แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ในวิชาเทคนิคทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือมาหาความรู้ วิชาความรู้ทางธรรมะ ไปเพิ่มเติมให้แก่ความรู้หรือหน้าที่การงานที่มีอยู่ตามปกติ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไป ในการทำประโยชน์ในโลกนี้ นี้ขอแสดงความยินดีและสนองความประสงค์ตามที่จะทำได้ และอยากจะปรารภอีกอย่างในข้อที่ว่าเรามาพูดกันในเวลาอย่างนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เขาต้องการจะนอน หรือหาความสุขจากการนอน เรามาพูดกันเวลาอย่างนี้ โดยเหตุผลส่วนตัวของอาตมานั้น ไม่พูดถึงก็ได้ คือว่าเวลาอื่นไม่ค่อยจะมีแรง แต่ว่าโดยธรรมชาติแล้วขอให้รู้ว่าเวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่พร้อมโดยธรรมชาติที่จะทำอะไรกันด้วยสมอง ด้วยจิต ด้วยวิญญาณ คือเป็นเวลาที่พร้อม ร่างกายพร้อม หรือจิตใจพร้อม ที่จะทำหน้าที่ให้การศึกษา หรือการฟัง การคิด การจำ เป็นต้น ที่เราจะเห็นได้ง่ายๆ ก็เช่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาอย่างนี้ เวลาหัวรุ่ง เราจึงถือโอกาสใช้ประโยชน์แก่เวลาอย่างนี้ ก็ขอให้สนใจหรือจัดให้มันเข้ารูปเข้ารอยกัน ให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่
ที่นี้สำหรับเรื่องที่จะพูด ก็จะพูดในเรื่องที่มันเกี่ยวกับคำว่าเทคนิค ครั้งก่อนดูเหมือนจะเคยพูดไปครั้งหนึ่งแล้วว่าธรรมะเทคนิค เทคนิคในธรรมะ คราวนี้ก็อยากจะพูดว่าเทคนิคธรรมะ คือธรรมะในเทคนิค ธรรมะเทคนิค เทคนิคในธรรมะ เทคนิคธรรมะ คือธรรมะในเทคนิค ดูเอาเองก็แล้วกัน คือว่าเราจะหาดูความเป็นเทคนิคที่มีอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คำว่าเทคนิคนี้ดูจะเป็นปัญหา ไปยืมคำฝรั่งมาใช้และดูจะให้ความหมายน้อยมาก ดูจะมีความหมายแต่เพียงว่าทำอะไรดี ให้ดีกว่าธรรมดาสักหน่อยเท่านั้นเอง ไปดูที่โรงเรียนเทคนิค ก็มีแต่เรื่องจะทำอะไรดีกว่าธรรมดาสักหน่อยแค่นั้น ไม่ถูก ไม่ตรงกับความหมายของคำว่าเทคนิค ดีกว่า เร็วกว่า ได้ผลดีกว่า ประหยัดกว่า อันตรายน้อยกว่า ครบถ้วนทั้งหมดนี้ มันจึงจะเป็นเทคนิค ทำได้เร็วกว่า ก็มีผลกว่าได้เปรียบ ทำได้มากกว่าในเวลาเท่ากันมันก็ยิ่งได้เปรียบ แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือปลอดภัย ต้องมีความปลอดภัยถึงที่สุด นี่จึงจะเรียกว่าเทคนิค ไม่ใช่มาฝึกๆทำๆ ไปอย่างที่เคยกระทำ ตามแนวที่เคยกระทำ โดยไม่เล็งถึงว่ามัน เลวกว่า ดีกว่า มากกว่า ปลอดภัยกว่า ถ้าเทียบกับคำบาลี คำว่าเทคนิคนี้จะตรงกับคำว่า อุปายะ ในคำภาษาไทยก็คือ อุบาย แต่คำว่าอุบายมันเป็นเรื่องบ้าบออะไรซะอีก ถ้า อุปายะ สะอาด บริสุทธิ์ อุปายะ อุบายเพื่อจะไปนิพพาน ตรงกับความหมาย ก็แปลว่าเทคนิค ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด พร้อมที่สุด ไม่มีอันตราย ไปสู่นิพพาน แต่พอตกมาถึงภาษาไทย มันบ้าบออะไรก็ไม่รู้ มันกลายเป็นเรื่องหลอกลวงหาประโยชน์ ลักษณะอย่างนี้มีมากนะ ไม่ใช่เฉพาะคำคำนี้ คำอื่นก็มีที่เป็นภาษาบาลีมีความหมายไปทาง พอมาเป็นภาษาไทยมันมีความหมายแยกไปอีกทาง เช่น คำว่า วิเศษ ถ้าในบาลี ก็วิเศษจริงๆ พอมาเป็นภาษาไทยมันกลายเป็นพิเศษ คือผิดไปจากธรรมดา ทางเลวก็ได้ มันพิเศษ คำว่าเทคนิคตรงกับคำว่าอุบาย ก็มีความหมายอย่างเดียวกันแหละ ทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า ได้ผลดีกว่า และปลอดภัยกว่า นี่ก็สำคัญมาก นี้เราจะต้องรู้หัวใจของคำพูดที่ว่ามันเป็นอย่างไร เทคนิคที่เป็นธรรมะ มันก็หมายความว่า ดูความเทคนิคที่เป็นธรรมะ แต่ถ้าว่าเทคนิคธรรมะมันก็กลายเป็นว่าธรรมะที่หาได้ในเทคนิค วันนี้ก็ตั้งใจว่าจะพูดเรื่องนี้ ถ้าพูดเรื่องโลก โลก โลก ก็เป็นเรื่องหาประโยชน์ และเพื่อจะอยู่ในโลก มันกลายเป็นเทคนิคของการที่จะอยู่ในโลก ถ้าเป็นเรื่องโลกุตตระ มันก็กลายเป็นเทคนิคที่จะอยู่เหนือโลก คำสองคำนี้ก็ควรจะทำความเข้าใจแก่ท่านที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งสอนนักเรียนผิดๆ เหมือนกับหลอกเค้าอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น คำว่า นิพพาน นิพพาน ครูในโรงเรียนบอกว่าแปลว่า ตายของพระอรหันต์ นิพพานน่ะตายของพระอรหันต์ มันไม่ถูกด้วยประการทั้งปวง นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย และพระอรหันต์นั่นตายไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายรู้เรื่องของพระอรหันต์แล้วก็จะรู้ว่าไอ้นิพพานี่มันไม่ได้แปลว่าตาย และพระอรหันต์น่ะ คุณธรรม เป็นคุณธรรมตายไม่ได้ ร่างกายของพระอรหันต์ตายได้ แต่องค์พระอรหันต์ที่เป็นคุณธรรมนั้นตายไม่ได้ และนิพพานนั้นไม่ได้แปลว่าตาย มันแปลว่าเย็น เย็นคือไม่มีร้อน ร้อนคือกิเลส ไปเปิดดูเองก็ได้หรือไปถามใคร ค้นในพระไตรปิฎกทั้งหมด คำว่านิพพานไม่ได้ใช้ในความหมายว่าตาย เขาใช้คำอื่นว่าตาย คำว่ามรณะ หรือบางทีก็ใช้คำว่าปรินิพพาน ในที่บางแห่งใช้คำว่าตายบ้างก็มี แต่คำว่าปรินิพพานโดยแท้จริงก็ไม่ได้แปลว่าตาย คือมันเย็นสนิทยิ่งขึ้นไปอีก นิพพานเย็นอย่างธรรมดา ปรินิพพานก็คือเย็นสนิทยิ่งขึ้นไปอีก ชีวิตไม่เป็นไฟ ไม่ร้อน ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ไม่มีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง บ้าๆบอๆ นั่นน่ะ มันกัดเจ้าของ ชีวิตมันร้อน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นชีวิตมันเย็น นิพพานแปลว่าเย็น แล้วก็มีได้ก่อนตาย ถ้าตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร มันจะยิ่งโง่ที่สุด จะหาอะไรถ้าเราตายแล้ว มันก็ต้องได้กันที่นี่โดยไม่ต้องตาย ที่นี้คำว่าธรรมะ ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ครูบอกนักเรียนว่าคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในประเทศอินเดีย คำสั่งสอนของลัทธิไหน ศาสดาองค์ไหนในศาสนาก็เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น ธรรมะ นี่มันเป็นซะอย่างนี้ ธรรมะไม่ใช่เป็นเพียงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเอามาเรียกเสียใหม่ว่า ธรรมเจ้า พระธรรมเจ้าอย่างนี้ก็เห็นจะพอได้ ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่าธรรมะ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่สำหรับดับทุกข์ หน้าที่สำหรับดับทุกข์ สอนธรรมะก็สอนหน้าที่สำหรับดับทุกข์ เขาจึงเอาไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่สำหรับดับทุกข์นั้นมาสอน สอน ทุกลัทธิ ทุกนิกาย ทุกศาสนา ทำให้เข้าใจไปว่า ธรรมะแปลว่าคำสั่งสอน คำว่า ธรรมะ ธรรมะ นั่นแปลว่า ยกขึ้นไว้คือชูขึ้นไว้ ยกขึ้นไว้ อย่าให้พลัดตกลงไป คำสั่งสอน มันคำว่า ศาสะ สะสะ ศาสะ ศาสนะ แปลว่า มันสิกขะ มันสิกข์ มันเป็นเรื่องสั่งสอน นั้นมันเป็นเรื่องสั่งสอนอีกคำต่างหาก แต่ธรรมะแปลว่าสิ่งที่ยกผู้มีธรรมะ มันตรงกับคำว่าหน้าที่ หน้าที่มาแต่โบรมโบราณดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่มนุษย์คนป่าสมัยโน้น มันก็รู้หน้าที่ หน้าที่ สิ่งใดที่จะต้องทำไม่ทำแล้วตาย นั่นแหละเขารู้จัก แล้วเขาเรียกว่ากันว่าธรรมะ ธรรมะ ในภาษาไทยก็หน้าที่ หน้าที่ ธรรมะก็ดี หน้าที่ก็ดี ช่วยยกหรือจับยึดไอ้คนที่มีไว้อย่าให้พลัดตกลงไปในกองทุกข์หรือความตาย แปลว่าสิ่งซึ่งทรงผู้มีไว้ไม่ให้พลัดลงไปสู่ความทุกข์ คือ ธรรมะ แปลว่าอย่างนั้น จะมาสอนกันว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นเรื่องหลับตาพูด ไม่รู้ว่าคำสอนแท้จริงนั้นคืออะไร นี่ขอให้สนใจ ระมัดระวังในการที่จะเอาคำบาลีมาพูดมาใช้ โลกุตตระ แปลว่า เหนือโลก แต่อย่าเข้าใจว่าขึ้นไป ขึ้นไป ไปอยู่ที่ไหนกันก็ไม่รู้ มันเหนือโลก นั่นน่ะมันจะบ้าที่สุด คือมันไม่มี เหนือโลกมันหมายความว่าอยู่ในโลกนี้แต่โลกนี้ครอบงำไม่ได้ อยู่เหนือปัญหาในโลกทั้งปวง โลกนี้ครอบงำไม่ได้ อยู่เหนือปัญหาทั้งปวง เรียกว่าอยู่เหนือโลก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหล่านี้ก็ครอบงำจิตใจของเขาไม่ได้ จิตใจของเขาอยู่เหนือนั้น ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อะไรก็ตามครอบงำจิตใจของเขาไม่ได้ ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ทำให้คนในโลกมีความทุกข์ ไอ้คนๆนี้มันอยู่เหนือสิ่งนั้น คือสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เป็นทุกข์ไม่ได้ คนเหล่านี้เรียกว่าอยู่เหนือโลก พระอรหันต์อยู่เหนือโลก สิ่งต่างๆในโลกทำให้เป็นทุกข์ไม่ได้ ถ้า โลกียะ ก็ผูกพันกันไปกับโลก มันก็เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจอย่างนั้น เรียกว่ามันผูกพันกันอยู่กับโลก ถ้ามันเหนือโลกมันไม่ต้อง ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเป็นบวก ไม่ต้องเป็นลบ มีอยู่เหนือปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด นี่การที่อยู่เหนือโลกอย่างนี้ได้ ท่านลองคิดดูว่ามันจะเป็นเทคนิคสักเท่าไร จะต้องมีเทคนิคสักเท่าไร จะต้องใช้เทคนิคสักเท่าไร มันจึงจะอยู่เหนือโลกซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ อยู่ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่กลับไม่มีความทุกข์เลย นั่นแหละเป็นเทคนิคสักเท่าไร แล้วมันต้องเป็นเรื่องพิเศษกว่าธรรมดา ไม่ใช่เพียงแต่ดีกว่าเล็กๆน้อยๆ ซึ่งมันเป็นเพียงความชำนาญ ความอะไรอย่างนี้มันไม่ใช่เทคนิคแล้ว เทคนิคมันต้องมีเจตนาโดยเฉพาะ ที่ทำให้ผลดีกว่า เหนือกว่า มากกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า อันตรายน้อยกว่า
เอาหล่ะทีนี้ก็จะพูดถึงธรรมะที่มันเป็นเทคนิค คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ ในสิ่งที่เรียกว่าเทคนิค เทคนิคนั้น อยู่ในตัว อยู่ในตัว พูดถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยหลักของพุทธศาสนาล้วนๆ ก็ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนแปลกใหม่ นี่ข้อหนึ่ง แล้วก็มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง นี่ข้อหนึ่ง แล้วก็มีปาฏิหาริย์ คือดับทุกข์ หรือว่าสำเร็จประโยชน์ได้จริง สำเร็จประโยชน์ได้จริง ข้อสามมีปาฏิหาริย์ นั่นน่ะคือตัวเทคนิค ทำให้มันสำเร็จประโยชน์ มันก็มีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์ นี่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่าเทคนิคในการสอนซะทีหนึ่งก่อนก็ได้ แล้วจึงค่อยไปถึงการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์อาจจะไม่รู้และไม่เคยใช้ ไม่เคยใช้เทคนิคในการสอนอย่างของพระพุทธเจ้า ขอย้ำอีกทีหนึ่ง ช่วยตั้งใจฟัง กำหนดจดจำให้ดีว่า แปลกใหม่ จะต้องมีความแปลกใหม่ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองจะต้องมีเหตุผลอยู่ในตัวที่สอนนั้น ข้อที่สามจะมีปาฏิหาริย์ คือความสำเร็จได้แน่ เป็นเรื่องที่สำเร็จได้แน่ ไม่ใช่สอนลมๆแล้งๆ ไม่รับผิดชอบ จำสั้นๆว่า มีความแปลกใหม่ มีเหตุผล มีปาฏิหาริย์อยู่ในคำสอนที่พระองค์สอน พวกครูบาอาจารย์ได้ถือหลักอันนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถ้าไม่เริ่มคำสอนด้วยทำให้นักเรียนรู้สึกว่านี้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเราแล้วก็ มันก็ได้ผลน้อยทันที เด็กมันไม่ตั้งใจฟัง ถ้าพูดคำแรกทำให้รู้สึก โอ้, นี่แปลกใหม่ ไม่เคยได้ยินเลยก็น่าอัศจรรย์ แปลกใหม่ มันก็จะเอาใจใส่เต็มที่ที่จะฟัง ที่จะรับฟังหรือปฏิบัติตาม มีเหตุผล มีเหตุผลแสดงอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่มีเหตุผล เรื่องเหตุผลนี่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาไม่ได้มี ไม่ต้องมีพระเจ้ามีอะไรมาช่วย เพราะมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง มีเหตุผลอยู่ในตัวเอง คำพูดที่พูดออกไปต้องมีเหตุผล บางทีเราไม่ต้องบอก เด็กก็เห็นได้เองว่ามีเหตุผลอย่างนั้นๆ แล้วก็สามก็มีปาฏิหาริย์ มีความแน่นอนว่าจะต้องเกิดผลตามนั้น เกิดผลตามนั้น มีความแปลกใหม่ มีเหตุผล แล้วก็มีปาฏิหาริย์ ก็ขอให้ใช้หลักเกณฑ์นี้เถิด และพยายามเรื่องความเสียสละสักหน่อย การสอนเด็กก็จะได้ผลดี ก็แน่นอน นี่ก็เรียกว่าเป็นเทคนิคในวิธีสอน ในการสอน แต่นี่เทคนิคที่ว่ามันลึกไปกว่านั้น มันก็มีอยู่ในคำสอน ในบทเรียนที่สอน ในหมวดธรรมะที่สอน พระพุทธเจ้านี่ท่านตรัสรู้เรื่องของธรรมชาติ และท่านนำมาสอน ท่านมีวิธีสอนให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น ธรรมะส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่พระองค์ตั้ง ทรงตั้งขึ้นมาหรือบังคับให้มันเป็นไปตามนั้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติกำหนดให้เป็นไปตามนั้น พระองค์ทรงเป็นทราบ ตรัสรู้นั่นคือทรงทราบความลับของธรรมชาติ แล้วก็มาสอนให้สำเร็จประโยชน์ในส่วนที่จะดับทุกข์ ถ้ามาสอนในส่วนที่คดโกงเอาเปรียบนั้นมันเป็นจิตวิทยาอุบาทว์ ลักล้วงประโยชน์ในกระเป๋าของคนอื่นมาเป็นของตัวนั้นนเป็นจิตวิทยาอุบาทว์ แต่จิตวิทยาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นจิตวิทยาบริสุทธิ์ คือเป็นวิธีการที่จะทำให้จิตพ้นจากความทุกข์ แต่ก็ไม่อาจจะนอกไปจากความจริงของธรรมชาติ ธรรมชาติมันมีอยู่เป็นกฏเป็นเกณฑ์อย่างไรจะต้องเป็นไปอย่างนั้น นี่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ กฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ธรรมะ ธรรมะ คำนี้ ถ้าจะพูดให้กว้างอีกก็คือตัวธรรมชาติ ก็เรียกว่า ธรรมะ ตัวกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้นก็เรียกว่า ธรรมะ หน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์อันนั้นก็เรียกว่า ธรรมะ ได้ผลเป็นอะไรขึ้นมาเรียกว่า ธรรมะ ได้ผลเป็นความสุข เป็นมรรคผลนิพพานก็เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ มันจึงครอบหมด ไม่มี ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือไปจากความหมายของคำว่า ธรรมะ ตัวธรรมชาติในร่างกายเรานี่ ร่างกายจิตใจก็เป็นธรรมชาติ เป็น ธรรมะ มีกฎของธรรมะบังคับอยู่ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วสิ่งมีชีวิตก็ต้องทำหน้าที่ ทำหน้าที่ คนก็ต้องทำหน้าที่ สัตว์เดรัจฉานทำหน้าที่ ต้นไม้ต้นไร่ก็ทำหน้าที่ แล้วจะออกมาเป็นผล ผิดหรือถูกแล้วแต่หน้าที่มันผิดหรือถูก ธรรมชาติก็ดี กฎของธรรมชาติก็ดี หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็ดี ผลจากหน้าที่ก็ดี เรียกว่า ธรรมะ หมดเลย ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ หน้าที่ หน้าที่ ความหมายที่สาม ตัวธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ผลตามธรรมชาติ มีอยู่สี่ความหมาย ความหมายที่สามนั่นช่วยให้รอด สำคัญที่สุด จงรู้จักธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ ในที่นี้มันก็มีเทคนิคที่ว่าจะพูดอย่างไรให้มันสำเร็จประโยชน์ที่สุด นี่เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ท่านตรัสรู้แล้วท่านก็รู้จักที่จะเอาสอนให้มันสำเร็จประโยชน์ ที่ครูทั้งหลายในโรงเรียนสอนสอนกันอยู่ก็มีอยู่เยอะนะ ธรรมะ ธรรมะ แต่ควรจะรู้จักความเป็นเทคนิคของมัน เช่นว่า อิทธิบาท๔ อิทธิบาท๔ ช่วยบอกให้รู้ว่ามันมีเทคนิคของมันอย่างไร มันต้องมี ฉันทะ คือพอใจ แล้ว วิริยะ มีการกระทำด้วยอำนาจของ ฉันทะ แล้วก็จะต้องสอดส่อง เอาใจใส่ ค้นคว้า วิจัย วิจารณ์อยู่เสมอ นี่เรียกว่า จิตตะ เอาใจใส่อยู่เสมอ แล้วก็ วิมังสา นี่ใช้ปัญญาสูงสุดให้หน้าที่นั้นมันสำเร็จประโยชน์ ถ้ามันขาดไปอย่างหนึ่งมันก็ล้มเหลว ล้มเหลวไปทั้งปวง นี่ต้องรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็ต้องรู้ว่ามันมีความหมายเฉพาะ เฉพาะอย่างไร ไม่ใช่ว่าไปปนกันกับที่อื่น หรือความหมายอื่น ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่มันไม่ใช่พอใจด้วยกิเลส เช่น ความรัก เป็นต้น พอใจด้วย เหตุผลเสียมากกว่า เป็นความหิวของสติปัญญา ไม่ใช่ความหิวของกิเลสตัณหา เรียกว่า ฉันทะ ฝรั่งมีคำพูดอยู่คำหนึ่งซึ่งที่ดีที่สุดสำหรับคำนี้ Appetite Appetite ที่ทำให้กินอาหารอร่อย มันมีความหิว แต่ไม่ใช่ความหิวของกิเลส คือความหิวของการหิวอย่างหิว มันเป็นความพอใจตั้งใจหรือพร้อมที่จะกระทำ นี่ตรงกับคำว่า ฉันทะ มี ฉันทะ มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำงานสนุกมากเท่านั้น แล้วก็ยิ่งกินอาหารอร่อยเท่านั้นแต่ไม่ใช่ตะกละ ถ้าหิวธรรมดามันก็ตะกละ แต่ถ้าว่ามันหิว มันไม่ใช่ความหิว มันรู้ความประสงค์ มันรู้เหตุผลที่จะได้รับแล้วเกิดความพอใจที่จะทำ เรียกว่า ฉันทะ ถ้าไม่มี ฉันทะ มันก็ไม่ทำหรอก อะไรที่ทำมันก็ต้องมีฉันทะ มี ฉันทะ แล้วก็ต้องมี วิริยะ ซึ่งมีความหมายว่าพากเพียรก็ได้ มีความหมายว่ากล้าหาญก็ได้ รวมกันเสียก็แล้วกันว่าพากเพียรอย่างกล้าหาญ พากเพียรด้วยความกล้าหาญ ก็เรียกว่า วิริยะ มันมาจาก ฉันทะ ที่มันมีมากพอ นี้ จิตตะ มันก็จดจ่อ จดจ่อ จดจ่อ คือไม่ปล่อยให้หายไปจากจิตใจ มันคอยเอาใจใส่คือจดจ่ออยู่เสมอ ไม่หลงๆลืมๆ แล้ว วิมังสา มันใคร่ครวญ ใคร่ครวญ หมายความว่ามันพลิกดูอยู่เสมอ พลิกดูอยู่เสมอ หาแง่หามุมที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ดีที่สุดอยู่เสมอ ในความเป็นเทคนิคอยู่ในหมวดธรรมะนี้มันก็เหลือประมาณ ธรรมะ นี่ก็เลยเป็นเทคนิคโดยอัตโนมัติขึ้นมา ถ้าเราสอนให้เขารู้จักใช้ มันจะมีประโยชน์สูงสุด เป็นบุญกุศลแก่นักเรียน ถ้ามันสอนเพียงไว้แต่ให้เด็กๆจดไว้ในสมุด ก็ต้องพูดว่าบ้าบอทั้งครูทั้งนักเรียน หลับหูหลับตา มันต้องสอนให้เขาใช้ได้ ใช้ได้ ใช้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ได้ เดี๋ยวนี้สอนแต่เพียงว่าจดไว้ในสมุดไว้กันลืม พอสอบไล่แกตอบให้ถูกก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้าหรอก ไม่มีเทคนิคอะไรเหลืออยู่เลย ให้มันมีเทคนิคอยู่ที่เนื้อที่ตัว ให้เด็กๆมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อยู่ที่เนื้อที่ตัว นี้เรียกว่าเป็นเรื่องหาประโยชน์ เป็นเรื่องโลกก็ได้ ในเรื่องโลกก็ได้ ในเรื่องจะบรรลุนิพพานก็ได้ อิทธิบาท๔ มีเทคนิค เพื่อจะอยู่ในโลกนี้ เจริญก็ได้ พอไปออกไปนอกโลกไปหานิพพานก็ได้ ใช้ได้ถึงขนาดนี้ ดู ดูความประเสริฐ ความมีค่าของมัน แล้วมันใช้ทีเดียวทั้งอยู่ในโลกนี้ก็ได้ ไปสู่โลกุตตระก็ได้ มันต้องมี ฉันทะ ที่จะอยู่เหนือโลก พยายามอยู่เหนือโลก แล้วก็เอาใจใส่ศึกษาค้นคว้าวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอก็พบ มีความเป็นเทคนิคมีเท่าไหร่ มันจะมีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นพันเปอร์เซ็นต์เลย
ทีนี้อยากจะพูดอีกสักหมวดหนึ่งซึ่งไม่มีในตำราเรียนหรือเคยสอนกันไว้ แต่ว่าเราใช้กันอยู่เป็นประจำในทางธรรมะ ปฏิบัติธรรมะโดยเฉพาะ เพื่อผจญ ผจญ เผชิญกับกิเลส เราเรียกว่า ธรรมะสี่เกลอ เพราะมันต้องมาด้วยกันเป็น Teamwork เสมอ เรียกว่า ธรรมะสี่เกลอ คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ชื่อเหล่านี้คงได้ยินกันอยู่แล้วทั้งนั้นแหละ แต่ว่าลำดับการใช้อย่างนี้คงจะไม่ได้ยินก็ได้ มีลำดับการใช้มาว่า สติมาก่อน แล้วก็ปัญญา แล้วก็สัมปชัญญะมา แล้วก็สมาธิมา นี่เมื่อใช้ใช้อย่างนี้ เมื่อปฏิบัติอาจจะมีลำดับอย่างอื่น แต่เมื่อใช้นั้นใช้มีลำดับอย่างนี้ วิธีใช้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ ก็มีสติ สติมาก่อนเสมอ ระลึกได้ว่า อะไร อะไร อะไร อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร นี่ต้องมาก่อนเสมอ ทันเวลา นี้สติระลึกได้นี่ก็ระลึกถึงไอ้สิ่งที่จะแก้ปัญหาข้อนี้ได้ คือความรู้ คือปัญญา สติจะระลึกได้ถึงปัญญา ปัญญาข้อไหนจะมาแก้ปัญหาข้อนี้ ปัญญาก็คือสิ่งที่ศึกษา ศึกษา ศึกษา อบรมเอาไว้มากๆ มากมายมหาศาล ปัญญา แต่พอจะใช้กันจริงๆ มันใช้ข้อเดียว ความหมายเดียว แง่เดียวเท่านั้น ไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมดหรอก ปัญญามันมีเยอะแยะ แต่พอจะใช้มันใช้อย่างเดียว เหมือนกับยาในตู้ยามีครบทุกอย่าง แต่พอกินมันกินทีละอย่าง หรือว่าอาวุธมีครบทุกอย่าง แต่พอจะใช้มันใช้เฉพาะที่เหมาะกับเหตุการณ์เท่านั้น มันไม่ได้อาวุธทีเดียวทุกอย่าง นี่เป็นเรื่องของสติจะต้องไปเอาปัญญาให้เหมาะกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าในกรณีที่เผชิญกันอยู่ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส อะไรก็ตาม มันจะต้องมีปัญหา ปฏิบัติผิดแล้วจะต้องเกิดทุกข์ สติไปเอาปัญญาที่เหมาะสมมา ปัญญานี้พอมาเข้าประจำหน้าที่โดยเฉพาะ มันเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า สัมปชัญญะ สัมปชัญญะนั้นมันเป็นปัญญา สัม แปลว่า พร้อม ปะ แปลว่า ทั่ว ญา แปลว่า รู้ สัมปชัญญะ สัมปชา ก็รู้ทั่วพร้อม ปัญญาที่มาทำหน้าที่เฉพาะเหตุการณ์นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ มันเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ หรือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ถ้ามันเลือกมาดีแล้ว ถูกเรื่องแล้ว ได้สติเลือกมาดีแล้ว มันก็สามารถชนะไอ้เหตุการณ์หรือปัญหานั้นได้ ทีนี้มันเหลืออยู่แต่ว่ากำลังจิตจะพอหรือไม่พอ ถ้ากำลังจิตอ่อนแอ มันไม่แก้ได้ มันไม่ตัดได้ มันต้องมี สมาธิ สมาธิ คือกำลัง ตัวกำลังเข้ามา จิตที่กำลังสูงสุด สัมปชัญญะ ก็ทำหน้าที่สูงสุด คือตัดปัญหาได้ ปัญญาหรือสัมปชัญญะนี่มันเหมือนกับความคม ความคมขอมีด หรือความคมของสิ่งที่มีคม แต่ความคมมันตัดตามลำพังไม่ได้ มันต้องมีน้ำหนัก น้ำหนักที่จะกดลงไป ความคมมันจึงจะตัด ทีนี้ปัญญาหรือสัมปชัญญะไม่มีกำลัง หรืออ่อนกำลัง ต้องเอาสมาธิมา คือน้ำหนัก ก็มีการตัดขาด ขาดอย่างคมกริบ อย่างบรรลุมรรคผลนิพพานนี่ คือตัดขาดอย่างคมกริบ นี่ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำในการเผชิญกับกิเลส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เป็นเทคนิคอย่างยิ่ง ละเอียด เฉพาะ ที่จะจัดการกับกิเลสนั้นๆ ถ้าสนใจก็ช่วยจำไปว่า สติ แล้วก็ปัญญา สัมปชัญญะ แล้วก็สมาธิ สติ มีความรู้สึกตัวทันควันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่เรียกว่า สติ เราระลึกได้ว่าอะไรจะแก้ปัญหานี้ ก็ไปเอามา ก็ไปเอาปัญญามา เลือกเอามาเฉพาะเหตุการณ์นี้ ไม่ใช่เอามาทั้งหมด เป็น สัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับปัญหาหรือเหตุการณ์นั้น เรียกว่า สัมปชัญญะ ปัญญาทั้งหมดเรียกว่า ปัญญา แต่พอมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เฉพาะเรื่องเรียกว่า สัมปชัญญะ ถ้ามันไม่ค่อยจะมีแรง มันก็ต้องเอา สมาธิ มาใส่เข้าไปมันก็จะมีแรง ปัญญาที่เป็นความคมก็ตัดสิ่งที่เป็นปัญหา คุณดูเทคนิคกี่มากน้อย เทคนิคกี่มากน้อย ใช้กับเรื่องธรรมดา ธรรมดา ทำไร่ทำนาก็ได้ ใช้ในเรื่องตัดกิเลสไปนิพพานก็ได้ นี่ความเป็นเทคนิคของธรรมะ
ทีนี้ก็อยากจะยกตัวอย่างด้วยหมวดธรรมะที่คงจะสอนกันแล้ว และก็บอกให้นักเรียนจดไว้ในสมุดแล้ว ที่มันมีเทคนิคที่จะต้องสนใจ ก็คือ สัปปุริสธรรม สัปปุริสธรรม ๗ สติปัญญาของสัตตบุรุษในพระพุทธศาสนา ธัมมัญญู รู้เหตุ อัตถัญญู รู้ผล อัตตัญญู รู้ตน มัตตัญญู รู้ประมาณ กาลัญญู รู้เวลา ปริสัญญู รู้จักบริษัทหรือสังคม ปุคคลปโรปรัญญู รู้บุคคล เฉพาะคน เฉพาะคน เป็นปัจเจกชน ไปดูเถอะมันเต็มไปด้วยเทคนิคมหาศาลที่สุด มันจึงสำเร็จประโยชน์ การที่เราจะทำอะไรในโลกโดยเฉพาะสังคมนี้ จะต้องมีธรรมะ ๗ ประการนี้แหละ จะง่ายเหมือนว่าเล่น เป็นจิตวิทยาบริสุทธิ์ ไม่ใช่จิตวิทยาคดโกง แต่จะไปใช้อย่างคดโกงก็ได้ ขโมยของพระพุทธเจ้าไปใช้อย่างคดโกงก็ได้ พวกโจรเอาไปใช้ ความรู้นี้ขโมยได้ดี ปล้นจี้ได้ดี หรือแม้แต่คนเดินตลาด ขายของ ถ้ารู้จิตวิทยาข้อนี้ สัปปุริสธรรม ข้อนี้ มันก็ทำได้ดีมันเดินตลาดเก่ง ได้รับผลมหาศาล หัวข้อจำง่ายๆ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้จักบริษัท รู้บุคคล เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ก็จำไว้ให้คล่องปาก รู้เหตุ ก็ว่าเหตุนี้จะเกิดผลอะไร รู้ผล ก็ว่าผลนี้มันเกิดมาจากเหตุอะไร รู้จักตนเอง ว่ามีอะไร อย่างไร เท่าไร แค่ไร แค่ไหน ที่ปู่ย่าตายายใช้คำเหมาะสมที่สุดว่าดูหัวแม่เท้าของมึงซะบ้าง นั่นแหละให้รู้ตนเอง รู้ประมาณ ประมาณก็คือถูกต้องและพอดี ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เคร่งครัด ไม่หย่อนยาน คำว่าเคร่งครัดนั้นมันไม่ใช่ความถูกต้อง มันเป็นเรื่องอวดเสียมากกว่า ถ้าเคร่งครัดแท้จริงต้องพอดี พอดี พระจะปฏิบัติตนให้เคร่ง มันก็ต้องปฏิบัติให้พอดี อย่าให้มันเครียดอวดคน คำว่า พอดี พอดี มันคือความเคร่งครัดนั่นแหละ ความถูกต้อง พอดีนี่สำคัญที่สุด เดี๋ยวนี้มันบ้า มันจะดีที่มันไม่ใช่ดี มันเกินดี กินดีอยู่ดีนั้นระวังนะมันกัดเจ้าของฉิบหายไม่ทันรู้ เพราะถ้ากินอยู่พอดี กินอยู่พอดี กินอยู่พอดีไม่กัดเจ้าของ กินดีอยู่ดีน่ะระวังเถอะเผลอไม่ได้ เผลอมันกัดเจ้าของ นี่เรียกว่ารู้ประมาณ รู้ประมาณว่าพอดีพอดีคืออย่างไร คำนี้สำคัญมาก บรรลุนิพพานได้ด้วยความพอดี อริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมา สัมมาถูกต้องนั้นคือ พอดีพอดี ไม่ขาดไม่เกิน ไม่หย่อนไม่ตึง นี้ กาลัญญู รู้เวลา เวลานี้ก็สำคัญ ยังไม่ควรพูด ยังไม่ควรทำก็อย่าเพิ่งทำ แม้มันจะถูกต้อง ดีจริง บริสุทธิ์ ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ถูกเวลาแล้วก็บ้า คนโง่เท่านั้นที่จะทำผิดเวลา มันต้องทำถูกตรงกับเวลา ไม่ใช่ว่าดีหรือจริง หรือถูก แล้วกูก็จะพูดไปได้ตะพรืด นี่มันคนโง่ มันไม่ดูเวลา ทีนี้บริษัท ก็สังคม สังคมนี้เขาเป็นกันอย่างไร จะเข้าไปสู่สังคมนี้จะต้องทำอย่างไร ก็ต้องรู้จักสังคม บริษัท ปุคคลปโรปรัญญู รู้บุคคล เฉพาะบุคคล แต่ละบุคคล เป็นปัจเจกบุคคล ว่าไอ้หมอนี่มันมีอะไร อย่างไร จะไปพูดกับมันอย่างไร หรือจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ท่านคนนี้จะจัดการจะพูดจาอะไรกับเขาอย่างไร ลองใช้ให้ครบทั้ง ๗ เถอะ จงใช้คำว่าขี้เกียจรวย มันจะดี มันจะก้าวหน้า มันจะขี้เกียจรวย มันเป็นเทคนิคเหลือประมาณอยู่ในนั้น สัปปุริสธรรม ๗ อย่าเพียงแต่เด็กจดไว้ในสมุด คอยเอาเทคนิคมันมาใช้ในกิจการทุกอย่าง แม้เป็นเด็กก็รู้จักใช้ วัยรุ่นก็ใช้ หนุ่มสาวก็ใช้ พ่อบ้านแม่เรือนก็ใช้ คนแก่คนเฒ่าจะเข้าโลงก็เอาใช้ ใส่ข้างโลงไว้ด้วยก็ยิ่งดี
ทีนี้หมวดสุดท้ายที่อยากจะพูดอีกหมวดหนึ่งก็คือ ธรรมะ สำหรับตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า โพชฌงค์ โพชฌงค์ โพชฌังคะ องค์แห่งการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระพุทธเจ้านี่มันสูงสุด แต่มันมีเทคนิคครบบริบูรณ์ถ้วน จะเอามาใช้ต่ำๆก็ได้ เรื่องนี้อาตมาเคยถูกด่า ถูกด่าอยู่เป็นประจำ ที่เอาธรรมะชั้นสูงมาพูด แล้วก็เสียหมด ธรรมะชั้นสูงมันดี จนกระทั่งเอามาใช้ได้ทุกกรณี ขั้นต่ำก็ใช้ได้ เช่น อริยมรรคมีองค์๘ นี่ไม่ใช่เฉพาะไปนิพพานนะ อยู่ในโลกในบ้านนี่ก็ใช้ได้ แต่ยังมีธรรมะที่สูงไปกว่านั้นอีกก็คือ โพชฌงค์ อาจจะเคยฟัง เคยเรียน หรือเคยจดไว้ในสมุดแล้วก็ได้ แต่อาจจะไม่เคยก็ได้ แต่ขอให้ฟังก็แล้วกัน การตรัสรู้มีได้ด้วยการกระทำครบถ้วนทั้ง ๗ ประการ สติ ระลึกได้ ธัมมวิจยะ วิจัยธรรมะนั้น วิริยะ พากเพียรปฏิบัติ ปีติ พอใจ หล่อเลี้ยงความเพียรนั้น ปัสสัทธิ ความสงบ ลดลงไปเพราะความเข้ารูปเข้ารอย เรียกว่า ปัสสัทธิ แล้วก็ สมาธิ มั่น มั่นคง มั่นคง มั่นคง แล้วก็ อุเบกขา อุเบกขา ความพร้อมที่จะออกเป็นผลมา ไม่ใช่ดูอยู่เฉยๆ ที่มักจะสอนกันมาผิดๆ อุเบกขา วางเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ บ้าบอที่สุด เรื่อง พรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา มักจะสอนกันว่า เมตตา เอ็นดู กรุณา ก็ช่วยเหลือ มุฑิตา พลอยแสดงความยินดีด้วย ถ้าช่วยเหลือไม่ได้เพราะกรรมของใครก็ อุเบกขา เฉยหมด บ้าบอ พูดบ้าบอ อุเบกขา เฉย วางเฉย ไม่ทำอะไร อุเบกขา มันจ้องดูอยู่เฉยๆว่า เมื่อไหร่จะช่วยได้แล้วฉันจะช่วย เวลานี้ยังช่วยไม่ได้แล้วจะทำยังไง แต่ขอจ้องดูอยู่นิ่งๆว่าเมื่อไหร่ช่วยได้ฉันจะช่วยได้ นี่ อุเบกขา ในพรหมวิหาร อุเบกขา ใน โพชฌงค์ มันมากกว่านั้น ก็จะพูดไปให้ฟัง ข้อหนึ่ง สติ สติ ระลึกได้ ระลึกได้ ว่าระลึก ว่าจะเอาอะไรมาปฏิบัติ มาประพฤติ มากระทำเดี๋ยวนี้ เช่นว่าไปในป่านี่มันจะเลือกเก็บอะไรเอามามันก็ระลึก ไปในสวนดอกไม้วันนี้ จะไปเก็บดอกอะไรมาทำอะไร นี่ต้องระลึก ระลึกให้ทั่วไป แล้วระลึกเฉพาะว่าเราจะเอาอะไรมาเฉพาะกรณีนี้ อย่างนี้เรียกว่าสติที่ดีที่สุด ต้องมีก่อน แล้วก็ได้มา ได้ในสิ่งที่ตรงวัตถุประสงค์ข้อนี้มาก็มี วิจัย ธัมมวิจัย สติ แล้วก็ ธัมมวิจยะ วิจัย วิจัย คำบาลีใช้กันมาเป็นพันๆปี ไม่ใช่คำใหม่เพิ่งพูดกันเมื่อไม่นานนี้ ไปถอดคำฝรั่งมา ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่า วิจัย พระพุทธเจ้าเคยใช้เป็นพันๆปีมาแล้ว คือว่าใคร่ครวญกันอย่างละเอียดละออ วิจัย วิจารณ์ นี่รวมกันหมดเลย ให้มันรู้มันทุกแง่ทุกมุมที่เราจะกระทำกับสิ่งที่เราได้เลือกออกมาแล้วว่าถูกแล้ว ตรงแล้ว วิจัยสิ่งนั้น ทีนี้เมื่อได้แน่นอนแล้วก็ลงมือปฏิบัติ วิริยะ ระดมกำลังลงไปเต็มที่ ด้วยความพากเพียรและกล้าหาญ เรียกว่า วิริยะ นี้วิริยะมันก็ต้องการปัจจัยเหมือนกันเพื่อจะหล่อเลี้ยงมันไว้ ไม่ให้รู้จักเหนื่อย ก็คือ ปีติ ปีติ ธรรมปีติ พอใจในธรรม พอใจในความถูกต้องของเรื่องนี้ ปีตินี้ก็หล่อเลี้ยง วิริยะ ให้เข้มแข็ง สดชื่น ไม่รู้จักเหนื่อย แม้จะเหนื่อยก็ไม่รู้จักท้อถอย นี่เรียกว่า ปีติ เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ ไอ้สิ่งที่มันยุ่งยากสับสนมันก็เข้ารูป เข้ารูป ไอ้สิ่งที่มันเกะกะ สับสนอยู่ มันก็เริ่มเข้ารูป สงบ ระงับลง ระงับลง เรียกว่า ปัสสัทธิ ปัสสัทธิ ตัวหนังสือแปลว่า ระงับ ความเป็นจริงก็คือว่ามันเข้ารูป ถ้ามันไม่เข้ารูปแก่กันและกัน มันไม่ระงับ มันไม่ลดลง มันเกะกะ ทีนี้มันเข้ารูป มันสงบ ระงับลง สงบระงับลงเท่าไร มันก็มีสมาธิ กำลังจิตที่รุนแรง แข็งค่าเท่านั้น คือเดินไปด้วยอำนาจของสมาธิอย่างแข็งกล้า ทีนี้ก็มาถึง อุเบกขา อุเบกขา ไม่ใช่หลับซะเลย เพ่งดูให้มันเป็นอย่างนั้น ควบคุมให้มันเป็นอย่างนั้น แม้ในลักษณะที่เฉย นิ่งอยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น เป็นอุเบกขา เหมือนกับว่า ม้าดี รถดี ถนนดี ก็ถือบังเหียนเฉยๆ รถก็วิ่งไปได้ ต่อให้รถยนต์ ถ้ามันถูกต้องหมด ระบบรถ ระบบถนน ระบบอะไรก็ตาม ถือพวงมาลัยเฉยๆมันก็ไปได้ แต่ว่าเฉยอย่างนี้ มันไม่ใช่เฉยหลับ มันควบคุมความถูกต้องให้เป็นไป เป็นไป เป็นไปตามความถูกต้อง คุมความถูกต้องไว้ให้มันเป็นไป ก็รอผลที่มันจะเกิดขึ้นมา นี่เรียกว่า อุเบกขา เอามาใช้ทำนาก็ได้ ทำสวนก็ได้ อย่างต่ำที่สุด ชาวนาจะต้องระลึกว่า กูจะทำอะไร ปีนี้จะปลูกข้าวอะไร อะไร จะทำอย่างไรมีแผนการ แล้วก็มาวิจัยให้ได้ตามนั้น แล้วก็พากเพียรให้ได้ตามนั้น พอใจ หล่อเลี้ยงอยู่เสมอ เหงื่อยิ่งออกมายิ่งพอใจ พอใจมันก็หล่อเลี้ยงไอ้ความพากเพียร ทุกอย่างมันก็เข้ารูป ก็เรียกว่าทุ่มกำลังกันทั้งหมดแล้ว นี้ก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่ข้าวมันจะออกมา แต่ว่าในระหว่างที่รอดูด้วยอุเบกขาว่าเมื่อไหร่ข้าวจะออกมานั้น ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ มันไม่ใช่เฉยจนไม่ได้ทำอะไรเลย มันเฉย เพื่อรักษาไอ้ความถูกต้องอันนั้นไว้ อย่าให้เกิดผิดพลาดขึ้นมาเสียในระหว่างนั้น ในที่สุดข้าวมันก็ออกรวง ธรรมะสูงสุดเพื่อไปนิพพานโดยแท้จริง เอามาใช้ทำนาก็ได้ อย่าโง่ตามคนที่เขาด่าอาตมาอยู่เป็นประจำว่าเอาธรรมะสูงสุดมาสอนให้ชาวบ้าน เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐอย่างนั้นแหละ มาใช้ได้สารพัดอย่าง สารพัดนึก นี่ความเป็นเทคนิคลึกซึ้งสูงสุดของพระธรรม ธรรมะสูงสุด หมวดสูงสุด ที่ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็คือ โพชฌงค์ ระลึกให้มันทั่วถึงเสียก่อน และเอามาวิจัย วิจารณ์เฉพาะเรื่องที่เราจะใช้ แล้วก็ระดมทุ่มเทกำลัง วิริยะ ความเพียร ความกล้าหาญ และความพอใจในการกระทำนี้หล่อเลี้ยงไว้ มันก็จะลงรูปมันก็จะเข้ารูป มันเป็นจุดเดียว เป็นจุดเดียวกัน เป็นสมาธิ กำลังทั้งหมด เป็นความถูกต้องทั้งหมดมารวมกันอยู่เป็นจุดเดียวที่นี่ เรียกว่าสมาธิ แล้วก็ปล่อยมันไปเถอะ มันก็ถึง ไปถึงปลายทางเอง บรรลุนิพพานก็ได้ ด้วยอุเบกขา อุเบกขาของคนโง่ก็ไปนอนซินะ ไม่ได้คิดจะควบคุมอะไร อุเบกขาแท้จริง คือ ดู ควบคุมความถูกต้องอยู่เฉยๆ ต่อเมื่อมันจะผิดพลาดอะไร ก็จะแก้ไขให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ก็ไปถึงจุดหมายปลายทาง นี่เรียกว่าสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรจะสูงกว่านี้แล้วใน ธรรมะเทคนิค คือ เทคนิคธรรมะ ธรรมะที่เป็นเทคนิค ความมุ่งหมายที่จะบอกนี่ก็บอกให้ทราบว่า ธรรมะมันเป็นเทคนิค โดยเฉพาะธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นเทคนิค ถือว่าสุดยอดเหลือประมาณอยู่ในตัวเอง แต่ที่จะรู้หรือไม่รู้นั่นเป็นเรื่องของคน คนโง่มันไม่รู้ มันก็อวดดีไปเรื่อย มันประมาท คนโง่มันประมาท มันทำอะไรหวัดหวัด คิดหวัดหวัด แล้วก็ตื่นเต้น ไม่ลึกซึ้ง อย่างนี้จะทำกับธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ไม่ได้ผล
จึงขอฝากไว้แก่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทุกคน ว่าถ้าจะให้มันเป็นเทคนิคแล้ว มันต้องให้ได้ผลออกมาเป็น ดีกว่า เร็วกว่า ลงทุนน้อยกว่า อันตรายน้อยกว่า มันจึงจะเรียกว่าเทคนิค ไม่ใช่ความชำนาญนะ ไม่ใช่ความชำนาญ แม้แต่จะปั้นอิฐ โบกปูนนี่ มันต้องมีเทคนิคเฉพาะที่เร็วกว่า ดีกว่า อันตรายน้อยกว่า ลงทุนน้อยกว่า มันเลยความชำนาญขึ้นไป จนเรียกว่าเทคนิค จนไม่รู้ว่า ไม่มีใช้ในภาษาไทย จนต้องยืมคำฝรั่งมาใช้ คนไทยมันโง่ ที่ต้องใช้คำว่าเทคนิค เทคนิค ถ้าใช้ธรรมะ ภาษาธรรมะ ก็ใช้คำว่า อุบาย อุบายที่ฉลาดนั่นคือเทคนิค อาตมาไม่ค่อยชอบหรอกที่ใช้คำภาษาฝรั่ง แต่ถ้ามันไม่มีภาษาไทยจะใช้ มันก็ต้องใช้ แต่ก็พยายามที่จะหาคำไทยมาใช้ เทคนิคนี่คืออุบายที่ฉลาด ถ้าจะเรียกให้ธรรมดาสามัญที่สุด และก็อาจจะไม่ชอบใจซะอีก นั่นก็คือเคล็ด คำว่าเคล็ดนั่นแหละคือความหมายของคำว่าเทคนิค ถ้ามีเคล็ดแล้วมันจะทำดีกว่า เร็วกว่า ง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า อันตรายน้อยกว่า เคล็ด เคล็ด นั่นแหละคือ เทคนิค ไอ้พวกที่มันบ้าฝรั่ง เห่อฝรั่ง มันไม่ชอบใช้หรอก มันไม่ชอบใช้คำว่าเคล็ด มันดูจะเป็นของโง่ ของง่ายไปเสียอีก นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ งั้นขอให้สนใจคำว่าเทคนิค ภาษาธรรมะ คือ อุบายที่ฉลาด ภาษาทั่วไปของเราคนไทยก็คือคำว่า เคล็ด รู้จักเคล็ด แล้วก็ทำได้ดี ทำได้เร็วกว่า สวยกว่า ลงทุนน้อยกว่า อันตรายน้อยกว่า กำไรมากกว่า เอ้า, เวลานี้มันก็หมดแล้ว เรี่ยวแรงอาตมาที่จะพูดก็หมด ก็ขอยุติการบรรยายนี้โดยฝากไว้แก่ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ว่าขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเทคนิคมากยิ่งขึ้น แล้วขอให้ได้ใช้เทคนิคมากยิ่งขึ้นไป และขอให้ได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่าเทคนิคนี้มากกว่าที่แล้วๆมา และให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน ของตน ของตนอยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย