แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ครับ และนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย เนื่องจากเวลาเรากำหนดมาเท่านี้ และจะขอขยับเวลาไปตามที่เหมาะสม ผมเรียนเชิญ เรียนอาจารย์รัญจวนแล้วครับ กระผมจะขอแนะนำท่านอาจารย์รัญจวนสักเล็กน้อย เผื่อให้ท่านสมาชิกที่ได้เห็นชื่อท่านตามหนังสือต่างๆ ได้รู้จักกับท่านอาจารย์ และใครพบหน้าตาท่านมีอะไรจะได้คุยกันต่อไป ท่านอาจารย์รัญจวนนี้ ท่านเป็นครูบาอาจารย์จบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาที่ท่านถนัดที่สุดคือวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ในตอนท้ายของราชการนั้น อาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์อีกเช่นเดียวกันในตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารนะครับ พอในช่วงต่อมาท่านอาจารย์ก็ได้มาปฏิบัติธรรมอยู่สำนักต่างๆ หลายสำนักด้วยกัน แต่เพิ่งมาอยู่ที่นี่ได้ ๑ ปี ผู้นี้เป็นท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ซึ่งเราทั้งหลายได้ทราบชื่อท่าน แล้วก็สุดท้ายจริงๆ นั้นในตำแหน่งทางวิชาการท่านก็ได้รับเป็นศาสตราจารย์ และอีกอันหนึ่งที่เป็นอิสริยยศอิสริยศักดิ์อะไรต่างๆ ที่เราจะสมมุติเรียกชื่อกันว่าเป็นคุณหญิงนะครับ แต่เนื่องจากว่าท่านอาจารย์นั้นได้รับให้เราสมมุติเรียกกันว่าคุณเฉยๆ ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กระผมขอแนะนำท่านอาจารย์เท่านี้ ต่อไปนี้ขอเรียนเชิญ ขอมอบหน้าที่นี้ให้ท่านอาจารย์รัญจวน ขอกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ครับ
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ ท่านอาจารย์ทุกท่านและนักศึกษา สำหรับรายการอภิปรายเรื่องศิลปะการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น เราจะมีเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วก็มีผู้อภิปราย ๔ ท่าน ก็ขอเรียนแนะนำเพียงสั้นๆ เพื่อทราบว่าท่านพระภิกษุสงฆ์ที่นั่งอยู่ทางซ้ายมือนี้คือ พระอาจารย์วิรัตน์ ซึ่งท่านประจำอยู่ที่สวนโมกข์ แล้วก็เป็นผู้ที่ได้ดูแลในเรื่องการจัดโรงเรียนธรรมบุตร ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม ตั้งใจจะอบรมเด็กเล็กๆ ให้เป็นผู้ที่สามารถจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจอันงดงามตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ท่านสุภาพบุรุษที่นั่งอยู่ทางซ้ายมือของดิฉันคือ คุณพลวัฒน์ นาครักษ์ (3:02,ไม่แน่ใจการสะกดชื่อและนามสกุล) เป็นที่ปรึกษาของชมรมพุทธศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ เพิ่งจะได้พบกันในวันนี้ เพราะฉะนั้นการแนะนำก็ต้องขออภัยว่าสั้นๆ เพราะว่าต่อไปคงจะได้รู้จักมากกว่านี้ แต่วันนี้รู้จักเพียงเท่านั้นก่อน ท่านสุภาพสตรีทางขวามือของดิฉันคือ อาจารย์วณี วัชราภรณ์(3:25,ไม่แน่ใจการสะกดชื่อและนามสกุล) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่สนใจในเรื่องธรรมะคงจะได้รู้จักชื่อของอาจารย์วณี วัชราภรณ์ มาเป็นเวลานาน ถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิดก็คงจะเป็นอาจารย์ผู้ที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับเรื่องส่งเสริมในเรื่องของการอบรมศีลธรรมให้แก่เด็กๆ หรือเยาวชนเป็นอย่างดีที่สุด เข้าใจถูกต้องไหมค่ะ ที่นั่งสุดท้ายนั้นคือ คุณสุนีย์พร เลิศกุลทานนท์ (4:05,ไม่แน่ใจการสะกดชื่อและนามสกุล) เป็นเลขานุการของชมรมพุทธศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อของการอภิปรายศิลปะการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น ดิฉันจะขอความกรุณาท่านผู้ร่วมอภิปรายทุกท่านว่าเราจะไม่มีเวลาที่จะพูดกัน ๒ รอบนะค่ะ และถ้าหากพูดกันรอบละท่าน ๗ นาที ๘ นาทีจะไม่สิ้นกระแสความ เพราะฉะนั้นจะขอความกรุณาว่าจำเป็นที่จะต้องพูดเพียงท่านละ ๑ รอบเท่านั้น และขอท่านละไม่เกิน ๑๕ นาที สำหรับแนวของการอภิปรายนั้น จะเป็นแนวใดให้เป็นอิสรเสรีแก่ท่านผู้พูดทุกท่าน แล้วก็ต้องขออภัยท่านผู้ฟังด้วย ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นการอภิปราย อาจจะออกมาในแนวลักษณะของปาฐกถาหมู่ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของท่านผู้พูดทุกท่านนั้นจะมาลงสรุปที่ว่าศิลปะการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น ในฐานะที่เราทุกคนเป็นสมาชิกในการที่จะช่วยกันเผยแพร่พระธรรม อันเราเชื่อแน่แล้วว่าจะเป็นแนวทางที่จะดำรงสันติสุขให้แก่โลก เราควรจะดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้นด้วยศิลปะอย่างไร ในที่นี้ก็อยากจะขอเชิญ คุณสุนีย์พร ก่อนค่ะ
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพนะค่ะ ท่านคณาจารย์แล้วก็เพื่อนนิสิตทุกๆ สถาบันค่ะ ก่อนที่จะมาพูดถึงถึงศิลปะในการเผยแพร่พระพุทธศาสนานะค่ะ ก็อยากจะให้ทุกๆ ท่านได้ทราบว่าในการทำงานของคนเราทุกๆ อย่างจะต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนี้จะเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้เราสามารถทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะฉะนั้นศิลปะในการเผยแพร่พุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีเป้าหมายว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร เป้าหมายที่เราจะทำเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนานะค่ะ ไม่ใช่เพื่อว่า ว่าเราอยากดังหรืออยากมีชื่อเสียง แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญแล้วก็คือเราอยากให้คนอื่นได้รับความสุขเหมือนกับที่เราได้รับในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ ขอประทานโทษนะค่ะ สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือตัวเราเองจะต้องปฏิบัติก่อน จึงเกิดปัญหาตามมาว่า เอ,แล้วเราจะทำได้หรือ มีน้องใหม่ๆ นะค่ะได้เข้ามาในชมรมแล้วก็มาถามว่า พี่ศีลรักษาได้จริงเหรอ นั่งสมาธิทำได้เหรอ
ดิฉันเองเมื่อปีที่แล้ว ก็เพิ่งเข้าชมรมพุทธศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกนะค่ะ เข้ามาก็เห็นพี่ๆ รักษาศีลกันก็นึกแปลกใจ เพราะว่าถ้าพูดถึงศีลแล้วนี่ ก็ทำให้นึกถึงพระถึงเณรไปโน้นเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นพี่ๆ รักษาศีลกันก็แปลกใจค่ะ พี่ๆ ก็ได้กรุณาอธิบายให้ฟังถึงคุณประโยชน์ของศีล จึงได้ลองตั้งใจรักษาศีล ๕ ดูบ้าง ก็ปรากฏว่าทำได้ไม่ยากเลย เพราะว่าปกติของคนเราแล้วนี้ จะไม่ฆ่าจะไม่ลักจะไม่ประพฤติผิดในกาม จะไม่โกหก แล้วก็ไม่ดื่มสุรายาเมา เพียงแต่ว่าเราละการเอาแต่ใจตัวเองบางประการ เช่นว่าตบยุงหรือว่าโกหกเล็กๆ น้อยๆ ในเมื่อเราตั้งใจทำแล้ว เราก็ต้องทำได้ค่ะ ที่นี้รักษาศีล ๕ ก็ผ่านไปแล้วนะค่ะ
พอถึงวันพระพี่ๆ ก็รักษาศีล ๘ อีก สงสัยขึ้นมาอีกซิ ศีล ๘ เป็นยังไงละนี่ แล้วมีประโยชน์ยังไง พี่ๆ ก็กรุณาเล่าให้ฟังค่ะว่าปกติใจของเรานี่จะซัดส่ายไปมา แต่เมื่อรักษาศีล ๘ แล้วเราจะไม่เกิดความฟุ้งซ่านเพราะว่าเราไม่ได้ดูหนังฟังเพลง จิตใจที่ซัดส่ายไปมาก็ได้ตั้งมั่นขึ้น แล้วก็เวลาที่เราละจากการดูหนังฟังเพลงก็สามารถทำประโยชน์ได้ยิ่งขึ้น จึงได้ตั้งใจรักษาศีล ๘ บ้าง แล้วก็ทดลองแล้วก็ได้เห็นผลกับตัวเอง ในชมรมนะค่ะพอถึงวันเข้าพรรษานี่ เริ่มตั้งแต่ประธานลงมา คณะกรรมการแล้วก็กระจายไป ได้ตั้งใจรักษาศีล ๘ กันตลอดพรรษา แล้วก็มีน้องปี ๑ เพิ่งเข้ามาเพียงเดือนเดียวนะค่ะเห็นพี่ๆ ได้ตั้งใจรักษาศีลกัน เห็นคุณประโยชน์นะ เออดีจริง ก็ได้ตั้งใจรักษาศีล ๘ ตลอดพรรษาอีกตั้งหลายคนค่ะ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นการเตรียมตัวของเราอย่างหนึ่ง
ต่อมาก็คือการสวดมนต์ นั่งสมาธิ อันนี้จำเป็นมากเป็นกิจกรรมหลักของชมรมเลยนะค่ะว่าเราต้องมีกิจกรรมอันนี้ เมื่อคณะกรรมการได้ปฏิบัติทุกๆ วัน คนอื่นเขาก็จะสนใจเองว่านี่อุตส่าห์ทำทุกวันนี่สงสัยจะต้องมีประโยชน์อะไรสักอย่าง ก็ได้เข้ามาทดลองมาศึกษา และเมื่อเห็นว่าดีจริง ก็ได้ปฏิบัติตาม จนปัจจุบันนี้นะค่ะ ชมรมพุทธศาสตร์จุฬาจะต้องขยายห้องเป็น ๒ ห้องเพื่อให้พอกับคนที่มาปฏิบัติธรรมค่ะ
อันนี้เป็นการเตรียมตัวเราเองเบื้องแรกเลยค่ะ ก่อนที่ว่าเราจะไปเผยแพร่ ตัวเราเองต้องพร้อมเสียก่อน พร้อมเสียก่อน เสร็จแล้วก็มาถึงหลักในการที่ว่าเราจะดำเนินงานในชมรมเพื่อที่จะเผยแพร่ออกไป พระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ก็มีถึง ๘๔,๐๐๐ ข้อ แต่ละข้อดีเยี่ยมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจุดที่เราจับขึ้นมานี่ลำบากมาก บางคนเตรียมตัวเองพร้อมแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเราจะจับจุดไหนขึ้นมาดีนะ เพื่อว่าเราจะได้เผยแพร่ออกไปได้อย่างถูกต้อง อันนี้มีหมวดธรรมอยู่หมวดหนึ่งนะค่ะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเอาไว้อย่างครบครัน สามารถนำมาใช้ในการทำงานทั้งทางโลกและทางธรรมได้ อันนั้นก็คือมงคลชีวิต ๓๘ ประการนะค่ะ อันนี้ก็คือหนังสือมงคลชีวิตซึ่งชมรมพุทธศาสตร์ ชมรมพุทธศาสตร์จุฬาร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์ที่อื่นอีก ๘ แห่งนะค่ะได้ร่วมกันจัดพิมพ์มงคลชีวิต
เบื้องแรกสุดเลยพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าก่อนที่เราทำงานอะไรแทนที่ว่าเราจะหาคนมาไว้เยอะๆ แต่เปล่าเราต้องคัดคนออกซะก่อน ก็มาถึงที่ว่า มงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล ก่อนที่เราหาคนมาเยอะๆ นี่เราดูคนในชมรมซะก่อนมีใครเป็นคนพาลไหม คนเกะกะนี่มีไหม ถ้ามีต้องคัดออก ทีนี้วิธีที่คัดออกจะมีในมงคลที่ ๙ นะค่ะจะได้พูดให้ฟังต่อไป เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนมาทำงานนะค่ะ เพราะว่าถ้าคนมีคุณภาพดีคนน้อยก็เหมือนคนมาก ถามตัวเองเสียก่อนว่า ในชมรมเรานี้มีถึง ๑ คนไหมที่เอาจริงเอาจังกับงานมีไหม ถ้าเกิดมี ใช้ได้แล้ว ๑ คนที่เอาจริงเอาจังกับงานนี่ใช้ได้แล้ว
จากนั้นเริ่มเราจึงเริ่มไปถึงมงคลที่ ๒ คือการคบบัณฑิต ตามเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สามารถทำงานได้ แล้วก็เอาจริงเอาจังกับงาน สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ชวนเขาเข้ามา มาร่วมงานกัน หรือว่าคนกลางๆ ก็ไปตามมา หรือว่าน้องๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเราก็ตามมาได้ แล้วเราก็พยายามสร้างเขาให้เป็นคนดีขึ้นมาให้ได้นะค่ะ
ก็ถึงมงคลที่ ๓ ต่อไปก็คือบูชาบุคคลที่ควรบูชา เรามีคณะกรรมการแล้ว มีคนดีๆ ที่พร้อมที่จะทำงานแล้ว จะต้องมีผู้นำที่ดีอีก ผู้นำในที่นี้ก็หมายถึงประธานชมรม จะต้องปฏิบัติธรรมเป็นตัวอย่างได้ แล้วก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาอีก นอกจากนั้นเรายังต้องพาสมาชิกของเราไปพบกับครูบาอาจารย์ข้างนอก เช่น พาไปฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังจากพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
จากนั้นเราก็จะต้องอยู่ในปฏิรูปเทศ มงคลที่ ๔ อันนี้หมายถึง เราต้องจัดชมรมของเราให้เหมาะสมสำหรับเป็นที่ปฏิบัติธรรมสวดมนต์นั่งสมาธิ ชมรมจะต้องจัดให้สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย
ต่อไปก็คือมงคลที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน มีบุญวาสนามาก่อนอันนี้หมายถึงว่าเราจะต้องสร้างบุญวาสนา คณะกรรมการในชมรมทุกๆ คนจะต้องจะต้องรู้จักสะสมบุญ เพราะบุญนี้จะเป็นเครื่องกำหนดความสำเร็จของงาน ยิ่งคนทำงานมีบุญมากเท่าไหร่ ความสำเร็จของงานก็จะมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่จะบอกว่ามีบุญวาสนามาก่อน ทุกคนก็นั่งรอแต่บุญวาสนา อยากจะเรียนให้ทุกท่านได้ตระหนักไว้ว่าการสร้างบุญวาสนาในวันนี้ ก็จะเป็นบุญเก่าสำหรับในวันพรุ่งนี้
ทีนี้ก็มาถึงมงคลที่ ๖ ว่าตั้งตนชอบ ตั้งตนชอบในที่นี้ก็หมายถึงว่า ตั้งเป้าหมายเอาไว้ชอบ เป้าหมายของเราก็คืออยากให้คนอื่นได้รับความสุขเหมือนกับที่เราได้ในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นการดำเนินกิจกรรมภายในชมรมทุกๆ อย่าง จะต้องเป็นไปเพื่อเป้าหมายอันนี้นะค่ะ เราจะต้องเน้นหนักถึงหลักธรรมะ เรื่องประเพณีวัฒนธรรมเป็นรอง แต่ว่าถ้าเกิดเป็นประเพณีก็เป็นประเพณีวันวิสาขบูชาหรือว่ามาฆบูชาอันนี้ได้ ถ้าวันลอยกระทง หรือวันสงกรานต์ก็ชักจะนอกเป้าหมายของเราแล้ว
เมื่อเรามีอย่างนี้ครบครันแล้วนะค่ะ ก็ถือว่ามาถึงที่ว่าคนในชมรมเองจะต้องขวนขวายหาความรู้กัน อันนี้เป็นมงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต คณะกรรมการต้องรู้จักฟังธรรม แล้วก็มีอุปกรณ์ที่จะสามารถศึกษาธรรมะได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะหรือว่าเทปธรรมะ เมื่อน้องๆ เข้ามาก็สามารถที่จะแนะนำเขาได้ว่าควรจะอ่านหนังสืออะไร
ต่อไปก็คือมงคลที่ ๘ มีศิลปะ ศิลปะอันนี้ไม่ใช่ว่าเรามีความรู้ ความรู้เรื่องธรรมะเพียงอย่างเดียวจะต้องรู้ด้วยว่าการทำงานจะต้องทำอย่างไร มีศิลปะที่จะถ่ายทอดงานให้น้องๆ ประธานชมรมเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สามารถจะจ่ายงานหรือว่าโน้มน้าวจิตใจของคณะกรรมการในชมรมให้อยากที่จะทำงานเพื่อพระศาสนานะค่ะ
และต่อมาเมื่อคนมีความรู้มีศิลปะในการทำงานแล้ว ทีนี้จะต้องมีวินัยควบคุม วินัยนี้คือมงคลที่ ๙ ที่บอกว่าเราจะคัดคนพาลออกได้ยังไง วินัยอันนี้นะค่ะเป็นเครื่องที่สามารถจะคัดคนออกได้ เพราะว่าคนพาลถ้าเกิดเกะกะกินเหล้าเมายา เรามีวินัยควบคุม วินัยทางที่ควบคุมทางใจนะค่ะก็คือศีล ๕ ศีล ๕ ปกติคณะกรรมการควรจะรักษาศีล ๕ ก่อนนะค่ะ หรือว่าถ้าวันพระศีล ๘ เป็นอย่างน้อยอะไรทำนองนี้ค่ะ ก็ต้องมีวินัยของชมรมอีก คือการควบคุมกาย วาจา ใจ ในชมรมห้ามดื่มเหล้าห้ามสูบบุหรี่แล้วก็ห้ามเล่นไพ่ พวกนี้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละสถาบันที่เราจะใช้ควบคุม คนพาลจะไม่มีระเบียบวินัย เมื่อเขามาเจอวินัยก็ทนไม่ได้ก็ต้องออกไปเอง เราก็จะได้คนดีๆ ที่มาร่วมทำงานแล้วก็ได้ทำงานของพระพุทธศาสนากัน
แล้วก็มงคลที่ ๑๐ นี้นะค่ะก็คือการมีวาจาสุภาษิต ในที่นี้หมายถึงว่าคณะกรรมการในชมรมจะต้องรู้จักพูด หนึ่งพูดให้ไพเราะอ่อนหวานมีประโยชน์ พูดถูกกาลเทศะทำนองนี้นะค่ะ พูดกับอาจารย์ กับคนข้างเคียงหรือว่ากับเพื่อนนิสิตทั้งหลาย ไม่มีการที่ว่าพูดให้มีการแตกแยกแตกสามัคคีกันอย่างนี้ไม่ได้
อันนี้ ๑๐ มงคลแรกนี้นะค่ะก็เป็นมงคลเบื้องต้นที่ว่าเราจะดำเนินงานของชมรมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทีนี้เป็นการเตรียมตัวเบื้องแรก ก็คือต้องตรงเป้าหมาย พอตรงเป้าหมาย ก็มาถึงการเตรียมตัวเองให้พร้อม พอเตรียมตัวเองให้พร้อมก็มาถึงที่ว่าเราทำงานมีหลักมีในการดำเนินงาน ตอนนี้ก็มาถึงการที่เราจะเผยแพร่ออกไป เมื่อเราเตรียมตัวเตรียมตัวเราเองพร้อมแล้ว ตัวเราเองนี้ก็จะเป็นการเผยแพร่อย่างหนึ่ง ที่ชมรมพุทธศาสตร์จุฬานะค่ะ ก็มีวิธีเผยแพร่หลายๆ อย่าง เผยแพร่เอกสาร เอกสารนี่สำหรับให้น้องๆ นะค่ะ เริ่มจากภายในสถาบันเราก่อนนะค่ะ ก็อย่างเช่นลองชักชวนเขามาใส่บาตรเป็นประจำทุกวันพุธอาทิตย์ละหนึ่งครั้งอะไรอย่างนี้นะค่ะ ถ้าเรามีการชักชวนใส่บาตร เราก็มีการ์ตูนแจกเขาให้อ่านกันสนุกๆ อะไรอย่างนี้นะค่ะ หรือว่าพอถึงวันไหว้ครู อันนี้เป็นหน้าที่ของชมรมพุทธศาสตร์ค่ะ ที่ว่าจะต้องจัดพิธีไหว้ครู แล้วก็ทำเอกสารขึ้นมาอีก อันนี้บรรจุเนื้อหาธรรมะอะไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะทราบ แล้วก็ประชาสัมพันธ์ชมรมไปในตัวด้วยค่ะ อันนี้ถึงเขาจะยังไม่มาแต่ให้รู้คุ้นๆ เอาไว้ก่อนก็ยังดี แล้วก็กิจกรรมประจำปีที่ใหญ่ๆ เลยนะค่ะ ชมรมพุทธศาสตร์จุฬาแล้วก็ร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์อีก ๘ สถาบันก็จัดนิทรรศการความก้าวหน้ากัน ซึ่งจะจัดในเดือนพฤศจิกายน วันที่ ๑๓-๑๘ นี้นะค่ะ เป็นการบรรยายธรรมหัวข้อธรรมะในเรื่องมงคลชีวิต ๓๘ ประการ ถ้าเกิดอยากจะทราบรายละเอียดให้มากขึ้นนะค่ะ ก็ขอเชิญขอเชิญไปชมงานนี้ได้นะค่ะที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็หนังสือนี้นะค่ะเราจะพิมพ์ใหม่ จะพิมพ์ใหม่แล้วก็ทำให้ครบทั้ง ๓๘ ประการแจกสำหรับผู้ที่ไปงานนี้นะค่ะ หนังสือเดี๋ยวก็จะแจกค่ะ อันนี้พอเราจัดนิทรรศการเป็นการเตรียมงานของเรา เป็นการเผยแพร่อย่างหนึ่ง เผยแพร่อันนี้เผยแพร่ออกไปนอกตัวแล้วค่ะ ออกไปข้างนอกให้นักเรียนจากที่อื่นหรือว่าประชาชนทั่วไปได้มาชมงานของเรา ก็มีการออกหนังสือพิมพ์หรือว่าออกโทรทัศน์อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นวิธีการแล้วแต่ของแต่ละสถาบันนะค่ะ อันนี้มีการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะด้วยค่ะ เพราะว่าให้นักเรียนได้สนใจในการที่จะเข้ามาร่วมตอบปัญหาธรรมะ และในปีนี้ก็มีการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะในระดับอุดมศึกษาด้วย ชิงโล่พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็มีการแข่งขันของมัธยมต้นแล้วก็มัธยมปลาย ทุกคนในที่นี้ ที่อยู่แต่ละสถาบันก็สามารถจะเข้าแข่งขันได้ด้วยนะค่ะ ก็เราจะมีระเบียบการให้อีกค่ะ แล้วก็ในตอนภาคฤดูร้อนชมรมพุทธฯ ของเราก็ได้ร่วมกันทั้งหมด ๙ สถาบันจัดงานอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ให้ชื่อโครงการว่าโครงการอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน แล้วก็มีเอกสารประชาสัมพันธ์นะค่ะ เอกสารประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้สนใจ เวลาฤดูร้อนแทนที่เราจะไปเที่ยวก็ไปหาความรู้จากการอบรมธรรมทายาทแล้วก็อุปสมบทภาคฤดูร้อนนะค่ะ ตอนนี้เรามีหนังสือหนังสือธรรมทายาทที่เราได้พิมพ์ขึ้นมา อันนี้จุดใหญ่เลยนะค่ะ ถ้าเกิดเขาไม่มาอบรมก็ไม่เป็นไรเพียงแต่ว่าตอนนี้เราเผยแพร่ให้เขาติดใจเอาไว้ก่อน เมื่อเขาสนใจจริงๆ เขาก็จะมานะค่ะ
อันนี้ก็เป็นสรุปว่าสรุปว่าการทำงานหรือการเผยแพร่ของเราเนี่ยก็จะเตรียมตัวเองให้พร้อม มีเป้าหมายก่อนนะค่ะ เตรียมตัวเองให้พร้อม มีหลักในการดำเนินงาน แล้วก็ประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์นี้ต้องให้ทุกๆ คนได้ทราบงานของเราค่ะ แล้วก็เมื่อเขาสนใจเขาก็จะมาเอง
ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณที่ได้กรุณารักษาเวลาเป็นอย่างดีนะค่ะ แต่เนี่องจากเวลาเราน้อยดิฉันจะยังไม่สรุป ขอเชิญคุณพลวัฒน์ ต่อเลยค่ะเพื่อเราจะได้ฟังความเห็นเกี่ยวกับทางด้านชมรมพุทธศาสตร์นะค่ะ
กราบนมัสการพระคุณเจ้าทุกรูป เพื่อนนักศึกษาทุกท่าน ถ้าพูดถึงการเผยแพร่พุทธศาสนากันแล้วนี้ เราที่มานั่งกันอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ก็จะทำงานหรือว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งก็ไม่พ้นที่ว่าเราจะเผยแพร่ ขั้นแรกสุด เราก็ต้องเผยแพร่กับเพื่อนๆ ของเราหรือว่าบุคคลรอบข้างใกล้เคียงเรา ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเพศและชั้นจะเท่าเทียมหรือว่าใกล้ๆ เคียงกับเรา ก็คือเพื่อนๆ ของพวกเรานั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่เราจะเผยแพร่ได้นี้ ตามที่ผมเคยผ่านมานะครับ ประสบการณ์ที่ดีที่สุด ได้ไปเจอในโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้แสดงไว้ มีอยู่ข้อหนึ่งเป็นที่น่าสังเกตมากก็คือ ต้องสำรวมระวังความประพฤติการปฏิบัติของเราให้เหนือกว่าเขา คือมีศีลธรรม วินัย มารยาท และวัฒนธรรมสูงกว่าเขา จะได้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา อันนี้สำหรับพวกเราไม่ต้องพูดกันมากแล้วว่าจะทำยังไงถึงจะมีวินัย มีศีลธรรมอะไรเหนือกว่าเขา แต่ที่สิ่งที่ผมอยากจะพูดในที่นี้คือว่ามีอยู่สองสิ่งซึ่งผมถือปฏิบัติมาแล้วก็ถือว่าเป็นตัวเร่ง เร่งให้เรามีศีลธรรมมีวินัยมีวัฒนธรรมดียิ่งขึ้น นะครับมีอยู่สองประการ
ประการแรก ก็คือเรื่องที่เราจะมีความประพฤติการปฏิบัติเหนือ เหนือกว่าเขานะครับ อันแรกที่สุดเราจะต้องรู้จักขวนขวาย เราต้องรู้จักขวนขวายหาสิ่งต่างๆ เข้าตัวเรา ซึ่งผมอยากจะให้ชื่อข้อนี้ว่าเป็นการจับถูกคน เวลาเราทำงานนะครับ เราทำงานจะรู้ทันทีว่า เราสามารถบอกได้ทันทีว่าคนนี้นะ คนนี้นะทำงานไม่ดีอย่างนี้ คนนี้ไม่ดีอย่างนี้ งานที่ผิดพลาดไป ผิดพลาดไปเพราะคนนี้ๆๆๆๆ เราคิดว่าไอ้งานที่ผิดพลาดผิดพลาดไปเพราะว่าตัวเราเป็นต้นเหตุ คนเราส่วนใหญ่มักจะพลาดกันตรงนี้ มักจะมองข้ามสิ่งนี้ไป เพราะฉะนั้นการจับถูกคนนี้ ทุกคนต้องมีข้อดีทุกคนต้องมีข้อเสีย แต่ว่าข้อเสียเขาเราจะไม่เอามาเป็นอารมณ์เราจะไม่เอามาทำอะไรทั้งสิ้น แต่เราจะเอาข้อดีเขา เอามาทำไมข้อดีของเขา เราเอาข้อดีของเขาเพื่อมาปรับปรุงตัวของเราให้ดียิ่งขึ้น นี่เป็นจุดซึ่งจะเป็นตัวเร่งสามารถทำให้เรามีคุณธรรมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่นบางคนนะครับเท่าที่เคยเห็นมา คนนี้ข้อเสียเยอะแยะๆ เต็มไปหมดเลย ผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะไปหาข้อดีเขาได้ยังไง แต่ว่าท่าทางเดินเขาดี ท่าทางเดินองอาจสง่าผ่าเผย ถ้าเราได้เดินได้ตามแบบนี้จะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาได้ ก็ไปเอาข้อดีของเขามา อันนี้นะครับเป็นจุดที่พวกเรามองข้ามกันเยอะ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานกับใครนี้ จับถูกคนไว้ให้ได้ดีก่อน ส่วนข้อเสียของเขานั้นเอาไว้พูดกันทีหลัง
ส่วนประการที่สองนะครับ ที่อยากจะพูดถึงก็คือ การที่ตัวเราจะรู้ว่า ตัวเราจะดีขึ้นหรือว่าเลวลง เราต้องมีบางสิ่งบางอย่างมาเปรียบเทียบ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่มาเปรียบเทียบนี้ หากไปจับผิดก็นับว่าบางทีทำให้ถ่วง ทำให้เรามีคุณธรรมช้ายิ่งขึ้น อย่างเช่นเวลาเราจะไปเปรียบเทียบ เปรียบเทียบตัวของเรา เราเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบ เราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าคุณธรรมของเรากับเขาเป็นอะไรยังไงกัน ซึ่งการเปรียบเทียบอย่างนี้ ทำให้หลงผิดง่าย อาจจะหลงว่าเราดีดีกว่าเขา ไอ้นี้สู้เราไม่ได้เลย คนนี้ก็สู้เราไม่ได้ คนนั้นก็สู้เราไม่ได้ และผลสุดท้ายเราก็ไม่ได้พัฒนาคุณธรรมของเราให้ดียิ่งขึ้นเลย หรือว่าจะหลงว่าตัวเราเสมอเขา แหมคนนี้นะถึงเขาจะเก่งจะเก่งจริงๆ ยังไงก็ตาม แต่ถ้าเราได้ทำงานนี้นะ อย่างน้อยนะก็ต้องได้เท่าเทียมเขาแล้ว หรือว่าอาจจะหลงผิดไปว่าหลงว่าตัวเราต่ำกว่าเขา ยังไงทั้งชาติเราก็สู้ ไอ้เจ้านี้ไม่ได้นะ ผลสุดท้ายก็ไม่ใช่ปรับปรุงตัวเองดีขึ้นมามั่งเลย เพราะฉะนั้นแล้วเราจะเอาอะไรมาเปรียบเทียบตัวของเรา ทางที่ดีที่สุดก็คือเอาตัวเราวันนี้ เปรียบเทียบกับตัวเราเมื่อวานนี้ ว่าวันนี้ตัวของเรามีคุณธรรมความดีอะไร ดีขึ้นมามั่ง ดีกว่าเมื่อวานนี้ ถ้าวันนี้มันผิดพลาดไป คุณธรรมวันนี้ไม่ดีเท่าเมื่อวานนี้ มาเริ่มต้นกันใหม่ พรุ่งนี้เรามาเริ่มต้นกันใหม่ นี่นะครับ ผมคิดว่าสองสิ่งนี้นะครับ เป็นสิ่งที่เร่งให้เรามีศีลธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น
แล้วก็อยากจะมีข้อแลกเปลี่ยนอีกข้อหนึ่งว่า การที่เราจะนำธรรมะต่างๆ ไปเผยแพร่กับบุคคลต่างๆ หรือเพื่อนๆ ของเรานี้นะครับ บางทีเราจะพลาดตรงที่ว่าเราไม่ดูพื้นฐาน แล้วก็จังหวะของเขา บางคนนะครับพื้นฐานไม่มีแล้วก็จังหวะไม่ให้ คือบางทีเขามีความสุขยังเฮฮาๆ เราก็ไปเตือนเขา บางทีมันก็ไม่ได้ผล เราต้องรอดูจังหวะ แล้วเราจะทำยังไงละครับ ถึงจะรอจังหวะเหล่านี้ได้ เราต้องเตรียมตัวของเราให้พร้อม ต้องศึกษาคุณธรรม ธรรมะอะไรต่างๆ นี้ให้พร้อม พอเมื่อเขามีทุกข์อะไร เราสามารถจะสอดแทรกเข้าไปได้ทันที จังหวะเหล่านี้ไม่มีใครบอกได้ว่าเกิดเดือนพฤศจิก เกิดเดือนมกราเกิดเมื่อไรไม่มีใครบอกได้ แต่ว่าตัวของเราจะต้องพร้อม อย่างคำที่ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันหมดทั้งสิ้น ชวนเพื่อนเราฟังฟังไม่รู้หรอกครับ แต่เมื่อไหร่ที่เขาพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เขาจะฟังคำเหล่านี้ด้วยความซึ้ง ซึ้งอกซึ้งใจ แล้วเราสามารถชักจูงเขาไปในธรรมะข้ออื่นๆได้ เพราะเราเริ่ม first start ให้เขาเชื่อเราได้แล้ว ด้วยการสอดแทรกจังหวะที่เหมาะสม ไม่ใช่พอดีพอเราเจอคำนี่ คำที่เราชอบใจ เราก็ไปบอกเขาเลย อันนี้เรา first start ผิดไปนิดหนึ่ง ทำให้พูดถึงว่าเขาผ่านๆ เฉยๆ แต่ถ้าเผื่อเรารอจังหวะให้เขาเกิดความเสียใจเกิดความพลัดพรากจริงๆ เราเอาคำนี้เข้าไป เราก็สามารถชักจูงเขาได้ คือว่าพอเราได้ความรู้ได้อะไรมานี้ เราต้องดูพื้นฐานแล้วก็ดูจังหวะเขาด้วยว่าเมื่อไหร่ที่เขาพร้อมที่จะรับ
แล้วก็ประการสุดท้ายที่อยากจะขอพูดในที่นี้คือว่า เมื่อเราสามารถจะเผยแพร่หรือว่าชักจูงคนต่างๆ เข้ามาในชมรม หรือว่าเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาไปได้เยอะแยะแล้วนี่ หากตัวของเรานะครับยังไม่มีคุณธรรมความดีใดๆ ดีขึ้นมาเลย คือเราก็พูดกันภาษาชมรมว่าลุยงานลูกเดียว ลุยงานลูกเดียว จัดนิทรรศการจัดอะไรก็ลุยไปลูกเดียว ตัวของเราไม่ได้ธรรมะไม่ได้อะไรขึ้นมาบ้างเลย มีคนเข้ามาชมงานเป็นหมื่นคน มีคนเข้าชมรมเป็นร้อยเป็นพัน อย่างนี้ผมก็ถือว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ธรรมะ เพราะว่าเราเผยแพร่ไปให้คนอื่นได้เยอะแยะแล้ว แต่ตัวของเราเองกลับเปรียบเสมือนทัพพีที่ไม่รู้รสของแกง นี่นะครับ อยากจะฝากไว้ว่า เราจะเผยแพร่ไปให้ใครเยอะแยะยังไงก็ตาม แต่คุณธรรมความดีของเราจะต้องดีขึ้นด้วย หากไม่ดีขึ้น ถือว่าการเผยแพร่นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ครับผมขอฝากในที่นี้ไว้เพียงเท่านี้ครับ
ขอบคุณค่ะ คุณสุนีย์พร ก็ได้เน้นให้ฟังในเรื่องของจุดหมายของการที่จะเผยแพร่ศาสนานั้น อย่าลืมว่าต้องมุ่งให้ผู้อื่นมีส่วน และข้อสำคัญต้องปฏิบัติตนเองเสียก่อน เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างได้และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าธรรมะนั้นมีคุณประโยชน์แก่ชีวิตของตนอย่างไร นอกจากนั้นก็ได้กล่าวถึงเรื่องของวิธีการที่จะเผยแพร่ต่างๆ เหมือนดังที่ได้แสดงมาแล้ว โดยมากก็จะเน้นให้เห็นในเรื่องของเอกสาร ซึ่งจะเป็นสิ่งที่อยู่นานแล้วก็เผยแพร่ไปไกล แล้วก็กิจกรรมที่ควรจัด คุณพลวัฒน์นั้นได้เน้นในเรื่องวิธีของการเผยแพร่ แล้วก็ได้นำโอวาทปาฏิโมกข์มากล่าว สิ่งที่น่าสนใจที่คุณพลวัฒน์กล่าวนะค่ะ ก็คือการที่จะนำข้อดีของผู้อื่นมา เพื่อที่จะนำมาพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และถ้าหากมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น การเปรียบเทียบกับตัวของเราเองนั้นเป็นการเปรียบเทียบที่ดีมากทีเดียว หรือว่าดีที่สุดก็ได้ เพื่อที่พัฒนาตัวเรา คือจิตของเราเมื่อวานนี้นั้นให้เป็นจิตที่ดีขึ้นในวันนี้ แล้วก็ดียิ่งขึ้นในวันพรุ่งนี้ แล้วก็ดียิ่งขึ้นในวันต่อๆ ไป ข้อที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่งก็คือจังหวะ จังหวะในการที่จะเผยแพร่ที่จะเรียกร้องให้ใครๆ เข้ามาสนใจนั้น เราจะเลือกจังหวะอย่างไร ดิฉันก็หวังว่าท่านที่อยู่ในที่นี้คงจะได้ระลึกถึงธรรมะ ข้อหนึ่ง คือ สัปปุริสธรรม ถ้าหากว่าทุกท่านศึกษาสนใจในสัปปุริสธรรมทั้ง ๗ ประการแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นศิลปะในการเผยแพร่ธรรมะที่แนบเนียนที่สุด ขอเรียนเชิญอาจารย์วลี ค่ะ
นมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างยิ่ง กราบเรียนคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้สนใจธรรมะทุกๆ ท่านนะค่ะ มีความยินดีอย่างยิ่งค่ะ ที่ได้มีโอกาสมาอภิปรายในวันนี้นะค่ะ แต่ก่อนอื่นขอประทานอภัยก่อนนะค่ะที่ท่านศาสตราจารย์ คุณรัญจวน ได้แนะนำไปนะค่ะ เพราะว่าเกินกว่าหน้าที่ไปนะค่ะ ความจริงแล้วดิฉัน ชื่อวณี นะค่ะ นามสกุลก็วัชรากร ค่ะ ก ไก่ แล้วก็ ร เรือ นะค่ะ แล้วก็เป็นครูเฉยๆ ค่ะ ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไรเลยทั้งสิ้นค่ะ เป็นแต่เพียงครูผู้สอน ที่ว่าพอจะได้รู้จักชื่อเสียงกันขึ้นมา ก็เพราะว่าสอนวิชาที่ใครๆ ก็ไม่อยากจะสนใจสอนนัก คือสอนวิชาศีลธรรมนะค่ะ
สำหรับเรื่องที่อภิปรายในวันนี้ที่ว่าศิลปะการเผยแพร่จริยธรรมหรือเผยแพร่พระพุทธศาสนานะค่ะ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว หรือว่ากลุ่มเดียว จำเป็นที่จะต้องช่วยกันทุกฝ่ายทั้งประเทศ เริ่มมาตั้งแต่นโยบายของผู้ปกครองประเทศก็จะต้องไม่จัดสิ่งต่างๆ ที่ขัดกับหลักศีลธรรม หลักสูตรการศึกษาก็ต้องเอื้อเฟื้อต่อศีลธรรม จะต้องจัดให้มีการเรียนการสอนจริยธรรม เรียนศาสนาในโรงเรียน สำหรับเรื่องหลักสูตรนี้เปรียบเสมือนแม่บทหรือว่าเป็นเข็มทิศที่ชี้แนวทางว่า ควรจะสอนไปทางไหน ถ้าเพื่อว่าในหลักสูตรไม่มีเนื้อหาที่จะให้สอน ครูเกิดไปสอนนะค่ะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราสอนวิชาประชากรศึกษา เราเห็นว่าเรื่องของประชากรก็คือเรื่องของมนุษย์ มนุษย์นะมีชีวิต ชีวิตประกอบด้วยกายจิต ก็นำเรื่องกายจิตไปสอน เพราะเรื่อง กาย นั้นนะต้องการวัตถุมาบำบัดความต้องการทางกาย ส่วนจิตใจต้องการความสงบ ก็พยายามนำสิ่งเหล่านี้เข้าไปสู่บทเรียนให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้ไปในแนวที่เป็นธรรมะบ้าง ผลที่ได้รับก็คือนักเรียนไม่ชอบ นักเรียนนี้หาว่าครูนี้สอนนอกเรื่อง ทำไมอาจารย์ไม่สอนวิชาประชากรศึกษา แต่ถ้าเผื่อว่าสอนประชากรศึกษา นำเอาเรื่องเพศศึกษาเข้าไปสอน ประชากรมีอัตราการเกิดเท่านั้น จะต้องมีวิธีคุมกำเนิดวิธีคุมกำเนิดทำอย่างไร อย่างนี้เด็กชอบนะค่ะ ก็เป็นเรื่องที่ว่าหลักสูตรต้องเอื้อเฟื้อบ้าง จัดหลักสูตรให้มีการสอนศีลธรรม สอนหลักของพุทธศาสนา เพื่อครูบาอาจารย์จะได้มีโอกาสเผยแพร่หลักศาสนาเข้าไปสู่เยาวชนได้ ถ้าไม่มีเราสอดแทรกเข้าไปมันยากค่ะนะค่ะ ถ้าเด็กเล็กๆ ก็อาจจะปัญหาน้อย แต่เด็กระดับมัธยมปลาย เราก็จะต้องแก้ปัญหากันว่า ทำไมครูจะต้องสอน ส่วนผู้บริหารแม้ว่าจะบริหารหลายเรื่องหลายอย่าง แต่ก็ต้องรู้ว่าจุดรวมของทุกเรื่องนั้นอยู่ที่ศาสนา ต้องมีศาสนาเป็นรากฐาน ส่วนประชาชนทั่วๆ ไป ก็ต้องเข้าใจว่าศีลธรรมนั้นเป็นเรื่องของ กาย วาจา จิต ในทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าจะมีธรรมะ หรือมีศีลธรรมต่อเมื่อไปวัดหรือว่าไปสำนักที่นู้นที่นี่ไปปฏิบัติธรรมะกัน ต้องเข้าใจว่าธรรมะต้องปฏิบัติที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นอกาลิโก ทุกๆ อิริยาบถของลมหายใจต้องมีธรรมะ ต้องปฏิบัติศีลธรรมนะค่ะ อันนี้จึงจะเป็นการเผยแพร่
แต่อย่างไรก็ตามดิฉันก็อยากจะกราบเรียนเป็นแนวคิดในส่วนตัวว่า ประการที่หนึ่ง ผู้เผยแพร่ควรจะมีความรู้ ความรู้ในที่นี้ ก็คือรู้หลักธรรมะ หลักธรรมะที่ควรจะทราบ ก็คือโดยส่วนตัวดิฉันนะค่ะที่ได้มีครูบาอาจารย์หลายท่านก็เคยถามว่า ทำไมจึงหันมาสนใจวิชาศีลธรรม ทำไมจึงสอนธรรมะ เข้าใจธรรมะได้อย่างไร ก็กราบเรียนว่าจากประสบการณ์ที่ได้สว่างขึ้นมา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาว่าจะสอนศีลธรรมนักเรียน ก็ด้วยเรื่อง หลักธรรมะ คือ เรื่อง สัจจะ สัจธรรม นะค่ะ คือเรื่องสัจธรรม เรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ทั้งเอาไปปฏิบัติแล้วก็เป็นความรู้
ประการแรกเราต้องรู้ซะก่อนว่า สัจจะ ที่ควรรู้มี ๒ ระดับ คือ ปรมัตถสัจจะ กับ สมมติสัจจะ เรื่องปรมัตถ์ นั้น ก็คือ ความจริงแท้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรานะค่ะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ เราต้องทราบว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสักแต่ว่าธาตุก็ย่อมมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา มีหิว มีอิ่ม มีร้อน มีหนาว เหล่านี้ เป็นต้น เป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนจิตใจความรู้สึกคิดนึก ทิฐิ ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นธรรมชาตินะค่ะ ถ้ามีปัญญาก็จะคิดนึกไปในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีปัญญาก็คิดนึกไปในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รู้ว่าความทุกข์ที่เกิดนี้เพราะยึดมั่นถือมั่น เพราะมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา จิตใจนี้เป็นของเรา ความรู้สึกคิดนึกนี้เป็นของเรา ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากเห็นในหลักปรมัตถสัจจะว่าร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกคิดนึกนี้เป็นแต่เพียงธรรมชาติ คิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่จะต้องศึกษาลงไปให้รู้ซะก่อนเรื่องหลักปรมัตถ์เพื่อได้ปฏิบัติในตัวของเราเป็นเบื้องแรก
ส่วนรู้หลักอันที่สองก็คือรู้ สมมุติสัจจะ เพื่อที่เราจะได้ทำหน้าที่ของเราว่าโดยสมมุติแล้ว เราบัญญัติสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง หน้าที่ของความเป็นครู เป็นแม่ เป็นลูก หน้าที่ของความเป็นพลเมือง เราจะได้ทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้องทุกขั้นตอน โดยที่ว่าเมื่อเรามีหลักปรมัตถ์อยู่ในใจแล้ว เราจะได้ทำหน้าที่นั้นไม่บกพร่อง โดยเราไม่เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะว่าสอนวิชาศีลธรรมนะค่ะ ในแวดวงที่แวดล้อมเรานี้ เราจะหวังว่าจะให้ใครเขามาเห็นด้วยกับเราไม่ได้ การทำงานทุกครั้งตั้งความหวังเอาไว้เลยว่าจะไม่มีใครช่วยเรา แต่เมื่อเราทำหน้าที่ของเราถึงที่สุดแล้ว เราก็จะได้ไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากว่าเราขาดหลักปรมัตถสัจจะในใจของเราไม่มีธรรมะแล้ว ทุกครั้งที่ทำงานก็ท้อแท้ ทำเสร็จแล้วก็นั่งท้อแท้ คราวต่อไปก็ไม่มีกำลังใจจะทำ อันนี้เป็นหลักที่ว่าจะต้องทราบ
นอกจาก หลักสัจจะ สองอย่างนี้แล้ว คิดว่าภาษาคนภาษาธรรมควรจะได้ลงมือศึกษาซะก่อน โดยเฉพาะส่วนตัวดิฉันเองที่ได้สนใจในเรื่องนี้ ก็เพราะไปสว่างเรื่องภาษาคนภาษาธรรม เมื่อได้ฟังพระคุณเจ้าพูดว่า พระพุทธเจ้า หมายถึง พระพุทธรูป ก็ได้ หมายถึง เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ได้ หรือหมายถึงภาวะจิตที่สะอาด สงบ สว่าง เป็นพุทธภาวะ ก็ได้นะค่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ว่าเมื่อเยาวชนฟังแล้ว สนใจที่จะค้นคว้าศึกษาตามต่อไป ไม่ใช่ว่าจะพูดแต่ว่า พระพุทธเจ้า คือ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่ใต้ต้นสาละ เดินได้ ๗ ก้าว คือ อย่าพูดกันแต่เฉพาะภาษาที่เป็น ภาษาที่เป็นภาษาคนนะค่ะ ขอให้พูดภาษาที่เป็นภาษาธรรมะด้วย ศึกษาภาษาธรรมะด้วย เพราะเราพูดภาษาที่เป็นนามธรรมกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเด็กสนใจภาษาที่เป็นภาษาธรรม พระพุทธเจ้าประสูติ ประสูติที่ไหน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ณ ใต้ต้นโพธิ์ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ณ ที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ตรงใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วต้นไม้นั้น ก็แต่เดิมนั้นก็ไม่ได้ชื่อว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้ก็เลยได้นามมาภายหลังเหล่านี้ เป็นต้น เรื่องภาษาคนภาษาธรรมนะค่ะ
ประการที่สองคิดว่า เมื่อรู้แล้วควรจะได้นำไปปฏิบัตินะค่ะ ว่าผู้ที่จะเผยแพร่หลักพระศาสนาควรจะได้ลองปฏิบัติก่อนเหมือนกับว่า เรารู้ว่าเกลือนี้เค็มจริง แต่เราแตะลิ้นลงไปซะก่อน ว่าเค็มแค่ไหน เราจะได้รู้สึกลงไปจริงๆ ว่ามันเค็ม ถ้าหากแต่ว่าเราไม่ได้ลองปฏิบัติเราแค่แต่รู้ เราไม่มั่นใจในการที่จะพูดออกมา ในการที่จะเผยแพร่ออกไปนะค่ะ มีผู้รู้ท่านเขียนเอาไว้ประโยคหนึ่งว่า ศาสนานั้นไม่ใช่น้ำมันใส่ผม แต่เป็นยาแก้ปวดฟัน เพราะว่าศาสนาเป็นยาแก้ปวดฟัน ไม่ใช่น้ำมันใส่ผม อันนี้ก็หมายความว่า ศาสนาไม่ใช่แต่เพียงเรื่องสวยๆ งามๆ เรียนรู้ไว้ประดับสติปัญญา แต่เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องปฏิบัติลงไปจริงๆ จึงจะเห็นผล ส่วนว่าจะเห็นผลมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของผู้ที่ปฏิบัตินั้นนะค่ะ ก็ที่ว่าจะต้องปฏิบัติดีในประการที่สอง
ประการที่สามก็คือว่าจะต้องมีเทคนิคในการเผยแพร่ดี เทคนิคในการเผยแพร่นี้ดิฉันขอพูดจากตัวของตัวของดิฉันเองว่า ในวิชานี้มันไม่เหมือนลักษณะวิชาการอื่นๆ เป็นวิชาการที่เป็นเรื่องนามธรรม เพราะฉะนั้น วิธีการสอนนั้น วิธีการเผยแพร่นั้นจะไม่มีสื่อการสอนใดๆ หรืออุปกรณ์การสอนใดๆ ที่เป็นวัตถุจะมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ได้ วัตถุหรือว่าสื่อที่เป็นวัตถุนั้น เป็นแต่เพียงอุบายเพื่อนำไปสู่จุดหมายเท่านั้น เพียงส่วนเดียว เพียงเสี้ยวเดียว เป็นแต่เพียงอุบายเท่านั้น เป็นเครื่องมือนำไปสู่เท่านั้น ส่วนว่าอุปกรณ์การศึกษาในหมวดวิชานี้ที่ดีที่สุดนั้น คือ ความรู้สึก ในอารมณ์รู้สึกของเราเอง นั่นแหละคือห้องแลป เพราะฉะนั้น ห้องแลป ในวิชานี้ก็คือใจของเรา เมื่อมีความรู้สึกมีอารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เมื่อมีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้สึกลงไปในขณะนั้น เช่น เมื่อเราโกรธ ให้รู้สึกลงไปในความโกรธขณะนั้น จะเห็นว่าความโกรธนั้นทำให้เราเร้าร้อนเป็นทุกข์ กระวนกระวาย จิตสูญเสียภาวะที่เป็นปกติ เมื่อดูต่อไปก็จะเห็นว่าความโกรธนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ค่อยๆ จางคลายหายไป ในที่สุดก็ดับ เหมือนกับว่าภาวะจิตที่ยังไม่ได้โกรธ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ว่าจะต้องศึกษาลงไปเป็น อกาลิโก ไม่ใช่ว่ารอไปวัด หรือว่ารอไปสำนัก อยู่ที่โรงเรียน อยู่ที่มหาวิทยาลัย หรืออยู่ที่บ้านก็ปฏิบัติได้นะค่ะ ทีนี้ก็พยายามเผยแพร่ออกไปให้ทราบกันว่า วิธีการที่จะศึกษาธรรมะ หรือว่าเผยแพร่ธรรมะนั้นให้ดูที่ใจตัวเราเอง
และสิ่งที่เห็นว่านักเรียนสนใจมากอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือสอนให้รู้ว่า กิเลส นั้นไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา กิเลส เกิดเป็นครั้งเป็นคราว เกิดเมื่อไหร่ เกิดเมื่อผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าหากว่าเรามีสติ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ตกเป็นทาสของอวิชชา เมื่อผัสสะแล้วให้สติมาทัน เปลี่ยนดำริให้มันหยุดเสียนะค่ะ แต่คนเรามันมีอนุสัย คือ เคยชินกับทางข้างฝ่าย กิเลส เช่นว่า ชอบโกรธ ชอบเกลียด อิจฉาริษยา ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น ทีนี้เมื่อเรามีสติรู้เท่าทันแล้วว่ากิเลสเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เกิดเป็นครั้งเป็นคราวเมื่อมีผัสสะ ให้เราเปลี่ยนดำริเสีย คิดว่าในบุคคลคนหนึ่ง ในขณะจิตหนึ่งนั้น เราจะไม่สามารถที่จะดำริในเรื่องตรงกันข้ามกัน ในขณะจิตเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น จะไม่มีจิตที่เมตตา ในจิตที่อาฆาตพยาบาท จะไม่มีจิตที่มุทิตา ในจิตที่ริษยา จะไม่มีจิตที่เนกขัมมะ คือออกเสียจากกาม ในจิตที่มองเห็นว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในจิตที่มีกาม คือธรรมชาติของจิตคนเรานี้ จะไม่สามารถดำริในเรื่องตรงกันข้ามกัน ในขณะจิตหนึ่งนั้นนะค่ะ
เหล่านี้ก็เป็นวิธีการที่ว่าเยาวชนสนใจค่ะ จากประสบการณ์ที่ว่าดิฉันก็คลุกคลีกับนักเรียนระดับมัธยมปลายมาร่วม ๒๐ ปีแล้วนะค่ะ เมื่อเราเอาหลักเกณฑ์ที่เป็นหลักสัจธรรมเหล่านี้มาพูด แล้วนักเรียนก็เอาไปปฏิบัติตามจะได้ผลมากน้อยนั้นก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เขาเอาไปปฏิบัตินะค่ะ ก็ขอกราบเรียนเอาไว้เพียงเท่านี้ค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ
ขอบคุณอาจารย์วณีค่ะ อาจารย์ก็ได้ชี้ให้เห็นจุดสำคัญนะค่ะ ในการที่ผู้ที่เข้ามาสู่ธรรมะแล้วก็จะนำธรรมะไปสู่ผู้อื่นนั้น ควรจะได้สนใจ นั้นก็คือ การสนใจในเรื่องของสัจจะ ๒ ประการ ปรมัตถสัจจะ และสมมุติสัจจะ กับการที่ควรจะสนใจในเรื่องของภาษาสองอย่าง ภาษาคน ภาษาธรรม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจารย์ก็ได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วก็ให้ตัวอย่างไว้ด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่จะเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ซึ่งก็หวังว่าท่านผู้ฟังคงจะมองเห็นแล้วก็คล้อยตาม ในการที่จะเผยแพร่ธรรมะนั่นก็คือการดูจิตของเรา การดูจิตหรือการดูใจจะดูตรงไหน ก็ดูตรงที่ความรู้สึกนั่นแหละ รู้สึกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อันนั้นแหละ เป็นห้องทดลองที่น่าสนใจ แล้วก็อาจารย์ก็ยังได้ขอฝากไปยังท่านทั้งหลายซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องซึ่งมิได้อยู่ในที่นี้ด้วย นั่นก็คือทำอย่างไรจึงจะมีหลักสูตรศีลธรรม ที่ตรง ที่เน้น ที่ชัดเจน และให้โอกาสผู้สอนมากกว่านี้ และอันที่จริงก็อยากจะขอเติมอีกสักอันหนึ่งว่า ทำอย่างไรจึงจะเรียนขอร้องบรรดาท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์ทุกระดับ ตั้งแต่อุดมศึกษาไปจนกระทั่งถึงอนุบาล ไม่ว่าท่านจะสอนวิชาใดก็ตาม ถ้าหากว่าท่านได้พัฒนาจิตให้อยู่ในธรรมอยู่เสมอแล้ว ทุกท่านเหล่านั้นจะมีโอกาสที่จะช่วยในการสอนธรรมะ หรือศีลธรรมอย่างง่ายๆ ให้ลูกศิษย์ของท่านตั้งแต่ตัวเล็กๆ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ได้ทุกท่าน และอันนี้แหละจะเป็นการร่วมมือที่ดีที่สุด เป็นการช่วยกันเผยแพร่ธรรมะที่ดีที่สุด เพราะมันจะออกไปได้ผลอย่างกว้างและไกล ขอกราบเรียนนมัสการพระอาจารย์วิรัตน์ค่ะ
ขอเจริญพรสำหรับท่านที่สนใจธรรมะทั้งหลาย เราพูดถึงศิลปะการเผยแพร่พระพุทธศาสนา การเผยแพร่อย่างน้อยมีด้วยกัน ๓ ทาง คือ ๑ การพูดให้ฟังเป็นการเผยแพร่ที่เลวที่สุดในการเผยแพร่ทั้ง ๓ ระดับนี้ ระดับที่ ๒ คือการทำตัวอย่างให้ดูซึ่งดีกว่าการพูด ระดับสุดท้ายสำคัญที่สุด เลข ๓ จะสำคัญกว่าเลข ๑ ก็คือ การเอาผลที่ทำแล้วให้เขาดูด้วย นี่เรียกว่าเป็นการเผยแพร่ที่ดีที่สุด อย่างการที่เราบวชนี่เป็นทั้งการปฏิบัติและทั้งเอาผลให้ดูด้วยว่าการเป็นอยู่อย่างนี้ก็ไม่เห็นตาย จิตใจก็สูงกว่าเดิม ที่เห็นอยู่ผ้าก็มีเพียง ๓ ชิ้นเท่านั้น อาหารก็วันละมื้อ กุฏิวิหารก็อยู่อย่างพักแรม เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มุ่งกระทำอย่างสูง ที่เป็นการเผยแพร่อย่างฉลาดหรืออย่างที่มีความสามารถ การที่เราเผยแพร่นั้นเราจะต้องเข้าใจอะไรว่าอะไรคืออะไรให้ถ่องแท้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะเผยแพร่นั้นจะต้องมีดนตรี คำว่า ดนตรี ไม่ได้หมายถึง คีตะ แต่หมายถึง ตันตระ(นาทีที่ 48:49) ถ้าคีตะ เครื่องดีดสีตีเป่า ถ้าตันตระ หมายถึงสิ่งที่ทำความประทับใจให้แก่คนได้ เครื่องทำความประทับใจ เรียกว่า ดนตรี คนทั่วไปได้รู้เข้าใจแต่ว่า คือเครื่องสนุกสนานเล่นหัวทำนองนั้น ถ้าจะพูดอีกทีหนึ่งว่า ตันตระ คือสายของการทำประโยชน์ในการดับทุกข์ให้ได้ หรือ การสร้างคุณงามความดีให้แก่จิตนั่นเอง นั่นเขาเรียกว่า ดนตรี
การพูดก็ต้องมีดนตรีคือทั้งน้ำเสียงลีลาจังหวะตลอดจนเนื้อหา อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นดนตรี บางคนเสียงไม่มีดนตรี ไม่ประทับใจ อย่างนี้ก็เป็นอุปสรรคในการเผยแพร่เหมือนกัน แม้แต่การเขียนหนังสือ ตัวหนังสือที่เขียนออกมาทั้งลีลา จังหวะ อ่านง่าย สะอาด ก็เป็นดนตรี ทำความประทับใจให้กับผู้ที่อ่าน เรียกว่าผู้นั้นมีดนตรี สะดุดหู สะดุดตา ตลอดจนบุคลิกท่าทางสีหน้าที่แสดงออกไปนั้น นั่นก็เป็นดนตรีด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอาดนตรี คือ ความไม่มีความทุกข์ให้เขาดู นี่เป็นดนตรีชั้นสูงสุด นับแต่เริ่มศึกษา นั่นก็เป็นความงาม กำลังปฏิบัติอยู่ก็เป็นความงาม แล้วเอาผลให้ดูก็เป็นความงาม พระพุทธเจ้าท่านเรียก อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง งามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด ทีนี้การเผยแพร่พุทธศาสนาฮาเบื้องต้นฮาท่ามกลางฮาที่สุด
นั่นคือการเผยแพร่พุทธศาสนากันเดี๋ยวนี้ ใช้เรื่องที่เล่นหัวกันเป็นส่วนใหญ่ มันต้องเอาผลคือความสงบทางจิตใจให้เขาดูได้ว่าเรามีธรรมะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ฉะนั้นเราเองจะต้องมีเมตตาเป็นที่ตั้ง ผู้ที่เผยแพร่นั้นต้องมีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง รักเขามีความรู้สึกสงสารเห็นใจเขา เห็นใจทุกคนไม่ว่าเป็นมิตรเป็นศัตรู มันยังมีกิเลสเบียดเบียนเหมือนกัน ราคะโทสะโมหะ ครอบงำจิตใจเหมือนกัน น่าสงสารน่าสงสารน่าเอ็นดูด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งตัวเราเองด้วย นี่เราต้องมีเมตตา เมตตานี่ฆ่าผู้อื่นได้ทำลายผู้อื่นได้ ถ้าเราต้องการชนะใจผู้อื่นต้องใช้เมตตา แต่ถ้าแก้ปัญหาตัวเองใช้ปัญญา มันเหมือนกับในหนังการ์ตูนของเด็กก็ได้ ซามูไรจะมีดาบสองเล่ม เล่มหนึ่งสำหรับฆ่าคนอื่นอีกเล่มสำหรับฆ่าตัวเอง ฆ่าผู้อื่นก็คือใช้เมตตาฆ่า แต่ถ้าตัวเองมีปัญหาต้องใช้ปัญญาฆ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนานี่ต้องมีปัญญาสูงสุด โดยเฉพาะรู้อย่างยิ่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้นเอง อร่อยก็อย่างนั้นเอง ไม่อร่อยก็อย่างนั้นเอง สบายก็อย่างนั้นเอง ไม่สบายก็อย่างนั้นเอง นี่เป็นสิ่งสูงสุดที่จะเปลี่ยนนิสัยเปลี่ยนวิญญาณของคนได้ ส่วนศิลปะการเผยแพร่พุทธศาสนาสูงสุดต้องเปลี่ยนวิญญาณของคนให้เป็นวิญญาณมนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะในฐานะที่เราเป็นครูบาอาจารย์นิสิตนักศึกษานี่ ในการเผยแพร่ยังไม่เปลี่ยนนิสัยคนได้ คนยังไม่กลัวกิเลสเลย พระเจ้าพระสงฆ์ก็ไม่มีทางที่จะเผยแพร่ได้สำเร็จประโยชน์ เพราะคนไม่กลัวกิเลส กิเลสมันเป็นใหญ่ครองโลก ไม่น่าเชื่อนะ คนเดี๋ยวนี้นะเขารักรวยกลัวจนแต่ไม่กลัวชั่ว จนถึงขนาดต้องฆ่าลูกตัวเองกินกันแล้ว พูดถึงขนาดนี้ให้มันเกลียดมันกลัวกิเลสนะ เป็นความจริงอย่างยิ่งเลยที่คนเกือบทุกระดับที่รักรวยกลัวจนแต่ไม่กลัวชั่ว ถึงขนาดต้องฆ่าลูกตัวเองเพราะกลัวจน เพราะกลัวความยากจนจึงต้องฆ่าลูก ลองคิดดูเรื่องศาสนาสอนให้คนรักดีกลัวชั่วรักบุญกลัวบาป เดี๋ยวนี้สอนให้คนรักรวยกลัวจนแต่ไม่กลัวชั่ว ก็กล้าทำผิดทำชั่วทุกระดับชั้นไป
ฉะนั้นปัญหาต่างๆ จะยังมีอยู่ถ้าคนไม่เกลียดความชั่วไม่เกลียดกิเลส จะทำอย่างไรให้คนพอใจคือเปลี่ยนนิสัย ก็ต้องใช้อุบายอย่างยิ่งในการที่จะสอนเขา ความรู้ที่จะให้เขารู้ให้เข้าใจให้ถูกต้องที่เพียงพอ เขาเรียก จริยศาสตร์ ทีนี้เราพูดกันน้อยเกินไป เช่นบอกว่าอย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ หรือให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราพูดแต่ตัวบทคือตัวทฤษฎี หรือตัวจริยธรรม แต่ไม่ได้พูดเรื่องจริยศาสตร์ให้มาก ความรู้ที่จะต้องรู้ว่าทำไมต้องไม่ฆ่าสัตว์ ทำไมต้องไม่ลักทรัพย์ ทำไมต้องรักพ่อแม่ หรือทำอย่างไร อันนั้นเป็นจริยศาสตร์ (Ethics) เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพูดกัน ตัวปฏิบัติที่ทุกคนจะต้องทำ เป็นตัวปฏิบัตินั้นคือจริยธรรม แต่ถ้าทำตามที่วางไว้แล้ว เกิดเป็นคุณเป็นประโยชน์ขึ้นมา เขาเรียกคุณธรรม ถ้ามากหรือเจริญยิ่งขึ้นไปเป็นสันติสุขสันติภาพ เรียกว่าวัฒนธรรมสูงสุดเลย นั่นมันตัวผลแล้ว
ตัวจริยศาสตร์ ก็คือ ตัวปริยัติต่างๆ ตัวจริยธรรม คือ ตัวปฏิบัติ ตัวคุณธรรม ตัววัฒนธรรม คือ ปฏิเวธนั่นเอง เช่น เราบอกให้เขาทำ คือบอกให้กระทำลงไป คือบอกตัวจริยธรรม ในหลักสูตรที่มีอยู่ พูดแต่จริยธรรมทั้งนั้น แต่ไม่บอกว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นอย่างนั้น หรือจะทำได้อย่างนั้น จะให้รักพ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่คืออะไร มันเลยไม่รักไง เพราะไม่มีจริยศาสตร์ให้ อย่างเช่นว่า ธนาคารอะไรที่บริการดีที่สุดในโลก ไม่ต้องฝากก็เบิกได้ตลอด เสาร์อาทิตย์ก็เบิกได้ หลับอยู่ไปปลุกขึ้นมาเบิกก็ได้ อย่างนี้พูดให้เด็กเข้าใจเพียงพอไม่ต้องให้คำตอบ
ความรู้ที่ถูกต้องอันนี้แหละจะต้องพูดให้มากเป็นพิเศษถ้าจะพูด แต่อย่างไรก็ตามคนโบราณนั้นเขาพูดกันไว้น้อย แต่เขาก็เห็น แล้วก็ทำได้ง่าย เช่นบอกว่าอย่าขี่หมาเดี๋ยวฟ้าผ่า แค่นั้นพอแล้วสำหรับคนโบราณ จริยศาสตร์ คือ ฟ้าผ่าก็พอแล้ว เด็กก็เลยไม่ขี่หมาไง อย่าหวีผมกลางคืนนะ เดี๋ยวผีจะพาไป เพราะเข้าใจแล้ว ก็พอแล้วทำตามพอแล้ว ผู้หญิงนี่มีโอกาสพบผู้ชาย วางอุบายทำหวีหล่น แกล้งหวีผมหน้ากระจกแล้วก็ทำหวีหล่นข้างล่าง แล้วขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่มาเก็บหวี พอลงไปข้างล่างผีมันเลยพาไปเลย นี่ไอ้คำว่าผีมันพาไปเท่านั้นพอแล้ว เป็นจริยศาสตร์ที่พอแล้วสำหรับคนสมัยโน้น เพราะเขามีศีลธรรมโดยสายเลือด เขามีการปฏิบัติให้ดูอยู่ เดี๋ยวนี้ต้องพูดกันมาก สอนกันมากเป็นพิเศษ
เดี๋ยวนี้ไม่รู้คำไหนเป็นคำไหน ตัวจริยศาสตร์ คือ ตัวปริยัติ คือ ความรู้ที่ให้เกิดการประพฤติปฏิบัติขึ้น เรียกว่า จริยธรรม นั้นตัวที่ทำแล้วได้ผลสูงสุดก็เรียกว่า คุณธรรม หรือ วัฒนธรรม ทั้งจริยศาสตร์ทั้งจริยธรรม ทั้งคุณธรรม วัฒนธรรม นี่เรียกว่า จริยศึกษา เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่า จริยศึกษา อยู่ที่ไหนคืออะไรกันอยู่ ซึ่งเราจะต้องมีดนตรีอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ให้มันถูกต้องทุกอิริยาบถไปเลย เป็นอยู่ให้ถูกต้องนั่นแหละ คือผู้ที่มีศิลปะในการเผยแพร่ ทำหน้าที่ให้ถูกต้องพอใจทุกขั้นทุกตอน ดีที่สุดพอใจที่สุด ไม่ว่าจะตื่นนอนไม่ว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำแต่งตัว ทำงาน รู้สึกภูมิใจดีใจที่ทำหน้าที่ถูกต้องมาตลอดเวลา
นี่เป็นศิลปะสูงสุดเป็นความงามสูงสุด หรือเป็นความสามารถอันสูงสุดที่จะเผยแพร่ และการเป็นอยู่อย่างนี่ ทำให้เขาเห็นว่าไม่ต้องมีกิเลสมาเกี่ยวข้องก็ได้ ไม่ต้องมีอบายมุขมาเกี่ยวข้องก็ได้ ไม่ต้องมีรักรวยกลัวจนจนถึงขนาดต้องฆ่าลูกตัวเองแล้ว ด้วยวิธีการอย่างอื่นมีอยู่อีกเยอะแยะ อย่างที่นี่จัดไว้เยอะ ในโรงมหรสพทางวิญญาณนั้นเป็นวิธีการศิลปะในการเผยแพร่ได้ทั้งนั้น ภาพต่างๆ แม้แต่ภาพข้างนอกที่เป็นภาพแจกลูกตาก็เป็นศิลปะอันหนึ่งที่ทำให้คนสนใจธรรมะ เวลาคนมาที่นี้ เราก็บอกว่าให้ไปถ่ายภาพตรงนั้นแหละ เพื่อที่ประกาศตัวเองหรือว่าถามตัวเองว่าเราอยู่ในพวกไหน วัดสร้างไว้แจกธรรมะแจกลูกตาให้คน แต่มีคนเข้ามารับเพียงสองสามคนเท่านั้น ที่ไม่มีหัววิ่งหนีเป็นฝูงๆ เลย ก็เลยถามตัวเองว่าแล้วเราอยู่ในพวกไหน
และอีกอย่างหนึ่งก็เป็น report ของวัดนี้ว่าเราเผยแพร่พุทธศาสนา ยังล้มเหลวอยู่ ก็เพราะว่าคนไม่กลัวกิเลสนั่นเอง มารับลูกตาไม่กี่คน ที่อยู่ในพาน ถ้าเป็นปลาในพานเหลือเยอะเน่าเสียไปแล้ว แต่นี่มันเป็นธรรมะไม่เสีย เป็นธรรมะในคน เราจะต้องช่วยกันเป็นอยู่ให้ถูกต้อง นี่คือการเผยแพร่อย่างมีศิลปะอย่างสูงสุด ด้วยความถูกต้องครองใจ ถ้าเราจะพูดก็ต้องพูดกับเขาด้วยเมตตาแล้วก็มีปัญญาด้วย นี่เรียกว่าเป็นความงาม ความฉลาด ความไพเราะ ในการกระทำทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เราจะต้องใช้ดนตรีไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด มีลีลาจังหวะท่าทาง อะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เกิดความประทับใจแก่คนได้ นี่เรียกว่าศิลปะในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
แถมท้ายว่า แม้จะกวาดลานวัดให้สะอาดให้คนมาดู ให้คนมาเห็นแล้วชื่นใจสบายใจ นั่นก็เป็นดนตรีอย่างหนึ่ง แค่ท่านทั้งหลายที่มานั่งตรงนี้ก็รู้สึกเย็นจนบอกไม่ถูก เรียกที่นี้เป็นดนตรีของพระพุทธเจ้านะ ดนตรีใช้ในทางบวกก็ได้ ใช้ในทางลบก็ได้ ดังนั้นดนตรีก็คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดในการดับทุกข์ สร้างความเจริญให้แก่จิตใจ อาตมาขอยุติไว้เพียงเท่านี้ เจริญพร
ขอบพระคุณพระอาจารย์วิรัตน์นะค่ะ ท่านได้เน้นจุดสำคัญ อันที่จริงท่านก็หยิบมาเพื่อให้ชัดขึ้นอีก ก็คือเมื่อจะเผยแพร่ธรรมะ จงนำผลการปฏิบัติของตนให้ผู้อื่นมองเห็น เป็นการเผยแพร่ที่ดีที่สุด แล้วก็ประทับใจที่สุด นอกจากนั้นโปรดอย่าลืมดนตรี ท่านผู้รักศิลปะทั้งหลายโปรดอย่าลืมดนตรี แต่ดนตรีอันนี้เป็นดนตรีพิเศษ เป็นดนตรีที่สามารถประทับใจผู้อื่นที่เราอยากให้สนใจธรรมะได้อย่างดียิ่ง และนอกจากนั้นก็คือการเป็นอยู่ให้ถูกต้อง
ถ้าจะกล่าวไปแล้ว ในการอภิปรายในเรื่องศิลปะของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในวันนี้ ทั้ง ๔ ท่าน ทั้ง ๓ ท่าน และท่านพระอาจารย์วิรัตน์นั้น ก็รวมความเห็นเหมือนกันว่า จะต้องเริ่มต้นที่ตัวของผู้เผยแพร่ก่อนว่าพร้อมแล้วหรือยัง คำว่าพร้อมไม่ได้พร้อมด้วยความรู้ ด้วยกำลังใจ หรือด้วยอะไรๆ อย่างอื่น แต่พร้อมในธรรมะที่มีอยู่ในจิตของท่านแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าในจิตมีธรรมะพร้อมอยู่แล้ว จึงจะสามารถเผยแพร่ให้ผู้อื่นเห็นได้ เพราะจะตรงกับที่ท่านอาจารย์วิรัตน์ ท่านบอกว่านำผลของการปฏิบัติออกมาแสดง แต่ถ้าหากว่าในจิตยังไม่มีธรรมข้อนี้ ก็เห็นจะเผยแพร่ได้ยาก
แล้วก็จำได้ว่าเมื่อหลายปีมาแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นจะเป็นชมรมพุทธศาสตร์เหมือนกันได้ทำหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งน่าอ่านชื่อว่า มองตัวเอง ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ว่ายังพิมพ์อยู่หรือเปล่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่จัดได้ว่าเป็นหนังสือที่ตรงกันกับพระพุทธโอวาท เพราะสิ่งหนึ่งในทางพุทธศาสนาที่แตกต่างจากศาสนาอื่นก็คือว่า สอนพุทธบริษัท “จงมองตัวเองอย่ามองผู้อื่น” ปัญหาของมนุษย์เราในสังคมทุกวันนี้ที่เกิดขึ้น ก็คือต่างก็มองคนอื่น แทนที่จะมองดูตัวเอง ถ้ายิ่งมองตนเองเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดปัญหาลงไปเท่านั้น ยิ่งมองตนเอง จะยิ่งเกิดความเมตตาต่อผู้อื่น เพราะอะไร เพราะเมื่อมองดูแล้ว ก็จะเห็นว่าที่เราว่าคนโน้นมีกิเลสอย่างโน้น คนนี้มีกิเลสอย่างนี้ แท้จริงในจิตเรานั้นกิเลสก็หาน้อยไม่
เนื่องจากว่าดิฉันก็เคยได้อยู่กับเรื่องของหนังสือมา ก็อยากขอเรียนเสนอแนะเพิ่มเติมอีกสักเรื่องหนึ่งว่า ในเวลาที่อ่านหนังสือวรรณกรรมต่างๆ นั้น นี่แหละเป็นแหล่งที่เราจะสามารถมองดูกิเลสมนุษย์ได้อย่างดีที่สุดแล้วก็สนุกด้วย ในขณะที่เรามองดูอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นกับตัวพระเอกนางเอกก็ดี หรือตัวผู้ร้ายจะเป็นผู้ร้ายผู้ชายหรือผู้ร้ายผู้หญิงก็ดี เหล่านี้แหละแสดงถึงกิเลสที่เกิดขึ้น ในขณะที่เรานำมาอภิปราย หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือ ถ้าหากว่าชมรมพุทธศาสตร์ของสถาบันต่างๆ จะลองจับหนังสือเล่มที่เป็นหนังสือที่เรียกว่าฮิตที่สุดในยุคขณะนี้แหละ นำมาอ่านนำมาอภิปรายกัน แล้วก็หยิบมาสิว่า ทำไมตัวละครตัวนั้น จึงได้กระทำเช่นนั้น ทำไมผลที่เกิดขึ้นแก่เขา จึงเป็นเช่นนั้น มันมาจากเหตุปัจจัยอะไร ผลจึงจะเกิดขึ้นเป็นเช่นนี้ อันนี้ก็เข้ากับหลักของอิทัปปัจยตา ซึ่งเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเมื่อเช้านี้เป็นอย่างดีที่สุดทีเดียว
แล้วก็ดิฉันยังเคยนึกอยู่ในใจว่า ถ้าหากว่าโลกเรานี้นะค่ะ หมดกิเลสซะอย่างเดียวเท่านั้น นักประพันธ์หมดทางหากิน เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเขียนเป็น Theme ของหนังสือนั้น ขอได้โปรดไปดูในวรรณกรรมทั้งหลายเถอะ ล้วนแต่นักประพันธ์ทั้งหลายได้กิเลสมาเป็น Theme คือ มาเป็นแก่นของเรื่องทั้งนั้น แล้วทำไมล่ะ ถ้าเราอยากจะเผยแพร่พุทธศาสนา เราก็หยิบเอาสิ่งที่ใครๆ ชอบ ใครๆ อ่าน แม้แต่การไปดูหนัง ไปดูภาพยนตร์ ไปดูละครก็เหมือนกัน นี่แหละสร้างมาได้เพราะกิเลสเป็นตัวต้นเหตุทั้งนั้น มิฉะนั้นจะไม่มี Theme ที่มาเขียนขึ้นเลย นี่แหละจงโปรดใช้สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นเครื่องมือ ถ้าหากว่าเราจะไม่ใช้แต่เพียงซึ่งมันก็สัมพันธ์กับที่อาจารย์วณีว่า เพราะเมื่อเรามองดูกิเลสจากหนังสือ จากภาพยนตร์ มันก็จะส่งเข้ามาถึงใจถึงความรู้สึก แล้วเราจะนำมาอภิปรายที่จะนำมาสู่ข้อธรรมะได้อย่างทุกคนประจักษ์ชัด คือจะมองเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ใจ
ดิฉันอยากจะขออนุญาตแนะนำตัวเองเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะค่ะว่า ตัวดิฉันเมื่อออกจากบ้านแล้ว ได้ไปหลายสำนักเลยนะค่ะ ได้ไปอยู่กับพระอาจารย์หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง แต่ตอนนั้นไม่ได้อยู่วัดหนองป่าพง อยู่วัดถ้ำแสงเทียน เพราะว่าท่านไปจำพรรษาที่นั่น แล้วเผอิญหลวงพ่อท่านอาพาธ ไม่สามารถที่จะสอนได้อีก ดิฉันก็ยังรู้สึกตัวว่าเป็นคนใหม่ในทางธรรมะ จึงมีคุณพี่ผู้อาวุโสได้นำมาที่นี่ ก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของเจ้าพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสได้ปีเศษแล้ว แล้วก็ได้รับประโยชน์จากธรรมะของท่านอาจารย์ที่จะเป็นแสงสว่างในจิตนั้นเป็นอันมาก แล้วก็สิ่งหนึ่งที่ดิฉันชอบแล้วก็อยากจะขอฝากไว้เพื่อให้เป็นจุดประสงค์ของชมรมพุทธศาสตร์ หรือในการเผยแพร่พุทธศาสนานั่นก็คือ เจ้าพระคุณท่านอาจารย์ ท่านได้บอกว่าในการปฏิบัติธรรมนั้นจงมีจุดมุ่งที่เพื่อลดกิเลส แล้วก็เพิ่มโพธิ โพธิก็คือปัญญา ในขณะที่บางครั้งดิฉันถามตัวเองว่าเราออกจากบ้านมาทำไมนี่ แล้วก็มามีสภาพอย่างนี้ เพื่ออะไร ในขณะที่จิตของเราไม่อยู่ในภาวะที่ปกติเท่าที่ควร คำตอบก็จะต้องบอกตัวเองว่า อ๋อเรามาเพื่อลดกิเลส เพื่อเพิ่มโพธิ ฉะนั้นถ้าหากว่าเราลดกิเลสไม่ได้ เราเพิ่มโพธิไม่ได้ เราก็ไม่เหมาะเลยที่จะอยู่เช่นนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะเผยแพร่ธรรมะแก่ผู้อื่น แต่จิตของเรายังไม่สามารถจะลดกิเลสของเราเอง และเพิ่มโพธิให้แก่เราเองได้ แล้วไฉนเล่า เราจะเหมาะที่จะไปเผยแพร่ธรรมะแก่ผู้อื่น จึงขอเรียนฝากข้อนี้ไว้เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายแก่ชมรมพุทธศาสตร์ทั้งหลายที่จะไปเผยแพร่ธรรมะแก่เพื่อนมนุษย์ในโลกของเรานี้ทุกคน จงพยายามเพื่อลดกิเลส และเพิ่มโพธิของเรา ขอขอบพระคุณทุกท่านค่ะ
สำหรับการอภิปราย ก็สิ้นสุดไว้เพียงเท่านี้ ผมคงจะต้องใช้พิธีการอีกนิดหนึ่ง ขอความกรุณาให้ สาธุพร้อมๆ กันแทนการปรบมือครับ หนึ่ง สอง สาม สาธุ ก่อนที่จะรับประทานอาหาร อันดับแรกเวลาช่วงบ่ายก็เป็นเวลา ๑๓ นาฬิกา ๓๐ นาทีนะครับพร้อมกันที่นี่ ก่อนที่จะลุกไป ผมมีอะไรเพิ่มเติมนิดหนึ่ง เรื่องเดิม แต่ว่าอ่านซ้ำ สำหรับอาจารย์ที่มีนิสิตนักศึกษาเป็นผู้สังเกตการณ์ ขอความกรุณารับค่าอาหาร และมอบให้ฝ่ายกรมการศาสนาด้วยนะครับ ท่านละ ๑๐๐ บาท โครงการที่สรุปผลมาแล้วนั้นกรุณามอบให้เจ้าหน้ากรมการศาสนาในวันนี้เช่นเดียวกันหลังจากทานอาหารแล้ว เพื่อจะเย็บรวมเล่มนะครับเป็นชุดเดียวกัน อีกอันหนึ่งครับมีสถาบันหลายสถาบันด้วยกันที่ยังมิได้ลงทะเบียน คำว่าลงทะเบียนหมายความว่าไปกรอกฟอร์มลงชื่อ เมื่อเช้านี้มีชื่อแล้วไม่ได้กรอกฟอร์มลงชื่อ ผู้นำกรอกฟอร์มหลังจากทานอาหารแล้วนะครับ สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือคุณสมพงษ์ (70:04) โรงเรียนนายร้อยพระจอมเกล้าคุณทศพร(70:06) โรงเรียนนายเรืออากาศไม่ทราบว่ามาหรือยัง ถ้ามาแล้ว.. (70:12) วิทยาลัยครูสวนสุนันทาคุณสุจินดา คุณสะอิ้ง (-70:15) วิทยาลัยพาณิชยาการพระเชตุพล คุณพิเชษฐ์(70:21) วิทยาลัยครูธนบุรีคุณชมพูนุช (70:22) .. (70:23) บางแสนคุณวนิดา(70:24) มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ทราบชื่อยังขาดอีกหนึ่งท่านนะครับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คุณ ...(70:30) วิทยาลัยครูเพชรบุรีคุณเนตรชนก (70:36) เมื่อเสร็จภารกิจทานอาหารกรุณาพบเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเพื่อลงทะเบียนนะครับ สำหรับตอนนี้ช่วงเที่ยงนี้ขอเชิญรับประทานอาหารที่เดิมนะครับ
นมัสการพระเดชพระคุณ ขอนมัสการพระคุณเจ้า เรียนท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงนักศึกษาทั้งหลายที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ก็จะขอเริ่มการบรรยายหรือการชี้แจงตามกำหนดเวลาดังนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พร้อมเพรียงกันก็ไม่เป็นไร เพราะว่าอยู่ที่ไหนก็คงได้ยิน ในเรื่องการบรรยายเนื่องจากว่าได้เวลาได้เลื่อนมาเป็นระยะเวลา ๓๐ นาที แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นการรบกวนอะไร เพราะว่าเรามาอยู่ในสถานที่เช่นนี้ก็คงทำงานตามที่กำหนดไว้ได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปบ้าง สำหรับกำหนดการบรรยายในตอนบ่ายนี้ ผมเองจะใช้เวลาประมาณสักชั่วโมงกว่าๆ คงไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่หลังจากนั้นจะได้เชิญนายแพทย์ได้ว่าต่อจนถึงเวลาอาจจะเป็นถึง ๑๗ นาฬิกา ถ้ามันเลื่อนไปๆ คงจะไม่ถึงแล้วล่ะราวๆ ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที
สำหรับเรื่องที่กระผมจะเรียนนั้นในหัวข้อที่เขียนไว้ก็คือนโยบายการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ก็ใคร่ขอเรียนออกตัวไว้ในที่นี้ว่าไอ้เรื่องที่ผมพูดนี่มันเป็นเรื่องโบราณ นั้นถ้าหากว่าไม่เข้าหูหรือว่าไม่ค่อยจะถูกใจท่านผู้ฟังหรือคนสมัยใหม่บ้าง ก็ขอประทานอภัยไว้ด้วย สิ่งที่เรียกว่า นโยบาย ความจริงก็ไม่อยากใช้คำนี้ เคยทำเป็นเอกสารมาครั้งหนึ่ง พอพรรคพวกเขาเขียนมาว่านโยบายการเผยแพร่ศาสนา และศีลธรรมของกรมการศาสนา นั่งอ่านๆ แล้วผมก็แก้เป็นแนวทางเผยแพร่ศาสนาและศีลธรรมของกรมการศาสนาไป คือรู้สึกว่าถ้าใช้คำว่านโยบาย เดี๋ยวนี้คนใหญ่คนโตเขาใช้กันมาก เพียงระดับกรมการศาสนาจึงไม่ค่อยกล้าที่จะไปใช้ โดยเฉพาะรัฐมนตรี รัฐบาล ชอบใช้นโยบาย เที่ยวขู่ชาวบ้านชาวช่อง เพราะฉะนั้นก็เลยกรมการศาสนาเองก็ไม่มีอำนาจวาสนาที่จะไปบังคับใคร ก็เลยคิดว่าแนวทาง
พอว่าแนวทางขึ้นมาในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต้องทำอย่างไร ให้ศีลธรรมในสังคมไทยนี้กลับมา หรือให้สังคมไทยยังคงมีศีลธรรม ศีลธรรมที่ว่านี่เป็นศีลธรรมแบบไหน ศีลธรรมแบบคนชาติไหน ซึ่งก็คิดลึกลงไปอีก ทั้งนั้นทั้งนี้ผมใคร่ขอประทานโทษไว้ในที่นี้เลยจะขอพูดเดี๋ยวนี้เลยว่าไม่แน่ว่าสังคมไทยเราหลงกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจจะหลงมานานแล้วหรือหลงเมื่อ พ.ศ.ประมาณ ๒๔๒๐ ถึง ๓๐ หรือหลงเมื่อพ.ศ.๒๔๖๐ หรือหลงเมื่อพ.ศ.๒๔๙๐ หรือหลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ฉะนั้นจึงเกิดความหลงขึ้น ถ้าพูดตามภาษาพระพูดในวัด ก็ว่าอวิชชามันเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นอันนั้นก็คือว่า เราไปเอาสิ่งที่ไม่น่าจะ คงจะไม่ใช่ของสังคมไทย ของคนไทย ของเมืองไทย ที่ปู่ย่าตายายเรายึดเราถือทำกันมานั้น เอามายึดถือปฏิบัติ พอมายึดถือปฏิบัติขึ้นมามากๆ เข้ามันก็เกิดอาการที่เรียกกันว่า ผิดฝาผิดตัว ผิดฝา ผิดตัว มันเป็นยังไง ขอประทานโทษนักศึกษาด้วยนิสิตนักศึกษาด้วย แต่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็คงจะเคยได้คำนี้ ไอ้ผิดฝาผิดตัวมันเกิดยังไง สมมุติว่าจะหุงข้าวสักหม้อหนึ่ง ถ้าหากว่าหม้ออีกขนาดหนึ่ง แต่ว่าฝาอีกขนาดหนึ่ง ผลที่ออกมาข้าวมันก็สุกๆ ดิบๆ มันไม่สุก เรียกว่าผิดฝาผิดตัว
ในเรื่องการที่เราเรียนเราสอนศีลธรรมเราฝึกอบรมอะไรกันในสังคมไทยนี่ มันลักษณะคล้ายๆ เรื่องผิดฝาผิดตัวเกิดขึ้น เพราะในสมัยหลังๆ นี่ ถ้าหากดูลักษณะของสิ่งที่ป้อนเข้าไปในสังคม ที่เป็นอยู่ในสังคมนี่ มันมีแต่ลักษณะสุกๆ ดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ มันปนอยู่เป็นจำนวนมาก คนบางคนก็คิดว่าดีๆ เหลือเกิน สังคมยกย่องให้เป็นคนใหญ่ คนโต มาเป็นคนบริหารบ้านเมือง เป็นหัวหน้า เป็นอะไรต่อมิอะไร ใหญ่โตกันมากมาย แต่อยู่ดีๆ ก็ลายออกมา ความสุกๆ ดิบๆ นี่ออกมาอยู่บ่อยๆ เมื่อเราลองดูอันนี้ ก็ทำไมไม่ลองวิเคราะห์ หรือลองมองลงไปให้ชัดว่า แต่เดิมเป็นอย่างไร
สังคมไทยเรานี่เป็นสังคมชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยไหนสมัยไหนตามที่ประวัติศาสตร์ท่านว่ากันมา อาจจะตั้งแต่ที่ยังอยู่ในประเทศจีน จะเป็นมหายาน หรือว่าจะเป็นเถรวาท ยังไงก็ตาม ก็นับถือลงมา หรือว่าที่ในถิ่นเดิมที่คนไทยลงมาอยู่นี่ก็ พุทธศาสนาลงมา พ.ศ.ประมาณ ๒๓๐๐ ก็นมนาน นมนานพอสมควร คนไทยนับถือพระพุทธศาสนานี้ นับถือเข้าเลือด เข้าเนื้อ เข้าจิต เข้าใจ เข้าจนลืมว่ามันอยู่ข้างในแล้ว พอเข้าจนลืมไปอย่างนี้ ก็คงไปเข้าธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งว่า อะไรที่มันเป็นของเราแล้วเป็นตัว เป็นตน ของเราแล้วนี่ บางทีก็ลืม ไม่ได้มีความหวงแหน ไม่ได้มีความระมัดระวังก็ปล่อย หลงเลอะ ไปบ่อยๆ อันนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จะจริงไม่จริงอันนี้ ท่านนิสิต นักศึกษา ที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ก็ดี ทางจิตวิทยาอยู่ก็ดี หรือเป็นครูบาอาจารย์ทางด้านนี้ก็ดี ก็พิจารณาดูก็แล้วกัน ความชอบของแปลกของใหม่นี่ มันเป็นสัญชาตญาณ หรือเป็นนิสัย หรือเป็นอุปนิสัย เป็นอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน มันก็ติดอยู่ อะไรถ้าหากว่าเป็นของเราๆ อยู่ปกติ ปู่ย่าตายายถือกันมาอยู่ในสายเลือดกันมาปกตินี่ มันจะไม่เด่น มันจะไม่ดัง มันจะไม่วิเศษ มันจะไม่มีใครที่จะมองเห็นขึ้นมา ว่ามันเป็นของดี ต้องเขี่ยต้องขุดกันมาอย่างมากมาย จึงจะดีขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นของแปลกของใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ความ คนก็จะรุมเข้าใส่ อันนี้นะครับ ผมคิดว่ามันจะเป็นปัญหาต่อการที่เราจะฟื้นฟูศีลธรรม หรือทำอย่างไรให้ศีลธรรมมันคงอยู่
ตอนนี้เราหันมามองการศึกษา ขอประทานโทษผมเองก็เรียนมาทางการศึกษา เป็นครูบาอาจารย์มาพอสมควร แม้จะไม่ได้เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ตาม ๒๑ ปีที่อยู่ในโรงเรียนมานี่ ผมมองเห็นอันหนึ่งว่า โรงเรียนของเรา โรงเรียนในระบบ โรงเรียนทั้งที่กระทรวงศึกษาทำ หรือใครทำก็ตาม มันตามก้นฝรั่งมันตามแน่ ไม่ใช่ตามเปล่ามันเอาคติทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาใส่ พอใส่เข้าไปมากๆ แล้ว หลง คือ หลงคิดว่าอันนี้เป็นของไทย อันนี้เป็นของเรา ใครมาบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ก็ชักเคือง ชักไม่ยอมเชื่อ คราวนี้ถ้าหากว่ามันเอาเข้ามาอย่างนี้มากๆ มันก็เป็นลักษณะผิดฝา ผิดตัว เหมือนกับผมเรียนในตอนแรก
ในการศึกษาของเรานั้นถ้าดูตามประวัติการศึกษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หรือมาจนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อะไรก็ตาม ที่เขาบอกพูดกันง่ายๆ เขียนกันว่าประวัติศาสตร์กันง่ายๆ บอกว่าเรียนกันในวัดไปเรียนที่วัดหรือคนจากวัดมาเป็นคนสอน ไอ้จุดมุ่งสมัยนั้นก็มีปรัชญาอยู่ประการหนึ่งก็คือว่า คนเรานี่ถ้าหากว่าจิตใจดี จิตใจเจริญเต็มที่แล้ว จะทำอะไรก็ทำได้ จะไปเรียนอะไร จะไปประกอบกิจการอะไร ก็คงทำได้ อันนี้เป็นปรัชญาที่ถือกันอยู่ตั้งแต่สมัยดั้งเดิม แล้วก็ยังถือติดมาเดี๋ยวนี้ แต่ว่าพอมาสมัยหลังนี่ โดยที่ว่าคนมันมากขึ้น วิทยาการสมัยใหม่มันเจริญขึ้นมามาก แล้วก็การติดต่อคมนาคม อะไรต่างๆ มันถึงกันนี่ คนก็รับอะไรต่อมิอะไรใหม่ๆ เข้ามาเยอะ พอเยอะเข้า ก็เกิดอาการว่าต้องชิงของกัน ทรัพยากรต่างๆ สำหรับคนบริโภค มันมีไม่มากเพิ่มเท่าไหร่ มันมีเท่าเดิม แต่ในการที่คนมากขึ้น วิทยาการที่เกิดขึ้น ก็เพื่อจะใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
ที่ทำมากันอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เกิดอาการหนึ่งเกิดขึ้น การแย่ง การชิงกัน มันแย่งกันอยู่ทุกอย่าง อันนี้คือศัตรูสำคัญของศีลธรรม ศัตรูสำคัญของศีลธรรม ถ้าใครยังยึดถือว่าการแย่งการชิงนี่ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของตนเอง ของใครๆ ก็ตาม จะต้องแย่ง ต้องชิง ต้องถือเป็นหลักแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นศัตรูของศีลธรรมอย่างแน่นอน แต่ว่าบางคนเขาก็บอกว่า ถ้าไม่มัวแย่งมัวชิงมันก็อดตาย ใช่ ถ้าอยู่ในสังคมแบบนี้ สังคมแย่งชิงกันทั้งหมดใครๆ ก็ต้องแย่งชิงด้วย แต่บางอย่างที่ไม่น่าจะแย่งจะชิงนี่ มันก็จะแย่งจะชิงกัน พอเกิดอันตรายขึ้นจากการแย่งการชิงนี้ ก็จะมีการโทษกันมีการลงโทษ แต่ในการลงโทษจะไปลงโทษในส่วนที่ว่าไปลงโทษคนอื่น ไม่ไปลงโทษคนที่มีความคิดว่า การแย่งชิง นั้นเป็นการดี เหมือนอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นว่า คนไปแย่งทานกัน ไปเหยียบกันตาย ถ้าดูรูปให้ดี ก็มีขบวนการ มีขบวนการที่จะเข้าไปแย่งทานให้ได้มากที่สุด ดูรูปที่หนังสือพิมพ์เอามาลงที่หลังว่าใครเห็นเหตุการณ์ แต่คนพวกนี้ไม่ได้รับการติเตียนเลย จะต้องไปติเตียนเอาคนที่สอน หรืออย่างเมื่อวันรุ่งขึ้น ผมนั่งทานข้าวอยู่ในที่กระทรวงในหมู่อธิบดีกระทรวงศึกษาฯ ด้วยกัน บอกว่า พระเจ้าสอนไม่เป็นเดี๋ยวนี้ จนคนจึงไปชิงทานกันตาย อธิบดีสองสามคนในกระทรวงศึกษาฯ ผมเองพวกผมเองว่าออกมา เจอเพื่อนในมหาวิทยาลัยบอกว่าไม่ได้เรื่องแล้ว แบบโบราณๆ มันชิงกันตายแบบนี้ มันต้องสมัยใหม่ ก็มักจะลงโทษกันอย่างนี้ แต่ว่ากระบวนการที่จะไปแย่งไปชิงกันนี้ ไอ้คนที่ว่าส่งเด็กลงไปข้ามไอ้ประตูไอ้นั่นลงไป แล้วคนที่ซื้อข้าวสารที่คอยให้เด็กเอาไปข้าวสารหนึ่งห่อเอามาใส่ถังข้างหลังนี่ พวกนี้ไม่มีใครลงโทษเลย อันนี้คืออะไร ก็คือสิ่งถ้าหากว่าคิดตามที่กระผมคิดมันอาจจะผิดหรือถูก มันก็ไม่แน่ แต่ว่าสังคมนี้หลงไปแล้ว หลงไป
พูดถึงเรื่องการเรียนบ้าง ที่บอกว่าเมื่อกี้ที่ว่าการศึกษาสมัยเก่ามีปรัชญาอยู่ว่าคนเราถ้าจิตใจดี แล้วก็จิตใจดี จิตใจสูง จิตใจได้รับการศึกษาเพียงพอแล้ว จะทำอะไรนี่ ต่อไปข้างหน้ามันทำง่าย แล้วมาเดี๋ยวนี้ก็มาลัทธิวัตถุนิยม หรือว่าบริโภคนิยม อะไรนี่ เข้ามามาก มันก็ลืมอันนี้ มันต้องชิงกันก่อน การเรียนหนังสือก็ต้องชิงกัน เข้าทำงานก็ต้องชิงกัน ชิงกันไปชิงกันมา ชิงกันตาย เวลาเผาศพ ไปงานไหนเลย เมื่อร้อยวันที่แล้ว ผมมาเผาศพคุณแม่ที่สุราษฎร์ฯ ผมชื่นใจนิดหนึ่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดคนนี้ คุณนิพนธ์นี้ มาบอกผมว่า ๆ ผมพยายามที่สุราษฎร์ฯ มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ย้ายจากพัทลุงมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่สุราษฎร์ฯ นี่ ผมเพิ่งมาเห็นเผาศพแม่พี่นี่ คนไม่ชิงกัน จะว่าคนไม่ชิงเวลาเผาศพแม่ผมที่สุราษฎร์ฯนั้น แทนที่ว่าแม่ผมตายที่นี้จะเอาขึ้นรถไปกรุงเทพฯ เอาศพขึ้นรถไปกรุงเทพฯ หรือว่าตายที่กรุงเทพฯ ขึ้นรถไปที่บ้านที่ญาติอยู่มากๆ ผมตัดเสีย เอาที่คนน้อยๆ เพราะรู้ว่าถ้าคนมากแล้ว ต้องชิงกัน แล้วถ้ายิ่งคนผมเอาศพแม่ผมไปกรุงเทพฯ ไอ้พรรคพวกลูกศิษย์ลูกหาไอ้พรรคพวกคนที่ต้องพึ่งบารมีของอธิบดีกรมการศาสนาอยู่บ้าง ก็คงแย่งชิงกันเผากันที่สุราษฎร์ฯไม่มาก ท่านผู้ว่านิพนธ์เลยมายกย่องชมเชยผมใหญ่เลยว่างานศพแม่พี่ไม่มีคนชิงเลย แต่ว่าไอ้เหตุการณ์เช่นนี้ คนเราไม่ค่อยทำกัน ผมเองก็โดนญาติพี่น้องโกรธเคืองไป มีคนว่าแม่ตายทั้งทีตัวเองเป็นอธิบดี เอาไปเผาเสีย บอกใครให้รู้เรื่องหน่อยก็ไม่ได้ ผมญาติโยมผมเยอะแยะเพราะว่าไอ้การที่เที่ยวบอกให้คนไปมากๆ นี่ ไม่แน่ว่าจะรักษาไอ้ความมีศีลธรรมของคนไว้ได้ เรื่องอื่นๆ อีกจิปาถะ
ทีนี้เรื่องการเรียน พอการเรียนเกิดคตินิยมใหม่ขึ้นมาว่า มันไม่มีมันจะต้องแย่งต้องชิงกันนี่ การเรียนในเวลานี้ไม่ว่าจะโรงเรียนประถม แม้แต่โรงเรียนอนุบาล ผมเคยเป็นศึกษาธิการจังหวัดที่พิจิตรครั้งหนึ่ง นักเรียนอนุบาลเดินขบวน ชิงกันบอกว่าครูจัดอาหารให้ไม่ทัน นักเรียนอนุบาลสามขวบเดินขบวน เพราะหลังจากปีนั้นแล้วผมมาเห็นนิสิตนักศึกษาเดินขบวน ผมไม่เดือดร้อนเลย เพราะมันหมดแล้ว ตั้งแต่เด็กอายุสามขวบ มันก็เดินขบวน เพราะฉะนั้นนักเรียนนักศึกษามหาวิทยาลัย ถ้าไม่เดินขบวนก็เสียเกียรติแย่เลย ก็เสียเกียรติความเป็นสมัยใหม่ การเป็นขี้ข้าทาสปัญญาของฝรั่งนี่ ถ้าไม่เดินขบวนก็ไม่เป็นฝรั่ง ก็เลยต้องเดินขบวน แต่ว่า เพราความหลงไง
ตอนนี้มองกันให้ละเอียดนิดหนึ่ง ในโรงเรียนผมเคยวิเคราะห์ในหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ต้นมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ๓๕ หลักสูตรประโยคหนึ่งประโยคสองอะไรมาจนมาถึงหลักสูตรปัจจุบันนี้ หลักสูตร พ.ศ.๒๕๒๑ จากการวิเคราะห์หลักสูตรนี้ปรากฏว่า แรกที่เราตั้งโรงเรียนขึ้นมาตั้งโรงสอนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ก็ตาม ในโรงเรียนประโยค ๑ประโยค ๒ อะไรนี่ ที่ตั้งกันมาตอนแรก ไม่มีวิชาศีลธรรม ไม่มีวิชาศีลธรรม เป็นโรงเรียนสำหรับเรียนวิชา วิชา คำว่าวิชา ก็คือเรียนเพื่อจะไปทำมาหากิน เรียนเพื่อจะบำรุงพุทธิปัญญา หรือว่าจะเรียนไปทำมาหากินอะไรก็ตาม จะเรียกว่าวิชา ไม่มีวิชาที่ว่าด้วย ศีลธรรมจรรยา อะไรไม่มี ก็มานั่งวิเคราะห์ดูว่า ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๐ มา ที่ไม่มีวิชาศีลธรรมในหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทย ในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีครับ แต่ตอนหลังมี ก็อาจจะเป็นเพราะว่า การศึกษาในตอนแรกๆ นั้นเรายังถือแบบประเพณี ที่เรียนเพื่อให้จิตใจเป็นคนโดยสมบูรณ์นี่ ต้องเรียนอยู่ที่วัด หรือคนจากวัดมาสอน ยังไม่ต้องให้ฝรั่งมาสอนความเป็นคนให้คนไทย มันก็จึงไม่เป็นไร
แต่พอมาถึงพ.ศ.๒๔๔๒ มีหลักสูตรประกาศหลักสูตรขึ้นมาเพิ่มหลักสูตรวิชาจรรยา หลักสูตรวิชาจรรยา เข้ามาในหลักสูตรประโยค ๑ ประโยค ๒ คือชั้นประถม ชั้นมัธยมขึ้นมา ก็ลองวิเคราะห์ดูว่าไอ้ที่หลักสูตรขึ้นมา มีหลักสูตรวิชาจรรยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เพราะอะไร คิดกันแบบหนึ่งว่า คงเรียนๆ แล้ว เด็กมันความประพฤติมันแย่มาก ผู้จัดการศึกษาจึงต้องเพิ่มหลักสูตรนี้เข้าไป อันนี้ก็ครั้งหนึ่งซึ่งวิเคราะห์ได้ เหมือนกับเดี๋ยวนี้ ผมไปวัดต่างๆ ในฐานะอธิบดีกรมการศาสนา ไปเห็นหลายวัด พระอุปัชฌาย์อาจารย์ ต้องเขียนติดไว้ที่กินข้าวที่ท่านนั่งว่า ไม่รับบวช คนที่บวชเช้า สึกเย็น ผมก็แปลความหมายว่า ทำไมหลวงพ่อถึงเขียนว่าอย่างนั้น แสดงว่าเดี๋ยวนี้มีคนบวชเช้า สึกเย็นกันมาก หลวงพ่อจึงเขียนป้ายว่า ไม่รับบวชให้ ทำนองเดียวกันว่า สงสัยว่าหลักสูตรวิชาศีลธรรม หรือว่าวิชาจรรยาทีแรกนี่ ที่ใส่ลงในหลักสูตรการศึกษาของรัฐเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๒ คงเป็นเพราะว่าทีแรกเรียนมาไม่มีปัญหาเรื่องศีลธรรม คนต้องการได้ความรู้มากมายแต่พอตอนหลังนักเรียนมากขึ้น ศีลธรรมชักไม่ค่อยดี จึงมาได้ใส่วิชาศีลธรรมเข้าไปในหลักสูตรนั่นก็ประการหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องการให้เป็นฝรั่งมากขึ้น เป็นฝรั่งมากขึ้นเพราะว่า ระบบโรงเรียนที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากโรงเรียนของฝรั่งพวกโบสถ์พวกวัด พระสอนมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพวกบวชพวกพระสอนก็ต้องสอนศาสนาศีลธรรมอยู่ด้วย โรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาในประเทศไทย ก็จำเป็นจะต้องใส่วิชาศีลธรรม
แต่หลังจากพ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นต้นมานี้ วิชานี้ก็อยู่ในทุกระดับ เปลี่ยนหลักสูตรกันกี่ครั้ง ตั้งมหาวิทยาลัยมา ก็ใส่ไว้ แต่ว่าใส่มานี้ ถ้าว่าดูกันให้ตลอดมาแล้ว ก็ปรากฏว่าตั้งแต่มีวิชาศีลธรรมอยู่ในหลักสูตรการศึกษา ศีลธรรมของนักเรียน ผู้สำเร็จการศึกษา ไม่ดีขึ้น คือจะเป็นปัญหาที่พูดจากันอยู่ทุกยุคทุกสมัยว่า เด็กความประพฤติไม่ดี คนสมัยสมัยใหม่ความคิดสู้คนสมัยก่อนไม่ได้ อะไรพวกนี่ พูดกันมาเรื่อย แล้วที่น่าแปลก ผมจำเหตุการณ์ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ อดีต ๒๕๐๐ ผมไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์ไปเรียนเป็นนิสิตพ่วง ไปเรียนภายนอก แล้วก็ได้ไปฟังทั้งอาจารย์และนักศึกษาคุยกัน ผมก็แปลกใจ ตอนนั้นผมเป็นครูอยู่ แล้วก็เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นนิสิตภายนอกเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ภายนอก เห็นนิสิตจุฬา เดินดูดน้ำแข็งหลอด นักศึกษารุ่นนี้ฟังไว้เล่นๆ ก็แล้วกัน ผมไม่ได้มานินทาพรรคพวกผมสมัยก่อน แต่ผมก็แปลกใจว่า ถ้าเป็นโรงเรียนที่ผมเป็นครู ผมเฆี่ยนแน่ เอาเรื่องแน่ เล่นเดินดูดน้ำแข็งหลอดจากตึกอักษรศาสตร์ไปตึกวิศว ไปตึกวิทยาศาสตร์นี่ เอาแน่ แต่ก็มี ได้ฟังอาจารย์จินตนา ยศสุนทร(93:15) ตอนนั้นอาจารย์เป็นกรรมการความประพฤตินิสิตของจุฬาฯ ท่านยังอยู่ที่จุฬาฯ ก่อนจะไปรามคำแหง ท่านก็บอกว่าไม่ไหวแล้วไม่มีทางที่จะแก้แล้ว งั้นฉันลาออกจากการเป็นกรรมการมารยาทนิสิต อาจารย์จินตนาลาออก กรรมการมารยาทนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เลิก
มาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือ ๕๐๑ หลักสูตรในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ไม่มีหลักสูตรวิชาศีลธรรมจรรยา ไม่มี มีวิชาศาสนาก็สอนกันในแง่ของปรัชญา หรือวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ก็มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี ชื่อเสียงดีมาตลอด คราวนี้มองกลับมาที่กระทรวงศึกษาธิการ คิดว่าท่านที่เป็นครูบาอาจารย์อยู่รุ่นนี้ หรือนักเรียนนักศึกษารุ่นนี้ อาจเคยได้ยินบ้าง เมื่อ พ.ศ. ระหว่าง พ.ศ. ๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ มีคนด่าว่ากระทรวงศึกษาธิการนี่ไดโนเสาร์เต่าล้านปี ด่ากันนักหนา เดินไปตรงไหนก็โดนด่า นักการเมืองก็ไปด่าในสภา พวกที่อภิปรายที่ท้องสนามหลวงก็ด่ากัน ที่ท้องสนามหลวง ตรงไหนก็ตาม ถ้าใครพูดกระทรวงศึกษาธิการก็ไดโนเสาร์เต่าล้านปี ตอนนั้นผมยังไม่อยู่กรมการศาสนาผมอยู่กระทรวง คิดกันว่าจะทำยังไง ตั้งกรรมการหลักสูตรออก พ.ศ ๒๐นะ ก็เลยอย่ากระนั้นเลยเพื่อให้คนเลิกด่าซะที ก็เลยตัดวิชาศีลธรรมออกจากหลักสูตรโรงเรียนทั้งหมด ในโรงเรียนในชั้นประถม ถ้ายังขืนใช้คำว่า วิชาศีลธรรมอยู่ ยังมีความจำเป็นจะให้เด็กนักเรียนชั้นประถมเรียนวิชาศีลธรรมอยู่ นักวิชาการหลายคนที่จบจากเมืองนอก เมืองนา เป็นดอกเตอร์เยอะๆ ก็ต้องเรียน แต่ว่าใช้คำว่า ศีลธรรมไม่ได้ ถ้าใช้ศีลธรรม แล้วจะต้องมีคนฮาเอาแน่ ก็เลยใช้คำให้โก้หน่อยก็เลยใช้คำว่า จริยศึกษา คำว่า จริยศึกษา ฟังดู คนนอกฟังดูนั่นนะเข้าใจว่ามันเป็นไทยเข้าใจว่าเป็นพุทธ แต่ตัวแท้ตัวจริง มีคนใส่ในหลักสูตรนี่ มันเป็นภาษาฝรั่งครับ คือ Ethic นั่นเอง แล้วก็มาใช้จริยศึกษา เอาภาษาบาลีเข้าไปใส่ ก็เท่านั้นเอง เอาภาษาสันสกฤต เข้าไปใส่ก็เท่านั้นเอง ตัวเนื้อหาจริงๆ เป็นฝรั่ง ชั้นมัธยมไม่ใส่แน่ เพราะมหาวิทยาลัย เขาเลิกกันมานานแล้ว เลิกตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ เขาประกาศหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๒๑ ออกมานี้ ไม่มีใครด่ากระทรวงศึกษาธิการว่าไดโนเสาร์เต่าล้านปีเลย เดี๋ยวนี้ใครยังด่าอยู่มั่ง คนนั้นไม่ทันสมัย คือ ก็เคยด่าติดปากเท่านั้นเอง นิทานเรื่องนี้ผมขอเรียนครูบาอาจารย์ที่นั่งที่นี่ ท่านอาจารย์ที่นั่งที่นี่ แล้วก็ขอเรียนนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่มาร่วม จากทุกสถาบันที่อยู่ที่นี่ ช่วยพิจารณาดูก็แล้วกันว่า สังคมเราเป็นอย่างไร ที่ผมใช้คำว่า อวิชชาครอบงำ ในตอนแรกนะ มันไปไหน
คราวนี้เรามามองในเรื่องการสอนศีลธรรมบ้าง ถ้าหากดูในกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมหลายฉบับมา จะเขียนหน้าที่อันหนึ่งก็คือ กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาอบรม นะครับ เขียนมาตลอด มาตอนหลังจึงเขียนการศึกษาเฉยๆ ในการเรียน เมื่อตอนสมัยที่เรายังมีวิชาศีลธรรมเป็นหลัก มีเนื้อหาวิชาอยู่ในหลักสูตร ปรากฏว่าเราสอนศีลธรรม ก็สอนศีลธรรมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๖๐ จนมา พ.ศ ๖๔ ปัจจุบันมาถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ นี่ มันมีอันหนึ่งตอนที่ร่างหลักสูตร ยกปัญหาขึ้นมาพิจารณาอยู่อันหนึ่งว่า นักเรียนไม่ว่าชั้นไหน หรือประโยคไหน ที่สอบวิชาศีลธรรมได้คะแนนเต็มมาตั้งแต่ชั้น ป.๑ มาจนถึงชั้น ม.๖ หรือ ม.๘ หรือจนจบ อักษรศาสตร์บัณฑิต จบวิทยาศาสตร์บัณฑิต สมัยนั้นอักษรศาสตรบัณฑิตยังมีศีลธรรมอยู่ด้วย ใครกล้ารับประกันได้ไหมว่า คนนี้มีศีลธรรม คนที่สอบได้สมัยก่อนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์กัน หรือได้คะแนนกันมา ๒๐ ๒๐ กันมาตลอด วิชานี้ ๒๐ ๒๐ คะแนนมาตลอด หรือว่าได้เต็ม ๑๐๐ ก็ได้กันเต็มวิชา มีใครค้ำประกันหรือใครรับประกันบ้างว่า คนนั้นมีศีลธรรม ไม่มีใครเลย ผมจะเดินถาม อยู่หลายวันเหมือนกัน
ตอนร่างหลักสูตร พ.ศ.๒๐ นี่ ผมจะเดินถาม ไม่มีใครกล้า ก็มาพิจารณาว่า เราเรียนอะไรกัน เรียนศีลธรรมนี่ เราเรียนกันเป็นวิชา ใช่ไหม อะไรก็ตามที่เรียน เรียนเป็นวิชา ขอประทานโทษเถอะใช้ภาษาอังกฤษสักคำหนึ่ง ผิดหรือถูกผมก็ไม่แน่ใจ ไปอยู่เมืองนอกไปอยู่ปีเดียวก็เลยไม่ค่อยจะสันทัดภาษาอังกฤษ ถ้าเป็น subject matter นี่(นาทีที่ 29:40) มันวิชามันเพื่ออะไร ผมก็มองคงจะเพื่อพุทธิปัญญาหรือเพื่อความสามารถของการใช้มือที่จะทำงานต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพ นั่นก็เพื่อการศึกษา
แต่ว่าคำอีกคำหนึ่งที่หลงหายตกหายไปก็คือคำว่า อบรม ไม่เกี่ยว ไม่มี มีตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศมาฉบับหนึ่ง มีคำสั่งออกมาฉบับหนึ่งว่า ให้โรงเรียนต่างๆ สอนอบรมนักเรียนหน้าเสาธงวันละ ๕ นาที นี่เฉพาะโรงเรียนนะ ไม่ก้าวก่ายไม่เกี่ยวมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคงไม่มีใครกล้าไปสอนแน่ ในโรงเรียนเขาสอนกัน ๕ นาทีตอนเช้า ผมเองตั้งแต่เป็นครูน้อยจนเป็นครูใหญ่ เป็นอาจารย์ใหญ่ จนเป็นศึกษาจังหวัด ก็เอาเรื่องนี้นักหนา พยายามเอาจริงๆ เลย เรื่องสอนนักเรียน อบรมนักเรียนหน้าเสาธง ๕ นาทีนี้ ทำมาตลอด ยิ่งทำเท่าไหร่ ความประพฤติเด็ก ยิ่งแย่ทุกทีเลย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเป็นครูใหญ่ อยู่ที่ปัตตานี ทำทำจริงๆ เลย เอาละอันนี้ทดลองดู จริงไม่จริง สอนขนาดว่าครูที่จะขึ้นไปหรือแม้แต่ผมขึ้นไปเอง เตรียมกันอย่างดี สอนกันอย่างดี มองลงไปว่า เราสอนเด็ก เด็กไม่เรียน ครูประจำชั้นคุมอะไรต่างๆ ปรากฏว่า ไม่ประสบผลสำเร็จ เดี๋ยวก็ยังสั่งอยู่ครับ แต่รับรองว่าอันนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ
อันนี้เพราะอะไร ทำไมเรื่องการอบรมนักเรียนหน้าเสาธง ๕ นาทีแต่ละวันนี้ ผมก็ยังบอก ตอนที่เป็นผู้ตรวจการราชการภาคใต้ เคยบอกเพื่อนที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ บอกว่าโรงเรียนใครที่อบรมนักเรียนหน้าเสาธงสำเร็จดีๆ ช่วยบอกบ้าง ผมจะเอาไปเป็นตัวอย่าง ไปโฆษณาที่อื่น จะถ่ายรูป จะไปเขียนเรื่องลงให้คนเขารู้ ครั้งหนึ่งโรงเรียนคลองท่อม คุณชะลอ เพื่อนกัน เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ เขาก็บอกว่าเขาก็ดี ผมก็ไปแอบดู ไปนั่งดูแต่เช้า ตั้งแต่ครูยังไม่มา นักเรียนยังไม่มา นั่งดูอยู่ใกล้ถึง ๑๑ โมง มันก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ดีอย่างมาก ก็ดีต่อหน้าคน ลับหลังไม่ได้เรื่องเลย นั่นคือผลของการที่เราสอนศีลธรรมกันมาในโรงเรียน มันสอนวิชา ให้คะแนน ให้คะแนนแล้วเป็นวิชา
การสอนศีลธรรมเป็นวิชานี่ ผมชักเชื่อเดี๋ยวนี้ว่า ไม่มีทาง ไม่มีทางที่จะเอาศีลธรรมกลับมาได้ คราวนี้กลับมาดูในภาคนอกโรงเรียนบ้าง ขอโทษถ้ามีอนุสาคณาจารย์นั่งอยู่ที่นี่ ให้พิจารณาด้วย ผมไปพูดเรื่องนี้ที่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อสองปีที่แล้ว พอพูดกลับมาก็มีอนุสาคณาจารย์หลายท่านด่ามา ว่าผมนี่ความคิดวิปริตแล้ว อันนี้การที่บอกว่าสอนวิชาศีลธรรมนี่ มันไม่ได้เรื่อง ทำให้คนที่เขาจะช่วยเรื่องศีลธรรมจริงๆ คืออนุสาคณาจารย์ทั้งหลายก็ตาม ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ตาม เสียกำลังใจ ผมก็เลยเขียนจดหมายไปตอบท่านผู้นั้นว่าไม่ได้ให้เสียกำลังใจ แต่ว่านี้เป็นการวิเคราะห์ ลองวิเคราะห์กันดู ถ้าเราทำอะไรไม่วิเคราะห์ ไม่วิจัยกันออกดูว่า สิ่งที่เราทำมานี้มันเป็นอย่างไรแล้ว มันก็ทำไปอย่างนั้น เรามีพุทธสมาคม เรามียุวพุทธิกสมาคม เรามีอะไรต่างๆ ในเรื่องการสอนศีลธรรมกับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่ในโรงเรียน ก็ทั้งหลายทั้งปวงพยายามมุ่งมาถึงการสอนวิชาพระพุทธศาสนา สอนวิชาพระพุทธศาสนา สอนกันนักหนา ผลที่ออกมาก็ไม่ทราบว่ามันจะได้หรือไม่ได้ คือผลที่ออกมาก็เปิดหนังสือพิมพ์อ่านวันไหนก็วันนั้น ข่าวที่มากที่สุดในหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือข่าวอาชญากรรม ข่าวที่คนผิดศีลธรรมทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เราสอนกันมากมาย สอนกันจริงๆ พระก็ช่วยสอน แต่ว่าทำไมมันไม่ดีขึ้น หรือว่าใครว่าดีขึ้น คือเทียบจำนวนคนทั้งหมด ประชากรทั้งหมดแล้ว ไม่กล้าพูด ความจริงผมพูดอย่างนี้มันฟ้องตัวเองฐานะที่ผมเป็นอธิบดีกรมการศาสนา นี่ฟ้องตัวเองว่าทำงานไม่ได้ผล แต่มันไม่ได้ผลจริงๆ ก็ยอมรับ แต่ว่าใครจะว่าได้ผลลองพิจารณาดูซิ มันไม่ได้ผล จะทำกันอย่างไร
คราวนี้ก็ลองมาฟังคำพูดหลายๆ คำ ที่เขาพูดกันว่า คนเดี๋ยวนี้ความประพฤติแย่กว่าคนแต่ก่อน เด็กเดี๋ยวนี้ ขอโทษนะ ไม่ค่อยเรียบร้อยสู้เด็กแต่ก่อนไม่ได้ เขาพูดกันอย่างนี้ ไม่รู้จะจริงหรือไม่จริง ไม่มีใครพิสูจน์ได้ เพราะว่าแต่ก่อนตายไปหมดแล้ว แต่เขายังชอบพูดกัน ผมก็เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์มากล่าว มีอะไรก็ชอบลอง ขอประทานโทษเถอะว่าคราวนี้จะขอใช้คนทั้งบ้านทั้งเมืองเป็นหนูตะเภามาทดลองดู ถ้าว่าเราเชื่อว่าคนแต่ก่อนมีคุณธรรมในจิตใจ มีความประพฤติดีกว่าคนเดี๋ยวนี้ ถ้านะครับ ถ้าเราเชื่อว่าอย่างนั้น ถ้าเราเชื่อว่าเด็กแต่ก่อนมีความประพฤติดีกว่าเด็กเดี๋ยวนี้ ถ้าอีกเหมือนกัน แล้วทำไมเราไม่ลองใช้วิธีอบรมแบบแต่ก่อนดูบ้าง แล้วก็ทำการวิจัยกันออกมาหรือทดลองกันออกมาเป็นกรุ๊ป กรุ๊ป ออกมากันให้เห็น เป็นส่วนๆ เป็นคณะ ออกมาให้เห็น เป็นแบบวิทยาศาสตร์ แบบที่เราเชื่อกันออกมา อันนี้แหละครับ ที่ผมเรียกว่า ทีแรกจะเขียนว่านโยบาย แต่ว่าตอนนี้ไม่กล้าใช้คำว่านโยบาย ใช้ว่าแนวเผยแพร่ศีลธรรมที่ผมพยายามเผยแพร่มาสองปี มันก็น่าเจ็บใจนะ แม้แต่ลูกน้องผมในกรมการศาสนาเอง ก็ยังไม่ยอมรับ เมื่อวานเดินทางมานี้แล้ว พอดีทางรัฐมนตรีเขาอยากดูซิว่า ที่อธิบดีมีแนวที่จะสอนศีลธรรมมีว่าอย่างไร ลูกน้องอาจารย์โยมก็หาให้ไม่ได้ ที่ผมเขียนไว้ในโครงการนี้ ที่ผมจะเรียนต่อไปนี้ แต่ว่าคงจะต้องลองกันดู ลองกันดู ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะอย่างน้อยที่สุด ถ้าพูดกันง่ายๆ อย่างน้อยที่สุดก็ให้มาดูกันที่ว่า เดี๋ยวนี้เราสอนแต่วิชาศีลธรรมกัน เราสอนวิชาศาสนากัน เราไม่ได้อบรม อบรมแปลว่าอะไรก็ยังไม่รู้ ท่านนิสิต นักศึกษาทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่ ลองให้เขียนเรียงความ หรือเขียนความหมายของคำว่า อบรม มาดู มาเขียน เขียนมาสัก ๑๐ คน จะเหมือนกันสัก ๒ คน ผมไม่แน่ใจ คำว่าศึกษา ถ้าคำว่าศึกษา เขียน ๑๐ คน อาจจะ ๘ คน เหมือนกัน แต่ถ้าเขียนคำว่า อบรมแปลว่าอะไร ให้เขียนมา ๑๐ คนจะเหมือนกันสัก จะมีคู่ ยังจับคู่กันได้ว่าสองคนเหมือนกัน สองคนเหมือนกัน จะได้ไหม ไม่แน่ใจ ต้องลองดู จะว่าเป็นการลอง หรือว่าการทำจริงก็แล้วกัน
แต่ถ้าเราพิจารณาดูประวัติศาสตร์ดูว่า ที่ว่าคนสมัยก่อนคิดดี มีอันหนึ่งที่มาที่ในวัดธารน้ำไหลนี้ แล้วมาสวนโมกข์นี้แล้ว ของท่านอาจารย์ที่เราก็ทราบกันอยู่ดี ที่ใช้คำว่าสว่าง สงบ สบาย สามคำนี้ มีอยู่คำหนึ่งครับ คำว่าสงบของท่าน ว่าในการที่จะเรียนศีลธรรม ในการที่จะฟื้นฟูศีลธรรมออกมา แต่ที่เราทำอยู่ในเวลานี้ น่าจะขาดสักอันหนึ่ง ก็คือคำว่าสงบของท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ เพราะไปที่ไหน ที่ไหน แม้แต่ในโรงเรียน ในโรงเรียนเดี๋ยวนี้หาความสงบไม่ได้ ผมทำพุทธมณฑล ตอนนี้วันเสาร์ วันอาทิตย์ มีพระเทศน์ มีคนไปนั่งวิปัสสนา ก็ปรากฏว่า เมื่อวานนี้ได้รับหนังสือร้องเรียนจากคนที่ไปนั่งฟังพระเทศน์ ไปนั่งวิปัสสนาบอกว่า มีคนชอบไปเฮฮา เด็กนักเรียนไปวิ่งเล่น ไปกินเหล้ากันเฮฮา คือไม่มีความสงบทั้งๆ ที่ว่าที่สงบ ผมให้ติดป้ายไว้แล้วว่า ที่นี้เป็นที่สงบ มันไม่สงบ
คราวนี้ถ้าหากเรามองว่า คนแต่ก่อนถ้าว่า คนแต่ก่อนมีความประพฤติดี คนแต่ก่อน เด็กแต่ก่อนดี แต่ก่อนเขาอบรมกันอย่างไร นะครับ สิ่งหนึ่ง อันหนึ่งที่ใคร่จะขอเรียนขอย้ำ ก็คือการนับถือพระ นะครับ นับถือพระ ความจริงใครๆ ก็ทราบ คนแต่ก่อนก็คงทราบว่า พระก็คือคนธรรมดานี่เอง แต่ท่านไปถือศีล คนแต่ก่อนคงไม่โง่ ไม่รู้ว่าพระเป็นยังไง คงรู้ แต่คนแต่ก่อนก็นับถือพระ แต่คนเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร นะครับ คนที่ปากบอกว่านับถือพระ ยังมากมาย แต่ว่าพฤติกรรมจริงๆ เป็นอย่างไร ผมเองเพียงแค่เอาหลักฐาน เอาคนที่เขียนหนังสือไปให้ผมอ่าน เขียนหนังสือไปด่าผมอยู่เดี๋ยวนี้ ความจริงด่าพระทั่วประเทศ คนบอกว่านับถือพระ แต่เขียนหนังสือด่าพระกันทุกวัน พระไม่ดีอย่างนั้น พระไม่ดีอย่างนั้น คือพระองค์นั้น องค์นี้ พระไม่ดีกันอย่างนั้น คนเดี๋ยวนี้ชอบเขียนจังเลย พอตอนผมมาเป็นอธิบดีได้ ๒ ปี ตอนแรกมาใหม่ๆ ได้รับเฉลี่ยแล้ววันละ ๑ ฉบับ ที่บอกว่าคนเขียนหนังสือว่าบอกว่าพระไม่ดีอย่างนั้น พระองค์นั้นไม่ดีอย่างนั้น พระองค์นี้ไม่ดีอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเป็น ๒ ฉบับ ผมว่าอันนี้อันหนึ่งน่าแปลกว่า คนเคารพพระ นับถือพระ แต่ด่าพระนี่ ไม่ได้นับถือ คนที่เห็นหน้า เห็นตา กันจริงๆ อย่าออกชื่อเลยนะ แต่ว่าผมพาไปดูตัวได้ทุกเวลา มันเต็มไปเสียหมด ด่ากันต่อหน้าเลย ขึ้นไปบนทำเนียบเต็มทำเนียบ ขึ้นกระทรวงศึกษาธิการ ก็เต็มกระทรวงศึกษาธิการ ใครที่มีชื่อเด่นๆ ดังๆ แล้วพวกนี้ด่าพระเก่งทุกคน ยิ่งไปกว่านั้นนะครับ คนที่กำลังต่อต้านเรื่องว่าศาสนาคริสต์รุกรานศาสนาพุทธ ก็ยังชอบด่าพระ ด่าว่ามหาเถระสมาคมไม่ทำอะไร ด่าใหญ่ ไม่ใช่ด่าพระเล็กๆ ด่าพระใหญ่ๆ คราวนี้หลายท่าน คงพอนึกได้ มันเป็นอย่างนั้น
นั่นประการที่หนึ่ง ประการนี้ ลองคิดกันดู แต่ผมก็คิดแบบที่ว่าไม่ค่อยมีความรู้ของผม ผมคิดว่า ถ้าเราสามารถที่ว่าคนไทยที่นับถือพุทธกันทั้งสังคมทั่วประเทศ แม้แต่คนที่ประกาศตัวว่าไปนับถือศาสนาอื่น ก็แล้วเวลาจะตาย ก็ยังต้องมีคนไปบอกพระอรหันต์ให้ จึงจะดับจิตไปได้ ก็เป็นพุทธกันตลอด ถ้าหากว่าคนเป็นพุทธ แต่ว่าไม่นับถือพระ ศีลธรรมมาจากไหน ใกล้อันนี้ไปผมไม่ตั้งเป็นข้อใหม่ แต่ว่าเป็นข้อเดียวกัน
หนังสือ คนสมัยใหม่หรือว่าชาวพุทธรุ่นใหม่หรือว่านักวิชาการรุ่นใหม่ต่างๆ รังเกียจภาษาบาลีกันเหลือเกิน รังเกียจกันจริงๆ เลย พอบอกว่าเรียน บาลี หรือ หนังสือบาลี แล้วไม่มีใครเอา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เขียนทุกวันเลย ศาสนาพุทธจะแย่ ถ้ายังเขียนภาษาบาลี แปลก ในมหาวิทยาลัยเอง ขอโทษนะครับ ขอล้ำเข้าไป แต่ก็พอรู้ๆ อยู่ รู้สึกว่ารังเกียจภาษาบาลีพอสมควร ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ที่ผมเรียนมาเดิม นักเรียนไม่เคยเพิ่ม แล้วคนที่สอบภาษาบาลีได้ A นี่มาสอบประโยค ๓ ตก เดี๋ยวนี้ ได้บัณฑิตนะครับอักษรศาสตรบัณฑิต บอกให้มาสอบประโยค ๓ กับพระนี่ ตก ได้ปริญญาได้ปริญญาตรีทางภาษาบาลีมาจากมหาวิทยาลัย ผมเอง ของผมเองที่ผมเคยเป็นนิสิตเก่ามา มันก็แปลก สมเด็จพระสังฆราชเคยตรัสหลายครั้งบอกว่า อย่ารังเกียจเลย คนชาวพุทธที่นับถือพุทธทั้งหลายอย่ารังเกียจภาษาบาลีเลย มีอะไรคนไทยเรานี้ก็นับถือครู ภาษาบาลีนี้เหมือนภาษาครู นั่นเป็นครู มีคนคอยด่าโดยเฉพาะพวกที่เขาเล่าเรียนกันสูงๆ หรือพวกที่โก้เก๋กันทั้งหลาย พระเทศน์ฟังไม่รู้เรื่องเทศน์แต่ภาษาบาลี ภาษาบาลีเรียนไปทำไม ชอบว่ากันเหลือเกิน นี่รังเกียจ พูดง่ายๆ ไม่นับถือ ยังบอกว่าเป็นพุทธ มันก็เลยเป็นพุทธแต่สำมะโนครัว หรือเป็นพุทธแบบทำลายพุทธ ยิ่งกว่าพวกที่ศาสนาอื่นมาทำลายศาสนาพุทธ
นี่ประการหนึ่ง คือการนับถือพระ แต่ถ้าหากว่าไม่สร้างบรรยากาศ ไม่สร้างอันนี้ขึ้นมา อันอื่นไม่เกิด คราวนี้ดูวิธีการสมัยก่อน พอคนนับถือพระแล้ว ละอายในการที่จะทำชั่ว ละอายในการที่จะทำความผิด กฎหมายบังคับได้เฉพาะหน้า แต่ศาสนานี้บังคับได้ถึงขั้นลับหลัง แต่เดี๋ยวนี้ต่อหน้า ลับหลัง ไม่มีใครเว้นความชั่ว มันเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้านับถือพระขึ้นมาบางทีจะละอาย คนแขวนพระเต็มคอ แขวนพระเครื่องเต็มคอ ไปปล้นเขาถูกยิงตายมีอยู่บ่อยๆ อันนี้นับถือแต่เปลือก ไม่ได้นับถือจริงๆ คือนับถือเพื่อเหตุ ถ้าพูดกันภาษาฝรั่งต้องการแต่จะ take จากศาสนา ไม่ต้องการ give คือ give ให้จิตใจตัวเองมานับถือศาสนาจริงๆ เลย คนสมัยก่อนแม้จะกินเหล้า แม้จะทำความยากจน เพียงแต่จะกินเหล้า พระเดินมา เห็นพระเดินมา ก็ยังเอาขวดเหล้าหลบ เดี๋ยวนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ผมไปวัดชลประทาน เจ้าคุณปัญญาเทศน์ให้ฟัง นั่งไปในรถไฟ เจ้าคุณปัญญานั่งไปในรถไฟชั้นหนึ่งด้วย แล้วก็มีคนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือใครไม่รู้ก็คงใหญ่ๆ นั่งไปในรถด้วย ก็สั่งเหล้ายามา เหล้าดีๆ ด้วย เฮนเนสซี่ หรืออะไร ยกมือไหว้เจ้าคุณปัญญา ขอโทษหลวงพ่อนะ ผมต้องเอากันหน่อย มันเป็นอย่างนี้ครับ แล้วเรื่องนับถือพระนี่ เดี๋ยวนี้มันไม่นับถือแล้ว ยังทำอะไรที่เกินแบบนี้ สิ่งที่ว่าทำไมจึงขอให้นับถือพระ ถ้าเอาตามหลักง่ายๆ จะทำความชั่ว อย่าทำต่อหน้าพระ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แล้ว ก็ทำกันหมด แล้วจะเอาอะไร
ดูกันอีกสักข้อครับ นอกจากนับถือพระ เขาไปฟังเทศน์กันที่วัด พาลูกพาหลานตัวเองไปฟังเทศน์ที่วัด ไปฟังเทศน์นะครับ ไม่ใช่ฟังบรรยาย เดี๋ยวนี้พระท่านก็ใจดีเหลือเกิน พระทั่วประเทศก็ใจดีเหลือเกิน ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสท่านก็ใจดี ท่านบรรยายนะครับ ทำไมท่านจึงต้องบรรยาย พระเจ้าทั่วประเทศต้องบรรยายกันแล้ว เพราะถ้าเทศน์แล้วคนหนีหมด คนลงจากศาลาไปหมด พระยังต้องการจะโปรดสัตว์ยังต้องบรรยาย แต่ในการบรรยาย ผมก็นึกตามภาษาผมว่าเทศน์กับบรรยายนี่ ผลที่ได้ อานิสงส์ที่ได้ มันต่างกันแน่ๆ ต่างกันยังไง มันมีอยู่อันหนึ่งในฐานะที่คนไทยนับถือพระพุทธศาสนา มันยังมีความละอายจิตอยู่ลึกๆ เคยไปฟังพระท่านเทศน์สอนคนชาวบ้านที่สนิทสนมตามวัดต่างๆ ของท่าน บอกว่าโยมรับศีลเสร็จแล้ว ก็เอาศีลติดตัวกลับไปบ้านด้วย อย่าทิ้งไว้ที่กระไดศาลา ท่านว่าอย่างนั้น ก็แสดงว่าคนรับศีลแล้ว ทิ้งไว้ที่กระไดศาลา กลับบ้านศีลไม่ติดตัว สมเด็จพระสังฆราชเดี๋ยวนี้ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาท่านก็พยายามอย่างเดียวว่าเทศน์ ผมก็อยู่กับท่านมานานพอสมควรตั้งแต่เป็นรองอธิบดีมานับมาเดี๋ยวนี้ก็หกเจ็ดปีแล้ว ท่านเทศน์อยู่กัณฑ์เดียวเทศน์ให้คนนับถือศีล ๕ นับถือศีล ๕ ผมก็เห็นพระทัยท่านเหลือเกินว่า ไม่สำเร็จ
แต่อย่างไรก็พูดมาถึงว่า คนฟังเทศน์กับฟังธรรมบรรยายนี่ ฟังบรรยายต่างกัน ได้ผลต่างกัน เพราะว่าคนฟังเทศน์นั้น ในพิธีเทศน์จะต้องมีการให้ศีล พระต้องให้ศีลจึงเทศน์ ที่ท่านอื่นท่านบรรยาย แต่เดี๋ยวนี้คนทั่วไปนะครับ ไม่รู้จักว่าเทศน์คืออะไร อะไรคือเทศน์ เทศน์คืออย่างไร ไม่รู้จักครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ สักอันหนึ่ง ผมออกชื่อมาท่านก็เคยอยู่ที่นี่ ท่านพยอม พระพยอม ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ที่วัดนี้ วัดธารน้ำไหลนี้ จนมาสมัยหลังที่ท่านโด่งดังขายเทป ที่พ่อค้ารวยไปตั้งสี่สิบกว่าล้านนี่ ท่านไม่ได้เทศน์เลย ท่านไม่ได้เทศน์เลย ท่านยังไปคุยกับผมที่กรมเลย ท่านไม่ได้เทศน์เลย มีอยู่ครั้งหนึ่งผมพาท่านไปวัดเทศน์ที่วัดเบญจท่านยังบอกว่านี้เป็นครั้งแรกนะ ท่านอธิบดีที่อาตมาได้เทศน์ ท่านไม่ได้เทศน์เลย แต่ทำไมคนทั่วบ้านทั่วเมืองเขาบอกว่า พระพะยอมเทศน์ดี ทำไมไม่เอาเทปของพระพยอมมาฟัง คำนี้พูดกับเกือบทั่วไป ก็แสดงว่าคนไม่รู้จักว่าเทศน์คืออะไร ประเพณีหมดแล้ว ไม่รู้จัก ไม่รู้จักกันหมด การเทศน์นั้นสำคัญที่ว่าคนได้รับศีล ได้รับศีลแล้วยังนั่งอยู่ตรงนั้น ยังไม่ได้ลงจากศาลาไปไหน แล้วศีลก็ยังอยู่ตรงนั้น คนที่รับศีลก็ยังอยู่ตรงนั้น ความสำรวมมีอยู่ ความสำรวมยังมีอยู่ เพราะว่าคนไทยนั้นในสายเลือดยังละอายอยู่บ้างว่าตัวเองนับถือพุทธศาสนา รับศีลจากพระแล้วยังไม่ลุกไปไหน ยังไม่กล้าที่จะเหลวไหลไปอย่างอื่น ผมว่าจุดนี้จุดเดียวที่เทศน์จะดีกว่าบรรยาย แล้วก็คนไทยน่าจะฟังเทศน์ ทำไม ก็เพราะว่าถ้าฟังโดยสงบ โดยสำรวมแล้ว ฟัง ๕ นาที มันก็ได้ ๕ นาที ฟัง ๑๐ นาที ก็ได้ ๑๐ นาที ฟังชั่วโมง ก็ได้ชั่วโมง แต่ถ้าฟังบรรยายแล้วนี่ มันไม่มีอะไรผูกรัดเอาไว้ ไม่ได้มีอะไรผูกรัดจิตใจเอาไว้ มันไม่ได้มีอะไรผูกรัดเอาไว้ จิตใจมันก็ฟุ้ง มันสนุกสนานเลยนี่
ผมเคยเรียนจิตวิทยาตอนที่ไปเรียนเมืองนอก พูดแบบฝรั่ง ฝรั่งเองมันก็ว่า คนเราขณะที่จิตใจกำลังสนุกสนานเฮฮาเต็มที่อยู่นี่ อย่าไปเอาคุณธรรมอะไร บาปบุญคุณโทษเข้าไปพูดกันเลย ไม่ถึง ไม่เข้า ในการฟังเทศน์จิตใจสงบ จิตใจได้สงบ มันจึงได้ มันดีกว่าดีตรงนี้ แต่ว่าการบรรยายยิ่งสนุกสนานเท่าไหร่ กลับมาที่ท่านพยอม เมื่อมาพูดที่นี้ ท่านก็ศึกษาไปจากสำนักนี้ ท่านพูดดีจริง สอนเก่งจริง คนสนุกสนาน แต่ผลที่ได้ผมไม่แน่ใจครับ ผมกล้าพูดจริงๆ เลยต่อหน้าท่านก็พูดกัน มีคนมาโฆษณาบอกว่ามีคนมาฟังพระพยอมสอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว อดเหล้าได้ อดบุหรี่ได้ ผมถามว่าได้กี่คน เขาตอบว่า อดเหล้าได้ ๒ คน อดบุหรี่ได้ ๓ คน แต่เทปที่ขายไป พ่อค้าที่ขายไปรวยสี่สิบล้านนี่ สี่สิบสองล้านนี่ สี่สิบสองล้านนี่ ขายเทปได้เท่าไหร่ มันฟังเท่าไหร่ เอาสัดส่วนนี้มาพิจารณาดู มันคงไม่คุ้มเท่าไหร่ คราวนี้มีอยู่อันหนึ่งที่คนเขาเก่งๆ เขาพูดกันบอกว่า ฟังพระเทศน์ไม่เห็นได้อะไร บางคนก็มานั่งหลับ พระบอกว่าเทศน์ไปเถอะ ก็นั่งหลับตลอด พอพระบอกถึงเอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้ ก็ลืมตาขึ้นมา สาธุ ไม่ได้ความ เขาบอกว่าไม่ได้ความ ถ้าถามกลับว่าคนที่ฟังพระเทศน์นั่งหลับมาตลอด ไม่ได้ความนี่ ถามว่าคนพวกนี้เคยไปทำความเดือดร้อนให้ใครมั่ง คนเฒ่าคนแก่ที่ไปฟังเทศน์อยู่ที่วัด นั่งหลับตลอด นั่งพนมมือหลับตาตลอดนี่ แล้วพอสุดท้าย พระบอกเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ยกมือขึ้น สาธุ นี่ ปรากฏว่าคนเหล่านี้ไม่เคยขึ้นโรงพัก ไม่เคยไปติดตาราง แต่อีกพวกหนึ่งที่ฟังบรรยายกันเฮๆๆๆ นี่ คุกของคุณทวี ชูทรัพย์ กับผมเป็นเพื่อนกัน เคยคุยกันเสมอ พวกนักฟังบรรยาย เข้าไปอยู่กับ คุณทวี มากๆ เหลือเกิน จนเดี๋ยวนี้คุกไม่พอแล้ว ต้องสร้างขยายกันอยู่เรื่อย อันนี้อันหนึ่งผมขอเรียน ถ้าหากเราเชื่อในสมมุติฐานว่า คนแต่ก่อนความประพฤติดีกว่าคนเดี๋ยวนี้ ทำไมไม่จัดคนเดี๋ยวนี้ให้ฟังเทศน์ดูเสียมั่ง หรือไปสอนศีลธรรมแบบให้ฟังเทศน์บ้าง
คราวนี้ว่าถึงคนสอนนะครับ อีกประการหนึ่งคนสอน เดี๋ยวนี้คนสอน ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนครับ ที่มหาวิทยาลัยผมไม่ทราบ ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน สอนใครลำบากพอสมควรนะครับ ครูอาจารย์โดนลูกศิษย์ตีหัว โดนลูกศิษย์ทำร้ายมีอยู่บ่อยๆ เพราะไปสอนเขา ให้เขาประพฤติดี แม้แต่อาจารย์เป็นเจ้าอาวาส เป็นหลวงตา หลวงพ่อแล้ว ก็ยังเคยถูกเด็กวัดตีหัวเอา ฆ่าเอาก็มี อย่างลุงของผมเองเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ฯ เป็นต้น เอาคนมาเลี้ยงสอนให้เขาเป็นคนดี เสร็จแล้วเขาก็ฆ่า เมื่อเดือนมีนาคมที่แล้วอย่างนี้ เป็นต้น คนเดี๋ยวนี้สอนกันไม่ได้ แต่ก็อีกประการหนึ่งที่น่าคิดก็คือว่า ถ้าให้พระสอนก็พอมีคนฟังบ้าง เพราะแนวที่จะฟื้นฟูศีลธรรม ผมใคร่ขอเสนอวิธีการหนึ่งว่าทำอย่างไร ให้พระท่านได้สอน คือ ได้เทศน์นี่ ให้พระท่านได้สอนมากขึ้น ครูบาอาจารย์คฤหัสถ์เราสอน เพราะว่าสอนไปคงได้อะไรยาก ครับถ้าจะต้องขอจบเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ