แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บรรยายกับนักศึกษาจาก ๑๔ สถาบันสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องบัณฑิตควรดำเนินชีวิตอย่างไร ณ ลานหินโค้ง สวนโมกข์ ไชยา วันที่ ๒๓ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เวลา ๙ นาฬิกา พระสุชาติสุชาโตบันทึกเสียง
(นาทีที่ 00:47-02:44) กล่าวบูชาพระรัตนตรัยพร้อมกันเลยนะครับ (และตามด้วยเสียงสวดมนต์)
(เริ่มบรรยาย) ท่านนักศึกษา ครูบาอาจารย์ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมดขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ คือในลักษณะที่เป็นการแสวงหาธรรมะ เพื่อเป็นเครื่องปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ท่านกำหนดให้บรรยายโดยหัวข้อว่าบัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างไร มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน การดำเนินชีวิตเป็นหน้าที่ ธรรมะก็บอกแล้วว่าหน้าที่ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องทราบไว้ให้ชัดเจนว่าคำว่า ธรรมะ นี่มันแปลว่าหน้าที่ เรามาแสวงหาหน้าที่ คือความรู้เรื่องหน้าที่และก็จะได้ทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้ก็มานั่งกันอยู่กลางดิน เพื่อฟังธรรมะ ขอให้ได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่านั้น คือมากไปกว่าการฟัง แต่ให้ได้รับประโยชน์เป็นความรู้สึกในทางจิตใจด้วย เพราะการนั่งกลางดินมีความหมาย มันเข้ากันได้กับข้อที่ว่าธรรมะนี้เป็นเสมือนแผ่นดิน คือธรรมะเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งชีวิต เช่นเดียวกับแผ่นดินเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งสิ่งที่มีชีวิต แต่เป็นคนละชีวิต ชีวิตทางวัตถุนี่เห็นอยู่ แผ่นดินเป็นที่ตั้งที่อาศัยของสัตว์ เอ้ย, ของต้นไม้ต้นไร่ ของสัตว์เดรัจฉานของคน ล้วนแต่มีชีวิต นี่แผ่นดินโดยวัตถุ นี่แผ่นดินทางจิตใจ ก็มีธรรมะเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตใจ คนหนึ่งถือว่ามีจิตใจดวงหนึ่ง กี่ล้านๆคนก็แล้วแต่ มีธรรมะเป็นเสมือนแผ่นดิน เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งจิตใจเหล่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้รู้จักธรรมะเป็นการล่วงหน้าโดยพื้นฐานทั่วไปว่าเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งสิ่งที่มีชีวิต เดี๋ยวนี้เราก็เลยนั่งกลางดินโดยร่างกายก็นั่งกลางดิน โดยจิตใจก็ขอให้เป็นการนั่งกลางดินในความหมายที่พิเศษออกไป คือทุกคนจะต้องทราบว่าพระพุทธเจ้านั้นประสูติก็กลางดิน เมื่อตรัสรู้ก็นั่งกลางดิน เมื่อสอนก็นั่งกลางดิน อยู่กลางดินสอนกลางดินกันโดยมาก จนเกือบจะกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดเกิดกลางดิน ทีนี้ก็ที่อยู่ที่อาศัยของพระพุทธเจ้าก็พื้นดิน ไม่ได้อยู่เรือนหลายชั้นหรือกุฏิหลายชั้นอะไร ไปดูได้โดยซากโบราณสถานที่อินเดีย นี้ในที่สุดท่านก็นิพพาน ที่เรียกกันว่าตาย โดยร่างกาย ก็นิพพานกลางดิน นี่ลองทำความรู้สึกเกี่ยวกับข้อนี้ดูบ้างว่า ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน มันต้องให้ความหมายแก่คำว่า แผ่นดินนี่ให้มากถึงขนาดนี้ เป็นที่นั่งที่นอน เป็นที่นิพพานของพระพุทธเจ้า นี่ความหมายสูงขึ้นไปกว่าแผ่นดินธรรมดา เราควรจะมีความรู้สึกในทางจิตใจเพิ่มขึ้นว่าบัดนี้ได้มานั่งอยู่บนที่นั่ง ที่นอน ที่อาศัยของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นควรจะได้อะไร ได้รู้อะไร ได้รับอะไรให้มันมากที่สุด โดยทางจิตใจนั้นก็เรียกว่าเป็นพุทธานุสติ เป็นกรรมฐานบทหนึ่ง เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า พอเรามานั่งกลางดินก็มีโอกาสที่จะรู้สึกเป็นพุทธานุสติได้ง่าย โดยทำในใจถึงข้อที่กล่าวมาแล้ว ว่าพระพุทธองค์ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน ก็ควรจะพอใจในแผ่นดิน และก็จำความรู้สึกอันนี้ติดไปด้วยในจิตใจ เพราะว่าอยู่กันตามธรรมดานั้น อยู่บนบ้านบนเรือน อยู่ในโรงเรียน ในตึกเรียน ในอะไรต่างๆ มันไม่ใช่ มันไม่ได้นั่งกลางดินอย่างนี้ ฉะนั้นจิตใจมันก็ไปอย่างหนึ่ง มีภาวะอย่างหนึ่ง ให้มานั่งกลางดินอย่างนี้ ลดต่ำลงมาให้หมด ให้มันเหลือมานั่งกลางดินกันอยู่อย่างนี้ จิตใจมันก็ภาวะ มันก็มีภาวะอย่างหนึ่ง ลองใคร่ครวญดี ใคร่ครวญดูให้ดีว่าภาวะไอ้ข้างไหนมันเหมาะที่จะรู้ธรรมะ นี่พระศาสดาทุกพระองค์ของศาสนาไหนก็ตรัสรู้กลางดินกันทั้งนั้น แผ่นดินนี้มีความหมายอย่างนี้ ขอให้ทำความรู้สึกเอาประโยชน์ในขั้นต้นให้ได้เสียก่อน ว่าได้มานั่งในที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่นั่งที่นอนของพระศาสดา ให้รู้สึกว่าเป็นเกียรติที่สุด ให้รู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เราได้พูดกันบนดิน เหมือนกับพูดสัญญาอะไรกันในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่ง ซึ่งไม่ควรจะลืม และจะต้องรักษาไว้ รักษาคำพูด รักษาอะไรเหล่านี้ไว้ ดีที่สุด สมกับว่าพูดกันในที่ บนที่อันศักดิ์สิทธิ์ ท่านทั้งหลายจงทำในใจอย่างนี้ให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้ เป็นการวางรากฐานในเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องของศรัทธาที่มั่นคง จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง เข้มแข็ง ต่อสู้สิ่งรบกวน กิเลสที่จะมายั่วให้ทำอะไรที่ไม่น่าดู มันก็จะเบียดเบียนได้ยาก เพราะว่าเรามีจิตใจเข้มแข็ง รับหน้ากิเลสได้ง่าย เอาชนะได้ง่าย นี่ก็เป็นเรื่องทางจิตใจซึ่งอาจจะไม่มีอยู่ในหลักสูตรที่ให้เรียนให้สอน แต่มันเป็นเรื่องทางจิตใจที่มีอยู่ตามธรรมชาติและก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้ จะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่มีมาหรือได้มานี่ จะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้ดีที่สุด ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
เอาละ เป็นอันว่าเราก็พร้อมที่จะพูดกันด้วยเรื่องที่กำหนดไว้ เรื่องของบัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างไร คำว่า บัณฑิต เป็นคำเก่าแก่เหมือนกัน มีพบในวรรณกรรม วรรณคดีของอินเดียเก่าแก่ เป็นคำเก่าแก่ ถือเอาความหมายกันมาตามลำดับกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ก็แปลว่าผู้ที่มีปัญญา เครื่องดำเนินชีวิต ปัณฑา ปัณฑะ หรือ ปัณฑา (นาทีที่ 13:14) นั้นมันก็เป็น ปัญญา เครื่องดำเนินชีวิต อิตะ อิตะ แปลว่ามี ปัณฑาอิตะ ก็แปลว่าผู้มีปัณฑา เรียกว่าบัณฑิต คือผู้มีความรู้เป็นเครื่องดำเนินชีวิต ถ้าอย่างทางโลกธรรมดา ยืมมาใช้ในภาษาไทย เป็นบัณฑิต ก็เรียกว่าบัณฑิตนั่น บัณฑิตนี่ คือเรียนจบวิชาแขนงนั้นแขนงนี้ แล้วก็เรียกว่าเป็นบัณฑิตในแขนงนั้นในแขนงนี้ แต่มีความหมายไกลกันลิบกับพุทธศาสนา กับในพุทธศาสนา ความหมายในพุทธศาสนาโดยเฉพาะคำนี้ หมายถึงมีความรู้เรื่องดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ดับทุกข์แห่งชีวิตโดยสิ้นเชิงจึงจะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะวิชา เป็นบัณฑิตในทางวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์อะไรล้วนแต่เฉพาะอย่างๆ แล้วก็รู้ในแขนงนั้นโดยเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ เพื่อหากิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ ซึ่งยังไม่ดับทุกข์ ให้รวมกันทุกวิชาที่สอนกันอยู่ในโลก รวมกันทุกวิชาทุกของบัณฑิต อย่างทุกๆ ดีกรีของบัณฑิตน่ะ มันก็ไม่ดับทุกข์ มันก็ยังไม่ดับทุกข์ แต่ว่าบัณฑิตในทางพุทธศาสนานั้น มันหมายถึงผู้ที่รู้เรื่องดับทุกข์และดับทุกข์ได้ โดยตัวหนังสือคือกำลังดำเนินไปอยู่ในหนทางของความดับทุกข์ เรียกว่าเป็นบัณฑิต ครั้นปฏิบัติ ปฏิบัติจนดับทุกข์ได้แล้ว ก็เรียกว่ามีปริญญา นี่เป็นคำที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ในพระพุทธภาษิต พุทธวัจนะ คำว่าปริญญา ปริญญานี้ไม่ใช่ของใหม่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเมื่อตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ว่าไอ้ตัวปริญญานั่นมันต่างกันหน่อย ไอ้เรามันปริญญาแผ่นกระดาษ แล้วก็รู้ว่าได้เรียนอะไรจบ เขียนรับรองไว้ให้ และก็เป็นปริญญา คือมีความรู้เต็มตามที่กำหนดไว้ ในสาขาหนึ่งๆ ก็มีปริญญาในสาขานั้นๆ ส่วนปริญญาของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานั้น หมายถึงความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ คือความสิ้นกิเลสนู่น มีอยู่ ๓ อย่าง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เรียกว่าปริญญา มีอยู่ ๓ มันเป็นปริญญาที่สูงสุดที่สุดท้ายคือดับทุกข์ได้และหมดเรื่อง ถ้าคนเราละราคะ โทสะ โมหะได้มันหมดเรื่อง มันไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องเรียน ต้องทำอีกต่อไปแล้ว นั่นน่ะปริญญาอย่างของพระพุทธเจ้ามีใช้อยู่ และภาษาอินเดียคำนี้ก็ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย เป็นเรียกชื่อสัญลักษณ์เพื่อรับรองว่าคนนี้ได้เรียนความรู้แขนงนี้ถึงที่สุดแล้ว มีปริญญาในแขนงนี้แต่มันต่างกันเท่าไร ขอให้ลองคิดดู มันต่างกันมากโดยขนาด ใหญ่เล็กกว่ากันมาก ต่างกันมากโดยระดับ คือสูงต่ำกว่ากันมาก ต่างกันโดยประโยชน์ มีประโยชน์ที่ต่างกันมาก ปริญญาในโลกของชาวโลกนี่มันก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่แล้ว คือยังไม่สิ้นกิเลส ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ยังดับทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าปริญญาในพุทธศาสนาแล้ว มันสิ้นกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวงได้ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ ไม่มีปัญหาเหลืออยู่อีกต่อไป เป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือปัญหา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มความเป็นมนุษย์ มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี่คือปริญญา
จากนี้ก็จะเห็นได้ว่าบัณฑิตก็คือผู้ที่ดำเนินชีวิตไปจนกว่าจะได้รับปริญญา ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เรียกว่าบัณฑิต ถ้าดำเนินชีวิตด้วยความโง่เขลา หลับหูหลับตา มันก็ไม่ใช่บัณฑิตในความหมายนี้ มันเป็นในความหมายอื่น ไม่ใช่ว่าจะเรียนปริญญาสักอันหนึ่ง แล้วก็ไปทำงานหาเงินมากๆ แล้วก็สนุกกันเต็มที่ เริงรมย์กันเต็มที่ อะไรกันเต็มที่ อย่างนี้ไม่ใช่ชีวิตนั้นดำเนินด้วยปัญญา ชีวิตนั้นดำเนินชีวิตด้วยความโลภ ด้วยโมหะ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะต้องนึกกันถึงข้อนี้แหละ ถ้าเราจะเป็นบัณฑิตตามความหมายของพุทธศาสนา จงตระเตรียม ปรับปรุงการดำเนินชีวิต ให้เป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยตรง วันคืนล่วงไป วันคืนล่วงไปก็ให้มีการดับทุกข์เพิ่มขึ้นๆ ถ้าจะลดลงมาให้เป็นความหมายธรรมดาต่ำที่สุด มันก็ลดลงมาได้เพียงว่าบัณฑิต คือผู้ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา คือทำการงานทำหน้าที่ทำอะไรต่างๆในชีวิตทำด้วยปัญญา คนธรรมดาทำด้วยโมหะ ทำด้วยกิเลส ทำด้วยตัณหา ทำด้วยอุปาทาน และก็คิดว่าปัญญา คิดว่าปัญญา ที่จริงน่ะไม่ใช่ ถ้าเป็นปัญญาจริง มองเห็นความทุกข์ มันต้องการจะดับทุกข์และก็ทำสิ่งต่างๆไปด้วยความหวังอย่างนั้น ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา เดี๋ยวนี้เรายังดำเนินประโยชน์กิจด้วยความโลภ ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน เช่นว่าจะเรียนจบบัณฑิต แล้วได้งานทำดี ได้เงินเดือนมากและก็สนุกกันใหญ่ อย่างนี้ไม่ใช่ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา เพราะมันยังเป็นความโง่อยู่ เรียกว่าเตรียมตัวสำหรับจะเป็นทาสของกิเลส เป็นบ่าวของกิเลสให้ใหญ่โตที่สุดเลย ก็อุตส่าห์เรียนกันมากมาย จะได้เงินมาใช้ซื้อเหยื่อให้แก่กิเลสตลอดเวลา อย่างนี้ไม่ใช่ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา ขอให้เข้าใจด้วย ถ้ามันรู้มาตลอดเวลาว่าความทุกข์เป็นอย่างนั้น เราจะดับทุกข์กันได้อย่างนั้นและก็เรียนเรื่องความดับทุกข์นั้นอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา
เอาล่ะเรามาพูดเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่จะดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญาก็หมายความว่า คนนั้นมันรู้ว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเผชิญกับปัญหา ความทุกข์ สิ่งเลวร้ายในโลก ต้องการจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ ต้องการจะถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ หมดปัญหาและอุตส่าห์เรียน อุตส่าห์เรียน อุตส่าห์เรียน อย่างนี้เรียกว่าดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา เพราะเรียนเพื่อความเป็น เพื่อเป็น เรียนเพื่อความเต็มแห่งมนุษย์ เรียนเพื่อการเป็นมนุษย์ที่เต็ม เรียนเพื่อความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี่ชีวิตของเขาดำเนินมาด้วยปัญญา แต่ถ้าดำเนินชีวิตอยู่ด้วยว่าจะหาเงินให้มากและสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เป็นเหยื่อ หาเหยื่อให้แก่กิเลสให้วิจิตรพิสดารยิ่งๆขึ้นไป อย่างที่หวังกันอยู่นั่นแหละ นั่นมันเป็นโมหะ เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ความคิดอย่างนี้ ดำรงชีวิตอย่างนี้ ไม่เรียกว่าดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญาหรอก ถ้าจะขืนใช้ประโยชน์กิจด้วยปัญญา ก็ปัญญาอย่างโลก ปัญญาอย่างปุถุชน ปัญญาอย่างที่ว่ามันจะเป็นทาสของกิเลส นั้นขอให้ทราบเสียเลย ทราบเสียเลยว่า ไอ้ความสุข ความสุขน่ะมีอยู่ ๒ ชนิด เรากำลังต้องการความสุขชนิดไหน หรือกำลังเสวยความสุขชนิดไหนอยู่ ขอให้พิจารณาดูให้ดีๆ ความสุขมีอยู่ ๒ ชนิด
ชนิดที่หนึ่ง มีความสุขเพราะได้รับใช้กิเลส หาเหยื่อมาให้กิเลส เขาเรียกความสุขที่มีเหยื่อ ความสุขที่กินเหยื่อ หรือมีเหยื่อให้เอร็ดอร่อย สนุกสนานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความสุขอย่างนี้เรียกว่าเป็นความสุขที่พ่ายแพ้แก่กิเลส ที่นี้ความสุขอีกชนิดหนึ่งตรงกันข้าม ไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสโดยประการทั้งปวง มันเป็นความสุขที่สะอาด เป็นความสุขที่สูงสุด อยู่เหนือไอ้ความครอบงำของสิ่งทั้งปวง นี้เรียกว่าความสุขที่ชนะกิเลส ที่อยู่เหนือกิเลส มันมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น ความสุขอันแรก เรียกได้ง่ายๆว่ากิเลสได้เหยื่อ และสนุกเป็นสุข กิเลสได้เหยื่อ เอร็ดอร่อยแล้วเป็นสุข นี่สุขของกิเลส ทีนี้อันที่สอง ไม่มีกิเลส เอากิเลสออกไป เหลือแต่สติปัญญาล้วนๆ ไม่มีความทุกข์ จัดเป็นความสุข เรียกว่าความสุขที่ไม่มีกิเลส ที่ไม่เป็นทาสของกิเลส เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยสติปัญญา นี่คือดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ดูให้ดีว่าเรามีความสุขกันน่ะ สุขชนิดที่เป็นทาสของกิเลส หรือว่าเป็นสุขชนิดที่เป็นนายเหนือกิเลส ระวัง เพราะไม่ทันไรก็เรียนจบ ไม่ทันไรก็ได้งานทำ และก็ได้เงินมา แล้วจะไปหาความสุขชนิดไหน ความสุขที่เป็นทาสของกิเลส หรือความสุขที่เป็นนายเหนือกิเลส เป็นสิ่งที่ควรจะคิดกันได้แล้ว
ทีนี้โดยเหตุที่ว่าความสุขที่เป็นทาสกิเลส มันเอร็ดอร่อย มันถูกกับกิเลส เดี๋ยวนี้เราเป็นคนมีกิเลส เป็น เป็น เป็นเตาเรือน มีกิเลสเป็นพระเจ้า คนธรรมดามีกิเลสเป็นพระเจ้าอยู่เหนือหัว ทำอะไรเป็นไปตามอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงต้องการความสุขชนิดที่เป็นทาสของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกามารมณ์ ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง เราก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น เราเกลียด ขยะแขยงและละอาย ต้องการจะเป็นอิสระเหนือสิ่งเหล่านั้น ไม่ไปลุ่มหลงกับความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง อย่างที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วไปนี่ เป็นเรื่องที่จะต้องใคร่ครวญดู ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะเป็นบัณฑิต ถ้าดำเนินชีวิตไปเป็นทาสของกิเลส มันก็เป็นปุถุชนคนโง่ ถ้าดำเนินชีวิตเพื่อชนะกิเลส นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นบัณฑิต ดำเนินประโยชน์กิจอยู่ด้วยปัญญา เป็นบัณฑิตดำเนินประโยชน์กิจอยู่ด้วยปัญญา ไม่ ไม่ใช่ว่าจะต้องไม่รู้เรื่องกามารมณ์ ไม่รู้เรื่องอะไร มันรู้อย่างถูกต้องแต่มันไม่ลุ่มหลง เดี๋ยวนี้ปุถุชนคนโง่น่ะมันลุ่มหลงความเอร็ดอร่อย ความยั่วยวนของเหยื่อของกิเลสของกามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นบัณฑิตก็ ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันก็ผ่านสิ่งเหล่านี้ แต่มันผ่านด้วยสติปัญญา มันไม่ลุ่มหลงในเรื่องเหล่านี้ด้วยความโง่ มันจึงเรียกว่าเป็นบัณฑิต บัณฑิตจะประสงค์เพียงความสืบพันธุ์บริสุทธิ์ แต่ไม่ลุ่มหลงเหยื่อทางเพศ ทางรส ทางเพศ ทางอะไรอย่างโง่เขลา มันก็ได้ หรือแม้จะได้ผ่านสิ่งเหล่านั้น ก็ผ่านไปอย่างมีความรู้สึกว่ามันคืออะไร ไม่ใช่บัณฑิตแล้วจะโง่ ไม่รู้เรื่องกามารมณ์ ไม่รู้อะไรเสียเลย มันก็รู้ มันก็ผ่านไป แต่ผ่านไปด้วยสติปัญญา ไม่ตกเป็นทาสเป็นบ่าวเป็นไอ้ รับใช้กิเลส นี่ชีวิตมันต่างกันอย่างนี้ ชีวิตปุถุชนคนโง่มันเป็นอย่างนั้น ก้มหัวลงเป็นทาสของกิเลส ของอารมณ์แห่งกิเลส ถ้าเป็นบัณฑิตมันไม่เป็นอย่างนั้น มันอยู่เหนือ มันมีความรู้สึกอยู่เหนือ เรียกว่าเหนือโลก
คำว่าเหนือโลกนี่ช่วยให้เข้าใจเสียให้ถูกต้อง เพราะเข้าใจกันผิดๆอยู่ เดี๋ยวเข้าใจว่าขึ้นไปอยู่เหนือโลก เหนือสุญญากาศ เหนืออะไร บ้าเลย ไอ้คำว่าเหนือโลกไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เหนือโลกในทางศาสนาไม่ได้ความ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เหนือโลกในทางศาสนาก็คือว่า อะไรๆในโลกน่ะ มันมาทำให้คนนี้เป็นทุกข์ไม่ได้ อะไรๆ อะไรก็ตามที่มีอยู่ในโลก อะไรก็ตาม มันมาบีบบังคับหัวใจหรือมาทำจิตใจของบุคคลนี้ให้เป็นทุกข์ไม่ได้ นั่นน่ะเขาเรียกว่าอยู่เหนือโลก ถ้าคนอยู่ใต้โลก ก็อะไรทุกอย่างน่ะ มาบีบบังคับให้เป็นทุกข์ คือให้ดิ้นรนกระวนกระวาย ขึ้นๆลงๆ ยินดียินร้าย หัวเราะร้องไห้ อย่างนี้เรียกว่ามันแพ้แก่โลก มันอยู่ใต้โลก เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้เหมือนคนบ้า ถ้าอยู่เหนือโลก อะไรจะเข้ามา มันก็ โอ้, ก็เท่านั้นเอง ควรจะกินจะใช้ควรจะมี ก็ทำไป ไม่ควรจะ ก็ไม่สนใจ จะไปเกี่ยวข้องด้วย ก็ไม่ให้มันครอบงำจิตใจให้เป็นทุกข์ คำว่าโลก โลกนี้ ไม่มีอะไรมากกว่าสิ่งที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ช่วยจำให้ดีด้วย มันเป็นแม่บทของการศึกษาธรรมะ ถ้ามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง เป็นเครื่องรับสัมผัส และรู้ รู้สึกต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ฉะนั้นบรรดาสิ่งที่เข้ามากระทบ มันไม่มีอะไรมากไปกว่า ๖ อย่างนี้ คือเรื่องที่เข้ามาทางตา เข้ามาทางหู เข้ามาทางจมูก เข้ามาทางลิ้น เข้ามาทางผิวหนัง เข้ามาทางจิตใจ ทุกอย่างหมด แล้วรวมกันก็เรียกว่าโลก โลก โลก ถ้าสิ่งเหล่านี้มาครอบงำเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ คือจมอยู่ในสิ่งเหล่านี้ นี่เรียกว่าพ่ายแพ้แก่โลก อยู่ใต้โลก จมอยู่ในโลก ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มาทำให้เป็นทุกข์ได้ เราเอาชนะได้ ก็เรียกว่าเราอยู่เหนือโลกด้วยประการทั้งปวง อะไรๆจะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างไรก็ไม่ทำให้เราพ่ายแพ้ คือไม่หลงใหล ไม่ไปหลงรัก หลงเกลียด ไม่ไปหัวเราะร้องไห้กับสิ่งเหล่านี้ เป็นผู้เฉยอยู่ได้ ควรทำอย่างไรก็ทำไป ไม่ควรทำก็ไม่ทำ ถ้าทำก็ทำให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดอาการหัวเราะร้องไห้ด้วยความโง่ พอจะจับเค้าเงื่อนได้แล้วว่าบัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างไร บัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างไร พอจะจับเค้าเงื่อนได้แล้วว่าดำเนินชีวิตชนิดที่อยู่เหนือโลก เหนือความบีบคั้นของสิ่งต่างๆในโลก นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก บัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างนี้
ทีนี้จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร มีหลักเกณฑ์ก็คือทำให้มันถูกต้อง อย่าดูถูกดูหมิ่นคำพูดง่ายๆว่า ถูกต้องหรือความถูกต้อง นี่เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง เข้าใจยากนะ ความถูกต้อง ความถูกต้องนี้ การศึกษาในโลกโดยเฉพาะทาง Logic บัญญัติความหมายคำว่า ถูกต้อง เสียจนไม่รู้เรื่อง จนไม่รู้เรื่อง หรือทาง Philosophy ก็ตาม บัญญัติความหมายของคำว่า ถูกต้อง เสียจนฟังไม่รู้เรื่อง ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งไม่รู้ว่าความถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร ฉะนั้นในโลกนี้จึงไม่มีความถูกต้องเห็นไหม โลกนี้มันไม่มีความถูกต้อง คือไม่มีสันติภาพที่น่าพอใจ มันไม่มีความถูกต้อง เพราะมนุษย์มันไม่รู้ว่าความถูกต้องนั้นเป็นอย่างไรนั่นเอง ที่นี้เอาตามหลักพุทธศาสนาโดยเฉพาะก็แล้วกันว่าความถูกต้องคือ ไม่เกิดอันตรายแก่ฝ่ายใดเท่านี้เองง่ายๆ เหมือนกับพูดกับเด็กๆพูด การกระทำที่ไม่ทำอันตรายแก่ฝ่ายใดนั่นแหละคือ ความถูกต้อง เป็นบทนิยามง่ายๆว่า การกระทำที่ไม่เป็นอันตรายแก่ทุกฝ่ายนั่นแหละ คือ ความถูกต้อง ฝ่ายเราเองหรือฝ่ายเพื่อนมนุษย์ของเรากี่คนก็ตามไม่มีความเดือดร้อน กระทบกระทั่งอะไร การกระทำนั้นถูกต้อง นี่เรามีการกระทำที่ถูกต้องอยู่ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น นั่นแหละเรียกว่ามีความถูกต้อง นั่นแหละเป็นวิถีทางดำเนินชีวิตของผู้ที่เรียกว่าบัณฑิต บัณฑิต บัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ไม่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกิเลสตัณหา
ที่นี้ความถูกต้องนี่ มีหลักที่ท่านวางไว้ดีแล้ว เรียกว่าความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเรียกว่า อริยมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เรียกอีกชื่อหนึ่งเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าทางดำเนินสายกลาง มัชฌิมา แปลว่ากลาง ปฏิปทา แปลว่าทางดำเนิน มัชฌิมาปฏิปทา ทางดำเนินสายกลาง ก็คือดำเนินอยู่อย่างถูกต้อง ๘ ประการ ฝรั่งสนใจพุทธศาสนากันมากขึ้นเพราะชอบ ชอบใจคำว่า ทางสายกลาง ฝรั่งไม่อยากจะเรียกพุทธศาสนาว่า Buddhism แต่อยากจะเรียกว่า Middle way คือทางสายกลาง เป็นของธรรมชาติ ไม่เป็นของใคร ถ้าพูดว่าเป็น Buddhism เป็นพุทธศาสนา มันมี Authority เกิดขึ้นว่าของพระพุทธเจ้าองค์นั้นองค์นี้ ของบุคคลคนนั้น ของบุคคลคนนี้ ทีนี้อย่างนี้ไม่ ไม่ ไม่ชอบไม่สนุก ถ้าพูดว่าทางสายกลาง ตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาตินั่นน่ะ เป็นอิสระเสรี เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ทางสายกลางประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ เข้าใจว่าทุกคนนี้คงเคยได้ยินได้ฟังมาจนชินหูแล้ว และบางคนอาจจะจำได้แม่นยำเสียด้วย แต่บางคนอาจจะจำไม่ได้ เพราะไม่สนใจ เพราะเห็นว่าไม่สำคัญอะไร ขอร้องว่าให้สนใจ จำไว้ให้แม่นยำเถอะ ให้มันขึ้นปาก ปากพูดได้ทันที ให้มันขึ้นใจนึกออกได้ทันที ให้มันคล่องเนื้อคล่องตัว คือประพฤติปฏิบัติได้ทันที คล่องทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจในเรื่องความถูกต้อง ๘ ประการ ข้อที่หนึ่ง เรียกว่า ถูกต้องทางความคิดเห็น ถูกต้องทางความคิดเห็น เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ หมายถึงความรู้ก็ดี ความเข้าใจก็ดี ความเชื่อก็ดี อะไรก็ดีรวม รวม รวม รวมกันเรียกว่าความคิดเห็น คือทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐิ มีทิฏฐิอันถูกต้อง สัมมาแปลว่าถูกต้อง มันก็จึงรู้ดีว่าเกิดมาทำไม ควรจะทำอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร รู้ถูกต้องหมด ไม่ผิดพลาด นี่ความถูกต้องข้อที่หนึ่งสำคัญกี่มากน้อย ลองคิดดูเถอะสำคัญกี่มากน้อย เรากำลังมีหรือไม่มี โลกกำลังมีหรือไม่มี เดี๋ยวนี้โลกกำลังไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์คืออะไร ทางถึงความดับทุกข์คืออะไร ในโลกนี้มันไม่รู้ ฉะนั้นโลกจึงดำเนินไปชนิดที่เรียกว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความเบียดเบียนไม่รู้จักสิ้นจักสุด ทุกหัวระแหงยังมีความทุกข์ที่บุคคลปฏิบัติไม่ถูกและมีความทุกข์ และเกิดสงครามมีปฏิกิริยาจากสงคราม มีคนเหลือจากสงคราม เป็นความทุกข์อยู่ทั่วๆไปทั้งโลก เพราะโลกมันไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร นี่เป็นข้อแรก มีความเห็น ทิฏฐิแปลว่าความเห็นน่ะถูกต้อง รวมความเชื่อ รวมความเข้าใจ รวมอุดมคติรวมอะไรไว้ในคำๆ นี้หมดที่ว่ามันถูกต้อง
นี้ข้อที่สอง ถูกต้องของความต้องการ เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ โดยทั่วไปในวัดในวาก็แปลว่า ดำริชอบ ดำริชอบ แต่ตัวหนังสือมันก็คือความต้องการที่ถูกต้อง ชอบก็คือถูกต้อง ถูกแล้ว แต่คำว่าสังกัปปะ นี้มันแปลว่าความต้องการ ไม่ใช่ดำริเฉยๆ มันดำริด้วยความต้องการ ดำริชอบนี่ ต้องการชอบ ต้องการด้วยสติปัญญา ไม่ต้องการด้วยกิเลสตัณหา ไม่มีกิเลสครอบงำใจและต้องการ ถ้าอย่างนั้นมันต้องการไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง และถ้ามีสติปัญญารู้อะไรเป็นอะไรอย่างในข้อที่หนึ่งแล้ว มันก็มีความต้องการเกิดขึ้น มันก็ต้องการถูกต้อง มันก็ต้องการไปตามหนทางแนวทางที่ไม่มีความทุกข์ นี่เรียกว่ามีความต้องการถูกต้อง
ทีนี้ต่อไปก็อันที่สาม ก็มีการพูดจาถูกต้อง เขาก็มีความคิดเห็นถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง ถึงให้เขาพูดอะไรออกมามันก็มีแต่เรื่องถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เสียเวลาเปล่า ไม่อะไร ไม่ทำอันตรายใคร การพูดจานั้นมันถูกต้อง นี่เรื่องของสังคมมันก็ดีขึ้น เพราะการพูดจามันถูกต้อง ที่นี้ข้อถัดไป มีการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำทางกายที่ถูกต้อง คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่อะไรเหล่านี้รวมๆแล้วก็เรียกว่าการกระทำทางกายที่ถูกต้อง เป็นข้อที่สี่แล้ว นี้ข้อที่ห้า ดำรงชีวิตถูกต้อง คือดำรงชีวิต เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง เรียกว่าสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะ พูดจาถูกต้อง เรียกว่าสัมมาวาจา การงานถูกต้องเรียกว่า สัมมากัมมันตะ ดำรงชีวิตถูกต้องเรียกว่า สัมมาอาชีวะ มีการดำรงชีพ การหาเลี้ยงชีวิต และการเลี้ยงชีวิต การเก็บ การหา การใช้สอย การรักษา การอะไรมันถูกต้องหมด เรียกว่าสัมมาอาชีวะ
นี้ถัดไปอันที่เจ็ด ก็คือ ความถูกต้องของความพากเพียร ความขวนขวายพากเพียรนั้นถูกต้อง เรียกว่าสัมมาวายามะ สรุปโดยใจความก็ พากเพียรจะดับทุกข์ พากเพียรที่จะดับทุกข์ทุกอย่างทุกประการ แต่จะแจกออกไปว่าพากเพียรที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาด พากเพียรที่จะละความผิดพลาดเสีย พากเพียรที่จะให้ความถูกต้องเกิดขึ้น และพากเพียรที่จะรักษาความถูกต้องนั้นไว้ ถ้าในวัด ภาษาในวัดที่ใช้กันอยู่ก็ใช้คำว่า ระวังไม่ให้ เอ้อ, พากเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น พากเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว พยายามทำความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น พยายามรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ต่อไป พากเพียรอย่างยิ่งอยู่ใน ๔ อาการนี้เรียกว่ามีความพากเพียรชอบ โดยใจความคือพากเพียรอยู่แต่ในทางที่ถูกต้อง อะไรเกิดปัญหา เกิดความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่มี ไม่เอา ไม่พากเพียร คงพากเพียรอยู่แต่ที่จะให้เกิดความดับทุกข์อยู่แก่ทุกฝ่าย เรียกว่าความพากเพียรชอบ
นี้ถัดไปก็เรียกว่า ความระลึกอยู่ในใจ ประจำใจน่ะชอบ คือมีสติ ความมีสติถูกต้อง ความมีการระลึกเป็นหลักประจำใจอยู่อย่างถูกต้อง เรียกว่าสัมมาสติ สัมมาสติ และข้อสุดท้าย มีความปักใจมั่น ตั้งใจมั่น ดำรงจิตใจมั่นอย่างถูกต้อง เรียกว่าสัมมาสมาธิ คือมีสมาธิอยู่อย่างถูกต้อง นี่เป็นข้อสุดท้ายและสำคัญที่สุด คือมันเป็นตัวหลักตัวประธานว่ามีจิตใจอย่างไร เรื่องมันก็จะเป็นไปอย่างนั้น เดี๋ยวนี้มีจิตใจถูกต้อง สัมมาสมาธิซึ่งมีความหมายสำคัญๆ อยู่ ๓ อย่าง คือ มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสอย่างหนึ่ง และมีจิตใจเข้มแข็ง ประกอบไปด้วยกำลังพลัง และก็มีความว่องไว คล่องแคล่วในการที่จะทำหน้าที่ของจิตใจ นี่ช่วยรู้กันไว้เสียด้วยว่าคำว่า มีสมาธิน่ะ ไม่ใช่นั่งตัวตรงแข็ง หลับหูหลับตานั่งตัวแข็งไม่รู้สึกอะไร นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่สมาธิในที่นี้ สมาธิในที่นี้ คือมีจิตใจบริสุทธิ์จากกิเลส ไม่มีกิเลสรบกวนในเวลานั้น และมีจิตใจเข้มแข็ง มีกำลังจิตแข็ง รวมกำลังกันได้หมด มีอะไร มีจุด จุดรวม ของโฟกัสน่ะเป็นแห่งเดียว ก็เรียกว่ามีกำลังจิตเข้มแข็งที่สุด หรือจะว่าแจ่มใส ส่องแสงสว่างที่สุดก็ได้เหมือนกัน คือรวมกำลังจิต อันที่สาม มีความว่องไวในหน้าที่ของจิต ถ้าใครรู้ความหมายของคำว่า Active หรือ Activeness ดีอยู่แล้ว ก็เอาคำนั้นแหละมาเป็นความหมายของคำว่า กัม มันนียะ (นาทีที่ 43:20) คือจิตแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่การงานของจิต ๓ อย่างนี้รวมกันเข้าเรียกว่ามีสมาธิ มีความบริสุทธิ์ มีความเข็มแข็ง มีความว่องไวในหน้าที่ จิตอย่างนี้เรียกว่าเป็นจิตที่ดำรงไว้ชอบ ตั้งมั่นไว้ชอบ เป็นสัมมาสมาธิ รวมกัน ๘ ประการนี่คือหนทาง หนทางที่จะเดิน หนทางที่เต็มใจจะเดิน ไม่เสียเวลาหรอก รับรองว่าจะมีประโยชน์เกิดคาด ถ้าจะจำไอ้คำ ๘ คำนี้ไว้ให้ได้ เพราะเป็นตัวพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพุทธศาสนา ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ความถูกต้อง ๘ประการ กำหนดให้ดีๆอีกครั้งหนึ่งว่า ความถูกต้องของทิฏฐิ ความถูกต้องของความต้องการ ถูกต้องของการพูดจา ถูกต้องของการกระทำทางกาย ถูกต้องของการดำรงชีวิต ถูกต้องของความพากเพียร ถูกต้องของสติ รำลึก แล้วก็ถูกต้องของสมาธิ คือการที่จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่อย่างถูกต้อง ๘ ประการนี้รวมกันแล้วเป็นมรรค แปลว่าหนทาง หนทางนี้สำหรับจิตเดินจากความต่ำไปสู่ความสูง จากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์ หรือว่าจากไอ้โลกๆนี้ไปสู่เหนือโลก หรือจะเรียกว่านิพพานก็ได้ ทางปฏิบัติของจิตที่ดำเนินไปสู่นิพพาน ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ผู้ที่ดำเนินอยู่ในทางสายกลาง ๘ ประการนี้ นั่นแหละเรียกว่าบัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบถูกต้องเป็นตัวปัญญานำหน้าเรื่อยไปไม่ว่าในกรณีอะไร จะทำอะไรจะอะไรก็ให้มีตัวปัญญานำหน้าเสมอไป ก็มีแต่ความถูกต้อง บัณฑิตมันจึงผู้ เป็นผู้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ มีสถานะทางจิตสูงขึ้นๆ สูงขึ้นๆ จนอยู่เหนืออำนาจของกิเลส อยู่เหนืออำนาจความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เลย นั่นเรียกว่านิพพาน เมื่อจิตไม่มีกิเลส จิตไม่มีความทุกข์ และจิตได้รับอะไรอันนั่นคือนิพพาน ถ้าไม่เข้าใจอย่างหนึ่ง ก็เข้าใจอย่างนี้ จำไว้อย่างนี้ง่ายๆว่าเมื่อจิตไม่มีกิเลส จิตไม่มีความทุกข์แล้ว จิตได้รับอะไรในเวลานั้น นั่นแหละคือนิพพาน เอากิเลสออกไปให้หมดสิ้น เอาความทุกข์ออกไปให้หมดสิ้น และจิตได้รับอะไรในเวลานั้น นั่นคือนิพพาน คำว่านิพพาน นี้แปลว่าเย็น เย็นเพราะไม่มีของร้อน คือไฟ กิเลสและความทุกข์เป็นของร้อน เป็นไฟ เอากิเลสและความทุกข์ออกไปเสียให้หมดมันก็เย็น เรียกว่านิพพาน แปลว่าความเย็นแห่งชีวิต ถ้าเมื่อใดเอากิเลสและความทุกข์ออกไปเสียได้ ไอ้นิพพานก็ปรากฏแก่จิตใจเมื่อนั้น เรียกว่ามีอยู่ตลอดเวลา รอคอยอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้ก็อยากจะให้รู้จักสังเกตนิพพานน้อยๆ นิพพานตัวอย่าง คือว่าเมื่อใดเรามีจิตว่างจากกิเลสและความทุกข์ซึ่งมันก็มีได้ มันไม่โง่ ไม่หลงในเรื่องกามารมณ์อะไรเสียเป็นตะพรึด มันไม่โง่ไม่หลงในเรื่องอื่นไปเสียจนหมดสิ้น มันมีบางครั้งบางคราวบางเวลาจิตไม่มีกิเลสและความทุกข์ ที่เราไม่สังเกต เราไม่สังเกตก็ผ่านไป ถ้าสังเกตดูให้ดี โอ้, เวลานั้นมันก็มี เวลาที่พอจะรู้ได้ว่าจิตไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์แล้วเป็นอย่างใด เป็นการศึกษาจุดตั้งต้นของนิพพาน ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้นโดยเด็ดขาด ให้เป็นอย่างนั้นมากขึ้นก็เป็นนิพพานที่สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้เป็นนิพพานน้อยๆ เป็นนิพพานตัวอย่าง เป็นจุดตั้งต้นของนิพพาน จึงขอร้องให้ทุกคนๆ นี่ต่อไปนี้มีความสนใจคอยจับให้ได้ว่าเมื่อไรจิตว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์แล้วมันเป็นอย่างไร ในบางเวลาแห่งบางวันบางโอกาส อ้าว, สมมติว่าไปเที่ยวที่ทะเล จิตว่างเกลี้ยง ไม่มีกิเลสและความทุกข์อย่างทั่วๆไป แต่มันก็ไปพอใจกับทะเลเสียอีก ไปพอใจกับความสวยความงามหรือความสนุกเกี่ยวกับทะเลเสียอีก เลยจิตยังไม่ว่าง ยังไม่หมดจากกิเลสและความทุกข์ มันไปโง่ไปหลงพอใจกับที่ทะเลขึ้นมาเสียอีก ยังไม่ได้ว่างสิ้นเชิงจากกิเลสและความทุกข์ ถ้าว่าไปที่ เที่ยวที่ทะเล แล้วก็จิตมันว่างจากกิเลสและความทุกข์ ไม่ยินดียินร้ายในอะไรในทะเล ในความงามของทะเลหรืออะไร หมดสิ้น จิตนี้เป็นอย่างไร นี่เรียกว่าจิตว่างจากความยึดมั่น ถือมั่นเป็นอย่างไร นั่นแหละเป็นเงื่อนต้น เป็นเงื่อนต้นที่จะจับฉวย เงื่อนต้นในเรื่องของนิพพานให้เป็นไปมากขึ้นๆ ให้เป็นไปยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง จะไปที่ทะเล หรือจะไปที่ไหนหรือจะทำอะไร มันก็ไม่แน่ มันอาจจะสบเหมาะบางเวลา และจิตไม่เกิดกิเลสไม่เกิดความทุกข์ โดยที่มันเป็นไปเองเราไม่ได้ทำ นับ มันก็ยังเป็นตัวอย่าง ตัวอย่างของนิพพาน เป็นจิตที่เย็น แต่เราไม่ค่อยรู้สึกไม่ค่อยสังเกต ก็เลยไม่รู้สึกในความเย็น และเราก็ไม่รู้สึกจะเย็น เย็นใส่น้ำแข็ง เย็นอย่างนั้นมันไม่ใช่ความเย็นทางจิตใจ มันเย็นในความรู้สึกในทางวัตถุ ถ้าเย็นทางจิตใจนี่ มันเย็นยิ่งไปกว่าใส่น้ำแข็งหรือเย็นธรรมดาอย่างนี้ คือไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์โดยประการใดๆที่จะมาครอบงำจิตใจ ขอให้สนใจเวลาบางเวลาน่ะ รู้จักความที่จิตมันว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากความร้อน มีแต่ความเย็นอยู่นี่ ให้ได้เป็นเงื่อนต้นเถอะ และก็ค่อยๆจับต่อไปๆให้มันมากขึ้นๆ
นี่บัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ บัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ ดำเนินชีวิตเป็นการศึกษาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ตามที่เป็นจริง และบางเวลาก็พบผลของการศึกษาอยู่ ก็รู้จักและก็เอามาขยายให้มันกว้างไกลออกไป ให้สมบูรณ์ให้ถึงที่สุด ก็เรียกว่าเป็นการศึกษาที่สูงสุด นี่ไม่เจตนาอะไรนัก ถ้าเจตนา ก็มาเจตนาทำให้มันเกิดความถูกต้องสิ ตั้งใจ ระมัดระวังให้เกิดความถูกต้อง ๘ ประการอยู่เสมอไป อันนี้เรียกเจตนากระทำ ดำเนินชีวิตด้วยเจตนาให้มีลักษณะเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ ถูกต้อง ๘ ประการอยู่ทุกเวลาทุกวันทุกคืน แล้วก็จัดเป็นองค์ ๘ ประการต้องศึกษาว่าทิฏฐินั่นอย่างไร ความต้องการนั่นอย่างไร การพูดจานั้นอย่างไร การทำการงานอย่างไร การดำรงชีวิตมันอย่างไร การพากเพียรนั้นอย่างไร ความมีสตินั้นอย่างไร ความมีสมาธินั้นอย่างไร ศึกษาให้เข้าใจในฐานะเป็นเรื่องสูงสุด ประเสริฐที่สุด มีค่ายิ่งที่สุดกว่าสิ่งใด แล้วก็ประพฤติปฏิบัติอยู่
ความถูกต้อง ๒ ข้อแรก คือถูกต้องทางทิฏฐิ และความต้องการนั้น เขาเรียกว่า ปัญญา กลุ่มปัญญา ความถูกต้องทางการพูดจา การทำการงาน และการดำรงชีวิต นี่เรียกว่ากลุ่มศีล กลุ่มศีล ทีนี่ความถูกต้องทางสติ เอ้อ, ทางความเพียร ทางสติ ทางสมาธิ ๓ อย่างนี้เรียกว่ากลุ่มสมาธิ นี่เห็นไหม มันเป็นเทคนิคอันหนึ่งของธรรมชาติ หรือของพระธรรม เอาปัญญามาก่อน กลุ่มปัญญามาแล้ว จึงกลุ่มศีล กลุ่มศีลแล้วจึงกลุ่ม ปัญญา (นาทีที่ 52:49) เพราะว่าต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเป็นตัวนำ ถ้าไม่มีความรู้ถูกต้อง มันทำอะไรผิดหมด แม้จะรักษาศีลก็ทำผิด แม้แต่ทำสมาธิก็ทำผิด จึงต้องนำปัญญา ความรู้ถูกต้องมานำ ศีล แล้วก็ศีลถูกต้อง ศีลถูกต้อง แล้วก็สมาธิถูกต้อง สมาธิถูกต้องและก็ส่งเสริมปัญญายิ่งขึ้นไป ปัญญายิ่งขึ้นไปก็ส่งเสริมศีลให้ยิ่งขึ้นไป ศีลยิ่งขึ้นไปก็ส่งเสริมสมาธิยิ่งขึ้นไป มันส่งเสริมกันเป็นวนวงกลมอยู่อย่างนี้ ปัญญา กลุ่มปัญญาเป็นฝ่ายที่นำอยู่เสมอ นำอยู่เสมอคิดดู ความถูกต้องทางทิฏฐิ ความคิดความเห็น ปัญญา ความเชื่อนี้เรียกว่าทิฏฐิถูกต้อง นี่นำอยู่เสมอ นำให้เกิดการต้องการถูกต้อง และประพฤติกระทำถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต แต่เวลาเรามาพูดกันตามธรรมดา เราพูดอีกอย่างหนึ่งพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ในตัวหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้านั้นมีว่าปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ แต่ที่เราชอบพูดกัน หรือได้ยินกันอยู่ทั่วๆไปจะพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอาตามความสูงต่ำเข้าที่มีจิตมากน้อย ไม่เอาในทางหลักปฏิบัติ ในทางหลักปฏิบัติจริงๆแล้วปัญญาต้องมาก่อน มีเกียรติสูงสุดมาก่อน แล้วจะจูงจมูกศีลและสมาธิให้เดินถูกทาง เมื่อทั้งศีล สมาธิสมบูรณ์ดีแล้ว ก็จะไปย้อนปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ปัญญาก็จูงจมูกให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ศีล สมาธิก็ดียิ่งขึ้นไปอีก ปัญญาก็สูงขึ้นไปอีก ก็ย้อนมาจูงศีล สมาธิให้ดีขึ้นไปอีก มันวนอยู่อย่างนี้ ดีขึ้นๆ ดีขึ้นจนถึงจุดสุดท้ายคือละกิเลสและละความทุกข์ได้ ขอให้สนใจดีว่าโดยคำพูดชาวบ้านที่มาพูดกันอยู่ พูดศีล สมาธิ ปัญญา แต่ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่จะดับทุกข์ได้ ปัญญา แล้วศีล แล้วสมาธิ นี่สังเกตให้เห็น และก็อย่าได้สงสัยว่ามันขัดแย้งกัน อันหนึ่งพูดตามหลักเทคนิคที่จะต้องปฏิบัติจริง อันหนึ่งพูดตามภาษา ตามลักษณะของภาษาสูงต่ำ ความหมายของคำ มันก็เลยได้รูปโครงออกมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นเทคนิคของการปฏิบัติ มันได้รูปโครงออกมาเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ นี่ก็ขอให้เข้าใจไว้ด้วย อย่าต้องไป อย่าต้องไปเที่ยวถามใครเรื่องนี้ให้เขาหัวเราะเลย รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ความถูกต้อง ความถูกต้องนี่มี ๘ อย่างนี้ แล้วกระจายออกไปให้เป็นความถูกต้องทุกอย่างเลย แล้วมันไปรวมกลุ่มกันเป็น ๘ อย่าง แล้ว ๘ อย่างนี้จะมารวมกลุ่มเป็นเพียง ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้เหมือนกัน ๓ อย่างขยายเป็น ๘ อย่าง ๘ อย่างขยาย ขยายออกเป็นทุกอย่างถูกต้อง เพระว่าไอ้การกระทำน่ะมันยังมีอีกมากที่แยกออกไปเป็นรายละเอียด เช่นว่าเราจะนอน เราจะตื่น เราจะล้างหน้า เราจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เราจะกินข้าว เราจะอาบน้ำ เราจะทำอะไรทุกอย่างเกี่ยวกับบ้านเรือน แล้วเราจะไปทำงาน แล้วเราจะกลับบ้าน ก็มาอะไรทุกอย่างอีก ระหว่างเดินทางอยู่ในรถในเรือ ระหว่างถึงที่ทำงาน ระหว่างกำลังทำงานอยู่ ระหว่างพักงาน ระยะให้มันถูกต้องให้หมด จะแยกเป็นกี่อย่างให้มันถูกต้องให้หมด ตอนนี้เรามันไม่สนใจ เรามันไม่สนใจ ไม่สนใจที่จะระวังให้มันถูกต้อง มันก็ทำไปส่งเดช ทำไปอย่างที่ไม่รับ ไม่ต้องรับผิดชอบ ทำไปตามสะดวกสบาย แม้จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ใครตั้งใจทำให้ดีที่สุดบ้าง เป็นเรื่องขี้เกียจ เป็นเรื่องไม่รู้ไม่ชี้ ทำอย่างหวัดๆลวกๆไปทั้งนั้น ด้วยเห็นว่ามันเป็นเรื่องต่ำ เป็นเรื่องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะไปสนใจอะไรกับมัน นี่มันเลย มันเกิด เกิดความไม่ถูกต้องขึ้นมาไม่มากก็น้อยแล้วมันก็มีปัญหา ให้มัน มันมีความรู้ว่าอย่างไรถูกต้อง และอย่างไรไม่ถูกต้อง เช่นถ้าถ่ายอุจจาระ นี้ถ้าทำพรวดพราดเร็วเกินไป มันเกิดโรค มันเกิดโทษ อย่างนี้เป็นต้น แล้วเกิดความเสียหายอย่างอื่น นี่เรื่องต่ำที่สุดเรื่องถ่ายอุจจาระ ยังต้องระมัดระวังทำให้มีความถูกต้อง
เอาล่ะขอย้อนมาตั้งแต่ต้น เธอฟังให้ดีๆว่า เราตื่นนอนขึ้นมา เวลาเช้าน่ะ รู้สึกว่ามันถูกต้องแล้ว มันจึงรอดชีวิตมาได้คืนหนึ่งวันหนึ่ง คืนหนึ่ง มันถูกต้อง จะรักษาความถูกต้องสืบต่อไปอีก ที่นี้จะไปล้างหน้า จะไปล้างหน้า เดินไปก็เดินไปอย่างถูกต้อง จะล้างหน้าด้วยขันหรือล้างหน้าด้วยอะไรก็ตามใจ จะหยิบขันหรือจะล้างหน้าถูหน้า จะแปรงฟันให้มันมีแต่ความถูกต้อง รู้สึกควบคุมอยู่ ถูกต้องๆ จนล้างหน้าเสร็จ แล้วจะไปห้องถ่ายปัสสาวะอุจจาระก็ทำอย่างดีที่สุดทุกกระเบียดนิ้วจนเสร็จ แล้วจะไปอาบน้ำก็ทำอย่างดีทุกกระเบียดนิ้วจนกว่าจะอาบน้ำเสร็จ จะไปกินอาหารก็อย่างดีที่สุดไม่มีความผิดพลาด ไม่มีกิเลสตัณหาเกิดขึ้น คือยินดียินร้ายเกี่ยวกับอาหาร คำนี้อร่อยก็หลงใหลเพลิดเพลินคิดฟุ้งซ่าน คำนี้ไม่อร่อยก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ขึ้นลงๆ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ให้มันมีแต่ความถูกต้อง ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นเพราะการกินอาหาร กินอย่างดีที่สุด กินแต่พอประมาณอย่างนี้ มันเป็นความถูกต้องเรื่องกินอาหาร จะมาแต่งเนื้อแต่งตัวไปทำงานก็ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว จะสวมเสื้อสวมผ้าอะไร แล้วจะไปทำงานจะลงเรือน ไปขึ้นรถก็ทุกกระเบียดนิ้วมันมีแต่ความถูกต้อง อยู่ในรถในเรือ ก็ไปถึงที่ทำงานแล้ว ถือว่าไอ้งานนี้คือหน้าที่ที่จะช่วยให้เรารอด การงานคือสิ่งที่จะช่วยให้เรารอด ดังนั้นจะต้องทำให้ดีที่สุด ดีที่สุด ก็เลยทำงานดีที่สุด ถูกต้องไปทั้งนั้นเลย ถูกต้องไปทั้งนั้นเลย ไม่มีทุจริตคดโกง ไม่มีบกพร่อง มีแต่ความระมัดระวังให้ดีที่สุด งานนั้นมันก็ดำเนินไปดีที่สุด แล้วเราก็พอใจ พอใจในงานดำเนินไปดีที่สุด ถ้าพอใจ พอใจ ก็เป็นสุข เป็นสุข เมื่อทำการงานนั่นเอง ความสุขเกิดจากความพอใจเสมอ นี่เป็นจิตวิทยาที่ตายตัวว่าความสุขต้องมาจากความพอใจเสมอ พอใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข พอใจน้อยก็สุขน้อย พอใจมากก็สุขมาก พอใจต่ำก็สุขต่ำๆ พอใจสูงๆก็สุขสูงๆ แล้วถ้าพอใจทุจริต ความสุขก็หลอกลวง พอใจนั้นต้องถูกต้อง ถูกต้องแล้วมันจึงพอใจ พอใจก็ถูกต้อง พอใจถูกต้อง ความสุขมันก็ถูกต้อง มีความสุขเสียตั้งแต่เมื่อกำลังทำงานถูกต้อง ชื่นอกชื่นใจ ทำงานไปรู้สึกถูกต้องเป็นสุขไป นี่มันมีสุขเสียแล้ว นี่มันเป็นความสุขอย่างยิ่งแท้จริง ไม่ปลอมเสียตั้งแต่เมื่อทำงานนี่ แล้วจะต้องใช้เงินไปหาความสุขอะไรกันอีกล่ะ ที่จะเอาผลงาน เงินที่เป็นผลงานไปซื้อหากามารมณ์ ไปซื้อหาสรวลเสเฮฮานั้นมันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เป็นเหยื่อของกิเลสตัณหา ใช้เงินเท่าไรก็ไม่พอ เผลอตัวไปใช้เกินจนเกิดหนี้เกิดสิน จนต้องคดโกง จนต้องไปอยู่ในคุกในตะราง ถูกถอดถูกไล่ ความสุขที่แท้จริงเกิดจากความพอใจเมื่อรู้สึกว่าทำงานมันถูกต้อง มันไม่ใช้ มันไม่ต้องใช้ ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่สตางค์เดียว เป็นความสุขที่แท้จริงมหาศาล ตลอดเวลามหาศาล สรุปความกันเสียทีสั้นๆว่า ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงินเลย ถ้าเป็นความสุขที่หลอกลวงต้องใช้เงินมาก ยิ่งหลอกลวงเท่าไรยิ่งต้องใช้เงินมากเท่านั้น ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราตกเป็นทาสของความสุขชนิดหลอกลวงกันนักนี่ เงินมันจึงไม่พอใช้ เพราะมันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความหลอกลวงที่ เป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เป็นเหยื่อของกิเลสนี้ ไอ้ความสุขที่แท้จริงมันเกิดจากความยินดีพึงพอใจที่ได้กระทำการงาน มันไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เงินมันก็เหลือสิ ถ้าเรารู้จักพอใจในความสุขที่แท้จริงที่ถูกต้อง เงินมันก็จะเหลือ เงินที่เป็นผลงานน่ะมันก็จะเหลือ งานทำได้ดี มีผลงานมาก เงินไม่ต้องใช้ซื้อหาความสุข มันก็เหลือ ที่เหลือจะไปใช้หรือทำอะไรก็ได้ก็แล้วแต่ ทำให้มันดีก็แล้วกัน อย่าเอาไปซื้อหาความหลอกลวงเสียหมด เดี๋ยวนี้ดูจะไม่เป็นอย่างนั้นนี่ เราต้องการไอ้ความสรวลเสเฮฮาสนุกสนาน ความเอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง เขาเรียกกันหยาบคายมากที่สุดว่าความอร่อยทางเนื้อหนัง เป็นคำเลวมาก เป็นคำประณามด่าว่าในทางธรรม ทางศาสนา นี่เราไปบูชาความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง เงินเท่าไรมันก็ไม่พอใช้ แล้วมันก็ไม่ได้ความสุขเลย แต่คนโง่บรมโง่มันเรียกว่าความสุข ความสุขอยู่ที่นั่นทั้งหญิงทั้งชายที่บรมโง่มันก็มีความสุขอยู่ที่ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังทางกามารมณ์ ถ้ารู้สึกมันดีแล้ว มันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ไม่เอากับมัน นี่มันก็อยู่ในความถูกต้อง นี่บัณฑิตดำเนินประโยชน์กิจมาอย่างนี้ บัณฑิตดำเนินตนอย่างนี้ มันก็มีแต่ความถูกต้อง แล้วก็พอใจแล้วก็เป็นสุขอย่างแท้จริงอยู่ตลอดเวลา ตลอดเวลา ใช้คำว่าตลอดเวลา ทำงานแล้วกลับบ้านจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ก็ปฏิบัติ หรือแม้ที่สุดแต่จะช่วยคนใช้ คน ลูกจ้างล้างจานล้างชามถูบ้านกวาดเรือนถูบ้านบ้างก็ทำ ก็ทำเถิด เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตจะต้องทำ แล้วพอใจแล้วมันก็เป็นสุขได้เหมือนกัน ช่วยเขาล้างจาน ช่วยเขากวาดบ้าน ช่วยเขาทำงานต่ำๆที่สุดนั้น มันเป็นความถูกต้องและก็พอใจและเป็นความสุขได้เหมือนกัน ก็ทำได้ไม่ใช่จะทำไม่ได้ ทุกเรื่องมันถูกต้อง กินข้าว อาบน้ำ จนถึงเวลาจะนอนพอจะนอนคิดบัญชีกันหน่อย สำรวจดูความถูกต้องตลอดวันที่ผ่านมา มีแต่ความถูกต้อง โอ้, มันมีแต่ความถูกต้อง พอใจตัวเองครั้งสุดท้าย ยกมือไหว้ตัวเอง ถ้าใครยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อจะนอนแล้วก็คนนั้นมันถูกต้อง มีแต่ความถูกต้องและนั่นแหละคือสวรรค์แท้จริง และเมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นน่ะคือสวรรค์ที่แท้จริง ไม่ใช่สวรรค์หลอก สวรรค์ที่ตายแล้วมันไม่แน่ สวรรค์ที่เพลิดเพลินด้วยกามารมณ์นั้นมันไม่ใช่สวรรค์ที่แท้จริง มันสวรรค์หลอกลวง สวรรค์ที่แท้จริงมันต้องเป็นสุข เยือกเย็น เป็นแนวเดียวกันกับนิพพาน นี่ไปหลงไอ้สวรรค์หลอกลวง แล้วไปหลงไอ้สวรรค์เมื่อตายแล้ว ไอ้สวรรค์ที่จะมีได้เดี๋ยวนี้ที่นี่กลับไม่สนใจ นี่รวมความว่าทำให้ทุกสิ่งมันถูกต้อง จนยกมือไหว้ตัวเองได้ชื่นอกชื่นใจตัวเอง เคารพตัวเองนับถือตัวเองอย่างยิ่ง นี่คือสวรรค์ที่แท้จริง นี่บัณฑิตก็ดำเนินชีวิตด้วยลักษณะอย่างนี้ บัณฑิตดำเนินชีวิตด้วยลักษณะอย่างนี้ การที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ว่ามีแต่ความถูกต้องนั่นแหละ มันเป็นการไหว้หมดเลย ไหว้พระพุทธ ไหว้พระธรรม ไหว้พระสงฆ์ ไหว้บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไหว้อะไรก็ตาม มันรวมอยู่ในการไหว้ตัวเองได้ ถ้ามองเห็นแต่ความถูกต้อง ในความถูกต้องนั่นแหละ มันเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นคุณบิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นอะไรเสร็จ ฉะนั้นถ้าใครเมื่อจะนอนยกมือไหว้ตัวเองได้ คือไหว้หมด ไหว้หมดทุกอย่าง นี่ดำเนินชีวิตมาอย่างนี้ บัณฑิตดำเนินชีวิตมาอย่างนี้ตลอดวันจนกว่าจะนอน ทีนี้ก็ตั้งสตินอน ตั้งสตินอน บูชาความถูกต้อง ตั้งใจว่าจะตื่นขึ้นมาทำความถูกต้องต่อไป ระหว่างที่หลับไปนั้นไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดว่าเป็นถูกต้องหรือผิดพลาดหรืออะไร แต่ถ้าว่ามันไม่ได้ทำความผิดพลาดอะไร มันก็รวมอยู่ในความถูกต้อง ตั้งความถูกต้องไว้ให้เพียงพอตั้งแต่ก่อนนอนแล้วก็นอนอยู่ด้วยความถูกต้องจนกว่าจะตื่นขึ้นมา เขาเรียกว่านอนด้วยสติ สัมปชัญญะ หรือนอนอย่างราชสีห์ ไม่ได้นอนอย่างสุนัขที่ดิ้นรน เวลานอน นอนอย่างราชสีห์ ไม่เคยดิ้นรนจนกว่าจะถึงเวลาตื่นเพราะมันตั้งสติไว้ดี ก็ถูกต้องเมื่อจนตื่น จนตื่น พอตื่นก็เริ่มความถูกต้องต่อไปอีกอย่างที่พูดมาแล้ว ถูกต้องแล้วมันรอดชีวิตมาวันหนึ่งคืนหนึ่งแล้ว ที่นี้ก็ไป จะไปล้างหน้า จะไปอาบน้ำ จะไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะนั่งรับประทานอาหาร ไปทำงาน มันก็รูปเดียวกันอีกตลอดวันๆ ตลอดวัน ทุกวันมีแต่ความถูกต้อง นี่เรียกว่าบัณฑิตดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา เป็นเครื่องรักษาตัวรอด ปัณฑา ปัณฑา (นาทีที่ 01:08:00) แปลว่าปัญญา เป็นเครื่องรักษาตัวรอด บัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัณฑา คือปัญญาเป็นเครื่องรักษาตัวรอดนี่ตลอดวันตลอดคืน ตลอดวันตลอดคืน ขอให้สนใจ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีแต่ความถูกต้อง เราบัญญัติคำขึ้นอีกมาอีกคำหนึ่งว่า ธรรมชีวี ธรรมชีวี ธรรมะ แปลว่าถูกต้อง ชีวี แปลว่ามีชีวิต ธรรมชีวี แปลว่ามีชีวิตอย่างถูกต้อง ก็คืออย่างที่ว่ามานี่ ขอฝากทุกคนเอากลับไป มอบหมายทุกคนเอาคำว่า ธรรมชีวี ธรรมชีวี ติดตัวไปสำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงและปฏิบัติให้ชีวิตเป็นธรรมชีวี
ทีนี้มันก็ไม่มีอะไร มีแต่ความเจริญไปตามทางของพระพุทธศาสนา ทำงานได้มาก ผลงานก็ใช้ถูกต้องทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ทุกคนก็พลอยเป็นสุขกันทั้งโลกเลย ถ้ามีแต่คนทำอย่างนี้ คนทุกคนในโลกจะมีแต่ความสุข เป็นโลกที่พิเศษประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าโลกของพระ ศรีอริยเมตไตรย (นาทีที่ 01:09:27) เพราะว่าเมื่อดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ กิเลสมันค่อยๆสิ้นไป กิเลสมันลดลง กิเลสมันสิ้นไป ความเคยชินแห่งกิเลสก็ลดลงที่เรียกว่า อนุสัย อนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลสและความทุกข์มันก็จะลดลง กิเลสที่จะไหลออกมามันก็ไม่มีคือ อาสวะ มันก็ไม่มี กิเลสมันลดลง อนุสัยมันลดลง อาสวะมันก็ไม่มีออกมา ก็เลยถึงที่สุดได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า ราคกฺข โย (นาทีที่ 01:10:07) ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสกฺขโย (นาทีที่ 01:10:10) ความสิ้นไปแห่งโมหะ เอ้อ, ความสิ้นไปแห่งโทสะ โมหกฺขโย (นาทีที่ 01:10:16) ความสิ้นไปแห่งโมหะ สิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ นี่เป็นปริญญาของพระพุทธเจ้า คือเป็นพระอรหันต์ เพราะสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง อยู่เหนือกิเลสเหนือความทุกข์เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่เต็ม เป็นมนุษย์ที่มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่บกพร่องแม้แต่นิดเดียว บัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างนี้ ดำเนินชีวิตจากความพร่องไปสู่ความเต็ม ก็รับปริญญาของพระพุทธเจ้า มันก็จบ เรื่องมันก็จบ
นี่ขอให้ระลึกถึงคำว่าบัณฑิต สรุปความนะ สรุปความว่าขอให้ระลึกถึงคำว่าบัณฑิต สำหรับผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ถูกต้องๆจนกว่าจะถึงที่สุด ถูกต้องนั้นโดยมากก็แจกเป็น ๘ ประการ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แต่จะย่อความให้เหลือเพียง ๓ ศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้เหมือนกัน คือย่อรวมกลุ่ม แต่นี่ขยายออกไปทุกกระเบียดนิ้วในโลก ที่ว่ามันจะต้องประพฤติกระทำและก็ทำให้ถูกต้อง เรามีหน้าที่จะต้องทำกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง ทำมันให้ถูกต้องทั้งนั้น นั่นแหละก็เรียกว่ามีความถูกต้อง และก็พอใจในความถูกต้อง และก็เป็นสุขในความพอใจ เพราะความพอใจเป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่สตางค์เดียว จะเป็นความสุขที่แท้จริง ฉะนั้นขอให้ระมัดระวัง ให้มีแต่ความถูกต้องอย่างนี้ พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไรก็เป็นสวรรค์อันแท้จริงเมื่อนั้น ถ้ามันเกลียดชังตัวเอง เกลียดน้ำหน้าตัวเอง ขยะแขยงตัวเองเมื่อไร ก็เป็นนรกเมื่อนั้นทันทีเลยไม่ต้องรอ เรามีแต่ความถูกต้อง ก็มีแต่สวรรค์เรื่อยๆไปจนกว่าจะสูงสุด เลื่อนขึ้นไปก็เป็นนิพพาน บัณฑิตดำเนินชีวิตอย่างนี้ และก็ขอเรียกเป็นคำใหม่แปลกหูสักคำว่า ธรรมชีวี ธรรมชีวี ขอให้ทุกคนยินดีที่จะเป็นธรรมชีวี เป็นสมาชิกธรรมชีวี มีชีวิตที่ถูกต้องอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ในทางปฏิบัติโดยรวบรัดสั้นๆที่สุดก็คือ รู้สึกว่าหน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด สิ่งที่ช่วยให้เรารอดไม่ใช่ผีสาง เทวดา พระเจ้า พระอะไรที่ไหน คือหน้าที่ที่เรากระทำ และท่านก็ทำให้มันถูกต้องโดยนัยยะที่กล่าวมา มันก็เกิดการรอด เดินมาจนรอด ฉะนั้นจงบูชาหน้าที่เป็นสิ่งสูงสุด ถึงเวลาจะทำงาน ถึงเวลาจะทำหน้าที่ ก็ยกมือไหว้ พนมมือไหว้หน้าที่เสียทีหนึ่ง แล้วจิตใจมันจะดี มันจะเข้มแข็งในการจะทำหน้าที่ เคยพูด พูดอย่างใจจริง แต่เขาฟังเป็นเรื่องเล่น ว่าชาวนาจะไถนานี่ ยกมือไหว้ควาย ยกมือไหว้คันไถสักทีก่อนจะลงมือไถนา นั่นแหละคือความถูกต้องที่สุดที่จะเกิดกำลังใจในการที่จะทำนา ไถนาให้ดีที่สุด นักเรียนก็เหมือนกัน พอเข้าไปในห้องเรียนยกมือพนม พนมมือต่อการเรียนหรืออะไรก็ตามที่มันเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สอยที่สำคัญ ก่อนจะหยิบจะใช้ต้องยกมือไหว้ทั้งนั้น เด็กๆสมัยก่อนพอหยิบหนังสือมา ต้องไหว้ ไหว้หนังสือที่จะเรียนนั้นแหละ หยิบกระดานไม้มาจะเขียนหนังสือก็ต้องไหว้ แล้วก็ลบแล้วก็เขียนแล้วก็เรียนก็ใช้ เพียงแต่ไปหยิบเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้มาก็ต้องแสดงความเคารพ เพราะเป็นสิ่งที่มีค่าโดยแท้จริง เป็นทางรอด ที่นี้ขอให้เรารู้สึกว่าไอ้หน้าที่นั่นแหละคือสิ่งที่ช่วยให้รอด การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะคือการทำหน้าที่ของตน คำว่าธรรมะ ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ มีมาโบราณก่อนพุทธกาล ก็มีคำว่าธรรมะ ธรรมะใช้ ในความหมายว่าหน้าที่ หน้าที่ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ก็สอนธรรมะ ก็เรื่องหน้าที่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะคือพระธรรม นี่หน้าที่สูงสุดให้บรรลุนิพพานได้ เป็นหน้าที่สูงสุด และหน้าที่ธรรมดาสามัญ ก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะน้อยๆ ธรรมะระดับต่ำ ธรรมะระดับทั่วไป ถ้าเป็นหน้าที่แล้วเรียกว่าธรรมะ ฉะนั้นจงพอใจในการทำหน้าที่ แม้แต่จะช่วยเขาล้างจาน กวาดบ้าน ถูเรือนอะไรบ้างก็ทำเถิด มันเป็นธรรมะ มันเป็นหน้าที่ จิตใจมันก็จะสูงเพราะการประพฤติธรรมะนั่นเอง รวมความว่าจงมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือหน้าที่อันถูกต้อง สามารถที่จะยกมือไหว้ตนเองได้ทุกเวลาที่ระลึกนึกถึง ระลึกนึกถึงตัวเองเมื่อใด เป็นอันยกมือไหว้ตัวเองได้ทุกเวลา เรื่องจบ นี่ขอสรุปความอย่างนี้ว่าบัณฑิตคือผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาถูกต้องๆ ถูกต้องเรื่อยไปจนถึงที่สุด ได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้าคือความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เรื่องจบ เอ้า, ขอยุติการบรรยายคราวนี้ไว้เพียงเท่านี้
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) เชิญท่านนักศึกษาทุกท่าน นั่งคุกเข่าพนมมือนะครับ กราบพระ ๓ ครั้งพร้อมๆ กันนะครับ กราบ กราบ กราบ
(เสียงท่านพุทธทาส) นี่อย่าหาว่ารุกล้ำก้ำเกิน อยากจะสอนหรือแนะสักนิดหนึ่งว่าไอ้กราบอย่างนี้น่ะ ขอให้ทำให้มันถูกวิธีที่สุด คือหัวหน้านี่จะสั่งว่าอัญชลี เอามือไว้ที่นี่ แล้วหัวหน้าจะสั่งว่าวันทนา ยกขึ้นมาอย่างนี้ ยกขึ้นมาสิ และอภิวาท กราบลงไป ๓ จังหวะ จังหวะอัญชลี จังหวะวันทนา จังหวะอภิวาท อัญชลี วันทนา อภิวาท สมบูรณ์ที่สุด ดู ดูก็สวย ดูก็ดี ถ้าชอบก็ลองทำ เดี๋ยวนี้ได้ไหม เอ้า วันทนา เธอเป็นหัวหน้าสิ วันทนา เอ้ย, อัญชลี อัญชลี เอ้า, อัญชลี
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อัญชลี
(เสียงท่านพุทธทาส) วันทนา
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) วันทนา
(เสียงท่านพุทธทาส) ยกมือสิ อภิวาท
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อภิวาท
(เสียงท่านพุทธทาส) กราบลงไป อัญชลี
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อัญชลี
(เสียงท่านพุทธทาส) วันทนา
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) วันทนา
(เสียงท่านพุทธทาส) อภิวาท
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อภิวาท
(เสียงท่านพุทธทาส) อัญชลี
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อัญชลี
(เสียงท่านพุทธทาส) วันทนา
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) วันทนา
(เสียงท่านพุทธทาส) อภิวาท
(เสียงพระสุชาติสุชาโต) อภิวาท
(เสียงท่านพุทธทาส) ง่ายๆ ง่ายๆ เรื่องง่ายๆ ไม่ยาก ไม่ยากอะไร แต่น่าดูกว่าที่จะ จะกราบกันคนละทีสองที ดูมันชอบกล ใช้ระเบียบที่พร้อมพรึบเหมือนกับทหารดูบ้าง
(เสียงผู้ชาย) หนึ่ง สอง สาม ในช่วงนี้จะมีเวลาที่จะสนทนาธรรมแล้วก็ซักถามปัญหาเกี่ยวกับท่านอาจารย์เล็กน้อย (นาทีที่ 01:19:00) ขอเชิญนั่งสักครู่หนึ่งก่อน
ที่สวนโมกข์นี้มีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์สวนโมกข์อันหนึ่ง ขอความกรุณาท่านอาจารย์กรุณาอธิบายให้นักศึกษาทราบถึงพระอวโลกิเตศวร ความหมาย จุดประสงค์อะไรต่างๆ
(เสียงท่านพุทธทาส) อันนี้ต้องไปอธิบายที่นั่น โดยพระที่นั่น ถาม ถามปัญหาที่เป็นธรรมะ อวโลกิเตศวรต้องไปพูดกันที่อวโลกิเตศวร จะต้องชี้นั่นชี้นี่หลายอย่าง
(เสียงผู้ชาย) ครับ ถ้าอย่างนั้นใครจะมีคำถาม
(เสียงท่านพุทธทาส) ใครจะมีคำถามที่เป็นธรรมะ ธรรมะโดยตรง
(เสียงผู้ชาย) เชิญ ยืนๆ ถามเลยก็ได้ มีไมโครโฟนไหม
(เสียงผู้ถาม) กราบนมัสการพระคุณท่าน
(เสียงท่านพุทธทาส) พูดให้ดังๆ ให้ได้ยินชัดๆ
(เสียงผู้ถาม) กราบนมัสการถามครับ คือในขั้นปัญญาอันมีสัมมาสติ เอ้อ, สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปโป อย่างไรปุถุชนธรรมดาจึงจะสามารถรู้ได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอันถูกต้อง ครับกระผม
(เสียงท่านพุทธทาส) เรื่องนี้มันเป็นที่รู้กันโดยพื้นฐานโดยทั่วๆไปว่า ถ้ามันไม่ทำอันตรายใคร มันก็เป็นความถูกต้อง ความคิดความเห็นที่เป็นไปเพื่อไม่ทำอันตรายใคร ก็เป็นความถูกต้อง ความคิดความเห็นเรื่องว่าจะดับทุกข์เสียอย่างไรก็เป็นความถูกต้อง ถ้าสงสัยก็ลองไล่ไปดูว่าไอ้ความคิดอย่างนี้ที่สุดมันไปทำอันตรายใครหรือไม่ ถ้ามันมีแต่ทำประโยชน์ ทำความดีแก่ทุกฝ่ายก็เรียกว่าถูกต้อง ทุกคนอาจจะรู้จักได้ด้วยตนเอง โดยไล่ไปว่าความคิดเห็นอันนี้ ความรู้อันนี้ สติปัญญาอันนี้ เมื่อปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้ว มันทำอันตรายผู้อื่นหรือมันทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ถ้าเห็นว่ามันทำประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ถือว่าเป็นความถูกต้อง ไม่ว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติกาย วาจา ใจอย่างไร ข้อไหนถ้ามันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก็เรียกว่าถูกต้อง เมื่อเห็นว่าถูกต้องอย่างนั้นๆและก็ปรารถนาจะทำอย่างนั้น ก็เป็นสัมมาสังกัปโป เลยเป็นปัญญาที่ถูกต้องทั้ง ๒ ข้อ คือทั้งสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปโป ไม่ยาก กำหนดไว้ว่าใคร่ครวญดูว่าเมื่อทำไปถึงที่สุดแล้วมันเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นหรือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก็เรียกว่าถูกต้อง เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
(มีเสียงถามอีก แต่ได้ยินเสียงไม่ชัด) (นาทีที่ 01:22:33 – 01:23:16)
(เสียงท่านพุทธทาส) อ้อ, ที่จะไม่ให้มีคนร้ายในโลกนั้น ไม่ได้หรอก เพราะในโลกมันมีทั้งคนดีและคนร้าย ถ้าคนร้ายมันมาเกี่ยวข้องกับเรา มาเล่นงานกับเรา เราก็ลองคิดดูสิว่าจะร้ายตอบจะมีประโยชน์อะไร จะดีตอบจะมีประโยชน์อะไร ทำอย่างไรมันจึงจะเรียบร้อยกันไปทั้งสองฝ่าย ก็คิดไปอย่างนั้น ในที่สุดมันก็จะพบว่าทำให้มันเป็นที่เข้าใจซึ่งกันและกัน หรือประพฤติดีต่อกัน แม้เขาจะเป็นคนร้ายไม่ประพฤติ เราก็ประพฤติได้ เราประพฤติฝ่าย ฝ่ายของเราให้มันดี ให้มันถูกต้องอยู่เสมออย่างนี้ การที่จะอยู่ร่วมโลกกับอันธพาล อันธพาลมีอยู่ในโลกทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยพระพุทธเจ้าก็มี ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับอันธพาล เพียงแต่ดำรงตนให้มันถูกต้องให้มันน่าเลื่อมใส มันชนะน้ำใจอันธพาลได้ หรือถ้ามันชนะไม่ได้ เราก็ไม่ยอมทำผิด เรายอมตายด้วยความดี ไม่ทำความชั่ว ได้ตายดีมันก็ดี ดี ดีนะ เป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่เสียนะ ได้ตายอย่างดี เป็นเรื่องที่ได้ไม่ใช่เรื่องที่เสีย อันธพาลมันก็เป็นเรื่องไม่มีปัญญา ไม่มีความถูกต้อง ถ้ามันเต็มอยู่ด้วยกิเลส เราก็สงสารมนุษย์คนนั้นว่าถูกกิเลสสิงจนไม่รู้เรื่องอะไร จนไม่รู้จักอะไร เราจะไปทะเลาะกับกิเลสของเขา นี่เราก็สกปรกหรือบ้าไปด้วย จะไปทะเลาะกับกิเลสของเขา เราหลีกเลี่ยงอย่าต้องไปทะเลาะกับกิเลสของเขา ถ้าจะเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องในทางที่มันชนะ เราไม่มีกิเลสไม่เอากิเลสไปชนะกิเลส เรื่องมันจะค่อยๆดีขึ้น แต่ถ้าเราเป็นคนขี้โมโห โมโหตอบ เรื่องก็มีแต่จะแรงขึ้น เขาด่ามาคำหนึ่ง เราก็ด่ากลับไปสองคำ เขาก็ด่ากลับมาสามคำ เราก็ด่ากลับไปสี่คำอย่างนี้ ไอ้เรื่องมันก็แรงขึ้นๆระงับไม่ได้ สอนให้ไม่ต้องโกรธ และไม่ต้องจองเวร ไม่ต้องจองเวร มันเป็นอย่างนี้เอง ถ้าหลีกเลี่ยงเสียได้ก็หลีกไกล ไกล หลีกไกล ไม่ต้องพบ ไม่ต้องสัมพันธ์กัน ถ้าหลีกไม่ได้ มันต้องสัมพันธ์กันก็ต้องพยายามเอาดีเข้าไปเป็นเครื่องชนะ พยายามทำความเข้าใจกันเรื่อยไปให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กันและกัน ตามหลักธรรมะเป็นอย่างนี้ ไม่มีที่ว่าจะร้ายมาร้ายไป ไอ้ลัทธิที่สอนว่าฟันต่อฟัน ตาต่อตานั้นไม่ใช่ลัทธิที่ถูกต้อง เป็นลัทธิของพวกยิวก่อนพระเยซูเกิด พอพระเยซูเกิดก็ห้ามไม่ให้ถือลัทธิฟันต่อฟัน ตาต่อตา ให้ถือลัทธิว่าถ้าเขาตบแก้มซ้ายแล้วก็ให้เขาตบแก้มขวาด้วย จะด้วยไม่ต้องโกรธ เขาขโมยเสื้อแล้วเอาผ้าห่มตามไปให้เขาด้วย จะได้ไม่ต้องโกรธอย่างนี้เป็นต้น เป็นหนทางที่จะชนะอันธพาล ต้องบังคับตัวเองได้จึงจะทำได้ ถ้าบังคับตนเองไม่ได้ มันโกรธกันแล้วมันก็ทำไม่ได้ อ้าว, มีปัญหาอะไรอีกว่าไปเวลาจะหมด
(มีนักศึกษาถามอีก แต่ได้ยินเสียงไม่ชัด)
(เสียงท่านพุทธทาส) ไหนว่า ฟังไม่ถนัด กำลังไม่ได้ทันฟัง ว่าใหม่
(เสียงผู้ถาม) อยากเรียนถาม อยากเรียนถามพระคุณท่านนะคะ เกี่ยวกับวิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการะ เป็นอย่างไรบ้างคะ
(เสียงท่านพุทธทาส)คำว่าโยนิโสมนสิการะที่เขาใช้พูดกันอยู่ตามธรรมดา ก็เรียกว่าอะไร ความใคร่ครวญตริตรองโดยแยบคาย แต่ตัวหนังสือแท้ๆนั้น โยนิ แปลว่าเหตุ เหตุที่ให้เกิดผล เหตุก็เรียกว่าโยนิ โยนิโส ก็โดยโยนิ คือโดยเหตุ มนสิการ ทำในใจ คือคิดใคร่ครวญอยู่ในใจโดยเหตุให้ถึงต้นเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วสามารถที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ หรือรู้เรื่องนั้นได้ดีเพราะมันรู้ถึงเหตุ ได้ยินได้ฟังอะไรมาต้องเอามาโยนิโสมนสิการให้รู้จักเรื่องนั้นอย่างดี ถึงต้นเหตุถึงผล ถึงอะไรหมด ก็คือใคร่ครวญโดยแยบคายนั่นแหละ เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ที่พูดกันอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ใคร่ครวญโดยแยบคาย ถึงเราจะอ่านหนังสือก็ต้องเอามาโยนิโสมนสิการได้ยินได้ฟังที่เขาพูดก็โยนิโสมนสิการ แม้แต่ได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสก็ต้องเอามาโยนิโสมนสิการ แล้วจึงเชื่อ แล้วจึงทำตามด้วยเห็นด้วยว่ามันจะดับทุกข์ได้ เป็นคำธรรมดามีความหมายว่าใคร่ครวญอย่างละเอียด รอบคอบ สุขุมจนถึงต้นเหตุของเรื่องนั้นๆ โยนิโส แปลว่าโดยเหตุ
(นักศึกษาถาม เสียงเบาฟังไม่ออก) อยากถามว่า ปัจจุบันนี่นะคะ เทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นได้เพราะว่า... (นาทีที่ 01:30:00 – 01:30:08)
(เสียงท่านพุทธทาส) ว่ายังไง ฟังไม่ถูก
(เสียงท่านพุทธทาส) อย่าพูดให้เร็วนักสิ ว่าอย่างไร
(นักศึกษาถาม เสียงเบาฟังไม่ออก) มนุษย์นี่นะคะ ทำให้เกิดเทคโนโลยีขึ้นมา ถ้าสมมติว่า..
(เสียงท่านพุทธทาส) เอ้ย, พูดอย่างนั้นไม่ถูกเสียแล้ว ผิดตั้งแต่คำแรกแล้ว สติปัญญาของมนุษย์ทำให้เกิดเทคโนโลยีขึ้นมา ที่มันก้าวหน้าๆกว้างออกไปได้ เพราะกิเลสต้องการให้กว้างออกไป แต่มันยังต้องทำด้วยสติปัญญาอยู่ดี อย่าเอากิเลสเป็นที่พึ่งเลย เอาสติปัญญาเป็นที่พึ่ง ความเจริญของมนุษย์มัน ที่เป็นไปได้ก็เป็นไปด้วยสติปัญญา แต่ที่มันกว้างขวางออกไปจนเกิดขอบเขต จนเป็นปัญหา เป็นอันตรายนั้น นั่นแหละคือกิเลส มนุษย์ต้องการเกินต้องการ เกินจำเป็นที่จะต้องการ จนเกิดเรื่องยุ่งนั่นแหละกิเลสเป็นเหตุ สติปัญญาบอกพอที แค่นี้ที พอที นี่สติปัญญา มันจะเอาแต่เพียงดับทุกข์ได้ มันไม่ต้องเอาเฟ้อเอาเกิน เทคโนโลยีมันเป็นทาสของกิเลส มันก็ไปพ้นในทางเกิน เทคโนโลยีเมื่อมาอยู่ใต้อำนาจของปัญญา มันก็ทำแต่พอดี เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(เสียงผู้ถาม) กระผมมีปัญหาที่ใคร่จะเรียนถามพระคุณเจ้า ในศีลข้อที่ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่บาป แต่ผมไม่เข้าใจในข้อที่ต่อมาที่ว่าการฆ่าสัตว์เล็กกับการฆ่าสัตว์ใหญ่นั้นบาปเท่ากันหรือเปล่า และอีกประการหนึ่งขณะนี้ผมกำลังเรียนอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งเรียนวิชานี้ ก็ต้องมีการฆ่าพวกเชื้อโรค คือพวกจุลินทรีย์นะครับ ทีนี้ผมมีความสงสัยต่อไปว่าผมเรียนสาขานี้นะครับก็มีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์นะครับ ในน้ำหนึ่งหยดมีเชื้อจุลินทรีย์เป็นล้านๆตัว ผมไม่ทราบว่าจะบาปมากน้อยขนาดไหนครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ใช้คำให้ดีกว่านั้นคือใช้คำว่า การทำให้สัตว์ตาย ถ้าใช้คำว่าฆ่านี่ มันมีความหมายจำกัดเสียแล้ว ใช้คำว่าการทำให้สัตว์ตายโดยเจตนาฆ่า อย่างนี้เป็น เป็น เป็นบาป เป็นบาปหมด ถ้าตัวใหญ่ก็บาปมาก ถ้าตัวเล็กก็บาปน้อย เพราะว่ามันต้องมีความรู้สึกที่มากกว่ากันในการที่จะฆ่า แต่ถ้าว่ามีการทำให้สัตว์ตายโดยเจตนาที่ไม่ใช่เป็นการฆ่า เป็นเจตนาเพื่อการศึกษา เพื่อการทดลอง เพื่อการป้องกันตัวเอง เช่นว่าป้องกันตัวเอง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เป็นการฆ่า อย่างนี้ก็ไม่ ไม่บาป ต้องมีเจตนาฆ่าจึงจะบาปเพราะศีลข้อนี้ ถ้าเจตนาเป็นอย่างอื่นมันก็ไม่บาปเพราะศีลข้อนี้ แต่มันอาจจะปนกันได้ง่าย เพราะว่าไม่เคยเรียน ไม่เคยแยกออกจากกัน เช่นว่าเราเป็นโรคพยาธิ ในท้องมีโรคพยาธิ ถ้าเราจะกินยาถ่ายโรคพยาธิด้วยความเกลียดชัง หรือโกรธหรือกลัวพยาธิ ก็กินยาไปฆ่าให้มันตาย อย่างนี้ก็เป็นการฆ่า แต่ถ้ากินยาด้วยความรู้สึกว่าจะป้องกันชีวิตตนเอง ไม่ได้ทำด้วยความโกรธ ความเกลียด ความเจตนาอย่างนั้น มันก็ไม่เป็นการฆ่า ฉะนั้นคำว่าจะทำให้สัตว์ตายที่เป็นบาปนั้นจะต้องเป็นเจตนาแห่งการฆ่า ถ้าใจมันบริสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาแห่งการฆ่า มีเจตนาอย่างอื่น มันก็ไม่เป็นบาปเพราะข้อนี้ ข้อนี้เป็นบาปเพราะมีเจตนาแห่งการฆ่า ต้องไปทำจิตเสียใหม่ให้ถูกต้อง ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้สัตว์ตาย ต้องทำจิตให้ถูกต้อง เช่นการกินยาถ่ายเพื่อป้องกันตัวเองอย่างนี้ไม่ ไม่ ไม่เป็นการฆ่า ถ้าโกรธจะฆ่ามันก็เป็นการฆ่า แม้แต่ยาทาขี้กลาก ขี้เกลื้อนอย่างนี้ ถ้าทำไปด้วยความโกรธมันก็เป็นการฆ่า ถ้าทำไปด้วยความป้องกันตัวเอง หรือเพื่อความถูกต้องของตัวเอง อย่ามีจิตคิดโกรธและคิดจะฆ่า มันก็ไม่เป็นการฆ่า เราต้องจำ จำกันไว้สั้นๆว่า ต้องมีเจตนาที่เป็นการฆ่าถึงจะเป็นบาป เพื่อสิกขาบทข้อนี้ ถ้าเจตนาอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยเหตุอย่างอื่น ไม่ ไม่ ไม่เป็นการฆ่าและก็ไม่ขาดศีลข้อนี้ เช่นเราต้องเดินไปอย่างนี้ มันก็เหยียบอะไรใต้ดินตายเยอะแยะ แต่เราไม่มีเจตนาจะฆ่า มีธุระแต่ที่จะต้องเดินไป เอ้า, ถึงเวลาที่จะต้องหยุด
(เสียงผู้ถาม แต่ฟังไม่ค่อยชัด) เราจะวางตัวอย่างไร เราไปทำงานกับหัวหน้าซึ่งมีความรู้ต่ำกว่าเรา และก็เรามีความรู้สูงกว่าหัวหน้าของเรานี่ มี การศึกษา... (นาทีที่ 01:36:22) พูดง่ายๆ คือเขาไม่ชอบเรา แล้วก็ในขณะเดียวกันเราก็ปฏิบัติธรรม เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ก็ปฏิบัติตัวอย่างเดียวกันแหละ คือปฏิบัติดี อย่างดีที่สุดไม่ต้องโกรธ ทำความถูกต้องเข้าว่า ถ้าสู้ไม่ได้ก็หลีกไปเสีย กับคนพาล ถ้ามันเป็นคนพาล ถ้าสู้ไม่ได้ก็หลีกไปเสีย ถ้าต้องทำกันต่อไป ก็ไม่ต้องฆ่าฟันกันหรอก ทำความเข้าใจกัน ถ้าเรามีสติปัญญามากพอก็ทำได้ ทำความเข้าใจกันได้
ในเรื่องของการฉันเพล ๑๑ โมง ต้องเลิก ต้องยุติไว้ทีก่อน
(เสียงผู้ถาม) อยากเรียนถามท่านนะคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) ไม่มีแล้ว หมดเวลาแล้ว
[T1]ไม่รู้ตัวสะกด
[T2]ไม่รู้ตัวสะกด
[T3]เข้าใจว่าพูดผิด น่าจะหมายถึง สมาธิ มากกว่า
[T4]ไม่รู้ตัวสะกด
[T5]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T6]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T7]ฟังไม่ชัด
[T8]ฟังไม่ชัด