แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่สามนี้ จะได้วินิจฉัยกันเฉพาะหัวข้อที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ และจะอธิบายชนิดที่เป็นตัวอย่างสำหรับเทียบเคียงหัวข้ออื่นๆ ได้ด้วยตนเอง ขอให้ทำความเข้าใจเป็นพิเศษในหัวข้อนี้ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างแห่งทุกๆข้อ
เราได้พูดกันถึงเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด คือ ความว่าเป็นทางที่ต้องเดิน คือประพฤติให้ถูกต้องในองค์นั้นๆ องค์แรกสุดเรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” สัมมาทิฏฐิ ท่านเปรียบอุปมาไว้ซึ่งเป็นการง่ายแก่ความเข้าใจในการที่แสดงว่า ถ้าเรามี “ทิฏฐิ” คือ “ความเห็น” ถูกต้องแล้ว จะไม่มีอะไรติดขัด มันจะสำเร็จยิ่งกว่าครึ่งก็ได้ เพียงแต่มี “ทิฏฐิอันถูกต้อง” ในเรื่องที่จะกระทำนั้นๆ ข้อประพฤติต่างๆ หรือองค์ที่เหลือนั้น มันอยู่ภายใต้การนำของสัมมาทิฏฐิ ท่านจึงเปรียบอุปมาสัมมาทิฏฐิว่าเหมือนกันกับ “รุ่งอรุณแห่งธรรมทั้งปวง” รุ่งอรุณแห่งธรรมทั้งปวง มีชื่อว่าอย่างนี้ ถ้ามี สัมมาทิฏฐิ แล้ว ก็จะดึงเอาธรรมทั้งปวงมาได้เป็นแถวเป็นหางมาเลย และมีความหมายว่า เป็นนิมิตหมายอันแสดงให้รู้ว่าจะมีการกระทำที่ถูกต้องเต็มรูปแบบเกิดขึ้น เพราะรุ่งอรุณแห่งธรรมะนั้น
ทีนี้ถ้าจะเปรียบกับอย่างอื่นก็ยังได้ จะเปรียบเหมือนกับว่าเป็น มัคคุเทศก์ มัคคุเทศก์คือคนนำทาง ได้คนนำทางที่ดี ที่จริง ที่ถูกต้อง การเดินทางนั้นก็สำเร็จประโยชน์ เรามองเห็นความจำเป็นของคนนำทางในที่ที่ไม่เคยไป ในข้อนี้ก็เหมือนกันถ้ามีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้ในเรื่องนั้นๆแล้ว ก็ไม่มีปัญหา หรือจะเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ก็เปรียบกันได้กับแผนที่ ไม่ว่าจะไปที่ไหน เดินเรือหรืออะไรเขาก็มีแผนที่ รู้อย่างทั่วถึงในเขตในถิ่นที่จะไป สัมมาทิฏฐิก็มีลักษณะเหมือนอย่างนั้น หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่ง เข็มทิศ เข็มทิศที่ใช้ประกอบกันกับแผนที่ มันก็จะชี้ทิศทางหรือช่วยให้กำหนดทิศทางได้ ฉะนั้นท่านจึงถือว่าเป็นธรรมะรวบยอดด้วย ดังบาลีที่ว่า “บุคคลจะล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ” จะต้องเน้นไว้ให้ผู้ศึกษามองเห็นคุณค่าของสัมมาทิฏฐิให้เพียงพอ จนเกิดมีความสนใจความพอใจที่จะสร้างสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นหลักถือไว้เป็นอย่างดี ไม่ใช่ถืออย่างยึดมั่นถือมั่น แต่ถือด้วยการ “สมาทาน” คือ การมี การใช้อย่างถูกต้อง
ทีนี้ก็จะพูดกันถึงคำแต่ละคำ คำแรกก็คือคำว่า “ทิฏฐิ” คำว่าทิฏฐิ นี่ก็ถอดรูปมาโดยตรงจากบาลี เป็น การเห็น เพราะการดูด้วยปัญญา สัมผัสลงไปจริงๆในสิ่งนั้นๆ เป็น “ความเห็น” ไม่ใช่ “ความคิดเห็น” หรือจะเปรียบเทียบกับว่าไม่ใช่ Opinion แต่ว่าเป็น View, View คือ สิ่งที่มองลงไปตรงๆ เห็นตามที่เป็นจริง ถ้าเป็นความเห็น ความเห็นอย่างคำว่า Opinion นั้น เป็นเหมือนคาดคะเนโดยไม่ต้องเห็นตัวจริง ของจริงนั้นก็ได้ เรียกว่าสัมผัสด้วยใจ แล้วก็เห็นสิ่งนั้นตามที่เป็นจริง ไม่มีทางที่จะผิดพลาด แต่ก็ต้องปรับปรุงตระเตรียมอะไรมากเหมือนกัน ตระเตรียมจิตใจ ให้เหมาะที่มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เจริญสัมมาทิฏฐิ จึงจะเกิดการเห็นอย่างถูกต้อง โดยการสัมผัสด้วยใจ ถ้าจะเปรียบความหมายที่มีน้ำหนักมากน้อยของถ้อยคำเหล่านี้ ก็อยากจะขอให้สังเกตคำตามลำดับ
“ความรู้” คำแรก “ความเข้าใจ” คำถัดมา “ความเห็นแจ้ง” คำสุดท้าย ความรู้นั้น เพียงแต่ได้ฟังแล้วจำไว้ได้ ก็เป็นความรู้แล้ว มันเป็นแต่ความรู้ ถ้าเอาความรู้นั้นมาคิดด้วยเหตุผล ตามหลักแห่งวิธีคิด มีเหตุผล ก็เข้าใจ ก็เกิดความเข้าใจ แต่ความเห็นแจ้งไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นการสัมผัสด้วยใจ เหมือนอย่างเรารู้สึกต่อกิเลส เพราะเราเคยเกิดกิเลส ก็รู้สึกต่อกิเลส สัมผัสกิเลสนั้นด้วยใจ ก็รู้จักกิเลสดี แต่ถ้าเพียงบอกกันให้รู้ มันก็ไม่เห็นกิเลส หรือถ้าจะคิดเอา คำนวณเอา ว่ากิเลสคงจะเป็นอย่างนั้นๆ ก็ไม่เห็นกิเลส แต่ถ้าดูลงไปที่กิเลสที่มีอยู่จริงหรือเคยมีอยู่จริง มันก็ “เห็น” นี่คำว่าเห็น หมายถึงอันนี้ ความรู้นั้นผิว ผิวมาก ความเข้าใจ ลึกเข้าไปหน่อย ความเห็นแจ้งหรือที่เรียกสัมผัสด้วยใจนี้ ถึงขีดสุด ทีนี้มันก็ออกมาเป็นความเชื่อ เรารู้เท่าไรเราเชื่อเท่านั้น เราเห็นเท่าไรเราเชื่อเท่านั้น เราเห็นแจ้งเท่าไรเราก็เชื่อเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ” นี้ รวมเข้าไว้ในคำว่า ทิฏฐิ ด้วย เพราะความเชื่อมันไปตามทิฏฐิ เราจึงรวบหมดเลยว่า ความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้ง และความเชื่อนี้ “เป็นทิฏฐิ” ตามลำดับๆ แต่ที่เป็นตัวจุดความสำคัญที่สุดนั้น คือ “ความเห็นแจ้ง” นั่นเอง ความรู้ความเข้าใจนั้น ไม่ถึงขนาดที่จะเรียกว่า ความเห็นแจ้งในที่นี้
ทีนี้ก็ดูสิ่งที่เห็น สิ่งที่ถูกเห็น ก็ตามหลักอริยสัจ ๔ นั่นเอง เห็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร เห็นเหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ก็อย่างเดียวกันอีกที่จะต้องเห็นด้วยใจๆ การสอนอริยสัจเด็กในห้องเรียน เพียงแต่การบอกให้จดๆ นั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ จะต้องรู้สึกต่อความทุกข์ที่เกิดขึ้นจริงๆ นี่ถึงจะเรียกว่า “เห็นความทุกข์” แล้วใคร่ครวญจนพบว่ามันมี “เหตุ” อะไรจึงได้มีความทุกข์อย่างนี้ ในเวลานี้ มันมีเหตุจึงค้นได้ สำหรับ “ความดับทุกข์” นั้นมันก็ตรงกันข้าม เมื่อรู้จักว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ และความดับทุกข์ก็คือตรงกันข้าม คือไม่มีความเป็นอย่างนี้ และเพราะว่าดับเหตุแห่งความทุกข์ไปได้ ความดับทุกข์จึงเป็นอย่างเดียวกัน ดับเหตุแห่งความทุกข์ ทีนี้ หนทาง หนทางแห่งการปฏิบัติเพื่อจะดับเหตุแห่งความทุกข์ไปได้ ก็มีอยู่ คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้เอง
สัมมาทิฏฐิอย่างนี้กล่าวไว้ในพระบาลี เป็นสัมมาทิฏฐิที่ประสงค์สำหรับการก้าวหน้าไปสู่พระนิพพาน แม้จะไม่เล็งถึงนิพพาน ก็เล็งถึงความดับทุกข์ที่รองๆลงมา ถ้าจะแจงโดยละเอียดก็กลายเป็นเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” หนังสือปฏิจจสมุปบาทก็มีอยู่แพร่หลาย หามาตรวจดูแต่ละข้อๆ ๑๒ ข้อ ๑๒ ขั้น คือ ๑๒ ห่วง ก็จะเห็นอริยสัจ ชนิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้นไป ถ้าอย่างธรรมดาก็เห็นเพียงอริยสัจ ๔ ถ้าอย่างเต็มที่พิเศษก็เห็นโดยปฏิจจสมุปบาท สำรวจเอาจากหนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ยังมีทางที่จะเห็นอย่างอื่นอีก ซึ่งจะสะดวก หรือไม่ยืดยาวไม่ต้องฉลาดมาก ไม่ต้องยุ่งยากมากก็ยังมี คือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังขาร เห็นความทนยากคงตัวอยู่ได้ยากของสังขาร เห็นความที่ไม่ใช่ตน ไม่ควรจะถือว่าเป็นตัวตนของสังขาร ที่เรียกว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องดูที่ตัวจริงอีกเหมือนกัน เราก็สอนกันในโรงเรียน แล้วก็มีคำอธิบายเยอะแยะ แล้วมันไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องมาทำจิตให้เหมาะสมคือเป็นสมาธิแม้ไม่สมบูรณ์ ก็เป็นสมาธิเพียงพอ จิตชนิดนี้ก็ว่องไวเฉียบแหลมพอที่จะสังเกตเห็นอะไรต่างๆได้ เช่น มองเข้าไปในตัวเอง ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละส่วนๆ ของร่างกาย และแม้ที่เป็นความรู้สึก ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ความสุข ความทุกข์ กำหนดดูเรื่อยไป จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปจนกว่าจะดับ ดับแล้วก็จะเกิดใหม่อย่างอื่นสืบต่อกันไป อย่างนี้เรียกว่าเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเข้าที่เรียกว่า สังขาร
สังขารแปลว่า ปรุง เมื่อพูดว่า ปรุง มันก็ต้องหมายถึงมีของหลายอย่าง มันถึงจะเป็นการปรุง เห็นอนิจจัง แล้วก็เป็นเหตุให้เห็นทุกขังได้โดยไม่ยาก ทุกขังนี่ สังขารที่มีชีวิตจิตใจมันก็รู้สึกเป็นทุกข์ได้ด้วยตัวของมันเอง สังขารที่ไม่มีชีวิตจิตใจเหมือนก้อนหินอย่างนี้ ผู้ดูจะต้องดูในลักษณะว่ามันก็มีความเปลี่ยนแปลง และมันก็ทนอยู่ไปไม่ได้อย่างนี้ มันจะต้องเป็นอย่างอื่น แต่ว่าไม่ควรจะยึดถือโดยความเป็นตัวตนเหมือนกันทั้งนั้น
เรื่องไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นตัวตนนี่สำคัญ คือเป็นตัวเรื่องทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็น อนัตตวาที มีวาทะว่า ไม่ใช่ตน เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ยังมีอีกสองคำ ที่มีน้ำหนักมากคือ เห็น “สุญญตา” ถ้าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเพียงพอแล้ว ก็เห็นสุญญตา รวมกันเป็นสุญญตา หรือ ว่าง จากตัวตน ว่าง จากความหมายแห่งตัวตน หรือ ไม่มี สิ่งที่ควรจะเรียกว่าตัวตน ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี ที่ไหนๆก็ดี ไม่มีสิ่งที่ควรเรียกว่า ตัวตน แม้พระนิพพานอันสูงสุดก็ “เป็นตัวตนไม่ได้” ก็คงเป็นพระนิพพานเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง หรือจะไม่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์
ถ้าศึกษาเรื่องจิตปรุงแต่งกันอย่างไร กิเลสเกิดขึ้นอย่างไรให้เห็นชัดแล้ว จะเห็นว่ามันไม่มีตัวตน มันเป็นส่วนประกอบหลายส่วน ประกอบกันเข้าแล้วก็สำเร็จรูปเป็นอะไรอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างนาฬิกาเรือนหนึ่ง ประกอบด้วยส่วนหลายส่วน สำเร็จถูกต้องในการประกอบแล้ว มันเดินได้ มันกระดุกกระดิกได้ เหมือนกับว่าเป็นตัวตน เป็นชีวิต เช่นเดียวกัน ไม่ว่าร่างกายนี้จะมีส่วนประกอบของร่างกายครบถ้วนทุกๆระบบ มีจิตคิดนึกได้ เคลื่อนไหวได้ ทำอะไรได้ แต่ขอให้ดูเหมือนกับว่าเป็นเครื่องจักรเคริ่องหนึ่งเป็นรถยนต์คันหนึ่ง หรือว่าเป็นเครื่องจักรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมันกระดุกกระดิกได้เคลื่อนไหวได้ ดูคล้ายกับมีชีวิต การเห็นสุญตานี้ เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่ง
อีกข้อหนึ่งคือ คำว่า “ตถาตา” ตถาตาหรือ “ตถตา”ก็ได้ ตถาตาก็ได้ แปลว่า ความเป็นเช่นนั้น ความเป็นเช่นนั้น ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นโดยประการอื่น แต่เป็น “อิทัปปัจจยตา” คือเพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี นี่เรียกว่า เช่นนั้น เช่นนั้น มันเป็นเช่นนั้น คือเช่นไหน คือมันเป็นเช่นที่มันเป็นอยู่ ถ้ามีสิ่งนี้เป็นต้นเหตุจึงมีสิ่งนี้ หรือสิ่งนั้นกลายเป็นเหตุจึงมีสิ่งโน้น สิ่งโน้นกลายเป็นเหตุ แล้วจึงมีสิ่งนู้น เรื่อยๆๆไปนี่ มันเป็นเช่นนั้นเอง มีความหมายว่า ไม่ใช่ตน รวมอยู่ด้วย แต่ความหมายสำคัญของคำๆ นี้คือให้เห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อย่าไปหลงรัก อย่าไปหลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรทุกอย่าง ถ้าเราไม่รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เดี๋ยวก็ไปรักสิ่งที่ดูน่ารัก ไปโกรธที่น่าโกรธ ไปเกลียดที่น่าเกลียด แล้วก็ไปกลัวที่น่ากลัว นี่คือคนธรรมดาเรา ยังไม่เห็น “ตถตา” ที่เพียงพอ ก็เลยมีปัญหาเรื่องความรัก โกรธ เกลียด กลัว
ทีนี้ที่เรียกว่า เห็นโดยชอบ สัมมา สัมมาทิฏฐิ แปลว่า เห็น สัมมาแปลว่าโดยชอบ เห็นชอบ ทีนี้ เห็นที่ไหน? นี่จึงจะต้องรำลึกกันไว้ตลอดเวลาว่า “เห็นที่ตัวจริง” เห็นที่ตัวจริง เป็นการเห็นแบบ “สันทิฏฐิโก” เห็นที่ตัวจริงที่จิตสัมผัสอยู่ เป็นความรู้สึกเมื่อได้ผ่านสิ่งนั้นๆ ด้วยจิตใจ ความเจนจัดหรือความอะไรแล้วแต่จะเรียก เห็นภาษาฝรั่งที่ใช้กันอยู่เรียกมันว่า Spiritual Experience คือ Experience ทางวิญญาณ Spiritual Experience สิ่งนี้มันต้องผ่านไปจึงจะรู้จัก อย่างเช่นว่าเราเคยผ่านความทุกข์ เคยผ่านความสุข เคยผ่านกำไร เคยผ่านขาดทุน เคยผ่านการแพ้ ผ่านการชนะมาแล้ว เป็นต้น แล้วเราก็รู้จักสิ่งนั้นๆ ดี อย่างนี้เราเรียกว่ามี Experience ด้านนามธรรม ฝ่ายนามธรรม หรือ ฝ่ายจิตใจ เห็นที่นั่น...
เห็นโดยชอบนี่ ก็มีปัญหานิดหน่อย คือว่าในทางตรรกะ หรือทาง Philosophy เขาก็บัญญัติถ้อยคำเหล่านี้เหมือนกันว่า ถูกคืออะไร ผิดคืออะไร ดีคืออะไร ชั่วคืออะไร แต่มันค่อนข้างจะยืดยาด ดิ้นได้ ไม่ค่อยจะแน่นอน ถ้าในทางพุทธศาสนานี้ ถ้าใช้คำว่า ถูก หรือ ถูกต้องละก็ ไม่มีปัญหาอะไร คือจำกัดความหมายให้ว่า ไม่ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ใด ให้คุณแก่ทุกฝ่าย ไม่ให้โทษแก่ผู้ใด แต่ให้คุณแก่ทุกฝ่าย นั่นน่ะคือถูกต้อง ถูกต้องไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องอ้างเหตุผลอะไรกันให้มากมาย เห็นถูกต้อง เหมือนกับว่าความเห็นนั้นมันมีประโยชน์ไม่ให้เกิดทุกข์โทษแก่ฝ่ายใด คือฝ่ายผู้เห็นหรือฝ่ายผู้ร่วมด้วย และกลับมีประโยชน์ ทำสิ่งที่ควรจะทำได้ตามความต้องการ
ทีนี้สิ่งสุดท้ายที่จะดู คือ อิทธิพลของการเห็น เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ หรือ ทิฏฐิที่ถูกต้องแล้วมันมีอิทธิพลอะไรเกิดขึ้นแก่จิตใจ นี่ก็มองได้เป็นหลายๆ มุมหลายๆ แง่ เมื่อเห็นสิ่งใดอย่างแจ่มแจ้ง ก็ทำให้รู้จักสิ่งนั้นๆ ชนิดที่เป็นความรู้ประจักษ์ เป็นความรู้ที่ประจักษ์ ไม่ใช่สลัว หรือไม่ต้องอาศัยการคำนวณอะไรกันอีก เห็นโดยชัดเจน จนไม่มีปัญหาอะไรเหลือ ทีนี้ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบของปัญญา เมื่อยังไม่เห็นแจ่มแจ้งมันก็เป็นปัญญาชนิดท่องจำ ปัญญาชนิดคำนวณ แต่ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบปัญญา คือเป็นปัญญาชนิดที่ เห็นแจ้งแทงตลอด กลายเป็นสูงกว่าความรู้ธรรมดา
มันมีความหมายของคำว่า Realize ทางฝ่ายจิตใจ หรือกลายไปเป็นคำที่เรียกว่า Wisdom และก็เป็นชนิดที่ละเอียดลึกซึ้งในภายใน คือที่เรียกว่า Intuitive และประจักษ์เฉพาะตนที่เรียกว่า Subjective นี่พูดกันให้ถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นชอบเป็นไปถึงที่สุด ต่อไปมันก็ทำลายความเชื่องมงายตามที่ได้สั่งสมมา เราเกิดมาจากท้องแม่ ไม่ได้เอาความรู้อะไรมาด้วยเลย ก็คิดนึกไปตามความรู้สึกหรือตามที่เขาแวดล้อมอบรมให้ มันก็มีความเชื่อที่งมงาย เขาหลอกว่ายักษ์ ก็กลัวยักษ์ เขาหลอกว่าผี ก็กลัวผี หลอกให้กลัวตุ๊กแก ก็กลัวตุ๊กแก อย่างนี้ ความเชื่ออย่างนี้มันเป็นสิ่งที่หลีกไม่ได้ มันได้กลายเป็นสะสมๆๆเข้าไว้
เดี๋ยวนี้ได้เรียนรู้มาถึงขนาดนี้ มีสัมมาทิฏฐิก็เลยไม่ต้องกลัวสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องให้ใครมาหลอกเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ แล้วก็ไม่เพิ่มความงมงายใหม่ๆ คือ ความรู้ในทางไสยศาสตร์ในชั้นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าก็ยังมี ก็ไม่ตกลงไปในความรู้งมงายชนิดนั้นด้วยเหมือนกัน มีสัมมาทิฏฐิทำลายความเชื่อ ความงมงายที่สั่งสมมา และป้องกันที่จะเกิดขึ้นใหม่ เราเรียกว่าสัมมาทิฏฐิแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จะเรียกว่าความทุกข์ก็ได้ จะเรียกว่าปัญหาก็ได้ เพราะว่ามันก็ศัตรูเหมือนๆกัน ถ้าเรียกว่าปัญหามันก็ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก เหมือนกัน ความทุกข์ก็ทำให้เกิดความทุกข์ทนทรมานเหมือนกัน ต้องกวาดล้างไปด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อสัมมาทิฏฐิถูกต้องถึงขนาดอย่างนี้แล้ว ก็สามารถจะนำองค์มรรคองค์อื่นๆ หรือข้อปฏิบัติอื่นๆ สัมมาทิฏฐิจะนำไปได้หมด นี่เราเรียกว่า อิทธิพลของการเห็นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีมากถึงอย่างนี้
ทีนี้ เราจะนำมาใช้เป็นหัวข้อของจริยธรรม เราจะนำสัมมาทิฏฐิมาใช้เป็นหัวข้อหรือหัวข้อย่อยก็แล้วแต่ของจริยธรรม ใช้อย่างจริยธรรมในการศึกษาในการปฏิบัติ เราจึงมองดูหรือมองหาสิ่งที่มีความหมายแห่งสัมมาทิฏฐิ ดูความหมายสิ่งที่มีความหมายแห่งสัมมาทิฏฐิ ซึ่งในการประชุมคราวก่อน เราเลือกคัดกันได้ ๑๓ หัวข้อ หัวข้อย่อย ข้อนี้ก็พอจะมองเห็นได้แต่ละข้อๆ อาตมาก็ไม่ต้องอธิบายละเอียดลอออะไรนัก ขอขยายความโดยย่อ
ข้อ ๑ ความมีการศึกษามากพอ นี่เป็นตัวบท ความมีการศึกษามากพอ คำว่า “พอ” คือ “พอแก่สถานะของตนของตน” ว่าตนเป็นอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร อยู่ในระดับไหน ต้องมีความรู้ที่เกี่ยวกับสถานะแห่งตนๆ อย่างเพียงพอ คำว่า “อย่างเพียงพอ” ก็คือ “เฉพาะเท่าที่ควรรู้” ไม่รู้จนเหลือเฟือ จนไม่รู้จะใช้อะไร จะกลายเป็นความรู้ท่วมหัว ทุกคนจะมุ่งหมายรู้ เท่าที่สมควรจะรู้ แม้จะใช้คำว่า “จำเป็นจะต้องรู้” ก็ยังได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รู้ไปเสียทุกอย่างๆ จนในที่สุดก็ไม่มีอะไรรู้จริง ต้องเพียงพอแก่สถานะของตน เท่าที่มีหน้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร
ข้อ ๒ การเห็นความจริงของธรรมชาติ นี่ตามหัวข้อที่พิมพ์ไว้แล้ว เห็นความจริงของธรรมชาตินี่ หมายถึงธรรมชาติทั้งสองฝ่าย ฝ่ายวัตถุก็ได้ ที่สำคัญและที่ต้องการคือฝ่ายจิตใจ จิตเป็นอย่างไร กิเลสเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร ตามกฎเกณฑ์ของมันอย่างไร พูดให้สั้นๆ ก็ว่า เห็นสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของ “อิทัปปัจจยตา” เห็นความจริงของธรรมชาติต้องเห็นอย่างสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก ต้องเน้นว่า สันทิฏฐิโก ให้มากพอ คือ เห็นด้วยตนเอง เห็นซึ่งตนเอง เห็นด้วยตนเอง เห็นเพื่อตนเอง ความเห็นอย่างนี้ป้องกันไสยศาสตร์ ถ้าเห็นความจริงของธรรมชาติมันป้องกันการตกไปสู่ไสยศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ความจริงของธรรมชาติ เป็นความจริงชั่วคราวตามที่ปลุก หรือปลูก หรืออะไรกันขึ้นมาให้เห็นเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ นี่เป็นไสยศาสตร์ ถ้าเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติ ไม่มีคำว่าขลัง ไม่มีคำว่าศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามันออกไปนอกแนวของธรรมชาตินี่ ถึงจะมีคำว่าขลัง หรือ ศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรเกิดขึ้น
ข้อที่ ๓ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมีเหตุผล นี่ก็เป็นหลักทั่วๆไปที่พูดกันอยู่เป็นประจำ อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ใช้เหตุผลเป็นเครื่องประกอบการคิด นึก พิจารณา หรือแม้แต่ศึกษา ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะลุอำนาจแก่กิเลสคือไม่ผลุนผลันไม่สะเพร่านั่นเอง แต่ละข้อนี่ครูผู้สอนจะแยกแยะเอาได้เอง ให้ไว้แต่ใจความที่เป็นสังเขป
ข้อ ๔ การรู้จักความถูกต้องหรือพอดี คำว่าถูกต้องแล้วยังมีคำว่า “พอดี” กำกับด้วย มันถูกต้องเกินพอดี มันมากเกินไป หรือมันถูกเกินไป มันก็จะกลายเป็นผิด รู้จักความถูกต้อง หรือพอดี คำว่าพอดี อธิบายได้ด้วยหมวดธรรมที่แพร่หลายที่สุดหมวดหนึ่งคือ “สัปปุริสธรรม ๗” เอาข้อความของสัปปุริสธรรม ๗ นี่มาอธิบายคำว่า “พอดี” รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล ว่ามันเป็นอย่างไรแล้วก็ทำให้พอดีแก่สิ่งนั้นๆ อาศัยหลักสัปปุริสธรรม ๗ อธิบายข้อนี้ หรือแม้ที่สุดแต่ มัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั่นเอง ความถูกต้องและพอดียิ่งกว่าสิ่งใด
ข้อ ๕ มีความเชื่อมั่นในตนเอง นี้เป็นจริยธรรมสากลที่มากันเป็นกลุ่มว่า รู้จักตัวเอง ไว้ใจตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตนเอง เคารพตนเอง ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะพูดกันเสียแล้ว เพราะไปหลงเรื่องอื่น เรื่องทางจิตใจที่ดีๆ แต่เก่าๆ นั้นไม่ค่อยจะได้ยินพูดกันแล้ว ความเชื่อมั่นในตนเอง คำว่า “มั่น” นี่ ระวังหน่อยอย่าให้เป็น ยึดมั่น ถือมั่น มันจะกลายเป็นยึดมั่น เป็นตัวกู ของกู ความเชื่อมั่น คือ เชื่อความสามารถของตนเอง เพราะว่ารู้จักตัวเอง เดี๋ยวนี้รู้จักตัวเองแล้ว รู้จักถึงกับเคารพตัวเองว่าตัวเองมีค่าๆ ทำเช่นนี้ได้จะมีประโยชน์ที่สุด จึงเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง มีประโยชน์ทันทีคือ มีความสุขและนอนหลับสบาย ผู้ที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะลำบาก แม้แต่นอนก็หลับไม่สนิท
ข้อ ๖ การยอมรับความเปลี่ยนแปลง ข้อนี้ก็เป็นธรรมสำคัญมาก ยอมรับสภาพเปลี่ยนแปลง เพื่อทำตัวให้เข้ากันได้กับความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะสูญพันธุ์ สูญพันธุ์อย่างไดโนเสาร์ที่เคยเรียน เคยรู้กันมาแล้ว ว่าสัตว์ชนิดไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป เพราะไม่รับสภาพการเปลี่ยนแปลง รับไม่ได้ หมายถึง การทำตัวให้เข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือแม้ที่เป็นธรรมชาติล้วนๆ มีความหมายกว้างมาก การยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดยทางวัตถุ โดยทางร่างกาย โดยทางจิต โดยทางสติปัญญา เพราะว่า สิ่งทั้งปวงมันต้องเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงมันเป็นอำนาจของธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลง เราจะไปหวังอะไรให้ธรรมชาติมันเที่ยงแท้ มันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฤดูกาลต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง มันไม่ได้คงที่ จึงต้องปรับทุกอย่างให้ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ว่าพอเราเติบโตขึ้นมาจากเด็กทารก เราต้องรับสภาพความเปลี่ยนแปลงๆ แล้วก็เปลี่ยนแปลงมาด้วยกันเรื่อย มันมีมาตั้งแต่เป็นทารก ยิ่งมาเข้าโรงเรียน ก็ยิ่งต้องรับสภาพการเปลี่ยนแปลงมากถึงมากที่สุด จนกว่าจะเรียนจบ
ข้อ ๗ ความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบเป็นการยืนยันในความถูกต้องของตน หรือว่ารักษาเกียรติของตนไว้ ไม่หลบหลีก ไม่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และอาจจะมากไปจนถึงกับว่ารับผิดชอบแทนผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาที่โยนความผิดไปให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชารองๆลงไป ว่าเพราะเขาทำเสีย แต่ถ้ามีจริยธรรมข้อนี้ละก็ จะยอมเป็นผู้รับผิดชอบแทนลูกน้อง รับผิดชอบแทนเพื่อนบ้าน รับผิดชอบแทนเพื่อนที่ร่วมการงาน เช่น เราอยู่ในหมู่บ้านนี้ หมู่บ้านนี้เกิดอะไรขึ้นซึ่งไม่น่าดู เราซึ่งอยู่ด้วยคนหนึ่งในหมู่บ้านนั้น ก็ยอมรับผิดชอบ ยอมสารภาพว่าเป็นความบกพร่อง ให้น้ำใจมันกว้างถึงขนาดนี้ในการที่จะรับผิดชอบ รับผิดชอบแทนผู้อื่นได้ ยอมรับผิดชอบด้วย เป็นเหตุให้อยู่กันอย่างผาสุก อยู่กันอย่างสะดวกสบาย
ข้อ ๘ ความมีน้ำใจ เป็นธรรม ไม่ลำเอียง นี่เห็นชัด ไม่มีอคติ แม้เพื่อตัวเอง ที่มีอคติลำเอียงอะไรๆเพื่อตัวเองนั้น ที่จริงเพื่อกิเลสทั้งนั้นแหละ ตัวเองมันก็ไม่มีโดยแท้จริง มันมีกิเลส และกิเลสมันก็ออกมาเป็นตัวเอง หาความลำเอียงเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง โดยเนื้อแท้มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็มีน้ำใจเป็นธรรมไม่ลำเอียง ดูเรื่องอคติทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในแบบเรียน
ข้อ ๙ การรู้จักทำชีวิตให้เป็นชีวิตเย็น พูดตรงๆ คือ ทำให้รู้จักเป็นเด็กที่เย็น ไม่เป็นเด็กร้อน เขาจะต้องรู้จักความร้อนว่ามีอยู่อย่างไรเพราะเหตุไร เมื่อร้อนตัวเขาจะถูกลงโทษ ร้อน ร้อนยิ่งกว่าไฟ เมื่อรู้จักกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำผิดเหล่านั้น...ก็ไม่ทำ ก็เกิดความเย็นคือว่างจากไฟ เว้นจากไฟ คำว่าเย็นนี้ เป็นความหมายของคำว่า นิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น แปลว่าไม่มีไฟ คือ กิเลส และก็มีลักษณะ สะอาด สว่าง สงบ ชีวิตเย็น นี่หัวข้อที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นโดยเฉพาะมีอยู่เท่านี้ ทีนี้ก็ ต่อไปก็ที่เนื่องไปถึงสังคม
ข้อ ๑๐ ความไม่เห็นแก่ตัว หมายถึงขั้นพื้นฐานของศีลธรรม หรือจริยธรรม ไม่ได้หมายถึงหมดกิเลส หมดตัวตนอย่างกิเลส นั่นมันอีกชั้นหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ หรือถ้าเพ่งเล็งด้วยก็ดีเหมือนกัน ความไม่เห็นแก่ตัว ภาษาโลก ชาวบ้านนี้ ก็เอาใจใส่ผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นี่เป็นพื้นฐานชั้นจริยธรรม แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติจนหมดความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน ไม่มีตัวตน กลายเป็นพระอรหันต์ไป นี่ขอให้เห็นความสำคัญของคำว่าไม่เห็นแก่ตัวนี่ให้มากพอ ใช้อย่างต่ำๆ ก็ได้ เป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง เห็นแก่ตัวจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำบาปทุกอย่าง เพราะมีความเห็นแก่ตัว ไปฆ่าเขาบ้าง ไปขโมยเขาบ้าง ไปประพฤติล่วงของรักของพอใจเขาบ้าง พูดเท็จบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทุกอย่างที่มันไม่น่าปรารถนา อบายมุขก็เพื่อเห็นแก่ตัวของกิเลส หาความเพลิดเพลินให้แก่กิเลส
ข้อ ๑๑ การรับรู้ต่อบุคคลที่ควรรับรู้ คำว่า “รับรู้” นี่เป็นคำกว้าง ความมันกว้าง มันหลวมได้ รับรู้ หมายถึง “รับรู้ในหน้าที่ที่จะต้องประพฤติต่อกัน” ความจริงมันต้องรับรู้สำหรับบุคคลทุกคน เช่น รับรู้ว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา แม้เขาเป็นคนขอทานอยู่ เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ถ้าเรายอมรับรู้อย่างนี้ เราก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นคนขอทาน เป็นต้น ฉะนั้นรับรู้ได้ตั้งแต่บุคคลต่ำสุด สมมติว่าเป็นขอทาน กระทั่งบุคคลสูงสุด เป็นมหาจักรพรรดิหรือจะที่เรียกว่าเทวดาก็สุดแท้ เรายอมรับรู้ว่ามีอยู่ ไม่ใช่ ไม่รู้ ไม่ชี้ ไม่เอาใจใส่ ไม่ประพฤติต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างถูกต้อง แล้วมันก็รวมไปถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน เช่น หน้าที่ บุคคลมีฐานะต่างๆกัน ก็มีหน้าที่ต่างๆกัน จะต้องรับรู้ในหน้าที่ของตนเองหรือของผู้อื่นทุกคนด้วย
ข้อ ๑๒ การเคารพบูชาที่ถูกต้อง การเคารพหรือความเคารพนี้เป็นสิ่งที่ต้องมี โดยเฉพาะในด้านจิตวิทยาแล้ว บุคคลต้องมีที่เคารพ ถ้าอยู่อย่างไม่มีที่เคารพนั่นว้าเหว่ แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านยังมีที่เคารพ คือธรรมะที่ตรัสรู้ เคารพบุคคลที่ควรเคารพ อย่างถูกต้อง คำว่าเคารพเป็นคำต่ำหน่อย คำว่าบูชามีน้ำหนักกว่า นี่รวมกันทั้งเคารพและบูชา เพราะว่าต้องการจะกล่าวถึงทุกสิ่ง อยู่อย่างเสมอกัน จะเป็นทุกข์ นี่มีพระบาลีว่าอยู่อย่างเสมอกันจะเป็นทุกข์ ถ้าอยู่อย่างมีที่เคารพหรือมีการเคารพแก่กันและกันตามลดหลั่นลงไป จะป้องกันความยุ่งยากเหล่านั้นได้ ความเคารพก็เลยไปถึงความเชื่อฟัง เคารพตามแบบสติปัญญา มีเหตุผลที่ควรเคารพบูชา และต้องไม่เป็นไสยศาสตร์ เช่น เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่จอมปลวก ก็นั่งไหว้นั่งบูชากันได้ เคารพอย่างนี้มันเป็นไสยศาสตร์ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ก็มีเหตุผลว่า บุคคลนี้เป็นอย่างไรทำไมจึงต้องเคารพ นี่ถามให้เด็กนักเรียนนึกเอาเองว่า ทำไมเราจึงต้องเคารพพ่อแม่ เขาเป็นเด็กที่ไม่เคารพพ่อแม่อยู่ แต่เรากลับถามเขาว่าทำไมเราจึงต้องเคารพพ่อแม่ มันจะเป็นเหตุให้เขานึกได้ว่าควรจะเคารพพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นอย่างนั้นๆ เรียกว่าทุกๆ ปรมาณูชีวิตร่างกายของเรานี่ ได้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่เลี้ยงดูมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และก็มีความรักเรายิ่งกว่าใครๆ ในโลก
ข้อ ๑๓ คุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน นี่หัวข้อมีคุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน คำว่าอยู่ร่วมกันๆ นี่เป็นความมุ่งหมายของธรรมชาติ แล้วแต่ธรรมชาติจัดให้เป็นความรู้สึกที่เกิดเอง คือ สัญชาตญาณ หรือ Instinct มาด้วยเสร็จ คนหรือสัตว์จึงอยู่เป็นกลุ่มๆ ไม่อยู่โดดเดี่ยว เพราะว่าอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ หรือว่า ไม่เป็นสุขก็ตาม ความรวมกลุ่มกันนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องมี ทีนี้ต้องมีอะไร อะไรที่ทำให้มันรวมกลุ่มกันอยู่ได้ ตามหลักธรรมะ ตอบคล้ายกับกำปั้นทุบดิน ถ้าความเสมอกันในสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน เรามีความรู้สึกอย่างเดียวกัน มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน มีการกระทำอย่างเดียวกัน มีการพูดจาอย่างเดียวกัน ในสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน ให้มีเสมอๆ กัน อันนี้เป็นคุณธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกัน เช่น ในประชาธิปไตยก็ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ๆ จึงจะช่วยในการอยู่ร่วมกัน เราจะมองลึกตามแบบของศาสนาว่า ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ถ้ารู้สึกอย่างนี้หรือยึดถือข้อนี้เป็นหลัก มันก็จะหาทางที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยสะดวกสบาย มีคุณธรรมประพฤติต่อกัน และกันในระหว่างเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าจะระบุสักชื่อหนึ่งๆ ก็ยังจะต้องระบุที่ “ความไม่เห็นแก่ตัว” นั่นแหละ ที่เป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันได้สนิทสนมกลมกลืน เหมือนน้ำกับน้ำนม นี่ถ้าพูดตามสำนวนบาลี ท่านอุปมาด้วยน้ำกับน้ำนมปนกันได้สนิท แต่ถ้าน้ำกับน้ำมันน่ะปนกันไม่ได้ ทีนี้ต้องการความกลมกลืนขนาดน้ำกับน้ำนมก็มีคุณธรรมสำหรับประพฤติปฏิบัติ ก็เห็นแก่ผู้อื่น เห็นผู้อื่นเหมือนกับตนเอง ผู้อื่นก็ต้องการเหมือนกับเรา แล้วก็มีปัญหาเหมือนกับเรา คือ ยุ่ง ปัญหาเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกับเรา มันก็ไม่เห็นแก่ตัว ระบุไปยังความไม่เห็นแก่ตัวนั่นน่ะ เป็นคุณธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกัน
นี่อาตมาก็ได้ขยายใจความของหัวข้อ ๑๓ ข้อ แห่งองค์ที่ ๑ คือสัมมาทิฏฐิ ขอให้สังเกตเป็นตัวอย่างแล้วก็จะสามารถขยายได้เอง ลองเทียบเคียงดูให้เป็นตัวอย่างแล้วก็ขยายความของหัวข้อของมรรคทุกๆ องค์ได้ ทีนี้อีกสิ่งหนึ่งที่จะถือโอกาสกล่าวในตอนนี้ๆ เป็นตัวอย่างอีกเหมือนกัน คือ วิธีอบรมฝึกฝนสั่งสอน คำนี้แล้วแต่จะยุติ การสั่งสอนมันก็มีความหมายหนึ่ง การฝึกฝนมันก็มีความหมายหนึ่ง การอบรมก็มีความหมายหนึ่ง สั่งสอน คือทำให้รู้ ฝึกฝน คือให้ทดลองดู อบรม คือรมให้ติดเป็นนิสัย ให้รู้เรื่องดีๆ ให้ลองฝึกดู แล้วให้มันติดอยู่เป็นนิสัย จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ มันยืดยาว วิธีการของการทำให้มีจริยธรรม สำหรับหลักโครงการชุดนี้อาตมานึกเห็นอย่างนี้ คือ
หนึ่ง มีตัวบทที่ชัดเจน ตัวบทหัวข้อจริยธรรมที่ชัดเจนเหมือนอย่างที่ว่ามาแล้ว เช่นว่า มีการศึกษามากพอนี่ ตัวบทชัดเจนจนนักเรียนเข้าใจได้ ต้องทำกันจนเข้าใจได้ว่ามีตัวบทชัดเจน เพื่อจะได้จำไว้คล่องปากคล่องใจ นี่เรียกว่ามีตัวบทชัดเจน จะมีกี่สิบข้อ แต่ละข้อมีตัวบท ซึ่งวางไว้อย่างชัดเจน ทีนี้ ก็บอกเหตุผล
ข้อที่สอง ก็บอกเหตุผลที่ต้องเป็นเช่นนั้น ที่ต้องทำเช่นนั้น ทั่วกันทั้งโลกเลย ไม่ใช่เฉพาะเธอสองสามคน คนทั้งโลกก็จะต้องทำเช่นนั้น ให้เหตุผลให้เพียงพอ บางทีถามตัวผู้เรียน เด็กผู้ศึกษาเองว่ามันมีเหตุผลอย่างไร ทดลองคิดดู เช่น ถ้าเราไม่มีการศึกษามากพอนี่จะเกิดอะไรขึ้น ก็อธิบายเหตุผลที่ขอร้องให้พอใจในการศึกษาที่มากพอ
ที่นี้สาม มีบทอธิษฐาน จะเรียกว่าบทอาขยาน หรือบทอะไรก็สุดแท้ ผูกให้ไพเราะ สำหรับปฏิญาณตัวอยู่เสมอ เหมือนกับวิธีที่ลูกเสือปฏิญาณตัว เช่นในข้อ ๑ นี้ ก็จะมีบทปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะต้องมีความรู้พอตัว ให้เขาอธิษฐานอยู่ตามโอกาสตามเวลา เหมือนกับวิธีการทางศาสนา จะต้องอธิษฐานหลักเกณฑ์วัตถุประสงค์หรืออะไรก็ตาม ตามที่กำหนดให้ ตามที่วางไว้ ทีนี้เราต้องการให้นักเรียนของเรามีการอธิษฐานในเวลาที่ควรอธิษฐาน ถ้ามีห้องพระก็มาประชุมกันในห้องพระ แล้วแต่จะจัดก่อนเข้าเรียน หรือ เลิกเรียน ผูกบทที่จะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจักต้องอย่างนั้นๆๆๆ ไปทุกหัวข้อ แล้วแต่วันไหนจะสอนอะไร แม้ว่ามันจะมากเป็นถึงหลายสิบข้อ มันก็ไม่ยากเย็นอะไร ข้าพเจ้าจักต้องมีความรู้พอตัว เพื่อให้เขาหมายมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติข้อนั้นให้ได้
ข้อที่สี่ ยอมให้เพื่อนตักเตือนทักท้วง อบรมให้นักเรียนทุกคนมีนิสัยยอมให้เพื่อนตักเตือน หรือทักท้วง คือ รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าต้องการให้เป็นการตักเตือนทักท้วงด้วยความรัก ด้วยความเมตตา มีระบบเหมือนกับ ปวารณา ของพระสงฆ์ พระสงฆ์ออกพรรษา มีการปวารณาอนุญาตให้ทุกคนตักเตือนตนด้วยความรัก และเมตตา นักเรียนในโรงเรียนจะต้องมีระบบนี้ ระบบปวารณา ให้เพื่อนว่ากล่าวตักเตือนได้ ไม่ชกปาก ยังไม่มีใครเคยทำ ก็น่าจะทำ เป็นการลดกิเลสมากทีเดียว เรียกว่าเป็นผู้ยอม ยอมฟัง ยอมพิจารณา มีการปวารณาเป็นทางการในบางวันว่า ข้าพเจ้าจะยอมให้เพื่อนตักเตือนทักท้วง ก็เขียนบทคำตักเตือนทักท้วงขึ้นให้เหมาะสม นี่เป็นเพียงแนะในส่วนหลักการ
ข้อห้า มีการสารภาพบาป แม้จะดูคล้ายๆ คริสเตียน ฟังดูคล้ายคริสเตียน มีการสารภาพบาป ไม่มีโรงเรียนไหน ในฝ่ายชาวพุทธที่จะให้นักเรียนสารภาพบาป แต่ในฝ่ายคริสเตียน ให้นักเรียนสารภาพบาปในโบสถ์ในโรงเรียน การที่มีบาป คือ ความผิดที่ปิดเงียบไว้ มันงอกงาม มันเจริญงอกงาม นิสัยทำบาปมากขึ้นมันจะเกิดขึ้น นี่ต้องสร้างนิสัยสารภาพบาปขึ้นมาได้ก็เป็นการดี ก็มีความรู้สึกว่าทำผิดแล้ว เสียใจตัวเอง อยากจะกลับตัว ดูเหมือนเรียก Repentance คำนั้นมีความหมายมาก ไม่มี Repentance คือ ไม่มีความรู้สึกว่าผิดแล้วอยากจะกลับตัวแล้ว มันก็ไม่มีการสารภาพ แล้วก็ไม่ละอาย ถ้ามีคุณธรรมข้อนี้มากพอ ก็ข่มความละอายได้ ก็ไปบอกเพื่อน แล้วสารภาพกับเพื่อน ให้เหมือนกับพระปลงอาบัติแก่กันและกันก็ได้ ไปสารภาพกับครูบาอาจารย์ก็ได้ ขอให้มีการสารภาพความผิด ด้วยจิตที่เกลียดกลัวความผิด ไม่ทำผิดต่อไป จนเกิดเป็นนิสัย นี่เรียกว่าใช้ได้ มันออกจะแปลกไปนะเรื่องนี้
ทีนี้ข้อสุดท้าย ปฏิบัติธรรมะ จริยวัตร หรือ จริยธรรม ตามที่มีอยู่นี้ ประพฤติจริยธรรมตามกฎของจริยธรรมจนรู้สึกเป็นสุข ธรรมดาเมื่อต้องประพฤติปฏิบัติอะไรนี่ ก็รู้สึกเหมือนถูกลงโทษหรือถูกทรมาน เพราะมันไม่เข้าถึงหัวใจของสิ่งที่ปฏิบัติ ถ้าเข้าถึงหัวใจของสิ่งที่ปฏิบัติ แม้จะปฏิบัติต้องอดทนจนน้ำตาไหล ก็ยังรู้สึกเป็นสุข ประพฤติธรรม จริยธรรมจนรู้สึกเป็นสุข พอใจว่าเรามีธรรมะหรือมีจริยธรรม คอยระวังรักษา เพราะเดี๋ยวนี้จิตใจมันเปลี่ยนมาในทางฝ่ายทางดี มันก็มีสติที่จะคอยระมัดระวังรักษาไว้ อย่าให้ต้องไปสารภาพบ่อยๆ แม้จะไปสารภาพบาปก็ต้องรู้สึกเป็นสุข ไม่ใช่ละอาย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกที่จริง และเป็นสิ่งที่จะช่วยเหลือเราให้ดีขึ้น เป็นสวัสดิมงคลแก่เราเอง แม้ว่าเป็นสิ่งที่น่าละอาย หรือ เพื่อนจะโห่อย่างนี้ เป็นต้น ถ้าสร้างนิสัยให้ดีได้แล้ว มันก็จะสารภาพบาปด้วย และรู้สึกเป็นสุขด้วย รู้สึกสบายไปที อย่างนี้ ทีนี้ประพฤติจริยธรรมจนรู้สึกเป็นสุข ให้พบแต่ความถูกต้อง มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกกระเบียดนิ้ว ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า มันเป็นเรื่องที่ละเอียดแต่ไม่เหลือวิสัย แม้แต่เด็กก็เข้าใจได้ เราไม่ทำผิดอะไรเลยตลอดเวลา นั่นเรียกว่าเรามีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว เมื่อรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็พอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ จัดให้เป็นชีวิตที่มีแต่ความถูกต้องและพอใจ เพราะประพฤติตามกฎเกณฑ์อันถูกต้องอยู่เสมอ
หกข้อด้วยกันนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดมีจริยธรรมขึ้นในนิสัย ในสันดาน ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของเยาวชน อาตมาแสดงได้เพียงเป็นตัวอย่างว่ามันมีอยู่หกข้ออย่างนี้ จะไปใช้กับข้อไหนทั้งหมดของหัวข้อจริยธรรมก็ไปใส่ได้ ไปใส่ได้ทุกข้อ ณ ที่นี้ หรือ การบรรยายวันนี้ เป็นเพียงการแสดงตัวอย่างว่าจะขยายความของหัวข้อออกไปอย่างไร และมีวิธีการ หรือ นโยบายที่จะทำให้ง่ายในการที่จะศึกษา และปฏิบัติจนถึงกับเกิดความรักที่จะปฏิบัติขึ้นมา ด้วยการกระทำหกประการนี้
ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า หนึ่ง มีตัวบทที่ชัดเจน เพื่อคล่องปากคล่องใจ สอง มีเหตุผลครบถ้วน ว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติอย่างนั้น จนเขาเห็นว่าต้องปฏิบัติทั่วกันทั้งโลกเลย มีบทอธิษฐาน จะเรียกว่าบทอาขยาน หรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ว่ามีบทสำหรับเด็กจะกล่าวแก่ตัวเอง ชัดเจน ดังๆ ในใจความของจริยธรรมแต่ละข้อ เช่นในข้อแรกนี่ มีบทว่า ข้าพเจ้าจักต้องมีความรู้รอบตัว มีลักษณะแนะนำตัวเอง เชื้อเชิญตัวเอง บังคับตัวเองอะไรอยู่ในตัวทุกข้อของจริยธรรม ยอมให้เพื่อนตักเตือนหรือทักท้วง ไม่โกรธแต่จะขอบใจเมื่อเขาตักเตือนหรือทักท้วง มีพิธีปวารณา ถ้าโรงเรียนจัดให้มีพิธีปวารณามันก็ง่าย ให้เด็กทุกคนมาปวารณา ท่ามกลางหมู่ ทีละคนว่ายอมให้เพื่อนตักเตือน แล้วจะขอบพระคุณ ค่อยเรียงเอาเองถ้อยคำปวารณา เรียงเอาเอง ถ้าเป็นอย่างของพระ ที่พระใช้ ก็ว่า “ด้วยการได้เห็นก็ดี ด้วยการได้ฟังก็ดี ด้วยการนึกสงสัยก็ดี ว่าข้าพเจ้ามีความผิดพลาดใดๆ จงว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้า ด้วยเหตุนั้นๆ ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่ เห็นอยู่ จักทำคืน” เรียงให้มันได้ความคล้ายๆ อย่างนี้ นี่เป็นคำปวารณา เป็นวิธีการของพระพุทธศาสนาที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวมาได้ตั้งสองพันกว่าปี โดยไม่ต้องมีอาญา ไม่ต้องมีอาวุธ ไม่ต้องมีข้อกฎอะไรที่เหมือนกับกฎหมาย เพราะมันเป็นเรื่องสำหรับผู้ที่หวังดี เมื่อเขามีความหวังดี เขาก็ปฏิบัติตาม แล้วก็ว่ากล่าวซึ่งกันและกันได้ ๆ นั่นละความมุ่งหมาย แล้วก็สารภาพบาปทุกครั้งที่รู้สึกว่าทำผิดแล้วๆ แล้วประพฤติตนอยู่ในธรรมะนั้นตลอดเวลาตลอดทุกสถานที่ จนมีความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ข้าพเจ้ามีความถูกต้องแล้ว ข้าพเจ้าพอใจ รู้สึกอยู่อย่างนี้ ก็มีความสุข ตลอดวันตลอดคืน ทั้งหลับทั้งตื่น คือไม่มีเวลารู้สึกว่าทำผิดทำชั่วหรือเสียหาย
นี่เป็นหลักหกประการที่ใช้ในการอบรมจริยธรรมทุกหัวข้อ แก่นักเรียนนักศึกษาของเรา ขอให้เอาหกประการนี้ไปจับเข้าทุกหัวข้อ ซึ่งวันหลังอาตมาจะไม่พูดถึงหกหัวข้อนี้อีกแล้ว พูดเป็นตัวอย่างวันแรกแล้วก็ใช้กับหัวข้อแรก ที่ว่ามีการศึกษามากพอ บรรยายวันนี้เฉพาะ สัมมาทิฏฐิ ข้อเดียว ก็หมดเวลา ทีนี้สิ่งที่อธิบายแล้วพูดแล้วไม่ต้องอธิบายอีก วันหลังเราคงอธิบายได้ คราวละหลายองค์มรรค
วันนี้ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้.