แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ และท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ตามคำขอร้องของท่านให้ พูดธรรมะเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ธรรมะที่มันเกี่ยวกับชีวิต ขอทำความเข้าใจกันในข้อนี้ก่อนว่า ธรรมะที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตนั้นไม่มี ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วก็จะต้องเกี่ยวกับชีวิตไม่แง่ใดก็แง่หนึ่งเสมอไป เนื่องจากเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะยังน้อยไป จึงมองเห็นว่าในบางแง่บางมุมจะไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเลย นี่แหละคือข้อที่อยากจะปรับความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าธรรมะ แม้จะเป็นเรื่องที่พูดซ้ำๆ ซากๆ จากที่เคยพูดมาแล้ว แต่หลายคนก็เคยได้ยินได้ฟังแล้วมันก็ยังจำเป็นอยู่นั่นเองที่จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะกันบ่อยๆ เพราะว่าคำว่าธรรมะนี่มีความหมายหลายระดับหลายแขนงหลายทิศทางก็ได้ คำว่าธรรมที่เป็นภาษาบาลีนี่ถอดมาเป็นภาษาไทยก็ยังคงเรียกว่าธรรม มันเป็นคำที่ประหลาดที่สุด คือหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร เป็นเรื่องรูป เรื่องวัตถุทางกายก็ได้ เป็นเรื่องทางนามธรรม ทางจิต ทางวิญญาณ ทางไอ้ภาวะที่เป็นนามธรรมใดๆ ก็ได้ คำว่าธรรมจึงหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ตั้งแต่ต่ำที่สุด เช่น ขี้ฝุ่น เรื่องสูงที่สุด คือพระนิพพานนี่ ตรงนั้นมีกันกี่ร้อย กี่หมื่น กี่พัน กี่แสน กี่ล้านชนิด ก็รวมหมดนั้นก็ยังคงเรียกว่าธรรม คือธรรมชาติ คือสิ่งที่เป็นอยู่เอง เป็นไปได้เอง สิ่งที่มีเหตุปัจจัยมันก็เป็นอยู่เองตามเหตุปัจจัย สิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมันก็เป็นอยู่เองโดยความไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย นี่แหละคือความที่มันแปลกสำหรับคำว่าธรรม เราไม่มีการยกเว้นอะไรสิ่งใดที่ไม่เรียกว่าธรรม แม้ว่าจะถูกจัดเป็นสิ่งที่ดี จัดเป็นสิ่งที่ไม่ดี และเป็นสิ่งที่จัดไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี มันก็มี ๓ พวกนี้ล้วนแต่เรียกว่าธรรมทั้งนั้น ทีนี้ที่เราพูดกันโดยมากเมื่อพูดถึงคำว่าธรรม ธรรมนี่เราหมายถึงสิ่งที่ดี เฉพาะที่มันดีที่มันมีประโยชน์ ที่ควรประพฤติปฏิบัติ ที่ควรศึกษาเล่าเรียน เรียนเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ นี่คือธรรมที่เราหมายถึงกันตามคำพูดธรรมดาสามัญว่าธรรมหรือพระธรรม นี่ก็เลือกคัดเอามาแต่ที่จะเป็นประโยชน์คือดับทุกข์ได้ไม่ใช่ทั้งหมด คือไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าธรรม เอามาแต่สิ่งที่จะใช้เป็นประโยชน์จำเป็นสำหรับมนุษย์ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ว่า ไอ้ธรรมะทั้งหมดที่ตรัสรู้นั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่าทั้งดงทั้งโลก ที่เอามาสอนนั้นเฉพาะนั้นเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คุณลองคำนวณดูเถอะว่า ใบไม้กำมือเดียวกับใบไม้ทั้งวัดนี้ ไม่ต้องทั้งโลก ใบไม้ทั้งวัดนี้ มันต่างกันสักเท่าไร ธรรมที่ตรัสรู้เหมือนกับใบไม้ทั้งป่า ธรรมที่นำมาสอนสัตว์นี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือเฉพาะสิ่งที่จะดับทุกข์ เรียกว่าอาทิพรหมจรรย์ เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ คำว่าพรหมจรรย์นี้คือการประพฤติที่ประเสริฐที่มันดับทุกข์ได้ ท่านสอน อาทิพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นของการประพฤติเพื่อให้ดับทุกข์ได้ นี่เราเรียกว่าธรรม
ทีนี้ทำไมจึงกล่าวว่าขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วมันก็เกี่ยวกับชีวิตไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง ก็เพราะว่าไอ้ความทุกข์มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับชีวิต ธรรมมันก็เพื่อดับทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่มีเพื่ออย่างอื่นเลย จึงเกี่ยวเนื่องกับชีวิต ไอ้ธรรมที่เป็นตัวความทุกข์นั้นมันก็ยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับชีวิต ดูให้ดี ไอ้ธรรมคือสิ่งที่มันเกี่ยวกันอยู่กับความทุกข์ หรือเป็นตัวความทุกข์ มันก็ยังเรียกว่าธรรม ธรรมที่เป็นทุกข์ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ มันก็ยังเกี่ยวกับชีวิตคน เพราะว่าไอ้ความทุกข์นั้นมันอยู่ที่ชีวิตคน หรือสิ่งที่มีชีวิตก็แล้วกัน สัตว์เดรัจฉานก็มีชีวิต ดังนั้นชีวิตของมันก็เกี่ยวกับความทุกข์ ต้นไม้นี่มันก็มีชีวิต มันก็ต้องเกี่ยวกับความทุกข์แต่ว่ามันเห็นยาก มันดูยาก มันเข้าใจยาก เพราะต้นไม้มันเคลื่อนไหวไม่ได้ มันแสดงการเคลื่อนไหวไม่ได้ เราจึงดูคล้ายๆ กับว่ามันไม่มีความทุกข์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นต้องมีความรู้สึกทั้งนั้นแหละ เมื่อมีความรู้สึกได้มันก็ต้องมีส่วนที่จะมีความทุกข์ ต้นไม้นี้รู้สึกได้เหมือนกับมีจิตใจชั้นต่ำที่สุด มีวิญญาณชั้นต่ำที่สุด จนดูเกือบจะไม่ค่อยเห็น จึงมีคนบางพวกหรืออาจารย์บางคณะเขาบัญญัติกันว่า ต้นไม้ไม่มีชีวิตก็มี หรือว่าต้นไม้มีชีวิต แต่ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ อย่างนี้ก็มี แล้วก็เชื่อถือกันอยู่มาก นี่มันก็น่าประหลาดที่ว่า มันมีชีวิต แต่ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ เพราะเขาให้ความหมายแก่คำว่าจิต ว่าวิญญาณ นั้นมันดีเกินไป สูงเกินไป จนต้นไม้ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ ไม่มีความรู้สึก เราควรจะถือเป็นหลักว่า ถ้ามันมีชีวิตต้องมีความรู้สึก มีความรู้สึกได้เพราะมันมีวิญญาณ แต่มันก็น้อยเหลือเกินเมื่อมาเทียบกับมนุษย์เรา
เป็นอันว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องความทุกข์ และก็มีแต่สิ่งที่มีชีวิต ดังนั้นเรื่องดับทุกข์ก็จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตทุกชนิดทุกระดับทุกแขนง ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าต้นไม้ มันดิ้นรนเพื่อจะไม่มีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่มนุษย์นี่มันแปลกที่ว่ามันมีการเคลื่อนไหว มีสติปัญญา มีอะไรแสดงได้มาก แสดงความรู้สึกได้มาก ถ่ายทอดความรู้สึกได้มาก มันก็เป็นเรื่องมาก ไอ้มากๆ นี่มันก็มาอยู่ที่มนุษย์ ดังนั้นธรรมะก็เพื่อจะดับทุกข์ ชีวิตนี้เนื่องกันอยู่กับความทุกข์ ดังนั้นธรรมะจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตในทุกกรณีหรือเต็มไปหมด เป็นอันว่าถ้าเราพูดถึงธรรมะ มันก็จะเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เป็นปัญหาของมนุษย์นะ หรือของสิ่งที่มีชีวิตโดยทั่วไป ขอให้มองเห็นโดยกว้างๆ อย่างนี้ไว้จะง่ายในการที่จะศึกษาธรรมะ ธรรมะในพระพุทธศาสนามันก็มีเท่าที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เราบัญญัติเฉพาะเรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี่คำตรัสของพระพุทธเจ้ามีแต่ ๒ เรื่องเท่านั้นตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้เองนะ ทรงยืนยันไว้เองว่า เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่ได้พูด ไม่ต้องการจะพูด หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องเอามาพูด แม้ว่ารู้ คือในข้อที่ว่าท่านว่าท่านรู้เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่มาสอนเพียงใบไม้กำมือเดียว มันก็คือเรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ ไอ้ความดับทุกข์ มันก็คือวิธีการดับทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ตามความจริงของธรรมชาติ เพื่อให้แต่ละคนหมดทุกข์ ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าเพียงเท่านั้นไม่พอ ต้องให้เพื่อนกันทุกคนดับทุกข์หรือไม่มีทุกข์ด้วย ก็ลองคิดดูเถอะว่าเราจะสบายอยู่ได้คนเดียวอย่างไร ในเมื่อคนทุกคนมันยังทนทุกข์ทรมานอยู่รอบด้านนี่ มันเป็นไปไม่ได้ จึงมีหลักว่าดับทุกข์ได้ด้วยกัน ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็ไม่เป็นทุกข์ ทำให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องช่วยกัน ดังนั้นการดับทุกข์ของตนเองหรือการช่วยผู้อื่นให้ดับทุกข์ก็เป็นธรรมะไปหมด กลายเป็นธรรมะไปหมด ธรรมะเป็นระบบของธรรมชาติมีอยู่ ๔ ความหมาย ขอให้ช่วยกันจำไว้ให้ดีๆ เพื่อความง่ายในการที่จะศึกษาธรรมะสืบต่อไป ธรรมะ ๔ ความหมายคือ ธรรมะอันได้แก่ตัวธรรมชาตินั่นเอง ธรรมะอันได้แก่ตัวกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ธรรมะคือหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากหน้าที่ ถ้าท่านสนใจจะศึกษาธรรมะกันจริงๆ แล้วช่วยจำคำ ๔ คำนี้ไว้ให้ดีๆ เพราะตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลที่ออกมาจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นคำว่าธรรมจะมารวมอยู่ที่นี่หมด ไม่มีอะไรนอกไปจากความหมายทั้ง ๔ นี้ ทีนี้การดับทุกข์นั้นก็คือการทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ในส่วนที่จะดับทุกข์ให้สิ้นไป ธรรมะคือวิธีการดับทุกข์ นี่พูดสั้นๆ ของสิ่งที่รู้สึกเป็นทุกข์ ถ้าไม่รู้สึกเป็นทุกข์ มันก็ไม่ต้องการดับทุกข์ มันก็ไม่ต้องการธรรมะ นี้สิ่งที่มันรู้สึกได้และรู้สึกเป็นทุกข์ มันก็ต้องการธรรมะ
บทที่เขาใช้เป็นบทนิยามของธรรมะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงกว้างในนักศึกษา ในวงนักศึกษาของชาวโลกนี่เขาบัญญัติกันว่าธรรมะคือระบบการปฏิบัติ นี่สังเกตดูให้ดีๆ นะ ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ การปฏิบัติที่เป็นระบบที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเขา ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ระบบปฏิบัตินี่หมายความว่าไม่ใช่เล่าเรียนเฉยๆ ต้องปฏิบัติด้วย ไม่ใช่จดไว้ในสมุด ธรรมะที่จดไว้ในสมุดไม่ใช่ธรรมะในที่นี้ เพราะว่าธรรมะในที่นี้เขาหมายถึงระบบแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเขาเป็นมนุษย์ ต้องถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ตายตัว มันเลื่อนเรื่อย มันเปลี่ยนเรื่อย เป็นระดับๆ ไปนั้น จึงต้องถูกต้องทุกขั้นทุกตอนทุกระดับแห่งวิวัฒนาการของเขา ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่จนกว่าจะเข้าโลง ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น นี่คือความดับทุกข์สิ้นเชิงน่าเลื่อมใสน่าสนใจ เพื่อถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการนี่ มันมีความหมายกว้างออกไปถึงว่า ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับความทุกข์ แม้ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความทุกข์ จะเกี่ยวกับความสุขหรือความเจริญใดๆ ที่มันยังจะต้องมีออกไปอีกต่อไปล่ะก็ มันก็รวมอยู่ในคำนี้เหมือนกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นความดับทุกข์ด้วยเหมือนกัน เราเลยเอาใจความกันสั้นๆ ว่าไอ้ระบบดับทุกข์คือธรรมะ ดังนั้นมันจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตอยู่ในตัว เพราะความทุกข์มันอยู่ที่สิ่งที่มีชีวิต นับตั้งแต่ความทุกข์ใหญ่หลวง ความทุกข์กลางๆ ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ความทุกข์ละเอียดถี่ยิบ ที่จะมีอยู่ในความทุกข์ ที่ยังมีอยู่ในรูปของความทุกข์ ที่มนุษย์เราเรียกบางอย่างว่าความสุข แต่ในทางธรรมะชั้นสูงสุดเขาเรียกว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไอ้ที่เราเรียกกันว่าความสุขๆ ดูให้ดีเถอะ มันเป็นของไม่เที่ยง มันก็เปลี่ยนแปลง มันก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ มันเป็นอนัตตา มันเป็นเรื่องของการที่ต้องต่อสู้หรือทนทรมาน เรามีความสุขไม่ใช่เราอยู่อย่างสงบหรือว่าง เราต้องต่อสู้หรือต้องแบกความสุข ต้องดื่มความสุข ต้องกระวนกระวายเพราะความสุข ต้องรัก ต้องหึง ต้องหวง ต้องหวาดกลัวระแวงเกี่ยวกับความสุข ดังนั้นในชั้นลึกเขาก็ไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นความสุข มันยังเหลือแต่ปัญหาหรือความทุกข์กับความดับทุกข์นั้นเสีย นี่ควรจะตั้งข้อสังเกตไว้ด้วย ในหมู่ชาวบ้านชาวโลกธรรมดาเท่านั้นแหละที่จะมีคำว่าความสุขใช้พูดกัน ถ้าในระดับธรรมะสูงสุดแล้วมันมีแต่ความทุกข์กับความดับแห่งความทุกข์ ความสุขไม่มี มีแต่ความทุกข์กับความดับแห่งความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์สมมติเอาเองเถอะว่ามันเป็นความสุข เมื่อเราไม่มีความทุกข์เลยและให้สมมติเอาว่าเป็นความสุข แต่ไม่ใช่ความสุขอย่างที่เรากำลังรู้จัก เช่น มีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีวัตถุสิ่งของอำนวยความสะดวกสบาย ความรักใคร่ ความอะไรต่างๆ ไอ้ความสุขชนิดนี้ทางธรรมะชั้นสูงไม่ได้ถือว่าเป็นความสุข มันเป็นของปรุงแต่งมีเหตุมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย ใครเข้าไปหมายมั่นเอาว่าเป็นของเรามันจะกัดเอา นี่ระวังให้ดีไอ้ความสุขชนิดนี้ไปยึดถือไปหมายมั่นแล้วมันจะกัดเอา ถ้าเราไปยึดมั่นหลงรักในสิ่งใดสิ่งนั้นมันจะกัดเอา จึงเรียกว่าไม่มีสิ่งที่ควรจะยึดถือว่าเป็นความสุข ในโลกธรรมดานี้มีแต่ความทุกข์ ทีนี้เมื่อมันไม่มีความทุกข์อย่างนี้เลย ก็จะมีความสุขชนิดอื่น ซึ่งไม่ใช่ความสุขอย่างที่เรารู้จักกันที่นี่ นั่นก็เรียกว่าความสุขชั้นพระนิพพาน แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เรียกมันว่าความสุข เว้นไว้แต่จะพูดกับคนธรรมดาสามัญจะเรียกว่าความสุข แต่เมื่อท่านพูดตามภาษาของท่านระดับภาษาของพระอริยะเจ้าแล้วก็พูดว่า ที่สุดแห่งความทุกข์คือดับทุกข์ ดังนั้นจึงมีแต่ความทุกข์กับความดับทุกข์ สมตามที่พระองค์ตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติเฉพาะเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น นี่พระพุทธภาษิตว่าอย่างนี้เป็นว่าธรรมะคือเรื่องความดับทุกข์ สรุปได้เท่านี้ เนื่องอยู่กับชีวิต เพราะว่าชีวิตจะเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ แม้ขณะที่เขาอวดว่าเขามีความสุข นั่นคือความทุกข์ที่ปลอมตัวมาหลอกให้หลงยึดถือหลงรัก แล้วก็มีปัญหามากที่มนุษย์ไปหลงรักความสุขชนิดนี้ มีปัญหาอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะมันไม่ได้เป็นความสุข มันเป็นความทุกข์ที่แฝงอยู่ในรูปหนึ่งจนคนหลงว่าเป็นความสุข
เอ้า, ทีนี้ข้อต่อไปที่เราจะต้องดูกันก็คือว่า เรามีความทุกข์หรือไม่ ให้ทุกคนดูตัวเอง ถามตัวเอง ว่ามีความทุกข์หรือไม่ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็เชิญกลับ ไม่มีเรื่องที่ต้องมาที่นี่ ถ้าไม่มีความทุกข์นะก็ไม่จำเป็นจะต้องมาที่นี่ เพราะว่าพูดธรรมะ พูดธรรมะมันไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องดับทุกข์ ดังนั้นถ้าใครไม่มีความทุกข์ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาที่นี่ หรือว่าจะต้องมาหาธรรมะ มาหาพระศาสนา มาบวช มาเรียน มาอะไรก็ตามเถอะ ไม่จำเป็นถ้าไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้กำลังมีปัญหาใหญ่ในโลกตรงที่ว่า คนส่วนมากในโลกเขาไม่รู้สึกว่าเขามีความทุกข์ มันเป็นทุกข์สมัครเล่น เข้าใจว่ามีอยู่มากแหละ ทุกข์สมัครเล่น มานั่งอยู่ที่นี่ก็เหมือนกันแหละ ไม่มีความทุกข์ ไม่รู้สึกว่าเราเป็นทุกข์ ก็สมัครเล่น สมัครเป็นทุกข์เพื่อจะมาฟังเทศน์ อย่างนี้มันยังไม่ตรงเรื่อง เคยสนทนากับพวกฝรั่งที่เขามาๆ กันที่นี่ ถามว่ามีความทุกข์ไหม สั่นหัวกัน ไม่มีความทุกข์หรอก เขาไม่มีความทุกข์เลย เขามาเที่ยวทั่วโลก เขามาหาอะไรก็ไม่ทราบ ถามว่าคุณมาศึกษาพุทธศาสนาทำไมถ้าไม่มีความทุกข์ เขาว่าศึกษาเผื่อๆ เผื่อมันจะดี หรือเป็นความรู้รอบตัว นี่เข้าใจว่าฝรั่งที่ไม่ได้มาที่นี่ก็จะอย่างนี้เหมือนกัน แล้วคิดดูจะทำอย่างไรดี เมื่อคนในโลกมันไม่มีความทุกข์นี่จะมาศึกษาธรรมะทำไมกัน เพราะไอ้เรื่องธรรมะนี่มันเรื่องดับทุกข์นี่ ถ้าไม่มีความทุกข์เสียแล้วก็ไม่ต้องพูดกัน เอ้า, ทีนี้ก็ดูไปว่าเรามีความทุกข์โดยที่เราไม่รู้จักว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะ ว่าเป็นความทุกข์นี้จะได้หรือไม่ ทุกคนลองถามตัวเองว่า เราอาจจะมีความทุกข์อยู่โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีความทุกข์ ถ้าว่ามันมีอยู่เราจะได้ค้นหาให้พบ แล้วก็จะได้จัดการแก้ไขป้องกันไปตามเรื่อง ถ้าเปรียบแล้วมันก็เหมือนกับโรคภัยบางอย่าง โรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง อย่างเราเป็นมะเร็งอยู่ภายใน เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เป็นทุกข์ และก็ไม่พูดว่าเราเป็นโรคมะเร็ง เราเป็นวัณโรค เราเป็นโรคร้ายๆ อย่างอื่นๆ อีก ที่มันไม่แสดงอะไรออกมาเดี๋ยวนี้นะ เราก็ไม่รู้สึกว่าเราเป็นโรค ไม่ยอมรับว่าเราเป็นโรค เราก็ไม่ต้องการจะหาหมอให้รักษาโรค อย่างนี้มันมีไหม ถ้าอย่างนี้มันมีอยู่ แล้วก็ขอให้เอามาเปรียบดูกับไอ้เรื่องความทุกข์นี่ เราอาจจะมีความทุกข์โดยที่เราไม่รู้ ไม่รู้จัก เหมือนกับเด็กทารกเกิดมาแต่เล็กน้อยๆ ยังเป็นเด็กทารกก็จะไม่ค่อยรู้ว่ามีความทุกข์อะไร บางทีเขาเจ็บปวดจนร้องไห้ เขาก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นความทุกข์ด้วยซ้ำไป คนแก่ๆ นี่มันยึดถือเก่ง ไอ้เด็กๆ ไม่รู้จักยึดถืออะไรมากมายนัก เดี๋ยวนี้เรามันก็เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าหรือว่าเป็นอย่างนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่รู้จักความทุกข์ ไม่ยอมรับเรื่องความทุกข์ จะเอาแต่ที่ต้องการ ต้องการอย่างไรก็จะเอาแต่อย่างนั้น ไม่สนใจเรื่องทุกข์หรือไม่ทุกข์ มันก็ไม่รู้ด้วยว่าไอ้ความต้องการที่มันไม่ถูกต้องกับเรื่องกับราวนั่นแหละเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ในส่วนลึกของจิตใจ เจ็บปวดที่ร่างกายเล็กๆ น้อยๆ นี่ไม่ใช่ความทุกข์อะไรนัก มันเป็นความเจ็บปวด แต่ถ้าเราไปเอาความเจ็บปวดนั้นมาเป็นของเรา ก็เป็นความเจ็บปวดแก่เรา เราจะตายเพราะความเจ็บปวดนั้นนั่นแหละ เราจึงจะมีความทุกข์ นี่เราสังเกตดูให้ดีว่ามันมีเป็น ๒ ชั้นอยู่ ถ้าไม่ยึดถือเป็นของเรา เราก็ไม่กลัว แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ความเจ็บก็ดี ความตายก็ดี ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นของเรา เป็นแก่เรา เราก็ไม่ต้องกลัวความเจ็บ ความตาย แต่เดี๋ยวนี้มันยึดถือเป็นของเราขึ้นมาตลอดเวลาโดยไม่เจตนา มันก็รู้สึกได้เองว่า ความเจ็บของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา เราก็กลัวๆ เพราะกลัวเราจะตาย เราไม่อยากตาย มันก็เป็นความทุกข์เพราะกลัวตาย หรือเพราะไม่อยากจะให้เป็นอย่างที่เราไม่ต้องการจะเป็น ดังนั้นถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ต้องมีความทุกข์ ตั้งแต่ว่าเราไม่มีเงินจะใช้ เรายากจน นี่มันก็ต้องยึดเอาความยากจนว่าเป็นของเรา แล้วก็ยึดหน้าตาเกียรติยศของเรา เราก็ละอายเพื่อน อย่างนี้เราก็เป็นทุกข์ ถ้ายากจนก็เฉยๆ ไม่เอามายึดถือ มันก็ไม่เป็นความทุกข์อะไรนัก มันจะลำบากบ้างก็ต่อเมื่อไม่มีอะไรจะกิน แต่ที่มันเป็นความทุกข์กว่านั้นก็เพราะเอามายึดถือให้เกิดความหมายมาก แล้วก็เป็นทุกข์มาก เรารู้จักทำจิตใจอย่าให้มันเป็นทุกข์ได้ ไม่เอามายึดถือให้เป็นทุกข์ เกิดอะไรขึ้นก็แก้ไขต่อสู้ไปตามเรื่องโดยที่จิตใจไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่เราเป็นทุกข์ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์เสียก็มาก เมื่อไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ แต่มีความต้องการอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อสนองความใคร่ของกิเลสตัณหา แล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ทีนี้เรายังมีการกลบเกลื่อนความทุกข์ เราหาวิธีกลบเกลื่อนความทุกข์ กำลังมีสิ่งกลบเกลื่อนความทุกข์ ที่เป็นเรื่องทางวัตถุก็กลบเกลื่อนกันด้วยยาเสพติด จนยาเสพติดนี่กลายเป็นของประเสริฐไปเสีย เพราะว่าคนมันใช้กลบเกลื่อนความทุกข์ ความจริงเขาก็ไม่อยากจะเป็นทาสของยาเสพติดหรอก แต่เขาได้ใช้มันกลบเกลื่อนความทุกข์จนเป็นที่พอใจของเขา ด้วยความโง่เขลาของเขา เขาจึงใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกลบเกลื่อนความทุกข์ ไม่มาจัดการแก้ไขดับทุกข์ให้ถูกให้ตรงตามเรื่องของพระธรรม เขาก็ใช้ยาเสพติดกลบเกลื่อนความทุกข์ กลัวตายขึ้นมาก็สูบ หรือกิน หรือดื่มยาหรือเหล้า หรืออะไรก็สุดแท้ กลบเกลื่อนความทุกข์ เป็นทุกข์อย่างใดขึ้นมาก็ใช้ของเสพติดดื่ม กิน สูบ ทา ฉีด เพื่อจะกลบเกลื่อนความทุกข์ เดี๋ยวนี้มนุษย์หันไปในทางที่จะมีสิ่งกลบเกลื่อนความทุกข์มากกว่าที่จะสนใจว่าเราจะดับทุกข์ตรงๆ ด้วยธรรมะ นี่ธรรมะจึงไม่เจริญในโลกของมนุษย์ปัจจุบันที่ไม่รู้สึกว่ามีทุกข์ ล้วนแต่รู้สึกว่าไม่มีทุกข์ ถ้าจะมีทุกข์อะไรบ้างฉันก็มีสิ่งกลบเกลื่อน โดยเฉพาะพวกฝรั่งที่เขาเจริญแล้ว เขาหวังที่จะกลบเกลื่อนด้วยวิธีอะไรต่างๆ ของเขามากมาย ดังนั้นเขาจึงไม่สนใจเรื่องความทุกข์หรือดับความทุกข์ตามหลักของธรรมะหรือศาสนา เพราะฉะนั้นธรรมะหรือศาสนาก็ถูกละเลยเฉยเมยทอดทิ้ง จนกระทั่งมันค่อยๆ เลือนไปไม่ค่อยมาอยู่ในความสนใจ แล้วก็คนก็ได้เป็นทุกข์กันอย่างบ้าหลัง ทุกข์กันอย่างไม่รู้สึกตัว ทุกข์อย่างโง่เขลา ทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์อย่างแรง โดยไม่ต้องรู้สึกตัว นี่ก็แก้ไขไม่ได้ เพราะมันไม่ยอมรับว่าเป็นทุกข์หรือมีทุกข์หรือจะต้องดับทุกข์ แต่มันจะดิ้นรนหาทางออกด้วยการกลบเกลื่อน ก็เลยได้แย่งชิงสิ่งที่จะกลบเกลื่อนความทุกข์ นี่กำลังมีอยู่ในโลกอย่างนี้ บางคนก็จะตั้งความคิดขึ้นมาใหม่ว่าเราไม่รู้ไม่ชี้กับมันเสียก็แล้วกัน ทนไม่รู้ไม่ชี้ ก็ทำไปอย่างนั้นแหละ คล้ายๆ กับมีชีวิตขอไปทีวันหนึ่งๆ อย่างนี้ก็มี เขาก็ไม่แสวงหาธรรมะที่จะดับทุกข์ เมื่อมันมีอยู่อย่างนี้ ไอ้ความจริงแท้มันเป็นอย่างไร ไอ้ความจริงแท้ชั้นนอกมันก็มีอยู่อย่างนี้ คือเขาไม่รู้สึกเป็นทุกข์ เขากลบเกลื่อนความทุกข์ เขาทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ได้ นี่ก็ไม่สนใจธรรมะกันมาก คนในประเทศไทยนี่คุณลองคิดดูว่าสนใจธรรมะกันสักกี่เปอร์เซ็นต์ อาตมาคิดว่าสัก ๒๐ เปอร์เซ็นต์จะไม่ค่อยได้กระมัง แต่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์นั้นเขาไม่สนใจธรรมะ เพราะมันอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่ความจริงมันเป็นอย่างไร เขาอยู่ในฐานะที่ควรจะสนใจและควรจะดับทุกข์ได้ แต่เขาไม่สนใจ ใครจะไปทำอะไรเขาเล่า เดี๋ยวนี้พวกที่สนใจธรรมะจริงๆ อยากจะรู้ อยากจะปฏิบัติ นี่มันก็มีอยู่ แล้วก็พูดกันได้เฉพาะกับคนพวกนี้ ดังนั้นในเรื่องที่จะพูดกันต่อไปอีกก็จะต้องเป็นเรื่องความทุกข์นั่นเอง อย่าให้ความทุกข์มันหลอกเราได้ ถ้ามีความทุกข์ก็ให้เป็นความทุกข์ให้รู้จักความทุกข์ แล้วมันควรจะมาดูกันเสียใหม่ เหมือนให้หมอช่วยตรวจดูว่าเรากำลังเป็นโรคมะเร็ง โรควัณโรค โรคอะไรที่ร้ายๆ หรือไม่ทั้งที่เราไม่รู้สึกเลย เพื่อหมอเขาจะได้ช่วยตรวจ เขาพบแล้วก็จะได้มีแผนการที่จะแก้ไขรักษามันเสีย ถ้าเรามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าในอันดับแรกนี่ก็เท่ากับว่ามาดูว่า เราเป็นทุกข์หรือไม่โดยแท้จริงเหมือนกับให้หมอตรวจ อาตมาก็จะพูดในส่วนนี้คือส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ฝ่ายที่เรียกว่าความทุกข์ เพราะพระองค์ตรัสว่า ฉันพูดบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ๒ ฝ่ายเท่านั้น ทีนี้ดูกันฝ่ายแรกก่อนที่ว่า มันเป็นความทุกข์ เผื่อว่าคุณจะพบบ้างกระมัง พบความทุกข์โดยอาศัยหลักของพระพุทธเจ้า ความทุกข์ถ้าดูกันโดย ทั่วๆ ไปก็จัดได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ หรือธรรมชาติมันเป็นต้นเหตุ นี่ประเภทหนึ่ง อีกประเภทหนึ่งเพราะว่ากิเลสหรืออวิชชาของเราเอง
ประเภทแรกที่ว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติตามธรรมชาติโดยธรรมชาตินั้น มันก็ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ทุกคนก็คลอดมามันก็เข้ามาสู่วงของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่ทุกวัน นี่มันเป็นตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ภายในเราในตัวเรา มีความเกิด ความแก่ ความตาย และอะไรๆ อีกหลายอย่างที่มันเกี่ยวอยู่กับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีอยู่ในตัวร่างกายจิตใจนั้นเอง ตลอดถึงความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความรู้สึกทางเพศระหว่างเพศที่มันรบกวนนี่ มันยังไม่จัดเป็นกิเลสนะ คุณอย่าเพิ่งมองเป็นกิเลสก่อน ความรู้สึกทางเพศเกี่ยวกับหญิงกับชายนี่ที่มันเกิดตามธรรมชาติของมัน เมื่อถึงอายุถึงขนาดแล้วมันก็ต้องเกิดตามธรรมชาติ แล้วก็รู้สึกรบกวนเพราะทำให้เป็นทุกข์ ส่วนความรู้สึกทางกามารมณ์ที่เป็นเรื่องของกิเลสนั้นอีกส่วนหนึ่ง นี่เราจะแยกออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่ง ดูที่มันเกิดตามธรรมชาติกันก่อนว่า แก่ เจ็บ ตาย แล้วความรู้สึกที่จะต้องเกิดขึ้นแก่ร่างกายที่มันเจริญถึงขนาด เช่น เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นอะไร เป็นต้น มันก็ต้องมีปัญหาอย่างนี้ เช่น คนแก่แก่มากเข้ามันก็ต้องมีเรื่องของคนแก่ ไอ้คนหนุ่มคนสาวมันก็ต้องมีเรื่องของคนหนุ่มคนสาวเป็นปัญหายุ่งยาก นี่เรียกว่าเกิดตามธรรมชาติ ทีนี้ที่เป็นภายนอกก็ยังมีนะเกิดตามธรรมชาติ คือธรรมชาติที่มันวิปริตมันอยู่ข้างนอก เช่น น้ำท่วม เช่น พายุพัด เช่น ฟ้าผ่า เช่น อะไรที่มันเป็นตามธรรมชาติ และมันก็ถูกกับคน นี่ก็เรียกว่ามันเป็นทุกข์แก่คนเป็นในส่วนภายนอกด้วยเหมือนกัน ไอ้ธรรมชาติวิปริตทั้งหลาย มันก็เป็นต้นเหตุให้มนุษย์ต้องลำบาก ที่อินเดียน้ำท่วมกำลังตายกันเป็นพันๆ หมื่นๆ อย่างนี้เป็นต้น เวลานี้ นี่ความทุกข์ตามธรรมชาติ ลองเหลือบตาดูมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งพวกหนึ่ง ทีนี้ความทุกข์เพราะกิเลส เพราะอวิชชา โง่ ไม่รู้เป็นกิเลส เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ก็มันมีกิเลสมีอวิชชานั่นแหละเป็นมูล จนกระทั่งเกิดเป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับตัวกูเกี่ยวกับของกู นี่ก็ควบคุมกิเลสไม่ได้ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะควบคุมกิเลสไม่ได้ นี่ไม่ใช่ตามธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของเฉพาะคนๆ มากน้อยไปตามคน เขาควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ควบคุมไว้ไม่ถูกต้อง เขาก็ต้องเป็นทุกข์ นี่ก็ทุกข์เพราะกิเลส ไฟกิเลสเป็นเหตุให้ทุกข์ ไปยึดติดอยู่ที่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เกิดความเป็นตัวตนของตนแล้วก็เป็นทุกข์ นี่ใครอยากจะรู้จักความทุกข์ ก็รู้จักศึกษาแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือมันมีอยู่ได้ตามธรรมชาติเป็นต้นเหตุกับทุกข์ประเภทนั้น ทุกข์ที่ว่ามันเป็นกิเลสของคนนั้น เราไม่พูดว่ากิเลสก็เป็นธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ภายใน เป็นเรื่องละเอียดอยู่ภายใน เราจัดการได้ เราควบคุมได้ จึงเรียกว่าทุกข์เพราะกิเลส นี้ช่วยจำไว้ให้ดี เอาไปทดสอบตรวจสอบ เป็นหมอตรวจตัวเอง เอาวิธีการหรือความรู้ของพระพุทธเจ้ารับเอามาแล้วก็ตรวจสอบตัวเองให้เห็นว่ามีความทุกข์อยู่ ๒ อย่างนี้หรือไม่ พระพุทธเจ้านี่ท่านเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง ตรัสโดยพระองค์เอง เรียกพระองค์เองว่าแพทย์ก็มี พระสาวก พระเถระเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงดังนี้ก็มี นี่เป็นที่เชื่อถือได้หรือกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ เป็นนายแพทย์รักษาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง แต่ว่ามันเป็นโรคทางวิญาณโรคทางจิต ถ้าเป็นโรคธรรมดาทางร่างกายก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นโรคจิตเกี่ยวกับระบบประสาทนี่ก็ไปหาหมอโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นโรคของกิเลสของสติปัญญา ก็ต้องไปหาพระธรรมของพระพุทธเจ้า โรคมิจฉาทิฏฐิ โรคอวิชชา โรคความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่น นี่คือความทุกข์ที่ร้ายแรงที่ทรมานสัตว์อยู่ มันอยู่ในรูปของความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้นแหละ เรื่องความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความหวาดระแวง ล้วนแต่เป็นความทุกข์ ถือเป็นโรคทางด้านวิญญาณไม่ใช่โรคจิตที่เราไปหาหมอโรงพยาบาลโรคจิต ไม่เป็นโรคทางกายไม่เป็นโรคทางจิตชนิดนั้นแต่ก็ยังเป็นโรคทางวิญญาณชนิดนี้ ถ้าเป็นโรคทางวิญญาณชนิดนี้แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็จะเป็นเหตุให้เกิดโรคทางกายหรือโรคทางจิตที่ต่ำลงไปอีกด้วย โรคมันก็มากขึ้น เราไม่รู้จักโรคที่มันเกิดเพราะอวิชชา ความโง่ ความไม่รู้ ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายกาจที่สุด ต้องพูดว่าอย่างนั้น ทำผิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งมีความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้หลายรูปแบบเต็มที หลายระดับหลายขั้นตอนเต็มที จำไว้สำหรับใครตรวจสอบตนเองทุกคราวที่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ แล้วก็ตรวจดูเถอะมันจะพบว่ามันมีการทำไม่ถูกต้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๖ อย่างนี้ แล้วก็สรุปความได้ว่าความโง่ทั้งนั้น โง่ที่ตาเป็นทุกข์ที่ตา โง่ที่หูก็เป็นทุกข์ที่หู โง่เกี่ยวกับทางตา โง่เกี่ยวกับทางหู โง่เกี่ยวกับทางจมูก โง่เกี่ยวกับทางลิ้น โง่เกี่ยวกับทางกายหรือผิวหนัง โง่เกี่ยวกับทางจิตใจเอง มันก็ทำผิดที่ตรงนั้น มันก็เป็นทุกข์เป็นนรกขึ้นมาที่นั่น อวิชชานี่ทำให้เข้าใจผิดตรงกันข้ามจากความเป็นจริงเสมอ เพราะว่าไอ้ธาตุๆ นี้มันทำหน้าที่อย่างนั้น ในโลกนี้ในสากลจักรวาลนี้ก็มีธาตุประหลาดอยู่ คือจะเรียกว่าประหลาดก็คือวิชชาธาตุกับอวิชชาธาตุ อย่างนี้มีเรียกในพระบาลีโดยพระพุทธเจ้า ไอ้วิชชาธาตุเข้ามาในใจแล้วทำให้ใจรู้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง อวิชชาธาตุเข้ามาในใจแล้วทำให้ใจรู้ผิดจากความเป็นจริงตรงกันข้าม นี่จะเห็นสุขเป็นทุกข์ เห็นที่ให้เกิดทุกข์เป็นสุขเสีย นั่นเป็นเหตุให้เราทำผิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราจึงไปทำผิดเรื่องนั้นมากขึ้นๆ จนลำบากยุ่งยาก จนเงินไม่พอใช้ จนอะไรต่างๆ ยุ่งไปหมด เพราะว่าเรามันทำผิด ที่ควรจะเว้นไม่เว้น ที่ควรจะทำไม่ทำ มันก็เลยเป็นเรื่องผิดหมด แล้วไปหลงความอร่อย เขาเรียกว่าเหยื่อคือความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วเราไปหลงไอ้ที่มันจะให้เกิดทุกข์ว่าดีที่สุด ประเสริฐที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกามารมณ์ ไปหลงเอากามารมณ์เป็นสุขเป็นรอบสุข (นาทีที่ 46.10) จะเรียกว่าด้วยอวิชชาเห็นผิดตรงกันข้าม มันก็ทำเรื่องให้เกิดขึ้น แล้วก็รู้ตามที่เป็นจริง แล้วก็อย่าไปหลง ไอ้กามารมณ์นั้นใครไปเกี่ยวข้องด้วยก็อย่าไปเกี่ยวข้องด้วยความหลง ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำตามธรรมชาติก็อย่าโง่อย่าหลง ประพฤติกระทำต่อมันให้ถูกต้อง อย่าให้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา อวิชชาธาตุทำให้เกิดความโง่ความหลงเข้าใจกลับตรงกันข้าม วิชชาธาตุทำให้เข้าใจถูกต้องตามที่เป็นจริง ดังนั้นเราอุตสาห์สร้างความเหมาะสมที่ให้วิชชาธาตุเกิดขึ้นในใจเข้ามายึดครองในจิตใจให้เร็วที่สุด คือมีสติเอาวิชชาธาตุหรือปัญญาให้มาเกิดขึ้นในใจให้เร็วที่สุด มันก็จะป้องกันความผิดพลาดทั้งหลายได้ ทีนี้เราไม่ทำอย่างนั้น เราโง่ เราไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา มันก็ว่างอยู่สำหรับอวิชชาเข้ามายึดครองในจิตใจ และจิตใจนั้นก็จะเป็นจิตใจที่โง่ มันก็จะทำผิดหมดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องได้เป็นทุกข์ ดังนั้นขอให้ดูให้ดีไอ้เรื่องที่ว่าวิชชาหรืออวิชชา ถ้าอวิชชามันก็ต้องตรงกันข้าม เห็นตรงกันข้ามผิดจากความเป็นจริง ถ้าเป็นวิชชาก็จะเห็นถูกต้องตามที่เป็นจริง จะยกตัวอย่างให้จำง่ายๆ กันลืมว่า คนร่ำรวยคนหนึ่งเขาได้แม่ครัวดีมีฝีมือที่สุดจ้างมาเป็นแม่ครัวได้ แล้วก็เขาก็เที่ยวอวดเพื่อนฝูงเขาว่า เขามีโชคดีที่ได้คนๆ นี้มาเป็นแม่ครัว ทำอาหารดีอร่อยที่สุดอย่างนี้เป็นต้น เขาไม่รู้ว่านั่นแหละมันจะมาทำให้ตายเร็ว ถ้าแม่ครัวฝีมือดี มันก็กินมาก มันก็มีโรคมาก แล้วมันก็ตายเร็ว ดังนั้นการที่ได้แม่ครัวดีนี่เรียกว่าโชคดีหรือโชคร้าย คุณลองคิดดู อาตมาเห็นมันเป็นโชคร้ายนะที่เอาคนที่มาทำให้กินอาหารอร่อย กินมาก กินยั้งไม่อยู่ กินเกินที่ควรกิน มันก็ตายเร็ว มันก็อ้วน อ้วนแล้วก็ตาย โชคดีหรือโชคร้าย นี่มองกันด้วยวิชชาหรือด้วยอวิชชา เรื่องทำนองนี้มันมีมาก ช่วยกันจำเอาไปคิด ไปสังเกตศึกษาดู ว่ามันจะกลับตรงกันข้ามอยู่ด้วยอำนาจของอวิชชา ดังนั้นสนใจศึกษา อบรม ฟัง เช่น ฟัง เช่น คิด เช่น นึก เช่น ศึกษาใคร่ครวญ ทำปัญญา ทำวิปัสสนา เพื่อจะให้วิชชามันเกิดขึ้นๆ เพียงพออยู่ในสันดานในจิตใจ วิชชามีพอใช้ทันท่วงทีด้วยอำนาจของสติ และอวิชชาก็ไม่มีโอกาสที่จะมาสิงจิตใจ จะมายึดครองจิตใจให้ทำอะไรผิดๆ มันจึงนึกได้อย่างถูกต้องทันที เลยไม่มีการทำผิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ ก็หมดปัญหาถ้าวิชชาเข้ามาก็หมดปัญหา ถูกแล้วที่ว่ามาสนใจศึกษาธรรมพระพุทธศาสนา แล้วเพื่อจะศึกษาให้ได้มีวิชชาเพียงพอที่จะใช้คุ้มครองชีวิตนี้ให้มันไม่ต้องเป็นทุกข์ ทีนี้ไอ้ความทุกข์มันมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ตามธรรมชาติกับตามที่กิเลสมันทำขึ้นในภายใน ดังนั้นไอ้ความดับทุกข์มันก็ต้องมี ๒ ประเภทอีกแหละ คือ ดับทุกข์ที่มันเป็นธรรมชาติพวกหนึ่ง แล้วก็ดับทุกข์ที่เป็นกิเลสพวกหนึ่ง
ไฟทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นตามธรรมชาติ ไฟกิเลสนี่มันไม่ใช่ธรรมชาติอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติอย่างอื่นที่เราจะไม่เรียกว่าธรรมชาติ เราเรียกว่าไฟกิเลส ดับทุกข์ตามธรรมชาติก็ต้องฝึกจิตชนิดที่มีวิชชาเต็มที่เหมือนกัน เมื่อสักครู่ก็บอกแล้วว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นความทุกข์ตามธรรมชาติ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องมีวิชชาประเภทนั้น เดี๋ยวนี้มักไปยอมแพ้กันเสียนี่ ได้ยินสวดมนต์ตอนเย็นๆ ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ นี่มันยอมแพ้เสียแล้ว จะดับอะไรกันเล่า อันนั้นมันเป็นเรื่องทางศีลธรรม เขาบอกอย่างนั้นก็เพื่อให้ไม่ประมาท ให้รีบทำหน้าที่อะไรเร็วๆ ให้ทันแก่เวลาของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ให้ยอมแพ้ ไม่ให้ยอมแพ้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ให้ยอมแพ้กรรมหรือการรับผลกรรม ต้องต่อสู้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย นี่มันขัดกันใช่ไหม ที่คุณไปพูดแต่ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นจากความตายไปได้ ยอมแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้นะ ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว พวกที่เกิดก็จะพ้นจากความเกิด พวกที่แก่ก็จะพ้นจากความแก่ พวกที่เจ็บจะพ้นจากความเจ็บ พวกที่ตายจะพ้นจากความตาย นี้ทำอย่างไร ก็คือเอาวิชชาความรู้ของพระพุทธเจ้านั่นแหละมา ท่านตรัสว่าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตร ก็ต้องเอาอะไรของมิตรนั่นแหละมา เอาหยูกยาของมิตรมา เอาอาวุธของมิตรมา เอาอะไรของมิตรมากำจัดไอ้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เสียให้ได้ ก็คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือความรู้เรื่องที่ว่ามันเป็นเรื่องสมมติ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องสมมติ ตามธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นเอามาสมมติกัน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยึดถือเป็นของเราแล้วเป็นทุกข์ มาศึกษาให้ดีสิเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องสิ่งเป็นไปตามปัจจัยตามปฏิจจสมุปบาท เรารู้ถึงความจริงสูงสุดคือว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อนัตตา สุญญตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ได้มีตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง จิตอย่าโง่ไปรับเอามาเป็นของเรา ให้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมชาติไป จิตนี้ก็จะไม่มีความทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่คือข้อที่ว่าได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรและก็จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พูดอย่างเมื่อสักครู่นี้ก็ได้ว่า ได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นหมอเป็นแพทย์ แล้วเราก็จะพ้นจากโรคทางวิญญาณคือความทุกข์ ดังนั้นศึกษาให้รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ธรรมะทั้งหลายนี่ แล้วก็ฝึกจิตไปตามนั้น ไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จิตก็จะฉลาดขึ้นสูง ไม่รับเอาอะไรมาเป็นตัวตนของตน เป็นตัวกูของกู ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็โยนคืนไปให้ธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นของเรา เราโง่เอามาเป็นของเรานานนักแล้ว มีความทุกข์ทรมานนักแล้ว เดี๋ยวนี้โยนกลับคืนไปให้เจ้าของเดิมมันคือธรรมชาติ นี่เราก็จะพ้นจากความทุกข์ที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าสมมติว่าเป็นเรื่องธรรมชาติวิปริต เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า แผ่นดินถล่ม ก็โยนคืนให้ธรรมชาติมัน อย่าเอามาเป็นของเรา กระทั่งว่าไอ้ร่างกายนี้ ร่างกาย ๒ ขา ๒ มือนี่ก็อย่าเอามาเป็นของเรา คืนให้ธรรมชาติมันไปเสีย ร่างกายนี้มันจะแก่ จะเจ็บ จะตาย ก็เอาไปให้ธรรมชาติ คืนให้ธรรมชาติไปเสีย นี่จะดับทุกข์ที่เกิดมาจากธรรมชาติได้
ทีนี้ดับทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ก็ฝึกจิตจนไม่เกิดกิเลสไม่เป็นช่องทางแห่งกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตตามธรรมชาตินั้นเป็นประภัสสร ไม่มีกิเลส แต่พอกิเลสเกิดขึ้นมันก็ไม่ประภัสสร คือมันจะเศร้าหมองและเป็นทุกข์ จิตชนิดนี้ยังไม่ได้รับการฝึกมันมาตามธรรมชาติของมัน เดี๋ยวนี้มันเกิดมาเป็นคนเป็นอย่างนี้แล้ว มาเป็นเราแล้ว เรียกว่าสมมติ สมมติว่าเรานี่ เราก็ฝึกจิตนี้ไม่ให้เป็นจิตที่จะเกิดกิเลสได้อีกต่อไป เรารู้เรื่องนี้ว่าจิตนี้มันไม่ได้มีกิเลสมาแต่เดิม มันเป็นประภัสสรเรืองแสงเหมือนกับเพชรพลอยนี่ ไอ้เรื่องโคลนเรื่องสกปรกนี่มันเพิ่งเกิดทีหลัง เราก็ไปรับวิธีของพระพุทธเจ้ามาฝึกจิต จนจิตนี้จะไม่เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งอุปกิเลสอีกต่อไป จิตบริสุทธิ์เป็นประภัสสรตลอดกาล เป็นนิพพานแท้จริงไปเพราะการฝึก นี่เรารับเอาความรู้ของพระพุทธเจ้ามาฝึกจิต เป็นจิตที่ทำอย่างไรก็กิเลสไม่อาจจะเกิดแล้วในจิตนี้ รายละเอียดมันมีมาก จะพูดวันนี้ก็ไม่ได้หรอก มันต้องพูดกันเป็นชั่วโมงๆ เหมือนกันว่า จะฝึกจิตอย่างไรจิตนั้นจึงจะเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในสภาพอย่างหนึ่งที่ว่ากิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป ควรจะสนใจจะดับทุกข์ส่วนกิเลส จะดับไฟกิเลส จะดับกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ว่าเขาพูดอย่างรวมๆ คลุมๆ ก็มีเหมือนกันว่า อยู่ให้ถูกต้อง อยู่ให้ถูกต้องตามอัฏฐังคิกมรรค สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่เราสวดกันทุกวันอยู่อย่างนั้นสิ มันก็อยู่อย่างถูกต้อง ถ้าอยู่อย่างถูกต้องแล้วไม่มีโอกาสที่กิเลสจะเกิดแก่จิตได้ นี่ก็ไปศึกษาเป็นพิเศษว่าอยู่อย่างถูกต้องโดยอัฏฐังคิกมรรคนี่อยู่อย่างไร อย่าจดไว้เฉยๆ อย่าสวดเฉยๆ เป็นนกแก้วนกขุนทอง ต้องเอาไปทำให้ประพฤติปฏิบัติให้เกิดความถูกต้อง ๘ ประการนั้นอยู่จริงๆ มีความถูกต้องของสติปัญญาความคิด ความเห็น ความเชื่อ นี่อย่างหนึ่ง มีความถูกต้องของความปารถนา มุ่งหมาย ตริตรึก นี่อย่างหนึ่ง มีความถูกต้องของการพูดจา การใช้วาจา นี้อย่างหนึ่ง มีความถูกต้องของการทำทางกาย ทางร่างกาย นี่อย่างหนึ่ง มีความถูกต้องในการดำรงชีวิต เลี้ยงชีวิต เป็นอยู่ นี่อย่างหนึ่ง มีความถูกต้องในความเพียร เรามีความเพียรแต่ความเพียรนั้นต้องถูกต้อง ถ้ามันเพียรละชั่ว ทำดีอยู่เสมอ นี่ก็อย่างหนึ่ง แล้วก็เพียรมี แล้วก็มีความถูกต้องของสติ ความระลึกกำหนดประจำใจนี่ให้มันเป็นความถูกต้องอยู่เสมอ อย่าระลึกผิดเป็นอันขาด จะมีธรรมะพอ มีสติพอ และอันสุดท้ายก็มีความถูกต้องของความตั้งมั่นของจิต จิตนั้นต้องมีความตั้งมั่นในลักษณะที่ถูกต้อง เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ นี่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค เรียกเต็มที่ก็ว่าอริยะอัฏฐังคิกมรรค เรียกในทางที่จะใช้เป็นประโยชน์ก็เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้เป็นความถูกต้อง และทำหน้าที่เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือการปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับสนิทแห่งความทุกข์ อยู่อย่างความถูกต้อง อย่างมีความถูกต้อง กิเลสไม่เกิด ความทุกข์นี้ก็ไม่เกิด ความทุกข์ในภายในก็ไม่เกิด ถ้าแม้ว่าความทุกข์ข้างนอกมันเกิดก็ไม่รับเอามา อริยมรรคนี้จะป้องกันได้ทั้งความทุกข์ทั้งภายนอกและทุกข์ภายใน ทุกข์ทุกชนิดดับไปเพราะว่ามีอริยะอัฏฐังคิกมรรคในการดับทุกข์เสียทั้งภายนอกและภายใน
ทีนี้จะมาย้อนมาดูที่ความทุกข์กันใหม่ เพื่อให้รู้ละเอียดออกไปสักหน่อยว่าไอ้ความทุกข์นี่มันตั้งต้นขึ้นมาในเราอย่างไร โดยวิธีใด เมื่อไร ที่ไหน มาดูกันอีกทีนะเรื่องความทุกข์ ขอให้สนใจว่าไอ้ความทุกข์นี่มันตั้งต้นเมื่อใด เมื่อเด็กอยู่ในครรภ์ มีความทุกข์ไหม เด็กคลอดออกมารู้จักความทุกข์ไหม เป็นเด็กโต เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่า ทีนี้ความทุกข์ตั้งต้นเมื่อไร อย่างไร โดยวิธีใด ที่ไหน จะให้ดูกันมาตั้งแต่แรกคลอดเด็กในท้องไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักนึก ไม่รู้จักยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ไม่ยึดมั่นอะไรได้ เพราะมันไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร มันก็ยังไม่มีทุกข์ ถ้ามันเจ็บปวดที่เนื้อที่หนัง มันก็ดิ้นรนไปตามเรื่อง มันไม่รู้สึกเป็นทุกข์เหมือนที่คนเราโตๆ นี่รู้สึก แต่ทีนี้เด็กคลอดออกมาแล้ว เขาก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาแล้ว เขาก็ได้สัมผัสกับไอ้สิ่งข้างนอกคือ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามารมณ์ก็ไปสัมผัสกับเขา ทีนี้ตา หู ของเขา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเด็กทารกนั้นมันก็รับอารมณ์นั้นเหมือนกัน เด็กนั้นมันไม่มีความรู้อะไร ไม่มีความรู้เรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ ไม่รู้เลย มันก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ มันไม่มีความรู้เลยก็ว่าได้ในเรื่องดับทุกข์ แล้วมันก็ตั้งจิต ตั้งสติ ตั้งอะไร ไม่เป็นทั้งนั้นแหละ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ไอ้ทารกนี่ก็ยินดีเมื่ออร่อย ถูกใจ เป็นสุข แล้วก็ยินร้าย โกรธเคือง เมื่อไม่ได้อย่างที่มันเรียกว่าความสุข สมมติว่ามันอร่อยในการกินนมกินอาหาร พอมันอร่อยมันก็ยึดถือความอร่อย ก็เกิดตัณหาคือความอยากที่จะกิน อยากจะอะไรยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นความยึดถือสลับกันกับความอยาก ก็ยึดถือเป็นตัวเราขึ้นมา เราอร่อยแล้วก็จำไว้เป็นสัญญาที่จะคิดนึกอย่างนั้นอีก มันจะคิดนึกอย่างนั้นมากขึ้นๆ มันก็เลยเป็นความทุกข์มากขึ้น รูปร่างกายของมันทำหน้าที่สำหรับจะรู้สึกได้ดีขึ้น ไอ้เวทนามันก็เกิดขึ้น สัญญาสำคัญมั่นหมายมันก็มากขึ้น ไอ้สังขารความคิดความนึกมันก็รุนแรงขึ้น ไอ้วิญญาณที่จะรู้สึกสัมผัสอะไรมันก็รุนแรงขึ้น ไอ้ทารกของเราก็มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ทำหน้าที่ของมันรุนแรงขึ้นๆ ไอ้ที่รุนแรงเลวร้ายก็คือยึดมั่นถือมั่น จะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ ตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้ พอไม่ถูกใจก็อาละวาดเป็นยักษ์เป็นมาร ถ้าถูกใจก็หลงใหลเป็นอะไรไปก็ไม่รู้ ทารกจึงไม่รู้จักสงบ ไม่รู้จักวิมุตติ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักนิพพาน เขาก็ยินดียินร้ายขึ้นลงๆๆ เป็นทุกข์ได้ตั้งแต่รู้จักยึดถือ ทารกแรกคลอดเกินไปคิดนึกไม่ได้ยังไม่รู้จักยึดถือความทุกข์ยังไม่มี ทารกนั้นต้องโตจนรู้สึกเอร็ดอร่อยหรือไม่อร่อยหอมเหม็น คือเวทนานั่นแหละ รู้สึกต่อเวทนานั้นได้ เมื่อนั้นทารกจะเริ่มรู้จักความทุกข์ รู้จักเวทนา ยึดถือในเวทนา ยึดถือเป็นสัญญาหมายมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี ยึดถือเป็นอุปาทานอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี เกิดสังขารความคิดความนึกอย่างนั้นไปตามสัญญาตามอุปาทาน มันก็เลยเป็นทุกข์เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เราบอกไม่ได้ว่าอายุเท่าไร คุณไปดูเอาเองก็แล้วกัน ไปศึกษาจากทารกที่มันก็มีอยู่ทั่วๆ ไปว่า เมื่อใดมันจะรู้จักคิดนึกในลักษณะที่เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ที่นั่น เมื่อนั้น โดยอาการอย่างนั้น ความทุกข์ตั้งต้น มี เป็น ขึ้นมาในคนเรา ทารกนั้นอาจจะรู้สึกได้อย่างนี้ตั้งแต่ก่อนรู้จักนั่งรู้จักเดินด้วยซ้ำไป อย่างนี้ไม่ต้องคาดคะเน ไปดูเอาที่ตัวทารกดีกว่า
ทีนี้ไอ้ความดับทุกข์ล่ะตั้งต้นเมื่อใด เมื่อความทุกข์มันตั้งต้นเมื่อนั้น อย่างนั้น โดยลักษณะอย่างนั้น ความดับทุกข์มันตั้งต้นเมื่อใด ลองเดาสิ ที่นั่งอยู่นี่ลองเดาว่าความดับทุกข์มันตั้งต้นเมื่อใด ไอ้ความดับทุกข์นี่ถ้าโดยธรรมชาติแล้วมันจะตั้งต้นเมื่อได้สัมผัสรู้รสของความทุกข์นั่นเอง เมื่อมันทุกข์แล้วมันก็ไม่ชอบ ไม่ชอบมันก็อยากจะดับทุกข์ มันก็ดิ้นรนเพื่อจะดับทุกข์ ดังนั้นเมื่อมีความทุกข์จนฉลาดว่าอย่างนี้เป็นความทุกข์ แล้วมันก็อยากจะดับทุกข์ แต่มันก็ต้องเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตื้นๆ ต่ำๆ ไปก่อน รู้จักความทุกข์อย่างนี้ แล้วก็จะไม่ทำอย่างนั้นอีก เช่นว่า ถ้ามันกินก้างปลาเข้าไป มันก็เป็นความทุกข์ มันก็รู้จักที่จะไม่กินก้างปลาเข้าไปอีก อย่างนี้เป็นต้น หรือมันไปเล่นกับแมว แมวมันข่วนเอา มันก็ฉลาดพอที่จะไม่ไปเล่นกับแมว นี่เด็กๆ จะต้องตั้งต้นรู้จักดับทุกข์หรือหลีกเลี่ยงความทุกข์ตามประสาเด็กง่ายๆ อย่างนี้ก่อนเสมอไป จนมันเกิดความฉลาดมากขึ้น มีวิชชามากขึ้น จนรู้จักดับความทุกข์ในจิตใจ คือรู้จักดำรงจิตใจให้ความฉลาดมาทันเวลา ให้วิชชาธาตุมาทันช่วยดับทุกข์ ให้อวิชชาธาตุออกไปเสีย ก็โดยหลักอันนี้ที่ว่าเด็กๆ มันจะดับทุกข์ได้ คือความฉลาดของมันเพิ่มขึ้นๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นฝ่ายวิชชาธาตุ เมื่อวิชชาธาตุเข้ามาในจิตใจของเด็กได้ เด็กก็เริ่มรู้ความดับทุกข์ได้ นี่ความผ่านๆ บ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ แล้วเขาก็ฉลาดขึ้นทุกที ในความมีสติของเขาก็เร็วขึ้นทุกที ถ้าเขาช้าอยู่เขาก็เป็นทุกข์มาก เช่น เขาไปจับเอาไฟเข้านี่ เขาก็รู้จักปล่อยไฟให้เร็วขึ้นทุกที ไม่จับแช่อยู่ได้ นี่ก็เรียกว่าสติของเขามันก็มากขึ้นเร็วขึ้น ปัญญาของเขาก็มากขึ้นเร็วขึ้น นี่เรียกว่าไอ้ความดับทุกข์มันได้ตั้งต้นขึ้นแล้วเคียงคู่กันมากับความทุกข์ เด็กมีความทุกข์ ก็รู้จักความทุกข์ แล้วก็ฉลาดขึ้นที่จะป้องกันความทุกข์ตามแบบของเขาตามแบบของเด็กๆ ในเรื่องต่ำๆ แต่อย่าลืมว่านั่นแหละมันเป็นจุดตั้งต้นของการที่จะรู้จักดับทุกข์ที่สูงขึ้นไปตามทางของธรรมะ เมื่อเด็กมันโตขึ้นก็รู้จักความทุกข์มากขึ้น เมื่อดับทุกข์ตามความคิดของเขาไม่พอ เขาก็ศึกษา เมื่อศึกษาก็รู้จนกระทั่งได้มาศึกษาพระธรรมในพระพุทธศาสนาก็รู้จักดับทุกข์สูงขึ้นๆ จนกระทั่งเขามารู้เรื่องนี้ เรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องทำให้ถึงความดับทุกข์เต็มที่ คือรู้ธรรมะเต็มที่เขาก็ดับทุกข์ได้เต็มที่เหมือนกัน วิชชาธาตุมากพอป้องกันขับไล่อวิชชาธาตุออกไป เขาทำได้มากขึ้น ไอ้ความดับทุกข์ของเขาก็ตั้งต้นมาดีถูกต้องแล้วก็เจริญขึ้น มาศึกษาธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา มีวิชชาปัญญามากขึ้น อวิชชา ตัณหา โมหะ ก็ถอยไป เขาก็พบไอ้ความดับทุกข์เหมือนที่คนโตๆ นี่พบๆๆๆๆ กันได้มากขึ้นก็แล้วกัน รู้จักธรรมะสูงสุดว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันเป็นอย่างนั้นเอง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนั้นเอง เขาไม่ต้องไปยึดถือให้เป็นทุกข์ เขาก็เย็นเป็นนิพพาน เรื่องมันก็จบกัน ไอ้เรื่องสุดท้ายมันก็คือนิพพาน ความหมดทุกข์ เย็น เมื่อใดกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นในจิต จิตว่างจากกิเลส จิตก็เย็นเป็นนิพพาน พอไม่เท่าไรไอ้กิเลสมันก็ได้โอกาสเกิดขึ้นเป็นไฟเป็นกิเลส มันก็ร้อนมันก็ไม่เป็นนิพพาน มันเป็นความทุกข์ ดังนั้นว่างจากกิเลสโดยวิธีใดก็ตามเวลานั้นจะเป็นนิพพาน เรียกว่านิพพานตามธรรมชาติมีอยู่พอสมควร คือกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาทุกวินาทีทั้งวันทั้งคืน ถ้ากิเลสเกิดตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนแล้ว เป็นบ้าตายหมดแล้ว ไม่ได้มานั่งกันอยู่อย่างนี้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องไปคิดดูให้ดีให้มองเห็นว่า ถ้ากิเลสมันเกิดไม่มีหยุดติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน เราเป็นบ้าตายหมดแล้วไม่ได้มานั่งกันที่นี่ มันมีเวลาที่ว่างจากกิเลสโดยบังเอิญบ้าง หรือว่าโดยอะไรก็ตาม เหตุปัจจัยมันก็มีที่ให้กิเลสไม่เกิดในบางเวลาบางกรณี เราจึงมีว่างจากกิเลสนั้นอยู่เป็นระยะๆ นี่เราเรียกว่านิพพานชั่วขณะ นิพพานชั่วขณะ นิพพานชั่วขณะ มีพอสมควรที่จะให้เราไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตจนเป็นบ้า เพราะว่าอย่างน้อยถ้าเราหลับสนิท กิเลสมันก็ไม่ได้รบกวน จิตมันก็ได้รับการพักผ่อน หรือเมื่อเราตื่นๆ อยู่นี่แหละ ไม่ได้หลับนะ กิเลสก็ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มันมีเวลาระยะที่มันไม่ได้เกิด ดังนั้นเราก็อยู่กับนิพพานชั่วขณะ เราจึงรอดชีวิตอยู่ได้ด้วยนิพพานชั่วขณะๆ นี้ มันแปลกอยู่นะฟังดูให้ดี มันแปลกอยู่นะ แล้วก็ไม่มีใครพูดอย่างนี้ก็ได้ อาตมาอยากจะยืนยันว่าไม่มีใครพูดอย่างนี้ก็ได้ เป็นที่เขาไม่เชื่อ ก็เพราะว่าท่านพุทธทาสบ้าไปคนเดียว เรื่องมีนิพพานอยู่เป็นระยะๆ ช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ เรามีนิพพานพื้นฐานชนิดนี้อยู่เป็นขณะๆ แต่ไม่ใช่นิพพานจริง ทีนี้เราต้องแก้ไขจนกิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้ก็มันว่างจากกิเลสติดต่อกันไปเป็นนิพพานจริงติดต่อกันไป นี่คือนิพพานจริง เดี่ยวนี้เราอยู่ด้วยนิพพานชั่วขณะๆ เราก็ควรจะขอบใจนิพพานชั่วขณะ อย่าเนรคุณต่อนิพพานชั่วขณะที่มันช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ไม่เป็นบ้า เรารับเอามาปรับปรุงๆ ให้มันเป็นนิพพานชนิดที่ถาวรและตลอดกาล นี้ความดับทุกข์ได้ตั้งต้นขึ้นมาอย่างนี้ แล้วก็เจริญงอกงามขึ้นมาอย่างนี้ จนยืดไอ้ความดับทุกข์ติดต่อถึงกันตลอดกาลไม่มีเป็นช่วงๆๆๆ ถ้ายังดับทุกข์เป็นช่วงๆ ดับกิเลสเป็นช่วงๆ ก็เรียกว่านิพพานชั่วคราว นิพพานตัวอย่างสินค้าให้เราชิมลองดูก่อน ถ้าเราชอบใจเราก็ทำๆ ให้มันมากขึ้น ไอ้นิพพานนั้นมันก็จะมีระยะยาวขึ้นๆ จนติดเนื่องกันไปหมดไม่มีระยะให้กิเลสเกิด เรื่องก็จบ เป็นพระอรหันต์ มีสติอย่าให้กิเลสเกิด เราก็อยู่กับนิพพานให้มันมากขึ้นจนสติสมบูรณ์ กิเลสไม่มีโอกาสเกิดก็เป็นนิพพานจริง คำว่านิพพานแปลว่าเย็น เย็นเพราะไม่มีของร้อน คือไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ เป็นชีวิตที่เยือกเย็น เย็นบ้างก็ยังดีกว่าไม่เย็นเสียเลย ถ้าเย็นถึงที่สุดก็เป็นนิพพานจริง เป็นพระอรหันต์ ถ้าเย็นไม่จริงคือยังไม่ติดต่อกันจริง แต่ว่ามันก็เย็นมากอยู่นะ ก็เป็นพระอริยะเจ้ารองๆ ลงมา ถ้าเป็นปุถุชนธรรมดามันก็มีล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นๆ ลงๆ เย็นๆ ร้อนๆ เย็นๆ ร้อนๆ อย่างนี้ ขจัดส่วนที่ร้อนออกไป ให้เย็นอยู่และยืดที่เย็นให้มันยาวออกไปจนมันชนๆๆ กันหมด เย็นตลอดสาย นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าพูดให้ฟังง่ายมันก็ต้องพูดอย่างนี้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมะควบคุมกิเลสอย่าให้มันเกิดขึ้นมา ไอ้ความว่างกิเลสหรือความเย็นมันก็ยาวออกไปๆ จนติดต่อชนกันเป็นเย็นแท้จริง ไว้พูดวันอื่นดีกว่านะไอ้เรื่องนิพพานนี้ ไอ้เรื่องทุกข์นี่มันมากยาวพอแล้ว ดังนั้นก็พอกันทีสำหรับการบรรยายวันนี้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร มีหรือไม่ มีแล้วไม่ยอมรับว่ามี หรือมีแล้วไม่เห็นว่ามี กลบเกลื่อนซ่อนไว้ใต้เสื่อ แล้วมันก็ไม่มีปัญญาที่จะดับมันได้ ความทุกข์มีอยู่ ๒ ประเภท ความดับทุกข์ก็มีอยู่ ๒ ประเภท ดับได้ก็เย็นเป็นนิพพาน
ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าคงจะไปคิดไปนึกให้ได้รับประโยชน์บ้างตามสมควร