แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนิสิต นักศึกษา ครูบาอาจารย์ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้จะได้กล่าวไปตามหัวข้อที่ท่านกำหนดไว้ให้ว่า เรื่องความมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต หรือจะเรียกว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตก็ได้ โดยเหตุที่มิได้กำหนดลงไปให้ชัดว่าชีวิตอะไร ชีวิตในระดับไหน คำถามนี้มันก็เลยกว้างมาก กว้างมาก เรียกว่าทั้งหมดเลย ในขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต แต่ดูเหมือนผู้กำหนด กำหนดแต่ชีวิตของมนุษย์ แต่ก็มิได้พูดให้ชัดลงไปว่าชีวิตของมนุษย์ ทิ้งไว้เฉย ๆ คำว่าชีวิต มันก็กินความถึงสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้น มันก็ดีเหมือนกัน ถ้าเราจะวางขอบเขตของการพิจารณาให้หมดไปทุกชนิดของชีวิต มันก็ดีเหมือนกัน มันเป็นคำตอบอยู่ในตัว และมันจะเป็นเรื่องเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน พร้อมกันไปในตัว
ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น พูดตามหลักชีววิทยา มันก็หมายถึงทุกสิ่งที่มีชีวิต นับตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียว ขึ้นไปจนถึงต้นไม้ สัตว์เดรัจฉานและมนุษย์ มันก็เรียกว่าชีวิตทั้งนั้น แล้วมันก็มีจุดมุ่งหมายทั้งนั้นแหละ อย่าไปลำเอียง แม้สัตว์เซลล์เดียว มันก็มีจุดมุ่งหมาย หรือความต้องการเป็นของประจำอยู่ในชีวิต ดังนั้นมันจึงมีวิวัฒนาการสูงขึ้น ๆ ตามลำดับ ๆ กว่าจะได้เป็นเซลล์ของสัตว์ เซลล์ของพฤกษาชาติ เซลล์ของสัตว์ มันด้วยอำนาจความต้องการ หรือจะเรียกว่าความมุ่งหมายก็ได้ แม้มันจะยังไม่คิดนึกอย่างระดับบุคคล มันก็เป็นความมุ่งหมายเหมือนกัน เพราะว่ามันก็มีชีวิตชนิดที่มีการกินอาหาร มีการต่อสู้ ไปตั้งแต่เป็นสัตว์เซลล์เล็ก ๆ เซลล์เดียว มองด้วยตาไม่เห็น
ถ้าเราเอาไอ้น้ำเขียว ๆ ในคอกควายมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ชั่วเวลาที่เราดูอยู่นั่น จะเห็นไอ้สัตว์ชนิดที่รูปร่างเหมือนกับเม็ดข้าวเม่าตำ ตำแบน ๆ กระโดดตะครุบกินสัตว์ที่เล็กกว่ามีลักษณะกลม ๆ กลมเหมือนกระสุนหรือเหมือนเม็ดผักกาด มันยังมีชนิดอื่น ๆ อีก นี่มันมีการกินอาหาร แล้วมันมีการต่อสู้หลีกหนี ไปตั้งแต่เป็นสัตว์เซลล์ เล็กจนดูด้วยตาไม่เห็นต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ฉะนั้นเราเชื่อว่ามันก็มีความรู้สึก ซึ่งจะเรียกว่าความคิดนึกก็ได้ แต่ใครมันจะยอมรับ เพราะมันเล็กจนมองด้วยตาไม่เห็น ความรู้สึกคิดนึกมันก็เล็กไปตามเรื่อง แต่มันก็ทำเหมือนกันเลย เรียกว่ามันมีความต้องการ และความต้องการนั่นแหละคือความมุ่งหมาย ต้องการจะไปสุด ไปจบลงที่ไหนก็เรียกว่ามีความมุ่งหมายที่นั่น
ทีนี้ตามหลักชีววิทยาไอ้สัตว์เหล่านี้ก็วิวัฒนาการเรื่อยมา ๆ จนเป็นสัตว์ที่ตัวโตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นประเภทพืชพรรณ พฤกษาชาติขึ้นมา แม้จะเป็นละเอียดอยู่ในน้ำในดิน วันหนึ่งก็เป็นสัตว์เล็ก ๆ ขึ้นมา กระทั่งเป็นสัตว์โต โตถึงที่สุด ก็เรียกว่ามันไปจนถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการของสายชีวิต สายนั้น ๆ สายนั้น ๆ ที่มันจะโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ ต้นไร่ ชนิดนั้น ชนิดนี้ สายนั้น สายนี้ เป็นประเภทเลื้อย ต้นไม้เลื้อย ประเภทต้นปาล์ม ประเภทต้นไม้ธรรมดา หรือจะเป็นสัตว์นานาชนิด จนกระทั่งว่า เป็นช้าง เป็นปลาวาฬ เป็นไอ้อะไรแล้วแต่ที่เป็นปลายสุดสาย กระทั่งว่าเป็นคน สายที่ไปได้ไกลที่สุด มันก็มาเป็นคน
นี่ดูให้ดี แม้แต่ในกระแสแห่งวิวัฒนาการก็มีความมุ่งหมาย นั้นก็ชีวิต นั้นก็คือความมุ่งหมายแห่งชีวิต กระแสแห่งวิวัฒนาการตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวขึ้นมา จนเป็นสัตว์อะไรต่าง ๆ นานาเหมือนอย่างที่เห็นอยู่นี้ นั่นเพราะมันมีความมุ่งหมาย ใครจะไปสอนมันก็ไม่รู้ แต่ถือได้ว่าเป็นกฎของธรรมชาติอันลึกลับ เป็นสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต ที่มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเจริญ ๆ ๆ ๆ จนกว่าจะถึงจุดสูงสุด เราก็เลยพูดได้เป็นคำพูดคำหนึ่งว่า ความเต็มแห่งวิวัฒนาการสายนั้น ๆ มันแยกกันเป็นสาย ๆ ไปเป็นอะไร เป็นอะไร ไปเป็นสาย ๆ แล้วก็จนถึงจุดสูงสุด สุดท้ายปลายทางของสายนั้น ๆ เรียกว่ามันเต็ม เอายุติกันว่าเดี๋ยวนี้มันเต็ม มาเป็นมนุษย์สูงสุด มันอาจจะมีอะไรมากไปกว่ามนุษย์ก็ได้ ต่อไปในอนาคตไม่รู้กี่ร้อย ๆ พันล้าน ๆปี แต่ไม่ต้องหวัง ดูเหมือนมันจะพอกันที ได้มาเป็นมนุษย์ เป็นความเต็มแห่งวิวัฒนาการ
เลยพูดได้เป็นหลักทั่วไปว่าจุดหมายสูงสุดของสิ่งที่มีชีวิตก็คือความเต็มแห่งวิวัฒนาการของชีวิตนั้น ๆ ต้นไม้มันก็เต็มตามแบบต้นไม้ สัตว์เดรัจฉานก็เต็มตามแบบสัตว์เดรัจฉาน คนก็เต็มตามแบบคน สำหรับพืชพรรณ พฤกษาชาตินี้มันยังมีอะไรแปลกออกมาเรื่อย มันยังขยายไอ้แปลก ๆ ออกมาเรื่อย จะเกิดใหม่เห็น ๆ อยู่ ด้วยการที่ผสมพันธุ์ยักย้ายระหว่างกันและกัน มันก็แปลกออกมา อย่างที่เป็นไม้ดอก ไม้ใบ สำหรับประดับประดานี้ยิ่งผสมพันธุ์ให้แปลกออกมาได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็จะต้องไปกันจนถึงเรียกว่ามันเต็มที่ มีความเต็ม แต่ว่าสัตว์ หรือต้นไม้นี้มันไม่มี ความหมายอะไรในการที่จะจัดโลก หรือแสดงบทบาทอะไรในโลก มันมาสำคัญอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ ไอ้ที่มาเป็นมนุษย์นี่ทางชีววิทยามันก็เต็มแค่ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราเรียกว่าชีวิตในแง่ของชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์นี่ มันก็คือความเต็มแห่งวิวัฒนาการสายนั้น ๆ เป็นความมุ่งหมายสุดท้าย
ทีนี้มันมีอีกส่วนหนึ่ง คือ ชีวิตในแง่ของจิตใจ ที่มีความเจริญทางจิตใจ เล็งถึงระบบจิตใจเป็นชีวิต มันก็มีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ฉะนั้นมันก็ต้องถึงความเต็มแห่งระบบนั้น มันจึงจะจบ มนุษย์ก็เลยได้ดิ้นรนเรื่อยมา ๆ เพื่อความดีขึ้น ๆ หรือจะถึงจุดสูงสุดในทางฝ่ายความคิดนึก ในทางฝ่ายความคิดนึก ตั้งแต่เริ่มรู้จักคิดนึกมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน แยกตัวออกมาจากสัตว์เดรัจฉานมาเป็นสัตว์ประเภทมนุษย์ มันสมองมันมาก มันคิดได้มาก และมันพูดได้ มันจึงถ่ายทอดวิชากันได้ มันจึงคิดได้มาก คิดได้ไกล คิดได้เร็วเพราะมันถ่ายทอดให้แก่กันและกันได้เป็นลำดับไป ส่วนสัตว์เดรัจฉานมันทำไม่ได้คือมันพูดไม่ได้อย่างเดียวเท่านั้น มันก็ถ่ายทอดอะไรให้กันไม่ได้ มันก็ต่างตนต่างอยู่ ฉะนั้นจุดเต็มของมันก็อยู่แค่นั้น แต่มนุษย์นี่มันยังถ่ายทอดกันได้เรื่อย ก็หมายความว่าฉลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย มันสมองก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย การศึกษาก็มีขึ้นมาและเพิ่มเติมได้โดยการถ่ายทอด คนเกิดทีหลังไม่ต้องค้นคว้าไอ้เรื่องที่คนเกิดก่อนได้ค้นคว้าไว้แล้ว มันก็เรียนเอา ๆ มันก็บอกกันได้ จนกระทั่งว่ามันมีหนังสือหนังหาใช้อย่างนี้แล้ว มันยิ่งง่ายที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้กันให้รวดเร็ว ให้เต็มที่ ฉะนั้นยิ่งก้าวหน้าในทางการศึกษาเท่าไร ไอ้ความคิดนึกมันก็ก้าวหน้ามากเท่านั้น ดังนั้นความมุ่งหมายของมนุษย์มันจึงยังกำลังวิ่งอยู่ทีเดียว
ถ้ามันมีความมุ่งหมายที่จะหยุด จะจบ จะจบเรื่อง มันก็จะจบได้ ดังที่มนุษย์สูงสุดเช่นพระพุทธเจ้า ได้พบจุดสูงสุด หรือจุดจบของความเป็นมนุษย์ที่ควรจะต้องการอย่างไร แต่ทีนี้มันก็ยังมีมนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่ ไม่ต้องการจะจบ ต้องการจะคิดใหม่ จะก้าวหน้าใหม่ มีความคิดที่ก้าวหน้าใหม่ ที่ไม่มีจบ หรือว่าเป็นอจินไตย ความคิดในส่วนนี้มันจึงเดินมา เดินไป มากมายมหาศาล นี่มันก็เอียงมาทางฝ่ายวัตถุเสียมากด้วย ทำความเจริญทางวัตถุ เดี๋ยวนี้มีความคิดชนิดละเอียดมากซึ่งสมัยโบราณไม่เคยมี เรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องอิเล็กทรอนิคส์ เรื่องอวกาศ หรืออะไรทำนองนี้มันก็มี และกำลังจะก้าวหน้าต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด พูดได้ว่าไม่มีจบ เพราะมันก้าวหน้าไปด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ด้วยตัณหาที่ไม่รู้ว่าจะก้าวไปทำไม ก้าวไปอย่างไม่รู้จัก รู้จุดมุ่งหมาย ขอแต่ให้มันแปลกออกไป แปลกออกไป มากขึ้น ๆ มันก็ยังไม่จบ ไม่เท่าไรไอ้เรื่องเหล่านี้ เรื่องอิเล็กทรอนิคส์ เรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องอวกาศอะไรจะกลายเป็นเรื่องเด็กเล่น มันกลายเป็นเรื่องเด็กเล่นไปในที่สุด เรื่องที่จะไปเหยียบโลกพระจันทร์ได้ ก็กลายเป็นเรื่องเด็กเล่นไปในที่สุด เพราะมันมีเรื่องอื่นที่มากกว่านั้น เก่งกว่านั้นเพิ่มขึ้น ๆ
นี่ในด้านนี้ ในทางนี้ ความคิดของมนุษย์ล้วน ๆ นี้ ยังไม่รู้ว่าจะไปสุด หรือไปจบกันได้ที่ตรงไหน ยิ่งมาอาศัยเรื่องทางวัตถุ ซึ่งมันมีให้มาก มีให้สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงแต่ง ในการอะไรไม่มีที่สิ้นสุด เข้าใจว่าไม่มีใครตอบได้ ว่าจะไปสูงสุดกันที่ตรงไหน มันจะเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะคิด เช่นเดียวกับเรื่องทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่รู้จบ ไม่ต้องคิด เพราะว่าแม้จะคิด ๆ ๆ ให้ไปไกลอีกเท่าไร ๆ มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นในทางดับทุกข์ มันไม่ดับทุกข์ ๆ ยังมีความทุกข์เหลืออยู่ เป็นปัญหาอยู่เรื่อยไป ก็เรียกว่าเรื่องมันไม่จบ
ทีนี้หันไปดูในอีกทางหนึ่ง ทางจิตใจ ที่ผู้ที่มีสติปัญญา รู้จักเลือกคิด เรื่องที่ควรคิด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องดับทุกข์ มันก็มี มีจุดจบ คือรู้ความจริงของเรื่องกิเลส ตัณหา เรื่องความทุกข์ แล้วก็ค้นพบระบบวิธีที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์เหล่านั้น มันเป็นการดับกิเลสตัณหามันเลยไม่อยากอะไร มันไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป คือมนุษย์พวกนี้ได้ไปพบจุดที่ทำให้ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป คือดับทุกข์ได้แล้วไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป ไม่มีอะไรที่จะไป ต้องไปเสียเวลาไม่รู้จักสิ้น จักสุด นี่ลองคิดดู ชีวิตชนิดนี้ มันเป็นชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา รู้จักความจริงของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง และมันก็เป็นชีวิตชนิดที่มีความมุ่งหมายอันรู้จักจบ รู้จักสิ้นสุด รู้จักหยุด คือมันทำให้เกิดความพอใจ ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป ไอ้คำนี้ในพระบาลีก็แปลกประหลาดที่สุด พบแล้วสะดุดใจ คือมีข้อความที่กล่าวไว้ว่า เมื่อบรรลุพระอรหันต์นั่นแหละ บรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ ตุฏฐิ ความสันโดษ ความพอใจ จะถึงระดับสูงสุด ความยินดีความพอใจจะถึงระดับสูงสุด ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป นี่เป็นเรื่องที่อธิบายยาก แต่ก็พอจะมองเห็นเค้าเงื่อนว่า เป็นพระอรหันต์แล้วมันมีจิตใจชนิดที่ไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป มีความอิ่มถึงที่สุด อะไร ๆ มันเป็นเช่นนั้นเองหมด แล้วก็หยุดความต้องการ หยุดความพอใจในสิ่งเหล่านั้นเสีย
พวกเรากำลังบ้า ใครเอารถยนต์มาให้สักคันก็ดีใจแทบตาย ถ้าใครเอารถยนต์ไปถวายพระอรหันต์มันก็เหมือนกับเศษขยะชิ้นหนึ่ง ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จะเอาสมบัติมหาศาล แก้ว แหวน เงินทอง ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะชีวิตนี้มันต้องการหยุด ต้องการพักผ่อน ต้องการหยุด มีความอิ่มเสียแล้วในตัวเอง อย่าลืมว่าในบาลีมีคำกล่าวอย่างนี้นะ เมื่อบรรลุพระอรหันต์ ความสันโดษ ความพอใจ ในตัวเองจะถึงที่สุด จงไปสังเกตใคร่ครวญ กลับไปที่บ้าน ที่ไหนแล้วเหลือบดูของบางอย่างที่เต็มไปในบนบ้าน บนเรือนนั้น อะไรบ้างที่เรารู้สึกว่าพอ ไม่ ไม่จำเป็น ไม่ต้องมีก็ได้ มันก็จะพบได้บ้างเหมือนกัน เพราะจิตมันเลื่อนสูงขึ้นไป ไอ้บางอย่างที่เราเคยรัก เคยพอใจอย่างยิ่ง ต่อมามันก็เป็นของจืดชืดไป โดยทำนองนี้แหละมันพอ ๆ ๆ ๆ กันไป จนไม่เหลืออะไร จนไม่ต้องการอะไร ในด้านวัตถุ และสิ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางจิตใจหรือกิเลส
อุปกรณ์ของกิเลสนั้นมันช่วยให้เกิดกิเลส ช่วยรักษากิเลส ช่วยหล่อเลี้ยงกิเลส ช่วยส่งเสริมกิเลส มากมายมหาศาลแหละ สิ่งที่ช่วยส่งเสริมกิเลส ส่งเสริมกิเลสให้มันขยายตัวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด พอหมดกิเลสลงทันที สิ่งเหล่านั้นก็หมดความหมายลงทันที บ้านเรือนก็รกไปด้วยสมบัติของคนบ้า เมื่อพระอรหันต์หมดกิเลส แล้วไอ้สิ่งที่ประชาชน มหาชนมีไว้สำหรับส่งเสริมกิเลส เป็นอุปกรณ์แก่กิเลส มันก็หมดความหมายลงไปทันที นี่ดูเถอะว่ามันเป็นอย่างไร พระอรหันต์เป็นมนุษย์ที่หยุด เป็นมนุษย์ที่เต็ม เต็มหรือหาไม่ มันเต็มแห่งอะไร เต็มแห่งความยินดี ความพอใจ อยู่ในความสิ้นกิเลส และเกิดไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่เต็ม นี่เราก็เรียนรู้เรื่องพระอรหันต์ ...(นาทีที่ ๒๔.๑๓ เสียงหาย)อย่างนี้ได้ และมันเป็นเรื่องที่มีอยู่ ถ้าให้เราค้นคว้ามาตั้งแต่ต้นมันก็ไม่มีทางหรอก ไม่มีทางหรอก นี่มันก็ได้อาศัยความรู้ที่เขามีไว้ให้ แล้วถ่ายทอดไว้ให้ ถ่ายทอดไว้ให้ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อย กี่พันชั้น เป็นชั้น ๆ ๆ มาแล้ว มันจึงมาถึงจุดนี้ได้
เอาล่ะยุติว่า ถ้ามันมีการกระทำที่สูงขึ้นไปจนถึงหยุดกิเลส ดับกิเลส ไม่เกิดกิเลส นี้สิ่งต่าง ๆ ในโลก ก็คล้ายกลายเป็นไม่ต้องการ ไร้ความหมาย ไร้สาระไปหมด พระอรหันต์จะต้องการเพียงว่าอาหารเลี้ยงชีวิต พออยู่ไปได้วัน ๆ หนึ่ง เสื้อผ้าพอปิด ปกปิดร่างกาย ที่อยู่ ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน พอนั่งนอนไปได้ โรคภัยไข้เจ็บก็ต้องการยาบ้าง และไม่ต้องการมากเกินไป ไม่บ้าเหมือนคนสมัยนี้ ที่จะไปนอนอยู่ในโรงพยาบาล รุงรัง ๆ อยู่ด้วยสิ่งช่วยเหลือชีวิต ก็พระอรหันต์ไม่ต้องการจะมีชีวิต อยู่ต่อไป นี้มันก็พอใจ หรือปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่มันจะเอาชีวิตมันก็เอาไป จิตใจที่มันเต็ม มันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้พวกเรามันยังต้องการอะไร ต้องการอาหารไม่มีที่สิ้นสุด ในทางที่จะให้วิเศษ วิโส เอร็ดอร่อย สวยงาม ต้องการเครื่องนุ่งห่ม ที่มันไม่มีที่สิ้นสุด ให้สวยงาม ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกันแหละ ก็จะอยู่อาคารบ้านเรือน ที่มันเหมือนกับแข่งกับเทวดา เหมือนกับอยู่ในวิมาน ต้องการอย่างนั้น มันยังไม่ได้ ที่อุตส่าห์เรียน เรียนจนปริญญา จนได้อาชีพดี ๆ หาเงินมาก ได้มาก็มุ่งเหมือนจะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ทั้งนั้นแหละ นี่มันยังไกลกับพระอรหันต์กี่โยชน์ กี่มากน้อย เจ็บไข้สักนิดนึงก็กลัวตายจนเป็นทุกข์ เดือดร้อนกันไปหมด
เป็นอันว่าเราพูดได้ว่าไอ้ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มันก็อยู่ที่ความหมดกิเลส มีความรู้จนทำความหมดกิเลส พอหมดกิเลสมันก็หยุดต้องการอะไร หยุดไปไหนมาไหน หรืออยู่ที่ไหน บางคนคงจะฟังไม่ถูก ว่าไม่ไปไหน ไม่มาไหนและก็ไม่อยู่ที่ไหน ไม่มีตัวฉันที่จะอยู่ที่ไหน แล้วก็ไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน มันหมดความหมาย หมดค่า หมดความหมายไปหมด โดยเฉพาะ อดีตกับอนาคต ปัจจุบันก็เหลืออยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ กว่าจะตาย แต่ก็ไม่มีความหมายที่เป็นความทุกข์อะไรเลย ก็เรียกว่าไม่มีปัญหาแม้ในปัจจุบัน นี่มนุษย์มาถึงขั้นนี้และได้เคยมีมาแล้ว จำนวนของพระอรหันต์นี่ ก็มีคำกล่าวว่าเป็นร้อยเป็นพันเหมือนกัน ยิ่งในศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์แล้วพระอรหันต์จำนวนหมื่นเหมือนกัน ในบาลีมีกล่าวว่าพระอรหันต์ของ ในศาสนานี้พระพุทธเจ้าองค์นี้มีจำนวนพัน จำนวนพันน่ะมันไม่ใช่เล่นนะ คิดดู จำนวนพัน นี่มัน ..(นาทีที่๒๘.๔๔เสียงหาย) ที่ได้ไปจนถึงจุดปลายทาง จุดสูงสุดแห่งปลายทางของชีวิต จำนวนพัน พันคนนะ ไม่ใช่พันล้าน เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกมีกี่ร้อยล้าน มีสาม สี่ร้อยล้านแล้วกระมัง ล้วนแต่เป็นมนุษย์ที่ยังเป็นลูกอ่อน เป็นลูกอ่อน ยังมีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันยังอยู่ไกลจุดนี้มากนัก ยังต้องการความเอร็ดอร่อย ความสวยงาม ความไพเราะ ความนิ่มนวล ความอะไรต่าง ๆ ที่รวม ๆ กันแล้วก็เรียกว่ากามคุณ กามคุณ กามคุณ แปลว่าสิ่งที่เป็น ที่มีค่าแก่กาม กามคือความใคร่ สิ่งใดมีค่า มีความหมายแก่สิ่งที่เรียกว่ากามแล้ว สิ่งนั้นเรียกว่ากามคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รูปทางตา เสียงทางหู จมูก กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น สัมผัสทางผิวหนังนี่ ๕ ประการนี้ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่พอใจ เรียกว่ากามคุณ
เป็นของธรรมดาสำหรับสัตว์ที่อยู่ในระดับที่โง่เขลา มีอวิชชามืดบอดอย่างยิ่งจนไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีเพื่ออะไร แต่ด้วยเหตุที่มันมี อัสสาทะ คือ ความเอร็ดอร่อย มันก็หลงใหล ๆ ๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนยกขึ้นเป็นพระเจ้า พระเจ้ากามเทพ นี่โง่กี่มากน้อย ถึงขนาดยกบูชากาม กิเลสกามนี่ว่าเป็นพระเจ้า พระเจ้ากามเทพ เป็นลัทธิหนึ่งเหมือนกัน เป็นลัทธิทำนองศาสนาลัทธิหนึ่งด้วยเหมือนกัน ก็บูชากันเป็นการใหญ่ บูชากามารมณ์ เดี๋ยวนี้ก็ยังจะมีอยู่ทั่วไปในโลก และมากกว่าพวกไหนหมด คนนี่ที่ยังมีจิตใจต่ำ จนถึงกับบูชากามารมณ์ ก็ยังมีมากกว่าบุคคลพวกไหนหมด ก็ดูตัวเองก็แล้วกัน มีความรู้สึกสูงสุดอยู่ที่กามารมณ์หรือหาไม่ เอากามารมณ์นั้นเป็นความสุข เมื่อไม่ได้ผลทางกามารมณ์ก็ว่าไม่ได้รับความสุข ไม่ได้รับความสูงสุดทางกามารมณ์ ทางเพศนี่ มีคนพูดอย่างนั้น เมื่อไม่ ไม่ได้สมประสงค์ทางเพศ เขาว่าไม่ได้รับความสุข นี่ก็คือคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปในโลก เข้าใจว่าเกือบจะทั้ง ๔๐๐ ล้านคนแหละ ยังเป็นอย่างนี้
จิตชนิดนี้ จิตระดับนี้มันก็ต้องการเพียงเท่านี้ มันจึงพยายามเพื่อให้เกิดความรู้สึกอร่อยแก่จิตใจ ด้วยสิ่งเหล่านี้ คือ ด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส โผฏฐัพพะนี่ มันต้องการรูปที่สวย ที่งาม มันจึงได้เกิดการนิยมประดับประดา ตกแต่ง เมคอัพให้มันสวยงาม ให้สมกับความบ้า ความโง่ คือไปทำโดยไม่ต้องทำ ไปทำสิ่งที่มันไม่ต้องทำก็เสียเปล่า ก็เปลืองเปล่า ถ้าเราไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ มันก็ไม่ต้องใช้เงินอีกมากนะ เรื่องสวยงามไม่ต้องใช้ มันก็ไม่ต้องใช้เงินให้ลำบาก เอาแต่พอปกติ ธรรมดาสามัญอยู่ได้ ถ้าเสื้อตัวนี้สีขาวเฉย ๆ กับเสื้อตัวนั้นมีลวดลาย มีประดับตกแต่งมาก มันแพงผิดกันแล้ว ซื้อมามันก็แพง รักษามันก็ยาก มันก็ทนลำบาก นี่เรียกว่าจิตธรรมดา ของสัตว์ธรรมดา ที่หลงอยู่ในสิ่งที่เป็นคุณค่าของกามารมณ์ ในเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง
เรื่องกินนะ อย่า อย่าต้องพูดเลย อยากจะกินชนิดที่อร่อยที่สุด จนเรียกว่าคำละพันบาทอะไรก็มี คนที่ไปกินอาหารคำละพันบาท มันก็เป็นคนบ้าร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า เพราะว่าเรากินอาหารชนิดคำละไม่กี่สตางค์ก็ได้ ไอ้เรื่องกิน มันจึงเกิดศิลปะเรื่องการกินขึ้นมากมายมหาศาลในโลก เพื่อสนองไอ้ความต้องการของกามารมณ์ และเมื่อทุกคนต้องการ มันก็กลายเป็นเรื่องดีไป ไม่ใช่เรื่องบ้า แต่ถ้าไปถามคนที่ไม่ต้องการ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องบ้า ไอ้พวกคนบ้าที่มันจะต้องกินอย่างนั้น ยิ่งไปถามพระอรหันต์ด้วยแล้ว ยิ่งแล้วใหญ่เลย จนไม่รู้จะใช้คำพูดเรียกว่าอะไรดี ภาพถ่ายร้านอาหารในประเทศจีนเอาลิงเป็น ๆ นี่มาเปิดกะโหลกศีรษะเหมือนกับเปิดกะโหลกมะพร้าวอ่อน ยัดขึ้นมาทางพื้นโต๊ะข้างใต้แล้วก็ตักมันสมองลิงกิน ทั้งที่ยังเป็น ๆ อยู่นี่ แล้วก็ว่าแพงที่สุด แล้วว่าดีที่สุดหรืออะไรก็ไม่รู้ ก็ไปคำนวณดูเอาความบ้าเอาเอง มันบ้ากี่มากน้อย แล้วฝรั่งนั่นแหละไปกิน เห็นในภาพมันเป็นอย่างนั้น ลูกค้าที่ไปกินร้านอาหารนั้นน่ะ เป็นฝรั่งมาก นี่บูชาฝรั่งก็ลองดู เอาล่ะรู้เอาเองเถอะ เรื่องนุ่งห่ม เรื่องกินอยู่ เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเครื่องบำบัดโรค อนามัย แม้แต่ว่าอนามัยนี้ มันไม่จำเป็นจะต้องแพงถึงขนาดนั้น หรือจะมองดูในแง่ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เหมือนกัน มันไม่จำเป็นจะต้องแพง ถ้าไม่ใช่เพื่อบูชากามารมณ์แล้วมันก็ไม่ต้องแพง มันก็มีกินได้ รอดชีวิตอยู่ได้สะดวกสบาย
เดี๋ยวนี้คนในโลกกำลังเป็นอย่างนี้ ต้องพูดว่าไม่ยกเว้นทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ยังมีจิตใจพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น รู้จักจิตใจของตัวเองเสียว่ามันกำลังเป็นอย่างนั้น อยู่ในระดับนั้น ก็เลยถูกจัดไว้ในจำพวก คือรวมไว้เรียก ระดับ ๑ เรียกว่าพวก กามาวจร กา-มา-วะ-จะ-ระ ภูมิหรือภพก็แล้วแต่จะเรียก กา-มา-วะ-จะ-ระ นี่แปลว่า เที่ยวลงไปในกาม กา-มะ ก็ กาม อะ-วะ-จะ-ระ ก็แปลว่า เที่ยวไป กามาวจร เที่ยวไปในกาม มีจิตเที่ยวไปในกามไม่รู้จักสร่างจักซา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น นี่สัตว์เหล่านี้เป็นพวกกามาวจร สัตว์เหล่านี้สูงสุดไหม เอ้า,ถ้ากล่าวทางวัตถุ ทางร่างกาย ทางเนื้อหนัง อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมนุษย์ขั้นสูงสุด รู้จักศิลปะ เรื่องอาหาร เรื่องนุ่งห่ม เรื่องอะไร จนถึงสูงสุด เป็นมนุษย์ที่สูงสุดในแง่ของวัตถุ วิวัฒนาการทางวัตถุ ทางมันสมองที่จะเป็นเหยื่อแก่กิเลส สูงสุด เรียกว่าสูงสุดก็ได้ เดี๋ยวนี้พอจะเรียกว่ามนุษย์ตั้ง ๔๐๐ ล้านนี่ มันก็จะถึงสุด สูงสุดในเรื่องอย่างนี้ มันจึงบ้ากันใหญ่ ไอ้โลกนี้มันจึงเป็นอย่างนี้ นี่ถ้าสูงกว่านี้ ถ้าสูงกว่านี้ ฟังให้ดี ซึ่งมันจะมีน้อยมาก เบื่อ หรือว่าไม่อยากจะซ้ำซาก โง่เขลา จมปลักอยู่ในความเป็นอย่างนี้ ก็แสวงหาที่ดีกว่านี้ ก็ไปพบว่าไอ้การทำจิตใจให้อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ แม้แต่ในระยะแรก ๆ มีจิตสงบจากกามเช่นนี้ มีจิตพักผ่อนเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง มันก็เลยเห็นของไอ้กามารมณ์อันนี้สกปรก มันก็เลื่อนขึ้นไปอยู่ในระดับที่เป็นพอใจในสมาธิ คือ จิตที่อยู่เหนือกาม นี่พวกนี้พวกที่ ๒ พวกที่ ๑ คือพวกกามทั่วไป
พวกที่ ๒ ก็คือพวก รูปาวจร แปลว่า เที่ยวไปในรูป กามาวจร แปลว่า เที่ยวไปในกาม อย่างที่รู้กันแล้ว นี่รูปาวจร มีจิตเที่ยวไปในสิ่งที่มีรูปอันบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม เช่นทำสมาธิอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างไหนก็ได้ มันมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ของสมาธิ เลยเอารูปธรรมนี้มาเป็นชื่อเรียกว่า รูปาวจร ทำสมาธิชนิดที่มีรูปเป็นอารมณ์ ได้รับความสุขมาแล้วก็พอใจ ติดใจพอใจอยู่แต่ระดับนี้ เพราะว่ายังไม่รู้เรื่องสูงกว่านี้ แล้วก็ไม่อยากจะลงไปจมปลักในเรื่องของ กามาวจร ก็เกิดเป็นพวกที่ ๒ ขึ้นมาเรียกว่าพวก รูปาวจร มีจิตเที่ยวไปในรูป รูปธรรมที่ใช้เป็นอารมณ์ของสมาธิ มีผลเป็นความสงบรำงับ โดยมีรูปเป็นอารมณ์เป็นพื้นฐาน มันก็กลายเป็นคนที่ไม่กี่คน และเป็นเพียงคนที่อยู่ในที่สงบสงัด อยู่ในป่าในดงเพียงไม่กี่คน แล้วสอนให้ระบาดออกมาในบ้านในเมืองบ้างก็ไม่กี่คน คือพอใจจริง ๆ ในการทำสมาธิทางรูปธรรม สำเร็จถึงที่สุดในเรื่องนี้ ก็เรียกว่าเป็นพวก รูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ แม้จะแบ่งเป็น ๔ขั้น ก็มีความหมายเดียวกันแหละ เป็นสมาธิที่อาศัยรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงบได้ขั้นแรกก็เป็นที่ ๑ ละเอียดขึ้นมาอีกเรียกว่าขั้นที่ ๒ ละเอียดขึ้นไปอีกก็ขั้นที่ ๓ ละเอียดขึ้นไปอีกเรียกว่าขั้นที่ ๔
ขั้นที่ ๑ สงบรำงับได้ จากความรบกวนของกามารมณ์ และของบาป อกุศลแล้ว แต่ความรู้สึกในขณะนั้นยังมีอยู่ถึง ๕ อย่างคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็เลยเรียกว่ามันเป็นขั้นต้น ทีนี้อยากจะทำให้ยิ่งขึ้นไป ๕ อย่างนั่นลดเสีย ๒ อย่าง วิตก วิจาร ลดไปเสีย ก็เป็นขั้นที่ ๒ ขึ้นมา ทีนี้อยากให้ดีไปกว่านั้นอีกก็ลดไปเสียอีก ลดปีติเสีย ถึงมาขั้นที่ ๓ ก็ลด เอ้า,ลด ๆ ลดปีติเสียเหลือแต่ความสุขกับสมาธิ ทีนี้ทำสุขให้เป็นอุเบกขาเสีย เหลือแต่สมาธิกับอุเบกขา นี่เป็นฌานที่ ๔ ของรูปฌาน ถ้าพูด ถ้าอนุญาตให้พูด ก็พูดว่าเดี๋ยวนี้อาตมากำลังเป่าปี่ให้เต่าฟัง กำลังเป่าปี่ให้แรดฟัง คือฟังไม่รู้เรื่องว่ามันจะมีความสุขได้อย่างไร เป็นที่น่าพอใจได้อย่างไร เอ้า, แต่ให้รู้ไว้เถอะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่ยุคหนึ่ง สมัยหนึ่งนิยมทำกันมาก
ผู้ที่เป็นฤๅษีมุนี บำเพ็ญรูปฌานนี่มีมาก มีเป็นร้อยเป็นพันเหมือนกัน ทีนี้ต่อมาพวกเหล่านี้ ค้นหาสูงขึ้นไปอีกว่า โอ้, ถ้ายังเอาสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์ของสมาธินี่มันก็หยาบไปตามรูป โยกโคลงไปตามรูป เปลี่ยนแปลงไปตามรูป เอาสิ่งที่ไม่มีรูปดีกว่า มันหยุดนิ่งกว่า มันสงบกว่า ก็เลยค้นพบขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ของสมาธิ อันที่ ๑ เอาอากาศนี่ อากาศ ความว่างนี่ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ขั้นที่ ๒ เอาวิญญาณ ธาตุจิต วิญญาณธาตุเป็นอารมณ์ไม่มีรูป ขั้นที่ ๓ เอาความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร ความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ แล้วขั้นที่ ๔ ทำจนกระทั่งว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือเป็นก็ไม่ใช่ ตายก็ไม่ใช่นั่นแหละ ทีนี้ ๔ ขั้นนี้ก็เรียกว่า อรูปฌาน ผู้ที่ขึ้นมาพอใจในขั้นนี้ ได้ชื่อว่าพวก อรูปาวจร มีจิตท่องเที่ยวไปในอรูป สามพวกนี้เข้าใจไว้เถอะ แล้วควรจะรู้ด้วยว่าเราอยู่ในพวกไหน กามาวจร มีจิตท่องเที่ยวไปในกามารมณ์ บูชากามารมณ์ รูปาวจร มีจิตท่องเที่ยวไปในรูปอันบริสุทธิ์ไม่มีกามารมณ์ บูชารูปเพื่อให้เกิดความสุขชนิดนี้ และขั้นที่ ๓ อรูปาวจร มีจิตท่องเที่ยวไปในสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นธาตุที่ไม่มีรูปเกิดความสุขจากธาตุที่ไม่มีรูป พอใจอยู่ในความสุขชนิดนี้ มันก็เลยได้เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร เขาค้นพบก่อนพระพุทธเจ้า สิ่งเหล่านี้เขาค้นพบกันก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเคยศึกษาสิ่งเหล่านี้หมดแล้วก็เห็นว่ายังไม่ถึงที่สุด ยังไม่เต็ม ท่านจึงไปค้นของพระองค์จึงจะพบกับพวกโลกุตระ โลกุตระขึ้นมา
เดี๋ยวนี้เราอยู่ในภูมิกามาวจร บูชากามารมณ์เป็นสิ่งสูงสุดของชีวิตจิตใจ ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีต้นแถว ปลายแถว เป็นมนุษย์ เป็นเทวดามันก็ยังบูชากาม มนุษย์ก็ยังบูชากาม สัตว์เดรัจฉานก็บูชากาม แม้มนุษย์ที่กำลังไปอยู่ในนรก มันก็ยังปรารถนากามอยู่นั่นแหละ พวกนี้ก็บูชากามกันทั้งนั้นแหละ จะเป็นสัตว์นรก ลำบากอยู่ในนรก ในเรือนจำ ในอะไรก็สุดแท้แต่กำลังทนทุกข์อยู่นี่ มันก็ยังบูชากาม ปกติธรรมดาเป็นอิสระอยู่ก็บูชากาม ร่ำรวยเป็นเทวดาแล้วก็ยังบูชากาม พวกนี้จึงมาก มากมายมหาศาล เต็มโลก เต็มไปหมด เราอยู่ตรงไหน ที่นั่งของเราอยู่ตรงไหนหาดูเอาเอง
ทีนี้ถ้าสูงไปกว่านี้เห็นกามเป็นของสกปรก น่าขยะแขยง ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายนานาประการเลวร้ายที่สุด อาชญากรรมทั้งหลายเกิดมาจากความหลงใหลในกาม นั่นดูแต่ละวัน ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าเลื่อน ถ้าเลื่อนได้ก็เลื่อนขึ้นไปหาไอ้ความสุข จากรูปธรรมที่บริสุทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม ยิ่งไม่ต้องใช้เงินเลย ถ้าใครมันเอากันกี่คนต้องการกี่คน เห่อ ๆ เฮ ๆ กันไป ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ตามรูปแบบ ไม่เคยประสบ หรือได้รับความสุขที่เกิดมาจากภาวนาหรือกรรมฐานนั้นเลย แล้วกลับมาหากามอีกแหละ ก็มานอนหมกอยู่ในเรื่องกามอีก มันยังไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะมีระบบรูปาวจรขึ้นมาในโลกปัจจุบันนี้ เราก็สังเวชตัวเองไปพลางก่อนเถอะ
ทีนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงที่มันจะสูงขึ้นไปถึงระดับ อรูปาวจร จิตใจเที่ยวไปในความสุขที่เกิดมาจากสิ่งที่ไม่มีรูป ละเอียด ประณีต สงบ รำงับ เคยถูกจัดเป็นนิพพานมาแล้วทั้งนั้น เคยหลงเรียกว่าเป็นนิพพานกันมาแล้วทุกชั้น ความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามนี้ จนในที่สุดพระพุทธเจ้ามาค้นพบว่า โอ้, มันยังไม่ใช่หลุดพ้น ยังมีตัวตนจับ มีตัวตนอยากจะอยู่เพื่อเสวยความสุขเหล่านั้น นี่เคล็ดลับมันอยู่ที่ตรงนี้ มันยังมีตัวตนที่อยากจะคงอยู่ มีชีวิตอยู่เพื่อเสวยความสุขเหล่านั้น มันก็ติดคอก ติดบ่วงของไอ้ความสุขเหล่านั้น ยังไม่ใช่ความหลุดพ้น มันจึงไปหาของพระองค์เอง พบระบบที่เรียกว่าโลกุตระ มีจิตใจอยู่เหนือโลก
โลก โลก โลกนี่อย่าเข้าใจผิดไปตามแบบการศึกษาอย่างโลก ๆ ของชาวบ้านมากเกินไป คำว่าโลก โลกในทางศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนานั้นน่ะ มันหมายความถึง สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตา สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยหู สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยจมูก สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยลิ้น สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยผิวหนัง และสิ่งที่เรารู้สึกได้ด้วยจิตใจ ๖ กลุ่มนี้เรียกว่าโลก ถ้ายังไม่รู้จักไอ้ ๖ กลุ่มนี้ ก็คงจะลำบากไอ้การที่จะเรียนพุทธศาสนา สิ่งที่เข้ามาทางตา เข้ามาทางหู เข้ามาทางจมูก เข้ามาทางลิ้น เข้ามาทางผิวหนัง เข้ามาทางใจ ทางมโนทวาร ทางประตูแห่งใจ โลกเข้ามาแล้วครอบงำจิตใจทำให้ยินดียินร้าย เกิดตัณหา ต้องการอย่างนั้นไปตามความยินดี ต้องการอย่างนี้ไปตามความยินร้าย ปรุงให้เกิดอุปาทานว่าตัวกู ตัวกู กำลังได้ดี กำลังได้ร้าย กำลังได้สุข กำลังได้ทุกข์ มีตัวตน มีอุปาทานว่าตัวตน มันจึงเป็นทุกข์อยู่ด้วยตัวตนไปยึดมั่นถือมั่นด้วยของหนัก คือที่น่ารักและน่าชัง
อารมณ์ที่โลกมันมีให้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็คือความรู้สึกรัก และความรู้สึกชัง ถ้ายังมีความรู้สึก ๒ อย่างนี้อยู่ก็จิตก็ถูกผูกพันอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้เรียกว่าถือของหนัก ยึดของหนักไม่ดับทุกข์ ต้องสลัดออกไป อย่าให้สิ่งต่าง ๆ ในโลกเข้ามาครอบงำจิตใจให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายอย่างที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกไม่ครอบงำจิตใจได้ ไม่ทำจิตใจให้เป็นทุกข์ได้จึงเรียกว่าอยู่เหนือโลก หรือพ้นโลกไปแล้ว อยู่ในโลก ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็สัมผัส เอ้า,ก็สัมผัสก็สัมผัส แต่มันทำอะไรกูไม่ได้ มันทำอะไรเราไม่ได้ จึงเรียกว่าอยู่เหนือโลก ถ้าเป็นคนธรรมดา มันเข้ามา แล้วมันทำได้นี่ มันทำให้หัวเราะก็ได้ มันทำให้ร้องไห้ก็ได้ มันทำให้หลงใหล บ้าบออย่างไรก็ได้ นี่เรียกว่าโลกมันครอบงำย่ำยีเอา เป็นคนจมอยู่ในโลก นี่โดยทั่ว ๆ ไป เราอยู่ในพวกไหนก็คิดดูเอาเอง
ถ้าสิ่งต่าง ๆ ในโลกเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ แล้วไม่ทำให้หวั่นไหวได้ ให้คง ให้คงปกติ สงบเย็นอยู่เสมอได้นั้นคือคนที่อยู่เหนือโลก คือเหนืออำนาจวิสัยของโลกจะมาครอบงำจิตใจของเขาได้ จิตใจของเขา ไม่ต้องเปลี่ยนไปตามการครอบงำของอารมณ์ในโลก ก็เลยเรียกว่าอยู่เหนือโลก มันก็เลยปกติ ปกติ จิตใจเช่นนี้ก็ปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ มันหมายถึงไม่ต้องการอะไร เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่มีความหมาย ไม่มีค่า สำหรับให้ต้องการ มันมองเห็นเป็นสิ่งที่หลอกลวงทั้งนั้น ที่น่ารักก็หลอกลวงเป็นแบบหนึ่ง ที่น่าเกลียดก็หลอกลวงเป็นแบบหนึ่งทั้ง ๒ แบบหลอกลวงเลยไม่เอา แต่ถ้าไม่เห็นอย่างนี้มันก็หลงไป เดี๋ยวมันมีความรัก เดี๋ยวมันมีความเกลียด เดี๋ยวมันมีความโกรธ เดี๋ยวก็มีความกลัว เดี๋ยวมีความอาลัยอาวรณ์ วิตกกังวล อิจฉาริษยา หวงหึง ก็ไปตามเรื่อง เพราะมันไม่รู้จัก ไอ้โลกว่าโลกนี้เป็นอย่างไร มันจึงจมอยู่ในโลก พอรู้ว่าโลกโดยอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นอย่างนี้ มันก็ไม่จมอยู่ในโลก มีจิตใจอยู่เหนือไว้เรื่อยไป ไม่มีความทุกข์ ถ้าทำได้เด็ดขาดถึงที่สุดจริง ๆ นั่นแหละคือเป็นพระอรหันต์ มนุษย์เต็มอยู่ที่ตรงนั้น เต็มอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ มีจิตในอยู่เหนือโลก ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ไม่มีอะไรเป็นคู่ ๆ ที่จะไปทำจิตใจให้ปั่นป่วน เช่นว่าสวยกับไม่สวยนี่คู่หนึ่ง ก็ไม่ทำจิตใจของพระอรหันต์ให้ปั่นป่วน ไพเราะกับไม่ไพเราะก็ไม่ทำจิตใจของพระอรหันต์ให้ปั่นป่วน หอมหรือเหม็นก็ไม่ทำจิตใจให้ปั่นป่วน อร่อยหรือไม่อร่อยก็ไม่ทำจิตใจให้ปั่นป่วน นิ่มนวลหรือแข็งกระด้างก็ไม่ทำจิตใจปั่นป่วน น่ารักน่าพอใจ ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ ก็ไม่ทำจิตใจให้ปั่นป่วน ฉะนั้นความรู้สึกที่เป็นคู่ ๆ นั้นซึ่งมีมากมายมหาศาล ไม่ทำจิตใจของพระอรหันต์ให้ปั่นป่วนได้ เรียกว่าท่านอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ มีความสงบรำงับ แล้วก็อิ่ม อิ่ม อิ่ม พอใจอยู่ด้วยความสงบรำงับนั้น
อย่างที่กล่าวเมื่อตะกี้นี้ว่า เป็นผู้พอใจถึงที่สุด แต่ไม่ใช่พอใจด้วยกิเลส จิตที่บริสุทธิ์ สะอาดแล้ว พอใจในความเป็นอย่างนั้นอย่างยิ่ง เหมือนกับคนโง่ ปุถุชนพอใจในกามารมณ์ เป็นต้นก็พอใจอย่างยิ่งด้วยความโง่ ด้วยความ ด้วยความด้วยมีกิเลส โดยเอากิเลสเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ เดี๋ยวนี้ไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกอะไร ๆ ความพอใจก็เป็นชั้นโลกุตระ รู้สึกได้เอง พอใจยินดีในความที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการกระทบกระทั่งใด ๆ คำว่าสันโดษ หรือว่า ตุฏฐิ คำนี้ ไม่ใช่สันโดษอย่างเดียวกับของชาวบ้านนะ สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้นั้นมันก็สันโดษ แต่คนละคำกับสันโดษของพระอรหันต์ เมื่อเป็นพระอรหันต์จะมีความรู้สึกที่เป็นสันโดษขึ้นมาเต็มที่ คือมันอิ่มเอง อิ่มเอง อิ่มเองขึ้นมาเต็มที่ ในการบรรลุพระอรหันต์ นี่สันโดษนี่คนละคำ และไม่ค่อยได้เอามาพูดกันหรอกเรื่องอย่างนี้ ไม่ได้เอามาพูดกัน ทั้งที่มันมีอยู่ในพระบาลี นั่นแหละเต็ม พระอรหันต์เต็ม อิ่มเอง อิ่มเอง อิ่มเอง อิ่มอยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ นั่นคือเต็ม เต็มของความเป็นพระอรหันต์ยังไง พระอรหันต์เป็นผู้เต็มหมายความว่าอย่างนี้ มันยังไกลจากปุถุชน ปุถุชนยังอยู่ไกลจากความเต็มนี้สักเท่าไรก็ไปคำนวณดูเอาเอง
เรายังบูชาของคู่ ส่วนที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ เอ้า,เป็นทุกข์ไปอย่างหนึ่ง เกลียดชังไอ้ที่มันไม่เป็นที่ตั้งความพอใจมันก็เป็นทุกข์ไปอีกอย่างหนึ่ง ช่วยศึกษากันให้ดี ๆ ว่าความยินดีปรีดา พอใจก็ทรมานใจไปแบบหนึ่ง ความเกลียดชังไม่พอใจอึดอัดขัดใจก็ทรมานใจไปอีกแบบหนึ่ง ถ้าไม่มีสิ่งทั้ง ๒ นี้นั่นไม่มีอะไรทรมานใจ แล้วก็พอใจ แล้วก็อิ่ม แต่คนปุถุชนจะอิ่มตามแบบปุถุชน จะอิ่มด้วยกิเลส ก็เลยต้องการเหยื่อของกามารมณ์ เอามามาก ๆ ต้องการให้อิ่มแล้วมันไม่รู้จักอิ่มสักที มันอิ่มไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่มันอิ่มไม่ได้ มันจึงหิวอยู่เรื่อยไป สัตว์โลกตามธรรมดาสามัญจะหิวอยู่เรื่อยไป ได้มาแล้วก็ยังหิวที่จะได้ต่อไป ยังไม่ได้ก็หิวจะให้มันได้มา กินอยู่ก็หึงหวง เอาละ เป็นอันว่าถ้าท่านทั้งหลายฟังถูก ก็คงจะรู้สึกว่าอาตมาได้ตอบคำถามแล้วว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตนั้นคืออะไร ชีวิตในแง่ของไอ้ชีววิทยาทางวัตถุก็ไปอีกแบบหนึ่ง จุดหมายสูงสุดได้มาเป็นคนอย่างนี้ก็ดูจะสูงสุดอยู่แล้ว แต่ถ้าในแง่ของจิตโดยเฉพาะแล้ว ได้มาเป็นคนอย่างนี้แล้ว เป็นยังจุดตั้งต้นของความเป็นคนที่ยังโง่ ยังหลับ ยังหลับอยู่ด้วยอวิชชา นี้ไม่ใช่สูงสุด ไม่ใช่ความมุ่งหมายสูงสุด ไอ้คนเหล่านี้มนุษย์ เหล่านี้ต้องเล่าต้องเรียน ต้องศึกษาต้องรู้จักโลก ทุกสิ่งในโลก จนไม่หลงยินดี หรือยินร้ายในสิ่งใด ๆ ในโลก จิตเป็นอิสระ แล้วก็อิ่ม อิ่มอยู่ด้วยความเป็นอิสระนั้น นั้นคือมนุษย์ที่เต็ม
พูดได้ว่านี่คือจุดสูงสุดของชีวิต แต่คงไม่มีใครเอากี่คน นี่กล้าพูดอย่างนี้ จุดหมายสูงสุดของชีวิตชนิดนี้คงไม่มีใครต้องการกี่คน เพราะยังเป็นทาส เป็นบ่าวเป็นทาสของกามารมณ์อยู่ ยังบูชากามารมณ์เป็นพระเป็นเจ้าอยู่ แล้วจะมาบูชาความเป็นอิสระแห่งชีวิต ไม่เกี่ยวกับข้องกับกามได้อย่างไร และในที่สุดมันก็มองไปอีกทางหนึ่งว่า ไอ้ความรู้สึกลม ๆ แล้ง ๆ ว่าตัวตน ว่าตัวกู ว่าของกู นั่นมันไม่มี ความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตน ตัวกู หรือของกูนี้ มันเป็นเพียงความคิดเท่านั้นแหละ มันไม่ใช่มีตัวจริง ถ้าเมื่อไรมันได้รับอารมณ์แล้ว มันพอใจมันก็เกิดความอยากอย่างหนึ่ง ไม่พอใจมันเกิดความอยากอีกอย่างหนึ่ง ความอยากทั้งสองชนิดนี้มันเป็นตัณหา เรียกว่าความอยาก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้อยาก กูผู้อยาก มันรู้สึกเอาในใจเฉย ๆ กูผู้อยาก ไม่มีตัว ไม่มีตนอะไรที่ไหน เป็นแต่ความรู้สึกที่มีอยู่ในใจว่ามีตัวกูผู้อยาก และไอ้นี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดเป็นทุกข์ มีตัวกูที่ต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาก็หลงใหล ไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เรียกว่ามันมีปัญหารุม ร่วมอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรือตัวกู
บัดนี้ พระอรหันต์ หมดความหลงชนิดนี้ ไม่อาจ ไม่อาจจะหลงอย่างนี้ จิตของท่านไม่อาจจะหลงอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ที่ไม่ความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกู ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตน ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตน ดังนี้แล้ว ความเกิด แก่ เจ็บ ตายก็ไม่ ไม่เป็นของตน ก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเรายังมีตัวตน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของตน เราก็ต้องเป็นทุกข์ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า สอนไปจนถึงไม่มีตัวตน จึงพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่เป็นสิ่งที่พ้นได้ อย่ามัวแต่สวดมนต์โง่ ๆ อยู่ว่า ไม่พ้นไปได้ ๆ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้วสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นผู้เต็ม ผู้ที่พ้นไปแล้วจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายเพราะ ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มันก็ไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีปัญหาอะไร
ความทุกข์อย่างอื่น ๆ ก็เหมือนกันแหละ มันจะมีไม่ได้ แก่จิตที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนแห่งจิตเป็นที่รองรับทุกข์ มันก็เลยเป็นทุกข์ไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรมอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ใครสนใจในสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรมแล้วก็ขอให้สนใจเรื่องนี้ คือเรื่องที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสอนในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่น ไม่มีตัวตน พ้นโลก ก็อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ไอ้เรื่องดี เรื่องชั่วนั่นมันเป็นเรื่องในโลก ถ้าได้ตามต้องการก็ว่าดี ไม่ได้ก็ว่าชั่ว นี้มันเรื่องในโลก เรื่องดี เรื่องชั่วมันอยู่ในโลก ถ้าพ้นจากโลกไปแล้ว มันก็เหนือดี เหนือชั่ว ไม่มีตัวตนสำหรับจะรู้สึกว่าดีว่าชั่ว รักษาเกียรติยศของ พระพุทธศาสนาไว้ให้ดี ๆ ด้วยว่าพุทธศาสนานั้นสอนเรื่องเหนือดี เหนือชั่ว อย่าไปพูดตาม ๆ เขาว่าทุก ๆ ศาสนาสอนให้คนทำดี อย่างนี้มันลดเกียรติของพุทธศาสนามากนัก
พุทธศาสนาสอนให้อยู่เหนือดี ละชั่ว ทำดี แล้วอยู่เหนือดี ศาสนาอื่น ๆ จะไปสอนให้พอใจในความดี หยุดอยู่ที่ความดีก็ตามใจเขาเถอะ ตามใจเขาเถอะ แต่พุทธศาสนาหรือพุทธบริษัทเรา ต้องไปจนเหนือดี ไม่มีความหมายแห่งความดี มาบีบคั้นจิตใจอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ต้องเป็นโรคประสาทด้วยเรื่องเกี่ยวกับความดี ความไม่ได้ดี ฉะนั้นความที่อยู่เหนือโลก เหนือดี เหนือทุกสิ่งโดยประการทั้งปวงนั่นแหละ คือจุดหมายปลายทาง คือความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต ชนิดที่หมายถึงจิตใจ ที่พัฒนาได้ และที่วิวัฒนาการไปตามแบบทางสติปัญญา ไม่ใช่ทางวัตถุ ไม่ใช่ทางเนื้อหนังอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องทางจิตใจ ทางสติปัญญา มันวิวัฒนาการขึ้นมาได้จนถึงขนาดนี้ คือถึงขนาดที่มีจิตใจชนิดที่เป็นทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป เป็นจิตใจที่จะปรุงแต่งความรู้สึกว่าตัวตนไม่ได้อีกต่อไป ไม่มีตัวตนแล้ว มันก็อยู่เหนือทั้งหมดเลย เหนือดี เหนือชั่ว เหนือได้ เหนือเสีย เหนือขาดทุน เหนือกำไร เหนือแพ้ เหนือชนะ เหนือไปทุกหมด ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เป็นมนุษย์ที่เต็ม นี่จุดหมายสูงสุดของชีวิตชนิดที่เป็นมนุษย์ไอ้ที่ลืมตาแล้ว ไม่ใช่มนุษย์ปุถุชนที่จมอยู่ในปลักแห่งกามารมณ์ ฉะนั้นหัวข้อที่ให้มานั่นมันไม่ชัด มันกำกวม นี่ว่าจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต
เอาละ เป็นอันว่าถ้าชีวิตยังไม่ถึงที่สุด มันก็ต้องการจุดหมายปลายทาง ถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่ต้องการจุดหมายปลายทางอะไรอีก เป็นอันว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปนี่ยังจะต้องพยายามไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของความเป็นมนุษย์ คืออยู่เหนือความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง มันไม่เกิดกิเลสในจิตใจต่อไป ไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตนในจิตใจสำหรับจะรับเอานั่นนี่มาเป็นของตนอีกต่อไป เรื่องมันจบ ขอให้ทุกคนกำหนดเอาเอง พิจารณาเอาเอง แยกแยะเอาเอง จุดสูงสุดของชีวิตอยู่ที่ไหน ถ้าพูดทางชีววิทยา Biology ครูบาอาจารย์ที่เรียนมาเรื่องนี้ก็คงรู้ดีกว่าอาตมามาก แต่รวมความแล้วมันก็เอาอันนั้นเป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องชีวิตทางวัตถุ มันไม่มีความลึกล้ำอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องชีวิตทางด้านจิตใจที่เนื่องอยู่ด้วยสติปัญญาอันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของจิตใจแล้วมันต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องมาจนถึงที่นี่ ถึงจิตใจมีระดับสูงสุดอย่างนี้ จึงจะเรียกว่าถึงจุดหมายปลายทาง พื้นฐานโดยทั่วไปของจิตใจชนิดนี้คือกามารมณ์ จมปลักอยู่ในกามารมณ์ นี่เรียกว่าพวก กามาวจร ต่อมาภพที่ไม่ใช่กามารมณ์ เป็นรูปบริสุทธิ์ เอามาเป็นที่เป็นที่ตั้งแห่งความสุขเรียกว่าพวก รูปาวจร ต่อมาสูงขึ้นไปอีก เอาพวกที่ไม่มีรูปดีกว่า เอามาเป็นอารมณ์ แสวงหาความสงบแห่งจิตเป็นพวก อรูปาวจร แต่ ๓ พวกนี้ยังไม่ขึ้นเหนือความทุกข์ทั้งปวงได้ มีตัวตน พอใจอยู่ในความสุขชนิดนั้น ก็เป็นทาสของความสุขชนิดนั้น เช่นเดียวกับที่ปุถุชนเป็นทาสของความสุขทางกามารมณ์
พวกเรานั้นก็เป็นสุขด้วยความรู้สึกเป็นทาสของความรู้สึกว่าตัวตน ๆ ของตน ยังมีตัวตนที่ไม่อยากจะตาย ก็ต้องมีความทุกข์ มีความลำบาก เพราะจะต้องตาย นี่มันยังมีตัวตนสำหรับจะตายนี่ มันก็ไม่มี ไม่ ไม่ถึงที่สุด ถ้าจิตใจมันไปถึงที่สุด ไม่มีตัวตนสำหรับจะตายแล้วนั่นถึงที่สุด แล้วรู้ได้เองว่ามีอยู่ ๔ ขั้นตอน พวกกามาวจร พวกรูปาวจร พวกอรูปาวจร และพวกโลกุตระ โลกุตระนี้ไม่มีคำว่าอวจร คือไม่ต้องท่องเที่ยวไป มันก็เป็นเรื่องจบสิ้นสุดแห่งตัวตน ไม่มีตัวตนสำหรับเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาใด ๆ เป็นมนุษย์ที่เต็ม เป็นมนุษย์ที่หมดปัญหาโดยประการทั้งปวงก็ด้วยเหตุนี้ นี่เรื่องจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต ขอให้พิจารณาและก็แยกคัดเอาเป็นเรื่อง ๆ ตามความพอใจของตน สมควรแก่เวลาและสมควรแก่เรี่ยวแรงที่จะพูด เลยต้องขอยุติการบรรยาย
มันค่อยดูคล้ายกับทหารแล้วเห็นไหม จังหวะอย่างนี้ มันดูพรึบพร้อมคล้ายกับทหาร เมื่อทำชำนาญแล้ว ไม่ ไม่ต้อง ไม่ต้องออกเสียงก็ได้ ไม่ต้องออกเสียง ทำได้พร้อมในแบบเดียวกันหมด(นาทีที่1.11.40-1.12.57 สุชาติ ไอ้เสานั้นมันมีแต่เสา ไม่มีไมโครโฟน มีแต่เสา ไม่มีไมโครโฟน)
(กราบเรียนหลวงพ่อนะครับมีนักศึกษาบางท่านถามปัญหานะครับหลวงพ่อ)
เอ้า,ก็ว่าไปสิ มีปัญหาว่าอย่างไร พูดช้า ๆ ชัด ๆ หน่อย
ผู้ถาม : กราบนมัสการท่านอาจารย์นะคะ มีปัญหาข้องใจอยากจะถามก็คือ จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตนี่คือการที่จิตใจ ความเป็นอิสระของจิตใจใช่ไหมคะ หลักก็คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ ถ้าเราเริ่มทำ เริ่มปฏิบัติตน เริ่มไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้เรายังอยู่ในสังคม อยู่ในโลก สมมุติว่าเขามาด่าเรา เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น คือไม่ใช่ตัวเรา บางทีได้ยินเสียงอะไรไม่สบใจ เราก็บอกหูนี่ไม่ใช่หูเรา ไม่ได้ยินเสียง ถ้าสมมุติว่าเราจะถือศีลไม่ทานอาหารมื้อเย็น พอท้องมันร้องก็บอกไม่ใช่ท้องของเรา ทีนี้ถ้าผลมันอย่างถ้าเขามาด่าเรา มีเสียงอะไรกระทบหู เราก็ทำเป็นเฉย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้เราอยู่ในโลกอันนี้มันก็ เราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วเขามาว่าเราเฉื่อยชา เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วคือไม่ใช่ตัวเรา แต่ทีนี้ไอ้ที่ท้องเราร้องเราไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ท้องของเรานี่ พอมันเกิดเป็นโรคขึ้นมา มันไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วถ้าเกิดมัน คือข้องใจว่าถ้าเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นไอ้ตรงเป็นกาย กายหยาบ เจ็บป่วย อย่างนี้ เมื่อจิตใจเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ใจมันจะไม่เป็นทุกข์ใช่ไหมคะ คือมันเป็นยังไงก็ช่างมันอย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านพุทธทาส : นั่นคือยึดมั่นแหละ เป็นอะไร จะเป็นอะไรก็ช่างมัน นั่นคือยึดมั่น ยึดมั่นลม ๆ แล้ง ๆ ที่พูดมานั่นเป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น
ถาม : อ้าว, แล้วอย่างไหนไม่ยึดมั่นถือมั่นคะ
ท่านพุทธทาส : เมื่อมีสติปัญญา เขาด่ามาก็มีสติปัญญารู้ว่าควรทำอย่างไร ถ้ารู้ว่านิ่งเสียดีกว่า มันก็นิ่งเสีย ถ้ารู้ว่าจะแก้ตัวได้ก็แก้ตัว ไม่ต้องแก้ตัวก็ได้ ไม่กินอาหารเย็นนั่นมันก็ไปยึดมั่น ยึดมั่นในเรื่องไม่กินอาหารเย็นแล้วมันก็บ้า มันก็หิวจนเป็นบ้า ควรจะกินก็กินสิ แล้วควรจะเลิกส่วนเกิน อาหารเย็นส่วนเกินก็เลิกเสีย ไม่หิว ส่วนเกินนะไม่หิว ต้องกินอาหารชนิดที่ไม่หิว อยู่อย่างไม่หิว นี่ถ้าหิวบ้างเล็กน้อยมันก็ยังเป็นอย่างนั้นเองแหละ ไม่เท่าไรมันก็ไม่หิว เพราะไม่เคยเว้นอาหารเย็น จึงกลัวมากไปจะคิดว่าหิว พระทุกองค์ไม่ได้หิว มันยกเว้นบางองค์นะ แต่ว่าส่วนใหญ่นะเขาไม่ได้หิว อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องกินหรือเรื่องไม่กินสิ อยู่ด้วยสติปัญญา ทำอะไรอยู่ด้วยสติปัญญา ทำการทำงานเต็มที่ด้วยสติปัญญา โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู เรื่องนี้เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวตน เป็นเรื่องของจิตกับปัญญารวมกันแล้วทำอะไรตามที่ควรจะทำ ไม่มีตัวตน ไม่มียึดมั่นให้เป็นตัวตน ไม่มียึดว่าให้เป็นของตน จิตก็เป็นจิต สติปัญญาก็เป็นปัญญา ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นของตน ถูกแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องปรมัตถ์เข้าใจยาก ต้องพยายามสนใจสักหน่อย ศึกษาให้ละเอียดลออสักหน่อย
ถาม : อยากจะกราบถามต่อไปนะคะ คือถ้าจะศึกษาอย่างละเอียดนี่ศึกษาจากตำรา อยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำ เพราะว่าการจะมาศึกษากับท่านอาจารย์ก็คงจะลำบาก เพราะว่าบ้านก็ไม่ได้มีที่พักอยู่แถวนี้
ท่านพุทธทาส : แล้วจะให้ทำยังไง คือว่าไอ้เรื่องนี้มันไม่ได้ศึกษาจากตำรา ศึกษาจากความจริง ที่รู้สึกอยู่ในภายใน มองดูในภายใน ศึกษาจากภายใน ว่าที่มันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น แล้วเราควรจะทำอย่างไร ทำไปในทางที่มันให้ดับทุกข์ได้ นั่นก็ถูกล่ะ มันถูกต้องล่ะ ให้ดับทุกข์ได้ หรือดับทุกข์ไม่ได้ มันก็รู้ด้วยตนเองอยู่ในภายใน เรียนธรรมะต้องเรียนจากภายในจิตใจ อ่านหนังสือเป็นเพียงแนวสำหรับไปเรียนอีกทีหนึ่งโดยทางจิตใจ อ่านหนังสือเพื่อจะให้จิต รู้จักอ่านจิตใจเอง ไม่ใช่สำเร็จประโยชน์อยู่ด้วยการอ่านหนังสือ ความทุกข์มันสอน ฉะนั้นขอให้สนใจทุกคราวที่ความทุกข์เกิดขึ้นเกิดจากอะไร จะแก้ไขอย่างไร ทุกข์สนใจไว้เรื่อย ๆ มันก็จะค่อย ๆ รู้เอง เหมือนที่เราเป็นเด็ก ๆ เด็กทารกโตขึ้นมาเรื่อยนี่มันก็รู้เรื่องอะไรมากมายโดยไม่ต้องมีใครสอน โดยที่ประสบการณ์นั้นมันสอน นี่มากกว่าที่ครูสอนหรือใครสอนเสียอีก แล้วสำเร็จประโยชน์กว่าเสียอีก
ถาม : ขอ อยากจะถามอีกนิดนะคะ คืออยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยตอบให้ ที่หนูพูดตอนนี้ ต่อไปนี่ คำสรุปของหนูนี่ถูกหรือเปล่าคะ คือให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยใช้สติปัญญาแล้วโดยการสังเกตตัวเองอยู่สม่ำเสมอใช่หรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : ก็บอกอย่างนั้น ให้ศึกษาด้วยการสังเกต ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแก่จิตใจ ในจิตใจ เป็นไปในจิตใจ ให้สังเกตว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้จึงจะไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นทุกข์ทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ไม่เป็นทุกข์ มันก็เลือกเอาฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ มันรู้จักเข็ดหลาบ เหมือนเดินหกล้มนี่ มันก็รู้จักระวังไม่ให้หกล้ม เดินตกร่องมันก็รู้จักระวังไม่ให้ตกร่อง มันก็ค่อยสอนให้ทุกที
(กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากค่ะ)
ธรรมะให้เปล่า ไม่ต้องขอบพระคุณ
ถาม : มีนักศึกษาถามนะครับว่า อยากจะให้ท่านหลวงพ่อ ช่วยอธิบายความหมายนะครับ ที่มีผู้กล่าวว่า เราเกิดมาเพื่อผู้อื่น มีชีวิตเพื่อผู้อื่น ทำงานเพื่อผู้อื่น นั้นมีความหมายอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : โอ้ย, เราไม่ได้พูด เราตอบไม่ถูก เราไม่ได้พูดอย่างนั้น ๆ ( ผู้ถาม : นั้นไปถามคนพูดเองแล้วกันนะครับ) ไปถามคนพูดสิ
ถาม : คำถามนี้นะครับ เรียนถามว่า เราจะมีวิธีฝึกสมาธิอย่างไรที่เรียกว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นครับผม
ท่านพุทธทาส : ทำจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้จัก สังเกตเห็นไอ้ความยึดมั่นแล้วเป็นทุกข์ ความไม่ยึดมั่นแล้วไม่เป็นทุกข์ เห็นแจ้งด้วยปัญญาว่ามีความยึดมั่นแล้วเป็นทุกข์ทุกที ทำสมาธิจนจิตเป็นสมาธิ จิตดีสำหรับจะสอดส่อง สำหรับจะศึกษา สำหรับสังเกตศึกษาว่ายึดมั่นแล้วเป็นทุกข์ทุกที ตัวกูเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที ทำไปตามแบบที่มีอยู่นั่นแหละมันจะ ถ้าถูกต้องนะ ทำไปตามแบบที่มีอยู่ในพระบาลี ถ้าทำสำเร็จถูกต้องแล้วมันจะละเลิกไอ้ตัวกูเอง เขาทำมาสำหรับละเลิกตัวกู
แม้ลัทธิโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายาน เขาก็ยังไม่มีการพูดว่าเราเกิดมาเพื่อผู้อื่น แต่มีหน้าที่ที่จะช่วยผู้อื่น เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยซึ่งกันและกัน ในเมื่อเราช่วยได้ การช่วยผู้อื่นนั้นทำลายความเห็นแก่ตัว ดังนั้นเราขยันช่วยผู้อื่นมันก็ทำลายความเห็นแก่ตัวให้หมดไป มันก็เป็นการช่วยตัวเองอยู่โดยอัตโนมัติ ฉะนั้นโพธิสัตว์จึงทำการช่วยผู้อื่น เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวของตัว เมื่อช่วยผู้อื่นจนพอใจแล้วจึงจะนิพพาน
ถาม : กราบเรียนอีกปัญหานะครับ มีนักศึกษาถามมาว่า คำว่าโลกุตรธรรมนะฮะ หมายถึงอย่างไรบ้างนะครับ อยากจะให้ช่วยอธิบายนะครับ
ท่านพุทธทาส : กุตระ โลกุตระ แปลว่า อยู่เหนือโลก เหนืออำนาจอิทธิพลของโลก โลกไม่ทำให้บุคคลนั้นเป็นทุกข์ได้อีกต่อไป นั่นก็เรียกว่าโลกุตระ สิ่งต่าง ๆ ในโลกที่มีค่า มีความหมาย มีอิทธิพล มีอะไรอย่างไรตามใจมัน มันทำให้เรามันมีความทุกข์ไม่ได้นั่นเรียกว่าอยู่เหนือโลก เราอยู่เหนือโลก เดี๋ยวนี้มันครอบงำจิตใจเราได้ เชิดเราอยู่ทุกเวลานาที นี่อย่างนี้อยู่ใต้โลก เรียกว่าอยู่ใต้โลก ถ้าโลกทำอะไรเราไม่ได้ นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก เดี๋ยวนี้เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เรื่องอะไร เรื่องในโลกนี่ กำลังทำให้เราหัวปั่นอยู่ อยู่ใต้โลก
ถาม : ปัญหาข้อนี้ถามว่านะครับ การที่ท่านหลวงพ่อนะครับได้พูดว่า การพัฒนาเทคโนโลยีในสมัยนี้เป็นสิ่งไม่ดี แต่ว่าเรายังต้องพึ่งเทคโนโลยีบ้างในบางอย่างอยู่ เช่นไมโครโฟน อยากจะให้ท่านช่วยอธิบายว่าแล้วทำไมถึงว่าไม่ดีครับผม
ท่านพุทธทาส : ใครเป็นพยานได้ว่าเราได้พูดว่าไม่ดี ทั้งหมดนี้ใครเป็นพยานได้ว่าเราได้พูดว่าเทคโนโลยีไม่ดี ก็พูดว่ามัน มันช่วยดับทุกข์ไม่ได้แล้วมันไม่มีที่สิ้นสุด ไอ้เทคโนโลยีนี่ไม่เท่าไร จะเป็นเรื่องเด็กเล่น ๆ ๆ ไปทุกที ๆ ถึงแม้จะสร้างอะไรขึ้นมาได้ ไปโลกพระจันทร์ได้ มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็เท่านั้นแหละ ไม่เท่าไรก็เป็นของเด็กเล่นไป ไม่มีความหมายอะไร
ถาม : อีกปัญหาหนึ่งนะครับ ถามว่า ความเกิด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราหลีกพ้นได้หรือไม่ครับผม
ท่านพุทธทาส : ถ้ายังมีเรา ถ้ายังมีเรา หลีกพ้นไม่ได้ ต่อเมื่อใดไม่มีเราเมื่อนั้นหลีกพ้นได้ รู้ความจริงจนไม่มีเราแล้วมันก็หลีกพ้นได้ ถ้ายังมีตัวเราคือมีตัวตนอยู่หลีกไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของอวิชชา มีตัวเรา แล้วก็ดูอะไร ๆ ก็เป็นของเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้วจะพ้นได้ ท่านว่าอย่างนั้น คือท่านสอนให้รู้จักทำให้ไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวต้นแล้ว และจะมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายของอะไรเล่า ก็ของธรรมชาติ ก็ไม่ใช่ของเรา ก็เรียกว่าพ้น ไอ้ความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของร่างกายไปเสียก็ได้ อย่าเป็นของเรา แล้วเราก็ไม่ได้ถือว่าร่างกายนี้เป็นของเรา เป็นของธรรมชาติ ร่างกาย จิตใจมันคิดนึกได้มันก็ทำกันไป อย่ามีตัวเราเกิดขึ้น ก็ไม่มีความทุกข์ หิวก็กิน อิ่มก็นอน ไม่ได้กินก็ตาย ก็ไม่มีความทุกข์
ถาม : ปัญหาข้อนี้ถามว่า ดังนั้นคน ถ้าอย่างนั้นนะฮะคนเราตายแล้ว จิตจะไปไหนครับ ร่างกายไม่ใช่ของเรา แต่เรามีใจครับผม
ท่านพุทธทาส : เมื่อร่างกายดับ ส่วนที่เป็นจิตอาศัยร่างกายก็ระงับไป ไม่ได้บอกว่าไปไหน เหมือนกับไฟดับ ไฟมันไปไหน ใครตอบได้ว่าเมื่อไฟดับ ไฟมันไปไหน ธรรมชาติเกิดดับไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปไหน ทีนี้ไปมีตัวเรานี่ หรือเราอยากจะเกิดอีกนี่ คิดว่าจะเกิดอีกนี่ คิดว่าจะไปไหนกันมาล่ะ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะไปไหน ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่เป็นทุกข์ตลอดชีวิตนี่ได้อย่างไร ปัญหามันอย่างนี้ จะไม่เป็นทุกข์จนตลอดชีวิตได้อย่างไร เป็นปัญหาที่ควรจะแก้ เราจะไปไหน ตายแล้วจะไปไหนนี่ไม่ ไม่ต้อง เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีจริง ตัวเราไม่ได้มีอยู่จริง
ถาม : ไม่ทราบว่ารบกวนเวลาท่านหลวงพ่อมากหรือเปล่าครับผม มีคำถามหนึ่งนะครับ คือนักศึกษาได้ถามมาว่าขณะนี้ผมอยู่ในวัยนี้นะฮะ หมายถึงในวัยรุ่นนะครับ ย่อมมีความรักแบบหนุ่มสาวเป็นธรรมดา อยากทราบหนทางที่จะหลุดพ้นในเวทนาอันนี้ ว่าจะทำอย่างไรนะครับ และดีหรือไม่ที่จะตัดสินในสิ่งนี้เสีย
ท่านพุทธทาส : ถ้ายังประสงค์ จะมีชีวิตอยู่และดำเนินชีวิตแบบนี้ ก็ดำเนินให้มันถูกต้อง อย่าให้ต้องเป็นทุกข์ หรือทุกข์แต่น้อยที่สุด เมื่อได้ทำหน้าที่ของคนหนุ่มสาวก็ทำชนิดที่มันถูกต้อง ชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ หรือเป็นทุกข์น้อยที่สุด
ถาม : อีกปัญหาหนึ่งนะครับ กราบเรียนถามว่า หน้าที่ของบัณฑิตต่อสังคม ควรจะกระทำอย่างไรบ้างครับผม
ท่านพุทธทาส : พูดกันมาแหลกแล้วไม่ใช่หรือเรื่องนี้ แหลกละเอียดแล้ว คือว่าช่วยเขาเท่าที่จะช่วยได้ ทำตนให้เป็นประโยชน์ผู้อื่นให้มากเท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งตัวเองก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ผู้อื่นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็ได้รับประโยชน์ด้วยกัน เมื่อตนเองดำเนินประโยชน์ของตนไปได้ ก็สอนผู้อื่นให้รู้จักดำเนินประโยชน์ของเขา ของเขา
ถาม : คำถามนี้นะครับ เรียนถามว่านะครับ ความเกิดนั้นเป็นทุกข์อย่างไรครับผม
ท่านพุทธทาส : ความเกิดมีอยู่ ๒ ชนิด เกิดจากท้องแม่นั่นก็เกิดหนึ่งนั้นเป็นธรรมดา ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ ความเกิดเป็นตัวกูขึ้นในความรู้สึก ตัวกูเกิดขึ้นในความรู้สึก มีอวิชชาเป็นพ่อ มีตัณหาเป็นแม่ เกิดเป็นตัวกูขึ้นมาในความรู้สึกแห่งจิตใจ ความเกิดอย่างนี้ คือเป็นความทุกข์ มันมีตัวกู แล้วก็แบกตัวกูเป็นของหนัก เขามักจะพูดกันว่าเกิดจากท้องแม่เป็นทุกข์ นั้นเราไม่เคยพบ เป็นของธรรมดา เกิดทางกายเป็นของธรรมดา เกิดทางจิตนี่คือเป็นตัวทุกข์
ถาม : เอ่อ,คือปัญหาข้อนี้นะครับ กราบเรียนถามว่า อยากจะให้อธิบายคำว่า ยึดมั่นถือมั่นนะฮะ อยากจะให้อธิบายใหม่นะครับ เพราะว่าเมื่อกี้นักศึกษาท่านนี้เขาบอกว่าเขารู้สึกคลุมเครือนะครับ และก็ไม่เข้าใจว่า ไม่เข้าใจว่าถูกต้องหรือเปล่าว่าสิ่งใด ไม่เข้าใจว่า เข้าใจไม่ถูกว่าสิ่งใดยึดมั่น สิ่งใดถือมั่นครับ
ท่านพุทธทาส : ต้องมีอวิชชา ความไม่รู้ เป็นเหตุให้จิตไปมั่นหมายเอาอะไรเข้าว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นของตน นั่นแหละเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น เช่น อวิชชาทำให้เด็กคนนี้ยึดมั่นหมายมั่นด้วยจิตใจว่า ว่าอะไร ว่าพ่อของกู ว่าแม่ของกู ว่าตุ๊กตาของกู ว่าบ้านเรือนของกู นี่เรียกว่าเด็กเขายึดมั่นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของตน ด้วยอำนาจของอวิชชา ต้องมีอวิชชาจึงจะมีการยึดมั่นถือมั่น แต่มันมีลำดับเป็นขั้น ๆ ไป เช่นอวิชชาทำให้อยาก พออยากก็เกิดความรู้สึกว่ามีผู้อยาก ได้อะไรมาเป็นของตน นี่ไอ้รายละเอียดมันมีอยู่อย่างนี้ เมื่อเด็กเขาพอใจ ความอร่อยของนม ของอาหาร หรือความนิ่มนวลของหน้าอกแม่ เขารู้สึกพอใจ เขาก็อยากจะได้ อยากจะมี หรืออยากจะให้คงอยู่ อยากจะให้ไม่ล่วงลับไป นี่ความอยากหลาย ๆ ชนิดนี้ปรุงให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู มีตัวกูผู้อยาก ความยึดมั่นถือมั่น คือความสำคัญเอาว่าเป็นตัวกู หรือเป็นของกู ไปดูให้มัน เรื่องใกล้ ๆ ก็ว่าที่มันได้ยึดว่าชีวิตของกูนั้นมันยึดยังไง เพราะมันมีความอยาก ความหวงแหนในชีวิต เพราะว่าชีวิตได้เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ พอใจ ก็อยากให้มีอยู่ อยากให้คงอยู่ อยากให้ทุก ๆ อย่างที่จะอยากได้อย่างไรบ้าง ทีนี้ความอยากนั้นมันคลอดไอ้ความคิด รู้สึกอีกอันหนึ่งออกมาว่า ฉัน มีตัวฉัน มีตัวฉัน ฉันกำลังอยาก ฉันกำลังต้องการ ฉันกำลังหวังอย่างนั้นอย่างนี้
ถาม : ปัญหาข้อต่อไปนะครับ การปฏิบัติทางโยคะ เช่น การทรมานกายเป็นการพิสูจน์ทางที่ว่าไม่ใช่ตัวกูใช่หรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส : ว่าอะไรนะว่าใหม่สิ
ถาม : การปฏิบัติทางโยคะครับ ตัวอย่างเช่นการทรมานร่างกายเป็นการพิสูจน์ทางที่ว่าไม่ใช่ตัวกูใช่หรือไม่ ครับผม
ท่านพุทธทาส : คำว่าโยคะ โยคะนี่มันไม่ใช่มีแต่เรื่องทรมานตัวกูของกู โยคะแบบนั้นเขาก็มีความหวังว่าด้วยการทรมานตัวกู จะได้หมดความรู้สึกยึดถือว่าตัวกูของกู โยคะแบบทุกรกิริยาเรียกว่าโยคะได้เหมือน กัน เช่นทำลายอวัยวะให้หมดความรู้สึกว่าอยากนั่นอยากนี่ ทำลายอวัยวะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ให้มันหมดกำลังที่จะไปอยากนั่นอยากนี่ หลงนั่นหลงนี่ ก็เป็นการกำจัดตัวกู ของกู ตามความคิดของลัทธินั้น
พุทธศาสนามีความคิดอย่างอื่นที่จะทำลายตัวกู ของกู โดยไม่ต้องทำอย่างนั้น แต่ทีนี้ควรจะรู้ไว้นะ นี่มันรู้คำว่าโยคะน้อยไป คำว่าโยคะ ในโยคะสูตร โยคะศาสตร์ของอินเดียนั่นมันมีอีกอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่ปรับปรุงร่างกายให้มีสมรรถภาพ สมรรถนะเต็มที่ กลุ่มหัตถโยคะ หัตถโยคะ กรรมโยคะนี้ ท่าโยคะที่ทำยาก ๆ นั่นถ้าทำได้ แล้วก็ทำให้ร่างกายเข้มแข็งเต็มที่ นี่มันก็ช่วยจิตใจได้เหมือนกัน ทีนี้กรรมโยคะ หัดทำประโยชน์ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่เอาอะไรตอบแทน โยคะอย่างนี้มันเป็นเรื่องทางจิตใจมากขึ้น มันเป็นชีวิตชนิดเป็นประโยชน์ผู้อื่น โดยไม่เอาอะไรตอบแทน แล้วมันสูงขึ้นไปถึงไอ้ราชโยคะ ญาณโยคะ นั่นก็พิจารณาเรื่องไม่มีตัวตนเหมือนกัน ทำวิปัสสนาเรื่องไม่ให้มีตัวตน นั่นเขาเรียกว่า ราชโยคะ แต่เขามันไม่ถึงขนาด ไม่ถึงที่สุดอย่างพุทธศาสนา ไม่มีตัวตนอย่างที่ชาวบ้านรู้สึก แต่มีตัวตนชนิดที่เป็นอาตมันตามพระคัมภีร์ เรียกว่าอาตมันตามพระคัมภีร์ ตัวตนที่ไม่รู้จักแก่ จักตาย ทำราชโยคะ หรือญาณโยคะ ก็จะได้ผลอย่างนั้น คล้าย ๆ พุทธศาสนาแต่ไม่ถึงขนาดพุทธศาสนา แม้การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาในพุทธศาสนานี้ก็เรียกว่าโยคะด้วยเหมือนกันรู้ไว้ การฝึกฝนจิตทุกชนิดเรียกว่าโยคะ ไม่ใช่โยคะมีแต่เพียงทรมานร่างกาย
คำว่า โยคะ แปลว่าเทียมแอก เช่น ไปจับควาย จับวัวมาเทียมแอกไถนา จับม้ามาเทียมแอกลากรถ กิริยานั้นเรียกว่าโยคะ และขอยืมมาใช้ในทางฝ่ายจิตใจ ทางฝ่ายศาสนาว่าทรมานจิตด้วยการผูกจิตเข้าไว้กับอารมณ์ใด ๆ นี่มีลักษณะเหมือนกับว่าผูกแอก เลยเรียกว่าโยคะ การทำสมาธิวิปัสสนาตามแบบพุทธศาสนาก็เรียกว่าโยคะได้เหมือนกัน เรื่องเกี่ยวกับการฝึกจิตทุกเรื่องเรียกว่าโยคะ
ถาม : ปัญหาข้อนี้นะครับ กราบเรียนถามว่า ถ้าปกติใจของเราเฉย ๆ นะครับ ไม่เป็นทุกข์ การทำทานจึงไม่จำเป็นใช่หรือไม่ เพราะเหตุใด เพราะมีบางคนบอกว่า ถ้าเราให้ทาน เมื่อเราให้ทานนะครับ เมื่อเสียดายก็เกิดทุกข์ จึงไม่จำเป็นต้องทำทานถ้าเราเสียดาย อาจารย์คิดเห็นว่าอย่างไร
ท่านพุทธทาส : ฟังไม่ถูก ถามใหม่ ฟังไม่ถูก เป็นคำถามที่ชัด ๆ หน่อย ถามว่ายังไง
ถาม : คือสรุปนะครับ นักศึกษาท่านนี้เขาถามว่า การทำทาน ประเด็นที่ ๑ นะครับ
ท่านพุทธทาส : ว่าอะไรนะ
ถาม : ประเด็นที่ ๑ นะครับ หัวข้อแรกนะครับ คำถามนะครับ ถามว่าการทำทานจำเป็นหรือไม่ฮะ เพราะเหตุใด
ท่านพุทธทาส : จำเป็นอยู่บ้างเพื่อ เพื่อจะฝึกทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความตระหนี่ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นน้อย ๆ ไปตามเรื่อง เป็นการฝึกทำลายความเห็นแก่ตัว การทำทานนี่ ถ้าทำทานอย่างถูกต้องนะ ส่วนทำทานแลกเอาสวรรค์วิมานนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ ไม่เกี่ยวกัน การทำทานที่เป็นธรรมะบริสุทธิ์ นั้นก็คือทำลายความเห็นแก่ตัว เป็นการขูดเกลาความยึดมั่นถือมั่นได้ แต่ไม่ถึงกับตัดขาด เช่น พระเวสสันดรให้ทานลูก ให้ทานนี่เขาเรียกว่า มันพยายามสะสมบารมีเพื่อจะทำลายความเห็นแก่ตัวเรื่องเดียวกัน
ถาม : และในข้อที่ ๒ ของปัญหานี้นะครับ ถามว่า ถ้าเราทำทานนะครับ ถ้าเกิดว่าเราใจ ใจนะฮะยังตัดไม่ได้ ก็เกิดความเสียดายขึ้นมา ความเสียดายนี้ก็เกิดทุกข์นะฮะ เพราะฉะนั้นจะไม่ทำทาน ได้หรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่ว่าไอ้ทานมันให้เกิดทุกข์ ความที่เราเสียดายต่างหากเล่าทำให้เกิดทุกข์ อย่าไปโทษทานสิ ทานนั่นมันจะขูดเกลากิเลสและความทุกข์ ที่เราไปเกิดเสียดายก็ไม่เป็นทานเสียแล้ว มันไม่เป็นทานเสียแล้วมันก็เกิดทุกข์ ทำทานอย่างนั้นไม่เป็นทาน ไม่ทำก็ได้ ทานที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะว่ามันขูดเกลาความเห็นแก่ตัว
ถาม : อีกปัญหาหนึ่งนะครับ กราบเรียนถามว่า วิปัสสนากับสมถะ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรครับผม
ท่านพุทธทาส : นี่แสดงว่าไม่รู้เลย ไม่รู้เลย ไม่รู้อะไรเลย มันน่าจะรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้ามาถึงขนาดนี้แล้ว สมถะ คือ การปฏิบัติส่วนที่ทำจิตให้สงบ วิปัสสนา คือ การทำจิตส่วนที่สงบแล้วให้เห็นความจริง ให้เห็นแจ้งในความจริง เป็นคนละขั้นตอน ทำจิตให้สงบเพื่อความสุขก็ได้ หรือทำจิตให้สงบเพื่อเป็นจิตที่เหมาะสมสำหรับจะทำวิปัสสนาก็ได้ ตอนที่ทำจิตให้สงบนี้เรียกว่าสมถะ ครั้นสงบแล้ว ใช้จิตสงบแล้วนี่เห็น ดูให้เห็นแจ้งในความจริงของสิ่งต่าง ๆ ดูให้เห็นแจ้งนี้เรียกวิปัสสนา เป็นคนละขั้นตอน
คำว่าวิปัสสนาเดี๋ยวนี้มันถูกยืมไปใช้ในความหมายที่กว้างไปเสียอย่างหนึ่งแล้วในเมืองไทยนะ จะทำวิปัสสนา นี่ก็หมายถึงว่าทำอะไรเกี่ยวกับจิตทุกอย่างเรียกว่าวิปัสสนาหมด นี้เฉพาะในเมืองไทย ในบาลี ทำวิปัสสนาคือทำให้เห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแจ้งความมิใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตน เพราะจิตมันไปหลงคิดว่าเป็นตัวตนขึ้นมาเอง เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้คิดอย่างนั้น
ถาม : กราบนมัสการเรียนถามอาจารย์นะคะว่า การที่ว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ สมมุติว่าเราถือศีล ๕ นี่ เราจะยึดมั่นถือมั่นหรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : ยึดมั่นถือมั่นศีล ๕ ก็ยึดได้เหมือนกัน ไม่ยึดก็ได้ เราจะถือศีลนี่เราจะยึดมั่นถือมั่นในศีลก็ได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลก็ได้ ไปยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นเรื่องยุ่ง ผิดพลาดได้ ถือศีลไปอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นดีกว่า
ถาม : แล้วเราจะถือยังไงล่ะคะ คือว่าถือภายในศีล ๕ นี่หรือเปล่า
ท่านพุทธทาส : ปฏิบัติ ปฏิบัติตามนั้น แต่ไม่ต้องหมายมั่นให้เป็นตัวกูของกู ยึดถือจะเอานั่นเอานี่ ปฏิบัติไปตามนั้นเถอะ แล้วศีลมันก็ช่วยขูดเกลาไอ้กิเลสให้เอง ถ้ายึดมั่นถือมั่นมันกลายเป็นเพิ่มกิเลสอันใหม่ขึ้นมาเป็นตัวกู ของกู ศีลนั้นเลยสกปรก เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ศีลที่ยึดมั่นถือ ศีลที่ถือด้วยมิจฉาทิฐินั่นเป็น สีลัพพตปรามาส ศีลที่ถือด้วยสัมมาทิฐิก็เป็นศีลที่ถูกต้อง
เอ้า,ต้องปิดประชุมแล้ว เพราะมัน ๓ ทุ่มครึ่งแล้ว เดี๋ยวจะมีดับไฟเดี๋ยวจะลำบาก จะต้องไปเตรียมอะไรให้เสร็จก่อนปิดไฟ