แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในการพัฒนาจิต การบรรยายในวันนี้พูดแทนเมื่อวานซึ่งฝนตก อาตมาเป็นคนที่ถ้าฝนตกแล้วออกมาจากห้องไม่ได้ จะเป็นหวัด ๑๐ วัน นี่ก็เลยต้องยอมแพ้ ต้องงดไปวันหนึ่ง เราได้พูดกันมาแล้วถึงเรื่องจิตซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ในนามของชีวิต หลักพระศาสนาทั้งหลายก็คือหลักการสำหรับการพัฒนาจิตนั่นเอง แต่เรามาเรียกให้มันขลังให้มันศักดิ์สิทธิ์ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ คือที่จริงถ้ามองในแง่ของธรรมชาติแล้ว หลักการเหล่านั้นก็เป็นการพัฒนาจิตโดยตรง เราจึงศึกษาเรื่องพระศาสนากันในฐานะเป็นการพัฒนาจิต หัวข้อบรรยายในวันนี้มีว่า “การพัฒนาชีวิตช่วยให้มีชีวิตวัฒนา” การพัฒนาชีวิตโดยหลักศาสนา เรียกว่าเทศน์ซะจนมีสำนึก ก็คือการปฏิบัติตามกฎอิทัปปัจจยตา ถ้าเป็นศาสนาประเภทเสือสมิง ก็ต้องไปตามแบบที่วางไว้ คือสำหรับพระเจ้า ตามแบบของตนๆที่มีอยู่ด้วยกันหลายศาสนา กิจกรรมทางฝ่ายการบูชายันต์ขยายตัวมากไปถึงกับว่าบูชาด้วยคน ด้วยชีวิตคนซึ่งแพงมาก นี่ก็ไม่พ้นไปจากการหวังที่จะให้ชีวิตมันดีขึ้น ขยายตัวออกไปจนถึงกับบูชาด้วยชีวิตเป็นๆจำนวนมากนั้นปรากฏอยู่ในคัมภีร์ในประวัติศาสตร์ ส่วนพวกที่ถือหลัก Evolution มันก็มีการพัฒนาจิตไปตามแบบการพัฒนาโดย โดยตรงที่จิตนั้น แล้วก็มีวิธีการอันละเอียด คือสูงสุดยิ่งขึ้นไปๆๆ จนถึงที่สุดด้วยเหมือนกัน แต่ว่าตามแบบของการกระทำทางจิต นี่เราถือว่าทุกศาสนามีระบบการพัฒนาจิต
ทีนี้ก็จะต้องทราบถึงลำดับของการพัฒนา ชีวิตที่ยังไม่พัฒนาเป็นอย่างไรนี้จะต้องเป็นที่เข้าใจกันเสียก่อน ชีวิตหรือจิตที่ยังไม่พัฒนา มันควรจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งเสียก่อนจึงจะสามารถทำการพัฒนาให้มันถูกเรื่องถูกราวได้ ชีวิตที่ยังไม่พัฒนาในที่นี้ก็หมายความว่าพัฒนาแต่ทางกาย ทางจิตยังไม่พัฒนาเอาเสียเลย แม้ทางกายก็ยังไม่พัฒนาจนถึงขั้นที่เป็นที่น่าพอใจ มีพัฒนาแต่ทางกายเป็นทางวัตถุ แล้วก็มีทางจิตบ้างบางส่วน ก็ยังไม่ถึงขนาดที่เกี่ยวกับปัญญา เพราะว่าไม่ได้มุ่งหวังอะไรมาก เราจะมองให้เห็นว่าชีวิตที่ยังไม่พัฒนานั้นจะต้องต่างจากชีวิตที่พัฒนาเป็นอย่างมากอย่างไรทีเดียว ชีวิตธรรมดาเช่นนี้เรียกในภาษาอุปมาก็คือเหมือนกับยังดิบอยู่ ยังดิบอยู่ ยังไม่ได้มีการอบรมให้ดีขึ้น ข้อนี้อยากจะทำความเข้าใจว่าชีวิตตามปกติของคนที่ยังไม่พัฒนานั้นมีลักษณะอย่างไร ตามที่สังเกตได้ง่ายๆ หรืออาจจะสังเกตได้ง่ายๆ ตามหลักของพุทธศาสนานั้นจะมีลักษณะอย่างนี้คือ เป็นชีวิตที่มีนิวรณ์รบกวนอยู่เป็นประจำ เป็นชีวิตที่มีกิเลสเกิดขึ้นรุนแรงรบกวนเป็นคราวๆ แล้วก็มีอนุสัยที่เก็บความเคยชินของกิเลสไว้ในส่วนลึกของจิตใจ มันก็เลยมีสิ่งที่จะไหลกลับออกมาเป็นกิเลส กิเลสนี้เรียกว่าอาสวะ ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อนที่จะพูดถึงการพัฒนา
ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ว่า เรามีนิวรณ์ตามปกติ นิวรณ์เป็นคำภาษาบาลี อาจจะแปลกสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ขอให้สังเกตเห็นเถอะว่าเราทุกคนมีนิวรณ์ มีสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์รบกวนอยู่เป็นประจำ เป็นความรู้สึกที่เกิดมาจากส่วนลึกเองโดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรภายนอกก็ยังเกิดได้ มันคืออะไร มันคือความรู้สึก ๕ อย่าง
๑. ความรู้สึกเกี่ยวกับในทางเพศ รู้สึกเกี่ยวกับในทางกามคุณหรือทางเพศ มีความครุ่นคิดไปในทางเพศ เมื่อมีอายุถึงขนาดที่มีความสมบูรณ์ มีความเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เรียกว่ามีได้เต็มที่ ความรู้สึกทางเพศเกิดขึ้นรบกวนเป็นคราวๆนี้อย่างหนึ่ง
แล้วอีกอย่างที่ ๒. ก็คือความคับแค้นใจ ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นมาจากภายในโดยไม่ต้องมีเหตุจากภายนอก นี่เพราะมันเกิดมาจากความเคยชินแห่งกิเลสที่สะสมไว้ข้างใน เราจึงมีความรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิดไม่พอใจ บางทีก็บอกไม่ได้ว่าไม่พอใจอะไร ไม่พอใจอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าไม่พอใจ ความรู้สึกอันนี้ก็ไม่รุนแรงอะไรนัก แต่ก็รบกวนเหลือประมาณ
นี้อย่างที่ ๓. ก็คือถีนมิทธะ คือความที่จิตถอยกำลัง อ่อนเปลี้ย มึนยา มึนงง ง่วงนอนอย่างนี้เป็นต้น แปลว่าจิตที่เพลียโดยไม่ต้องมีเหตุผลอะไร
ถึงอย่างที่ ๔. ถัดไปก็เรียกว่าอุทธัจจกุกกุจจะ คือจิตที่ฟูหรือคลุ้งโดยที่ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรที่ปรากฏชัด
แล้วอันสุดท้ายเรียกว่าวิจิกิจฉา คือความรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเอง เป็นความรู้สึกที่เกิดมากที่สุด รบกวนที่สุด เดี๋ยวเกิดไม่รบกวน เกิดไม่แน่ใจตัวเองในทางการเงินขึ้นมา ทางสุขภาพขึ้นมา ทางความปลอดภัยขึ้นมา กระทั่งบางทีก็ถึงกับไม่แน่ใจในหลักศาสนาที่เป็นพื้นอยู่นั่นเอง บางทีเกิดสงสัยไม่แน่ใจว่ามันจะไม่ดับทุกข์ได้เสียแล้วอย่างนี้เป็นต้น หรือแม้จะ จะเกิดขึ้นได้แม้ในพระเจ้า ในพวกที่ถือพระเจ้า เกิดความลังเลในพระเจ้าขึ้นมา ก็เป็นเรื่องเดียวกันคือความไม่แน่ใจ
ห้าประการนี้ ควรจะรู้จักให้ดีที่สุดถ้ายังไม่เคยรู้จัก ทบทวนอีกทีหนึ่งก็คือ
ข้อที่ ๑. ความรู้สึกเกี่ยวกับทางเพศ รบกวนจิตใจ
ข้อที่ ๒. ความรู้สึกไม่ชอบใจ หงุดหงิด ไม่พอใจอะไรก็ไม่รู้ เกิดขึ้นมารบกวนจิตใจ
อย่างที่ ๓. จิตเพลีย ในทุกความหมาย คืออ่อนเพลียแทรกลงไปในทุกความหมาย ทำอะไรไม่ได้ หมดแรง
อันที่ ๔. ก็คือจิตฟุ้ง ฟุ้งเหลือประมาณเหนือขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอะไรมันฟุ้ง นี่เป็นระบบประสาทวิปริตก็ได้
อันสุดท้ายคือความไม่ได้แน่ใจในไอ้ ไม่แน่นอนลงไปในหลักเกณฑ์ หรือหลักธรรมะ หรือหลักที่ถือว่าเป็นความปลอดภัย
ท่านทั้งหลายจะต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ให้ดี ให้ถูกต้อง ให้เต็มที่เสียก่อน แล้วจะมองเห็นได้ชัดด้วยตนเองว่า อ้าว,จิตนี้อยู่ในขั้นที่ต้องพัฒนา คือเป็นจิตที่เป็นยังธรรมดา ที่ยังเป็นจิตที่ดิบๆ ไม่มีความสงบเย็น ไม่มีความสะอาดสว่างไสวเลย คนธรรมดาตามปกติถูกรบกวนอยู่ด้วยนิวรณ์ ๕ ประการอย่างนี้ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แล้วอาจจะติดต่อกัน อาจจะสับเปลี่ยนกันเป็นตลอดเวลาไปเลย นิวรณ์ๆๆนี้เรียกว่าเครื่องรบกวนจิตไม่ให้มีความสงบสุข กั้นความเจริญของจิตโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่านิวรณ์ จะต้องรู้จักให้ดีว่ามีได้ตามธรรมชาติของคนธรรมดา แล้วก็มีได้เรื่อย
ทีนี้ก็มาถึงประเภทกิเลส นี่คือความรู้สึกที่รุนแรง รุนแรงยิ่งกว่านิวรณ์มาก เพราะอาศัยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามกรณีของมัน ประมวลได้เป็น ๓ ชนิด ๓ ประการคือ ราคะ โทสะ โมหะ
ราคะ บางทีก็เรียกว่า โลภะมีความหมายรวบรัดเอามายึดถือไว้ มากอดรัดไว้ ความรู้สึกอันนี้เรียกว่าโลภะ เพราะจะเอา เรียกว่าราคะ เพราะย้อมจิตใจ ขอให้นึกทบทวนย้อนไปดูในเวลาหรือสมัยที่เรามีกิเลสเช่นนี้ว่ามันรุนแรงเช่นไร
กิเลสที่สองเรียกว่าโทสะหรือโกธะโทสะ ประทุษร้าย คิดร้าย โกธะคือความโกรธ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นแล้วก็ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ที่มุ่งแต่จะทำลายล้าง หรืออย่างน้อยก็จะผลักออกไปเสียจากตน นี่ลองคิดดูว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมันมีความรุนแรงเท่าไร
อันที่สามเรียกว่าโมหะคือความหลงใหล ความโง่ ความหลง ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ก็ได้แต่หลงใหลอยู่ในความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
นี่เรียกรวมกันทั้งหมด หรือทั้ง ๓ อย่างเรียกว่ากิเลส แปลว่าสิ่งเศร้าหมอง ที่สกปรกแห่งจิตใจ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ต่างจากนิวรณ์ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า มัน กิเลสนี่มันมีเหตุปัจจัยเต็มที่โดยเฉพาะ มีความ... (นาทีที่ 16:51-16:52) เป็นความรู้สึกแห่งจิตใจ มันจึงลุกโพลงๆ เหมือนกับไฟเผาลน ไม่เหมือนกับนิวรณ์ซึ่งเป็นเพียงเครื่องกวน รบกวนความสงบอยู่เนืองๆ ไม่รุนแรงอะไร เรามีนิวรณ์ได้ตลอดวันตลอดคืน แต่เราไม่อาจจะมีกิเลสได้ตลอดวันตลอดคืน เพราะมันรุนแรงเกินไป มันจึงมีเป็นครั้งเป็นคราว นี่เรารู้ เรารู้จักกัน ๒ อย่างแล้วว่า นิวรณ์คือความรู้สึก ในทางกิเลสอ่อนๆที่เกิดขึ้นรบกวน แล้วก็กิเลสๆ เรียกว่ากิเลสโดยตรงนี่ ความรู้สึกที่รุนแรง เกิดขึ้นเผาลน
ทีนี้ก็มีอย่างที่ ๓ คือความเคยชินของกิเลสที่เก็บไว้ในสันดาน เรียกว่าอนุสัย นี่ถ้าเรามีความโลภครั้งหนึ่ง มันเกิดความเคยชินที่จะโลภมาอีกหน่วยหนึ่งในสันดาน หรือว่าโกรธขึ้นมาทีหนึ่ง มันเกิดความเคยชินที่จะโกรธอีกหน่วยหนึ่งในสันดาน หรือว่าโง่ หรือสะเพร่า หรือโมหะขึ้นมาทีหนึ่ง ก็เกิดความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น ทีละหน่วยหนึ่งในสันดาน ทีนี้วันหนึ่งคืนหนึ่งมันเกิดกี่ครั้ง นับตั้งแต่เราเกิดมาจากท้องมารดาพอเป็นเด็กรู้จักโลภ รู้จักโกรธ รู้จักหลงแล้วมันก็เริ่มสะสมเรื่อยๆมาจนบัดนี้ ดังนั้นคำนวณดูเอาเองเถิดว่ามันจะมีมากน้อยสักเท่าไร ในส่วนที่เรียกว่าอนุสัย แปลว่าความเคยชินแห่งกิเลสที่เก็บไว้ในสันดานสำหรับที่จะไหลกลับออกมาเมื่อได้เหตุ ได้ปัจจัย
ทีนี้อย่างที่ ๕ อนุสัยที่มีอยู่มากพอแล้วนั่นแหละ ได้เหตุ ได้ปัจจัย ได้โอกาสก็จะไหลกลับออกมาเป็นกิเลส เป็นความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลงแล้วแต่กรณี สำหรับจะเป็นเครื่องเศร้าหมองถึงที่สุดนี้เรียกว่าอาสวะ คือกิเลสไหลออก เทียบเคียงดูอีกครั้งหนึ่งว่า นิวรณ์เป็นกิเลสรบกวนเนืองๆ กิเลสเป็นสิ่งที่เผาลน ลุกโพลง อนุสัยเก็บสะสมความเคยชินไว้เงียบๆ เมื่อมีความมากพอด้วยเหตุปัจจัย มากถึงกับไหลกลับออกมาเป็นอาสวะ ผู้ที่จะจัดการกับจิตจะต้องรู้จักสิ่งทั้ง ๔ นี้อย่างชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ถ้ามีอนุสัย อ่า, ว่ามีนิวรณ์อย่างหนึ่ง เมื่อมีกิเลสอย่างหนึ่ง เมื่อมีอนุสัยอย่างหนึ่ง เมื่อมีอาสวะอย่างหนึ่ง จะต้องจำไว้อย่างขึ้นใจ และรู้จักอย่างเพียงพอต่อสิ่งเหล่านี้ นี่เรียกว่าชีวิตนี้มันดิบ มันดิบอยู่ด้วยสิ่งทั้ง ๔ นี้
มองอีกแง่หนึ่งก็เรียกว่ามันเป็นชีวิตชนิดที่เต็มไปด้วยปัญหา คือมันเวียนวนอยู่ในกิเลสเหล่านี้เอง ปัญหานี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทรมานใจด้วยเหมือนกัน จิตธรรมดา จิตที่ยังดิบอยู่ก็เป็นจิตที่ยังเต็มไปด้วยปัญหา รวมไปถึงการที่มันยังเวียนวนอยู่ในวงกลม เวียนวนอยู่ในวงกลม วงกลมนั้นมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน ส่วนประกอบที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั่นเอง ส่วนที่ ๒ เรียกว่าวิบาก คือผลของกิเลส อ้า, ส่วน ส่วนที่ ๑ เรียกว่ากิเลส ที่เป็นตัวกิเลส ส่วนที่ ๒ เรียกว่ากรรมคือการกระทำไปตามอำนาจของกิเลส แล้วส่วนที่ ๓ เรียกว่าวิบาก คือผลของกรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ย้อนไป ไปเสียของการเกิดใหม่แห่งกิเลส อันนี้เป็นวงกลมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน มีกิเลสเป็นเหตุให้อยาก อยากอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำ กระทำๆไปตามความอยากนี้เป็นกรรม ทำให้เกิดผลขึ้นมาตามสมควรแก่การกระทำ นี้เป็นผลของกรรม ถ้าว่าถูกใจมันก็อยากจะมีต่อไปอีก ถ้าไม่ถูกใจมันก็อยากจะทำลายเสีย โดยส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจึงมีการทำกรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วได้ไม่มีที่สิ้นสุด คือเรียกว่าวงกลมแห่งกิเลส กรรม และวิบาก กิเลส กรรม วิบาก พูดเป็นภาษาไทยง่ายๆว่า ความอยาก และการกระทำ และผลของการกระทำ ความอยากเกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้กระทำ การกระทำเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับผลการกระทำ ผลของการกระทำได้รับแล้วก็เป็นเหตุให้อยากต่อไปโดยสมควร แล้วแต่ผลนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าวงกลม หรือวัฏฏะ คนธรรมดาสามัญเต็มอัดอยู่ด้วยวงกลม หมุนไปตามวงกลมอย่างนี้ เรียกว่าเป็นคนที่ธรรมดาสามัญ ยังดิบอยู่ ยังเป็นคนมีปัญหา จิตของเขาอยู่ในฐานะที่ตกต่ำมาก จะต้องพัฒนา เมื่อเรารู้จักจิตที่เป็นตัวปัญหา จิตที่ยังไม่พัฒนา เป็นชีวิตที่ยังไม่พัฒนา เป็นชีวิตธรรมดาของคนทั่วไป นี่เรียกว่าชีวิตที่ยังไม่พัฒนา
ทีนี้เราจะดูเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิตนี้ ชีวิตทั้งชีวิตของเรามันมีอะไรบ้าง มีข้อเท็จจริงอะไรบ้าง นี่ที่ควรจะทราบกันให้ดี เรื่องเหล่านี้ เรื่องของชีวิตเหล่านี้ เรียกว่าลักษณะของธรรมดาแห่งชีวิต เรียกสั้นๆว่าธรรมลักษณะ ลักษณะธรรมดา ธรรมลักษณะ ลักษณะธรรมดาของชีวิต เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและก็ยืดยาวพอสมควร แบ่งได้เป็นหลายอย่าง แต่ว่าเราจะแบ่งเป็นสัก ๗ อย่างก็พอ ว่าไอ้ลักษณะของชีวิตนี่ตามธรรมดานั้นมีอะไรบ้างที่เราจะต้องทราบ
คือว่าข้อแรก คือชนิดของชีวิตที่ต่างๆกัน เช่นชีวิตชนิดที่ยังจมอยู่ในกามารมณ์ ชีวิตที่ขึ้นมาได้จากกามารมณ์ แต่ไปจมอยู่ในรูปธรรม วัตถุธรรม หรือชีวิตที่กระโดดไปจมอยู่ในอรูปธรรม สิ่งที่ไม่มีวัตถุหรือไม่มีรูป ทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นคำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนา อาจจะฟังยากสำหรับบุคคลเหล่าอื่น พอสรุปความสั้นๆได้ว่า ไอ้แบบ รูปแบบของชีวิตนั้นมีอย่างนี้ คือชีวิตแบบที่ ๑ หมกมุ่นมัวเมาจมอยู่ในเรื่องของกาม คือกามคุณหรือกามารมณ์ เป็นชีวิตพื้นฐานทั่วไปหลาย หลายๆสิบชนิด ไม่ว่าจะมนุษย์ ไม่ว่าสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังเกี่ยวข้องกับกามารมณ์อยู่ มีกามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุดอยู่ก็เรียกว่าพวกนี้ ทีนี้บางคน หรือบางเวลาของบางคนไม่สนใจในกามารมณ์ แต่ไปสนใจในความว่างจากกามารมณ์โดยเอาสิ่งที่มีรูปธรรมมาเป็นของหลงใหล ที่มันเล่นของเล่นที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ เล่นกันอย่างเพลิดเพลินมัวเมาลุ่มหลงอย่างนี้ก็ได้ แต่ในคัมภีร์นั้นระบุไปยังกลุ่มของโยคีที่ลุ่มหลงในรูปฌาน ลุ่มหลงในสมาธิที่ใช้รูปเป็นอารมณ์นี้ก็มี
ทีนี้พวกที่ ๓ ลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่มีรูป คือละเอียดขึ้นไปกว่าพวกที่ ๒ พวกที่ ๒ หลงใหลในสิ่งที่มีรูป พวกที่ ๓ หลงใหลในสิ่งที่ไม่มีรูป จะเป็นเกียรติยศชื่อเสียง เป็นความเชื่อบุญกุศลอะไรก็ตามที่ว่ามันทำให้สบายใจ ยึดมั่นถือมั่นได้ อย่างนี้ก็มี เรามีระบุถึงพวกโยคีที่ลุ่มหลงในสมาธิอันเกิดมาแต่อรูป คือเอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ของสมาธิ ได้สมาธินี่แล้วก็ลุ่มหลง นี่เขาแจกไอ้ชีวิตนี่เป็น ๓ ชั้นอย่างนี้ หนึ่งลุ่มหลงในกาม สองลุ่มหลงในรูป สามลุ่มหลงในอรูป นี่เรียกว่าเราได้ชนิด หรือได้ประเภท หรือลักษณะอะไรต่างๆกันพอเป็นเครื่องกำหนดได้ นี่จึงเรียกว่าภพเรียกว่าภูมิแห่งจิตใจ มีพูดถึงกันอยู่มาก แต่สรุปแล้วมันก็มีเพียง ๓ อย่างเท่านี้ นี้เรียกว่าชนิดของชีวิต
ทีนี้สิ่งที่ ๒ จะเรียกว่าอุปมา อุปมาคือคำเปรียบหรือของเปรียบของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตโดยทั่วไปมีอุปมาเหมือนอะไรก็ลองฟังดู เพื่อให้เข้าใจง่าย ท่านกล่าวไว้ว่าอุปมาเหมือนลิง อย่างไร ก็คือว่าลิงตัวหนึ่งเข้าไปในเขต ในสวน หรือในที่ๆเจ้าของผลไม้เขาดักไว้ด้วยตังเหนียว ยางสีดำเหนียว เหนียวมาก อะไรไปแตะเข้าก็ติดทั้งนั้น แล้วลิงตัวหนึ่ง ลิงตัวนั้นเขาเข้าไปในถิ่นนั้น ไปพบตังเหนียวขวางหน้าอยู่สำหรับที่จะเดินไปหาผลไม้ มันก็ลองเอามือหยิบดู มันก็เลยติดตังเหนียวดึงไม่ออก แล้วก็เลยเอามืออีกข้างหนึ่งมาช่วยดึง มันก็ติดทั้ง ๒ ข้าง ทีนี้เอาเท้ามาถีบให้หลุด เท้าข้างนั้นก็ติด เหลืออีกข้างหนึ่งก็มาถีบให้หลุด เท้าอีกข้างก็ติด แล้วในที่สุดมันเอาปากกัด ปากมันก็ติด คิดดูเถอะ ลักษณะติด มันจึงติด ๕ แห่ง เท้าสอง มือสอง ปากหนึ่ง นี่เรียกว่าติดตัง ชีวิตนี้มันก็มีอุปมา เรียกอุปมาหรือคำเปรียบนี่เช่นนั้น คือเพราะว่าโดยปกติโดยทั่วไปแล้วก็พูดกันเพียง ๕ ว่ามีรูปที่สวยงาม ตามันก็ติด มีเสียงที่ไพเราะ หูมันก็ติด มีกลิ่นที่หอมหวน จมูกมันก็ติด มีรสที่อร่อย ลิ้นมันก็ติด ในสัมผัสที่นุ่มนวล ผิวหนังมันก็ติด เลยเรียกว่าติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นับได้ ๕ เหมือนกัน นี่แหละคน หรือจิตของคนธรรมดา ชีวิตของคนธรรมดา มันติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันรู้สึกได้เองเพราะว่าทุกคนก็เคยติด เคยหลงในรูปที่สวยงาม ในเสียงที่ไพเราะ ในกลิ่นที่หอมหวน ในรสที่อร่อย ในผัสสะที่นิ่มนวล แล้วใจมันก็ติดในสิ่งทั้ง ๕ นั้น นี่เรียกว่าอุปมาของชีวิต
ทีนี้ก็ดูต่อไปในธรรมลักษณะที่ ๓ เรียกว่าสมุทัย สมุทัยคือว่าเหตุให้เกิด เหตุที่ทำให้เกิดเรื่อง คือว่าข้อนี้ได้แก่การปรุงแต่งที่ทำให้เกิดตัณหาอุปาทาน เหตุต่อเมื่อได้สัมผัสรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส อะไรก็แล้วนั่นแหละมีเวทนาแล้ว มันเป็นสิ่งที่หลอกลวง เวทนาที่น่ารักก็หลงรัก เวทนาที่น่าเสพก็หลงเสพ เมื่อมีตัณหาเกิดจากเวทนาอย่างนี้แล้ว ก็เกิดตัวกู ความรู้สึกเป็นตัวกู ของกูผู้เป็นอย่างนั้น นี่การปรุงแต่ง ตัวตน การปรุงแต่งที่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนนี่แหละได้เป็นต้นเหตุให้เกิดชีวิตชนิดที่มีสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เต็มไปด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ นี่เรียกว่าสมุทัย การปรุงแต่งชนิดที่ให้เกิดความรู้สึกเป็นตัณหาอุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกู
เรื่องถัดไปเรียกว่าการดับไป การไม่ตั้งอยู่ชั่วขณะ มันก็เรียกว่าไอ้การ การปรุงแต่งเป็นตัวตน เป็นตัวกูมันดับไปเองตามระยะ ตามอำนาจเหตุปัจจัยที่มันสิ้นสุดลงเป็นคราวๆ แต่สำหรับจะเกิดอีกใหม่ ก็แปลว่าระยะสับเปลี่ยนนั่นเอง อันนี้เขาเรียกว่า อัตถังคมะหรือ อัสดงๆ ภาษาบาลีว่าอัสดง ทีนี้คำว่าอัสดงนั้นแปลว่าดับเฉยๆ ไม่ใช่ดับเลย ดับสำหรับจะเกิดใหม่เป็นรอบๆ ถ้าดับสนิทน่ะ เขาเรียกคำอื่นนะ คำว่านิโรธะ เป็นต้น นั้นดับสนิท ดับเลย ที่คู่กันกับสมุทัยนี่เป็นอัตถังคมะ นี่เรียกว่าดับชั่วคราว เป็นระยะการที่ว่าการปรุงแต่งเป็นตัวตนเปลี่ยนระยะหรือดับไปชั่วคราวสำหรับเกิดใหม่
ทีนี้ข้อต่อไป คือเรียกว่าอัสสาทะ แปลว่าเสน่ห์ คำนี้คำธรรมดาแปลว่าเสน่ห์ คือเสน่ห์ที่ยั่วยวนที่สุดของชีวิต อัสสาทะของชีวิตนั้นก็คือการที่อิ่มเอมไปด้วยกามคุณ ได้กามคุณทางเพศโดยเฉพาะ เต็มเปี่ยม จนเป็นอัสสาทะ หรือว่าชีวิตนี้มันมีอัสสาทะที่นี่ รวมไอ้สิ่งนี้เป็นอัสสาทะ คือมีกามารมณ์ มีกามคุณ มีความอิ่มเอิบด้วยกาม นี่เป็นเสน่ห์
ทีนี้มันก็มีสิ่งถัดไปคืออาทีนวะ ความเลวร้ายที่ตรงกันข้าม สิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับเสน่ห์เรียกว่าอาทีนวะแปลว่าโทษอันเลวร้าย คือความทุกข์ทุกชนิด ความเดือดร้อนทุกชนิดที่เกิดมาจากกามารมณ์
แล้วอันสุดท้ายเรียกว่านิสสรณะ คืออุบายออก กลอุบายเป็นเครื่องออกไปเสียจากวิกฤตการณ์อันนี้ ทีนี้ก็เหมือนกับว่าไอ้ลิงมันหลุดได้จากตังด้วยวิธีไหนก็ตาม ถ้าสมมติว่าลิงไอ้ตัวนั้นน่ะมันหลุดได้จากการติดตังทั้ง ๕ แห่งเป็นอิสระไปได้ นี่เรียกว่านิสสรณะ ๕ ของชีวิต
นี่ท่านมีไว้ให้ดู ให้สังเกตดู ให้พิจารณาดู ใคร่ครวญดูว่าไอ้ชีวิตๆนี้มีแง่มุมที่... (นาทีที่ 37:26-37:27) และซ่อนเร้นหลายอย่าง อย่างน่าดู อย่างน่า น่าอัศจรรย์ด้วยก็ได้ ว่าชีวิตนี้มีประเภทคือพวกกามารมณ์ พวกรูปารมณ์ พวกอรูปารมณ์ ชีวิตนี้มีอุปมาเหมือนลิงติดตังทั้ง ๕ แห่ง ชีวิตนี้มีสมุทัยคือการปรุงแต่งด้วยความโง่จนเกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ว่าตัวตน และชีวิตนี้มีอัตถังคมะคือดับตัณหานั้นโดยเกิดตามไอ้ระยะที่มีการดับแห่งตัวตน คือดับตัณหาอุปาทานเป็นครั้งคราว แล้วก็มีอัสสาทะคือเสน่ห์ของมันคือกามคุณทั้งหลาย และมีอาทีนวะของมันก็คือความเร่าร้อนเพราะกามคุณเหล่านั้น และอันสุดท้าย ทางออกไปเสียจากสิ่งนั้น คือมันหลุดไปจากสิ่งนั้นๆ
นี่ขอให้ศึกษา รู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ให้ชัดเจน แจ่มแจ้งโดยลักษณะ ๗ ประการนี้ ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะต้องทำอย่างไร ก็จะได้ทำให้มันถูก ให้มันสมเรื่อง เมื่อรู้จักชีวิตดิบ ชีวิตติดตัง ชีวิตเป็นปัญหา ชีวิตทนทรมานอยู่ในวงกลมอย่างเพียงพอแล้ว ไอ้ความคิดมันก็จะน้อมไปในทางพัฒนา จะพัฒนาชีวิต จะพัฒนาชีวิตนี้มันจะมีได้เฉพาะคนที่เห็นแจ่มแจ้งในลักษณะ ๗ ประการนี้แล้วเท่านั้น คือเห็น เห็นความเป็นจริงอยู่อย่างไร เห็นลู่ทางจะออกไปได้อย่างไร มีหวังว่าจะออกไปได้อย่างไร มันก็คิดที่จะออก นี่เรียกว่ามันมีความต้องการที่จะออก คือพัฒนาแล้วก็หาทางออก หาทางออกก็คือการปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ ตามหลักของศาสนาแต่ละศาสนาที่มีอยู่อย่างไร ทีนี้ถ้ากล่าวตามหลักของพุทธศาสนาก็มีมากมายหลายหมวด หมวดที่จะเอามาพูดก่อนก็คือหมวดที่เรียกว่าโพชฌงค์ๆ องค์แห่งการรู้ องค์แห่งการตรัสรู้
การปฏิบัติตามโพชฌงค์นี้มี ๗ ประการ
ข้อที่ ๑ เรียกว่าสติ สติ ระลึกนึกถึงทั้งหมดในข้อธรรมทั้งหลาย ทั้งในฝ่ายที่เป็นทุกข์และเป็นฝ่ายที่ดับทุกข์ โดยเฉพาะในฝ่ายที่ดับทุกข์ ระลึกให้หมดสิ้นว่ามีธรรมะอะไร เป็นอย่างไร ธรรมะอะไร เป็นอย่างไร ระลึกให้หมดสิ้น นี้เรียกว่าสติๆ จะต้องมีการศึกษาพอสมควรจึงจะระลึกได้ ถ้าระลึกได้มาหมดสิ้นเท่าที่จะทำได้อย่างนั้นแล้วก็เลือก
ทีนี้ก็เลือก เลือกนี้เรียกว่าธัมมวิจยะ ธรรมวิจัยๆ ธัมมวิจยะก็คือคำว่าธรรมวิจัย สติระลึกๆๆมาหมดแล้ว ทีนี้ก็เลือกๆๆ ธรรมวิจัย ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ธรรมะข้อไหน หมวดไหนเหมาะที่สุดสำหรับเราในเรื่องนี้ก็เลือกได้
ทีนี้ถ้าเลือกได้แล้วก็มี วิริยะ คือพาก ความพากเพียร ประพฤติในธรรมะนั้นอย่างแท้จริง ประพฤติสุดความสามารถ ประพฤติสุดเหวี่ยงตามหลักเกณฑ์นั้นๆ อะไรต้องละก็พยายามละ อะไรต้องระวังอย่าให้เกิดก็อย่าให้เกิด อะไรยังไม่มีก็ทำให้มี อะไรมีแล้วก็รักษาไว้เป็นอย่างดี นี่เรียกว่ามีความพากเพียรตามที่ได้เลือกเฟ้นแล้ว
ทีนี้ก็มีปีติ ขณะที่กระทำอย่างนั้นอยู่ มีปีติคือพอใจๆในการที่ทำได้เช่นนั้น ทำได้เช่นนั้น เราก็พอใจเท่านั้น ทำได้มากก็พอใจมาก อันนี้เรียกว่าปีติๆ คือความพอใจ หล่อเลี้ยงวิริยะคือความพากเพียรอย่าให้ถอยกำลัง ถ้ามีปีติพอใจอยู่ แล้ววิริยะความพากเพียรก็ไม่ถอยกำลัง แต่กลับจะมีกำลัง นี่จึงทำให้ ทำปีติให้เกิด
ลำดับถัดมา เมื่อมีปีติเกิดแล้ว มันก็จะเข้ารูปในการที่จะสงบระงับลง เรียกว่าปัสสัทธิ ไอ้การดิ้นรน ความฟุ้งซ่าน ความโกลาหลวุ่นวายทั้งหลายก็จะระงับลง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางอะไรก็เว้นแต่จะระงับลง
เมื่อมันระงับลงในที่สุด มันก็มีความเป็นสมาธิ คือการตั้งมั่น ปัสสัทธิแปลว่าการเข้ารูปเข้ารอย คือระงับลง สมาธิแปลว่าการตั้งมั่น
เมื่อตั้งมั่นอยู่ในธรรมะที่ถูกต้อง แล้วก็มองดูอยู่ให้มันเป็นไปด้วยดี เรียกว่าอุเบกขาๆ อุเบกขานี่ก็แปลว่าความเฉยก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่เฉยไม่ทำอะไร มันเฉยมองดูที่ทำถูกต้องแล้ว ว่าทำถูกต้องแล้ว ก็ปล่อยให้มันเป็นไปเอง อย่างนี้เรียกว่าอุเบกขา แปลว่าความเฉยก็จริง แต่ว่าเฉยชนิดที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นไปด้วยดีด้วย จะเปรียบเทียบข้อนี้ก็เหมือนว่าทุกอย่างของรถ ของถนน ของคนขับนี่มันถูกต้องหมดแล้ว เพียงแต่คนขับคุมพวงมาลัยรถเฉยๆเท่านั้น มันก็ไปได้ๆ เฉยๆเท่านั้นมันก็ไปได้ นี่จิตจดจ้องจนเกิดความถูกต้องในทุกด้าน ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว เหลืออยู่แต่คุมไว้เฉยๆ มันก็ไปๆๆ ไปจนถึงระยะสุดท้ายปลายทาง ซึ่งเป็นการดับทุกข์หรือเป็นการตรัสรู้
เมื่อกล่าวต่อกรรมวิธีที่จะต้องจับต้องทำนี่ก็ได้เป็น ๗ อย่างนี้ คือสติระลึกขึ้นมาให้ได้ว่าอะไรบ้างมีอยู่อย่างไร ธรรมะข้อไหน แล้วก็ธรรมวิจัย เลือกดูอันไหนเหมาะเรื่องนี้ จะต้องปฏิบัติข้อนี้ แล้วก็พากเพียรปฏิบัติในข้อนี้ แล้วมีปีติพอใจหล่อเลี้ยงไว้เรื่อย พอใจว่าถูกต้องแล้ว กำลังก้าวไปได้ดีแล้ว นี่มีปีติหล่อเลี้ยงไว้เรื่อย มันก็ถึงความเหมาะสม เข้ารูปเข้ารอยลงตัวต่อกันและกัน เรียกว่าปัสสัทธิ สงบระงับลงมา ไอ้วุ่นวายต่างๆนี่ระงับลงมา เมื่อปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นก็เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิในเรื่องที่ถูกต้องแล้วก็คุมไว้เฉยๆ ปล่อยไว้เฉยๆ เหมือนการขับรถสมัยโบราณ รถม้า คนขับถือเชือกบังเหียน ทุกอย่างถูกต้องดีแล้ว รถถูกต้องดีแล้ว ถนนถูกต้องดีแล้ว อะไรถูกต้องดีแล้ว คนขับถือบังเหียนอยู่เฉยๆ ไอ้รถมันก็ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง นี่การปฏิบัติธรรมะที่เป็นการพัฒนาชีวิตมีหลักเกณฑ์ที่จะเปรียบได้อย่างนี้ ไอ้หลักเกณฑ์ ๗ ประการนี้จะไปใช้กับอะไรอื่นอีกก็ได้
ทีนี้เรามาพูดเรื่องสูงสุดของมนุษย์คือพัฒนาชีวิต พัฒนาจิตให้หลุดมาเสียจากไอ้ภาวะที่ตกต่ำ จมความทุกข์ วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ เรียกได้ว่าชีวิตที่มีการพัฒนา หลังจากเราได้รู้จักสัญชาติ รู้ข้อเท็จจริงต่างๆของชีวิตแล้ว เราก็เริ่มพัฒนาโดยหลักเกณฑ์อย่างนี้ นี่เป็นหัวข้อ แต่โดยรายละเอียดก็พูดกันได้มากมาย แต่ขอให้เข้าใจหลักเกณฑ์ที่เป็นหัวข้อไว้อย่างนี้ก่อน ถ้าในหมวดนี้เราพัฒนาจิตด้วยธรรมะหมวดที่เรียกว่าโพชฌังคะ แปลว่าองค์คุณ องค์ประกอบของการตรัสรู้ มีอยู่ ๗ อย่าง สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา คือหมวดอื่นๆก็ใช้ได้ ไอ้ธรรมะนี้แปลก มันจะแจกเป็นกี่หมวดๆก็ได้ แต่ใจความหรือภายในหรือความหมายอันแท้จริงเนื่องถึงกันหมด เดี๋ยวนี้เราพูดอย่าง ๗ อย่างนี้ แต่เราจะไม่พูดอย่าง ๗ อย่างนี้ เราจะพูดอย่าง ๘ อย่าง อัฏฐังคิกมรรคก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดประณีตเรื่องหนึ่งซึ่งตั้งใจว่าจะพูดวันหลัง เดี๋ยวนี้ยกตัวอย่างมาแต่เพียงว่าการพัฒนาจิตจะมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นเทคนิค ก็เหลือ เหลือที่จะเป็นเทคนิค เทคนิคอย่างละเอียดอย่างประณีต จะเป็นเทคโนโลยีทางฝ่ายจิตก็ยังได้ มันก็เป็นเทคโนโลยีเหลือประมาณน่ะ ลองคิดดูเถอะว่าเรื่องจิตนิดเดียวนี่ เรามาใช้สติ ใช้ธัมมวิจยะ ใช้วิริยะ ใช้ปีติ ใช้ปัสสัทธิ ใช้สมาธิ อุเบกขา นี่ยกมาตัวอย่างมาเพียงหมวดเดียว ยังมีอีกหลายๆต่อหลายหมวด เมื่อประพฤติหมวดใดหมวดหนึ่งมันก็จะถึงกันหมด อาจจะเรียกชื่อได้ครบถ้วนกันหมด เรียกชื่อเอามาจากหมวดนั้นๆครบถ้วนกันได้หมด มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นธรรมชาติของธรรมะ ของหัวข้อธรรมะหรือหลักธรรมะที่มันเป็นอย่างนั้นเอง จึงจะถึงกันหมดในภายใน
อ่า, ทีนี้เราก็จะพูดข้อต่อไปว่า กรรมวิธีที่พัฒนาจิต การกระทำที่เป็นการทำจิตให้เจริญ กรรมวิธีแห่งจิตตภาวนา เราใช้คำที่เหมาะสม หรือเป็นกลางที่สุดว่า จิตตภาวนา จิตตภาวนาแปลว่าการทำจิตให้เจริญ ที่คนทั่วไปหรือชาวบ้านทั่วไปชอบเรียกว่าทำกรรมฐานบ้าง ทำวิปัสสนาบ้าง ทำสมถะบ้าง เรียกกันหลายๆอย่าง รวมความแล้วก็คือการจัดการเข้าไปที่จิต กระทำไปที่จิตจนเกิดการพัฒนาสูงขึ้นไปจนกว่าจะสูงสุด เดี๋ยวนี้จะเรียกโดยคำในพระคัมภีร์โดยตรง คือเรียกว่าจิตตภาวนา ถ้าจะพูดอย่างภาษาชาวบ้านเรียกกันว่าทำกรรมฐาน ทำสมถะ ทำวิปัสสนา ทำอะไรก็สุดแท้ ซึ่งมันไม่ค่อยจะรัดกุมหรือแน่นอนเหมือนกับคำว่าจิตตภาวนา จึงใช้คำว่าจิตตภาวนา ฉะนั้นในการบำเพ็ญจิตตภาวนานี่ควรจะรู้หลักทั่วไปให้เต็มหัว ให้เพียงพอก่อนคือว่า ในชั้นแรก คือระยะแรก หรือครึ่งแรกนี่ เป็นสมถะหรือสมาธิ ทำให้จิตรวมกำลังดีที่สุดแล้วก็อยู่ในอำนาจของผู้นั้น ทำเพียงเท่านี้ก็เรียกว่าสำเร็จในส่วนสมถะหรือสมาธิครึ่งแรก ทำจิตให้รวมกำลังเหมาะสมที่สุดแล้วอยู่ในอำนาจของผู้นั้น ทีนี้ครึ่งหลังก็ใช้จิตชนิดนั้น ที่รวมกำลังดีแล้วอย่างนั้น ดู ดูให้เห็นข้อเท็จจริงของธรรมชาติ เรียกว่าดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออื่นๆแล้วแต่จะเรียก ดูให้เห็นความจริงเหล่านี้ นี่เรียกว่า ตอนนี้เรียกว่าวิปัสสนาหรือปัญญา ครึ่งแรกเรียกว่าสมาธิหรือสมถะ ทำจิตที่มันกำลังกระจายกันอยู่ให้รวมตัวเป็นจุดเดียว และทำให้อยู่ในอำนาจของผู้ที่เป็นปฏิบัติ นี้ส่วนสมาธิหรือส่วนสมถะครึ่งแรก ทีนี้ครึ่งหลังก็ทำให้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้วนั้น ทำหน้าที่ที่ต้องการ คือมองดูเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาโดยเฉพาะ นี่ก็เป็นส่วนที่เรียกว่าปัญญาก็ได้ วิปัสสนาก็ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารวมทั้งสมาธิ ทั้งสมถะ ทั้งปัญญา ทั้งวิปัสสนา มันรวมอยู่ในคำว่าจิตตภาวนาทั้งนั้น คือทำจิตให้เจริญ ฉะนั้นเราก็หวังอยู่ว่าจะทำจิตให้เจริญ คือจะพัฒนาจิตให้อยู่ในระดับที่เหนือความทุกข์ทั้งปวง
ทีนี้ก็อยากจะบอกไอ้หลักเกณฑ์หรือความลับของธรรมชาติทั่วๆไปเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเสียบ้างตามสมควรว่าในการที่จะทำจิตให้เป็นสมาธินั่น มันมีหลักเกณฑ์หรือความลับสำคัญอยู่ว่า ต้องมีอารมณ์ที่เหมาะสมมาให้จิตกำหนดอยู่ที่สิ่งนั้น คำว่าอารมณ์อย่างนี้ก็แปลว่าสิ่งที่จิตจะกำหนด ในกรณีที่เราชอบกันมากก็ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ แล้วให้จิตมากำหนดอยู่ที่สิ่งนั้นให้จนได้ ก่อนหน้านี้จิตมันจะกำๆ กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างไปตามที่มันต้องการ มันชอบใจ มันก็ฟุ้งซ่าน คือว่าพร่าไปหมด ทีนี้รวมกำลังให้เป็นจุดเดียว นั่นน่ะกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ต่อเมื่อรวม รวมกำลัง หรือรวมแสง รวมกำลัง จิตรวมแสง มารวมอยู่ที่นี่ มันก็เปลี่ยนจากสภาพเดิมที่ฟุ้งซ่าน ที่แพร่ พร่าไปหมดมาอยู่ตรงจุดเดียว เมื่อฝึกโดยวิธีต่างๆจนได้ตามที่ต้องการ น้อมไปที่อะไรก็ได้ อันนี้บอกให้รู้เรื่องเท่านั้นแหละ ไม่ได้มีความสำคัญอะไรว่า จะเอาอะไรมาใช้เป็นอารมณ์สำหรับจิตกำหนด เพื่อจิตจะได้รวมกำลัง แล้วก็เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ของมัน สิ่งที่เป็นรูปธรรมก็ใช้ได้ สิ่งที่เป็นนามธรรมก็ใช้ได้ สำหรับที่จะเอามาเป็นอารมณ์ เช่นว่าลมหายใจนี้เป็นรูปธรรม ทีนี้บางคนเขาจะไม่ใช้ลมหายใจ เขาจะใช้วัตถุสิ่งของ วงกลมสีเขียว วงกลมสีแดง วงกลมสีอะไรก็ได้ กระทั่งดวงเทียนก็ได้ ที่จะมองเห็นชัดและกำหนดได้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น มีอยู่มากอย่างมากแบบ นี่ให้จิตกำหนดไปตามระเบียบวิธี นี่เอาสิ่งที่เรียกว่าเป็นรูปธรรมชัดๆมาใช้เป็นอารมณ์
ทีนี้ถ้าจะเอานามธรรมก็ยังได้ เช่นเจริญพุทธานุสติ เจริญธัมมานุสติ สังฆานุสติ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่มีผลเท่ากัน มีผลไม่ไกลเหมือนกับเอาอารมณ์ล้วนๆ เอาวัตถุล้วนๆ ถ้าจะเจริญด้วยอารมณ์ที่เป็นนามธรรมเช่นพระพุทธเจ้า เราจะต้องนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอย่างทั่วถึง กี่อย่างๆๆเท่าที่จะนึกได้ แล้วมาทำในใจรวบรวมพระคุณทั้งหลายนั้นลงไปในคำพูดเพียงพยางค์เดียวว่า พุทโธๆๆ พระคุณของพระพุทธเจ้ามีกี่ร้อยอย่าง ทำในใจให้มารวมอยู่ในคำๆเดียวว่า พุทโธๆๆ แล้วก็เพ่งพุทโธ หรือถ้าจะพระธรรมมาเป็นอารมณ์ ก็พรรณนาคุณ ระลึกถึงคุณของพระธรรมให้หมด แล้วมารวมอยู่ในคำพูดคำเดียวว่า ธัมโมๆ หรือคุณของพระสงฆ์ทั้งหมดมารวมอยู่ในคำพูดคำเดียวว่า สังโฆๆ บางทีไกลไปกว่านั้นก็เอาผล เอาเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องมาเป็นอารมณ์ พิจารณาการให้ทานในทุกความหมายในทุกเรื่องๆแล้ว รวมในคำพูดคำเดียวว่า จาโคๆ หรือทะนัง ทานังๆ ถ้าเป็นเรื่องศีลก็ว่า สีลังๆ แล้วก็บริกรรมคำพูดนี้เพื่อให้จิตรวมอยู่ที่คำพูดนี้ แล้วก็ในที่สุดก็จัดที่ตั้งที่ใดที่หนึ่งแล้วแต่ถนัดที่ตรงไหน แล้วแต่ใครถนัดที่ตรงไหน จะตั้งไอ้ความรู้สึกว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆไว้ที่หน้าผากหรือที่ไหน กะโหลกศีรษะหรือว่าในหน้าอก ในตรงไหนก็ได้เพื่อเป็นจุดที่เข้มข้นเข้าๆ
ถ้าว่าในหมู่คนที่ถือพระเจ้าก็จะรวบรวมคุณของพระเจ้าทั้งหมดมารวบรวมไว้คำๆเดียว เช่นคำว่า ยาฮาเวห์ หรือคำว่า พุทโธอะไรก็ตาม และก็ใช้คำนั้นเพียงคำเดียวเพื่อมาเป็นอารมณ์เป็นบทสำหรับบริกรรมโดยอย่างเดียวกันอีก กำหนดตั้งจิตเข้าที่ไหน ก็จะมองเห็นเป็นแสงสว่างเกิดขึ้นที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างที่สุกใสหรือรุ่งเรือง แน่วแน่มากขึ้นๆ มันก็ได้ผลอย่างเดียวกันแหละ คือจิตเป็นสมาธิ แต่ว่าผู้เอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาใช้นี่ได้ เป็นลมหายใจนี่มาใช้ทำ นี่ทำได้ง่ายกว่า แล้วทำได้แนบเนียนกว่า ทำได้ลึกซึ้งกว่า คือว่าจะเป็นสมาธิขนาดที่เป็นฌานได้ พวกที่เป็นนามธรรมนั้นเป็นได้เพียงเกือบฌาน เกือบฌาน ไม่ถึงฌาน แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ เป็นสมาธิที่ใช้ประโยชน์ได้ในการจะพิจารณาวิปัสสนา นี่มันแล้วแต่ใครจะชอบ มันแล้วแต่ว่านิสัยจิตใจของใครเหมาะกับเรื่องไหน แล้วก็เอานั้นน่ะมาเป็นอารมณ์
เดี๋ยวนี้เราจึงมี ของพวกเราทั่วๆไปเราใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ ถ้าจะถนัดไปทำแบบพุทธานุสติ ธัมมานุสติ บ้างก็เป็นของพิเศษไม่จริงจังอะไร มาจริงจังอยู่ที่ลมหายใจเป็นอารมณ์ ทีนี้หลักใหญ่ หลักใหญ่ทั่วไปมันก็มีอยู่ว่า เอาอารมณ์นั้นมาเป็นสิ่งฝึกจิตกำหนด กำหนดด้วยสติ สติเป็นเครื่องกำหนดลงไปที่จิตนั้น ยกตัวอย่างโดยเฉพาะเรื่องลมหายใจนี่ คอยสังเกตกันให้ดีว่า เรามีลมหายใจซึ่งหายใจเข้าออกอยู่ๆๆ เข้าให้เป็น ๒ หนด้วยกาย ก็เหมือนกับมันมีช่องเพิ่มให้ลมวิ่งเข้าไปสุดแล้วก็ออกมา ทำๆความรู้สึกเพียงเท่านั้น อย่าไปทำเป็นว่าเข้าไปในปอดกระจายไปโลหิตฝอยนั่นไม่ต้อง มันยุ่ง มันไม่ใช่เรื่อง เพราะไม่ได้การศึกษาเรื่องไอ้สรีระวิทยานั่น เพียงแต่เอาความรู้สึกว่าลมเข้าไปสุดที่แล้วก็ออกมา สุดที่แล้วเข้าไป เข้าไปแล้วก็เอาออกมา เข้าไปออกมา นี่ให้เป็นที่แน่นอนแก่ความรู้สึก เดี๋ยวนี้จิตก็กำหนดตามลมหายใจโดยสติเป็นเครื่องกำหนด ให้จิตผูกกับลมหายใจด้วยสติ เมื่อลมหายใจเข้าไปถึงเท่าไรก็รู้ๆๆๆจนเข้าถึงสุด สมมุติว่าที่สะดือ สุด หยุด ทีนี้ก็จะเริ่มออกมา ก็ออกมาๆๆ ก็หยุดสิ้นสุดที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไปอีกออกมาอีก เข้าไปอีกออกมาอีก ทำหน้าที่เหมือนกับวิ่งตามๆๆอย่างนั้น จนทำได้ คือว่าจิตกำหนดลมหายใจอยู่ได้อย่างสม่ำเสมอแน่วแน่ ไม่ละทิ้ง ไม่หนีไปเสีย ตลอดเวลาที่เราต้องการจะทำ ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ ถ้าทำได้ขนาดนี้ ถึงขั้นนี้ก็เรียกว่ามันทำได้เข้ามาส่วนหนึ่งแล้ว เข้ามาสู่ความสำเร็จหลายแล้ว หลายเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยังหยาบอยู่ ยังหยาบอยู่ ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นหยาบอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทำง่าย ฉะนั้นคนทำในครั้งแรกอาจจะทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ตั้ง ๕ นาทีก็ทำไม่ได้ เพราะจิตมันเคยชินกับจะวิ่งไปที่โน่น วิ่งไปที่นี่ วิ่งไปที่ไหน ไม่อยู่กับลมหายใจเหมือนกับว่าสิ่งของที่เรามัดมันไว้ด้วยเชือก แล้วมันหนีออกไปไม่ได้ แต่นี่มันเป็นเรื่องนามธรรม มันเป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องความรู้สึกนี่ จะวัด อ่า, จะมัดด้วยเชือกไม่ได้ จะต้องมัดด้วยสติ ก็เป็นเรื่องของใจ ก็เป็นการกระทำที่เป็นเรื่องของใจ เกี่ยวกับใจ
นี่ขอให้ลองดู ในขั้นแรกทำการกำหนดลมหายใจให้วิ่งตามเข้าออกๆๆๆ รับรองได้ว่าการทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ถ้าทำเพียงครั้งแรกครั้งเดียวไม่สำเร็จหรอก จิตมันหนีไปไหนก็ ไปไหนก็ไม่รู้ มันต้องทำอีก พลาดไปแล้วก็ทำอีก พลาดไปแล้วก็ทำอีก พลาดไปแล้วก็ทำอีก กี่สิบครั้งก็ทำไป ทำจนทำได้ เพียงแต่วิ่งตามๆๆ เข้าออกๆ ก็ให้ทำให้มันได้ ไอ้เรื่องนี้คนอื่นจะช่วยไม่ได้ ต้องช่วยตัวเอง เรื่องนี้ไม่มีใคร ไม่มีผู้อื่นมาช่วยสอนให้ได้ ต้องสอนด้วยตัวมันเอง ด้วยการกระทำนั่นน่ะมันจะสอนให้เอง เข้าใจว่าขี่รถจักรยานเป็นกันทุกคน เมื่อเราขี่รถจักรยานครั้งแรกนั้นมันต้องล้มนะ แม้จะได้รับคำอธิบายมาอย่างดีแล้ว หรือจะมีคนช่วยจับให้ ถ้าคนเขาปล่อยมันก็ล้ม ถ้าว่าล้มแล้วก็เลิกๆๆนี่แล้วมันก็เลิกกัน แต่ถ้าว่าล้มแล้วก็พยายามอีกๆ ตอนนี้ไม่มีใครสอนได้ ไอ้การกระทำนั่นจะสอนให้ คือการล้มนั่นน่ะ มันจะสอนให้ไม่ล้ม ยอมล้ม ขึ้นขี่อีกล้มอีก ขึ้นขี่อีกล้มอีก ขึ้นขี่อีกล้มอีก แต่ว่าทุกทีเลยการล้มมันสอนให้ จนไม่ค่อยจะล้ม จนไปเปะปะๆ แล้วก็ทำอีกๆๆหลายสิบครั้งแล้วจนลวด จนลวด ไม่ล้ม จนปล่อยมือก็ได้ทีนี้คิดดูเถอะ ว่ามันต่างกันอย่างไร ทีแรกแม้แต่ขึ้นสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ แม้แต่ว่าจะจูงมันให้ตรงยังจูงมันไม่ได้ เพราะมันยังไม่รู้เรื่องอะไรเสียเลย เดี๋ยวนี้จะขี่รถจักรยานได้ โดยการล้มนี่มันสอนให้ การขี่รถจักรยาน จิตนี่ก็เหมือนกันแหละ ต้องให้การล้มนี่แหละมันสอนให้ สังเกตไว้ทุกที รู้สึกไว้ทุกทีว่าที่มันเผลอมันหนีมันเผลอมันเป็นอย่างไร รู้เท่าทันไว้ทีหลังมันจะไม่เผลอไม่หนี ในที่สุดก็ทำบทที่หนึ่งได้ คือว่าวิ่งตามๆ เฝ้าดู วิ่งตามเข้าออกๆนี่ได้ ทำได้ มันก็ถึงเวลาต้องพึ่งเรียน ต้องเรียนกันบ้าง ถ้ามันผิดเทคนิคของมัน มันก็ยาก ฉะนั้นต้องให้ถูกต้อง คือว่าการหายใจนั้นต้องแรง ต้องดังพอสมควร ให้จิตมันกำหนดได้ง่าย ถ้าหายใจเบาเกินไปหรือละเอียดเกินไปนั้น ในในตอนแรกจิตกำหนดไม่ได้ ก็ล้มเหมือนกัน ฉะนั้นในชั้นแรกจะต้องหายใจด้วยแรงพอสมควร มีเสียงดังพอสมควร ก็กำหนดได้ง่าย ถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันยังไม่ได้ ถึงต้องแกล้งๆหายใจให้แรงให้มีเสียงดัง และจะต้องหายใจให้แรงจนกำหนดได้ เมื่อกำหนดได้แล้วค่อยๆลดลงมาๆจนว่าเบา ในระดับที่เบาก็กำหนดได้ นี่บทที่หนึ่ง วิ่งตามๆ ทำได้
ทีนี้บทที่สอง บทที่สองไม่วิ่งตามแล้ว แต่กำหนดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งที่ลมหายใจมันผ่าน เช่นว่าที่จิตตกที่ปลายจะงอยน่ะ ปลายจะงอยจมูก ปลายจะงอยจมูก ที่ๆๆลมหายใจจะต้องผ่าน ผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออก อันนี้มันยิ่งยากไปกว่าไอ้ที่วิ่งๆๆตามเพราะว่ามันมีระยะที่ ทิ้งระยะให้เหลือให้จิตมันเหลือมันมากนัก เพราะกำหนดอยู่แต่ที่แห่งเดียว แต่ถ้าทำอย่างดีอย่างประณีต อย่าให้ขาดตอนได้ ก็ๆต่อ ก็ติดต่อๆกันอย่างนี้ได้เหมือนกัน ก็ลมหายใจมันต้องผ่านเรื่อยจนกว่าจะหมด ทั้งเข้าและทั้งออก ก็ผ่านจนกว่าจะหมดทั้งเข้าและทั้งออก มันก็เป็นอันว่ากำหนดลมหายใจที่จุดเดียว เรียกว่าเฝ้าดูอยู่ที่จะงอยจมูก เมื่อทำอย่างนี้สำเร็จก็เรียกว่า ขึ้นมา สำเร็จเข้ามาอีกห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ตามเรื่องของมัน
ก็ไปในขั้นที่สามที่ว่า ตรงที่จิต ตรงที่จิต ที่ลมหายใจกระทบกันนั้นมีที่เดียวนั้นน่ะ เราสร้างภาพนิมิตขึ้นมา หรือช่วยกันกับธรรมชาติสร้างขึ้นมา ธรรมดามันก็จะเกิดภาพนิมิตอยู่เองแล้วเหมือนกัน ถ้าน้อมจิตไปก็จะเห็นได้ยิ่งง่ายขึ้น แต่มันอาจจะเห็นเป็นภาพนิมิตได้ตามต้องการตรงที่ปลายสุดจมูกที่ลมกระทบ จะเป็นจุดขาว จุดแดง จุดเขียว จะเหมือนดวงดาว เป็นดวงจันทร์ เป็นหยดน้ำค้าง เป็นใยแมงมุมกลางแสงแดดหรืออะไรมันมากมายนัก เป็นไปได้มากมาย เดี๋ยวนี้เป็นภาพแล้ว เป็นภาพนิมิตแล้ว ไม่ใช่ๆของจริงแล้ว คือสิ่งที่จิตกำหนดนั้นเป็นนิมิตที่สร้างขึ้นแล้วไม่ใช่ของจริงแล้ว สร้างภาพที่เป็นนิมิตนั้นขึ้นที่ตรงไหนก็กำหนดที่ตรงนั้น กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น นี่มันเป็นอันบทที่สาม ถ้าทำได้อย่างนั้น นับว่าเป็นต่อขึ้นมาหลายเปอร์เซ็นต์แล้ว
ทีนี้ต่อไปก็คือบังคับไอ้ภาพที่เห็นนั้นให้เปลี่ยนแปลงได้ ให้เปลี่ยนขนาดก็ได้ เปลี่ยนสีก็ได้ เปลี่ยนอาการก็ได้ ให้มันเปลี่ยนได้ ให้มันลอยไปก็ได้ ให้มันลอยกลับมาก็ได้ บังคับภาพเหล่านั้นได้ นั่นน่ะคือการเริ่มบังคับจิตได้ในความหมายบังคับจิตได้ ทีนี้เราจะบังคับให้เห็นอะไรก็ยังได้ แต่ธรรมดาไม่แนะนำ จะเห็นพระพุทธรูป จะเห็นพระเป็นเจ้า หรือจะเห็นอะไรก็ได้แต่เราไม่แนะนำ เพราะว่าเราต้องการจะมีสมาธิเท่านั้น ก็เลยเอาแต่ให้นิ่ง ให้เงียบ ให้สงบ ให้หยุดเท่านั้นเอง
ทีนี้เมื่อสามารถที่จะบังคับได้ตามต้องการ ให้ใหญ่ ให้เล็ก ให้เปลี่ยนสีสันวรรณะ เปลี่ยนรูปร่างได้แล้ว ก็มาเลือกเอาสักอย่างใดอย่างหนึ่งที่พอเหมาะสม กำหนดอยู่เฉยๆ เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ อยู่ในอำนาจของเราแล้ว จึงน้อมจิตนั้นไปเพื่อเห็นความจริงของธรรมชาติ เช่นความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ลักษณะแห่งความทุกข์ของสิ่งทั้งปวง ลักษณะแห่งความไม่ใช่ตนของสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะสิ่งที่เราเคยหลงใหลว่าเที่ยง สิ่งที่เราเคยหลงใหลว่าสุข สิ่งที่เราเคยหลงใหลว่าตัวตนนั่นแหละ เอามาดู มาเพ่งใคร่ครวญพิจารณาดูๆๆด้วยจิตชนิดนี้ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิถึงที่สุดแล้วนี้ ไอ้ความจริงก็จะปรากฏออกมาตามที่เป็นจริงว่าไม่เที่ยงบ้าง ว่าเป็นลักษณะแห่งความทุกข์บ้าง ว่าเป็นลักษณะแห่งอนัตตาบ้าง แล้วก็เพ่งให้หนักขึ้น หรือว่าทำความรู้สึกอันนั้นให้หนักขึ้นๆๆ มันตกไปกระทบกระเทือนถึงกิเลสในภายใน ถึงอนุสัยที่สะสมไว้ในภายในให้มันจางให้มันหน่าย นี่การบรรลุธรรมไปตามลำดับ มันก็มีไปตามลำดับ
ตอนหลัง ตอนหลังที่เห็นๆๆๆแจ้งนี้เรียกว่าปัญญา ไอ้ตอนปัญญาหรือตอนวิปัสสนา ตอนที่รวบรวมจิตให้มีกำลังนี่ แล้วใช้เพ่งดูนี้เรียกว่าสมถะหรือสมาธิ มันเป็นสองตอนอยู่ ตอนแรกไอ้รวมจิตให้มีกำลังและอยู่ในอำนาจ แล้วตอนหลังนี้ใช้จิตชนิดนั้นดูความจริงของธรรมชาติคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่อไปนั้นมันก็เป็นเรื่องการบรรลุมรรคผลแล้ว ที่จะเป็นผู้ที่ตัดกิเลสได้มากน้อยตามอำนาจของไอ้การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นน้อยๆเป็นพระโสดาบัน เห็นมากขึ้นไปอีกเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี กระทั่งเป็นพระอรหันต์ เห็นถึงที่สุด นี่โดยย่อ เรื่องโดยย่อมันก็มีอย่างนี้ ฉะนั้นเรารู้เรื่อง เค้าโครงของเรื่อง หรือว่าเคล็ดลับของเรื่อง แล้วเราก็สามารถทำจิตตภาวนาได้ คือทำจิตให้เจริญๆๆไปตามลำดับ ก็กลายเป็นคนที่ไม่มีกิเลสในสันดาน นิวรณ์ทั้งหลายจะไม่รบกวนอีกต่อไป กิเลสจะไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป อนุสัยหมดแล้ว อาสวะก็ไม่มี นั่นแหละคือการจบของเรื่อง
เอาล่ะเป็นอันว่าวันนี้เราพูดกันแต่ใจความย่อๆของจิตตภาวนา คือการทำจิตให้เจริญ หรือจะเรียกว่าชีวิตจะพัฒนา พัฒนาชีวิตให้เจริญก็ได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีการพัฒนาโดยแบบนี้มันก็เป็นชีวิตธรรมดา เป็นจิตธรรมดา เป็นอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ละวันๆเต็มไปด้วยนิวรณ์ เต็มไปด้วยกิเลส มีอนุสัย อาสวะไปรบกวนอยู่เรื่อย ถ้าทำได้สำเร็จมันก็เปลี่ยน อย่างน้อยแม้ยังไม่ถึงที่สุด มันก็ดับทุกข์ได้มาก มีจิตสงบเย็นได้มาก มีชีวิตที่เย็นมากกว่าธรรมดามาก จนกว่าจะเย็นถึงที่สุดที่เรียกว่าเป็นนิพพาน แปลว่าดับความร้อนหมดสิ้นนี่เรียกว่านิพพาน นี่ขอให้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ถ้าศึกษาในแง่ของศาสนาเดี๋ยวจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งอย่างอื่นกับผู้อื่น ถ้าศึกษาอย่างความจริงความลับของธรรมชาติแล้วก็ไม่ต้องขัดแย้งกับใคร นี่การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้.