แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สามเณรทั้งหลาย ในการพูดกันเป็นครั้งที่สองนี้ ก็ยังเป็นการขอร้องให้เธอทั้งหลายระมัดระวัง ตั้งตน ด้วยความไม่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ในการที่เราได้รับการอบรม ในสิ่งที่จะต้องยังคงอยู่เป็นประจำในชีวิตของเราสืบไป ตลอดกาลนาน ไม่ใช่ว่าเสร็จแล้วก็แล้วกันไป หรือไม่เท่าไรก็มันลืม ก็ลองคิดดูเวลาเราไม่ได้อบรมกันได้จนตลอดชีวิต แต่เราอบรมกันเพียงบางครั้งบางคราว เพื่อใช้จนตลอดชีวิต ถ้าไม่ลืม มันก็ใช้ได้ตลอดชีวิต นั่นแหละคือคนสำคัญ ที่จะขอเตือนเธอทั้งหลายไว้ว่า สิ่งใดที่อบรมกันในการบวชครั้งนี้ จะต้องอยู่กับเธอจนตลอดชีวิต แล้วนั่นมันจะคุ้มครองเธอให้ปลอดภัย แล้วก็ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตอีกเหมือนกัน
วันก่อนพูดถึงเรื่องสัจจะ ความจริง ทมะ การบังคับตัว ขันติ อดทน จาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ก็ได้พูดกันอย่างละเอียดแล้ว และหวังว่าเธอจะต้องจำได้ ยิ่งกว่าจำได้ เพียงแต่ว่าท่องได้จำได้นี้มันไม่พอ ยิ่งกว่าจำได้ก็คือ รู้สึกกับมันอยู่เสมอ เพราะว่าเราปฏิบัติอยู่เสมอ เป็นคนมีสัจจะอยู่เสมอ ทมะ ขันติ จาคะ อยู่เสมอ ๔ ข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเราเสียเป็นส่วนใหญ่ มันมุ่งหมายแต่เรื่องของบุคคลนั้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ดึงเรื่องสำหรับบุคคลอื่น บุคคลที่สองออกไป มันก็ยังต้องมีอีกสักชุดหนึ่ง ดังนั้นจึงขอร้องให้เธอยึดถือหลักที่ได้อบรมกันไปแล้วนั่นอีกสักชุดหนึ่ง อีกชุดหนึ่ง อีก ๔ ข้อเหมือนกัน สำหรับประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับผู้อื่น เธอมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มันก็ดูจะสมบูรณ์สำหรับเรื่องของตัวเอง แต่เรื่องของผู้อื่นยัง ยังไม่มีพูดถึง ฉะนั้นจึงอยากจะแนะว่า ไอ้เรื่องเกี่ยวกับผู้อื่นมันก็จำเป็นเท่ากับเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง มันต้องถูกต้องทั้งตัวเอง และที่เกี่ยวกับผู้อื่น ทุกอย่างทุกประการ จนตลอดชีวิต
ที่เกี่ยวกับผู้อื่นนั้นก็อยากจะให้คิดถึง หรือเอาหลักธรรมะที่เรียกกันว่าการสงเคราะห์ การสงเคราะห์ หรือ การผูกพันกัน การทำความสัมพันธ์กัน สงเคราะห์ก็ต้องมีคนที่ถูกสงเคราะห์ ผูกพันกันก็ต้องมีคนที่ผูกพันกัน เพราะฉะนั้นมันจึงมากกว่าหนึ่งคน ที่นอกไปจากตัวเราก็เรียกว่าผู้อื่น เรารู้เรื่องที่จะทำกับผู้อื่น ฉันคิดว่าตลอดเวลาที่บวชฝึกฝนระยะหนึ่งนี้ คงจะได้ฝึกฝนเรื่องสิ่งที่เรียกว่าทาน การให้ การช่วยเหลือ การเอื้อเฟื้อเหล่า นี้ ที่จริงนั่นมันก็บังคับให้มี เธอจะต้องมี อยู่กันมากๆ อย่างนี้ ไม่เอื้อเฟื้อกันเลยจะอยู่กันได้อย่างไร ฉะนั้นเธอต้องได้เคยรับการฝึกฝนให้ ให้ ให้เอื้อเฟื้อ การให้อะไรแก่กันและกันนี้ เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ในโลก มันเนื่องมาแต่ว่าอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ เราจึงต้องอยู่กันหลายคน เมื่ออยู่กันหลายคน มันก็ต้องอยู่กันด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย นั่นก็คือความรัก ความเมตตา กรุณาปรานี มันก็มีการให้
ฉันจะถือว่าไปบิณฑบาตมาบาตรหนึ่ง แล้วก็ฉันกันสามคนสามองค์ มันก็ต้องมีการให้ของคนที่ไปบิณฑบาตมาหนึ่ง แล้วก็มาฉันกันสาม อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็เคยทรงกระทำ เราอ่านพบบาลี ในบาลีบ่อยๆ นี้ก็ดี มันเป็นการให้ในลักษณะที่ควรให้ ถ้าว่าไอ้ความรักผู้อื่นมากพอแล้วก็ การให้นี้มันก็เป็นของง่าย และมีได้โดยไม่รู้สึกตัว ถ้าเธอมีจิตใจแจ่มใสไม่มืดมนเกินไป ก็จะรู้ความจริงในข้อที่ว่า จิตที่ให้สบายกว่าจิตที่จะเอา จิตที่จะเอา ที่คิดจะเอา ที่คิดจะได้นั้นมันดิ้นรน มันระรัว มันกระวนกระวายด้วยความอยากจะได้ มันจะสบายมาแต่ไหน จิตที่คิดจะให้นั้นมันอยากจะปล่อยออกไป
เธอลองสังเกตดู อะไรที่คิดจะให้ออกไปนั้นมันจะทำให้ว่าง ให้หยุด ให้สงบ แม้แต่เรื่องยุ่งๆ เรื่องรบกวนจิตใจ เรื่องที่มันมีอะไรผูกพันกันอยู่ พอเราปลงเสียว่าช่างหัวมัน ให้มันเลย จะสบายที่สุด จำไปด้วย
จิตที่คิดจะให้นั้นสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา นี่เขาเรียกว่าให้ทาน เราจะต้องมีจิตชนิดนี้จนตลอดชีวิต ถ้าคนมันดี มันจะรู้สึกว่าให้เพื่อนกินแล้วเราก็อิ่มโดยไม่ต้องกิน นี่มันเป็นลักษณะของผู้ที่มีจิตใจสูง เราไม่ต้องกินให้เพื่อนกิน แต่เรากลับอิ่ม มันมาอิ่มอยู่ที่เรา เธออาจจะไม่เชื่อ บางคนอาจจะไม่เชื่อไอ้ที่ฉันกำลังพูด แต่นานไปวันหน้า เธออาจจะไปกระทำ ไปถูกเข้าด้วยตนเองแล้วก็อาจจะเชื่อว่า ที่เราไม่กินนั้นเรากลับอิ่ม ที่เราให้เพื่อนกินนั่นเรากลับอิ่มกว่าเพื่อนที่กิน เราไม่กินให้เพื่อนกิน เรากลับอิ่มมาก อิ่มนานกว่า อิ่มยืดยาวทีเดียว นี่ถือเป็นหลักกันไว้บ้าง ให้เพื่อนกินแล้วก็เราก็อิ่ม นี่คือน้ำใจที่ประเสริฐที่สุด สำหรับมนุษย์ผู้อยู่ร่วมโลกกัน แล้วเธอก็ได้รับการฝึกฝนมาพอสมควรในระหว่างที่บวช ฉะนั้นเธอก็ยังคงประพฤติกระทำต่อไปในการให้ จงให้เพื่อนกินเพื่อให้เรานั้นอิ่ม คนเห็นแก่ตัว คนขี้เหนียว ขี้ตืด ขี้ตังนั้นมันทำไม่ได้หรอก มันกินจนตายเอง มันก็ยังไม่ให้ใครกิน นี่เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ ผูกพันสังคม ผูกพันกันเป็นสังคม ผูกพันกันไว้
ทีนี้ข้อที่ ๒ เรียกว่า ปิยวาจา คือ วาจาที่น่ารัก ปิยวาจา แปลว่าวาจาที่น่ารัก หรือชวนให้เกิดความรัก ถ้าการอบรมของเราดี คงจะได้กวดขันกันเรื่องการพูดจา พูดจาให้น่ารักต่อกันและกัน ในระหว่างเณรต่อเณร เพื่อนกับเพื่อน หรือระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ แล้วก็ล้วนแต่มีวาจาที่น่ารัก ถ้าว่าเราไม่มีวาจาที่น่ารักต่อกัน เรียกว่าการอบรมของเรายังบกพร่อง การอบรมนี้ยังบกพร่อง ฉะนั้นไปทำเสียใหม่ ไปแก้ไขเสียใหม่ ไปเพิ่มเติมเสียใหม่ จนกระทั่งเกิดการพูดจาด้วยถ้อยคำ หรือด้วยวาจาที่น่ารัก แล้วเธอก็จำไว้จนตลอดชีวิต ว่าจะต้องพูดด้วยวาจาที่น่ารัก ไม่มีใครชอบวาจาที่น่าเกลียดน่าชัง แม้แต่หมา หรือแมว มันก็ยังไม่ชอบวาจาที่หยาบคาย มันชอบวาจาที่น่ารัก ลองเรียกแมวด้วยวาจาที่น่าชัง มันไม่มา ต้องเรียกด้วยวาจาที่น่ารัก อ่อนโยน นิ่มนวล แล้วแมวมันก็ยังมา นี่เรียกว่าแม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ชอบวาจาที่น่ารัก ยิ่งประกอบด้วยน้ำเสียง แววตาที่น่ารัก มันก็จะยิ่งสำเร็จประโยชน์
ฉะนั้น เธออย่าพูดวาจาที่กระด้าง เธอจะเคยได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ไม่แน่นะ เราไม่รู้แน่ แต่เราเคยได้ยิน มีคำ พูดของถิ่นนี้ถิ่นปักษ์ใต้เรา รอบอ่าวบ้านดอนเรานี่แหละ เขาเรียกว่า พูดเหมือนกับอมขี้พ่น ใครเคยได้ยินประ โยคนี้ พูดเหมือนกับอมขี้พ่น ใครเคยได้ยินยกมือ นี่มันยังไงกัน เธอก็เกิดที่ถิ่นนี้ ไอ้เราก็เกิดที่ถิ่นนี้ แล้วเราทำ ไมได้ยินคนที่เขาพูดสั่งสอนอบรมกันว่า ไอ้นี่มันพูดเหมือนกับอมขี้พ่น นี่ีเธออย่าพูดสำนวนโวหารเหมือนกับอมขี้พ่น ถ้าเธอไม่ได้ยิน ก็ได้ยินเสียนี่ ก็เขาพูดกันอยู่ เขาอบรมสั่งสอนกันอยู่ อย่าพูดในลักษณะเหมือนกับว่าอมขี้พ่นใส่เขา ไอ้คนอมขี้เองมันก็สกปรกเหลือทนแล้ว จะไปพ่นใส่เขา เขาก็ไม่ยอม เขาไม่อยากจะสกปรก มันก็เลยไม่สำเร็จประโยชน์
วาจาชนิดที่เหมือนกับอมขี้พ่นนั่นมันไม่สำเร็จประโยชน์นะ เขาจะไม่ร่วมมือกับเรา จะไม่ยินดีพูดจากับเรา ไม่ยินดีทำตามการขอร้องของเรา เหมือนเด็กๆ ที่ไม่ได้รับการอบรม เกิดมาในวงศ์ตระกูลที่ไม่ได้รับการอบรม ย่อมพูดคำหยาบ คำสบถ หรือคำด่า มีลักษณะเหมือนกับว่าอมขี้พ่นใส่ผู้อื่นทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าว่าเณรได้รับการอบรมดีตลอดเวลาแล้ว คงจะไม่มีการพูดจากันในแบบนี้ จะพูดจากันอย่างมีระเบียบมีวินัย มีธรรมะ มีวินัยในพระพุทธศาสนา การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อนี่ถือว่าผิดธรรมะ ผิดวินัย
ฉะนั้น เราจงพูดวา จาที่น่ารัก อันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ฉะนั้นเราจะต้องนึกถึงผู้อื่น ว่าเขาเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายกับเรา อยู่ในใจเสมอ ถ้าในใจของเรารู้สึกว่าคนเหล่านี้เป็นเพื่อนตาย เพื่อนรัก เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ของเรา ในใจรู้สึกอยู่อย่างนี้แล้วไม่ต้องกลัว คำพูดที่พูดออกไปมันจะเป็นวาจาที่น่ารักเป็นแน่นอน เพราะในจิต ใจมันรัก มันรักผู้อื่น มันจะพูดออกมาจากหัวใจ คำพูดทั้งหมดมันก็เป็นคำพูดที่เป็นปิยวาจา ปิยวาจา หมายถึงพอเหมาะพอดี ไม่ได้เกินความจริง ไม่ได้เกินเหมาะสม เหมือนกับใส่น้ำตาลมากเกินไปมันก็กินไม่ไหวนะ ต้องใส่น้ำตาลแต่พอดีจึงจะพอดี ฉะนั้น ที่มันเกินไปมันก็กลายเป็นเรื่องประจบสอพลออะไรไปก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ ไม่ ไม่พึงปรารถนาด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ปิยวาจา เรียกว่าเหมือนกับใส่น้ำตาลเกินไป จนมันเอียน
เราจงรู้จักพูดจาที่พอเหมาะพอดี มีความหมาย น้ำเสียงสำนวนอะไรที่มันน่ารัก แล้วก็เกิดการผูกพันกันอย่างที่ว่า ไม่ต้องเสียเงินเสียทองเหมือนการให้ทาน เพียงแต่พูดให้น่ารักก็ได้ผลดีเหมือนกัน หรือบางทีจะมากกว่าที่จะต้องลงทุนให้เงินให้ทอง ฉะนั้นผูกพันด้วยวาจาที่น่ารัก เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มันไม่หมดเปลืองมากเหมือนกับการให้สิ่งของ
ฉะนั้นเธอคงจะได้รับการพูดจาที่เป็นระเบียบเรียบร้อย น่ารัก แล้วเธอก็อย่าทิ้งมันไปเสีย สึกออกไปแล้วไปพูดจาหยาบคาย กระด้าง สามหาว เหมือนที่เคยชินกันแต่ก่อนบวช ต้องไม่แก้ตัวว่ามันเคยชิน เพราะว่าระหว่างบวชนี้เราล้างออกทิ้งทั้งหมดแล้ว การบวชของเราจึงได้ผล นี้เป็นข้อที่ ๒ ว่าเราจะมีวาจาที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หรือน่ารักเป็นเครื่องผูกพันสังคม
ทีนี้ข้อที่ ๓ สมานัตตตา ความมีตนอันเสมอกัน คนเรามันมีกิเลสเป็นตัวเป็นตน แล้วมันก็มีกิเลสเป็นเหตุให้กำหนดตนว่าเป็นอย่างไร หรือเท่าไร แล้วมันยังมีกิเลสที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือเอาไปวัดกับคนอื่น ว่ามากหรือน้อยกว่ากันอย่างไร นี่มันจึงมีการแสดงออกมาทางอากัปกิริยา ซึ่งเป็นการไม่เสมอกัน โดยมากที่จริงมันก็มีได้ทั้งสามอย่างแหละ คือรู้สึกว่าเราดีกว่าเขาอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าเราเท่ากันกับเขา แล้วก็รู้สึกว่าเลว เราเลวกว่าเขา นี่เป็นธรรมดาของคนในโลก ซึ่งมีกิเลสยึดถือว่ามีตัวมีตน มีของๆ ตน มีเกียรติยศของตน ที่เรียกง่ายๆ ว่ามีตัวกู มีของกู มันก็ยากที่จะวางตนเสมอกันได้ เพราะว่ามันอยากจะดีกว่าผู้อื่นเสมอไป ฉะนั้นการที่จะยกตนข่มท่าน มันก็มีได้ง่าย มีได้เป็นธรรมดา การที่ถ่อมตนนั้นมียาก แล้วมันก็ไม่ค่อยจะมี แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ต้องการให้ถ่อมตน ต้องการให้เสมอ ให้พอดี ให้ทำอย่างกับว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็ควรจะประพฤติต่อกันอย่างสม่ำเสมอกัน อย่าให้อยู่เหนือกว่ากัน สูงต่ำกว่ากัน จนถึงกับว่ามันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจที่เป็นกิเลส แล้วก็เป็นเหตุให้ดูหมิ่นกัน เอาเปรียบกัน อะไรกันตามประสาที่มันรู้สึก
ทีนี้เธอได้ฝึกฝนมาแล้วตลอดเวลาที่บวช ว่าเรามีอะไรที่เสมอกัน นับตั้งแต่เรื่องภายนอกกาย เรามีการกินอยู่ นุ่งห่ม หลับนอน ในการบวชเณรนี้ที่เสมอกัน แล้วก็มีสิทธิเสมอภาคกัน ที่จะประพฤติกระทำกิจวัตรใดๆ อย่างเสมอกันตามหลักของธรรมะ เป็นเณรก็เสมอกันหมด เป็นพระก็มีความเสมอกันหมด ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมะ วินัยที่จะต้องประพฤติ ที่จะต้องประพฤติ อย่าไปคิดว่าคนนั้นต้องประพฤติ คนนี้ไม่ต้องประพฤติ คนอื่นประพฤติเถิด เราไม่ต้องประพฤติ อย่างนี้มันก็ไม่ถูกแล้ว ฉะนั้นการที่เธอได้ประพฤติตลอดเวลา เป็นอยู่อย่างเสมอกันนับตั้งแต่ว่า ถ้าว่าเปียกก็เปียกด้วยกัน แห้งก็แห้งด้วยกัน นอนกลางดินด้วยกัน มีกินด้วยกัน ไม่มีกินด้วยกันอะไรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรประจำอยู่ในใจว่า เราจะเป็นอยู่ชนิดที่มันเสมอกัน มันจะเข้าเกรียวกันง่าย คือมันเป็นความรักอยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเธอคงจะไม่กลับไปมีนิสัยเกกมะเหรก ดูหมิ่นผู้อื่น ยกหูชูหางอย่างที่คนวัยรุ่นเขาชอบทำกัน ก็จะสำเร็จประโยชน์ในข้อนี้ เป็นเครื่องผูกพันผู้อื่นในทางสังคม
แล้วข้อที่ ๔ อัตถจริยา ประพฤติประโยชน์ต่อกัน ความที่ว่าเป็นเพื่อนมนุษย์กันนั้น ไม่ได้เป็นกันแต่ปากนะ มันเป็นด้วยการกระทำ แล้วเราก็ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะเราก็พอจะรู้ได้ว่าเราไม่ชอบอะไร หรือว่าเราชอบอะไร เราอยากได้อะไร เราไม่อยากได้อะไร นี้มันก็พอจะรู้ๆ กันอยู่ เราก็ประพฤติต่อผู้อื่นในลักษณะที่เราอยากให้ผู้อื่นประพฤติต่อเรา คือประพฤติดี ประพฤติมีประโยชน์ ประพฤติเป็นคุณไม่มีโทษ ให้ได้รับความพอใจ มีความสุขกายสบายใจ
อยู่ด้วยความพอใจนั่นแหละเป็นหลักสำคัญ เราช่วยกันประพฤติต่อกันและกัน ให้ทุกคนได้เป็นอยู่อย่างมีความพอใจ นี่เรียกว่าประพฤติประโยชน์ ถ้าการอบรมนี้ไม่บกพร่อง ก็จะมีบทเรียนให้ประพฤติต่อกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างที่ว่าไปบิณฑบาตมาแบ่งกัน หรืออีกพวกหนึ่งก็ช่วยตั้งอาสนะ ช่วยปัดกวาด ช่วยไปหาน้ำมา หรืออีกคนหนึ่งก็รับหน้าที่ล้างจาน ล้างถ้วย ล้างชาม ล้างบาตร ล้างแล้วแต่ว่ามันจะมีอะไรที่จะต้องล้าง จะเก็บจะทำนี่เป็นชั้นต่ำเลย ให้เพื่อนได้รับความสุข ความสะดวก ความสบาย นี่เรียกว่าประพฤติประโยชน์ ถ้าเป็นชั้นสูงขึ้นไปก็ช่วยให้เขาได้สะดวก ในการที่จะเป็นอยู่ก็ดี ในการที่จะศึกษาเล่าเรียนก็ดี ปฏิบัติธรรมะให้สูงขึ้นไปก็ดี ช่วยให้เขาสะดวก ก็เรียกว่าได้รับประโยชน์ บางคนนั่นใจดีถึง กับว่าปูผ้า ปูเสื่อ ปูอะไรให้คนอื่นนั่ง
แต่บางคนดูไม่ค่อยจะเอา นั่นมันบกพร่องอย่างนั้น มันต้องชิงกันทำประโยชน์ หน้าที่อย่างนี้ต้องชิงกันทำ อย่าให้ต้องใช้ เมื่อเห็นว่ามันมีอะไรจะต้องทำก็ชิงกันทำ นั่นแหละคือการ ศึกษาอบรมที่ดี ฉะนั้นเธอจงพยายามชิงทำสิ่งที่ควรทำเมื่อมีโอกาส ชิงทำเสียให้หมดอย่าให้ผู้อื่นต้องทำยิ่งดี โดยมากแล้วมันเป็นกิเลส กูไม่ทำปล่อยให้ใครดูไม่ได้มันก็ทำเองแล้วกูก็ไม่ต้องทำ มันก็อยู่กันอย่างไม่น่าดู บ้านเรือนรกรุงรัง ในส้วมมันเลอะเทอะสกปรก เพราะไม่มีใครอยากจะล้างส้วม เพราะมันเห็นว่าเป็นงานที่ต่ำ กูไม่ทำใครดูไม่ได้ ใครก็ทำก็แล้วกัน กูก็ได้ใช้ประโยชน์ด้วยแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่จิตทราม จิตต่ำ จิตแคบ เป็นคนดูดาย ใจจืด เขาเรียกว่าอย่างนั้น
ฉะนั้น ไปหัดให้เป็นคนใจกว้าง การทำประโยชน์ให้ผู้อื่นนั้น ความสุข ความดี ประโยชน์จะได้ที่เรามากกว่าผู้อื่นเสียอีก
เมื่อกี้ฉันพูดว่าเราไม่ต้องกิน ให้เพื่อนกิน แล้วเรากลับจะอิ่มกว่าเพื่อนของเราเสียอีก เดี๋ยวนี้เรา แต่เป็นตรงกันข้ามนะ เราจะทำประโยชน์ให้ผู้อื่น เสียสละให้ผู้อื่น ให้ผู้อื่นไม่ต้องทำ ให้ผู้อื่นสบาย แต่เรากลับสบายกว่าเสียอีก เพราะเราจะได้ผลในทางจิตใจสูงกว่า ถ้าพูดถึงเป็นกำไรเป็นอะไรกันแล้ว เรากลับจะได้มากกว่า
ในเมื่อเราถือหลักประพฤติประโยชน์ ไอ้เรื่องบุญ เรื่องความดี เรื่องอะไรนี้มันแปลกนะ มันแปลกจากเรื่องวัตถุสิ่ง ของ ยิ่งให้กลับยิ่งได้ และยิ่งมีมาก ยิ่งให้ไปเถิด ให้ผู้อื่น ให้ไปแต่ว่าเรากลับยิ่งมีมาก มันไม่เหมือนกับวัตถุสิ่งของ
เขาเปรียบว่าเหมือนกับขุดหลุม ยิ่งเอาดินออก หลุมยิ่งใหญ่ ไม่ใช่หลุมยิ่งแคบ ยิ่งเอาดินออก หลุมยิ่งใหญ่อย่างนี้
การให้ทานนี่นะยิ่งให้ออกไป ไม่ใช่ว่าเราจะหมด เรายิ่งกลับจะมีมาก ยิ่งให้ออกไป เรายิ่งกลับจะมีมาก แต่เป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องมองไม่ค่อยจะเห็น คือไม่ใช่วัตถุ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นความดี ความงาม ความสูงแห่งจิตใจ ไอ้สิ่งที่จะช่วยให้เราดับทุกข์ได้นั่นแหละ ความดี เรากลับมีมาก ได้มาก ฉะนั้นความดีนี้เป็นของแปลก ยิ่งแบ่งให้คนอื่นยิ่งกลับมีมากกว่าเดิม
ฉะนั้น เราจึงควรประพฤติประโยชน์ที่เรียกว่าความดี ยิ่งทำให้ผู้อื่นตัวเองยิ่งมีมาก แต่เป็นเรื่องนามธรรมมองไม่ค่อยเห็น แต่เป็นเรื่องจริงที่ว่าคนนั้นมันจะดีโดยทางจิตใจ มันจะบรรลุมรรคผลก่อนไอ้คนที่ไม่อยากจะทำอะไรให้ใครนั่น
ฉะนั้น เธอยินดีฝึกฝนแล้วก็รักษาเอาไว้ ประพฤติปฏิบัติต่อไปจนตลอดชีวิต จนตลอดชีวิตนะ พูดกันอย่างนี้ก็ควรจะฟังถูก ไม่ใช่ไปประพฤติปฏิบัติเดี๋ยวนี้ หรือชั่วเวลาที่เป็นเด็กนักเรียนนี้ มันต้องตลอดชีวิต ยิ่งต่อไปข้างหน้าอายุมากแล้วยิ่งทำมากกว่า ให้ทานก็ให้ยิ่งกว่า พูดจาน่ารักก็พูดมากกว่า วางตนให้เสมอกัน เท่ากันได้ก็มากกว่า ประพฤติประโยชน์ให้แก่กันและกันก็มากกว่าเดี๋ยวนี้ มากกว่าเดี๋ยวนี้ นี่ก็เรียกว่าข้อปฏิบัติเพื่อผู้อื่น ที่เรียกว่าวัตถุแห่งการสงเคราะห์ผู้อื่น นี้สงเคราะห์นี่แปลว่าผูกพัน หรือว่าจับตัวไว้ก็ได้ เพราะว่าสงเคราะห์ตัวหนังสือแปลว่าถือเอาไว้ได้ จับเอาไว้ได้ เช่นเราต้องการจะผูก พันใครให้มาเป็นพวกเรา หรืออะไรกับเรานี้เขาให้ทำการสงเคราะห์ สงเคราะห์แปลว่า ถือเอาอย่างครบถ้วน จับยึดไว้ได้อย่างครบถ้วน นี่ขอให้สนใจอย่างนี้
เอาละวันนี้เราก็พูด ๔ ข้อ คู่กับ ๔ ข้อวันก่อน วันก่อน ๔ ข้อเพื่อตัวเอง สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ แล้ววันนี้ก็ ๔ ข้อเพื่อผู้อื่น ทาน ปิยวาจา สมานัตตตา อัตถจริยา คำว่าผู้อื่นนี้คือสังคม บุคคลที่สองนอกไปจากตัวเรา เขาก็เรียกว่าสังคมแล้ว นับตั้งแต่ว่าใกล้ชิดที่สุด เช่น บิดา มารดา ก็เรียกว่าสังคมได้เหมือนกัน เราจะต้องประพฤติปฏิบัติต่อบิดามารดา สังคมที่ใกล้ชิดที่สุดนี่ให้ถูกต้อง แล้วก็ขยายสังคมออกไป ไกลออกไปจนกระทั่งว่าเป็นคนทั้งโลก เป็นคนร่วมโลกอยู่ด้วยกันในโลก ๔ อย่างนี้ใช้ได้ แม้กับบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ญาติ โยม ใกล้ชิด ๔ อย่างนี้ก็ใช้ได้ กับชาวบ้านทั่วไปก็ใช้ได้ กับคนทั้งโลกก็ใช้ได้
ฉะนั้นขอให้ถือว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ สุดนะ เรื่องทาน เรื่องปิยวาจา เรื่องสมานัตตตา เรื่องอัตถจริยา ทีนี้ก็เราก็ได้ครบ เรื่องส่วนตัวเราก็ทำได้ โดย ๔ อย่างที่กล่าววันก่อน โดยผู้อื่นเราก็ทำได้ โดย ๔ อย่างที่กล่าววันนี้ เราก็กลายเป็นผู้ที่ถือเอาได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น ก็สมบูรณ์ เมื่อทำถูกต้องครบถ้วนทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่าย ก็เรียกว่าสมบูรณ์ ปัญหาเรื่องมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มันก็จะหมดไป
ฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็ได้รับการอบรมมามากพอสม ควรแล้ว เหลืออยู่แต่จะทำความเข้าใจให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนมีความพอใจ มีความรักในการที่ได้อบรมมา ไอ้สิ่งที่เราได้รับการอบรมมานี้ เราจะพอใจ เราจะรักมันที่จะปฏิบัติตลอดไป เป็นอันว่าในการบวชเณรกันคราวหนึ่งนี้ ไม่เป็นหมัน ไม่เสียเวลาเปล่า ไม่เสียของเปล่า ไม่เหนื่อยเปล่า ไม่อะไรเปล่า คือไม่เป็นหมัน ได้รับประโยชน์เต็มที่ เต็มตามที่มันจะมีให้ได้สำหรับมนุษย์ เราก็ควรจะพอใจ จะเรียกว่าเป็นการลงทุนก็ได้ ลงทุนค้าขายในทางวิญญาณ ทางจิต ทางวิญญาณ แล้วได้กำไรเกินคาด ได้กำไรหลายเท่าตัวของทุนที่ลงไป เรื่องมันก็ควรจะพอใจ เพราะฉะนั้นก็เห็นว่าเท่านี้ก็พอ ฉะนั้นขอให้เอามารวมกันทั้งสองเรื่อง คือเรื่องที่พูดครั้งแรก กับเรื่องที่พูดในวัน นี้เอามารวมกัน แล้วเธอก็ได้ครบทั้งสองฝ่าย ฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น ตามหลักของธรรมะซึ่งยึดถือความสมบูรณ์อย่างนั้น
นี่เวลาก็ไม่ค่อยมี เพราะว่ามีรายการที่จะต้องเดินทางต่อไป แต่ฉันเห็นว่าพูดเพียงเท่านี้มันก็เกินพอ มันพอเกินพอ เพราะมันปฏิบัติได้มากไม่จำกัด เราพูดกันแต่หลักๆ ที่เป็นหัวข้อ เมื่อเธอเข้าใจแล้วก็พูดก็ปฏิบัติได้โดยไม่มีขีดขั้น ไม่มีประมาณ ในที่สุดนี้ฉันก็ขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งที่พวกเธอได้มาที่นี่ และขออนุโมทนาในการที่เธอได้รับการฝึกฝน อย่างที่ได้ฝึกฝนมาแล้ว และก็ขออวยพรตามแบบของฉัน คือขออวยพรให้เธอมีความเข้าใจในเรื่องที่ฉันพูด ให้เธอไปคิดดู เห็นแล้ว เห็นด้วยว่าประพฤติแล้วมีประโยชน์จริง แล้วเธอก็เชื่อ นี่ขอให้เธอเชื่อเมื่อเห็นว่ามันมีประโยชน์จริง และเมื่อเชื่อแล้วก็ขอให้เธอมีความกล้าหาญ ไม่ขี้ขลาด ในการที่จะปฏิบัติตาม มีวิริยะ ความพากเพียร คือกล้าหาญ มีขันติ มีความอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แล้วแน่นอนเธอก็จะมีความเจริญงอกงามก้าวหน้า ทั้งในเรื่องของส่วนตัว และในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดังที่กล่าวมาแล้ว ขอให้ความปรารถนานี้ จงเป็นของเราทั้งสองฝ่าย จงเป็นไปอย่างดียิ่ง และอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งให้เธอมีความพอใจในตัวเอง มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญเ