แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทำหน้าที่ถูกต้อง แล้วก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข สุขนี้สะอาด ทีนี้ ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงต้องใช้ความโง่ ต้องมีความโง่หลงใหลในความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แล้วมันก็ต้องใช้เงิน ความสุขที่แท้จริงมันไม่ต้องใช้เงิน เงินก็เหลือกองอยู่แยะ เพราะคนที่ปฏิบัติเพื่อความสุขที่แท้จริง ไม่รู้จะเอาเงินไปซื้อที่ไหนได้ มันไม่มี มันไม่มีขายนี่ความสุขที่แท้จริง แต่มันเกิดขึ้นเสียเองแล้วเมื่อกำลังทำหน้าที่อย่างพอใจและถูกต้อง ความสุขที่แท้จริงนี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ไม่มีขายที่ไหน แต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมีขายเต็มไปหมด พอทำงานเสร็จแล้วก็เอาคนงานเอาเงินเดือน เงินอะไรก็ไปซื้อความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงิน แล้วก็ใช้มาก แล้วก็ทำให้ลืมตัว จนหมดตัว จนล้มละลาย หรือว่าจนต้องคอรัปชั่น จนต้องไปติดคุกติดตะราง ถ้าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงต้องการเงินมาก ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนี้ที่ทำให้ต้องมาถูกลงโทษ ถูกถอด ถูก... แล้วสิ้นเนื้อประดาตัวในที่สุด พร้อมทั้งเกียรติยศชื่อเสียงเพราะลุ่มหลงในความเพลิดเพลินที่หลอกลวง
ทีนี้คำว่า บทบาทโดยตรงของครู ก็คือ ทำหน้าที่ให้ประชาชนรู้จักสิ่งเหล่านี้ นั่นก็คือทำให้ประชาชนรู้จักความรอด ความรอดที่แท้จริงนั่นเอง ประชาชนไม่รู้จักความรอดที่แท้จริง แล้วก็ไม่ได้ต้องการความรอดที่แท้จริง แต่ต้องการความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ดังนั้น ไม่เข้ามาถึงศาสนาเลย ไม่เข้ามาถึงขอบเขตของศาสนาเลย เพราะว่าหลงใหลอยู่แต่ในความเพลิดเพลินที่หลอกลวง จนกว่าจะได้รู้จักความสุขที่แท้จริงนั้น แหละ จึงจะเรียกว่าได้เข้ามาอยู่ในร่มเงาของศาสนาแล้ว ทำงานอยู่ พอใจ อยู่ทำงานอยู่ รู้สึกพอใจอยู่ ยิ่งเหงื่อออกมาก็ยิ่งพอใจ เหงื่อก็กลายเป็นน้ำเย็น เป็นน้ำมนต์ ทำให้เข้มแข็ง มีเรี่ยวมีแรงทำงานต่อไปอีก นี่บทบาทที่ครูจะช่วยให้ประชาชนรอดได้ ก็คือ ทำให้รู้จักหน้าที่ที่แท้จริง เกิดความรอดในทางวิญญาณ ไม่มีกิเลสที่เป็นมารร้ายมาครอบงำจิตใจ ความรอดแท้จริงก็เกิดขึ้น เพราะคนที่มีปัญหาจมอยู่ในกองทุกข์นั้นรู้จักแต่ว่า รอดจากความยากจน แต่ก็รู้ไม่เพียงพอถึงกับว่าเอาชนะความยากจน ดังนั้นได้เงินมาเท่าไหร่ก็เอาไปซื้ออบายมุขหมด เพราะไม่รู้จักความรอดข้างต้น
ที่นี้ความรอดเป็นส่วนรวมของประเทศชาติ ของโลกนี่มันไกลอีกมาก เว้นแต่ว่าทุกคนในโลก หน่วยประกอบของโลกนี้ รู้จักความรอดที่แท้จริง แล้วก็เอาชนะกิเลสอันหลอกลวง ไม่เพิ่มเหยื่อ เพิ่มกำลังให้แก่กิเลสแห่งความหลอกลวง ก็คือไม่หลงใหลในความเพลิดเพลินนั่นแหละ เดี๋ยวนี้มันคิดว่าเราชนะแล้ว กินเหล้าเมายานี้เราชนะ เป็นชัยชนะของเรา ทั้งที่ความวินาศทางวิญญาณนั้นเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้น จนหมดสิ้น เขาก็ยังคิดว่าเขาชนะ ชนะ ชนะ คนพวกนี้ก็จะคิดว่าการกินเหล้านี้ชนะกิเลส เราชนะกิเลส เราระงับความรู้สึกอยากกิเลสด้วยการกินเหล้า นี่มันเข้าใจผิดขนาดที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร กันอยู่อย่างนี้
ความรอด อยู่ที่การทำหน้าที่ จะเป็นความรอดของบุคคลแต่ละคนก็ดี เป็นความรอดของประเทศชาติก็ดี ความรอดของโลกทั้งโลกก็ดี อยู่ที่ทุกคนทำหน้าที่ของตน ของตน อย่างถูกต้อง และก็ไม่ทำสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่หน้าที่ คือมันไม่ได้ช่วยให้รอด สิ่งใดไม่ได้เป็นไปเพื่อความรอดสิ่งนั้นไม่ใช่หน้าที่ แม้ที่สุดความรอดชีวิตของแต่ละคน แต่ละคนก็คือการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ในร่างกายมีการทำหน้าที่ที่ถูกต้องก็รอดชีวิต จิตใจทำหน้าที่ถูกต้องก็รอดทางวิญญาณ เมื่อรอดทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณก็พอแล้ว ก็ควรจะพอใจแล้ว ดังนั้น การสนใจเรื่องจิตเรื่องวิญญาณให้เพียงพอ แล้วก็นำไปให้ถูกทางนั้นแหละเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์เรา ซึ่งการศึกษาทั้งหลายควรจะมารวมจุดอยู่ที่นี่
สรุปความสั้นๆ ว่า เรื่องจิตเรื่องวิญญาณนี้เป็นผู้นำ จิตหรือวิญญาณนำทุกสิ่ง นำให้ทำ ให้มีการกระทำ ในภายในก็ดี ในภายนอกก็ดี สร้างอะไรก็ดี สรรค์อะไรก็ดี เรื่องจิตเรื่องวิญญาณเป็นผู้นำ ถ้าจิตวิญญาณตั้งไว้ผิด ประกอบอยู่ด้วยความผิดแล้วก็ทำผิด ก็สร้างผิด ส่งเสริมผิด ดำเนินผิด จนกลายเป็นเต็มไปด้วยความผิด ในที่สุดก็ไม่รู้ว่าที่เกิดมานี้เป็นมนุษย์ หรือเป็นอะไร
ทั้งหมดนี้คือ บทบาทของครู คือ เป็นผู้นำทางวิญญาณ สอนให้ทุกคนรู้จักชีวิต รู้จักหน้าที่ในด้านวิญญาณ เมื่อแต่ละคนประพฤติตามนั้น ก็มีความรอดเกิดขึ้นทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม ทั้งหมดนี้เรียกว่าบทบาทของครู กับ ความอยู่รอดของสังคมนั้นคือสิ่งเดียวกัน
อาตมาบรรยายเลยเวลามากแล้ว ต้องขอยุติการบรรยาย (นาทีที่ 7:59)
ท่านพุทธทาสฯ : เอาไปที่ไหน ทั้งหมดทั้งนั้นแหละ จะเอาไปที่ไหนก็แล้วแต่อาจารย์รุ่ง นี้เป็นคู่ๆ เป็นคู่ๆ เป็นคู่ๆ อะไร? ไม่ใช่ นี่ให้เอาไป นี่ที่แจกอยู่นี่ แจกคู่ ๒ เล่มเป็นที่ระลึก
คณะครู อาจารย์ : วันนี้พวกเราได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งนะครับ
ท่านพุทธทาสฯ : มีปกเขียว ปกแดง ปกเขียว ปกแดง จะลำบากไหม? ไม่ใช่แจกกัน เอา เอา เอามาตรงนี้ มาที่นี่มา ...... ไม่ต้อง แป๊บเดียว แป๊บเดียว เหมือนกับเกิดขึ้นมาลักษณะอย่างไร ซึ่งตั้งใจจะพิสูจน์ว่าใครก็ทำได้ แต่ไม่มีใครคิดทำเอง รีบ รีบ รีบ รีบ เร็ว เร็ว .................
คณะครู อาจารย์ : ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยปิดประชุมสัมมนาด้วยครับ
ท่านพุทธทาสฯ ... นั้นเอาไปด้วยก็ได้ที่เหลือ เอาไปที่กรุงเทพให้คนที่ควรจะได้ รวมแล้วหนังสือนี้ นี่ถึงเวลาที่จะปิดประชุมแล้วหรือ? ปิดประชุมแล้วจะทำอะไรอีก แต่มันจะชักช้า เดี๋ยวมันจะไม่ทันรถ นี่มันก็จะบ่าย ๓ โมงอยู่แล้ว ............(นาทีที่ 11:45)
อาตมาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวปิดประชุม ก็จะได้แสดงความรู้สึกอะไรบางอย่างเท่าที่จะนึกได้ ขอให้เป็นเพียงการปิดประชุม แต่งานนั้นไม่ปิด งานนั้นยังคงทำต่อไป การมาทำอะไรๆ ที่เรียกว่าการประชุมนี้ปิดได้ ปิดได้ แต่งานนั้นปิดไม่ได้ จะต้องทำต่อไป จึงหวังว่า คงจะได้เรื่องที่ทำนี้ ไปทำให้ถึงที่สุด สำเร็จถึงที่สุด แล้วเรื่องที่ได้พูดจากันนี้ จะได้เอาไปพินิจพิจารณาหาทางใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงเรียกว่างานนั้นยังไม่ปิด งานจะปิดพร้อมกับชีวิต เดี๋ยวนี้เราหยุดพักเป็นระยะๆ ตามเหตุผล หรือความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น งานที่จะต้องทำที่สวนโมกข์นี้ก็เป็นอันว่าปิด แต่ตัวงานแท้ๆ ยังคงอยู่สำหรับไปทำที่อื่นต่อไป ต่อไป ต่อไป จนกว่าจะมีผลสำเร็จเกิดขึ้น จากการสั่งสอนอบรมแบบนี้ สำหรับสูตรสำเร็จแล้วก็เอาไปสั่งสอน อบรม มีผลเกิดขึ้นเป็นที่พอใจ ถือเป็นมาตรฐานได้ เป็นแบบฉบับได้ จึงจะเรียกว่างานนี้เสร็จไปชิ้นหนึ่ง
ขอให้ทุกท่านมองเห็นข้อสำคัญ หรือความจริงอันหนึ่งที่ว่า ก่อนนี้เราพูดกันแต่เรื่องหลักวิชา แต่การที่จะบรรจุวิชชาเข้าไปในผู้รับให้สำเร็จเป็นการมีวิชชา มีผลของวิชชานั้น เราไม่ค่อยได้นึกกันนัก แล้วก็ดูจะเป็นอย่างนั้นกันเสียโดยมาก ที่นี้เราสอนวิชชา แล้วก็มีการกระทำให้วิชชานั้นเข้าไปมีผลขึ้นในบุคคล ซึ่งจะออกมาเป็นของส่วนร่วม เป็นของสังคม เป็นของประเทศชาติ ก็ขอให้ดำเนินการทำหลักสูตรที่ได้ตกลงกันนี้ ให้เป็นไปอย่างครบถ้วน คือเรื่องจริยธรรม ซึ่งมีหลักว่าเป็นข้อๆๆๆ จริยธรรมแต่ละข้อมีทางที่จะสอนให้รู้ ให้รู้จักจริยธรรมข้อนั้น โดย ๔ ความหมาย ตามหลักวิธีของพุทธศาสนา คือ เรื่องอริยสัจจ์ เพราะว่าเราเป็นพุทธบริษัท เมื่ออะไรๆ มีเป็นหลักอยู่แล้วในพุทธศาสนาเราต้องเอาไปใช้ แทนที่จะแสวงหาเคว้งคว้างไปทางอื่น พยายามที่จะยึดเอาหลักเกณฑ์ต่างๆที่มีใช้อยู่ในพุทธศาสนาออกมาใช้ โดยที่กล้าพูดว่า ในพุทธศาสนามีความสมบูรณ์อย่างยิ่ง ทั้งในแง่วิชชา ทั้งในแง่การปฏิบัติ ในแง่ที่จะเกิดผลมาจากการปฏิบัติ เรื่องอริยสัจจ์ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งมีหลักเกณฑ์อะไรสมบูรณ์ แล้วแต่จะมองกันในด้านไหน
โดยสรุปทั้งหมดนั้นก็เป็นวิธีที่จะสอนให้รู้เรื่องความทุกข์ ทุกข์ ความทุกข์ โดย ๔ ความหมาย ความทุกข์คืออะไร? ความทุกข์มาจากอะไร? ความทุกข์นี้เพื่ออะไร? สิ่งนั้นจะสำเร็จได้ด้วยวิธีใด? เกิดเป็นสี่หัวข้อขึ้นมาว่าคืออะไร? จากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด? หลักอันนี้ไปใช้ได้กับทุกสิ่งไม่ว่าอะไร ในการที่จะรู้จักอะไรให้ดีที่สุดแล้วก็ขอใช้หลักพิจารณา ๔ ประการนี้ และในแต่ละประการ แต่ละประการนั้น ยังจะแตก ยังแยกเป็นข้อย่อยๆ ไปอีกได้ ตามความพอใจ นี่กล่าวด้วยหลักใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่น
ข้อที่ ๑ ที่ว่า คืออะไร? สิ่งนี้คืออะไร? แล้วมันก็แยกออกไปเป็นข้อย่อยว่า สิ่งนี้มีปรากฏการณ์อย่างไร? มีข้อซ่อนเร้นอย่างไร? มีลักษณะอย่างไร? ถ้าจะเปรียบเทียบจะมีอุปมาอย่างไร? ถ้าจะแบ่งแยกเป็นประเภทๆ ได้กี่ประเภท? อย่างนี้ แม้ในคำว่าคืออะไร?นี้ คำเดียวก็ยังมีว่าโดยลักษณะ โดยอาการ โดยปรากฏการณ์ โดยอุปมา โดยประเภทจำแนกออกเป็นอย่างๆ ทั้งอย่างหยาบ และอย่างละเอียด นี่มันก็ละเอียด แต่นี้เราไม่ต้องถึงอย่างนั้น ในหลักสูตรจะทำได้เพียง คืออะไร? โดยความหมายเดียวก็พอแล้ว ทีนี้ว่าสิ่งนั้นทำไมจึงต้องเกิดขึ้นมา? ทำไมจึงมีขึ้นมานี้จากอะไร? จากเหตุผลอะไร? จากความจำเป็นอะไร? ให้เด็กๆ เขารู้ว่าศีลธรรมต้องมีเพราะความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่มีมันจะเกิดความเลวร้ายอะไร? นั่นแหละคือคำว่า จากอะไร? เนื่องจากอะไรจึงต้องมีสิ่งนี้?
ข้อถัดไป เพื่ออะไร? ถ้าสิ่งนี้มีอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้วจะมีผลอย่างไร? คือเพื่ออะไร? และทั้งหมดนั้น ผลนั้นจะมีขึ้นโดยวิธีใด? ก็คือ ปฏิบัติตามหลักของจริยธรรมข้อนั้น ข้อนั้น ข้อนั้นเอง โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ ปฏิบัติให้ต่อเนื่องโดยหลักของจริยธรรมข้อนั้นเองยิ่งๆขึ้นไป โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ เมื่อเป็นอย่างนี้ คำว่า สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำจะมีครบทุกข้อ จะมีหยอดท้ายทุกข้อ แล้วก็เน้นที่ตัวเองต้องปฏิบัติตามหัวข้อนั้นๆ อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน และยิ่งๆขึ้นไป ให้มากยิ่งๆขึ้นไป โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นผู้นำ
นี้สรุปความว่าเรารู้ เรารู้ เรื่องนั้น เรื่องจริยธรรมข้อนั้น ในส่วนที่จะต้องรู้มันก็รู้ครบ โดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ทีนี้เมื่อรู้เสร็จสิ้นไปแล้ว มันก็มีว่าทำอย่างไรเขาจึงจะมีจริยธรรม? ตัวจริยธรรมมีอยู่อย่างนั้น ทีนี้มาถึงปัญหาว่าจะทำอย่างไรเขาจึงมีตัวจริยธรรม? เราก็มีวิธีอย่างที่ตกลงกันนี้ว่า ให้เขาสมาทานตัวบทแห่งจริยธรรมนั้น และก็ให้เขาเปิดเผยเมื่อเขาทำผิด แล้วก็ให้เขาปฏิญญา...เอ้ย...ให้เขาปวารณา คือเปิดโอกาสให้ใครทักทวงว่ากล่าวตักเตือนได้
นี่เป็น ๓ หัวข้อ เป็นการกระทำที่จะให้เกิดจริยธรรมขึ้นมาในบุคคลนั้นๆ ส่วนนี้เรียกว่าเป็นส่วนอบรม ส่วนที่ทำให้รู้นั้นเป็นส่วนคำสั่งสอน ส่วนที่ทำให้มีธรรมะนั้นๆขึ้นมาจริงๆนั้น เรียกว่าส่วนอบรม เรียกว่าเราก็ทำสมบูรณ์แล้วทั้งส่วนวิชชา และส่วนการปฏิบัติ
ที่แล้วมาไม่เฉพาะในประเทศไทย แม้แต่ทั่วโลกก็ได้ สอนแต่เรื่องวิชชา หลักวิชชากันเป็นส่วนใหญ่ มันก็ไม่ทำให้โลกนี้มีจริยธรรมขึ้นมาได้ ทีนี้มันต้องเพิ่มส่วนที่ทำให้มีจริยธรรมขึ้นมาโดยวิธีใด? ก็โดยวิธี ๓ อย่าง เข้าใจว่าคงเป็นที่แปลกตา เข้าใจว่าเป็นที่แปลกตาสำหรับผู้ที่ทำในครั้งแรกนี้ แล้วก็จะเป็นที่แปลกตาแปลกหูแก่ผู้ที่จะได้ยินได้ฟังต่อๆไป วันนี้รายการที่เพิ่มขึ้นมาอย่างนี้ ก็จะบอกให้เขารู้ว่า นี่คือวิธีที่จะทำให้คนเรามีจริยธรรม
ข้อที่ ๑ ให้สมาทาน
ข้อที่ ๒ ให้เปิดเผยความผิด ถ้ามันมีความผิดขึ้น
ข้อที่ ๓ ให้เปิดโอกาสให้ใครช่วยว่ากล่าวตักเตือน
หลักอย่างนี้เป็นหลักที่พูดได้ว่าจะมีในระเบียบปฏิบัติของทุกๆ ศาสนาในโลกก็ว่าได้ คำว่า สมาทาน นั่นคือปฏิญญาว่าจะรับปฏิบัติอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ เหมือนมาเข้า มาเข้าเป็นสมาชิก รับปฏิญญาว่าจะปฏิบัติอย่างนี้ๆใช้คำว่า สมาทาน สมาทาน แปลว่า ถือเอาไว้อย่างดี ถือไว้อย่างพอดีอย่างถูกต้อง ถ้าเกินไป เครียด คัด งมงาย ก็กลายเป็น อุปาทาน อุปาทานนั้นใช้ไม่ได้ เป็นอันตราย เกินไป งมงาย ถ้าสมาทานแล้วก็ใช้ได้ คือ ถือเอาไว้อย่างถูกต้อง อย่างดี เพราะฉะนั้น จริยธรรม ศีลธรรม วัฒนธรรมอะไรก็ตามเถิด ต้องถือไว้ในลักษณะที่เป็นสมาทาน อย่าให้เป็นอุปาทาน มันจะมีผลเป็นอย่างอื่น อุปาทานนี่ต้องเป็นเรื่องของความงมงาย ในบางกรณีความงมงายก็มีประโยชน์เหมือนกันแหละ ดูเถิดที่ว่าความงมงายเป็นเหตุให้เคร่งครัด ความงมงายเป็นเหตุให้เสียสละชีวิต อย่างนี้ก็มี แต่เราไม่ต้องการถึงอย่างนั้น เราจะทำดีที่สุด ด้วยอาการที่เรียกว่าสมาทานก็พอ แม้ว่าจะต้องเสียสละชีวิต ก็ไม่ใช่เสียสละชีวิตอย่างงมงาย เสียสละชีวิตอย่างมีสติ ปัญญา อย่างนี้ก็ยังคงเป็นสมาทานอยู่
ขอให้จัดให้มีการสมาทาน ในข้อกฎของจริยธรรม ไปเรียบเรียงบทสำหรับจะสมาทานให้ไพเราะ ให้หนักแน่น ให้จับใจ แล้วก็มีพิธีกันบ้างก็ได้ เรียกว่า พิธีสมาทานข้อกฎจริยธรรม เหมือนกับที่ชาวบ้านชาววัดเขาสมาทานศีล สมาทานศีลนั้น มันก็ไม่ให้โทษอะไรถ้าจะจัดเป็นพิธีอย่างนี้บ้าง มันจะจริงจัง ระงับ ระงับลูกเด็กๆ (นาทีที่ 26:10) ที่เขายังมีสติปัญญาน้อย แล้วก็ทำให้ง่ายแก่เขา คือให้มีวิธีสมาทาน เกี่ยวกับการสมาทานนี้ ครูในโรงเรียนแต่ละชั้นจะจัดจะทำอย่างไร เท่าไร ก็เป็นหน้าที่ของครูนั้นที่จะต้องใช้สติปัญญาตนเอง วางไว้ให้ได้ก็แต่เพียงเป็นหลัก เป็นหลักๆ เท่านั้น รายละเอียดต้องไปหาเอาเอง
ทีนี้ก็เป็นผู้สารภาพความผิดเมื่อทำผิด ข้อนี้เป็นธรรมดาไม่ว่าจะปฏิบัติอะไร กฎเกณฑ์อะไรที่รับมาปฏิบัติแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่มันต้องมีผิดพลาดบ้าง เผลอไปบ้าง หรือโดยเหตุผลอย่างอื่นบ้าง ด้วยความลุอำนาจแก่กิเลสในบางครั้งบางคราวบ้าง เมื่อทำผิดกฎเกณฑ์แห่งธรรมะข้อนั้น ข้อนั้น จึงมีระเบียบให้เปิดเผย เรียกว่าเปิด เปิด ก็ได้ เรียกว่า ทำคืน ก็ได้ ในทางพุทธศาสนานี้เรียกว่า ทำคืน เปิดเผยแล้วก็ทำคืน รีบบอกความผิดนั้นๆ แก่ผู้ที่ควรบอกตามที่กำหนดไว้ว่าจะบอกใคร รีบบอกความผิดนั้น แล้วก็สารภาพว่าได้ทำผิดไป แล้วก็จะไม่ทำอย่างนั้นอีก แล้วในพิธีนี้ที่เนื่องกัน ก็คือ ขอโทษ ขอขมาโทษซึ่งได้ล่วงละเมิดต่ออะไรบ้าง การที่คนทำความชั่วนั้น มันละเมิดพระพุทธเจ้า มันละเมิดคำสั่งสอนตักเตือนของพระพุทธเจ้า มันละเมิดพระธรรมซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว มันละเมิดพระสงฆ์ที่ยึดถือกฎเกณฑ์เหล่านี้ไว้ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด เพราะฉะนั้น ผู้ทำผิดทำชั่วทุกคนถือว่า เป็นผู้ละเมิดล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิญญาความผิดจึงผนวกพร้อมกันเข้าไว้กับการขอโทษ ขอโทษพระรัตนตรัย แบบก็มีอยู่แล้วเป็นบาลี เป็นไทย ขอโทษพระรัตนตรัยว่า ข้าพเจ้าได้ล่วงละเมิดดูหมิ่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปทำความชั่วอันนั้น จึงมีรวมกันอยู่ว่า สารภาพบาป และ ขอโทษ ต้องให้เด็กๆ ทุกคนมีนิสัยซื่อตรงต่อตัวเอง โดยตัวเอง ในตัวเอง เพราะเขาต้องเปิดเผยเอง ไม่มีใครเห็น ควรจะบอกเขาให้ทราบว่า พระพุทธศาสนานี้มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ คือ หลักเกณฑ์ตั้งไว้สำหรับคนดี คนตรง คนเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง จึงมีหลักเกณฑ์ไว้ ไม่ต้องมีใครมาจับกุม เรารู้ว่าตัวเราทำผิด แล้วเราก็แสดงขึ้นมาเท่านั้น เป็นการกระทำอย่างสุภาพบุรุษ หรือเป็นผู้ดี เป็นระเบียบสำหรับผู้ดี ไม่ต้องใครมาโจษท้วง เราโจษท้วงตัวเราเองได้ แล้วก็ทำการเปิดเผย โจษท้วงตัวเอง ก็คือ ทำการเปิดเผย ในที่หรือในบุคคลที่ควรเปิดเผย แล้วแต่จะกำหนดไว้อย่างไร จะบอกเพื่อนก็ได้ บอกครูก็ได้ ขอให้ระบายความผิดนี้ออกไปเสีย แล้วก็เมื่อถึงคราวโอกาสอันสมควร หรือ ในคราวเดียวกันนั้นก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกรณีใหญ่ เป็นความผิดใหญ่ ให้เปิดเผยโทษ แล้วก็ขอโทษพระรัตนตรัย ด้วยความสำนึกจริงๆ อย่าให้เป็นเพียงพิธีว่าได้ล่วงละเมิดแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ขอขมาโทษเพื่อการสำรวมระวังต่อไป นี้ก็พวกหนึ่งเรียกว่าพวกปฏิญญาความผิด
ทีนี้หมวดที่สาม ที่เรียกว่าปวารณา แปลว่า ห้ามปากตัวเอง สำหรับคำนี้แปลว่าห้ามปากตัวเอง ปวารณานี้ แปลว่า ปิด ก็คือปิดปากตัวเองไม่ให้เถียง อันนี้มันก็มีเหตุผล ถือเป็นคุณธรรมองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่ง เพื่อความมีอยู่อย่างถูกต้องของในพระศาสนานั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระธรรมวินัยนี้อยู่ได้ด้วยการช่วยกันและกันให้ออกจากโทษ ยังกันและกันให้ออกจากโทษ ว่ากล่าวตักเตือนยังกันและกันให้ออกมาเสียจากโทษ ทีนี้ก็เป็นอย่างผู้ดีอีก สุภาพบุรุษผู้ดีอีก ต้องให้มีการอนุญาตให้โจษ ให้ท้วง คนอยู่ดีๆจะไปว่ากล่าวคนๆหนึ่งนั้นไม่สุภาพ จึงมีระเบียบเกิดขึ้นว่าให้คนนั้นเปิดเผย เปิดโอกาสให้เสียเลย ทำพร้อมๆกันทั้งโรงเรียนก็ได้ โดยให้ว่าพร้อมกัน แต่ให้ถือว่ามีค่าเท่ากับว่าทีละคน เปิดเผยให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าได้ ด้วยการเห็นว่าทำผิดก็ดี ด้วยการได้ฟังมาว่าทำผิดก็ดี ด้วยการสังเกตเหตุการณ์ต่างๆก็ดี ให้ว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าได้ด้วยความกรุณา มีคำว่า ด้วยความกรุณาหยอดท้ายเสมอ การว่ากล่าวตักเตือนอะไรหลายๆแบบอะไรในทางธรรมะ ทำไปด้วยความกรุณา ข้าพเจ้าเห็นอยู่ รู้สึกอยู่ ว่าทำผิดอย่างไร ก็จะได้กระทำเสียใหม่ให้ถูกต้อง นี่คือปวารณา ทว่าวิธีการทั้งสามนี่เข้าไปมีอยู่ในบทบาทการศึกษาอบรมของโลกแล้ว ก็คงทำให้นักเรียน นักศึกษามีธรรมะ มีธรรมะเพิ่มขึ้นจากการที่รู้แต่วิชชาชีพอะไรเฉยๆ มันก็เป็นของใหม่อยู่สำหรับกรณีที่ยังไม่เคยมี แต่เป็นของเก่าที่สุดเป็นพันๆ ปี ระเบียบพิธีนี้มันเก่าพันๆ ปี แต่เป็นของใหม่ที่สุดก็ได้สำหรับคนไม่เคยมี ไปพิจารณาดูเองว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใด
สรุปความว่าเรามาคราวนี้ มาช่วยกันทำให้เกิดระเบียบวิธี วิธี ระเบียบวิธี จะไม่ใช้คำว่าพิธี เพราะพิธีมีความหมายไปถึงงมงายก็ได้ ที่จริงคำเดียวกันแหละ วิธี กับ พิธี ตัวหนังสือตัวเดียวกันเลย คำเดียวกันเลย แต่ในภาษาไทย วิธียังอยู่ในความหมายที่ถูกต้อง พิธีนั้นกลายเป็นมีงมงายเข้ามาแทรกแซง เป็นไสยศาสตร์เข้ามาแทรกแซง เป็นระเบียบวิธีที่จะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ กี่วันครั้ง กี่สัปดาห์ครั้ง กี่เดือนครั้ง แล้วแต่ความเหมาะสมของครูผู้ควบคุม ก็จะได้ประโยชน์จากจริยศึกษานี้เพิ่มขึ้น ประโยชน์จากจริยศึกษา คือทั้งจริยธรรมและทั้งจริยศาสตร์
ในเรื่องคำพูดนี้ อาตมาก็ขอให้วินิจฉัยกันเอง แต่ขอให้เป็นระเบียบ อย่าให้กำกวม ดิ้นได้มากนัก อาตมาก็ชอบคำว่าจริยศึกษาเมื่อรวมทั้งหมด พูดว่าจริยธรรมเมื่อเล็งถึงข้อกฎที่ต้องปฏิบัติ เรียกว่าจริยศาสตร์ คือเหตุผลที่อธิบายสำหรับข้อกฎที่ต้องปฏิบัติ เป็นเหมือน Philosophy ของข้อกฎนั้น ข้อกฎใดๆ ที่มีหลักเกณฑ์ทาง Philosophy หรือ ปรัชญา เข้าไปช่วยอธิบายสนับสนุนไว้ให้มันมั่นคง คือ ไม่เสียหลักทาง Logic ไม่เสียหลักทางปรัชญา มันมีความแน่นแฟ้นอยู่ในตัวกฎเกณฑ์อันนั้น เราก็ควรจะมีเท่าที่จะมีได้
เด็กๆ เขารู้ทั้งตัวกฎเกณฑ์อันนั้น และทั้งตัวปรัชญาของกฎเกณฑ์อันนั้น คือ เหตุผลของมัน ส่วนนี้ก็เป็นส่วนจริยศาสตร์ แต่ถ้าว่ามีคำอื่นดีกว่านี้ หรือจะใช้ได้สะดวกกว่านี้ก็ได้ แต่ควรเป็นที่ตกลงกันเสียทีในวงการนี้ ว่ามันคืออะไร? อะไรคืออะไร? จริยศาสตร์คืออะไร? จริยธรรมคืออะไร? จริยศึกษาคืออะไร? แล้วก็วางระเบียบลงไปก็ใช้ได้ถูกต้องทั่วกัน ไม่ลำบาก ก่อนนี้รู้สึกว่าสับสน ด้วยความเห็นแตกต่างกัน ในข้อที่คนหนึ่งเห็นควรเรียกจริยธรรมไปเรียกจริยศาสตร์ จริยศาสตร์ไปเรียกจริยธรรม มันยุ่ง ก็เรียกว่ามีตัวข้อกฎนั้นๆ มีตัวเหตุผลเกี่ยวกับข้อกฎนั้นๆ อย่างสมบูรณ์ ซึ่งชี้ไปถึงการปฏิบัติด้วย แล้วก็มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ทั้งหมดนี้เรียกว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆโดยสมบูรณ์ ที่ทำแล้วพิมพ์เป็นร่าง ยกร่างขึ้นมาแล้ว อาตมาก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ว่าบางข้อ หรือบางส่วนเขียนไว้มากเกินไป ก็จะทำให้หนาปึกไปด้วยกระดาษ และคำพูด ควรจะดึงออกเสียบ้าง เหลือไว้แต่ถ้อยคำที่เป็นกฎเกณฑ์ หรือเป็นหลักเกณฑ์เท่านั้น แล้วให้มันชัดเจนอย่างนี้แหละ ทุกข้อให้มันชัดเจนว่าตัวจริยธรรมคืออย่างไร? ให้เขารู้จักตัวจริยธรรมนั้นโดยหลักสี่ความหมาย แล้วก็มามีวิธีปฏิบัติให้มีจริยธรรมนั้นๆ ด้วยการให้สมาทาน ด้วยการให้ปฏิญญา ด้วยการให้ปวารณา อย่างนี้เป็นต้น อย่างนั้นมันได้ความชัดอย่างนี้ เชื่อว่าครูผู้จะรับไปปฏิบัตินั้นคงทำได้ แต่ถ้าเขียนไว้มาก หรือเฟ้อ จนถึงกับกำกวม คงจะเสียเวลากันต่อไปอีกในการที่จะทำความเข้าใจกัน
ส่วนอาตมาก็ขอแสดงความยินดีที่ท่านทั้งหลายได้มาทำงานที่นี่ ไม่ต้องขอบคุณอาตมาก็ได้ อาตมาเสียอีกที่จะต้องเป็นฝ่ายขอบคุณท่านทั้งหลาย ที่ท่านทั้งหลายมาช่วยใช้สถานที่นี่ให้มีประโยชน์ อาตมาเป็นฝ่ายขอบคุณดีกว่า ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณอะไร แบบที่ว่าฟังแล้วมันก็เป็นเรื่องรุงรัง แต่ขอรวมความขอแสดงความยินดีที่ได้มีการร่วมมือกันกระทำ ถ้าพูดอย่างชาวโลกก็ว่า เป็นเรื่องที่ให้เกียรติแก่สวนโมกข์ มาทำงานที่สวนโมกข์ แต่ขอให้ทราบว่าอาตมาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิต จิตใจอะไรก็ตาม เพื่อจะทำให้สิ่งที่ช่วยมนุษย์ เรียกว่าเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ และก็ช่วยมนุษย์กันเอง และก็ยินดีทุกเมื่อ ยินดีทุกอย่าง ทุกเวลา จนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย ก็แปลว่าสมัครที่จะทำงานอย่างนี้จนวาระสุดท้าย และไม่ถือว่าเป็นการรบกวน แต่ถือว่าเป็นการชักชวน หรือให้โอกาสในการที่จะทำประโยชน์ ดังนั้น จะให้ช่วยทำอะไรอีกตามที่ช่วยได้ ก็ขอปวารณาไว้ ไม่ต้องเกรงใจ
เดี๋ยวนี้ก็ได้กระทำไปอย่างน้อยก็เป็นเครื่องลงมือ เป็นจุดตั้งต้น เป็นจุดตั้งต้น เป็นการลงมือทำแล้ว เป็นการได้ลงมือกระทำแล้ว มันก็จะได้ชำระสะสางให้ดีที่สุดต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะต้องอยู่กันอย่างมีสันติสุข สันติภาพ นี่มันก็เป็นส่วนหนึ่งโดยตรง ที่จะช่วยให้มีสันติสุข สันติภาพขึ้นในหมู่มนุษย์ ถ้าจะให้ดีก็อย่าคิดว่าทำเพื่อเรา แต่คิดว่าทำเพื่อประเทศชาติ แต่ให้ดีกว่านั้นอีกก็ทำเพื่อมนุษย์ทั้งโลก ทำเพื่อโลกทั้งโลกนั้นดีที่สุด มันจะทำลายความเห็นแก่ตัว มันจะไม่เกิดกิเลสในส่วนนั้น แล้วงานที่ทำนั้นก็บริสุทธิ์ งานอะไรถ้ามันมีกิเลสเข้ามาเจือ มาปนแล้ว งานนั้นไม่บริสุทธิ์ ควรจะมีการกระทำที่ไม่ให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเข้ามาค้นมาเจือ แล้วทำไปด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ จิตใจที่เป็นธรรม แล้วก็ทำเพื่ออะไร ถ้าเพื่อตัวเองมันก็ได้นิดเดียว ได้เพื่อตัวเอง แล้วมันมักจะทำให้เห็นแก่ตัว ถ้าทำเพื่อประเทศชาติก็ดีกว่า แต่มันยังไม่สมบูรณ์ ถ้าทำเพื่อโลก เพื่อมนุษยชาติ มนุษย์ทั้งหมด แล้วก็สมบูรณ์
แต่ภาษาธรรมะเรียกว่ายังเป็นสมมต ยึดมั่นอะไรอยู่ เรียกว่า ทำเพื่อธรรมะก็แล้วกัน ทำหน้าที่อันนี้ ประพฤติธรรมะอันนี้เพื่อธรรมะ ที่เรียกว่า หน้าที่เพื่อหน้าที่ ธรรมะเพื่อธรรมะ อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเศร้าหมอง ไม่มีทางที่จะคดโกงอะไรได้ ในที่สุดปฏิบัติธรรมะเพื่อธรรมะ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ นั่นแหละจะสมกับที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม จริยธรรมของมนุษยชาติ มนุษย์ทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่อาจทำความเข้าใจ หรือดึงเพื่อนมนุษย์อื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วยได้ในเวลานี้ แต่ก็พยายามทำไปเท่าที่เราจะทำได้ เกี่ยวกับเหตุผลของเรา ความจำเป็นของเรา แต่แล้วเราก็ทำไปในลักษณะที่จะใช้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ทั้งหมด ทั้งโลกเลย นั่นแหละเรียกว่าเราได้ทำดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว ไม่มีข้อบกพร่องที่จะตำหนิติเตียนอะไรกันแล้ว
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจ ในการกระทำของตน ของตน ที่ได้เหน็ดเหนื่อย เสียเหงื่อไป แรงงานอะไรไป มันก็เป็นการทำที่ดีแล้ว เป็นการได้ที่ดีแล้ว เอาไว้เป็นทุนสำหรับจะทำให้กว้างขวางออกไป เดี๋ยวนี้เราก็ได้ทำแล้ว และ เราก็ทำด้วยความเคารพในความถูกต้อง คือ เคารพธรรมะ ธรรมะ เห็นแก่ธรรมะเป็นหลัก ถือธรรมะเป็นหลัก ดังนั้น เราก็กล่าวได้ว่าได้กระทำดีที่สุดแล้วเท่าที่เราจะกระทำได้ ถ้าใครจะมาค้นคว้าหาความผิดบกพร่องอะไรก็เชิญ เราได้ทำดีที่สุด สุดความสามารถแล้ว ถ้ามีความบกพร่องอะไรต่อไปข้างหน้าเราก็จะแก้ไข ดังนั้น เดี๋ยวนี้เราก็มีสิทธิที่จะพอใจในการกระทำของตัวเอง ที่ทำงานเพื่อหวังประโยชน์ของมนุษย์โดยกว้างขวาง เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความพอใจในตัวเอง เคารพในตัวเอง มีความสุข สบายใจ มีกำลังใจได้โดยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้มีความปกติสุขทางกาย และทางจิต ทางวิญญาณ มีความก้าวหน้าใน ความเป็นมนุษย์อยู่ทุกทิพาราตรีกาล
อาตมาขอปิดงานชั่วคราว เปิดงานไว้สำหรับทำต่อไป การปิด คือ การเปิด
หนังสือ ๒ เล่มที่แจกไปเมื่อกี้ ขอให้อ่านดูเถิด มีประโยชน์แก่วิชาครูบ้างเหมือนกัน เรื่อง ปมเขื่อง เป็นเรื่องที่เราเขียนขึ้นค้าน Sigmund Freud ที่ว่าอะไรๆก็มาแต่ต้นเหตุ คือ กามารมณ์ แต่เราบอกว่ามาจากปมเขื่อง หรือ การรักษาปมเขื่องของบุคคลคนนั้น แล้วอีกเล่มหนึ่งเป็นเรื่องประวัติ ๑๐ สิบปีของสวนโมกข์ บอกให้รู้ว่า การจะทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ต้องลงทุนด้วยอะไร ด้องลงทุนด้วยอะไร จะเห็นได้ว่าไม่ได้ลงทุนด้วยเงินหรอก เพราะเงินไม่มี แต่ก็ทำ ทำจนมีงาน เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ แล้วเงินก็มาทีหลัง ซึ่งทำด้วยมือเปล่า ทำโดยเอาความคิด สติปัญญา ความเสียสละนั่นแหละเป็นทุน เงินไม่มี ถ้าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ทำด้วยแรง ทำด้วยแรงเลย อาตมานี้ต้องจะทำตั้งแต่ ไสกบไม้ เลื่อยกระดาน มุงหลังคา เมื่อหนุ่มๆทำทุกอย่างเลย อยู่ในเรื่อง ๑๐ ปีตอนแรกของสวนโมกข์ เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ทุกคนทำได้ ไม่ต้องขี้ขลาด ท้อถอย ทุกคนทำได้ เรื่องใหญ่ๆทุกเรื่องทุกคนทำได้ แล้วมันก็จะค่อยๆสำเร็จ จะช่วยตัวเองได้มากขึ้น มากขึ้น เงินทองหรืออะไรมาทีหลังได้
เชิญ ที่ว่าจะไปรถไฟ ใครที่ต้องไปรถไฟ เดี๋ยวนี้มัน ๓ โมงครึ่งแล้ว เอาสิ ถ้าอย่างนั้นอาตมาจะได้ลาไป จะได้ทำงานทางนี้ต่อ