แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไอ้คำว่าจิตวิทยานี้มัน มันกว้าง มันกว้างจนไม่รู้จะเอายังไงกันแน่ ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างไร รู้เรื่องธรรมชาติของจิตเป็นอย่างไร อย่างนี้มันก็เรื่องจิตวิทยา มันจะใช้ประโยชน์มันได้สักเท่าไรมันก็เป็นจิตวิทยา จะใช้มันอย่างไรก็เรียกว่าจิตวิทยา จะอบรมมันอย่างไรก็เรียกว่าจิตวิทยา ในที่สุดจะมีจิตอยู่ในสภาวะเช่นไรก็เรียกว่าจิตวิทยา ให้มันกว้าง ทีนี้จะเอาจิตวิทยานี่ ไปรับใช้อะไรๆ เอาความรู้ทางจิตวิทยานี่ไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร หรือรับใช้อะไรมันก็เรื่องจิตวิทยาเหมือนกัน จะเอาไปรับใช้การบ้านการเมือง หรือว่าจะทำดับทุกข์ของตนโดยเฉพาะ
พุทธศาสนานี้มันก็มีจิตวิทยาแต่ในแง่ที่จะดับทุกข์เท่านั้นแหละว่าที่จริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์แค่นั้นล่ะ เดี๋ยวนี้ก็ตามแต่ก่อนโน้นก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ตามพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ก็หมายความว่าจะพูดจะรู้จะใช้จิตวิทยา แต่เรื่อง รู้ทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น จะไปใช้อะไรนอกเหนือออกไปเป็นเรื่องอาชีพเป็นเรื่องการงานนี่ก็ไม่มี รู้เรื่องจิตวิทยา รู้เรื่องของจิตในทุกแง่ทุกมุม ที่จะเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์และก็ดับทุกข์ได้ในที่สุด นี่ละจิตวิทยา เดี๋ยวนี้จิตวิทยามันเอาไปใช้กันต่ำมากใช้หลอกลวง จิตวิทยามีความหมายว่าจะใช้ต้มคนหลอกลวงคน กลางถนนก็มีอย่างนี้จิตวิทยา มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตจริงๆ ด้วย เหมือนกันล่ะ ทายใจเขาถูกพูดจาดักคอเขาถูก หลอกลวงเขาเอาไปได้นี่มันก็เป็นจิตวิทยา อย่างนี้ไม่ดับทุกข์ แล้วก็เพิ่มความทุกข์ จิตวิทยาสร้างปัญหา จิตวิทยาที่จะดับปัญหาก็ต้องมีอยู่ส่วนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง พูดกันเฉพาะจิตวิทยาในพุทธศาสนา มันก็มีเฉพาะว่าจะใช้ จะทำจิตอย่างไรให้อยู่เหนือความทุกข์ จะทำจิตอย่างไรอยู่เหนือความทุกข์ มันจะไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ทางอื่นนั้นก็ไม่ได้สนใจ สนใจแต่ว่าจะให้มันอยู่เหนือความทุกข์ จิตเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งก็เรียกว่ามีในสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตก็มันมีสิ่งที่เรียกว่าจิตติดมาแต่เดิมๆ แล้วก็ยังไม่มีกิเลส ยังไม่มีความทุกข์ ถือว่าเด็กในท้องมารดานั้นไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ไม่มีการคิดปรุงแต่งอะไร ก็เรียกว่ายังสะอาดหรือว่าไม่มีกิเลส บางคนเขาจะพูดว่ามีกิเลสมาแต่ชาติก่อนโน้น เราไม่ถืออย่างนั้น จิตแท้ๆ ล้วนๆ เป็นประภัสสร ใช้คำว่า ภัสสร ไม่มีกิเลส แต่แล้วมันจะค่อยๆ ถูกกิเลสทำให้หมดประภัสสรมาเรื่อย ๆ ๆ บางทีก็เรียกว่าจิตเดิม จิตเดิมคือก่อนแต่ที่จะมีกิเลสน่ะ เรียกว่าจิตเดิม เอาเป็นจิตของเด็กในท้องก็ได้ ออก คลอดออกมาใหม่ๆ ก็ได้ที่มีจิตเดิม แต่ต่อไปนี้มันก็ถูกปรุงๆ เป็นจิตใหม่มากมายออกไป ไกลออกไป ๆ พอเด็กคลอดออกมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เริ่มทำหน้าที่รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับเข้าไปนั้นไม่ใช่รับเข้าไปเฉยๆ มันก็ไปปรุงแต่งคือทำให้ชอบหรือไม่ชอบ ยินดีหรือยินร้าย แล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร ทีนี้เด็กก็เริ่มรู้จัก รู้สึกหรือรู้จักไอ้ความยินดียินร้าย ชอบหรือไม่ชอบ บวกหรือลบ อารมณ์ความรู้สึกจะเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็เริ่มรู้จักๆ ความคิดมันก็ค่อยๆ งอกงามออกไปไกลออกไป พอมันไม่ชอบมันก็เป็นทุกข์ พอมันชอบมันก็เป็นสุข ไอ้ความทุกข์หรือความสุขเป็นเพียงความรู้สึกธรรมชาติตามธรรมชาติ เกิดมาจากอารมณ์ที่มาแวดล้อมหรือมากระทบ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น พอมันเกิดความรู้สึกสุข-ทุกข์ก็ตาม เกิดความรู้สึกต่อไปถึงว่ากู กูเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือความสุข ความทุกข์นั้นเป็นของกู นี่รู้ไว้เถอะว่า ไอ้กูตัวกู ความรู้สึกเป็นตัวกูหรือเป็นกิเลสหรือเป็นทุกข์นั้นเพิ่งมี ก่อนนี้จิตประภัสสรล้วนๆ ไม่มี ไม่มีความรู้สึก สุข ทุกข์ กิเลสอะไรยังไม่รู้ แต่พอคลอดออกมาจากท้องแม่ก็มีโอกาสที่จะรู้ ครั้งแรกก็มันจะรู้สึกเรื่องทางลิ้น กินนม กินอะไรนี่ ความพอใจหรือความไม่พอใจก็มี เริ่มตาเห็นนั่น หูฟังเสียงนี่ ก็มีเริ่มมีขึ้นทุกผู้ ทุกๆ ทุกอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมี 6 อย่างนี้ มันจึงมีความหมายขึ้นมา โลกจึงมีความหมายขึ้นมา ถ้าอย่ามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกนี้ก็ไม่มี เหมือนกับไม่มี เท่ากับไม่มี
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ในบาลีเรียกว่าสิ่งสำคัญ อินทรี อินทรียะๆ แปลว่าสิ่งเป็นใหญ่ คือสิ่งมีอำนาจหรือสิ่งสำคัญ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าอย่ามีไอ้ 6 อย่างนี้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร มันก็คล้ายกับก้อนหิน ก้อนดินอะไรไป เพราะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทารกคลอดออกมาก็เริ่มรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ละ ความคิดปรุงแต่งก็เกิดขึ้นตามสิ่งที่มากระทบ ให้อารมณ์แก่เขาเป็นบวกหรือเป็นลบ คือ พอใจหรือไม่พอใจ ถ้ามันเป็นบวก พอใจ มันก็ปรุงไปอย่างหนึ่ง ปรุงให้พอใจปรุงให้รู้สึก กระทั่งเป็นกิเลส เป็นโลภะหรือราคะ ที่ไม่พอใจ ที่มันไม่ถูกใจ มันก็ปรุงไปทางตรงกันข้ามให้มันเกิดโทสะ โกรธะ คือ ยินร้าย มีสิ่งเป็นความยินดียินร้าย ให้ได้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องใครมาทำให้ มันเป็นขึ้นมาตามธรรมชาติของจิตของสิ่งที่มีชีวิต ทีนี้มันก็มีความเคยชินมากขึ้นๆ ที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้นๆ หนามากขึ้นๆ จนเป็นกิเลสเหนียวแน่น แล้วเราก็อยู่ด้วยการปรุงแต่งของสิ่งเหล่านี้มาจากภายนอก ครั้นมาเป็นสิ่งภายในคือเป็นกิเลส แล้วก็ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งภายในนี้อีกที ทีนี้ความรักก็มารบกวน ความโกรธก็มารบกวน ความโง่ความหลงก็มารบกวน ไอ้ 3 อย่างนี้แยกแตกเป็นลูกๆ ออกไปมากมายก็ล้วนแต่รบกวนเข้ามาแทรกแซงในจิตใจ ไอ้ตัวแม่มันก็เรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ ไอ้ลูกมันออกไปมากมายหลายสิบอย่าง ล้วนแต่อย่างเดียวแหละ เข้ามาก็ปรุงแต่ง เพราะไม่รู้ถึงที่สุด มันจึงรักไอ้ที่มาน่ารัก มันจึงโกรธที่น่าโกรธ เกลียดที่น่าเกลียด กลัวที่น่ากลัว ตื่นเต้นที่มันน่าตื่นเต้น เป็นอย่างนี้ ที่ว่าถูกปรุงเสียเหมือนกับว่าถูกจับเชิด หรือเหมือนกับว่า ตบต่อยตบ เหมือนกับเตะตะกร้อ ไปนั่นที ไปนี่ที ไปนู่นที จิตมันถูกปรุงด้วยสิ่งที่เข้ามารอบด้าน หาความสงบสุขไม่ได้ นี่ เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ จิตคนธรรมดาก็ดี จิตเทวดาก็ดี ที่จิตที่ถือกันว่าเทวดามีความรู้สึกอย่างไร จิตก็อย่างเดียวกัน คนจนก็ดี คนร่ำรวยก็ดี คนโง่ก็ดี คนฉลาดก็ดี จิตมันถูกปรุงแต่ง ๆ ๆ ๆ มันก็มีผลของการปรุงแต่งนั่นน่ะต่อไปอีก ไอ้คนนั้นก็ยังปรุงแต่งต่อไปอีกเรื่อยๆ ที่เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท ปรุงแต่งกันไปเรื่อย นี่จิตคนเป็นอย่างนี้ ตามปกติเป็นอย่างนี้ มันจึงเกิดเกลือกกลั้วอยู่ด้วยความรู้สึกบวกหรือลบ บวกปรุงไปอย่าง ลบปรุงไปอย่าง แล้วก็ปรุงต่อ ๆ กันไปอีก ก็ไม่พ้นที่ ไม่พ้นที่จะเรียกว่าบวกหรือลบ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไรไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ โง่หลงสงสัยอยู่นั่นล่ะ เป็นเรื่องสงสัย โมหะเป็นเรื่องโง่เป็นเรื่องไม่รู้ก็เต็มไปด้วยความสงสัย ทำไม่ถูกไม่แน่ใจว่าทำอะไร นี่เป็นอย่างนี้มากเข้า ๆ ๆ ๆ จนรู้สึกว่า โอ้!, ไม่ไหวๆ นี่ อย่างนี้มันไม่ไหวนี่ ก็ถือเป็นธรรมดา จึงมีคนคิดค้นหาที่จะไม่ต้องเป็นอย่างนี้ ที่จะมีจิตชนิดที่ไม่ต้องเป็นอย่างนี้ ค้นพบว่าทำอย่างไรจิตจะไม่เป็นอย่างนี้ แล้วก็ทำอย่างนั้นจนจิตไม่เป็นอย่างนั้น จนจิตไม่ถูกปรุงได้อีกต่อไป เป็นยอดสุดของการคิดค้น นั่นคือเป็นพระอรหันต์ แล้วเรื่องมันก็จบไป จิตไม่ถูกปรุงก็ไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง อยู่กับร่างกายนี้ไปจนกว่าจะแตกดับ ก็หมดเหตุหมดปัจจัยก็ดับ ทุกข์น่ะ ความทุกข์ไม่มี นี่เรื่องสั้นๆ เรื่องมีเท่านี้ เรื่องมีสั้นๆ เท่านี้ จิตเกิด จิตจากท้องแม่ออกมาไม่รู้อะไร หลงบวกหลงลบ หลงบวกหลงลบ จนเกิดความทุกข์มากเข้า ๆ ก็อยากจะออกไปเสียที พ้นไปเสียที ให้เรียนไปศึกษาหาวิธีที่จะออกไปได้ แล้วก็ไม่ถูกปรุงอีกต่อไปจบเป็นพระอรหันต์
คำว่าพระอรหันต์นั่น แปลว่า ตาที เรียก มีชื่อเรียกแทนว่า ตาที แปลว่าคงที่ ๆ ๆ หรือตายตัวเปลี่ยนไม่ได้ ตาที หรือว่า ตถาคต ตถา ตถะ ถึงซึ่งความเป็นอย่างนั้น คือ ความไม่เปลี่ยนแปลง ๆ หรือว่า อตัมโย ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ก็คือคงที่ คงที่อยู่ในสภาพที่อะไรจะมาปรุงให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ สภาพที่เป็นอย่างนี้ คือ ปรุงแต่งไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่า อตัมยตา จบเมื่อมี อตัมยตา เป็นพระอรหันต์ เรื่องจบ
เกิดมา สรุปสั้น ๆ ว่า เกิดมาไม่รู้อะไรก็โง่ แล้วก็ได้รับความทุกข์ มากขึ้นๆ ๆ ๆ จนเห็นว่าไม่ไหวไปจัดการกันเสียใหม่ นี่ค่อย ฉลาดขึ้นๆ ๆ จนฉลาดถึงที่สุด อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าดีหรือว่าชั่ว ปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป จิตนี่คงที่ สงบเย็น คงที่ตลอดกาล คือ มีชีวิตอยู่ เราจะไม่พูดถึงหลังจากตายแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไร ตลอดชีวิตไม่มีความทุกข์ นั้นแหละคำสุดท้ายที่จะต้องพูดกันก็คือความคงที่ หรือว่า ถึงซึ่งความคงที่เป็นเช่นนั้นเอง ตถาคต ตถาคต คือพระอรหันต์ ถ้าเป็นจอมตถาคตตรัสรู้เองก็เรียกว่าพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์เหมือนกันน่ะ แต่ว่าค้นได้เองพบได้เองเป็นผู้นำเรียก พระพุทธเจ้า ก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง อรหันต์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ คงที่ถึงความเป็นเช่นนั้นเอง เรียกด้วยคำที่ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เคยฟังก็ได้ คือ อตัมโย อตัมโย ความเป็นเช่นนั้น เรียก อตัมยตา เราเอามาพูด มีคนค้านว่านี่เอาของปลอมมาหลอกขาย บอกไปดูที่บาลีสิ มีสูตรนั้นๆ ๆ ๆ อตัมยตา อตัมยตา เงียบไป งั้นก็พูดเป็นเรื่องสุดท้าย ปีนี้จะพูด ก่อนเมื่อสิบปีก่อน เคยพูดแล้วไม่มีคนเข้าใจ เก็บไว้ปีก่อน ปีนี้มาพูดกันใหม่พูดมากด้วย อตัมยตา จบเรื่อง จบของมนุษย์ นี่เขาเรียกว่า จิตวิทยาที่ควรทราบว่า คนเราเกิดมาจิต ว่าง เรียกว่า ว่างตามธรรมชาติ เสร็จแล้วก็วุ่นๆ ๆ ๆ มันโง่หนักเข้าๆ จนมีตัวกู ความรู้สึกที่เป็นความรัก ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยล่ะ มันมีสิ่งอย่างนั้น เกิดมา เกิดขึ้นทำให้สบายแก่ระบบประสาท ระบบประสาทมันก็ชอบให้มีไอ้ความรู้สึกที่เรียกว่าความรัก ไอ้ความรู้สึกที่เรียกว่าความรักมันก็คลอดไอ้ความโง่ชั้นสุดท้ายว่า กูผู้รัก ความรักเกิดก่อนแล้วผู้รักเกิดทีหลัง มันเป็นเรื่องลมๆ แล้ง ๆ ผู้ ผู้ มันเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ พอเกิดโกรธขึ้นมา ในความรู้สึกมันก็มีผู้โกรธ โกรธหรือผู้โกรธ เกลียด กลัว อะไรทุกอย่าง ความรู้สึกทุกอย่างมันเกิดจากความรู้สึก แล้วมันโง่ทับ มันก็กู กูเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เกิดกูอย่างนี้มันก็ไม่ต้อง ไม่ต้องมีปัญหาล่ะ มันก็ไม่ยุ่ง มีปัญหาก็ดูเป็นอย่างไรบ้าง มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง เพราะมันมีกู
ถ้ามีกูมันก็ต้องมีของกู ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับกูก็เป็นของกู ภาระมันก็มากออกไป ความหนักมันก็เพิ่มมากขึ้น ไอ้ตัวกูมันหนัก ของกูขึ้นไปอีก ก็ยิ่งหนักถึงที่สุด ชีวิตเป็นของหนักเพราะเหตุนี้ ส่วนลึกเป็นอย่างนี้ ไอ้ที่เขามองกันผิวๆ ๆ ๆ เห็นภาระหน้าที่เป็นของหนัก ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นของหนัก นั่นหนักนิดเดียวเท่านั้นแหละ แต่ความรู้สึกว่า ตัวกูว่าของกูเนี่ยหนักเหลือประมาณ หนักยิ่งกว่าหนัก ทั้งชีวิตก็ทนทรมานอยู่ในของหนัก แล้วมันออกไปจากความเป็นอย่างนี้ไม่ได้ มันถูกผูกพันให้อยู่ในวนอยู่ในนี้ นี่เรียกว่าติด ติดอยู่ในวัฏฏะแห่งความทุกข์ ถ้าไม่ต้องเป็นอย่างนี้ ก็หลุดพ้น หลุดพ้น เป็นความหลุดพ้น เรียกว่า วิมุตติ หลุดพ้นออกไปจากความที่ต้องเป็นอย่างนี้ คือว่า มีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีเรื่องที่จะต้องเกิดกิเลสเกิดความทุกข์น่ะ หลุดพ้น ถ้ายังต้องมีเรื่องที่ต้องเกิดกิเลส เกิดความทุกข์ คือยังไม่หลุดพ้น ยังเป็นคนธรรมดา ถ้าหลุดพ้นออกไปได้ก็เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยบุคคลตามที่หลุดได้มากหลุดได้น้อยหลุดหมดเป็นพระอรหันต์ เรื่องมีเท่านี้ ถ้าว่าจะศึกษาพุทธศาสนา เรื่องมันมีเท่านี้ ถ้าเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องนอกๆ ออกไป เรื่องโลก เรื่องทำมาหากิน เรื่องนั้นก็มี เยอะแยะไปหมด
ที่นี้เรา มีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ ทุกคนมีหน้าที่การงานที่ต้องทำ ทำอย่างไรหน้าที่การงานนั่นถึงจะไม่เป็นทุกข์ คำตอบตามหลักพทุธศาสนา ก็คือว่า อย่าเอามาเป็นของกู อย่าเอามาเป็นตัวกูทำ เป็นของกู นั่นล่ะจะไม่เป็นทุกข์ ทำเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติของไอ้ชีวิตที่มันไม่ตายมันยังเคลื่อนไหวมันต้องทำ ก็ทำไปอย่างที่อย่าให้มันหนักอยู่ เป็นตัวกู เป็นของกู ก็ทำได้เหมือนกันล่ะ นี่ฉลาดที่สุด รู้จักทำชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์ แล้วก็ทำหน้าที่ หน้าที่ ทุกอย่าง ไปได้ทุกอย่างเหมือนกันโดยไม่ต้องมีความทุกข์เลย เรื่องมันมีเท่านี้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็สุดแท้แต่ เรื่องมันมีเท่านี้ ประโยคพูดสั้นๆ มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลย พูดเท่านี้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบ คนธรรมดาอาจจะไม่สนุก จืดชืด ไม่สนุก ไม่ต้องการก็ได้ เขาชอบที่มันขึ้นๆ ลงๆ กระโดดโลดเต้น หวานๆ ขม ๆ นี่ล่ะ เขาชอบกันอย่างนั้น ไอ้ความสงบ ความเยือกเย็น ความปกตินี่ ไม่ชอบ คนธรรมดาไม่ชอบ ไอ้ลูกเด็กๆ ที่มันเกิดมา ยังไม่ทันรู้อะไร มันก็ชอบไอ้รส ชอบของที่เป็นรสเป็นชาติ เป็นบวกเป็นลบ เป็นบวกเป็นลบ ไอ้เรื่องบวกลบนี้ รู้กันไว้เถอะว่ามันอันเดียวกันแน่ ถ้ามันไม่มีลบ มันก็ไม่มีบวก ถ้ามันไม่มีบวก มันก็ไม่มีลบ ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องเทียบอีกอันก็ไม่มี แต่แล้วมันเหมือนกันตรงที่เป็นความรู้สึกที่ หลอกลวง ๆ ปรุงแต่งๆ เกิดปัญหากันทั้งบวกและทั้งลบ
อย่าให้ความรู้สึกที่เป็นบวก อย่าให้ความรู้สึกที่เป็นลบมันหลอกได้ แล้วจิตมันก็รู้แต่เพียงว่าหน้าที่นี้ สิ่งนี้มีหน้าที่ต้องทำอย่างไรก็ทำไปก็แล้วกัน ออกมาในรูปบวก ทำอย่างไรก็ทำไป ออกมาในรูปลบ ทำอย่างไรทำไป โดยไม่ต้องมีปัญหาลุล่วงไปได้ ถ้าไม่ต้องทำก็ไม่ทำ ทำให้มันถูกต้องจะไม่เป็นปัญหา ที่จะให้เกิดความทุกข์แก่เรา นี่ ความยากลำบากมันอยู่ที่ตรงนี้ คนธรรมดาชอบให้เป็นบวกเป็นลบ มันอร่อยดี แต่พระอริยเจ้าชอบให้หมดความเป็นบวก หมดความเป็นลบ อยู่เหนือความเป็นบวก อยู่เหนือความเป็นลบ ก็ไม่ค่อยมีใครจะรู้จักและต้องการ
พุทธศาสนาส่วนแท้จริงมันไปไกลอย่างนี้ ที่นี้จะเอามาง่ายๆ ใกล้ๆ มาอยู่กันในโลกๆ ชาวโลกนี้ก็อย่างสั้นๆ อย่างที่ว่าเนี่ย มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ทำการทำงานโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ มีชีวิตเหมือนอย่างมนุษย์ธรรมดา นี่ล่ะ ทำการ ทำงาน กินอยู่ อะไรก็ตาม โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ ทำได้อย่างไร ถ้าใครทำได้ก็พอแล้วไม่ต้องมาสนใจพพุทธศาสนากัน ก็เท่านั้นล่ะพอแล้ว ถ้าไม่เป็นทุกข์มันพอแล้ว ถ้ามันยังเป็นทุกข์จะทำอย่างไรก็คิดต่อไป คำตอบที่ชัดเจนที่แน่นอนที่ลึกซึ้งที่มีเหตุผล ก็คือว่า อบรมจิตเสียใหม่ อบรมจิตเสียใหม่ อย่าไปโง่ หลงเรื่องบวกเรื่องลบ นี่ จิตวิทยาแท้ๆ ของพุทธศาสนา อบรมจิตเสียใหม่ให้อยู่ในวิสัยที่ไม่ต้องถูกปรุงแต่งให้เป็นบวกหรือเป็นลบ แล้วก็ไม่หวั่นไหวด้วยความเป็นบวกเป็นลบ แม้มันจะประดังเข้ามาจากภายนอกแล้วไม่มีปัญหาอะไร คงทำหน้าที่ตามที่ควรทำไป ไม่ว่าจะทำนาทำสวน จะค้าขายก็ทำไปได้ อย่าว่าแต่จะเป็นพระ มีการดำรงชีวิตง่าย ๆ ทำนา ทำสวน ทำอะไรก็ได้ อย่าต้องเป็นทุกข์ก็แล้วกัน แต่เมื่อคนมันไม่ชอบนี่ มันจืดชืด มันชอบเข้มข้น ชอบโลดกระโดดโลดเต้น ชอบบวกชอบลบ บูชาบวกกันทั้งโลก คนทั้งโลกบูชาบวก มันก็มีปัญหามาก ถ้าต้องการชนิดไม่รู้จบ บวกยิ่งกว่าบวก บวกยิ่งกว่าบวก ก็ยังไม่รู้จบ มีปัญหาตลอดเวลา เรียกว่าติดดี ชอบบวก นำไปสู่ความอิจฉาริษยา ไม่อยากให้ใครดีเท่า นำไปสู่ความยกตนข่มท่านนี่ล่ะ มันโง่ ไอ้ที่มันติดดี บ้าดี มันโง่ๆ มันจะอวดดี มันจะยกตนข่มผู้อื่นด้วยความดีของมัน มันอิจฉาริษยา ไม่ให้ผู้อื่นดีเท่า นี่เรียกว่าติดดี ไม่ใช่เล่นนะ บ้าดี เมาดี ติดดี หลงดี ก็ไม่ใช่เล่น มันอยู่เหนือนั้นขึ้นไป นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
คำสอนของเหลาจื๊อที่พ้องสมัยกับพระพุทธเจ้านั้น เขาเอามาวิจารณ์กันให้ดีๆ ศึกษาให้ละเอียดดีก็ต้องการอย่างนี้เหมือนกัน ต้องการอยู่เหนือความเป็นบวก ความเป็นลบ เครื่องหมายของลัทธิเต๋า ที่มาเขียนเป็น กิมเอี๊ยงน่ะ ปลาสองตัวน่ะ ตัวหนึ่งดำ ตัวหนึ่งขาวอยู่ในวงกลมนั่น นั่นมันบอกแต่เรื่องบวกเรื่องลบ เรื่องความทุกข์ มันยังไม่บอกถึงวิธีที่จะเอาออกไปเสียทั้งบวกและลบอย่างไร ถ้าจะเรื่องดับทุกข์จริงก็ต้องไม่มีปลา 2 ตัวนั้น มีวงกลมเฉยๆ ถ้ายังมีตัวหนึ่งดำตัวหนึ่งขาวขดอยู่ในนั้นก็ยังเป็น Positive เป็น Negative ปรุงแต่งไปไม่มีสิ้นสุดเป็นทุกข์ ที่เราไม่เข้าใจคำบางคำของคำสอนของเหลาจื๊อ เดากันไปต่างๆ นานา ที่ความมี ความไม่มี ความเป็น ก็หมายความว่าไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็น ไม่ต้องเป็นบวก ไม่ต้องเป็นลบน่ะดี
ชาวฮิบรู ชาวยิวก่อนโน้น ก่อนพระเยซูมากมายน่ะ คัมภีร์เก่าของไบเบิล พระเจ้านั้นก็สอนเรื่อง ไม่ ไม่ติดดี ติดชั่ว ไม่ผูกพันอยู่ด้วยดีชั่ว ไม่ให้กินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว ที่ว่าสูงสุดนะ สูงสุดในคำสอนนี้ ของคัมภีร์ยิวฮิบรูก่อนโน้นน่ะ ไม่ไม่ติดดีติดชั่ว อยู่เหนือดีเหนือชั่ว แต่คนก็ไม่เข้าใจ พูดเพียงเท่านั้นแล้วพระเจ้าก็ไม่อธิบายอะไร พระเจ้าสอนประโยคเดียว มึงอย่ากินต้น ผลไม้ของต้นไม้รู้ดีชั่ว ก็เลิกกันไปไม่พูดอะไรกันอีก คนก็ไม่เข้าใจ ก็จบ คัมภีร์เก่าก็จบ New testament ของพระเยซู ก็สอนแต่ ดี ๆ ๆ ๆ ๆ อย่างนี้ ไม่อยู่เหนือชั่วเหนือดี เราก็พูดล้อๆ ชาวคริสต์นะ โอ้!, ชาวพุทธเป็นคริสต์มากกว่าคุณ เพราะปฏิบัติตรงตามคำสั่งของพระเจ้าว่าอย่าไปยึดดี ยึดชั่ว ชาวพุทธเป็นคริสต์มากกว่า แท้จริงมากกว่าชาวคริสต์ที่ยังติดดี ติดดีๆ อย่างคำสอนพระเยซู ติดดีเป็นบวก คำสอนเดิม Old testament เหนือบวกเหนือลบ เหนือดี เหนือชั่ว Beyond Good and Evil แปลว่าถ้าคำสอนมันสูงสุดไปจนสุด ไม่ว่าของศาสนาไหน จะไปสุดตรงที่เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบวก เหนือลบ เหนือบุญ เหนือบาป ไม่มี Positive ไม่มี Negative นี่แหละ จิตที่หลุดพ้นคืออย่างนั้น จิตวิทยามีเฉพาะเท่านี้ จะทำให้หลุดพ้นออกไปสู่ความเป็นอย่างนั้น ส่วนรายละเอียดของจิตเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไรนี้ มันก็ไม่พอหรอก ไม่พอที่จะดับทุกข์ แต่เขาก็มี เขาก็เรียนรู้กันไปแยกแยะกันไปอีกมากมาย อย่างคัมภีร์อภิธรรมน่ะ ว่าเกิดจิตเป็นอย่างไร ๆ ๆ ไม่ได้บอกถึงการที่จะทำให้จิตมันหลุดพ้นออกไป อาตมาบอกว่าเอาไปทิ้งทะเลเสียก็ได้ เราไม่ขาดความรู้อะไร เพราะเรามีความรู้ในคัมภีร์ สุตตันตะ ที่จะอบรมจิตให้อยู่เหนือการปรุงแต่ง
อตัมโย ไม่ถูกปรุงแต่งโดยสิ่งใด ไม่สำเร็จมาจากสิ่งใด เพราะไม่ถูกปรุงแต่งมาจากสิ่งใด นี่เป็นคำที่สูงที่สุด ที่ยากที่สุด อธิบายยากที่สุดในพระพุทธศาสนา กำลังเอามาพูดอยู่ บางคนก็จะเริ่มเข้าใจบ้างนิดหน่อย ก็นั่นคือความเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้ก็ขอช่วยจำไว้ก่อนเถอะ อตัมโย เป็นบุคคลชื่อ เป็นชื่อเรียกบุคคลผู้ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมะเรียกว่า อตัมยตา อตัมยตา ความที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ผู้ใดมี อตัมยตา ผู้นั้นเป็น อตัมโย คือ ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ อยู่เหนือการปรุงแต่ง เหนือความ เหนือบวกเหนือลบ เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือโดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ถึงที่สุดที่นี่ ท่านบวชแล้ว ก็ใช้เรียนลัทธินั้นลัทธินี้ต่างๆ จนถึงครูองค์สุดท้ายก็ไม่มาถึงนี่ เพราะฉะนั้นมันเป็นดีที่สุดๆ อย่างละเอียดที่สุด ประณีตที่สุด ไม่มีรูปไม่มีร่าง ดีที่สุด เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่อาจารย์คนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าสอนได้เพียงเท่านี้ เป็น เนวสัญญานาสัญญายตนะ พระพุทธเจ้าว่าไม่พอ ขอลาจากอาจารย์ไปหาเองจึงไปพบที่ว่ามันเหนือนั้นขึ้นไป ปรุงแต่งไม่ได้ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ยังปรุงแต่งได้ นั่นชั้นละเอียดชั้นสูงสุด เอาล่ะ เราอย่าไปพูดว่าเราจะเป็นพระอรหันต์ จะเป็นนั่นเป็นนี่ อย่าพูดดีกว่ามันยุ่ง พูดแล้วไม่มีความทุกข์ ต้องการไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง ที่ชั้นสูงสุดเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เขาเข้าใจแต่เพียงว่าไม่มีความทุกข์ ก็มีเงินใช้ มีบ้านอยู่สบาย มีร่างกายสบาย ไม่มีความทุกข์พอแล้ว นี่มันจะโง่หนัก เป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีอะไร มากมายเหลือประมาณแล้ว มันก็ยังเป็นทุกข์ จิตมันยังร้อนด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ดับทุกข์เท่านั้นมันไม่พอ แต่ดูว่าพวกเราก็มุ่งหมายแต่เพียงเท่านี้ จะเรียนให้ดีแล้วจะไปทำงานให้ได้เงินเดือนมากๆ แล้วก็จะหาอะไรไว้มากๆ ก็พอใจแล้ว ให้มีทั้งความสุข มีทั้งเกียรติยศ มีทั้งอะไร พอใจแล้ว หารู้ไม่ว่า นั่นยังไม่พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่พ้นจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นมหาเศรษฐีก็ยังมีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น เป็นเทวดาไม่มีแล้วความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น มันไม่พอ ต้องเป็นอะไรเหนือนั่น เหนือไปกว่าเทวดา มาร พรหมทั้งหลาย มันคือความที่มีจิตสูงจนปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เอาละ! เป็นมนุษย์อยู่ที่นี่แหละ อย่าให้มีอะไรมาปรุงแต่งจิตใจได้ อย่าให้เป็นบวก อย่าให้เป็นลบ ทีนี้มันก็สบาย มันสบายแบบนั้นเอง ในความหมายอื่น คำเดียวกันสุขหรือสบายน่ะมันแบบอีกอันหนึ่ง ไอ้สุขสบายแบบคนธรรมดานี่ล่ะ ไม่ มันหลอกๆ มันไม่เรียกว่าสุข จุดสูงสุดของไอ้สิ่งปรารถนาในพุทธศาสนาไม่เรียกว่าความสุข เรียกว่า ที่สุดแห่งความทุกข์ แต่ถ้าจะพูดกับคนโง่ๆ ตามท้องถนน ก็ต้องเรียกว่าความสุข เพราะฉะนั้นเพราะเขาฟังไม่ถูก แล้วเขาจะไม่สนใจ เมื่อพูดกับคนโง่เหล่านี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้คำว่าความสุขเหมือนกันแหละให้มันสนใจ แต่ถ้าพูดกับผู้มีสติปัญญา หรืออย่างวิทยาศาสตร์นั้นไม่เรียกว่า ความสุข เรียกว่า ที่สุด จบลง สิ้นสุดลงแห่งความทุกข์ นั่นคือ พระนิพพาน พูดให้ถูก พระนิพพาน เหนือสุขเหนือทุกข์ แต่ถ้าพูดกับคนโง่กลางถนน ต้องว่าเป็นสุขที่สุด พระนิพพานเป็นสุขที่สุด ไม่งั้นเขาไม่สนใจ และคนทั่วไปมันยังบูชาความหมายคำว่าความสุขอยู่ หารู้ไม่ว่าเมื่ออยู่เหนือความสุขเสียแล้วนั่นล่ะคือ ความสุขถึงที่สุด ความสุขแท้จริง ถ้ายังหลงในความสุขอยู่ก็ไม่ใช่ความสุข จิตใจยังถูกบีบคั้นอยู่แต่ความสุข มีความอยาก มีความเพลิน มีความหลง มันมีเพียงเท่านี้ เรื่องมีเพียงเท่านี้ไปสรุปความเอาเอง จะบัญญัติเป็นถ้อยคำสำหรับพูดจาอย่างไร ที่จะเรียกว่า จิตวิทยาเฉพาะพระพุทธศาสนา เฉพาะของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่จิตวิทยาทั่วไป หรือธรรมชาติของจิตเรื่องนั้น หรือว่านอก ๆ ออกไปกว่านั้นจะไปใช้อะไรได้บ้าง จะไปแสดงฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อย่างไรได้บ้าง ก็ไปๆๆ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา จิตมันทำให้ได้ทุกอย่าง แต่เราไม่ต้องการ นอกจากว่าดับทุกข์อย่างเดียว มีจิตชนิดที่เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น เป็นทุกข์กับเขาไม่ได้ เดี๋ยวนี้อบรมดีแล้ว จิตประภัสสรก็ตายตัว ประภัสสรจนไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้สูญเสียความเป็นประภัสสรได้ นี่ประภัสสรทีหลัง ประภัสสรของพระอรหันต์ ประภัสสรที่มาจากในท้องมันยังมีอะไรปรุงแต่งได้เป็นทุกข์ได้ อบรม ๆ ๆ รักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้จนไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ นี่ประภัสสรที่อบรมแล้วของพระอรหันต์
คำว่าประภัสสรน่ะ เพราะดี จำเถอะ จำไว้บ้าง ประภัสสร ประ-ภัส-สะ-ระ แปลว่า ซ่านออกแห่งรัศมี ซ่านออกแห่งรัศมีน่ะ คำนี้ ประภา-รัศมี สะระแปลว่าซ่านออกมา ประภัสสรแปลว่าซ่านออกแห่งรัศมี คือ มันไม่มี ไม่มีมลทิน แต่มันอยู่ในลักษณะที่มลทินมาจับได้ มลทินมาครอบได้ เศร้าหมองได้ ก็เป็นทุกข์ไป อบรมจนมลทินมันจับไม่ได้ ประภัสสรแท้เด็ดขาดตลอดกาล นี่ ต้องการอย่างนั้น
จิตของคนธรรมดาทั่วไปทุกคนนี่ มันยังมีอะไรมาทำให้รู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบ มาทำให้หัวเราะก็ได้ มาทำให้ร้องไห้ก็ได้ ให้เป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ได้ ในรูปแบบต่างๆ ๆ ๆ ไม่รู้กี่สิบอย่าง ยกตัวอย่าง มาให้รักก็ได้ ไม่รักก็ได้ ให้โกรธก็ได้ ไม่โกรธก็ได้ เกลียดก็ได้ ไม่เกลียดก็ได้ รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึงนี่ ในที่สุดเพราะมันยึดถือมั่น แต่ยังมีมากกว่านี้ แยกไปได้มากกว่านี้ ตัวอย่างที่รู้จักกันง่ายๆ ก็อย่างนี้ มันสนุกอยู่เมื่อไร เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ มันสนุก ไม่รู้อะไร นี่ถ้าไม่หัวเราะไม่ร้องไห้ บางคนว่าบ้าแล้ว บ้า ฝรั่งหลายคนที่มาอบรมกันที่นี่ หลายๆ สิบคนนี่ บางคนก็ว่านี่ไม่เอา นี่มันผิดปกติ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เขาว่า Abnormal เราไม่ต้องการ แล้วคุณต้องการอะไรล่ะ ถ้าต้องการอย่างที่คุณมีละก็ เอาสิ ไม่มีใครว่า เวลาหัวเราะก็หัวเราะสิ อยากร้องไห้ร้อง เอาสิ! เราชอบที่มันไม่บวกไม่ลบ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ ปกติๆ ๆ อยู่เหนือนี่ดีกว่า เหนือดีใจ เหนือเสียใจ เหนือร้องไห้ เหนือหัวเราะ คือ เหนือดี เหนือชั่ว
ศาสนาในอินเดียก่อนพุทธกาลก็สอนกันได้แต่เพียงดีที่สุด ดีที่สุด ไม่เหนือดีไปได้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นน่ะจึงพบเรื่องเหนือดี ความดีนี้ปรุงแต่งมากกว่า ปรุงแต่งมากยุ่งยากมากกว่าความชั่ว ในความชั่วไม่ค่อยมีใครจะชอบ มันก็ไม่ค่อยมีโอกาสปรุงแต่งอะไร แต่ความดีมันให้หลงรัก หลงรัก ปรุงแต่งมากมายไม่รู้จักจบ ปัญหาเกิดมาจากความดี ความอยากดี ที่เขาต่อสู้ฆ่าฟันกัน ก็มันอยากดี เพราะมันอยากดี มันอยากจะครองโลกก็เพราะมันอยากดี มันอยากดี มันอิจฉาริษยาคนที่มาแข่งขัน เป็นเหตุให้อยากจะทำลายผู้อื่น อยากจะปราบปรามผู้อื่นให้ราบคาบ อย่ามาดีให้เท่ากับกู ระวังให้ดี ดีไว้ดีๆ เถอะ มันกัดเจ็บกัดลึกกว่าความชั่ว มันกัดหัวใจลึกกว่าความชั่ว มันทรมานใจมากกว่าความชั่ว มันก็ไม่หยอก อย่ายกตนข่มผู้อื่นบ้าง อิจฉาริษยาบ้าง ต้องการดี ๆ ๆ ๆ อย่างไม่รู้จักจบ จนไม่รู้ว่าจะดีอย่างไรก็ยังอยากอยู่นั่น มันเป็นเรื่องหลอก ไม่ดีไม่ชั่ว นั่นน่ะคือ ปกติ คือ อิสระเสรีภาพ คือความสงบ ความเย็น หมดสิ้นแห่งความทุกข์ ก็พูดได้อย่างนี้ไปสรุปเอาเองว่าจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาคืออะไร
เราไม่ไปมัวสนใจเรื่องจิตมีกี่ชนิด เปลี่ยนแปลงอะไร ทำอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไรมันก็เกินจำเป็น ให้รู้แต่ว่าจะอบรมจิตอย่างไรให้มันอยู่เหนือดีเหนือชั่วก็พอแล้ว ถ้าจะไปเรียนนอกนั้นมันก็อาจจะมากเกินไปตายเสียเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เหมือนอย่างทำนา รู้ปลูกข้าวให้มันงามก็แล้วกันแหละ ไม่ต้องเรียนเรื่องดิน เรื่องธาตุ เรื่องเคมี เรื่องกีฏวิทยา อะไรสารพัดอย่าง ชาวนาไม่ต้องเรียน รู้แต่ปลูกข้าวให้มันงามก็พอแล้ว นี่ก็เหมือนกัน ไอ้จิตวิทยาในแขนงอื่นเราไม่ต้องเรียน เราเรียนรู้แต่ในแขนงที่ว่าจะชนะความทุกข์ ไม่ให้ความทุกข์มัน ไม่ให้ไอ้สิ่งแวดล้อมมาปรุงแต่งได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้ จิตเป็นอิสระเสรี อยู่เหนือความทุกข์ ความเป็นอย่างนี้ เรียกว่า อยู่เหนือปัญหา เป็น อตัมยตา อยู่เหนือการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้เป็นอย่างไรได้ เรียก อตัมยตา ชื่อก็แปลก ฟังก็ยาก แต่ก็จำไว้ก็ดี มีประโยชน์ ธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ อตัมยตา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามตานี่ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา นี่จะนำไปสู่ เราก็จะเห็น โอ้! ธัมมัฏฐิตตา เป็นธรรมดาอย่างนี้ ธัมมนิยามตา กฎธรรมชาติ บังคับไว้อย่างนี้ อิทัปปัจจยตา ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ ช่างหลอกลวงเสียจริงๆ จึงเห็นว่า สุญญตา ว่างตัวตน หลอกลวงกันไม่ได้ ตถาตา เช่นนั้นเอง อตัมมยตา ไม่มีอะไรมาปรุงความคิดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อตัมมยตา อตัมมยตา สุดท้าย เป็นพระอรหันต์
ถ้าพูดตามเทคนิคภาษาบาลี ก็ฟังยากนะ ละกามธาตุเสียด้วยรูปธาตุ ละรูปธาตุเสียด้วยอรูปธาตุ ละอรูปธาตุเสียด้วย อตัมมยตา กามธาตุนี่คนธรรมดาตกอยู่ในวิสัยกาม รูปธาตุนี่เลิกกามไปติดรูป รูปบริสุทธิ์ พวกพรหมสมมติเนี่ย แต่ว่าพรหมนี่ยังมีรูป ละเสียด้วยพรหมที่ไม่มีรูปคือ อรูปธาตุ อรูปธาตุก็ยังมีที่ตั้งแห่งตัวตน ก็ละเสียด้วย อตัมมยตา ความไม่มีตัวตน กามธาตุก็มีตัวตน รูปธาตุก็มีตัวตน อรูปธาตุก็ยังมีตัวตน อตัมมยตานี่หมดตัวตน นี่พูดตามไอ้คำบาลีเป็นอย่างนี้ มันฟังยาก ละกามธาตุเสียด้วยรูปธาตุ ละรูปธาตุเสียด้วยอรูปธาตุ ละอรูปธาตุ เสียด้วย อตัมมยตา จบหมด ลัดสั้นๆ ก็อย่ามีตัวตน อย่ามีตัวตน มีตัวตนชนิดที่มิใช่ตัวตน ฟังเหมือนคนบ้าพูดใช่มั้ย มีตัวตนชนิดที่มิใช่ตัวตน นี่เป็นความจริงที่ปฏิบัติแล้วไม่มีความทุกข์ มีตัวตน ตัวตน ตัวตนนี่ ตามความรู้สึกตามธรรมชาติ แต่อย่าเอาเป็นตัวตนที่แท้จริง มันเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้นแหละ ความรู้สึกว่ามีตัวตนที่เป็นได้เองตามธรรมชาติ ก็อย่าเอาขึ้นมาเป็นตัวตนที่แท้จริง ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน มันจะหนัก พูดหยาบคายว่ามันจะ สุม กบาล หนัก ทูนภูเขา ทูนโลก ทูนอะไรก็หนัก มีตัวตนที่สุดฝ่ายนี้ เป็นอัตตา อัตตา อัตตา มีตัวตนที่สุด สุดโต่งฝ่ายนี้เป็น นิรัตตา ไม่มีอะไรเลย ๆ นี่ก็บ้าเหมือนกัน ไม่มีประโยชน์อะไร อยู่ตรงกลางเป็นอนัตตา อนัตตา มิใช่ตัวตน ไม่ใช่เราจะถือว่าร่างกายนี้เป็นตัวตน จิตใจนี่ตัวตน ก็อย่าให้มันเป็นตัวตน รู้สึกว่าเป็นตัวตนแต่มันไม่ใช่ตัวตน นี่ อนัตตา มิใช่ตน มีแต่สิ่งที่มิใช่ตน สามคำนี่ อัตตา ตรงกลาง อนัตตา สุดฝ่ายนี้ นิรัตตา นิระคือไม่มี นิระอัตตาไม่มีอัตตา นี้มีอัตตา นี้ไม่มีอัตตา นี้มีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตานี่เราต้องการ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความรู้สึกตัวกูของกูก็ไม่มีความทุกข์ ว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ไม่มีตัวตนสำหรับจะเป็นทุกข์ ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายของธรรมชาติ อย่าเอาร่างกายและจิตใจมาเป็นตัวตน เพราะมันเป็นของธรรมชาติ จบล่ะ นี่ พูดแล้วต้องอวดหน่อย จบ เรื่องพุทธศาสนามันจบจริงๆ มันจบเพียงเท่านี้ใจความ หมดปัญหาไม่มีความทุกข์ หมดตัวตนมันก็หมดเรื่องไม่ต้องมีภาระอะไร หมดความทุกข์มันหมดเรื่องไม่มีปัญหาอะไร อย่าต้องการมากกว่านั้นเลย ต้องการมากกว่านั้นล่ะคือบ้า หมดความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ยังต้องการอะไรอีกล่ะ ถ้าต้องการเลยนั้นก็บ้า เป็นความต้องการของผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีสติปัญญา หมดปัญหาหมดทุกข์โดยประการทั้งปวง นั่นก็ใช้ได้ มีชีวิตไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความเยือกเย็น ก็ทำหน้าที่ได้ ทำการทำงานได้ เหงื่อไหลไคลย้อยก็ได้ แต่ไม่มีความทุกข์นะ คนมีตัวตนนะ เหงื่อออกมาเป็นน้ำร้อนนะ คนไม่มีตัวตน เหงื่อออกมาเป็นน้ำเย็น ก็คิดดูจริงไม่จริง
ถาม- มีคนถามเรื่องตัวตน (ฟังไม่ออก)(47.33- 47.52)
ตอบ...นั้นแหละ มันไม่รู้นั่นแหละ มันก็อย่างนั้นแหละ ก็ให้มันรู้สิ
ถาม....ถ้าจะมองเราเป็นขันธ์ 5 แล้วก็เป็นไปตามสภาวะของไตรลักษณ์..
ตอบ...ธรรมชาติ ธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน
ถาม...อยากจะทราบว่า........หลวงพ่อช่วยอธิบายในเรื่องของขันธ์ 5 องค์ประกอบของความเป็นตัวตน...
ตอบ..สิ่งที่จะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน นั่นเรียกว่า ขันธ์ 5 บางทีก็ร่างกาย เปลือกร่างกายเป็นตัวตน ขันธ์ที่ 1 เวทนา รู้สึกสุขหรือทุกข์ เวทนาเป็นตัวตน ก็เป็นผู้รู้สึกเวทนานั้นว่าเป็นตัวตน เอาเวทนาเป็นตัวตน ที่แท้ก็จิตที่กำลังมีเวทนาน่ะเป็นตัวตน สัญญาความหมายมั่นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นได้ตลอดทั้งความจำและมั่นหมายอย่างไรก็สัญญา เอาจิตที่นั้นเป็นตัวตนก็ได้ แล้วสังขารจิตที่กำลังคิดนึกปรุงแต่งอย่างนั้นอย่างนี้เอาเป็นตัวตน ก็คิดได้ กูคิดได้ เพราะงั้นกูก็ต้องมี คำสอนของเดส์การ์ตส์ (René Descartes) ที่พวกฝรั่งบูชากันนัก cogito ergo sum (นาทีที่ 49:14) กูคิดได้ งั้นกูมีอยู่ สูตรปรัชญาของ เดส์การ์ตส์ กูคิดได้ กูมีอยู่ มันไม่รู้ว่าแม้คิดได้ก็ไม่ใช่ตัวตน การคิด ในการคิดได้บางทีเป็นของไม่ใช่ตัวตนเป็นของธรรมดา งั้นวิญญาณรู้แจ้งทางตาทางหูก็ไม่ใช่ตัวตน ก่อนนั้นสอนว่าตัวตนอยู่ข้างใน เดี๋ยวออกมาทางตา เดี๋ยวออกมาทางหู เดี๋ยวออกมาทางจมูกทำหน้าที่ นี่ก็เป็นตัวตน เอาวิญญาณเป็นตัวตน ห้าอย่างนี้คือสิ่งที่จะหลงว่าเป็นตัวตน ถูกหลอกเป็นตัวตน แล้วมันก็หลอกอย่างสนิท ความรู้สึกว่าตัวตนเกิดขึ้นอย่างสนิทสนมที่สุด อย่างมีดบาดนิ้วนะ มันว่ามีดบาดกูนะ คุณเป็นมั้ย มีดบาดนิ้วทำไมว่ามีดบาดกู เมื่อนั้นล่ะ คนคิดได้ว่า มีดบาดนิ้วไม่ใช่มีดบาดกู จะเข้าใจเรื่องที่ว่า
เด็กตัวเล็กๆ พอเดินได้ เดินไปชนเก้าอี้ มันก็โกรธคิดว่าเก้าอี้น่ะเป็นตัวตน นั่น มันก็ทำอันตราย ตัวตนนี่ มันก็เตะเก้าอี้ ความหมายเก้าอี้ไม่มีตัวตน และท่านพี่เลี้ยงบรมโง่นั่นมันมาก็มาช่วยตี ช่วยตีๆ เด็กดีใจ เด็กมันก็มีตัวตนมากขึ้น ๆ ๆ เก้าอี้จะเป็นตัวตนได้ยังไง ทำไมจึงเด็กมันรู้สึกเป็นตัวตน ไอ้ในใจนี้เป็นตัวตนก็ยังค่อยยังชั่ว ยังคิดนึกได้ แต่ว่าเก้าอี้แท้ๆ เสาเท่านั้น มันก็เตะเข้าไป ผู้เลี้ยงเลี้ยงเด็กก็ไปช่วยสนับสนุน ช่วยตีช่วยอะไรไปให้เด็ก ให้เด็กมันได้หาย ได้หายโกรธ หายโมโห มันก็มีตัวตน ตัวตนมากขึ้น ถูกสอนให้มีตัวตนอย่างไม่รู้สึกตัวกันมาอยู่เรื่อย ๆ นี่ก็ตัวตน นี่ก็ของหนู นั่นก็ของหนู นี่ก็ของหนู อะไรก็ของหนู บอกลูกว่าอย่างนั้น ตัวตนก็หนาขึ้น หนาขึ้น เราก็ถูกสอนกันมาอย่างนั้นทั้งนั้น รวมทั้งอาตมาด้วย สิ่งแวดล้อมสิ่งเหล่านี้มาอย่างนี้ แล้วก็หลงลึกเข้าไปในเรื่องตัวตนของตน ไม่รู้ว่าของธรรมชาติ โดย อิทัปปจยตา ปรุงแต่งอย่างนั้นก็คิดอย่างนั้น ก็รู้สึกอย่างนั้น ก็โง่อย่างนั้น รัก โกรธ เกลียด กลัว อย่างนั้น หาใช่ หาใช่ตัวตนไม่ นั้นมันก็เหมือนกับกลไกอะไรอย่างหนึ่ง เหมือนกับ Mechanism พิเศษของธรรมชาติ ระบบประสาทมีอยู่อย่างนี้ จิตมีอยู่อย่างนี้ ถ้าอะไรเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก เข้ามาปรุงมันก็อย่างนี้ มันก็เกิดรู้สึกได้เอง เช่น รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบ รู้สึกอยาก รู้สึกเกลียด พอความรู้สึกเหล่านี้ มันเข้มข้น เข้มข้นขึ้น มันก็คลอดความรู้สึกอันโง่ที่สุด ที่ว่าตัวกู ตัวกู ผู้รัก ผู้โกรธ ผู้เกลียด ผู้อยาก ผู้ได้ ผู้ชนะ ผู้แพ้ ก็เป็นผู้ ๆ ๆ ๆ ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ที่คุณเรียนในโรงเรียนว่า ...ปิ...(นาทีที่ 53:02) ใช่ไหม ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก คุณจะถามว่า อ้าว ถ้าไม่มีผู้อยากจะเกิดความอยากได้อย่างไร นี่มันสวนกลับ มันเกิดความรู้สึกอยากตามระบบของธรรมชาติ แล้วไอ้ความรู้สึกอยากมันคลอดความรู้สึกว่าผู้อยาก ผู้อยากมันมายาลมๆ แล้งๆ ไม่ใช่ตัวจริง เพราะอย่างนั้นมันจึงเกิดทีหลังความอยาก ไอ้ความอยากก็ไม่มีตัวจริง มันเกิดมาจากการกระทบปรุงแต่งของไอ้สิ่งต่างๆ ตามกฎของธรรมชาติ มันเกิดความรู้สึกขึ้นในจิตในระบบประสาท เป็นความรู้สึกว่าอยากๆ ๆ ต้องการ ต้องการ อย่าให้ความรู้สึกว่ากูต้องการ กูอยากเกิดขึ้นมา เป็นความโง่หลายชั้น ซับซ้อน ควบคุมความอยากไม่ให้เกิดได้ มันก็ควบคุมผู้อยากได้ ว่าถ้าเกิดผู้อยากขึ้นมา ความอยากขึ้นมา สติก็รู้ว่า โอ้,ความอยากเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ตัวตนล่ะ นี่ละสติปัญญาตามทางพุทธศาสนา ช่วยให้ไม่เกิดรู้สึกว่า ผู้อยาก ผู้ได้ ผู้อร่อย ผู้ไม่อร่อย เป็นผู้ทุก ๆ ผู้จะไม่เกิด มีดบาดนิ้ว ก็ว่ามีดบาดนิ้ว อย่าว่ามีดบาดกู อย่างที่มันจะเห็น มีดก็เป็นตัวตน มันควัก ขว้างมีด หักมีดซะเลยนี่ มันว่ากันอย่างนั้น มีดบาดนิ้วก็มีดบาดกู ไม่มองดูเรื่องธรรมชาติแท้ ๆ มีดน่ะเป็นธาตุอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุใดก็ตาม มันผ่านเข้าไปทางเนื้อ เนื้อมันขาด เลือดมันก็ออก ระบบประสาทมันก็รู้สึกเจ็บปวด มันก็มีเท่านั้นล่ะ ไม่ต้องมีตัวกู ไม่ต้องมีของกู ไม่ต้องมีความรู้สึกว่ากูจะตาย อะไรนิดหนึ่งก็รู้สึกว่ากูจะตาย ยุงกัดยังคิดว่ากูจะตาย มันมีตัวกูมากเกินไป ยิ่งหลงในนี่ อย่างนี้มากเท่าไรยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น มีปัญหามากเท่านั้น เต็มไปด้วยความกลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พูดเท่านี้มันจบพุทธศาสนา โดยหัวใจ โดยจิตใจ โดยหัวใจของพุทธศาสนา
เกิดมาโง่ อยู่ในท้องไม่โง่ ไม่มีโง่ไม่มีฉลาด เพราะมันไม่รู้สึกอะไร พอคลอดมาจากท้องแม่ก็เริ่มโง่ ๆ ๆ ๆ เป็นทุกข์ๆ ๆ จนเบื่อๆ ๆ ๆ แล้วก็หาทางออก แล้วพบว่าหมด หมด หมดโง่ ๆ ๆ ก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์ เรื่องมีเท่านี้ เกิดมาโง่ เป็นทุกข์ ทุกข์จนเบื่อ เบื่อก็พบ ไม่ความไม่โง่ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เรื่องจบ คือ นิพพาน ไม่เป็นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง คือ นิพพาน พุทธศาสนาพูดนาทีเดียวจบ อยู่ในท้องไม่โง่ เกิดออกมาโง่ ๆ ๆ แล้วเป็นทุกข์ ๆ ๆ แล้วเบื่อๆๆ เกิดหาวิธีไม่ต้องโง่ ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็จบเป็นนิพพาน ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อยังมีชีวิตนี่ นิพพานเมื่อตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร แต่ก็มีคนเชื่ออย่างนั้นว่า นิพพานต้องตายแล้วหลายชาติ ตามใจเขา
ถาม- สิ่งที่มีชีวิต พวกพืชไม่มีวิญญาครอง .พวกสัตว์ มีวิญญาณครอง...................
ตอบ..........นั่นล่ะ วิญญาณตัวตน วิญญาณไม่ใช่ไม่มีตัวจริง คุณว่าต้นไม้ไม่มีวิญญาณครอง ไม่จริง จะเป็นคนบ้าคนแรกคนโง่ทีแรกมันสอนกันมาอย่างนั้น นั่น มันเชื่อถือกันมาอย่างนั้นว่า ต้นไม้ไม่มีวิญญาณ ไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณ บางที่มันมีชีวิตด้วยซ้ำอย่าว่าไม่มีวิญญาณ แต่ต้นไม้นี่รู้สึกได้ ดูให้ดีเถอะ รู้สึกได้ รู้สึกต้องการ รู้สึกเกลียด กลัวก็ได้ รู้สึกกลัวไม่อยากตาย ต่อสู้เพื่อไม่อยากตายนี่เห็นได้ชัดเลย
นิทานเด็ก ๆ นี่น่าหัว จะเล่าให้ฟัง ไอ้ต้นแตง ปลูกแตง เลื้อยไปตามดินแล้วมันออกยอดเดินไป เป็นยอดพุ่งไปอย่างงั้นล่ะ ที่นี่เด็กๆ ก็ทำบ่วงไปดักข้างหน้าเพื่อให้ยอดแตงเข้าไปในบ่วง ไม่ ไม่เข้า เป็นยังไงก็ไม่รู้มันไม่เข้าไป ลองดูสิ ลองดูสิ ยอดอะไรก็ได้ที่เป็นของอ่อนๆ เช่น ยอดตำลึง ยอดแตง มันไม่เข้าบ่วง
ต้นไม้นี่ต่อสู้ที่สุด เพื่อจะไม่ต้องตายๆ พอจะทำให้มันตาย มันกลัวจะสูญพันธุ์ มันต่อสู้ มันออกลูก มีต้นขนุนอยู่ต้นหนึ่งที่สวนโมกข์โน่น ตั้งแต่ไปอยู่ 10 กว่าปีแล้วไม่เคยออกลูก ทีนี้คนโบราณที่เขามีคติทำแบบเขลาเขลา เอาไฟสุมเข้าสิ จริงสิ พอเอาไฟสุมที่โคนเท่านั้นล่ะ ออกลูกเต็มต้นเลยไม่ตายเลย ก่อนแต่จะตายยังขอให้ฝากพืชพรรณเอาไว้ ไม่สูญพันธุ์ มีความรู้สึกอย่างนี้ มีการค้นคว้าทางไอ้เรื่องนี้อย่างแจ้งชัดแล้ว เคยอ่านรายงานเขาเรื่องต้นไม้ มีความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ ทดลองกันทุกอย่างทุกทาง จนปรากฎว่าต้นไม้มีความรู้สึกกลัวตายเหมือนกัน แล้วก็ชอบ ชอบความประคบประหงม แล้วเขาให้เด็ก ๆ แช่งต้นไม้ชุดนี้ แช่งทุกทาง ทุกทีที่เข้าๆ ออกๆ แล้วก็มาให้พร สรรเสริญร้องเพลงให้ฟังต้นไม้ชุดนี้ ต้นไม้ชุดนี้ตาย ต้นไม้ชุดนี้ยังงอกงาม ที่พวกอินเดียมาร้องเพลงให้ต้นข้าว ต้นข้าวออกรวงดี หมายถึงมีจิตใจที่หวังดี ทำไมพอเอามือไปถูกไอ้หญ้าระงับมันหุบหมดล่ะ มันต้องมีความรู้สึก รู้สึกอันตรายมาแล้ว ต้นไม้หลายๆ อย่างที่มีใบเป็นพืชตระกูลถั่วคู่ๆ โดยมาก หลายๆ ชนิดล่ะกลางคืนหุบใบทั้งนั้น มีชีวิตด้วยแล้วมีความรู้สึกด้วย พอถึงฤดูที่หิมะจะตก มันก็เตรียมเพื่อต้อนรับหิมะแล้วก็ไม่ต้องตาย มันเตรียมผลัดใบเตรียมอะไรต่างๆ มันก็ไม่ต้องตาย ถ้าไม่งั้นมันจะตายเพราะหิมะ
อภิธรรมศาลาวัดน่ะที่สอนว่าต้นไม้ไม่มีวิญญาณ ความรู้สึกถูกต้อง มันมีวิญญาณระดับน้อย ระดับต่ำที่สุด จนเกือบจะไม่รู้ว่ามีวิญญาณ ชีวิตน่ะมันต้องมี มันตายได้เห็นอยู่นี่ แต่วิญญาณความรู้สึกมันก็มี ทางนี้มีแสงแดดมันก็จะทอดกิ่งทอดยอดไปทางนี้ ทางนี้ไม่มีแสงแดดมันก็ไม่ไป มีชีวิตแล้วต้องมีความรู้สึกเขาถืออย่างนั้น ชีวิตต่ำมากก็รู้สึกต่ำมาก ชีวิตระดับสูงก็รู้สึกสูง กระทั่งชีวิตคนนี่ก็รู้สึกสูงมาก มีสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณน่ะ ความรู้ ความรู้สึกเวทนาสูงมาก ไม่ใช่วิญญาณธรรมดา ไอ้วิญญาณตัวตน วิญญาณเจตภูติ วิญญาณเข้าออก-เข้าสิงนั่นมันอีกวิญญาณหนึ่งคำนั้นอีกคำ วิญญาณคำนี้ พระพุทธศาสนาถือว่าไม่มี วิญญาณที่เข้าร่างนี้ไปเข้าร่างอื่น ตายแล้วลอยล่องไปน่ะไม่มี มีแต่วิญญาณทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้สึกอารมณ์ วิญญาณอย่างนี้มี คือ จิตมี ความยากลำบากมันอยู่ที่ว่าจิตมันต้องช่วยตัวจิตเอง จิตโง่จะช่วยตัวเองได้อย่างไร ไม่มีใครจะมาช่วยได้นอกจากช่วยตัวเอง คือจิตต้องช่วยตัวเอง ไอ้จิตที่เป็นทุกข์น่ะกลับต้องช่วยตัวเอง มันก็เลยไม่มีปัญญา ยาก ยากลำบากอย่างนั้น จิตที่เป็นทุกข์ต้องช่วยตัวเองให้หายทุกข์ มันยาก คือความเข็ดหลาบ ความทุกข์นี่มากพอทำให้เข็ดหลาบไม่อยากจะเป็นทุกข์ มันก็เปลี่ยนของมันเองได้ มันต่อต้าน ต่อสู้ไปตามเรื่อง แล้วก็รู้ ๆ ๆ รู้ถึงที่สุด ก็ไม่อยากจะคิดชนิดนั้นมันเป็นทุกข์ ไม่คิดชนิดนั้นไม่เป็นทุกข์ดีกว่า ไม่มีตัณหาอุปาทานก็ไม่เป็นทุกข์ดีกว่า มันรู้สึกเจ็บปวด เข็ดหลาบต่อความทุกข์ แล้วก็เบื่อต่อความทุกข์ ก็หันไปหาความคิดอื่น ที่ไม่เป็นทุกข์
ที่เรากำลังมาศึกษากันเนี่ย ศึกษาธรรมะชั้นสูงสุดก็คือเรื่องนี้ ก็ต้องทำเองด้วยตัวจิตนั่นเองละ ตัวตนนั้นไม่มี จิตไหนเป็นทุกข์ได้จิตนั่นละช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่รับเอาความรู้ของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อไปช่วยตัวเองนี้ทำได้ เราพูดอย่างนี้ถูกด่า พระพุทธเจ้าช่วยไม่ได้ ต้องช่วยตัวเอง แล้วก็ถูกด่า คนที่เขาจะพึ่งพระพุทธเจ้าเขาด่าเอา แต่ตามพระบาลีแท้ๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึ่งตัวเองคือพึ่งธรรมะ พึ่งธรรมะพึ่งตัวเอง ไม่มีตรงไหนที่สอนให้พึ่งพระพุทธเจ้า มีแต่สอนให้พึ่งตัวเอง อัตตทีปา อัตตสรณา จงมีตัวเองเป็นที่พึ่ง มีตัวเองเป็นสรณะ นั่นคือธรรมทีปา ธรรมสรณา คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ อนัญญสรณา อนัญญทีปา อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึกเลย ท่านสอนแต่อย่างนี้ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตัวตนไหนเป็นทุกข์ ตัวตนนั้นก็ต้องช่วยตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้เราใช้พระภูมิเอราวัณช่วย แม้แต่อย่างดีให้พระพุทธเจ้าช่วย มันก็ผิด ผิดคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าหน้าที่ต้องทำเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้แนะให้ทำ แนะหนทางๆ เธอทำเองเธอเดินเอง นี่เรียกว่าพึ่งตัวเอง พูดอย่างนี้แม้ที่กรุงเทพก็ถูกด่า เพราะคนที่คิดจะพึ่งพระพุทธเจ้ายังมีมากนัก ยังไม่ยอมคิดพึ่งตัวเอง
จะไปเปิดดูในพระไตรปิฎก มีตรงไหนสักบทสอนให้พึ่งพระพุทธเจ้า มันไม่มี ท่านสอนให้พึ่งตัวเอง คือพึ่งธรรมะ ปฏิบัติธรรมะคือพึ่งตัวเอง ปฏิบัติธรรมะแล้วธรรมะมันช่วย นั่นคือพึ่งตัวเอง ให้พระเจ้าช่วยนั่นน่ะไม่มีทางไม่มีหวัง ในพระพุทธศาสนาไม่มี จะให้พระพุทธเจ้าช่วยแล้วก็ต้องทำด้วยตัวเองจนพระเจ้าต้องช่วย เช่น เวลาเราเป็นไข้เจ็บไข้ ช่วยตัวเองไม่ได้นั่นก็ต้องไปหาหมอ เราต้องมีอะไรดีพอจน หมอมันช่วยนะไม่มีสตางค์ไปให้ หมอมันไม่ช่วยนะ คิดดูสิ มันต้องมีส่วนที่ช่วยตัวเอง ถึงพระเจ้าก็เหมือนกันแหละต้องเอาของไปบวงสรวง เอาช้างไปให้พระภูมิเอราวัณมันช่วย ธรรมดามันก็ไม่ช่วย นี่เรียกว่ามีส่วนที่เราช่วยตัวเอง เอาช้างไปจ้างมันให้ช่วย ถ้าเป็นพุทธบริษัทจำไว้เถอะว่าพึ่งตัวเองช่วยตัวเอง ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไร ไปศึกษามาเขาแนะให้ แนะวิธีช่วยตัวเองให้ วิธีอานาปานสตินี่ ทำให้รู้วิธีที่จะช่วยตัวเอง ไม่ให้เกิดกิเลสไม่ให้เกิดความทุกข์ เป็นกรรมฐานที่ถูกต้องที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด ที่จะช่วยตัวเองได้ ตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเองก็เคยช่วยตัวเองด้วยอานาปานสติ ท่านตรัสไว้ ตถาคตอยู่ด้วยวิหาร ด้วยอานาปานสติวิหาร แล้วก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระบบอานาปานสติเคยช่วยแม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็มอบให้เราเอามาใช้ช่วยตัวเอง
ถาม.. ที่บอกว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขในที่นี้ก็คือหมายความว่า เป็นความสุขที่ไม่มีความทุกข์อย่างนั้น...................(1.08.05)
ตอบ....ที่ถูกต้อง ต้องพูดว่าไม่มีทุกข์ ที่สุดแห่งความทุกข์ คนกลางถนนไม่ชอบใช้ ต้องบอกว่าเป็นสุขที่สุด เพราะเขารู้จักความสุข พอใจอยู่ในความสุข ที่จริงเข้าใจผิดหรือไขว้กันอยู่ เขาสุขเวทนา สุขเอร็ดอร่อย สุขสนุกสนาน แต่นิพพานเขาไม่ได้สุขอย่างนั้น มันสุขอย่างที่ไม่ต้องสุข ไม่ต้องเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์ มีคนนึงอยู่ที่นี่ ยังอยู่ชีวิตยังอยู่ ถามเขาว่าอยากไปนิพพานไหม เอาไหม เอาๆ นิพพานไม่มีรำวงนะ งั้นไม่เอาๆ ขอคืนทันที บอกคืนทันที นี่ คิดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งจะไปรำวงกันให้ดีกว่าที่นี่ พอบอกไม่มีก็คืนทันทีนะ ไม่เอาๆ เพียงเท่านี่นะคิดดู ก็ไม่ต้องการล่ะ พอบอกว่านิพพานไม่มีดิสโก้เธค เด็กๆ ก็ไม่อยากไปละ
ถาม-(1.09.35)….ไม่ให้พูดคำว่าของกู........................
ตอบ........... อ้าว! นั่นเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่รู้มันต้องใช้ภาษาอย่างนั้น พูดอย่างนั้นกันไปก่อน
ถาม-……………………………
ตอบ........... เด็กไม่มีทางจะรู้ว่า มันต้อง....
ถาม...........................................
ตอบ ..ปัญญาก็หมายความว่า ความรู้ที่มันถูกต้อง มันถูกต้อง กว่าจะรู้เรื่องนี้ กว่าจะรู้ธรรมะ มันต้องผ่านอะไรมามาก เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องอะไรผ่านมามากแล้วจึงจะฟังดู นี่เขาบอกคนที่ฉลาดพอสมควรแล้ว ให้รู้ว่าจิตนี้ธรรมชาติเป็นประภัสสร เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเข้ามา หรือบริสุทธิ์ผ่องใสเพราะอุปกิเลสไม่เข้ามา ผู้ใดมีความรู้ความเข้าใจมีความเชื่ออย่างนี้ ผู้นั้นน่ะสมควรหรือเหมาะสมที่จะทำสมาธิวิปัสสนา ถ้ายังไม่มองเห็นหลักอันนี้หรือไม่ยอมรับหลักอันนี้ ผู้นั้นยังไม่ควรที่จะทำสมาธิภาวนา หรือวิปัสสนา ฉันใช้คำว่า จิตภาวนาย่อมมีแก่ผู้นั้น ผู้ใดเข้าใจความจริงข้อนี้ จิตประภัสสรยังไง ไม่ประภัสสรยังไง มองเห็นอย่างนี้แล้ว ผู้นี้ควร จิตภาวนาย่อมมีแก่ผู้นี้ หมายความว่าผู้นี้ควรทำจิตภาวนา
ถาม-ท่านค่ะ แล้วคนที่ทำสมาธิแล้วไม่เห็นอะไรเลย............................
ตอบ...... มันก็ไม่ได้ มันเห็นชัด มันก็ไม่สามารถจะมีนิมิต สมาธิทุกชนิดต้องมีนิมิตให้จิตกำหนด
ถาม-. ....แต่ถ้ามันมีความรู้สึกว่ามัน...สบาย...
ตอบ...... ก็เย็นสบายน่ะเป็นนิมิต
ถาม-.(1.12.21)...............................
ตอบ...... เมื่อเขา เมื่อเขาไม่อยากจะมีความทุกข์
ถาม-.............................................
ตอบ...... ได้ กำหนดด้วยอายุ กำหนดด้วยสถานที่ไม่ได้ กำหนดด้วยจิตใจที่อยากจะดับทุกข์ หรือเขาเกลียดกลัวไอ้จิตที่ไม่เป็นสมาธิ ยุ่งยากลำบาก ถ้าอยากจะมีจิตที่เป็นสมาธิแล้วก็พร้อมที่จะทำสมาธิ เดี๋ยวก่อน ไอ้คำว่าสมาธิ สมาธินี้ตามธรรมชาติ มันก็มีแต่ไม่พอ มันมีไม่พอ ต้องทำเพิ่ม ๆ ๆ สมาธิก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดีมันมีตามธรรมชาติ ตามสมควรที่จะมีชีวิตอยู่ได้ติดมาโดยธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณ สมาธิโดยสัญชาตญาณมันก็มี มันจึงทำอะไรได้ ทำอะไรได้นะ เช่นว่ามันจะขว้างให้มันถูก หรือมันจะยิงปืนให้ถูก หรือมันจะเล่นหยอดหลุมทอยกองให้มันถูก นี่ต้องมีสมาธิตามธรรมชาติ สมาธิเพียงเท่านี้ไม่พอที่จะดับทุกข์ ต้องเพิ่มกว่านี้ แม้แต่ปลาเสือมันยังมีสมาธิ เข้าใจมั้ย เคยเห็นปลาเสือมั้ย ปลาเสือจริงๆ นี่เห็นมั้ยรุ่นนี้ไม่เคยเรียนหนังสือแบบเรียนเร็วโบราณ ถ้าเคยเรียนแบบเรียนเร็วโบราณจะเคยเรียน ปลาเสือพ่นน้ำถูกแมลงตกลงมากินได้ นี่สมาธิของปลาเสือ เพราะงั้นปลาเสือยังมีสมาธิ แล้วคนไม่มีสมาธิ ขายหน้าปลาเสือ
ถาม-(1.14.45)........
ตอบ...... มันก็ได้ๆ มันก็ได้ ตามๆ เขาก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็โดยมากมาฝึกตาม ๆ ทั้งนั้นล่ะ ยังไม่เห็นก่อนหรืออย่างน้อยก็มีความเชื่อว่าจิตนี้ฝึกได้ ถ้ามีความรู้ขนาดนี้เป็นทุนแล้วมันอยากฝึกก็ฝึกได้ ถ้าเห็นถึงอย่างนั้น จิตประภัสสรยิ่งดี ถ้าอย่างนั้นยิ่งดี เดี๋ยวนี้เรามันอยากดี อยากมีความสุข เขาแห่ไปทำวิปัสสนากันก็ไปกับเขาด้วย ก็ได้เหมือนกันได้ธรรมเหมือนกัน ค่อยรู้ทีหลังว่าจิตประภัสสรเป็นอย่างไร ค่อยรู้ทีหลัง
ถาม-(1.15.54)..................
ตอบ......หลายอย่าง ไอ้นิมิตเอาเป็นอารมณ์สมาธิอย่างนึง นิมิตที่มันเห็นภาพ เห็นนรกสวรรค์ อะไรต่าง ๆ นั่นน่ะไม่จริง ไม่ใช่เรื่องจริง นิมิตนี่สำหรับสมาธิอะไรก็ได้ ที่ให้จิตมันเกาะที่นั่น กรรมฐานมีหลายสิบแบบ เอาสิ่งของภายนอก เช่น ดวงเทียน เช่น วงสี หรือเอาพระพุทธรูป หรือเอาดวงแก้วเป็นนิมิตก็ได้ แต่เราไม่ชอบแบบนั้น เราชอบนิมิตคือลมหายใจเป็นนิมิตกำหนดเรียกอานาปานสติ แบบอื่นเขาก็เอาอย่างอื่นเป็นนิมิต บางแบบเอาโครงกระดูกเป็นนิมิต เอาศพเป็นนิมิต
ถาม-แล้วที่เห็นเป็นพระพุทธรูป เราเห็นอยูภายนอกแล้ว เราต้องนิมิตเข้ามาในหน้าตา.....
ตอบ...... มันก็เห็น มันก็เห็น เห็นด้วยความรู้สึก ประสาทหลอนก็เห็น ไม่ต้องเป็นของจริง
ถาม-..(1.17.07)....................
ตอบ..... ก็อย่าไปเพ่งมันสิ ระบบประสาทมันต่อสู้ พอเราเริ่มบังคับจิตให้เป็นสมาธิ ระบบประสาทมันจะต่อสู้ มันจะคอยเห็นนั่นเห็นนี่แปลกประหลาดวุ่ยวายไปหมด อย่าไปสนใจกับมัน จะพุ่งมุ่งให้สงบ ๆ ๆ ๆ จะเห็นอะไรก็ช่างหัวมัน มันเป็นการต่อสู้ของระบบประสาท ถ้าจิตอ่อนก็ว่าประสาทหลอนได้ง่าย แล้วก็เห็นเยอะแยะไปหมด ทำสมาธิเพื่อจะเห็นเลขสามตัว นั้นก็เห็นแน่ ๆ
ถาม-..เล่าถึงภาวะที่ว่าตรัสรู้
ตอบ......ตรัสรู้ก็คือรู้ คำว่าตรัสรู้นี่มันภาษาไทย ไปใช้สำหรับพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง ไอ้เราก็มีตรัสรู้อย่างเดียวกัน แต่เราไม่ได้รู้เอง งั้นจึงไม่ ไม่นิยมเรียกตรัสรู้ แต่ความรู้ รู้อย่างเดียวกัน รู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้ทุกขนิโรจน์ รู้ทุกขทานีปฏิปทา รู้อาสวะ หรืออาสวะสมุทัย อาสวะนิโรจน์ อาสวะนิโรทคามินีปฏิปทา รู้เหมือนกันแหละกับพระอรหันต์ทุกองค์รู้ รู้เหมือนพระพุทธเจ้ารู้ แต่ไม่เรียกว่าตรัสรู้เพราะว่าไม่ได้รู้เอง เมื่อความถูกต้องของสมาธิของปัญญาของอะไรที่เหมาะสมแล้วมันก็รู้ไอ้สิ่งที่ไม่เคยรู้ขึ้นมา ถ้ารู้จนดับทุกข์ได้ก็เรียกว่านั่นน่ะ ตรัสรู้ รู้อันสูงสุด รู้จนทำลายความเคยชินแห่งกิเลสอนุสัยต่างๆ ในสันดานได้ ความเคยชินที่จะรักก็ทำลาย ความเคยชินที่จะโกรธก็ทำลาย ความเคยชินที่จะโง่ก็ทำลาย มันก็เลยไม่รัก ไม่โกรธ ไม่โง่อีกต่อไป ความรู้ขนาดนั้นน่ะ คือความรู้ที่เรียกว่าตรัสรู้ แต่ต้องรู้เองจึงจะเรียกว่าตรัสรู้
ถาม- (1.19.51)....................
ตอบ..... ไอ้เซนน่ะ เขาเรียกว่าวิธีลัด ให้รู้โดยวิธีลัด ต้องมีอาจารย์ที่ฉลาด ฉลาดเหนือลูกศิษย์มาก จึงจะต้อนลูกศิษย์ให้รู้อย่างนั้นได้ อาจารย์ที่จะเป็นอาจารย์เซนทำให้ลูกศิษย์รู้ฉับพลัน ต้องสามารถมาก ต้องเก่งมาก ต้องอายุมากพอ แทง รู้จิตใจของลูกศิษย์ว่า จะต้อนมาอย่างนี้ ๆ ต้อนให้รู้โพล่งออกมา เขาเรียกว่าวิธีลัด มุ่งหมายอย่างเดียวกัน ดับทุกข์ได้เหมือนกัน แต่มันเป็นวิธีลัด ที่ทำที่เอาไปยาก สำหรับผู้ที่มีปัญญา และยังมีผู้ที่มีปัญญาเหนือกว่า ต้อนไปได้ ถ้าใช้กับคนโง่ๆ นี่คงทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าทำไป ๆ ๆ มันก็อาจจะมีขึ้นมาได้เหมือนกัน มีผลขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่มีครู จะพูดได้ว่าในเมืองไทยไม่มีครูที่จะเป็นผู้สอนเซ็นที่แท้จริงได้ ไม่อยากจะพูดว่าแม้ในเมืองจีน เมืองญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี มันมีชนิด ชนิดประเพณี
ถาม-แสดงว่าภาวะของการหยั่งรู้จิตใจของผู้อื่นนี้มีใช่ไหม
ตอบ.... มีสำหรับผู้ที่เป็นครู จำเป็นมาก ผู้ที่จูงผู้อื่นสอนผู้อื่นต้องมีความรู้พิเศษที่รู้จิตใจของผู้อื่น เป็นวิชาของครู เป็นองค์ประกอบของครูเป็นครู มันเป็นภาษาไทยทำยุ่งยากเรียกว่า ตรัสรู้ มันเลยหมายถึงรู้ด้วยตนเอง ที่รู้ตามไม่ได้รู้เองก็รู้อย่างเดียวกัน รู้เหมือนกัน มันต้องเกิดอะไรขึ้นมาอย่างเดียว ความรู้โดยสัญชาตญาณได้รับการปรับปรุงให้เป็นความรู้มากกว่าสัญชาตญาณ เป็นภาวิตญาณ (นาทีที่ 01:22:27) คืออบรมแล้ว ในที่สุดมันจะรู้ถึงที่สุด คือ การตรัสรู้ ตามธรรมชาติจิตใจก็มีความรู้ มีสมรรถภาพทางรู้ แต่ไม่พอบ้าง ไม่ถูกบ้าง ที่มันถูกและมันพอก็ดับทุกข์ ถึงจุดสูงสุดเรียกว่า พระอรหันต์ เรียกอะไรก็แล้วแต่จะเรียก เรียกแยบคายที่สุดเรียก ตถาคต ตถาคโต ถึงแล้วซึ่งความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้นคือ ความไม่เป็นทุกข์ ความไม่เปลี่ยนแปลง ความเป็นอย่างนั้น นั่นคือพระอรหันต์ อรหันต์ก็คือผู้ไม่ทุกข์ ผู้ไม่รู้จักกันกับความทุกข์อีกต่อไป สรุปสั้นๆ ก็อยู่เหนืออำนาจอิทธิพลของความเป็นบวกเป็นลบ ไม่เกิดความยินดี ไม่เกิดความยินร้าย ไม่เกิดเป็นบวก ไม่เกิดเป็นลบ ถ้ายังหัวเราะ ยังร้องไห้อยู่ มันมีความเป็นบวกมีความเป็นลบ
ถาม-(1.04.01) เรายังมีความไม่เข้าใจอยู่คำหนึ่งที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่จะสามารถสะสมบารมีได้ คำว่าบารมีในที่นี้มันจะหมายถึงว่า มนุษย์สามารถทำสิ่งที่เป็นประภัสสรได้ ไม่ทราบว่ามันจะตรง...
ตอบ.... ประภัสสรตลอดกาลน่ะเป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายสุดท้าย รักษาจิตประภัสสร เดี๋ยวนี้ไว้ได้ ๆ ก็เป็นการสร้างสมบารมี บารมีคอยสร้างความเคยชินในทางฝ่ายดี ไปถึงสุดดีก็พ้นเป็นเหนือดี ถ้าไปสะสมในทางฝ่ายชั่วไม่เรียกบารมี ถ้าสะสมในทางฝ่ายดีก็เรียกว่าบารมี อะไรก็ตามที่มันเป็นไปในฝ่ายดี สะสมกันให้มากเข้าไว้ มากเข้าไว้ นี่เรียกว่าบารมี คำว่าบารมีดูเหมือนจะแปลว่าทำให้มันเต็มขึ้นมา เติมมันให้เต็มขึ้นมา ให้เต็มขึ้นมา ๆ ความเคยชินในฝ่ายดี เดี๋ยวนี้เรายังไม่ชนะดี แล้วก็ ดีๆ ๆ ๆ ก็สุดดี หลุด ว่างไป ว่างจากบ่วงแห่งความชั่วความดี อิทธิพลแห่งความชั่วความดีผูกพันไม่ได้อีกต่อไป นี่เรียกความหลุดพ้น ถ้างั้นจึงต้องรู้จักความชั่ว รู้จักความดี แล้วไม่เอากับมันทั้งสองอย่าง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนที่จะไปเอากับความชั่ว อย่าว่าแต่ความดีเลย ที่รู้อยู่กับเรื่องความชั่ว เสร็จแล้วมันไปผูกกับความเอร็ดอร่อยสนุกสนานก็ยังเอาอยู่ เอาความชั่ว จึงมีคนทำความชั่ว บังคับตัวไม่ให้ทำความชั่ว ทำแต่ความดีสูงขึ้นไป ๆ จนเต็มไปด้วยความดี แล้วโอ้! ยังยุ่ง ยังยุ่ง ขอลาก่อนเถอะ ไปเหนือความดี จากชั่วมาถึงดี จากดีมาถึงว่าง เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ว่างชั่ว ว่างดี
ถาม-(1.27.10)................
ตอบ..... เขาว่าเขาถาม ...............
ถาม กฏแห่งกรรม ความหมายที่แท้จริงคืออะไร
ตอบ...กฎแห่งกรรม ก็ว่าสิ่งที่กระทำย่อมมีปฏิกิริยาสนองตอบ คือผลกรรม ถ้าการกระทำนั้นทำด้วยมีเจตนาความรู้สึกก็เรียกว่ากรรม ผลที่ออกมาก็เรียกว่าวิบาก คือผลกรรม ถ้าการกระทำนั้นไม่ได้ทำด้วยเจตนาไม่เรียกว่ากรรมเรียกว่ากิริยา ผลสนองตอบออกมาเรียกปฏิกิริยา นี่คือ กฎแห่งกรรม ทีนี้มันมีผลอะไรออกมาถูกใจคนทำ ก็เรียกว่าดี ไม่ถูกใจคนทำมันก็เรียกว่าไม่ดี มันก็ถูกติดอยู่กับไอ้ดีหรือไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องกรรมไว้อีกข้อ ที่ว่า เหนือชั่ว เหนือดี กรรมที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมชั่ว กรรมดี อย่างนี้มีแต่ในพุทธศาสนา ที่นอกพุทธศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้านั้นเขาก็สอนอยู่แล้วเรื่องกรรมชั่ว กรรมดี ทำดีๆ ทำชั่วๆ ไม่ใช่เพิ่งสอนเมื่อพระพุทธเจ้าเกิด เขาสอนอยู่ก่อน พระพุทธเจ้าก็ไม่ปฏิเสธ ก็จริง ทำดีๆ ทำชั่วๆ แต่ฉันจะสอนเรื่องกรรมที่อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ไม่แยแสกับดีกับชั่ว นี่กรรมของพระพุทธเจ้า ก็มีกฎแห่งกรรมอีกชนิดหนึ่งที่สูงขึ้นไปกว่าทำดีๆ ทำชั่วๆ นั่นเขาสอนกันก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อไม่ยึดถือเป็นตัวกูของกูมันก็ไม่มีกรรม คือ มันไม่มีความหมายว่าดีว่าชั่วแก่ใคร ไอ้ดีชั่วก็ยกเลิกไปเพราะไม่มีใครรับเอา การที่จะอยู่เหนือกรรมชั่วกรรมดีนั้นต้องหมดตัวกูของกู นี่จะเรียกกรรมที่สามก็ได้ กรรมที่หนึ่งคือกรรมชั่ว กรรมที่สองคือกรรมดี กรรมที่สามคือเหนือชั่วเหนือดี อย่างนี้ก็เป็นพระอรหันต์ ทำกรรมที่อยู่เหนือชั่วเหนือดีก็เปน็นพระอรหันต์ เรื่องเดียวกันแหละหมดตัวตนหมดกิเลส เหนือชั่วเหนือดี เรื่องชั่วเรื่องดีก็เป็นของเด็กเล่นมีอยู่แต่ในโลกนี้ ที่เหนือชั่วเหนือดีก็เหนือโลก
ถาม-หลวงพ่อครับ พวกเราก็รู้สึกว่า ได้ข้อคิด จากหลวงพ่อที่กะทัดรัด นะครับ ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะไปแสวงหาคำตอบ...............ด้วยตนเอง
ตอบ.... คือว่า พยายามใช้ประโยชน์จากวิชาความรู้ที่ได้รับ เพิ่มขึ้น ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ อาตมาก็ศึกษาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการลองปฏิบัติดู เข้าใจรู้มากขึ้นก็มาบอก มาสอน มาแจกต่อ ๆ กันไป ทุกคนช่วยตัวเองปฏิบัติให้สำเร็จ จนมีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพลของความชั่วและความดีหลุดพ้นเป็นโลกุตตระ ถ้าอยู่ใต้อิทธิพลของความชั่วความดีก็เป็นโลกียะอยู่ในโลก จมอยู่ในโลก ติดอยู่ในโลก เหนืออิทธิพลชั่วดีก็พ้นโลกเป็นโลกุตตระ ถ้าอยู่ในโลกียะก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเป็นโลกุตตระก็ไม่มีความทุกข์เลยเป็นที่จบสิ้นสุดแห่งความทุกข์ อย่าไปเรียกมันว่าความสุข มันจะกลายเป็นดีขึ้นมาอีก แต่ถ้าพูดชักชวนโฆษณาทีแรกก็ต้องพูดว่าดี นิพพานเป็นดีเป็นสุดยอดแห่งความดี ไม่ได้สนใจ พอเสร็จแล้ว โอ้โห,มันหมดดีหมดชั่ว เหนือดีเหนือชั่ว สอนลูกเด็กๆ ชั้นอนุบาลก็ต้องสอนให้ดีไว้ก่อน ถ้าสอนสูงกว่านั้นก็ไม่เข้าใจ แล้วนี่ก็ดี ๆ ๆ ๆ แล้วเขาก็รู้เอง โอ้!, มันยังไม่ มันยังไม่สิ้นสุด มันยังยุ่งๆ อยู่เหนือดีดีกว่า มันพูดได้ว่าเกิดมาสำหรับโง่ไปก่อน พ้นทุกข์ไปก่อน เลิกความทุกข์น่ะมันจะสอนให้ มันจะบีบคั้น มันจะกัดเอา แล้วก็อยากจะพ้นทุกข์ นั้นน่ะมันจึงจะดับทุกข์ได้ ถ้าไม่มีความทุกข์มันก็ไม่รู้จักความทุกข์ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจะดับทุกข์ มันก็ต้องมีความทุกข์ที่เป็นปัญหาที่จะต้องดับมันจึงจะศึกษาเรื่องดับทุกข์ ลูกเด็กๆ ก็ต้องสอนไปตามแบบสมมติก่อน ให้ดีเข้าไว้เถิด ๆ แกจะได้อะไรตามที่แกต้องการ สบายดี สุขดี
คำสอนจึงมีเป็นชั้นๆๆๆ ตามวัยแห่งอายุ อยากได้อะไรตามที่ต้องการนี่มันเป็นสัญชาตญาณ เขาก็ต้องการที่เขาชอบ แต่เขาไม่รู้มันอะไรควรชอบอะไรไม่ควรชอบ ก็ชอบไปตามกิเลสมันชอบไปก่อน ชอบตามที่กิเลสมันชอบมันก็ กัดเอาๆ ๆ ทีนี้ก็เกลียดจนเลิกชอบไอ้แบบนั้น ไปชอบที่ดีกว่านั้นเหนือกว่านั้น ดี ๆ ดีจนพ้น ดีจนเหนือดี บางคนเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ก็สนุกดี ร้องไห้ก็สนุกดี ก็ร้องไห้ให้อร่อย ถ้าอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้
พูด..เป็นเวลาที่สมควรแล้วครับหลวงพ่อ....
ตอบ..... นี่เรียกว่าคุยกันไม่บรรยาย อย่าลืมเสีย เอาไปคิด เอาไปใคร่ครวญให้เข้าใจว่ามันจะดับทุกข์ได้โดยวิธีอย่างนี้