แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในจิตตภาวนาทั้งหลาย ในวันแรก ต้องการพูดเรื่องนี้ จะพูดถึงเรื่องนำหรือเรื่องที่เรียกว่าเกี่ยวข้องกันอยู่ในหลายประการ ซึ่งเป็นปัญหาของมนุษย์ และได้กำหนดการบรรยายชุดนี้โดยหัวข้อว่า “ชีวิตจะพัฒนาตามหลักแห่งศาสนา” คือชีวิตจะพัฒนาตามหลักแห่งศาสนา ชีวิตจะพัฒนาคือการทำชีวิตให้เจริญ และตามหลักแห่งศาสนาซึ่งศาสนาไหนก็ได้ แต่โดยเนื้อแท้และมีใจความที่ตรงกันจนอาจจะทำให้คนศาสนาเดียวกันก็ยังได้ ถ้าเข้าใจคำว่าศาสนา ในข้อ ในๆหัวข้อย่อยครั้งแรกนี้จะมีว่าศาสนา ของคู่กันกับชีวิต ศาสนาเป็นของคู่กันกับชีวิต เราก็จะมองเห็นได้เองในทุกแง่มุมว่ามันเกี่ยวพันกันอย่างไร เราควรจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของมนุษย์หรือของคน เรื่องที่เราจะพูดกันนั้น ขอให้เป็นเรื่องของมนุษย์หรือของคน อย่าต้องให้เป็นเรื่องของศาสนา หรือของพระเป็นเจ้า หรือของเทวดา หรือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด เอาแต่เพียงว่าให้มันเป็นเรื่องของคนคือมนุษย์ ที่มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราตัดออกไปให้มากอย่างนี้ เรื่องอื่นยังไม่เท่า คือไม่ต้องพูดถึงมนุษย์ชาติไหนภาษาไหน ไม่ต้องพูดถึงศาสนาไหนศาสนาอะไรที่เรายึดหมายด้วยซ้ำไป เรื่องของคนมันมีอยู่ในตัวมันเอง ซึ่งจะงอกงามออกไปเป็นปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ และก็จะต้องแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ ให้มันเป็นเรื่องของคนจริงๆ ให้มันตั้งอยู่ที่คน ให้มันตั้งต้นไปจากคนและมันก็ตั้งอยู่ที่คน มันจึงเป็นเรื่องจริงเฉพาะเท่าที่มันเกิดแก่คน อย่าให้มันมากมายกว้างขวางจนกลายเป็นเรื่องต้องเดา ต้องสมมติฐาน ต้องอะไรทำนองนั้น ถ้าเราจะพูดกันแต่ในเรื่องในฐานะเป็นเรื่องของคนที่เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็กลายเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ไปทันที นี่การพัฒนาคนหรือการพัฒนาจิตมันเลยกลายเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ ตามกฎเกณฑ์แห่งวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ถ้าจะให้เป็นเรื่องดับทุกข์ได้ ต้องเป็นเรื่องตามธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ต้องอาศัยการคำนวณ หรือการเชื่อโดยส่วนเดียว นี่แหละที่ว่าทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น ให้เรื่องที่เราจะพูดกันนี้เป็นเพียงเรื่องของคน เกิดอยู่แก่คน และคนสามารถขจัดไอ้ส่วนที่เป็นปัญหาออกไปได้
เดี๋ยวนี้อยากจะกล่าวสักนิดหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้เรานั่งพูดกันกลางดิน เรากำลังพูดเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ และก็นั่งพูดกันกลางดิน ในกลางดินมีความหมายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะพุทธบริษัทยิ่งมีความหมายมาก เพราะเป็นที่ปรากฎว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้าสอนกลางดิน พระพุทธเจ้าอยู่กลางดิน เช่นกุฏิพื้นดินเป็นต้น แล้วในที่สุดก็นิพพานกลางดิน นี่มันก็พอจะแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติมากน้อยเพียงไร ดูถึงคนทั่วๆไป ไม่ว่าชีวิตชนิดไหน ล้วนแต่ตั้งอาศัยอยู่บนผืน บนแผ่นดิน บนดิน ปราศจากแผ่นดินแล้วก็ไม่อาจจะมีอะไร แผ่นดินช่วยให้มีอยู่ได้ และช่วยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ จึงมีความหมาย แผ่นดินจึงมีความหมายมากที่สุดสำหรับสิ่งที่เรียกกันว่าชีวิต ชีวิตทุกชนิดจะต้องอาศัยแผ่นดิน ทีนี้ที่มากไปกว่านั้นอีกก็คือว่า ไอ้คำว่าธรรมะ ธรรมะหรือพระธรรมก็ตามนี่ มันมีความหมายเป็นแผ่นดิน เป็นที่ตั้ง เป็นที่เกิด เป็นที่อาศัยของชีวิตในด้านจิตใจ ทีนี้ชีวิตในด้านร่างกายหรือด้านวัตถุไม่ต้องอาศัยแผ่นดิน ดินธรรมดานี่แหละ ดินที่ทำไร่ทำนา นี่ชีวิตในด้านร่างกาย ถ้าชีวิตในด้านจิตใจ มันก็อาศัยแผ่นดินคือธรรมะ ซึ่งมักจะเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า ศาสนา ถ้าเรียกว่าธรรมะกลายเป็นธรรมชาติ ยากที่จะแบ่งแยกเป็นของพวกนั้นของพวกนี้ เราเรียกว่าศาสนา เลยกลายเป็นของที่มีเจ้าของขึ้นมา คือเป็นเหตุให้แบ่งแยกเป็นศาสนานั้น เป็นศาสนานี้ ฉะนั้นในขั้นแรกนี้ให้เห็นว่าเป็นเพียงธรรม ธรรมะ หรือแผ่นดิน เป็นที่อาศัยแห่งชีวิตในด้านจิตใจ
คนเรามีชีวิต ๒ ด้าน คือด้านร่างกายและด้านจิตใจ ด้านร่างกายอาศัยแผ่นดินธรรมดา ด้านจิตใจอาศัยแผ่นดินคือ ธรรมะ เราถือเอาหลักเกณฑ์อันนี้แล้วก็จะพอมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติ มีอยู่ตั้งอยู่อย่างธรรมชาติ จบสิ้นสุดลงอย่างธรรมชาติ คือมีความจริงอันเด็ดขาดอยู่ในตัวเอง เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งที่เราเรียกกันว่าชีวิต ชีวิต ซึ่งมันเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา ชีวิตมันเป็นสิ่งทำให้เกิดปัญหา เป็นที่ตั้งแห่งปัญหา เพราะว่ามันตายได้ และเพราะว่ามันช่วยให้ยังไม่ตายก็ได้ ช่วยให้เจริญงอกงามไปก็ได้ นี่มีสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี่เป็นปัญหา เราแต่ละคนก็เป็นชีวิตหนึ่งๆ มันก็มีปัญหา ปัญหาทั่วไปที่เหมือนกันทุกคนตามธรรมชาตินั้นก็มีอยู่ แต่ปัญหาเฉพาะคน เพราะต้องการจะให้เจริญยิ่งขึ้นไปเป็นพิเศษมันก็มีอยู่เฉพาะคน จะเห็นได้ว่าชีวิตมันมีปัญหา เราควรจะรู้จักว่าตัวปัญหานั้นอยู่ที่ชีวิต เพราะฉะนั้นจะทำการเจริญก้าวหน้าใดๆ มันก็ต้องทำกลับไปเสียสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เพราะฉะนั้นเราควรรู้จักสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่ชัดแจ้ง คือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิต รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนา และรู้จักสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา และรู้จักสิ่งที่เป็นคู่ของชีวิตโดยเฉพาะ ก็คือเรื่องนี้ที่จะต่อว่า สิ่งที่เรียกว่าชีวิตคืออะไร สิ่งที่เรียกว่าศาสนาหรือธรรมะนั้นคืออะไร ที่เรียกว่าการพัฒนาคืออะไร และสิ่งที่เป็นคู่กันกับชีวิตนั้นมันคืออะไร
ถ้าพูดกันถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชีวิต สิ่งที่เรียกว่าชีวิตคืออะไร คัมภีร์ศาสนาหรือจะทุกศาสนาก็พูดถึงเรื่องของชีวิตในด้านสูง ด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนมาก และพูดถึงเรื่องร่าง จะร่างกายหรือด้านวัตถุนั้นเป็นส่วนน้อย เพราะว่าแม้ไม่ ไม่เกี่ยวกับศาสนา ถ้าเป็นแต่กาลก่อน เขาจะรู้จักสิ่งเหล่านี้พอสมควร แต่ถ้าจะทำให้ดีที่สุด ต้องรู้จักไอ้ชีวิตในด้านที่เป็นวัตถุนี้ด้วย เพราะว่าชีวิตด้านวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งชีวิตด้านจิตใจ เราจะต้องมีวิธีอบรมพัฒนาชีวิตด้านวัตถุนี้ให้เหมาะสมที่จะเป็นรากฐานของไอ้ชีวิตด้านจิตใจ ดังนั้นเราจะมองชีวิตกันในด้านต่างๆ คือชีวิตในด้านกายภาพที่เป็นวัตถุ ชีวิตในด้านวิญญาณภาพนี่ที่เป็นเรื่องจิต แล้วก็ชีวิตในด้านที่มันเนื่องกันอยู่ ผูกพันกันอยู่ระหว่างกายกับจิต นี่ถ้าจะมองกันครบทั้งสามด้านอย่างนี้แล้วก็จะสมบูรณ์
ชีวิตในด้าน ด้านวัตถุหรือด้านร่างกาย ในด้านกายภาพนี่ จึงเป็นชีวิตฝ่ายวัตถุ เป็นฐานรองรับชีวิตในด้านจิต หรือจะเรียกว่าเป็นออฟฟิศสำหรับทำงานของสิ่งที่เรียกว่าจิตก็ยังได้ ทีนี้ชีวิตในด้านที่เป็นจิตหรือเป็นวิญญาณ มันก็คือสิ่งที่มันจะแสดงออกมาทางวัตถุหรือทางกาย ถ้าไม่มีวัตถุหรือร่างกายแล้ว ชีวิตด้านจิตใจก็ไม่แสดงอะไรได้ หรือเหมือนกับไม่มี เพราะฉะนั้นต้องรู้จักชีวิตในด้านวิญญาณ คือด้านจิตใจนี้ มันเป็นสิ่งที่จะแสดงออกมาทางกาย เป็นผลดีผลร้ายต่อบุคคลหรือต่อสังคมก็แล้วแต่กรณี ทีนี้ชีวิตในด้านที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ระหว่างกายกับจิตอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ มีสิ ก็ยังมี มีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะต้องมอง สำหรับคำบัญญัติในพุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า นามรูป แปลว่าใจกับกาย แม้จะพูดว่าใจกับกาย ก็ไม่ได้นับเป็นสองอย่าง นับเป็นเพียงอย่างเดียว คือมีสิ่งๆหนึ่งซึ่งประกอบอยู่ด้วยใจและด้วยกาย รวมกันเข้าอย่างนี้แล้วกัน มันก็เป็นชีวิตที่เป็นอยู่ โดยอะไรๆมันก็เกี่ยวข้องกัน ก็เท่านั้นน่ะ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ จะมองในด้านไหน มันก็จะพบความเกี่ยวข้อง เบื้องต้น เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ในแต่ละขั้นตอนมันก็เกี่ยวข้อง โดยเหตุก็เกี่ยวข้อง โดยผลก็เกี่ยวข้อง นี่เรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ที่หมายถึงนามรูปนี่ ให้เข้าใจไว้เป็นอย่างดี ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนา จะต้องเข้าใจคำๆนี้ คือคำว่านามรูป ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็ว่าใจกับกาย แต่ถ้าฟังอย่างนั้น มันจะกลายเป็นสองอย่างไป มันเป็นอย่างเดียวที่ต้องกอปรกันอยู่จึงจะทรงตัวอยู่ได้ ถ้าเกิดแยกกันก็สลายหายกันไปหมด และแล้วเรามีชีวิตในหลายแง่มุม ชีวิตด้านร่างกาย ชีวิตด้านจิตใจ และชีวิตด้านที่มันเนื่องกันอยู่ระหว่างร่างกายและจิตใจ นี่คือตัวปัญหา
ทีนี้ถ้าจะดู หรือจะฟังตามถ้อยคำที่พูดๆกันมาแต่เดิม มีความคิดเห็นแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นตอแห่งคำพูดชนิดนี้ คือปรัชญาชนิดนี้ คนพวกหนึ่งมองเห็นชีวิตเป็นสิ่งที่มีชั่วขณะ ชั่วขณะๆเท่านั้น ส่วนพวกหนึ่งมองชีวิตในฐานะเป็นสิ่งตลอดกาล เป็นนิรันดร ที่เรียกว่าอาตมัน คือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่นิรันดร ฉะนั้นชีวิตจริงก็หมายถึงสิ่งนี้ ดังนั้นเมื่อจะถือเอาตามที่มนุษย์ได้มองเห็นแล้ว ได้ค้นพบแล้ว ได้คิดกันอยู่แล้ว ก็มันมีชีวิตอยู่เป็น ๒ ชนิด พวกหนึ่งถือว่าชีวิตนั้นเป็นของชั่วขณะ ชั่วขณะ พวกหนึ่งถือว่าชีวิตเป็นของนิรันดร นี่มันเป็นเรื่องของภาษาด้วย เป็นภาษาของการพูดของผู้พูด ซึ่งเขาบัญญัติตามเหตุผลของเขาด้วย สำหรับพุทธศาสนานั้น ถือว่าชีวิตเป็นของชั่วขณะ ชีวิตเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นชั่วขณะๆ เป็นขณะ ไม่เป็นชีวิตเดียวติดต่อกันเป็นนิรันดรได้ แต่ว่าลัทธิอื่นที่เกิดเรื่องกันในประเทศอินเดียนั้น ก็มีเรื่องชีวิตนิรันดร เขามีคำอธิบายไปอย่างอื่น แต่ถ้าเราจะไม่ทะเลาะกันในเรื่องนี้ ก็สามารถจะทำความเข้าใจกันได้ ให้ความหมายให้ถูกต้องเสียทั้งสองอย่าง คือชีวิตที่ตายได้นั้นน่ะเป็นชีวิตชั่วขณะ ส่วนชีวิตที่ไม่รู้จักตายนั้นน่ะเป็นชีวิตนิรันดร แล้วก็ดูเอาเองว่าชีวิตชนิดไหนเป็นชีวิตที่ตายได้ในชั่วขณะ ชีวิตไหนเป็นนิรันดร มันต้องต่างกันมาก ชีวิตที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันก็ชั่วขณะ และตายได้นั้น ถ้าจะให้อยู่นิรันดร ต้องเป็นชีวิตที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอะไร เป็นอิสระในตัวเอง แล้วมันจะอยู่ได้นิรันดร เราจะเอาอันไหนเป็นชีวิตในภาษาพูดของเราก็มันก็ได้ แล้วก็พูดกันให้ถูกเรื่อง นี่เราจะต้องรู้ว่าจะปฏิบัติต่อชีวิตในฐานะเป็นสิ่งชั่วขณะนั้นอย่างไร และถ้าเราสนใจเป็นชีวิตนิรันดรจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทุกอย่างมันขึ้นกันอยู่กับความรู้สึก ความเข้าใจของมนุษย์ผู้บัญญัตินั่นเอง ทางพุทธศาสนาต้องการจะพูดหรือบัญญัติ ชนิดที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตนหรือของตน ซึ่งเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นเพียงมองชีวิตไปในแง่เป็นของชั่วขณะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แต่ว่ามีคำขยายความไปว่าชีวิตที่พัฒนาดีแล้วจะเข้าถึงสิ่งที่เป็นนิรันดร ก็คือความสุขอันแท้ถาวรเป็นต้น แม้ว่าตัวชีวิตเองจะไม่เป็นนิรันดร แต่ชีวิตที่ยังไม่ตายนี้ สามารถจะรู้จักหรือเข้าถึงสิ่งที่เป็นนิรันดร รู้จักสิ่งที่เป็นนิรันดร แล้วจะทำลายไอ้ความยึดถือในชีวิตชั่วขณะเสีย ถือเอาชีวิตนิรันดรเป็นที่มุ่งหมาย นี้ก็ยังได้ ขอให้เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นแต่เพียงอุบาย อุบายเท่านั้นเอง อุบายสำหรับจะให้ไม่เป็นทุกข์ ทีนี้จะพูดอย่างให้เกียรติว่าเป็นอุบายสำหรับจะให้ได้เปรียบมากในการที่จะมีความสุข ฉะนั้นเราจึงมีวิธีคิด วิธียึด และสอน อบรมสั่งสอนต่างๆกันเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตามหลักพุทธศาสนาชีวิตตามปกติ ตามที่ชาวบ้านคิดกันนั้นน่ะก็เป็นของชั่วขณะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็มีดับ มีเกิดมีดับ และก็หวังอยู่ว่าในระยะที่ยังเกิดอยู่ ยังเป็นอยู่นั้น ต้องการจะให้มันเย็น ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นจึงต้องการชีวิตเย็น และถือว่าความเย็นนั้นเป็นสภาพอันหนึ่งที่มันมีอยู่เองเป็นนิรันดร ถ้าชีวิตเข้าถึงสภาพเย็นหรือความเย็นอันนี้ได้ก็จะมีค่าเป็นของนิรันดรไปด้วยได้ คือว่ายกเอาส่วนที่เป็นร่างกายหรือเป็นวัตถุนั้นออกไป เอาส่วนจิตใจเข้าผูกพันกันกับสิ่งที่เป็นนิรันดร แต่เรื่องมันยุ่งยากลำบาก จึงไม่คิดอะไรมาก คิดแต่ว่าเมื่อยังไม่ตาย ขอให้มีชีวิตเย็นก็แล้วกัน เลยไม่พูดเรื่องตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย พูดแต่เรื่องที่ว่า ในชีวิตนี้ ในชาตินี้ ในชีวิตนี้ เพียงชีวิตนี้ จะพัฒนามันอย่างไร มันจึงจะเป็นของเย็น เป็นชีวิตที่เยือกเย็นตลอดเวลาที่คิดและมีความรู้สึกอยู่ ถ้ามันหมดเรื่องของจิต และหมดเรื่องของกายก็เป็นอันยกเลิกกันไปก็แล้วกัน เอาแต่เพียงว่าตั้งแต่เกิดจนตายให้มีแต่ความเย็น ถ้ามันยังเย็นไม่ได้มาตั้งแต่แรกเกิด ก็ขอให้มันได้เย็นได้ในเวลาอันสมควร ให้มีชีวิตมากพอสมควรแล้วมันเย็นได้ และเย็นไปจนถึงวาระสุดท้าย คือถือเสมือนว่าชีวิตสลายตัว เพียงแต่มีความเย็นนิรันดรของธรรมชาติ เราเรียกธรรมชาติเย็นนิรันดรนั้นว่าพระนิพพาน เป็นเรื่องสมมติ เมื่อฟังไม่ดีก็จะเข้าใจเป็นสถานที่ เป็นบ้านเมือง เป็นอะไรต่อไปอีก มันจะยุ่ง ดังนั้นจึงอยากจะชักชวนให้มองกันแต่ในเรื่องของมนุษย์ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ มีความรู้สึกอย่างมนุษย์ มีความเยือกเย็นในชีวิตเป็นที่พอใจจนถึงวาระสุดท้าย ดับไปด้วยความเย็น ในความเย็น แล้วก็เรียกว่าจบเรื่อง ไม่ต้องการมากกว่านั้น เราจะอยู่เป็นนิรันดรต่อไปอีก ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมให้เมื่อย มันไม่มี ไม่มีความทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ก็พอแล้ว ซึ่งเราดูชีวิตว่าจะมองกันในแง่ไหนดี ถ้ามองอย่างวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยไอ้สิ่งที่รู้สึกได้ด้วยการพิสูจน์ทดลองนั้น จะมองเห็นเป็นชีวิตที่ชั่วขณะ ถ้าจะเอาความเชื่อหรือถ้าเอาคำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นหลัก มันก็เป็นชีวิตนิรันดรได้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ทะเลาะกันในเรื่องนี้
วิธีทำชีวิตชั่วขณะให้ถึงความเยือกเย็นนิรันดร เรื่องนี้มีที่น่าสนใจอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล มีต้นไม้ ๒ ชนิด ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว กินเข้าไปแล้วตาย กับต้นไม้แห่งชีวิต คือชีวิตนิรันดร ซึ่งมนุษย์ไม่ได้แตะต้องเพราะว่าพระเจ้าป้องกันไว้จนมนุษย์แตะต้องไม่ได้ หรือถ้าจะพูดให้มันง่ายคือว่ามันยากกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะเข้าถึงได้ เลยมีชีวิตชนิดที่ตาย เพราะกินต้นไม้ต้นนั้น รับมรดกสืบมาแต่บิดามารดาคู่แรก เป็นมนุษย์ที่ตาย แต่ถ้าได้กินผลไม้ไอ้ Tree of Life นี่ก็จะกลายเป็นนิรันดร นี่แสดงว่า ในกลุ่มคนเหล่านั้นก็มีความคิดอย่างเดียวกับความคิดนิรันดรในที่อื่น ในประเทศอินเดียหรือในที่อื่น ทั้งหมดนี้ พอจะสรุปความได้ว่ามนุษย์เริ่มรู้จักชีวิตเป็น ๒ อย่าง ๒ ชนิดอย่างนี้ ชีวิตชั่วคราว กับชีวิตนิรันดร นี่ก็คือที่เรียกว่าชีวิตคืออะไร สิ่งที่เรียกว่าชีวิตคืออะไร ถ้าจะเอาตามความรู้สึกได้ ด้วยความรู้สึกได้ พิสูจน์ทดลองได้ อะไรได้นั้นก็ ชีวิตก็เป็นของชั่วขณะ นี่แต่เพียงว่าถ้าอาศัยความเชื่อ ความเชื่อเป็นหลัก แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ ก็พูดว่ามันเป็นนิรันดรก็มี ทีนี้ประนีประนอมกันได้ คือว่าไอ้ชีวิตชั่วขณะนี่แหละ ขอให้ทำให้มันเข้าถึงความเย็นนิรันดร ก็จบเรื่องที่นั่น มันก็ไม่มีอะไรเสียเปรียบกัน จะเป็นชีวิตที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ นั่นคือความเยือกเย็นนิรันดร ความไม่ตาย นิรันดร
นี่ชีวิตคืออย่างนี้ ทีนี้จะพัฒนากันอย่างไร รู้จักชีวิตเท่าไรก็พัฒนาได้เท่านั้นน่ะ ฉะนั้นจึงไม่เท่ากัน การพัฒนาชีวิตนี่จึงไม่เท่ากัน พวกรู้ความหมายของคำนี้ลึกกว่า ก็พูดได้มากกว่าหรือลึกกว่า ฉะนั้นพวกรู้น้อย ก็พูดได้น้อยกว่า เอาเป็นว่ามันเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ก็พอ แล้วเมื่อต้องการจะให้เป็นประโยชน์มากที่สุดด้วยการพัฒนา ก็ต้องขวนขวายหาวิธี ใครชอบใจวิธีของลัทธิไหน ศาสนาไหน มันก็ทำไปตามพิธีนั้นๆ คือตามลัทธิ หรือตามลัทธิศาสนาที่ตนพอใจ แล้วก็ต้องไม่ลืมมองในแง่ที่ว่า ศาสนานั่นแหละเป็นคู่มือสำหรับการพัฒนาชีวิต จริงๆแล้วศาสนามันเป็นคู่มือสำหรับการพัฒนาชีวิต
เอ้า, ทีนี้จะดูให้ละเอียดถึงคำ ถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนาๆกันเสียอีกทีหนึ่ง รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตพอสมควรแล้ว ก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นให้พอสมควรด้วย คำว่าศาสนาๆนี่มันเป็นภาษาไทย ที่ยืมมาจากภาษาบาลี โดยบรรยายนะ ไม่ใช่โดยตรง ในภาษาบาลีในประเทศอินเดีย เขาไม่เรียกสิ่งนี้ว่าศาสนา เขาเรียกว่าธรรม คือพระธรรม เรียกพระธรรม ฉะนั้นเราจะถามว่าท่าน ท่านถือศาสนาอะไรนี่ เขาจะถามว่าท่านถือธรรมะของใคร ถือธรรมะของอาจารย์ชื่ออะไร แต่ในเมืองไทย ประเทศไทยนี่ คำว่าศาสนานั้นเอามาใช้ในฐานะเป็นชื่อของศาสนา นี่จึงควรจะรู้ไว้ด้วยว่ามันเป็นไอ้คำว่า ธรรม ในภาษาอินเดียโบราณ เจ้าลัทธิหนึ่งๆจะมีธรรมะของตน สอนประชาชน คือถ้าคนเขาชอบใจธรรมะของเจ้าลัทธิคนไหน เขาก็ถือธรรมะของเจ้าลัทธิคนนั้น นั่นน่ะคือถือศาสนา ในที่นั้นๆจึงมีอยู่หลายๆศาสนา ทีนี้พอมาเป็นภาษาไทยถือเอาคำว่าศาสนาเป็นหลัก ไอ้คำว่าศาสนามันแปลว่าคำสั่งสอน คำว่าศาสนาคำนี้โดยภาษาศาสตร์กับพุทธศาสน์ แปลว่าคำสั่งสอน มันทำให้ ทำให้ ทำให้อึดอัด ทำให้ ให้ลำบาก เพราะว่าระบบศาสนานั้นมันไม่ยึดติดอยู่เพียงคำสั่งสอน ยังจะออกไปถึงการประพฤติปฏิบัติด้วย และตลอดถึงผลที่ได้รับด้วยจึงจะรวมเรียกว่าระบบหนึ่งโดยสมบูรณ์
ที่เราเรียกว่าศาสนา ก็เรียกอย่างขอไปที ถ้าเรียกว่าธรรมะๆนั่นแหละสมบูรณ์ มีชีวิตเป็นเรื่องราว แต่เดี๋ยวนี้เราพูดในกันในภาษาไทยใช้คำว่าศาสนาเสียแล้ว ก็ต้องพูดกันด้วยคำนี้ ทีนี้ขอให้เข้าใจว่าตรงกับความหมายของคำว่าธรรม หรือธรรมะ หรือพระธรรม แม้ตัวหนังสือจะแปลว่าคำสั่งสอน แต่สุดท้ายก็ให้หมายถึงไอ้ระบบในการพัฒนาชีวิต คือระบบการพัฒนาชีวิต เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบของคำพูดก็ได้ หรืออยู่ในรูปแบบของการกระทำโดยตรงก็ได้ หรืออยู่ในรูปแบบของผลที่ได้รับจากการกระทำก็ได้ เกิดเป็น ๓ อย่างขึ้นมา นี่ระบบศาสนาหรือระบบพัฒนาชีวิตนี่ อยู่ในรูปแบบคำพูดที่พูดๆ เขียนๆ พูดๆกันอยู่อย่างนี้ก็มี ที่อยู่ในรูปแบบของการกระทำที่ต้องกระทำลงไปจริงๆ หรือกระทำจนไม่มี อย่างนี้ก็มี หรือจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นผลของการกระทำ อย่างที่เรียกในพุทธศาสนาว่า มรรคผลนิพพานนั้น คือหมายถึงผล หรือพูดให้มันสั้นๆง่ายๆว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นมี ๓ รูปแบบ คือ ศาสนาพูด ศาสนากระทำ ศาสนาผลของการกระทำ นี่ตามที่ใช้อยู่ในหลักสูตรของพุทธศาสนา นี่เมืองไทยใช้คำว่าศาสนา เราก็ใช้คำว่าศาสนา ถ้าใช้อย่างประเทศอินเดียเจ้าของภาษาอินเดียก็ใช้คำว่าธรรม ธรรมะมีอยู่ ๓ รูปแบบคือธรรมะพูด และธรรมะประพฤติกระทำ และธรรมะที่เป็นผลของการประพฤติกระทำ เรียกว่าธรรม ๓ รูปแบบ แต่ในเมืองไทยเรียกว่าศาสนาเสียแล้ว ก็ใช้คำศาสนานี่แหละเป็นหลักพูด และก็มีอยู่ ๓ รูปแบบ ศาสนาจึงมีอยู่ ๓ รูปแบบ คือว่าที่จริงก็มี ๓ ขั้นตอน หรือกว่า เดี๋ยวนี้มัน มันแยกกันเสียจนกระทั่งว่ามีแต่การพูดนี้มาประการหนึ่ง มีแต่การกระทำโดยไม่เล่าไม่เรียนนี่ด้วยอย่างหนึ่ง มันจึงต้องทำให้มันสัมพันธ์กันให้จนได้ มีอยู่ ๓ ชั้น มีอยู่ ๓ ชั้น แต่ว่าจะอยู่ในรูปคำพูด ก็เรื่องเดียวกันนั่นแหละ อยู่ในแบบการกระทำ ก็เรื่องเดียวกันนั่นแหละ ผลของที่ได้รับจากการกระทำ ก็หมายถึงเรื่องเดียวกันนั่นแหละ ถ้าเราพูดกันก็จะพูดเรื่องดับทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่องดับทุกข์ ถ้าเราได้รับผลออกมา ก็เป็นผลคือการดับทุกข์ มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันใน ๓ รูปแบบ ในที่สุดมันก็จับใจความสำคัญของเรื่องทั้งหมดได้ว่า มันเป็นเรื่องดับทุกข์ เรื่องดับทุกข์ ซึ่งคือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา พูดรวมๆเสียว่าการปฏิบัติ การปฏิบัติกระทำตรงๆที่เป็นการดับทุกข์นั่นแหละเรียกว่าศาสนา
ทีนี้ที่เราจะมาแยกเป็นทางกาย ทางจิต ทางปัญญานั้น มันก็เป็นรายละเอียด ที่จริงมันก็รวมอยู่ในคำๆเดียวว่า ดับทุกข์ ทีนี้ถ้าเราพูดถึงการทำสมาธิ การวิปัสสนา มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติทั้งหมด เป็นการ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติทั้งหมดที่เป็นการดับทุกข์ ภาษาบาลีเดิมๆใช้คำว่า ภาวนา คือตรงกับคำเดี๋ยวนี้เรามักจะพูดกันว่าพัฒนา พัฒนาก็แปลว่าทำให้เจริญ ภาวนาก็แปลว่าทำให้เจริญ เพราะฉะนั้นจิตตภาวนาก็แปลว่า ทำจิตให้เจริญ เป็นสมถะสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนาอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นการทำจิตให้เจริญ นี่เป็นตัวของศาสนา และทำให้สำเร็จประโยชน์
ที่จริงเรื่องศีล เรื่องศรัทธานี่ก็เป็นเรื่องทดสอบในเบื้องต้น ถ้ามีศรัทธา ประสงค์จะดับทุกข์ และก็ทำตัวให้ดี ทำระบบการเป็นอยู่ในชีวิตภายนอกนี่ให้ดี แล้วจะเป็นศีล ถ้ามีชีวิตเป็นศีล ดูแล้วมันจะง่ายที่จะทำสมาธิและวิปัสสนา ซึ่งจะให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการโดยแท้จริง แต่เพียง เดี๋ยวนี้เรามองดูทีเดียวหมดก็แล้วกัน แต่ว่าเมื่อทั้งหมดนั้น จะมีกี่แง่กี่มุมกี่จำกี่เจ มันเป็นการกระทำเพื่อความรอด ศาสนาในความหมายที่ถูกต้องคือระบบการกระทำเพื่อความรอด คำว่าความรอดนี้แปลกประหลาดที่สุด มีใช้กันในทุกศาสนา มนุษย์ก็เริ่มรู้จักสิ่งนี้อย่างชัดเจนมานานแล้ว เห็นตาย เห็นความตาย เห็นการรอดจากความตาย ก็รู้จักค้นหาความรอด เพราะฉะนั้นเราพูดได้ว่า ไอ้ระบบศาสนาก็คือระบบแห่งการทำความรอด การเคลื่อนไหวเพื่อความรอดนี่แหละคือศาสนา จะมีรอดกี่ชนิดถึงจะรอด รอดทางกาย รอดทางจิต รอดทางอะไรก็ตาม มันก็เพื่อความรอด แต่ทว่าโดยสรุปแล้ว มันก็มีอยู่ ๒ รอด คือรอดตายเป็นข้อแรก และรอดจากความทุกข์เป็นข้อที่สอง รอดตาย ไม่ตาย มีชีวิตอยู่นี่รอด รอดอันนี้มันไม่ต้องการพระคัมภีร์ พระอะไรมากมายนัก หรือก็ไม่ได้สอนกันโดยตรงนัก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่พอจะรู้ได้ โดยตนเองบ้าง ตามสัญชาตญาณบ้าง แต่ความรอดทางจิตใจ ที่จะให้จิตใจพ้นจากความทุกข์ที่มาจากกิเลสโดยเฉพาะนี่มันลึกซึ้ง มันเร้นลับ มันต้องอาศัยไอ้ความรู้สติปัญญาของผู้รู้ และค้นคว้ากันเป็นพิเศษ และก็พบความรอดในด้านฝ่ายจิตใจ เลยได้ทางรอดทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายกายและฝ่ายจิตใจ มันก็สมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อถามว่าศาสนา สิ่งที่เรียกว่าศาสนาคืออะไร แล้วมันก็ต้องตอบว่าระบบการกระทำความรอด ระบบปฏิบัติเพื่อทำความรอดนี่คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ถ้ามันรอดตายแล้ว อ้าว, ก็มันหมดหน้าที่แล้ว มันก็แล้ว มันก็มาถึงความรอดจากความทุกข์ที่เบียดเบียน ย่ำยี ทรมานอยู่ นี่มันเป็นส่วนที่สำคัญ ถ้าว่าจะให้จำกัดความตามภาษาที่สมบูรณ์ นี้เราก็จะพบว่าระบบทางความรอดสำหรับชีวิตทุกระดับทุกชนิดนี่คือศาสนา ดังนั้นจึงมีศาสนาสำหรับคนที่รู้จักกันดี แล้วก็มีศาสนาสำหรับสัตว์เดรัจฉานซึ่งคนไม่พูดกัน และก็ขอให้มีศาส ระบบศาสนาสำหรับพืช พืชคือต้นไม้อีกด้วย ถ้าเราเห็นได้ชัดเลยว่า แม้แต่ต้นไม้นี่ มันก็ดิ้นรนเพื่อจะรอด ดิ้นรนเพื่อจะรอด มันต้องการจะรอด และต้องการจะเจริญ ไม่ใช่ต้องการแต่จะรอดอย่างเดียว ต้องการจะเจริญงอกงามขึ้นไปด้วย ฉะนั้นสัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องการจะรอดชีวิตและต้องการจะดีกว่าหรือดียิ่งขึ้นไปด้วย คนนั้นไม่ต้องสงสัย ต้องการการรอดชีวิตและก็รอดจากไอ้ตัณหานานาชนิดด้วย ทีนี้ระบบเคลื่อนไหวเพื่อความรอดนั่นแหละคือศาสนา แม้แต่มดแมลงมันก็มีระบบหนีภัยเอาตัวรอด เปี้ยวปูอยู่ในรู มันก็มีรูเป็นที่พึ่ง และมีระบบการวิ่งลงรูนั้นน่ะเป็นศาสนาของสัตว์ประเภทนี้ การเคลื่อนไหวที่เป็นไปเพื่อความรอดนั่นแหละศาสนาของสิ่งที่มีชีวิต เลยมีกันได้ทั้งคน ทั้งสัตว์ และทั้งพืช นี่พูดอย่างที่เรียกว่าเป็นของธรรมชาติ ธรรมดา ตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่บัญญัติโดยคัมภีร์เก่าแก่หรืออะไร ก็เพราะว่าคัมภีร์เก่าแก่นั้นอาจจะบัญญัติไม่ครบ หรืออาจจะบัญญัติด้านเดียว ข้างเดียว คือจะไม่ยอมให้ว่าสัตว์ก็มีศาสนา ซึ่งก็มีพูดกันอยู่ มันร้องนะ พวกที่ว่าสัตว์ไม่มี ไม่มีวิญญาณ มีแต่ชีวิตก็ยังมี อย่างนี้น่าสงสาร ทีนี้ถ้ามันมีชีวิต มันต้องมีศาสนา นี่ขอยืนยันอย่างนี้ ถ้ามันมีชีวิต มันต้องการระบบรอดชีวิตและเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้ามีชีวิต ต้องมีระบบศาสนาเป็นคู่กันอยู่เรื่อยเสมอไป ตามมาก ตามน้อย ตามสูง ตามต่ำ อย่างว่าเปี้ยวหรือปูก็มีวิธีวิ่งหนีลงรูนั้นเป็นศาสนาของมัน หรือว่ามันจะทำอะไรให้เจริญยิ่งไปกว่านั้น มันก็มีไปตามแบบของสัตว์เหล่านั้น ในตัววิวัฒนาการนั้นน่ะ ต้องการอย่างยิ่งความรอด ต้องการความรอดอย่างยิ่งในตัววิวัฒนาการ เพราะว่าถ้าไม่มีความรอด แล้วมันวิวัฒนาการไม่ได้ มันไม่รู้จะวิวัฒนาการกันที่ไหน มันต้องมีความรอดชีวิตเป็นพื้นฐานเสียก่อน แล้วมันจึงจะวิวัฒนาการสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนถึงสูงสุด
สิ่งที่เรียกว่าศาสนาก็คือระบบการทำเพื่อความรอดของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ทุกระดับ เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องการจะรู้กันอย่างนี้ เพราะว่าเราได้รับการผูกพันให้ติดอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่งตามที่บัญญัติไว้แล้วอย่างไร แล้วก็สนใจศึกษาผูกพันอยู่แต่กับศาสนานั้นๆ โดยไม่มองศาสนาอื่น หรือถ้ามองศาสนาอื่น ก็มองในฐานะเป็นของผิด หรือว่าอันตราย อย่างนี้ก็เลยไม่ต้องรู้กัน ทีนี้ขอให้มองอย่างที่ว่ามันเป็นยุติธรรม เป็นสามัญที่สุด ยุติธรรมที่สุด ถึงแม้ว่าเราจะได้รับการมอบหมายให้ถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เราก็จะได้มองกว้างออกไปนอกขอบเขตอันนั้น และจะได้เห็น ได้สังเกตเห็นทั้งหมด แล้วอาจจะเข้าใจไอ้สิ่งที่เรียกว่าศาสนาได้โดยสิ้นเชิง ถ้าศาสนิกของศาสนาใดมองแต่ในขอบเขตอันแคบในศาสนาของตน คือเท่าที่พระคัมภีร์ของตนกล่าว แล้วไม่ยอมรับฟังอะไรหมด มันก็รู้แคบแหละ รู้ไม่หมด นั้นคือจะมองไม่เห็นไอ้ความหมายอันลึก อันซ่อนเร้นอยู่ในถ้อยคำที่ตนยึดถือเอาไว้อย่างตื้นๆอย่างนี้มันก็เสียหมดแหละ มันก็ขาดทุน
แต่ถึงอย่างไรก็ดี เดี๋ยวนี้มันก็เป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่าคนมีศาสนาตามความพอใจของตน หรือตามการได้รับอบรมมอบหมายมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตามที่บิดามารดาโดยเฉพาะจัดให้ นี้ดูๆก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก มันจำกัด มันจำกัดไว้ในเขตจำกัด มันควรจะเปิดโล่งไปหมด ให้มองดูได้ทุก ทุกศาสนา แล้วพอใจที่จะเลือกในสิ่ง ส่วนที่ดี ที่มีประโยชน์ของศาสนาไหนก็ได้ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตน อาตมาคิดว่าอย่างนี้แหละจะได้รับประโยชน์ มนุษย์จะได้รับประโยชน์จากการมีศาสนาของมนุษย์ ชนิดที่ไม่ๆ ไม่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด ไม่กักขังไว้ในขอบเขตอันจำกัด
เดี๋ยวนี้ตามที่เห็นกันอยู่ หรือพูดกันอยู่ หรือว่าจะได้รับ ยอมรับกันอยู่น่ะ คือว่ามันก็มีอยู่ว่ามี ๒ ศาสนา คือศาสนาที่ถือว่า หรือศาสนาของหมู่ หมู่ชนที่ถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง กับศาสนาที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นผลของ Evolution ของวิวัฒนาการ และเข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็คงจะทราบเรื่องนี้ดี เพราะเป็นคำที่ใช้กันอยู่ในภาษาศาสนา พวก พวกคนที่จะทำความเข้าใจผู้อื่น ก็มักจะตั้งข้อสังเกตว่า ไอ้คน คนๆนี้มันถือศาสนาอะไร คือถือศาสนา Creationist ถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง หรือว่าคนๆนี้มันถือลัทธิ Evolutionist สิ่งทั้งปวงเป็นเพียงวิวัฒนาการตามกระแสของธรรมชาติ เรื่องที่จะพูดมันต่างกันมาก ถ้า ถ้าว่ามันจำกัดกันไปอย่างนี้แล้ว มันก็ มันก็จะพูดกันคนละแบบคนละแนวทีเดียว นี่เพราะว่าถูกจำกัดไว้แคบ ให้รู้ในวงแคบ แต่ถ้าจะหวังดีต่อกัน มันก็มีทางที่จะทำความเข้าใจกันได้ว่าพระเจ้านี้คืออะไร ถ้ามองไปอย่างให้ ให้ละเอียดถี่ถ้วน เดี๋ยวมันก็จะกลายเป็นกฎแห่งวิวัฒนาการไปโดยไม่ทันรู้ตัว สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้านั้นกลายเป็นกฎแห่งวิวัฒนาการ Evolution ไปโดยไม่รู้ตัว มันก็เลยไม่ต้องทะเลาะกัน อย่างนี้แหละเขาเรียกว่าพูดกันคนละภาษา ตามหลักภาษาคนและภาษาธรรม พูดเอาคนเป็นหลัก เขาเรียกว่าภาษาคน พูดเอาสิ่งที่ไม่ใช่คนเป็นหลัก ก็เรียกว่าภาษาธรรม ถ้าพูดว่าพระเจ้าเป็นคนสร้างสิ่งต่างๆมา นี่เรียกว่าคือภาษาคน ถ้าพูดกันแต่กฎวิวัฒนาการมิใช่คนบันดาลสิ่งทั้งปวงเป็นไป นี่ก็เรียกว่าภาษาธรรม เรื่องมันเลยไปด้วยกัน เป็นเรื่องเดียวกัน แยกกันเพียงว่าพูดภาษาคนหรือพูดภาษาธรรม เพราะฉะนั้นทว่าเรื่องของพวกนี้ทำความเข้าใจกันมาเพียงนี้ ไอ้ที่เราถืออยู่เป็น ๒ พวกนั้นก็จะเลิก เลิกรากันไปได้ ไม่ต้องยันกันอยู่เป็น ๒ พวก แต่เดี๋ยวนี้ตามที่มีอยู่จริงในโลกนั้นมันยืนยันกันด้วยทิฐิมานะ ฉันถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง และพวกหนึ่งก็ถือว่า ฉันถือว่ากฎวิวัฒนาการเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง ทีนี้พวกหนึ่งจะให้พระเจ้าเป็นเจ้าของกฎวิวัฒนาการ พวกนี้ก็ไม่ยอม มันก็เลยตกลงกันไม่ได้ จะให้พระเจ้าเป็นเจ้าของกฎธรรมชาติทั้งหลาย กฎวิวัฒนาการทั้งหลาย พวกนี้ก็ไม่ยอม เพราะเห็นว่าพระเจ้าก็ต้องมีไอ้สิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วยเหมือนกัน จะเป็นขึ้นมาเองเฉยๆ มันไม่มีเหตุผลตาม ตามความรู้สึกในสามัญสำนึก เดี๋ยวจะถามว่าใคร ใครสร้างพระเจ้า ทางนี้ก็ตอบว่าพระเจ้าเป็นตัวเองเท่านั้นพอแล้ว กฎวิวัฒนาการสร้างให้เกิดพระเจ้า นี่เพราะว่ามีแต่ผลร้ายคือทะเลาะกัน เพียงแต่ทำความเข้าใจให้มันเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ โดยคิดเสียว่าความมุ่งหมายของพระเจ้าก็เพื่อให้รอดและดีขึ้น ส่วนความมุ่งหมายของกฎวิวัฒนาการก็เพื่อให้รอดและดีขึ้น นี้ก็จะไปด้วยกันได้ ถ้าพระเจ้าเป็นหลัก ก็ต้องบอกว่าพระเจ้ามีความประสงค์จะให้รอดและดีขึ้น ถ้าเอา Evolution เป็นหลัก กฎวิวัฒนาการเป็นหลัก ก็มุ่งหมายจะให้รอดและดีขึ้นด้วยเหมือนกัน มันเลยเป็นเรื่องเดียวกันไปเลย ทั้งพระเจ้าและทั้งกฎวิวัฒนาการ แล้วเราก็อาจจะแลกเปลี่ยนความรู้กันได้หมดทั้งหมดทั้งสิ้น การที่ผูกขาดไว้ว่าเป็นระบบของตัว มันก็กลายเป็นสมบัติกลาง สมบัติกลางของธรรมชาติ พระเจ้าอย่างบุคคลนั้นพูดภาษาคน พระเจ้าอย่างมิใช่บุคคลนั้นพูดอย่างภาษาธรรม พระเจ้าคือกฎของธรรมชาตินี่พูดอย่างภาษาธรรม พระเจ้าพูดอย่างบุคคล มีความรู้สึกอย่างบุคคล คือภาษาคน เดี๋ยวนี้ความเข้าใจกันไม่ได้เรื่องภาษานี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่ทั่วไปทั้งโลกเลย ทั่วไปทั้งโลกเลย เมื่อรู้จักพระเจ้าทั้งสองความหมาย พระเจ้าอย่าง Personal และพระเจ้าอย่าง Non-Personal และก็ มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทะเลาะ ในหมู่คนที่พูดอย่างอื่นไม่ได้ ต้องพูดให้เป็นบุคคลมันก็ต้องพูดอย่างบุคคล ในหมู่คนที่พูดอย่างอื่นได้ หรือพูดอย่างบุคคลไม่ค่อยได้ประโยชน์ ต้องพูดไม่เป็นอย่างบุคคล นั่นแหละขอให้เห็นใจ เห็นใจผู้ที่บัญญัติศาสนา จะบัญญัติศาสนาในหมู่คนที่ต้องการจะให้มีผู้สร้าง ให้มีผู้ช่วย ให้มีผู้คุ้มครอง หรือว่าเรียกว่าอาศัยผู้อื่นนั้นก็ต้องพูดอย่างพระเจ้าชนิดที่เป็นอย่างบุคคล ถ้าพูดอย่างที่ ที่ตรงกันข้าม เป็นไปในลักษณะช่วยตัวเอง มันก็พูดอย่างมิใช่บุคคล ฉะนั้นพระเจ้าสองชนิดนี้ ทั้งที่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่ก็ถูกศาสนิกแห่งศาสนานั้นๆทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก ขัดขวางกัน จนเป็นปัญหาทางศาสนาขึ้นมา นี่ขอให้นึกกันถึงเรื่องนี้ว่า เราสูญเสียกำลังงาน สูญเสียเวลา สูญเสียความคิดไปเป็นอันมากในการขัดแย้งกันระหว่างศาสนา ถ้าเรามารวมกัน แล้วเลือกคัดเอาแต่สิ่งที่มันทำสำเร็จประโยชน์ได้อย่างไรอย่างไร เอามาทำ เอามาใช้ มันก็จะได้ดับทุกข์ได้หมด ได้เร็วกว่า กว้างขวางกว่าและเร็วกว่า
ตัวอย่างที่จะพูดให้ฟังก็มี อย่างเช่นในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้น มีคนกล่าวว่า พวกหนึ่งถือว่าสุขหรือทุกข์ ความสุขหรือความทุกข์นี่มาจากกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน อีกพวกหนึ่งถือว่าสุขหรือทุกข์นี่มาจากพระเจ้าบันดาลให้ แต่พุทธศาสนาปฏิเสธทั้งสองอย่าง ปฏิเสธทั้งสองอย่าง และถือว่าสุขหรือทุกข์มาจากการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา อันนี้มีความสำคัญมาก ขอให้ตั้งใจฟังให้เข้าใจเถอะว่า พวกหนึ่งถือว่าความสุขความทุกข์ของเรานี่ที่ได้รับอยู่นี่มาจากกรรมเก่าในชาติก่อน นี้พวกหนึ่ง พระพุทธเจ้าว่าไม่ๆๆ ไม่ถูก และพวกหนึ่งถือว่ามาจากพระ พระเป็นเจ้า สุขทุกข์ทั้งหลายมาจากพระเป็นเจ้า พุทธศาสนาจะปฏิเสธว่าไม่ๆๆ พุทธศาสนาถือว่าสุขหรือทุกข์นี่มาจากการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎเรื่องอิทัปปัจจยตา ถ้าเราปฏิบัติถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา มันก็มีความสุข ปฏิบัติผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาก็มีความทุกข์ แม้ว่าจะมีกรรมเก่าติดมา กรรมเก่าติดมากำลังจะให้ผล คนนี้มันปฏิบัติถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตาเสีย ไอ้กรรมเก่ามันก็ต้องหงาย หงายหลังไปเอง หรือว่าพระเจ้าบันดาลจะให้เป็นทุกข์ จะให้เป็นทุกข์ด้วยอะไรก็ตาม ไอ้คนนี้ปฏิบัติถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตาที่จะไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่มีอยู่ ๓ อ่า, ๓ แขนงอย่างนี้ ที่เรียกว่าถือกันอย่างเฉียบขาด อย่างผูกขาด คือเอาตนขึ้นเป็นของตนๆ เชื่ออย่างนี้เท่านั้น เชื่ออย่างอื่นไม่ได้ นี่ถ้ามนุษย์จะคิดใคร่ครวญดูให้ดี สามารถที่จะรวมไอ้เหตุผลเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ ก็จะเป็นผลดี และอันนี้เป็นเหตุผลอันสำคัญที่ว่าจะต้องมี จิตตภาวนา จิตตภาวนาแปลว่า ทำจิตให้เจริญ หรือทำกรรมฐาน ทำสมถะ ทำวิปัสสนานั่นแหละ เรียกว่า จิตตภาวนา เพื่อเป็นเครื่องมือใช้บังคับจิตให้เดินไปถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา หรือผิดไม่ได้ แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ สามารถจะควบคุมความสุขและความทุกข์ไว้ได้โดยกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ในกำมือของเรา โดยที่เรามีความรู้เรื่องกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาอย่างถูกต้องดีที่สุดแล้ว และก็ใช้มันให้ถูกต้องกับกรณี ความทุกข์เกิดไม่ได้ คือถ้าความทุกข์เกิดได้ ก็สามารถขจัดให้หายไป ความสุขยังไม่เกิด ทำให้เกิดขึ้นมาได้ หรือถ้าเกิดมาแล้ว รักษาเอาไว้มาก ให้มากขึ้นไปก็ได้ นี่ นี่เรียกว่า มันๆๆคนละแนว เรียนกันคนละแนว ถ้าเชื่อว่าสุขหรือทุกข์นี่มาจากกรรมเก่าในชาติก่อน มันก็นอนๆๆรอ ให้กรรมให้ผลเท่านั้น แก้ไขไม่ได้ ถ้ามันเชื่อว่าเป็นผลของกรรมชาติก่อน มันก็ต้องนอนรออยู่ให้กรรมให้ผลไปเท่านั้น ต่อสู้อะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือถ้าว่ามาจากพระเจ้า ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ต่อสู้อะไรไม่ได้ ต้องแล้วแต่พระเจ้า แต่ถ้าว่ามันแล้วแต่ปฏิบัติให้ถูกหรือผิด ปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติผิดต่อกฎเรื่องความสุขหรือความทุกข์นี่มันทำได้ มันขจัดความทุกข์ออกไปได้ หรือทำให้ความสุขเกิดขึ้นมาได้ นี้มีอยู่เป็น ๓ ค่ายอย่างนี้ จะมีวิธีใดที่จะทำให้เป็นจริงกันได้ก็ลองคิดดู จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับมนุษย์ที่จะอยู่กันอย่างมีความสุข แต่ถ้าจะถือตามหลักพุทธศาสนา ก็มีคำเดียวเท่านั้นคือว่า ศึกษากฎอิทัปปัจจยตา คือว่าเกิดความทุกข์อย่างไร เกิดความสุขอย่างไร หรือดับทุกข์อย่างไร แล้วก็ทำไปอย่างนั้น โดยไม่ต้องคำนึง ไม่ต้องคำนึงถึงไอ้กรรมเก่าชาติก่อน หรือพระเจ้าผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรไม่ต้องทั้งนั้น มีแต่ทำให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตาชนิดที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ และก็ไม่มีความทุกข์จนวาระสุดท้าย จนกระทั่งจะดับจิตลงไป จะสิ้นชีวิตลงไป ก็ดับ มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ และก็ขอให้รู้ไว้เลยว่าการที่จะเป็นได้อย่างนั้น จะได้ด้วยการกระทำให้เรียบร้อยในเรื่องจิตตภาวนา คือการอบรมจิต ซึ่งมีอยู่หลายขั้นตอน การอบรมจิตมีอยู่หลายขั้นตอน เมื่อครบทุกขั้นตอนแล้วก็สามารถควบคุมจิต บังคับจิตได้ ไม่เป็นทุกข์ได้ จิตไม่เป็นทุกข์ได้ สามารถดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์เลยจนตลอด จนนาทีสุดท้าย
จิตตภาวนา ระบบจิตเห็นจิตนานาชนิดนั้น มันมุ่งหมายที่นี่ มุ่งหมายที่จะดำรงจิตไว้ในลักษณะที่เป็นทุกข์ไม่ได้ และไม่ๆๆ และก็ไม่ไปทะเลาะกับใครที่ไหน ไอ้เรื่องอะไร เรื่องกรรมเก่า หรือเรื่องพระเป็นเจ้า หรือเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องโชคชะตาราศีดวงดาว ฤกษ์ยามต่างๆ ไม่มี มันไม่มี คือสามารถจะมีจิตดำรงอยู่ในลักษณะที่สงบเย็น สงบเย็น สงบเย็น เป็นสุขในส่วนตัว และก็ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง พร้อมกันไปในตัว ที่ ที่เรียกว่าดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ดำรงชีวิตอย่างถูกต้องก็คือว่าไม่ ไม่เป็นทุกข์ และก็ไม่ ไม่เป็นทุกข์ต่อใครทั้งนั้น และก็มีแต่ประโยชน์ มันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นทุกข์ต่อทุกฝ่าย มีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย นี่ความมุ่งหมายของการพัฒนาจิต ตามหลักเกณฑ์ของการพัฒนาจิตที่เรียกว่าพุทธศาสนา
ถ้าจะศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไอ้ความคิด ทฤษฏีบรรยายเหล่านี้ดู มันก็พอจะมองเห็นได้ คือมนุษย์เริ่มรู้จักลึกเข้าๆ สูงเข้าๆ จนกระทั่งสุดท้ายสูงถึงขนาดที่ว่าจะเอาชนะความทุกข์ได้จริง เรื่องชั้นต้นที่สุดก็เป็นเรื่องของไอ้ปัญญาอ่อน เชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีสางอย่างที่คนป่าเขาเชื่อ และก็สูงๆขึ้นมา จนถึงว่ามีสิ่งสูงสุดในระดับพระเจ้า หรือเทวดา ทีนี้อีกทางหนึ่งไม่เชื่ออย่างนั้น เชื่อว่ากรรมที่กระทำไว้แต่ปางก่อนมาให้ผล ถึงต่อมาสติปัญญามันแหลมคมขึ้นมากกว่านั้น มันก็บอกว่าไม่ต้องๆ มันอยู่ที่ทำผิดหรือทำถูกต่อจิต ต่อพฤติของจิต ที่เรียกว่าเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฎิจจสมุปบาท ทำอย่างนั้นทุกข์เกิด ทำอย่างนี้ทุกข์ดับ มันกลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป ปัญหาเรื่องสุขทุกข์ของมนุษย์มันกลายเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ทางจิตไป ไม่เป็นเรื่องของไอ้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่เป็นเรื่องกรรมเก่าบุญเก่าอะไรกันอีกต่อไป ดังนั้นพุทธศาสนาจึงมุ่งที่จะฝึกฝนจิต ฝึกฝนจิต อบรมจิต พัฒนาจิต ถ้าจะเชื่อกรรมเก่า พูดถึงกรรมเก่า ซึ่งก็ยังมีเชื่อกันอยู่มาก ก็ ก็ถือว่าเชื่อเพราะง่ายๆ (นาทีที่ 71:10) หรือจะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมแล้วก็ยิ่งโง่เง่าไปกว่านั้นอีก แต่เชื่อการกระทำผิดหรือกระทำถูกต่อกฎความจริงของจิตใจตามธรรมชาติที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา
เดี๋ยวนี้เราถูกกระทำให้เชื่อข้างเดียว ข้างใดข้างหนึ่ง จนไม่อาจจะรับฟังความคิดของพวกอื่น มันก็เลยได้ทะเลาะกัน จนถึงกับทำร้ายเบียดเบียนกันก็มี เพราะว่าไม่ได้มีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือว่าจะถือว่าทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอยู่บ้างเวลานี้ก็น้อยมาก ยังน้อยมาก ยังไม่พอที่จะเข้าใจกันได้ถึงที่สุด ดังนั้นเราจึงร่วมมือกันไม่ได้ หรือร่วมมือกันได้น้อยมาก ถ้าเรามีการทำความเข้าใจกันให้ถึงที่สุด แล้วก็จะร่วมมือกันได้จนถึงที่สุดในการที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลกนี้ สำหรับทุกคน สำหรับทุกคน นี่ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่าศาสนาคืออะไร ศาสนาคือระบบทำให้รอดจากความทุกข์ของสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีทั้งแก่คน และแก่สัตว์ และแก่ต้นไม้ เดี๋ยวนี้คนในโลกกำลังแบ่งเป็น ๒ พวก พวกถือพระเจ้ากับถือกฎวิวัฒนาการ ไม่ยอมทำความเข้าใจ ปรับปรุงให้เป็นเรื่องเดียวกันเสียเลย เราก็มีปัญหาเรื่องศาสนาคาราคาซังอยู่ต่อไป
เอ้า, ทีนี้ก็ดูกันอีกต่อไปถึงสิ่งที่เรียกว่า พัฒนา ถ้าเรากำลังพูดกันเรื่องชีวิตจะพัฒนา พัฒนาชีวิตตามหลักของศาสนา ทีนี้ก็ดูกันบ้างว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า พัฒนาๆนั่นคืออะไร อันนี้น่า น่าหัว คือว่าภาษาไทยไปยืมเอาคำนี้มาใช้อย่างไม่ตรงตามความหมายเดิม คำว่า พัฒนาหรือวัฒนานี้ ในภาษาบาลีมีความหมายก็คือว่ารกขึ้นเท่านั้นน่ะ รกมาก หนาขึ้น มากขึ้น หนาขึ้น รกขึ้นนั้นเรียกพัฒนา ไม่ได้หมายความว่าดีหรือถูก ในภาษาบาลีการพัฒนาเป็นอย่างนั้น เราจะใช้คำที่ปลอดภัยแทนคำนี้ ก็มีคำว่า ภาวนา จิตตภาวนา ทำจิตให้ดี สงบตัณหา ส่วนจิตตพัฒนานั้นไปทางกิเลสก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทยไม่ใช้แล้ว ในภาษาไทยไปใช้เป็นคำที่มีความหมายที่ดี คือเป็นไปในทางดีแล้วเราก็ใช้ได้ ก็ใช้ได้ แต่นี่บอกให้รู้ว่าคำเดิมในภาษาบาลีนี่ คำว่าพัฒนาๆนั้นมันแปลว่ามากขึ้นเท่านั้นน่ะ มากขึ้นจนรก เส้นผมมันรก ผมมันรกก็เรียกผมมันพัฒนา ต้องตัด หญ้ารกก็เรียกว่าหญ้ามันพัฒนา ใช้คำว่าภาวนา ไม่มีปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้ ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ทำให้เจริญ คำว่าพัฒนาได้ใช้กันมาจนยอมรับกันแล้ว ก็เป็นอันว่าใช้ มองดูทีเดียวหมดเกี่ยวกับพัฒนา จะพบว่าไอ้คนที่ยังไม่พัฒนาทางกายทางใจ ทางจิตใจโดยเฉพาะ คำว่าทางกายเดี๋ยวนี้หมายความว่าตายกันอยู่แล้ว ก็เหมือนกับว่าตายกันอยู่แล้ว แต่มันไม่พัฒนาหรือไม่มีจิตตภาวนาโดยถูกต้องนี่ ก็คือคน ปุถุชน ปุถุชน เท่ากับว่าคนที่ยังไม่มีศาสนา ยังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีอะไร เป็นคนดิบๆ หนาๆไปด้วยกิเลสตามธรรมดา ทีนี้คนที่เริ่มเจริญเรื่องพัฒนานี่ ก็เรียกว่ากัลยาณปุถุชน คือปุถุชนชั้นดี ทีนี้คนที่พัฒนาถึงที่สุดแล้ว ก็คือพระอริยะเจ้า คือพระอริยะชน พระอริยะเจ้า นี้ไม่พูดทางวัตถุภายนอก ถ้าทางวัตถุภายนอก ต้องเอาความมากด้วยวัตถุเป็นความเจริญ นี่เดี๋ยวนี้เราเอาเรื่องของไอ้ทางจิตใจเป็นหลัก ไม่พัฒนาจิตใจ ไม่มีจิตอันเจริญเสียเลยก็เป็นปุถุชน จิตเริ่มเจริญ เริ่มถูกต้องก็เป็นปุถุชนชั้นดี ทีนี้ก็พัฒนาได้ถึงที่สุด เจริญถึงที่สุดก็เป็นพระอริยะเจ้า คำนี้เลยกลายเป็นคำสำหรับไปวัดคนทั้งหมดในโลกว่าเขาพัฒนาแล้วหรือยัง ไม่พัฒนาเสียเลย หรือพัฒนาบ้างแล้ว หรือว่าพัฒนาถึงที่สุดแล้ว ในเมื่อมันเป็นเรื่องทางจิต ก็ต้องใช้ระบบทางจิตนี่เป็นเครื่องพัฒนา
ธรรมะที่จะเป็นเครื่องพัฒนาจิตมีอยู่เป็นชั้นๆ ชั้นแรกที่สุดก็คือศรัทธา ความเชื่อที่ถูกต้อง และถัดมาก็เป็นเรื่อง ศีล เป็นเรื่องความถูกต้องทางกายทางวาจา และต่อมาก็เป็นเรื่องสมาธิและปัญญา เป็นเรื่องความถูกต้องทางจิต เรื่องศรัทธานี่เป็นเรื่องของคนที่ยังไม่รู้เองได้ ต้องเชื่อตามที่มีบัญญัติไว้อย่างไร มันก็แปลว่าเชื่อ ลงทุนด้วยความเชื่อ เชื่อโดยที่ยังมองไม่เห็น ด้วยอำนาจศรัทธาหรือความเชื่อนั่นแหละพาไปให้ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้แล้วอย่างถูกต้อง คือถ้าบัญญัติไว้ผิด มันก็เสียหายหมด ถ้ามันโชคดี ได้ไปสู่การบัญญัติที่ถูกต้อง ไอ้ศรัทธานั้นก็เป็นประโยชน์ เป็นเบื้องต้นที่ทำให้เข้ามาในขอบเขตของการพัฒนา นี่แปลว่าพื้นฐานที่ดึงเข้ามาสู่การพัฒนานั้นมันก็คือศรัทธา ทีนี้พัฒนากายวาจาให้ถูกต้องนี้เรียกว่า ศีล มีศีล ประพฤติศีลอย่างดี พัฒนากายกับวาจาให้ถูกต้อง ทีนี้ก็มาพัฒนาจิตด้วยสมาธิ ด้วยสมาธิทำให้จิตถูกต้อง แล้วก็พัฒนาด้วยปัญญา ให้ปัญญา ให้สติปัญญาถูกต้อง มันอยู่เป็นชั้นๆน่ะ ความเชื่อถูกต้อง แล้วกายวาจาถูกต้อง แล้วจิตถูกต้อง แล้วสติปัญญาถูกต้อง เท่าที่หลักปฏิบัติมีอยู่เป็นที่แน่นอน พัฒนาใน ๔ ขั้นตอนนี้
ความสำคัญที่มีค่ามากก็อยู่ที่พัฒนาจิตให้ถูกต้อง พัฒนาสติปัญญาให้ถูกต้องอันนี้จะเปลี่ยนสถานะของบุคคล จากปุถุชนไปสู่การเป็นพระอริยะเจ้า จากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์ ฉะนั้นมีศรัทธาที่ถูกต้อง มีความเชื่อที่ถูกต้อง และก็มี มีการกระทำทางกาย ทางวาจาให้ถูกต้องไปตาม ทำจิตถูกต้องไปตาม สติปัญญาถูกต้องไปตาม มันก็พบความจริงอันสุดท้าย คือชีวิตที่เย็น ไม่เป็นทุกข์จนตลอดชีวิต นี่คำว่า ว่าพัฒนา
แล้วทีนี้อย่างไรถูกต้อง เช่นว่ามีศรัทธาถูกต้อง มีศีลถูกต้อง มีสมาธิถูก ถูกต้อง มีปัญญาถูกต้อง อย่างไรเรียกว่าถูกต้อง ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่าความถูกต้องนั้นคือการพิสูจน์ได้อยู่ว่า ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ผลอยู่ว่า ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนี้คือความถูกต้อง เปิดโอกาสให้ไม่เชื่อแม้แต่คำของพระพุทธเจ้า พระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้านั้นเปิดโอกาสให้ไม่ต้องเชื่อแม้แต่คำพูดของตถาคต ไม่ต้องเชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ แต่ว่าให้พิสูจน์ ให้พิสูจน์ ให้ทดลอง ให้พิสูจน์ จนเห็นว่ามันไม่ ไม่เป็นประโยชน์ อ่ะ, มันไม่เป็นโทษต่อฝ่ายใด มีแต่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั้นถือว่านั้นถูกต้อง แล้วก็ทำได้ เรื่องกาลามสูตรนี่เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก ให้ ให้เสรีภาพแก่ความเชื่อ เกี่ยวกับศรัทธา เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า ไม่ต้องเชื่อตามที่เขาพูดบอกๆๆกันมา ไม่ต้องเชื่อตามที่เขาทำตาม ทำตาม ทำตามกันอยู่ ไม่ต้องเชื่อตามที่เล่าลือกระฉ่อนทั่วไปทุกหนทุกแห่งว่าเป็นอย่างนั้น และก็ไม่ต้องเชื่อว่ามันมีข้อความนี้อยู่ในไอ้คัมภีร์ และก็ไม่ต้องเชื่อในการคิดอย่างตรรกะ คิดอย่างตรรกะ อย่าง Logic และก็ไม่ต้องเชื่ออย่างวิธีคิดโดยนัยยะคือ Philosophy ผลของความคิดอย่างตรรกะหรืออย่าง Philosophy นี้ยังเอาเป็นประมาณไม่ได้ ต้องมาดูกันอีก อีกที และก็ไม่เชื่อตามที่เราก็มักจะคิดอย่างนั้น หรือว่ามันถูกเป็นไปด้วยความคิดของเรา หรือว่าผู้พูดอยู่ในฐานะที่พอเชื่อได้ หรือว่าธรรมะนี้เป็นอาจารย์ของเรา
มันไม่ได้หมายความว่าห้ามไม่ให้ฟังเลย ไม่ใช่ ให้ฟัง ฟังดู สังเกตดูตามที่เขาพูดเขาเชื่อกัน แล้วมาใคร่ครวญดูว่ามันจะเกิดผลอะไรขึ้นมา ถ้ามันเกิดผล จะเกิดผลดีแก่ทุกฝ่ายนั้นก็อย่า... (นาทีที่ 86:01) เดี๋ยวก็ลองทำดู ลองทำดูก่อนแล้วถึงเชื่อ และก็ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงก็ทำยิ่งๆขึ้นไปถึงที่สุด นี่การมีศรัทธาชนิดที่เฉียบขาด แล้วตามหลักธรรมะในพุทธศาสนานี่ถือว่า ยังไม่มีศรัทธาถึงที่สุดจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์เสียก่อน จนกว่าคนนั้นจะหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นกลางเสียก่อน เขาจึงจะมีศรัทธาถึงที่สุดว่าที่เชื่อนั้นจริง คือดับทุกข์ ดับทุกข์ได้หมดแล้ว แล้วจึงจะเชื่อ อ้าว, สิ่งที่เชื่อนั้นจริง ส่วนเรื่องศีลนี่ก็เห็นๆกันอยู่ ไม่ต้องอธิบาย ส่วนสมาธิก็เป็นเรื่องต้องฝึก เรื่องวิปัสสนาก็เป็นเรื่องต้องฝึก นี่คือการพัฒนา
ทีนี้อยากจะเพิ่มขึ้นอีกสักสิ่งที่จะต้องรู้จัก จะต้องรู้จัก คือสิ่งที่เป็นคู่ชีวิตโดยแท้จริง คนเขาถือว่าคนที่เขารักที่สุดเป็นคู่ชีวิต สามีภรรยา อะไรก็ตาม เป็นคู่ชีวิต แต่ก็ทำให้ชีวิตตาย ฉิบหายวอดวาย ไอ้ที่เป็นคู่ชีวิตโดยแท้จริงนี่คือวิธีทางรอด หรือชีวิตพัฒนานั่นแหละ ธรรมะนั่นแหละ ธรรมะเป็นชีวิตจะพัฒนา คือสิ่งที่ทำให้เกิดความรอดต่อชีวิตนั่นเป็นคู่ชีวิต ศาสนาให้รอดชีวิตทางกาย ศาสนาให้รอดชีวิตทางจิตใจ ทางสติปัญญา นี่คู่ชีวิต ส่วนผัวหรือเมียนี่ไม่แน่นอน บางทีเขาก็ทะเลาะกัน เขาก็ฆ่ากัน แต่ที่แน่นอนที่สุดคือธรรมะที่ช่วยให้รอด ช่วยให้รอดในทุกกรณี นี่คู่ชีวิต ที่ต้องพัฒนาให้เกิดมีขึ้นใน ในตนโดยวิธีที่มีอยู่ ในที่สุดมันก็เกิดความรอด สิ่งที่เรียกว่าความรอด คำว่าความรอดนี่เป็นคำที่ไพเราะที่สุด ไม่มีคำไหนจะไพเราะเท่า ไม่มีปัญหาโดยประการทั้งปวง
เรามีหน้าที่ที่สูงสุดคือพัฒนาชีวิตจิตใจ เรามีหน้าที่สูงสุดคือพัฒนาจิต หรือชีวิต หรือจิตนี่ เพราะฉะนั้นจึงมีการกระทำที่เป็นการพัฒนาจิตอยู่เสมอ หรือทำหน้าที่ๆ หน้าที่ๆที่จะช่วยให้รอด หน้าที่ที่จะช่วยให้รอดนั้นมีการกระทำอยู่เสมอก็เป็นการพัฒนาที่แท้จริง ที่รวดเร็ว ที่รุนแรง เมื่อได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องอยู่ก็พอใจ แล้วเป็นสุขทั้งวันทั้งคืน สามารถจะมองเห็นสิ่งที่ทำมาถูกต้อง คือถูกต้อง แล้วก็พอใจๆ และเป็นสุข และก็อาจจะเป็นสุขได้เมื่อเวลาปฏิบัติหน้าที่นั่นเอง อย่าไปหวังจะตายแล้วหรือว่าจะอะไรให้มันยืดยาว ถ้าถือตามหลักพุทธศาสนาก็ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในบทว่า สันทิฏฐิโก อกาลิโก ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่มันพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นดับทุกข์ เย็น เป็นชีวิตเย็น ทำอะไรถูกต้องไปหมด หน้าที่โดยตรง หน้าที่ออฟฟิศโดยตรงก็ทำถูกต้องหมด หน้าที่บริหารร่างกายก็ทำให้ถูกต้องหมด จะรับประทาน จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ จะล้างจาน จะกวาดบ้าน จะซักผ้าก็ตาม ให้มันถูกต้อง และก็พอใจในขณะที่กระทำอยู่ นี่ขอให้สังเกตดู มันประหลาดที่สุด คือว่ามีโอกาสที่จะหาความสุขใจได้ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที แต่คนเขาไม่เอากัน คนเขาไม่หากัน คนเขาไม่อยากซักผ้า ไม่อยากถูเรือน ไม่อยากอาบน้ำด้วยซ้ำ ไม่ตั้งใจทำอะไรให้ดีที่สุด ก็เลยไม่ได้รับความพอใจในการกระทำ ก็ไม่เป็นสุขในทุกๆเวลา เดี๋ยวนี้เราทำ ทำเหมือนอย่างว่า ตามกฎเกณฑ์ของธรรมะเราต้องทำอย่างนี้ทุกอย่าง หรือถ้า ถ้ามีพระเจ้า ก็นี่เป็นความประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเราต้องทำอย่างนี้ทุกอย่าง จนเมื่อได้ล้างจานก็เป็นสุข มีสมาธิอยู่ที่มือถือจาน เมื่อได้กวาดบ้านก็มีสมาธิอยู่ที่ปลายไม้กวาดที่มันกวาดบ้าน นี่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็มีสมาธิอย่างดีที่สุดในการถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ หาความสุขได้เท่ากันกับเวลาอื่น เลยมีความสุขทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกอิริยาบถอย่างแท้จริง เรียกว่าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงินเลย แต่ไม่มีใครสนใจ เขาสนใจความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ที่ต้องใช้เงินมากแล้วก็ยังไม่พอ อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เท่าไรๆมันก็ไม่พอ มันก็ยังเป็นความหลอกลวง ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ฉะนั้นความสุขที่แท้จริงคือทำหน้าที่ๆ ทำหน้าที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด พอใจที่สุด เป็นสุขทุกหน้าที่ที่กระทำ นี่เป็นการพัฒนาจิตในขั้นรากฐาน ในขั้นพื้นฐานทั่วๆไป มีคำพูด คำหนึ่งที่ว่า น่าสนใจ (นาทีที่ 93:41 สิ้นสุดไฟล์เสียงที่ได้รับสำหรับตรวจทาน) พอใจ พอใจในตัวเองการกระทำของตัวเอง จนถึงขนาดยกมือไหว้ตัวเอง ถ้ามันเห็นชัดมากเข้ามากเข้าว่ามันถูกต้องจริงๆ ที่ถูกต้องจริงๆ ที่พอใจจริงๆ จนต้องยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นคือสวรรค์ที่แน่นอน สวรรค์ที่แน่นอนที่นี่และเดียวนี้ สวรรค์อื่นๆ ถ้าจะมีๆ มันขึ้นอยู่ที่สวรรค์ที่นี่และเดียวนี้ เป็นที่เยือกเย็นแห่งสวรรค์ทั้งหลาย สอนผู้อื่นถ้าจะมีกี่สวรรค์ก็ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับสวรรค์นี้ สวรรค์ที่ทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้ คือการพัฒนาจิตไปจนถึงที่สุดแล้ว และเราก็ได้พูดทั่วไป ปริทรรศน์กันทั่วๆ ไป (นาทีที่ 94.43) เกี่ยวกับจิตหรือชีวิต การพัฒนาจิต พัฒนาชีวิต คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ในเมื่อเป็นความรู้พื้นฐานทั่วๆ ไป พอที่เราจะได้ศึกษากันส่วนใดส่วนหนึ่ง กันโดยเฉพาะ ให้ละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง ในที่สุดนั้นของให้ ได้ใจความสำคัญ เพียงว่าพระธรรมหรือพระศาสนา นั่นและคือคู่ชีวิต สิ่งที่มีชีวิต ต้องมีศาสนา สิ่งมีชีวิตต้องมีศาสนา แม้แต่... (นาทีที่ 95.43) แต่ปูมันก็ต้องมีรูเป็นศาสนา สิ่งที่มีชีวิต ต้องมีศาสนาคือมีวิธีการเอาตัวรอด แม้สิ่งที่มีชีวิตต้องร่วมมือกันในการมีศาสนา การมีศาสนาของคนแต่ละคน ต้องร่วมมือกันกับของผู้อื่นได้ จึงจะสามารถทำให้โลกนี้มีสันติภาพ ไม่ฉนั้นก็มีวิกฤติการณ์อยู่ทั่วไป ทะเลาะกันและกันระหว่างศาสนาก็ได้ ก็ขอให้นำไปพิจารณาถึงเค้าโครง เค้าเรื่องเค้าโครงให้มีอยู่อย่างไร และเห็นความสำคัญที่จะต้องพัฒนาจิตใจด้วยจิตภาวนาอย่างไร แม้ว่าไม่มีการพูดกันถึงเรื่องนั้นโดยเฉพาะ การบรรยายเรื่องนี้ เป็นการสมควรแก่เวลาแล้วขอยุติการบรรยาย.