แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งนี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า "คุณธรรมของครู" ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๕ แห่งหัวข้อที่ได้กำหนดให้ (แต่)ก่อนแต่ที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยตรง ก็อยากจะพูดถึงคำที่เกี่ยวกับคำว่า "คุณ" อันนี้สักแต่เล็กน้อยก่อน อันจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มีคำเกิดขึ้นเป็น ๓ คำ คือ คำว่า "คุณ" เฉยๆ คำหนึ่ง คำว่า "คุณค่า" อีกคำหนึ่ง และคำว่า "คุณธรรม" อีกคำหนึ่ง
คำว่า "คุณ" เฉยๆ นี่เป็นคำเก่า ตามหลักปรัชญาโบราณของอินเดีย มีการเน้นให้เข้าใจคำนี้ หรือความหมายคำๆ นี้ คือคำว่า "คุณ" คำว่า "คุณ" โดดๆ อย่างนี้ก็หมายถึง ค่าที่มีอยู่ในแต่ละสิ่งละสิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นไปได้ทั้งทางดีและทางร้าย คือทำให้จิตยินดีก็เรียกว่า "คุณ" ทำให้จิตยินร้ายก็เรียกว่า "คุณ" ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง จะอยู่เหนือความหมายของคำๆ นี้ คือจะไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นอะไร เลยเรียกว่าอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่า "คุณ" ไม่หมายมั่นอะไรโดยความเป็น "คุณ" ที่จิตใจจะไปยึดถือเข้า และก็มีเรื่องดีเรื่องร้ายไปตามลักษณะของสิ่งนั้น ซึ่งที่จริงก็เอาแน่ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งหนึ่งมีคุณเป็นไปในทางดีสำหรับคนพวกหนึ่ง หรือสำหรับสัตว์พวกหนึ่ง แต่จะกลายเป็นคุณค่าทางร้ายของอีกพวกหนึ่งก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกได้ว่า "คุณ" หรือจะเรียกว่า "คุณสมบัติ" ที่มันมีอยู่ในสิ่งนั้น อย่างเช่นยาพิษมันก็มีคุณ คือทำให้ตายได้ ยาแก้โรคมันก็มีคุณ เพราะทำให้โรคหายได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าคุณเสมอกัน และมันยังไม่แน่อีกว่าที่เป็นคุณสำหรับคนหนึ่ง อาจจะเป็นโทษสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเรียกว่า "คุณ" ของสิ่งนั้นอยู่นั่นเอง เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นของคนธรรมดาสามัญ ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่มีการยึดถือในคุณ หรือคุณสมบัติเหล่านั้นแต่ประการใด เขาจึงไม่มีปัญหา อย่างนี้เรียกว่าอยู่เหนือความหมาย เหนืออิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่า "คุณ" นี้เป็นคำๆ หนึ่ง ถ้ารู้ไว้ด้วยก็ดี เรียกว่า "คุณ" เฉยๆ
ทีนี้ ก็มาถึงคำว่า "คุณค่า" นี่ก็เล็งถึงประโยชน์ หรือคุณค่าที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ ทางดีก็ได้ ทางร้ายก็ได้อีกเหมือนกัน แม้สิ่งที่น่าเกลียดที่สุดที่ทุกๆ คนรังเกียจ เช่น อุจจาระ เป็นต้น มันก็ยังมีคุณค่าอย่างอุจจาระ คือมีคุณสมบัติอย่างอุจจาระ เมื่อใช้ถูกต้องตามเรื่องของมัน มันก็มีประโยชน์ ทีนี้คำว่า "คุณค่า" มันจึงหมายถึงประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะถือเอาได้จากสิ่งนั้นๆ แต่จะเอาเป็นที่แน่นอน ตรงกันทุกพวกหรือทุกฝ่ายไม่ได้ เช่น มีประโยชน์สำหรับสัตว์ แต่ไม่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์ อย่างนี้ก็มี มันก็ยังเรียกว่า "คุณค่า" ของสิ่งนั้นๆ ได้
ทีนี้ ก็มาถึงคำว่า "คุณธรรม" ส่วนหนึ่งของคำว่า คุณธรรมของครู
"คุณธรรม" หมายถึงคุณสมบัติฝ่ายดีโดยส่วนเดียวเป็นที่ตั้ง หรือเป็นประโยชน์แก่สันติภาพ สันติสุข จึงเป็นที่ต้องการของมนุษย์ คุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอบรมโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมกับที่เราต้องการ นี่ลองเข้าใจความหมายของคำ ๓ คำนี้ที่มันเนื่องกัน คำว่า "คุณ" นั้นเป็นภาษาเฉพาะทางปรัชญาโบรมโบราณในอินเดีย แปลว่า สิ่งที่มันมีคุณสมบัติหรือความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับให้รู้สึกเกลียดกับบางอย่าง รู้สึกรักกับบางอย่าง ยินดีบางอย่าง ยินร้ายบางอย่าง นี่เรียก "คุณ" มุ่งหมายแต่เรื่องที่จะหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
ทีนี้ คำว่า "คุณค่า" นี่คือคุณสมบัติตามที่ต้องการจะได้จะมี แต่ก็ไม่ยกเว้นว่ามันจะใช้ในทางร้ายก็ได้ เพราะบางทีบางคนมันก็ต้องการจะใช้ไปในทางร้าย มันก็ยังมีคุณค่าสำหรับจะใช้ไปในทางร้าย จึงหมายถึงคุณสมบัติที่มีอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วแต่มันจะมี
ทีนี้ คำว่า "คุณธรรม" คุณธรรมมันเป็นคำที่ฟังแล้วสบายใจ ฟังแล้วชื่นใจ เป็นคุณสมบัติฝ่ายดีโดยส่วนเดียว เพื่อสันติภาพ สันติสุขของมนุษย์ ทีนี้มาถึงคำว่า "คุณธรรมของครู" ซึ่งเป็นหัวข้อที่กำหนดไว้สำหรับการบรรยายในครั้งนี้
คุณธรรมของครู กล่าวโดยสรุปนั้นก็คือ ความสมบูรณ์โดยหน้าที่ และสิทธิสำหรับครู ครูมีหน้าที่ ทำหน้าที่ของครูสมบูรณ์แล้ว ก็มีสิทธิที่จะได้รับอะไรจากความเป็นครูอย่างถูกต้อง จึงใช้คำบัญญัติล่วงหน้าไว้ทีหนึ่งก่อนว่า คุณธรรมของครูคือ ความที่ครูสมบูรณ์ด้วยสิทธิ และหน้าที่ คำว่า "ครู" นี่ หรือ "คุณธรรมของครู" นี่มันมีลักษณะสูง เป็นงานหรือหน้าที่ของปูชนียบุคคล แทนที่จะเป็นอาชีพ แทนที่จะเป็นอาชีพธรรมดาสามัญ มันเป็นหน้าที่ของปูชนียบุคคล ถ้าจะใช้คำว่า "หน้าที่" มันก็ใช้ได้เหมือนกัน อาจจะใช้คำว่า "อาชีพ" มันก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่มันก็เป็นอาชีพของปูชนียบุคคลอยู่นั่นเอง
บุคคลที่เป็นปูชนียบุคคลยังมีอีกมาก เช่น พระเจ้า พระสงฆ์ ท่านก็ใช้คำว่า “อาชีพ” อาชีพของปูชนียบุคคล เรียกว่า เป็นอาชีพเจ้าหนี้โดยส่วนเดียว คือทำประโยชน์ให้แก่สังคม หรือแก่มนุษย์นั้นมากมายเหลือที่จะกล่าวได้ และก็รับของตอบแทนเพียงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น อาชีพอย่างนี้เรียกว่าอาชีพของปูชนียบุคคล แม้จะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังมีอาชีพอย่างนี้ แต่ต้องกำหนดไว้ว่าเป็นอาชีพของปูชนียบุคคล แทนที่จะเป็นอาชีพตามธรรมดาสามัญ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพนั้นได้รับผลพอสมกับค่าแรง หรือบางทีก็ไม่คุ้มค่าแรง แล้วมันก็ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยเจตนา มันทำไปโดยประโยชน์ที่จะได้รับอะไรตอบแทนเป็นส่วนตัว นี่เป็นอาชีพในความหมายธรรมดาๆ
อาชีพ "ครู" ควรจัดไว้เป็นอาชีพของปูชนียบุคคล ผู้มีบุญคุณแก่โลก ผู้ทำประโยชน์ให้แก่โลกมากมายมหาศาล แล้วก็รับประโยชน์ตอบแทนเพียงเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ หักกลบลบล้างกันแล้วท่านเป็นเจ้าหนี้ ปูชนียบุคคลนั้นท่านเป็นเจ้าหนี้เหนือโลกต่อสัตว์โลก อาชีพอย่างนี้ก็เรียกว่า อาชีพปูชนียบุคคล ไม่เหมือนกับอาชีพธรรมดา ครั้นมาบัดนี้อาชีพ "ครู" ก็ได้ลดลงมาเป็นอาชีพตามธรรมดาไปแล้วเป็นส่วนมาก
อยากจะให้มีการเปรียบเทียบระหว่างคำบางคำกันอีกสักครั้งหนึ่ง คำว่า "ครู" คำว่า "อุปัชฌาย์" คำว่า "อาจารย์" คำว่า "ทิศาปาโมกข์" เหล่านี้ ล้วนแต่มีความหมายไม่เหมือนกัน คำว่า "ครู" ในสมัยโบราณในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของคำๆ นี้ เป็นคำที่สูงมาก เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ และก็นำให้เดินในทางวิญญาณไปสู่คุณธรรมเบื้องสูง เป็นเรื่องทางจิตใจโดยเฉพาะ ไม่ได้หมายถึงเรื่องวัตถุ หรือมรรยาท หรือแม้แต่อาชีพ จึงมีน้อยมาก จึงมีน้อยมาก ครูนั้นมักจะไปทำหน้าที่เป็นปุโรหิตของพระราชา หรืออิสระชนซึ่งมีอำนาจวาสนา มีหน้าที่การงานอันใหญ่หลวง
คำว่า "ครู" เราเรียนกันมาแต่เพียงว่าเป็นผู้ควรเคารพ หรือมีความหนักที่เป็นหนี้อยู่เหนือศีรษะ เป็นเจ้าหนี้อยู่เหนือศีรษะคนทุกคน แต่เดี๋ยวนี้ได้กลายมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอย่างหนึ่งก็ได้ นี่ก็ให้รู้ไว้อย่างนี้
คำว่า "อุปัชฌาย์" อุปัชฌาย์เวลานี้ในภาษาไทยก็หมายถึง อาจารย์ผู้ที่รับประกันผู้บวชใหม่ว่า จะรับประกันต่อสงฆ์ว่าจะดูแลบุคคลคนนี้ไม่ให้ทำผิด ให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของหมู่สงฆ์ได้ ก็เรียกว่า "อุปัชฌาย์" แต่ในหนังสือเก่าๆ ในอินเดียกลับพบว่าคำนี้ใช้เป็นชื่อแม่ของผู้สอนวิชาชีพ ใครมีหนังสือปริยทรรศิกา เปิดดูจะพบคำบางคำที่เขียนอยู่ว่า อุวัชยาอี ภาษาปรากฤตพื้นบ้าน หมายถึง อุปัชฌาย์ มาสอนอาชีพ เช่น สอนดีดพิณ เป็นต้น
ในคำตรวจน้ำโบราณของไทย ก็สอนให้ทุกคนตรวจน้ำอุทิศให้แก่อุปัชฌาย์อาจารย์ แม้เขาเป็นหญิงชาวบ้าน แต่เขาก็มีอุปัชฌาย์ คือผู้ที่แนะนำสั่งสอนในเรื่องวิชาชีพให้รอดตัวได้นั่นเอง นี่คำว่า "อุปัชฌาย์" ก็มีความหมายเป็น ๒ ยุค ๒ สมัยอยู่อย่างนี้
ทีนี้ คำว่า "อาจารย์" โดยทั่วไปก็คือเป็นผู้ที่ฝึกในทางมรรยาท หรือเป็นผู้ควบคุมให้อยู่ในระเบียบในวินัย เป็นผู้รักษาระเบียบข้อกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจารย์เป็นผู้วางเป็นผู้ดูแล เป็นผู้รักษาให้อยู่ในระเบียบ แต่เดี๋ยวนี้คำว่า อาจารย์ ก็หมายถึง ฐานะชั้นสูง หรือชั้นหนึ่งของผู้ที่เป็นครู ความหมายมันก็เปลี่ยน
ทีนี้ คำว่า "ทิศาปาโมกข์" ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยโบราณ ผู้ที่มีอันจะกินจะต้องส่งลูกหลานไปสู่สำนักทิศาปาโมกข์ เพื่อให้เรียน "วิชชา" ที่เป็นอาชีพ หรือว่าสำหรับกลับมาประกอบหน้าที่การงานที่สำคัญๆ ทิศาปาโมกข์รับลูกศิษย์ที่มาจากทั่วทิศ และก็คล้ายกับจะบัญญัติว่า ทิศนั้นเรียนนี้ ทิศนี้เรียนนั้น ก็ไปตามพวกไปตามพวก ไปเรียนให้ได้รับความรู้ตรงตามที่ต้องการสำหรับจะกลับมาเป็นผู้ทำหน้าที่สำคัญๆ เช่น ครองบ้านครองเมือง เป็นต้น มีไว้ครบทุกอย่างซึ่งเป็นความนิยมในสมัยนั้น ระบบงานนี้ก็เก่าแก่มาก มันจะคล้ายๆ กับว่าเดี๋ยวนี้ไปเรียนเมืองนอก จะไปเรียนที่สำนักอะไร เพื่อวิชาอะไร เพื่อกลับมาทำอะไร คล้ายๆ กันอย่างนี้ ก็เป็นวิชาเรียนอย่างสูง ชั้นสูงในเรื่องทางโลก มันสูงถึงกับเรียนมาสำหรับจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินนี้เป็นต้น นี่คำว่า "ทิศาปาโมกข์"
ในที่สุดจะเห็นได้ว่า ทุกคำมันเปลี่ยนความหมายเป็นตามยุคตามสมัย คำว่า "ครู" ก็มี ๒ ความหมายตามยุคตามสมัย คำว่า "อุปัชฌาย์" ก็มีความหมาย ๒ อย่างตามยุคตามสมัย คำว่า "อาจารย์" ก็ยิ่งมีความหมายแปลกแยกออกไปเป็นหลายๆ อย่าง คำว่า "ทิศาปาโมกข์" นี่ดูจะยังค่อยยังชั่ว ไม่ค่อยได้เปลี่ยนความหมายอะไรนัก แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้เรียกว่า ทิศาปาโมกข์ อย่างเช่นจะไปเรียนเมืองนอกนี้ ไม่ได้ใช้คำว่าไปสู่สำนักทิศาปาโมกข์ แต่ที่จริงความหมายมันคล้ายกัน
ที่เอามาพูดเสียยืดยาวนี้ก็เพื่อให้รู้ความหมายของคำว่า "ครู" รู้ว่าครูน่ะมันมีตำแหน่งแหล่งที่อยู่ที่ตรงไหน เคยสูงสุดอย่างไร แล้วก็จะกลายมาเป็นธรรมดาอย่างไร เมื่อพูดถึง "คุณธรรมของครู" ก็จะรู้ได้ง่ายว่าเราจะเอาคุณธรรมของครูในยุคไหน คุณธรรมของครูในยุคดึกดำบรรพ์ หรือว่าคุณธรรมของครูในยุคปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้ ก็ดูกันต่อไปถึงหน้าที่ของครู เราจะต้องรู้จัก "หน้าที่" และ "สิทธิ" ของครู แล้วเอามาเป็นคุณสมบัติของครู เมื่อกล่าวถึงครูโดยหน้าที่ มันก็ต้องกล่าวทุกยุคทุกสมัยแหละว่ามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ของครูยุคโบราณเป็นหน้าที่สูงสุดดังที่กล่าวแล้ว คือเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ เคยถือกันว่าเป็นผู้นำทางวิญญาณกันอยู่ ต่อมาบางคนเขายืนยันว่าคำๆ นี้ รากศัพท์มันแปลว่า เปิดประตู ก็เลยถือเอาความหมายที่ลึกไปกว่านั้นว่าเป็น "ผู้เปิดประตูในทางวิญญาณ" หมายความว่าวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายมีลักษณะเหมือนกับปิดอยู่ ปิดอยู่ด้วยอวิชชา ความไม่รู้ ความโง่ หรือความอะไรก็แล้วแต่จะเรียก มันปิดอยู่ด้วยอวิชชา มันถึงมีครูเป็นผู้เปิดประตูโดยการทำลายอวิชชา หรือช่วยให้ลูกศิษย์นั่นแหละทำลายอวิชชาที่ปิดกั้นอย่างกับว่าประตูให้ออกไป ฉะนั้น คนหรือสัตว์ที่อยู่ในคอก มันก็สามารถที่จะออกมานอกคอก มาสู่แสงสว่าง หรือมาสู่อิสรภาพทางจิตทางวิญญาณ
เรื่องทางโบราณนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาโดยมาก คำว่า "ครู" นี่มันมีความหมายเป็นไปเรื่องทางศาสนาโดยมาก ช่วยทำลายอวิชชา ให้วิญญาณของสัตว์ได้พบแสงสว่างหรืออิสรภาพ นั้นเป็นหน้าที่โดยตรง ถ้ามาถึงยุคนี้ เราก็จะต้องปรับ หรือปรับปรุงให้มันเข้ากันได้ โดยทำให้เป็นการเปิดประตูแห่งความโง่เขลา ประตูที่ปิดกั้น เช่น แม้แต่ว่าจะเรียนหนังสือ มันก็ออกมาเสียได้จากความโง่ที่ไม่รู้หนังสือ จะเรียนเลขก็ออกมาเสียได้จากความโง่ที่ไม่รู้เลข เรียนวิชาอะไรมันก็เป็นการเปิดประตูสำหรับวิชานั้นๆ ดังนั้น ยังคงความหมายของคำว่า ผู้เปิดประตู ไว้ได้อยู่ดี แต่ว่าไม่ถึงระดับสูงสุดในทางวิญญาณ
วิชาการศึกษาในยุคปัจจุบัน แม้จะสูงสุดก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางวิญญาณ เพราะหลักการจัดการศึกษาในโลกยุคปัจจุบันนี้ เอาเรื่องทางวิญญาณไปไว้ทางฝ่ายศาสนา เป็นเรื่องในวัดวาอาราม ไม่เอามารวมไว้ในการศึกษาสามัญของประชาชน แม้ว่าครั้งหนึ่งจะได้เคยเอามารวมกัน แต่ก็ดูจะไม่มีแล้ว ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะรวมการศึกษาทางธรรม หรือทางศาสนาเข้ากับวิชาสามัญศึกษานี้ แต่เราก็ยังเป็นครูได้โดยลดไอ้ความหมายคำว่า เปิดประตูลงมา เป็นการเปิดประตูขั้นต้นๆ ขั้นต่ำๆ คือความไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ในขั้นต้นๆ ขั้นต่ำๆ นับตั้งแต่หนังสือ และการทำมาหากิน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางที่จะเป็นไปได้ ถ้าเราจะขยายระดับ หรือความหมายของการศึกษาให้สูงขึ้นไปกว่าระดับสามัญ เช่น ที่เรากำลังพยายามกระทำอยู่ที่นี่ในเวลานี้ ที่จะปรับปรุงหลักของจริยธรรมให้กลมกลืนกันไปกับหลักของศาสนาซึ่งจะเรียกว่า พุทธธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่
เราจึงยึดหลักของพระศาสนาเอามากระจายกระทำให้เป็นหัวข้อสำหรับการศึกษาในปัจจุบัน อย่างที่เรากำลังทำอยู่นี้ คือเอาหัวใจของพระศาสนา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจ ๔ มาเป็นหลัก เป็นแกนสำหรับการบัญญัติจริยธรรม ซึ่งถ้าเรียนแล้วมันก็จะเป็นการเรียนเรื่องทางจิต หรือทางวิญญาณไปในตัว หรือโดยไม่รู้สึกตัว เช่น ถ้าสอนเด็กตามระบบที่กำลังศึกษาสร้างสรรค์กันอยู่เดี๋ยวนี้ เด็กก็จะได้รับการศึกษาทางวิญญาณ มีความก้าวหน้าในทางจิตทางวิญญาณพร้อมกันไปตามสมควร ซึ่งจะสะดวกสำหรับการที่เขาจะศึกษาเพิ่มเติมให้มากพอในชั้นหลัง
ดังนั้น ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ถ้าระบบเรื่องจริยธรรมนี้ถูกนำไปใช้แล้ว การศึกษาก็จะสมบูรณ์ คือมีทั้งเรื่องหนังสืออักษรศาสตร์ มีทั้งเรื่องวิชาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต หรือมีทั้งเรื่องการดำเนินให้ถูกต้องในทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ครบทั้ง ๓ ประการ ไม่เป็นการศึกษาที่ขาด หรือถึงด้วนอยู่ ถ้าโลกเราจัดการ จัดระบบการศึกษาอย่างนี้กันทั้งหมด ปัญหาเลวร้าย หรือวิกฤตการณ์ทั้งหลายจะลดลงมาก เพราะว่าไอ้การศึกษาเพียงหนังสือกับวิชาชีพนั้น มันไม่ลดกิเลส มันไม่ละกิเลส และมันเป็นโอกาสแห่งความเห็นแก่ตัว มันส่งเสริมความเห็นแก่ตัวโดยไม่ทันรู้ตัว แล้วมันก็เลยมีการกระทำรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น ประโยชน์ของผู้อื่น เป็นการเบียดเบียนกัน อย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเกือบจะทุกหนทุกแห่งคือการสงคราม มีมูลมาจากการเห็นแก่ตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ฝ่ายที่มาพบกันเข้าพอดี นี่เรียกว่าการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ จะสร้างปัญหายืดเยื้อเรื้อรังขึ้นในโลกอย่างที่กำลังมีอยู่ในปัจจุบันนี้
ดังนั้น เราควรจะมีระบบการศึกษาที่ทำลายความเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือระบบจริยธรรมอย่างที่เรากำลังคิดค้นวางระเบียบ หรือวิธีการเรียนการสอนให้มันมีสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม หรือศีลธรรมขึ้นในหมู่นักเรียน นักศึกษา ถ้าทำกันได้ทั้งโลกเมื่อไร ก็จะเป็นโชคดีแก่โลกเมื่อนั้น นี่ครูโดยหน้าที่คือผู้นำทางวิญญาณ หรือเป็นที่ปรึกษาในด้านจิตด้านวิญญาณให้แก่ผู้มีหน้าที่การงานใหญ่ยิ่ง เช่น ดำเนินงานที่เป็นความเป็นความตายของมนุษย์ อย่างนี้เป็นต้น แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะเอาคำนี้มาใช้กับครูที่มีลักษณะเป็นอาชีพ ก็ขออย่าได้ทิ้งความหมายเดิมเสียเลย เพียงแต่ว่าให้มีการยกสถานะทางวิญญาณตามมากตามน้อยอยู่ในวิชาทุกวิชา แม้ตั้งแต่วิชาเลข วิชาวาดเขียน วิชาอะไรก็ตาม ถ้าทำให้เขารู้ความจริงของธรรมชาติ ซึ่งไม่เกิดกิเลส แต่ทำลายกิเลส แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน ถือเป็นเรื่องที่สูงสุดตามความหมายของคำว่า "ครู" ผู้เปิดประตูทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ หรือเป็นที่ปรึกษาทางวิญญาณแก่ผู้ที่มีหน้าที่ทำกิจการสำคัญๆ ในโลก
ทีนี้ ก็จะพูดถึง "สิทธิ" เมื่อพูดถึง "หน้าที่" แล้วก็ควรจะพูดถึง "สิทธิ" เพราะมันเป็นของคู่กัน ผู้ที่ทำหน้าที่แล้วเท่านั้น จึงจะมี "สิทธิ" ที่จะเรียกร้องประโยชน์ตอบแทนอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้บกพร่องในหน้าที่ แต่จะเรียกร้องเอาสิทธิมากเกินไป บางทีก็เรียกร้องกันอย่างไม่ยุติธรรม คือทำหน้าที่น้อยเกินไป แต่ก็เรียกร้องสิทธิมากเกินไป และบางคนถึงกับว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่อะไร แต่ก็เรียกร้องสิทธิ และอ้างเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะแบ่งผลประโยชน์ของผู้อื่นมาเฉลี่ยปันกัน อย่างนี้มันก็เกินไป
"ครู" เมื่อกล่าวโดย "สิทธิ" มันก็เป็นปูชนียบุคคล นี่พูดในแง่ของ "สิทธิ" แล้วก็มีสิทธิที่จะเป็นปู-ชนียบุคคล คือเป็นที่เคารพนับถือบูชาของคน ถึงแม้จะไม่เรียกร้อง มันก็เป็นตามกฎของธรรมชาติ เพราะทำหน้าที่เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ มันก็เกิดความเป็นปูชนียบุคคลขึ้นมา เราทำประโยชน์ให้มากกว่าสิ่งที่ตอบแทนนี้ มันอยู่ที่ตรงนี้ มันก็เป็นเจ้าหนี้อยู่ที่ตรงนี้ บางทีพูดได้ อาจจะพูดได้ว่าเพียงแต่ครูที่ถูกต้องมีอยู่ในโลกเท่านั้นแหละ ก็เป็นประโยชน์แก่โลกเสียแล้ว เพราะว่าอยู่เหมือนกับดวงประทีปที่ส่องสว่างให้คนเดินถูกทาง เพียงเท่านี้มันก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเสียแล้ว มีสิทธิที่จะเป็น หรือได้รับการจัดให้เป็นปูชนียบุคคลสมตามความหมายของคำว่า ครุ (คะ-รุ) ซึ่งอีกอย่างหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง ก็แปลว่าผู้หนัก ผู้ควรหนัก หนัก แปลว่าเคารพก็ได้ ผู้ควรเคารพ ผู้หนักก็คือว่ามีบุญคุณท่วมท้นอยู่บนจิตบนวิญญาณ หรือจะพูดว่าบนศีรษะก็ได้ ของคนทุกคน(ก็ได้) คือ โลกนี่มันรอดตัวอยู่ได้ เพราะการนำอันถูกต้องของบุคคลประเภทที่เป็นครู บุญคุณของครูจึงอยู่เหนือศีรษะของคนทุกคนในโลก ซึ่งทุกคนในโลกจะต้องเคารพ นี่สิทธิของครูคือความเป็นปูชนียบุคคล ดำรงชีวิตอยู่อย่างบุคคลพิเศษ
แต่ครั้นเปลี่ยนมาเป็นครูสอนหนังสือหรือวิชาชีพอย่างเดียวแล้ว สิทธิอย่างที่กล่าวนั้นมันก็ไม่มี หรือไม่ค่อยจะมี มากลายเป็นสิทธิที่จะได้รับประโยชน์เป็นเงินเป็นทอง เป็นประโยชน์อย่างไรก็แล้วแต่ ที่ควรที่จะได้รับประโยชน์เป็นเงินเป็นทอง เป็นสิทธิพิเศษ เป็นอะไรก็ตาม สิทธิก็เปลี่ยนรูปไปตามการกระทำ จึงอยากจะให้ครูทุกคนสำนึกในหน้าที่อันถูกต้อง แล้วก็มีสิทธิที่ถูกต้องตามความหมายเดิมแท้จริงของคำว่า "ครู" มิฉะนั้นครูก็จะกลายเป็นเสมือนหนึ่งชนกรรมาชีพ ก็คือรับจ้างสอนหนังสือ แล้วก็สงวนสิทธิเรียกร้องที่จะประท้วง ที่จะสไตร์ค ที่จะอะไรต่างๆ อย่างเดียวกับชนกรรมาชีพ อย่างนี้มันก็ทำให้ความหมายของคำว่า "ครู" นั้นหมดไป จนกระทั่งไม่มีความหมายของคำว่า "ครู" เหลืออยู่ก็ได้ นี่ควรจะระวังกันไว้บ้าง
เอ้า ทีนี้ ก็จะย้อนกลับไปพูดถึงคำว่า "การเปิดประตูทางวิญญาณ" ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่แก่ครูทั้งหลาย การเปิดประตูทางวิญญาณน่ะมันเป็นหน้าที่ระดับสูงสุดของมนุษย์ มนุษย์จะทำกิจการอย่างไร อย่างไร อย่างไร ทำกันไป หน้าที่ของมนุษย์มันไปสูงสุดอยู่ที่เป็นมนุษย์สูงสุด ได้รับการเปิดประตูทางวิญญาณอย่างเพียงพอ การเปิดประตูทางวิญญาณถือว่าเป็นหน้าที่สูงสุดของมนุษย์ ใครทำเข้า คนนั้นได้ชื่อว่าเป็น ครู
ทีนี้ ครูเราส่วนมากในบัดนี้ ไม่กล้ายอมรับความหมายอันสูงสุดนี้ รู้สึกว่าเกินความสามารถ ไม่อยากจะผูกพันตนเข้ากับความหมายอันสูงสุดนั้น ไม่กล้าพอ และก็ไม่สนใจ นี่อย่าเข้าใจอย่างนั้น เราพยายามก็แล้วกัน อะไรที่จะทำให้เกิดความสูงทางจิตทางวิญญาณแก่ลูกศิษย์ได้ ก็พยายามทำเต็มที่ และครูยกสถานะทางวิญญาณของตัวเองให้สูงเสียก่อน แล้วมันก็ง่ายที่จะยกสถานะทางวิญญาณของศิษย์ แต่ถ้าครูไม่ถึงขนาด เป็นเพียงลูกจ้างสอนหนังสือแล้วมันก็ทำยาก ที่จะต้องเสียสละไอ้ความสนุกสะดวกสบายตามแบบสามัญชนนั้นเสียเถิด โดยรักษาไอ้ความเป็นครูของตนไว้ พยายามให้เป็นการเปิดประตูทางวิญญาณ เรียกว่าการลืมตาในทางวิญญาณ ลืมตาธรรมดาก็เห็นภาพต่างๆ ที่ตาธรรมดาเห็น แต่ถ้าลืมตาทางวิญญาณนั้นมันหมายถึงสติปัญญา เห็นสัจธรรมอันล้ำลึก คือมันไม่มีรูปร่าง แต่เป็นนามธรรมอันละเอียด อันเร้นลับ เพราะเป็นตัวขึ้นมาได้เพราะการเปิดประตูทางวิญญาณ หรือเรียกว่าเป็นการเกิดใหม่ครั้งที่ ๒ คนเราเกิดมาเป็นร่างกาย ทำหน้าที่การงานสำเร็จในทางร่างกาย นี่เรียกว่าการเกิดครั้งที่ ๑ และก็พยายามที่จะให้ก้าวหน้าทางจิตใจ เกิดความสว่างไสวทางจิตใจ เป็นการเกิดครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นการเกิดทางจิตใจ และคำนี้ก็มีใช้อยู่ในเรื่องทางพระศาสนา เรียกว่าเกิดโดยอริยชาติ คือเกิดเป็นอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์นั้นเป็นการเกิดครั้งที่ ๒ เป็นการเกิดในทางฝ่ายวิญญาณ
การที่มีความสูงทางวิญญาณขึ้นมาถึงระดับนี้ เรียกว่าเป็นการเกิดครั้งที่ ๒ เป็นความเจริญสูงสุด หรือวิวัฒนาการสูงสุดของมนุษย์ มีความสูงสุดในทางด้านจิตด้านวิญญาณ จะเรียกว่าในโลกมนุษย์ก็ต้องเรียกว่าด้านจิตด้านวิญญาณ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเรียกว่า โลกของอริยชน ได้เกิดใหม่ในโลกของอริยชน ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมาเป็นกลุ่มอริยชน นี่(คือ)ผลของการเปิดประตูในทางวิญญาณ มันเป็นงานสูงสุด ละเอียด ประณีต หรือทำยาก ไม่ง่ายเหมือนกับเปิดประตูทางวัตถุ เปิดแอ๊ดเดียว มันก็เปิดแล้ว แต่ถ้าเป็นประตูทางวิญญาณนั้น มันมองก็ไม่เห็นว่ามันอยู่ที่ตรงไหน เว้นไว้แต่จะได้มีความรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง รู้ว่าประตูคือ อวิชชา ความไม่รู้ สิ่งที่ควรจะรู้อันนี้ก็จะต้องเปิดออกไป แต่มันยากลำบาก เพราะมันฝืนความรู้สึกของคนธรรมดา หากคนธรรมดาสามัญมีปกตินิสัยไหลลงทางต่ำเหมือนปลาที่จะไหลลงน้ำเรื่อย ในการที่จะฝืนให้ไหลขึ้นบกนั้นมันก็เป็นการฝืนกระแสของคนธรรมดา
ครูก็ต้องรับภาระหน้าที่อันหนักๆ เปรียบเหมือนกับว่ากลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะท้อถอย เพราะว่าทำเข้าเท่านั้นแหละมันก็มีประโยชน์สูงสุด แต่ต้องมีความอดทน ครูจะต้องอดทนเท่าๆ กับที่ครูมีปัญญา อดทนต่อความเป็นคนโง่ ต่อความโง่ ต่อความอ่อนด้วยสติปัญญาของศิษย์ ความโง่หรือความเป็นพาล คืออ่อนด้วยสติปัญญาของศิษย์ รวมกันเข้าทั้งหมดนั่นแหละเป็นสิ่งที่ครูจะต้องอดทน
ฉะนั้น การอดทนมันอยู่ฝ่ายครู ไม่ใช่อยู่ฝ่ายลูกศิษย์ ฝ่ายลูกศิษย์ยังน้อยไป ฝ่ายลูกศิษย์จะต้องอดทนเหมือนกัน เพื่อเล่าเรียนอะไรต่างๆ แต่ครูจะต้องอดทนมากกว่านั้นมาก อดทนมากกว่าลูกศิษย์มาก นั่นคือปัญหาหนักอกหนักใจที่เกิดขึ้นมาจากความโง่ของลูกศิษย์ทุกคนรวมกันประดังเอามาให้ที่ครู ให้ครูเป็นฝ่ายอดทน รู้ไว้ แล้วก็สมัครใจที่จะเป็นฝ่ายอดทน
เมื่อรับความเป็นครู ก็ทนได้ มองเห็นเกียรติยศ คุณค่า อานิสงส์ของความเป็นครู ครูก็อดทนได้ ให้ในจิตใจนี้มันเต็มไปด้วยเมตตาและปัญญา เรียกว่าเพราะเมตตาและปัญญาอยู่ในจิตในใจตลอดเวลา เหมือนกับทำฟาร์มเพาะปลูกเมตตาและปัญญาอยู่ในใจตลอดเวลา แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู ท่านก็ยังประสบปัญหานี้ ที่ต้องอดทนต่อความโง่ ความเป็นอันธพาลของภิกษุสาวกบางคน หรือบางพวก เช่น พวกฉัพพัคคีย์ เป็นต้น คือทำความรำคาญตลอดเวลา หรือเมื่อภิกษุมันดื้อดึงขึ้นมาจนแตกแยก เมื่อสงฆ์แตกกันที่เมืองโกสัมพีอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็ต้องทรงใช้ความอดทน แต่ไม่ใช่ความเจ็บปวด เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของพระอริยเจ้าผู้มีเมตตากรุณามาก ความอดทนเลยไม่ค่อยเป็นความเจ็บปวด กลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องเท่านั้น
สรุปความก็ว่า ครูนี่จะต้องเพาะเมตตาและปัญญา ปัญญาและเมตตา นั่นคือความรู้ที่จะเพียงพอสำหรับปฏิบัติหน้าที่ของครู และก็เมตตาที่เพียงพอสำหรับจะอดกลั้นอดทนในเมื่อมันมีสิ่งชนิดนั้นเกิดขึ้น แล้วก็อยู่ได้ด้วยความพอใจว่าเรามีโชคดีที่ได้มาทำหน้าที่ครู หรือแม้มีอาชีพอย่างครู ซึ่งมีกุศล มีการบำเพ็ญกุศล คือได้บุญอยู่ในตัวอาชีพนั้น อาชีพตามธรรมดาสามัญไม่ได้บุญไม่ได้กุศลอยู่ในตัวอาชีพนั้น แต่อาชีพครูนี่มันได้บุญได้กุศลอยู่ในตัวอาชีพนั้น เราไม่สร้างเด็กที่ไม่พึงปรารถนา หรือจะกำจัดไม่ให้เกิดเด็กที่ไม่พึงปรารถนา ตัวอย่างเช่น เด็กที่หลงตัวเอง หลงชาติอย่างบ้าคลั่ง เด็กที่มีกิเลสเต็มตัวอย่างพวกอันธพาล เด็กที่มีสัญชาตญาณอย่างสัตว์เหลืออยู่ เช่น นักเรียนยกพวกตีกัน นักเรียนรับน้องใหม่อย่าง(เป็น)บ้า(เป็น)หลัง นี่สัญชาตญาณของสัตว์ที่เหลืออยู่ ไม่ใช่สำหรับมนุษย์เลย สัญชาตญาณของสัตว์ เช่นว่าพอมีสัตว์ตัวหน้าใหม่แปลกเข้ามา สัตว์ทั้งหลายในหมู่นั้นจะต้องกดให้ลง จะต้องทำให้ยอมแพ้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องให้ไป สัญชาตญาณอย่างนี้ยังเหลืออยู่ จึงต้อนรับน้องใหม่ด้วยอาการทำให้เจ็บปวดให้ยอมแพ้เช่นนั้น นี้ขอให้ถือว่า(เป็น)สัญชาตญาณของสัตว์เหลืออยู่ หรือว่าโกรธอะไรขึ้นมาแล้วก็ยกพวกตีกัน มันยังเป็นสัญชาตญาณของสัตว์อยู่มาก
เราไม่สร้างเด็กที่ถือว่าได้แล้วเป็นดี คือคนที่ถือศาสนาได้ ถือศาสนาประโยชน์ ถ้าได้แล้วก็เป็นดี นั้นแหละคือความถูกต้อง ความยุติธรรม คำว่าบุญว่าบาป ว่าดีว่าชั่ว ไม่รู้ไม่ชี้ ได้แล้วก็เป็นดี เด็กอย่างนี้เป็นอันตรายมาก หรือเด็กที่บูชาความรู้สึกทางเพศว่าเป็นของสูงสุด ว่าอะไรๆ ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าความรู้สึกทางเพศคือกามารมณ์ จนเห็นเป็นของทั้งหมดหรือสูงสุดในชีวิต อย่างนี้ละก็มีอันตรายมาก จะต้องสร้างเด็กที่มีสติปัญญาลืมหูลืมตาในหนทางของมนุษย์
บางทีก็มีเด็กที่เป็นจุดบอด ไม่รู้อะไรสักอย่าง ไสยศาสตร์ก็ไม่รู้ พุทธศาสตร์ก็ไม่รู้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่รู้ มันไม่รู้อะไรไปเสียหมด มันเป็นมันก็ลอยไปเท่านั้นเองเหมือนกับไม้ลอยน้ำ ถ้ารู้ไสยศาสตร์ก็ยังดีกว่าไม่รู้ คือมีกำลังใจในการที่จะปฏิบัติความดี ถ้ารู้พุทธศาสตร์ มันสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องในการที่จะดับทุกข์ ถ้ารู้วิทยาศาสตร์ ก็ยิ่งทำให้มีเหตุผลสมบูรณ์ในการกระทำของตน
เอ้า ทีนี้ เราจะสร้างเด็กชนิดไหน จะสร้างเด็กชนิดที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ คือ เด็กที่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล มีความรู้เรื่องเหตุผลเป็นหลักพื้นฐาน แล้วก็เลยทำอะไรไม่ผิด ไม่งมงาย เราจะสร้างเด็กที่สามารถสร้างบ้าน สร้างชาติ หรือสร้างโลก เพราะครูเราสนใจที่จะสร้างเด็กซึ่งสามารถสร้างบ้าน สร้างชาติ และสร้างโลก จะยกเลิกคำพังเพยโบราณที่เขาพูดว่า คบเด็กสร้างบ้าน คบคนขี้คร้าน หรือหัวล้านก็ไม่รู้สร้างเมือง ยกเลิกเถอะ เราจะทำให้เด็กแห่งยุคนี้สามารถที่จะสร้างบ้าน เขาเลยอบรมกันมาอย่างถูกต้อง เป็นเด็กที่สามารถสร้างบ้าน สร้างชาติ และในที่สุดก็สร้างโลก คิดว่าทุกคนเป็นเด็กดีแล้วมันก็สามารถสร้างบ้าน สร้างชาติ และสร้างโลก หรือจะสร้างเด็กที่เป็นพุทธมามกะ สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบ รู้จักความหมายของคำว่า พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเขามีพระพุทธเจ้าเป็นหลักนำ จะทำอะไรก็มีสติยับยั้ง ทูลถาม หรือเสมือนกับทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อนว่า “เรื่องนี้จะทำอย่างไรดี” ถ้าเขาตั้งสติจะทำอย่างนี้ มันมี...มันมีทาง ไอ้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีตามธรรมชาติมันเข้ามาช่วยทัน ถ้าไม่มีสติระลึกอย่างนี้เสียก่อน แม้จะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง มันก็ไม่เข้ามา เพราะมันทำอย่างผลุนผลันเกินไป
ทีนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ก่อนแต่ที่จะทำอะไรจะตัดสินวินิจฉัยอะไร ก็ทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน เด็กรู้จักความหมายของคำว่า "ไท" อย่างถูกต้อง นี้ก็เป็นปัญหาซึ่งอาจจะต้องได้รับคำ(ความ)ขัดแย้งของคำว่า "ไท" เด็กรู้ความหมายของคำว่า “ไท” ไม่มี ย สะกด ไอ้ "ไท" ที่ไม่มี ย สะกด แปลว่า อิสระ ถ้ามี ย สะกด เปลี่ยนความหมายให้เป็นว่า อาจจะให้เขาได้ อาจจะให้เขาไปเสียได้ หรือถูกให้ไปเสียแล้ว คือ ไม่เป็นอิสระ ตามหลักพุทธศาสนาต้องการให้ทุกคนเป็น "ไท" โดยเฉพาะเป็น "ไท" แก่กิเลส ไม่ให้อยู่เป็น "ทาส" ของกิเลส
ดังนั้น เด็กของเราทุกคนควรจะมีความรู้ในการที่จะเป็นไทต่อกิเลส ไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส แล้วก็สมกับความหมายของคำว่า "ไท" ชนิดที่ไม่มีตัว ย สะกด และสร้างเด็กที่ไม่เห่อแฟชั่น เดี๋ยวนี้ก็เห่อแฟชั่น วัฒนธรรมตะวันตก เห่อรสนิยมตะวันตก ซึ่งเจริญทางวัตถุจนยุ่งไปหมด แล้วเราที่เคยอยู่อย่างสงบก็ได้รับเอาวัฒนธรรมยุ่งนี่เข้ามาใช้ เด็กของเราจะได้รับคำสั่งสอนไม่ให้เห่อ ไม่ให้หลงแฟชั่นวัฒนธรรมตะวันตก นี่ขอให้สังเกตดูให้ดี มีปัญหามากเกิดมาจากการที่เด็กเขาเห่อวัฒนธรรมตะวันตก การแต่งเนื้อแต่งตัว การดื่ม การกิน การเต้นรำ การอะไรต่างๆ นี่ เมื่อเขาเห่อวัฒนธรรมตะวันตกเท่าไร แล้วมันก็เป็นปัญหายุ่งยากลำบากเท่านั้นแหละ
นี้เด็กจะต้องรู้ความหมายของคำบางคำ เด็กจะรู้ความหมายของคำว่า "มัชฌิมา" มัชฌิมา มัชฌิมา แปลว่า อยู่ตรงกลาง ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ตึง ไม่หย่อน ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เราถกเถียงในเรื่องความหมายของสิ่งนี้อยู่กันเกือบจะทุกวัน มัชฌิมา แปลว่า มีอยู่ในท่ามกลาง คืออยู่ตรงกลาง ให้เด็กรู้ความหมายคำว่า อยู่ตรงกลาง นั้นคืออย่างไรจะรอดตัว เป็นผู้เดินตามหลักพระพุทธศาสนาแท้ ไม่เปียก ไม่แห้ง ไม่หย่อน ไม่ตึง ไม่มาก ไม่น้อย ไม่เหวี่ยงซ้าย ไม่เหวี่ยงขวา แต่ว่ามันอยู่ตรงกลาง เด็กจะต้องรู้ความหมายคำว่า โชคดี คำว่า โชคดีนี้มันมีทั้งอย่างไสยศาสตร์และอย่างพุทธศาสตร์ ถ้าอย่างไสยศาสตร์ แม้แต่พระเจ้าก็พูดไปตามแบบของไสยศาสตร์ เวลานั้น วันนั้น พระเจ้าองค์นั้น แล้วจะโชคดีโชคร้ายไปตามนั้นๆ โชคดีตามแบบไสยศาสตร์ หรือโชคดีตามแบบพุทธศาสตร์นั้นก็คือ เมื่อทำดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อทำดีนั่นแหละคือ โชคดี ฤกษ์ดี ยามดี อะไรดีหมด เด็กรู้ความหมายคำว่า โชคดี อย่างถูกต้อง ไอ้โชคดีที่บังเอิญบังเอิญ โดยไม่ได้กระทำนั้น ก็ไม่ใช่โชคดีในพระพุทธศาสนา โชคดีของพวกอื่น ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์อะไร เป็นเรื่องบังเอิญ หรือโชคดีเพราะผีสางเทวดาเข้ามาช่วยนั้นก็เป็นเรื่องโชคดีของลัทธิอื่น
ขอให้เราอบรมเด็กของเราให้รู้จักคำว่า โชคดี อย่างชาวพุทธแท้ ที่เด็กของเรารู้ความหมายของคำว่า มีเกียรติ "เกียรติ" ธรรมดาเรามักจะถือเอาเกียรติในเมื่อเขายกย่อง เมื่อสังคมยกย่อง บางทียกย่องกันผิดฝาผิดตัว เพราะไม่รู้ความจริงอะไรก็มี เกียรติอย่างนั้นเป็นเกียรติปลอม เกียรติที่แท้จริง คือเกียรติที่รู้อยู่กับตัวว่าได้กระทำดี ถูกต้อง มีคุณค่า ควรแก่การยกย่อง และก็ภาคภูมิใจตัวเอง คือเกียรติที่ถูกต้อง
เกียรติที่ถูกต้องนั้นสังเกตได้ง่ายๆ ด้วยการสามารถยกมือไหว้ตัวเอง เพราะมันรู้อยู่แก่ใจนี่ ถ้ามันยกมือไหว้ตัวเองได้ มันก็ไม่มีเรื่องทุจริต ถ้าเกียรติที่คนทั้งเมืองสรรเสริญ แต่ตัวเองยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้แล้วมันก็ไม่ใช่เกียรติ หรือว่าเป็นเกียรติที่ปลอม ???เด็กที่ยอมรับว่าบิดามารดาเป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นพระพรหม เป็นพระอรหันต์ในบ้านเรือน ถ้าเด็กได้รับการอบรมสั่งสอนจนมองเห็นว่าบิดามารดามีพระคุณ สอนอะไรมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ให้รู้จักกิน รู้จักถ่าย รู้จักนั่ง เดิน ยืน นอน เป็นครูคนแรก เป็นผู้มอบชีวิตมาให้ ให้เคารพอย่างยิ่ง เพราะบิดามารดาเป็นพระพรหม คือผู้สูงสุด ในความหมายของคำว่า พระพรหม แปลว่า สูงสุดอย่างแท้จริง และบิดามารดาเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ให้เกิดบุญแก่ลูก ให้เกิดความดีความงามทุกอย่างแก่ลูก นี่แหละเป็นพระอรหันต์ ให้เด็กๆ ของเรา รู้ว่าบิดามารดาเป็นครูอาจารย์คนแรกที่สุด เป็นพระพรหมในบ้านเรือน เป็นพระอรหันต์ในบ้านเรือน เด็กอย่างนี้ในที่สุดก็จะเป็นเด็กที่เหมาะสมที่จะเป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลโลกที่ดี เป็นสาวกที่ดี แต่ในที่สุดจะถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "บุตรที่ดี คือบุตรที่เชื่อฟัง" นี่จบ บุตรจะเป็นอย่างไรๆ อย่างไหนก็ตาม แต่ถ้าจะให้เป็นบุตรที่ดีที่สุดแล้วก็คือบุตรที่เชื่อฟังบิดามารดา
เด็กมักจะมีปัญหาว่า บิดามารดาไม่รู้อะไร ไม่ได้เล่าเรียนอะไร แนะนำก็ไม่ถูก นี้เราจะไปทำตามบิดามารดาได้อย่างไร นี้ควรจะบอกให้เขาทราบว่า เชื่อฟังบิดามารดา ยอมรับพิจารณาคำแนะนำ หรือความต้องการของบิดามารดา บิดามารดาคือผู้ที่รักเรายิ่งกว่าใครในโลก ดังนั้นจึงปรึกษากันได้ อย่าหาว่าบิดามารดาโง่เง่าไม่รู้อะไร บิดามารดาจะมีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ความอดกลั้นอดทน ความเสียสละ ความสุขุมรอบคอบ เหล่านี้มีมากกว่าบุตรซึ่งแม้จะไปเรียนปริญญายาวเป็นหางมา ฉะนั้นขอให้เชื่อฟังบิดามารดา อย่างน้อยก็รับฟังความคิด ความเห็น ความต้องการของบิดามารดา นี่เรียกว่าบุตรที่เชื่อฟัง มีแต่เรื่องดีโดยส่วนเดียว และขอให้ตั้งใจในการที่จะไม่สร้างเด็กอย่างนั้น แล้วสร้างเด็กอย่างนี้
ในที่สุดนี้ก็สรุปความว่า เราจะกล้า...