่อนขึ้นพ้นจากความโง่สามชนิดนี้ เราจึงจะเรียกว่าถึงกระแสพระนิพพาน แล้วก็ต่อสู้ดิ้นรน ขวนขวายเข็นตัวเองขึ้นมา เข็นขึ้นมา เข็นขึ้นมา จนพ้นความโง่สามระดับนี้ แล้วก็ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ที่นี้มันไหลง มันลาดลง เอียงไปหาพระนิพพานโดยสะดวกเหมือนกับกลิ้งครกลงจากภูเขา
นี่ถ้านักศึกษาทั้งหลายจะรู้จักพระนิพพาน จะรู้จักกระแสแห่งพระนิพพาน คือปฏิบัติเพื่อการถึงนิพพาน จงเข้าใจในลักษณะอย่างนี้ ว่าจงละความงมงาย ความโง่สามประการนี้ก่อน เรื่องกามราคะคือความรักในทางเอ่อ,กามารมณ์ หรือปฏิฆะหรือความโกรธนั่น มันอีกตอนหนึ่งต่างหาก มันสูงไปกว่านั้น แรกถึงกระแสแห่งนิพพานเพียงแต่ละความโง่สามอย่างนี้ได้ก็เรียกว่ากระแสแห่งพระนิพพานแล้ว จะได้เกิดกำลังใจไม่ท้อถอย คือละความเห็นแก่ตัว ละความลังเลในจุดมุ่งหมายของชีวิต แล้วก็ละความงมงายที่ประพฤติมาจนเคยชิน ถือมาจนเคยชิน ความโง่สามอย่างนี้ละเสีย และก็ถือว่าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ยิ่งคิดไปยิ่งเห็นว่าเป็นธรรมดาสากลที่สุด ใช้ได้แก่มนุษย์ทุกคนในโลก สามอย่างนี้ไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น พอละได้แล้วก็เป็นคนที่ว่าลืมหูลืมตาขึ้นมาเรียกว่า อารยชน ก่อนนี้เป็นคนโง่ คนเขลา เป็นคนเอ่อ,ปุถุชนเต็มที่ต่ำที่สุด ไม่ใช่อริยะ ไม่ใช่อารยัน พอละระดับต่ำนี้ได้ก็เลื่อนมาเป็นอารยชน อริยชน หรืออารยัน หรือเรียกว่าพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ห่างไกลกันนัก ถัดจากนี้ก็ต้องถึงนี้ เมื่อเป็นปุถุชนชั้นดีขึ้นมาๆจนถึงที่สุดแล้ว จะเป็นการเลื่อนชั้นอีกแล้วก็ไม่มีที่จะไปทางไหนนอกจากทางที่จะเป็นพระโสดาบัน คือเลื่อนมาถึงกระแสแห่งพระนิพพานแล้วก็ไหลเลื่อนไปสู่พระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่ากระแสแห่งพระนิพพาน ละความโง่สามประการนี้
ทีนี้การปฏิบัตินี่ที่จะไม่ไปเที่ยวยึดที่เห็นแก่ตนหรืองมงายนี้มันก็คือการพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้อีกนั่นเอง มันจะตัดความลังเล ตัดความยึดมั่น งมงาย เห็นแก่ตนได้ ก็เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เพราะฉะนั้นเราจึงควรเริ่มสนใจกันแต่บัดนี้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ในเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในระดับที่พอสมควรแก่เรา สอบไล่ตกก็ไม่ต้องร้องไห้ ตั้งใจทำใหม่ให้ดีที่สุด สอบไล่ได้ก็ไม่ควรจะเหลิง ควรจะรู้สึกว่าเป็นไปตามธรรมดา นี้ก็เรียกว่ามีความเข้าใจในเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นบ้างแล้ว รวมถึงจะสอบไล่นี่จะต้องลืมตัว ฟังดูให้ดี ว่าเมื่อกำลังจะลงมือเขียนข้อสอบสอบไล่นั้นจะต้องลืมตัว ลืมตัวกูที่ว่าจะสอบได้หรือสอบตกนั้นน่ะ ให้ลืมเสียเลย คิดแต่จะสอบไล่ให้ได้ให้ดีตั้งแต่ทีแรก เพื่ออะไรก็ตามใจ คิดได้ๆ แต่พอไปลงมือเขียนแล้วต้องลืมหมดลืมตัวหมดลืมหมด เหลือแต่สมาธิที่จะเจาะแทงคำถามและค้นหาคำตอบ จิตว่างจากตัวกูของกูที่จะสอบไล่ได้หรือสอบไล่ตก เป็นจิตที่ว่องไวสะอาดขึ้นมาทันที ความจำก็กลับมาทันที ความคิดก็เฉียบแหลม แล้วก็สอบไล่ด้วยสมาธิอันนี้ ก็ได้ผลดี นี้เรียกว่ารู้จักใช้จิตว่างหรือรู้จักใช้ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ตามแบบของพระพุทธเจ้าในการสอบไล่ แล้วก็สอบไล่ได้ผลดี ทีนี้อีกทางหนึ่งทำไม่เป็นก็มีการประหม่าที่จะสอบตกอยู่เรื่อย มันก็ประหม่าจนนึกอะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ได้ เรียงคำตอบไม่ดี มันก็สอบตกได้จริงๆ อีกทางหนึ่งเหลิงว่ากูเก่ง กูต้องสอบไล่ได้แล้วก็ทำไปตามความเหลิง นี่ยึดมั่นถือมั่นตัวนี้มันก็ต้องสอบตกจริงๆ เพราะมันจิตไม่ว่าง ทั้งคนที่ประหม่าและทั้งคนที่กำลังเหลิง ส่วนคนที่จิตว่างนั้นไม่มีตัวกูของกูเข้ามาปน มันจึงประหม่าหรือเหลิงไม่ได้ มันเหลืออยู่แต่สมาธิซึ่งเป็นพลังของธรรมชาติ ลืมตัวหมดมันก็สอบไล่ได้ดี นี่เป็นตัวอย่างเป็นอับดับแรกต่ำๆของเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือเรื่องที่มีจิตว่างน่ะเป็นอย่างนี้
ทีนี้ไอ้คนโง่คนงมงายพอได้ยินคำว่าสุญญะ หรือสุญตาก็แปลว่าสูญเปล่า นี่ตามศาลาวัดแปลคำว่าสุญญตาว่าสูญเปล่าคือไม่มีอะไรเลย นั่นมันสุญญตาทางวัตถุ คำพูดทางวัตถุของคนบางพวกที่เข้าใจผิด สุญญตาของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่า ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน แต่มันมีอะไรครบหมด ถ้าไปยึดมั่นเข้าก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ โลกนี้ว่างก็ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่น ทีนี้เราจัดการกับโลกว่างไปด้วยจิตใจที่ไม่ยึดมั่น ต้องการอะไรก็ทำไปอย่างนั้นโดยจิตไม่ยึดมั่นมันไม่เป็นทุกข์ ก็สำเร็จประโยชน์ เพราะฉะนั้นการเข้าใจผิดเรื่องคำว่าว่างคำเดียวเท่านี้เป็นสีลัพพตปรามาสอันใหญ่หลวงที่ทำให้คนติดชะงักอยู่ในกระแสเอ่อ, ไม่ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เพราะฉะนั้นเข้าใจคำว่าว่างหรือคำว่าอะไรๆของพระพุทธเจ้าให้ดีๆ ท่านว่าโลกว่างก็ไม่มีอะไรเป็นที่เป็นจะถือว่าเป็นตัวเป็นตน และตอบปัญหาพระโมคคัลลานะว่าจงมองโลกโดยความเป็นของว่างเสมอ มองโลกที่มีอะไรมากๆนี้เป็นของว่างเสมอ เพราะว่าเมื่อมองเห็นเป็นของว่างเสมออย่างนั้นแล้วจิตก็พลอยว่างจากความยึดมั่นถือมั่นไปด้วย ไม่เกิดราคะ โทสะ โมหะ ถ้าทำได้สำเร็จก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าทำได้ไม่สำเร็จก็ต้องทำต่อไปก็ยังเป็นคนธรรมดาแต่ว่ามีความทุกข์น้อย ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในขณะที่มีจิตว่าง เผลอขึ้นเมื่อไรก็มีความทุกข์อีก ทีนี้เรารักษาให้ดี ทำให้มากขึ้น ให้ว่างยาวขึ้น ให้ว่างยิ่งขึ้น นี่เรียกว่าเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยรู้จักกระแสแห่งพระนิพพาน
ทีนี้เอ่อ,ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นิดหนึ่งอาตมาอยากจะกล่าวปัญหาข้อสุดท้ายว่า พินัยกรรมของพระพุทธเจ้าแก่พวกเราทั้งหลายมีว่าอย่างไร พินัยกรรมคือคำสั่งเมื่อเอ่อ,เมื่อจะตาย ใครๆก็รู้จัก คำสั่งหลังจากตายแล้วหรือคำสั่งเมื่อจะตายนี้เราเรียกกันในบัดนี้ว่าพินัยกรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำสุดท้ายแล้วเงียบไปนั่นตรัสว่า ขะยะวะยะ ธัมมา สังขารา สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายมีแต่การเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ จงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรนอกจากไหลเรื่อยก็คือว่าง ทุกอย่างเป็นอนิจจังอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ในความไหลเรื่อยนั้นว่างจากตัวตนหรือของตน ทีนี้จงมีความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ก็คือว่าอย่าไปโง่ ไปหลง ไปเห็นเป็นของที่ควรยึดมั่นถือมั่นเข้า ไม่เผลอสติไปหลงยึดมั่นถือมั่นเข้านั่นแหละ เรียกว่าความไม่ประมาท และความไม่ประมาทอันนี้เราจะต้องทำให้ถึงพร้อม ทีนี้ปัญหาเรื่องเด็กวัยรุ่นต้องไปช่วยกันคิดดู เด็กวัยรุ่นเต็มไปด้วยความประมาท เพราะมองเห็นสิ่งต่างๆน่ารักน่ายึดถือไปหมด ยึดถือในทางรักก็มี ยึดถือในทางเกลียดก็มี และในที่สุดก็เบียดเบียนตนเองเบียดเบียนผู้อื่น คนเหล่านี้ไม่ได้รับพินัยกรรมของพระพุทธเจ้า เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เสียทีที่เกิดมาในบิดามารดาที่เป็นพุทธมามกะ เป็นพุทธบริษัท ไม่ได้รับพินัยกรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราคนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ อยู่ในสภาพที่ควรจะได้รับพินัยกรรมของพระพุทธเจ้าว่าอย่าเป็นผู้ประมาท เผลอสติไปหลงเห็นอะไรว่าน่ายึดมั่นถือมั่นเข้า ให้เห็นโลกนี้โดยความเป็นของว่างจากตัวตนและของตนอยู่เสมอ จิตนี้จะได้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ และทำอะไรได้ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำได้ ก็เรียกว่าปัญหาหมด เรื่องก็จบกัน พระพุทธเจ้าท่านยังสั่งเป็นคำสั่งว่าเอ่อ, จงเที่ยวไปเพื่อแสดงธรรมให้ไพเราะงดงามทั้งในเบื้องต้นทั้งในท่ามกลางทั้งในเบื้องปลาย นี้มันกลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่นแล้ว นี้เป็นคำสั่งบังคับว่า จงช่วยกันเผยแพร่ธรรมะที่งดงามทั้งเบื้องต้นทั้งท่ามกลางและเบื้องปลายนี้ อยากจะตีความข้อนี้ว่าจงสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นแม้ในเบื้องต้นแก่เด็กๆ และในท่ามกลางแก่ผู้ใหญ่ หรือในเบื้องสูงสุดแก่ผู้ที่จะบรรลุธรรมะในขั้นสูงสุด ไม่มีเรื่องอื่น พระพุทธเจ้าจะสอนแต่เรื่องความไม่ยึดมั่นเท่านั้น ระดับหนึ่งสอนแก่เด็กก็ได้ ระดับหนึ่งสอนแก่คนที่ถัดไป กลางคนก็ได้ สอนคนแก่ก็ได้ หรืออีกอย่างหนึ่งก็เพื่อประโยชน์อยู่ในโลกนี้ก็ได้เรียกว่าอย่างต่ำ เพื่อประโยชน์ในโลกอื่นก็เรียกว่าอย่างกลาง เพื่อประโยชน์สูงสุดเหนือโลกก็เรียกว่าอย่างสูงอย่างนี้ก็ได้ แต่ใจความมันมารวมอยู่ตรงที่ไม่ทุกข์เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือเรื่องว่างจากตัวตนของตนนี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
เพราะฉะนั้นขอฝากไว้ว่าให้ทุกคนช่วยจำไว้ว่าคำพูดคำเดียวในโลกนี้ที่แสดงธรรมะได้ทั้งหมด คำพูดนั้นคือพยางค์เดียวว่า ว่าง ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่าสุญญตา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คนขาดศีลก็จิตไม่ว่าง คนไม่มีสมาธิก็จิตไม่ว่าง คนไม่มีปัญญาก็จิตไม่ว่าง พระพุทธเจ้ามีจิตว่าง มีความสำคัญที่ความว่างนั้นน่ะเป็นพระพุทธเจ้า พระธรรมก็เหมือนกัน เรียนเรื่องความว่าง ปฏิบัติเรื่องความว่าง ได้ผลเป็นความว่างที่สุดคือนิพพานนี้คือพระธรรม พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเพื่อความมีจิตว่าง เพราะฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็รวมอยู่ในคำว่าว่าง ทีนี้มีศีลได้โดยไม่ต้องเอ่อ,เพราะเอ่อ,การไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่างจากกิเลส เพราะว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ในขณะที่จิตว่างไม่มีกิเลสนี้เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ที่สุด ในขณะที่รู้ว่าอะไรว่างโลกว่างไม่ยึดถืออะไรนี้มีปัญญาที่สุด มรรคผลนิพพานนั่นคือการได้รับผลจากความรู้ในเรื่องความว่างเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด เรียกว่าทาน ศีล เอ่อ,สมาคม สมาธิ ปัญญา มรรคผล นิพพาน อะไร รวมอยู่ในคำว่าว่างเพียงคำเดียว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า คำว่าว่างหรือเรื่องความว่างนี้เป็นคำของฉัน ถ้าไม่เกี่ยวกับความว่างเป็นคำของคนอื่น ของสาวกชั้นหลังแต่งให้ไพเราะเป็นเรื่องนอกแนวเอ่อ, เย เต สุตตันตา สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด ตถาคตภาสิตา เป็นภาษิตของตถาคต คัมภีรา ลึกซึ้ง คัมภีรัตถา มีความหมายลึกซึ้ง โลกุตตรา เป็นไปเหนือโลก สุญญตัปปฏิสังยุตตา เนื่องเฉพาะในเรื่องสุญญตา นี่คือตถาคตภาษิต ที่ฟังตรงกันข้ามก็คือว่า เย เต สุตตันตา สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด กวิกตา พวกกวีทำขึ้น กาวยตา เป็นไปในลักษณะไพเราะเอ่อ,ทางกาพย์ จิตตขรา ไพเราะด้วยอักษร จิตตพยัญชนา เอ่อ,สละสลวยด้วยพยัญชนะ พาหิรัตตา นอกแนว นอกแนวสุญญตา สาวกภาสิตา เป็นภาษิตของสาวก นี่มันมีสุตตันตะอยู่สองเอ่อ,สองแนว อันที่เนื่องด้วยสุญญตานั้นเป็นสาวกภาษิต อันที่ไม่เนื่องด้วยสุญญตานั้น เอ้อ,อันที่เนื่องด้วยสุญญตานั้นเป็นตถาคตภาษิต อันที่ไม่เนื่องด้วยสุญญตานั้นเป็นสาวกภาษิต เพราะฉะนั้นท่านจึงทรงถือว่าสุญญตา เรื่องสุญญตาชนิดนี้ สุตตันตะพวกนี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวไว้ในนิทานสังยุตตนิกาย เล่ม ๑๖ หน้า ๓๑๑ ว่า เมื่อเรื่องสุญญตาหายไปไม่มีใครสนใจเมื่อนั้นเนื้อแท้ของพุทธศาสนาหมด เหมือนกลองใบหนึ่งของกษัตริย์พวกทสารหะครั้งโบราณนั้นมอบหมายกันมาเป็นลำดับ พอมันเน่ามันผุก็อุดปะยุ่งกันไปเรื่อย นานเข้ามีแต่ของปะใหม่ เนื้อแท้หายไปหมด เรียกว่าเอ่อ,เนื้อใหม่เหลืออยู่เนื้อเก่าหายไปหมด เมื่อใดภิกษุไม่สนใจศึกษาสดับตรับฟังเรื่องเนื่องด้วยสุญญตานี้ว่าเป็นเรื่องที่ตนควรศึกษาควรปฏิบัติแล้ว เมื่อนั้นจะเรียกว่าเนื้อแท้เก่าของพุทธศาสนาหายไปหมด เหลือแต่เนื้อใหม่ที่เป็นสาวกภาษิตเหมือนกลองใบนั้น ขอให้ไปเปิดดูและค้นดู
นี่หมายความว่าท่านทรงกำชับให้เอ่อ,ทราบว่าจงสอนธรรมะให้งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง ด้วยเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้เดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนาของเราอยู่ในสภาพเช่นไร อยู่ในสภาพกลองใบเก่าหรือสภาพที่เหลือแต่เนื้อไม้ปะใหม่นี้ คงจะรู้ได้เอง ด้วยการพิจารณาดูว่าเดี๋ยวนี้สนใจเรื่องสุญญตา ปฏิบัติเรื่องสุญญตากันหรือไม่นั่นเอง นี่พินัยกรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อไม่ประมาทนั่นคือว่าอย่าประมาทในเรื่องนี้ และทรงสั่งให้สาวกช่วยกันประกาศ เผยแพร่เรื่องนี้ แล้วก็ฟื้นคืนไอ้เนื้อเน่าเนื้อผุเนื้อใหม่ให้ดีให้กลับมาใหม่ด้วยเรื่องการศึกษาค้นคว้าเรื่องสุญญตาด้วยการเอ่อ,คุ้ยเขี่ยกันเอง ศึกษากันเอง ถกเถียงกันเองเอ่อ,จนความเข้าใจนี้กลับมาใหม่ ที่เรียกว่าเนื้อแท้กลับมาใหม่อย่างนี้
นี่สรุปความแล้วเป็นหัวข้อสั้นๆๆๆซึ่งแยกออกไปให้เห็นชัดๆ ไม่ให้มันเนื่องกันให้ยุ่งให้จำยาก พร้อมกับบอกที่มาของพระบาลี ลองว่าถ้านักศึกษาทั้งหลายจะได้กำหนดจดจำหัวข้อที่กล่าวไว้เพียงในลักษณะเอ่อ,หลักพื้นฐาน หัวข้อที่เป็นหลักพื้นฐาน สำหรับจะๆๆกำหนดเอาไว้เป็นหลักทั่วๆไปสำหรับวินิจฉัย สำหรับตัดสินในปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าถ้ามันมีปัญหาขึ้นแล้วก็ให้เอามาเทียบกันดูกับหลักทั่วไป ถ้ามันลงไม่ได้กับหลักทั่วไปแล้วให้ถือว่าไม่ใช่ ไม่ใช่พุทธวจนะ คนนั้นจำมาผิด อาจารย์สอนกันมาผิด แม้เขาจะยืนยันว่าเขาได้รับฟังมาจากพระพุทธเจ้าเองก็อย่าได้ไปเชื่อเขาเลย ถ้ามันไม่ลงกันได้กับหลักทั่วไป คือลงไม่ได้ในสูตรทั้งหลาย ลงไม่ได้ในสูตร ลงไม่ได้ในวินัย ถ้ามันลงไม่ได้ลงในสูตร ลงไม่ได้ในวินัยแล้วล่ะก็ เอ่อ,ให้ถือว่าไม่ใช่พระพุทธภาษิต นี่คือสุตตันตะที่เป็นคำของพระพุทธเจ้า คือเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา เรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา
ที่บ้านนอกที่จังหวัดเธอมาอยู่พออยู่วัดวันแรกก็ต้องเรียน ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง ปิณฑปาโต จะ ปุคคะโล ธาตุมัตตะโก สักว่าธาตุทั้งนั้น นิสสัตโต ไม่ใช่สัตว์ นิชชีโว ไม่ใช่ชีวะ สุญโญ ว่างจากตัวตน ให้เรียนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในวันที่ได้เข้าไปอยู่วัดเพื่อจะบวช เรื่องไหว้พระสวดมนต์นั้นยังไม่ๆเอ่อ,ทำวัตรนั้นยังไม่เรียน คำขานนาคก็ยังไม่เรียน ไปเรียนวันสุดท้าย นี้แปลว่าเป็นระเบียบวิธีที่ฉลาดที่สุดแล้วที่ให้มอบหัวใจของพุทธศาสนาให้ตั้งแต่วันแรกเข้าไปอยู่วัดเพื่อจะบวช ที่ประเพณีอย่างนี้จะเหลืออยู่ที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ หรือว่าเอ่อ,ผู้บวชจะรู้ความหมายของเอ่อ,บทที่ให้เรียนนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ว่าความมุ่งหมายของประเพณีนี้ดีที่สุดแล้วที่มอบหัวใจของพระพุทธศาสนาให้ตั้งแต่วันที่เข้าไปบวชนั่นเอง ยะถาปัจจะยัง สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามปัจจัย นี่ก็คือว่างจากตัวตน ธาตุมัตตะเมเวตัง สิ่งเหล่านี้สักว่าเป็นธาตุเท่านั้น นี่ก็คือว่างจากตัวตน แล้วก็ นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ล้วนแต่เรื่องว่างจากตัวตน ให้เรียนในวันแรกที่สุด ลูกหลานมาลบล้างประเพณีเหล่านี้เสียเองแล้วจะโทษใครในเมื่อไม่เข้าใจเรื่องสุญญตา จนพุทธศาสนาไม่มีของเดิมเหลืออยู่ ว่าจะได้ช่วยเอาไปคิดไปนึกแล้วกันในท่านสาธุชนทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่การช่วยกันทะนุบำรุงเอ่อ,พระศาสนา เพื่อประโยชน์แก่สันติสุขของโลก ตัวเองนั้นลืมเสียเถิด อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ เอ่อ,เพราะหมดเวลาเพียงเท่านี้