พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม 2567
อย่างที่เรารู้กันว่า ยุคนี้เป็นยุค สว สังคมไทยก็เรียกได้ว่าเป็น สังคมผู้สูงอายุ เพราะว่า 1 ใน 5 นี้เป็นคนสูงวัย อายุ 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป รอบตัวเรามีคนแก่หรือคนชราเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ และก็ธรรมดา ความแก่ ความเจ็บ ความป่วยนี้มันมาด้วยกัน พอสังคมไทยเรามีคนแก่คนชรามากขึ้น คนเจ็บคนป่วยก็มากขึ้น
ถ้าเราไม่เจ็บไม่ป่วย เราไม่ใช่คนชรา ก็ถือว่าโชคดี แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราคงจะเลี่ยงได้ยาก คือการไปเยี่ยม เยี่ยมคนชราที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะที่อยู่โรงพยาบาลหรือนอนติดเตียง แม้กระทั่งที่บ้าน
และจริงๆแล้วนี่ มันไม่ใช่เฉพาะคนชราที่ป่วย คนหนุ่มคนสาวคนวัยกลางคนที่ป่วยก็เยอะ อาจจะไม่ใช่เฉพาะโรคชรา แต่ว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกาย เรียกว่าโรคยืดเยื้อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ไตวาย เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย หลายคนก็จะมีความหนักใจว่า ควรจะไปเยี่ยมอย่างไร โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยนี้เป็นผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่
ก็จะมีการพูดคุยสนทนากัน ระหว่างคนป่วยกับผู้สูงวัยว่า เวลาเจ็บเวลาป่วยนี้อยากให้คนมาเยี่ยมทำอะไร หรือไม่อยากให้คนที่มาเยี่ยมทำอะไร ส่วนใหญ่ก็พูดตรงกัน ไม่อยากให้คนมาเยี่ยมนี้ซักไซ้อาการเจ็บป่วยของเขา เพราะว่าถ้าทุกคนมาซักไซ้ เขาต้องตอบ เขาก็รู้สึกเอือมระอากับการที่ต้องพูดถึงความเจ็บป่วยของตนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คนที่มาเยี่ยม หากอยากรู้อาการของผู้ป่วย น่าจะไปถามหมอดีกว่า หรือไปถามญาติดีกว่า ถ้าจะถามผู้ป่วยก็ถามว่า "รู้สึกอย่างไรบ้าง" อันนี้จะดีกว่า ดีกว่าถามว่า "เป็นไงบ้าง" การถามว่าเป็นไงบ้างนี้สำหรับคนป่วยเขารู้สึกว่า ถามไปอย่างนั้นอย่างนั้นแหละ ตามมารยาทไม่ได้ตั้งใจอยากจะรู้จริงๆ
ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรตอนนี้ เขาจะเกิดความรู้สึกว่าคนถามอยากจะรู้จริงๆ คำถามนั้นจะมีความหมายกว่าคำถามว่าเป็นไงบ้าง และถามว่ารู้สึกอย่างไร คนไข้สามารถจะตอบยาวก็ได้ สั้นก็ได้ เช่น รู้สึกเพลีย บางคนที่ไม่อยากตอบมากก็ตอบสั้นๆแค่นี้ มันเป็นคำถามที่ตอบง่ายกว่า และก็แสดงถึงความจริงใจ ตั้งใจอยากจะรู้มากกว่า
และสิ่งที่คนไข้อยากจะให้ผู้มาเยี่ยมทำก็คือว่า ให้รู้จักสังเกตบ้างว่าคนไข้ตอนนี้นี่เพลียหรือเปล่า บางทีคนมาเยี่ยมนี้ไม่สนใจเลย ไม่สังเกตเลย อยากจะพูดแต่สิ่งที่ตนอยากจะพูด อยากจะรู้ในสิ่งที่คนไข้เขายังไม่พร้อมหรือไม่มีเรี่ยวแรงที่จะตอบ ให้รู้จักสังเกตบ้าง
และที่สำคัญคือรู้จักรับฟัง รู้จักรับฟังคนไข้ อันนี้ดีกว่าอยากจะพูดคนไปเยี่ยมนี้หลายคนรู้สึกหนักใจว่า จะไปพูดอะไร บางคนก็เตรียมเรื่องพูดมากมาย แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่คนไข้ต้องการ คือคนที่รับฟังหรืออยากรับฟังความรู้สึกของเขา
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่รู้จะพูดอะไรก็ไม่เป็นไร แค่เตรียมใจรับฟังความรู้สึกของคนไข้ ถ้าเขาอยากจะพูดเขาก็พูด ถ้าเขาไม่อยากพูดไม่อยากระบายเราก็นั่งเงียบๆเป็นเพื่อนเขา ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดถ้าหากว่าจะต้องนั่งเงียบๆ เป็นเพื่อนคนไข้ผู้ป่วย ถ้าเขาอยากจะพูดเมื่อไหร่เขาก็จะพูด หน้าที่ของเราคือรับฟังด้วยความตั้งใจ
และก็สังเกตว่า ตอนนี้เขาอยากจะให้เราไปหรือยัง เพราะเขาอยากจะพักผ่อนอยู่เงียบๆ บางทีคนไข้ก็เกรงใจ เห็นคนมาเยี่ยมอยู่ก็ต้องหาเรื่องพูด คราวนี้พอคนไข้พูดไปนานๆ เขาก็จะเพลีย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนมาเยี่ยมนี้ต้องสังเกตว่า เราอยู่นานไปแล้ว ให้เขาได้พักบ้าง
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนไม่ตระหนักคือ ก่อนไปเยี่ยม พยายามทำใจให้สบายๆ มีเรื่องเครียดเรื่องกลุ้มเรื่องอะไร พยายามปล่อยวางไว้ก่อน
ก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไปในห้องผู้ป่วย ให้สังเกตใจตัวเองว่ามีความเครียดมีความวิตกอะไรไหม วางให้หมด เพราะว่าถ้าเราพกความเครียดเข้าไปในห้องผู้ป่วย ความเครียดความหงุดหงิดของเรานี่แหละที่จะส่งผ่านไปให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยเขารับรู้ได้ว่าคนที่มาเยี่ยมนี้ รู้สึกอย่างไร
ถ้าคนที่มาเยี่ยมนี้จิตใจแจ่มใสชื่นบาน ความสดใสชื่นบานมันก็จะแผ่ไปสู่คนไข้ ทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นได้โดยที่บางทีพูดไปเยี่ยมนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทำใจให้สบายๆ อย่าพกความเครียด ความหงุดหงิด ความกลัดกลุ้ม ความกังวลเข้าไปในห้องผู้ป่วย แม้ว่าสิ่งที่กังวล สิ่งที่เครียด สิ่งที่หงุดหงิดไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยเลย แต่ว่ามันก็มีผลต่อผู้ป่วยได้
อันนี้ก็มีการถามต่อไปว่า ผู้ป่วยนี้ไม่อยากหรือว่าไม่ชอบอะไรบ้างเวลามีคนมาเยี่ยม อย่างแรกที่เขาบอกไม่ชอบคือ ไม่ชอบคำแนะนำที่เป็นลักษณะกดดัน แนะนำเรื่องอาหารเสริม แนะนำเรื่องสมุนไพร แนะนำเรื่องหมอทางเลือก แนะนำเรื่องยาตัวนั้นตัวนี้ ไม่ได้แนะนำเปล่าๆมีความกดดันด้วย อยากให้เขาทำตามที่เราแนะนำ
เหล่านี้แม้เป็นความปรารถนาดี แต่ว่าความปรารถนาดีของคนมาเยี่ยม มันก็สร้างความกดดันให้กับคนไข้ ยิ่งคนมาเยี่ยมนี้มีหลายคนแนะนำกันไปคนละทางนี้ คนไข้เครียดเลย ไม่ได้เครียดเพราะความเจ็บป่วย แต่เครียดเพราะคำแนะนำด้วยความหวังดีของคนมาเยี่ยม และแนะนำแบบกดดันด้วย ต้องทำ ต้องกิน กินสมุนไพรที่ฉันแนะนำ ถ้าไม่ทำนี้ไม่กินนี้ฉันน้อยใจฉันโกรธ เป็นแบบนี้หลายๆคนก็เกรงใจกินทุกอย่างที่คนมาเยี่ยมเอามาให้
ประการที่ 2 ที่ไม่ชอบคือ บังคับให้เขาทำอะไรที่เขาไม่ชอบไม่อยากทำ อันนี้มักจะเกิดขึ้นจากญาติจากคนใกล้ชิด แนำสารพัดเลยให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยาก แค่ต่อสู้กับความเจ็บป่วยนี้เขาก็เหนื่อยแล้ว
และสิ่งที่ไม่ชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือคำพูดว่า สู้ๆ อดทน หลายคนนี้ติดปาก ไม่รู้จะพูดอะไร ก็จะบอกว่าสู้ๆ อดทน เข้มแข็ง ลึกๆนี้มันเหมือนกับไปต่อว่าคนไข้ว่าสู้ไม่พอ ยังเข้มแข็งไม่พอ ทั้งที่เขาก็สู้เต็มที่แล้ว และพยายามทำใจให้เข้มแข็ง
มีคนไข้คนหนึ่งเขาบอกว่าเขารู้สึกเสียพลังมากกับการทำตัวให้เข้มแข็ง ให้คนที่มาเยี่ยมรู้สึกสบายใจ เขาบอกว่าลึกๆนี้มันเป็นสิ่งที่กัดกร่อนพลังภายในอย่างยิ่งเลย ทำใจให้เข้มแข็ง ทำตัวให้เข้มแข็งเพื่อให้คนมาเยี่ยมสบายใจ ให้เขารู้สึกว่าฉันสู้ๆแล้ว ฉันอดทนแล้ว เรียกว่าตอบสนองความปรารถนาดีของผู้มาเยี่ยม แต่คนไข้กลับเพลียกลับล้านี่ อันนี้ก็ต้องระวัง
และอีกอย่างหนึ่งที่คนไข้ไม่ชอบคือ ถือวิสาสะ ปรารถนาดีแต่ถือวิสาสะ ละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนไข้ หรือไม่ก็เอาเรื่องต่างๆมาให้แก้ มาฟ้องคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยนี้เป็นผู้สูงวัย หลายคนก็จะมาฟ้อง เอาปัญหามาให้แก้ คนไข้นี่ก็เรียกว่ายิ่งเครียดเข้าไปใหญ่
หรือประเภทนั่งนานๆ มาเยี่ยมพร่ำเพรื่อ ไม่รู้เวล่ำเวลา หรือไม่ก็ถกเถียงกันเองเกี่ยวกับอาการของคนไข้ ถกเถียงกันต่อหน้าคนไข้หรือข้างเตียงของคนไข้ หรือบางทีก็คุยกันเองตั้งวงคุยกันเอง เหมือนกับว่าคนไข้ไม่มีตัวตนเลย อันนี้มีเยอะ หรือไม่ก็นั่งไถโทรศัพท์มือถือไม่ได้สนใจคนไข้ คนไข้รู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนเลย แค่มาเยี่ยมตามมารยาทเท่านั้นเอง
อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะรู้ แต่เราจะรู้ดีชัดถ้าหากว่าป่วยเราจะเข้าใจชัด แต่ถ้าเรายังไม่ป่วยก็ถือว่าควรจะเรียนรู้เอาไว้ เพราะเราจะต้องเยี่ยมคนป่วยอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะผู้สูงวัย และถ้าเรารู้เอาไว้มันก็จะช่วยผู้ป่วยได้ตามความหวังดีของเรา.
...