แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่สอง นี้ อาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นประมวลแห่งจริยธรรม เพื่อให้เข้าใจความหมายลึกซึ้งหรือขอบเขตแห่งความหมายของคำว่า จริยธรรม เพราะว่าเราจะต้องอาศัยธรรมะชื่อนี้เป็นหลักในการยกโครงร่างของจริยธรรม เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว สอนสาวกเป็นครั้งแรกให้นั้น ท่านสอนเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จบแล้วจึงสอนเรื่องอริยสัจสี่ นี่น้ำหนักของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มีมากถึงกับทรงสอนเป็นคำแรก เป็นเรื่องแรก เป็นคำแรกขึ้นมาถึงมัชฌิมาปฏิปทา จะทรงย้ำว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากใครมาก่อน ที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังจากใครมาก่อนนั้น ตามคำยืนยันของพระองค์ก็คือเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา แล้วก็สืบต่อด้วยอริยสัจ ซึ่งที่แท้ก็ถึงเนื่องกัน
มัชฌิมาปฏิปทา คำนี้ก็มีความหมายคล้ายคำว่า จริยะ หรือ จระ คือคำว่า ปฏิปทา นั่นเอง ปฏิปทา ตามตัวหนังสือแปลว่าเดินไป แต่เรามาแปลความหมายว่า เป็นเครื่องปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติก็เป็นการทำให้ชีวิตนี้เดินไป ที่นี้มัชฌิมาอยู่ตรงกลาง มีในท่ามกลาง คืออยู่ตรงกลาง แล้วก็ทรงแสดงว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จึงขอให้แน่ใจ ยึดไว้เป็นหลัก แน่ใจในการที่จะทำเรื่องจริยธรรมโดยอิงอาศัยอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นหลัก ถ้าจะมองอีกทางหนึ่งก็จะเรียกว่า ก็จะกล่าวว่า มรรคมีองค์ ๘ นั่นน่ะเป็นประมวลแห่งศีลธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา การที่จะเอามาใช้เป็นโครงร่างของจริยธรรมที่เราประสงค์นี้ จึงเหมาะกว่าธรรมะหมวดอื่นทั้งสิ้น เช่น จะเอามงคล ๓๘ ประการ ก็ยังมีเหตุผลน้อย หรือมีหลักฐานน้อยกว่า และไม่อาจจะอวดให้ชาวต่างประเทศได้ เพราะไม่ได้ระบุเอาสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา จึงอยากจะขอร้องให้สนใจคำว่า มรรคหรืออริยมรรค นี่ให้ละเอียดลออจนนึกไม่ติดขัดในความหมายใดๆ
เมื่อจะถามว่าอริยมรรคคืออะไร นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรกำหนดกันให้เป็นที่แน่นอน ถ้าดูอย่างคราวเดียวหมด จนดูอย่างจะดูจากที่สูงเห็นคราวเดียวหมด ก็จะได้แก่สิ่งเหล่านี้
มรรคแปลว่าทาง หมายถึงกระแสธรรมเพื่อไปถึงนิพพาน กระแสธรรมนั่นแหละเป็นหนทาง และทางนั้นเป็นทางเดี่ยว ตรงไปที่แห่งเดียวและโดยบุคคลคนเดียว หมายความว่าเดินแทนกันไม่ได้ ปฏิบัติแทนกันไม่ได้ แล้วทางนี้มีทางเดียว มีอย่างอื่นไม่ได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า กระแสแห่งนิพพาน ถ้าจะมองอีกทางหนึ่ง อริยมรรค ก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า จรณะ จรณะ แปลว่าเครื่องไปนั่นแหละ เครื่องประพฤติหรือเครื่องไป คำเดียวกับคำว่า จริยะ ในบทพุทธคุณว่า วิชชาจรณสัมปันโน คำว่า จรณสัมปันโน มีคำว่า จรณะ คำว่าจรณะ ก็แปลว่า ไปหรือประพฤติ เป็นคำเดียวกันกับคำว่า จริยธรรม
ที่นี้ท่านได้ตรัสไว้โดยชื่ออื่นอีกเรียกว่า ความถูกต้อง ๘ ประการ หรือภาวะแห่งความถูกต้อง ๘ ประการ เป็นบาลีเรียกว่า สัมมัตตะ สัมมะ กับ ตัตตะ แปลว่า ภาวะแห่งสัมมะ คือความถูกต้อง อันนี้ก็มีความหมายกว้างไกลจนถึงกับว่า ปฏิบัติแล้ว ผู้มีความเกิด จะพ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่ จะพ้นจากความแก่ ผู้มีความเจ็บ จะพ้นจากความเจ็บ ผู้มีความตาย จะพ้นจากความตาย อันเป็นสำนวนหนึ่ง ซึ่งมีไว้สำหรับพูดจากัน ได้อาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร แล้วมีการประพฤติที่ถูกต้อง ๘ ประการนี้ ที่เรียกว่าอริยมรรคนั่นแหละ ก็พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ที่นี้มีความหมายที่จะช่วยให้เข้าใจได้ ในกรณีของเรา คือ จะเรียกความถูกต้อง ๘ ประการนี้ว่า ยาถ่าย ว่ายาสำรอก ว่าน้ำชำระบาป คำว่ายาถ่ายก็เป็นที่รู้จักกันดีว่ารับประทานแล้วมันถ่าย ความถูกต้อง ๘ ประการนี้ ถ้าได้ประพฤติกันแล้ว จะเกิดการถ่าย คือถ่ายสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนออกไปเสีย ออกไปเสีย เหมือนกับคนรับประทานยาถ่าย กิเลสถูกถ่ายออก เรียกว่าทั้งระบบ ทั้งกิเลส ทั้งความเคยชินของกิเลส การสะสมกิเลส การไหลออกแห่งกิเลส ที่มันถูกขับถ่ายออกไป ควรจะให้เด็กๆ ของเราเข้าใจความหมายอันนี้ว่า จริยธรรมนี่มีลักษณะเป็นการถ่ายสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในในท้องออกเสีย
อีกคำหนึ่ง จะเรียกว่า ยาสำรอก คือกินแล้วอาเจียน เป็นวิธีหนึ่งที่หมอโบราณใช้มาก ให้กินยาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วอาเจียน โรคก็หายไป เราจะต้องเปรียบเทียบให้เด็กๆ ฟังว่า ยาให้อาเจียนนั้น เมื่อใช้ถูกวิธีแล้วมันก็แก้โรค เขาเรียกว่าเป็นยาด้วยกัน ยาถ่าย ยาอาเจียน
อีกคำหนึ่งก็ ศัพท์อริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นน้ำชำระบาป ข้อนี้หมายความว่าในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้นเต็มไปด้วยการอาบน้ำชำระบาป ก็คือในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งประชาชนนับถือมากที่สุด ก็มีการตั้งพิธีขนาดใหญ่ แล้วก็รดน้ำให้หมดบาป ยาถ่ายนี่ก็ วิเรจนะ (วิเรจนํ) ยาให้สำรอกเรียก วมนะ (วมนํ) น้ำล้างบาปเรียกว่า โทวนะ นี่ยกมาพอเป็นตัวอย่างเพียง ๓ อย่าง สำหรับประโยชน์ของอริยมรรค มีองค์ ๘ ควรจะพูดให้ผู้ที่จะรับเอาไปปฏิบัตินั้นเข้าใจให้เป็นอย่างดี ให้เป็นอย่างดีก็จะได้พอใจที่จะรับปฏิบัติตาม
ทีนี้อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็แปลว่าทางสายกลาง อยู่ตรงกลางที่สมดุล มีความหมายมากอธิบายกันยืดยาวมาก คำว่าสายกลางนี้ ไม่ตึงไม่หย่อนเป็นที่รู้กันอยู่ ไม่เปียกไม่แห้ง ความหมายก็คล้ายกัน ถ้าเนื่องด้วยกามารมณ์ก็เป็นของเปียก เนื่องด้วยการทรมานกายก็เป็นของไหม้ ของเกรียม และอาจจะมีความหมายชนิดที่ละเอียดที่สุด ลึกซึ้งที่สุด เป็นว่าไม่ ไม่ negative ไม่ positive ก็ยังได้ มันอยู่ตรงกลาง เพราะว่าจิตที่จะหลุดพ้นนั้นต้องอยู่เหนือ ข้ามของคำว่า บวกหรือลบ positive หรือ negative optimist หรือ pessimist ข้อนี้หมายความว่าถ้ามีหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ประจำอยู่ในใจ คนผู้นั้นจะไม่มีความรู้สึกเป็นผู้ที่เห็นโลกในแง่ดีโดยส่วนเดียวเป็น optimist หรือว่าเห็นโลกในแง่ร้ายโดยส่วนเดียวเป็น pessimist อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ก็ขึ้นไปถึงปลายทางแล้ว เพื่อที่จะบรรลุนิพพานแล้ว ฝรั่งก็ไปแปลกันว่า middle way แล้วก็เป็นคำที่ชอบกันมากที่สุด
คำว่า Buddhism นั้น มีคนฝรั่งบางคน นักศึกษาบางคนที่มาศึกษาพุทธศาสนา รังเกียจ รังเกียจที่จะใช้คำว่า Buddhism กับพุทธศาสนา มี –ism นี่มันมีลักษณะเป็นลัทธิที่สงวนขอบเขต สงวนอำนาจ นี่มี authority ไม่ใช่อิสระ ไม่ให้หลุด วาง ปล่อย ปล่อยโดยสมบูรณ์ เขาจึงชอบคำว่า middle way ถ้าเป็นอย่างในเมืองไทยก็จะใช้คำว่า เช่นสมมุติจะเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเรื่องพระพุทธศาสนา เขาจะใช้คำว่า middle way ก่อน เพราะมันเป็นภาษา เป็นภาษาวิทยาศาสตร์ด้วย และมันทำให้ไม่เกาะเกี่ยวผูกพันกับอะไรด้วย เป็นคำที่เรียกว่า บริสุทธิ์
คำว่าอยู่ตรงกลางนี่ ได้โปรดช่วยจำไว้ว่าเป็นความหมายที่สำคัญในพุทธศาสนา เช่นเดียวกันกับคำว่าสมดุล ก็หมายถึง อยู่ตรงกลาง คือเท่ากัน ไม่ต้องเอียงไปทางไหน ธรรมะนี้ก็ทำให้อยู่ที่ตรงกลาง ไม่ซ้ายไม่ขวาหรือไม่เอียงไปทางไหน
ทีนี้คำสุดท้าย อาร์ท หรือ art เมื่อประมาณสามสี่สิบปีมานี้ พวกฝรั่งสนใจพุทธศาสนาในฐานะเป็น art คือศิลป์ มากที่สุด เพราะมันไปตรงกับความรู้สึกของเขาที่ชอบสิ่งที่เรียกว่า art เลยเรียกพุทธศาสนาว่า Buddhist art แล้วก็ระบุเอามรรคมีองค์ ๘ โดยเฉพาะ คือการประพฤติ ๘ ประการนี้ ประพฤติแล้วมีลักษณะเป็น art มีความงาม เป็น artistic ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จงแสดงธรรมให้มีความงดงามเบื้องต้น ให้มีความงดงามท่ามกลาง ให้มีความงดงามเบื้องปลาย คำว่า art นี่เลยช่วยพุทธศาสนาได้มาก คือช่วยให้คนสนใจ พวกที่มีการศึกษาชนิดที่พอใจในสิ่งที่เรียกว่า art ก็ยินดีรับเอาพุทธศาสนาในฐานะเป็น art แล้วก็เป็น art ของชีวิตไปเลย art of life
ถ้าจะช่วยอธิบายให้นักเรียนหรือยุวชนรู้จักหลัก มรรค มีองค์ ๘ นี่เป็น art of life ในความหมายเดียวกันกับที่พวกฝรั่งสนใจ แล้วก็คงจะช่วยได้มากเหมือนกัน เขาโตพอควรแล้วเขาก็จะสนใจเรื่องอย่างนี้ แล้วก็จะยินดีที่จะศึกษา และปฏิบัติหลักแห่งพระพุทธศาสนา เป็น art ที่มีความงดงามที่สุด ใช้กับชีวิตโดยตรง คือการดำรงชีวิตไว้ในลักษณะเช่นนี้ ก็เรียกว่าเป็นชีวิตที่มี art
ถ้าเราจะดูกันอย่างคร่าวๆ ทั่วๆไป ดูจากข้างบนนั้นเหมือนดู bird eye view นี้ จะมองเห็นว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มีลักษณะอย่างนี้ คือเป็นกระแสธรรมดิ่งไปยังพระนิพพาน เป็นจรณะ เพื่อให้ถึงจุดที่ประสงค์ เป็นสัมมัตตะ คือมีลักษณะใช้เป็นยาถ่าย ยาสำรอก และน้ำล้างบาป เป็นทางสายกลาง middle way แล้วก็เป็น art ของพุทธบริษัท และ art นั้นเป็น art of life นักเรียนคนไหนเข้าใจความหมายเหล่านี้ เขาก็จะต้องสนใจเรื่องนี้ด้วยตนเองมากขึ้น ไม่ต้องแค่นเข็นกันนัก
ที่ว่า art of life นี่เป็นคำที่น่าสนใจ เพราะถือว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง ตามหลักคำสอนหลายแห่ง หลายที่ หลายนัยยะ ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตนี้เป็นการเดินทาง เราจะดูการเดินทางกันได้ใน ๓ ระดับเลย ระดับที่ยาว มากก็คือ วิวัฒนาการของชีวิต ถ้าถือตามวิทยาศาสตร์ก็ไปดูในวิชา biology ว่ามันเริ่มขึ้นมาจากสัตว์เซลล์เดียวอย่างไร แล้วก็เป็นสัตว์มากเซลล์ เป็นสัตว์ชนิดที่เต็มแบบเต็มรูป เป็นสัตว์น้ำ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นสัตว์บก แล้วก็ยังสูง สูง ขึ้นมาตามลำดับ จนกว่าจะเป็นคน กระแสแห่งวิวัฒนาการนั้น เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางโดยกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ถ้าจะดูกันในระยะสั้นเพียงชีวิตชาติหนึ่งๆ ชาติหนึ่ง ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่แล้วกว่าจะเข้าโลง ก็เป็นการเดินทาง พอจะเข้าใจกันได้ง่ายว่า ทีแรกก็อยู่ในท้อง แล้วก็ออกมาจากท้อง จนกระทั่งว่าเป็นเด็กที่นั่งได้ เดินได้ ยืนได้ วิ่งได้ เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นอะไรถึงที่สุดของชีวิตชาติหนึ่งๆ ซึ่งแสดงว่าตลอดเวลานั้นเป็นการเดินทาง ซึ่งมีความสำคัญมากในการที่จะต้องดูแลให้ดี ดูแลให้ถูกต้อง ให้การเดินทางนั้นปลอดภัยและมีผลดีถึงที่สุด มันก็ไม่พ้นจากปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นการเดินทางตลอดชีวิตที่ดีที่สุด
ทีนี้ดูในระยะสั้น สั้นที่สุดคือ ชีวิตชั่วขณะจิตหนึ่ง มันก็ยังเป็นการเดินทางอยู่นั่นเอง สิ่งที่เรียกว่าจิตนั้น เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอย่างถี่ยิบ จนรู้สึกว่าเนื่องเป็นอันเดียวกันคือเรามีจิตดวงหนึ่ง ตั้งอยู่ ที่จริงตามหลักของธรรมะถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดเป็นขณะๆ ถี่ยิบจนรู้สึกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่เป็นการดูกันถึงที่สุด ว่าแม้แต่ในขณะจิตเดียว ในขณะจิตอย่างเดียว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง มันก็ยังเป็นการเดินทาง ด้วยความเปลี่ยนแปลง
สรุปความว่าชีวิตหรือสิ่งที่มีชีวิตนั้น มีความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ กิริยานั้นเรียกว่า การเดินทาง เป็นสิ่งที่ต้องจัด ต้องทำให้มีการเดินที่ถูกต้องที่สุด เมื่อจัดให้มีการเดินให้ถูกต้องที่สุดได้ ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี่จะต้องพูดถึงกันบ้าง เพื่อกระตุ้นให้รีบขยันขันแข็งในการทำหน้าที่ของตน เพราะว่าชีวิตมันเป็นการเดินทาง ให้แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ทำได้ จากภาวะต่ำๆ จนถึงภาวะสูงสุด แล้วก็จบการเดินทาง หมายความว่าบรรลุพระอรหันต์ หรือบรรลุโลกุตตรธรรม ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีต่ออีก
แม้จะสอนกันอย่างธรรมดาอย่างไม่เกี่ยวกับธรรมะ ถ้ารู้สึกว่าชีวิตเป็นการเดินทาง เขาก็พยายามที่จะรีบทำหน้าที่ด้วยความไม่ประมาทให้มันทันกับชีวิต และข้อนี้เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความคิดว่ามันติดต่อกัน ชาตินี้ ชาติหน้า ชาติโน้น มันติดต่อกันได้โดยง่าย ที่จริงพุทธศาสนาก็ไม่ได้ต้องการให้คนคิดว่าติดต่อกัน หรือคนๆ เดียวกัน ความเชื่อที่ว่าเกิดอีกหรือ เวียนว่ายนี้มีประโยชน์กว่า ที่จะเชื่อว่า ตายแล้วไม่เกิด แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วก็ไม่ไม่มีคนที่จะเป็นผู้เกิด หรือ ผู้ตาย มีแต่สิ่งซึ่งเป็นธรรมชาติเป็นกลุ่มๆ ปรุงแต่งกันเข้าหมุนไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่เรียกว่า กฏอิทัปปัจจยตา จะต้องศึกษากฏอิทัปปัจจยตาให้รู้ว่าทำอย่างไรและอะไรจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรและอะไรจะเกิดขึ้น ให้เพียงพอที่ว่าควรจะรู้กันสักเท่าไร ทีนี้การปฏิบัติและดับทุกข์ตามกฏอิทัปปัจจยตานั้นก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อีกนั่นเอง
ทีนี้ก็จะพูดถึงปลายทาง ชีวิตเป็นการเดินทาง ก็ต้องมีปลายทางที่เป็นจุดจบ อย่างนี้จะแยกออกเป็นอย่างขั้นโลกๆ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะอยู่ในโลก ไม่พ้นไปจากโลก จุดปลายทางของเขาก็เพียงแต่ว่า มีอะไรครบตามหน้าที่ เป็นตามที่ควรจะต้องการ มีความสุขสบาย เป็นคนแก่ที่ไม่ได้ทำอะไร ที่ไม่ต้องทำอาชีพอะไรที่ไม่มีกิเลสรบกวนอะไรนัก แต่ยังมีกิเลสที่เรียกว่ามันอยู่ในวิสัยโลกียะ ทางสายกลางนี้ก็ช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้
แต่ถ้าตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนาแล้ว ต้องการให้ถึงปลายทางชนิดที่เรียกว่าเป็น โลกุตตระ คำว่าโลกุตตระ แปลว่า เหนือโลก แต่คนมักจะเข้าใจไม่ตรงความหมาย คือต้องขึ้นไปเหนือโลก โลกไหน เมื่อโลกเป็นวงกลม การขึ้นไปเหนือโลกนั้น มันก็มีไม่ได้ คำว่าเหนือโลกหรือโลกุตตระนั้น หมายความแต่เพียงว่า มันออกไปเสียได้จากการบีบคั้นของโลก หรือ โลกียวิสัยทุกๆ ชนิด ไม่อาจจะครอบงำจิตใจ หรือทำบุคคลนั้นให้เป็นทุกข์ได้ เช่นว่า ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 อย่างนี้ได้ จนอะไรในโลกมากระทบ ก็ไม่เกิดความทุกข์ แล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้ แล้วโลกนี่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่มาทำความรู้สึก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นอกนั้นก็ไม่มีอะไร
คำว่าโลกในภาษาธรรมะ มีคำจำกัดความอย่างนี้ บางทีก็ใช้แทนคำว่าทุกข์ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าโลกนั้น ตัวหนังสือก็แปลว่าแตกเรื่อย แตกดับ แตกดับ แตกดับเรื่อย ก็จัดไว้เป็นพวกที่สร้างปัญหา หรือ ทำให้เกิดปัญหา
ทีนี้จุดหมายปลายทางของชีวิตที่เจริญแล้ว มันอยู่ที่นั่น จุดหมายปลายทางเป็นสิ่งที่ต้องรู้ รู้ก่อนไปถึง ก็อยากจะไปถึง จึงควรจะสอนรุ่นเด็กๆ ให้มันรู้จักมีความคิดที่จะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงานได้เงินเดือนแพง แล้วมันก็จะจบ มันยังมีอะไรที่รบกวนอีกมาก บรรลุธรรมะสูงสุดพอแล้ว ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในโลกอีกต่อไป
ในเรื่องจริยธรรมสากลก็ยกเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เรื่องที่จะพูดกันเป็นเรื่องแรกก็คือ เรื่องจุดหมายปลายทาง แต่เขาไม่ได้พูดอย่างลักษณะทาง เขาพูดเป็นภาษาธรรมดาเรียกว่า ซัมมั่มโบนั่ม (Summum Bonum) แปลว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะได้รับทันในชาตินี้ เมื่อตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ แล้วก็แยกเป็นข้อเป็นข้อละเอียด เป็นรายละเอียดสำหรับจะประพฤติปฏิบัติ มันสำคัญอยู่ตรงที่ว่าต้องมีจุดหมาย จุดหมายที่แน่นอนว่าอยากจะไปที่ไหน จะเอาอะไร จะได้อะไร หลักจริยธรรมสากลในระยะ ระยะนี้แจก Summum Bonum ไว้ ๔ อย่าง คือความสงบสุข หรือ happiness ในความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ perfection และมีการทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ duty for duty faith (นาทีที่ 36.23) อันนี้ฟังดูคล้ายจะเป็นเหตุ หรือเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ผล แต่เขาหมายความว่า คนที่ถึงที่สุดของการปฏิบัติแล้ว คนชนิดนั้นทำอะไร ทำเพื่อหน้าที่เท่านั้น แม้ว่าจิตจะหลุดพ้นแล้ว จะเป็นพระอรหันต์แล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ หน้าที่นั้นก็เลยทำเพื่อหน้าที่ เพราะว่าตัวตนไม่มี ตัวกูของกูมันไม่มี การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่จึงจัดเป็นสิ่งสูงสุดสิ่งหนึ่งด้วย
อันสุดท้าย ก็คือ ความรัก ที่เป็นสากล universal love เป็นความรัก เมตตา ความรักอย่างเมตตา ไม่เกี่ยวกับเพศ หรือ กามารมณ์ มีความรักสากล คือรักจนไม่มีคนอื่น ไม่มีชนชาตินั้นชาตินี้ พวกนั้นพวกนี้ มีความรักเป็นอันเดียวกันหมด ถ้าได้อย่างนี้มันก็เป็นจุดหมายปลายทาง
เราก็มีพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในรูปหนึ่งคือ เรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย คำว่าศรีอาริยเมตไตรย ก็เป็นคำที่มีความหมาย มิตรภาพ มิตรภาพอันสูงสุด คือความรักสากลนั่นเอง คือจะทุกๆ ลัทธิศาสนา มีพูดถึงบุคคลที่จะมาครั้งสุดท้ายยิ่งกว่าบุคคลใด เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย ของพุทธเรา เมซิอาของยิว คริสเตียน กัลกียา อ่า กัลกี กัลกียะ (นาทีที่ 38.51) เป็นบุรุษสุดท้ายของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ ถ้ามาถึงยุคนี้แล้วมันหมดปัญหา ไม่มีใครเบียดเบียนใคร ไม่มีใครจะเป็นศัตรูของใคร ไม่มีศัตรู มีแต่มิตร จึงพรรณนาไว้ในโลกของศรีอาริยเมตไตรยว่า ถ้าเราลงจากเรือน ก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นใครในท้องถนน ล้วนแต่เหมือนกันหมด คือเป็นมิตรเหมือนกันหมด เป็นมิตรที่แสดงความรัก ความเมตตา ชูมือขึ้นสลอนว่าจะให้ช่วยอะไร จะให้ช่วยอะไร หันไปทางไหนก็มีแต่คนถามว่าจะให้ช่วยอะไร หรือต้องการอะไร นี่เรียกว่าผลของ Summum Bonum ข้อสุดท้าย เกิดเป็นความรัก universal ขึ้นมา
การที่เราจะร่าง ยกร่างโครงร่างของจริยธรรม ก็ควรจะมีสิ่งนี้เป็นที่แน่นอน ปรากฏชัดเจนกันก่อน แล้วจึงจะได้จัดให้ทุกๆ อย่างปฏิบัติแล้ว ได้ผลเป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ดูเหมือนจะตรงๆ กันหมด มันจะตรงๆ กันได้ระหว่างศีลธรรมสากลของพวกนักศีลธรรม ทั้งเจ้าตำรับตำรา เมื่อไม่เกิน ๒0 ปีมานี้ ก็ยังถือหลักเกณฑ์อันนี้อยู่ เปิดดูได้ใน Encyclopedia Britannica ยังถือหลักอย่างนี้กันอยู่ ในเรื่องของคำว่า morality มีความดีสูงสุด ซึ่งเป็นที่มุ่งหมาย เป็นที่นับถือ ยอมรับนับถือ เป็นเป็น ๔ อย่าง อย่างที่ว่ามาแล้วว่า มีความสุข มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่เพื่อตัวกู เมื่อหมดตัวกู ความรักรวมกันเป็นคนเดียวก็จะเกิดขึ้นเอง
เดี๋ยวนี้ก็มีกิเลสชนิดหนึ่งทำให้เห็นแก่ตัว ก็มีตัว แล้วก็แยกเป็น ตัวเรา ตัวเขา มันรักผู้อื่นเท่ากับตัวไม่ได้ แต่ถ้าเอาสิ่ง เอาความเห็นแก่ตัวหรือกิเลสตัวนั้นออกไป มันกลายเป็นอัตโนมัติ ก็มีความรวมกันหมด เป็นความรักสากล เราจะให้เด็กๆ ของเราเรียนรู้ถึงจุดหมายปลายทางของความเป็นมนุษย์ถึงขนาดนี้ หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาด้วยเหมือนกัน
มันจะมีวิธีพูดวิธีอธิบายให้เป็นที่น่าสนใจ ให้ความดีที่สุด ที่มนุษย์จะพึงได้รับในชาตินี้ นี่เรียกว่าจุดหมายปลายทาง ถ้าพูดอย่างชาวบ้านพูด ไม่ต้องมีต้องพูดอะไรมาก ก็คือนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง ถ้ายังอยู่ในโลก ก็เป็นนิพพานอย่างชั่วคราว กิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวน ชั่วสมัย ชั่วยุคชั่วสมัย แต่ถ้ากิเลสหมดโดยสิ้นเชิงมัน ก็เป็นนิพพานที่ถาวร เป็นนิพพานนิรันดร หรือ อนันตกาล แล้วแต่จะเรียก นี้คือจุดหมายปลายทางของสิ่งที่เรียกว่า มรรค
ทีนี้ก็ดูองค์แห่งมรรคต่อไป องค์แห่งมรรค ๘ องค์ แล้วก็สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๘ องค์นี้ ขอให้สังเกตคำว่าองค์ เรามักจะพูดกันอย่างสะเพร่า หรือไม่มองเห็น ก็พูดว่า มรรคแปด หรือมรรคแปด แปดทาง ซึ่งไม่ถูกกับเรื่องนี้ มรรคมีเพียงทางเดียว แต่ประกอบด้วยองค์ประกอบ ซึ่งจะเรียกว่า factor หรืออะไรก็ตาม ๘ อย่าง แล้วต้องครบทั้ง ๘ อย่าง จึงจะเรียกว่ามรรค ถ้ามันยังแยกกันอยู่ ก็เรียกชื่อ ตามชื่อของธรรมะนั้นๆ ไม่อาจจะเรียกว่า มรรค คือหนทางนี้ เว้นแต่ทั้ง ๘ องค์ เข้ามาทำงานร่วมกันตามหน้าที่นั้นๆ นั่นจึงจะเรียกว่า มรรค เปรียบเหมือนทาง ทางคนเดินนี่เป็นทางหลวง เป็น highway สายหนึ่งซึ่งไกล นี่ก็เรียกว่า มรรค มีองค์ ๘ ในทางวัตถุ ในทางวัตถุ ทางรูปธรรมได้เหมือนกัน
ในทางสายเดียวนั้น ต้องประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ เหมือนกัน เช่นว่า มีแผนที่ มีทิศทางที่บอกให้รู้ว่าอะไรไปไหน อะไรไปไหน ก็มีสิ่งที่จะต้องมี เช่น สะพาน เป็นต้น หนทางนั้นจะต้องมีอารักขาให้พ้นจากโจรหรือจากสัตว์ร้าย เป็นต้น หรือหนทางนั้นมันมีที่หาซื้ออาหารได้ หรือว่าหนทางนั้นมีที่พักกลางทาง เป็นระยะๆ ไป เมื่อผู้ใดต้องการจะเดินก็เดินไปได้
นี่คำว่ามรรค หนทางอันเดียว แต่ประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ ชนิดกว่าจะครบถ้วน ทีนี้จะศึกษากันทีละองค์ เพื่อให้รู้ความหมายส่วนใหญ่ขององค์นั้นๆ หลักหรือหัวข้อธรรมะใดๆ ก็นำมาสงเคราะห์ลงในมรรค ๘ องค์นี้ เพื่อให้ได้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือ เป็นรูปแบบของพระพุทธศาสนา เรากล่าวได้ว่าหัวข้อจริยธรรมจะมีสักกี่ร้อย หรือ ให้ถึงพันก็สุดแท้ ล้วนแต่สามารถนำมาสงเคราะห์ลงในธรรมะ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น
ดังนั้นที่เรากำหนดกัน เมื่อคราวประชุมคราวก่อน มันมีเพียงไม่กี่สิบข้อเท่านั้นเอง ข้อนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้เพราะว่าจะบรรจุอะไรลงไปอีกก็ได้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องใคร่ครวญดูให้ดีๆ ให้พอดี ให้พอดีสำหรับที่ยุวชนจะศึกษา ทีนี้จะดูให้ละเอียดลงไปที่องค์มรรค องค์แห่งมรรคนั่น มันเป็นทางอย่างไร เป็นการเดินทางอย่างไร เป็นผู้เดินทางอย่างไร อย่างนี้ถ้าฟังด้วยความรู้สึกธรรมดา จะรู้สึกว่ามันผิด logic มันเป็น illogic เพราะพูดว่า มรรค เป็นทั้งทาง เป็นทั้งการเดินทาง เป็นทั้งผู้เดินทาง ก็ควรจะทราบไว้บ้างว่า แง่ที่จะมองมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วหลักธรรมในพระพุทธศาสนามักจะมองทุกแง่ทุกมุม แล้วก็กล่าวไว้อย่างครบถ้วน ที่ว่า มรรค เป็นหนทาง ก็เป็นทางที่ต้องเดิน ดังที่กล่าวแล้ว นี่องค์มรรคเป็นการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต ที่มีการปฏิบัติ คือต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้แต่ละองค์ ละองค์ นี้ให้มันครบถ้วนอยู่ มันจึงจะเป็นการเดินทาง เพราะการปฏิบัตินั้นเอง มรรคที่มีผู้ปฏิบัติอยู่ ก็เป็นการเดินทาง
ทีนี้เป็นผู้เดินทาง ในฐานะเป็นผู้เดินทาง ความเป็นไปอย่างนั้นโดยปรมัตถโวหาร คือ ไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอะไร เป็นเพียงพฤติ ไอ้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของจิต ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว การกระทำที่ถูกต้องทางกาย วาจา ใจ ขึ้นมา จึงมองดูมรรคในแง่ที่ว่าเป็นผู้เดินทาง
ในการประพฤติปฏิบัตินั้น มีหลักสำคัญที่สุดอยู่ที่จิต ที่รู้สึกหรือสำนึกอยู่ มันจึงเล็งไปยังจิต ธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีตัวตน ไม่ต้องเป็นตัวตน เพราะเราจะเป็นผู้เดิน ทีนี้มันต้องมองพิเศษสักหน่อย คือ มองชั้นปรมัตถโวหาร เดี๋ยวนี้เราก็มีมรรค ๘ องค์
ทีนี้ได้ตรัสไว้ถึงการที่จะลดจำนวนเพื่อการศึกษาหรือการปฏิบัติให้มันน้อยเข้า ก็ย่อทั้ง ๘ องค์นั่นน่ะให้เหลือเพียง ๓ อย่าง เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คำนี้เป็นคำที่พิเศษ คือ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ มันได้แก่ความถูกต้องอย่างที่กล่าวมาแล้ว ความถูกต้องทั้ง ๘ องค์ เดี๋ยวนี้มันมา ทำให้น้อยหมวดเข้า
หมวดศีล ก็คือ ความถูกต้องของระบบวัตถุ กาย วาจา ชีวิตเราประกอบอยู่ด้วยระบบวัตถุ เนื้อหนัง ร่างกาย และการพูดพูดจา นี้เป็นระบบแรก
ระบบถัดมาคือสมาธิ คือความถูกต้องของระบบจิต จิตก็มีความรู้ มีความรู้สึกอะไร ในลักษณะที่เรียกว่า สัญชาตญาณมากอยู่เหมือนกัน แต่มันไม่พอ จึงต้องมีการปฏิบัติ อบรมจิตนี่ ให้เป็นจิตที่เข้มแข็งที่สุด ให้บริสุทธิ์ได้ แล้วก็ให้ว่องไวในการทำหน้าที่ จึงมีระบบสมาธิขึ้นมา
อันสุดท้ายเป็นเรื่องปัญญา เป็นระบบของปัญญา เป็นความถูกต้องของระบบความรู้ ความเห็น และความเชื่อ ข้อนี้มันเนื่องกัน ความรู้ก็รู้เรื่องที่ควรจะรู้ ความเห็นก็เห็นสิ่งที่ควรจะเห็น นี้ก็เชื่อตามที่ได้เห็น จะใช้คำไหนเป็นหลัก ก็ตามใจชอบ แต่เดี๋ยวนี้เรานิยมใช้คำว่า ความเห็น พวกฝรั่งเคยแปลเป็น ความเข้าใจก็มี แต่ว่าปัญญานี่ ถ้าที่ถูกแล้ว มันก็เป็นเรื่องการเห็นสิ่งนั้นจริงๆ ไม่เกี่ยวกับความเข้าใจ
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นที่รู้จักกันดี จะสอนมากที่สุดแก่พุทธบริษัท แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า เกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญานี่ มีวิธีพูดเป็น ๒ ชนิด เป็น ๒ อย่าง เรียกว่า ถ้าพูดอาศัยการสูงต่ำ หรือ โดยนิตินัยเป็นต้นแล้ว ก็จะเรียงลำดับว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าจะพูดอย่างพฤตินัย เอาหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเป็นหลักแล้ว มันก็เรียงลำดับอย่างอื่น คือเรียงลำดับเป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ เรียงลำดับเป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธินี่ จะมีได้แต่ผู้ที่สังเกตเท่านั้น โดยทั่วไปในพระไตรปิฎกเขาจะเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเราจะสังเกตดูเอาเองจากสูตร หรือจากหลักบางหลักบางแห่ง แล้วก็จะพบว่า โดยแท้จริงนั้น มันต้องเรียงลำดับว่า ปัญญา ว่าศีล ว่าสมาธิ คือต้องมีความรู้ที่ถูกต้องจึงจะรักษาศีลได้หรือทำสมาธิได้ ถ้าความรู้ไม่ถูกต้อง ศีล ก็เข้ารกเข้าพงไป เป็นสีลัพพตปรามาส สมาธิก็เข้ารกเข้าพงไปจนเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย
เรื่องศีล สมาธิ ปัญญานี้สำคัญมากถึงขนาดที่จะต้องให้เป็นที่เข้าใจ ชินปาก ชินหู แต่ต้องรู้ไว้เสมอไปว่า ถ้าเรียงคำพูดอย่างการมีการกระทำหน้าที่ และปัญญามาก่อนเสมอ ให้ทุกคน หรือ แม้แต่เด็กๆ มองเห็นว่า ปัญญาต้องมาก่อนเสมอ จึงจะสำเร็จประโยชน์ มีหลักฐานอ้างอิง ก็คือในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ ท่านกล่าวหมวดปัญญาเสร็จสิ้นไปก่อน แล้วจึงกล่าวหมวดศีล แล้วจึงกล่าวหมวดสมาธิ เมื่อเป็นหลักปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติเรียงลำดับเสียใหม่อย่างนี้ จากข้อเท็จจริงอันนี้ก็นำมาใช้ได้ทั่วไปว่าในทุกเรื่อง ในทุกเรื่องที่เป็นหน้าที่การงานของมนุษย์นั้น ปัญญาต้องมาก่อนเสมอ จะทำอะไรก็ต้องมีปัญญาในเรื่องที่จะทำนั้นอย่างทั่วถึงเสียก่อน นั่นน่ะจึงจะได้รับผลเต็มที่ตามที่ควรจะได้รับ
ปัญญาในอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือ สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปโป รู้อะไรเป็นอะไรด้วยสัมมาทิฏฐิ เรียกว่า รู้ถูกต้อง แล้วก็ต้องการสิ่งต่างๆ โดยไม่ขัดกับหลักของสัมมาทิฏฐิ ก็มีความต้องการที่ถูกต้อง หลังจากนั้น ทุกอย่างมันจะถูกต้องไปตามลำดับ เพราะอำนาจของ สัมมาทิฏฐิ เป็นผู้นำ
คำกล่าวที่ยกย่องปัญญาเป็น เป็นสูงสุดนั้นมีมาก จนถึงกับกล่าวว่าธรรมะอื่นๆ ย่อมมาอยู่ในฐานะเป็นบริวารของปัญญา เช่น ดวงดาวตามที่ตาเห็น เป็นบริวารของพระจันทร์ อย่างนี้เป็นต้น แต่เราก็รู้กันว่า ดาว ดวงดาวกับพระจันทร์นั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเราเห็น ตาเราเห็นไม่ตรงตามที่เป็นจริง จึงได้เห็นว่าพระจันทร์เป็นหัวหน้าของดวงดาวทั้งหลาย คนโบราณก็เปรียบ กล่าวเปรียบอะไรไว้อย่างเป็นสามัญโวหารที่ให้คนธรรมดาจะมองเห็น บางทีก็กล่าว สัมมาทิฏฐิ นี้ไว้เหมือนกับว่า รุ่งอรุณ ถ้ามันมีรุ่งอรุณเหลืองๆ ขึ้นมาทางนั้นแล้วก็ต้องเป็นอันแน่นอนว่าเวลากลางวันจะตามมา คือมันรุ่งอรุณแล้วมันก็เป็นฟ้าสางแล้วมีดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีเวลากลางวัน
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันถูกต้อง หรือ เห็นชอบเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่า ธรรมทั้งหลายจะตามมา การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้ก็จะตามมา จึงชักจูง ชักชวนกันให้สนใจเรื่องสัมมาทิฏฐิมากที่สุด ยังมีบาลีที่สรุปเอาไว้ง่ายๆ ว่า ข้ามล่วง ก้าวล่วงความทุกข์ทั้งปวงด้วยสมาทานสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐิถือเป็นหลักอยู่อย่างดี แล้วก็จะก้าวล่วงอ่าความทุกข์และปัญหาทุกอย่างได้ นี่ก็น่าจะเป็นหลักที่แจ่มชัดอยู่ในใจของคนทุกคน แม้รุ่นเด็กๆ ก็ควรจะรู้เรื่องนี้แล้ว เพื่อว่าเขาจะได้ศึกษาความถูกต้อง ของทิฏฐิหรือปัญญานี้ให้จริงจัง
ความสำเร็จประโยชน์อยู่ที่การนำของสัมมาทิฏฐิ นำสำหรับให้รู้เรื่องที่จะต้องทำ นำให้ทำถูกต้องพอเหมาะพอดี ล้วนแต่อาศัยสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เขาไม่รู้ว่าอะไรควรจะทำ ทำอย่างไร ทำเพียงไร ทำเท่าไหน ทำเมื่อไร จึงไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา เพราะนั้นถ้ามีสัมมาทิฏฐิ จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หมด
เอาล่ะเป็นอันว่าวันนี้ ครั้งนี้เราพูดกันถึงเรื่อง อริมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละเป็นประมวลแห่งจริยธรรม หรือจะเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปา ก็ได้ แล้วก็เป็นประมวลแห่งจริยธรรม เมื่อจะยกโครงร่างของจริยธรรม ก็ควรระลึกถึงธรรมะเหล่านี้ ที่เรียกว่า อริมรรคมีองค์ ๘ ถ้าจัดหมวดให้น้อยลงเหลือ ๓ หมวด ก็ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเมื่อจะทำหน้าที่จริงๆ เรียงลำดับเสียใหม่ว่า ปัญญา ศีล และสมาธิ คนที่ไม่มีปัญญาจะทำอะไรให้เกิดผลลัพธ์ไม่ได้ แม้จะรักษาศีลก็ไปเป็นศีลโง่ จะทำสมาธิก็เป็นสมาธิโง่ ทุกคนจึงต้องมีสัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องนำชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นการเดินทาง และต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับในชาตินี้ในชีวิตนี้ ก็จะไม่มีข้อตำหนิใดๆ สำหรับความเป็นพุทธบริษัทของบุคคลชนิดนี้
หวังว่าท่านผู้ร่างโครงการ รายการต่างๆ นี้จะได้พิจารณาบรรจุใจความเหล่านี้ลงไปให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะครบถ้วนได้ ดูคราวเดียวหมด มันก็ดูจากข้างบนจะเห็นว่า สิ่งนี้เป็นกระแสดิ่งไปยังนิพพาน สิ่งนี้เป็นเครื่องให้ดำเนินไปถึงพระนิพพาน สิ่งนี้เป็นความถูกต้องที่จะล้างบาป ชำระบาป สิ่งนี้เป็นทางสายกลาง จึงไม่ติดข้างนั้น หรือ ไม่ติดข้างนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกกันอย่างสมัยใหม่ว่า เป็น art เมื่อศึกษาถึงที่สุดแล้ว ก็จะรู้สึกเป็น artistic คือ art สูงสุด เป็นสำหรับชีวิต เป็น art ของชีวิตไปทีเดียว
วันนี้อาตมาก็พูดถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างรวมกันหมด วันหลังก็จะพูดทีละองค์ ทีละองค์ วันนี้ก็ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้