แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จากบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า ที่ฆราวาสพร้อมกันตั้งจิตกล่าวว่า ขอให้การปฏิบัตินั้นๆของเราทั้งหลายจงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้เทอญ ส่วนของพระก็กล่าวคำตั้งใจอย่างนั้นเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะใช้คำว่า ขอให้พรหมจรรย์ของเราทั้งหลายนั้น ไม่ได้ใช้คำว่าการปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ แต่ก็เหมือนกัน ในแง่ของจุดมุ่งหมาย และตัวเนื้อหาการปฏิบัติ การปฏิบัติของฆราวาส แม้แต่ศีล 5 ถือว่า เป็นพรหมจรรย์ได้เหมือนกัน พรหมจรรย์นี้มีความหมายกว้าง ถ้ากว้างที่สุดคือ มรรคมีองค์แปด ที่เรามาปฏิบัติ จุดมุ่งหมายเพื่อความสิ้นทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่าสูงส่งมาก เพราะความสิ้นทุกข์หมายถึงนิพพาน แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ถึงจุดนั้น ต้องกลับมาเริ่มต้นกันที่ขั้นพื้นฐาน
การปฏิบัติที่นี่ หรือว่าที่ไหนตาม ในแง่หนึ่งคือ กลับมาสู่เรื่องพื้นฐาน เรียกว่า back to basic ตั้งแต่เรื่อง การกิน การอยู่ การตื่น การนอน การใช้ชีวิต การบริโภค อย่างเช่น การรู้จักประมาณในการบริโภค การนอน การนั่งในที่อันสงัด การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ต้องอาศัยปัญญาหรือธรรมะที่ลึกซึ้งอะไร ในเรื่องการกิน การอยู่ การนอน การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของวิปัสสนา เรื่องของการมีญาณหยั่งรู้ หรือว่าแจ่มแจ้งในพระไตรลักษณ์ บางคนมาปฏิบัติจะเอาตรงนั้น จะมาทำวิปัสสนา จะปฏิบัติเพื่อให้ได้ญาณ16 หรือว่า เพื่อให้ได้ฌาน 4 ฌาน 8 อันนั้นมีประโยชน์และสำคัญก็จริงอยู่ แต่ว่าต้องกลับมาที่เรื่องพื้นฐาน ที่เป็นพื้นฐานของชีวิตและการปฏิบัติ นอกจากที่พูดมาเมื่อสักครู่แล้ว ที่สำคัญคือความรู้สึกตัว การมีสติ ซึ่งเป็นพื้นฐานมากๆ จนกระทั่งบางทีคนก็มองข้ามไป ไม่เห็นความสำคัญ เขาถือว่ามีแล้ว รู้สึกตัวอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นคนเมา ไม่ได้สลบไสล ไม่ได้เป็นบ้าอะไร ก็เรียกว่ามีสติ แต่นั่นยังไม่พอ เพียงแค่ว่าทำอะไรได้ ฟังรู้เรื่อง เดินถูก ไม่ไปชนเสา อันนั้นยังไม่พอ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สลบ ถึงแม้ว่าจะยังไม่เมา แต่ความรู้สึกตัวของเรายังเรียกว่าน้อยอยู่ ต้องกลับมาสู่พื้นฐานทำความรู้สึกตัว ทำให้มีสติ อย่าไปมองข้ามอย่าไปดูแคลน
พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว อกุศลธรรมใดที่เกิดแล้วก็ดับไป กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น บุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความมั่นคง ไม่คลอนแคลนหรืออันตรธานแห่งพระสัทธรรม สัทธรรมในที่นี้หมายถึงคุณธรรม หรือว่าสภาวธรรมที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาอยู่ในตัวเราหรือในจิตใจของเรา มันสำคัญมากทีเดียว จะบำเพ็ญวิปัสสนาหรือจะทำอะไรที่เป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ต้องมีความรู้สึกตัวก่อน แม้แต่การทำความดีขั้นพื้นฐาน เช่น ทำทาน ใส่บาตร ก็ต้องมีความรู้สึกตัว เพราะถ้าไม่มีความรู้สึกตัว ทำบุญอาจจะได้บาปแทนก็ได้
ตัวอย่างเด็กน้อยคนหนึ่งอยากจะใส่บาตรพระ เพราะยายบอกว่าทำแล้วได้บุญ ยายชวนหลานมาใส่บาตรทุกวัน หลานมาเพราะอยากจะได้บุญ แต่วันหนึ่งของที่ใส่บาตรมันมาก ยายจะใส่เอง เพราะว่าหลานคงแบกไม่ไหว ใส่ไม่ไหว เด็กไม่ยอม รบเร้าจะใส่ ยายยืนกรานว่าจะใส่เอง เด็กไม่พอใจ ตียาย เพราะอะไร ตียายเพราะอยากจะใส่บาตร อยากจะได้บุญ แต่ว่าเด็กทำบาปด้วยการตียาย เพราะอะไร เพราะไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้ตัว ตอนนั้นความไม่พอใจเกิดขึ้น ไม่พอใจเพราะความยึดในบุญนั่นแหละ อันนี้แม้แต่เป็นเรื่องการทำบุญ ไม่ต้องพูดถึงการรักษาศีล หรือการภาวนาต้องอาศัยความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลใครก็ต้องมีความรู้สึกตัวถึงจะได้ผล ทำดีแต่ไม่มีความรู้สึกตัวอาจจะกลายเป็นโทษ
มีเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล พระ 2 รูปเป็นหลานเป็นลุงกัน หลานเป็นพระบวชใหม่ วันหนึ่งโยมแม่ถวายผ้าอย่างดีมา 2 ผืน ให้พระหนุ่ม พระหนุ่มก็เลยเอาผ้าอีกผืนไปถวายให้หลวงลุง ท่านชื่อพระสังฆรักขิต ที่จริง 2 ท่านชื่อเดียวกัน หลวงลุงบอกว่า มีแล้วเอาไว้ใช้เถิด พระหลานพยายามรบเร้า หลวงลุงก็ไม่รับ พระหลานเกิดความน้อยใจ ระหว่างที่กำลังพัดโบกให้หลวงลุง พระหนุ่มคิดเรื่อยเปื่อยไป คิดว่าหลวงลุงไม่รักเรา ไม่สนใจเรา เราจะสึก แล้วเราจะเอาผ้านี้ไปขาย ได้เงินมาแล้วจะไปซื้อแพะ จะเลี้ยงแพะจนกระทั่งออกลูก จะสะสมเก็บหอมรอมริบ เงินที่ได้จากการขายแพะ ได้มากพอจะไปมีครอบครัวจะแต่งงาน แล้วจะเลี้ยงแพะให้เป็นเรื่องเป็นราว และคิดต่อไปถึงขั้นว่าเมื่อมีลูก
ถ้ามีลูกแล้วเราจะเลี้ยงลูกให้ดี สักวันหนึ่งเราจะพาลูกมากราบหลวงลุง จะให้นั่งเกวียนมา ถึงตอนนั้นคงจะมีเงินซื้อเกวียน พ่อแม่ลูกนั่งเกวียนมาหาหลวงลุง แต่นั่งเกวียนจะต้องจับให้ดี อุ้มลูกให้ดี แต่เมียอุ้มลูกไม่ดีวางเอาไว้บนพื้นเกวียน แล้วจู่ๆเกวียนสะเทือน ลูกตกลงมาจากเกวียน ตัวเองโมโหก็เอาปฏักที่ถืออยู่ฟาดมาที่เมียทันที พอคิดมาถึงตรงนี้ มือที่ถือพัดโบกให้หลวงลุงก็ฟาดไปที่ศีรษะของหลวงลุง ตกใจ รู้สึกตัวขึ้นมา เกิดอะไรขึ้น นี่เรียกว่าทำบุญได้บาปเหมือนกัน พัดโบกเพื่อบริการหลวงลุง แต่ปรากฏว่ากลับไปทำให้ท่านเจ็บ เพราะเอาพัดฟาดหัว อันนี้เป็นเพราะความลืมตัว ตอนนั้นอยู่ในโลกของความคิด
คนเราเวลาเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด หรือหลุดเข้าไปในความคิด ไม่ว่าทำอะไรอยู่ลืม ตอนนั้นลืมไปว่ากำลังพัดโบกให้หลวงลุง ตอนนั้นไม่รู้สึกตัวแล้ว ทั้งๆที่ ตอนนั้นพัดอยู่ดูเหมือนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ว่าตอนนั้นแหละที่เรียกว่าลืมตัวไปแล้วหรือเรียกว่าไม่รู้สึกตัว ทางการแพทย์ถือว่ายังรู้สึกตัวหากยังสามารถพัดโบกให้ใครได้ เขาเรียกว่า รู้สึกตัว แต่ว่าในทางพุทธศาสนาเรียกว่าไม่รู้สึกตัว แม้มือจะเคลื่อนไหวไปมา แต่ไม่รู้สึก เพราะตอนนั้นใจไปอยู่ในโลกแห่งความคิด ปรุงแต่งเป็นเรื่องอนาคตทั้งนั้น ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการทำความดี การบริการช่วยเหลือผู้อื่นกลายเป็นการสร้างปัญหาให้เขา อันนี้ในชีวิตประจำวันเจอบ่อย สิ่งที่เราทำแทนที่จะได้เป็นคุณแต่กลับเกิดโทษ อยากจะช่วยเขากลับกลายเป็นสร้างปัญหาให้เขา
อย่างเรื่อง พระอาจารย์ประสงค์ ท่านแสดงธรรมเสร็จ มีโยมอาสาพาท่านไปที่วัด ท่านคงมีธุระอยู่ด้วยค่อนข้างด่วนและมีพระติดตามนั่งไปด้วย รถไปสักพัก พอถึงสามแยก โยมเลี้ยวซ้าย อาจารย์ประสงค์ถามว่าโยมจะไปไหน โยมตอบว่าจะพาท่านไปส่งที่วัดยังไง อาจารย์ประสงค์พูดว่าวัดอาตมาตรงไป ไม่ใช่เลี้ยวซ้าย โยมก็นึกขึ้นได้ว่าที่เลี้ยวซ้ายนั้นคือกลับไปบ้านตัวเอง เลี้ยวทางนั้นประจำ ตอนนั้นลืมตัวคงจะคิดโน่นคิดนี่ พอเห็นถนนเส้นนี้ก็เลี้ยวทันที ทำไปตามความเคยชินทำโดยไม่มีความรู้สึกตัว คนที่เคยขับรถ พอขับรถไปคิดไป หรือพระเดินบิณฑบาต เดิน ๆ ไป แต่ใจลอย ไปถูกทางไม่ได้แปลว่ารู้สึกตัว เพราะว่าเดินไปตามทางเส้นนั้นทุกวันๆ เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี แต่บางทีก็เดินผิดทางเหมือนกันเพราะความลืมตัว เพราะอะไร เพราะตอนนั้นไม่มีสติ มันเข้าไปในความคิด ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าอยู่กับปัจจุบัน เราจะรู้สึกตัวเมื่อใจเราอยู่กับปัจจุบัน ถึงเวลาเลี้ยวก็เลี้ยว หรือถึงแม้เห็นทางแยกแต่ว่าไม่ใช่ทางที่จะต้องเลี้ยว วันนี้ไม่ได้เลี้ยวทางนี้ ตรงไป เราก็ไปถูกทาง
การที่ทำอะไรดูเหมือนว่าทำถูก ไม่ได้แปลว่ารู้สึกตัวเสมอไป เพราะว่าทำไปตามความเคยชิน และการทำตามความเคยชินก็สามารถทำให้เราลืมตัวได้ กินข้าวก็กินข้าวทุกวันๆ เป็นความเคยชิน แต่ว่าส่วนใหญ่ในเวลากินข้าว ไม่รู้สึกตัวทั้งนั้น ลืมตัว ใจกำลังเพลิน คิดโน่นคิดนี่ ช่วงเวลาที่เพลินคือช่วงเวลาที่กินข้าว คนที่ชอบเพ่ง เวลาสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม พอมากินข้าวเป็นอันเสร็จทุกราย ที่เคยเพ่ง ไปกำหนด พอกินข้าวก็ใจลอยเลย ยกเว้น คนที่ภาวนาแบบ ยุบหนอ พองหนอ จะพยายามกำหนดให้ช้า แม้แต่การกินข้าว ตักข้าว อาจจะไม่ถึงกับใจลอยเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ไม่ได้เรียกว่ารู้สึกตัว เพราะว่าจิตเพ่ง ไม่เป็นธรรมชาติ
เวลากินข้าวแล้วใจลอย ก็ไม่รู้สึกว่ามือเขยื้อนขยับด้วยซ้ำ อาจจะรู้สึกเป็นแว่บๆ แต่ว่าโดยรวมๆแล้ว ไม่รู้สึกว่า กำลังตักข้าวใส่ปาก เหมือนกับพระหนุ่มที่กำลังโบกพัดให้หลวงลุง มือโบกไปแต่ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะถ้ารู้สึก มันจะออกจากความคิด ความรู้สึกจะไปสะกิดใจให้ออกมาจากความคิดปรุงแต่ง แต่ตอนนั้นไม่รู้สึก ก็คิดได้เป็นสายยืดยาว กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็เอาพัดไปฟาดหัวหลวงลุงไปแล้ว อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต้องกลับมาปฏิบัติกันใหม่ ทำความรู้สึกตัว แล้วจะรู้ว่ามันไม่ง่าย
เวลาที่ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม ใจมันลอยเสียส่วนใหญ่ ตอนที่ลอยเรียกว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว เกิดจากการที่ไม่มีสติ หรือว่าสติยังเชื่องช้างุ่มง่ามอยู่ เพราะถ้ามีสติ มันจะรู้ทันหรือรู้ว่าจิตเรากำลังฟุ้งปรุงแต่งไปแล้ว สติเหมือนกับตาใน จะทำให้เห็นอาการของจิต ไม่ว่ากำลังจมอยู่ในความคิด หรือกำลังจมอยู่ในอารมณ์ พฤติกรรมของจิต มันมี 2 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่ในแต่ละวัน คือคิด คิดเสร็จแล้วก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาตั้งแต่พอใจ-ไม่พอใจ ยินดี-ยินร้าย ชอบ-ชัง ผลักไส-ไขว่คว้า อันนี้เป็นอาการซึ่งอาจจะเกิดจากความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด หรือว่าความชอบ ความปลื้มปีติ อันนี้เรียกรวมๆว่าอารมณ์ ซึ่งมักจะไปกับความคิด คิดเรื่องไหนก็มีอารมณ์ตามมา คิดเรื่องคนรัก อาจจะเกิดความพอใจ คิดเรื่องลูกอาจจะเกิดความห่วงใย คิดเรื่องพ่อแม่อาจจะเกิดความรู้สึกผิด ทำไม่ดีกับท่าน ไปว่าท่าน คิดเรื่องรถอาจจะรู้สึกหนักใจเพราะว่ายังผ่อนไม่หมด คิดถึงงานเกิดความวิตกกังวล
สิ่งที่คิด มักจะตามมาด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์ และตอนที่คิด คิดโดยไม่ได้ตั้งใจ นี่เรียกว่าไม่มีสติ จิตไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ เช่น กำลังสวดมนต์ ถ้ามีสติอยู่กับการสวดมนต์ มันไม่ฟุ้ง แต่เพราะไม่มีสติกับการสวดมนต์ สวดไป ก็ไปโน่นไปนี่ สังเกตไหม เวลาสวดมนต์ ทำวัตร หรือเวลากินข้าว เวลาเดินบิณฑบาต ไปโน่นไปนี่ มีทั้งส่งจิตออกนอก และมีทั้งสร้างภาพขึ้นมาในความคิด เรียกว่าจินตนาการ หรือเรียกว่าปรุงแต่ง ตอนนั้นเรียกว่าไม่มีสติ
เพราะถ้ามีสติ ใจจะอยู่กับการเดิน จะอยู่กับปัจจุบัน จะรับรู้ว่ากำลังเดินอยู่ และความรู้สึกจะเกิดขึ้นตามมา หรือควบคู่กันคือว่ามีความรู้ตัวทั่วพร้อม เพราะฉะนั้นพยายามกลับมารู้สึกตัว พาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อาศัยสติ ที่ทำให้เห็นความคิดที่ฟุ้งซ่าน ทำให้เห็นอารมณ์ ที่ครอบงำจิตใจ ธรรมชาติของสติ พอมันเห็นก็วาง หรือจิตพอมามีสติก็วาง วางความคิดและอารมณ์ต่างๆ
หรือ พูดอีกอย่างก็คือว่า ความคิดและอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ พอเจอสติ เหมือนกับผู้ร้ายเจอตำรวจ มันล่าถอยหนีไป ซึ่งทำให้จิตเป็นอิสระ อารมณ์ที่เคยครอบงำจิตหรือคอยพันธนาการจิต หรือว่าจับจิตมาเป็นตัวประกัน พอเห็นตำรวจปุ๊บ มันปล่อยเลย จิตนี้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น ตำรวจในที่นี้คือสติ ความหมายที่ว่านี้คือแพ้ทางกัน โจรกับตำรวจแพ้ทางกัน อาจจะหลอกจิตได้ และจิตก็โง่ พร้อมที่จะยอมให้หลอก หลอกด้วยอุบายเดิม ลูกไม้เดิม เหมือนกับเด็กที่พวกมิจฉาชีพหลอกว่า แม่เรียกให้มารับกลับบ้าน พอไปถึงทางเปลี่ยว มิจฉาชีพเอานาฬิกา เอาโทรศัพท์ เอาเงินของเด็กไป วันรุ่งขึ้นมันก็มาลูกไม้เดิม แล้วเด็กก็โดนมันหลอกทุกครั้ง จะเรียกว่าเด็กความจำเสื่อมได้ หรือว่าเด็กไม่ได้จดจำ หรือจำไม่ได้ว่าหน้าตาแบบนี้คือมิจฉาชีพ จำไม่ได้ เหมือนกับใจเรา ความฟุ้งซ่านก็มาหลอกเราเรื่องเดิม แล้วเราก็ไปทุกครั้ง เหมือนกับว่าจดจำอะไรไม่ได้
แต่พอเราเจริญสติๆ บ่อยๆ มันจะเริ่มจำอารมณ์ได้ จะเริ่มจำความคิดฟุ้งซ่านได้ ถ้ามาไม้นี้ มาลักษณะแบบนี้ รู้แล้ว เรียกว่าจำได้ พอจำได้ก็ไม่ยอมให้หลอกอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์ จะหลอกก็หลอกไม่ได้ เพราะว่าเจอบ่อยๆ
มันก็แปลก ใจเราก็เจออารมณ์เช่น ความโกรธ ไม่รู้ว่าเป็นหมื่นเป็นแสนครั้งมาแล้วในช่วงชีวิตนี้ แต่พออารมณ์ความโกรธมาทีไร เสร็จมันทุกที แล้วยิ่งแก่ก็ยิ่งเสร็จง่ายคือเจ้าอารมณ์ง่าย ซึ่งก็แปลกว่าอะไรที่เราเจอบ่อยๆ น่าจะรู้จักดี เราน่าจะจำหรือว่าไม่น่าจะจำอย่างเดียว รู้ทางด้วย แต่ว่ากับเรื่องอารมณ์นั้นโดนหลอกทุกที ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความรู้สึกผิด เกิดขึ้นทีไร พลาดท่า เสียทีทุกที อันนี้เปรียบเหมือนกับเด็ก เด็กที่ถูกมิจฉาชีพมาหลอกเอาเงินทุกวันๆ ไม่เคยจำได้ ไม่เคยสรุปบทเรียน อันนี้เรียกง่ายๆ คือ จำไม่ได้
แต่พอเราเจริญสติบ่อยๆ มาเป็นผู้เห็นๆ การเห็นบ่อยๆ ทำให้จำได้ และพอมันเกิดขึ้นอีก เราก็จะถูกหลอกได้น้อยลง ให้เราสังเกตว่า เวลาเรามาเป็นผู้เห็น ความคิดที่เคยยืดยาว คิดไปยืดยาว 10 เรื่อง จากเรื่องนี้ไปเรื่องโน้น พอหลังๆรู้ทันได้ไว เหมือนกับว่าเด็กที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไป แต่พอไปถึงทางเปลี่ยว นึกได้ว่านี่เป็นมิจฉาชีพ สลัดออกมา รีบหนีเข้าโรงเรียน แต่ก่อนนี้ต้องโดนหลอกถึงจะรู้ เสียเงินเสียทองไป ถึงจะรู้ แต่ตอนนี้ ไม่ทันจะเอาเงิน เอานาฬิกาไป รู้ เด็กรู้รีบหนี รีบสลัดมือ วิ่งหนีเข้าโรงเรียน ตอนหลังนี่จะไวขึ้น เดินออกจากโรงเรียนแค่สองสามก้าว นึกขึ้นมาได้ สลัดมือ หนีเข้าโรงเรียน แต่ตอนหลัง เพียงแค่เห็นหน้า รู้แล้วว่านี่เป็นผู้ร้าย เป็นมิจฉาชีพ ฉันไม่ยอมเชื่อแกอีกต่อไปแล้ว
การเจริญสติ จะมาทำให้สติมันไว จะไว และจำได้เร็ว จำตัวความฟุ้งซ่าน ตัวอารมณ์ต่างๆที่เป็นอกุศลได้ เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์หลอกไม่ได้ จิตจะอยู่กับเนื้อกับตัวได้นานขึ้น อันนี้เขาเรียกว่าเกิดความรู้สึกตัว เวลาทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ เวลาสวดมนต์ ใจอยู่กับการสวดมนต์เป็นส่วนใหญ่ อาจจะเผลอแว่บไปบ้าง ถูกความคิดหลอกไปบ้าง รู้ตัวได้ทันได้ไวแล้วกลับมา กลับมาอยู่กับการสวดมนต์ เรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน เมื่อจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเรียกว่ามีความรู้สึกตัว เมื่อจิตกลับมาอยู่กับงานที่ทำเรียกว่าทำงานอย่างมีสติ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ การอาบน้ำ การล้างจาน การถูฟัน ทำอย่างมีสติ จึงเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เดินให้มีความรู้สึกตัว คู้ขา เหยียดขา-รู้สึกตัว เหลียวซ้ายแลขวา-รู้สึกตัว กินดื่ม เคี้ยวก็-รู้สึกตัว ห่มผ้า ใส่เสื้อ นุ่งกางเกง ครองจีวร สะพายบาตรก็-รู้สึกตัว อุจจาระ ปัสสาวะ -รู้สึกตัว ยืน เดิน นั่ง -รู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัว แม้กระทั่งเวลาหลับ เวลาพูด เวลานิ่ง -รู้สึกตัว อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนใคร สอนพระ สอนเรื่องปฏิบัติ ไม่ได้สอนเด็กๆอนุบาล แต่คือพื้นฐานในการปฏิบัติ ถือว่าจิตจะมุ่งความพ้นทุกข์ ซึ่งอยู่สูงมาก แต่ต้องเริ่มต้นที่พื้นฐาน back to basic เหมือนคนที่จะจบปริญญาเอกได้ต้องคิดเลขเป็น บวกเลขเป็น หารเลขเป็น ต้องรู้ภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เรียนปริญญาเอก ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษก็ยาก ที่จะได้ความรู้หรือเรียนจบ แต่สมัยนี้เมืองไทย ถึงไม่รู้ภาษาอังกฤษ สามารถจะเรียนจบได้ เพราะว่า ไม่ได้เป็นไปตามระบบ
ในการปฏิบัติธรรมไม่ว่าจุดหมายจะสูงแค่ไหน เรื่องพื้นฐานต้องกลับมาปรับ ต้องให้ความสำคัญแล้วทำให้ดี อย่าไปดูถูกสติสัมปชัญญะ เป็นเรื่องพื้นฐาน จะเอาแต่วิปัสสนา จะเอาแต่การมีญาณถึงญาณ 16 หรือว่าละสังโยชน์ให้ได้ แต่เรื่อง basic พื้นฐานนี้ไม่เอา ก็ไปไม่ถึง อย่าไปดูแคลนสติสัมปชัญญะ พยายามทำให้ได้ ฝึกให้ดี การปฏิบัติของเราจะเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่แค่ทางธรรม แต่ทางโลกด้วย ต้องอาศัยความรู้สึกตัว ขับรถถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือว่าตายง่าย บางทีเสียผู้เสียคน เพราะขาดสติ
เวลาโพสต์ข้อความใน Facebook โพสต์ด้วยความขาดสติ ใช้อารมณ์ ด่ากราด หรือคะนอง ไม่ว่าด้วยความคะนองหรือด้วยความโกรธ ตอนนั้นเรียกว่าทำด้วยความไม่รู้สึกตัว เสร็จแล้วเป็นอย่างไร เกิดผลเสียตามมา คนตามรุมด่า เสียผู้เสียคน หรือต้องปิดเว็บไป เลิกไป อันนี้เรียกว่า แม้กระทั่งเรื่องทางโลกก็ไม่เจริญ หรือว่าอยู่อย่างไม่ผาสุก ถ้าขาดความรู้สึกตัว นับภาษาอะไรกับเรื่องทางธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากและเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ยิ่งต้องอาศัยความรู้สึกตัวนี้เป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น ทำให้ได้ ใส่ใจให้มากๆเรื่องสติและความรู้สึกตัว