แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายประจำวันเสาร์แห่งภาคอาสาฬหบูชา เป็นครั้งที่ ๙ ในวันนี้ อาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ยุวชนที่พึงประสงค์คือยุวชนธรรมชีวี ท่านได้ขอร้องให้กล่าวโดยหัวข้อว่ายุวชนที่พึงประสงค์ แต่เนื่องจากการบรรยายครั้งนี้มาประจวบกับชุดวันเสาร์ซึ่งบรรยายเรื่องธรรมชีวีอยู่ ฉะนั้นก็เลยควบเข้าด้วยกันเป็นหัวข้อยาวว่ายุวชนที่พึงประสงค์คือยุวชนธรรมชีวี คำว่าธรรมชีวีมีความหมายกว้างขวางอย่างที่ได้บรรยายมาหลายครั้งแล้ว ขอให้นำมาพิจารณาร่วมกันในครั้งนี้ด้วย ธรรมะมีความหมายกว้างขวาง ถ้าเป็นไปเพื่อดับทุกข์หรือเป็นหน้าที่เพื่อความดับทุกข์เขาก็เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น ธรรมชีวีก็แปลว่าผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิตเป็นที่ปรารถนาสำหรับบุคคลทุกชนิด ในที่นี้เล็งถึงยุวชน คำว่ายุวชนตามปกติก็หมายถึงคนที่ยังมีอายุน้อย แต่โดยหลักธรรมะแล้วกว้างกว่านั้นมาก คนที่ยังน้อย ยังหย่อนยังน้อยอยู่โดยวัยเพียงอายุก็เรียกว่ายุวชน คนที่หย่อนอยู่ด้วยกำลังจิต มีกำลังจิตไม่เต็มก็เรียกว่ายุวชน คนที่ยังหย่อนอยู่ด้วยสติปัญญาหรือความรู้ก็ยังเรียกว่ายุวชน ดังนั้นยุวชนนั้นจะเป็นคนหัวหงอกแล้วก็ได้ นี่ขอให้ถือเอาความหมายของคำๆ นี้ให้กว้างไกลถึงขนาดนี้ว่ายังหย่อนอยู่โดยวัยก็ได้ หย่อนอยู่ด้วยกำลังจิตก็ได้ หย่อนอยู่ด้วยกำลังสติปัญญาก็ได้ ใครหย่อนอยู่ด้วยอะไรก็พึงรู้เถอะว่าตนเป็นยุวชนอยู่ด้วยเหตุนั้น นั้นขอให้สนใจเรื่องยุวชนนี้ให้เพียงพอ เพราะจะได้บรรยายโดยหัวข้อว่า ยุวชนที่พึงปรารถนา ยุวชนที่มีลักษณะพึงปรารถนานั้นอยากจะกล่าวว่า เป็นยุวชนที่สามารถสร้างสังคมใหม่หรือสร้างโลกใหม่ ยุวชนชนิดนี้พึงปรารถนา เป็นยุวชนที่อาจจะใช้เป็นผู้สร้างสังคมใหม่ให้ดีกว่าเก่าหรือโลกใหม่ให้ทำโลกนี้ให้มันกลายเป็นหมือนกับว่าโลกใหม่แปลกออกไปในลักษณะที่พึงปรารถนา ยุวชนยังไม่มีลักษณะเช่นนี้อยู่ก็เป็นมีอยู่เป็นอันมาก ยังเป็นยุวชนรกโลกก็เลยไม่พึงปรารถนา ดังนั้นจึงพูดได้แต่ต่อไปว่ายุวชนที่พึงปรารถนานั้นแม้จะยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ไม่มีอาการคับโลกหรือรกโลก ที่คนปัจจุบันนี้มีปัญหาเรื่องคนจะล้นโลกแล้วจะไม่มีอะไรกินจะไม่มีอะไรใช้ อาตมายังไม่เห็นด้วย เพราะว่าอาการที่จะล้นโลกนั้น ถึงจะมีขึ้นมาอย่างเป็นอันตราย เพราะว่าถ้าเรามีคนที่ดีมีธรรมะแล้วโลกนี้ยังอยู่ได้ด้วยคนจำนวนมากกว่านี้ คนที่ไม่ดี คนที่บกพร่องในหน้าที่นั่นนี่มันคับโลกเร็ว มีไม่เท่าไหร่มันก็กระทบกระทั่งกันเดือดร้อนไปทั้งโลก แต่ถ้าว่าเป็นคนดีอย่างที่เรียกว่าสัตบุรุษแล้วยังสามารถที่จะจัดให้อยู่กันในโลกนี้ได้อีกมากทีเดียว ยังไม่มีการคับโลกหรือความลำบากยุ่งยากเพราะมีคนเหล่านี้ คือยุวชนชนิดที่แม้จะมีมากก็ไม่มีอาการคับโลก ไม่รกโลกนั่นแหละ คือยุวชนที่พึงปรารถนา
กล่าวสรุปอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่า ยุวชนที่มีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่งกับมีธรรมะเป็นที่พึ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน โดยหลักธรรมะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าถ้าถ้อยคำธรรมดา กล่าวตามถ้อยคำธรรมดาแล้วดูจะเป็นของคนละอย่างต่างกัน โดยหลักธรรมะนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่งพร้อมกันไป ได้แก่ผู้ที่มีการปฏิบัติอยู่ในธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นหนทางให้ถึงความดับทุกข์ในที่สุด เมื่อปฏิบัติอยู่ในธรรมะนี้เป็นการทำที่พึ่งให้แก่ตน อย่างนี้ถึงจะมีตนเป็นที่พึ่งและการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติธรรมะมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ดังนั้นขอให้มองดูให้ดีๆ จะเห็นว่าความมีตนเป็นที่พึ่งกับมีธรรมะเป็นที่พึ่งนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน แม้จะเรียกชื่อต่างกัน แม้ว่าจะมองกันคนละแง่คนละมุมก็เป็นของแปลกกัน แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นของสิ่งเดียวกัน มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่งนั่นแหละคือธรรมชีวี ผู้มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ขอให้กำหนดข้อความนี้ไว้ก่อนแล้วจะได้กล่าวถึงคำว่ามีตนเป็นที่พึ่งโดยโวหารเดียว โดยโวหารฝ่ายเดียวคือมีตนเป็นที่พึ่ง นี่กันเสียสักทีหนึ่งก่อน ปัญหามันก็มีอยู่คาราคาซังด้วยคำพูดที่ไม่ยุติ ถ้าตนเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือหาไม่ นี่อย่าๆ ต้องลำบากเพราะเหตุนี้เลย ถ้าพูดอย่างสมมุติตามความรู้สึกของสามัญสัตว์ คือภาษาคนธรรมดา แล้วก็มีตนตามความรู้สึกที่มีอยู่ในความรู้สึก ซึ่งรู้สึกได้เองตามธรรมชาติ หรือตามสัญชาตญาณ เรามีความรู้สึกว่าตัวเราและของๆ เรานั่นแหละคือตัวตนของตน ทุกคนก็รู้สึกอยู่แก่ใจ ฉะนั้นตนจึงมีในลักษณะอย่างนี้คือในลักษณะความรู้สึกสามัญตามสามัญสัตว์ เรียกว่ามีอยู่ในความรู้สึกของสามัญสัตว์ ส่วนอีกทางหนึ่งซึ่งสูงขึ้นไปกล่าวว่าไม่มีตน อะไรๆ ก็มี แต่ละอย่างๆ เหล่านั้นไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอิสระแก่ตัวมันเอง มันต้องหมุนไปตามเหตุตามปัจจัยต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอิสระแก่ตัวเองจะมีตัวตนได้อย่างไร นี่ธรรมะชั้นสูงจะอธิบายอย่างนี้ แต่ถ้าธรรมะชาวบ้านก็อธิบายว่ามีตัวตน สำหรับพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสทั้งสองภาษาเรื่องนี้ เรื่องนี้ต้องศึกษาดูให้ดีๆ อย่าพูดเร็วเกินไปมันจะผิด
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตก็มีการกล่าวโดยโลกียโวหาร โดยสมมุติโวหารของชาวโลกอย่างที่ชาวโลกเขากล่าวกัน แต่ไม่ได้ยึดถือความหมายเช่นกับที่ชาวโลกเขายึดถือ พระพุทธเจ้าท่านก็กล่าวคำว่า เราตถาคตอย่างนี้เป็นต้น แต่คำว่าเราของพระองค์นั้นไม่ใช่มีความหมายอย่างเดียวกับเราของไอ้คนธรรมดาสามัญซึ่งมันเป็นเราเอาเสียจริงๆ มีเราเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ปากพูดอย่างไรใจก็เป็นอย่างนั้น พูดว่าตนก็มีตน พูดว่าของตนก็ของตน พูดว่าตัวกูก็ตัวกู พูดว่าของกูก็ของกู ถ้ามันมีความรู้สึกเช่นนั้นแล้วก็พูดออกมาเช่นนั้น ดังนั้นจึงมีการพูดหรือมีคำพูดว่าตัวตน ในหมู่ชนทั่วไปซึ่งเขาก็พูดกันอยู่เป็นโวหารโลก หากเราฟังกันถูก ในโลกฟังกันถูกในหมู่ชนชาวโลกเมื่อพูดว่าตัวตนว่าของตน แต่พระพุทธองค์ก็ได้ใช้ตรัสด้วยคำเหล่านี้เหมือนกัน แต่ในใจของพระองค์ไม่ได้ยึดถือสิ่งนั้นโดยความเป็นตนหรือเป็นของตน เพราะรู้เห็นอยู่ว่ามันเป็นอะไรเป็นอย่างไรตามที่เป็นจริง มีลักษณะเหมือนกับว่าปากน่ะพูดอย่าง แต่ใจเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน ปากพูดภาษาชาวบ้านกลางตลาดว่าตน ว่าตถาคต อย่างภาษาคนชาวบ้านพูดน่ะแต่ใจไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างที่คนชาวบ้านชาวเมืองเขายึดถือกัน นี่เดี๋ยวนี้พระองค์ก็มาตรัสว่ามีตนเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ก็เท่ากับบอกว่าไอ้คนที่ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวมีตนนั่นแหละจะต้องทำที่พึ่งให้แก่ตน โดยการปฏิบัติธรรมะให้เกิดขึ้นแล้วก็เป็นที่พึ่งให้แก่ตน ถ้าตนเองไม่ทำเพื่อตนแล้วใครจะทำให้ตน นี่มันมีความหมายที่คาบเกี่ยวกันอยู่อย่างนี้ แต่ในธรรมะชั้นสูงพระองค์ตรัสสอนไม่ให้ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นตนหรือเป็นของๆ ตน มีแต่สิ่งที่มิใช่ตนอย่างนี้เป็นต้น เราก็ต้องรู้ ต้องรู้อยู่แก่ใจว่าคำพูดคำนี้หรือประโยคที่กำลังพูดอยู่นี้เป็นคำพูดประเภทไหน เป็นคำพูดอย่างโลกียโวหารของชาวเมือง หรือว่าเป็นคำพูดของผู้รู้ความจริงถึงที่สุดเป็นพระอริยเจ้า แต่ไม่ต้องกลัว เมื่อคนพูดออกมาอย่างไรก็ตาม เราถือเอาความหมายตามสมควรแก่เรื่องนั้นๆ เดี๋ยวนี้พระองค์ตรัสเตือนว่าจงมีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เรื่องมันชัดอยู่แล้วอย่างนี้ มันตัดบท ตัดบทได้เลยว่าถ้าอยากมีที่พึ่งขอให้เอาธรรมะนั่นแหละเป็นตน เอาธรรมะนั่นแหละเป็นตน อย่าเอากิเลสเป็นตน ตามธรรมดาคนเอากิเลสความยึดถือด้วยอุปาทานว่าเป็นตน ข้อนี้ได้แก่กฎของธรรมชาติที่มีอยู่อย่างตายตัวว่า เมื่อใดตัณหาคือความอยากหรือความต้องการเกิดขึ้นเต็มที่ในจิตแล้ว ไอ้ความอยากหรือความต้องการนั้นจะปรุงความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมาคืออุปาทานเป็นตัวกูผู้อยาก เมื่อใดมีความอยากแล้วความอยากนั้นจะปรุงความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมาคือความรู้สึกว่ากู ตัวกูเป็นผู้อยาก ทีนี้คำว่าตัวกูเป็นผู้อยากนี้เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เป็นของปรุงขึ้นมาด้วยความอยากซึ่งมีมาจากอวิชชาความไม่รู้อะไรตามที่เป็นจริงจนไปอยากอะไรเข้าด้วยความโง่ แล้วความอยากอย่างรุนแรงนั้นก็ปรุงความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมาว่ามีกู มีตัวกูซึ่งเป็นผู้อยาก แม้ความอยากนั้นก็อยากเพื่อจะได้มาเป็นของกู เอาละเป็นอันว่าเราเข้าใจกันดีแล้วว่าถ้าเราพูดว่า ตน ตน นี่ มีตัวตนนี่เป็นการพูดอย่างคนธรรมดาสามัญหรือปุถุชนพูด เดี๋ยวนี้ก็พูดอย่างให้คนทุกคนฟัง เราพูดด้วยสำนวนโวหารของคนธรรมดาของชาวบ้านชาวเมือง ก็พูดว่ามีตนเป็นที่พึ่ง เมื่อไม่มีตนเป็นที่พึ่งแล้วมันก็จะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง ใครจะมาเป็นที่พึ่งให้แก่ตนได้ถ้าตนไม่ทำเอง เราก็เลยได้ความว่า เราต้องการคนที่สามารถมีตนเป็นที่พึ่ง ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้จริงโดยมีธรรมะเป็นที่พึ่ง จำไว้ทั้งคู่ว่ามันเป็นคำคู่ว่ามีตนเป็นที่พึ่งมีธรรมะเป็นที่พึ่ง นี้แยกอธิบายกันคนละทีจะฟังง่ายกว่า คือจะพูดในส่วนที่ว่ามีตนเป็นที่พึ่งให้ครบถ้วนเสียทีก่อน ถ้าไม่เกี่ยวกับ ปรมัติธรรมชั้นสูงก็พูดว่าไม่มีตัวตน ก็พูดว่ามีตนทั้งนั้นไม่ว่าบ้านไหน เมืองไหน ชาติไหนภาษาไหน มันก็จะมีคำว่าตนทั้งนั้น เพราะมันเกิดขึ้นมาตามความรู้สึกธรรมชาติ ตามธรรมชาติหรือตามสามัญสัตว์จะเกิด จะเกิดความรู้สึกอันนี้ขึ้นมาได้อย่างที่เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณ คือญาณที่เกิดเอง เช่นว่าเด็กทารกเติบโตจนรู้จักอยากๆๆๆ นั้นก็เกิดความรู้สึกว่า กูๆๆๆ ผู้อยากขึ้นมาได้เอง เดี๋ยวนี้ก็มาเป็นคำสำหรับจะใช้เป็นหลักในการสั่งสอนอบรมไอ้คำว่าตนนี้ มันก็มีสำหรับว่าจะพูดโดยโวหารของชาวบ้านชาวเมือง เอาละเป็นอันว่าเข้าใจกันได้แล้วว่าคำว่า ตน ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร
ทีนี้ก็จะพูดโดยหัวข้อธรรมะ ที่เรียกว่ามีตนเป็นที่พึ่งนั้นมีอะไรบ้าง ขอให้สนใจฟังและกำหนดจดจำไว้ดีๆ อาตมาจะพูดทีละข้อๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับมีตนเป็นที่พึ่งและเป็นหลักธรรมะที่ ก็เป็นหลักธรรมะที่เป็นหลักพระพุทธศาสนาและยิ่งกว่านั้นก็ไปตรงกับหลักจริยธรรมสากลทั่วไปด้วย เรื่องเกี่ยวกับตน ความมีตนเป็นที่พึ่งจะแจกเป็นหัวข้อได้สัก ๙ หัวข้อ เอาแต่สัก ๙ หัวข้อเถอะอย่าให้มันมากไปกว่านั้นเลย
ข้อที่หนึ่งรู้จักตนเอง รู้จักตนเองว่าไอ้ตนๆ นี้มันคือะไร ตัวเองนั้นคือะไร เกิดมาทำไม จะต้องได้อะไร อย่างนี้เรียกว่ามันรู้จักตนเอง ในความหมายของคำว่า knowledge ก็ได้เป็น self-knowledge ก็รู้จักตนเอง แต่ถ้ามันรู้สึกตัวเองอย่างทั่วถึงมากไปกว่านั้นก็จะเรียกว่า awareness self-awareness นี่จะเอาคำไหนก็ได้ นี่คือความรู้จักตนเองว่าคืออะไร เกิดมาทำไม จะต้องได้อะไร
ข้อสอง เคารพตนเอง เมื่อรู้ว่าตนเองคืออะไรก็เคารพตนเองในฐานะเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด สงวนศักดิ์ศรีแห่งตนเองให้เต็มที่ ให้มีความเป็นตนเองที่ไม่บกพร่อง ดูจะตรงกับคำว่า self-respect respect น่ะ นับถือตัวเอง ทีนี้สามก็เชื่อตัวเอง เชื่อตัวเอง มันเคารพตัวเองอย่างเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาแล้ว มันก็มีความเชื่อตัวเอง ธรรมชาติสร้างมาให้ทุกคนมีความรู้สึกอันนี้ได้ คือเชื่อตัวเองว่า พอ หรือสามารถที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุด สำหรับได้สิ่งที่ดีที่สุด เชื่อว่าตัวเองนี้ธรรมชาติสร้างมาอย่างเพียงพอสำหรับจะได้สิ่งที่ดีที่สุด จะเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองได้ จะไปช่วยผู้อื่นก็ได้ ถ้าไม่มีความเชื่อในตัวเองมันก็เป็นคนไม่มีกำลังใจอะไร ถ้ามีความเชื่อหรือแน่ใจในตัวเองมันก็มีกำลังเต็มที่นี่ มัน self-confidence, self-confidence เชื่อตัวเอง ทีนี้ต่อไปมันก็ซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่กบฏตัวเอง ไม่ขายตัวเอง มีความซื่อตรงต่อตัวเอง ให้เป็นตัวเอง ของตนเองไม่ใช่ของกิเลส คนไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่ซื่อตรงต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง เขาไม่ทำอะไรให้มันสมกัน หรือต้องมีความซื่อตรงต่อตนเองแล้วมันก็จะเป็นเหตุให้บังคับตัวเอง มันไม่ปล่อยให้ไปตามอำนาจของกิเลส มันบังคับตัวเองเอาไว้ได้ในร่องในรอย บังคับจิตหรือบังคับกิเลสก็เหมือนกันแหละ บังคับจิตก็คือบังคับกิเลสซึ่งเป็นคำที่แพร่หลายมากเป็น self control บังคับตัวเอง ต่อไปก็เป็นความพอใจตัวเอง บังคับตัวเองได้เท่าไหร่ก็จะมีความพอใจในการกระทำเช่นนั้น ในการกระทำได้เช่นนั้น พอใจในตัวเอง ชอบใจตัวเอง contentment เป็น self-contentment มันชอบใจตัวเองพอใจตัวเอง ทีนี้ข้อต่อไปก็คือเป็นสุขได้ด้วยตนเอง มีความเป็นสุขของตนเอง ด้วยตัวเอง ในตัวเองที่เกิดมาจากความพอใจนั่น
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า พึ่งตนเองได้ เป็นผู้ที่พึ่งตัวเองได้ มีตนเป็นที่พึ่งอยู่ที่ตรงนี้เอง ในที่สุดก็รับผิดชอบตัวเองเป็นข้อสุดท้ายมีความรับผิดชอบตัวเอง เพราะว่าในบรรดาสิ่งที่ธรรมชาติต้องการให้มีให้เป็น แก่ตัวเอง เพื่อตัวเอง โดยตัวเองแล้วเราก็สามารถมี มีได้ รับผิดชอบของตัวเอง รับผิดชอบต่อเกียรติยศของตัวเอง รับผิดชอบนี้รับผิดชอบแก่ผู้อื่น ยืนยันแก่ผู้อื่นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองได้ แก่สังคมทั้งหมดก็ได้ว่าข้าพเจ้ารับผิดชอบตัวเอง ข้าพเจ้าขอยืนยันในความรับผิดชอบของตัวเอง นี่เป็นหลักธรรมะในพุทธศาสนาได้ทุกข้อ แล้วก็เป็นหลักจริยธรรมสากลพร้อมกันไปด้วย ยังเป็นสิ่งที่น่าจะสนใจเป็นพิเศษ
ไล่มาตามลำดับก็คือว่ารู้จักตนเอง เคารพตนเอง เชื่อตนเอง ซื่อตรงต่อตนเอง บังคับตนเอง พอใจตนเอง เป็นสุขได้ด้วยตนเอง รับผิดขอบตัวเองยืนยันในข้อนี้ ถ้าเป็นได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้ทำตนให้เป็นตน ชนิดที่พึงปราถนา เราต้องการยุวชนชนิดนี้ ต้องการยุวชนชนิดที่ประกอบด้วยธรรมะ ๙ ประการนี้ ในฝ่ายที่เรียกว่ามีตนเป็นหลัก มีตนเป็นที่พึ่งอาศัย คิดว่ารอดตัว ลองคิดดูถ้าว่ามีคุณสมบัติ ๙ ประการนี้ครบถ้วนแล้วมันจะมีปัญหาอะไร แล้วมันยังแน่นแฟ้นถึงกับจะยืนยันกับผู้อื่นได้ด้วย
ทีนี้ก็ต่อไปๆ ว่ามีตนเป็นที่พึ่งนั่นแหละคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ทีนี้มามองในแง่ของธรรมะ มองในแง่ตนพอแล้ว มองในแง่ของธรรมะ ข้อแรกมีธรรมะเป็นตน ข้อแรกมีธรรมะเป็นตน ปุถุชนทั้งหลายมีกิเลสเป็นตน คนที่เป็นคนธรรมดาสามัญปุถุชนทั้งหลายน่ะเขามีกิเลสเป็นตน มีตัณหาอยู่ความอยากแล้วความอยากก็สร้างความรู้สึกว่าตนขึ้นมา ก็เลยเป็นตนของกิเลส แต่เดี๋ยวนี้ผู้นี้เขามีธรรมะเป็นตน หลักธรรมะที่มีอยู่ในธรรมชาติ เอาธรรมะนั่นแหละมาเป็นตน เลยได้ชื่อว่ามีธรรมะเป็นตน เราอยากให้ยุวชนของเรายึดหลักความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม ความยุติธรรมอะไรแล้วแต่จะเรียก ต้องการให้ยุวชนของเรายึดสิ่งเหล่านี้เป็นหลักคือเป็นตัวตน เป็นคุณสมบัติของยุวชนที่มีธรรมะเป็นตัวตน แล้วเป็นยุวชนที่พึงปรารถนา ทีนี้ข้อสองอาศัยหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุตรที่ประเสริฐคือบุตรที่เชื่อฟังหรือบุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐ ความหมายมันอยู่ที่เชื่อฟังน่ะ ธรรมะเนื้อหาอยู่ที่คำว่าเชื่อฟัง ถ้ามันไม่ฟังใครเอาซะเลยจะเป็นอย่างไร คิดดูมันไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เชื่อฟังใครเลยแม้แต่สักคนเดียว เป็นผู้เชื่อฟังหรือรับฟังความคิดความเห็นของผู้อื่น ท่านตรัสเรื่องบุตร บุตรที่ดีกว่าบิดามารดา บุตรที่เสมอกับบิดามารดา บุตรที่เลวกว่าบิดามารดา แม้ว่าจะเป็นดีกว่าบิดามารดาถ้าไม่เชื่อฟังก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร นั้นเอาบุตรที่เชื่อฟังกันดีกว่า ซึ่งบิดามารดาจะสามารถนำไปได้ แม้เขาจะยังต่ำต้อยกว่าบิดามารดาก็นำไปได้ พอเสมอกับบิดามารดาก็นำไปได้ ถ้าเขาดีกว่าบิดามารดา เก่งกว่าบิดามารดา บิดามารดาก็ยังนำไปได้ไม่จองหอง ไม่ยกตนข่มบิดามารดา จึงได้กล่าวความข้อนี้ว่าบุตรที่เชื่อฟังนั่นแหละคือบุตรที่ประเสริฐที่สุดกว่าบุตรทั้งหลาย ที่เราว่าต้องการยุวชนชนิดนี้คือยุวชนที่เชื่อฟัง ไม่ใช่ที่เชื่อฟังอย่างงมงาย ทำอะไร หลับหูหลับตาเชื่อ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ขอให้ยอมรับฟังและยอมพิจารณา ยอมพิจารณาความประสงค์ของบิดามารดา แม้ว่าเดี๋ยวนี้มีความประสงค์ไม่ตรงกันแต่ก็พูดกันได้พูดกันจนรู้เรื่องจนทำให้เป็นไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าจะอวดดี ว่าตัวเองเรียนมามากมีความรู้มาก บิดามารดาไม่ได้เรียนอะไรยังโง่เง่าแล้วก็ไม่ยอมฟังความคิดความเห็นแล้วบางทีก็ ดูถูกดูหมิ่นข่มเหงบิดามารดาเสียด้วย อย่างนี้ไม่ต้องการ ต้องการว่าแม้จะเป็นคนฉลาดซักเท่าไหร่ก็ขอให้ฟัง ยอมรับฟังแก่บิดามารดาหรือผู้ที่มีฐานะเสมือนหนึ่งบิดามารดา คือบิดามารดาโดยอ้อมก็ได้ ทีนี้ก็จะเป็นยุวชนที่อาจจะอบรมได้ บุคคลที่อาจจะอบรมได้เรียกว่านัยยะบุคคล นัยยะบุคคล บุคคลนี้เป็นบุคคลที่ผู้รู้สามารถนำไปได้ คือสอน อบรม ชี้แจงแล้วก็นำไปได้เรียกว่านัยยะ เราต้องการยุวชนที่เป็นนัยยะ คือครูบาอาจารย์สามารถนำไปได้ ไม่เป็นบุคคลกระด้างที่ใครๆ ก็นำไปไม่ได้นอกจากกิเลสของเขาเอง กิเลสของเขาเองนำเขาไปเอง ไปลงนรกหรือไปลงอะไรกันก็สุดแท้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องการบุคคลที่วิญญูชนจะพึงนำไปได้จะเป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์ใครก็ตามสามารถจะนำเขาไปได้ ในเมื่อเขายังเดินไม่ถูกทาง หรือว่าเขามันยังเป็นยุวชนอยู่ ยังอ่อนอยู่ด้วยวัย อ่อนอยู่ด้วยกำลังจิตใจ อ่อนอยู่ด้วยกำลังปัญญา แต่อยู่ในลักษณะที่อาจจะนำไปได้ อาจจะอบรมได้ ที่เขาเรียกว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่งเหมือนกัน ความที่เขามีธรรมะนั่นแหละเป็นเหตุให้เขาเชื่อฟังผู้ที่ควรจะเชื่อฟัง และเป็นเหตุให้เขาอยู่ในลักษณะที่นำไปได้จูงไปได้พาไปได้ ทีนี้สรุปว่ายุวชนชนิดนี้ประกอบอยู่ด้วยสัปปุริสธรรม
ธรรมะหมวดหนึ่งมีความสำคัญมากเรียกว่าสัปปุริสธรรม คือธรรมะหรือลักษณะธรรมดาสามัญของสัตบุรุษ คำว่าสัตบุรุษนี้ก็แปลว่าผู้มีความสงบระงับ ไม่มีพิษร้าย ไม่มีความฟุ้งซ่านด้วยกิเลส เพราะมีกิเลสสงบระงับ เพราะว่ากิเลสถูกทรมาน กิเลสถูกกำจัด ถูกล้างถูกเพิกถอน มีกิเลสสงบระงับเรียกว่า สัปปุริสธรรม คำในภาษาบาลีเรียกว่า สัปปุริสะ หรือเป็นสัตบุรุษ ๆ ก็มีความหมายอย่างเดียวกันน่ะ จะสัปปุริสะ หรือสัตบุรุษก็มีความหมายอย่างเดียวกันคือเป็นผู้สงบระงับ ในบางยุคบางสมัยคำว่าสัตบุรุษนี่เป็นชื่อของพระอรหันต์ไปเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ในทางภาษาไทยเรา สัตบุรุษนี้เอาเพียงว่าผู้ที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมตามสมควรแล้ว แม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็เรียกว่า สัตบุรุษได้เหมือนกัน ในยุคพระเจ้าอโศกที่เขาค้นพบพระธาตุของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ที่ผอบที่บรรจุพระธาตุนั้นมีจารึกว่าเป็นสรีระ เป็นพระธาตุของพระสารีบุตรผู้เป็นสัตบุรุษ เป็นสรีระของพระโมคคัลลานะผู้เป็นสัตบุรุษ สัปปุริสะสัตบุรุษ สัปปุริสะโมคคัลลานะสะ สรีรัง คือเอาเป็นชื่อของพระอรหันต์ไปเลย คือเดี๋ยวนี้เราลดความหมายของคำๆ นี้ลงมามากทีเดียวเพียงแต่ว่าเข้าวัดเข้าวาสักหน่อยก็เป็นสัตบุรุษได้ๆ ก็ควรจะยึดหลักไว้มั่นคงเพียงพอว่าสัตบุรุษนี้ต้องเป็นผู้สงบระงับ มีกิเลสที่สงบระงับ ธรรมที่เหมาะสมสำหรับความเป็นสัตบุรุษนี้เรียกว่าสัปปุริสธรรม เป็นธรรมที่แพร่หลายบางคนก็จำได้อยู่แล้วด้วยซ้ำไป แต่อาตมาก็เอามาพูดอีกเพราะว่าเอามาเน้นในฐานะเป็นหลักสำคัญที่ยุวชนจะพึงมี สำหรับยุวชนจะพึงมีสัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งเขาไม่ได้หมายเฉพาะยุวชน เขาหมายถึงคนทั่วไปแต่เดี๋ยวนี้ยุวชนก็คือคนที่จะเติบโตขึ้นเป็นคน ชาวโลกชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ก็ควรจะรู้เรื่องสัปปุริสธรรมไว้ล่วงหน้า เป็นอันว่าทั้งคนแก่ คนเฒ่า คนปูนกลางหรือคนยังหนุ่ม ยังเป็นยุวชนควรจะยึดหลักสัปปุริสธรรม ๘ ประการนี้ไว้ให้มั่นคง เป็นหลักธรรมที่ชัดเจนมากที่พอพูดแล้วก็จะมองเห็นได้ด้วยตนเองเป็นสันฐิติโกว่าเป็นธรรมที่มีคุณค่าอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร และสามารถจะปฏิบัติได้ไม่เหลือวิสัยอย่างไร
สัปปุริสธรรม ๗ ข้อหนึ่งเป็นผู้รู้จักเหตุ บาลีเรียกธัมมัญญูเป็นผู้รู้จักเหตุ ธรรมเหล่าใดเป็นเหตุซึ่งเป็นเหตุให้เกิดธรรมเหล่าอื่นน่ะ รู้จักธรรมเหล่านั้นดี โดยคำพูดธรรมดาสามัญก็คือว่ารู้จักส่วนที่เป็นเหตุ ที่เป็นมูลเหตุ ที่เป็นรากเหง้า ที่เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัย อย่างนี้เรียกว่าเหตุ ธรรมะคือธรรมชาติส่วนที่เป็นเหตุ รู้จักเหตุเรียกว่าธัมมัญญู ที่นี้สองก็รู้จักผล รู้จักส่วนที่เป็นผล ที่มันเป็นเหตุแล้วมันก็ให้เกิดผล มันจึงรู้จักแยกให้เห็นชัดไม่ปนกันยุ่งเลอะเทอะ อย่างนี้เป็นเหตุอย่างนี้เป็นผล อย่างนี้เป็นเหตุอย่างนี้เป็นผล ถ้ารู้จักผลก็หมายความว่ารู้ว่ามันมาแต่เหตุอะไร ถ้ารู้จากเหตุก็รู้ว่ามันจะให้เกิดผลอะไร ถ้ารู้จากเหตุต้องรู้ไปจนถึงว่ามันจะให้เกิดผลอะไรขึ้นมา ถ้ารู้จากผลก็หมายความว่า รู้ว่าผลอันนี้มันเกิดมาจากเหตุอะไร แต่โดยที่เหตุกับผลไม่ใช่สิ่งเดียวกันท่านจึงแยกออกเป็นสองคำ อย่างที่หนึ่งรู้จักเหตุ อย่างที่สองรู้จักผล อย่างที่สามรู้จักตน ตนเอง อ้อ! อย่างที่รู้จักผลนั้นเรียกว่าอัตถัญญู อัตถัญญูรู้จักผล นี่รู้จักตน อัตตัญญูรู้จักตนว่าตนมีอยู่อย่างไร อยู่ในสถานะเช่นไร มีปัญหาอะไร มีหน้าที่อย่างไร รู้จักตัวเองในทุกแง่ทุกมุม ก็เพื่อจะได้ใช้ตัวเองให้มันถูกกับเรื่องกับราว หรือจะได้จัดการให้แก่ตัวเองให้มันถูกเรื่องถูกราวเพื่อจะสามารถดำรงตนได้เป็นอย่างดี นี่ต้องการให้รู้จักตนคือ อัตตัญญู
ทีนี้ข้อสี่ รู้จักความพอดี อะไรเป็นประมาณที่ถูกต้องและพอดีไม่มากไม่น้อย พอดีกับอะไร อะไรพอดีกับอะไร เรียกว่ามัตตัญญู มัตตัญญูแปลว่ารู้จักมาตรา รู้จักมาตราชั่งตวงวัดน่ะ ว่าอะไรเท่าไหร่จึงจะพอดี แม้ที่สุดแต่แม่ครัวเขาจะทำเครื่องแกง เขาสำรวจใส่อะไรเท่าไหร่พอดี ใส่อะไรเท่าไหร่พอดี ใส่อะไรเท่าไหร่พอดี อย่างนี้ก็สงเคราะห์เข้าในมัตตัญญูนี้ได้ คือรู้จักอัตราส่วนที่พอดีสำหรับเรื่องนั้นๆ พอดีกับตนเอง พอดีกับผู้อื่น พอดีกับทุกคน พอดีกับสถานะการณ์ พอดีกับไอ้เหตุการณ์อะไรก็ตามเรียกว่ารู้จักพอดี รู้จักประมาณก็ได้ แต่บาลีเขาใช้คำว่ามัตตะ มัตตะ
ต่อไปก็รู้จักเวลา รู้จักกาละ รู้จักเวลาเรียกว่ากาลัญญู กาลัญญู เวลาคืออะไร แล้วก็รู้ว่าเวลาไหนควรจะทำอะไร สิ่งนี้ควรจะทำเสร็จในเวลาเท่าไหร่ รู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาทุกอย่างเลย เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ทันแก่เวลาเสมอ แต่ข้อนี้อาจจะอธิบายไกลลึก ๆ ไปจนถึงเรื่องของพระอรหันต์ก็ได้ คือรู้จักเวลาว่าคืออะไรแล้วก็กินเวลานั้นเสียได้ คือให้เวลาหมดความหมาย ทำให้เวลาหมดความหมายนี่ยากมาก ก็เคยพูดมาบ้างแล้วคงจะจำได้ว่า ไอ้เวลาๆ นี้มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อมีความอยากๆ จะได้อะไรแล้ว มันก็จะมีเวลาเกิดขึ้นคือกว่าจะได้สมอยาก ระหว่างความอยากกับความได้สมอยากอันนั้นแหละเรียกว่าเวลา ถ้าไม่มีความอยากอะไรแล้วก็เวลาไม่มีล่ะเวลาไม่มี เช่นเมื่อนอนหลับนี่ไม่อยากอะไร เวลาก็ไม่มี จะมีความต้องการเท่าไรเวลาก็ยิ่งมีเท่านั้น ยิ่งต้องการมากเวลาก็ยิ่งมีแรง อย่างที่เรียกว่าเวลามันน้อย เวลามันสั้น เวลามันไม่พอ เพราะว่าความอยากนั่นเอง อย่าเข้าใจผิดไปว่าเวลานี่เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ แต่เวลานั้นแหละเป็นเรื่องที่กัดกินจิตใจหัวใจของคนให้มีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ระหว่างจุดสองจุดคือจุดที่เขาอยากจะได้แล้วไปกว่าถึงจุดที่เขาได้นั้นน่ะ ระหว่างนั้นน่ะคือเวลา แล้วมันกัดกินคนอย่างดุร้ายซักกี่มากน้อยขอให้ลองคิดดู แม้ว่าในกรณีปกติตามธรรมดา เราก็ถือนาฬิกามันก็เดินอยู่ก็เลยหารู้ไม่ว่าไอ้ที่นาฬิกาเดินน่ะมันมีความหมายเพราะอะไร นาฬิกาเครื่องมือสำหรับบอกให้รู้ระยะกาลของไอ้สิ่งที่มันจะเปลี่ยนแปลง จะปรุงแต่ง เพราะเรามีความรู้สึกอยากหรือรู้สึกต้องการอยู่เป็นประจำในสันดาน ในชีวิตจิตใจ เราจึงมีความรู้สึกเรื่องเวลาวันคืนล่วงไป ถ้าเราไม่มีปัญหาอะไรไอ้เวลาวันคืนก็ไม่มีปัญหาอะไร เดี๋ยวนี้เรามีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แม้แต่จะมองในแง่ไหน ต้องการจะได้อะไรหรือต้องการจะไม่ให้อะไรเกิดขึ้น ไอ้ความต้องการเหล่านั้นมันกัดกินจิตใจเรื่อยไปจนกว่าจะได้ตามต้องการ หรือจนกว่าจะเลิกร้างความต้องการนั้นเสียได้โดยวิธีใดก็ตาม แต่พระอรหันต์ท่านเลิกร้างไอ้ความต้องการเสียได้ด้วยการทำความสิ้นไปแห่งกิเลส พอมีความสิ้นไปแห่งกิเลสไอ้เวลามันก็ไม่มี นี่จะรู้จักเวลา รู้จักเรื่องของเวลาลึกซึ้งถึงขนาดนี้ก็ได้ ก็ยิ่งดีเรียกว่ารู้มากทีเดียว แต่เอาตามธรรมดาๆ รู้เพียงว่า เวลานี้ควรทำอะไร เวลานี้ไม่ควรทำอะไรก็นับว่าดีมากอยู่แล้ว เพราะบางคนไปทำไอ้สิ่งที่ไม่ควรทำในเวลานั้นๆ มันกลับเสียหาย ถึงกับเป็นกับตายก็ได้ ถ้ามันไม่รู้เวลาที่ควรกระทำ นั้นการรู้เวลาที่ควรกระทำเป็นการช่วยให้ทำสำเร็จได้โดยง่าย ทำให้เหมาะแก่เวลามันก็ไม่เสียเวลามาก ไม่เหนื่อยมากเป็นต้น นี่รู้จักเวลา เราต้องการให้ยุวชนเป็นผู้รู้เรื่องเวลา
ข้อต่อไป รู้จักบริษัทอย่างที่เดี๋ยวนี้ก็จะเรียกว่าสังคมๆ ในบาลีนี้เรียกว่าบริษัท เรียกว่าปริสัญญู ปริสัญญู รู้บริษัท ไอ้คำว่าบริษัท บริษัทนี่หมายถึงกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์หรือความต้องการอย่างเดียวกัน คำว่าบริษัทๆ มันคือมานั่งล้อมรอบวงวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่จะทำบริษัทอะไร ถ้าบริษัทหมายถึงส้วม ก็มันป็นที่ ๆ ทุกคนจะต้องไป หรือถ้าเป็นบริษัทค้าขายมันก็เรื่องที่ทุกคนเขารวมหัวกันเพื่อจะหากำไร มีอาการว่าหลายคนมารวมกันในวัตถุประสงค์อันเดียวกัน นั่นแหละคือคำว่าบริษัท เป็นพุทธบริษัทก็แวดล้อมรอบ ๆ พระพุทธเจ้า ถ้าบริษัทการค้าก็แวดล้อมรอบๆ วัตถุประสงค์ของการค้าอย่างนี้เป็นต้น ใช้กับบริษัทอะไรก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ หรือเป็นเทวดา เป็นพรหมอะไรก็ได้ ก็เรียกว่าบริษัทเหมือนกัน บริษัทเทพ บริษัทพรหม นี่ก็แสดงว่าในโลกนี้มีการจับกลุ่มกันเป็นบริษัทเพื่อให้เกิดกำลังมาก ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักบริษัท อย่าทำสีสากับใครมันจะเป็นผลร้าย นั้นยุวชนของเราควรจะรู้จักสังคมหนึ่งๆ หรือบริษัทหนึ่งๆ แล้วก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคมหรือบริษัทนั้น ๆ ให้ถูกต้อง ให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ตามที่ควรจะได้
ทีนี้ข้อสุดท้าย รู้จักบุคคลแต่ละคน รู้จักบุคคลแต่ละคน ถ้าจะรู้จักบริษัทดีก็จะต้องรู้จักบุคคลแต่ละคนที่ประกอบกันเป็นบริษัทนั้นได้อย่างดี นี่ข้อนี้เอามาไว้เป็นข้อสุดท้ายว่ารู้จักบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างดี เรามีครอบครัวซึ่งประกอบด้วยคนหลายคน หลายคนอยู่ในครอบครัว ถ้ารู้จักบุคคลแต่ละคนดี มันก็ง่ายหรือสะดวกที่จะอยู่กันอย่างเป็นครอบครัวที่ดีมีความสุข หรือว่าเราจะไปติดต่อกับบริษัทใหญ่ๆ คนมากๆ เราต้องแยกออกเป็นคนๆ เป็นคนๆ รู้จักบุคคลแต่ละคนให้ถูกต้อง แล้วก็ผ่านบุคคลแต่ละคนนั้นเข้าไปให้ถูกต้อง ก็จะสามารถเอาชนะคนทั้งหมู่ทั้งคณะทั้งบริษัทนั้นได้ คำนี้เรียกชื่อยาวมาก เรียกว่า ปุคคลปโรปรัญญู ปุคคลปโรปรัญญู
เอ้า! ทบทวนอีกทีว่า ธัมมัญญู-รู้จักเหตุ อัตถัญญู-รู้จักผล อัตตัญญู-รู้จักตน มัตตัญญู-รู้จักประมาณ หัตตารันยู กาลัญญู-รู้จักเวลา ปริสัญญู-รู้จักบริษัท ปุคคลปโรปรัญญู-รู้จักบุคคลหนึ่งๆ แต่ละคนๆ ถ้าจะท่องจำให้ขึ้นปาก คล่องปากก็ใช้ภาษาไทยก็ได้ จะว่าให้ฟัง คอยฟัง เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล - เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล นี้ท่องง่ายจะตายไปโดยภาษาไทย เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล เด็กๆ ก็ควรจะท่องได้ แล้วเราก็ควรจะอบรมลูกเด็กๆ ให้มันประกอบไปด้วยความรู้เหล่านี้ ให้มีคุณสมบัติรู้จากสิ่งเหล่านี้แล้วเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายลองคิดดู ถ้าเด็กคนหนึ่งมันเป็นคนที่มีความรู้ ๗ ประการนี้อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน อย่างเพียงพอ แล้วเด็กคนนั้นจะเป็นคนอย่างไร มันก็จะเป็นมนุษย์แห่งความสำเร็จ เป็นมนุษย์แห่งความสำเร็จ มันจะทำอะไรสำเร็จไปทั้งนั้นเลย ถ้ามันรู้จักธรรมะ ๗ ประการนี้ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม นี่เราต้องการยุวชนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม จะเอาข้ออื่นมาประกอบกันเข้าด้วยก็ได้เพราะมันยังมีอีกหลายทิศทางให้เราต้องการผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นยุวชนผู้มีธรรมเป็นที่พึ่งคือว่าเพราะมีธรรมะเป็นตน เขาเป็นบุตรที่เชื่อฟัง เขาเป็นยุวชนที่อาจจะอบรมได้ คืออาจจะรับการอบรมได้ แล้วให้เขาดำรงตนอยู่ในสัปปุริสธรรม ๗ ถ้าเขาดำรงตนอยู่ในสัปปุริสธรรม ๗ ไอ้ข้อนอกนั้นเป็นของเล่นๆ ไปหมดเลย
นี่เรียกว่ามีธรรมเป็นที่พึ่ง ทบทวนอีกทีนะ มีตนเป็นที่พึ่งก็คือ รู้จักตนเอง รู้จักเคารพตนเอง ให้เชื่อว่าตนเองซื่อตรงต่อตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตนเอง เป็นสุขได้ด้วยตนเอง รับผิดชอบของตัวเอง ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งก็คือมีธรรมะเป็นตน มีความเป็นคนเชื่อฟัง เป็นคนที่อาจจะรับการอบรมสั่งสอนได้ แล้วก็ดำรงตนอยู่ในสัปปุริสธรรม ๗ เราเอาทั้งสองอย่างนี่ เอาทั้งที่มีตนเป็นที่พึ่งและมีธรรมะเป็นที่พึ่ง แล้วทีนี้ก็มาพิจารณาดูว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันอย่างไร ไอ้มีตนเป็นที่พึ่งกับมีธรรมะเป็นที่พึ่งนี่มันเป็นสิ่งเดียวกันอย่างไร อาจจะมองเห็นเป็นคนละอย่างก็ได้ บางคนน่ะอาจจะมองเห็นเป็นคนละอย่างก็ได้ แต่ถ้าพิจารณาตามที่กล่าวมาแล้วมันเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน มีตนน่ะคือมีธรรมะเป็นตน เราก็เลยมีตนเป็นที่พึ่งก็เพราะมีธรรมะเป็นตน ไอ้คำว่าตนนี่เป็นคำลึกลับพิเศษมาก มันมีในภาษาพูดด้วยกันทุกภาษา แต่สำหรับภาษาอินเดีย ภาษาอินเดียน่ะมันมีคำเรียกว่า อัตตา อัตตาแปลว่าตัวตน นี้ถ้ามองทางสรรพศาสตร์คือมองทางวิชาถ้อยคำ ไอ้รากศัพท์ของคำว่าอัตตานี้เขาลงมติกันว่ามาจาก อัสสะธาตุ อัสสะธาตุ(นาทีที่59:50)ซึ่งแปลว่ากิน ดังนั้น คำว่าอัตตา อัตตาก็คือผู้กินๆ ตัวตนน่ะคือผู้กิน ไปคิดเอาเองก็แล้วกันว่ากินอะไร กินอย่างไร จะได้มาจากไหนกิน แต่คำว่าอัตตาหรือตัวตนนี้คำนี้แปลว่าผู้กิน ฟังดูก็ดุร้ายก็น่ากลัว ถ้าไปมีอัตตากับมันๆ ก็กัดเอาจริงๆ ด้วยเหมือนกัน อัตตาแปลว่าผู้กิน มันก็อยากกิน แล้วมันก็เห็นแก่กิน อัตตานี่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้วจะเป็นผู้กิน แล้วก็จะเห็นแก่กิน แล้วในที่สุดก็จะเห็นแก่ตัว ไอ้ตัวอัตตา นี่สำหรับภาษาบาลี ซึ่งเป็นต้นตอของถ้อยคำที่มาใช้กันอยู่ในประเทศไทย ที่ว่าตนๆ ไอ้ตนแท้ๆ น่ะมันเป็นผู้กินจะพึ่งอะไรมันได้แต่ว่าถ้าตนที่มีความหมายว่าเกิดมาจากความอยาก ความต้องการและเป็นผู้อยาก เป็นผู้ต้องการอย่างนี้ยังพอจะพูดกันรู้เรื่อง คือเขาจะต้องทำให้ได้ตามที่ต้องการ ตัวตนมีความต้องการก็ต้องทำให้ได้ตามที่ต้องการแล้วก็เป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงาม ตนก็เป็นสิ่งที่น่ารักน่าดู แต่ถ้าตนที่แปลว่าผู้กินเห็นแต่แก่จะกินแล้วมันก็ดุร้ายน่าเกลียดน่ากลัว ตนที่อบรมดีแล้วก็คือตนที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะทุกข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เอาธรรมะเหล่านั้นแหละเป็นตน อย่าเอากิเลสเป็นตน กิเลสมันคือความรู้ที่ผิดๆ ธรรมะหรือโพธินี้เป็นความรู้ที่ถูกๆๆ ถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้องน่ะเป็นธรรมะเป็นโพธิ เท่านี้เป็นต้น ถ้ากิเลสเป็นความรู้ที่เห็นผิด เข้าใจผิดแล้วก็เอาไปตามความผิดๆ อย่างนี้ก็อันตราย ตนที่มีธรรมะเอาธรรมะเป็นตน มันก็พึ่งตนนั่นเอง พึ่งธรรมะนั่นเอง เราจึงต้องการยุวชนที่มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่งพร้อมกันไปเป็นเรื่องเดียวกันไป ถ้าพูดถึงการทำที่พึ่งให้แก่ตนก็คือการทำให้ตนเองมีธรรมะ ถ้าใครจะทำที่พึ่งให้แก่ตนก็จงทำตนให้มีธรรมะ การทำตนให้มีธรรมะนั้นน่ะคือการทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน นั้นธรรมะเป็นตนที่ดีที่สุด ธรรมะจะช่วยตนเหมือนพระเจ้า เหมือนพระเป็นเจ้าจะช่วยตนนั่นน่ะคือธรรมะ ที่ประพฤติอย่างถูกต้องนั่นแหล่ะมันก็เป็นที่พึ่งแก่ตน ก็เลยได้ความว่ามีตนเป็นผู้ช่วยตน ใครจะเป็นที่พึ่งแก่ตนก็ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน ถ้าตนไม่เป็นที่พึ่งแก่ตนแล้วน่ะใครอื่นจะมาเป็นที่พึ่งได้ นี้ความหมายของคำว่าตน เมื่อเข้าใจถูกต้องมันก็เป็นไปในทางที่จะสำเร็จประโยชน์เพื่อช่วยตนได้ ถ้าเข้าใจผิดมันก็ดีแก่เห็นแก่ตน เห็นแก่กิเลสไปหมด ก็เป็นเรื่องกิเลส มันก็จมลงไปในกองทุกข์ผุดขึ้นมาไม่ได้ นี่เราต้องการยุวชนที่มีตนเป็นที่พึ่งและมีธรรมะเป็นที่พึ่ง
เอ้า! ตอนท้ายนี้มาดูกันอีกสักหน่อยตอนจบว่า ยุวชนนี่มีความสำคัญอย่างไรที่เราต้องสนใจเรื่องยุวชน ยุวชนนั้นน่ะคือผู้ที่จะสร้างโลกในอนาคต เดี๋ยวนี้เป็นยุวชนอยู่ ศึกษาอยู่เสร็จแล้วก็จะเป็นผู้บันดาลโลกในอนาคตให้เป็นอย่างไร ถ้ายุวชนดี ถูกต้องมันก็จะบันดาลโลกให้น่าดูน่าอยู่ ให้มีแต่สันติสุข ยุวชนมีความสำคัญในข้อที่ว่าโลกในอนาคตน่ะมันขึ้นอยู่กับยุวชนในปัจจุบัน ในอนาคตยุวชนนั้นจะแสดงบทบาทเป็นผู้สร้างโลกแล้วแต่ยุวชนแต่ละคน ๆ จะเป็นอย่างไร ถ้าโชคดีมียุวชนเป็นยุวชนที่ดี คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่งแล้วไอ้โลกนี้มันก็ดี ธรรมชาติให้มีการสืบพันธุ์ไม่สูญพันธุ์ ยุวชนมันก็ยังมีอยู่เรื่อยไป แล้วมันก็จะเป็นผู้นำโลกให้เป็นไปตามที่ยุวชนมันเป็นอย่างไร นี่มันเป็นข้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ว่ายุวชนมันต้องมีนี่เพราะมันมีการสืบพันธุ์เรื่อยไป ถ้ายุวชนเหล่านั้นได้รับการอบรมดีมันก็ช่วยกันสร้างโลกที่ดี นั้นมีความสำคัญมาก
การที่ว่าเราได้เกี่ยวข้องกับยุวชนในฐานะอบรมยุวชนนั้นแหละคือการบำเพ็ญกุศลอันใหญ่หลวง การที่มีหน้าที่จัดเตรียมยุวชนในบัดนี้ให้ดีนั้นแหละคือการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลอย่างใหญ่หลวงที่สุดเลยที่ช่วยสร้างโลกที่ปลอดภัยในอนาคต นั้นจึงหวังว่าทุกคนคงจะไม่ละเลยยุวชน จะเอาใจใส่ในยุวชนเต็มตามหน้าที่หรือตามสามารถของตนๆ บิดามารดาปั้นยุวชนขึ้นมาในตอนแรกเป็นครูคนแรก แล้วต่อมาก็ครูที่โรงเรียนปั้นยุวชนต่อไป แล้วตามธรรมเนียมเก่าต่อไปก็พระเจ้าพระสงฆ์ที่วัดวาอารามนั่นแหละจะปั้นยุวชนต่อไป บิดามารดาเป็นครูคนแรก ครูบาอาจารย์เป็นครูชุดที่สอง พระเจ้าพระสงฆ์เป็นครูบาอาจารย์ชั้นที่สาม
ถ้ามีการกระทำถูกต้องทั้งสามขั้นตอนคือทั้งตอนที่บิดามารดา ตอนที่ครูบาอาจารย์ ตอนที่เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ ถูกต้องหมดแล้วมันก็เป็นโชคดีที่สุดของมนุษย์ จึงควรจะถือว่าครูบาอาจารย์น่ะ ครูบาอาจารย์ชั้นหนึ่ง ชั้นสองหรือชั้นสามก็ตาม ครูบาอาจารย์นั้นคือผู้ที่ทำยุวชนให้เป็นยุวชนตามหน้าที่ของตน ครูที่หนึ่งคือบิดามารดา ครูที่สองครูบาอาจารย์ ครูที่สามพระเจ้าพระสงฆ์ ครูทั้งสามชั้นนี้คือผู้ที่ทำยุวชนให้เป็นยุวชนถูกต้องตามความหมายของตน นั่นคือช่วยกันสร้างโลกให้งดงาม ขอให้ทุกคนยินดีพอใจ ถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวจะอบรมยุวชนแล้วในแง่ไหนปริยายไหนก็ตามใจ ขอให้ช่วยกันให้เต็มไม้เต็มมือ
จริยธรรมคือสิ่งที่ต้องมอบหมายให้แก่ยุวชน เดี๋ยวนี้เรากำลังมีปัญหาจัดหลักสูตรจริยธรรมให้แก่ยุวชน เราก็รู้มองเห็นอยู่ คือมองเห็นอยู่ว่าจริยธรรมคือสิ่งที่ต้องมอบหมายให้แก่ยุวชนในฐานะเป็นมรดก นี่พูดโดยกว้างๆ ในฐานะเป็นมรดกที่จะรับสืบต่อไป ถ้าจะพูดให้แคบเข้ามาหรือเข้าข้างตัวสักหน่อยก็ว่า คือแก้วสารพัดนึกที่จะช่วยยุวชนให้รอด จริยธรรมนั้นน่ะจะได้มี จะได้กลายเป็นแก้วสารพัดนึกที่ช่วยยุวชนให้รอด เราจัดหาจริยธรรมที่ดีที่ถูกต้องให้แก่ยุวชน ก็เท่ากับช่วยจัดหาแก้วสารพัดนึกคือให้ดีได้ตามความประสงค์ทุกอย่างๆ ให้แก่ยุวชน นับว่าเป็นกุศลอันใหญ่หลวงแก่ผู้ที่ได้ทำหน้าที่ชนิดนี้ นี่พูดอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่ประจบใคร ว่ามันเป็นกุศลอย่างใหญ่หลวงที่ผู้มีหน้าที่จัดทำให้ยุวชนมีจริยธรรม ที่ทำไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ไอ้ความรับผิดชอบนี้ก็จะตกอยู่แก่ครูนั่นแหละ ครูบาอาจารย์นั่นแหละทุกขั้นทุกตอน คือแก่บิดามารดาที่บ้าน แก่ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน แก่พระเจ้าพระสงฆ์ที่วัดวาอาราม เป็นผู้บกพร่อง นำยุวชนให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องไม่ได้เป็นผู้บกพร่อง เป็นผู้ต้องรับผิดชอบ แล้วก็ไปเป็นความกับยมบาลเอาเอง อาตมาทำอะไรไม่ได้ ถ้าใครมันบกพร่องในเรื่องนี้ การบรรยายนี้มันก็สมควรแก่เวลาแล้ว
ขอสรุปความในที่สุดว่า เราต้องการยุวชนที่เป็นธรรมชีวี เราควรจะต้องการยุวชนที่เป็นธรรมชีวี หรือว่าเราต้อง ๆๆ การ ยุวชนที่เป็นธรรมชีวี หรือโลกน่ะมันต้องการยุวชนที่เป็นธรรมชีวี รุ่นในอนาคตโดยเฉพาะโลกมันต้องการยุวชนที่เป็นธรรมชีวี สำหรับจะสร้างโลกให้สันติสุขอย่างที่เรียกสมมุติว่าโลกพระศรีอริยเมตตรัย เมื่อใดยุวชนธรรมชีวีเต็มไปทั้งโลก เมื่อนั้นโลกนี้ก็กลายเป็นโลกพระศรีอริยเมตตรัย โลกแห่งความสงบสุข สันติสุข สวยสดงดงาม น่าดูน่าเลื่อมใสไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านั้นแล้ว เอาละขอจบเรื่องยุวชนที่พึงประสงค์คือยุวชนที่เป็นธรรมชีวี การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้วขอยุติการบรรยายเป็นโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลายได้สวดบทพระธรรมคณะสาธยายแก่คณะผู้ฟังเพื่อเป็นกำลังใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมสืบต่อไป