พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 22 มิถุนายน 2567
มีข่าวหนึ่งที่คนซึ่งเป็นพ่อแม่ควรให้ความสนใจ ข่าวนี้เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาคือ เขาค้นพบว่าวัยรุ่นที่ติดอินเทอร์เน็ตจะมีสมองที่ไม่เหมือนคนทั่วไป เคมีในสมองหรือการทำงานสมองผิดปกติ การเชื่อมต่อภายในสมองน้อยลง
สมองคนเราจะทำงานได้ดีต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่าง ๆ ยิ่งเชื่อมต่อดี การเชื่อมต่อมีมากเท่าไร การทำงานของสมองก็จะยิ่งดี แต่เขาพบว่าวัยรุ่นที่ติดอินเทอร์เน็ตการเชื่อมต่อของส่วนต่าง ๆ ในสมองจะน้อยลง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการคิด ซึ่งมีผลทำให้ความจําและการตัดสินใจไม่ดีตามไปด้วย
ผลกระทบไม่ได้มีแค่นั้น ยังทำให้เด็กหรือวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะติดอินเทอร์เน็ตหนักขึ้น และมีปัญหาพฤติกรรม มีปัญหาความผิดปกติทางด้านอารมณ์ พัฒนาการทางด้านอารมณ์เสื่อมถอย รวมทั้งความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล การใช้วิจารณญาณก็ลดลง และยังรวมไปถึงการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ด้วย เพราะสมองเป็นตัวช่วยประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
เขาพบว่าเด็กที่ติดอินเทอร์เน็ต การทำงานของร่างกายจะสู้คนปกติไม่ได้ และจะมีปัญหาตามมา คือมีปัญหาการนอน นอนไม่ค่อยหลับ มีปัญหาการกิน รวมทั้งมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และแน่นอนในที่สุด จะเกิดโรคซึมเศร้า แม้จะพรั่งพร้อมด้วยวัตถุ มีสิ่งเสพมากมาย แต่ว่าจิตใจก็ซึมเศร้าหงอยเหงา
นี่เป็นข่าวที่บางครั้งหรือบางคนก็พอจะระแคะระคายมาบ้าง แต่ว่าไม่ค่อยมีการยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นข้อสรุปจากการที่เขาศึกษาสมองของวัยรุ่นอายุ 10 ถึง 19 ขวบที่ติดอินเทอร์เน็ตประมาณ 240 คนในอังกฤษ โดยใช้การสแกนสมองจากเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูว่าสมองมีความผิดปกติไหม และพบว่าใช่เลย
แล้วเขาอธิบายต่อไปว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มหรือง่ายมากที่จะติดอินเทอร์เน็ต เพราะว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่นสมองของคนเราจะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งด้านชีววิทยา ทั้งด้านเคมี รวมทั้งด้านจิตใจ คือ ด้านบุคลิกภาพ เพราะฉะนั้น การที่จะได้รับผลกระทบจากอินเทอร์เน็ตจนเสพติดจะมีง่ายกว่า
อันนี้เป็นข้อมูลหรือข่าวสารที่ผู้เป็นพ่อแม่ต้องใส่ใจ อย่างที่บอก เพราะว่าการที่วัยรุ่นติดอินเทอร์เน็ตก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก จึงให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ เล่นแท็บเล็ต จะได้ไม่มากระจองอแง ไม่มารบกวนพ่อแม่
การที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูกเพราะอะไร เพราะทำงาน ถามว่าทำงานเพื่ออะไร หลายคนหรือทุกคนก็ตอบว่า ทำงานเพื่อลูก ทำงานจะได้มีเงินส่งเสียลูก หรือทำให้ลูกมีชีวิตที่สะดวกสบาย ทำงานเพื่อลูกแต่ไป ๆ มา ๆ กลับละเลยลูกเพื่องาน เป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมด
ทีแรกก็ทำงานเพื่อลูก ทำงานหนักเพื่อลูก แต่ไป ๆ มา ๆ ละเลยลูก ทิ้งลูกก็เพื่องาน จะได้ทำงานได้เต็มที่ อาจจะคิดว่ามีเงินให้กับลูกแล้วลูกจะมีชีวิตที่สุขสบาย มีอนาคตที่มั่นคง เพราะได้เรียนโรงเรียนดี ๆ ราคาแพง แต่ว่าในระหว่างนั้นก็ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือ ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต
บางคนหวังดี ถ้าลูกเล่นมือถือ เล่นแท็บเล็ต จะได้ไม่ออกไปเพ่นพ่าน ถ้าออกไปเพ่นพ่านเดี๋ยวจะไปติดยา ไปคบเพื่อนชั่ว แต่กลายเป็นว่าแทนที่จะติดยาก็กลายเป็นติดอินเทอร์เน็ต หรือว่าติดพนัน พนันออนไลน์ หรือติดเกม เรียกว่าหนีเสือปะจระเข้
ถ้าหากว่าพ่อแม่ให้เวลากับลูกตอนที่ลูกยังเล็ก ไม่ใช่เอาแต่ทำงาน เตือนใจตัวเองอยู่เสมอว่า เราทำงานเพื่อลูกแต่อย่าถึงกับว่าทิ้งลูกเพื่องาน ไม่ว่างานจะเยอะแค่ไหน แต่ในเมื่อเรามีลูก ก็ควรให้เวลากับเขา ทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ ไม่ต้องพาไปเที่ยวห้าง ไม่ต้องพาไปช้อปตามที่ต่าง ๆ กิจกรรมในบ้านก็ทำได้
หลายคนชวนลูกทำครัว มาสนุกกับการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ เด็กกลับพบว่าทำครัวก็สนุกได้ หรือไม่ก็ปลูกต้นไม้ ชี้ชวนให้เห็นธรรมชาติของต้นไม้และสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ ที่พบ รวมทั้งแมลง นก เด็กก็เกิดความเพลิดเพลิน เกิดความอยากรู้อยากเห็น บางคนเพลินกับการดูมด เลี้ยงมด ไม่สนใจอินเทอร์เน็ตเลย สนใจบ้าง แต่ไม่ถึงกับติด
อันนี้คือสิ่งที่พ่อแม่จะช่วยลูกได้ ทำให้ลูกได้พบว่ามีอะไรที่ดีกว่าการเสพทางอินเทอร์เน็ต การเสพข้อมูลข่าวสารความบันเทิงทางอินเทอร์เน็ตก็เป็นการเสพอย่างหนึ่ง ซึ่งเด็ก ๆ คิดว่ามันให้ความสุข แต่ที่จริงมีความสุขที่ดีกว่านั้น คือ ความสุขจากการทำ หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำ เช่น ทำครัว ปลูกต้นไม้ วาดรูป หรือแม้แต่ค้นคว้า
เด็กเขาจะเกิดความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ ไม่ใช่ใฝ่เสพ ถึงเวลาจะใช้อินเทอร์เน็ตก็เป็นผู้ใช้ ไม่ใช่ตกเป็นทาสของมัน เป็นนายมัน ใช้มัน ไม่ใช่ให้มันใช้เรา เดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นแทนที่จะใช้อินเทอร์เน็ต ปรากฏว่ามันใช้เรา
นี่เพราะว่าเขาไม่รู้จักความสุขที่เกิดจากการใฝ่ทำ ใฝ่รู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือกระตุ้น ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาตามมา พอเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว คราวนี้แก้ไม่ได้แล้ว ติดเน็ตไม่พอ ติดอย่างอื่นด้วย แล้วก็ซึมเศร้า สุดท้ายพ่อแม่ก็ไม่เป็นอันทำงาน ต้องมาคอยแก้ปัญหาลูก ปวดหัวเพราะลูก.