แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาสฯ : ได้ทราบว่า มีปัญหาขัดข้อง เกี่ยวกับการอธิบายอะไร ว่าคืออะไร ตามหลักของอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งเป็นหลักในพุทธศาสนา ข้อนี้ คือข้อที่จะอธิบายอะไรตามอริยสัจจ์ ๔ นี้ มันเรียกว่ามันสมบูรณ์แบบที่สุด ครั้งแรก ตอนแรกๆอาตมาก็ไม่เคยคิด หรือตั้งใจว่าจะต้องใช้อธิบายตามหลักอริยสัจจ์ ๔ แต่เดี๋ยวนี้มีความเห็นกันว่า ควรจะใช้ การใช้ตามหลักอริยสัจจ์ ๔ นั้น มันมีหลักสำหรับอ้างอิงให้มั่นคงขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง โดยเค้าโครงใหญ่เราอาศัยหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่มันก็เป็นเรื่องอาศัยหลักมั่นคง คือ ตัวพระพุทธศาสนานั่นเอง ทีนี่ครั้นมาถึงจะอธิบายข้อปลีกย่อยเป็นข้อๆไป ก็จะอาศัยหลักอริยสัจจ์ ๔ เป็นหลักอีก ก็นับว่าได้ความมั่นคงในทางหลักนี้ยิ่งขึ้นไปอีก หรือเต็มที่
ทีนี้ เนื่องจากไม่เคยคิดกันอย่างนี้ หรือไม่เคยศึกษามาก็ได้ อย่างในเรื่องการมองสิ่งทั้งปวงโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ในพระบาลีเต็มไปหมด ถ้าจะรู้จักอะไรที่จะต้องรู้จัก และก็จะต้องมองกันในลักษณะทั้ง ๔ นั้นแหละเป็นอย่างน้อย ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร? สิ่งนั้นมันมาจากอะไร? สิ่งนั้นมันเพื่อประโยชน์อันใด? สิ่งนั้นมันจะสำเร็จได้โดยวิธีใด? มันก็เท่ากับว่า สิ่งนั้นคืออะไร? สิ่งนั้นคือสิ่งที่มาจากอะไร? สิ่งนั้นคือเพื่อประโยชน์อะไร? สิ่งนั้นคือจะต้องทำให้สำเร็จได้โดยวิธีนั้นๆ ขอให้จำไว้เป็นหลักทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะการทำงานในคราวนี้ เป็นหลักทั่วไป เหมือนกับมีหลักพระพุทธศาสนาไว้เป็นเครื่องยึดถือ เมื่อจะโต้เถียงกันโดยตรรกะ ก็อาศัยหลักพุทธศาสนาได้ จะถูกต้องหรือเพียงพอ หรือไม่เสียเปรียบ
ทีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นอีกในที่บางแห่ง ก็ไม่น้อยแห่งเหมือนกัน แทนที่จะดูเพียงหลักอริยสัจจ์ ๔ กลายเป็นดูโดยหลักธรรมลักษณะ ๖ ประการบ้าง ๗ ประการบ้าง นี่ก็ควรจะศึกษาหรือจำไว้ เช่นว่า
นี่ลองนับดูว่ามันได้ตั้ง ๖ อย่าง หรือ ถ้าไปแจกข้อหนึ่งให้เป็น ๒-๓ อย่าง มันก็ได้เป็น ๗ อย่าง ๘ อย่างก็ได้ ก็ข้อหนึ่ง ก็ว่า สิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไร? สิ่งนั้นมีประเภท ประเภท แจกประเภทได้อย่างไร? สิ่งนั้นมีอุปมาอย่างไร? ถ้าจะแยกออกไปอีก มันก็จะเป็น ๗ ข้อ ๘ ข้อ แต่ถ้ารวมเสียเป็นข้อเดียว มันก็ได้เหมือนกัน เพราะมันบอกถึงตัวนั้นสิ่งนั้น มีลักษณะอาการ มีประเภท ชนิด และ อุปมา คำว่าอุปมานี่ เหมือนที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ใช้กันอยู่แล้ว
ทีนี้ ถ้าจะลดให้เหลือเพียงโดยหลักของ อริยสัจจ์ ก็เหลือ ๔ โดยหัวข้อตามหลัก อริยสัจจ์ นั่นเอง
นึกถึงอริยสัจจ์ที่ว่า ทุกข์ มีปัญหาคือความทุกข์ ก็พูดเรื่องความทุกข์ ความทุกข์ก็เกิดมาจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือ ความต้องการตามอำนาจของกิเลสก็ได้ ทีนี้ ทุกข์ ทุกข์นี่ หรือว่าเรื่องทุกข์นี่ มีสำหรับจะดับ จะศึกษาให้รู้วิธีดับ เพราะเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ นี้มีเพื่อการดับทุกข์ เหมือนกับกำปั้นทุบดิน เรื่องทุกข์มีเพื่อดับทุกข์ แล้วก็โดยวิธีใด ก็โดยวิธีอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงสรุปสั้นๆว่า คืออะไร? จากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด? ถ้าเราแสดงลักษณะประกอบอย่างน้อย ๔ ประการนี้แล้ว ก็นับว่าพอ ควรจะพอ แต่ถ้าจะให้มากกว่านั้นก็เป็นอย่าง ๖ ประการ ๗ ประการอย่างที่กล่าว เรานิยมเรียกกันว่า ธรรมลักษณะ ลักษณะแห่งธรรมะนั้นๆ สำหรับจะมองดู สำหรับจะศึกษา
ทีนี้มันใช้ได้ทั้งฝ่ายที่ต้องการ และฝ่ายที่ไม่ต้องการ ถ้าเป็นเรื่องกุศล เอาเรื่องกุศลขึ้นมากล่าว เอาเรื่องความสุขขึ้นมากล่าว แทนที่จะเอาเรื่องความทุกข์ขึ้นมากล่าว เราเอาเรื่องความสุขขึ้นมากล่าว ก็ว่า ความสุขนั้นคืออะไร? มาจากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด? ความสุขก็มีลักษณะอย่างที่รู้กันว่า ความสุขมันก็มาจากความต้องการของคน เพราะเห็นคุณค่าของความสุข
ที่นี้ความสุขมันก็มีเพื่อให้คนสร้างสรรค์ เพื่อให้คนประพฤติปฏิบัติจนเกิดมี แล้วปฏิบัติอย่างไร?ปฏิบัติโดยอริยมรรคมีองค์ ๘ ทุกหัวข้อ ข้อสุดท้ายที่ว่าโดยวิธีใด? ให้ใช้โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้ทั้งนั้น หรือมิฉะนั้น เราจะระบุให้แคบเข้ามา เช่นว่า หมวดที่เป็นเรื่องของสัมมาทิฏฐิ เราก็บอกว่า โดยมีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่อง ในหมวดสัมมาสังกัปปะ ก็ต่อว่า โดยมีสัมมาสังกัปปะต่อเนื่อง สัมมาวาจา ก็โดยมีสัมมาวาจาต่อเนื่อง อย่างนี้ทุกหมวดได้ เป็นหลักตายตัว ชนิดกำปั้นทุบดิน ทีนี้ ที่ว่ามีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่องนั้น ก็พอจะอธิบายได้ ขยายความออกไปได้ เพราะรู้แล้วว่ามันมีอะไร อย่างไร แล้วก็ทำให้มันมีอย่างต่อเนื่อง
ทีนี้ขอให้มองเห็นหรือเข้าใจวิธีบรรยายสิ่งใด ตามวิธีของตรรกะในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะใช้ได้ทั่วไปในพุทธศาสนา หรือ นอกพุทธศาสนา และควรจะหัดคิดนึกให้ไกลออกไปพอสมควร เช่น มีหัวข้อขึ้นมาว่า วัวหรือควาย? ควายคืออะไร? ควายนี้มาจากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด? ก็พอจะมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า ควายนี้ก็คือสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งใช้แรงงานได้ โดยเฉพาะการไถนา จะมีชนิด มีประเภท มีอุปมา ยังไงก็ว่าไป มันก็คงเป็นเรื่องของควาย ทีนี้มาจากอะไร? ควายมาจากอะไร? มันก็มาจากความต้องการของมนุษย์ เพราะมนุษย์ลำบากในเรื่องจะใช้แรงงาน ไม่รู้จะใช้อะไร จนไปค้นพบว่าเอาวัวหรือควายนี้มาใช้เป็นแรงงานได้ มันก็คือความต้องการของมนุษย์ เพื่อจะกำจัดปัญหา หรือความยุ่งยากลำบากอันเกิดจากขาดสิ่งนี้ ปัญหาอันเกิดจากขาดสิ่งนี้นั่นแหละ จะเป็นเหตุ เป็นตัวเหตุที่ทำให้ต้องมีสิ่งนี้
ทีนี้เพื่ออะไร? ก็เห็นชัดอยู่แล้ว วัวหรือควายนี้ เพื่อขจัดปัญหาการขาดแรงงาน หรือเพื่อว่าทุ่นแรงมนุษย์ เพื่อมนุษย์ได้เบาสบาย ก็คือ เพื่อจะดับทุกข์บางชนิดของมนุษย์นั่นเอง
ทีนี้โดยวิธีใด? มีควายสำเร็จประโยชน์ได้โดยวิธีใด? ก็ปฏิบัติให้ถูกต้องกับควายนั้นอย่างต่อเนื่อง ให้มันใช้ประโยชน์ให้จนได้
ถ้าเราสามารถมองเห็นอธิบายได้ แม้แต่สิ่งธรรมดาสามัญ ก็จะมองเห็นทั่วไปถึงกับสิ่งที่เป็นตัวปัญหา แม้จะตั้งปัญหาอย่างกว้างๆ ที่สุดว่า โลกนี้คืออะไร? โลกนี้มาจากอะไร? โลกนี้เพื่ออะไร? โลกนี้โดยวิธีใด? เพื่อสำเร็จตามนั้นโดยวิธีใด? ถ้าอย่างนี้ คำตอบมันก็กว้างมาก เพราะว่าโลกมันเป็นสิ่งที่กว้างขวาง จะมองกันในแง่ไหนก็ได้ แต่แล้วอาจจะสรุปเป็น ๔ ความหมายนี้ได้เหมือนกัน เช่นว่า โลกคืออะไร นักเรียนก็ตอบไปอย่าง อย่างที่ครูสอนในโรงเรียน คือแผ่นดิน คืออย่างที่เรียกว่าตัวโลกนี้ แต่ถ้าว่าตอบอย่างภาษาธรรม ภาษาธรรมะ มันกลายเป็นตอบว่า ได้โลกนี้คือมันสิ่งที่ต้องแตกแน่ เพราะคำว่า โลกะ โลกะนี้มันแปลว่า แตก สิ่งที่ต้องแตกแน่ นั่นมันลึกกว่าที่จะพูดว่า โลกคือพื้นแผ่นดินที่เราจะได้อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ นั่นภาษาคน ภาษาธรรมดา ตอบในแง่ตื้นๆ ภาษาธรรมก็ตอบในแง่ลึก
มาจากอะไร? ทีนี้มันก็ต้องมีปัญหาเกี่ยวกับว่า มันมีความหมายขึ้นมา โลกนี้มันมีความหมายขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร? ถ้าตอบอย่างธรรมะลึก ก็ตอบว่า มันเป็นธรรมชาติ เป็นตามธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา เกิดมีสิ่งที่เรียกว่าโลกขึ้นมา ถ้าจะตอบอย่างธรรมดา อย่างเด็กๆที่เห็นโลกอย่างนี้ มันก็แล้วแต่จะได้เล่าเรียนมา เช่นว่า มันมาจากดวงอาทิตย์ หรือมาจากอะไรก็สุดแท้ เป็นเรื่องภาษาคน ถ้าเป็นเรื่องภาษาธรรม มันก็ลึกซึ้งกว่า
โลกนี้เพื่อประโยชน์อะไร? เพื่อใช้ประโยชน์ทุกอย่างที่มนุษย์จะใช้ได้ เพื่อให้ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าคนใช้ไม่เป็น มันก็ไม่เป็นประโยชน์ ใช้ผิดก็กลับจะเป็นทุกข์ ฉะนั้นประโยชน์แก่โลก หรือประโยชน์จากโลกมันอาจจะได้มาโดยวิธีใด มันก็กลายเป็นเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘
นี่คือ วิธีคิดโดยหลัก ๔ ข้ออย่างนี้ ขอให้ช่วยจำไปไว้คิดอะไรเล่นๆ ตามวิธีนี้ ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ก็มีความคิดหรือวิธีคิดตามแบบของพระพุทธเจ้า คือ มองอะไรโดยหลักของธรรมลักษณะ ๔ คืออริยสัจจ์ หรือ โดยธรรมลักษณะ ๖, ๗, ๘ แล้วแต่จะกระจายออกไป บางทีพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้เพียง ๕ เพียง ๖ ก็มี ถ้ารวบรวมมาให้หมด มันก็ได้อย่างที่ว่า คือ เป็น ๗ หรือ ๘
การศึกษาตรรกะในโลกปัจจุบันของวงการศึกษา เขาจะมีวิธีคิดหรือวิธีพูดอย่างไรก็สุดแท้ แต่ว่าพุทธบริษัทมีวิธีคิดและมีวิธีบรรยายตามหลักอย่างนี้ ตามหลักของพระพุทธเจ้า
ทีนี้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายหัวข้อจริยธรรม ตามหลักของอริยสัจจ์ ๔ เป็น..เป็นหลัก และก็ได้มีหัวข้อที่แจกไว้แล้วเป็นข้อๆ อย่างหมวดสัมมาทิฏฐินี้ก็มี ๑๓ ข้อ แต่ละข้อ ละข้อนี้ ดูกันในลักษณะ ๔ ได้ทุกข้อ ถ้าว่าไม่ได้ก็เพราะว่าเรามองไม่ออก หรือว่าเรามองไม่เป็น เรามองไม่ถึง แต่ถ้าเรามองถึงมันก็จะได้ทุกข้อ เพราะมันมีหลักอย่างที่ว่าแล้ว
ข้อต่อไปก็เหมือนกันอีกแหละ ว่าอีกข้อหนึ่งก็ได้ การเห็นความจริงของธรรมชาติอย่าง สันทิฏฐิโก ก็มีคำอธิบายต่อไปได้ว่า อันไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่มีโอกาสสำหรับเป็นไสยศาสตร์ นี้มันก็เป็นการอธิบายไปตั้งครึ่งตั้งค่อนแล้ว ว่าเห็นความจริงของธรรมชาติ เห็นความจริงของธรรมชาติมันก็ไม่เป็นไสยศาสตร์ ไม่เปิดโอกาสสำหรับลัทธิไสยศาสตร์
ทีนี้ถ้าถามว่า เห็นความจริงของธรรมชาตินี้ เกิดมาจากอะไร? ก็อย่างเดียวกันอีกแหละ เกิดมาจากโทษ เห็นโทษของการที่ขาดสิ่งนั้น เมื่อเราไม่เห็นจริงตามธรรมชาติ โทษอะไรเกิดขึ้นก็เห็นโทษอันนั้น มันจึงมีการเห็นความจริงของธรรมชาติ
ทีนี้ ที่ว่าเพื่อประโยชน์อะไร? เพื่อประโยชน์จะทำถูกจนประสบความสุขในกรณีทุกๆกรณี ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ในข้อที่ ๓ นี้มันเพ่งถึงผลที่ปรารถนา หรือควรปรารถนาทั้งนั้น
แล้วข้อที่ ๔ ที่ว่า โดยวิธีใด? ก็โดยมีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่อง ทุกๆข้อจะต้องลงท้ายด้วยคำว่า การมีธรรมะหมวดนั้นต่อเนื่อง มีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่อง คือ วิธีพิจารณาความจริงในทุกแง่ทุกมุมของธรรมชาติ มันก็เห็นความจริงของธรรมชาติ โดยวิธีมีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่อง
อีกข้อหนึ่งก็ได้ว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและมีเหตุผลนี้ ขยายความออกไปตามสมควรได้ว่า ความอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลนี้เป็น..เป็น..มันเป็นอย่างไร? ทีนี้ มันเกิดมาจากอะไร? เกิดมาจากโทษของการที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีเหตุผล มูลเหตุนี้ คือ ฝ่ายร้าย ฝ่ายที่ว่ามันขาดสิ่งที่ควรจะมี ทีนี้ เพื่ออะไร? ก็เพื่อประพฤติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีแต่ปฏิบัติถูกต้อง ไม่มีปฏิบัติผิด จะสำเร็จโดยวิธีใด? เอากำปั้นทุบดิน โดยมีสัมมาทิฏฐิต่อเนื่อง อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า หมวดไหนก็ตาม เมื่อถามว่าโดยวิธีใด ท่านก็ตอบว่า โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ เดี๋ยวนี้เรามาแจกซอยให้เป็นองค์ๆๆๆ เราก็ระบุได้เพียง ๑ องค์ ๑ หมวด ที่ไอ้หัวข้อธรรมะหัวข้อนั้นมันเนื่องอยู่ ขึ้นอยู่ สรุปสั้นๆ ว่า
ดังนี้ ทุกข้อจะสามารถจำแนกเป็น ๔ อาการ ตามลักษณะแห่งอริยสัจจ์ได้ทั้งนั้น
ทีนี้ เรื่องอีกเรื่องหนึ่งนั้น ก็คือว่า กระทรวงหรือที่ประชุมได้วางหลักไว้อย่างคร่าวๆว่า ประถม ๑ จะให้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ประถม ๒ ให้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ประถม ๓ เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ข้อนี้ไม่ยาก ถ้าเราเอาหัวข้อธรรมในหมวดไหนไปให้เรียน ก็ชี้ได้ทันที ว่าผลของมันจะตรงกับหลักข้อใดข้อหนึ่ง ในหัวข้อที่ได้วางไว้แล้ว ดังนั้นหัวข้อที่วางไว้แล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร มีแต่น้อมนี้ อันนี้เข้าไปหา ธรรมะมันกว้าง มันน้อมไปได้แน่นอน น้อมไปได้โดยไม่ยากเลย เป็นอันว่า เราจะยึดหลักที่เคยยึดถือนั้นไว้ต่อไปก็ได้ แม้ว่าจะแจกโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ แต่ผลดีของมันก็ คือ ข้อที่ ๓ นั้น จะไปตรงกับหลักที่วางไว้เป็นระเบียบแล้วว่า ประถม ๑ จะต้องเรียนเรื่องอย่างไร เรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างไร ดูจะแสดงเป็นผลที่ต้องการมากกว่า ก็ตอบได้ทุกข้อ แต่ต้องรู้เสียก่อนว่า เรากำลังพูดถึงหัวข้อจริยธรรมข้อไหน ถ้าจำแนกโดยอริยสัจจ์ ๔ แล้ว มันจะต้องมีผลเข้ากันได้กับความต้องการที่ได้วางไว้แน่นอน นี่เรามามองเห็นอย่างนี้ คือ ได้ยินว่าจะกระจายออกไปโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ นั้นไม่ค่อยจะได้ หรือบางคนถึงกับยอมแพ้เสียเลย ไม่ต้องกลัว ทำอย่างที่ว่านี้
ลองคิดดู จะมีปัญหาอะไรเหลืออยู่ แสดงว่าทุกข้อ จะมองเห็น จะคิดออก แม้ว่าบางข้อมันจะอยู่ลึกไปหน่อย ก็ยังคิดออก จะต้องคิดออก แล้วผลที่ได้รับจากการมีธรรมะชื่อนี้ ชื่อนี้ จะไปตรงกับหลักที่วางไว้แต่ก่อนแล้วว่า ชั้นไหนให้เรียนธรรมะเพื่อได้ผลอย่างไร กี่ข้อ กี่ข้อ ก็ทำได้ ปัญหาก็จะหมดไป โดยไม่ต้องติดชะงักอยู่ที่ตรงไหน
นี่เท่าที่อาตมาทราบ ก็มีอย่างนี้ แล้วก็มาพูด เพื่อแก้ปัญหาส่วนนี้เท่านั้น ทีนี้ใครมีปัญหาอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะถามก็ได้ จะช่วยกันแก้ไขต่อไปอีก มีปัญหาอย่างไร ถามก็ได้
(33:45-34:17 เงียบ แล้วเริ่มมีคำถาม ที่ได้ยินไม่ชัดเจน-34:40)
ท่านพุทธทาสฯ : เดี๋ยวนี้มันแยก เดี๋ยวนี้มันแยก เราแยกเป็นข้อๆแล้ว แยกเป็นหมวดๆแล้ว ต้องระบุไอ้ธรรมะชื่อนั้น เป็นหลัก ว่ามีอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อมีอย่างต่อเนื่องทุกๆองค์แล้ว การที่องค์ทั้ง ๘ จะควั่นเป็นเกลียวเดียวกันนั้น เป็นหน้าที่ของธรรมะ ของธรรมชาติ ขอให้เราประพฤติครบหมดนี้ แล้วองค์มรรคแต่ละองค์จะเนื่อง จะเนื่อง จะทำให้เนื่องเป็นเรื่องเดียว สายเดียว แนวเดียวได้โดยมีองค์ ๘
ทีนี้ ที่มันยังไม่ค่อยได้มองก็คือว่า สัมมาทิฏฐิข้อแรก เอาเป็นข้อแรกนั้น มันมีความสำคัญ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิข้อที่ ๑ เพียงพอแล้ว มันจะเรียกมาซึ่งข้อนอกนั้นได้ทุกข้อ แล้วก็จะนำให้องค์มรรคชื่ออื่นนั้นเกิดขึ้น แล้วก็เป็นไป เป็นไปอย่างถูกต้อง อย่างเช่นว่า คนมีสัมมาสังกัปปะอยู่ ประพฤติสัมมาสังกัปปะอยู่ มันก็เพราะสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้ประพฤติ จนมองเห็นโทษของการไม่มีสัมมาสังกัปปะ มองเห็นผลของการมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา กัมมันโต อาชีโว ก็เหมือนกัน แล้วก็สัมมาสมาธิ นำหน้าทั้งนั้น แม้เราจะไม่พูดถึง มันก็นำหน้าอยู่ในส่วนลึกตามธรรมชาติ สัมมาทิฏฐิทำให้ธรรมะชื่ออื่นตามหลังมาทีเดียว แต่ถ้าจะเรียนให้ลึกไปกว่านี้ มันจะเกินไป คือไปให้ความสำคัญที่สัมมาสมาธิ เพราะตัวสัมมาสมาธิจะเป็นตัวตัดกิเลส
ทีนี้ บริวารของสัมมาสมาธิ ก็คือ ตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ ไปจนถึง สัมมาสติ รวมหัวกันทำหน้าที่เป็นบริวารของสัมมาสมาธิ จนสัมมาสมาธิมีบริวาร ๗ อย่างนี้คิดว่าไกลเกินไป ไม่ต้องมาสอนในโรงเรียน เพราะว่าไอ้หลักการอันนั้น มันสำหรับการบรรลุมรรคผลชั้นโลกุตตระ
ทีนี้ มองให้ใกล้เข้ามา ก็จะเห็นได้ว่า ตามธรรมดา คนที่ได้รับการศึกษามาพอสมควรสมัยนี้ ก็มีสัมมาวาจาเกือบจะถูกต้อง เกือบจะเพียงพออยู่แล้ว มีสัมมากัมมันโต อาชีโว วายาโม เกือบจะถูกต้องอยู่แล้ว ก็ทำให้มากขึ้น โดยมีสัมมาทิฏฐินั้นนำ นำต่อไป นำต่อไป นำต่อไป พูดง่ายๆก็เพราะว่า จะมีมรรคองค์ใดองค์หนึ่งโดยไม่มีสัมมาทิฏฐินำนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเอาสัมมาทิฏฐิมาไว้ต้นสุด ในฐานะเป็นผู้นำ เหมือนกับรุ่งอรุณนำหน้าเวลากลางวัน องค์มรรคที่เหลือทั้ง ๗ ได้อาศัยสัมมาทิฏฐิแล้ว จึงดำเนินไปถูกต้อง ถ้าไม่อาศัยสัมมาทิฏฐิแล้ว ไม่มีทางที่จะดำเนินไปถูกต้อง แม้แต่จะพูด หรือจะทำการงาน สัมมาทิฏฐิจึงแทรกแซงเข้าไปในทุกๆองค์ โดยที่ไม่รู้สึก ไม่มอง ไม่พินิจกันดีๆ ก็ไม่รู้สึก แต่โดยเนื้อแท้แล้ว สัมมาทิฏฐิเข้าไปแทรกแซงอยู่ทุกองค์
การที่จะทำองค์มรรคอันนั้นให้ติดต่อ ให้ต่อเนื่องก็ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิอีกเหมือนกัน องค์มรรค องค์มรรคทุกๆองค์นั้น มันมีการกระทำที่ต่อเนื่อง ถูกต้อง แล้วมันก็รวมกันเป็นการดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาทั้งหมด
คณะครู อาจารย์ : แล้วถ้าอย่างนั้น กระผมขอเรียนถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า ถ้าอย่างนั้นจะอาศัยพุทธภาษิตที่ว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง เป็นบทนำทุกเรื่อง จะได้ไหมครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : ก็ได้ แต่หมายความว่า สัมมาทิฏฐิทำให้เกิดองค์มรรคที่เหลือ ผู้สมาทานสัมมาทิฏฐิ ย่อมก้าวล่วงความทุกข์ทั้งปวง เพราะว่าสัมมาทิฏฐิทำให้เกิดองค์มรรคที่เหลือ เพราะจะไปทำโดยไม่มีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ได้ อย่างวาจาที่ไม่มีสัมมาทิฏฐินำจะเป็นสัมมาวาจาไม่ได้ กัมมันโตก็เหมือนกัน ทุกข้อจะต้องมีสัมมาทิฏฐินำ แม้สุดแต่สมาธิ เมื่อไม่มีสัมมาทิฏฐินำ ก็กลายเป็นสมาธิผิด ถ้าอย่างนั้น ก็เติมเข้าไป ๓ พยางค์ก็พอว่า โดยวิธีใด? โดยวิธีปฏิบัติองค์มรรคชื่อนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นผู้นำ
คณะครูอาจารย์ : ครับ ถ้าอย่างนั้นผมเข้าใจครับ
ท่านพุทธทาสฯ : แต่ว่าสัมมาทิฏฐิเองนั้น ไม่ต้องก็ได้ สัมมาทิฏฐิเองก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นผู้นำอยู่แล้ว
คณะครู อาจารย์ : กราบนมัสการ พระเดชพระคุณท่านที่เคารพยิ่ง กระผมได้ลองทำ แบบวิเคราะห์การสอนเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ในเรื่องของความมีสัจจะและจริงใจนะครับ และก็ได้วิเคราะห์ออกมาเพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา โดยยึดหลักอริยสัจจ์ ๔
ในการสอนสัจจะและความจริงใจนั้น
ข้อที่ ๑ ก็คือ สอนว่า ลักษณะของผู้มีสัจจะ และความจริงใจนั้นเป็นอย่างไร? คือ สอนให้รู้ว่าอะไรคือสัจจะและความจริงใจ ก็จะสอนส่วนนี้ออกมาว่า ผู้มีสัจจะ และความจริงใจนั้น คือ.............. นี่เป็นเพียงตัวอย่างนะครับว่า คนที่คิดใคร่ครวญดีแล้วอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไร ก็ทำตามที่พูดอย่างนั้น พูดแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์ พูดและทำตามที่คิดโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือนร้อน อันนี้เป็นข้อที่บอกว่า ลักษณะของผู้มีสัจจะ และมีความจริงใจ
ในข้อ ๒ ตามหมายเลข ๒ สาเหตุ - ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร? นั่นคือสาเหตุที่จะต้องมีสัจจะ ก็คือบอกว่า ถ้าไม่ทำ จะเป็นที่เย้ยหยันของคนทั้งหลาย จะไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต จะขาดความเชื่อถือ จะเกิดความทุกข์ใจ จะทำให้เกิดความแตกแยก อันนั้นคือสาเหตุ
และได้วิเคราะห์ออกมาว่า เพื่ออะไร? ในข้อหมายเลข ๓ เพื่อความอยู่เป็นสุข เพื่อความไม่เป็นผู้มีความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดจากการกระทำของตนเอง เพื่อความสามัคคีของหมู่คณะ เพื่อความเป็นที่เคารพเชื่อถือของบุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ ส่วนนี้ก็คือ คืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร? เพื่ออะไร? นะครับ
ทีนี้ โดยวิธีใด ซึ่งอยู่ในหน้า ๒ โดยวิธีใดนั้น จะเห็นว่า โดยวิธีที่จะต้องมีสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง มีสัมมาต่างๆ ทั้ง ๘ องค์มาเกี่ยวข้อง จึงจะเกิดสัจจะตัวนี้ โดยตั้งต้นด้วยสัมมาทิฏฐินะครับ ซึ่งคือข้อธรรมที่เกี่ยวข้อง
ส่วนข้อย่อยต่อมาก็คือ วิธีปฏิบัติโดยยึดหลักวิธีสอน ตามที่พระเดชพระคุณท่านได้อธิบายชี้แจงในวันแรกๆ ของการมารับการอบรมที่นี่
ไม่ทราบว่า จากรายการที่กระผมและทางกลุ่มได้วิเคราะห์ออกมาอย่างนี้นั้น จะตรงหรือใกล้เคียงกับแนวทางที่พระเดชพระคุณท่านได้ให้ความรู้กับทางกระผมเอาไว้แล้วหรือยัง? หรือพระเดชพระคุณท่านจะมีคำแนะนำชี้แจงเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง? อันนี้ เป็นข้อที่กระผมอยากจะทราบครับ
ท่านพุทธทาสฯ : ก็เหมือนๆกันแหละ ถ้าฟังที่อาตมาพูดเข้าใจ แล้วก็เป็นอันว่าเข้าใจได้ ว่ามันอย่างนั้นแหละ อย่างที่กำลังพูดนี่ เข้าไปในรูปที่ว่า คืออะไร? จากอะไร? เพื่ออะไร? โดยวิธีใด?
มันมีคล้ายๆกับว่า เป็นความลับ หรือกฎของธรรมชาติที่เป็นความลับว่า การจะทำอะไรก็ตามให้ถูกต้องนั้น มันขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้ สัมมาทิฏฐิจะต้องเข้าไปเป็นน้ำกระสาย หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก เข้าไปแทรกอยู่ในทุกๆอย่างที่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้ เรามาเพ่งเล็งเฉพาะตัวหลักการกระทำนี้ มันจึงแยกออกมาได้ เป็นองค์มรรค องค์มรรค องค์มรรค แต่ละองค์ ละองค์ แต่โดยข้อเท็จจริง หรือความจริงของธรรมชาตินั้น จะปฏิบัติให้ถูกต้องได้นั้น มันต้องมีสัมมาทิฏฐิเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่อย่างนั้น มันก็ถูกต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะถูกต้องอย่างไร การที่กล่าวสรุปไว้ว่า พ้นทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสัมมาทิฏฐิ ก็หมายความว่าอย่างนี้ เพราะว่าสัมมาทิฏฐิ ทำให้สามารถปฏิบัติธรรมเฉพาะข้อ เฉพาะข้อ เฉพาะข้อ เฉพาะข้อ เพื่อแก้ไขความทุกข์แต่ละชนิด แต่ละชนิด แต่ละชนิด นี่สัมมาทิฏฐิอย่างเดียว ทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ แต่ต้องผ่านไปยังเรื่องนั้นๆโดยเฉพาะ เช่นว่า ความทุกข์ มันเกิดมาจากมิจฉาสังกัปปะ เกิดมาจากมิจฉาวาจา เกิดมาจากมิจฉากัมมันโต เป็นต้น ความทุกข์มันเกิดมาจากอย่างนั้น สัมมาทิฏฐิหน้าที่ที่จะรู้ แล้วก็หาความถูกต้องมาให้เป็นหลักยึดถือ ให้มองว่าสัมมาทิฏฐินี้ เป็นสิ่งที่เหมือนกับเงาตามตัวนั้นแหละ ไปที่ไหน ขาดสัมมาทิฏฐิแล้วก็เป็นเกิดเรื่องแน่ จะทำอะไรผิดหมดทุกอย่าง ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ รู้ผิด ถูก ชั่ว ดีอยู่ มันก็ทำไม่ผิด ไม่ว่าจะไปทำอะไร ทำถูกหมด เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องตนเอง เรื่องผู้อื่น เรื่องโลก เรื่องเหนือโลก สัมมาทิฏฐิเข้าไปเกี่ยวข้องคือนำหน้าการกระทำหมด เช่นว่า พูดจานี้ถ้ามีสัมมาทิฏฐินำอยู่ มันก็พูดถูก แต่เดี๋ยวนี้ กำลังจะเน้นเรื่องการพูดจา จึงแยกออกมาเป็นข้อหนึ่ง ข้อหนึ่ง ข้อหนึ่ง อีก ๗ ข้อ รวมทั้งสัมมาทิฏฐิด้วยก็เป็น ๘ ข้อ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นสิ่งที่ตถาคตรู้โดยชอบเอง ไม่ได้ยิน ได้ฟังมาแต่ผู้อื่น เป็นตัวสำคัญ ที่ใน ๘ องค์นั้น สัมมาทิฏฐินำ สัมมาสมาธินั้นเหมือนตัวเจ้าของเรื่อง เหมือนกับกองทัพ กองทัพทำสงคราม ไอ้พวกที่ไปข้างหน้า กองนำ หรือกองหน้า มันก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ไอ้ทัพใหญ่ ทัพหลวง ทัพแม่ทัพ นั่นก็คือสัมมาสมาธิ นอกนั้นก็ช่วยกันทำหน้าที่ตามเรื่อง เรื่องเกี่ยวกับอาหารบ้าง ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่มบ้าง การช่างบ้าง การอะไรบ้าง ซึ่งในกองทัพต้องมีครบ ลองไปนึกเล่นๆดูว่า กองทัพกองหนึ่ง ถ้าประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการแห่งมรรคแล้ว กองทัพนี่จะชนะหมดได้ดีที่สุด ไอ้ถ้อยคำบางคำนั้น มันฟังไม่ถนัด เรียกว่ามันมีความหมายได้หลายอย่าง แล้วก็ฟังไม่ถนัด ควรจะพิจารณาให้ได้ความหมายครบถ้วน ทีนี้ต้องการจะใช้คำพูดคำไหน ก็เน้นคำพูดคำนั้น
อ้าว, มีอะไร คุณหมอเชาว์
คุณหมอเชาว์ : ในรูปแบบที่เขาได้เขียนนั้น ก็อาจจะทำให้ผู้อื่นได้งง คือหมายถึงว่าที่ในการเขียน หรือในรวมลงในไตรศึกษา ที่ใช้ขึ้นว่า ศีล แล้วไปสมาธิ แล้วไปปัญญา ทีนี้ในปัญหาอันนี้ ผมเข้าใจว่า บุคคลที่ที่เรียนจนเกิดถกเถียงกันขึ้นว่า ทำไมจึงเอาศีลขึ้นต้น และจึงเอาสมาธิมาอยู่กลาง และเอาปัญญาไปอยู่ท้าย แต่ว่าในการตรัสของในองค์แห่งมรรค ๘ นั้น ได้ขึ้นสัมมาทิฏฐิ อันนี้ละครับเป็นข้อที่ว่า...(นาทีที่ 51:05)
ท่านพุทธทาสฯ : ก็นั่นแหละ คือ ก็บอกแล้ว ในวันพูดวันนั้นว่า ถ้าเอาตามลำดับสูงต่ำ สูงต่ำ หรือ ยากง่าย ก็เรียง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าจะให้เป็นการปฏิบัติจริงๆนั้น ต้องเอาปัญญามาก่อน ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปโป จึงมาอยู่ข้างหน้า เพื่อจะนำศีลและสมาธิให้ถูกต้อง สมาธิไม่นำศีล ศีลก็เข้ารกเข้าพง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ สมาธิก็เข้ารกเข้าพง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้นี้เมื่อปฏิบัติจริง เราจะปฏิบัติเมื่อไรที่ไหนก็ตามแต่ สัมมาทิฏฐิต้องมีอยู่ ต้องไม่เสียไป เพราะการกระทำที่เป็นศีล เป็นสมาธิ ก็ทำหน้าที่ได้สำเร็จประโยชน์ แยกเป็น ๒ เป็น ๒ อะไร... เป็น ๒ ลักษณะว่า
คนเราจะมีศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญาก่อน แม้แต่จะรู้จักมาวัด เข้าวัด รักษาศีล นี้มันมาด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ แล้วมามีศีล แล้วมีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาอีก ปัญญาก็ย้อนกลับไปทำให้ศีล และสมาธินั้น ยิ่งขึ้นไปอีก ปัญญาอย่างยิ่งก็เกิดอีก มันก็ย้อนไปส่งเสริมศีล สมาธิ ยิ่งขึ้นไปอีก ปัญญาอย่างยิ่งเกิดอีก มันก็เลยถึงที่สุดของการปฏิบัติ
คุณหมอเชาว์ : ผมขอเรียนอีกคำหนึ่งว่า ตัวที่จะมีสัมมาทิฏฐิ ที่เขาตั้งด้วย ศีลเป็นสุตตะ สากัจฉา สมถะ และวิปัสสนานั้น อันนี้จะเป็นองค์ประกอบที่จะต้องให้ การสัมมาทิฏฐินั้นสมบูรณ์ใช่ไหมครับ? ที่เขาเขียนไว้ว่า มีศีล มีสุตตะ สากัจฉา สมถะ และวิปัสสนา ที่เป็นองค์ฐานที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐินั้น
ท่านพุทธทาสฯ : ก็แน่นอนแหละ คือว่า สัมมาทิฏฐิ ความรู้ว่าจะทำอย่างไร อะไรนั้น มันต้องมาก่อนแล้วจึงทำ ครั้งทำลงไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ใหม่นี้ มันจะเพิ่มสัมมาทิฏฐิให้มากขึ้น สัมมาทิฏฐิก็นำได้ดีกว่าก่อน สูงว่าก่อน มันจะวกไปหาสัมมาทิฏฐิ ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิให้ยิ่งขึ้นไป ทุกคราวที่ได้มีการกระทำ ได้รับผลแห่งการกระทำ ได้ชิมรสของผลแห่งการกระทำ สัมมาทิฏฐิมันก็งอกงามยิ่งขึ้นไป แต่ถ้าจะมาพูดกันนอกวงการปฏิบัติ มันก็พูดอย่างว่า เอาจากต่ำสุด ไปหาสูงสุด จึงเรียงคำพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่โดยพฤตินัยนั้น ต้องเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ดูเอาเองจากการกระทำของเราเองนั้นทุกอย่าง ที่มันทำถูก ทำถูก ก็เพราะว่ามันมีสัมมาทิฏฐิ อะไรๆจึงพลอยถูกไปหมดทั้ง ๗ องค์
มันจะต้องคำนวณให้ดีว่า การอธิบายขยายความนี้ ควรขยายออกไปสักเท่าไร ถึงจะพอเหมาะพอสมกับลูกเด็กๆ ชั้น ป.๑ ป.๒ แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
คณะครู อาจารย์ : กราบนมัสการพระคุณเจ้า กระผมอยากจะกราบเรียนถามว่า การกำหนดจุดประสงค์ หรือเป้าหมายในการเรียนรู้ของในแต่ละชั้นนั้น ผมใคร่ขอยกตัวอย่างจากกลุ่มนะฮะ ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องนี้ กระผมอยู่ในกลุ่มที่ ๑ ในหมวดสัมมาทิฏฐิ ก็มีปัญหาในเรื่องว่า ความมีการศึกษามากพอแก่สถานะของตนนั้น เราจะกำหนดเป้าหมายแค่ไหนถึงจะดีนะฮะ ก็มีสมาชิกบางท่านในกลุ่มก็เห็นว่า น่าที่จะต้องให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้ถึงขั้นพัฒนาจิตสูงสุด ให้เป็นอิสระจากอำนาจกิเลสนะฮะ สมาชิกบางท่านก็เห็นว่า คงทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น เพราะว่าความเป็นไปได้เหมาะกับวัยของเด็กนั้น ก็เห็นจะเป็นไปไม่ได้นะฮะ ก็มีปัญหาว่าในบางส่วนก็ยังตกลงกันไม่ได้ ก็คิดว่าจะไปกราบเรียนถาม ก็พอดีพระคุณเจ้ามาที่นี่ ก็ถือโอกาสเรียนถามเลยว่า การกำหนดเนื้อหานี้ จะเอาถึงขั้นไหน ที่จะสอดคล้องกับความมุ่งหมายในการจะทำการสอน หรือสิ่งที่จะเป็นไปได้ครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : มันมีมากนะ ตั้งแต่ต่ำสุด หรือง่ายสุด ไปจนถึงสูงสุด ยากที่สุด แล้วก็ดูปัญหาที่เกิดอยู่กับเด็กนั้นจริงๆ แล้วก็ระบุให้เหมาะสมแก่ชั้น แก่วัย จะให้ ป.๑ เรียนถึงเรื่องตัดกิเลสนั้น คงทำไม่ได้หรอก เว้นไว้แต่เรื่องหยาบๆ ซึ่งเป็นผลของกิเลส เช่น ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เป็นเรื่องควบคุมกิเลสก็แล้วกัน ที่จะตัดกิเลสสิ้นเชิง เป็นพระอรหันต์นั้น มันทำไม่ได้แน่ ผู้ใหญ่ก็ยังกระทำไม่ได้ เด็กๆจะทำได้อย่างไร ก็เลือกถ้อยคำที่เหมาะสมวางลงไปเป็นหลักกลางๆนะ จะพูดให้ธรรมดาสามัญ มันก็คงจะได้แค่คำว่า รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดีนั้นแหละคือ สัมมาทิฏฐิ ในความหมายทั่วไป ตั้งแต่ต่ำสุด จนถึงสูงสุด เช่น รู้จักความดีอย่างนี้ เด็กๆก็รู้ว่าความดีเป็นอย่างนั้น ทำแล้วมีประโยชน์อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็รู้เลยไปถึงว่า แม้แต่ความดีนี้ ก็ไปเมากับมันไม่ได้ ไปหลงใหล ไปมัวเมาในความดีก็มีปัญหาอย่างอื่นเกิดขึ้น แล้วเราก็ไม่ได้หลงใหลมัวเมาในความดี ถ้าถามว่าความดีคืออะไร? เด็กๆก็จะตอบว่า คือสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างสุดเหวี่ยง แต่ผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาก็จะตอบว่า เราจะทำแต่พอดี สิ่งที่ทำแต่พอดี ไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดความทุกข์ ถ้าจะหมดกิเลสต้องอยู่เหนือความดี ไม่หลงติดอยู่ในคุณค่าของความดี นั้นจึงจะหมดกิเลส ฉะนั้น คำว่าพระอรหันต์นั้น ไม่สนใจความดี ไม่สนใจความดี เพราะว่ามันทำให้ยุ่งเหมือนกับความชั่วในรูปที่ต่างกัน นี่เราต้องการอยู่เหนืออิทธิพลของความดี ความชั่ว ก็จะไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง คำนึงถึงในระดับธรรมดาสามัญ ต่ำสุดของเด็กๆนี่ขึ้นไปถึงระดับกลางของวิญญูชน สัตบุรุษทั้งหลาย แล้วขึ้นไปถึงขั้นสูงสุดของพระอรหันต์ จะมีอยู่เป็น ๓ ชั้นอย่างนี้ เรานึกให้หมด แล้วก็วางให้พอดี วางรูปแบบให้พอดี เดี๋ยวนี้จะทำสำหรับเด็ก ป.๑ ป.๒ ป.๓ ลดลงมาให้พอดี คงไว้แต่หลักที่มันกลมกลืนกันกับอัฏฐังคิกมรรค กลมกลืนกันกับอริยมรรคมีองค์ ๘
ถ้าแยกโดยนัยแห่งอริยสัจจ์ ๔ ไม่ได้ข้อไหนก็ อาตมายินดีที่จะตอบ
คณะครู อาจารย์ : ถือโอกาสเป็นการเสนอไปด้วยเลย คือ อาจารย์คนนี้ เขากลับไปกรุงเทพฯแล้ว คือท่านเขียนเรื่องสัมมาวาจา การไม่พูดคำหยาบ
ข้อที่ ๑ ของจุดประสงค์นำทางบอกว่า บอกความหมายหรือลักษณะของการไม่พูดคำหยาบ
ข้อที่ ๒ บอกสาเหตุหรือที่มาของการไม่พูดคำหยาบ และ
ข้อที่ ๓ บอกผลดี ผลเสีย ของการไม่พูดคำหยาบ
ท่านพุทธทาสฯ : นั่นเป็นแจกตามอริยสัจจ์ ๔ ซะแล้ว ที่ตั้งคำถามอย่างนั้น คือมันแจกสัมมาวาจา โดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ซะแล้ว ให้บอกเหตุ ให้บอกความเลวร้าย ให้บอกประโยชน์และอานิสงส์ เขาคงไม่ได้ใคร่ครวญหลักอริยสัจจ์ ๔ แล้วก็ตามความรู้สึก ก็รู้สึกอย่างนั้น ก็มีปัญหาอย่างนั้น
คณะครูอาจารย์ : ครับ ถ้าอย่างนั้น อันนี้ก็ต้องแก้ไขต่อไปครับ ทีนี้กระผม...
ท่านพุทธทาสฯ : ก็เมื่อแน่ใจว่าจะยึดหลักอริยสัจจ์ ๔ ก็แก้ทั้งหมดให้มันเข้าหลักอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งมันต่ำมากก็ได้ กลางก็ได้ สูงก็ได้ สามารถจะเหมาะกับชั้นประถม ๑ ประถม ๒ ประถม ๓
คณะครู อาจารย์ : ทีนี้ กระผมสงสัยอยู่นิดหนึ่ง คือ จากวันแรกที่ท่านอาจารย์พูดถึงเป้าหมายของชีวิตและสังคม ก็พูดถึงเรื่องว่า เป้าหมายของชีวิตก็คือสันติสุขส่วนบุคคล และของสังคมคือสันติภาพ เพราะฉะนั้น เพื่อเอาหลักอันนี้ เป็นเป้าหมายในการทำงานทั้งหมดนะครับ หรือของทุกชีวิตนี้ เพราะฉะนั้น กระผมคิดว่าจะต้องมีชนวนสักอันหนึ่งที่จะชี้ ให้นักเรียนนี้เกิดสัมมาทิฏฐิในข้อนี้ คือว่า ควรจะรู้ว่าเกิดมาทำไม และเรียนไปทำไมด้วย อย่างนี้จะมีประโยชน์อะไรไหมครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : นั่นหละคือสัมมาทิฏฐินำ ความรู้ที่ว่าเกิดมาทำไม เป็นสัมมาทิฏฐิที่จะเป็นตัวนำองค์อื่นๆ เมื่อเขารู้ว่าเกิดมาทำไม เขาก็ตั้งความปรารถนาไว้ถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำงานถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง สติถูกต้องหมด มันก็ไม่พ้นไปจากคำว่า มีสัมมาทิฏฐินำ นำ บาลีใช้คำว่าสมาทาน คำว่า สมาทานนี้ แปลว่า ถือไว้อย่างดี ถือไว้อย่างดี สัมอาทานะ ถือไว้อย่างดี คือ ศีล สมาทานศีล ก็คือ ถือศีลไว้อย่างดี สมาทานสัมมาทิฏฐิ ก็มีสัมมาทิฏฐิไว้อย่างดี อย่างดี คือ พอดี ถูกต้อง พอดี ไม่ยุ่งยากลำบาก
คณะครู อาจารย์ : ขอนมัสการพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพ ตามที่ได้ฟังถึงวิธีสอนของพระเดชพระคุณเมื่อก่อนนั้น ท่านได้จำแนกออกเป็น ๖ หัวข้อด้วยกัน ตัวบทที่ชัดเจน เหตุและผลที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น คำอธิษฐาน คำปวารณา สารภาพผิด และปฏิบัติจนเป็นจริยวัตร ๖ อันนี้ ที่ประชุมได้เอามาพิจารณาแล้ว ตามที่พระเดชพระคุณ ก็ได้มาแจกอีกตอนหลังว่า ปรับให้เข้ากับอริยสัจจ์ ๔ คือ สิ่งนั้นคืออะไร? เหตุที่มีสิ่งนั้นมา ผล และวิธีปฏิบัติ อันนี้กระผมก็พอจะประยุกต์เข้ากันได้ แต่ขอทราบรายละเอียดอีกตอนหนึ่งว่า คือ การปฏิบัตินั้น ตามแนวเดิมท่านได้แจ้งไว้ว่า มีบทอธิษฐาน คำปวารณา สารภาพผิด และจริยวัตรนี้ อยู่ในแนวทางที่วิธีปฏิบัติ หรือวิธีสอน ยังยึดหลักอันนี้อยู่ ผมกราบเรียน
ท่านพุทธทาสฯ : เราเรียกว่า การอบรม การที่อธิบายโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ นั้น มันไปเข้าข้อที่ว่า มีเหตุผลอันเพียงพอ ข้อหนึ่ง ตัวบทชัดเจน ข้อสอง เหตุผลเพียงพอ ที่อุตส่าห์จำแนกตามหลักอริยสัจจ์ ๔ ก็เพื่อจะชี้แจงเหตุผลอันเพียงพอ คงแปลกออกไปมากไม่น้อยเหมือนกัน ที่ว่าจะให้มีการอธิษฐาน การสารภาพบาป การปวารณาให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่นี่ไม่ใช่การสั่งสอน เป็นการอบรม ใช้คำว่า อบรม
คณะครู อาจารย์ : แต่วิธีการนั้น ก็ยังจะต้องมีอยู่ใช่ไหมครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : มีอะไรนะ?
คณะครูอาจารย์ : ยังจะต้องมี ในวิธีการสอน อันที่ ๔ แนวปฏิบัตินั้น น่าจะได้มี บทอธิษฐาน คำปวารณา คำสารภาพผิด และปฏิบัติเป็นจริยวัตร อยู่ใช่ไหมครับ ยังคงไอ้สิ่งนี้อยู่ใช่ไหมครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : เอ้า, ก็ตั้งเอาเองสิ เราจะให้เด็กอธิษฐานว่าอย่างไร ยังไม่ได้พูดในถึงเรื่องนี้.......... เกรงอยู่ว่ามันจะนำเร็วเกินไป แล้วเขาตามไม่ทันแล้วมันก็เกิดทุลักทุเล เป็นเรื่องอบรม เป็นเรื่อง training ไม่ใช่ teaching
ใน ๕๖ หัวข้อนี้นั้น ไปนึกดูอย่างเล่นๆก็ได้ ให้มันออกมาเป็น ๔ คูณด้วย ๔ เป็นว่าเล่นไปเลย ต่อไปก็จะพูดได้ดี หรือว่าจะวางกฎเกณฑ์อะไรได้ดี เพราะว่ามันมีหลักของธรรมชาติ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้เคยใช้ให้ค้นพบ เคยใช้ เคยทรงนำมาใช้ และเคยประกาศสั่งสอน มันคงจะลำบากบ้างนะ เพราะว่ามันมีเทคนิคของธรรมชาติที่ละเอียดถี่ถ้วน และครบถ้วน ถ้าทำไป ทำไป มันก็จะค่อยๆง่าย ค่อยๆแจ่มแจ้ง ค่อยๆง่ายขึ้นมาเอง ครั้งแรกนี่คงจะต้องอดทนหน่อย
ในชั้นนี้ เอาเป็นว่า ให้สามารถแจกหัวข้อจริยธรรม ทั้ง ๕๖ ข้อนี้ โดยหลักอริยสัจจ์ ๔ เพื่อจะเป็นเหตุผลอันชัดเจน สำหรับผู้ปฏิบัติจะได้สมัครใจปฏิบัติตาม คือมีแนวสำหรับปฏิบัติร่วมกัน........................... ทุกข้อ ทั้ง ๕๖ ข้อ แต่ละข้อ ละข้อมันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อหมดปัญหา ถ้าอย่างนี้แล้ว มันแจกโดยหลักอริยสัจจ์ ๔ ได้ทั้งนั้น
เราไม่ได้ทำอะไรโดยคิดเอาเองใหม่ แต่ทำตามหลักของพระพุทธเจ้าที่เคยทรงทำมาแล้ว ถึงเราจะคิดอะไรใหม่ มันก็ไม่...... จะไม่ดีไปกว่าที่เคยมีอยู่แล้ว ซึ่งมันมีมากมายเหลือเกิน จนไม่ได้เอามานึก มาคิด มาศึกษามันก็มีบ้าง ไอ้ผลที่ซ่อนอยู่ มองไม่เห็น หรือไม่ทันจะมองนั้น เยอะแยะ เยอะแยะ แต่ละข้อ ละข้อ มีผลดีที่มันซ่อนในนั้น ในความหมายหลายๆอย่างนั้นมี เราไม่ได้พูด ก็มันจะมากเกินไปสำหรับเด็กๆ พูดแต่ที่ควรรู้ก่อน จำเป็นที่ต้องรู้ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่ม เพิ่ม เพิ่ม ไปตามลำดับชั้น
ข้อนั้น ดูมันมีบางคนสงสัย ข้อวาจานั้น
มันมี ๔ ตามหลักในธรรมะ ทั้ง ๔ อย่างนั้น เรียกว่า พูดร้าย เป็นอันตราย
ไอ้บิดเบือน หรืออำพรางความจริงนี่คืออันเดียวกัน เรียกว่า พูดปด ไม่พูดปด แล้วก็วงเล็บ ไม่บิดเบือนอำพรางความจริง ในบาลียกตัวอย่างเป็นพยานเท็จ เรียกว่าพูดปด แล้วไม่พูดเสี้ยมคนให้โกรธกัน แตกกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มีเพียง ๔ ตามหลักในกุศลกรรมบถ คือ ทั้ง ๔ นี่ จะแยกเป็น ๔ ข้อ มันก็ได้ แต่ข้อมันก็จะมากออกไป ทั้ง ๔ นี่ เลยเอามารวมเป็นข้อเดียวเสียว่า ไม่พูดร้าย คือ พูดปด พูดส่อเสียด ยุยง พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ จะแยกเป็นอย่างละข้อ อย่างละข้อ มันก็จะมากไป โดยไม่จำเป็น รวมไว้เป็นพูดร้ายเสียดีกว่า
ไอ้ข้อ ๒ มันก็ซ้ำกับข้อบน กลับโดยนัย ตรงกันข้าม ปฏิปักขนัย พูดชวนฟัง ก็คือพูดไม่หยาบ ไม่เลวร้าย แล้วก็พูดมีประโยชน์ ก็คือไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดเพ้อเจ้อนั้นทำลายประโยชน์ เสียเวลาทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทีนี้ การที่จะรู้จักพูดดี มันก็มีสัมมาทิฏฐินำ สำเร็จได้โดยวิธีมีสัมมาทิฏฐินำ มีสัมมาวาจาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัมมาทิฏฐินำ ถ้าจะเขียนแบบ แบบบทบัญญัติกฎหมาย มีองค์มรรคองค์นั้นสำหรับปฏิบัติต่อเนื่อง แล้วก็โดยมีสัมมาทิฏฐินำ ทุกองค์ไปเลย แม้สัมมาทิฏฐิมันก็ซ้อนสัมมาทิฏฐิได้ สัมมาทิฏฐิที่รู้แล้วก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิเก่า มันก็นำสัมมาทิฏฐิใหม่ที่ให้เกิดขึ้น มากขึ้น มากขึ้น
มันมีความหมายระหว่างบรรทัดทุกบรรทัด .......................... ใครมีปัญหาอะไรอีก?
คณะครู อาจารย์ : ในกลุ่มของกระผมอยู่ในหมวด ๓ ชื่อว่าสัมมาวาจา คือการไม่พูดร้าย ในคณะทำงานก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ไอ้การสัมมาวาจานี้ หรือมิจฉาวาจา จะรวมทั้งการเขียน หรือการแสดงพฤติกรรมอย่างอื่นที่เป็นมิจฉาด้วยหรือไม่ครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : นี่ก็ต้องใช้คำว่า สิ่งที่มีค่าเท่ากับการพูดนั่นแหละ การเขียนก็เป็นอยู่ในวาจา การแสดงกิริยาท่าทางนั้นก็อยู่ในวาจา พูดปดโดยกิริยาท่าทางก็ได้เหมือนกัน มันก็อยู่ในคำอธิบายประกอบปลีกย่อยให้มันชัด ว่าไม่พูดร้าย ไม่เขียนร้าย ไม่แสดงท่าทางให้เขาเข้าใจผิด
ภาษาใบ้ แสดงหรือพูดด้วยท่าทาง พูดด้วยกิริยาท่าทาง ภาษาติดต่อโดยใช้การเขียน ติดต่อกันข้ามโลกก็ได้ นี่พยายามจะใช้คำธรรมดาที่สุด ไม่ใช้คำศัพท์ ให้เด็กๆเขาสะดวก
ไอ้ลำดับข้อที่มันมีสิบกว่าข้อนั้น พิจารณาดู ถ้าเห็นว่าควรจัดลำดับใหม่เสียบางข้อ ก็ควรจะทำเหมือนกัน ถ้ายึดหลักว่าปฏิบัติเพื่อตนมาก่อน แล้วปฏิบัติเพื่อสังคมมาทีหลัง และในกลุ่มหนึ่งๆนั้นให้เป็นว่า ที่ง่ายมาก่อน ที่ต่ำมาก่อน แล้วที่สูงขึ้นไปมาทีหลัง
ไอ้ข้อสัมมาสมาธินั้น ควรจะเลือก ควรจะต้องเลือกเฉพาะเด็ก ลูกเด็กๆเล็กๆให้บางข้อเท่านั้น เพราะบางข้อมันยังเกินไป เรื่องไม่โศก เรื่องไม่......มันเป็นเรื่องถึงขั้นเป็นพระอรหันต์แล้วนี่.................................................
ลองไล่ดูให้ครบ ๔ ข้อ ติดข้อไหนยังไงก็คุยกันได้
คณะครู อาจารย์ : ความหมาย.....อย่างสัมมาทิฏฐิข้อที่ ๑ ครับผม ความมีการศึกษาพอแก่สถานะแห่งตน รู้สึกว่าหัวข้อมันกว้าง กว้างเหลือเกิน
ท่านพุทธทาสฯ : ความมีอะไรนะ?
คณะครูอาจารย์ : ความมีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตน ครับผม
ท่านพุทธทาสฯ : อ้าว ก็มันอยู่เป็นชั้นๆๆๆ ชั้นเด็กก็พอแก่เด็ก ชั้นหนุ่มก็พอแก่หนุ่ม แล้วแต่ว่ามันอยู่ในสถานะอะไร ต้องมีความรู้เพียงพอแก่สถานะนั้นๆ หมายความว่าอย่างนั้น
คณะครูอาจารย์ : อย่างเรื่องเรียนไปทำไม? เกิดมาทำไม? อย่างที่กระผมเรียนถามเมื่อกี้นี้ มันควรจะเริ่มตั้งแต่ชั้นไหน อย่างไร
ท่านพุทธทาสฯ : เริ่มได้ตั้งแต่ชั้นต้นที่สุด แต่ในความหมายที่ง่ายหรือต่ำที่สุด เพราะว่าเกิดมาทำไมนี้ มันเลื่อนความหมายได้ตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุด
คณะครู อาจารย์ : ทีนี้ อันนี้จะกำหนดได้ไหมครับว่า ถ้าอย่างนั้นเป้าหมายของชีวิตและสังคมนี้ คือสันติสุขทั้งส่วนตน และส่วนสังคม / ให้ไปอยู่ในเป้าหมายนั้นไปนะครับ
ท่านพุทธทาสฯ : มันก็ได้ / ก็ได้ แต่ว่าเด็กจะยังไม่รู้เรื่องสันติสุข สันติภาพ ของบุคคล หรือของสังคม ควรจะใช้คำอย่างอื่น
คณะครู อาจารย์ : แต่ว่า อย่างสมมุติว่าอย่างเด็กนี่ ให้ร้องเพลง อย่างที่ตอนนั้นก็มีผู้เสนอเพลงมาหลายเพลง เพลงเกิดมาทำไม เรียนไปทำไม เรียนมาเพื่อช่วยโลก อะไรอย่างนี้นะครับ ให้มันติดอยู่ในหัวใจก่อนนี้ มันจะมีประโยชน์ไหมครับผม?
ท่านพุทธทาสฯ : แน่นอนแหละ ให้มันมีเป้าหมายที่ถูกต้องในการเกิดมา ให้เจอตั้งแต่ยังเล็กๆ ควรจะพูดด้วยถ้อยคำที่เขาเข้าใจได้ทันที เกิดมาเป็นคนมีประโยชน์ เกิดมาทำโลกให้งดงาม แล้วแต่จะใช้คำอะไรดี
คณะครู อาจารย์ : อย่างนิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ก็น่าจะเอามาเล่าให้เด็กฟังได้
ท่านพุทธทาสฯ : มันจะเกินไป นั่นมันนิทานสำหรับคนแก่ นิทานล้อคนแก่
ควรจะตั้งคำถามว่า เกิดมาแล้วนี้จะต้องทำอะไร ถ้าถามว่า เกิดมาทำไม คล้ายๆ กับว่า มีเจตนามาแต่ก่อนเกิด ว่าจะต้องเกิด ทีนี้ทุกคนไม่ได้มีเจตนานะ มันเกิดมาแล้วโดยเหตุปัจจัยที่ตนไม่ได้รับผิดชอบด้วย แต่มันเกิดมาแล้ว แต่ควรจะตั้งปัญหาว่า เมื่อมันเกิดมาแล้วอย่างนี้ จะต้องทำอย่างไร?
คณะครู อาจารย์ : ถ้าอันนี้ เราหันไปหาธรรมะในความหมายที่ ๓ เลยจะได้ไหมครับ เกิดมาเพื่อทำหน้าที่?
ท่านพุทธทาสฯ : มันก็ดี ครบหมด เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ ทำหน้าที่ของมนุษย์ที่ดี พลโลกที่ดี
คณะครู อาจารย์ : ทีนี้ มันมีหน้าที่ร่วมกันที่จะต้องทำก็ คือ ทำให้ตัวเองมีสันติสุขด้วย ให้สังคมมีสันติภาพด้วย อันนี้เป็นหน้าที่ร่วม
ท่านพุทธทาสฯ : อันนี้เกี่ยวกันคำ เกี่ยวกันคำ จะใช้คำอย่างอื่นก็ได้ แต่เห็นว่า สำหรับบุคล เรียกว่า สันติสุข สำหรับสังคมทั้งหมด เรียกว่า สันติภาพ มันก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน ไอ้สันติสุขนั้นมันเป็นเรื่องเฉพาะคน หรือทำได้โดยลำพังคน แต่ถ้าสันติภาพนั้น ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของสังคม
คณะครู อาจารย์ : ทีนี้ ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องกำหนดเป้าหมายว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนนี้ มาตั้งแต่เล็กเลย จะได้ไหมครับ ?
ท่านพุทธทาสฯ : นั่นเป็นการทำหน้าที่
คณะครู อาจารย์ : ตามธรรมะในความหมายที่ ๓ นี้ครับ
ท่านพุทธทาสฯ : ได้ เพราะคำพูดอย่างนี้มันกว้างจนไม่มีทางที่จะผิดได้
คณะครู อาจารย์ : คือ ที่ท่านอาจารย์พูดถึง ตอนที่ท่านอาจารย์บรรยายเรื่องว่า ที่จะรู้จักสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ จะต้องมีส่วนหนึ่งที่ว่าจะต้องรู้ อัสสาทะ-อาทีนวะ-และ-นิสสรณะ กระผมเห็นว่า มันมารวมอยู่ในเรื่องความไม่เห็นแก่ตัวนี้ คือ สัมมาทิฏฐิในข้อ ๑๐ เพราะคนที่เห็นแก่ตัวนี้ เพราะเหตุว่าไปติดใน อัสสาทะ ของโลก เพราะฉะนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นของการปฏิบัติธรรม ก็คือว่า เอาชนะรสอร่อยของเหยื่อโลกทั้งหลาย ไอ้ความเห็นแก่ตัวก็จะลดลงไปด้วย ไอ้ปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะลดลงไปด้วย ถ้าเราจะขมวดลงไปที่จุดนี้ มันจะชัดขึ้นไหมครับ?
ท่านพุทธทาสฯ : มันจะไม่กว้างมากเหมือนกับใช้คำว่า รู้ อัสสาทะ รู้ อาทีนวะ เช่น เงิน - อัสสาทะ ของมันก็ช่วยบันดาลความต้องการ ให้ได้ตามต้องการ เป็นเสน่ห์จนคนหลงกันหมด ทีนี้ อาทีนะวะ ของมัน คือ ความเลวร้าย เป็นเหตุให้เกิด ทุจริต เบียดเบียน ฆ่าฟัน แย่งกัน แข่งขันกันอะไร นี่เป็นส่วนที่เลวร้าย ต้องไม่ทั้ง ๒ อย่าง ต้องไม่หลงในส่วนที่มันยั่วให้หลง แล้วก็ ต้องไม่ปล่อยให้มันกัดเอาได้
ธรรมะมันเนื่องกันหมดแหละ ดูให้ดีเถิด ธรรมะนี้มันเนื่องกันหมดทุกข้อ แต่เราไม่ได้ดู แล้วก็ไม่ค่อยจะเห็น ที่จะโยงข้อไหนไปหาข้อไหนโยงได้ทั้งนั้น เพราะธรรมะมันเนื่องกันหมด .....................................
บทอธิษฐานเฉพาะข้อ จะปล่อยทิ้งไว้ให้ครูผู้สอนคิดเอาเอง ...(นาทีที่ 91:08) ลองร่างกันดูทุกข้อ แต่ต้องไม่ใช้คำว่า “จะ” นะ ข้าพเจ้า “จะ” เป็นอย่างนั้น ข้าพเจ้า “จะ” เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อธิษฐาน ต้อง ข้าพเจ้า“เป็น” หรือข้าพเจ้า “ต้องเป็น” นะ
สำนึกบาป สำนึกบาป สำนึกความผิด สำนึกบาปความผิด สำนึกความผิดบาป นี่ก็เป็นเรื่องอบรมที่สำคัญ ทีนี้แต่ละคน แต่ละคนมีชีวิตอยู่วันหนึ่ง วันหนึ่ง โดยไม่รู้สึกเลยว่าได้ทำผิดบาปอะไรบ้าง ทีนี้จึงมีการปวารณา ให้เพื่อนช่วยบอกว่าทำไม่ดีอย่างนั้นๆ ก็เลยนึกได้ว่าทำอย่างนั้นๆ ไม่ดี แล้วก็สัญญาว่าจะเลิก
ปวารณานี้ ก็มีใช้แต่ในหมู่ภิกษุสงฆ์ ประชาชนไม่เอาไปใช้ ไม่นิยมใช้ แล้วไปทักท้วงเขาก็กลายเป็นเสียมารยาทไปอีก เพื่อไม่ให้เสียมารยาทจึงไม่ให้มีการปวารณาไว้
ไอ้ข้อนี้คงจะแปลก ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก คือไม่เคยมี แต่ก็มีในทางฝ่ายศาสนาคริสเตียนนั้นไม่ได้เรียกว่าการศึกษาในโรงเรียน เป็นเพียงการประพฤติปฏิบัติทางศาสนาในโบสถ์ ทุกวันอาทิตย์ต้องไปแก้บาป ซึ่งเรากำหนดเอาวันเสาร์ หรือวันอะไรให้เป็นวันไหว้พระสวดมนต์ หรือเป็นวันแก้บาป สารภาพบาปไปในตัว
ถ้าทำอย่างพระ ปีหนึ่งมีการปวารณาหนหนึ่ง ปวารณาตลอดกาล ให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ หรือสำหรับเด็กๆจะจัดให้มีการปวารณาเดือนละครั้งก็ได้ ประชุมพร้อมกันแล้ว เด็กคนหนึ่งซึ่งจะเป็นผู้ปวารณา ต้องมา ออกมาปวารณา ว่าอย่างนั้นเลย ให้เด็กทุกคนทักท้วงตักเตือนได้โดยไม่เสียมารยาท โดยไม่โกรธ กลายเป็นเอาของในโบสถ์มาใช้ในโรงเรียน
คณะครู อาจารย์ : ดิฉันอยากขอประทานกราบเรียนท่านอาจารย์เจ้าค่ะ อาจจะไม่ตรงกับหัวข้อของในการประชุมครั้งนี้นัก แต่ทว่าก็อยู่เรื่องข้อของธรรมะ ข้อนั้นก็คือคำว่า ๑) ปวารณา ๒) มารยาท ๓) ความถูกต้อง สามอย่างนี้ วิญญูชนทั้งหลายควรจะถือสิ่งใดเป็นหลักเกณฑ์เจ้าคะ?
ท่านพุทธทาสฯ : มันเนื่องกันแหละ มันเนื่องกัน สัมมาทิฏฐิจะเป็นผู้จัด ในกรณีไหน ควรถืออย่างไร ถือก่อน ถือหลังอย่างไรให้สัมมาทิฏฐิเป็นผู้จัด ตามเหตุผลที่มีอยู่จริง ความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี ผิด ถูกนี้ เป็นเรื่องของสัมมาทิฏฐิ........................................
ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ถ้าหมดปัญหาก็หมายความว่ารู้ ถ้ามี นึกได้ ก็ค่อยถามกันใหม่วันหลัง
วันนี้ถ้าไม่มีอะไรก็ อาตมาขอลากลับก่อน