แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายธรรมะในวันนี้มีหัวข้อว่า หลักธรรมะสำหรับนักศึกษา อาตมาอยากจะสร้างความเข้าใจแก่ท่านสาธุชนทั้งหลายโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาเป็นพิเศษว่าการบรรยายในวันนี้จักได้กล่าวแต่เพียงหลักหรือหัวข้อเอ่อ,สำหรับนักศึกษา ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้มีปัญญา และท่านสาธุชนทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปัญญาชนทั่วๆ ไปเพราะเคยได้สดับตรับฟังมามากแล้ว ดังนั้นอาตมาจึงได้ตั้งใจที่จะกล่าวในลักษณะที่เป็นเพียงหลักหรือใจความ เป็นหัวข้อธรรมะ ยิ่งกว่านั้นอีกยังจะกล่าวในรูปที่เรียกว่า เวทัลลกถา เสมือนหนึ่งมีคำถามตั้งขึ้นและก็มีคำตอบออกไปเพื่อสะดวกแก่การเอ่อ,ที่จะกำหนดจดจำ หรือจะสรุปหัวข้อให้ชัดลงไปเสียก่อนว่าปัญหานั้นว่าอย่างไรและจึงฟังคำตอบ ใจความสำคัญของตัวปัญหานั้นช่วยให้ฟังคำตอบเข้าใจได้ง่ายด้วยและช่วยให้จดจำได้โดยง่ายด้วย ดังนั้นในวันนี้จึงคิดว่าจะใช้วิธีที่เรียกว่าเวทัลลกถานี้ดู และกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรก เพื่อความเหมาะสมแก่ท่านที่เป็นนักศึกษาหรือปัญญาชน
ในครั้งพุทธกาลเราได้ฟังเรื่องราวมาแล้วด้วยกันทุกคนว่า ผู้มีปัญญาจะถามเพียงหัวข้อ ขอร้องเพียงให้บอกแต่ใจความไม่ปรารถนาคำอธิบายยืดยาว นี่ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งดีมากเพื่อประหยัดเวลานั่นเอง ดังนั้นในวันนี้อาตมาจะได้กระทำไปในรูปนั้น คือตั้งปัญหาเป็นหัวข้อแล้วตอบแต่ใจความ เพื่อจะได้เนื้อเรื่อง มากเรื่อง หรือมากกระทงความ เพื่อว่าจะได้เป็นพื้นฐานแก่นิสิตและนักศึกษาทั่วๆไป และมีความรู้พื้นฐานอันนี้แล้วจะมีผลดีในกาลข้างหน้า คือจะศึกษาอะไรได้สะดวกจะฟังผู้อื่นกล่าวได้สะดวก และอีกประการหนึ่งขอซ้อมความเข้าใจว่าไว้ด้วยว่า อาตมามุ่งหมายจะกล่าวไปในลักษณะที่มีประโยชน์แก่นิสิตและนักศึกษา เอ่อ,ถึงกับว่าเมื่อถูกถามโดยชาวต่างประเทศแล้ว ชาวต่างชาติต่างศาสนาแล้วจะสามารถตอบได้และยังตอบได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดความเสียหายทีหลัง เพระฉะนั้นขอให้กำหนดจดจำส่วนที่เป็นใจความหรือหัวข้อนั้นไว้ให้ดีๆ ถ้าถึงกับจดไว้ได้ก็จะยิ่งเป็นการดี ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ต่อไปนี้อาตมาก็จะได้กล่าว เอ่อ,โดยหัวข้อเป็นลำดับไป
ถ้าท่านๆ ถูกถาม เอ่อ,ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร ท่านลองคิดดูว่าเมื่อท่านถูกถามว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร อย่างนี้เราอาศัยพระพุทธภาษิตของพระพุทธองค์เองว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในกาลก่อนแต่นี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราสอนเรื่องทุกข์และเรื่องความดับแห่งทุกข์ นี่คำตอบนี้ตรงกันกับที่เราเคย เอ่อ,คิดกันหรือๆไม่ ก็ลองสังเกตดู เราอาจจะตอบเป็นอย่างอื่นมากมายกว่านี้ แต่ที่เป็นพระพุทธ พระพุทธภาษิตแล้วสั้นๆ เพียงเท่านี้ว่าเราสอนเรื่องทุกข์และเรื่องความดับทุกข์ พระบาลี อลคัททูปมสูตร มัชฌิมนิกาย เป็นพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๒๗๘ เมื่ออาตมาบอกถึงเล่มพระไตรปิฎกแล้วขอให้ถือว่าเป็น พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีในประเทศไทย พระพุทธเจ้าท่านจะสอนแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ถ้าสั้นกว่านี้ก็คือความดับทุกข์ ไม่ยอมกล่าวปัญหาซึ่งไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์โดยตรง เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ยอมตอบปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดไหม เกิดด้วยอะไรทำนองนี้ ซึ่งจะได้วินิจฉัยกันทีหลัง ถ้าพวกฝรั่งจะถามเราๆ ก็ตอบอย่างนี้และอาศัยหลักเกณฑ์อย่างนี้ซึ่งมีอยู่อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องอื่นนอกจากเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์
ที่ถัดไปเราจะถูกถามว่าสอนว่าอย่างไร ถ้าถูกถามว่าสอนว่าอย่างไรนี่เรื่องก็จะมาก เอ่อ,หลายแนว หลายประเด็นหรือหลายแนว ท่านควรจะสังเกตได้เองว่าทำไมมันจึงมีหลายแนว ถ้าถามว่าสอนอย่างไร อันแรกที่สุดอาจจะตอบได้ว่าท่านสอนให้เดินสายกลาง คืออย่าให้ตึงอย่าให้หย่อนอย่าให้ซ้ายจัดขวาจัดอะไรทำนองนั้น แล้วถ้าเรียกเป็นบาลีแล้วก็เรียกว่าให้เว้นจากนิชฌามปฏิปทาและอาคาฬหปฏิปทา นิชฌามปฏิปทา แปลว่าการกระทำหรือการปฏิบัติที่แผดเผาตัวเอง ได้แก่พวกอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเดือดร้อน ส่วนอาคาฬหปฏิปทา นั้นคือการปฏิบัติที่ตามใจตัวเองในความสุข ในความสุขทางเนื้อทางหนัง อย่างที่เราพูดกันว่า Eat, Drink and be Merry เอ่อ, ก็พวกเราก็ image ได้นี่ เป็นคำล้อเลียนเหยียดหยามอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เห็นแต่เรื่องของความสุขทางเนื้อทางหนัง การกระทำอย่างนั้นเรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา หรือบางทีก็เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค ส่วนสายกลางนั้นก็คือว่าอย่าทำตนให้ลำบากและก็อย่าตามใจตัวเองในทางความสุขทางเนื้อหนัง การเดินสายกลางก็เพื่อว่าจะได้มีความเหมาะสมทุกอย่างทุกประการที่จะเป็นอยู่ที่จะศึกษาที่จะปฏิบัติระดับทุกด้าน และคำว่าสายกลางนี้อาจจะนำมาใช้ได้ในหลายๆกรณีทั่วๆไปในเรื่องต่างๆ ไม่มีทางผิด รู้ประมาณที่พอดีเป็นสายกลาง เป็นรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บริษัท รู้บุคคล อย่างที่เรากล่าวๆกันนี้ เหล่านี้ทำให้รู้จักเดินสายกลาง นี้เป็นคำตอบแนวหนึ่ง
แนวถัดมาก็คือว่า สอนให้ช่วยตัวเอง ช่วยตัวเองนี้ก็พอจะฟังออกด้วยกันทุกท่าน เกือบจะไม่ต้องการคำอธิบาย สรุปความว่าเราไม่หวังพึ่งโชคชะตา ไม่หวังพึ่งเทวดา หรือแม้ที่สุดแต่ที่เรียกว่าพระเป็นเจ้า เราต้องการจะช่วยตัวเอง ตามพระบาลีว่าอัตตาหิ อัตตโนนาโถ อย่างนี้เป็นต้น ถึงแม้ในศาสนาที่มีพระเป็นเจ้าเขาก็ยังกล่าวว่าพระเจ้าจะช่วยแต่คนที่ช่วยตนเอง เพราะฉะนั้นเรื่องช่วยตนเองนี้อาจจะมีทั่วๆไปไม่มากก็น้อยในศาสนาอื่นๆ แต่ในพุทธศาสนาเรานี้เต็มที่ ตัวเองที่กำลังเป็นทุกข์หรือโง่เขลาจะต้องได้รับความเจ็บปวดและเข็ดหลาบแล้วก็ต้องหาทางช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้ทางเท่านั้น ตุมเหหิ กิจจัง อาตัปปัง การกระทำเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำเองเพื่อให้ความทุกข์สิ้นไป อย่างนี้เรียกว่าพุทธศาสนาเราสอนให้ช่วยตัวเอง ขอให้จำไว้อย่างนี้
ทีนี้แนวถัดไปท่านสอนว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีกฎในตัวมันเอง อย่างที่พระ เอ่อ,พระสารีบุตรเมื่อก่อนจะมาบวชก็ได้ถามพระภิกษุองค์หนึ่ง ได้รับคำตอบว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านสอนว่าสิ่งใดเกิดมาแต่เหตุก็ต้องรู้เหตุของสิ่งนั้นและรู้ความดับของเหตุของสิ่งนั้น ทีนี้เรียกว่าเป็น เอ่อ,หลักธรรมะที่อยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์ จึงกล่าวว่าพุทธ หลักพระพุทธศาสนานี้ เอ่อ,เป็นไปหรือว่าจบหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เอาบุคคล ไม่ได้เอาอะไรเป็นประมาณนอกจากเหตุผล ดังนั้นจึงถือว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งเหตุผล นี้ก็แนวหนึ่ง
ทีนี้อีกแนวต่อไปสำหรับการปฏิบัติ ท่านสอนให้เว้นความชั่วให้ทำความดีและทำจิตให้บริสุทธิ์ สามอย่างนี้รวมกันเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ คือประมวลหัวข้อแห่งธรรมโอวาททั้งหมด เว้นชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เว้นชั่วและทำดีนี้ไม่ต้องอธิบาย ทำจิตให้บริสุทธิ์ก็คือว่าถ้าไปยึดถือแม้ในความดีจิตก็หม่นหมอง เช่นกลัวจะไม่ได้ดีหรือดีที่มีอยู่จะหมดไป เป็นห่วงวิตกกังวลยึดถือนั่นนี่ เอ่อ,เป็นของตนทำให้เป็นทุกข์ ถึงแม้ว่าเราจะเว้นชั่วและทำดีเสร็จแล้วเรายังต้องรู้จักกระทำจิตให้ปล่อยวาง อย่าได้ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นตัวตนของตน มันจะเศร้าหมอง มันจะหนัก มันจะเป็นทุกข์ เหมือนกับว่ายึดนี่ ยึดถือแบกหามสิ่งใดไว้ย่อมเป็นของหนักและทนทุกข์ แม้ว่าของนั้นจะเป็นเพชรพลอยที่มีราคามาก ถ้ามันตั้งกระบุงแล้วมาแบกไว้บนบ่าหรือทูนไว้บนศีรษะมันก็หนัก เท่าๆกันกับว่าแบกก้อนหินหรือทูนก้อนหินเหมือนกัน ฉะนั้นก้อนหินก็ไม่ทูน เพชรพลอยก็ไม่ทูน วางไว้ข้างๆไม่ให้มามีความหนักอยู่ เอ่อ,บนศีรษะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงจิตใจ จึงได้กล่าวว่าจงทำจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยเป็นเรื่องที่สาม เรื่องที่หนึ่งเว้นจากความชั่ว เรื่องที่สองทำความดี เรื่องที่สามทำจิตให้บริสุทธิ์ นี่ท่านสอนว่าอย่างนี้
ทีนี้คำสอนที่สำคัญซึ่งเป็นการเตือนสติอย่างสำคัญ ได้สอนได้ทรงสอนว่าสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ทุกสิ่งทั้งปวงในโลกนี่คือสิ่งปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไหลเรื่อยเปื่อยไปไม่มีหยุดคือไม่เที่ยง ขอให้ทุกคนสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท นี่ทั้งนิสิตทั้งนักศึกษาแม้จะเป็นผู้เยาว์ก็ขอให้ฟังคำนี้ให้ดีๆว่า คำสอนสูงสุดของพระพุทธเจ้านั้นต้องใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น ทุกระดับ แม้แต่คนหนุ่มคนสาวก็ให้เข้าใจไว้เลยว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ไหลเรื่อยเปื่อยไปคือไม่เที่ยง ฉะนั้นจงทำตนเองให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท คืออย่าไปทำเล่นๆกับสิ่งเหล่านั้น มันจะกัดเอา มันจะตบหน้าเอา หรือมันจะผูกมัดรัดรึงเอา จะต้องนั่งร้องไห้หรือถึงกับจะต้องฆ่าตัวตายกันบ่อยๆ นี่รวมความว่าถ้าถูกถามว่าสอนอย่างไรก็ว่าสอนให้เดินสายกลาง สอนให้ช่วยตัวเอง สอนให้รู้จักกฎแห่งเหตุผล มีเหตุและปัจจัยปรุงแต่ง และจะต้องจัดการที่เหตุให้ถูกต้องจึงจะได้รับผลตามที่เราต้องการ และสอนเป็นหลักปฏิบัติว่าอย่าทำชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ และต้องเตือนสติว่าสิ่งทั้งปวงนี่ไม่เที่ยงไหลเรื่อย จงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท นี่คือหัวข้อที่ถามว่าสอนว่าอย่างไร ก็ตอบอย่างนี้
ทีนี้ท่านถ้าท่านถูกชาวต่างประเทศถามว่าสรุปเป็นใจความให้สั้นที่สุดแล้วพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร อย่างนี้เราตอบได้ด้วยพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าเองคือท่านสอนด้วยประโยคสั้นๆประโยคเดียวว่า สิ่งทั้งปวงอันใครๆไม่พึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็น เอ่อ,พระพุทธภาษิตของพระองค์เองตรัสไว้อย่างนี้ เราไม่ต้องเสียเวลามาตั้งเอ่อ,การค้นคว้าเพราะได้มีตรัสไว้อย่างนี้ชัดเจนแล้ว และบรรดาคำสอนทั้งหมดที่ว่ามีมากมายตั้งสี่หมื่น เอ่อ,แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ สรุปให้เหลือเพียงประโยคเดียวสั้นๆก็คือว่า สิ่งทั้งปวงยึดมั่นไม่ได้ ให้รู้ว่าถ้าไปยึดมั่นเข้าแล้วเป็นทุกข์ ให้รู้ว่าเมื่อปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วเราก็เรียกว่ารู้หมดพระพุทธวจนะทั้งแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ หรือว่าถ้าได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วคือปฏิบัติหมดทุกขั้นทุกตอน คนขาดศีลก็ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความรักความเกลียดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วขาดศีลไม่ได้ คนจิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า คนไม่มีปัญญาก็นั่นน่ะคือความโง่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า เมื่อปฏิบัติเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นมรรคผลขึ้นมาทันทีและเป็นนิพพานในที่สุด พระพุทธเจ้าก็คือผู้ที่ไม่ยึดมั่นโดยเด็ดขาด พระธรรมคือคำสอนและการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติเรื่องความไม่ยึดมั่น พระสงฆ์ก็คือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นอยู่ กำลังปฏิบัติอยู่ก็มี ปฏิบัติเสร็จแล้วก็มี นี่เรียกว่าพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าพระพุทธวจนะทั้งหมดสรุปให้สั้นเหลือเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าได้ และก็ท่านตรัสไว้ดังนี้ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระบาลี จูฬตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ หน้า ๔๗๐
ทีนี้ถ้าถูกถามต่อไปว่า เกี่ยวกับความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นจะให้ปฏิบัติอย่างไร ถ้าท่านถูกชาวต่างประเทศถามว่าจะปฏิบัติให้ถูกหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นจะปฏิบัติอย่างไร ก็ตอบโดยต้องโดยอาศัยพระพุทธภาษิตอีกเหมือนกัน เราไม่ต้องเอาความคิดของเราไปตอบ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส เอ่อ,การปฏิบัติไว้อย่างสรุปหมด เอ่อ,ครบถ้วนที่ว่า เมื่อเห็นรูป เห็นรูปด้วยตาก็ตรัสว่าดู เมื่อได้ฟังเสียงทางหูนี่ก็ตรัสว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นทางจมูกนี่ก็ตรัสว่าได้ดม เมื่อได้ลิ้มรสทางลิ้นนี่ก็ตรัสว่าได้กิน เมื่อได้สัมผัสทางผิวหนังผิวกายทั่วๆไปนี้ก็ตรัสว่าได้กระทบ และเมื่ออารมณ์เช่นเรื่องเศร้าเป็นต้นได้เกิดขึ้นในจิตก็ให้เป็นสักว่ารู้ รู้ว่าอารมณ์เศร้า นี่ขอทบทวนท่านสำหรับท่านที่ยังไม่เคยฟังว่าเห็นสักว่าดู เห็นสักว่าเห็นก็ได้ ได้ฟังก็สักว่าๆได้ยิน ได้กลิ่นก็สักว่าได้ดม ได้ลิ้มรสก็สักว่าได้กิน และสัมผัสทางผิวกายก็สักว่าได้กระทบ อารมณ์เกิดขึ้นในใจก็สักว่ารู้สึก นี่หมายความว่า เอ่อ,ไม่ปรุงเป็นตัวตนขึ้นมา ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าเมื่อทำได้อย่างนี้ตัวตนจักไม่มี ตัวตนจักไม่มีนั่นแหละคือที่สิ้นสุดของความทุกข์ ทีนี้ต้องอธิบายว่าที่ว่าเมื่อได้เห็นรูปทางตาสักแต่ว่าดูนี่ รูปมากระทบตาก็ดูให้รู้ว่าเป็นอะไรแล้วเราควรจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ กับสิ่งเอ่อ,ที่ๆได้เห็นนี้ แต่อย่างไปเกิดรักหรือไปเกิดเกลียดเข้า ถ้าไปเกิดรักก็อยากได้ ไปเกิดเกลียดก็อยากฆ่าให้ตาย อย่างนี้มันก็มีผู้รักและผู้เกลียด นี้เรียกว่าตัวตน ถ้าปล่อยไปในทางเป็นตัวตนอย่างนี้ก็เป็นทุกข์และผิด ทีนี้ถ้าได้เห็นรูปแล้วให้มีสติปัญญามีสติสัมปชัญญะอย่ามีกิเลสยึดถือ มีสติปัญญารู้ว่าสิ่งที่เห็นนี้จะต้องทำอย่างไรก็ทำไปตามที่ถูกที่ควร หรือถ้าไม่ต้องทำอะไรก็เฉย ต้องการผลจากสิ่งนี้อย่างไรก็ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะด้วยสติปัญญาอย่าปรุงเป็นตัวตนขึ้นมา ไม่มีความทุกข์ด้วย ก็ได้ผลตามที่ต้องการด้วย นี่หลักปฏิบัติที่สรุปยอดที่สุดและควรถือว่าประเสริฐที่สุดก็คือสอนว่าเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ได้ลิ้มก็สักแต่ว่าได้ลิ้ม ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส ได้รู้สึกในใจสักว่าได้รู้สึกในใจ ให้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นแล้วสติปัญญามาทันที แล้วจัดการไปตามที่ถูกที่ควร ไม่เกิดมีผู้รักหรือผู้เกลียดขึ้นแล้วก็อยากจะกระทำไปตามความรักหรือความเกลียด อย่างนี้เรียกว่าตัวตน จิตนี้วุ่นวายแล้ว ไม่ว่าง ไม่ประกอบด้วยสติปัญญาไปแล้ว นี่เป็นภาษิตที่ตรัสแก่พระพาหิยทารุจีริย มัชฉิมนิกาย แพร่หลายมาก นี่คือสรุปสั้นๆว่าปฏิบัติอย่างไร
ทำไมจึงไม่พูดถึงเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องทำบุญให้ทานล่ะ นั่นเป็นเรื่องปลีกย่อยไม่ใช่เรื่องหัวใจ เราทำบุญให้ทานรักษาศีลเจริญสมาธิมีปัญญาในที่สุดก็เพื่อว่าเราจะสามารถเป็นผู้คงที่อย่างนี้ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยินอย่างนี้ เราเป็นผู้คงที่ มีความคงทนปกติต่อต้านหรือคือหลีกเลี่ยงต่ออารมณ์ที่มากระทบทุกอย่าง ทุกประการ ทุกวิถีทาง ไม่เกิดตัวตน ซึ่งทำบุญให้ทานก็เพื่อขจัดตัวตน เรื่องรักษาศีลก็เพื่อควบคุมตัวตน เรื่องทำสมาธิก็เพื่อควบคุมตัวตน เรื่องทำปัญญาก็คือทำลายตัวตน ที่เราไม่พูดหลายเรื่อง เราพูดถึงเรื่องที่จำเป็นประจำวันที่สุดที่ตาเราจะได้เห็นนั่นเห็นนี่ หูเราจะได้ยินนั่นยินนี่ จมูกเรานี้ ทั้งหกทางนี้เราควบคุมที่นี่อย่างเดียว และเป็นอันควบคุมหมด แล้วเป็นการปฏิบัติหมดและครบถ้วน นี่คือหัวใจของการปฏิบัติ เมื่อท่านถูกชาวต่างประเทศถามว่าให้ปฏิบัติอย่างไรก็ตอบอย่างนี้
หัวข้อต่อไป ถ้าท่านถูกเขาถาม คนต่างชาติต่างศาสนาถามว่าจะให้เรียนกันที่ไหนศึกษากันที่ไหน เราก็ตอบเป็นพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าว่า ในร่างกายอันยาววาหนึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ ให้เรียนที่นี่ ให้เรียนที่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ ก็หมายความว่าร่างกายที่ยาววาหนึ่งคือคนนี่ แล้วก็ยาว เอ่อ,เป็นๆอยู่ถึงจะมีสัญญาและใจ มีสมประดีนี่เรียกว่ามีปัญญา และก็มีใจเป็นความรู้ความคิด ในกายอันยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจนี้ตถาคตได้บัญญัติโลก ได้บัญญัติ เอ่อ,ที่เกิดแห่งโลก ได้บัญญัติความดับสนิทของโลก และได้บัญญัติหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของโลกไว้ และไม่มีอะไรเหลือเลย เมื่อๆๆตรัสว่าโลก ที่เกิดแห่งโลก ความดับสนิทของโลก ปฏิบัติเพื่อความดับสนิทของโลกนี่คือธรรมะทั้งหมด มีอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งและมีจิตใจที่เป็นๆ ให้เรียนที่นี่ ไม่ใช่ให้เรียนที่โรงเรียนหรือในตามถ้ำตามเขาตามป่าตามวัดวาอารามที่ไหน นั่นมันเป็นเรื่องข้างนอก ให้สร้างโรงเรียนขึ้นข้างใน ให้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นในร่างกาย แล้วก็สอดส่องศึกษาแยกแยะค้นคว้าคุ้ยเขี่ยให้รู้ตามที่เป็นจริงว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ดับสนิทของโลกคือดับทุกข์นั้น เอ่อ,คืออย่างไร แล้วปฏิบัติเพื่อดับสนิทปฏิบัติอย่างไร ก็คือเรื่องอริยสัจนั่นเอง บางทีพระองค์ใช้คำว่าโลก บางทีใช้คำว่าทุกข์ ตัวโลกหรือตัวทุกข์เป็นอย่างไร สมุทัยของมันคือเหตุให้เกิดนั้นเป็นอย่างไร และดับสนิทคือไม่มีทุกข์ไม่มีโลกที่วุ่นวายนั้นเป็นอย่างไร แล้วปฏิบัตินี้ปฏิบัติอย่างไร จะค้นพบได้จากกายนี้ ที่อื่นไม่มี ถ้าไปเอามาจากที่อื่นเป็นเรื่องหนังสือบ้าง เป็นเรื่องคำพูดบ้าง เป็นเรื่องลมๆแล้งๆ ไม่ใช่ตัวจริง ต่อเมื่อมองเห็นพ้นได้ เห็นแจ้งจากร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้พร้อมกับใจนี้จึงจะเป็นตัวจริง ทีนี้ถ้าเราถูกถามว่าเรียนที่ไหน ก็เรียนในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่เป็นพระสูตรในจตุกกนิบาต อังคุตรนิกาย ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ หน้า ๖๒
ทีนี้เราจะถูกถามต่อไปว่าเพื่อความเข้าใจธรรมะดีขึ้น ธรรมะนี้เปรียบเหมือนอะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าธรรมะนี้เปรียบเหมือนพ่วงแพ ท่านใช้คำว่าแพเพราะว่าสมัยโบราณนี้การข้ามน้ำข้ามแม่น้ำนี่ใช้แพใช้พ่วงแพเป็นส่วนใหญ่ รู้จักกันดีจึงได้ตรัสอย่างนี้ ธรรมะเป็นพ่วงแพ เหมือนพ่วงแพ นี่มีความหมายสำคัญมากคือว่าอย่าให้ติดในธรรมะจนลืมตัว จนอวดดีในความเป็นอาจารย์เป็นเจ้าตำราเป็นนักปราชญ์ อย่างนี้ ท่านเรียกว่าธรรมะเป็นเพียงพ่วงแพ และก็จะเกิดโทษอย่างนี้ขึ้น ธรรมะๆเป็นพ่วงแพคือเป็นพาหนะจะขนส่งให้ข้ามฟาก ฉะนั้นถ้าข้ามฟากแล้วเราจะมัวแบกเรือแบกแพอยู่ไม่ได้ เราจะต้องขึ้นบกไป นี่ก็คือสอนให้รู้จักใช้ให้ถูกวิธีและอย่ายึดถือจนลืมตัว เรือแพนี่ถ้าเราไม่รู้ประโยชน์เราก็เอาไว้อวดกัน เอาไว้ทะเลาะวิวาทกันเพราะความอวด เหมือนที่เค้าไว้วิ่งแข่งกัน ต้องการหมดเรื่องไม่มีประโยชน์ก็ต้องใช้ถูกเรื่องคือใช้ข้าม ข้ามน้ำ อันวิชาความรู้หลักธรรมะนี้ต้องใช้เพื่อข้ามความทุกข์ ไม่ได้ไว้เพื่อใช้ เอ่อ,ใช้เพื่อทำลายกันด้วยหอกหรือปากคือทุ่มเถียงกัน เอ่อ,ประณามกัน แล้วก็อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นกันเหมือนกับว่าขึ้นบกแล้วถึงฝั่งแล้วก็ยังไม่ยอมจากเรือ จะแบกเรือไปด้วย นี่ธรรมะเปรียบเหมือนพ่วงๆแพ ไปดู เอ่อ,มีอยู่ในพระบาลีอลคัททูปมสูตร แห่งเดียวกันกับข้างต้น
ที่ธรรมะที่เหมือนพ่วงแพนี่หมายถึงฆราวาส เอ่อ,สำหรับฆราวาสด้วย สำหรับบรรพชิตด้วย เหมือนกันทีเดียว ดังนั้นเราจะเอ่อ,ถ้าเราถูกถามว่าฆราวาสควรเรียนเรื่องอะไร เราก็ไม่ต้องตอบด้วยความคิดของเรา ถ้าท่านอยากจะมีความคิดของท่านก็ๆได้ไม่ห้าม แต่เราตอบตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ก็ว่า ฆราวาสควรเรียนสุตตันตะทั้งหลายที่เป็นตถาคตภาษิตเนื่องด้วยสุญญตา สุตตันตะทั้งหลายนี่หมายถึงเอ่อ,ระเบียบของคำสอนที่จัดไว้ดี เป็น...(เวลา30.22) ดี เขาเรียกว่าสุตตันตะ คือเนื้อหรือหัวใจของคำสั่งสอนที่จัดระเบียบไว้ดีเรียกว่าสุตตันตะ สุตตะก็คือสูตร อันตะก็แปลว่าที่สุด สุตตันตะก็แปลว่าเอ่อ,สูตรที่จัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเนื้อหาอย่างดี เหมือนกับเวทัลตะ เวทะก็ความรู้ เวทัลตะก็คือความรู้ที่จัดไว้แต่เนื้อหาเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างดี ขอให้จำคำว่าสุตตันตะนี้ไว้ด้วย พระพุทธเจ้าท่านได้ใช้คำนี้ บางคนมาแปลคำๆนี้แปลว่าพระสูตร คนฟังเคยชินแต่เรื่องนิทานก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องนิทาน พระสูตรจะเป็นเรื่องนิทานไปไม่ได้แต่ว่าคนทั้งหลายโดยมากเข้าใจไปเสียอย่างนั้นแล้วไม่มีใครห้ามเขาได้ อาตมาอยากจะใช้คำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้อย่าให้ปนเปกันว่าสุตตันตะ สุตตันตะทั้งหลายที่เป็นตถาคตภาษิตคือที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวและเนื่องด้วยสุญญตา เอ่อ,เรื่องนี้มีฆราวาสไปทูลถามว่า ฆราวาสนี่จะประพฤติธรรมอย่างไรจึงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสข้อนี้ เย เต สุตตันตา สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด ตถาคตภาสิตา เป็นคำกล่าวของตถาคต คัมภีรา เป็นข้อความที่ลึกซึ้ง คัมภีรัตถา มีความหมายลึกซึ้ง โลกุตตรา เป็นเครื่องข้ามขึ้นเหนือโลก สุญญตา ปฏิสังยุตตา มุ่งเฉพาะแต่สุญญตา มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา เพราะว่าสุญญตานี่คงแปลกหูท่านนักศึกษาทั้งหลายแต่อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะว่าเป็นคำที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาขอให้สนใจฟัง สุญญตาแปลว่าความว่าง สุญญตาแปลว่าความว่าง แต่คำว่าความว่างนี่มันมีหลายทางหลายความหมาย สุญญตาของพระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงว่างทางวัตถุ เช่นว่างไม่มีอะไรไม่มีวัตถุอะไรนี่ไม่ใช่ เป็นเรื่องว่างทางสติปัญญา เพราะสิ่งต่างๆมีไปได้ จะมีเท่าไหร่เต็มไปทั้งโลกก็ได้ แต่ตรัสว่าเป็นของว่างหรือมีความว่างก็เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนหรือของตนอยู่ในนั้น นั่นก็คือเพื่อความไม่ยึดถือสิ่งทั้งปวงอีกเหมือนกัน ทำไมฆราวาสควรเรียนภาษิตพระพุทธวจนะโดยตรงที่กล่าวถึงเรื่องสุญญตา ที่แล้วมาเอ่อ,มักจะเข้าใจผิดกันว่าเป็นเรื่องสูงเกินไปไม่เกี่ยวกับฆราวาสเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังพระพุทธภาษิตข้อนี้ เพราะฉะนั้นขอให้จดจำไว้ให้แม่นยำว่าแม้แต่ฆราวาสก็ต้องศึกษาและรู้และปฏิบัติเรื่องสุญญตาไม่ใช่เฉพาะบรรพชิต คำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าฆราวาสก็ควรเรียนเรื่องสุญญตานี้อยู่ในคัมภีร์มหาวารวรรค สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ หน้า ๕๑๒ ฉะนั้นหวังว่าท่านฆราวาสทั้งหลายจะไม่ตื่นกลัวคำว่าสุญญตา หรือเรื่องสุญญตาอีกต่อไป ไว้ไปหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความว่าง เอ่อ,เป็นเรื่องที่ เอ่อ,มีคำอธิบายละเอียดสุขุมต้องใช้เวลามาก ท่านจึงบอกไว้แต่หัวข้อ แต่โดยใจความแล้วก็พอเหมือนกันคือว่าว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนว่าของตนก็เรียกว่าความว่าง เพราะว่าถ้าหากมันๆจิตมันรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนหรือไม่มีอะไรเป็นของตนมันก็คือว่างเท่านั้นเอง โลกนี้ว่างหมายความอย่างนี้
ที่นี้ถ้าถูกถามถึงธรรมสูงสุดธรรมหนึ่งในพระพุทธศาสนาว่า อมตธรรมคืออะไร อมตธรรม หรือ อมฤตธรรม คืออะไร อมตะ แปลว่าไม่ตาย อมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย คืออะไร มีพระพุทธภาษิต มหาวารวรรค สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ หน้า ๑๐ ว่าความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ คืออมตะธรรม หมายความว่าภาวะที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะนั่นแหละคืออมตะธรรม
อมตะธรรม แปลว่าธรรมที่ไม่ตายหรือธรรมที่ทำความไม่ตาย เมื่อมีราคะ โทสะ โมหะเมื่อใดนั่นเรียกว่าความตาย คือว่าเป็นผู้ที่มีความทุกข์ มีตัวตน และต้องเป็นไปตามความรู้สึกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อใดหมดราคะ โทสะ โมหะ หมดโมหะ คือหมดความโง่ ความหลง เมื่อนั้นไม่รู้ว่าไม่ๆเกิดความรู้สึกหลงใหลว่ามีตัวมีตนอีกต่อไปมันจึงไม่ตาย เพราะไม่มีตัวมีตนแล้วอะไรจะตาย ท่านก็แสวงหาอมตธรรมนั้น ต้องแสวงหาความหรือภาวะที่สิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ทีนี้อมตธรรมนี่เราก็ได้ยินได้ฟังกันแล้วว่าเป็นสิ่งสูงสุดยิ่งกว่าสิ่งใดในพระพุทธศาสนา อมฤต อมตะ พวกอื่นมีอมฤตหรืออมตะเป็นอย่างอื่นแต่ในพุทธศาสนานี้มีอย่างนี้ คือมีแต่ความสิ้น เอ่อ,ราคะ โทสะ โมหะ ที่นี้มันเนื่องกันกับธรรมที่เป็นขั้นสูงสุดลึกซึ้งมีชื่อ เอ่อ,หลายชื่อ ถ้าตั้งปัญหาถามว่า ธรรมในขั้นสูงสุดลึกซึ้งเหนือโลก โดยเอ่อ,เหนือความตายโดยประการทั้งปวงแล้วเรียกชื่อว่าอะไร พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าสุญญตา ปฏิสังยุตตา ดังที่ได้ออกชื่อมาเมื่อสักครู่นี้ ธรรมที่เนื่องด้วยสุญญตาหรือตัวสุญญตานั่นเองก็ได้ ธรรมะที่เนื่องด้วยสุญญตานั้นคือธรรมชั้นสูงสุดลึกซึ้งเหนือโลกเหนือความตาย เป็นอันเดียวกับอมตธรรม
ทีนี้เรื่องเอ่อ,หรือธรรมะใหม่ๆ หลังๆ ชั้นหลังๆนี้คืออะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เย เต สุตตันตา กวิกตา กาเวยยา จิตตักขรา จิตตพยัญชนา พาหิรกา สาวกภาสิตา แปลว่าสุตตันตะอีกล่ะ สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใดซึ่งพวกกวีหรือนักปราชญ์ทำขึ้นเป็นคำร้อยกรอง ในลักษณะกาพย์วิจิตรไพเราะเป็นตัวอักษรตัวพยัญชนะ อยู่นอกแนวไม่เนื่องด้วยสุญญตา ขอให้จำ เอ่อ,คำสำคัญว่านอกแนวของสุญญตาไม่เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา แล้วก็เป็นสาวกภาสิตา เป็นภาษิตของสาวกชั้นหลังๆ นี่คือของใหม่ ธรรมะใหม่ แล้วต่ำ และก็ไม่ใช่ตถาคตภาษิต ถ้าเป็นตถาคตภาษิตต้องเนื่องด้วยสุญญตา ถ้าเป็นสาวกภาษิตไม่เนื่องด้วยสุญญตา เป็นพาหิรกาเป็นนอกแนวของสุญญตา ถ้าเราต้องการจะได้รับธรรมะเดิมและสูงสุดและของพระพุทธเจ้าจริงไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตาก็คือความว่าง ข้อความนี้ เอ่อ, ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ หน้า ๑๓๒
ทีนี้ถ้าท่านถูกถามโดยชาวต่างประเทศว่าคำสอนเรื่องอะไรพระพุทธเจ้าสอนมากที่สุดที่ปรากฏอยู่ในรูปพระพุทธวจนะ ก็ตอบตามพระพุทธภาษิตอีกว่าเรื่อง เอ่อ,ขันธ์ห้าไม่เที่ยงและเป็นอนัตตา ขันธ์ห้านี่คือคนเราคนหนึ่งแบ่งออกเป็นห้าส่วน ส่วนร่างกายเรียกว่า รูป ส่วนความรู้สึก อารมณ์สุขทุกข์เรียกว่า เวทนา ความจำหรือสติสมประดีนี่เรียกว่า สัญญา ความคิดนึกเรียกว่า สังขาร จิตที่รู้สิ่งนั้นนี้ได้ทางตาทางหูทางนี้เรียกว่า วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ห้าอย่างนี้เรียกว่าขันธ์ห้าๆ นี้ไม่เที่ยงและเป็นอนัตตา นี้เรียกว่าพหุลานุสาสนี คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากที่สุดว่าขันธ์ห้านี้ไม่เที่ยงคือ ไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย และเป็นอนัตตาคือใครจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรานั้นไม่ได้เพราะมันไหลเรื่อย เป็นพระบาลี จูฬสัจจกสูตร มัชฌิมนิกาย รู้กันดีทั่วไปในหมู่ชาววัด ถ้ารู้อีกทีหนึ่งก็ว่าต้องสอนเรื่องสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงและถือว่าตัวเราหรือของเรานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจำใจความสำคัญว่าพระพุทธเจ้าสอนมากที่สุดในเรื่องว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยงและถือว่าเป็นตัวเราหรือของเราไม่ได้
ที่เราจะพิจารณาดูกันต่อไปว่า ถ้าถูกถามว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เชื่อใคร ให้เชื่อใคร ก็ตอบตามพระพุทธภาษิตกาลามสูตรว่าต้องสอนให้เชื่อการมองเห็นชัดอยู่ด้วยตนเอง เชื่อการมองเห็นชัดอยู่ด้วยตนเองว่ามันเป็นอย่างไร ในที่นี้ต้องเข้าใจคำว่ามองเห็นชัด มองเห็นชัดโดยไม่ต้องใช้การคำนวณด้วยเหตุผล ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องสันนิษฐานจึงจะมองเห็นชัด เช่นว่าเราเห็นวัตถุชัดๆอยู่ เอานี่ทำอย่างนี้เกิดผลอย่างนี้นี่ละมองๆเห็นชัดไม่ต้องอาศัยเหตุผลหรือว่าการสันนิษฐาน ในทางพุทธศาสนา เอ่อ,สอนให้ไม่เชื่อใคร ไม่เชื่อสิ่งใดนอกจากการมองเห็นชัดอยู่ด้วยตนเองว่ามันเป็นอย่างไร รู้ได้ด้วยคำถามต่อไปที่ว่าทำไมไม่ให้เชื่อ เอ่อ,พระไตรปิฎก ไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์ ไม่ให้เชื่อคำเล่าลือ ไม่ให้เชื่อการคำนวณด้วยเหตุผล ไม่ให้เชื่อตามการคำนวณด้วยเหตุผลทางตัด นี่เท่านี้ก็เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจได้ดี เพราะว่าการเชื่ออย่างนั้นเป็นการงมงาย อย่างเราเปิดพระไตรปิฎกอ่านข้อความอย่างไรเข้าไปแล้วก็เชื่อโดยไม่ต้องคิด แล้วก็ไม่ต้องพิสูจน์ เอ่อ,ไม่ต้องวิจารณ์อย่างนี้นี่เรียกว่าเชื่อพระไตรปิฎกอย่างงมงาย ทรงห้ามไว้ เชื่อครูบาอาจารย์ก็หมายความว่าเมื่อครูบาอาจารย์บอกมาอย่างไรก็เชื่อตามทุกคำอย่างหลับหูหลับตาไม่วิพากษ์วิจารณ์ไม่มองเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง อย่างนี้ก็เรียกว่าเชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อคำเล่าลือกันอย่างไรแตกตื่นตื่นตูมกันไปนี่ เชื่อการคำนวณด้วยเหตุผลทางตัดนั้นหมายความว่าเราเรียนเรื่องเหตุผลหรือชินในการใช้เหตุผลกันมาแล้ว แล้วก็คำนวณดูว่าทางเหตุผลมันควรจะเป็นอย่างนั้นได้ อย่างนี้ก็ยังไม่พอ ยังไม่ๆ ยอมให้ฝากตัวไว้กับการคำนวณชนิดนี้ ตรงนี้ต้องฟังดูให้ดีว่าไม่ใช่ห้ามไม่ให้เราเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก หรือไม่ให้เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์ หรือไม่ใช่ได้ห้ามให้เราไม่อ่านพระไตรปิฎกไม่ฟังครูบาอาจารย์และไม่ฟังคำเล่าลือหรือไม่ใช้ เอ่อ,การคำนวณทางตัด แต่ว่าให้เราได้ฟังได้อ่าน ได้ยินนี่เราไม่เชื่อตามนั้นนอกจากจะมาคิดใคร่ครวญดูหยั่งดูจนมองเห็นชัดด้วยตัวเองว่ามันเป็นอย่างนี้จริง เช่นพระพุทธเจ้าตรัสว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ ถ้าเรายังไม่รู้จักตัวความโลภ ความโกรธ ความหลงมันก็ไม่มีทางจะเชื่อ ไม่ต้องเชื่อ เชื่อเข้าก็งมงาย แต่เมื่อเรารู้จักตัวความโลภว่าเป็นอย่างไร ความโกรธก็เป็นอย่างไร ความหลงก็เป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นในใจเราคราวไรเป็นทุกข์มันก็ไฟเผา อย่างนี้เรียกว่าเชื่อตามที่มองเห็นชัดอยู่ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามเราได้อ่านได้ฟังแล้วต้องมามองดูจนเห็นชัดอย่างนั้น ถ้ายังไม่เห็นชัดยังต้องใช้การคำนวณก็ทิ้งไว้ก่อน จะเชื่อและจะปฏิบัติแต่เท่าที่มองเห็นชัดก่อนก็พอแล้ว แล้วก็ค่อยจะค่อยเชื่อและเห็นชัดเพิ่มขึ้นๆๆตามลำดับ ไม่ต้องกลัว นี่เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร อังคุตรนิกาย แพร่หลายมาก ถ้าท่านต้องอธิบายให้ชาวต่างประเทศฟังขอร้องว่าจงอธิบายให้ดีๆ ถ้าอธิบายผิดจะกลายเป็นผิดหรือตู่พระวจนะไปก็ได้ คือไม่เชื่อพระไตรปิฎก ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อคำเล่าลือ ไม่เชื่อการคำนวณทางตัดเป็นต้นนี้ มันมีความหมายที่ซ่อนๆๆ อยู่ เราต้องค้นให้พบ ถ้าเชื่อทันทีเป็นการงมงาย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสห้ามนักห้ามหนาว่าแม้แต่ตถาคตพูดนี้ก็อย่าเชื่อคืออย่าเพิ่งเชื่อ ต้องเอาไปพิสูจน์ทดลองจนมองเห็นชัดแล้วจึงเชื่อ ถ้าเชื่อทันทีเรียกว่างมงาย ถ้าเชื่อหลังจากมองเห็นชัดแล้วไม่งมงาย นั่นแหละเป็นความเชื่อของพุทธบริษัท ไม่ให้เชื่ออย่างงมงายไปตามบุคคลหรือตามตำราหรือตามคาดคะเนหรือตามเหตุผลหรือตามคนที่เขาเชื่อกันเป็นส่วนมากนี่ แต่ให้เชื่อการมองเห็นชัดของตนเอง พุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ พวกเราเป็นพุทธบริษัทแต่ก็เป็นอย่างนี้
ทีนี้เราจะมองดูกันแนวหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ เอ่อ,เห็น มองเห็นความสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันอยู่ในๆ ระหว่างระดับของจิตใจ เอ่อ,ของชาวบ้านกับจิตใจของ เอ่อ,พุทธบริษัท ชาวบ้านหมายความว่าไม่เคยเป็นพุทธบริษัท ไม่รู้เรื่องพุทธบริษัทที่แท้จริง เป็นไปตามธรรมเนียม นี่เป็นชาวบ้าน เป็นไปตามบัญชีตามทะเบียนตามเกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นพุทธบริษัทก็เป็นนี่ อย่างนี้เรียกว่ายังเป็นชาวบ้าน ทีนี้ถ้าเป็นเอ่อ,พุทธบริษัท เป็นพระอริยเจ้า เกิดระเบียบขึ้นมาว่าต้องมีความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวได้อย่างถูกต้องเอ่อ,ในระดับที่สูงกว่าชาวบ้าน ทีนี้พระพุทธเจ้าเอ่อ,ท่านตรัสไว้อย่างน่าขบขันว่าในสายตาเอ่อ,ของพระอริยเจ้ากับในสายตาของชาวบ้านนี่มันช่างต่างกันมากมาย เอ่อ,การร้องเพลงนั้น ในสายตาของพระอริยเจ้าหรือในอริยวินัยนั้นคือการร้องไห้ เอ่อ,การเต้นรำฟ้อนรำนั้นคืออาการของคนบ้า การหัวเราะร่วนนั้นคืออาการของเด็กอ่อน พระพุทธภาษิตติกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๑ paragraph ๕๔๗ ไปเปิดดูก็ได้ เอ่อ,ที่เขาแปลไปในหนังสือกามนิตก็มีใจความอย่างนี้ เพี้ยนกันนิดๆ นี่เอาตามตรงที่มีในรูปพุทธภาษิตในพระไตรปิฎกของเราเอง ชาวบ้านคนทั่วไปร้องเพลงสนุกสนานพอใจสรวลเสเฮฮาเหนื่อยก็ไม่รู้สึก ในอริยวินัยพระพุทธเจ้าท่านมองดูในลักษณะในฐานะที่มันเป็นการร้องไห้ เราสังเกตดูคนที่ร้องเพลงตะเบ็งเสียงคอเป็นเอ็นนี่มันมีอาการเหมือนคนร้องไห้ แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือว่ามันทำไปด้วยอารมณ์เหมือนกับการร้องไห้ ทีนี้การฟ้อนรำเต้นรำมันเหมือนอาการของคนบ้า ถ้าเรามองสักนิดเราจะรู้สึกว่าในขณะที่เราลุกขึ้นเต้นรำได้นั้นเราต้องมีความบ้าเกินสิบห้าเปอร์เซ็นต์ มันจึงจะลุกขึ้นเต้นรำได้ เอ่อ,แปลว่าเราพอใจอยู่ด้วยกันทุกคนหรือทุกหนทุกแห่งจึงไม่ถูกหาว่าเป็นอาการของคนบ้า ทีนี้บางคนชอบหัวเราะๆ เป็นเรื่องสนุก แล้วก็หัวเราะมากโดยไม่จำเป็นก็หัวเราะ ให้ถือว่าพระอริยเจ้าหรือในอริยวินัยนี้เอ่อ,จัดไว้ในฐานะเป็นกิริยาอาการของเด็กๆอ่อน เพราะฉะนั้นถ้าหัวเราะให้น้อยลงก็จะดีหรือไม่หัวเราะเลยก็จะยิ่งมีประโยชน์มาก นี้เป็นเครื่องแสดงว่าอริยวินัยกับธรรมเนียมของชาวบ้านนั้นต่างกันอย่างไร การร้องเพลง การเต้นรำ การหัวเราะร่วนนี้ตามธรรมเนียมของชาวบ้านไม่เป็นอะไร เป็นของธรรมดา แต่ในอริยวินัยนั้นมองดูแล้วมัน ท่านสงสาร ท่านๆจัดไว้อย่างนี้ ทีนี้เราก็นึกต่อไปว่าเราควรจะเลื่อนชั้นกันบ้าง เลื่อนชั้นกันเสียบ้าง อย่าๆเป็นชาวบ้านตลอดกาล สมัครมาอยู่ในสังคมเอ่อ,ของพระพุทธเจ้าคือมีความรู้ มีสติปัญญาเพื่อว่าความทุกข์จะได้น้อยลง จะต้องไม่ทำตัวเองให้ลำบากเปล่าๆ เกินความจำเป็น จะได้ผลอย่างนี้ เราจึงเลื่อนจากระดับชาวบ้านมาเป็นพุทธบริษัทอยู่ในอริยวินัย นับเนื่องในอริยชน การมีพระพุทธศาสนานี่พระพุทธเจ้าท่านทรงหวังว่าจะให้เป็นอริยชนมากขึ้น อย่าให้เป็นปุถุชน คือชาวบ้านตามธรรมดาอยู่เรื่อยๆไปตลอดกาล
ทีนี้จะพูดกันถึงเรื่องทาง หนทาง ถ้าท่านถูกถามว่าปฏิบัติอย่างไรเอ่อ,เป็นการปฏิบัติเดินทางอย่างธรรมดา ปฏิบัติอย่างไรเป็นการเดินทางลัดสั้นเร็วที่สุด เราอาจจะตอบได้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งได้ยินได้ฟังกันทั่วไป สัมมาทิฏฐิ มีความคิดเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป มีความดำริใฝ่ฝันชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต มีการกระทำการงานชอบ อาวา วายาโมเลี้ยงชีวิตชอบ สติรำลึกในใจชอบ สมาธิตั้งมั่นจิตใจชอบ แปดๆชอบนี่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มีเป็นลำดับๆ สูงต่ำกว่ากัน แจกเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา มีระเบียบปฏิบัติเป็น...(เวลา52.02) ใหญ่ นี่เราเรียกเดินทางตามธรรมดาสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะเดินทางลัด ไม่ใช่เป็นทางผิด เป็นทางถูก แต่ว่าในระดับธรรมดา ใช้เวลายาว ทีนี้ส่วนทางลัดนั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ เมื่อไม่ยึดเอ่อ,อายตนะทั้งหกและสิ่งที่เนื่องกับอายตนะทั้งหกในโดยความเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อนั้นอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะพร้อมขึ้นมาทันทีทันควันทั้งแปดอย่างเอง นี่ก็เป็นหลักธรรมะพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ข้อแรกจะต้องจำว่าอายตนะ ๖ นั้นคือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และจิตใจ นี่หกเรียกว่าอายตนะ ทีนี้อายตนะหนึ่งๆนั้นมันๆมีห้า เช่นๆพูดถึงเรื่องตานี่ก็จะมีตานี่หนึ่ง แล้วสองก็รูปที่จะมากระทบตา และสามวิญญาณหรือจิตที่จะมารู้เรื่องรูปที่มากระทบที่ตา และการสัมผัสคือกระทบกันระหว่างวิญญาณและตาและรูปนี้เรียกว่าสัมผัส และก็เวทนาที่ห้าจะเกิดขึ้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เพราะการสัมผัสนั้น มีห้าอย่างนี้ ทางตาก็มีห้า ทางหูก็มีห้า ทางจมูกก็มีห้า ทางลิ้นก็มีห้าๆๆ ในแต่ละอย่างนี้มันมีส่วนที่จะให้เผลอไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน มันจะไปยึดวิญญาณหรือจิตที่มารู้เห็นทางตาเพราะเราเห็นรูปได้รู้สึกได้นี่ต้องเป็นตัวตนสิอย่างนี้ ก็ยึดถือจักขุวิญญาณว่าตัวตนก็มี หรือจักขุสัมผัสว่าตัวตนก็มี จักขุสัมผัสสชาเวทนา การรู้สึกสุขทุกข์ หรือรู้สึกทางเอ่อ,สัมผัสทางตาว่าตัวตนก็มี บางทีบางๆเวลาเราไปอร่อยที่ เอ่อ,ไปไพเราะที่หู เราก็ไปยึดจิตที่รู้สึกไพเราะนี้ว่าตัวตน บางทีอร่อยที่ลิ้นก็ไปยึดไอ้ความรู้สึกที่อร่อยทางลิ้น จิตที่รู้สึกได้นี่ว่าเป็นตัวตนนี่ ในหกอายตนะแต่ละอายตนะมีห้าส่วนนี้ รวมเป็นสามสิบส่วนนี้ไปยึดส่วนใดส่วนหนึ่งว่าตัวตนได้ง่ายที่สุดและมากที่สุดในวันหนึ่งๆ พอยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นความทุกข์เป็นความผิดเป็นการจมอยู่ในกองทุกข์ไม่ใช่เป็นการเดินทาง แต่ถ้าไม่ยึดมั่นเพราะเห็นอยู่เสมอว่ามันไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าอายตนะมีองค์ ๘ ในขณะนั้นพร้อม ในขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ คือความคิดเห็นถูกต้อง ในขณะนั้นมีสัมมาสังกัปโปความใฝ่ฝันถูกต้อง มีสัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต การงานถูกต้อง อาชีโวเลี้ยงชีวิตถูกต้อง วายาโมพากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้จึงจะกระทำให้มรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ขึ้นมาทันควัน ทันท่วงที ท่านถือว่าเป็นทางลัด นี่พระพุทธภาษิต อายตะ เอ่อ, สฬายตนวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๔ หน้า ๕๒๓ แสดงทางลัดเร็วที่สุดไว้อย่างนี้ ก็คือเรื่องว่างไม่ยึดถือว่าตัวตนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะทำให้อริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ได้ทันควัน ทันท่วงที ถ้าเราไม่มาเดินทางลัด ถ้าเราเดินตามทางธรรมดา ศึกษาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นั่นเป็นศีล นั่นเป็นสมาธิเป็นปัญญา ปฏิบัติไปตั้งแต่ต้นตามลำดับๆๆ กินเวลานาน นี่เรียกว่าในพุทธศาสนามีทางลัดหรือมีเอ่อ,ทางธรรมดาอย่างนี้
ทีนี้จะพูดถึงเรื่องกรรม ชาวต่างประเทศหลายคนแต่งหนังสือทางพุทธศาสนา แล้วบทที่เขาภูมิใจที่สุดก็คือบทที่ว่าด้วยเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ทั้งนั้น แล้วอธิบายผิดทั้งหมด ผิดทั้งนั้นเลยทุกเล่ม ชาวต่างประเทศเหล่านั้นก็จะอธิบายเรื่องกรรมแต่เพียงว่ากรรมดี ดี กรรมชั่ว ชั่ว ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเพียงเท่านั้น นี่ซึ่งมันเหมือนกันหมดทุกศาสนาไม่ว่าศาสนาไหน มันยังไม่ใช่เรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องการเกิดใหม่นี่ก็เหมือนกัน ไปยืนยันเหมือนจะให้ด้วยตาเห็นว่าคนๆเดียวนั้นไปเกิด นี่มันผิดพระพุทธวจนะซึ่งจะสอนแต่เรื่องไม่มีคนๆ ไม่มีตัวตน ไม่มีคน ที่เรานั่งกันอยู่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีคน เมื่อมันไม่มีคนแล้วอะไรจะตายอะไรจะเกิด ทรงมุ่งสอนแต่ให้รู้เรื่องความไม่มีคนทุกกาลทุกเวลาทุกสถานที่ เพราะฉะนั้นเรื่องเกิดก็เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ พวกแต่งหนังสือเอ่อ,ที่ให้ชื่อว่าพุทธศาสนาและอธิบายเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ผิดหมดอย่างนี้ เรื่องกรรมนี่ขอให้ฟังให้ดี ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสนาแล้วจะต้องพูดถึงเรื่องหมดกรรม ไม่ใช่พูดถึงเรื่องกรรมแล้วไปตามกรรม เพราะนั่นมันๆๆมีทุกศาสนา ทีนี้ถ้าพระพุทธศาสนาจะแปลกออกไปต้องพูดเรื่องหมดกรรม สัพพกัมมักขยัง ปัตโต ถึงแล้วซึ่งความสิ้นแห่งกรรมทั้งปวง ถึงแล้วซึ่งความสิ้นแห่งกรรมทั้งปวง สัพพกัมมักขยัง ปัตโต เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นแห่งกรรมทั้งปวง ในพระพุทธภาษิต เวลา58.04 ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๑ paragraph ที่ ๔๗๓ นี่มีตรัสไว้ว่า กรรมหมดเมื่อราคะ โทสะ โมหะหมด นี่จำตรงนั้น กรรมหมดเมื่อราคะ โทสะ โมหะหมด คือเมื่อกิเลสหมด ถ้าราคะ โทสะ โมหะไม่หมดกรรมไม่หมด ราคะ โทสะ โมหะหมดแม้กรรมเก่าก็หมด กรรมปัจจุบันก็ไม่ได้ทำ กรรมใหม่ข้างหน้าก็ไม่ได้ทำ กรรมหมดกระทั่งอดีตอนาคตปัจจุบัน เมื่อบุคคลหมดราคะ โทสะ โมหะแล้วกรรมหมด ต้องอธิบายอย่างนี้เรื่องกรรมถึงจะเป็นเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจึงเกิดกรรมที่สาม ทั่วไปรู้กันแต่กรรมที่หนึ่งที่สอง กรรมดีกรรมชั่ว กรรมที่สามคือกรรมอะไรยังไม่ทราบ พระพุทธเจ้าท่านเรียกกรรมที่หนึ่งว่ากรรมดำหรือกรรมชั่ว กรรมที่สองคือกรรมขาวหรือกรรมดี และกรรมที่ไม่อาจจะกล่าวว่าดำหรือขาวนี่เป็นที่ระงับกรรมดำกับกรรมขาว กรรมที่สามนี่เป็นเครื่องมือระงับเสียซึ่งกรรมดำและกรรมขาว พระพุทธเจ้าท่านใช้ชื่อกรรมว่าอย่างนี้ ขอให้ได้จำไว้ว่ากรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมไม่ดำไม่ขาวคือกรรมที่สาม นี่กรรมในพระพุทธศาสนา กรรมในหลักพระพุทธศาสนา
ก็ได้กล่าวมาแล้วว่าสิ้นราคะ โทสะ โมหะนั้นคือหมดกรรม เพราะฉะนั้นกรรมที่สามคือการทำให้สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ได้แก่สิ่งที่เราเรียกว่าอริยมรรคนั่นเอง เมื่อเราประพฤติปฏิบัติเต็มที่อยู่ในอริยมรรคในตัวอริยมรรคมีองค์ ๘ เนี่ย ตัวนั้นเป็นกรรมที่สามไม่ดำไม่ขาวแต่จะระงับกรรมดำกรรมขาวให้หมดไป นี่เป็นโลกุตระอยู่เหนือดีเหนือชั่ว นี่กรรมที่สามอย่างนี้พวกฝรั่งไม่เอาไปพูดกันเลยในบทที่ว่าด้วย Kamma Rebirth นั่นจึงถือว่าผิดทั้งๆบท แล้วไม่เป็นพุทธศาสนาด้วย ถ้าจะให้เป็นพระพุทธศาสนาต้องพูดถึงกรรมที่สามคือกรรมที่สามารถทำให้ราคะ โทสะ โมหะหมดไปแล้วกรรมเก่ากรรมดำกรรมขาวพลอยหมดไปทั้งกระบิ แล้วทีนี้จะเอ่อ,จะบอกให้ทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องกรรมอย่างนี้อย่างที่กำลังพูดกรรมที่สามนี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นะยา สะยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปะเวเทสิ เรื่องนี้เรารู้แจ้งเฉพาะด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว บอก คือเรื่องกรรมที่สามที่พิเศษออกไปนี่พระองค์ไม่ได้รับมาแต่ลัทธิไหนหรือศาสนาไหน เป็นสิ่งที่ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเฉพาะของพระองค์เองแล้วสอนสั่ง ท่านควรจะมีว่ากรรมนี่ระบบเรื่องกรรมที่สามนี่คือกรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าแต่งตำราพระพุทธศาสนาเขียนเรื่อง Kamma Rebirth ก็ต้องเขียนให้ถูกอย่างนี้ ก็ขอให้ท่านนักศึกษาสนใจเรื่องกรรมตามแบบของพระพุทธศาสนานี้ไว้ให้มาก ไอ้เรื่องกรรมดีกรรมชั่วนั้นมีในศาสนาทั่วไป พระพุทธศาสนาเราก็มี แล้วก็ยอมรับว่าทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว นี้เหมือนกันหมด แต่ว่าเพียงแต่ทำกรรมดีอย่างเดียวนั้นไม่ดับทุกข์สิ้นเชิงเพราะว่ายังต้องไปหลงใหลยึดมั่นในกรรมดีเหล่านั้น แปลว่ากรรมดีนั้นยังทำให้เวียนว่ายตายเกิดไปในภพที่ดีไม่สิ้นสุดไม่นิพพาน ฉะนั้นจึงมีกรรมของพระพุทธเจ้าที่สอนขึ้นเฉพาะคือกรรมที่สามเป็นที่ระงับกรรมทั้งหลาย สิ้นราคะ โทสะ โมหะแล้วถึงนิพพานเพราะกรรมที่สามนี้ พระพุทธภาษิตที่ตรัสว่าเรื่องกรรมเรารู้เองแล้วสอนนี้ จตุกกนิบาต แล้วก็ อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ หน้า ๓๑๔
ทีนี้อยากจะให้สนใจต่อไปถึงเรื่องที่เห็นว่าควรสนใจอย่างยิ่ง โดยตั้งปัญหาขึ้นมาว่า คนเราต้องได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือจากพระพุทธเจ้าเสมอไปเชียวหรือจึงจะดับทุกข์ได้ นี่มีคนยืนยันหน้าแดงเอ่อ,เสียงแข็งว่าต้องได้ฟังจากพระพุทธเจ้าอย่างเดียวคนเราจึงจะรู้ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าแม้ไม่เคยฟังก็มีส่วนที่จะเดินถูกทางได้เหมือนกัน ไม่เคยฟังแต่พระพุทธเจ้าด้วยการคิดนึกคำนวณ ที่เอ่อ,ศึกษาเรื่อยไป ถึงเหตุเรื่อยไป ปฏิบัติเรื่อยไป มีส่วนที่จะเดินถูกทางอยู่ได้พวกหนึ่งเหมือนกัน อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ paragraph ที่ ๔๖๑ ฉะนั้นเราต้องยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัวในความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าที่ท่านไม่ผูกขาดและท่านไม่ เอ่อ,เหมือนกับยกพระองค์แต่ผู้เดียวผูกขาดแต่ผู้เดียวในเรื่องนี้ นี้เป็นคล้ายๆ จะเป็นข้อปลีกย่อยแต่ก็เป็นข้อสำคัญที่สุด
ทีนี้ก็มีอีกปัญหาถึงเรื่องว่าถ้าเกิดสงสัยขึ้นว่าคำสอนนี้จะเป็นของพระพุทธเจ้าหรือหาไม่ ผิดถูกอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้ว่าให้ทดหยั่งลงสอบดูในสูตรกับเทียบดูในวินัย ทีนี้ก็อยู่ที่ในข้อที่ไม่ให้เชื่อใครหรือว่าเอาคนอื่นเป็นประกัน ถ้าสงสัยว่าไอ้คำกล่าวข้อนี้ที่มีผู้นำมากล่าวแล้วบอกว่าได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าหรือได้ฟังมาจากพระเถระกลุ่มพหุสูตรแปลว่านี้ถูกนี้ปฏิบัติดับทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าท่านว่าต้องพิสูจน์ด้วยอาการสองอย่างคือว่าหยั่งลงสอบดูในสูตร สุตเต โอตาเรตัพพัง สูตรนี่คือระเบียบคำสอนต่างๆ ที่มันมีอยู่เป็นแนวชัดอยู่แล้ว ถ้าคำที่กล่าวนั้นมันเข้าแนวนี้ไม่ได้ก็ต้องตัดทิ้งไป เทียบดูในวินัย วินเย สันทัสเสตัพพัง วินัยมันมีแบบฉบับ เอ่อ,เป็นหลักเป็นแนวอยู่แล้ว แต่คำกล่าวนั้นมันลงแนวกันไม่ได้เข้ากันไม่ได้ก็เปลี่ยนใหม่ก็ปัดทิ้ง อย่าเชื่อโดยภิกษุองค์หนึ่งบอกว่าเขาได้ยินฟังมาจากพระพุทธเจ้า หรือว่าคณะสงฆ์ถือปฏิบัติตามกันมาว่าได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้า หรือหมู่พระเถระผู้ 1.04.59 หมู่หนึ่งปฏิบัติสืบๆกันมาด้วยยืนยันว่าได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้า หรือว่าหมู่คนพหูสูตรหมู่หนึ่งปฏิบัติอยู่สอนอยู่วันนี้จึงได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้า แม้อย่างนี้ก็ยังทรงขอร้องว่าต้องให้ตั้งข้อสงๆๆสัยข้อสังเกตไว้ก่อน ถ้าเขาหยั่งลงดูในสูตรลงได้ไหม เทียบดูในวินัยเข้าได้ไหม นี้เป็นเอ่อ,เครื่องรับประกันที่ว่าแม้ว่าพุทธศาสนาจะอยู่ยืนยาวมาสองพันปี สามพันปี ห้าพันปี กี่พันปีหมื่นปีก็ตาม ถ้าหลักเกณฑ์อันนี้ยังใช้อยู่แล้วก็ๆศาสนาหรือธรรมวินัยนั้นไม่มีทางจะเลิกกันได้ มีประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ นี่เรียกว่าเอ่อ,มหาประเทศ เป็นพระพุทธภาษิตที่วางไว้ให้ใช้ทดสอบในสูตรกับในวินัย ไม่ได้พูดถึงอภิธรรม มีแต่ สุตเต โอตาเรตัพพัง, วินเย สันทัสเสตัพพัง
ทีนี้มาพูดถึงคนมามองๆดูพวกเรากันเองดีกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนสมัยหลังนี้เป็นอย่างไร มีพุทธภาษิตว่าคนเดี๋ยวนี้ เอ่อ,ก็หมายความว่า เอ่อ,ตั้งแต่พุทธกาลมานี่คนชุดใหม่นี่กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม โลภจัดเกินไป มุ่งมิจฉาธรรม นี่อาตมาแปลตามตัวหนังสือพุทธภาษิตในอังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๑ paragraph ๔๙๖ กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม คือกำหนัดรักยินดีชนิดที่ไม่เป็นธรรมคือมีตัวตนจัด ไม่ค่อยมีสติสัมปชัญญะเลย แล้วก็โลภจัดเกินเหตุเกินประมาณ แล้วก็มุ่งมิจฉาธรรมคือธรรมที่ผิดเพราะว่าตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสเสียแล้ว พระพุทธภาษิตนี้ตรัสตั้งสองพันกว่าปีมาแล้วแต่ใช้คำว่าคนสมัยหลังซึ่งต้องหลังจากที่พระองค์สังเกตเห็นกระทั่งถึงสมัยนี้ ทีนี้เราก็มีหน้าที่ที่ว่าดูว่าพวกเราสมัยนี้ในโลก คนในโลกทั้งโลกสมัยนี้กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม โลภจัดเกินไป มุ่งมิจฉาธรรมรึเปล่า ท่านจะเห็นว่าคนสมัยนี้นี่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เอ่อ,ถ้าเป็นอย่างที่ถูกต้องตามแบบของพระพุทธเจ้าแม้จะมีความยินดีในเรื่องรูปรสกลิ่นเสียงบ้างก็ต้องด้วยสติสัมปชัญญะและไม่โลภจัดเกินไป ทีนี้หมายความว่าต้องการเอ่อ,เรื่องรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสนี้เกินจำเป็น เกินจำเป็นๆอย่างยิ่ง คำนี้คำเดียวเป็นมูลเหตุแห่งความวุ่นวายยุ่งยากเดือดร้อนของโลกสมัยปัจจุบัน คือโลภเกินกว่าที่จำเป็น ศาสนาคริสเตียนก็เคยอ่านพบโดยถือว่าผู้ที่แสวงหาเกินความจำเป็นนั้นเป็น sinful คนมีบาป เป็นคนมีบาป ผู้ที่แสวงหาเกินกว่าความจำเป็นนั้นล่ะ เท่านั้นล่ะเอ่อ,จัดเป็นคนบาปแล้ว พวกเรายังจะไม่จัดกระมังเพระว่าเอ่อ,ไม่อยากจะจัดหรือยังคิดว่าไม่เกินอยู่เรื่อยไป ไม่มีอะไรจะเกิน เพราะฉะนั้นต้องพูดกันแต่คนที่ซื่อตรงต่อตัวเอง ในหนังสือทิเบตเล่มหนึ่งดีมากเขาแต่งทำนองอุปมาให้นกทั้งหลายมาประชุมกันแล้วออกความเห็น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปฏิบัติธรรมะอย่างไรจึงจะเป็นสุข นกแต่ละชนิดก็กล่าวไปๆ ตามความรู้สึกของตัว แล้วในที่สุดนกทั้งหลายก็ประชุมกันเป็นมติสุดท้ายว่าพวกเราจะไม่แสวงหาอาหารเกินกว่าความจำเป็น นี่คือยอดๆสุดหรือว่าสรุปความ และขอร้องว่าสมาชิกทั้งหลายอย่าได้แสวงหาอาหารเกินกว่าที่จำเป็น แล้วเรื่องก็จบ น่าจะนึกดูว่าไอ้แสวงหาเกินจำเป็นนี่เป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์แก่ตนเองทรมานตนเอง ถ้าทำให้ผู้อื่นยุ่งยากไปทั้งโลกไปคิดดูก็แล้วกัน ถ้ามุ่งมิจฉาธรรมหมายความว่ารู้อยู่ว่าผิดก็จะเอาทั้งที่ผิด ไม่กลัว ไม่ละอาย เพราะกิเลสมันมากกว่ามันท่วมทับ ทีนี้เมื่อคนอย่างนี้เป็นอย่างนี้เสียแล้วมันก็เลยเรียกว่าปรับกันยากกับหลักธรรมะที่ได้วางไว้สำหรับลักษณะที่ตรงกันข้าม ทีนี้ถ้าเราต้องการจะไม่เป็นทุกข์เราก็ต้องหันหา
ทีนี้เอ่อ,จะพูดกันถึงพระพุทธเจ้าบ้าง เรามีปัญหาตั้งขึ้นว่าพระพุทธองค์ทรงเคารพใคร คำตอบของพระพุทธเจ้าเองว่าเคารพธรรม พระธรรม และเคารพสงฆ์และคณะสงฆ์ที่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่ คณะสงฆ์ๆผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี่เรียกว่าประกอบด้วยคุณอันใหญ่ พระพุทธเจ้าเคารพธรรมและคณะสงฆ์ที่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่ น่านึกอยู่ที่ว่าพระพุทธเจ้าเองก็มีที่เคารพ เคารพธรรมหรือความถูกต้อง แล้วถ้าสมาชิกทั้งหลายประพฤติดีประพฤติชอบเป็นกลุ่มก้อนแล้วพระองค์ก็เคารพ นี่จะนำมาใช้ได้แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเราหรือในโลกนี้ ถ้าแม้บุคคลสูงสุดก็ยังเคารพระเบียบวินัยและหมู่คณะที่ปฏิบัติดีแล้ว จตุกกนิบาต นี่เหมือนกัน อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๑ หน้า ๒๗ ทีนี้เราจะพบพระพุทธองค์ได้ที่ไหน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรมผู้นั้นไม่เห็นตถาคต ผู้ไม่เห็นธรรมแม้จะจับจีวรของตถาคตดึงอยู่ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคต ก็แปลว่าพระพุทธองค์นั้นไม่ใช่อยู่ที่เปลือกที่ร่างกาย แต่อยู่ในคุณธรรมที่มีอยู่ในหัวใจของพระองค์ที่เรียกว่าธรรม เราต้องเห็นส่วนนั้นจึงจะเรียกว่าพบพระพุทธองค์หรือเห็นพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้นเราไหว้พระพุทธรูปก็มองทะลุพระพุทธรูปไปถึงองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นร่างกายที่พระพุทธรูปนั้นแทนอยู่ แล้วเรามองให้ทะลุร่างกายของพระพุทธเจ้าเข้าไปถึงในจิตใจ มองทะลุจิตใจถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ เรามองดูคุณธรรมนั้นในฐานะที่เป็นธรรมะที่สะอาด สว่าง สงบ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นความว่างอย่างยิ่ง นี่จึงจะเรียกว่าพบพระพุทธเจ้า พุทธภาษิตใน อิติวุตตกะ ขุททกนิกาย เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐๐
พระพุทธองค์ยังทรงอยู่เดี๋ยวนี้หรือเปล่า ถ้าเราถูกถามอย่างนี้เราตอบว่าอยู่ โดยพุทธภาษิตว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมะก็ดี วินัยก็ดี ที่ตถาคตบัญญัติแล้วแสดงแล้วนั้นคือพระศาสดาของเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เดี๋ยวนี้เรามีการศึกษาธรรมวินัยปฏิบัติธรรมวินัยได้ผลจากธรรมวินัย เพราะฉะนั้นพระศาสดายังอยู่ ข้อความนี้รู้กันมากมายก็อยู่ในมหาปรินิพพานสูตร สัตว์ควรจะปรินิพพานแล้ว ขอให้สนใจเป็นพิเศษด้วยในฐานะที่ว่าพระศาสดายังอยู่
ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าหมดกรรมหรือเปล่า ทีนี้เราอย่าพลาดอย่าเผลอเอ่อ,ทำให้พระพุทธเจ้าเศร้าหมอง เพราะเอ่อ,เรานี่อาจจะทำพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง แต่คำพูดของเราพูดไปในทำนองทำลายคุณค่าของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะต้องเป็นผู้หมดกรรมเสมอ เพราะว่าสิ้นกิเลสก็คือหมดกรรมอยู่เหนือกรรมโดยประการทั้งปวง และอันนี้เองที่เขาถือเป็นเกียรติ เกียรติคุณที่ระบือลือชาเรียกว่ากิตติศัพท์ พระสมณโคดมเป็นผู้ สัพพกัมมักขยัง ปัตโต ถึงแล้วซึ่งความสิ้นแห่งกรรมทั้งปวง ระบือลือชาไปอย่างนี้จนถึงกับพวกศาสนาอื่นเช่นพราหมณ์พาวรีส่งลูกศิษย์ ๑๖ คน มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ถามปัญหาเพื่อขอความรู้หรือเพื่อทดสอบอะไรก็ตาม เพราะความระบือลือชาไปว่าพระสมณโคดมนั้น สัพพกัมมักขยัง ปัตโต ถึงแล้วซึ่งความสิ้นแห่งกรรม เขานิยมชมชอบในคำๆนี้กันมากในประเทศอินเดียสมัยนั้น ปารายนวรรค สุตตนิบาต เล่ม ๒๕ หน้า ๕๒๕ ระบือคุณธรรมของพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้สิ้นกรรมไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แล้วคนมาสนใจเป็นพิเศษในพระพุทธเจ้าก็เพราะข้อนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องสนใจในเรื่องบทกรรมเอ่อ,ตามอย่างพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ได้ เอ่อ,ทรงอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างไรในวันหนึ่งๆ พระพุทธภาษิตที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองมีว่า ตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร วิหารนี้ก็เขาๆๆคือวิหารธรรมไม่ใช่ตัวโบสถ์วิหาร วิหารแปลว่าธรรมะ เป็นเครื่องอยู่คือความรู้สึกในใจ สุญญตาวิหารคือรู้สึกถึงความว่างจากตัวตนของตนนี้อยู่เสมอ อย่างนี้เรียกว่าสุญญตาวิหาร พระพุทธเจ้าทรงอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร มีความสุข เอ่อ,สบายที่สุดเป็นประจำวัน ท่านตรัสของท่านเองอย่างนี้ ไปหารายละเอียดดูจาก จูฬสุญญตสูตร มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๔ หน้า ๒๒๖ สุญญตาวิหารอยู่ด้วยความรู้สึกว่าสิ่งทั้งปวงว่างจากตัวตน นั่นแหละคือสุญญตา ความว่าง ทำไมจึงถือว่าสิ่งทั้งปวงว่าง หรือว่าโลกนี้ทั้งๆๆทุกๆโลกคือว่าง
ถามว่าทำไมท่านจึงกล่าวว่าโลกนี้ว่าง พวกการชาวต่างศาสนาก็จะถามอย่างนี้ ทั้งที่มันมีทุกอย่างในโลกนี้ มีรูป มีนาม มีอะไรเต็มไปหมด มีผลิตผลต่างๆ อะไรเต็มไปหมด ก็เพราะว่ามันว่างจากตัวตนหรือของตน คือสิ่งที่จะยึดเป็นสาระว่าตัวตนของตนนั้นไม่มีในสิ่งใด ในนาม ในรูป ในผลิตผลต่างๆ ที่เกิดจากนามรูป พระพุทธภาษิตที่เขาเอามาร้อยกรองเอ่อ,ในปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ หน้า ๕๕๑ ว่าการที่เรายืนยันตามหลักพระพุทธศาสนาว่าสิ่งทั้งปวงว่าง ไม่มีความหมายอะไร นอกจากว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนของตน ทีนี้จิตที่มีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่เรียกว่าจิตว่าง ทีนี้ต่อไปไปดูได้ใน สัทธัมมปัชโชติกา สัทธัมมปัชโชติกา ภาค ๑ หน้า ๒๐๗ มีบทว่า ราคะ โทสะ โมเหหิ สุญญตัตตา สุญญโต คำว่าสุญญตานี่ใช้เป็นคุณนามเป็นนามศัพท์อยู่ในรูปว่าสุญญโต เป็นของว่างเพราะว่างจากราคะ โทสะ โมหะ จิตเป็นจิตว่างเพราะว่างจากราคะ โทสะ โมหะ ในขณะใดจิตว่างจากราคะ โทสะ โมหะโดยวิธีใดประการใดเรียกว่าจิตว่างได้ แต่เราควรจะหมายเฉพาะการกระทำที่เรากระทำ เราจะไปเอาว่านอนหลับแล้วมันก็ว่างเหมือนกันอย่างนี้ มันก็ว่างจริงเหมือนกันแต่เราๆ ไม่ได้กระทำ เราไม่ได้ประพฤติกระทำไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เราไม่จัดไว้ในชุดนี้ แต่ถ้าเราได้พยายามอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตว่างจากราคะ โทสะ โมหะแม้ชั่วขณะหนึ่งก็เรียกว่าจิตว่าง แล้วก็ว่างมากขึ้นจนว่างที่สุดนี้ พระอรหันต์ว่างเด็ดขาดถึงที่สุด พระอริยเจ้ารองๆลงมาก็ว่างเป็นส่วนมาก ปุถุชนก็ว่างได้เป็นบางคราว ขณะใดว่างจากราคะ โทสะ โมหะแล้วขณะนั้นไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน นี่เรียกว่าจิตว่าง เป็นคำอธิบายที่ชัดอยู่เอ่อ,อยู่แล้ว
ทีนี้ถ้าว่างถึงที่สุดเรียกว่าอะไร ถ้าว่างถึงที่สุดเรียกว่านิพพาน ภาวะที่ว่างจากตัวตนโดยสิ้นเชิงถึงที่สุดนี้เรียกว่านิพพาน สรุปไว้เอ่อ,ว่า นิพพานัง ปรมัง สูญญัง ผู้ร้อยกรองคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคเอามาใส่ไว้ เรียกว่าเป็นเอ่อ,การเห็นที่ก้าวล่วงสัมมัตตนิยามอย่างหนึ่งทีเดียว นิยามแห่งการสมมติต่างๆ นี้เราก้าวล่วงได้ด้วยการเห็นว่า นิพพานัง ปรมัง สูญญัง นิพพานังคือว่างอย่างยิ่ง หรือว่างอย่างยิ่งนั้นคือนิพพาน พระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ หน้า ๖๓๒ ให้ๆจำไว้ว่าที่สุดของความว่างนั้นเราเรียกว่านิพพาน
ทีนี้นิพพานเป็นอะไร ถ้าเกิดเขาถามอย่างดื้อๆทื่อๆขึ้นมาก็แปลว่า นิพพานเป็นอมตธาตุ ธาตุๆ ธาตุ อมตธาตุ คือเป็นธาตุที่ไม่ตาย ธาตุนอกนั้นเป็นธาตุที่ตาย ไม่ตายก็ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เมื่อว่างจากโมหะก็ไม่มีตัวตน ไม่มีความยึดถือว่าตัวตนจึงไม่ตาย ก็เป็นที่ดับแห่งความตายจึงเรียกว่าอมตธาตุ อมตธาตุนี้เป็นที่ดับแห่งธาตุที่เป็นอมตะจึงได้เรียกว่าอมตธาตุ อังคุตตรนิกาย เอ่อ,นวกนิบาต เล่ม ๒๓
นี่ถ้าว่าคนพอใจในนิพพานจะเรียกความพอใจนั้นว่าอะไร คือเราได้สอนกันว่าไม่ควรจะไปยินดียินร้ายพอใจนั่นพอใจนี่ แต่ถ้าพอใจในนิพพานจะเรียกว่าอะไร มีคำกล่าวว่าพอใจนิพพานเรียกว่าธรรมราคะ มีราคะในธรรม ธรรมนันทิ มีความเพลิดเพลินในธรรม นี่ฟังแล้วน่าตกใจ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำอย่างนี้กับคำว่าธรรม แต่เราต้องเข้าใจว่าธรรมราคะนั้นน่ะไม่ได้หมายถึงลักษณะของรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสทางกามารมณ์ หมายถึงพอใจอย่างยิ่งอย่างที่ชาวบ้านธรรมดาพอใจในกามารมณ์ แต่ในที่นี้พอใจในความว่าง ในความไม่ตายหรือนิพพาน ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราสะดุ้ง กลัว เกลียด ไม่อยากจะเข้าใกล้นิพพาน พอได้ยินชื่อก็สั่นหัว จึงไม่เคยเกิดราคะหรือนันทิในธรรมะหรือในนิพพาน แล้วก็ยกมาให้กามารมณ์รูปเสียงกลิ่นรสนี่หมด ถ้าเมื่อใดมีความพอใจในนิพพานอย่างน้อยเท่าๆกันกับที่พอใจในเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสแล้วก็มันจะยุติธรรม เพราะการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์นี้ก็จะเป็นไปได้ง่าย นี่คำนี้ก็เป็นพระพุทธภาษิตที่ใช้ๆคำอย่างนี้ นวกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๓ หน้า ๔๓๙
ทีนี้ปัญหาควรจะมีขึ้นอย่างยิ่งว่าเราจะนิพพานกันต่อตายแล้วหรือในชาตินี้ที่นี่ พวกสอนตามศาลาวัด อาจารย์ตามศาลาวัดสอนกันแต่เรื่องตายแล้วจึงนิพพานทั้งนั้นแต่ในพระไตรปิฎกกลับหาไม่พบ มีคำกล่าวเช่นว่า สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานอันบุคคลนั้นพึงเห็นเอง เป็นคำกล่าวว่า ทิฏฐธัมมนิพพาน นิพพานในทิฏฐธรรมนี้คือในชาตินี้ นี่เป็นพระพุทธภาษิตอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เล่ม ๒๓ หน้า ๔๗๕ ก็ภาวะที่เป็นความรู้สึกเป็นสุขในขณะแห่งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นี้เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ ทิฏฐธัมมนิพพาน แต่สำหรับข้อนี้เราอาจจะฟังเป็นว่าเป็นเพียงนิพพานชิมลอง คือรสชาติเหมือนกัน ไม่ใช่นิพพานแท้เพราะไม่เด็ดขาด จึงได้ให้ชื่อว่า สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ ทิฏฐธัมมนิพพาน แต่ทีนี้มีคำที่ดีกว่านั้นที่พระพุทธองค์ตรัสแก่พราหมณ์ชาณุสโสณีว่าความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสันทิฏฐิกัง เป็นอกาลิกัง เป็นเอหิปัสสิกัง เป็นโอปนยิกัง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ นี่ล้วนแต่แสดงว่าคนเป็นๆ ได้รู้สึกได้รู้รสไม่จำกัดเวลาและเรียกเพื่อนมาดูได้ นี่แสดงชัดว่าไม่ได้ตายและรู้รสพระนิพพานนั้นด้วยใจ และยังมีคำกล่าวอีกว่า อนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นสิ่งที่บรรลุถึงเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ตรวจดูอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เล่ม ๒๓ หน้า ๗๕ และในน่ะ จูฬตัณหาสังขยสูตร นั้นใช้คำว่า ปรินิพพายติ แก่การสิ้นทุกข์และสิ้นกิเลสโดยที่เบญจขันธ์ไม่ต้องดับไม่ต้องแตกคือไม่ตาย ที่คำว่านิพพานนี้ใช้แก่ความเย็นคือไม่มีร้อนไม่มีทุกข์เป็นภาษาชาวบ้านตามธรรมดา เพราะฉะนั้นอยากจะเอ่อ,ฝากไว้ให้ระลึกถึงความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษของคนไทยเราที่พูดว่านิพพานนั้นมันอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ถ้าท่านทั้งหลายที่นี้ไม่เคยได้ฟังก็ต้องได้ทราบว่าบ้านนอกนั้นเขาเอ่อ,พูดกันเกร่อ ความงามอยู่ที่ซากผี ความดีอยู่ที่สละออกไปไม่รับเข้ามา พระนั้นอยู่ที่ความจริง หรือนิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนตาย นี่ลูกหลานจะฉลาดหรือโง่ก็บรรพบุรุษ จึงขอให้ไปคิดดูถึงคำกล่าวข้อนี้ นิพพานคือตายแล้วก่อนตาย ตายเสร็จแล้วก่อนตาย ร่างกายไม่ต้องตายแต่ตัวตนของตนน่ะที่เป็นอัตวาทุปาทานนั้นหมดแล้ว นี่เรียกว่านิพพาน ผู้นั้นจึงได้รับความสุขอย่างยิ่งเหลือที่จะประมาณได้เพราะเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้เพื่อท่านให้ท่านเข้าใจชัดลงไปอีกจะตั้งปัญหาว่าสัตว์เดรัจฉานนิพพานได้หรือไม่ ในบาลีมัชฌิมนิกาย เล่ม ๑๓ หน้า ๑๗๖ ได้ใช้คำว่า ปรินิพพายติ และคำว่า ปรินิพพุโต นี้แก่สัตว์เดรัจฉานที่ฝึกจนหมดพยศแล้ว เป็นสุนัขเป็นช้างเป็นม้าเป็นอะไรก็ตามที่ฝึกจนหมดพยศของสัตว์เดรัจฉานแล้วใช้คำว่าปรินิพพุโต คำเดียวกับที่ใช้แด่พระอรหันต์คือหมดกิเลส ปรินิพพายติเป็นกิริยา ปรินิพพุโตเป็นคุณ ผู้ดับสนิทแล้ว ผู้เย็นสนิทแล้ว นี่,ภาษาพูดในสมัยนั้นกับภาษาบาลีนี้คำว่าปรินิพพานนี้ใช้อย่างนี้ก็ได้ ถ้าใช้กับคนก็หมายถึงหมดกิเลสที่เป็นพระอรหันต์ ถ้าใช้กับสัตว์เดรัจฉานก็ฝึกจนหมดพยศแล้ว ถ้าใช้กับถ่านไฟเอ่อ,ก็ใช้แก่ถ่านไฟที่เย็นสนิทแล้ว คีบออกมาจากเตาเย็นสนิทแล้ว ถ้าใช้กับข้าวต้มหรือข้าวสวยที่คดออกมาจากหม้อใส่จานวางเย็นๆ แล้ว คำว่าปรินิพพาน เพราะฉะนั้นเป็นคำธรรมดาที่ใช้อยู่ทั่วไปในสิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์ เป็นของดับเย็น เป็นของไม่มีพิษร้าย เพราะฉะนั้นคนควรจะได้รับประโยชน์จากนิพพาน อย่าให้เลวกว่าสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีคำกล่าวอยู่ว่าอย่างนี้ แล้วไม่ควรจะยกไปไว้ให้ต่อเมื่อตายแล้ว นั่นน่ะคือความหลงใหลที่สุด ทำสิ่งที่มีค่าสูงสุดของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมัน นี่ขอได้ศึกษาเอ่อ,ศัพท์หรือคำว่านิพพานว่าปรินิพพานซึ่งเป็นกิริยาว่าปรินิพพุโตนี่เป็นต้นนี้กันเสียใหม่ แล้วจะเกิดความกล้าหาญความเข้มแข็งในการที่จะเข้าไปแตะต้องสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ไม่ถอยหลังกรูดเหมือนที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ พอได้ยินคำว่านิพพานก็ง่วงนอนบ้าง กลัวบ้าง เอ่อ,ไม่สนใจบ้าง เพราะฉะนั้นขอให้นักศึกษาทั้งหลายแม้วัยหนุ่มสาวนี่สนใจคำว่านิพพานคือความหมดพิษร้าย แม้ของความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เรียกได้ว่าเป็นนิพพานชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉานที่ถูกฝึกจนหมดพยศร้ายแล้วเรียกว่าปรินิพพุโต คือเย็น เย็นสนิท เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นคนเย็นสนิทไม่มีอะไรทำให้เร่าร้อน เผาให้เร่าร้อน เราไม่หลงสร้างความร้อนขึ้นมา ได้รับประโยชน์เป็นนิพพานชนิดที่เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน หรือ ทิฏฐธัมมนิพพาน เป็นต้นเป็นอย่างน้อย แล้วก็จะค่อยสูงขึ้นไปเป็นลำดับเอง
ทีนี้อะไรที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดของมนุษย์เรา มีพระพุทธภาษิตว่า นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา แปลว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม บรมธรรมแปลว่าสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ ภาษาศีลธรรมสากลเขาเรียกกันว่า Summum Bonum โดยภาษาละติน the touch of all goodness สิ่งดีที่สุดสูงสุดของมนุษย์ที่จะต้องพบได้ในชาตินี้ใน in this very life คือในชีวิตปัจจุบันนี้ที่เรียก Summum Bonum นักศึกษา เอ่อ,ลงมติเห็นอย่างเดียวกันว่าถ้าจะให้มี Summum Bonum ในพุทธศาสนาแล้วก็คือนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นถ้าฝรั่งถามว่าอะไรเป็น Summum Bonum ของพุทธศาสนาก็ขอให้นักศึกษาทั้งหลายตอบเขาว่า นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม
นี่อาตมาได้ทำลายเวลามากไปจนเลยที่กำหนดไว้ให้จึงต้องขอยุติทั้งที่เรื่องไม่หมด แต่อยากขอสรุปความในที่สุดว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงหัวข้อไม่สู้จะเป็นรายละเอียด โดยฝากไว้กับนักศึกษาผู้เป็นปัญญาชน ถ้าท่านจำหัวข้อเหล่านี้ไว้ได้แล้วเอ่อ,ท่านก็จะเข้าใจพุทธศาสนาได้กว้างขวางทั่วถึงหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอ่อ,สมกับที่เป็นนักศึกษา หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งขึ้นไปอีกก็คือนักศึกษาธรรมศาสตร์ คือศาสตร์อันว่าด้วยธรรม สิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้คือความถูกต้องความจริงความงามความยุติธรรมที่จะเป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์เรา แต่อยู่ในรูปของพุทธศาสนาก็ได้หรือศาสนาอื่นก็ได้ ที่อยู่ในรูปของพุทธศาสนานี้ก็มีหัวข้อหรือมีแนวหรือมีระบอบหรือมีอะไรที่สัมพันธ์กันยากที่จะเอามาได้กล่าวมานี้ หวังว่าจะได้เอาไปคิดนึกพิจารณาเป็นอย่างดี ให้ได้รับประโยชน์เอ่อ,สมตามความมุ่งหมายของการที่จัดให้มีปาฐกถาในวันนี้ และมีความหวังในความสุขความเจริญความก้าวหน้าของกลุ่มพุทธศาสน์ตลอดกาลนาน อาตมาขอยุติเอ่อ,คำบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้