แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์วิชาการเทคนิคทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ นั่นคือมาหาวิชาเกี่ยวกับธรรมะเพื่อไปประกอบกิจการในหน้าที่ให้มีผลดียิ่งๆขึ้นไป เป็นเรื่องที่มีเหตุผลจึงขออนุโมทนาและยินดีด้วย การที่เราต้องมาพูดกันในเวลาเช่นนี้ก็มีเหตุผลเหมือนกัน ขออภัยเรื่องส่วนตัวก็คือว่าไม่ค่อยจะมีแรงในเวลาอื่น แต่นี่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าไอ้เวลาหัวรุ่งนี่มันมีพิเศษ เป็นเวลาที่พร้อมสำหรับการเรียนการรู้การใช้สมอง คิดดูให้ดีมันก็มีเป็นเวลา เวลาบางเวลาเราก็ไม่ค่อยจะมีเรี่ยวแรงความสดชื่น เวลาหัวรุ่งนี่มันพิเศษแม้คนจะนอนก็ยังนอนสบายถ้าไปใช้นอนเสีย พระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลาหัวรุ่งอย่างนี้ ดอกไม้มากชนิดก็เบิกบานแย้มบานเวลาอย่างนี้ เราก็ควรจะแย้มบานด้วยเหมือนกันในทางจิตใจความคิดนึก ก็คงจะได้ประโยชน์ดีกว่าที่จะนอนคลุมโปงอยู่บนที่นอนในเวลาอย่างนี้ ซึ่งจะต้องถือว่าใช้มันผิดเวลา จึงขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาว่าเราได้ใช้มันถูกต้องแล้ว แม้จะต้องมีความอดทนบ้างมันก็ได้ผลดีเกินค่าเวลาอย่างอื่น ที่กล่าวนี้ก็ถือเป็นหลักทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ ครั้งนี้ เวลานี้ และครั้งเดียวไม่ใช่ ลองใช้เวลาที่สมองกำลังสดชื่นแจ่มใสเข้มแข็งอย่างนี้ดูเป็นประจำชีวิต ตลอดชีวิต ลองดู
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะพูดกัน อาตมาคิดว่าจะพูดโดยหัวข้อว่าธรรมะเทคนิค ภาษาแขกปนกับภาษาฝรั่ง แต่มันก็ช่วยประหยัดได้มาก ธรรมะเทคนิคก็คือว่าเทคนิคเกี่ยวกับธรรมะก็ได้ การทำให้ธรรมะกลายเป็นเทคนิคก็ได้ หรือธรรมะเป็นเทคนิคอยู่แล้วซึ่งไม่มีใครทราบก็ได้ ใช้หัวข้อเรื่องที่จะบรรยายว่าธรรมะเทคนิค เรื่องวิชาการเฉพาะอย่างที่ท่านกำลังทำกันอยู่นั้นไม่ต้องพูดหรอก เพราะว่ารู้เกินรู้กันอยู่แล้ว จะพูดในแง่ที่ยังไม่รู้หรือว่าควรจะรู้ให้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป นั่นคือว่าเทคนิคนี่ชาวไร่ชาวนาชาวบ้านเค้าฟังไม่ออกหรอก บอกเค้าเป็นไทยๆไปว่าวิธีที่ดีกว่าธรรมดาเท่านั้น มีเท่านั้นน่ะวิธีที่มันดีกว่าธรรมดา เป็นหลักวิชาก็มี เป็นการปฏิบัติก็มี เป็นการใช้วิชาหรือใช้วิธีปฏิบัตินั่นก็มี เรียกมันว่าเทคนิคก็มี เทคนีก็มี เทคโนโลยีก็มี เป็นวิชาที่ดีกว่าธรรมดาที่จะคิดที่จะทำมันดีกว่าธรรมดา เป็นความรู้นี่ก็อย่างหนึ่ง เป็นตัวการปฏิบัติคือทำลงไปจริงๆนี่อย่างหนึ่ง เป็นวิธีการใช้มันให้เหมาะสมกับกาละเทศะนี้มันก็อีกอย่างหนึ่ง รวมกันหมดนั่นแหละที่เราจะเรียกมันว่าเทคนิคในที่นี้ในเวลานี้ นี้คำว่าธรรมะนี่ ขออภัยที่จะต้องพูดว่าครูบาอาจารย์ยังใช้มันผิดๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะได้ยินว่าในโรงเรียนสอนเด็กว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันไม่ตรงความจริง มันผิดจากความจริง คำสอนในลัทธิไหนมากมายหลายลัทธิในอินเดียนะ คำสอนของแต่ละลัทธิเรียกว่าธรรมะทั้งนั้นแหละ เรียกว่าธรรมะทั้งนั้นแหละ เพราะเค้าใช้แทนคำว่าศาสนา ดังเช่นว่าแทนที่จะถามว่าท่านถือศาสนาไหนนี่ ไม่มีคำพูดอย่างนี้ มีแต่คำพูดว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร ชอบใจธรรมะของพระสมณโคดม หรือชอบใจธรรมะของสัญชัยเวลัฏฐบุตร ชอบใจธรรมะของนิคัณฐนาฏบุตร ครูที่มีชื่อเสียง ๖ ครูและลัทธิอื่นๆ อีกมากมายคำสอนของเค้าเรียกว่าธรรมะ แล้วก็ว่าธรรมะไม่ได้แปลว่าคำสอน คำสอนมันมีคำอื่น ศาสนะ อะไรก็ตาม ธรรมะ ธรรมะนั้นแปลว่าหน้าที่ หน้าที่ ถ้าว่าธรรมะเกิดขึ้นหมายถึงหน้าที่คือมีบุคคลได้สังเกตเห็นว่า โอ้, มันมีสิ่งอยู่สิ่งหนึ่งสำคัญที่สุด ที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ทำให้ถูกต้องแล้วก็คือตาย เป็นชาวนาก็ได้ ชาวสวนก็ได้ ค้าขายก็ได้ ทำอะไรก็ได้ หรือแม้แต่บริหารส่วนร่างกายส่วนตัวก็ได้ สิ่งนั้นเป็นหน้าที่ ไม่ทำก็คือตายหรือเป็นทุกข์ ไอ้คำว่าธรรมะมันก็เกิดขึ้นมาในโลก ก่อนนี้ไม่เคยมีมันก็เกิดมีขึ้นมาว่าธรรมะ ธรรมะภาษาอินเดียโบราณนั้น ภาษาไทยเราก็ตรงกับคำว่าหน้าที่ หน้าที่ ปทานุกรมสำหรับเด็กๆในอินเดีย ธรรมะแปลว่า duty สอนเรื่อง duty หรือว่าสอนเรื่องหน้าที่ ธรรมะไม่ได้แปลว่าคำสอน มันไม่ได้แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าหรืออะไร แปลว่าหน้าที่ หน้าที่ ที่ต่างลัทธิต่างครูบาอาจารย์ต่างๆนำมาสอน สอน สอน กันตามความรู้ของตนที่ดีกว่า ดีกว่า ดีกว่า ดีกว่า มันก็พัฒนามาเรื่อยๆเป็นยุคเป็นสมัยมาตั้งแต่คนป่า จนมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนเรื่องหน้าที่ ที่ประเสริฐสูงสุดบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ เป็นยอดสุดของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านั้นแล้ว นอกจากรอดตายแล้วมันก็รอดจากความทุกข์ทั้งปวง สิ่งที่ทำให้เกิดความรอดนั่นแหละเรียกว่าหน้าที่ นี้ก็เรียกว่าเป็นบาลีว่า ธมฺม และ ธรฺม เป็นสันสกฤต นั้นขอบอกกล่าวครูบาอาจารย์ทั้งหลายว่า ช่วยสอนเด็กๆกันเสียใหม่ว่าธรรมะแปลว่าหน้าที่ และขอให้สนใจในคำนิยาม definition ของคำคำนี้ ดังต่อไปนี้คือ ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ นี่คำแรกประธาน คำว่าระบบหมายความไม่ใช่สิ่งเดียว ต้องเป็นชุดครบถ้วน ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง นี่คำถัดไป ถ้าผิดมันใช้ไม่ได้มันต้องถูกต้อง ถูกต้องแก่ความรอด คำที่ ๓ คำที่ ๔ ทั้งทางกายและทางจิต คำที่ ๕ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต และก็คำที่ ๖ ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ มีใจความหรือบทนิยามสมบูรณ์อย่างนี้ ธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทุกข์ทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น โดยใจความเป็นอย่างนี้ ขยายความว่าระบบปฏิบัติ ต้องครบถ้วนไม่ว่าอะไรมันต้องมีเป็นระบบทั้งนั้น ปฏิบัติอย่างเดียวมันจะไม่มี แม้แต่จะกินข้าวนี่ต้องมีหลายระบบต้องถูกต้องทุกระบบ จะเป็นเรื่องภาชนะ หรือเป็นเรื่องอาหาร หรือเป็นเรื่องวิธีกิน เป็นเวลา วิธีกิน เป็นอะไร มันเป็นระบบแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องถ้าไม่ถูกต้องมันก็ไม่เกิดผลอะไร ยิ่งไม่ถูกต้องจะเป็นผลตรงกันข้ามไปเสียอีก คือผลร้ายแก่ความรอด สิ่งสูงสุดคือความรอด มนุษย์ดิ้นรนนี้เพื่อความรอดทั้งนั้นแหละ อุตส่าห์เล่าเรียนหางานทำ อะไรก็เพื่อความรอด แต่ความรอดมีทั้งสองฝ่ายคือรอดทั้งทางร่างกายคือไม่ตาย รอดทางจิตคือไม่มีความทุกข์เลย นี้ก็ต้องทุกข์ขั้นตอนแห่งชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย รอดเวลาเดียวมันก็ไม่ไหว รอดแห่งกายและรอดแห่งชีวิตนี่ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการสำหรับบุคคลก็ตั้งแต่เกิดจนตาย สำหรับมนุษยโลกก็ตั้งแต่เริ่มมีโลก เริ่มมีคนในโลกเติบโตขึ้นมาจนเจริญถึงขนาดนี้ ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการก็ได้ ธรรมะมันใช้ได้อย่างนั้น ใช้ได้จนสมัยคนป่ามาจนถึงคนเจริญอย่างปัจจุบันนี้ แล้วต้องทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อตัวเองอย่างเดียวมันไม่ได้เพราะว่าเรามันไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกและก็อยู่ไม่ได้ เพื่อตัวเองอย่างเดียวก็เป็นคนเห็นแก่ตัว ยิ่งซ้ำร้ายซ้ำร้ายหาความสุขไม่ได้ มันต้องทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น ประโยชน์มี ๓ ชนิดคือประโยชน์ตัวเองนี่อย่างหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นนี่อย่างหนึ่ง และประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกกันไม่ได้นี่อีกอย่างหนึ่ง นี่ประโยชน์ ประโยชน์ต้องมี ๓ อย่างอย่างนี้เมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ตลอดทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น นี่คำว่าธรรมะมีบทนิยามอย่างนี้ ไปบอกเด็กๆว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามันผิดฝาผิดตัวไม่ถูกเรื่อง ธรรมะไม่ใช่แปลว่าคำสอน ธรรมะแปลว่าหน้าที่ สอนเรื่องหน้าที่ถูกแล้วมันไม่แยกกัน นี้ธรรมะเทคนิคก็อยากจะพูดถึงเรื่องที่จะมีธรรมะโดยวิธีเทคนิคก็ได้ จะใช้ธรรมะเป็นเทคนิคก็ได้ หรือโดยความจริงแท้ของธรรมชาตินั้น ธรรมะเป็นเทคนิคอยู่แล้วในตัวมันเอง คนจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ นี่เรียกว่าเราจะพูดถึงธรรมะในฐานะที่เป็นวิชาการเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง ก็ต้องรู้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องกับความลับของธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไร ไม่ว่าเรื่องอะไรมันจะมีความลับของมันโดยเฉพาะที่จะทำให้ดีถูกต้องเป็นพิเศษแต่เราไม่รู้ แม้แต่จะทำนานี่ทำให้ดีวิเศษกว่าธรรมดา ทำสวนทำให้ดีวิเศษกว่าธรรมดา ค้าขายให้ดีกว่าธรรมดา ศิลปหัตถกรรมทำให้ดีกว่าธรรมดา ไอ้ส่วนที่ทำให้ดีได้กว่าธรรมดานั่นแหละมันคือสิ่งที่เรียกว่าเทคนิค เราอาจจะตั้งปัญหาถามกันมาว่า อู้, ความสำเร็จนี่มันมาจากอะไร มาจากพระเจ้าบันดาลให้รึว่ามาจากเทคนิคที่ถูกต้องของเรา อย่างนี้ไม่มีใครพูดแล้วลองพ้นสมัยว่าความสำเร็จนั้นจะมาจากพระเจ้าเบื้องบนที่ไหนก็ไม่รู้ ผีสางเทวดาไหนก็ไม่รู้ แต่คนก็ยังโง่อย่างนั้นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน มันมาจากการกระทำที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ไม่มีอย่างอื่น การกระทำที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์โดยเฉพาะกฎที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นกฎครองโลก ครองชีวิต ครองมนุษย์ ครองอะไรต่างๆ ถ้าทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้นแล้วมันก็ได้รับผล การกระทำที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ซึ่งโดยมากยังลึกลับซับซ้อนอยู่ไม่ค่อยจะรู้กันนั่นแหละจะเรียกว่าเทคนิคในที่นี้ คุณจะมีความหมายอย่างอื่นก็ได้ตามวิชาการที่คุณเรียนมา แต่ทว่าในทางธรรมะในทางพุทธศาสนาแล้วเราก็ถืออย่างนี้ มันจะตรงกับคำง่ายๆว่าอุบายหรือกุศโลบายก็ได้ แล้วแต่จะเป็นชั้นหยาบๆ หรือชั้นละเอียดประณีตที่สุด เป็นอุบายธรรมดานี่ก็ได้ ถ้าอุบายมันต้องดีกว่าธรรมดา อุบายที่เราใช้กันอยู่ตามธรรมดานี้ก็เรียกว่าอุบาย ถ้ามันวิเศษกว่าธรรมดาก็เรียกว่ากุศโลบาย มันให้ผลสมกับที่มันเป็นสิ่งที่ลึกลับ ให้เกิดผล หนึ่งเพื่อความง่าย ถ้ามันมีเทคนิคมันทำได้ง่ายขึ้น มันจะเกิดผลสะดวก ทำได้อย่างสะดวกอย่างมีความสะดวกในการทำไม่ข้องขัด และก็มีความเร็วมันจะทำได้เร็วกว่าคนโง่คนไม่มีเทคนิค และมันก็จะได้ผลดีเลิศ ดีเลิศได้ผลมากมาย ดีเลิศกว่าธรรมดา แล้วมันจะใช้ทุนน้อย จะเป็นแรงงานแรงเงินอะไรก็ตามที่เป็นทุนใช้น้อย ต้องได้อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเทคนิค ไม่อย่างนั้นก็ธรรมดาสามัญคนบ้าก็ทำได้ มันต้องทำได้ง่าย ต้องทำได้สะดวก ทำได้เร็ว ได้ผลเลิศโดยใช้ทุนน้อยที่สุด ลองคิดดูสิวิเศษหรือไม่วิเศษ เมื่อเราทำอะไรได้เร็ว สะดวก ง่ายกว่าธรรมดาที่ทำทำกันอยู่แล้วก็ได้ผลเลิศลงทุนน้อยที่สุดนั้น นี่จะเป็นหัวใจของเทคนิค หรือบทนิยามสำหรับคำว่าเทคนิคคือสิ่งที่ทำให้ได้ผลอย่างนี้โดยวิธีการอย่างนี้ เอ้า, เดี๋ยวนี้ก็เรามีหัวข้อว่าธรรมะเทคนิค ก็เพื่อจะทำให้มีธรรมะโดยวิธีเทคนิคหรือเห็นความเป็นเทคนิคที่มีอยู่แล้วในธรรมะนั้น อาตมาขอยืนยันอยู่เสมอว่าธรรมะเป็นเทคนิคอยู่แล้วในตัวเอง เราจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ ธรรมะเทคนิคก็แปลว่าทำให้มีธรรมะให้เกิดมีความรอดอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือความเป็นพุทธะ ได้แก่เป็นผู้ตื่น เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน คำว่าพุทธะ พุทธะ มันหมายความอย่างนี้ พุทธะน่ะแปลว่า ที่จริงก็เป็นในเรื่องทางธรรมชาติ ตามธรรมชาติที่ยืมไปใช้ ธรรมดาแท้ๆไม่เกี่ยวกับธรรมะหรอก แต่ว่าตื่นนอน ตื่นนอน ตื่นขึ้นมาจากนอน มันต้องรู้ รู้ รู้ มันต้องเบิกบานด้วยความรู้ คนโบราณเขาพูดกันติดปากอย่างถูกต้อง ลูกหลานมันไม่ค่อยจะพูด ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขอให้จดจำคำนี้ไว้ว่ามันเป็นความหมายของคำว่าพุทธะ เมื่อเรามีเทคนิคของความเป็นพุทธะ ก็คือการที่จะทำให้เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั่นเอง จะทำโดยวิธีที่เรียกว่าเทคนิคของธรรมชาติ ธรรมชาติจัดมาให้เสร็จ เราไม่รู้ก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้เราก็ได้ใช้ได้ทำ ข้อแรกที่จะต้องเอ่ยถึงก็คือการศึกษา การศึกษา โดยภาษาไทยเรียกว่าการศึกษายืมมาจากสันสกฤตคือสิกฉา ภาษาสันสกฤตออกเสียงเป็นสิกฉา ภาษาบาลีว่า สิกขา คำเดียวกันที่แปลว่าศึกษา มีการศึกษาที่แท้จริง การศึกษาในโลกนี้ยังบ้าๆ บอๆ ครึ่งๆ กลางๆ ขออภัยใช้คำหยาบคายหน่อย ไม่ตรงกับความหมายของคำว่าศึกษาหรือสิกขา คำนี้แปลว่าเห็นเอง หรือในตัวเอง สะ แปลว่าเองหรือภายในตัวเอง อิกแปลว่าเห็น สิกขา หรือสิกษานี่เห็นตัวเองในตัวเองโดยตัวเอง นี้การศึกษาในโลกยังไม่ถึงขนาดนี้ ยังไม่ถึงขนาดนี้ แต่การศึกษาในทางธรรมของพระพุทธศาสนาต้องถึงขนาดนี้มันก็ดีที่สุด ในลักษณะที่เรียกว่าสมาธิหรือปัญญา สมาธิคือรวมกำลังใจดีที่สุดสำหรับจะดูจะเห็น ดูเห็นก็เกิดปัญญาเกิดวิปัสสนา การเห็นอย่างแจ่มแจ้งนั้นน่ะคือการศึกษา ไม่ใช่บอกให้เด็กจดไว้ในสมุดปิดเก็บไว้ไม่ได้ใช้อะไร ศึกษาที่โรงเรียนมักจะเป็นเสียเพียงอย่างนั้นเท่านั้น มันไม่ใช่การศึกษาอะไรทำอย่างนั้น แม้จะใช้คอมพิวเตอร์ก็ไม่เป็นการศึกษา เป็นยักษ์ตาบอด ช่วยไม่ได้อย่าไปบ้ากับมันนักเลยคอมพิวเตอร์ มันต้องตามคำเดิมภาษาอินเดียก็แล้วกัน บาลีก็ได้ สันสกฤตก็ได้ ภาษาไทยก็ได้เพราะมันถอดมาจากภาษาอินเดีย ถ้าเป็นการศึกษาสมบูรณ์ขอให้ฟังหน่อยนะว่า ต้องดูตัวเองภายในตัวเอง เห็นตัวเอง ใช้คำเป็นลำดับ ลำดับว่า ดู ข้อแรกต้องดู ดู ดู ดู ดู ต้องดูเป็น ดูไม่เป็นใช้ไม่ได้ เมื่อดูแล้วก็ขั้นที่สองก็คือเห็น เมื่อเห็น เห็น เห็น เห็นอย่างถูกต้องมันก็รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ รู้ เมื่อรู้แล้วก็วิจัย พิสูจน์ ทดลอง คือใคร่ครวญ ใคร่ครวญ ใคร่ครวญ ครบสี่อย่างนี้แล้วจึงปฏิบัติตามที่ได้ใคร่ครวญแล้วว่าเป็นอย่างไร คำว่าศึกษาที่สมบูรณ์ต้องดู ระยะที่สองเห็น ระยะที่สามรู้ ระยะที่สี่ใคร่ครวญหรือวิจัย จึงมีการปฏิบัติตามนั้นนี่คือการศึกษาที่สมบูรณ์ตามความหมายของคำคำนี้ คำว่าการศึกษาที่ใช้อยู่ในโลกไม่ได้ถึงขนาดนี้ educate จะบ้าๆบอๆอะไรก็ไม่รู้ ไม่เป็นตามความหมาย ๔ อย่างนี้ที่เป็นแต่เพียงการเล่าเรียน study learning นี้ไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าศึกษาหรือสิกขา แล้วมีความสำคัญที่สุดต้องเรียกว่า เอง เอง ษะแปลว่าเอง ดูด้วยตนเอง ดูในตัวเอง แล้วก็เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง อันนั้นมันเป็นเรื่องของตัวเองไปทั้งนั้น นี่คำว่าศึกษา ถ้าไปคิดไปดูกล้าท้าว่านี่จะสมบูรณ์ ไม่ถึงขนาดนี้ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นการศึกษา ตามความหมายของคำเดิมของเขา ถ้าเราใช้คำนี้นี่ ก็เราไปใช้คำนี้ ไปเอาเขามาใช้คำว่าสิกษา สิกขานี่ เอาคำของเขามาใช้ต้องใช้ให้ถูกต้องตามความหมายของคำเดิมว่าศึกษา นี้เราจะต้องมีการศึกษาสิ่งนั้น สิ่งที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ที่เราจะต้องปฏิบัติ ถ้าเป็นเรื่องโลกเรื่องทำงานเรื่องทำหน้าที่การงาน ศิลปหัตถกรรมมันก็ต้องดู ดูไปตามนั้น ถ้าเป็นเรื่องธรรมะก็ต้องดูธรรมะ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการศึกษาดูเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ วัตถุทางการศึกษาดู เห็น รู้ ใคร่ครวญ ได้หมด ได้ความรู้ครบถ้วนหมด แล้วก็ปฏิบัติก็คือทำ คือทำ คือกระทำ เครื่องมือให้สำเร็จการกระทำเรียกว่า อิทธิบาท ท่านทั้งหลายคงรู้ได้ยินคำนี้มาตั้งแต่เรียนชั้นประถม มัธยม อิทธิบาท อิทธิบาท รากฐานแห่งความสำเร็จ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อาจจะลืมแล้วก็ได้ ครั้งที่เคยเรียนมาสมัยโน้นไม่ได้ใช้มันไม่เห็นความสำคัญของมัน แต่ถ้าใช้มันอยู่ทุกวันทุกวันไม่มีลืมหรอก คือความพอใจ รักที่จะทำมัน จะทำอะไรจะเรียนอะไรจะเกี่ยวข้องกับอะไรต้องมี ฉันทะ พอใจ พอใจที่จะทำ แต่ไม่ใช่ความหิวไม่ใช่ความหวังบ้าๆบอๆ อันนั้นมันจะทำให้เป็นโรคประสาท เด็กเป็นโรคประสาทเพราะความหิวความหวังมากเกินไปในวิชาความรู้ ไม่ถูก ก็เป็นแต่ความพอใจไป คำภาษาอังกฤษที่เหมาะอยู่คำเดียวที่เอามาใช้พูดกันเดี๋ยวนี้ก็ appetite appetite ถ้ามี appetite ขึ้นในสิ่งใดมันก็จะทำสิ่งนั้น แม้แต่จะหิวข้าวก็เหมือนกัน แต่ต้องเพียงแค่ว่า appetite อย่างเป็นหิวชนิดที่กัดหัวใจเป็น hunger อะไรทำนองนั้นมันก็ไม่ไหว มีความพอใจยินดีรักที่จะทำในสิ่งนั้น ครั้นความรักมีพอแล้วมันก็มี วิริยะ วิริยะ คำนี้มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือกล้าหาญก็ได้ พากเพียรก็ได้ แต่มันต้องรวมกัน ๒ อย่างมันจึงจะเป็นวิริยะ ถ้าไม่กล้ามันก็ไม่เพียรถ้าไม่เพียรมันก็ไม่กล้า เรียกว่ามี วิริยะวิริยะ วิริยะ วิริยะที่มี สติสัมปชัญญะไม่ใช่หวังในวิมานในอากาศ หรือไปทำอย่างบ้าๆบอๆหลับหูหลับตาทำ วิริยะ ต้องถูกต้อง ต้องเข้มแข็ง ต้องกล้าหาญ และก็มี จิตตะ จิตตะ คือเอาใจใส่อยู่เสมอ เอาใจใส่อยู่เสมอ จะนอนฝันถึงเรื่องนั้นถ้ามันมี จิตตะ เพียงพอ แล้วก็มี วิมังสา ทดสอบ ใคร่ครวญ หาเหตุผลในเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่า อิทธิบาททั้ง ๔ ให้ประสบความสำเร็จพระพุทธเจ้าสรรเสริญมาก ให้ใช้มันในหน้าที่การงาน มีคำกล่าวที่น่าสนใจว่าถ้ามีอิทธิบาทแล้วจะมีอายุถึงกัป ถึงกัป คำคำนี้เข้าใจกันผิดๆ ว่า กัป อย่างภาษาอื่น ในเรื่องอื่นนั้นกัปไม่รู้กี่อสงขัยปี กัปอย่างนั้นไม่ใช่ ที่เธอมักจะพูดว่ามีภูเขาลูกหนึ่ง เทวดาเอาผ้ามาปัดมันครั้งหนึ่ง ปีละครั้ง ปีละครั้ง จนภูเขาเหี้ยนหมดไม่มีเหลือนั่นแหละกัปไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นมันไม่รู้ ไม่รู้จะใช้ประโยชน์อย่างไร กัปก็แปลว่าเต็มเปี่ยมแห่งอายุของสิ่งนั้น เช่นว่าเรามีอายุ สมัยพุทธกาลก็ร้อยยี่สิบปี ถ้าพระพุทธเจ้าจะอยู่ถึงร้อยยี่สิบปีก็ได้แต่ท่านมานิพพานเสียเมื่ออายุแปดสิบปี เรื่องวันนั้นที่พระอานนท์ทูลถามไม่มีใครทูลนิมนต์ไว้ท่านก็ไปเสีย ก่อนถึงกัปไม่ทันถึงร้อยยี่สิบปีก็นิพพานเสียแล้ว ท่านยืนยันในตอนนี้ว่าถ้าจะอยู่ถึงกัปอายุร้อยยี่สิบปีนี้ก็ได้ คือได้โดยมีอิทธิบาท อิทธิบาทช่วยให้เกิดความสำเร็จตามต้องการ ได้เต็มที่ตามที่ต้องการแต่ก็ไม่ใช่เกินธรรมชาติ เต็มที่ตามที่ธรรมชาติจะอำนวย นี่เรามีอิทธิบาท สิ่งที่ประสงค์หรือหวังนั้นมันก็จะสำเร็จตามต้องการ นี่ก็เป็นธรรมะหมวดหนึ่งที่ว่าหลังจากการศึกษาแล้วเราก็จะต้องทำ ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่จะเป็นเครื่องมือในการกระทำ ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุที่วิทยาลัยเทคนิคคงรู้ดีกว่าอาตมาหลายร้อยหลายสิบเท่าไม่พูดแล้ว แต่จะพูดถึงเครื่องมือทางจิตใจ เครื่องมือด้านจิตใจฝ่ายจิตใจ จะต้องมีธรรมะ ธรรมะชนิดนั้น ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ธรรมะที่เป็นการกระทำก็มี เป็นผลของการกระทำก็มี ในนี้เราพูดถึงธรรมะเครื่องมือ ธรรมะนี้ต้องเป็น teamwork คือแยกกันไม่ได้ต้องทำงานร่วมกัน ๔ อย่าง คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ อย่าเพิ่งง่วงนอน สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ซึ่งจะต้องฝึกไว้ให้ใช้สมบูรณ์ สติคือความระลึกได้เร็ว เร็วเหมือนฟ้าแลบ ระลึกได้เร็ว เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาระลึกได้เร็วว่าจะไปเอาปัญญาอะไรมาใช้กับสถานการณ์อันนี้ แล้วก็ไปเอาปัญญามา ปัญญามีอยู่ในสต๊อกเยอะแยะเต็มไปหมดทุกๆชนิด แต่เอามาเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ถูกกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ปัญญานี้ถูกเอามาอย่างหนึ่ง พอเอามาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์มันก็เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่าสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม สัมปชัญญะ ไม่ต้องเอามาทั้งหมดนะ เหมือนกับอย่างว่าในตู้ยามียาครบทุกอย่างแต่พอกินพอเกิดโรคอะไรมากินอย่างเดียวเท่านั้นแหละ แล้วต้องหยิบให้ถูกเรื่องของมันด้วย ปัญญาต้องศึกษาอบรมไว้มาก มากมายตลอดเวลา แต่พอจะใช้ใช้อย่างเดียวคือตรงกับเหตุการณ์ แม้แต่ใช้อาวุธเรามีอาวุธหลายอย่างเก็บสะสมไว้แต่พอจะใช้ก็ใช้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ นี่สติไปเอาปัญญามาอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่เฉพาะหน้าในที่นี้ ว่าจะต้องทำอะไรจะต้องต่อสู้กับอะไร จะต้องแก้ปัญหาอะไร ปัญญาชนิดเอามาอย่างเดียวเหมาะสมกับเหตุการณ์นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กำลังมีอยู่จริง ทีนี้ก็มีปัญหาว่ามันไม่มีแรง ปัญญานี้มันไม่มีแรง ต้องหาแรงมาให้มันสิ่งนั้นคือสมาธิ สมาธิ จึงได้ครบ เอากำลังสมาธิมาใส่ลงไป สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ปัญญา ปัญญานี้เปรียบเหมือนกับความคม ความคม ต่อให้คมกว่ามีดโกนหรือคมกว่า ถ้าไม่มีน้ำหนักมันไม่ตัดหรอกคิดดูข้อนี้มันเห็นอยู่ชัดๆ จะคมวิเศษวิโสอย่างไรแต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันไม่ตัดหรอก มันจึงต้องมีสมาธิมากเพื่อเป็นน้ำหนัก น้ำหนักมากเท่าไรมันก็ตัดเท่านั้นแหละ ความคมจะมีประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีน้ำหนักให้ความคมมันทำหน้าที่ เราจึงต้องมีสมาธิ สมาธิ สมาธิที่ถูกต้องนั้นมันมีลักษณะว่า มันบริสุทธิ์คือไม่มีกิเลศรบกวนและก็มีการรวมเป็นจุดเดียวของจิตใจ และก็มีความแคล่วคล่องว่องไว มี activeness อย่างที่บูชากันนัก แคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่ของมันถึงที่สุด นี้เรียกว่าสมาธิ ไม่ใช่มานั่งหลับตานอนแข็งเป็นท่อนไม้เรียกว่าสมาธิบ้าที่สุด ยิ่งสมาธิเท่าไรยิ่ง active นะ แคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่การงานเท่านั้นเรียกว่าสมาธิ มันบริสุทธิ์จากนิวรณ์ไม่รบกวน มันตั้งมั่นเป็นสิ่งเดียวจุดเดียวเหมือนกับแก้วรวมแสงแดด รวมแสงแดดให้ไฟลุกได้ แล้วมันก็มีแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่การงานของมัน คือมีสมาธิ มีสมาธิ น้ำหนัก ความคมก็ตัด ตัดถูกเรื่องของสัมปชัญญะ มันก็สำเร็จ สำเร็จทุกหน้าที่การงาน ต้องมาพร้อมกัน ต้องทำงานพร้อมกัน สติเอาปัญญามาทำเป็นสัมปชัญญะ เอาสมาธิมาเป็นกำลังสำหรับปัญญานั้นจะทำหน้าที่คือตัด นิยามนี้เรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ ต้องมาครบถ้วนทั้ง ๔ เกลอนี่ การกระทำนั้นจึงจะสำเร็จถูกต้อง
ทีนี้ก็จะพูดถึงเทคนิคในตัวธรรมะ เทคนิคอย่างเลิศในการปฏิบัติธรรมะ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เรียกว่าองค์แห่งการตรัสรู้ องค์แห่งการตรัสรู้ องค์ประกอบของการตรัสรู้คือสำเร็จเรียกว่าโภชชงค์ โภชชงค์ ที่เขาเอามาสวดให้คนเจ็บฟังหายเจ็บนั้นขอยืมมาใช้กัน เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ จะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ องค์แห่งการตรัสรู้คือทำให้เกิดการตรัสรู้ ข้อที่หนึ่งมีสติอีกแล้ว สติ สตินี่มีประโยชน์เหลือเกิน สติระลึกได้ ระลึกได้ ระลึกมาให้หมด ธรรมะมีอะไร กี่อย่าง ในแง่ไหนอะไร ธรรมะอะไรเป็นอย่างไร ธรรมะอะไรเป็นอย่างไร สติระลึกได้ทันท่วงที แล้วก็มีธรรมวิจยะ ธรรมวิจัย ธรรมวิจัย คำว่าวิจัยไม่ใช่คำใหม่ตั้งขึ้นเร็วๆนี้ไม่ใช่ คำโบราณดึกดำบรรพ์ตั้งแต่พุทธกาลแหละคำว่าวิจัย คือเลือก เลือก เลือกว่าอะไรเหมาะ อะไรเหมาะ เมื่อประมวลมาทั้งหมดแล้วในวิชาความรู้ หรือวิธีการอะไรก็ตาม สติระลึกมาหมดแล้วทีนี้ก็วิจัย คือเลือก เลือก เลือกว่ามันจะเหมาะ อันไหนจะเหมาะ แล้วก็ใคร่ครวญปฏิบัติ ในชั้นนี้ก็คือใคร่ครวญให้ถูกต้องแล้วก็เลือก เลือกได้พอใจอันนี้แล้วใช้ ก็มีวิริยะคือความพากเพียรกล้าหาญ ในการทำความพากเพียรกล้าหาญอันเหน็ดเหนื่อยนั้นก็ต้องมีสิ่งหล่อเลี้ยง สิ่งนั้นคือปีติ ปีติ ปีติมีความพอใจหล่อเลี้ยงความเพียร ก็เข้ารูป เรื่องก็เข้ารูป เข้ารูปเข้ารอยไม่เกะกะไม่ดึงไม่อะไร ไม่ขัดแย้งอะไรกัน ความรู้ความคิดนี้มันเข้ารูปเข้าลอยเป็นปัสสัทธิ ปัสสัทธิแล้วก็มันก็เป็นสมาธิรวมกำลังทั้งหมดขึ้นมาเอง นี่เรียกว่าครบ ทุกอย่างเข้ารูป มีความถูกต้องเข้ารูปทีนี้ก็มีอุเบกขา คอยจ้องดูควบคุมดูให้มันเป็นไปตามนั้น จนกว่ามันจะถึงผลสำเร็จอันสุดท้าย นี่คือความเป็นเทคนิค ๗ ประการ เกี่ยวข้องกันของการตรัสรู้ คำว่าอุเบกขานี่น่าสงสารนะ เอาไปใช้กันผิดๆ เอาไปใช้กันผิดๆ คืออยู่เฉยวางเฉยอุเบกขางางเฉย ในบทว่าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้น คนสอนมักจะว่าวางเฉยอุเบกขา เมตตารักใคร่ กรุณาช่วยเหลือ มุทิตายินดีด้วย ถ้าช่วยไม่ได้เราก็วางเฉย อย่างนี้คือมันบ้าบอ คอยดูว่ามันจะต้องเป็นไปตามนั้นแม้จะอยู่เฉยๆมันก็ถูกต้องแล้วมันก็วางเฉยได้ ก็ทำไปอย่างนั้นจนจะสำเร็จ เหมือนว่าชาวนาทำนาครบถ้วนถูกต้องดีแล้วหมดทุกอย่างแล้วก็วางเฉย คือคอยจ้องดูอยู่ให้มันจะออกผลมา คือดูความถูกต้องที่ทำให้ดีแล้ว เหมือนกับสารถีโบราณก็ใช้รถม้าไม่มีรถยนต์ ม้าก็ถูกต้องแล้ว หนทางก็ถูกต้องแล้ว อะไรก็ถูกต้องแล้ว เค้าก็ถือเชือกบังเหียนอยู่เฉยๆเท่านั้นแหละ ม้ามันก็พารถไปเองถึงที่ปรารถนา นี่อุเบกขา ไม่ใช่เฉยๆ เดี๋ยวก็หลับซะนี่ มันก็ใช้อะไรไม่ได้ อุเบกขา อุเบกขาสำคัญคอยควบคุมให้มันเป็นไปตามความถูกต้อง ที่ได้จัดไว้ดีแล้ว ขอให้ใช้คำว่าอุเบกขาอย่างนี้น่ะถูกต้อง มีลูกมีหลานมีอะไร อุเบกขาในพรมวิหารผิดๆ แล้วก็เสียคนหมด ดูให้มันเป็นไปตามความถูกต้องที่จะจัดไว้ดีแล้ว ในการปฏิบัติพรหมจรรย์เพื่อเป็นพระอรหันต์บรรลุมรรคผลนิพพานก็เหมือนนะ มันมีคำว่าอุเบกขาอยู่เป็นข้อสุดท้าย เมื่อทุกอย่างถูกต้องแล้วก็ควบคุมความถูกต้องให้เป็นไป นี่สติเลือกมาให้หมด ธรรมวิจยะเลือกเฉพาะเรื่อง วิริยะพากเพียร ปีติหล่อเลี้ยงความพากเพียร ปัสสัทธิความเข้ารูปลงตัวลงรอย สมาธิเพิ่มกำลังในความถูกต้องลงร่องลงรอย แล้วก็ควบคุมด้วยอุเบกขา นี่เทคนิคเหลือประมาณเทคนิคอย่างยิ่งครบถ้วนนี้แล้วเป็นประสบความสำเร็จตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ ลองเอาไปใคร่ครวญดู มันมีการยึดโยงอยู่ในตัวมันเองครบถ้วนทั้ง ๗ ประการนั้นเรียกว่า โภชชงค์ มีความหมายแห่งความเป็นเทคนิคทั้งในการรู้ทั้งในวิชาหรือทั้งในปฏิบัติ วิธีการใช้มันผลสุดท้ายก็ได้รับผลสูงสุดคือนิพพาน นิพพาน เป็นจุดสุดท้ายของสิ่งที่จะต้องรู้ถึงหรือปรารถนา ขออภัยอีกหน่อยที่จะต้องพูดว่าครูบาอาจารย์สอนผิดๆ สอนผิดๆ อย่างน่าเศร้าน่าร้องไห้ ไปสอนเด็กๆ ว่านิพพานแปลว่าตาย มันผิดเกินผิดและมันจะโง่เกินโง่ นิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะ ครูสอนเด็กๆว่านิพพานคือการตายของพระอรหันต์ นี่เอากับมันสิ นิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะ และพระอรหันต์จริงๆก็ตายไม่ได้ ตายได้แต่เปลือก ร่างกายของพระอรหันต์ตายได้ แต่องค์ธรรมองค์คุณของความเป็นพระอรหันต์ไม่รู้จักตาย พระอรหันต์ไม่มีตาย ฉะนั้นนิพพานก็ไม่ได้แปลว่าตาย ถ้าจะให้ตายให้นิพพานแปลว่าตายก็ต้องตายของกิเลส กิเลสตาย ตายหมดนั่นแหละได้ อย่าเอาให้เป็นพระอรหันต์ตายสิ มันจะผิดมันจะหลอกเด็กอย่างเหลือที่จะกล่าวแล้ว มันใช้ไม่ได้ มันผิดหมดที่ไปสอนเด็กว่านิพพานแปลว่าตาย นิพพานแปลว่าเย็น เย็น หมดไฟแห่งความร้อน ตายหมดแห่งความร้อนนั้นก็ได้ คำว่านิพพานนี้เค้าไม่ได้ใช้ในความหมายว่าตาย ในพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้นมหาศาลนั้นมีคำว่านิพพานใช้ แต่ไม่ได้แปลว่าตาย แปลว่าเย็น เย็นเพราะหมดกิเลส หมดแล้วหมดกิเลส กิเลสมันของร้อน หมดกิเลสก็เป็นของเย็น ชั้นดีก็หมดกิเลสแล้วแต่ยังรู้สึกว่านี้สุข นี้ทุกข์ นี้น่าพอใจ นี้ไม่น่าพอใจ แต่ก็ไม่รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจซึ่งเป็นกิเลส ถ้าดีไปกว่านั้นก็ไม่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ พูดเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็ว่าสิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังรู้สึกความเป็นบวกเป็นลบ เป็น positive หรือเป็น negative ของทั้งหลายอยู่ ยังรู้สึกอยู่แต่ก็ไม่ยินดียินร้าย ดีไปกว่านั้นอีกก็ไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบ เรียกว่าเย็นสนิทไม่มีความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ รบกวนจิตใจให้กระวนกระวายดับร้อน มันจึงเย็นสนิท นิพพานแปลว่าเย็น เย็นเพราะไม่มีไฟ เพราะไม่มีความร้อน นี้มันยืมคำของชาวบ้านธรรมดาๆ นี่ไปใช้ พูดกันมาก่อนศาสนา ก่อนจะมีศาสนามนุษย์ก็รู้จักพูดคำว่าเย็นว่าร้อน ต่อมาครั้นศาสนาเกิดขึ้นก็ยืมคำว่าเย็นนี่ไปใช้ แต่ไปใช้ในเรื่องของจิตใจ ก่อนนี้เขาใช้กันแต่ในเรื่องทางวัตถุ เช่นถ่านไฟแดงๆร้อน พอมันเย็นมันดำ ก็เรียกว่ามันนิพพาน ก็นิพพานแปลว่าเย็นเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายพิเศษๆ อะไร ข้าวแกงกับในครัวร้อนอยู่กินไม่ได้ ก็บอกว่าเดี๋ยวรอก่อนให้มันนิพพานก่อน นี่เหมือนกับพูดเล่น มันพูดจริงอย่างนั้น คำนั้นมันใช้อย่างนั้น เมื่อมันหมดความร้อนก็เรียกว่ามันนิพพาน ทำของร้อนๆให้เย็นลงไปเอาน้ำสาด นี่ก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่ฝึกดีแล้วเชื่องไม่มีอันตรายโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็เรียกได้เหมือนกันว่ามันนิพพาน มันไม่มีอันตรายอะไรอีกแล้ว นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย ถ้าตายจะมีประโยชน์อะไร เอาไปทำอะไรได้ถ้าตาย มันไม่ตายมันยังมีชีวิตอยู่แต่มันเย็น เย็นไม่ถึงขนาดนิพพานก็เรียกว่า นิพพุติ พระก็เป่าปี่ให้แรดให้เต่าทั้งหลายฟัง ทุกคราวที่พระมาทำพิธีให้ศีลท่านจะต้องพูดคำนี้เสมอ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ คนทั้งหลายรวมทั้งท่านทั้งหลายด้วยว่าไม่ฟังหรือฟังไม่รู้ว่าอะไร ก็ว่าท่านจงมี นิพพุติ ด้วยศีล ให้มีความเย็นแห่งชีวิตจิตใจด้วยศีล เงียบเป็นหมันไปเลยอย่างที่เรียกว่าเป่าปี่ให้แรดฟัง พระก็มาบอกอยู่เสมอว่า นิพพุติ นิพพุติ ก็คือนิพพานที่ยังไม่สมบูรณ์ เย็นในตามขั้นตามระดับชาวบ้านธรรมดานี่ ถ้านิพพุติ มากขึ้น มากขึ้นเด็ดขาดไม่กลับร้อนได้อีกก็เรียกว่านิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น เราจงมีชีวิตอย่างเย็นเป็น นิพพุติ นิพพุติ เป็นชีวิตเยือกเย็นไม่มีความร้อนใจอะไร นี่ก็เรียกว่า นิพพุติ คือนิพพานล่วงหน้า นิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆ ประเสริฐวิเศษสำหรับคนเป็นๆ คนตายไม่มีประโยชน์อะไร นี่นิพพานไม่ใช่ตาย เมื่อได้ใช้เทคนิคของธรรมะสมบูรณ์ที่เรียกว่าโภชชงค์ ๗ ประการแล้ว ผลที่ได้รับก็คือนิพพาน ไม่ใช่ตาย จะอยู่อย่างเย็น เย็น เย็น เป็นชีวิตเย็น ชีวิตที่ไม่มีธรรมะเป็นชีวิตร้อน ชีวิตร้อนอย่างนี้มันกัดเจ้าของ คนโง่ๆทั้งหลายมีชีวิตร้อนที่กัดเจ้าของทั้งนั้นแหละไม่ยกเว้นใคร ถ้ามันโง่แล้วมันก็มีชีวิตร้อน ชีวิตนั้นมันก็กัดเจ้าของ เลวกว่าหมาเสียอีก เพราะว่าหมามันยังไม่กัดเจ้าของ อย่างนี้ความโง่ความไม่มีธรรมะนี้มันกัดเจ้าของ กัดด้วยความรักบ้าง กัดด้วยความโกรธบ้าง กัดด้วยความเกลียดบ้าง กัดด้วยความกลัวบ้าง กัดด้วยความตื่นเต้นบ้าง วิตกกังวลบ้าง อิจฉาริษยาบ้าง หึงหวง หวงหึงบ้าง ร้อนเป็นไฟอย่างไรก็รู้กันอยู่ดีแล้วไม่ต้องพูด เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ชีวิตก็เย็น คือเรียกว่านิพพาน ถ้ายังอยู่ในระดับธรรมดายังเปลี่ยนแปลงได้ก็เรียกว่านิพพุติ นิพพุติ ถ้าถึงที่สุดก็เรียกว่านิพพาน ถ้าจะไม่ใช้คำว่านิพพุติจะใช้คำว่านิพพานก็ได้เหมือนกัน ได้เป็นนิพพานล่วงหน้า นิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆ ที่มีมาก่อนจนกว่ามันจะสมบูรณ์ เทคนิคของการบรรลุนิพพานคือโภชชงค์ ๗ ประการ ยืมมาใช้ในกิจการทั่วไปทั้งหลายได้แม้แต่การทำนา ระลึกได้หมดแล้วเลือกเอาวิธีหรือสิ่งของที่ดีที่สุด แล้วก็พากเพียร แล้วก็มีพอใจหล่อเลี้ยง แม้จะทำนาอยู่กลางแดดเหงื่อไหลไคลย้อยก็ยิ้มกริ่มอยู่นั่น แล้วทุกอย่างก็เข้ารูปเข้ารอย เพิ่มกำลังทั้งหมดลงไปแล้วก็ดู ดู ดูอยู่ กว่ามันจะได้ผลออกมาเป็นข้าว นี่เรียกว่าเอามาใช้อย่างเรื่องชาวบ้าน เรื่องของพระอรหันต์ เรื่องโลกุตตระเราสามารถจะดัดแปลงมาใช้อย่างชาวบ้านได้ทุกเรื่องก็ว่าได้ เช่นอริยมรรคมีองค์แปดทางไปนิพพาน เอามาใช้เป็นอยู่ในโลกอย่างเป็นสุขก็ได้ ทีนี้ก็มาใช้กับคำว่าชีวิต ธรรมะเทคนิคเมื่อปฏิบัติไปอย่างถูกต้องแล้วมันก็มีผลแก่ชีวิต เราจะมาดูกันที่เทคนิคของชีวิต เทคนิคของชีวิตเกี่ยวกับชีวิต มันก็ได้แก่การพัฒนาชีวิตให้ถูกต้องตามความลับของธรรมชาติ ที่เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคในการพัฒนาชีวิต ก็พัฒนาได้จนเป็นพระอรหันต์ หรือว่าจะต้องการอย่างไรก็ได้ พัฒนาชีวิตนี้ให้มันเป็นไปตามที่ต้องการ ต้องการ มันมีเคล็ดลับถ้าทำถูกต้องและง่ายและเร็วและสะดวกและได้ผลดีและลงทุนน้อย ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ให้มาในลักษณะที่พัฒนาได้ แต่คนโง่ไม่คิดอย่างนั้นคิดว่าเหลือวิสัยของกู กูไม่เอา กูไม่ทำอะไร นั่นมันโง่ แต่ถ้ารู้ว่าชีวิตมันให้มาในลักษณะที่พัฒนาได้ และก็ไม่ใช่คนปัญญาอ่อนไม่ใช่คนบ้าก็พัฒนาได้ไม่ต้องสงสัย ดังนั้นเราต้องพัฒนาชีวิตตามที่ธรรมชาติให้มาอย่างไร ธรรมชาติให้มาในลักษณะเป็นต้นทุน เป็นทุนเอามาลงแล้วก็ทำให้เกิดผลกำไรแก่ชีวิตนั้น นี่เรียกพัฒนาชีวิต มันจะต้องมีวิธีการที่เป็นเทคนิค อย่างเดี๋ยวนี้เราไปหลงคำว่าวิทยาศาสตร์ ไม่ชอบใจคำว่าธรรมชาติ เพราะมันเป็นไปในทางวัตถุส่งเสริมความใคร่ความรู้สึก ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ก็ไปบูชากันอย่างนั้นเสียมากกว่า เทคนิคถูกใช้เป็นลักษณะกินกามเกียรติ เพื่อกินกามเกียรติ ไม่ใช้เพื่อความตรงกันข้ามคือสะอาด สว่าง สงบ ถ้าคุณเป็นพุทธบริษัทก็ใช้เทคนิคของชีวิตให้มันเป็นไปเพื่อสะอาด สว่างและสงบ นี่จะเป็นนิพพาน เดี๋ยวนี้หลงใหลไปตามกิเลศตัณหา ก็พัฒนาเพื่อเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง มันก็เท่านั้นแหละ มันก็ไม่เย็นเป็นนิพพานได้มันก็ต้องร้อนไปตามแบบของมัน แต่ถ้ามีธรรมะมันร้อนน้อยหน่อย แล้วก็ควบคุมไม่ให้มันร้อนได้มันก็กลายเป็นโลกุตตระไป เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรตินี่ถ้าควบคุมได้ไม่ให้เกิดความร้อน มันก็กลายเป็นเรื่องของโลกุตะระเป็นเรื่องนิพพาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้มันมัวแต่หลง หลง หลงเรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติ ลัทธินี้ก็มีอยู่ลัทธิหนึ่งกินดื่มร่าเริงเต็มที่เพราะพรุ่งนี้กูอาจจะตายเสียแล้วก็ได้ มันก็ถือลัทธิอย่างนั้น กิน ดื่ม ร่าเริงเต็มที่ มันก็มีเทคนิคแบบนั้นในลักษณะอย่างนั้น ก็ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่มันไม่ถูกเรื่อง ไม่สมกับที่ธรรมชาติให้มา เราจะพัฒนาชีวิตด้วยอะไร เราจะพัฒนาชีวิตด้วยสิ่งสิ่งเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าเคารพ พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้สิ่งนี้มาจนสำเร็จประโยชน์และทรงเคารพ สิ่งนั้นคือธรรมะหรือหน้าที่ ดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้ว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ที่ถูกต้องเพื่อความรอด พระพุทธเจ้ายังเคารพธรรมะคือหน้าที่ ไอ้คนโง่ๆมันก็หยุดอยู่แค่พระพุทธเจ้ามันไม่คิดว่าเหนือพระพุทธเจ้าจะมีอะไรอีก เหนือพระพุทธเจ้าขึ้นไปก็มีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเคารพ สิ่งนั้นคือหน้าที่หรือธรรมะ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็หน้าที่ของพระพุทธเจ้า ตามพระบาลีกล่าวไว้อย่างนั้น เมื่อท่านตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านฉงนว่าต่อไปนี้จะเคารพอะไร เมื่อตรัสรู้รู้หมดทุกอย่างแล้ว ในที่สุดท่านก็ปลงพระทัยว่าเคารพหน้าที่คือเคารพธรรมะที่ตรัสรู้นั่นแหละ เรื่องหน้าที่ที่ตรัสรู้นั่นแหละ แล้วท่านก็เลยเคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ เรื่องนี้ควรจะมาทำความเข้าใจกันบ้างเหมือนกันว่าพระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่ของท่านอย่างไร เคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าและโลกนี้ต้องเป็นสันติสุข สันติภาพเป็นโลกพระศรีอริยเมตไตรย์เคารพหน้าที่ เดี๋ยวนี้มันคดโกงหน้าที่ บิดพริ้วหน้าที่ ความเท็จมีอยู่ในสมุด ลงเซ็นชื่อมารายวันทำงานนั่น ที่นั่นโกหกมากที่สุด เท็จมากที่สุด ไม่เคารพหน้าที่ ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ แต่พระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่ นี้ท่านไม่ต้องทำงานเอาเงินเดือนกับใครอะไรที่ไหน ท่านทำหน้าที่ครบวงจรวันคืน ๒๔ ชั่วโมง หัวรุ่งอย่างเมื่อตะกี้ตีห้า ท่านเล็งญาณส่องโลก ท่านไม่นอนคลุมโปงหลับอยู่เหมือนคนโดยมาก ท่านเล็งญาณไปทั่วๆ ทั่วๆ โอ้, วันนี้จะไปทำอะไรที่ไหน ถ้าที่ท่านสังเกตเห็นอยู่ว่าที่นั่นมีนั่น ที่นั่นมีนี่ ที่นั่นคนนั้นคนนี้ จนท่านสรุปแล้วว่าวันนี้ควรจะไปที่ไหน ท่านก็เตรียมตัวสำหรับไปที่นั่น ไปบิณฑบาต ไปโปรดสัตว์ นั่นก็เป็นการหาโอกาสที่จะไปที่นั่น จะไปโปรดชาวนาก็ได้ โปรดเศรษฐีก็ได้ โปรดคนธรรมดาก็ได้ โปรดคนที่เป็นปฏิปักษ์ท่านก็ได้ ท่านก็ไปที่นั่นจนได้พบปะไปบิณฑบาต เค้านิมนต์ให้ฉันให้ขึ้นไปนั่งฉันบนเรือนคุยกันสนทนา อย่างนี้เป็นธรรมดาในครั้งพุทธกาล ที่ว่าพระจะขึ้นไปนั่งฉันบนเรือนคุยกับเจ้าของบ้าน ท่านก็สำเร็จตามที่ท่านคิดไว้คือโปรดคนนั้นไปจนสำเร็จ เพราะท่านคิดดูแล้วว่าคนไหนควรจะโปรดได้หรืออาจจะโปรดได้ท่านก็ไปหาคนนั้น ท่านไม่ไปหาคนบ้าๆบอๆไม่มีศรัทธา ท่านก็ประสบความสำเร็จในการโปรดคนนั้นแม้จะใช้เวลาจนสายจนเที่ยงก็ได้ เที่ยงจะพักผ่อนบ้างเพราะว่ามีความร้อน พอบ่ายกลับมาที่วัดมันก็มีคนไปหาถึงที่วัด ประชาชนไปหาถึงที่วัดท่านก็สอนเขา พูดกับเขาตอนบ่าย พอค่ำลงก็สอนภิกษุประจำวัด ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ หัวค่ำ โอวาทภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุทั้งหลายหัวค่ำเรื่อยๆไป พอเที่ยงคืน อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ สอนเทวดาแก้ปัญหาของเทวดา เทวดาในโลกนี้คือพระราชามหากษัตริ์ก็ไปเวลาเที่ยงคืน เทวดาที่มาจากสวรรค์บนสวรรค์ก็มาเวลาเที่ยงคืน คำบาลีกล่าวอย่างนั้น เทวดาทั้งหลายมาหาพระพุทธเจ้าเวลาเที่ยงคืน ท่านก็ต้องแก้ปัญหาเทวดา เขาใช้คำว่าอย่างนั้นคือตอบคำถามสั่งสอนไปตามเรื่องเลยเที่ยงคืน พักผ่อนนิดหน่อยเป็นธรรมดา ก็ถึงหัวรุ่งอีกแล้วก็ส่องโลกตรวจสอบดูเช้าก็ไปหาอีก จนครบวงจร ๒๔ ชั่วโมงอย่างนี้ นี่ใครทำงานครบวงจรอย่างนี้บ้าง พระพุทธเจ้าท่านทำเพราะว่าท่านเคารพหน้าที่ แล้วก็ท่านไม่ได้สอนอยู่แห่งเดียวนี่ ท่านต้องเดินไปเมืองนั้นเมืองนี้ ในประเทศอินเดียสมัยโน้นเค้าแบ่งเป็นประเทศเล็กๆ เล็กๆ ตั้งสิบกว่าประเทศ มันไม่มีรถยนต์และนักบวชทั้งหลายทั้งหมดเค้าไม่นั่งยานพาหนะ ที่เทียมด้วยสิ่งมีชีวิต เกวียนก็มีมันเทียมด้วยโค รถม้ามันก็มีมันเทียมด้วยม้าท่านไม่นั่ง ยานพาหนะที่เทียมด้วยสิ่งที่มีชีวิต ท่านก็ต้องเดิน ท่านก็ต้องเดิน ไม่มีปัญหา ตามพระบาลีก็ไม่มีตรงไหนที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านมีรองเท้าหรือร่มกันแดด ไม่มี ไม่มี ท่านก็ต้องเดินเท้าเปล่า แล้วก็ไม่มีร่มกันแดด ก็คิดดูเอง แล้วท่านก็เดินเป็นโยชน์ๆไปเมืองนั้นเมืองนี้ท่านก็เดินได้ ท่านเดินเป็นโยชน์ๆเป็นของธรรมดาสำหรับนักบวช เดี๋ยวนี้อะไรก็รถยนต์ พอลงจากบ้านก็ขึ้นรถยนต์จนไม่รู้จักเดินกันแล้ว ความเจริญนี้มันจะเจริญไปหาความวินาศ แม้วันที่จะนิพพาน ปรินิพพานอยู่วันนี้ ค่ำนี้จะไปนิพพานกลางวันยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ มีอาการป่วยบ้างแล้วท่านไม่ไปโรงพยาบาล ไม่เรียกหาหมอ ไม่เรียกหาโรงพยาบาล แล้วก็ไปสู่ที่ที่กำหนดไว้ว่าจะนิพพานคือในอุทยานแห่งหนึ่งที่เค้าใช้พักผ่อนกัน อุทยานของราชามหากษัตริ์แห่งหนึ่งเตรียมตัวจะปรินิพพานกันที่นั่นในตอนหัวค่ำ ก็ยังมีคนจากลัทธิอื่นมาทูลถามมาขอให้สอน จะนิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้วยังมีคนมา เป็นปริพาชกในลัทธิอื่นมาขอให้สอน พระสงฆ์ทั้งหลายว่านี่มันเกินไปแล้ว คนจะนิพพาน ก็ไล่ให้ไปอย่ามากวน อย่ามากวน พระพุทธเจ้าท่านได้ยินเสียงไล่ก็ตรัสว่าอย่าไล่มันอย่าไล่มันเรียกมันมา เรียกมา เรียกมา เรียกมา ไอ้คนนั้นก็เข้ามาพระพุทธเจ้าก็สอน สอน สอน จนสำเร็จประโยชน์ รู้ธรรมะจนเป็นพระอรหันต์ได้องค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนา ต่อมาเรียกว่าไม่กี่นาที ท่านก็นิพพาน นิพพานในความหมายที่ว่า ในความหมายที่เราเรียกกันว่าตาย แต่คำว่านิพพานในที่นี้มันก็ไม่ถูก ดับขันธ์มากกว่า นี่ดู ท่านทำหน้าที่จนนาทีสุดท้าย พูดหยาบๆก็ทำงานจนตาย ใครทำงานอย่างนี้บ้าง จะนิพพานอย่างนี้แล้วยังมากวน ยังขอให้มา ไม่ไล่ ไม่ไล่ ไม่ปฏิเสธ เดี่ยวนี้เค้าห้ามกันตั้งแต่ยังไม่ถึงขนาดนี้ ที่โรงพยาบาลนี่จะห้ามล่วงหน้าตั้งหลายวันไม่รับแขกให้เข้าพบ ขอให้บูชาพระพุทธเจ้าว่าท่านเคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ บูชาหน้าที่ เคารพหน้าที่อย่างสูงสุด ไม่มีอะไร ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน ดังนั้นขอให้เราเคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าที่ท่านเคารพ ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้าเราก็ต้องเคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพด้วย นี่บอกเด็กๆ มันว่าเหนือพระพุทธเจ้ายังมีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเคารพ เด็กๆมันก็พูดเป็นไม่รู้ไปเอามาแต่ไหน เหนือฟ้ายังมีฟ้ามันยังพูดเป็น แล้วทำไมมันไม่เข้าใจว่าเหนือพระพุทธเจ้ายังมีสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพเล่า คือธรรมะคือหน้าที่ แต่คนเราก็เกลียดหน้าที่ไม่อยากทำหน้าที่ อยากจะรวยโดยไม่ต้องทำหน้าที่ อยากจะมีสิทธิโดยไม่ต้องทำหน้าที่อะไร ยังมีการคดโกงหน้าที่ กบฎหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่ เป็นของธรรมดาไปหมด ถ้าจะมีเทคนิคในการพัฒนาชีวิตแล้วขอให้เคารพสิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใดคือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเคารพ สิ่งนั้นได้แก่ธรรมะหรือหน้าที่ ทีนี้ก็จะมีเคล็ดหรือเทคนิคก็ได้ มีเทคนิค เทคนิคแปลว่าเคล็ดนี่ถูกที่สุด เคล็ดที่จะใช้มัน มันมีเคล็ดที่จะให้ทำหน้าที่ไม่บิดพลิ้วหน้าที่ ก็คือทำชีวิตการงานประจำวันให้เป็นการกีฬา กีฬาไม่มีใครปฏิเสธชอบทั้งนั้น เสียสตางค์ก็ยังไปดู ก็ทำชีวิตนี้ให้มันเป็นกีฬาเสียเองสิ เพราะเมื่อเราทำหน้าที่มันก็มีการต่อสู้กันระหว่างความขี้เกียจกับความขยัน ความอยากทำกับไม่อยากทำ หรือว่าความสำเร็จกับความไม่สำเร็จ มันจะต่อสู้กัน ต่อสู้กัน เหมือนกับเล่นกีฬาให้เราดู แต่มันเป็นกีฬาพิเศษสักหน่อย คือเราจะต้องเล่นเอง แล้วเราจะต้องดูเอง แล้วเราจะต้องตัดสินกีฬาเสียเอง มันก็ยิ่งสนุกซิ มันควรจะเป็นสนุกมากอีกหลายเท่า เล่นเอง ดูเอง ตัดสินเอง ให้มันเกิดความรู้สึกต่อสู้กันระหว่างสำเร็จกับไม่สำเร็จ ระหว่างกิเลสกับธรรมะต่อสู้กัน ให้คำนึงถึงการต่อสู้นี้จะเป็นการเล่นกีฬาแม้จะเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลออกมาก็ยังเป็นการเล่นกีฬา เพราะมันจะเอาชนะให้ได้ไม่ยอมแพ้ นี่ชีวิตเป็นกีฬามันก็ทำได้ไม่มีอะไรน่าเบื่อหน่าย ไม่มีงานชนิดไหนน่าเบื่อหน่าย มันน่าสนุกไปเสียทั้งนั้น นี่เรียกว่าทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน นี่คาถาวิเศษอย่างนี้ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน เพราะว่าทำให้มันเป็นการเล่นกีฬา นี่เรียกว่าอัศจรรย์น่าอัศจรรย์ สิ่งน่าอัศจรรย์และเราก็ไม่ใช่ว่าเหลวไหล มีความตั้งใจจริง ตั้งใจจริง ธรรมะคือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด เราก็ทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง มีแต่คำว่าถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ ไม่ว่าทำอะไร แบ่งหน้าที่เป็น ๓ หน้าที่ หน้าที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิตที่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อยกลางแดดกลางฝน หน้าที่หาเลี้ยงชีวิตนี่ก็ทำให้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องพอใจ ในลักษณะที่กล่าวแล้วว่าเหมือนกับการเล่นกีฬา และหน้าที่บริหารชีวิตอยู่ในบ้านในเรือนนี่ บริหารชีวิต เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องเก็บรักษา เรื่องอะไรบริหารชีวิตให้ถูกต้อง ถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ ปัญญาอย่างที่ว่ามาแล้ว มันถูกต้อง ถูกต้อง ถ้าถูกต้องก็ต้องพอใจ มันเป็นธรรมชาติถ้าถูกต้องก็พอใจ ดังนั้นขอให้ทำให้ถูกต้องจนพอใจ บริหารชีวิตในลักษณะที่ถูกต้องพอใจทุกอิริยาบถ ทุกนาที ตื่นขึ้นมาจะล้างหน้าก็ล้างหน้าให้ถูกต้องและพอใจ จะถูฟันแปรงฟันก็ให้ถูกต้องและพอใจ แต่คนบ้ามันทำไม่ได้ มือมันล้างหน้าแต่ใจมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มือมันถูฟันอยู่ใจมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันไม่ได้ตั้งใจจะล้างหน้าหรือถูฟันให้ถูกต้อง ถูกต้องและพอใจ ถ้ามันทำได้อย่างนั้นมันก็เป็นสุขเมื่อล้างหน้าทุกวันนั่นเอง เพราะว่าถ้าถูกต้องและมันก็พอใจ ล้างหน้าและถูฟันให้ถูกต้องพอใจสิ จะเข้าไปในห้องน้ำอาบน้ำก็มีแต่ถูกต้อง ถูกต้องตลอดเวลา จะนั่งถ่ายอุจจาระอยู่บนโถถ่ายอุจจาระมันก็ถูกต้องและพอใจ แต่นี่จิตใจมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้สำหรับคนโง่ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมมันก็มีให้ถูกต้องและพอใจทุกกระเบียดนิ้ว จะนั่งถ่ายอุจจาระก็จะมีความสุขตลอดเวลาที่ถ่ายอุจจาระ ถูกต้องทุกระยะ ถูกต้องทุกระยะ มีสติสัมปชัญญะ ทำการถ่ายอุจจาระตลอดเวลานั้นมีความถูกต้องและพอใจ แต่นี่จิตมันอยู่ที่อื่น มันอยู่ด้วยความวิตกกังวลกิเลสอย่างอื่น รับประทานอาหารก็เหมือนกันถูกต้องไปหมด เข้าไปในห้องอาหารหยิบจานตักข้าว ตักใส่ปากก็ถูกต้องพอใจเคี้ยวกลืนถูกต้องพอใจ มันถูกต้องพอใจตลอดเวลาที่กินอาหาร แม้แต่จะช่วยล้างถ้วยล้างจานก็ถูกต้องและพอใจ เป็นพ่อบ้านเป็นนายจ้างก็ลองล้างถ้วยล้างจานกวาดบ้านถูเรือนดูบ้าง ทุกระยะเหล่านั้นทำให้เกิดความถูกต้องและพอใจได้ เป็นสมาธิได้ เมื่อล้างถ้วยล้างจานกวาดบ้านถูเรือน ล้างของสกปรกออกจากถ้วยชามนี่มีสมาธิอยู่ที่ของสกปรก แล้วมันหลุดออกไปอย่างไรก็กำหนดเป็นอารมณ์ เวลากวาดบ้านก็สมาธิอยู่ที่ปลายไม้กวาดนั่นแหละมันก็พอใจสนุก ถูเรือนก็เหมือนกันมันก็มีสมาธิอยู่ที่เช็ดถูไปนั่นแหละ นี่ว่าแม้บริหาร บริหารชีวิตอย่างนี้ในทุกขั้นตอนนี้ก็ถูกต้องและพอใจ หน้าที่ที่ ๓ คือการสังคม คบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านเพื่อนมนุษย์ก็ถูกต้องพอใจถูกต้องพอใจทุกทิศ ทิศหน้าบิดามารดา ทิศหลังบุตรภรรยา ทิศขวาครูบาอาจารย์ เบื้องซ้ายมิตรสหาย ข้างบนผู้บังคับบัญชา ข้างล่างผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หกทิศมันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง มันมีเทคนิคเฉพาะไปศึกษาเอาเองก็เรียกว่าถูกต้องสามหน้าที่ สามหน้าที่ คือหน้าที่ทำมาหากินถูกต้องพอใจ หน้าที่บริหารร่างกายถูกต้องพอใจ หน้าที่คบหาสมาคมถูกต้องพอใจ โอ้, มันเต็มไปด้วยความถูกต้องพอใจ นึกถึงตัวเองทีไรก็มีแต่ความพอใจ พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไรเป็นสวรรค์ที่แท้จริงเมื่อนั้น ใครยกมือไหว้ตัวเองได้บ้างจะหาทำยาหยอดตาได้ยากมั้ง มันมีแต่จะเกลียดน้ำหน้าตัวเองมันยังไม่ถูกต้อง มันยังไม่ถูกต้อง แล้วก็ซ่อนเอาไว้เก็บเอาไว้เป็นความลับ นั่นนรก เกลียดน้ำหน้าตัวเองเมื่อไรเป็นนรกเมื่อนั้น ยกมือไหว้ตัวเองเมื่อไรเป็นสวรรค์เมื่อนั้น ขอให้บริหารชีวิตให้มันเป็นสวรรค์ทุกอิริยาบถ คือมันมีแต่ความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องและก็พอใจ พอใจ ในการปฏิบัติหน้าที่นั้นมีความถูกต้องและพอใจ ถูกต้องและพอใจชีวิตนี้ก็จะน่าปรารถนา ไม่มีการฆ่าตัวตายมันถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ เหงื่อออกมาเป็นน้ำมนต์หรือน้ำเย็น ถ้าคนมีธรรมะอย่างที่ว่านี้เหงื่อออกมาจะเป็นน้ำมนต์หรือน้ำเย็น ถ้าไม่อย่างนั้นเหงื่อออกมาเป็นน้ำร้อน เป็นน้ำร้อนอย่างที่มันเกลียดกันทั่วไป มันก็คิด โอ้ย, จะมาเหน็ดเหนื่อยกันทำไม ไปปล้นไปจี้รวยทางลัดกันดีกว่า นั่นถ้าเหงื่อออกมาเป็นน้ำร้อน ถ้าเหงื่อออกมาเป็นน้ำมนต์เป็นน้ำเย็นก็สมัครธรรมต่อไป สมัครธรรมต่อไปด้วยความถูกต้องพอใจ ก็เหงื่อออกมาเป็นน้ำเย็น ที่จะพูดถึงธรรมะสูงสุดสักข้อหนึ่ง ธรรมะสูงสุดที่เป็นหมานอนเงียบอยู่ในพระคัมภีร์ไม่มีเอามาใช้ตั้งสองพันกว่าปี เรียกว่าความคงที่ของจิต ความคงที่ของจิต ความมั่นคงของจิต เรียกเป็นบาลีว่า อตัมมยตา แปลกหูใช่ไหม ไม่เคยได้ยินใช่ไหม แต่เป็นคำที่มีอยู่ในพระบาลีในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากไม่เอามาพูดกันมันก็ไม่เคยได้ยิน อตัมมยตา ความคงที่แห่งจิตใจอะไรปรุงแต่งไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราไม่มีความคงที่ไม่มีความเข้มแข็งของ อตัมมยตา อะไรดึงไปได้อะไรจับยึดไว้ได้ มี อตัมมยตา ความคงที่แห่งจิตใจมันมีความรู้ธรรมะถูกต้องยิ่งขึ้นไปจนเกิดความคงที่แห่งจิตใจ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาชัดเจนแล้วไม่ไปหลงใหลอะไรจิตใจมันคงที่ เรียกว่า อตัมมยตา ถ้ามี อตัมมยตา ก็เป็นพระอรหันต์ อตัมมยตา แปลว่าความคงที่แห่งจิตใจมีแล้วเป็น อตัมมโย คือเป็นพระอรหันต์ผู้มีความคงที่แห่งจิตใจ เดี๋ยวนี้เราไม่มีความคงที่คือไม่มีความเข้มแข็งแห่งจิตใจ อะไรๆ มันก็ลากเอาไปได้ ขวดเหล้ามันก็ลากเอาไปได้ บ่อนการพนันมันก็ลากเอาไปได้ สถานเริงรมณ์มันก็ลากเอาไปได้ อบายมุขทั้งหลายมันลากเอาไปได้เพราะมันไม่มีความคงที่แห่งจิตใจ คุณก็ละบุหรี่ไม่ได้เพราะคุณไม่มีความคงที่แห่งจิตใจ ไม่มีความคงที่ในหน้าที่การงานเพราะไม่มีความคงที่แห่งจิตใจ คงที่ คงที่นี่มันมีความหมายคือเหลือ เหลือ ลึกซึ้ง เอ้า, ภูเขาหิมาลัยยาวสองพันกิโลเมตรในอินเดีย ภูเขาแอลป์ในยุโรปก็พอๆกัน Rocky Mountain ในอเมริกาก็พอๆกัน แต่ยังหวั่นไหวนะภูเขาเหล่านั้นยังหวั่นไหวเมื่อแผ่นดินมันไหว แต่ว่าจิตที่มี อตัมมยตา ไม่หวั่นไหว ให้แผ่นดิไหวทั้งจักรวาลเลย จิตที่มี อตัมมยตา ไม่หวั่นไหวอธิบายยาก ความคงที่แห่งจิตใจไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้ เราต้องพูดด้วยอุปมา เรามาพูดให้ฝรั่งฟังว่าผู้หญิงสาวสวยคนหนึ่งมี อตัมมยตา ความคงที่แห่งจิตใจ ให้เจ้าชู้แสนฉลาดรูปงามมาสักฝูงหนึ่งก็เกี้ยวเอาไปไม่ได้ เกี้ยวเอาไปไม่ได้ เพราะหญิงสาวคนนั้นมี อตัมมยตา หรือชายหนุ่มคนหนึ่งมี อตัมมยตา ให้นางงามจักรวาลให้นางฟ้ามาสักฝูงหนึ่งก็ลากหัวมันไปไม่ได้เพราะมันมี อตัมมยตา เดี๋ยวนี้เพียงแต่บุหรี่ก็ลากหัวคุณไปได้แล้วนี่ อตัมมยตา ยังไงกัน ขออภัยที่ต้องพูดตรงๆ คงไม่ประหยัดเวลานะ ไก่ชนก็ลากคุณไปได้แล้วนี่ เหล้าก็ลากคุณไปได้แล้ว นี่ครูโดยมากอาตมาได้รับคำบอกเล่าว่าอย่างนี้ แม้แต่ไก่ชนแม้แต่ขวดเหล้าก็ลากหัวครูไปได้ไม่มี อตัมมยตา ขอให้มี อตัมมยตา คงที่แข็งโป๊กเหมือนกับเพชร เพชรแข็งจนตัดทุกอย่างได้ แต่ไม่มีอะไรตัดเพชรได้ ขอให้เรามีจิตใจอย่างนั้นมีจิตใจอย่างนั้นเถิด มันก็มี อตัมมยตา ความคงที่แห่งจิตใจอะไรปรุงแต่งไม่ได้ คำนี้ยังไม่มีในปทานุกรมนะ ปทานุกรมของเด็กๆของปุถุชน มันไม่ใช่ปทานุกรมของพระอริยเจ้า อยากจะให้มันเข้าไปมีในปทานุกรมของโลกทั้งโลกเลย unconcoctability un แปลว่าไม่ concoct แปลว่าปรุงแต่งได้ ability ภาวะ unconcoctability ภาวะแห่งจิตที่อะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ ถ้าพูดที่อเมริกาใช้ concoctable ถ้าพูดที่ยุโรปใช้ conditionable unconditionability ภาวะแห่งจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้นั่นแหละ อตัมมยตา ขอให้มันเข้าไปอยู่ปทานุกรมให้ทุกคนรู้จักและปฏิบัติกันทั้งโลก โลกนี้จะไม่มีเสนียดจัญไรอะไรเหลืออยู่ได้ จะมีความสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นโลกของพระศรีอริยเมตไตรย์ เพราะว่าเราทั้งหลายมีความคงที่ คงที่อยู่ในความถูกต้อง ให้ภูเขาทุกลูกหวั่นไหวจิตนี้ไม่หวั่นไหว ก็จิตนี้มันมี อัตมมยตา มี อตัมมยตา ความคงที่แห่งจิตใจอันอะไรๆ มาปรุงแต่งไม่ได้ หรือว่าอะไรๆ จะมาจับยึดไว้ไม่ได้ มันจะเป็นอิสระอยู่เสมอ ถ้าอบายมุขยังจับยึดไว้ได้ก็คือไม่มี อตัมมยตา ต้องหลุดมาจากอบายมุขและคงที่อยู่ในความถูกต้อง คงที่อยู่ในความถูกต้อง เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามความหมายของคำว่ามนุษย์คือมีจิตใจสูง คนยังจิตใจไม่สูงยังเป็นคนธรรมดา ต้องเป็นมนุษย์มันจึงจะมีจิตใจสูงจากคนเป็นมนุษย์ จากมนุษย์เป็นพระอรหันต์ ให้มันมีความถูกต้อง ถูกต้องอย่างนี้
นี่เทคนิคของชีวิต ในการพัฒนาชีวิตให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับไม่เสียชาติเกิด ถ้าไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็ต้องนับว่ายังเสียชาติเกิด ขอให้พยายาม พยายามไปให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ นั่นแหละคือตัวเทคนิค วิธีที่จะทำให้ได้สิ่งนั้นเรียกว่าเทคนิค พูดสั้นๆง่ายๆ ก็เมื่อตะกี้ว่าเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน มีแต่ความรู้มีแต่ความตื่นมีแต่ความเบิกบานเป็นพุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์เป็นยอดเทคนิค ไสยศาสตร์นั้นยังไม่ถึงขนาดเป็นคน เป็นเรื่องของคนปัญญาอ่อน ไสยศาสตร์ทั้งหลายเก็บไว้ให้คนปัญญาอ่อนซึ่งยังมีอยู่ในโลก คนปัญญาแก่กล้าจึงถือเอาพุทธศาสตร์ เต็มไปด้วยเทคนิคสำหรับปฏิบัติกระทำให้ได้ถึงสุดยอดของชีวิตหรือจุดหมายปลายทางของชีวิตคือนิพพาน ชีวิตสะอาด สว่าง สงบเป็นอิสระอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง และสรุปสั้นๆว่าขอให้ใช้การศึกษา ศึกษาอย่างถูกต้อง ดู เห็น รู้ ใคร่ครวญแล้วปฏิบัติ และก็ทำให้ชีวิตเป็นการกีฬา ต่อสู้กันระหว่างธรรมชาติฝ่ายสูงกับธรรมชาติฝ่ายต่ำ อย่างน่าสนุกเราดูกีฬานี้ ถ้าได้อย่างนี้แล้วชีวิตจะเป็นการเดินทางไปพระนิพพานโดยอัตโนมัติ ชีวิตนี้จะเคลื่อนไหวไปในทางพระนิพพานโดยอัตโนมัติ ก็ได้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ เทคนิคทั้งหลายเป็นอย่างนี้ เทคนิคสำหรับไปนิพพานคือโภชชงค์ ๗ ประการ มาใช้กับเทคนิคในการดำรงชีวิตอยู่ในโลก แล้วมันก็ไปนิพพานอยู่ดี
เอาล่ะสมควรแก่เวลาแล้ว ขอสรุปความว่าไอ้คำว่าเทคนิค เทคนิคนี้ถ้าแปลเป็นไทยให้เด็กฟัง ฟังให้ถูกก็เรียกว่าเคล็ดก็แล้วกัน เคล็ดแห่งความสำเร็จนั่นแหละคือเทคนิค มีทั้งวิชา มีทั้งการปฏิบัติ มีทั้งการใช้มันให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักใช้เทคนิคทั้งทางโลกทั้งทางธรรม ก็จะได้รับความรอดทั้งทางกายและทางจิต ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ด้วยการพัฒนาชีวิตด้วยเคล็ดลับอันนี้ที่พระอรหันต์ทั้งหลายได้ใช้มาแล้ว ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในการมาที่นี่ ที่อาตมาขอยินดีและอนุโมทนา ได้รับความรู้ชนิดที่สามารถพัฒนาชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง อย่างลึกซึ้ง อย่างสะดวก อย่างง่ายอย่างเร็วอย่างลงทุนน้อยที่สุดแต่ได้รับประโยชน์สูงสุดแล้วเป็นความสุขสวัสดี เจริญในหน้าที่การงานอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทิญ