แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้บรรยายโดยหัวข้อที่กำหนดให้ว่า วิธีสอนจริยธรรม ข้อนี้ขอทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่า ในหมู่พุทธบริษัทหรือในเหตุการณ์ที่เคยเป็นมาครั้งพุทธกาล ก็มีการสอนถึงแม้จะไม่เรียกว่า จริยธรรม มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน อาตมาก็มีความรู้เรื่องที่ประพฤติกระทำกันอยู่ในยุคนั้นสมัยนั้นบ้างตามสมควร แต่อาตมาไม่มีความรู้เรื่องวิธีสอนตามหลักวิธีสมัยใหม่หรือที่เรียกว่าสากลที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะไม่ค่อยจะได้สนใจหรือมีโอกาสเกี่ยวข้อง
ฉะนั้นการสอนจึงอนุโลมตามที่เคยมีเคยเป็นในครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ตามที่ได้ทราบมา มันก็ลอกเลียนเอามาจากวิธีการเหล่านั้น จะตรงหรือไม่ตรงตามความประสงค์ ก็ขอให้สังเกตเอาเอง ขอให้พยายามทำความเข้าใจและก็ดัดแปลงเอาเอง เพื่อว่าจะให้มีความเหมาะสมแก่การสอนจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนในยุคปัจจุบัน
คำแรกที่จะทำความเข้าใจกันก็คือ คำว่า “ จริยะ” จริยะ แน่นอนคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงนำมาสอนล้วนแต่เป็นเรื่องที่พึงกระทำ ควรกระทำ ต้องกระทำ ก็เลยเรียกว่า จริยะ จริยธรรม หรือว่า จริยศึกษา ได้
ในหมู่ชาววัดในยุคปัจจุบันก็ถือเอาความหมายอย่างนั้น ถ้าพูดเรื่องวิชาล้วนๆอย่างการเทศน์ เทศนานี่ ถ้าเป็นการบอกให้ล้วนๆตามหลักธรรมะ ท่านก็นิยมเรียกกันว่าเทศน์ธรรม เทศน์ธรรมะ ถ้าบอกถึงกิริยาอาการที่จะต้องกระทำตลอดถึงวิพากษ์วิจารณ์อะไรด้วย ท่านก็เรียกว่า เทศน์จริยา มันก็มีเป็นสองอย่างอยู่เหมือนกันที่เรา มีกันอยู่ทั่วไปว่าเทศน์ธรรม กับ เทศน์จริยา
ถ้าเทศน์ธรรมก็บอกหลักวิชาโดยทั่วไป แม้แต่อ่านใบลานให้ฟัง ถ้าเทศน์จริยาท่านก็เอาไอ้เรื่องนั้นๆมาวิพากษ์วิจารณ์ มาชี้มาแนะจนกระทั่งขอร้องให้ทำอย่างไร นี้เรียกว่าในหมู่ชาววัดก็มีการสอนเป็นสองแบบอยู่อย่างนี้ จริยะ เทศน์จริยะ หรือ เทศน์จริยา คือบอกวิธีที่จะต้องประพฤติหรือกระทำให้มีธรรมะนั้นๆอยู่แก่เนื้อแก่ตัว
ทีนี้ยังมีคำที่ควรจะทราบไว้เป็นพิเศษอีกคำหนึ่งคือคำว่า “สิกขา” คำว่า สิกขาก็คือการศึกษา สิกขา กับ ศึกษานั่นมันเป็นคำเดียวกัน ต่างกันแต่ว่าในรูปสันสกฤตเป็นศึกษา ในรูปบาลีเป็นสิกขา แต่ก็มิใช่การสอนล้วนๆ แต่จะต้องเป็นการประพฤติหรือกระทำลง
ไปจึงจะเรียกได้ว่าศึกษา ต้องกระทำสิ่งนั้นๆ ประพฤติสิ่งนั้นๆจนกว่าจะได้ผล ระหว่างที่ประพฤติกระทำนั้นก็เรียกว่าศึกษา เช่น ศึกษาในศีล ศึกษาในสมาธิ ศึกษาในปัญญา มิได้หมายถึงการบอกเล่าเรื่องนี้เลย แต่หมายถึงการที่ประพฤติกระทำลงไปจริงๆในเรื่องนั้นๆคือปฏิบัติศีล ก็เรียกว่า ศีลสิกขา ปฏิบัติสมาธิ ก็เรียกว่า จิตสิกขา ปฏิบัติปัญญา ก็เรียกว่าปัญญาสิกขา อย่างนี้เป็นต้น เพราะไม่ค่อยนิยมพูดเฉยๆเหมือนกับในระบบโรงเรียน คือจะมีการพูดก็ต้องมีเรื่องสำหรับให้พูด คือมีเหตุการณ์นั้นๆได้เกิดขึ้นจริงแล้วก็อาศัยเหตุการณ์นั้นๆแล้วจึงพูด ดังนั้นมันจึงพูดชนิดที่ปรารภเหตุการณ์หรือเข้ากันกับเหตุการณ์ที่กำลังมีอยู่
เป็นอันว่าเรามีวิธีที่สอนอยู่เป็นสองอย่าง คือการสอนในทางทฤษฎี อย่างที่เรียกว่าในทางทฤษฎี และการฝึกที่เรียกว่าการปฏิบัติหรืออบรม เห็นมีคำใช้กันอยู่ในวงการศึกษานี้ว่า TEACHING กับ TRAINING TEACHING นี้คือสอน TRAINING น่ะคือการอบรม มีทั้งสองอย่างจึงจะสำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ดังนั้นขอให้แยกให้เห็นชัดว่า การสอนกับการฝึกฝนอบรมนั้นมันเป็นคนละอย่างต่างกันอย่างไร แม้จะฟังดูจากคำพูดสองคำนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ คือแยกความเข้าใจกันได้ว่าคำสอน ว่าการสอนกับการอบรมมันก็แสดงลักษณะอยู่ในตัวคำพูดนั้นชัดแล้วว่า สอนให้รู้ อบรมทำให้มีให้เป็นขึ้นมา
เมื่อเราแยกได้เป็นสองเรื่อง คือ การสั่งสอนกับการอบรมดังนี้แล้ว ก็จะได้พิจารณาดูกันทีละอย่าง ก็ขอให้ได้ตั้งใจกำหนดความหมายเอาเอง ดังที่อาตมาได้บอกแล้วแต่ตอนต้นว่าจะพูดไปตามเรื่องที่เคยทราบมา จากพระคัมภีร์ถึงเหตุการณ์ต่างๆในยุคพระพุทธเจ้าหรือยุคต่อมา และก็เลือกเอามากล่าวให้เป็นข้อๆหรือให้เป็นรูปโครง พอที่จะกำหนดได้ หมายความว่าไม่ได้ตรงตามตัวหนังสือ แต่ก็ว่าตรงโดยความหมาย ความมุ่งหมาย
การสอนกับการอบรมแยกกันเป็นคนละอย่าง ก็จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการสอนนั้นก่อน การสอนโดยตรงก็คือการบอกหรือกล่าว บอกกล่าวให้รู้ แล้วก้รับเข้ามาทางหู ทางตาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นการอบรม มันเข้ามาทางเนื้อทางตัวทางจิตทางวิญญาณพร้อมกันไปหมดเลย ถ้าเป็นการสอนนี่ มันจะเข้ามาทางตา ทางหูหรือว่าทางตาอย่างที่เห็นๆกันอยู่นี้การสอนตามแบบของพระพุทธเจ้า เมื่อจะสอนให้รู้จักอะไรสิ่งใดแล้ว ท่านก็บอกโดยมีหลักสี่ประการอย่างที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า โดยหลักอริยสัจสี่ โดยใจความก็คือต้องบอกเป็นสี่หัวข้อว่า สิ่งนั้นมันคืออะไร สิ่งนั้นนั่นมันมาจากอะไร และว่าสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์อันใด แล้วก็สิ่งนั้นจะสำเร็จได้ตามนั้นโดยวิธีอย่างไร พูดเป็นหัวข้อทางตรรกะสั้นๆลุ่นๆก็ว่า อะไร มันคืออะไร มันคืออะไร มาจากอะไร เพื่อประโยชน์อะไร แล้วก็โดยวิธีใด ใช้ได้กับทุกสิ่งไม่ว่าทางรูปธรรมหรือทางนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมเป็นวัตถุเป็นสิ่งของเป็นสัตว์เป็นคนอะไรก็ตาม ว่าจะรู้เรื่องนั้นๆอย่างครบถ้วน ก็จะมีหัวข้อที่ตั้งขึ้นเป็นคำถามก่อนว่า คืออะไรจากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด อย่างนี้เสมอ
แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องการจะให้ละเอียดไปกว่านั้น ก็ยังมีเพิ่มเข้ามาอีก ที่เห็นอยู่โดยมากในพระบาลีมีอีกสักสามข้อ เพิ่มเข้าไปในสี่ข้อนั้นน่ะว่า สิ่งนั้นมีอุปมาอย่างไร แล้วสิ่งนั้นมีเสน่ห์ดึงดูดใจอย่างไรและสิ่งนั้นมีความเลวร้ายที่ซ่อนไว้ภายใต้เสน่ห์นั้นอย่างไร อย่างจะพูดถึงเงินอย่างนี้ พูดถึงเงิน มันก็เงินนั้นน่ะคืออะไร เพื่อความเข้าใจชัดจะอุปมาด้วยอะไร สิ่งนี้มาจากอะไร มันก็มาจากความต้องการประโยชน์ของมัน หรือเพื่อประโยชน์อย่างใดก็ตามเถอะ ที่ทำให้ต้องมีเงิน ทีนี้มันมีเสน่ห์ทำให้คนหลงอย่างไร แล้วมันให้ความเลวร้ายพร้อมกันไปในตัวนั้นอย่างไร ประโยชน์ของมันโดยแท้จริงนั้นคืออย่างไร ก็คือเมื่อใช้เกี่ยวข้องกันโดยถูกวิธี ที่ชาวโลกกระทำกันอยู่ให้ถูกวิธี แล้วก็จะสำเร็จโดยวิธีใด มันก็ตอบอย่างกำปั้นทุบดินได้เลยว่า ประพฤติต่อส่ิงนั้นอย่างถูกต้อง ที่เราเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการน่ะ โดยวิธีอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้นน่ะ คือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นโดยถูกต้อง ซึ่งหมายถึงองค์ ๘ ประการหรือกี่ประการก็สุดแท้ สิ่งนั้นคืออะไร โดยอุปมามันควรจะอุปมาด้วยอะไร มันเกิดมาจากอะไร แล้วมันก็มีเสน่ห์อย่างไรก่อนก็ได้ แล้วมีโทษเลวทรามอย่างไร แล้วเพื่อประโยชน์อันแท้จริงอย่างไร แล้วก็จะสำเร็จตามนั้นได้โดยวิธีใด
อาตมาอยากจะขอร้องให้สนใจกำหนดไว้สำหรับศึกษาและปฏิบัติในฐานะพุทธบริษัท ในฐานะที่ว่าท่านทั้งหลายจะเป็นครูบาอาจารย์เป็นอะไรก็สุดแท้เถอะ แต่ในฐานะที่ท่านเป็นพุทธบริษัท ท่านก็จะมีวิธีศึกษาสิ่งต่างๆตามวิธีของพุทธบริษัท นับตั้งแต่ผิวเปลือกเป็นต้นเข้าไปถึงเนื้อในถึงแก่นสาร ถึงไอ้ประโยชน์อันสูงสุด หรือความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วจะให้โทษอย่างไร นี่บอกกล่าวครบถ้วนอย่างนี้ จนผู้ฟัง ผู้ฟังเห็นโทษของการที่ไม่รู้เรื่องนี้และเห็นประโยชน์ของการรู้เรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง อย่างตรงกันข้ามอย่างชัดแจ้ง
ในที่นี้ก็จะสรุปความหมายของการสอนให้เป็นสั้นๆว่า เป็นสามข้อว่า สอนด้วยปากอย่างธรรมดาสามัญนี้ก็เป็นการสอน ทีนี้ทำให้ดู ทำตัวอย่างให้ดูว่าทำอย่างไรอย่างไร ก็ทำให้ดูนี้ก็เป็นการสอน แล้วอันสุดท้ายก็มีการรับประโยชน์รับผลดีของสิ่งนั้นให้ดู คือว่ามีความสุขให้ดู หรือท่านจะมุ่งหมายกันสามอย่างนี้เป็นหลัก
สอนด้วยปาก อธิบายกันด้วยปาก แล้วก็ทำให้ดูเสียเลย เหมือนจะสอนกีฬาสอนอะไรอย่างนี้มันก็เรื่องทำให้ดูเสียมากกว่า ทีนี้มีความสุขอันเกิดจากการประพฤติกระทำนั้นให้ดู ข้อนี้มันดึงดูดที่สุด ดึงดูดให้ผู้รับคำสอนนั้นยินดีและปฏิบัติตาม โดยอยากจะได้ผลเช่นนั้นบ้างเรียกเป็นหัวข้อสั้นๆว่า สอนด้วยปาก และทำให้ดูด้วยกิริยาท่าทางแล้วก็มีความสุขเป็นอยู่อย่างมีความสุขให้เขาดู
โดยหลักนี้โดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายสอนด้วยการมีความสุขให้ดูเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้พูดด้วยปากกันกี่มากน้อย แต่มีความสุขอยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกอิริยาบทให้ประชาชนดู เขาจึงเข้ามาหาเข้ามาติดต่อเข้ามาอะไรเพื่อจะทำตามอย่าง ต่อเมื่อขัดข้องเมื่อขัดข้องเป็นปัญหานี่ จึงจะพูดจึงจะต้องใช้การพูด การสอนด้วยปากนี้ข้อแรกนี้ก็เรียกว่ายังต้องมีองค์ประกอบบางอย่างซึ่งนึกเอาเองก็ได้ มันมีการแสดงมิตรภาพผู้หวังดีให้ดูอยู่ตลอดเวลา เช่น ครูนี่แสดงความรักความหวังดีต่อศิษย์อยู่ตลอดเวลา ที่สอนด้วยปากหรือยิ่งกว่านั้นอีกก็เมื่อมันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมาะสมที่จะอธิบายเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องเป็นเรื่องตายเรื่องอะไรก็ตามล่ะ มันได้เกิดขึ้นแล้วและก็เหมาะสมที่จะพูดเรื่องนั้นโดยอาศัยเหตุการณ์นั้นแหละเป็นเครื่องจูงใจบ้าง เป็นเครื่องทำความเข้าใจให้เเจ่มแจ้งบ้าง เรื่องต่างๆที่ทรงสอนนั้นมันจึงมีมูลเหตุที่ทำให้ทรงสอนรวมอยู่ด้วยเสมอ ในบันทึกของเรื่องนั้นๆที่เราเรียกกันว่าพระไตรปิฎกนี้ สอนเรื่องอะไรก็ตามจะมีมูลเหตุที่ทำให้ต้องสอนเรื่องนั้นๆปรากฏอยู่ด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามันเข้าใจได้ง่ายขึ้นไปอีก เพราะมันมีเหตุการณ์ชนิดนั้นช่วยให้เกิดน้ำหนักให้เกิดความหมายได้ดี
ทีนี้ข้อที่ว่าทำให้ดูนี่ก็เป็นเรื่องสร้างความพอใจ ความเพลิดเพลินไปด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าเศร้าหรือเป็นเรื่องทุกข์ทนทรมาน เรื่องไม่น่าจะเกี่ยวข้อง มีการทำให้ดูที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน มาจนกระทั่งว่าอยู่ให้ดู อยู่เป็นมนุษย์อยู่เป็นคนให้ดู เช่น คุณครูมีการเป็นอยู่อย่างถูกต้องให้ลูกศิษย์ดู โดยไม่ต้องพูดกับปาก ในส่วนนั้นไม่ต้องพูดกับปากอย่างนี้ก็ได้
ทีนี้ก็จะชี้เรื่องที่เป็นองค์ประกอบอยู่กับการสอนนี้อีกส่วนหนึ่ง คือมันจะแยกให้มันละเอียดออกไปอีกส่วนหนึ่ง มีอยู่บางข้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอามาทั้งหมดได้ คือมันไม่จำเป็น เอาแต่เท่าที่ควรจะเอามาบอกกัน
ข้อแรกก็สอนเท่าที่ควรสอน นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ว่าที่เอามาสอนนี่เท่าที่เห็นว่าควรสอนเท่านั้น และเข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงจะได้ยินเรื่องนี้ “ใบไม้กำมือเดียว” กันแล้วทั้งนั้น ซึ่งที่ไหนก็มีเทศน์เรื่องนี้กันอยู่ ใบไม้กำมือเดียวเรื่องใบไม้กำมือเดียว คือ วันหนึ่งเมื่อเสด็จกับหมู่สงฆ์ผ่านไปใน ป่าสิงตปาวนะ เป็นไม้ตระกูลถั่วด้วยซ้ำไป ท่านก็กำใบไม้ที่ร่วงอยู่ที่พื้นดินขึ้นมากำหนึ่ง แล้วก็ชูให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายดู โดยตรัสว่า เทียบดูใบไม้กำมือหนึ่งนี้กับใบไม้ทั้งป่า มันมากน้อยกว่ากันกี่มากน้อย นี่ใครๆก็พอเห็นได้ใบไม้กำมือเดียวแล้วก็ใบไม้ทั้งป่านี่มันเกือบจะเทียบกันไม่ไหว เมื่อภิกษุรู้สึกตามที่พระองค์ต้องการจะให้รู้สึกแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ในสิ่งที่ตถาคตตรัสรู้ รู้เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แล้วมาสอนพวกเธอนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว นี้ก็แปลว่า สอนเท่าที่ควรสอน มันจึงได้เรื่องได้ราวดี อยากจะวิจาร์ข้อนี้สักหน่อยว่า เดี๋ยวนี้ในโลกมันสอนเท่าที่ควรสอนหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่พูดยากเพราะมันมีเหตุผลที่จะแย้งยันกันได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ว่าไม่มากและฝ่ายที่ว่ามันมากแต่ถ้ามาดูถึงนักเรียนที่ต้องเรียน นั่นก็รู้สึกว่าแทบจะเทียบกันไม่ได้ คือนักเรียนต้องเรียนสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนนั้นมันมาก บางทีนักเรียนจะต้องแบกหรือหิ้วหนังสือหลังแอ่นเลยไปโรงเรียน แล้วก็เรียนหมดนั่นแล้วมันจะมีส่วนใช้เป็นประโยชน์สักกี่มากน้อย หรือมองดูอีกทีหนึ่งก็กลายเป็นว่าไอ้ที่ควรจะเรียนไม่ได้เรียน ที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนกลับได้
เรียนหรือกลับบังคับให้เรียน นี่มันผิดหลักอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เอามาสอนเท่าที่ควรสอน เพื่อให้นักเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างทั่วถึงถูกต้องเพียงพอนั่นเอง
ระบบการศึกษาในโลกนี้ดูจะบางอย่างดูคล้ายกับหลับตา เรียนมากเหมือนกับจะให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกวิชา แต่เมื่อเอาเข้าจริงมันก็กลายเป็นเฉพาะวิชา แต่ว่าเรื่องนี้อาตมาไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรให้มันแน่นอนหรอก ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายไปคิดเอาเองไปเทียบเคียงเอาเอง ว่าวิชาอะไรบ้างเว้นเสียแล้วสอนวิชาอะไรให้มันจริงจังขึ้นมา ให้มีความรู้เต็มที่ในวิชาที่จะต้องเรียนต้องรู้ต้องใช้
ถ้าเราจะรับเอาตัวอย่างต่างประเทศมา ก็จะต้องวินิจฉัยกันให้เป็นอย่างดีว่า วิชาอะไรควรจะเรียนควรจะสอนควรจะใช้และมันเป็นไปตามนั้น
ทีนี้พระพุทธเจ้านั้นท่านตรัสว่า ตถาคตจะสอนแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นที่ไม่สอนน่ะมีมากแต่ว่าคนกลับอยากรู้ เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทเองนั้นแหละจะ มาศึกษาธรรมะก็ชวนขอร้องให้สอนเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ เรื่องผีสางเทวดา เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด หรือเรื่องไอ้ที่มันไม่จำเป็นจะต้องรู้นั้น กลับมาเซ้าซี้ซักถาม แต่เรื่องโดยตรงว่าเป็นทุกข์เพราะเหตุไร จะดับมันเสียได้อย่างไรนี้ไม่ค่อยจะถามไม่ค้อยจะสนใจ
ดังนี้มันจึงอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาสงสาร คือไม่รู้ไอ้สิ่งที่ควรจะรู้อย่างถูกต้องและเพียงพอ แล้วก็ไปรู้เรื่องฝอยที่มันเป็นเรื่องชวนสนุกเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์อย่างนั้นไปเสียมากกว่า เพราะมันมีความรู้สึกอย่างคนธรรมดาสามัญมากเกินไป คือมีความโง่มากมีความโง่มาก มันก็ต้องถามไอ้เรื่องที่ตนยังโง่อยู่นั่นแหละมาก ไอ้เรื่องที่ควรจะรู้ก็ไม่ค่อยได้ถาม ฉะนั้นคำถามจึงถามเรื่องที่ไม่ต้องถามเสียโดยมาก เช่นถามเรื่องเทวดาอย่างนี้ มันก็เพราะว่ามันยังลึกลับยังน่าสนใจ แต่ความจริงเราไม่ต้องรู้เรื่องเทวดาก็ได้ เพราะว่าไอ้เทวดามันก็ยังเป็นทุกข์เหมือนกับมนุษย์นี่แหละ เพราะฉะนั้นมันควรจะถามเรื่องดับทุกข์กันดีกว่า เพราะว่าถ้าตายไปเกิดเป็นเทวดาก็มีปัญหาเรื่องดับทุกข์ ยังไม่รู้อีกนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นจึงเรียนโดยเฉพาะเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์โดยหลักอริยสัจสี่นี้ไอ้หลักความคิดเห็นที่ไม่ควรจะรู้หรือไม่คุ้มค่าเวลานั้น พระพุทธเจ้านำมาตรัสไว้เป็นตัวอย่างถึง ๖๒ อย่าง ที่เรียกว่าทิฐิ๖๒ แต่ละอันละอันนั้นไม่ต้องรู้ แต่ประชาชนทั้งหลายก็วุ่นกันอยู่แต่ในวง ๖๒ อย่างนี้ ทะลุออกไปไม่ได้ จนพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไอ้ทิฐิไร้สาระ ๖๒อย่างนี้มันกลายเป็นอวนล้อมปลาทั้งหลายไว้ ไอ้ปลาทั้งหลายก็เกิดตายอยู่ในอวนเกิดตายอยู่ในอวนโดยไม่ได้รับประโยชน์ จะออกมาจากอวน เพราะมันสร้างไอ้เรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้มาเป็นสิ่งที่จะต้องรู้กันมากเกินไป ทีนี้เราก็จะต้องเกิดและตายอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่ไม่ต้องรู้ ก็คือตายไปอย่างที่ไม่รู้ ไม่ได้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ดังนี้เรียกว่าสอนที่เกินกว่าที่ควรสอนเพราะฉะนั้นจึงมีหลักว่า สอนเท่าที่ควรสอน
ทีนี้ก็สอนอย่างชัดเจน ถ้าเอาเรื่องอะไรมาสอนก็ขอให้มันสอนอย่างชัดเจน ชัดเจนอะไรจะช่วยให้ชัดเจนก็บอกให้หมด จะโดยหลักอริยสัจสี่หรือจะเพิ่มเข้ามาอีกสามเป็นเจ็ดเป็นสิบอะไรก็ได้ อย่างที่มีๆอยู่แล้วก็เช่นสอนว่ามันเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกันได้กับสิ่งใด จะมีกี่อย่างกี่ประเภทกี่ลักษณะกี่อาการ ก็ไม่สอนให้มันนอกออกไปจากที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับการที่จะต้องรู้
เรื่องอุปมานี้ในทางพุทธศาสนาใช้มาก พระพุทธเจ้ามักจะมีอุปมาให้ทุกเรื่องแหละมันจะตรงกับไอ้ที่เรียกว่า สื่อการสอน สมัยนี้หรือไม่ก็ไปคิดดูเอาเอง ถ้าอันนั้นมันทำให้เข้าใจลึกลงไป ก็เรียกว่ามันเป็นอุปมา ทุกเรื่องมีอุปมาแล้วแต่ว่าผู้สอนมันจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น มองไม่เห็นมันก็ไม่ได้เอามาอุปมา
เรื่องอุปมานี้พระศาสดาทั้งหลายใช้กันมาก ไม่เฉพาะในพุทธศาสนาล่ะ ศาสนาอื่นก็ศาสดานั้นๆก็สอนด้วยอุปมา เพราะว่ามันเข้าถึงจิตใจดี ทำให้การสอนนั้นชัดเจน
ทีนี้ต่อไปก็สอนมีเหตุผลอยู่ในตัว แต่ท่านเรียกกันในที่นั้นในยุคนั้นว่า สอนมีปาฏิหารย์ ก็คือสอนมีปาฏิหาริย์ก็หมายความว่า คำสอนนั้นมีเหตุผลชัดเจนมาก แล้วก็เป็นที่พอใจ สอนมีเหตุผลไม่ผิดหลักทางตรรก แม้เดี๋ยวนี้ก็นิยมกันมากที่ว่า มันต้องไม่ผิดหลักทางตรรก มันเป็น LOGICAL มันรู้สึกโดยสามัญสำนึกว่ามันไม่ผิดหลักทางตรรก นี่เรียกว่าสอนมีปาฏิหาริย์ จะมองดูทางนี้ มองดูทางนี้ มองดูทางไหนมันก็ยังคงถูกต้องอยู่เรื่อยไปนี่คำสอนอย่างนี้เรียกว่าคำสอนมีปาฏิหาริย์ ก็เลยไปถึงว่าการสอนอย่างนี้มันจะดับทุกข์ได้มันก็เป็นปาฏิหาริย์ถึงที่สุด
ทีนี้เขาสอน…ถัดไปก็สอนชนะน้ำใจผู้ฟัง สอนอย่างชนะน้ำใจผู้ฟัง ผู้ฟังหมดปัญญาจะคัดค้านจะโต้เถียงหรือถ้าเขาจะคัดค้านจะโต้เถียงในครั้งแรกก็มีคำอธิบายที่ทำให้หมดแง่ที่จะคัดค้านหรือโต้เถียง จนผู้ฟังยอม ยอม จะยอมแพ้หรือยอมรับหรือยอมปฏิบัติตามอะไรก็ตาม เรียกว่าสอนชนะน้ำใจผู้ฟัง
ทีนี้ต่อไปก็มีการสอนชนิดที่ให้เกิดความร่าเริง บางทีจะใช้กันได้กับคำสมัยนี้ว่ามี HUMERISM บ้างตามสมควรนั่นแหละ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความร่าเริงทั้งผู้สอนและทั้งผู้ฟัง เขาร่าเริงหมายความว่าการเรียนการสอนนั้นมันสนุก มันสนุก ไม่ใช่หงอยเหงา ทนอดทน ทนฟัง ทนจำ ทนท่อง ท่องไม่ได้ก็ถูกต อันนี้มันก็ไม่เข้าเรื่องนี้ มันต้องสอนชนิดที่ให้ความร่าเริงพอใจ แม้เรื่องชวนหัวจะมีบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นหลักของธรรมชาติที่ทุกคนนี้ชอบไอ้ความร่าเริง การเล่าเรียนจึงกลายเป็นเรื่องน่าสนุกสนานไป ต้องการให้เป็นไอ้เครื่องประเล้าประโลมใจอยู่ในการเล่าเรียนนั่นเอง
ที่นี่เรามีโรงหนัง ตึกหลังนั้นตึกหลังรูปภาพ เราจะบอกฝรั่งว่าเป็น SPIRITUAL ENTERTAINMENT เขาฟังถูกทันทีเลยไม่ต้องอธิบายกันกี่ครั้ง เป็นเครื่องบันเทิงใจในจิตทางวิญญาณ ถ้าหมายถึงตัวอาคารนั้นก็บอกว่า SPIRITUAL THEATRE คือเป็นโรงละครทางวิญญาณ เกิดความสนใจหวังจะได้รับความเพลิดเพลินความพอใจ แล้วก็พยายามจริงๆด้วยที่จะให้ความเเพลิดเพลินความพอใจในเรื่องการเรียนการสอน ถ้าภิกษุที่อธิบายภาพนั้นน่ะมีปฏิภาณมีสติปัญญาจะทำให้ได้รับความเพลิดเพลินพอใจตลอดเวลากี่ชั่วโมงก็ได้ เพราะว่าเรื่องเหล่านั้นมันมีทางที่จะพูดให้เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ
ทีนี้ก็ให้ผู้ฟังเกิดความกล้าในการที่จะปฏิบัติตาม เราไม่นิยมให้เกิดความกลัว ซึ่งมันทำลายเสรีภาพ การเสียเสรีภาพไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ การรู้สึกไม่เสียเสรีภาพเพราะความกลัวเป็นต้นนั่นแหล่ะดี เพราะฉะนั้นการสอนจึงให้เกิดความกล้า ยิ่งฟังยิ่งกล้า นั่นคือยิ่งอยากที่จะปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่นสอนเรื่องนิพพานอย่างนี้ ถ้าสอนไม่เป็นคนก็จะกลัวนิพพานแหละ มันเป็นเรื่องที่ว้าเหว่ชอบกล เพราะฉะนั้นจะสอนเรื่องขั้นต้นเรื่องศีลเรื่องทานเรื่องอะไรก็ตาม เขาก็สอนให้เกิดความร่าเริง ไม่ต้องเกิดความกลัว เรื่องสอนเรื่องโลกอื่นโลกนั้นถ้าจะสอนด้วยก็ได้ แต่ไม่ใช่ความมุ่งหมายของพุทธศาสนา ที่จะสอนให้ดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องการให้ผลัดเพี้ยนจนกลายเป็นเรื่องหลังจากตายแล้ว แต่ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ที่นี่กันเดี๋ยวนี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่าลืมคำว่า สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก ผู้เรียนผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ด้วยตนเองด้วยตนเอง เป็นเรื่องของคนเป็นๆไม่ใช่เรื่องของคนตายแล้วแล้วก็ดับทุกข์ได้จนถึงที่สุด มันจะถึงที่สุดอย่างไรก็เอากันให้ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้นี่ แล้วก็สอนให้มองเห็นเช่นนั้นแล้วคนก็กล้า เชื่อถือแล้วก็กล้าหาญในการที่จะปฏิบัติตาม
นี่ทั้งหมดนี้เขาจะเรียกได้ว่าเป็นการสอน เป็นการสอน บอกให้รู้เข้ามาทางหูทางตาบอกมีหลักเกณฑ์ กำหนดจดจำง่าย จนเขาเห็นประโยชน์ของการที่มีธรรมะนั้นและเห็นโทษของการที่ไม่มีธรรมะนั้น ถ้าจะสรุปอีกทีหนึ่งก็ว่าสอนด้วยปากแล้วก็สอนด้วยการทำให้ดูแล้วก็สอนด้วยการมีความสุขให้ดู นี่มันเลยไปแล้ว ทำให้ดูมันเพียงแต่ให้ทำได้ มีความสุขให้ดูนี้มันยิ่งดึงดูดมาก แล้วก็มีองค์ประกอบเช่นว่า สอนเท่าที่ควรสอนแล้วสอนให้หมดอย่ามีส่วนเฟ้อส่วนเสียเวลาเปล่าๆ สอนชัดเจนแล้วสอนมีเหตุผลเป็นปาฏิหารย์ แล้วสอนชนะผู้ฟัง ผู้ฟังจะรู้สึกยอมแพ้และยอมรับอยู่เรื่อย แล้วสอนให้มีความร่าเริงพร้อมขึ้นไปเป็นความเพลิดเพลินด้วยธรรมะ พอใจด้วยธรรมะพร้อมขึ้นไป ในที่สุดผู้ฟังก็เกิดความกล้าอย่างยิ่ง กล้าหาญอย่างยิ่ง มันก็มีความพากเพียรมีอะไรเสร็จในการที่จะปฏิบัติตาม
เอ้าทีนี้ก็มาพูดเรื่องการอบรมกันอีกเรื่องหนึ่ง คำว่า “อบรม” หรือ TRAINING มันก็มีอาการลักษณะอาการคนละอย่าง มีวิธีคนละอย่าง ก็มีผลคนละอย่างตามไปด้วยแน่นอนจะใช้คำบัญญัติหรือนิยามว่า มันการทำให้ติดอยู่ที่เนื้อที่ตัว คือที่กาย ที่วาจา ที่ใจแหละ คือทำให้ติดอยู่ที่นั่นแหละจะเรียกว่าการอบรม เราดูทางวัตถุ ทางวัตถุขนาดเขาใช้น้ำยารมโลหะป้องกันสนิมนี่ ไอ้น้ำยาที่ใช้อบรมโลหะนั้นมันติดแน่นอยู่กับเนื้อโลหะจนสนิมไม่มีโอกาสที่จะเกิด นี่เรียกว่ารม รม รมให้ติดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็รมธรรมะ อบรมธรรมะให้ติดอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่เขามีวิธีมีสูตรที่กระทัดรัดสำหรับท่อง แม้ว่าจะเป็นเรื่องท่องด้วยปาก แต่ก็มันไม่ใช่เรื่องสอน เดี๋ยวนี้มันเป็นความมุ่งหมายของการอบรม เขามีคำ สูตร สูตรนี้ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คำว่า “สูตร” สูตรไม่ใช่หมายถึงพระสูตรยาวๆไอ้อันนั้นไม่ใช่ คำว่าสูตร นั้นตรงกับคำปัจจุบันว่า FOMULA FOMULA เป็นตัวหนังสือไม่กี่คำ แต่อมความหมายของเรื่องทั้งหมดไว้ ทีนี้ก็มีสูตรหรือ FORMULA นี่ให้ผู้เรียนกำหนดจดจำท่องได้คล่องปาก การจำได้อย่างคล่องปากก็เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการอบรมด้วย
ทีนี้เมื่อเขาเข้าใจทั้งโดยสูตรคือคำย่อและทั้งโดยอรรถคือคำอธิบายนี่แล้วมันก็ ก็ใช้ได้ คือจะต้องพอทั้งไอ้คำย่อหรือ FOMULA และก็ทั้งคำอธิบายคืออรรถ COMMENT พอ COMMENTARY คำอธิบาย ก็ไอ้ตัวสูตรนั้นเพียงพอ นี้ก็มีสูตรที่กระทัดรัด ธรรมดาสูตรต้องทำให้กระทัดรัด ถ้าไม่กระทัดรัดไม่ใช่สูตร ในคัมภีร์ทุกคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในประเทศอินเดียเขาก็จะแต่งเป็นสูตรและเป็นคำอธิบาย แม้พระอาจารย์บางองค์จะบัญญัติแต่สูตรเท่านั้น คำอธิบายไม่รู้ไม่ชี้ ก็ไปหากันเอาเอง นั่นในบางยุคนิยมบอกกันแต่สูตรไปหาคำอธิบายเอากันเอาเอง เดี๋ยวนี้คงจะทำไม่ได้ มันจะต้องบอกทั้งสูตรและบอกทั้งคำอธิบาย แต่ต้องการให้มีสูตรที่อาศัยได้ยึดถือได้เป็นหลักจดจำไว้คล่องปากคล่องใจ
ทีนี้ต่อไปเมื่อเขาเข้าใจเรื่องนี้แล้ว เขาก็จะต้องอธิษฐานที่จะปฏิบัติตาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เท” เทความเชื่อลงไปหมดในเรื่องนั้น ความเชื่อในเรื่องนั้นแล้วก็ปฏิบัติตาม นี่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นเพียงพอแล้วก็อธิษฐานจิตในการที่จะทำให้มีขึ้นมา นี่ปฏิบัติตาม ทีนี้การอบรมยังจะต้องมีต่อไปถึงกับว่า เมื่อเขาทำผิดต่อหลักคำสอนใดๆนี้ เขาต้องสารภาพผิด ถ้าว่าผิดแล้วแล้วกัน ผิดแล้วแล้วกัน ไม่เท่าไหร่ล้มละลายหมด จะไม่มีอะไรเหลือ ถ้าผิดแล้วก็ผิดอีก ผิดแล้วก็ผิดอีก มันก็ไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้นถ้าได้ทำผิดไปจากหลักคำสอนนั้นๆแล้ว เขาจะต้องสำนึกผิด นี่ต้องมีการสำนึกผิด มีคำพูดใช้ทั้งทางโลกและทางธรรมว่า สำนึกผิด REPENTION REPENTION สำนึกผิดด้วยตัวเองนั่นแหละไม่ใช่ใครมาจับมาท้วงมาโจทก์มาท้วง ข้อนี้ต้องมีด้วยตัวเอง มีความสำนึกผิดแล้วก็สารภาพ สารภาพที่เรียกว่า CONFESSION หรืออะไรก็สุดแท้แต่ สารภาพคือขอให้มันเปิดเผยอย่าเป็นคนปกปิดความลับ แล้วก็สัญญากันว่าจะทำ แก้ความผิดนั้นให้หมดไปและไม่ทำความผิดนั้นอีก ไม่ทำความผิดนั้นอีก นี้เรียกรวมกันว่ามีการสารภาพความผิด เด็กๆของเราเมื่อทำความผิดแล้วมารายงานตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาโจทก์มาฟ้องนั่นดีที่สุด เป็นลักษณะที่ต้องการอย่างยิ่ง เรียกว่าเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง เปิดเผยตัวเอง และเขามีความรุ้สึกว่าการเก็บเอาความผิดไว้โดยปิดบังไว้นั่นแหละคือความวินาศหมดสิ้น ความวินาศเต็มไปด้วยบาป จนเด็กๆมีนิสัยไม่เก็บความผิดซ่อนเร้นปิดบังเอาไว้ ทำผิดแล้วก็สารภาพผิด
ทีนี้ถ้าจะให้ดีถึงที่สุดก็ปวารณา…ปวารณาเป็นคำพระคำในโบสถ์ในวัด ปวารณาให้ผู้อื่น
ตักเตือนตนได้ ไม่เฉพาะครูบาอาจารย์ล่ะ ใครก็ได้เพื่อนกันก็ได้หรือใครก็ได้ ให้เขาว่ากล่าวตักเตือนได้ เพราะว่าตามธรรมดาคนเขามีสมบัติผู้ดี เขาไม่ไปว่ากล่าวตักเตือนใครหรอก เว้นไว้แต่ว่าผู้นั้นจะได้ปวารณาไว้ ขอร้องไว้ว่าถ้าได้เห็นข้าพเจ้าทำผิด ได้ยินว่าข้าพเจ้าทำผิด ได้สังเกตข้อควรสังเกตว่าข้าพเจ้าคงจะทำความผิด อย่างนี้แล้วก็ขอให้ตักเตือนได้เลย คำว่า “ปวารณา” นี้ก็แปลว่าห้ามปากไม่ให้เถียง ห้ามปากไม่ให้โต้เถียง คำนั้นแปลว่า ปิด คือปิดปาก เพราะฉะนั้นใครจะมากล่าวโทษชี้โทษก็ไม่เถียง แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นมันก็ตามพระพุทธภาษิตต่อไปอีกว่า ผู้กล่าวชี้โทษนั้นคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ กลายเป็นว่าผู้ด่านั้นคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ เพราะว่าไอ้คำชี้โทษมันเป็นการชี้ให้เห็นความผิดแล้วก็เลิกล้างความผิดเสีย มันก็เป็นผลดี เพราะฉะนั้นผู้กล่าวชี้โทษนั้นคือผู้ชี้ขุมทรัพย์
ฉะนั้นเด็กๆของเราควรจะมีนิสัยไม่โกรธเมื่อมีคนมาว่ากล่าวหรือทักท้วง แต่เพื่อไม่ให้เขาเสียมรรยาทเสียสมบัติผู้ดี เราก็ประกาศไว้เลย…ประกาศไว้เลยว่า ขอท่านทั้งหลายจงตักเตือนข้าพเจ้า ว่ากล่าวข้าพเจ้าโดยอาศัยความเอ็นดูเมตตา จงว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าเด็กๆไปที่ไหนที่ผู้ใหญ่ ญาติหรือมิใช่ญาติก็ตามปวารณาว่าให้ตักเตือนได้ แล้วก็จะขอบพระคุณ นี่เรียกว่ามันเป็นหลักของการอบรมที่จะทำให้ธรรมะนั้นๆติดอยู่ที่เนื้อที่ตัว เป็นการทำให้ธรรมะติดอยู่ที่เนื้อที่ตัว ทีนี้เราช่วยจัดให้เขา ก็คือให้มีตัวสูตรสำหรับท่อง สำหรับท่องเหมือนสูตรคูณแต่ไม่ใช่สูตรคูณ มันเป็นสูตรทางธรรมะสูตรทางจริยธรรม มันควรจะมี มิฉะนั้นมันก็ไม่จริงจัง ไอ้บทท่องนี่บทสำหรับท่องนี่อย่าดูหมิ่นดูถูกว่ามันครึคระงมงาย มันช่วยได้มาก ในที่สุดมันก็กลายเป็นไอ้พื้นฐานแห่งความรู้สำหรับผู้นั้นต่อไปที่จะคล่องแคล่วในการที่คิดจะนึกจะพูดจะอะไรได้ ถ้าเขามีบทสูตรแห่งธรรมะไว้มากพอ เขาเข้าใจในคำสอนนั้นแล้ว เขาอธิษฐานคือมอบความเชื่อทั้งหมดชีวิตจิตใจทั้งหมดว่าจะปฏิบัติตามนั้นถึงเผลอในบางคราวมีการทำผิดก็ให้สารภาพผิด แล้วก็เพื่อให้มันปลอดภัยยิ่งขึ้น ก็มีการปวารณา ให้เพื่อนมนุษย์ก็แล้วกันว่ากล่าวตักเตือนได้เมื่อเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร หรือเป็นอันตราย และยอมรับผู้ตักเตือนนั้นว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ไปเสียเลย
ทีนี้ก็อยากจะขยายความของการอบรมต่อไปอีกหน่อย จะสร้างนิสัยสร้างนิสัยที่ควรจะสร้างขึ้นมาให้เพียงพอ การอบรมนั้นจะช่วยสร้างนิสัยให้ผู้ได้รับการอบรมนั้นน่ะมีนิสัยที่พึงปรารถนาได้อย่างเพียงพอ ซึ่งมีอยู่มากและก็จะเอามาพูดพอเป็นตัวอย่างหรือที่มันจำเป็นก่อน สร้างนิสัยทำอะไรจะทำอะไรให้ถาม ให้ทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน ฟังดูเหมือนกับเรื่องตลก จะทำอะไรให้ทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน แม้ว่าเดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วแต่ก็ขอให้ทำเถอะ ให้ทำเหมือนกับไปทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน คือว่าไอ้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทั้งหลายนั้นมันรวมตัวกันเข้า แล้วมันก็จะตอบบุคคลนั้นทั้งที่บุคคลนั้นก็ไม่เคยพบพระพุทธเจ้าหรือบางทีก็ไม่เคยเล่าเรียนอะไรมาโดยตรงล่ะ แต่ทุกคนมันมีความรู้สึกชนิดหนึ่ง ที่เรียก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ดังนั้นจึงมีหลักว่า จะทำอะไรให้ถามตัวเองว่าข้อนี้ถ้าเราไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร จะตอบเราว่าอย่างไร อาตมาเข้าใจว่าแม้ลูกเด็กๆชั้นอนุบาลอย่างนี้ เขาก็จะยังจะพอตอบได้ ว่าเรื่องนี้ถ้าไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคงจะตอบว่าอย่างไร เพราะว่ามันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมาพอสมควรแล้วนี่ สมมุติว่าเด็กอายุห้าปีอย่างนี้ มันก็ได้รับคำสั่งสอนอะไรมามากมาย ซึ่งเป็นสั่งสอนที่มีต้นตอมาจากพระพุทธเจ้านั่นเองแหละ เขาก็พอจะรู้ว่า ถ้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าจะห้ามหรือว่าจะแนะให้ทำหรือแนะอย่างไร คือเกิดเป็นนิสัยยับยั้งเพื่อความรอบคอบ ไอ้จริยธรรมโบราณ ไม่รู้จะเป็นของฝรั่งหรือของใครก็สุดแท้เรื่องนับสิบก่อน มันมีอยู่ในแบบเรียนสมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กๆ เรียนแบบเรียนนี้มันมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ว่าเรื่องนับสิบก่อน เด็กคนนี้ได้รับคำขอร้องจากแม่ว่า ก่อนที่จะพูดอะไรทำอะไร นับสิบก่อนอย่าพูดไปทั้งที่โกรธ โกรธอยู่หรืออย่าพูดไปทั้งที่ชอบใจรักใคร่อยู่ จะพูดอะไรให้ยั้งใจนับหนึ่งถึงสิบก่อน จำได้ว่าเรื่องนิทานนั้นมันมีว่า ไอ้เด็กหญิงคนนั้นเขาถือกระป๋องเมล็ดพืชไปปลูกต้นไม้กับน้องชายของเขา เด็กหญิงคนนั้นทำกระป๋องเมล็ดพืชหกกระจาย พอหันมาดูน้อง มันกำลังหลับตานับหนึ่งถึงสิบอยู่ แต่ไม่ใช่พูดดังๆล่ะ พอเสร็จแล้วก็ถามว่าเมื่อตะกี๊ทำอะไร ก็บอกว่าแม่ได้สั่งไว้ว่าถ้าจะพูดออกไปนั้น อย่าพูดออกไปทันที ให้นับหนึ่งถึงสิบก่อน ถ้าฉันพูดไปทันทีฉันก็จะพูดคำหยาบกับพี่แน่นอน เดี๋ยวนี้ฉันนับหนึ่งถึงสิบแล้ว ฉันก็นึกได้ว่าควรจะพูดว่าอะไร แล้วบางทีก็ไม่ได้พูด นี่เรื่องนับหนึ่งถึงสิบก่อนของฝรั่งนี่มันก็เป็นหลักธรรมะในพุทธศาสนานั่นเอง ทำอะไรสำรวมสติครบถ้วน เสมือนหนึ่งจะถามพระธรรมถามพระเจ้า ถามพระพุทธเจ้าหรือว่าถามตัวเองก็ได้ แต่ขอให้มันมีเวลาที่จะยับยั้งอยู่ไม่พูดไม่คิดไม่ทำผลุนผลันออกไปตามกำลังของอารมณ์ที่มันเศร้าหมอลขุ่นมัวนั้นน่ะ
ทีนี้เราควรจะฝึกเด็กๆของเราให้มีนิสัยว่า จะทำอะไรให้ทูลถามพระพุทธเจ้าก่อน เด็กชั้นอนุบาลก็ตอบได้ตามที่เขามีความรู้มาแล้วเท่าไร เด็กโตขึ้นมาก็ยิ่งตอบได้ยิ่งผู้ใหญ่เต็มที่ขนาดนี้แล้วก็ยิ่งจะตอบได้ เช่นว่าจะมาทำอบายมุขข้อใดข้อหนึ่งก็ทูลถามพระพุทธเจ้าก่อนท่านจะว่าอย่างไร แม้อันธพาลนนนั้น่ะมันก็ตอบได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่แนะให้ทำ นี่มันไม่ต้องสงสัยล่ะ ไม่ต้องกลัวว่าไม่รู้จะไปถามพระพุทธเจ้าที่ไหนจะถามได้อย่างไร มันก็คือถามไอ้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ รวบรวมไว้ได้เท่าไร มันก็จะรวมตัวเป็นเหมือนกับว่าเป็นผู้ตอบอันนั้นในนามของพระพุทธเจ้าก็ได้ จะถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าเลยก็ได้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทั้งหลายนั้นรวมตัวกันเข้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ตอบคำถามนี้ให้ มีนิสัยทำอะไรถามพระพุทธเจ้าก่อน
ทีนี้ต่อไปก็สรรเสริญคุณของพระธรรม เป็นเครื่องจูงใจอยู่เสมอ เช่น สวดมนต์พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พะรสังฆคุณนี้ถ้าทำด้วยความเข้าใจในความหมายอันนั้นแล้ว พระคุณนั้นๆแหละมันจะเป็นเครื่องจูงใจอยู่เสมอ เรียกว่าสรรเสริญคุณของพระธรรม จะมีบทสวดว่าอย่างไรจะช่วยทำให้ก็ได้ หรือใช้ที่มีอยู่แล้วไปอธิบายให้เข้าใจก็ได้ สรรเสริญคุณของพระธรรมอยู่เสมอ เมื่ออยู่เสมอมันก็เป็นเครื่องจูงใจอยู่เสมอว่าจะต้องไปแนวนั้นแนวนั้นแนว นั้น
การสวดมนต์ที่ถูกต้องที่มีประโยชน์นั้นมันก็มีคุณมาก ไม่ใช่เรื่องเสียเวลา แต่คนใจบาปคนหยาบจิตใจหยาบๆ มันก็ไม่มองเห็นประโยชน์ มันก็ยกเลิกการสวดมนต์ไปเสีย ไปเรียนเรื่องอื่นดีกว่า เรื่องนี้ก็กำลังเป็นปัญหาทั่วโลกหล่ะ ไม่เฉพาะพุทธศาสนาที่ยกเลิกระเบียบที่ดีดีไปเสีย โดยที่ตัวไม่รู้ว่าอันนั้นน่ะมันมีผลอันลึกซึ้งเพียงไร ฉะนั้นเราชวนกันสรรเสริญคุณของพระธรรมอยู่เป็นประจำ ประจำสัปดาห์ประจำเดือนอะไรก็สุดแท้แต่จะทำได้ ถ้าทำได้ทุกวันก็ยิ่งดี เหมือนกับว่าเด็กๆมันสวดมนต์ก่อนนอนทุกวันนี้ มันก็ควรจะสวดบทพระธรรม พระคุณของพระธรรมเป็นเครื่องจูงใจยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น
ทีนี้ข้อต่อไปจะให้เขามีการกระทำที่ถูกต้องจนเคารพตัวเองได้เสมอ ปฏิบัติถูกต้องจนเคารพตัวเองได้เสมอ บางทีเราจะใช้คำว่า ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เป็นประจำ ถ้าเด็กๆเขาระมัดระวังไม่เผลอก็ไม่ทำอะไรผิด เมื่อมองดูความที่ไม่ทำอะไรผิดเขาก็เคารพตัวเองนับถือตัวเองมีความนับถือตัวเอง นี้เป็นการสร้างนิสัยที่ดีที่สุด ถ้าเด็กคนไหนมันเคารพตัวเองที่มีความดีแล้วมันก็ปลอดภัยแน่ เขาจะทำชั่วไม่ได้ จะไม่มีความโน้มเอียงไปในการที่จะทำชั่ว
เมื่อไรยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อนั้นน่ะมันเป็นเวลาที่ชื่นอกชื่นใจที่สุด ซึ่งควรจะเรียกว่าสวรรค์ สวรรค์ สวรรค์เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วนรกเมื่อเกลียด..เมื่อเกลียดน้ำหน้าตัวเอง ถ้าเด็กรู้จักแยกแยะอย่างนี้มันก็วิเศษแหละ เขาจะไม่ทำอะไรชนิดที่จะเกลียดตัวเองแต่ให้เคารพตัวเองได้อยู่เป็นประจำ นึกขึ้นมาทีไรก็เป็นสวรรค์เมื่อนั้น นึกอยู่ตลอดเวลาก็เป็นสวรรค์อยู่ตลอดเวลาโดยการที่ว่ามันเคารพตัวเอง เคารพตัวเอง ไอเคารพตัวเองนี่ดูจะเป็นจริยธรรมสากลทุกชาติทุกประเทศ เปิดดูไอ้หลักจริยธรรมสากลมันก็มีเรื่องเคารพตัวเองนี่ด้วย
ทีนี้มันก็ให้เขารู้จักความแตกต่างระหว่างการเล่าเรียนกับการอบรมตัวเอง เราไม่ใช่เพียงแต่ให้ครูรู้ แต่ให้เด็กนักเรียนรู้ไอ้การสอนการเล่าเรียนเวลาเรียนนั้นมันคืออะไร แล้วทีนี้อบรมตัวเราให้อยู่ในความถูกต้องนั้นมันคืออะไร จนให้เขารู้สึกเต็มอกเต็มใจว่าเรามีหน้าที่อยู่สองอย่าง ไม่ใช่ว่าเรียนสอบไล่ได้แล้วจะเป็นพอ จะพอไม่ได้ มันเรียนสอบไล่ได้นี้มันไม่ปลอดภัย มันยังไม่ปลอดภัย เรามีหน้าที่ที่จะต้องอบรมตัวเองให้อยู่ในขอบเขตของธรรมะอยู่ในวงของธรรมะ เขาจะได้รู้จักรับผิดชอบทั้งสองอย่างว่าเขาจะไม่บกพร่องในการเล่าเรียนและจะไม่บกพร่องในการประพฤติปฏิบัติในทางมรรยาท แล้วก็ยินดียอมรับทั้งสองอย่าง เมื่อครูเขาสอนก็ยินดีรับคำสอน เมื่อครูเขาอบรมก็ยินดีรับการอบรม เมื่อแยกออกมาชัดเจนอย่างนี้ มันจะเป็นการง่ายเข้าในการที่จะทำให้เด็กเขารู้เรื่องการอบรมแล้วก็รับเอาไว้ในฐานะที่เป็นการอบรม ซึ่งเขาคงจะมองเห็นเองยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นว่า มันคนละอย่างต่างจากการเล่าเรียน
ทีนี้ก็พิเศษจะแนะสักข้อหนึ่งว่า ไอ้อบรมให้เด็กทุกคนมีหลักธรรมะแห่งความสำเร็จประจำตัว มีหลักธรรมแห่งความสำเร็จประจำตัว ที่ดีที่สุดก็คือ ฆราวาสธรรมทั้งสี่ หรือ อิทธิบาทสี่ หรือที่ละเอียดมากไปอีกก็มันเรื่อง พละห้า อินทรีย์ห้านี้ เอาไอ้เรื่อง ฆราวาสธรรมสี่นี้เหมาะที่สุด เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสหลักธรรมหมวดนี้ไว้สำหรับฆราวาสจนได้นามว่า ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส จะช่วยให้ฆราวาสได้รับผลของความเป็นฆราวาสเต็มที่ หรือแม้แต่จะให้เลื่อนชั้นจากความเป็นฆราวาสไปเป็นพระอริยเจ้าก็ยังได้ ด้วยธรรมะสี่ข้อนี้ คือ ธรรมะที่ในหลวงเอามาประกาศขอร้องให้ช้กันในวันสำคัญเมื่อเร็วๆนี้ ก็คือ ฆราวาสธรรม ทั้งสี่นี้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เด็กควรจะหายใจออกเป็น สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ
สัจจะ จริง เป็นคนจริง จริงต่อจริง จริงต่อบุคคล จริงต่อเวลา จริงต่อการงาน ไอ้ที่จริงอย่างประเสริฐที่สุดคือจริงต่อตนเอง จริงต่อตนเอง ไม่ได้ปรารภโลก ไม่ได้ปรารภเขาสรรเสริญเยินยอไม่ได้ปรารภ แต่ว่าเคารพตัวเอง มันจริงต่อตนเอง ขยายความออกไปก็ว่า จริงต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง เมื่อเรามีความเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเราเอง ดังนั้นเราจึงโกหกไม่ได้ จะคดโกงผูอื่น คดโกงเวลา คดโกงการงาน คดโกงระเบียบวินัย คดโกงอะไรไม่ได้ทั้งนั้นแหล่ะ ถ้าเขาจริงต่อตนเองอยู่ข้อเดียวเท่านั้นน่ะมันรวมหมด จริงต่อไอ้ความเป็นมนุษย์ของตนเองนั้น ข้อนี้มันเนื่องมาจากความเคารพตนเอง ความเคารพตนเอง เมื่อมันมีความเคารพตนเอง ไม่ยอมให้เสียไปแล้วมันก็จะจริงต่อความเป็นมนุษย์ ดังนั้นมันเป็นผู้ซื่อตรง สัตย์จริงต่อคำพูดที่พูด ต่อเวลาตรงต่อหน้าที่การงาน ตรงต่อเกียรติยศชื่อเสียง คือเรียกว่า ไม่เอาตัวไปขายให้ความชั่ว บาลีมีว่า ไม่พึงให้ตนแก่ความชั่ว เกิดเป็นคนไม่พึงให้ตนแก่ความชั่ว เอาตนของตนยกไปให้ความชั่วเสียแล้วแต่ว่ากิเลสมันจะพาไปนั่นน่ะเขาเรียกว่าให้ตนไปเสียแล้ว ตนก็ไม่มีเหลือ นี่เรามันมีความจริงต่อตนเอง มันไม่ยอมให้ตนแก่ความชั่ว
ข้อสอง ทมะ ทมะ บังคับ บังคับ บังคับตนเอง ข้อหนึ่ง สัจจะ จริงต่อตนเอง ข้อสองทมะ บังคับตนเอง ก็คือบังคับกิเลสนั่นแหละ บอกให้เขารู้ทีว่า พูดว่าบังคับตนเองคือบังคับกิเลสนั่น เดี๋ยวนี้กิเลสมันกำลังเป็นตนเอง เมื่อเรายังไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้นการบังคับตนเองก็คือบังคับกิเลส ไม่ยอมให้กิเลสพาไป แม้ว่าจะต้องอด เจ็บปวดอย่างไรก็จะบังคับตัวเอง ฉะนั้นให้ฝึกฝนให้ความฉลาดในการที่จะบังคับตัวเอง เพราะว่าถ้าไอ้ตัวเองนี่มันดื้อหรือมันบ้าอะไรขึ้นมาแล้วมันร้ายกาจยิ่งกว่าภูตผีปีศาจเสียอีก ฉะนั้นจะต้องรู้จักบังคับตัวเอง เหมือนควาญช้างที่ฉลาดสามารถบังคับช้างที่ตกมัน อย่างนี้มีในบาลี บังคับตัวเองเหมือนควาญช้างที่ฉลาด สามารถบังคับช้างที่ตกมัน พอกิเลสเกิดขึ้นมามันก็คือช้างที่ตกมันนั่นแหละคนเรานี้ พอกิเลสมันครอบงำแล้วก็คือสัตว์บ้าชนิดหนึ่ง ทีนี้มันลำบากล่ะ มันต้องมีความตั้งใจแรงมากที่จะบังคับไอ้จิตชนิดนี้ได้ แต่ก็ต้องบังคับให้จนได้ เรียกว่า ทมะ ทมะ คำว่า ทมะ นี่แปลว่า บังคับตนเองก็ได้ ฝึกตนเองก็ได้
ทีนี้ข้อสาม ขันตี ขันตี อดทน อดทน อดทน ทุกอย่างมันต้องอดทน นับตั้งแต่ว่าอดทนเล่าเรียนกว่าจะเรียนสำเร็จแล้วก็ต้องอดทน อดทน อดทน พอใจ อดทน อดทน อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส เราขี้เกียจ คือกิเลสนั่นทำให้ขี้เกียจ แล้วก็อดทนต่อการบังคับของกิเลสคือ ขยัน ขยัน กิเลสจะพาไปดูหนังดูละคร เราก็จะอดทนต่อความบีบคั้นของมัน แล้วก็เรียน เรียนได้ ถ้าอดทนต่อการบังคับขู่เข็ญของกิเลสได้แล้วจะอดทนได้หมดเลย ความอดทนกี่ชนิดกี่ชนิดมันมารวมที่อดทนต่อการบีบบังคับของกิเลส เช่น อดทนต่อคำด่าเขาด่านั้นกิเลสมัยอยากจะให้ด่าตอบ อดทนได้มันก็ไม่ด่าตอบ อยากไปดูหนังดูละคร กิเลสมันบังคับก็อดทนได้ ยอมเจ็บปวดในใจไม่ไปดูไม่ไปเที่ยวไม่ไปอบายมุขอะไร ทีนี้ความเจ็บไข้ความเจ็บปวดที่ร่างกายก็อดทนอดทน หรือว่าความเหน็ดเหนื่อยเหน็ดเหนื่อยในการศึกษาเล่าเรียนในการทำงาน สอนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรมก็ว่า อดทนต่อความลำบากในการทำการงาน อดทนต่อความเจ็บปวดเจ็บไข้ แล้วก็อดทนต่อคำด่า
แต่ว่าทั้งหมดนี้อาตมาเห็นว่ามันไปรวมอยู่ที่อดทนต่อการบีบบังคับของกิเลส เพราะฉะนั้นเราฝึกเด็กให้บังคับตัวเอง อย่าให้ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส ไอ้ความอดทนนี้มันจะอดทนได้หมด แม้อดทนเรียนเป็นสิบปีก็เรียนก็ทนได้ อดทนรอคอยผลของการปฏิบัติเพราะว่าทุกสิ่ง การงานทุกสิ่งมันต้องมีเวลาที่มันจะให้ผล ถ้าเราทนไม่ได้เราก็จะต้องเป็นบ้าหรือต้องไปทำความชั่วความผิด อย่างว่าทำนานี้ ข้าวมันยังไม่ทันจะออกรวง มันอยากจะกินเหล้าแล้วก็ทนไม่ได้ มันก็ต้องไปขโมยไปอะไรไปตามเรื่อง เพราะฉะนั้นการอดทนรอได้คอยได้ในกรณีที่ควรรอควรคอยนั้นแหละ เป็นความอดทนที่จำเป็น
ทีนี้ข้อสุดท้าย จาคะ จาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ข้อนี้เด็กๆจะทำได้โดยว่าถามพระพุทธเจ้าก็ได้ว่าอะไรไม่ควรมีอยู่ในตน พอมันเกิดปัญหาขึ้นมา ว่าอันนี้ควรมีอยู่ในเราไหมก็ทำเหมือนกับทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ถ้าไปถามพระพุทธเจ้าท่านจะตอบว่าอย่างไร แล้วเด็กนั้นก็ตอบได้เองว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นสิ่งใดไม่ควรมีอยู่ในตน เอาออกไป เอาออกไป ทำอาการอย่างนี้อยู่เสมอ จะทำอะไรที่เขาได้บอกสอนว่าเป็นการดีก็ทำไปเสมอ ทำไปเสมอ ไอ้ความชั่วมันก็ถูกพาไปถูกชะล้างไปนิดนึงนิดนึงนิดนึงอยู่เป็นประจำ
การไหว้พระสวดมนต์นี่ก็เป็นการระบายสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนให้ออกไปจากตน การรักษาระเบียบวินัยอะไรต่างๆมันก็เป็นเรื่องขจัดไอ้สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนนั้น นั่นแหละคือกิเลสมันน้อยลง กิเลสมันน้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะบังคับให้เดือดร้อนเป็นทุกข์มันก็น้อยลงเพราะเราระบายออกอยูเสมอ นี่เราก็ไม่ต้องอดทนมากจนถึงกับน้ำตาไหลหรอก ไม่ต้องอดทนจนถึงน้ำตาไหลหรอก เพราะว่าเราระบายมันออกอยู่เสมอ อะไรไม่ควรมีอยู่ในตน เป็นเรื่องของกิเลสแล้วก็ระบายออกอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราทำตามขนบธรรมเนียม ประเพณีวินัยอะไรก็ตามล่ะ มันจะเป็นการระบายสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนออกไปจากตนอยู่เสมอเป็นแน่นอน
ดังนี้ให้เด็กเขามีหลักช่วยให้เกิดความสำเร็จสี่ประการนี้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ อย่างเล่าเรียน อย่างเล่าเรียนนี้ มีสัจจะในการเล่าเรียน มีทมะบังคับตนให้เรียนอย่างดี มีขันตีอดทนในการลำบากเพราะการเล่าเรียน จาคะอะไรเป็นข้าศึกแก่การเล่าเรียนแล้วก็สละไปสละไป การเล่น การเที่ยวเตร่ การเหลวไหลอะไรต่างๆเป็นข้าศึกแก่การเล่าเรียน ไม่ควรมีอยู่ในตนก็สละไปสละไป ในการเล่าเรียนนั้นต้องมีธรรมะสี่ข้อนี้
การงาน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ทำการงาน ทำไร่ ทำนา ทำสวนก็เหมือนกันแหละ ไอ้สี่ข้อนี้มันจะช่วยได้ ทีนี้ถ้ามันให้เข้มข้นกว่านั้นเหมือนกับปาฏิหารย์ก็เรื่อง อิทธิบาทสี่ ซึ่งครูก็ดูจะสอนกันอยู่แล้ว ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เพิ่มกำลังใจให้มากขึ้นมากขึ้น พอใจในสิ่งนั้นพากเพียรในสิ่งนั้น เอาใจใส่ในสิ่งนั้น ใคร่ครวญ สอดส่อง แก้ไขในสิ่งนั้น นี่อิทธิบาทสี่ ถ้ามีแล้วก็ช่วยให้เกิดความสำเร็จในทุกหน้าที่การงาน ในส่วนข้อที่ออกชื่อมาว่า พละ อินทรีย์นั้นมันเป็นหลัก หลักในวัด เป็นหลักธรรมะในทางปฏิบัติ ธรรมะชั้นสูงไปสักหน่อย ถ้าเด็กโตแล้วก็ควรจะรู้ ถ้าเด็กเล็กเกินไป กำลังห้าอย่างหรือว่าไอ้ธรรมะที่เป็นใหญ่เป็นประธานห้าอย่างนั้น หนึ่ง ศรัทธา ศรัทธา ศรัทธาในสิ่งนั้นแหละ แล้วก็ วิริยะ ความพากเพียรกระทำ สติ สติความระลึกได้ตลอดเวลาที่ทำ สมาธิ จิตใจตั้งมั่นตลอดเวลาที่ทำ ปัญญา มีความรอบรู้ที่ควรจะรอบรู้ตลอดเวลาที่ทำ
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นองค์ประกอบสำหรับการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล ถ้ามีธรรมะห้าประการนี้แล้ว การบรรลุมรรคผลเป็นไปได้โดยง่าย จึงให้ตรวจสอบไอ้ธรรมะห้าประการนี้ของตนของตนอยู่เสมอ ถ้าข้อไหนมันหย่อนหย่อนอยู่ก็เพิ่มข้อนั้นให้มันมากขึ้น
ทีนี้ธรรมะเป็นเครื่องมือให้ประสบความสำเร็จมีอยู่หลายหมวดด้วยกัน ไอ้หมวดที่นักเรียนจำเป็นก่อนก็คือหมวดฆราวาสธรรมทั้งสี่นี้ จะเอาอริยมรรคทั้งแปดมาเป็นคำตอบก็ได้ แต่มันเกินไปมันเกินไป เอาไอ้อย่างนี้แหละอย่างโดยตรงดีกว่าเนี่ย ฆราวาสธรรมสี่หรืออิทธิบาทสี่นี่ ธรรมะเครื่องมือให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการความสำเร็จ นี่ตัวอย่างนี้ก็พอ จะพูดอีกก็ได้ จะพูดให้มากมายอีกก็ได้ แต่ว่าไม่จำเป็นแล้ว ให้สร้างนิสัยจะทำอะไรให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน นี่คือจะให้ได้มีสติอย่างยิ่ง มีสติอย่างยิ่งก่อนแต่ที่จะทำ ให้สรรเสริญคุณของพระธรรมเป็นเครื่องจูงใจอยู่เสมอ มันจูงไปแต่ในทางดีจูงไปแต่ในทางดีอยู่เสมอ ให้ปฏิบัติถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เสมอ และรู้จักค่าของการสอนและการอบรมว่าต้องมีพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง ยินดีที่จะมีพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง แล้วก็มีหลักแห่งความสำเร็จอย่างที่ว่า
พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันนะว่า ฆราวาสนั้นมีธรรมะอะไรที่ไหนดีกว่าธรรมะสี่ข้อนี้ให้ไปถามดูทั่วทั้งโลกเลย ให้ไปถามดูครูบาอาจารย์ทั่วทั้งโลกนั่นล่ะว่ามีธรรมะอะไรสำหรับฆราวาสที่ดีกว่ามี่ข้อนี้ ท่านว่าอย่างนี้
แล้วในที่สุดการสอนจริยธรรมสำเร็จด้วยอาการอย่างที่ว่ามานี้ โดยสรุปความ โดยสรุปความ การสอนคือทำให้รู้ คือทำให้รู้ รู้ทิศทางที่จะเดินหรือรู้แผนที่ที่จะเดิน การอบรมคือการทำให้ได้สิ่งนั้นๆมา มันก็เท่ากับการเดิน การสอนทำให้รู้ทางที่จะเดิน การอบรมก็คือการเดินนั่นเอง การอบรมคือการทำให้ได้สิ่งนั้นๆมา คือสิ่งที่สอนนั่นแหละ เมื่อคุณครูทำพร้อมกันทั้งสองอย่าง คุณครูก็เป็นผู้นำทางวิญญาณตามความหมายของคำว่าครูผู้นำทางวิญญาณ ครูที่ทำได้ดีทั้งการสอนและการอบรมนี่จะมีลักษณะแห่งความเป็นผู้นำทางวิญญาณโดยไม่บกพร่อง แล้วครูก็จะเป็นผู้สร้างโลกที่น่าพอใจโดยทางศิษย์ โดยผ่านทางศิษย์ ครูนี่จะเป็นผู้สร้างโลกให้เป็นที่น่าพอใจ สร้างโลกในอนาคตน่ะ โลกเดี๋ยวนี้มันแย่ ที่มันแย่ก็ช่างมันก่อนแต่ว่าที่จะมาใหม่ข้างหน้าล่ะขอให้สร้างขึ้นในลักษณะที่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อครูทำอยู่อย่างนี้ ครูก็เป็นปูชนียบุคคลของโลก จบ จะสอนจริยธรรมอย่างไร
เน้นเรื่องสอนกับเรื่องอบรมให้เห็นชัด ให้เห็นต่างกันชัด มันเป็นคู่ เหมือนไถนาหรือลากเกวียนด้วยวัวคู่ควายคู่ ตัวหนึ่งสั่งสอนตัวหนึ่งอบรม แล้วมันก็ลากเกวียนไปได้สะดวกดีกว่าตัวเดียว ตัวเดียวทำหน้าที่สอนทั้งอบรมนี่มันก็ยากลำบาก เป็นสองอย่างดีกว่า อบรมสอนก็สอน อบรมก็อบรม มันก็ชัดเจนแล้วมันก็ง่าย มันไม่เกี่ยวพันกันจนเฝือ
นั่งกลางดินกับนั่งบนตึกผิดกัน สังเกตไว้ด้วย นั่งกลางดินน่ะมันนั่งที่นั่งของพระพุทธเจ้านั่งบนตึกบนนั้นมันเป็นที่นั่งของเทวดา อยู่ในวิมานเรียนธรรมะไม่ได้ ต้องมาอยู่กลางดินจึงจะเรียนธรรมะได้สะดวก
ที่ศานตินิเกตันของระพินทรนาถฐากูรนั้น นักเรียนเรียนกลางดินโคนต้นไม้ เดี๋ยวนี้จะเลิกเสียแล้วหรือจะยังอยู่บางส่วน นักเรียนจะนั่งเรียนที่กลางดินโคนต้นไม้ ครูสอน หรือยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยวิศวภารตีไปแล้ว แต่เมื่อเขาทำกันอยู่ก่อนนู้นเขาเรียนกลางดินใต้ร่มไม้เป็นส่วนมากแหละ ไม่ใช่ว่าจะไม่เรียนบนอาคารเล่าเรียนเสียเลย มีโอกาสเมื่อไรมานั่งกันกลางดิน แผ่นดินมันช่วย…….