แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าควรจะพูดเรื่อง ศาสนาในส่วนที่ท่านทั้งหลายคงจะยังไม่รู้จัก นี่เป็นความคิดคาดคะเนเอาเองของอาตมา และต้องขออภัยในข้อที่ว่ามุ่งหมายเฉพาะนักศึกษาที่ยังเยาว์วัย ไม่ได้หมายถึงครูบาอาจารย์ที่คงแก่เรียน สิ่งที่เรียกว่าศาสนามีความหมายหลายแง่มุม ดูเหมือนจะรู้จักกันแต่ตามตัวหนังสือ ไม่ได้รู้จักไปถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ หรือแม้ที่สุดแต่เหตุผลว่ามันมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในโลกนี้ ทำไมจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจ เจตนาของใคร หรือว่าเหตุการณ์ต่าง ๆมันแวดล้อมให้เกิดขึ้นมาเอง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้จักไว้เป็นพื้นฐานสำหรับศึกเอ่อสำหรับศึกษาสิ่งที่เรียกว่าศาสนาสืบต่อไป ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเราก็ได้แต่อ่านหนังสือแล้วจำจำไว้แล้วก็ลืม อ่านอีกก็ลืมอีก เพราะว่าไม่เข้าใจ ความจำหรือความรู้ที่มาจากความจำนี้มันก็อย่างหนึ่งต่างหาก ความรู้ที่มาจากความเข้าใจนี้ก็อีกอย่างต่างหาก และชั้นสุดท้ายคือความรู้ที่มาจากสิ่งที่เราได้ผ่านไปแล้วด้วยชีวิตจิตใจของเราเอง การเรียนในโรงเรียนมีแต่ท่องจำ การใช้เหตุผลจนกว่าจะเข้าใจนั้นก็ยังมีน้อย ส่วนการจะผ่านสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยตนเองนั้นลำบาก เพราะว่าธรรมะในระดับสูงนั้นมันน้อยมากที่คนจะผ่านได้ที่ได้เคยชิมเคยลองหรือผ่านไปได้ ส่วนที่ส่วนใดที่อาจจะอ่านเองได้จากหนังสือหนังหาก็คิดว่าไม่ต้องพูด ก็คงพูดแต่สิ่งที่เข้าใจว่ายังไม่เคยคิด ไม่เคยคิด ไม่เคยนึก ที่มันแปลกไปกว่านี้อีกก็คือว่า แม้แต่สิ่งที่ได้อ่านมา จำเรื่องจำราวอยู่ได้ ก็ไม่เกิดความรู้สึกตามความหมายแท้จริงของเรื่องนั้น ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเตือนกันบ่อยว่าขอให้หยุดทำความเข้าใจกันบ้าง ในเรื่องที่เคยอ่านแล้วแต่ยังไม่เข้าถึงความหมาย ตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้เรากำลังนั่งอยู่กลางดิน แต่ความคิดนึกของเราก็ไม่ค่อยจะแล่นไปถึงเรื่องที่เราเคยอ่านเคยศึกษาว่าพระพุทธพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็นั่งกลางดิน นิพพานก็กลางดิน สอนสาวกก็กลางดิน จนกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่สอนกันกลางดินเป็นส่วนใหญ่ แม้ที่สุดแต่กำลังเดินทางอยู่ก็มี และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่ากุฏิของพระพุทธเจ้านั้นพื้นดิน ถ้าถือเอาตามซากโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ในประเทศอินเดีย เท่าที่เคยไปดูมาแล้วด้วยตนเอง เห็นเป็นพื้นดินทั้งนั้น คิดดูเถอะว่าท่านประสูติกลางดิน เป็นพระพุทธเจ้ากลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน โดยมักจะอยู่กลางดิน เมื่อเราต้องมานั่งกลางดินอย่างนี้สักครู่หนึ่ง เรารู้สึกพอใจว่าได้นั่งบนอาสนะของพระพุทธเจ้าแล้วก็ยินดีปรีดา อุทิศความรู้สึกอันนี้บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า หรือว่าเรากำลังอึดอัดใจอยู่เพราะว่าเราจำเป็นต้องนั่งกลางดิน นี่เป็นข้อที่จะต้องศึกษาให้เข้าถึงความหมาย อันมีความหมายมากทีเดียวถ้าเราพอใจยินดีเป็นอยู่คล้าย ๆ กับพระพุทธเจ้า ที่เขาถือกันเป็นหลักทั่วไปในโลกว่า เป็นอยู่คล้ายกับผู้ใด จะสามารถเข้าใจในความรู้สึกคิดนึกของผู้นั้นได้โดยง่าย ขอให้ไปสังเกตดู พยายามเป็นอยู่ให้คล้ายกับความเป็นอยู่ของท่านผู้ใด แล้วเราจะเข้าใจความรู้สึกคิดนึกในใจ หรือคำสั่งสอนก็ตามของท่านผู้นั้นได้โดยง่าย สาวกทั้งหลายไม่อยากจะเป็นอยู่อย่างที่พระพุทธเจ้าเป็นอยู่ อยากไปอยู่วิมาน ทำบุญก็อุทิศว่าจะเอาวิมาน ได้วิมานไม่ทันใจก็สร้างเอาที่นี่ แม้แต่พระเจ้าพระสงฆ์ บางทีก็รีบสร้างวิมานเอาที่นี่ เพื่ออยู่อย่างอยู่ในวิมาน ลืมไปว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานก็กลางดิน เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งว่าเรายังมีความรู้สึกอะไรได้น้อย หรือมันตื้นเกินไป ในการที่จะรู้จักเรื่องราวของพระพุทธเจ้า หรือจะรู้จักสิ่งทีเรียกว่า ศาสนา ถ้าจะกล่าวรวม ๆ กันถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มันก็ยังกล่าวได้ว่า พระศาสดาของทุกศาสนาตรัสรู้ในป่า อยู่กลางดินด้วยกันทั้งนั้นทุกศาสนา ถ้าตั้งใจที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ก็ลองเสียสละเวลาอยู่ตามพื้นดินกันดูบ้าง และต่อไปก็จะรู้ได้เองว่าเราได้รู้อะไรเพิ่มขึ้น อาตมาอยากจะกล่าวยืนยันสักหน่อยว่า ถ้ารู้เรื่องของสวนโมกข์เพียงพอและถูกต้องแล้ว ก็จะรู้เรื่องของสิ่งที่เรียกว่าศาสนาไม่น้อยนี้ทีเดียว และถ้อยคำมันเกี่ยวกันอยู่ เช่นคำว่า โมกข์ นี่เป็นคำของศาสนา แปลว่าเอ่อแปลว่าความเกลี้ยงเกลาไปจากความทุกข์ เป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติพระศาสนา เราไม่ได้เรียกเอ่อสถานที่นี้ว่าเป็นที่หลุดพ้นหรือเป็นความหลุดพ้น ถ้าเราเรียกว่า โมกขพลาราม ที่ให้เกิดกำลังสำหรับความหลุดพ้น ยังไม่ใช่ตัวความหลุดพ้น แต่ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ฟังจะต้องเข้าใจคำว่าความหลุดพ้น และจะเข้าใจคำว่ากำลัง อารามแปลว่าป่า พลาเอ่อพลารามแปลว่าป่าที่เป็นกำลัง โมกขพลารามแปลว่าป่าที่เป็นกำลังของโมกข คือความหลุดพ้น ถ้ารู้ถ้าจะรู้ความหมายของคำว่าโมกข ก็ต้องรู้ว่าคำนี้มันแปลว่าอะไร คำนี้ตามธรรมดาก็แปลว่าเกลี้ยง อะไรที่เราขัดเกลี้ยงไม่มีสกปรกติดอยู่ ก็เรียกว่าเกลี้ยงหรือโมกข พอมาใช้ พอเอาคำนี้มาใช้ทางศาสนาก็หมายความว่าความเกลี้ยงของจิตใจที่ปราศจากกิเลส มันก็คงเรียกว่าเกลี้ยงไปตามเดิม ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำธรรมดาแปลว่าเกลี้ยง ทีนี้พอมาใช้ในภาษาไทย เราให้ความหมายไปในทางศักดิ์สิทธิ์ ผู้ฟังก็เลยคิดว่ามันสูงเกินไป เพราะเห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้คิดว่าตามธรรมดาเราก็เกี่ยวข้องกับความเกลี้ยงอยู่ เสื้อผ้าซักให้สะอาดก็ให้มันเกลี้ยง เครื่องใช้ไม้สอยก็ขัดถูให้มันสะอาด เพื่อให้มันเกลี้ยง แม้แต่บ้านเรือนเราก็กวาดให้เกลี้ยง แล้วเราก็ชอบความเกลี้ยง ไปถึงเรื่องของจิตใจเราไม่ค่อยจะเข้าใจ เราไปชอบความรก ขออภัยที่ต้องพูดถึงว่าสกปรกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รกเฉย ๆ คือจิตใจของคนทีไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางศาสนา ก็ย่อมจะเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติ กิเลสตัณหาจะพาไป จึงไม่รู้เรื่องความเกลี้ยงในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ นับตั้งแต่ว่ามีกาย วาจา เกลี้ยง เป็นกายวาจาไม่มีความผิด เป็นกายวาจาที่สะอาดนิ่ง จนมีจิตเกลี้ยง คือไม่มีความรู้สึกเลวร้ายมารบกวน กระทั่งว่าสติปัญญามันเกลี้ยง ความคิด ความเห็นไม่ผิดพลาด ความรู้ความเข้าใจความเชื่อมันไม่ผิดพลาด ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ นี่เรียกรวมๆ กันแล้วก็เรียกว่า เกลี้ยงทั้งนั้น กายวาจาก็เกลี้ยง ใจก็จิตก็เกลี้ยง สติปัญญา ความรู้ของจิตก็ยังเกลี้ยง คือเกลี้ยงจากความผิด และมีความสบาย ไม่มีอะไรรบกวนกระทบกระทั่ง นี้ตัวนี้เรียกว่า วิเวก วิกับเวก แปลว่า ไม่มีอะไรรบกวน คือเป็นหนึ่งหรือเป็นเดี่ยวอย่างที่สุด ความหมายบอกอยู่ในตัวแล้ว ถ้ามันหนึ่งหรือมันเดี่ยวอย่างที่สุด แล้วก็ก็ไม่มีสิ่งที่สอง ก็คือไม่มีการรบกวน ถ้าร่างกายวิเวกก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่งทางกาย ถ้าจิตวิเวกก็ไม่มีนิวรณ์กระทบจิต ถ้าสติปัญญามันวิเวก มันก็ไม่มีความโง่เขลาหรือความเข้าใจผิดมากระทบจิตก็เรียกว่า วิเวก อันสุดท้ายนั้นหมายถึงว่า ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด จิตหรือวิญญาณหรือวิชาความรู้ก็วิเวก คำว่าวิเวกหมายความอย่างนี้ เมื่อคนไม่เข้าใจก็กลัวหรืออย่างน้อยก็เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกันกับเรา แล้วเราก็ไม่ต้องการวิเวก แล้วต้องการให้มีอะไรรบกวนยั่วแหย่ยุเย้าตามประสาของกิเลส หรือความโง่หรืออวิชชา คนในโลกนี้เอ่อเขาโดยเฉพาะสมัยนี้เขาต้องการให้มีสิ่งมากระตุ้น มายั่วเย้า มารบกวน มาส่งเสริมให้มันอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่ได้อยู่นิ่ง ก็ถือกันว่าเป็นความสุขบ้าง เป็นความได้ที่ดีบ้าง มีหน้ามีตามีเกียรติ เพราะมันหรูหรา ขอให้ศึกษาให้ดีว่าสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนาต้องการให้เกลี้ยง ให้วิเวก ให้โมกข ออกไปจากไอ้สิ่งที่มันรบกวน ยุแหย่ ยั่วเย้า นี้คนเดี๋ยวนี้ต้องการให้มีการรบกวน ยุแหย่ ยั่วเย้า คือกระตุ้นให้ความรู้สึกมันพล่านขึ้นมา มุ่งหมายเป็นความเพลิดเพลิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงได้ส่งเสริมไอ้สิ่งที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ โดยเฉพาะก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า กามารมณ์ สำหรับคำว่า กามารมณ์นี้ ต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง เพราะมันเป็นคนละเรื่องกับการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ บางคนเอาไปปนกัน การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติไม่ได้เป็นกิเลส ตัณหา อะไรมากมาย เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เหมือนที่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมันเป็นอยู่ เป็นการสืบพันธุ์ล้วน ๆ คือมนุษย์มีความก้าวหน้าเลยไปถึงกามารมณ์ ซึ่งไม่มีความหมายถึงสืบพันธุ์ แต่เป็นความการกระตุ้นความรู้สึกทางอายตนะทั้งหลายก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ในทางที่จะส่งเสริมกามารมณ์ให้มากตามความสามารถของมนุษย์ แล้วจึงได้เห็นสิ่งมากมายเหลือเกินที่ประดิษฐ์ขึ้นมา และก็นิยมชมชอบกันเป็นส่วนใหญ่ คือสิ่งที่กระตุ้นเตือนความรู้สึกในทางกามารมณ์ ส่วนการสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์นั้นกลับเกลียดชังไม่อยาก แต่ต้องการความรู้สึกทางกามารมณ์ นี่คนสมัยนี้เป็นอย่างนี้ ทางศาสนาถือว่ากามารมณ์นั้นเป็นเรื่องที่เกินไป ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เรียกว่าไม่เป็นอันตราย แต่ชาวโลกสมัยนี้เขาเห็นตรงกันข้าม เขาเห็นไม่เป็นอันตราย ก็เลยเดินกันคนละทาง ไอ้ความรู้สึกว่ากามารมณ์ที่เกินไปนั้นเป็นอันตรายนี่ เขาพบว่าคนป่าสมัยป่าสมัยที่เป็นคนป่า มีบทบัญญัติห้ามกันเองในหมู่คนป่า แม้ที่ยังไม่นุ่งผ้าหรือเริ่มจะนุ่งใบไม้ก็ตาม ว่ากามารมณ์ที่เกินความจำเป็นนั้นเป็นบาป เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นเสนียดจัญไร อะไรก็ตามแล้วแต่ใช้คำ ใช้คำว่า ตาบู อย่างที่ปรากฏในหนังสือต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ มันก็คือบาปอย่างเลวร้ายที่จะนำมาซึ่งความวินาศฉิบหาย ที่เรียกว่า ตาบู และคนต่อมากลับไม่เห็นอย่างนั้นมากขึ้นมากขึ้น จนกระทั่งคนทุกวันนี้ไม่เห็นว่ากามารมณ์ที่เกินไปนั้นเป็นสิ่งเลวทราม เพราะว่าเขากำลังต้องการให้กามารมณ์นั้นให้เฟ้อ ให้หนักขึ้นไปทุกทีอยู่ในปัจจุบันนี้ ขอให้นักศึกษาทั้งหลายคิดดูว่าเรากำลังเดินสวนทางกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา คงจะเป็นการยากมากที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา สำหรับคนที่ต้องการจะเป็นทาสของกามารมณ์ คนที่เอาชนะกามารมณ์ได้เท่าไร นั่นเขาเรียกว่า พระอริยเจ้า อันดับสุดท้ายก็คือ พระอรหันต์ ซึ่งเอาชนะไอ้ความรู้สึกต่ำทรามอย่างนี้ได้หมดสิ้น พระอริยเจ้าที่รอง ๆ ลงมา เช่น พระอนาคามี สกิทาคามี ก็ล้วนแต่กำจัดความรู้สึกชนิดนี้ได้ตามส่วนของตน ของตน ไม่มีท่านไหนส่วนไหนที่ส่งเสริมยกย่องความรู้สึกทางกามารมณ์ นี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นแก่พวกเราที่ว่าจะศึกษาศาสนา หรือจะปฏิบัติศาสนานี้จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อเราต้องการผลที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ศาสนาบัญญัติไว้ คือความว่าศาสนาทุกศาสนา ต้องการไม่ให้มนุษย์เป็นทาสของอายตนะ อายตนะบางคนอาจจะยังไม่ทราบ อายตนะ คือ คู่ของสิ่งที่จะกระทบกัน สำหรับให้เกิดความรู้สึก เช่น ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง กลิ่นคู่กับจมูก ลิ้นคู่กับรส ผิวหนังคู่กับสิ่งที่จะมาสัมผัสทางผิวหนัง และก็ใจคู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เป็น ๖ คู่ ๑๒ อย่าง กระทบกันแล้วเกิดความรู้สึก ก็มีอวิชชา คือ ความโง่ ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง มีอยู่ในขณะที่มีความรู้สึก ดังนั้น ความรู้สึกจึงเป็นไปตามความโง่ คือ หลงรักในสิ่งที่ยั่วให้เกิดความรัก และก็เกลียดหรือโกรธในกรณีที่มันไม่ได้อย่างใจ การเป็นอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นทาสของอายตนะ ทาส ทอ ทะ หาน สระอา สอบอสะกดนะ ไม่ใช่ธาตุ พูดด้วยปากเอาว่า ทาส ทาส นี้เดี๋ยวกลายเป็น ธาตุ เป็นธาตุชนิดที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ นั้นคนละเรื่องกัน นี้เป็นทาสของอายตนะ ก็หมายความว่า หลงในความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางอายตนะ แล้วก็ทำไปตามอำนาจของอวิชชา จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทีเรียกว่าผิดหรือบาปหรืออกุศล อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ได้ไปทำผิดบาปอะไรที่ไหน ก็ไอ้ความเป็นทาสของอายตนะนั่นแหละ มันแผดเผาจิตใจของคนนั้นเองให้มันเร่าร้อน ทุกศาสนาต้องการไม่ให้เป็นทาสของอายตนะ แล้วมันก็ดึงกันอยู่กับมนุษย์ ที่เกิดมาก็ต้องการจะเป็นทาสของอายตนะ คือตามความรู้สึกของตน ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่ได้รับคำสั่งสอนว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยเอาตามความรู้สึกของตนจึงหลงรักในสิ่งที่ยั่วให้เกิดความรัก หลงเกลียดในสิ่งที่ให้ยั่วให้เกิดความเกลียดเป็นอย่างนี้กันเรื่อย ๆ มา ถ้าใครชอบเพียงเท่านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องไม่ต้องไปสนใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา แต่ถ้าใครเห็นว่าไม่ไหว จึงจะค่อยไปสนใจสิ่งที่เรียกว่าศาสนา จะได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ นั้นเราอย่าไปเกี่ยวข้องกับมันในลักษณะที่จะทำให้เกิดความทุกข์ รู้หน้าที่ที่ควรกระทำ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อย่างมีความผาสุก มีความสะดวก มีความสบาย ไม่ต้องร้อนเพราะว่าไฟคือกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ สามอย่างนี้ เขาเรียกว่าไฟ คือ กิเลส ในความรู้สึกที่เลวร้ายเป็นบาปเป็นอกุศล พวกราคะหรือพวกโลภะนั้นทำให้วิ่งเข้าไปหาเข้าไปกอดรัดเอา ส่วนโทสะหรือโกรธะนั้น พวกที่ทำให้ผงะหงายหลังอยากจะตีอยากจะทำลาย พวกโมหะนั้นด้วยความสงสัย สนใจ ทำให้วิ่งวนอยู่รอบ ๆ พิจารณาดูเถอะ ทั้งสามอย่างนั้นมันไม่ไหวทั้งนั้น เขาจึงจัดไว้เป็นสาม ว่า โลภะหรือราคะนี่พวกหนึ่ง โทสะหรือโกรธะนี่ก็พวกหนึ่ง แล้วก็โมหะความโง่นี่พวกหนึ่ง ร้อนกันทั้งนั้น ร้อนกันคนละแบบ แต่ก็ร้อนกันทั้งนั้น เมื่อมนุษย์ไม่ได้รับคำสั่งสอนทางศาสนาก็จะมีความรู้สึกอย่างนี้แหละ หนาขึ้นหนาขึ้นเมื่อใครต้องการอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าใครไม่ต้องการก็หันไปหาศาสนาเพื่อรู้จักป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วก็จะกำจัดไปได้ ก็กลายเป็นไม่มีไฟ ไม่มีความร้อน ก็เรียกว่า เย็น ยืมคำว่าเย็นของภาษาธรรมดานี่ไปใช้ เรียกความเย็นในทางจิตใจ เย็นในทางจิตใจเพราะไม่มีไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะเผา คำว่าเย็นนั้นคือคำว่า นิพพาน คำว่า นิพพาน ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านตามธรรมดาก็แปลว่าเย็น เมื่อพูดถึงเย็นก็ต้องหมายถึงสิ่งที่มันมีความร้อนแล้วมันก็เย็นลง การที่มันเย็นลงเย็นลง นี่ก็เรียกว่า มันนิพพานลง นิพพานลง ภาษาชาวบ้านพูด ตามบ้านเรือนก็พูด ของที่ร้อน ๆ แม้ที่สุดแต่ข้าวปลาอาหารกำลังร้อน ก็ต้องรอให้มันนิพพานลงพอสมควรก่อน คือเย็นลงพอสมควรก่อนจึงจะกินได้ นิพพานแปลว่า เย็นลง เย็นลงอย่างนี้ ทีนี้ด้านของจิตใจก็ต้องให้เย็น โดยที่ไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ นั่นแหละ มันลดลงลดลง จนกระทั่งเย็น ถ้าเย็นที่สุด และเย็นเด็ดขาดไม่กลับร้อนได้อีกก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเย็นตามธรรมดาสามัญก็เป็นอย่างชาวบ้านที่ดีก็เรียกว่า กัลยาณปุถุชน คือคนธรรมดาในชั้นดี ถ้าเป็นพาละปุถุชน ชั้นเลวนี่ก็ร้อนเต็มที่ ก็มีระดับกลางๆ ระหว่างนั้นอีกหลายระดับ คือ พระอริยเจ้าหลาย ๆ ชั้น จึงกล่าวได้ว่าถ้าเริ่มเย็นแล้วก็เป็นถูกต้องคือดี จนกระทั่งเย็นถึงที่สุดคือพระอรหันต์ เรื่องของพระศาสนาเป็นอย่างนี้ นี่เอามากล่าวให้ฟังโดยใจความ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ มันไม่มีอย่างอื่น มันมีแต่อย่างนี้ คือคนเขาเริ่มรู้จักไอ้ความร้อนของกิเลส แล้วก็หาทางทำให้มันสลายไป สลายไปให้มันเป็นความเย็นขึ้นมา พอเย็นได้ถึงที่สุดคนนั้นผิดจากคนธรรมดา จนเรียกว่าพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด พุทธศาสนาได้สอนเรื่องความเย็นชนิดที่สูงสุดและก็ไม่มีใครมาสอนให้ดีไปกว่านี้อีกได้ ท่านก็สอนเรื่องนิพพานนั่น นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วสอนเรื่องนิพพาน ปรากฏว่าไม่มีใครอธิบาย หรือสอน หรือแนะเรื่องนิพพานให้ดีไปกว่าที่ท่านสอนได้ ก่อนนี้เขาก็เคยสอนเคยใช้คำว่านิพพาน แต่มันไม่ไม่เย็นจริง หรือไม่ถึงที่สุด นี้เราก็นับว่าโชคดีที่ได้เป็นพุทธบริษัท รับเรื่องของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักสำหรับปฏิบัติศึกษาเพื่อให้เกิดความเย็น ปัญหามันจึงเหลืออยู่ว่าเราจะชอบเย็นหรือไม่ ถ้าเรายังชอบร้อนอยู่ มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร การที่ตั้งใจว่าจะหาความรู้ทางพุทธศาสนา เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์นั้น ก็ควรจะคิดดูให้ดีดี ว่าถ้าพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้วไม่มีความร้อนให้ มันมีแต่ความเย็น ถ้าจะพูดกันถึงความสุข ก็มีให้แต่ความสุขที่ไม่มีเหยื่อล่อ มีให้แต่ความสุขที่ไม่พ่ายแพ้แก่อายตนะ เป็นความสุขที่ชนะแก่อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนความสุขทางกามารมณ์ คือต้องยอมตัวเป็นทาสของอายตนะนั้น พุทธศาสนาไม่มีให้ ถ้าใครเอามาโฆษณาว่ามีให้อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องถือว่าเป็นของปลอม เป็นการกล่าวตู่พุทธศาสนา อย่างดีที่สุดที่พุทธศาสนาจะมีพ่ายแม้จะเป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องไม่เป็นทาสของอายตนะอยู่นั่นเอง จะเป็นสวรรค์ที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ก็ต้องไม่ถึงกับมัวเมาในเรื่องกามารมณ์ เหมือนที่คนเขาคิดกันหรือเขาหวังกัน สรุปแล้วเรื่องของพุทธศาสนาจะต้องเป็นเรื่องเย็น อย่างน้อยก็เย็นบางส่วน ไม่ใช่ร้อนเต็มที่เหมือนกับเรื่องนอกศาสนา
นี่เป็นเรื่องความหมายของสิ่งที่เรียกว่าศาสนาที่มักจะไม่ได้เขียนไว้ให้อ่าน หรือไม่เคยเอามาพูดกัน แต่ว่านี่คือตัวแท้ของสิ่งที่เรียกว่าศาสนาจะทำให้ให้มนุษย์เย็น มีสันติสุข มีสันติภาพที่แท้จริง ทีนี้วิธีที่จะทำให้ได้อย่างนั้นก็คือการปฏิบัติทั้งหลายที่มีไว้ ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ถ้าสนใจก็ไปศึกษาและปฏิบัติดู มันมีรายละเอียดมากจนไม่อาจจะนำมาพูดให้หมดได้ เพียงแต่ยืนยันได้ว่าไอ้หลักปฏิบัติเหล่านั้นมีแต่จะทำให้เกิดความเย็น โดยทำให้คนชนะไม่พ่ายแพ้ ชนะต่ออายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะทำให้เกิดกิเลส หรือว่าจะควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ นี่คนเดี๋ยวนี้มักจะมองไปในทางที่ว่ามันดีเกินไปบ้างเขาไม่ต้องการ นั่นก็สุดแท้ แต่เราก็ไม่มีอย่างอื่นให้ เรามีแต่อย่างนี้ นี้ข้อที่อาจจะเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าบางคนอาจจะเข้าใจว่า ไอ้หลักธรรมะในพุทธศาสนานี้มีไว้สำหรับแต่ที่ผู้ที่จะไปบวช หรือจะไปนิพพานอย่างเดียว ไม่มีสำหรับการครองเรือน นี่ยังเป็นความเข้าใจผิด พุทธศาสนาหรือพระธรรมนี่มีไว้สำหรับผู้ที่ครองเรือนจะไม่ต้องตกนรกอยู่ในเรือน ถ้าใครสามารถครองเรือนได้โดยไม่ต้องตกนรกอยู่ในเรือนก็ได้ ไม่ต้องมาไม่ต้องมาสนใจกับพุทธศาสนาหรือพระธรรม แต่ถ้าใครอยู่ในเรือนครองเรือน มีบุตร ภรรยา สามี มีอะไรทุกอย่างแล้วมันมีไอ้ความเร่าร้อน เหมือนกับตกนรกอยู่ในเรือนหละก็ ไปรีบหาพระพุทธศาสนาเถอะ มันจะแก้ได้ ฉะนั้นอย่าไปใส่โทษ ใส่ไคล้ เอาพระพุทธศาสนาว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรสำหรับผู้ที่ครองเรือน หรือว่าถ้าจะถือพุทธศาสนาก็ต้องหนีบ้านหนีเรือนออกไป พระพุทธเจ้าท่านไม่อ่า, ไม่สะเพร่าหรือไม่หละหลวมมากถึงอย่างนั้น ท่านย่อมทราบดีว่าคนส่วนมากมันออกไปจากบ้านเรือนไม่ได้ คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะออกไปจากบ้านเรือนได้ ฉะนั้นจึงต้องมีอะไรให้แก่คนที่ยังออกไปจากบ้านเรือนไม่ได้ มีระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับคนที่จะครองเรือนให้ดีที่สุดนั่นแหละ จึงมีมากเหมือนกัน มุ่งหมายจะให้คนที่อยู่ครองเรือนนี้เอาชนะกิเลสได้ตามสัดส่วนของคนที่จะอยู่ครองเรือน ให้มีการกระทำที่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ เรียกว่า พอดูได้ไม่ต้องเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ในบ้านเรือน หรือไม่เป็นอันธพาล ไม่เป็นผู้ที่เป็นเสนียดจัญไรของโลก ซึ่งเดี๋ยวนี้จะมีมากขึ้นทุกที ไอ้คนที่เป็นเสนียดจัญไรของโลก ในโลกนี้เวลานี้มันมากขึ้นทุกที คือไม่มีประโยชน์อะไรแก่โลก แล้วยังทำลายให้เกิดความลำบากเดือดร้อนระส่ำระสายมันมากขึ้นทุกที แต่ถ้าเกิดสังเกตดูให้ดีเถอะคนเหล่านี้คือคนที่เกลียดศาสนา หรือเข้าใจผิดต่อศาสนา แล้วไปบูชาไอ้สิ่งที่เรียกว่า กิเลส อวิชชา หรือ พญามาร ถือศาสนาพญามาร เป็นของที่น่าก็น่าน่าหัวก็น่าหัว น่าเศร้าก็น่าเศร้าที่มนุษย์ได้ละทิ้งพระธรรมหรือศาสนา ไปเป็นสาวกของกิเลสตัณหาหรือพญามารมากขึ้นทุกที เพราะอะไรลองคิดดู เพราะมันมีอะไรล่อลวงไป ถ้าคิดออกและมองเห็นก็รู้ว่านั่นแหละคือสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์เป็นข้าศึกของธรรมะหรือของศาสนา ซึ่งในทางศาสนาเรียกว่าเหยื่อ ตามตัวหนังสือก็ต้องแปลว่าเหยื่อ คือคำว่า อามิส ในภาษาบาลี แปลเป็นภาษาไทย ก็ว่าเหยื่อ ระบุตรงไปยังไอ้กามารมณ์ทั้งนั้น กามารมณ์ทุกระดับมีสิ่งที่เรียกว่าเหยื่อมากขึ้นในโลกเพราะมนุษย์เขานิยมเหยื่อ โดยเฉพาะมนุษย์สมัยนี้เขานิยมเหยื่อ สิ่งประดิษฐ์สิ่งที่เป็นปัจจัยหรือแก่เหยื่อ เป็นเหยื่อหรือเป็นปัจจัยแก่เหยื่อนี่มากขึ้นมากขึ้น ก็ไอ้คนทั้งโลกก็เลยกลายเป็นเหยื่อหรือไอ้กินเหยื่อหรือว่าติดเบ็ดของพญามาร บางคนจะฟังไม่ถูกว่าพญามารอยู่ที่ไหน เบ็ดอยู่ที่ไหน คิดดูสักนิดก็จะรู้ได้ว่าเรามันไปโง่ ไปหลง ไปติดที่อะไรนั่นแหละ คือเหยื่อที่หุ้มเบ็ดอยู่ ถ้าได้รู้จักอย่างนี้เสียแต่เนิ่น ๆ คงจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในวัยรุ่น ทั้งหญิงทั้งชาย ถ้าได้รู้เรื่องหรือเข้าใจสิ่งทีเรียกว่าเหยื่อกันเสียบ้าง ก็จะเป็นโชคดี หรือจะเรียกว่าเป็นสวัสดีมงคลก็ได้ คือจะได้เลื่อนตัวเองให้หลีกพ้นออกมาเสียได้จากเบ็ด ซึ่งเขาหุ้มไว้ด้วยเหยื่อ ไม่ใช่ไม่ใช่ใครที่ไหน ไอ้ความโง่ของมนุษย์ในโลกส่วนมากนั่นเอง นั่นคือตัวพญามาร ความโง่ของมนุษย์ในโลกมากขึ้นเท่าไร พญามารในโลกนี้ก็ตัวใหญ่มากขึ้นเท่านั้น ชวนกันทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ ชวนกันทำสิ่งที่ที่แท้เป็นความทุกข์ก็เห็นเป็นความสุข เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไปดูเอาเองว่าเดี๋ยวนี้มีอะไรบ้าง เพียงแต่อ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้ว่ามันมีอะไรบ้างที่มันมากขึ้นมากขึ้น การเห็นกงจักรเป็นดอกบัวแล้วก็มักจะตกกับพวกวัยรุ่นนี่ทั้งนั้นที่ไปนิยมสิ่งเหล่านี้มากขึ้นมากขึ้นและจะมากขึ้นอีกต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นถ้าคนวัยรุ่นคนไหนเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ อาตมาเชื่อว่าจะเป็นโชคดีแก่คนนั้นมากทีเดียว จะรู้จักทำให้ถูกต้อง จนไม่ต้องกินเหยื่อและติดเบ็ดมานั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าอยู่อย่างน้อยก็พักหนึ่ง จนกว่ามันจะกลายเป็นคนหน้าด้านไม่มียางอาย เป็นลูกสมุนของพญามารโดยสมบูรณ์ ก็หมดปัญหาไปได้เหมือนกัน ถ้ามันเป็นสมัครไปเป็นลูกน้องของพญามารเสียโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็หมดปัญหา แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น เราอยากจะเป็นสาวกของพระศาสดาหรือพระพระเป็นเจ้าก็ได้ แล้วแต่จะเรียก หรือจะเรียกของพระธรรม เราอยากจะเป็นมนุษย์ที่มีความหมายอย่างมนุษย์ที่มีจิตใจสูง ถ้าใครชอบความเป็นมนุษย์ก็ต้องรักษาจิตใจไว้ให้สูง ให้สูงอยู่ได้ แล้วก็ไม่มีทางอื่นนอกจากทางของศาสนาทุกศาสนา ซึ่งสอนให้เกลียดชังพญามาร หรือกิเลสตัณหา ไม่กินเหยื่อของพญามารและก็ให้บังคับตัวได้ ไม่เห็นแก่ตัว ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรมของพระศาสนาหรือของพระเป็นเจ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นความเย็น
ตอนนี้ขอบอกกล่าวสักหน่อยว่า เคยมีคนเข้าใจผิดเห็นศาสนานั้นเป็นอย่างนั้น ศาสนานี้เป็นอย่างนี้ จนถึงกับตรงกันข้ามเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นี้เข้าใจผิด ถ้าไปดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าทุกศาสนาจะมุ่งหมายเหมือนกันหมดเพื่ออยู่เหนือกิเลส ถ้าใครไปพูดผิดไปจากนี้ก็หมายความว่าคนนั้นมันว่าเอาเอง มันขบถ แม้แต่ศาสนาของตัว ขบถต่อศาสนาของตัว ไปพูดให้ผิดจากที่พระศาสดาได้ตรัสไว้ ถ้าเขาพูดถูก เขาจะต้องพูดไปในทำนองที่ว่าเอาชนะกิเลส ไม่เป็นทาสของอายตนะ รับใช้พระเจ้า คือ ปฏิบัติตามพระเจ้า ไม่รับใช้พญามาร คือปฏิบัติตามกิเลส ขอให้สนใจศึกษาให้รู้จักได้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้นให้ดี ๆ แล้วพญามารก็อยู่ที่นั่น ในรูปของราคะ โทสะ โมหะ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นเรื่องของพระ จะเรียกว่าพระเฉย ๆ ก็ได้ ฝ่ายโน้นก็เรียกว่ามารคำเดียว ฝ่ายนี้ก็เรียกว่าพระเฉย ๆ ฉะนั้นอย่าไปเป็นทาสของมาร มาเป็นทาสของพระ เพื่อปฏิบัติรับใช้พระ และทุกสิ่งจะเป็นไปดี ส่วนตนเองก็จะเป็นไปดี ส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่นก็จะเป็นไปดี ก็เลยมีความผาสุกด้วยกันทั้งโลก นี่เขาเรียกว่าพระธรรมเป็นที่พึ่งของโลก เรื่องของศาสนาอ่า,ก็มีอย่างนี้โดยใจความ
ทีนี้ก็อยากจะพูดในข้อที่ว่าใครมันตั้งขึ้นมาด้วยเจตนา ถ้าศึกษาดูให้ละเอียดทั่วถึงแล้วจะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจตนาของใครโดยตรง แต่มันเป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ มันแสดงออกมาและมันแวดล้อมความรู้สึกของคนให้รู้สึกขึ้นมาได้เองว่า เพียงเท่านี้ไม่ไหว ยังไม่เย็น เขาจึงไปหาที่เย็นกว่านั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องปลีกออกไปจากหมู่หมู่ หมู่มนุษย์ในบ้านในเมืองเพื่อไปหาความสงบสงัดหรืออิสระในการคิด การนึก กระทบไอ้สิ่งที่เย็นกว่านี้ เย็นกว่าในบ้านในเมืองมากขึ้นตามลำดับ ส่วนมากทีแรกก็เพื่อตัวเขาเอง บุคคลคนนั้นมองเห็นว่าไอ้เรื่องราวในโลก ในบ้านในเมือง มันก็เท่านี้เท่านี้ มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ ฉันต้องการมากไปกว่านี้ก็ออกไปค้นหา ก็เลยไปพบแปลกออกไปไม่มากก็น้อย นั่นมันหลายร้อยปี หลายพันปี หลายหมื่นปีเข้ามันก็พบมากขึ้น พบจนกระทั่งถึงที่สุดว่าต้องอย่างนี้จึงจะไม่ร้อน เขาจึงเรียกไอ้ความรู้อันใหม่นี้ว่าเป็นความรู้ประเภทโลกุตระ เข้าใจว่าคงจะเคยอ่านหนังสือผ่านสายตาคำ ๆ นี้กันมาบ้างแล้วแทบทุกคน คำว่า โลกุตระ แต่กลัวว่าจะไม่เข้าใจ คือเดาเอาเองว่าอยู่ที่ไหนนอกโลกนอกอะไรกันไปใหญ่ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะพบว่าไอ้โลกุตระนั้นแปลว่า เหนือโลก หรือนอกโลก หรือพ้นโลก แต่มันก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน ยังคงเป็นเพียงความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของคนนั่นเอง คนใจต่ำมันก็อยู่ใต้โลก คืออารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทาสของกิเลส ตัณหา นี่เรียกว่าคนใจต่ำจมอยู่ในโลก จมอยู่ใต้โลก นี้คนมีสติปัญญารู้จักทำจิตใจให้ชนะสิ่งเหล่านั้น ไม่จมอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านั้น แต่อยู่เหนืออำนาจสิ่งเหล่านั้นสิ่งเหล่านั้นบีบคั้นไม่ได้ ก็เลยเรียกว่า โลกุตระ คือเหนือโลก โดยเฉพาะก็คือ พระอรหันต์ มีจิตใจอยู่เหนือโลก หมายความว่าอะไร ๆ ในโลกที่บีบคั้นคนเราได้นั้น บีบคั้นจิตใจของพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์ก็กลายเป็นผู้เหนือโลกไป พระโสดา สกิทาคา อนาคา นี่ก็ถูกกำหนดไว้ในฝ่ายเหนือโลกด้วยเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงที่สุด ขอให้เข้าใจว่า เหนือโลก นอกโลก หรือดับสนิทแห่งโลกก็อยู่ในใจคน ไอ้โลกที่ร้อนเป็นไฟก็อยู่ในใจคน โลกธรรมดาไม่สู้ร้อนนักก็อยู่ในใจคน โลกที่เย็นสนิทมันก็อยู่ในใจคน นี่คือเรื่องของศาสนา สำเร็จอยู่ที่ว่าคนนั้นมันเข้าใจหรือไม่เข้าใจ มันรู้หรือไม่รู้ ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ ถ้าเคยเข้าใจผิดไปจากนี้ก็ลองไปเทียบเคียงกันดู ว่าอันไหนมันควรจะรับไว้เป็นหลักเกณฑ์ อย่าเอาตามที่ได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อนว่าเป็นหลักเกณฑ์ และอย่าเอาแม้แต่ได้ยินเดี๋ยวนี้ว่าเป็นหลักเกณฑ์ แต่ต้องไปเปรียบเทียบกันดู ไปพิจารณาดูว่าอะไรมันควรจะเป็นหลักเกณฑ์ หรือว่าหลักเกณฑ์มันควรจะมีอยู่อย่างไรนั่นแหละมากกว่า แล้วก็ตัดสินได้ด้วยตนเองว่าถ้ามันดับความร้อนได้ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ถ้ามันดับความร้อนไม่ได้ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ผิด ข้อนี้ไม่มีทางที่จะไขว้เขว ขอให้คิดว่าการดับทุกข์ได้หรือไม่ได้ เป็นเครื่องวินิจฉัยตัดสินว่ามันถูกหรือไม่ถูก ถ้ามันร้อนก็ไม่ถูก ถ้ามันเย็นก็ถูก ทีนี้การกระทำของเราที่ประพฤติกระทำอยู่แต่ละวันละวันนั่นก็ควรจะวินิจฉัยดู วิพากษ์วิจารณ์ดู ทดสอบดูว่ามันเย็นหรือมันร้อน มันเป็นไปเพื่อเย็นหรือเป็นไปเพื่อร้อน ให้เอาข้างเย็นไว้ก็จะเป็นการถูกต้อง เดี๋ยวนี้เรียกว่าอยู่ในขั้นศึกษาเล่าเรียน ก็ควรจะได้รับการปรับปรุงให้มันเป็นไปอย่างเยือกเย็น ควรเลือกไอ้สิ่งที่มันจะเป็นไปเพื่อความเยือกเย็น ก็เรียนไปโดยวิธีที่ทำให้เกิดความเยือกเย็น ให้รังเกียจกิเลสโดยความเป็นของร้อนเสมอ อย่าเป็นทาสของอายตนะ การเล่าเรียนมันจะล้มเหลว มันจะกลายเป็นสาวกของพญามาร แม้จะตีหน้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างไร มันก็ร้อนเป็นตกนรกทั้งเป็นอยู่นั่นแหละ มันช่วยไม่ได้ ถ้าจะคิดว่าอย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา หรือพบศาสนาอะไรก็ตามถ้าไม่ได้ถือพุทธศาสนา มันเหมือนกันแหละก็ต้องเย็นเหมือนกัน ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติคดโกงต่อตัวเองก็ได้เปรียบข้างพญามาร ไม่เท่าไรก็จะเป็นสาวกของพญามารโดยสมบูรณ์ไม่มีทางจะแก้ไขได้ อย่างนี้เรียกว่าตกนรกชั้นโลกันต์ ชั้นอเวจี ร้อนเป็นที่สุด และก็นานมากเป็นที่สุด มันตกนรกชั้นโลกันต์ ชั้นอเวจี จะมีความเร่าร้อนแผดเผาหัวใจ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะเข้าโลง ก็เป็นได้ เอาออกยาก เพราะมันตกลึกเกินไป ขอให้มีความเกรงกลัวในข้อนี้ ก็เรียกว่า หิริและโอตตัปปะ กลัวความทุกข์กลัวความผิดพลาด นี่มีธรรมะสำหรับป้องกันรักษาคุ้มครอง ก็คงจะได้ตามความประสงค์ที่ว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเป็นแน่นอน นี้เวลาเหลืออีกนิดหนึ่งก็อยากจะพูดถึงคำว่า เย็น ต่อไปสักหน่อย ถ้าไม่วิเวกก็ไม่มีเย็น ถ้าไม่โมกข์ คือ เกลี้ยงแล้วก็ไม่มีเย็น เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้ร้อน นอกจากสิ่งสกปรก เศร้าหมอง คือ กิเลสทั้งหลาย คำว่า โมกข์ มันเกลี้ยง มันก็ไม่มีอะไรรบกวนมันก็เย็น คำว่าวิเวก มันเป็นหนึ่งเป็นเอก ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่สองรบกวนมันก็เย็น คำว่า วิมุตหลุดพ้น มีอะไรจับฉวยไว้ไม่ได้ มันก็เย็น นี่คำว่าเย็นในทางนามธรรม ในทางจิตวิญญาณนี้ดูยาก จะหามาให้ดูยาก มันไม่อาจจะดูได้ด้วยตา มันต้องรู้สึกได้ด้วยจิตใจ นี้ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อไรมันเย็น เมื่อไรมันร้อน เมื่อไรมันเย็น เมื่อไรมันร้อน เดี๋ยวก็จะพบพอจะเป็นเครื่องเปรียบเทียบ อย่างว่าเรามานั่งอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติ บนอาสนะของพระพุทธเจ้าคือกลางดินนี่ ส่วนมากมันก็เย็น หรือว่าสวนโมกข์นี่พอพอเข้ามา มันลืมสิ่งต่าง ๆ ก็เหลืออยู่แต่ธรรมชาติแวดล้อมจิตใจ มันก็หยุด มันก็เย็น อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่งหละ จึงรู้สึกว่ามันสบาย ถ้ามาที่นี่มันสบาย ชนิดที่แปลกจากความสบายอย่างอื่น ๆ นั่นหละคือ ความเย็นในความหมายนี้ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในขณะนั้น มันก็เย็น หรือว่าสลัดสิ่งที่เคยกลุ้มรุมจิตใจอะไรออกไปเสียได้ มันก็เย็น สลัดความรู้สึกว่าตัวกูของกูออกไปได้ขณะหนึ่ง แวบหนึ่งก็ยังรู้สึกว่าเย็น เราต้องตั้งต้นชิมอะไรดี จะเรียก ถ้าเรียกตามภาษาโบราณของพระพุทธเจ้าก็เรียกว่า อมฤต หรือ อมตะธรรม ที่คนเดี๋ยวนี้เอามาเรียกทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร เรียกว่าน้ำอมฤต นั่น อมตะธรรมคือความไม่ตาย หรือว่าสิ่งที่ทำให้ไม่ตาย นั่นคือธรรมะอันลึกซึ้งที่ปรากฏกับจิต ในเมื่อจิตมันไม่มีตัวกูของกู ไม่มีตัวกูของกูมันก็ไม่ตายสิ แต่รสชาติของมันเย็น เราจงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาค้นคว้าให้พบของเย็น และชิมเป็นครั้งแรกก็ให้รู้รสไว้ แล้วจะพอใจและก็จะได้พยายามให้ได้ชิมมากขึ้นไปจนกระทั่งได้กินเต็มที่ ถึงจะจะรับประกันได้ ถึงจะปลอดภัย แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะถือหลักอย่างนี้ หรือถือวิธีการอย่างนี้ รู้จักแต่เรื่องวัตถุ คือ อร่อยแต่เรื่องทางวัตถุ ไม่สนใจความสุขในทางนามธรรม หรือทางจิตใจ แล้วก็เข้าใจผิดด้วยการนิยม เห่อตามๆ กันไปอย่างน่าสงสาร ขออภัยที่ยกตัวอย่างเหมือนว่าขนมของต่างประเทศจะเป็นช็อคโกแลต หรือเป็นอะไรก็ตาม เป็นขนมคุกกี้แพง ๆ อะไรก็ตาม นิยมซื้อหามากินแล้วอวดกัน แต่แล้วสุนัขที่นี่ไม่กิน ไอ้ของอย่างนี้ ไอ้ที่ว่ามันแพงนักอร่อยนัก อุตส่าห์เอามาสุนัขกลับไม่กิน เพราะมันผิดธรรมชาติ มันไม่มีประโยชน์ แต่คนมันชอบเอามาหัดสุนัขให้หายฉลาด เป็นสุนัขโง่กินจนได้ในตอนหลัง นี่ให้ให้ให้สังเกตดูให้ดีว่ามันเปลี่ยนได้ มันหลอกให้เปลี่ยนได้ แล้วมันไปหลงในสิ่งที่ไม่ควรจะหลงได้ คิดกันเสียใหม่ อย่าให้มันหลงมากนัก ให้เป็นเรื่องของนามธรรมบ้าง คือ ชิมขนมของพระพุทธเจ้าบ้าง แล้วจะค่อยพอใจแล้วติดใจก็จะชอบมากขึ้นทุกที นี่เป็นหนทางที่ว่าเราจะขึ้นต้นกันใหม่หรือว่าจะเปลี่ยนศักราชกันใหม่ เลิกบูชาไอ้เรื่องทางวัตถุกันเสีย แล้วก็หันมาบูชาไอ้เรื่องทางธรรมะหรือจิตใจกันบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกเกี่ยวข้องกับวัตถุ ไอ้วัตถุนั่นต้องเป็นของรับใช้มนุษย์ต่อไปอีก แต่เราอย่าไปเป็นทาส อย่าไปเป็นทาสของวัตถุ ให้วัตถุมันเป็นทาสของมนุษย์ดีกว่า นั่นความสุขที่แท้จริงนั่นมันอยู่ที่นามธรรม ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ และก็ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุมากมายอะไร เดี๋ยวนี้เขาไปเป็นทาสของวัตถุเต็มที่จนไม่รู้เรื่องนามธรรม ก็เลยมีปัญหากันแต่เรื่องทางวัตถุเต็มไปหมดทั้งโลก โลกนี้ไม่มีสันติสุข คนเหล่านี้ไม่พบกับความเย็น ไม่รู้จักความเย็น ไม่รู้เรื่องของความเย็น คือ พระนิพพาน นี่มาได้พูดจนหมดเวลาที่กำหนดไว้ให้แล้ว ก็จะต้องยุติที ขอสรุปความในตอนท้ายนี้ว่าช่วยกันทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียกกันว่าศาสนา หรือ พุทธศาสนา นี้กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นการลำเอียงและทำความอยุติธรรมให้แก่พระศาสนาเลย อย่าให้สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด กลายเป็นสิ่งที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเลย และท่านทั้งหลายก็จะประสบความสุขความสวัสดี เจริญงอกงามก้าวหน้า ไปทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน ขอยุติการพูดกันในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ จะไปทำตามที่กำหนดไว้ต่อไปอีก อ้าวสิเชิญจะไปที่ในตึกนั้นนะ