แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายประจำวันเสาร์แห่งภาคอาสาฬหบูชาเป็นครั้งที่เก้าในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวข้อความในชุดธรรมะชีวีต่อไปตามเดิม แต่เป็นการกล่าวที่ผนวกกันเข้ากับเรื่องจริยศึกษา ดังนั้นจึงมีหัวข้อสำหรับกล่าวในวันนี้ว่า การดำรงชีวิตอย่างครูนั่นแหละคือธรรมะชีวีชั้นครู หัวข้อที่ทางจริยศึกษากำหนดไว้ให้ก็คือ หัวข้อว่าการดำรงชีวิตอย่างครู เดี๋ยวนี้เอามาจับกันเข้ากับการดำรงชีวิตอย่างธรรมะชีวี ว่าเป็นอย่างเดียวกัน ดำรงชีวิตอย่างครู ก็เป็นการดำรงธรรมะชีวีชั้นครู เรื่องที่จะต้องกล่าวก็คือ ครูในอุดมคติเป็นอย่างไร แล้วก็ธรรมะชีวีมีอุดมคติเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกันไปโดยลำดับ
ครูในอุมคติก็คือผู้นำ เป็นผู้นำ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำในด้านจิต ด้านวิญญาณ แต่จะให้เป็นผู้นำในด้านวัตถุธรรมทั่วไปก็ยังได้ ดังนั้นจึงกล่าวครูในอุดมคติไว้ว่า เป็นผู้นำในทางวัตถุก็ได้ เป็นผู้นำในทางวิญญาณก็ได้ ซึ่งจะได้กล่าวเป็นอย่างๆไป การนำสังคมในทางวัตถุ มันก็คือการนำในการแสวงหา ในการเสวยผล และในการเป็นอยู่ สำหรับการแสวงหา ก็คือแสวงหาชนิดที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่มีการกระทบกระทั่งใจนี้เป็นหลักทั่วไปในการแสวงหาอย่างสัตตบุรุษ การแสวงหาไม่เกิดทุกข์แก่ฝ่ายใด หมายความว่า ไม่ได้เห็นแก่ตน เห็นแต่ประโยชน์ของตน และก็ทำไปเพื่อประโยชน์ของตน โดยไม่ได้มองว่ามันจะกระทบกระทั่งประโยชน์ของใคร นี่เรียกว่าแสวงหาชนิดที่ถูกต้อง ครูเป็นผู้นำในการแสวงหาวัตถุ ปัจจัย เครื่องดำรงชีวิตอย่างถูกต้องอย่างนี้ ทีนี่ในการเสวยผล ผลงานที่ได้มาก็มีหลักพอที่จะสรุปได้ว่า เป็นการเสวยผลชนิดที่ไม่กินคนเดียว ผลงานที่ได้มาไม่ได้มุ่งหมายจะกินคนเดียว แต่ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยรอบข้างเท่าที่จะทำได้ เขาเป็นผู้มองเห็นว่าผู้อื่นกิน หรือให้ผู้อื่นกินย่อมจะอิ่มกว่ากินเอง งั้นของที่เราให้ผู้อื่นกินนั้นมันเป็นการอิ่มในทางจิตใจเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง การกินเองมันอิ่มแต่ในทางร่างกายฝ่ายเดียว ถ้าให้ผู้อื่นกินมันรู้สึกพอใจในการกระทำอันนั้น มีความอิ่มใจและยังอิ่มทั้งสองฝ่ายและอิ่มตลอดกาลนาน เช่นรับประทานเองรุ่งขึ้นก็ถ่ายแล้วดูก็จะหมดเรื่องกัน แต่ถ้าให้ผู้อื่นกินนึกขึ้นมาทีไร หรือพบปะกันทีไร ก็ยังมีความอิ่มเกิดขึ้นทุกครั้งไป อย่างนี้จึงเรียกว่าให้ผู้อื่นกินอิ่มกว่ากินเอง ครูผู้เป็นอุดมคติ ผู้มีอุดมคติ ย่อมนำในการเสวยผลชนิดที่ไม่กินคนเดียว อย่างในบาลีก็มีคำกล่าวว่า กินคนเดียวไม่ได้ซึ่งความสุข ให้กินคนเดียวได้แต่ความอิ่ม แต่ถ้าให้ผู้อื่นกินได้ทั้งความอิ่มและความสุข คือความพอใจ และความสุขใจ ถ้าคนเรามีหลัก ไม่กินคนเดียวอย่างนี้ จะมีความผูกพันกันอย่างมั่นคง เป็นสังคมที่มีความผูกพันกันอย่างมั่นคง พร้อมที่จะทำให้เรื่องยาก เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องง่าย หรือเรื่องเบา
ทีนี้ก็มาถึงการเป็นอยู่ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง มันก็เป็นคำพูดธรรมดาๆ คล้ายกับว่าพูดอย่างกำปั้นทุบดินมันไม่มีทางผิด เป็นอยู่อย่างถูกต้องก็คือเป็นอยู่อย่างมีประโยชน์อย่างที่ชีวิตนี้มีประโยชน์ไม่เป็นหมัน และชีวิตนี้มีอยู่อย่างมีประโยชน์ อย่างไม่เป็นหมัน มันจะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เท่าไรก็ใช้กันเต็มที่ ให้ประโยชน์ผูกพันกันด้วยความเป็นอยู่ชนิดที่ผูกพันกัน มีหลักการใหญ่ตามหลักธรรมะก็คือว่า เป็นอยู่อย่างเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ย่อมมีการสังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีทางที่จะอยู่คนเดียวได้ อยู่อย่างมีการสังคมสมาคม ทีนี้ก็อยู่ด้วยสังคมของเพื่อน ความเป็นเพื่อนกันในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มองเห็นอาการอันนี้ ซึ่งเป็นความจริงของธรรมชาติ หรือตามธรรมชาติ เราไม่ได้เกิดมาคนเดียวก็มีเพื่อนที่เกิดอยู่ร่วมโลกกันเป็นอันมากก็มีเพื่อนเกิด แล้วก็ทุกคนก็แก่ชราลง ชราลง นิก็มีเพื่อนแก่ ก็เจ็บไข้ได้ด้วยกันทุกคนไม่ว่าใครสักคนหนึ่ง โรคภัยไข้เจ็บมีมาก จนเจ็บไข้ด้วยกันทุกคน ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้เรียกว่าเป็นเพื่อนเจ็บไข้ ทีนี้ก็เป็นเพื่อนตาย อือม์หมายความว่าตายกันทุกคน คำว่าเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เป็นหลักการของธรรมชาติจัดให้ ธรรมชาติจัดให้เราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อเรานอกจากจะเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันแล้ว ยังจะเป็นเพื่อนพยายามต่อสู้ให้พ้นจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ข้อนี้ก็เคยพูดบ้างแล้ว แต่ว่าบางคนยังไม่เคยได้ยิน หากคืออยากจะบอกให้ทราบว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้พ้นได้ ไม่ให้รบกวนได้ เรามักจะสวดมนต์กันแต่เพียงว่า เรามีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้วจะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในข้อนี้หมายความว่า เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์จนถึงที่สุด ก็จะมีความรู้แจ้ง อย่างแท้จริง จนมองไม่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ไม่มีตน ที่จะเป็น ผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย มีแต่สังขารทั้งหลายปรุงแต่งกันแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ในอาการที่เรียกว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มองเห็นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลายตามธรรมชาติ ไม่มีตัวเราผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย จิตใดเห็นความจริงข้อนี้ จิตนั้นก็ไม่มีตัวตนสำหรับจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นสิ่งที่พ้นได้ด้วยการปฏิบัติชนิดที่เรียกได้ว่า มีพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร พระพุทธองค์ท่านทรงสอนเรื่องความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกกันว่า สมัตตแปด หรือ………. (นาทีที่ 13:17) มรรคมีองค์แปดนั้นเอง ถ้าปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดถึงที่สุดแล้วสติปัญญาก็เป็นไปถึงที่สุด จนมองเห็นธรรมชาติการเป็นไปตามธรรมชาติของธรรมชาติ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มันก็มีความรู้สึกชนิดที่ว่างจากตัวตน เลยไม่มีใครที่เป็นบุคคลที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย จิตลุถึงความจริงข้อนี้แล้ว ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตนสำหรับเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่แหละที่พูดว่า สัตว์ที่มีความเกิดก็พ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่ก็พ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บก็พ้นจากความเจ็บ ที่มีความตายก็พ้นจากความตาย ที่ทำให้ไม่มีตัวมีตน ที่จะเป็นผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีแต่ธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอยัตนะ เป็นการปรุงแต่งของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ความไม่มีบุคคลนี่ ขจัดเสียซึ่งความรู้สึกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา เรื่องไม่มีตัวตนนะเป็นเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา จำไว้ได้เลยว่าเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนาก็คือเรื่องสอนว่าไม่ได้มีตัวตน ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล มีแต่ธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติ ปรุงแต่งกันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มีความรู้สึกคิดนึก มีการจัดทำคล้ายๆกับว่ามันมีตัวตน หรือเป็นตัวเป็นตน ที่จริงมันเป็นเพียงผลของการปรุงแต่งตามธรรมชาติ นิถ้าเราอยู่กันอย่างเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ขอให้รู้ว่าเรามีความรักใคร่ในผู้อื่นอย่างกับเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่นี้มันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ชนิดที่ขนขวายต่อสู้เรื่อยไป เรื่อยไป เพื่อให้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะดังนั้น เราจึงเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันด้วย เราเป็นเพื่อนต่อสู้เพื่อให้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันด้วย มีอยู่เป็นสองอย่างอย่างนี้
เป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็คือเป็นอยู่อย่างมีประโยชน์แก่กันและกัน โดยหลักว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อกันและกัน และยังเป็นเพื่อนร่วมมือกันที่จะกำจัดเสียซึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เหลือแต่เบญจขันธ์อันบริสุทธิ์ คือมีจิตชนิดที่ไม่ได้ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน ให้มันเกิดดับไปตามธรรมชาติ นี้เรียกว่าพ้นจากความมีตัวตน พ้นจากความมีตัวตนแล้วก็ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย มัจจุราชนะทำอันตรายผู้ที่ไม่มีตัวตนไม่ได้ ทำอันตรายได้เฉพาะผู้ที่ยึดถือว่ามีตัวตน
นี่ในนำกันในทางวัตถุ หมายความว่าสูงขึ้นไปจนถึงมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้องพอผนวกมาอยู่ในหมวดนี้ว่า นำในทางวัตถุ สรุปความว่าการนำ นำ นำทางในเรื่องทางวัตถุนั้น คือนำในการแสวงหา นำในการเสวยผล นำในการเป็นอยู่ เป็นอยู่ในโลกเนี่ยแสวงหาก็ไม่เกิดทุกข์ ไม่กระทบกระทั่งกันบางทีช่วยเหลือร่วมมือกัน ในการเสวยผลก็ไม่กินคนเดียว แต่ว่ากินร่วมกัน ในการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอยู่อย่างที่มีประโยชน์แก่กันและกัน มีความเป็นเพื่อน ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อสู้ กับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และพยายามศึกษาฝึกฝนให้เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ชนิดทำให้มีความรู้สึกอยู่เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เอ้าทีนี้ก็มาถึงเรื่องนำในทางฝ่ายวิญญาณซึ่งมันคู่กันกับการนำฝ่ายวัตถุซึ่งกล่าวแล้ว การนำในทางฝ่ายวิญญาณนี่เป็นเรื่องทางจิตใจ อยู่อย่างไม่มีอุปสรรค์ใดๆ อยู่อย่างไม่มีเคราะห์กรรมใดๆ อยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลย การนำอย่างสูงสุด คือนำในทางวิญญาณน่ะหล่ะ นำกันในลักษณะอย่างนี้ นำการเป็นอยู่อย่างไม่มีอุปสรรค์ข้อแรกนี่ หมายความว่าเราเป็นคนไม่มีอุปสรรค์ ไม่มีศัตรูขัดขวางเหมือนที่เขารู้สึกกันอยู่ทั่วๆไป ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นอุปสรรค์ขัดขวาง เรากลับมองว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เรามีความรู้ มีความฉลาด มีความสามารถ พูดกันตรงๆว่าอุปสรรค์ อุปสรรค์นั่นไม่ใช่มาทำร้ายเรา แต่มาทำให้เราฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้นจนชนะอุปสรรค์ทั้งปวง เป็นผู้ทำให้เราสามารถขึ้น สามารถขึ้น จงยินดีต้อนรับอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในการงาน หรือในจิตในใจมีอุปสรรค์อันใดเกิดขึ้นก็ถือเอาเป็นบทเรียนสำหรับให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น จนไม่มีอุปสรรค์ในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปสามารถดำเนินประโยชน์หน้าที่การงานโดยไม่มีอุปสรรค์ ข้อสองที่ว่าอยู่อย่างไม่มีเคราะห์กรรม เดี๋ยวนี้ได้ยินพูดกันนัก มีเคราะห์ร้าย โชคร้าย มีเคราะห์กรรมอย่างนั้น อย่างนี้ ให้อะไรสักนิดหนึ่งก็ดูเป็นเรื่องเคราะห์กรรมไปเสียหมด ตะปูตำเท้าสักนิดหนึ่งก็ถือเป็นโชคร้ายเป็นเคราะห์กรรมกันไปซะหมด ถ้ามันเป็นเรื่องร้ายกาจกว่านั้นเกือบเป็นเกือบตาย ก็เรียกว่าเคราะห์กรรมอย่างร้ายมีความทุกข์ทนทรมานในจิตใจอย่างยิ่ง นี่เรียกว่าอยู่อย่างมีเคราะห์กรรม ถ้าเรามองเห็นตามที่เป็นจริง ว่าในโลกนี้การเป็นอยู่ในโลกนี้มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามเหตุตามปัจจัยของมันเป็นธรรมดาสามัญที่สุดที่มันจะต้องเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมดาของธรรมทั้งปวง ที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งกันไปมันก็มีอย่างนั้น ต้องการให้มองดูให้เห็นเป็นเช่นนั้นเอง ตามพระบาลีที่กล่าวไว้ …. ภาษาบาลี (นาทีที่ 23:00) เป็นเช่นนั้นเอง คือมันมีเหตุมีปัจจัยเช่นนั้นเอง งั้นมันก็มีผลไปตามเหตุปัจจัยเช่นนั้นเอง ทั้งเหตุและผลเป็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี อย่าเห็นเป็นเรื่องเคราะห์กรรมอะไรมากมาย มันเป็นเช่นนั้นเองตามเรื่องของธรรมชาติ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิดอาการเช่นนั้น เรียกว่าการเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมาน บางทีก็ยืดเยื้อเรื้อรังจนทำลายความหวังอะไรซะหมดก็เรียกกันว่าเคราะห์กรรมอย่างยิ่ง ทุกข์อย่างยิ่ง เหตุเห็นเป็นเคราะห์กรรมก็เลยเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าเห็นมันเช่นนั้นเองมันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย ถ้าจะตายเจ็บจนตายเช่นนั้นเองมันก็ไม่เป็นทุกข์เลย ไม่มีเคราะห์กรรม หรือว่าอยู่กันในโลกนี้มันก็ต้องมีอุบัติเหตุ รถชนกัน เจ็บ ตาย เรือล่ม จมน้ำตาย หรือว่าเรือบินตกคนตายอย่าได้เห็นเป็นเคราะห์กรรมอะไรที่ไหน เพราะมันเป็นเช่นนั้นเองตามเหตุตามปัจจัย เป็นอิทัปปัจจยตาปัจจุบัน อาตมาอยากจะบอกคำที่สำคัญที่สุดสักคำหนึ่ง ช่วยจดช่วยจำกันไว้ให้ดีว่า อิทัปปัจจยตาปัจจุบัน อิทัปปัจจยตาในปัจจุบัน ความที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันในปัจจุบันนี่เอง เช่นว่ามันรถมันชนกันมีคนตาย ก็มันอิทัปปัจจยตาปัจจุบัน คือเหตุปัจจัยเช่นนั้นมันก็ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันแล้วก็มีผลเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องคิดว่าเป็นเคราะห์ร้าย ไม่ต้องคิดว่าเป็นกรรมเก่า คิดว่าเป็นกรรมเก่ามันยังเสียใจ มันยังน้อยใจเสียใจนั่นนะ ยิ่งคิดว่าโชคร้ายก็ยิ่งเป็นทุกข์หนัก แต่คิดว่าเป็นอิทัปปัจจยตา คือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เท่านี้ เพียงเท่านี้ เท่านั้นหล่ะมันก็เลยสบาย ไม่ต้องมีความทุกข์ เลยไม่มีเคราะห์ร้าย ไม่มีโชคร้าย ไม่มีเคราะห์กรรม ไม่มีอะไรทำนองนั้น แม้ว่าจะต้องตายก็ไม่ใช่โชคร้าย ไม่ใช่เคราะห์ร้ายอะไร มันต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น ตามธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ถือเสียว่าตามธรรมดาก็เกิดแก่เจ็บตายอยู่แล้ว แล้วทำไมจะต้องมาหาเรื่องให้เป็นเคราะห์ เป็นกรรม เป็นโชคร้าย ให้หนักอกหนักใจแผดเผาหัวใจกันไปทำไมเช่นนั้นเอง เรียกว่า ….ภาษาบาลี ตคตา ตคตา(นาทีที่ 26:00) คืออิทัปปัจจยตา คือการที่เหตุปัจจัยมันปรุงแต่งกันอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น จะออกมาเป็นอะไรก็คือความเป็นเช่นนั้นไม่แปลกประหลาด แต่เมื่อมีหลักอย่างนี้แล้วมันก็จะต้องยอมรับไปอีกทางหนึ่งด้วยว่าไม่ต้องมีโชคดี ไม่ต้องมีบุญดี โชคดีอะไร ก็ให้มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมันเช่นนั้นเอง ไม่มีใครโชคดี ไม่มีใครโชคร้าย ไม่มีใครเคราะห์ดี ไม่มีใครเคราะห์ร้าย ก็เลยสบาย อยู่ก็สบาย ตายก็สบาย ตายก็เหมือนกับว่าเป็นธรรมดาอย่างหนึ่งเหมือนกับเกิดอยู่เพราะเกิดมามันก็ต้องตาย ในความเกิดนั้นนะมีความตายใส่มาให้ด้วยเสร็จเพราะมันเกิดมาสำหรับจะตาย ในความสบายนั่นนะมีความเจ็บไข้ซ่อนอยู่ในนั้นเสร็จมันก็จะต้องเจ็บไข้ ในความหนุ่มก็มีความแก่ซ่อนมาไว้ในความหนุ่มเสร็จเพราะมันหนุ่มสำหรับจะแก่ อย่างนี้แล้วก็เป็นคนที่จะไม่ต้องมีโชคร้ายอะไร ไม่มีเคราะห์ร้ายอะไร นำให้เกิดความเข้าในทางจิตทางวิญญาณนี้ได้ นับว่าเป็นการนำที่สูงขึ้นไป
ทีนี้สรุปอีกข้อหนึ่งว่านำในทางวิญญาณให้เป็นอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์เลย ความทุกข์เนี่ยมันเกิดขึ้นมาจากความโง่ที่ต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้แล้วมันเป็นไปไม่ได้ตามต้องการ ให้มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมัน ไม่ต้องการให้มากไปกว่าความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราต้องการจะมีผลอย่างไรก็สร้างเหตุปัจจัยอย่างนั้นแล้วก็ได้รับผล แต่ในบางกรณีมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็เห็นเป็นของธรรมดา ถ้าแล้วถ้ามีสติปัญญา ดำเนินกิจการให้มีความถูกต้องมันก็ต้องได้ผล มันก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยเช่นนั้นเอง ถ้าเราไม่อยากจะโชคร้ายก็อย่าคิดว่าจะโชคดีไม่ได้มีโชคชะตาอะไรโดยแท้จริง มีแต่การเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามกฏของธรรมชาติ แต่คนเขาไม่คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าต้องได้อย่างนี้ เกิดมาแล้วต้องอย่างนี้ ต้องได้อย่างนี้ พอไม่ได้อย่างนี้ก็เรียกว่าโชคร้าย เคราะห์ร้าย ก็โศกเศร้าเสียใจตีอกชกหัว เมื่อบุตรตาย ภรรยาตาย สามีตาย คนที่เป็นที่รักที่พอใจตายก็เป็นทุกข์กันใหญ่ โดยที่ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง นี่มีความรู้ความเข้าใจหรือสัมมาทิฐิอย่างสูงสุดว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ไม่อาจจะยึดถึงว่าจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้นตามความต้องการของเรา มันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างไหนตามความต้องการของเราไม่ได้เสมอไป มันเป็นได้ในส่วนเล็กน้อยที่เป็นเหตุปัจจัยที่ประกอบกระทำขึ้นได้ แต่ถ้าเรื่องใหญ่ๆ เช่นเป็นเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วมันไม่เคยได้ตามที่ต้องการ นี่เรียกว่าเป็นครูอุดมคติเป็นครูในทางจิตทางวิญญาณ ในแนวที่พระพุทธองค์ก็ทรงเป็นครู เป็นบรมครู เราสวดมนต์ในบทว่า สัทถาเทวะมนุษย์สานัง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นศาสดาคือเป็นครู ทั้งของเทวดา แลมนุษย์ เนี่ยทรงนำให้ทั้งเทวดาและมนุษย์ เป็นไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ ยิ่งๆขึ้นไปจนหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง พระศาสดาเกิดขึ้นมาเพื่อชี้ทางแห่งความไม่มีทุกข์ คือชี้ให้เห็นว่าต้องดำเนินจิตใจ อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วความรู้สึกที่เป็นทุกข์จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งสรุปแล้วเหลือคำเดียวว่าทรงชี้ทางให้เห็นความจริงว่า มันไม่ใช่ตน มันไม่มีตัวตน มันไม่ได้เป็นตัวตน มันเป็นแต่สิ่งต่างๆเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้ชีวิตร่างกายนี่ก็เป็นธาตุตามธรรมชาติเป็นมาตามเหตุตามปัจจัย ตลอดเวลาที่เหตุปัจจัยยังถูกต้องกันดีอยู่มันก็อยู่ ถ้ามันเกิดผิดพลาดประการใดมันก็ต้องเจ็บไข้หรือตาย ก็ไม่ต้องเสียใจเพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ครูเป็นผู้นำให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง ทั้งในฝ่ายวัตถุร่างกาย และในฝ่ายจิตใจ ดังที่ได้กล่าวแล้ว ในฝ่ายวัตถุ เรื่องความเป็นอยู่ทางวัตถุทางร่างกายก็นำให้มีการแสวงหาถูกต้อง มีการเสวยผลถูกต้อง มีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง สามคำเท่านี้ก็ดูจะพอแล้ว แสวงหาถูกต้อง เสวยผลถูกต้อง เป็นอยู่ถูกต้อง ในทางจิตทางวิญญาณนี่ก็เหมือนกัน ทำจิตใจชนิดที่ไม่มีอุปสรรค์อะไรแก่เรา เกิดขึ้นก็เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง กลับจะทำให้เรามีปัญญาลุล่วงผ่านพ้นไปได้ ไม่มีโชคร้าย ไม่มีเคราะห์กรรมอะไรแก่เรา มันเป็นไปเช่นนั้นเองตามกฎของธรรมชาติ ไม่มายึดถือว่าเป็นโชคร้ายเป็นเคราะห์กรรมเสียเวลา และเป็นอยู่อย่างไม่มีทุกข์ คือไม่ได้ยึดถือเอาอะไรไว้เป็นตัวตนของตนคือไม่ได้แบกอะไรไว้ในฐานะเป็นของหนัก ไม่มีการแบกถือของหนักก็เลยไม่มีทุกข์ นี้เป็นอุดมคติของครู
ทีนี้ก็จะมาถึงอุดมคติของผู้เป็นธรรมชีวี คำนี้มันแปลก บางคนจะไม่เคยได้ยิน บางคนก็เพิ่งจะเคยได้ยิน และก็ไม่เคยมีใครใช้คำนี้ แต่อาตมาเห็นว่ามันเป็นคำที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด ที่จะมาพูดจากันว่าเป็นธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรม มีชีวิตตามธรรม เพื่อธรรม โดยธรรม นี่เรียกว่าธรรมะชีวี สำหรับทุกคนที่จะต้องสนใจให้มีชีวิตเป็นอยู่อย่างที่เป็นธรรม ประกอบไปด้วยธรรม และอาจจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ ธรรมะอะไรก็ได้ ในที่นี้ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับครูที่เป็นอุดมคติอย่างที่กล่าวแล้ว ครูอุดมคติเป็นผู้นำอย่างไร และธรรมะชีวีก็เป็นผู้นำอย่างนั้น หรือเป็นผู้ตามแล้วแต่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ถ้าเป็นฝ่ายครูก็เป็นผู้นำ ถ้าเป็นศิษย์ก็เป็นผู้ตาม ทั้งศิษย์ทั้งครูก็เรียกว่าดำรงอยู่ในความถูกต้องของธรรมะ เป็นธรรมะชีวีด้วยกันทั้งนั้น ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต ในฐานะเป็นครูก็เป็นผู้นำ ในฐานะเป็นลูกศิษย์ก็เป็นผู้ตาม แต่แล้วมันก็เหมือนกันทั้งผู้นำและผู้ตาม คือมีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมะ เรามีธรรมะเป็นเครื่องมือ กิจการทุกอย่างมันต้องมีเครื่องมือ แม้แต่การดำเนินชีวิตเป็นอยู่ก็ยังต้องมีเครื่องมือมีธรรมะเป็นเครื่องดำเนิน มีธรรมะเป็นเครื่องมือสำหรับประพฤติปฏิบัติตามธรรมะนั้น แล้วให้ได้รับธรรมะอีกพวกหนึ่งคือธรรมะที่เป็นผลที่เราต้องการ
ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ก็มีอยู่ด้วยกันมากมายเหมือนกัน เป็นเครื่องมือให้การงานสำเร็จก็มี เป็นเครื่องมือให้การงานมีกำลังก็มี เป็นเครื่องมือให้ง่ายเหมือนกับปาฏิหารก็มี ธรรมะเป็นเครื่องมือให้สำเร็จผลที่ปรารถนา ก็อยากระบุไปยังฆราวาสธรรม ๔ ประการ เรื่องนี้ก็เคยพูดด้วยกันบ่อยๆ บางคนก็ยังคงจำได้ บางคนก็ลืมซะแล้ว ฆราวาสธรรม ๔ ประการพระพุทธเจ้าตรัสไว้สำหรับฆราวาสเป็นเครื่องใช้เป็นเครื่องมือ ต้องการอะไรจงใช้ฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ เพื่อจะให้บรรลุผลสำเร็จ ๔ ประการคือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ จำไว้ให้ขึ้นใจ ให้คล่องปาก ให้คล่องใจ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นเครื่องมือทำให้การงานสำเร็จ สัจจะคือความจริงใจในสิ่งที่ต้องการ ในสิ่งที่ประสงค์ ต้องมีความจริงใจต่อสิ่งนั้น จะต้องการธรรมะสถานะผลอย่างไรก็ให้มันจริงต่อสิ่งนั้น ก็จะได้มีการกระทำจริงถึงที่สุดต่อสิ่งนั้น มีความตั้งใจจริง มีการกระทำจริง มีความซื่อตรงในสิ่งนั้นจริงๆเป็นข้อแรก และก็มีข้อที่สองคือ ทมะ บังคับตนให้ทำอย่างนั้นจริงๆ อย่างสุดชีวิตจิตใจ บังคับให้คงมีสัจจะไว้ตลอดเวลา และก็มี ขันติ ความอดกลั้นอดทน เพราะว่าการทำอะไรจริงนั้นนะ มันก็ต้องมีความหนักมีความเหนื่อยมีความเจ็บปวดมีความอะไรเป็นธรรมดา ก็ต้องมีความอดกลั้นอดทนหรือว่าการกระทำนั้นๆมันไม่สำเร็จผลทันที มันต้องรอเวลาของบางอย่างมีฤดูกาลต้องรอเวลาก็มี ไม้ผลธรรมดานี่ล่ะไม่ใช่ว่าทำลงไปทันที มันจะมีผลทันทีไปเสียทุกอย่างก็หาไม่ บางอย่างหรือส่วนมากมันก็ต้องรอเวลา นี่ต้องใช้ความอดทน ถ้าเจ็บปวดเหน็ดเหนื่อยก็ต้องอดทน ถ้าต้องรอเวลาก็ต้องอดทน หรืออดทนต่อข้าศึกคือกิเลสที่มาทำให้เสียเรื่อง มาทำให้เรื่องนั้นเหลวไหลไป กิเลสมาบังคับจิตใจให้เลิกให้เพิกให้ถอนจากสิ่งนั้น ก็บังคับก็อดทน การอดทนอย่างยิ่งคือการอดทนต่อการบีบบังคับของกิเลส อดทนอย่างอื่นมันก็ขึ้นอยู่กับการอดทนต่อการบีบบังคับของกิเลสทั้งนั้นแหละ ทนความตรากตรำเหน็ดเหนื่อยก็ทนได้ ทนเจ็บปวดเจ็บไข้ก็ทนได้ ทนเขาด่าเขาดูถูกเขานินทาก็ทนได้ ทั้งหมดมันก็เป็นการทนต่อการบีบคั้นของกิเลสที่จะยุให้ลุกขึ้นต่อสู้หรือทำร้ายซึ่งกันและกันแต่เราอดทนได้ และอดทนอย่างพอใจอดทนกลายเป็นเรื่องสนุกสนานไปเสียก็มี มีความยิ้มแย้มแจ่มใสในการอดทนว่ามันเป็นอย่างนี้เอง นี่อดทนอย่างนี้ก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ แต่ยังมีทางออกอีกทางหนึ่งเพื่อว่าไม่ต้องอดทนมากมายรุนแรงหรือเนิ่นนานเกินไปก็มีสิ่งที่เรียกว่า สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่กิเลส ทำอยู่ทุกอย่างเพื่อระบายกิเลสระบายข้าศึกคือกิเลสออกไป ออกไป ออกไป การทำความดีความงามอยู่เป็นประจำ การเจริญภาวนา การสวดมนต์ การนึกถึงธรรมะ หรือแม้แต่การปฏิบัติธรรมะที่เกี่ยวข้องกัน ก็ช่วยระบาย ระบายอำนาจของกิเลสให้มันลดลง ไม่กดดันมากเกินไป ไม่บีบคั้นมากเกินๆไปอยู่ในสภาพที่ทนไหว เรียกว่ามีอุบายแก้มือแก้ลำกันไปในตัวด้วยอุบายเป็นเครื่องสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนออกไปเสียจากตน นี่คือจาคะ จาคะ แม้แต่เรื่องให้ทาน ให้ทานนี่ก็เป็นเรื่องระบายกิเลสออกไปจากตนเหมือนกัน การทำบุญให้ทานด้วยสิ่งของก็ระบายความเห็นแก่ตน ความยึดถือของตน ให้มันลดน้อยลงไป แล้วมันก็ไม่บีบคั้นจิตใจเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่า จาคะ จาคะ สละ สละนั้นก็คือสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนให้ออกไปเสียจากตน สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่ธรรมะเป็นเครื่องมือสำหรับฆราวาสจะประสบความสำเร็จในความเป็นฆราวาส ที่จะให้ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็จะประสบความสำเร็จในการพ้นจากความเป็นฆราวาสไปเป็นพระอริยเจ้า จะปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้นไปพ้นจากการเป็นฆราวาส ก็ต้องใช้ธรรม ๔ อย่างนี่ล่ะ สัจจะ จริงใจต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ทมะ บังคับตนเองปฏิบัติตนเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ขันติอดทนความลำบากในการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จาคะสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่การบรรลุนิพพาน ออกไปออกไป ไอ้ทำ ๔ อย่างนี้เดียว ๔ อย่าง อย่างเดียว หมวดเดียวกันนี่ล่ะจะไกลออกไป ไกลออกไปจนถึงว่า พ้นจากความเป็นฆราวาส เป็นพระอริยะเจ้า อริยะบุคคลไปโน่น บรรลุมรรคผลนิพพานไปเลย สำหรับจะอยู่เป็นฆราวาสก็ ๔ ข้อนี้ช่วยได้ จะพ้นไปจากความเป็นฆราวาสก็ ๔ ข้อนี้ช่วยได้ งั้นขอให้ต้อนรับให้ดีๆว่าทำ ทำความสำเร็จให้แก่ฆราวาสมีอยู่ ๔ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันอย่างนี้ โดยท่านตรัสว่า ถ้าไม่เชื่อก็ไปถามสมณพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ผู้อื่นดูสิ ว่าสำหรับฆราวาสมีธรรมะไหนจะพิเศษดีไปกว่าธรรมะ ๔ ข้อนี้ ทรงท้าไว้อย่างนี้ ก็ลองไปถามดูในที่สุดมันก็ไม่มี ก็มีไอ้ ๔ อย่างนี้มันเรียกว่า ธรรมะเครื่องมือให้ทำงานสำเร็จ
ทีนี้เครื่องมือให้เกิดกำลังโดยเฉพาะ เครื่องมือให้เกิดกำลังโดยเฉพาะก็ได้ยินกันมาแล้วทั้งนั้นล่ะ แต่แต่ไม่ค่อยจำไม่ค่อยสนใจก็ได้ พละ ๔ อินทรีย์ ๔ เออ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ ในนวโกวาทหนังสือเล่มแรกมันก็เคยมีเคยเรียน พละ ๕ กำลัง ๕ อย่าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธาเป็นกำลัง ถ้ามีศรัทธาแล้วมีกำลังแน่ ถ้าไม่มีศรัทธาในสิ่งใด แล้วมันก็ไม่มีกำลังที่จะทำในสิ่งนั้น วิริยะก็เป็นกำลัง มีความกล้าหาญ มีความบากบั่น มีการรุกหน้าไม่ถอยหลังเรียกว่า วิริยะก็เป็นตัวกำลัง สติก็เป็นตัวกำลังควบคุมควบคุมไม่ทำผิดพลาด ให้ถูกต้องทุกขั้นตอน สติเป็นกำลัง สมาธิก็เป็นกำลังอย่างยิ่งคือพลังจิตทั้งหมดระดมรวมกันเป็นกำลังเรียกว่ากำลังสมาธิ คือกำลังจิตทั้งหมดทั้งสิ้น ปัญญา ปัญญาความรอบรู้ทุกอย่างที่ควรรอบรู้นี่เป็นกำลังจะแก้ปัญหาแก้ข้อสงสัยแก้อุปสรรค์ใดๆได้ด้วยปัญญา นี่เครื่องมือที่ให้เกิดกำลัง ธรรมะเป็นเครื่องมือให้เกิดกำลังมีอยู่ ๕ อย่างอย่างนี้ ศรัทธาเป็นกำลัง วิริยะเป็นกำลัง สติเป็นกำลัง สมาธิเป็นกำลัง ปัญญาเป็นกำลัง รวมกันเป็น ๕ อย่าง ธรรมะที่เป็นเครื่องมือให้เกิดกำลัง ถ้าใครไม่มีกำลังอ่อนแอทางจิตใจ ล่ะก็เพิ่มกำลัง ๕ ประการนี้ เพิ่มศรัทธา เพิ่มวิริยะ เพิ่มสติ เพิ่มสมาธิ เพิ่มปัญญา ก็จะมีกำลัง
ที่นี่ธรรมะเป็นเครื่องมือให้สำเร็จประโยชน์เหมือนกับปาฏิหาร เครื่องมือให้เกิดปาฏิหาร เครื่องมือให้เกิดปาฏิหาร ไอ้คำว่าปาฏิหารนี่ก็แปลว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ให้สำเร็จประโยชน์เกินธรรมดาจนน่าอัศจรรย์ก็เรียกว่าปาฏิหาร ปาฏิหาร จะเป็นปาฏิหารชนิดไหนก็ล้วนแต่มีความหมายอย่างนี้ก็แล้วแต่ เพื่อให้เกิดความสำเร็จง่ายดายผิดธรรมดาอย่างน่าอัศจรรย์ เราก็มีธรรมะสำหรับให้เกิดปาฏิหารคือความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ก็เรียกว่า อิทธิบาท ๔ ธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว อิทธิบาท ๔ นี่ธรรมะที่ทำให้เหมือนกับมีปาฏิหาร ฉันทะความพอใจในสิ่งนั้น วิริยะความพากเพียรในสิ่งนั้น จิตตะความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น วิมังสาความสอดส่องค้นคว้าในสิ่งนั้น ไอ้พวกที่มันทำระเบิดปรมาณูได้ ทำจรวดไปอวกาศได้ไปเหยียบดวงจันทร์ได้ มันอาศัยธรรมะ ๔ อย่างนี้ก้าวหน้าอย่างยิ่ง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา โดยเฉพาะวิมังสาสอดส่องค้นคว้าอยู่เสมอ จนไปเหยียบโลกพระจันทร์ได้ และกลับมาก็ได้ และทำอะไรอีกมากมายหลายอย่างล้วนแต่น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอนที่จะปรินิพพานว่า ถ้าอยากจะอยู่สักกัปป์หนึ่ง ถึงกัปป์แห่งชีวิตก็ทำได้ โดยมีอิทธิบาท ๔ เนี่ย คำว่าจะมีชีวิตถึงกัปป์ หมดๆทั้งกัปป์ เขาตีความกันยุ่งเหยิง ท่านก็กัปป์ชนิดที่ไม่รู้กี่อสงไขยชาติ ที่จริงในที่นี้เข้าใจว่าเป็นกัปป์แห่งชีวิตเท่านั้นเอง พระองค์จะปรินิพพานเสียเมื่อพระชนม์ชีวิต ๘๐ ปี แต่ถ้าจะอยู่จนถึงสิ้นกัปป์แห่งชีวิตสมัยนั้นในอินเดียในครั้งพุทธกาลนั้นจะเป็น ๑๒๐ ปี เขาถือว่า ๑๒๐ ปีจึงจะตาย อยู่ถึง ๑๒๐ ปีก็สิ้นกัปป์ กัปป์หนึ่งแห่งชีวิต นี่พระองค์มาปรินิพพานเสีย ตั้งแต่พระชนม์มายุ ๘๐ ปี พวกเราก็เสียไป ๔๐ ปี ถ้าว่าพระอานนท์หรือใครได้ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงใช้อิทธิบาท เพื่อมีชีวิตอยู่ตลอดกัปป์แห่งชีวิตก็จะอยู่ได้อีก ๔๐ ปี ครึ่ง ครึ่งตัวนะ ครึ่งตัวของไอ้การอยู่ ๘๐ ปี นี่เรียกว่าถ้าอยากจะอยู่ให้มีชีวิตครบกัปป์อย่างเดี่ยวนี้นะ อย่างเดี๋ยวนี้เอาแต่ว่าสมมุติกันว่าสัก ๑๐๐ ปี ไม่ถึง ๑๒๐ ปี เอาสัก ๑๐๐ ปี คนที่ตั้งใจรักษาประพฤติจะทำให้ถูกต้องตามอิทธิบาท ๔ จะอยู่ชีวิตรอดไปได้ถึง ๑๐๐ ปีก็ดี คำว่าปาฏิหารนะคือประหลาดกว่าธรรมดา น่าอัศจรรย์กว่าธรรมดา ถ้าอยากให้มีอะไรมากกว่าธรรมดาหรือเต็มที่ที่ธรรมชาติอันลึกลับมันกำหนดไว้ก็จงมีอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และใช้ให้เต็มที่ ค้นคว้าให้เต็มที่ ปฏิบัติให้เต็มที่ พยายามให้เต็มที่ และมีความพอใจอย่างยิ่งที่จะทำเช่นนั้น ที่จะเป็นเช่นนั้น ใช้สิ่งนั้นมันก็เป็นไปในทางที่ปรารถนา นี่เรียกว่าจะมีชีวิตอยู่เต็มกัปป์ก็ได้ หรือว่าจะทำอะไรให้แปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ก็ได้ โดยใช้ธรรมะ ๔ อย่างนี้ค้นพบสิ่งที่แปลกประหลาดน่าอัศจรรย์อย่างที่คนในโลกปัจจุบันเขากำลังค้นพบกระทำกันอยู่ เรื่องน่าอัศจรรย์ต่างๆ ที่เราสมัยก่อน ไม่เคยมี ไม่เคยเห็น ก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็เป็นไปได้เหลือประมาณอย่างเช่นใช้ถ่ายภาพถ่ายเสียงทันทีเดี๋ยวนี้มันก็ทำได้ ซึ่งมันไม่เคยมีมาแต่ก่อน ไอ้ของแปลกประหลาดอย่างปาฏิหารก็เกิดขึ้นแล้วมันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันเกิดขึ้นเพราะธรรมะ ๔ ประการนี้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีความพอใจ มีความพากเพียร มีความสอดส่องมีการค้นคว้าอยู่เรื่อยไปมันก็ทำได้ นี่ถ้าทุกคนอยากทำอะไรอย่างมีปาฏิหารก็ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ที่เรียกว่าอิทธิบาท
รวมความว่าถ้าเราจะเป็นธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีชีวิตด้วยธรรมะ แล้วก็รู้จักใช้ธรรมะให้เต็มที่ ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ ทำงานให้สำเร็จโดยฆราวาสธรรม ๔ ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือมีกำลังอย่างยิ่งก็โดยปฏิบัติธรรมะ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ มีธรรมะเป็นเครื่องมือให้ทำอะไรๆสำเร็จเหมือนปาฏิหารก็ใช้อิทธิบาท ๔ เป็นอันว่าได้ตามที่ต้องการ มีธรรมะเป็นเครื่องมือจะให้ได้ธรรมะที่ควรปรารถนา
ที่นี้จะพูดถึงธรรมะหลักที่ควรปรารถนาก็คือการดับทุกข์ ดับทุกข์ ดับทุกข์ แต่แจกออกเป็น การปฏิบัติก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา อยากมี ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออยากจะมีอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งก็ได้ จงมีธรรมะเครื่องมือเหล่านั้นให้เพียงพอ ธรรมะเครื่องมือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ที่จะมี ศีล สมาธิ ปัญญา ปลุกปล้ำกันจนมีศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยธรรมะเป็นเครื่องมือคือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ และธรรมะเป็นกำลังคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา และธรรมะช่วยให้เกิดปาฏิหารคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เหล่านี้เป็นธรรมะที่ได้เคยอ่าน เคยผ่านตากันมาแล้วทั้งนั้น แต่ว่ามีความสนใจน้อยเกินไป จึงไม่เข้าใจถึงเรื่องอันลึกซึ้งอันประณีตของธรรมะเหล่านั้น ดังนั้นขอให้เป็นธรรมะชีวีจริงๆ จะมีธรรมะในชีวิต มีชีวิตในธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ แต่จริงๆแล้วขอให้ใช้ธรรมะเหล่านี้อยู่เป็นประจำใช้ฆราวาสธรรมเหมือนว่าเล่น ใช้พละ ๕ เหมือนว่าเล่น ใช้อิทธิบาทเหมือนว่าเล่นอยู่เถิด นั่นหล่ะคือธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต
ทีนี้อยากจะแนะให้สังเกต ธรรมะชื่อเดียวกัน เป็นได้ทั้งธรรมะเครื่องมือ และธรรมะหลักที่ต้องการก็ได้เหมือนกัน เช่นคำว่าศีลอย่างนี้เป็นธรรมะเครื่องมือก็ได้ เป็นธรรมะที่ต้องการก็ได้ เป็นธรรมะที่เราต้องการแล้วก็มีทุกอย่างที่กระทำเพื่อให้มีศีล ศีลก็เป็นที่มุ่งหวังที่ต้องการ แต่ศีลจะเป็นธรรมะเครื่องมือก็ได้คือเป็นเครื่องมือให้เกิดสมาธิได้โดยง่าย สมาธิก็เหมือนกันเป็นธรรมเครื่องมือให้เกิดปัญญาก็ได้ เป็นธรรมะตัวเองสำหรับให้เกิดผลในส่วนที่เป็นสมาธิก็ได้ ปัญญาเป็นธรรมะเครื่องมือให้สำเร็จประโยชน์อย่างอื่นก็ได้ เป็นตัวเองให้ตัดกิเลส ตัดอนุสัย ตัดอาสวะอะไรก็ได้ คำว่าสัจจะเป็นต้น เป็นเครื่องมือก็ได้เป็นตัวเองก็ได้ คำว่าวิริยะก็เหมือนกัน เป็นเครื่องมือให้สำเร็จประโยชน์ในการงานในหน้าที่ วิริยะก็เป็นเครื่องมือ แต่ถ้าวิริยะหมายถึงตัวที่จะบรรลุธรรมะ มันก็เป็นธรรมะหลักได้ ข้อนี้ไม่ต้องสับสนว่าธรรมะนั้นบางทีมีฐานะเป็นเครื่องมือให้เกิดธรรมะอื่น บางทีก็เป็นตัวเองสำหรับทำหน้าที่โดยตรงของตัวเองอย่างนี้ก็มี เหมือนเราคนหนึ่งบางทีก็เป็นผู้ช่วยผู้อื่น แต่บางทีเราก็เป็นตัวเองทำงานของตัวเอง แล้วแต่ว่าจะจัดให้ทำหน้าที่อะไร
ทีนี้ก็อยากจะเน้นถึงคำว่านำ ผู้นำครูก็ต้องเป็นผู้นำ ธรรมชีวีก็จะต้องเป็นผู้นำ คือว่าดำรงตนอยู่ในฐานะเป็นผู้นำก็ยิ่งดี ยิ่งดีกว่าเป็นผู้ตาม คือมันมีผลมากกว่ามันน่าอัศจรรย์กว่า ครูเป็นผู้นำสังคม ธรรมะชีวีก็เป็นผู้นำในทางสังคม นำหมู่บ้าน เอ้าเขาเรียกว่านำหมู่บ้าน ครูก็ดีธรรมะชีวีก็ดีเป็นผู้นำแห่งหมู่บ้าน นำหมู่บ้านนี้ในทางสังคมให้กลมเกลียวกัน ครูหรือธรรมะชีวีมีธรรมะมากพอที่จะเป็นผู้นำหมู่บ้านนี้ให้สำเร็จประโยชน์ในการอยู่กันเป็นกลุ่ม เพื่อให้กลมเกลียวกันนำให้เกิดความกลมเกลียวกัน ให้คนโง่อยู่กับคนฉลาดได้ ให้คนมั่งมีอยู่กับคนยากจนได้ คนยากจนอยู่กับคนมั่งมีได้ คนแข็งแรงอยู่กับคนอ่อนแอได้ คนอ่อนแออยู่กับคนแข็งแรงได้ ถ้าเรามีธรรมะเป็นเครื่องมือมีการนำที่ถูกต้องก็จะเกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันได้แม้ในระหว่างคนที่ต่างกัน ต่างกันในคนละอย่าง ไอ้คนหนี่งมั่งมีคนหนึ่งยากจนแต่ก็ยังรักใคร่กลมเกลียวกันได้ คนหนึ่งแข็งแรงคนหนึ่งอ่อนแอก็ยังกลมเกลียวกันได้มันอยู่ที่ผู้นำ ถ้าได้ผู้นำที่ดีก็ให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกันได้อย่างนี้เสมอไป ธรรมะชีวีก็นำได้ ครูในอุดมคติก็นำได้ หรือว่าจะนำประชาธิปไตยนำความเป็นประชาธิปไตยนี้ยิ่งจะง่ายยิ่งจะตรงตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา ที่ถือหลักว่าเราเป็นเพื่อน เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่ยอดของประชาธิปไตยล่ะ ทุกคนมีความเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเสมอกันอย่างนี้ แล้วก็มาทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ไม่รู้หัวอกเดียวกันปัญหาเดียวกัน มาร่วมแรงกันในฐานะมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นปัญหา จะนำในทางประชาธิปไตยก็นำได้ดีที่สุด หรือว่าจะนำในการสร้างยุวชน ครูก็สร้างยุวชนที่ดีได้ ธรรมะชีวีผู้มีธรรมะก็สร้างยุวชนคือเด็กๆช่วยกันสร้างเด็กๆที่ดีได้ตามที่ควรจะต้องการ นี่เขาเรียกเป็นผู้นำเหมือนกัน นำยุวชนให้เดินมาถูกทางเป็นยุวชนที่ดี ครูก็นำได้ธรรมะชีวีก็นำได้ เพราะว่ามันกลายเป็นบุคคลชนิดเดียวกันซะแล้ว ในที่สุดนำให้สร้างโลก สร้างโลกที่ดีได้เมื่อทำคนให้เป็นคนดีได้ ทุกคนก็เป็นโลกที่ดี เราสร้างโลกด้วยการสร้างคนพยายามสร้างคนแต่ละคนให้เป็นคนดี เมื่อคนดี แล้วอะไรมันก็ดี ครอบครัวนั้นมันก็ดี หมู่บ้านนั้นมันก็ดี ตำบลนั้นมันก็ดี เมืองนั้นก็ดี จังหวัดก็ดี ประเทศก็ดี ทั้งโลกก็ดี เมื่อทุกคนเป็นคนดี นี่เรียกว่าช่วยกันสร้างโลกที่ดีมีความสุขได้ เป็นอันว่าครูกับธรรมะชีวี เนี่ยก็เป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ครูเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะเหมือนกัน
ดูอุดมคติสมบัติส่วนตัวกันอีกนิดหนึ่ง อีกนิดหนึ่ง ผู้มีอุดมคติเป็นธรรมะชีวีก็ดี เป็นครูก็ดีทำงานได้ผลเกินค่าที่ได้รับตอบแทน ไม่ว่าใครมันต้องรับผลตอบแทนแต่ว่าผลตอบแทนนั้นบางคนทำงานให้ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเป็นครูที่อุดมคติมีอุดมคติแล้วจะทำงานให้แก่โลกมากมายเกินค่าของประโยชน์ที่รับเอามาจากโลก เช่นเงินเดือนเป็นต้น ต้องทำให้ละให้เกิดผลให้แก่โลกเกินค่าของสิ่งที่รับมาจากโลก งั้นครูก็ดี ธรรมะชีวีก็ดี มีลักษณะอย่างนี้ คือทำงานให้โลกเกินค่าของสิ่งที่รับมาจากสังคม เรารับประโยชน์อะไรจากสังคมเป็นการตอบแทนอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้เป็นอะไรก็ตาม แต่เราทำงานให้เกินค่านั้นเสมอก็เราเป็นผู้สร้างในทางจิตใจ ให้เกิดผลในทางจิตใจ ตีราคาแล้วมันก็มากเกินค่าของเงินเดือนที่เราได้รับ ทีนี่เราก็เรียกร้องประโยชน์นี่น้อยกว่าหน้าที่ที่เราทำให้แก่สังคม เราทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากมาย แต่เราเรียกร้องสิ่งตอบแทนเพียงเล็กน้อยเพียงพออยู่ได้ พอเพียงพอไม่ตายเท่านั้น อยู่สะดวกสบายเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป อย่างนี้เรียกว่าเราเรียกร้องสิทธิน้อยกว่าหน้าที่ที่เรากระทำให้แก่สังคมกับทำประโยชน์แก่สังคมมากมายมหาศาล เรียกร้องสิทธิเพื่อประโยชน์ส่วนตนนิดเดียวก็เลยเป็นเจ้าหนี้ เป็นเจ้าหนี้คือมีบุญคุณอยู่เหนือ เหนือ เหนือทุกคนเหนือโลกเหนือเจ้าหนี้เหนือโลก ทีนี้มันจะเป็นอย่างนั้นได้ก็ด้วยมีหลักยึดถือถูกต้องคือเราไม่เห็นแก่ตัว อย่าทำงานเพื่อตัว เพื่อเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์แก่ตัว ทำงานเพื่อหน้าที่ เพื่อหน้าที่โดยไม่อั้นสามารถทำได้เท่าไรทั้งหมดทำงานเพื่อหน้าที่ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไอ้อย่างนี้มันก็เรียกว่าทำงานเพื่อโลก ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเองแล้วก็ต้องเป็นอยู่ชนิดที่พอดี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ ไม่หลงใหลในความสุขเกิดแต่อายัตนะ คือไม่หลงใหลในความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังทางตาทางหู ทางจมูกทางลิ้นไม่ไม่หลงใหลในสิ่งเหล่านั้น เป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟือย เป็นอยู่อย่างที่ว่าจะมีเรียวมีแรงทำงานในหน้าที่ของตนได้เท่านั้นเอง กินอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เห็นแก่ความสุขของความฟุ่มเฟือย กินอยู่ชนิดให้พอมีหน้าที่ พอมีเรียวแรงสำหรับทำหน้าที่ได้ กินอยู่เพียงให้มีเรี่ยวแรงสำหรับปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ต้องกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย นี้มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่ที่เนื้อที่ตัวเป็นการนำที่ได้ผลดีที่เราทำจริงให้เขาดู เขาไว้ใจเขาก็ทำตาม เพียงแต่บอกให้ผู้อื่นทำแล้วตัวเองไม่ทำนี้ไม่มีใครทำตาม แต่ถ้าเราทำดู ให้ทำให้ดู ทำให้จริงประโยชน์จริงก็มีคนทำตาม งั้นเราก็มีการเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกกระเบียดนิ้วของเราเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่ทุกเวลา เป็นครูผู้นำโดยอัตโนมัติ เป็นธรรมะชีวีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องประกาศตัว ไม่ต้องยกป้าย ไม่ต้องแขวนยี่ห้อ มันก็มีคนทำตามมีคนเชื่อมีคนไว้วางใจไอ้ที่โฆษณาตัวเอง ยกป้ายให้แก่ตัวเองนั้นนะระวังให้ดี จะไม่มีคนเชื่อเลยก็ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามที่เป็นอยู่จริง
และเวลานี้ก็สมควรแล้วสรุปความ การดำรงชีวิตอย่างครู ก็คือธรรมะชีวีชั้นครู เป็นธรรมะชีวีชั้นธรรมดาก็ได้ เป็นธรรมะชีวีชั้นครูก็ได้ ถ้าทำให้ดีจะเป็นตัวอย่างแก่ทุกคน แล้วก็เป็นธรรมะชีวีชั้นครู เราทุกคนเป็นครูได้ด้วยการทำดีให้ดู ทำความดีให้ดู เป็นอยู่อย่างถูกต้องให้ดู เป็นครูโดยไม่ต้องยกป้าย โดยไม่ต้องติดป้ายที่หน้าอกว่าเป็นครูชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ว่ามีแห่งความเป็นครูแสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัว ทุกๆเวลา ทุกๆอิริยาบทนี่คือมีธรรมะ มีธรรมะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัว เป็นการแสดงให้เห็นความถูกต้อง อยู่ที่เนื้อที่ตัวทุกขั้นทุกตอนตั้งแต่เกิดจนตายชีวิตนี้แสดงตัวอย่างที่ดีที่ถูกต้องที่เนื้อที่ตัวอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมะชีวีในความหมายอย่างนี้ เป็นผู้มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะโดยการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าเป็นผู้นำในทางที่จะเป็นเช่นนั้น ในการเป็นเช่นนั้นให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะยุวชนที่เพิ่งเกิดมายังไม่รู้ทิศทาง ผู้ที่เกิดก่อนก็นำทางให้ยุวชนที่เกิดทีหลังรู้จักทิศทางดำเนินไปอย่างถูกต้อง จึงเป็นผู้สร้างโลกและทำให้โดยไม่คิดอะไรตอบแทนก็เป็นหนี้บุญคุณแก่บุคคลทั้งโลก เป็นปูชนียบุคคลของคนทั้งโลกและหวังว่าทุกคนจะได้มองดูพิจารณาดูเห็นความหมายแห่งคำว่าธรรมะชีวีแล้วก็มีความพอใจที่จะให้ชีวิตของตนนี้เป็นธรรมะชีวี เป็นชีวิตที่มีธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ ก็นับว่ามันดีที่สุดไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้เป็นธรรมะชีวีโดยแท้จริงเรียกว่าดีที่สุด ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์ควรจะได้สิ่งนี้คือธรรมะชีวีตา ความเป็นธรรมะชีวี มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวเป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แก่โลกทั้งสิ้นอยู่ตลอดเวลา
สรุปความอีกครั้งหนึ่งว่าการดำรงชีวีอย่างครู ก็คือธรรมะชีวีชั้นครูขอให้พยายามเป็นธรรมะชีวีชั้นครู คือเป็นผู้นำแก่มนุษย์ที่เพิ่งมาในการสุดท้ายภายหลังอยู่ด้วยกันทุกๆคนเถิด การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้วขอยุติการบรรยาย เปิดโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลายได้สวดบทพระธรรม คณะสาธยาย ส่งเสริมกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปตามแนวที่ได้แสดงมาในกาลบัดนี้