แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้ก็คือ หัวข้อที่เหลืออยู่ข้อหนึ่งตามที่กำหนดให้ คือ หัวข้อว่า บทบาทของครูกับความอยู่รอดของสังคม เป็นเรื่องสุดท้าย ฟังดูตามหัวข้อนี้ล่ะก็ น่าจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งแก่ครูบาอาจารย์ หรือกระทั่งแม้ประชาชน บทบาทของครูกับการอยู่รอดของสังคม น่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็นแจ้งฉานกันอยู่โดยทั่วๆไป เรามองดูตรงลงไปที่ลักษณะของครูตามอุดมคติ หรืออุดมคติของครู มีการทำหน้าที่ในด้านวิญญาณ เป็นผู้นำฝ่ายวิญญาณตามความหมายของคำๆนี้แต่โบราณ ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไป จนกระทั่งมิใช่ด้านวิญญาณก็มีอยู่ แต่อยากจะให้ถือเอาความหมายอันนี้ไว้เป็นหลักตลอดไป แม้จะสอนวิชาอะไร ก็ขอให้ไปจบลงด้วยการแนะนำในทางวิญญาณด้วยเสมอไป เพื่อรักษาอุดมคติอันสูงสุดและลึกซึ้งถึงคำว่า ครู ไว้ แม้กระทั่งบัดนี้ว่า ทำหน้าที่นำในด้านวิญญาณ แม้ว่าจะสอนเลข สอนวาดเขียน สอนอะไรก็เถอะ ขอให้เน้นในข้อที่ว่า มันนำในทางวิญญาณได้อย่างไรบ้าง
ถ้าจะพูดให้เป็นภาษาธรรมดาๆ คือ สอนทุกคนให้รู้จัก สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ว่าชีวิตนี้มันคืออะไร? เกิดมาต้องทำอย่างไร? เพื่อความมุ่งหมายอะไร? เรื่องชีวิตคืออะไรนี่ มันก็หลายแง่หลายมุม ถ้ามองในด้านวัตถุ ชีวิตก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ถ้ามองในด้านจิตใจก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ถ้ามองในด้านธรรมะชั้นสูงสุดมันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เราเอาตามความหมายธรรมดาๆนี้ว่า ความที่ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่นี่มันคืออะไร? ด้วยคำถามต่อไปที่ว่า เพื่ออะไร? เพื่อทำอะไร? เราไม่ได้เกิดมาเอง.... เอ้ย,..เราไม่ได้ขอเกิดมาเอง แต่มันก็ได้เกิดมาแล้ว ก็มาเข้ากรอบของธรรมชาติ ที่ว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอย่างไร? เราจะปฏิเสธว่าเราไม่ได้ขอเกิดมาไม่รับผิดชอบ อันนี้มันก็ไม่ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้โดยทุกวิถีทาง เป็นอันว่าต้องยอมรับผสมโรงผสมรู้กับธรรมชาติ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ทำหน้าที่สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต นั้นอย่างไม่บกพร่อง ให้ได้รับผลตามที่มีอยู่สำหรับจุดหมายปลายทางของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ฟังดูคล้ายกับวกวน จุดหมายปลายทางของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ตามหลักของศาสนาทั้งหลาย ก็คือ ความรอด ก็กลายเป็นว่าเกิดมาเพื่อสร้างความรอด นี่มันก็จะไปต่อข้อที่ว่าฉันไม่ได้ขอเกิดมา ฉันไม่ควรจะมีหน้าที่ เพราะฉะนั้น จะแก้ตัวอย่างนั้นมันไม่ได้ อย่างไรมันก็ได้เกิดมาแล้ว เหลือหน้าที่สำหรับผู้ที่เกิดมาแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง มันก็ต้องทำ ดังนั้น มันจึงว่าเพื่อความรอด เป็นคำที่ใช้ในศาสนาทุกศาสนาเลยว่า เพื่อความรอด เกิดมานี่ แต่ว่าเรายังมีความหมายที่ขยายออกไปได้อีกส่วนหนึ่งคือ ความรอดของผู้อื่นด้วย ถ้าตามหลักธรรมะแท้ๆ ก็ของใครก็ของใคร ความรอดของใครก็ของใคร รอดของตัวมันก็พอแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เราจะถือกันเพียงเท่านั้นไม่ได้ ต้องความรอดของผู้อื่นด้วย ถ้าเอาเต็มตามความหมายก็คือ ของทุกคนด้วย แม้ว่าเราจะทำไม่ได้ แต่เราก็จะทำเท่าที่เราทำได้เพื่อทุกคนรอด พยายามเพื่อทุกคนรอด นี่ว่าที่จริงก็เป็นหลักของฝ่ายมหายาน พุทธศาสนาของฝ่ายมหายานที่แปลกออกไปก็คือตรงนี้แหละ เขาตีว่า เถรวาท นี้มุ่งแต่ตัวเอง เป็นพระอรหันต์ด้วยตนเองก็พอแล้ว จบกัน กระทั้งฝ่ายมหายานเขาไม่ยอม ว่าต้องเพื่อผู้อื่นทุกคนด้วย ดังนั้น อุดมคติจึงเกิดขึ้นมาใหม่ เป็นอุดมคติที่เรียกว่า ของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานก็ถือว่าจะต้องช่วยคนให้รอดก่อนที่ตัวเองจะนิพพาน ส่วน เถรวาท นั้นไม่ได้ให้คำจำกัดความแก่พระโพธิสัตว์อย่างนั้น มีคำจำกัดความสำหรับพระโพธิสัตว์แต่เพียงว่า ผู้กำลังพยายามพอกพูนโพธิ โพธิของตน ของตน ให้ถึงที่สุด จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คือ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ไม่ได้มีความหมายถึงว่าเพื่อทุกคนด้วย ทางฝ่ายมหายานก็จัดให้พระอรหันต์นั้นเดินตามหลังพระโพธิสัตว์ เมื่อนั่งประชุมกันนี่พระโพธิสัตว์ยังจะนั่งหน้าพระอรหันต์ ก็ไม่เป็นไรหรอก มันเป็นการขยายไปในทางดี ให้มันมากขึ้น ดังนั้น คำว่าความรอดนี่ขอให้เป็นทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายตัวเอง และผู้อื่น เพราะประโยชน์อย่างใหญ่ยิ่งมันก็มีอยู่สองอย่าง อย่างนี้ มีประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเน้นเหมือนกันว่าประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เมื่อมองเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จงพยายามทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด ก็มีอยู่เหมือนกัน เอาละ เป็นว่าชีวิตนี้มันมีมาเพื่อความดิ้นรน ต่อสู้ พัฒนาไป เพื่อประโยชน์แก่ความรอดทั้งของตนเองและของทั้งสองฝ่าย นี่จะเป็นอุดมคติของชีวิตในความหมายทั่วไป
ที่นี่ครูมีหน้าที่สอนให้รู้จักชีวิต จะเอากันอย่างไร จะเอากันทั้งหมดหรือจะเอาครึ่งเดียว รู้จักชีวิตในด้านตนเองเท่านั้น หรือว่าของผู้อื่นอีกทั้งหมดด้วย คำว่าชีวิตมีเพื่อความรอด ความรอดมีอยู่ ๒ ชั้น รอดของตนเองด้วย รอดของผู้อื่นด้วย เราก็สอนให้เขารู้จักความรอด และได้ความรอดเป็นผลสุดท้าย รอดเพียงรอดชีวิตนี้มันก็ยังมีปัญหาทางด้านวิญญาณเหลืออยู่ มันจึงต้องรอดทางวิญญาณด้วย ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ดังนั้น ครูที่มีอุดมคติอย่างนี้ มันก็กลายเป็นเท่ากับแล้วแหละ บทบาทของครูก็เท่ากับความอยู่รอดของสังคมต่อๆ ๆ ด้วย ขอให้ทุกคนมองเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อจะต้องอธิบายกันอีกก็ได้เหมือนกัน ที่แท้คุณธรรมของครูนี้ก็เท่ากับความอยู่รอดของสังคม
ที่นี้ ดูไปให้ละเอียดต่อไปอีก จะพูดจำกัดให้แคบเข้ามาว่า สอนให้ทุกคนทำหน้าที่ อย่าสอนในเรื่องซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับหน้าที่ แต่สอนเรื่องหน้าที่ จนกระทั่งไปตรงกับความหมายของคำว่าธรรมะๆ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ พฤติธรรม คือ ประพฤติหน้าที่ ประพฤติหน้าที่ คือ ประพฤติธรรมธรรมะ สอนให้ทุกคนทำหน้าที่ ไม่ใช่สอนเพียงหนังสือหรือแม้แต่ว่าวิชาชีพ ซึ่งเป็นเพียงวิชา เป็นอันว่าไม่ใช่สอนเพียงวิชา แต่สอนเรื่องการปฏิบัติ ตามหลักวิชานั้นมากกว่า เรามีการศึกษาเป็นเรื่องวิชากันเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในหลักสูตรของการศึกษาทั่วๆไป ดูเหมือนจะทั้งโลกไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ ในการทำหลักสูตรประถมศึกษาครั้งนี้ เราจึงได้ชวนกันเพิ่มส่วนที่เป็นกับการปฏิบัติ เกี่ยวกับจริยธรรมนั้น ไปเพิ่มในส่วนที่เป็นตัวการปฏิบัติเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง โดยหวังว่าจะให้เรื่องจิริยธรรมนี้สำเร็จประโยชน์ คือ เกิดผลขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่เพียงสอนวิชา แต่ว่าสอนให้ทำหน้าที่เลย ให้ปฏิบัติหน้าที่เลย
ครูมีหน้าที่สอน แล้วก็เตือนด้วย คำว่า สอน กับคำว่า เตือน นี้มันไม่ใช่คำเดียวกันแท้ สอนก็สอน เตือนก็เตือน สอนให้รู้ รู้แล้วก็ไม่ยอมให้หยุดอยู่แต่เพียงเท่านั้น แล้วก็เตือนให้ปฏิบัติ เมื่อเขามีความรู้แล้ว เขายังไม่ปฏิบัติก็ได้ เพราะฉะนั้นขอให้มีการเตือน ให้มีการปฏิบัติ เตือนทำไม เตือนให้ปฏิบัติ คำว่าปฏิบัติในภาษีบาลีคำเดียวกับคำว่าเดิน คำว่าเดินก็คือการปฏิบัติอย่างเดียวกัน สอนให้ปฏิบัติ สอนให้เดิน สอนให้เดิน ถ้าเดินมันก็ต้องก้าวหน้า ดังนั้น สอนให้เดินแล้วก็ต้องจำกัดว่าเดินให้ถูกทาง เดินไม่ถูกทางก็ได้ เดินสะเปะสะปะก็ได้ สอนให้เดินถูกทางและให้ก้าวหน้า ไปตามทางที่ควรจะเดินเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ดูเหมือนธรรมชาติให้เวลาไว้อย่างจำกัดที่สุด เป็นเด็กจะต้องรีบทำอะไรให้เสร็จในโอกาสนั้น แล้วก็จะได้ทำต่อไปในขั้นตอนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือลูกเด็กๆ เพิ่งเกิดออกมาก็ต้องสอนให้นั่ง สอนให้ยืน สอนให้เดิน จนมันเดินได้ ต่อไปมันก็เดินของมันเองอย่างเข้มแข็ง อย่างถูกต้อง อย่างเพียงพอ แล้วก็ไปถึงจุดหมายปลายทาง อย่างนี้เรียกว่า เต็ม เป็นคำบัญญัติ นิยามที่เต็ม ตามความหมายของคำว่าครู สอนให้เดิน เตือนให้เดินให้ถูกทางเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มุ่งหมายทางด้านวิญญาณมากกว่า ที่เดี๋ยวนี้ก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อปัญหาซึ่งกำลังคาราคาซังอยู่ ก็คือว่า หลักสูตรการศึกษามันเป็นเรื่องทางฝ่ายวิชามาก และก็ฝ่ายวัตถุด้วย การศึกษาในโลกนี้มันเป็นในฝ่ายวัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ฝ่ายวิญญาณ แม้กระนั้นมันมันก็ยังเป็นเรื่องทางโลกๆ ทางที่จะอยู่กันในโลกอย่างไร แล้วมันเลยเถิดไปจนกลายเป็น ทางแห่งความเห็นแก่ตัว การศึกษาที่วางไว้ไม่สมบูรณ์ ยิ่งเรียนยิ่งฉลาด ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ขอให้มองดูทั้งโลก ทั้งโลก การศึกษานั่นแหละสร้างความเห็นแก่ตัว ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ก็พูดได้ว่า ความเห็นแก่ตัวของคนป่าสมัยโน้นนั้น สมัยดึกดำบรรพ์ ก็ยังไม่มากเท่ากับความเห็นแก่ตัว ของมนุษย์ที่การศึกษาเจริญยุคแห่งการศึกษาปัจจุบัน เพราะการศึกษายุคปัจจุบันชี้แนะแต่ประโยชน์ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางส่งเสริมความต้องการของกิเลสตัณหา แล้วแต่จะเรียก ตามสัญชาตญาณ ไม่มีการสั่งสอนอบรมที่ควบคุมสิ่งเหล่านั้นเลย ยิ่งรู้มากมันยิ่งเห็นหนทางที่จะกอบโกย หรือเอาเปรียบ หรือขูดรีด หรืออะไรก็ตามได้มาก มันก็ทำเพราะไม่ได้ให้สิ่งที่จะป้องกันควบคู่กันมาเลย นี่จะต้องนึกถึงข้อนี้ เพราะว่าถ้าจะให้ความรู้อะไรไป ก็จะต้องให้ความรู้เรื่องนั้นอย่างเพียงพอ คือ เหตุผลของมัน ว่าคืออะไร? จากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด? ให้มันเพียงพอ แล้วมันจะมีการควบคุม มีส่วนที่เป็นการควบคุม หรือป้องกันอันตรายที่จะออกข้างๆ คูๆ มีผลข้างเคียง ที่เป็นไปในทางฝ่ายไม่พึงปรารถนาได้อยู่ในตัว
ขอแสดงความรู้สึกว่า ที่เรามีหลักสูตรการศึกษาเพิ่มในส่วนการปฏิบัติ ในส่วนที่เป็นการควบคุมความรู้สึกในการปฏิบัติ และควบคุมความรู้สึกเรื่องสารภาพบาป เรื่องเปิดโอกาสให้กับเพื่อนอะไรอย่างนี้นั้น มันคงจะช่วยได้มาก จะช่วยแก้ไข ช่วยป้องกันและแก้ไข โทษที่เกิดมาจากความบกพร่อง หรือความไม่สมบูรณ์ของการศึกษาในโลกได้ ไม่ใช่ว่าจะโอ้อวด..โอ้อะไรมาก แต่อยากจะพูดอยู่เสมอว่าการศึกษาในโลก ยังบกพร่อง และต้องจัดให้เต็มให้สมบูรณ์ อย่างน้อยก็ตามเป็นหลักที่เราได้ประชุมตกลงกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้คำว่า ครู มีความหมายผิดจากความหมายเดิมไปไกลแล้ว จึงต้องดึงกลับมาใหม่ ขอให้คำว่าครู ได้มีความหมายอย่างเดิม ให้ครูได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบ คือ เป็นผู้นำในด้านจิต ด้านวิญญาณให้เพียงพอ ขอให้สังเกตดูเถิดว่า ถ้ามันมีการศึกษา หรือควบคุมด้านจิต ด้านวิญญาณมาอย่างเพียงพอ โลกปัจจุบันนี้จะไม่เป็นอย่างนี้ คือจะไม่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว พูดจากันไม่รู้เรื่อง ตกลงเรื่องสันติภาพกันเท่าไรก็ไม่ได้ กี่ครั้ง กี่ครั้ง ก็ตกลงกันไม่ได้เรื่องสันติภาพ เพราะอะไร เพราะต่างฝ่ายต่างพกเอาความเห็นแก่ตัวไว้มากเกินไป ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เรื่องสันติภาพ เรื่องลดอาวุธ เรื่องอะไรก็ตาม มันพูดกันไม่ได้ นี้ก็เป็นปัญหากำลังท่วมทับโลก โลกจะรอดหรือจะไม่รอดมันก็อยู่ที่ธรรมะข้อนี้ เห็นแก่ตัว หรือ ไม่เห็นแก่ตัว
อยากจะพูดสรุปว่า แม้ว่าเราจะได้แยกการศึกษาบางอย่าง บางประเภท ออกมาเป็นเรื่องของทางกาย ทางวัตถุล้วนๆแล้วก็ตาม ก็ขอให้ดึงเอาเรื่องของจิต ของวิญญาณเข้ามาควบคุมไว้ด้วย การศึกษาในปัจจุบันนี้แม้ว่าจะได้แยกออกมาเป็นเรื่องของโลกของชาวบ้าน Secularization แยกออกจากศาสนานั้น มันได้สร้างอันตรายขึ้นแล้ว อย่างปรากฏชัดแล้วในโลกแห่งการศึกษาทั้งโลก มันก็ควรจะมีอะไรเกิดขึ้นสำหรับแก้ไข เป็นการป้องกันโทษอันจะเกิดจากการกระทำอันนั้น ที่เห็นอยู่ก็เห็นแต่เรื่องของศีลธรรม ที่ปฏิบัติได้จริง ที่มีอยู่จริง หวังว่าเราจะได้ช่วยกันสร้างเจ้าหน้าที่..... เจ้าหน้าที่ป้องกันโรค ที่จะเกิดขึ้นในโลกทางด้านจิต ด้านวิญญาณ เพราะว่าโลกนี้ได้มัวเมาเรื่องวัตถุ เรื่องรูปธรรม เรื่องกาย ทางกายเกินไป จนบูชาความสุขทางกาย ถึงขนาดบูชาความสุขทางกาย โดยไม่รู้เรื่องความสุข หรือ สงบสุขทางจิตใจ เรื่องความสงบสุขทางจิตใจถูกมองไปในแง่ที่ไร้สาระ ครึคระ งุ่มง่าม พ้นสมัย ไม่ต้องสนใจกันในโลกยุคปรมาณูนี้แล้ว นี่มันผิดอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาแต่ด้านวัตถุอย่างเดียวนั้น มันก็หลงๆ ๆ ๆไปในเรื่องของความสุขทางวัตถุ กลายเป็นบูชาเรื่องความสุขทางวัตถุ จึงเกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบันเฉพาะหน้าอยู่อย่างนี้ ถ้าจะมองกันก็คงจะมองเห็น แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยจะมอง มองแต่ในด้านสร้างความสุขทางวัตถุ ปัจจัยแห่งความสุขทางวัตถุ ก็ไม่ค่อยมองเห็นโทษที่มันเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ ไม่อยากจะมอง
ที่นี้อำนาจสร้างปัจจัยแห่งวัตถุเพื่อกิเลส มันกลายเป็นการค้าไปเสีย มันกลายเป็นไปอยู่ในมือของพวกนายทุน ที่จะทำความร่ำรวยด้วยการขายปัจจัยเหล่านี้ โดยไม่มีอะไรที่จะไปควบคุม ผู้ที่เขามีอำนาจ มีทุนในการเกิดปัจจัยแห่งกิเลสขึ้นขายให้เต็มโลก ให้ครอบงำโลกไปหมด ดังนี้ ครูทำหน้าที่ได้ลำบากหน่อย เว้นเสียแต่ว่าจะสอนคนในโลก อย่าให้หลงใหลความสุขในวัตถุนั้นแหละ จะมีทางเอาชนะได้ ที่เราจะไปปะทะกับผู้ทุนสร้างปัจจัยนี้เป็นไปไม่ได้หรอก อำนาจมันไม่พอกัน มันได้แต่สร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นในหมู่ประชาชนชาวโลก ว่าอย่าไปหลงใหลปัจจัยในทางวัตถุนั้นให้มากเลย มองดูให้เห็นโทษ ส่วนที่ไม่จำเป็นอย่าเอาเลย เอาแต่ที่พอดี พอดี ที่จะเอาชนะได้ ครูก็มีอาวุธเพียงเท่านี้ ที่ไปเอาชนะศัตรูหรืออันตรายในโลกที่เกิดมาจากความหลงใหลในทางวัตถุ ถ้าหากว่าครูเรารู้เรื่องนี้อยู่เต็มอก แล้วก็ช่วยกันจริงๆ โลกทั้งโลก ทั้งโลก ก็คงจะได้ผลน่าดูอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าครูไปเป็นผู้ผสมโรงไปเสียด้วยกันมันก็หมด มันก็หมด มันก็ไม่มีทางรอด
ทีนี้ เราจะช่วยกันผลิตสร้างครูที่สามารถทำหน้าที่อย่างที่ว่านี้ มันมีภาพพจน์เหมือนกับไปแย่งอะไรมาจากยักษ์ จากมาร อย่างนั้นมันคล้ายๆกับว่า ไปแย่งเหยื่อออกมาจากยักษ์ จากมาร จะคิดว่าไม่มีหวังก็ได้ ก็ดูคำพูดโบราณอะไรบทหนึ่งมันน่าหัวเราะมาก อ้อยเข้าปากช้าง แล้วก็พูดว่า หมดหวังที่จะแย่ง มันคนโง่พูด มันมีคนแย่งอ้อยออกปากช้างได้ คือ ลูกช้างตัวเล็กนี้ อาตมาไปเห็นที่ฟินแลนด์ ลูกช้างตัวเล็กมันแย่งอ้อยออกมาจากปากแม่มันได้ ถ้าคนเรานี้ก็เหลือกำลังที่จะไปแย่งมาได้ เพราะฉะนั้น จงมองดูให้เห็นนโยบายอันอ่อนโยน อันอ่อนโยน อันน่าไว้ใจ น่าเอ็นดู น่ารัก อุบายอันนี้จะต้องมีสำหรับแย่งมนุษย์ออกมาเสียจากปากเหวของวัตถุนิยม ซึ่งเป็นเหมือนกับยักษ์ร้าย มารร้ายที่กำลังเคี้ยวกินสัตว์ในโลกแห่งยุคปัจจุบัน คือ พูดกันเสียใหม่เถอะสุภาษิตเรื่องอ้อยออกปากช้าง คือ มีคนแย่งได้คือลูกช้าง คำโบราณพูดอะไรไว้หลวมๆก็มี ต้องพิจารณากันเสียใหม่
เราอาจจะแย่งมนุษย์ทั้งหลายออกจากเสียความเป็นเหยื่อของวัตถุนิยม แล้วก็ไม่เห็นใครแล้ว ไม่เห็นหน้าใครที่ไหนนอกจากพวกครู ที่จะมีสติปัญญาอันนิ่มนวล ทำให้ประชาชนรู้โทษของความเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นหลักของพระพุทธศาสนาชัดๆ ที่เรียกว่า มนุษย์มันหลงไปในทาง กามะสุขัลลิกานุโยค จนเป็นเหยื่อของวัตถุนิยม มันก็เป็นสิ่งที่ต้องละ ต้องถอน ต้องทำให้ถอยกลับมา เพราะฉะนั้นครูก็มีโอกาส มีความสามารถที่จะดึงมหาชนออกมาจากอันตรายจาก กามะสุขัลลิกานุโยค ไม่เหลือวิสัย อย่ามองไปอย่างผิวๆ แล้วก็เห็นว่าเหลือวิสัย เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องเหลือวิสัย คำนี้ใช้ไม่ได้ ที่มองอะไรแวบเดียวแล้วเห็นเป็นเหลือวิสัย ต้องมองให้ละเอียด ให้ลึกซึ้ง ให้ถี่ถ้วน แล้วก็จะพบหนทาง หนทาง อันซ่อนอยู่ อย่าง...อันมีอยู่นั้นแหละ ไม่ได้ถึงกับซ่อน แต่มันมีอยู่ แต่ว่าเหมือนกับซ่อนอยู่เพราะมันไม่ค่อยมอง มองไม่ค่อยเห็น ไม่ได้มองก็ไม่ค่อยเห็น ดังนั้น อุบายที่ว่าจะช่วยโลกให้รอดมันก็มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันนี้ ให้ออกไปเสียจากความลุ่มหลงในวัตถุ ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความเห็นแก่ตัว คำว่าความเห็นแก่ตัวนี้ สมัยก่อนตอนอาตมาเด็กๆ ได้ยินพูดถึงความเห็นแก่ตัว ในฐานะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะพวกฝรั่งที่มาจากเมืองนอกคล้ายๆว่า จะมาอวดโอ้ว่ามาสอนความไม่เห็นแก่ตัว พอมาถึงสมัยนี้มันเงียบ มันเงียบไปทั้งฝรั่งทั้งไทย ไม่ได้ค่อยเอ่ยถึงความเลวของความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวก็ค่อยๆ กลายเป็นของธรรมดา จนเข้าใจว่าในอนาคตข้างหน้าจะไม่มีใครรังเกียจก็ได้ เดี๋ยวมันก็ชักจะรวนเรแล้ว มีคนใช้ประโยชน์จากความเห็นแก่ตัว จนเกิดความยึดถือขึ้นใหม่ว่า ทำชั่วได้ดีก็มีถมไป อย่างนี้ เพราะฉะนั้น มันผิดหลักของธรรมชาติ ขอให้นึกถึงข้อนี้เถิดแล้วก็ช่วยกันสร้างครู ที่ถูกต้องตามอุดมคตินั้นให้มากขึ้นในโลก เดี๋ยวนี้แม้ว่าครูจะมีมาก มากมหาศาลแต่ก็ไม่ค่อยสำนึกในหน้าที่ ที่จะดึงจิตวิญญาณของมนุษย์ออกมาเสียจากอันตรายเหล่านั้น คือความเห็นแก่ตัว
ถ้าว่าประเทศไทยเราจะเป็นผู้นำในการศึกษาก็ยังมีช่องนี้ โอกาสอันนี้ นำในการศึกษาชนิดที่กำจัด ทำลาย ป้องกันความเห็นแก่ตัว เพราะว่าประเทศเราเป็นประเทศพุทธศาสนา ยังได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งของพระพุทธศาสนายิ่งกว่าประเทศอื่น ดังนี้ ขอให้เอาหลักของพระพุทธศาสนาออกมาใช้ ในการป้องกันมนุษย์ให้รอด แล้วมันก็มาอยู่ในการศึกษา แล้วก็มีครูเป็นผู้ดำเนินการศึกษาอย่างถูกต้อง เรียกว่าบทบาทของครูจะเป็นไปอย่างถูกต้อง แล้วความอยู่รอดของสังคมก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทีนี้ก็อยากจะให้นึกมองให้กว้างออกไปว่า คำว่า ครู ครูนี้มันก็มีขอบเขตกว้างอย่างน้อยที่สุด อย่างน้อยที่สุดเราก็จะเห็นได้ตามหลักที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ คือ ครูก็มี ๓ ขั้นตอน
ครูที่บ้าน สอนตั้งแต่แรกคลอดออกมาเลย คือ บิดา มารดาเป็นบูรพาจารย์ ปุพฺพาจริโย มาตาปิตา มาตาปิตโร ปุพฺพาจริโย ๓๕.๑๕ มารดา บิดา ตามภาษาบาลี มารดา บิดา คือครูคนแรก
แล้วก็มาถึงครูที่โรงเรียน
และต่อมาก็ครูที่วัด
สมัยหนึ่งมันได้เป็นอย่างนี้ เรามีสามขั้นตอน
เพราะฉะนั้น คำว่าครูที่ถูกต้องและสมบูรณ์นี้ มันต้องถูกต้องทั้งสามขั้นตอน ทั้งสามขั้นตอน เราจะมีเพียงขั้นตอนเดียวนั้นมันก็ไม่สำเร็จได้ มันก็สำเร็จได้เท่าเพียงแค่ขั้นตอนเดียว ที่เราพูดกันในหลักสูตรนี้มันก็มีแต่ครูที่โรงเรียน ไม่ได้มีไปถึงครูที่บ้าน คือ บิดา มารดา สอนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วเราไม่ได้มีอะไรที่จะก้าวก่ายไปถึงครูชั้นพระเจ้า พระสงฆ์ สมัยโบราณก็มีคำพูดที่น่าฟัง บิดา มารดา ครูบา อาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ วลีเหล่านี้ลองจำๆดู บิดา มารดา ครูบา อาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดาอยู่ที่บ้านตั้งแต่แรกคลอดมาทีเดียว ครูบาอาจารย์ ก็ที่โรงเรียนหรือที่โรงเรียนวัด พระเจ้า พระสงฆ์ก็อยู่ที่วัด ทำอย่างไรจึงจะให้ครูบาอาจารย์ทั้งสามชั้นนี้ร่วมมือกันได้ ร่วมมือกันได้ เดี๋ยวนี้มันร่วมมือกันไม่ค่อยจะได้ ได้ยินว่าต้องเป็นความเป็นคดีกันบ่อยๆ ระหว่างครูกับผู้ปกครองนักเรียน มันไม่ควรจะมี เพราะว่าเป็นผู้ที่ร่วมมือกัน สร้างสรรค์วิญญาณของเด็ก ทำไมจะต้องมาทะเลาะกัน ครูคนแรก บุพพาจริยา คือ บิดามารดานี้สำคัญมาก ถ้าทำอะไรมาผิดๆแล้ว ก็ยากกับครูที่โรงเรียนจะช่วยแก้ไขให้ดีได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีระบบหนึ่งทีเดียว ซึ่งจะเป็นวัฒนธรรมหรือจะเป็นอะไรก็สุดแท้ ให้บิดามารดานั่นแหละรู้จักตั้งต้นในการสร้างวิญญาณของลูก แต่ก่อนนี้มันก็มีไม่ใช่ไม่มี คือ วัฒนธรรมประจำบ้านเรือน ที่เขาถือกันมาเป็นหลักประจำบ้านเรือนโดยไม่ต้องเหตุผล ไม่ต้องอธิบายอะไร คนแต่โบราณเขาพูดไว้ในฐานะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์แล้วก็ทำตามๆ กันมา ก็ได้ผลอยู่เหมือนกัน
สรุปความแล้วก็คือ บิดามารดาต้องสอนอบรมทารกให้เดินอยู่ในกระแสอันถูกต้อง บิดามารดานั้นจะต้องสร้างจิตวิญญาณของลูกเด็กๆ เล็กๆ ให้มันเดินอยู่ในกระแสแห่งความถูกต้อง ให้มันกลัวบาป ให้มันกลัวของสกปรก ให้มันกลัวบาป แล้วให้มันเดินไปตามทางที่เรียกว่า บุญ โดยไม่ต้องมงาย ไม่ต้องมงาย เดี๋ยวนี้มันกำลังตีกันอยู่บางอย่าง จะเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมมันเปลี่ยนไป ขนบธรรมเนียม ประเพณีมันเปลี่ยนไป หรืออะไรทำนองนี้ มันไม่ได้ผลให้เด็กๆทารกนั้นเดินอยู่ในความถูกต้อง มันกลายไปเป็นไสยศาสตร์ การสอนเด็กให้กลัวอะไรในรูปแบบของผีสางเทวดา พระเป็นเจ้า อะไรก็ตามที่ไม่มีเหตุผลนั้น มันเป็นการเริ่มฝังไสยศาสตร์ ลงไปในวิญญาณของเด็กทารก บิดามารดาเห็นแก่ความสะดวกส่วนตัว ไม่ยอมลำบากนี้ ก็มักจะสอนเด็กๆทารกเชื่อผีสางเทวดา ให้กลัวผี กลัวเทวดา กลัวฟ้าผ่า กลัวอะไร ชนิดที่มันเป็นไปไม่ได้ อันี้อาตมาเองมามองดูแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดอย่างร้าย เสียหายอย่างร้าย แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย การที่สอนให้ลูกเด็กๆทารกเชื่อไปในทางขลัง ทางศักดิ์สิทธิ์ นั่นแหละมันเป็นความยากลำบากเมื่อโตขึ้นมา ไม่อยู่ในเหตุผล ไม่เดินไปตามเหตุผลของธรรมชาติได้ เช่นว่า ยังกลัวผี กลัวอะไรอยู่จนบัดนี้ก็โตแล้ว หรือคำอธิบายชนิดที่มันเป็นไสยศาสตร์ มันก็ยังเหลืออยู่มากโดยไม่รู้สึก แต่มันก็ยังมีอยู่ในความรู้สึก เราทำให้เด็กกลัวอุจจาระ เกลียดอุจจาระได้ เช่นเด็กๆ มันไม่รู้จักอุจจาระ ไม่เกลียดอุจจาระบางทีจะคว้ากินเข้าไปก็ได้ แต่เราก็ทำให้ พูดด้วยคำพูดอะไรก็ตาม ให้เด็กรู้จักอุจจาระนั้นเป็นของสกปรก ไม่จับไม่อะไรอีกต่อไป มันก็สำเร็จ แต่เราไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะให้เด็กกลัวความชั่วหรือกลัวบาปทำนองนั้น ก็เพราะว่าไม่รู้จักอธิบายเรื่องบาป เอาฝากไปไว้กับว่าฟ้าจะผ่า หรือว่าเทวดาจะลงโทษอะไรทำนองนั้น มันก็เลยกลายเป็นไสยศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างนี้ ที่ทำให้เดินไปในทางไสยศาสตร์โดยที่ไม่รู้สึกตัว ทีนี้ ถ้าสอนให้ไหว้พระ เด็กเล็กๆไหว้พระ ก็จะได้บุญก็เท่านั้นแหละ หรือว่าในฐานะเป็นของสูง ของศักดิ์สิทธิ์ในทำนองนั้น ไม่ได้สอนให้ไหว้พระเพราะว่าพระนั้นเป็นผู้ที่ปฏิบัติถูกต้อง แล้วจะช่วยให้คนปฏิบัติถูกต้องได้ ซึ่งมันก็ยากเกินไป ซึ่งมันรวบรัดสอน สอนว่าไหว้พระได้บุญ ไหว้พระได้บุญ โดยไม่ต้องอธิบาย แม้โตแล้วก็ไม่ต้องอธิบายว่า บุญนั้นคืออะไร? คืออย่างไร?
นี่เราก็ประสบปัญหาไหว้พระเพราะกลัวจะไม่รวย จะไม่โชคดี หรือไหว้พระเพื่อว่าพระจะคุ้มครองอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างนี้มันเป็นไสยศาสตร์ ความเป็นไสยศาสตร์อย่างนี้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ไหว้พระพุทธรูปก็ได้ พระสงฆ์ก็ได้ ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันก็เลยทำปัญหาให้เกิดขึ้น จนกระทั่งว่าเอาพระเครื่องมาแขวนคอ ก็แขวนเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อให้คุ้มครอง อย่างนี้มันเพิ่มความหมายของไสยศาสตร์มากขึ้น มากขึ้น คือ เพิ่มความที่ไม่มีเหตุผลและงมงายต่อสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ทีนี้เมื่องมงายพร้อมกันทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็ไม่ใช่ของเล่นๆ การที่จะดับทุกข์โดยหลักของธรรมะจริงๆไม่มี มันไม่มี เพราะไปเชื่ออย่างนั้น แล้วมันง่ายด้วยสะดวกดีด้วยง่ายๆ เพียงแต่มาแขวน เพียงแต่ทำพิธีนิดหน่อยก็ได้ผลแล้ว ถ้าสอนอย่างนี้มันต้องปฏิบัติกัน ปฏิบัติกันอย่างที่จะต้องอดกลั้นอดทน และเป็นเวลาระยะยาวถึงจะได้ผล คนก็เลือกเอาก่อนแบบง่ายๆ เช่น เดี๋ยวปัญหาเกิดขึ้นก็ไปหาทางออกโดนวิธีไสยศาสตร์กันทั้งนั้น น่าแปลกที่ว่า บ้านเมืองยิ่งเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ ทางหนึ่งก็มีมากด้วยไสยศาสตร์พร้อมๆกับโลกที่ก้าวหน้าด้วยทางวิทยาศาสตร์ มันก็ยังมีทางหนึ่งที่ยิ่งมากไปด้วยไสยศาสตร์ นี่คือคนที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเวลาจะคิด มีความยุ่งยากลำบากใจขึ้นมาก็ไปกราบๆ ไหว้ๆ ไปบูชา บวงสรวง อ้อนวอน กระทั่งว่าไปสะเดาะเคราะห์ ไปรดนำมนต์ ไปอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าเด็กของเราไม่เดินมาในทางของสัมมาทิฏฐิ แล้วมันจะถูกต้องได้อย่างไร จะปลอดภัยได้อย่างไร ทีนี้การศึกษาก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้ จึงนึกถึงข้อที่ว่าครูที่บ้าน กับครูที่โรงเรียน กับครูที่วัด พวกนี้จะต้องรวมหัวกัน ทำความเข้าใจกัน มีหลักสูตรใหม่สำหรับครูทั้งสามชั้นนี้ ปฏิบัติให้ส่งเสริมติดต่อกันมาเป็นอย่างดี และก็ยุวชนก็จะรอด บิดามารดาจะต้องสอนให้มีสัมมาทิฏฐิมาตั้งแต่รู้ความ ตั้งแต่จะคิดนึกอะไรได้ ตั้งแต่รู้ความให้มีสัมมาทิฏฐิ อย่าสอนในเรื่องมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าถ้าสอนไปตามตามธรรมเนียมในขั้นต้น ก็รีบบอกเขาเสียให้มันเข้าใจ อย่างที่เคยได้ยินเมื่อเด็กๆ อย่าเอาขันไปรองน้ำที่ลงมารางน้ำ ฟ้าจะผ่า และเราก็เคยได้ยินเคยกลัวเหมือนกัน มันสอนไปว่าฟ้าจะผ่า ไม่ได้สอนว่าขันมันจะตกแตก แม้แต่ไปขี่สุนัขนี้ คนผู้ใหญ่ก็จะห้ามว่า อย่าไปขี่สุนัขฟ้าจะผ่า ไม่ได้สอนว่าสุนัขมันจะกัด บอกแต่ว่าสุนัขมันจะกัดนี่มันก็พอแล้ว มันก็พอดีแล้ว เด็กมันจะไม่เชื่อ กลัวมันจะไม่เชื่อ ก็พูดว่าฟ้าผ่าๆ มันก็กลัวกว่า อันนี้มันไม่ได้ถูกชดเชยหรือชะล้างออกไปให้มาเข้ารูปเข้าเรื่องของความจริง
นี้เป็นปัญหามากที่ว่า จะต้องมาเผชิญกับปัญหาทางไสยศาสตร์ ที่ถูกฝังเป็นรกเป็นรากลงไปในวิญญาณของเด็กทารกเรื่อยๆมา อย่างที่เรียกว่าสอนให้กลัวผี จนกลัวผี แล้วก็สัตว์เดรัจฉานไม่มีผี ไม่มีปัญหาเรื่องผี ไม่กลัวผี แม้แต่สุนัขก็ไม่กลัวผี แต่คนนี่มันกลัวผี ดูสิ มันกลัวผีจนกระทั่งบัดนี้ ยิ่งกว่านั้นไม่ใช่แต่ผี กิ้งกือ ไส้เดือน ตุ๊กแกมันก็ยังกลัว กลัวเอาอย่างมาก โตแล้วก็ยังไม่หาย นี่เรียกว่า ปัญหาทางจิตทางวิญญาณ ปัญหาของการศึกษาทางด้านจิตและด้านวิญญาณ ที่พูดนี้ก็เพียงแต่ว่าจะขอให้เอาไปคิดไปนึกกันเสียบ้างว่า ครูนี้มีอยู่ ๓ ขั้นตอน ถ้าไม่สัมพันธ์กันอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไปแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ยาก ที่บ้านก็ต้องถูกต้อง ที่โรงเรียนก็ต้องถูกต้อง ที่วัดวาอารามนี้ก็ต้องถูกต้อง ไม่รู้เมื่อไรจะได้พบปะพูดจากันสักที ดูเหมือนว่าเวลาไม่มี ไม่มีเวลาที่พบปะพูดจาด้วยเรื่องเหล่านี้ แต่เวลาที่ไปทำเสียหายอย่างอื่นกลับมี นี่เราจะช่วยกันสร้างครูให้ถูกต้องทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ได้อย่างไร? ถ้ามันมีความถูกต้องของครูครบทั้งสามขั้นตอนนี้ มันก็คือความรอดของสังคม ความอยู่รอดของสังคม เรียกว่า คือ เสียเลย ความถูกต้องของความเป็นครู คือ หรือเท่ากับ ความอยู่รอดของสังคม
สรุปความว่าอย่างน้อยให้เราขวนขวาย ขวนขวายกันตามที่จะทำได้ ที่จะจัดให้มีครูที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามอุดมคติของความเป็นครูให้มากขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งว่าแม้ครูสอนเรื่องวัตถุ สอนทางวัตถุ สอนวิชาธรรมดา หรือทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ตาม ให้มันช่วยทำความเข้าใจในเรื่องด้านจิตในด้านวิญญาณให้ถูกต้อง หรือ อย่างน้อยก็ในตอนท้ายนั้น ให้มันส่งเสริมแก่ความรู้อันถูกต้องในด้านจิตด้านวิญญาณ
บทบาทของครูพอจะสรุปได้ว่า เป็นผู้นำโลกในด้านวิญญาณ บทบาทของครูเป็นผู้นำโลกในด้านวิญญาณ จึงสามารถครอบงำอิทธิพลทางวัตถุนี้ บทบาทนี้ก็น่าดูเหมือนกัน กลัวจะสั่นหัวกันไปหมด เมื่อเป็นอย่างนี้ครูก็เท่ากับผู้สร้างโลกในอนาคต โดยผ่านทางศิษย์ ได้พูดกันมาหลายครั้งแล้วว่าโลกจะดีจะเลวก็เพราะคนในโลก คนในโลกจะดีหรือเลวก็เพราะว่าการศึกษา การศึกษาจะเป็นไปได้อย่างไรก็แล้วแต่ครู ก็เพราะครู นี้ถ้าว่าทำได้ดี ครูก็กลายเป็นคนสร้างโลกในอนาคตโดยผ่านศิษย์ ผ่านยุวชนในปัจจุบัน ถ้าสร้างยุวชนในปัจจุบันให้ดี โลกในอนาคตมันก็ดี หมดปัญหา นี้ขอร้องว่าครู คือ ผู้สร้างโลกนี้ เป็นสิ่งที่อาตมาขอร้องว่าให้ใคร่ครวญ ให้มองในคำพูดที่ว่า ครูเป็นผู้สร้างโลก ไม่มองก็ไม่เห็น มองน้อยไปก็ไม่เห็น มองผิดก็ไม่เห็น มองให้เพียงพอจนลึกซึ้งให้เห็นว่าเพียงพอว่า ครูเป็นผู้สร้างโลก ไม่ใช่เรื่องอวดอ้าง ไม่ใช่เรื่องคุยโม้ อวดอ้างอะไร มันเป็นความเป็นจริง มันเป็นจริงอยู่ในตัวมันเองนี้ ครูให้การศึกษาอย่างไร คนในโลกก็เป็นอย่างนั้น แล้วโลกก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น เช่นว่า เดี๋ยวนี้คนในโลกเห็นแก่ตัวมาก ก็เพราะว่าครูได้ให้การศึกษาชนิดที่ไม่ได้กำจัดความเห็นแก่ตัวนี่จะทำยังไง ทีนี้ ครู คือ ผู้สร้างโลกนี้ อยากจะให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งโลกเลย ให้ไปอยู่ในหลักการขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น ให้มองเห็น ให้ยอมรับว่า ครูเป็นผู้สร้างโลก แล้วเขาจะมีกิจการอะไรๆออกมาก็ตาม ให้มันสำเร็จประโยชน์ตามนั้น บทบาทของครู คือ ผู้สร้างโลก กลัวจะสั่นหัว กลัวจะเหนื่อยเกินไป กลัวจะหมดโอกาสสนุก คุณธรรมสำหรับครู ก็คือ ความรอดของโลก
ที่นี้ก็มาถึงคำว่า ความอยู่รอดของสังคม ตามหัวข้อที่กำหนดให้ บทบาทของครู กับความอยู่รอดของสังคม เราดูความอยู่รอดของสังคมกันต่อไป มันก็พูดได้อย่างที่พูดกันมาแล้ว อย่างซ้ำๆว่า อยู่รอดของสังคมมันก็ต้องเป็นความอยู่รอดของแต่ละคนที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคม เพราะสังคมมันประกอบขึ้นด้วยบุคคล บุคคลมันต้องรอดก่อน แล้วมารวมกันเข้าเป็นความรอดของสังคม เดี๋ยวจะมาพูดถึงความอยู่รอดของสังคม หรือของโลกไม่ต้องดูที่ความรอดของสังคมของบุคคลมันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราตั้งปัญหาว่าเดี๋ยวนี้สังคมรอดหรือเปล่า..เอ้ย...บุคคลแต่ละคนรอดหรือเปล่า? ถ้าพูดตามหลักธรรมะแล้วมันไม่รอด บุคคลแต่ละคนตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ตัณหา ของอวิชชา ซึ่งอยู่ในรูปของความเห็นแก่ตัว ความละโมบเกินประมาณ ความอะไรต่างๆ ดวงวิญญาณของบุคคลแต่ละคนยังไม่รอด ยังไม่รอด เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้วิญญาณของแต่ละคน แต่ละคนรอด รวมกันก็จะเป็นความรอดของสังคม มองกันง่ายๆ อย่างที่ใครๆ ก็มองเห็นว่า ถ้าแต่ละคน แต่ละคนเป็นคนดีนี้ ครอบครัวนั้นก็เป็นครอบครัวที่ดี เมื่อแต่ละครอบครัวดี หมู่บ้านนั้นก็เป็นหมู่บ้านที่ดี เมื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ดี เมืองนั้นก็เป็นเมืองที่ดี บ้านเมืองนั้นก็เป็นบ้านเมืองที่ดี เมื่อเมืองแต่ละเมืองเป็นเมืองที่ดี ประเทศ ประเทศก็เป็นประเทศที่ดี ถ้าแต่ละประเทศมันดี ดี ดี โลกนี้มันก็เป็นโลกที่ดี อย่างนี้มันเป็นได้ตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งไม่อำนาจศักดิ์สิทธิ์อะไรที่ไหนจะมาเปลี่ยนแปลงมันได้ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติของ อิทัปปัจจยตา เป็นต้น บุคคลดี ครอบครัวดี หมู่บ้านดี บ้านเมืองดี ประเทศดี ทั้งโลกก็เป็นโลกที่ดี
องค์การสหประชาชาติเขาจะมองกันอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง ฟังดูเป็นคำพูดที่ไม่มีน้ำหนัก หรือว่าความหมายอะไร แต่มันเป็นความหมายมากที่สุด เต็มที่สุด ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตน ไม่บกพร่อง หน้าที่ หน้าที่ คำนี้มันได้รับเกียรติน้อยเกินไป มันกลายเป็นหน้าที่ที่น่ารังเกียจ หน้าที่ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ สิ่งที่ช่วยให้รอด หน้าที่คือธรรมะนี่พูดมากแล้ว อย่าให้ต้องพูดอีกเลย หน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ คือ หน้าที่ หน้าที่ช่วยให้รอด ธรรมะก็คือช่วยให้รอด มันเป็นสิ่งเดียวกัน ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตน ต้องเติมคำว่า อย่างถูกต้อง เข้าไปหน่อย แต่ถ้าไม่เกเร บิดพลิ้วไป หน้าที่เฉยๆ ก็พอหน้าที่อย่างถูกต้อง เพราะหน้าที่ก็ต้องถูกต้อง สังคมทั้งโลกนี่ก็จะปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุขได้ เพราะทุกคนทำหน้าที่ของตน หน้าที่ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ หน้าที่ มีหน้าที่อย่างไร มันก็มีสอนกันอยู่แล้ว แต่มักจะเลือกเอาหน้าที่ทางวัตถุที่ส่งเสริมไอ้กิเลส ความสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ หน้าที่ความถูกต้องในทางจิตทางวิญญาณนั้นไม่ค่อยจะมีใครสนใจ และก็มักจะถือเอาหน้าที่อันแรกทางวัตถุนั้นเป็นหลัก หน้าที่ทางจิตทางวิญญาณไม่มีใครสนใจ ทีนี้เมื่อถือเอาแต่หน้าที่ทางวัตถุทางร่างกายเป็นหลัก ก็ได้โอกาสแต่กิเลส กิเลสก็เลยครองโลก เพราะมุ่งหมายแต่ความเจริญด้านวัตถุ เป็นเหตุให้กิเลสขึ้นครองโลก เพราะฉะนั้น คำว่า หน้าที่ ก็ต้องถูกต้องสำหรับจะรอดในทางร่างกาย ชีวิตทางด้านร่างกาย และก็ให้รอดทางด้านจิตด้านวิญญาณ คือความสงบสุข เราสอนกันแต่ความรอดทางกาย และก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ทางรอดทางจิต แล้วก็กันออกไปเสียจากการศึกษาด้วย ซึ่งกันในเรื่องศาสนาออกไปจากการศึกษา เมื่อไม่นานมานี้ว่าที่จริง ในโลกนี้ บางคนก็ทำหน้าที่ที่เจริญในโลก ในวัตถุจนลืมตัว ปัญหาจึงเกิดขึ้น โรคร้ายมันได้เกิดขึ้นในโลกจนยากที่จะแก้แล้ว ยากที่จะแก้ สมัยก่อนมนุษย์ในโลกนี้รักกัน เห็นแก่ผู้อื่นนี้มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มความรักตัว หรือเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะอิทธิพลของศาสนานั้นมันเข้าไปมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ในยุคก่อนๆ เขาสอนให้ผูกพันไว้กับศาสนา ซึ่งสอนแต่เรื่องรักผู้อื่นว่าเป็นความดี ดีกว่าเรื่องเห็นแก่ตัวนี้ ดีกว่าความที่จะเห็นแก่ตัว มันก็ง่าย แต่เดี๋ยวนี้ถ้าศาสนาค่อยหลุดออกไป หลุดออกไป ความเห็นแก่ตัวมันก็ได้โอกาสเข้ามาครองจิตใจของมนุษย์ จะต้องพูดกันใหม่เรื่องนี้ว่า ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ หน้าที่ทางกาย กายรอด หน้าที่ทางจิตทางวิญญาณ จิตวิญญาณรอด รอดทั้งสองฝ่าย คือ รอดสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้แม้แต่รอดทางฝ่ายกายฝ่ายวัตถุก็ไม่รอดนะ มันก็ไม่รอด เช่น ปัญหาเศรษฐกิจอย่างนี้ มันเป็นความไม่รอดทางวัตถุนั้นเอง ทางร่างกายเป็นส่วนรวมนั้นเอง ปัญหาทางเศรษฐกิจกำลังอันตรายรัฐบาล ทำอันตรายประชาชน คนเป็นโรคประสาทกันมากขึ้น มากขึ้น อย่างรวดเร็ว เพราะความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ก็เพราะไม่รู้เรื่องธรรมะเอาเสียเลย ไม่รู้เรื่องการที่จะปลดปล่อยไอ้ความยุ่งยากลำบากใจออกไปเสีย ด้วยข้อธรรมะว่าเช่นนั้นเอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น คนก็เลยเป็นโรคประสาทกันมาก ถ้าว่าเห็นแก่ธรรมะ เห็นแก่หน้าที่ ทำหน้าที่ให้สนุก ปัญหาก็จะหมด
อาตมาพูดหลายครั้งแล้ว พูดในที่ประชุมคนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบ้านเมือง มั่นคงภายในอะไร ว่าปัญหาของประเทศเราทั้งหมดนั้น จะหมดสิ้นไปในทันที ถ้าทุกคนทำหน้าที่ ฟังดูแล้วเขาไม่เชื่อ ไม่น่าเชื่อ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้หลายคนไม่ทำหน้าที่มากกว่าเสียอีก ที่ต้องการประโยชน์ ต้องการเงิน ต้องการอะไรโดยไม่ต้องทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่แต่น้อย แล้วก็เอาเงินเอาประโยชน์มาก คือ เรียกร้องสิทธิมาก จะเอาแต่สิทธิ แต่หน้าที่ไม่ต้องทำ ปัญหามันก็เกิดขึ้นเพราะคนมันบิดพลิ้ว หลีกเลี่ยงต่อหน้าที่ คอยคด คอยโกง คอยเอาเปรียบ คอยขูดรีด คอยหลอกลวง ซึ่งจะมีมากขึ้น มากขึ้น ตามที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า โจรขโมยปล้นจี้นี้มันมากขึ้นเพราะไม่อยากทำหน้าที่ ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ตั้งแต่บุคคลชั้นสูงสุด ลงมาตามลำดับ ตามลำดับทุกคน กระทั่งคนขอทาน คนขอทานนี้ทำหน้าที่ดีเถิด ไม่เท่าไรก็พ้นจากความเป็นคนขอทาน ทีนี้คนขอทานไม่ได้ทำหน้าที่ คดโกง หลอกลวง เป็นขอทานอันธพาล เป็นขอทานไปซื้อหาอบายมุขมันก็เป็นขอทานที่ไม่ถูกต้อง ให้คนตั้งแต่สูงสุดตั้งแต่มหาจักรพรรดิ ลงมาถึงคนธรรมดาสามัญ ชาวไร่ ชาวนา ประชาชน กรรมกร ทุกคนทำหน้าที่ กระทั่งสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่พูดเล่น เราจะต้องนึกถึงสัตว์เลี้ยง ก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง สัตว์เลี้ยงนับตั้งแต่สุนัขและแมว ที่นี่ครั้งหนึ่งเคยขาดแมว เสียหายมาก อย่างแมวไม่มี เสียหายมาก หนังสือ จีวรนี้ถูกกัดขาดคืนหนึ่ง คืนหนึ่งเยอะแยะหมด จนต้องทำให้มีแมว สุนัขก็เหมือนกันที่ทุกบ้านเลี้ยงไว้ แมวที่ทุกบ้านเลี้ยงไว้ ถ้ามันทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้อง แล้วมันก็ป้องกันอันตรายได้ และจะทำให้ผลประโยชน์ทำให้มีอยู่ได้ วัว ควาย ช้าง ม้า ถูกใช้ทำหน้าที่ของมันให้ถูกต้อง อย่าเอาม้าไปแข่งกันเสีย เอาม้าไปลากรถ หรือไถนาอะไรก็ได้ ม้า วัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์ใช้งานนั้น ให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง แม้ที่สุดแต่สัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร ก็ทำหน้าที่ของมันให้ถูกต้อง ให้มันเกิดมีอยู่อย่างถูกต้อง เป็ด ไก่ กุ้ง หมู ปู ปลา อะไร ก็ให้มันทำหน้าที่ให้มีครบถ้วนตามที่ควรจะมี ถูกต้องตามที่ควรจะมี แม้แต่ลิงขึ้นมะพร้าว ลิงที่ขึ้นมะพร้าวได้ ก็ขอให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเถิด ทุกชีวิตทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ปัญหาไม่มี ทุกปัญหาจะไม่มี เพราะไม่ทำหน้าที่บ้าง เพราะทำหน้าที่อย่างไม่ถูกต้องบ้าง ปัญหาเต็มไปหมด นี่คือธรรมะ คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ หน้าที่ หน้าที่ คือ ธรรมะ ถ้ามีหน้าที่ถูกต้อง ก็คือมีธรรมะสมบูรณ์ สมบูรณ์ไปหมดเลย ทุกขั้น ทุกตอน มนุษย์ก็ไม่มีปัญหา ทีนี้คนโดยมากก็ไม่ชอบเหนื่อย หาทางหลบหลีก เอาเปรียบ โดยไม่ต้องออกเหงื่อ ไม่ต้องออกแรง แล้วก็จะได้รับประโยชน์ให้มาก
วัฒนธรรมโบราณไม่เป็นอย่างนั้น วัฒนธรรมโบราณจะนิยมให้ต้องออกเหงื่อ จึงจะได้บุญ ต้องทำเองจึงจะได้บุญ มันก็เลยไม่เกลียดเหงื่อ เห็นว่าเหงื่อเป็นของถูกต้อง ใครมีเหงื่ออกมานั่นแหละเป็นผู้ที่มีเกียรติ เป็นผู้ที่ได้ทำอะไรจริงๆ จังๆ การมีเหงื่อให้เห็นก็เป็นการภาคภูมิใจว่าไม่ได้บิดพลิ้ว บิดพลิ้วในหน้าที่ เดี๋ยวนี้บางคนจะไม่เคยออกเหงื่อตลอดปีกระมัง? เพราะคอยหลีกเลี่ยงงานที่ไม่ต้องออกเหงื่อ ต้องการชีวิตที่จะหรูหรา แล้วก็อยู่ด้วยความสบาย สำเริง สำราญให้มากที่สุดแข่งกับเทวดา และอีกทางหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ซึ่งจำนวนมากก็บูชาอบายมุข สนุกอยู่ด้วยอบายมุข ก็ทำหนี้สินเต็มไปหมด หนี้สินของตนเอง หนี้สินของประเทศชาติก็เพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้มันเป็นยุคที่ไม่มีธรรมะอย่างนี้ เพราะคนไม่รักที่จะออกเหงื่อ ไม่รักที่จะทำหน้าที่นั่นเอง เราจะมีวิธีอบรมสั่งสอนกันอย่างไร ที่ให้มันรักการทำหน้าที่ คือรักการออกเหงื่อ เห็นว่าเหงื่อเป็นของมีเกียรติ ควรจะอวดกัน เดี๋ยวนี้ก็พ่ายแพ้ คนเราก็พ่ายแพ้ หากแต่กิเลสมากขึ้นทุกที
การศึกษาค้นคว้าทำให้รู้สึกว่าเราชนะธรรมชาติ ไปโลกพระจันทร์ก็ได้ อะไรก็ได้ แต่มันเป็นการชนะทางวัตถุ ไม่เป็นการชนะทางจิต ทางวิญญาณเสียเลย แล้วมันมีประโยชน์อะไรคิดดูสิ การที่ไปโลกพระจันทร์ได้มันมีประโยชน์อะไรแก่มนุษย์ นอกจากสร้างงาน สร้างความลำบากยุ่งยากให้เพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่ได้สร้างสันติภาพขึ้นมาเลย มูลเหตุที่จะไปโลกพระจันทร์ได้ก็เป็นเรื่องทางวัตถุ ต้องการจะชนะทางวัตถุ ก้าวหน้าทางวัตถุ เรากำลังชนะอุปสรรคทางวัตถุ นี่ก็เป็นของจริง แต่เรากำลังพ่ายแพ้ทางวิญญาณกันอย่างหมดเนื้อหมดตัว มีใครกล้าพูดกับสังคมในข้อนี้ ว่าเราไม่ทำหน้าที่เท่านั้นแหละ เรื่องมันจึงมีปัญหามากอย่างนี้ หรือจะบอกรัฐบาลว่าทุกคนทำหน้าที่เท่านั้นแหละ ปัญหามันจะหมด เดี๋ยวนี้มีมากเหลือเกินที่คอยจ้องโดยไม่ต้องทำหน้าที่ และให้ได้รับประโยชน์ขึ้นมาฟรีๆ ให้ทำงานแต่น้อยแต่เอาประโยชน์มาก ประโยชน์นั้นก็เป็นประโยชน์ทางวัตถุเอามาส่งเสริมกิเลส ให้กิเลสมันมากขึ้นในบ้านเมือง ปัญหามันจึงใหญ่โตไกลออกไปยิ่งกว่าที่การศึกษาจะช่วยป้องกันหรือแก้ไขได้ เพราะมันทำผิดในส่วนลึกด้านจิต ด้านวิญญาณ ไปเป็นทาสทางอายตนะ เป็นทาสทาง อายตนะ คำนี้มันเป็นภาษาวัด ฟังยาก คือ เป็นทาส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกันมากเกินไป ทำอะไรเพื่อความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากเกินไป มันก็เลยไม่มีความถูกต้องในทางฝ่ายจิต หรือ ฝ่ายวิญญาณ
นี่คือเรื่องความรอดของสังคม อยู่ที่ทุกคนทำหน้าที่ ทุกชีวิตทำหน้าที่ พูดเหมือนกับเอาเปรียบ หรือพูดอย่างกำปั้นทุบดิน ถ้าสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว นั่นแหละคือ ความรอดของสังคม ลองไปทำดูสำรวจ ทำสถิติสำรวจดู หาข้อมูลให้ คนที่สมัครทำหน้าที่โดยแท้จริงมีสักกี่คน แม้คนใหญ่คนโต คนเล็กคนน้อยก็ไปสำรวจดูให้ดีเถิดว่า สมัครทำหน้าที่โดยแท้จริงมันมีสักกี่คน? แล้วถ้าทำหน้าที่โดยแท้จริงแล้วก็เพื่อประโยชน์แก่ตน เพื่อประโยชน์ของตนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะได้ประโยชน์ของตนจึงทำหน้าที่ อย่างนี้ไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่มันต้องเป็นทางรอดของทั้งสองฝ่าย นี่เรายังจะต้องพูดกันกับเพื่อนมนุษย์ของเราอีกมากมายทีเดียวว่า ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ เรียกว่า ความอยู่รอดของสังคมนั้น มันอยู่ที่ทุกคนทำหน้าที่ เพราะฉะนั้น ครูที่จะทำความอยู่รอดให้แก่สังคม ก็ขอให้ครูทั้งหลายช่วยสอนเรื่องหน้าที่ ช่วยสอนเรื่องการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ครูก็เป็นความอยู่รอดของสังคม
เอ้า, ที่นี่ก็มาเชื่อมกัน มาต่อกันว่า บทบาทของครูกับความอยู่รอดของสังคม ก็คือ ขอให้ครูทำให้ทุกคนรู้จักชีวิตของตน รู้จักหน้าที่ และพอใจที่จะทำหน้าที่ เรื่องหน้าที่นี้ถ้ารู้จักมันโดยแท้จริงแล้ว มันก็จะพอใจ ถ้าคนมันรู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ อย่างถูกต้องแท้จริง แล้วมันก็จะพอใจทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้ที่เขาไม่พอใจทำหน้าที่ แต่จะเอาแต่ประโยชน์ และก็จะไปหาความเพลิดเพลินทางวัตถุนั้น มันก็เพราะไม่รู้จักสิ่งที่มันเรียกว่าหน้าที่ มีมูลมาแต่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เมื่อไม่รู้จักชีวิต ก็ไม่รู้หน้าที่ของชีวิต เมื่อไม่รู้จักหน้าที่ มันก็ไม่ได้รักที่จะทำหน้าที่ มันก็ไม่เกิดการกระทำหน้าที่ ก็เต็มไปด้วยปัญหายุ่งยากไปหมด ดังนั้น ขอให้ครูพยายามให้ลูกเด็กๆนี้มันรู้จักชีวิตในความหมายระดับหนึ่งที่ควรจะรู้ได้ ให้รู้หน้าที่ และให้รักที่จะทำหน้าที่ เพราะที่จริงนั้น สัญชาตญาณมันก็มีไปในทางนั้น มีไปในทางที่ให้เด็กๆเขาอยากทำหน้าที่ เพราะว่าเราจะสังเกตเห็นได้ว่าลูกเด็กๆ ลูกทารกแท้ๆนี้มันก็ยังอยากจะทำหน้าที่ พอว่าจะมีอะไรทำ หนูทำเอง หนูทำเอง ได้ยินบ่อย ได้ยินมากที่ลูกเด็กๆ มันร้องขอกันว่า หนูทำเอง หนูทำเองนี้ และพอให้ทำแล้วก็ดีใจ แล้วก็ดีใจ ภาคภูมิใจที่ได้ทำดี นี่สัญชาตญาณส่วนที่ดีแต่ไม่รับการส่งเสริม มันละลายหมดไป ละลายหมดไป พอโตขึ้น หนูไม่ทำแล้ว หนูไม่ได้มาขอร้องให้หนูทำเองแล้ว หนูก็จะไม่ทำแล้ว หนูก็จะเอาเปรียบแล้ว นี่เพราะว่าไม่ได้รับการต้อนรับ ส่งเสริมที่ดี สัญชาตญาณส่วนนี้ก็ค่อยๆหายไป พอโตขึ้นก็เป็นผู้ที่ว่าไม่ค่อยจะสมัครทำหน้าที่ สมัครแต่จะรับประโยชน์สิทธิเสียมากกว่า ทีนี้ ขอให้ลูกเด็กๆนี่มันรู้จักความสูงสุดของหน้าที่ ส่งเสริมความรู้สึกของเขาลูกเล็กๆนี้ที่มันอยากดี ให้มันได้ดี ได้ทำดี ได้บูชาความดีอะไรเป็นติดต่อ ติดต่อ กันมาจนโต ให้ทำงานสนุก ให้เป็นสุขเมื่อทำหน้าที่ แม้แต่ลูกเด็กๆ มาขอร้องให้ว่า หนูทำเอง หนูทำเอง มันพอใจ พอใจในหน้าที่ เมื่อได้ทำก็เป็นสุข แต่พอโตขึ้นไม่อย่างนั้นนี่ มันต้องเอามาจนบัดนี้ จนบัดนี้ พอทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่แล้วมันก็รู้สึกว่าเป็นสุข ในขณะที่ทำหน้าที่ ให้รู้ว่าหน้าที่นี้คือ สิ่งสูงสุด คือ ธรรมะ คือ สิ่งสูงสุด เหนือสิ่งใดคือ สิ่งที่จะช่วยให้รอด สิ่งสูงสุดคือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เพราะฉะนั้น หน้าที่ คือ สิ่งที่จะช่วยให้รอด พอได้ทำหน้าที่ก็พอใจว่าได้ทำสิ่งสูงสุด ได้อยู่กับสิ่งสูงสุด แล้วก็จะรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ ได้เป็นสุขเมื่อกำลังทำการงาน แม้ได้เป็นสุขเมื่อทำงานแล้วเอาเงินค่าแรงงานนั้นไปกิน ไปเลี้ยง ไปอะไรกันเป็นเพลิดเพลิน ตอนนี้ก็มีความผิดพลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า เขาเข้าใจคำว่า ความสุข ผิด เอาความเพลิดเพลินที่หลอกลวงไปเป็นความสุข แล้วยิ่งได้รับความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แล้วก็รู้สึกว่าเป็นความสุข ไอ้ความสุขที่แท้จริงมันกำลังทำหน้าที่นั้น มองไม่เห็นไม่รู้จัก แล้วถ้าเหงื่ออกมาก็ยิ่งเกลียดเลย
ถ้าว่ารู้จักหน้าที่ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด ก็จะพอใจ แล้วก็ทำหน้าที่กันอย่างเป็นสนุก แล้วก็เป็นสุข อิ่ม อิ่ม อิ่ม อิ่ม ด้วยความสุขเสียตั้งแต่เมื่อทำหน้าที่ เสร็จแล้วก็ไม่รู้จะเอาเงินไปซื้อหาความสุขอะไรที่ไหนอีก เพราะมันมีแต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ได้เงินมาแล้วจะไปซื้อความสุขที่ไหนได้ มันไม่มี มันมีแต่ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เพราะฉะนั้น ขอให้เราช่วยกันทำให้ลูกเด็กๆ หรือคนโตๆ ก็ตาม รู้จักความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ว่าไม่ใช่ความสุข ซึ่งมันไม่น่าเชื่อมันก็ต้องเชื่อ แต่แล้วมันก็ต้องเชื่อ อย่างว่าที่ภูเก็ต ที่พังงา ที่ย่านกรรมกร ดูดแร่ ขุดแร่นั้น วันไหนมันโชคดี กรรมกรเหล่านั้นได้มาก ได้เงินมาก มันทำให้ตลาดนั้นหมดเบียร์ หมดแม่โขง แม่โขงขาดตลาด เบียร์ขาดตลาด อะไรก็ขาดตลาด สั่งไปไม่ทัน สั่งไปไม่ทัน สั่งเหล้าไปขายให้ไม่ทัน เพราะคนงานเหล่านั้นดื่มกันจริงๆ กินจนหมดเกลี้ยงทุกร้าน ทุกร้าน สั่งไปขายไม่ทัน ก็คิดดูสิว่ามันเป็นยังไง ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั้น มันมีฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์สักเท่าไร ถามอาตมาว่าเล่าเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก นี่เล่าเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องโกหก ที่ว่าตลาดมันขาดแม่โขง ตลาดมันขาดเบียร์ สั่งมาไม่ทัน ร้านที่จะมา จะสั่งให้อย่างไรมันก็ยังสั่งไม่ทัน
ความสุขอันแท้จริง กับ ความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ขอให้ช่วยชี้ให้ประชาชนรู้จักเปรียบเทียบ โดยมีหลักง่ายๆว่า ถ้าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ถ้าความเพลิดเพลินที่หลอกลวงจะใช้เงินมากนี้ เป็นหลักง่ายๆ ความเพลิดเพลินที่แท้จริงมาจากความพอใจอันถูกต้องเมื่อได้ทำหน้าที่ ความสุขนี้สะอาดบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข สุขนี้สะอาด ทีนี้ ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงต้องใช้ความโง่ ต้องมีความโง่ หลงใหลในความเพลิดเพลินที่หลอกลวง แล้วมันก็ต้องใช้เงิน ความสุขที่แท้จริงมันไม่ต้องใช้เงิน เงินมันก็เหลือกองอยู่แยะ ถ้าคนปฏิบัติที่เพื่อความสุขที่แท้จริง ไม่รู้จะเอาเงินไปซื้อที่ไหนได้ มันไม่มี มันไม่มีขายนี่ความสุขที่แท้จริง แต่มันเกิดขึ้นเสียเองแล้วเมื่อกำลังทำหน้าที่อย่างพอใจและถูกต้อง ความสุขที่แท้จริงนี่คือซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ไม่มีขายที่ไหน ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงมีขายเต็มไปหมด พอทำงานเสร็จแล้วก็เอาผลงาน เอาเงินเดือนไปซื้อความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงจึงเป็นสิ่งที่ใช้เงิน แล้วก็ใช้มาก แล้วก็ทำให้ลืมตัวจนหมดตัว จนล้มละลาย หรือว่าจนต้องคอรัปชั่น จนต้องไปติดคุก ติดตะราง ถ้าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงต้องการเงินมาก ความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนี้ที่ทำให้ต้องถูกลงโทษ ถูกถอด ถูกสิ้นเนื้อประดาตัวในที่สุด พร้อมทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง เพราะลุ่มหลง......... ยังไม่จบความ แต่ไฟล์เสียงหมดเท่านี้ค่ะ