พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2567
มีชายคนหนึ่งปวดท้องอย่างรุนแรงต้องรับการผ่าตัดโดยด่วน หมอใหญ่คนหนึ่งก็ได้รับมอบหมายให้ผ่าตัดช่องท้องคนไข้คนนี้ โดยมีพยาบาลหน้าใหม่มาทำหน้าที่ส่งเครื่องมือผ่าตัดให้หมอ หลังจากผ่าตัดเสร็จหมอก็บอกว่าปิดช่องท้องได้แล้ว
พยาบาลคนหนึ่งคนที่ส่งเครื่องมือให้หมอนั้นบอกว่า ไม่ได้ค่ะ ยังปิดช่องท้องไม่ได้ ทั้งหมอและพยาบาลในทีมก็หันมามองพยาบาลคนนี้เพราะว่าไปทักท้วงหมอใหญ่ และแกก็อธิบายว่าแกเตรียมผ้าก๊อซเอาไว้ 12 ชิ้นแต่ตอนนี้เห็นแค่ 11 ชิ้น อีกชิ้นอาจจะคาอยู่ในท้องก็ได้
เพราะฉะนั้น ต้องหาให้เจอ ยังปิดช่องท้องไม่ได้ หมอก็ยืนยันว่าผ้าก๊อตทั้งหมดนี้หมอเอาออกมาเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดก็มีแค่นี้แหละ พยาบาลสาวก็บอกว่าจะต้องมีอะไรผิดพลาดแน่นอน เพราะว่าเธอเตรียมมา 12 ชิ้นพอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกิน ส่วนหมอก็ยืนกรานว่า ครบแล้ว ปิดช่องท้องได้แล้ว แล้วก็บอกว่าผมรับผิดชอบเอง
แต่พยาบาลคนนั้นก็บอกว่า ไม่ได้ค่ะไม่ได้ ไม่ยอม ก็เกิดความตึงเครียดอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายก็หมอนี่แหละหยิบผ้าก๊อตอีกชิ้นหนึ่งที่ซุกซ่อนเอาไว้ แสดงว่าผ้าก๊อซเอาออกมาจากท้องคนไข้ครบ 12 ชิ้น
หมอนี้ต้องการทดสอบพยาบาลคนนี้ว่ารอบคอบแค่ไหน หมอก็พอใจ และก็บอกพยาบาลคนนี้ว่า ขอชื่นชมนะที่คุณยืนยันในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง คุณจะต้องประสบความเจริญความสำเร็จในวิชาชีพอย่างแน่นอน
พยาบาลคนนี้น่าสนใจนะ ปกติพยาบาลหน้าใหม่หรือพยาบาลหน้าเก่าก็ตาม ไม่ค่อยจะกล้าทักท้วงหมอเท่าไหร่ และแกก็รู้ว่าการทักท้วงหมออย่างกรณีนี้ หมอตั้งใจจะเย็บปิดช่องท้องแล้วไปเบรกเอาไว้นี่ หมอคงจะไม่พอใจ
แต่ว่าแกไม่ได้เห็นแก่ตัวเอง ไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง นึกถึงคนไข้ว่าถ้าเกิดลืมผ้าก๊อซนี้ไว้ในท้องคนไข้นี้ จะเดือดร้อนแน่ไม่ใช่แกเดือดร้อนนะคนไข้จะเดือดร้อน ความที่นึกถึงคนไข้มากกว่าตัวเองทำให้แกกล้าที่จะทักท้วงหมอซึ่งเป็นหมอใหญ่ด้วย
ในขณะเดียวกัน หมอก็ต้องการเช็คว่าพยาบาลคนนี้เป็นอย่างไร ต้องการทดสอบก็เลยซุกผ้าก๊อซ 1 ชิ้นเอาไว้ เป็นวิธีการทดสอบดูคุณภาพของคนว่าเป็นอย่างไร
แล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะหมอก็พบว่า พยาบาลคนนี้เป็นพยาบาลที่ดีมาก ไม่เพียงแต่นึกถึงคนไข้มากกว่าตัวเองเท่านั้น แต่ว่ายังเป็นคนที่กล้ายืนกรานในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าถูกต้อง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยนี้แม้จะรู้ว่าถูกต้องแต่ไม่กล้ายืนกราน เพราะกลัวว่าคนถูกท้วงจะไม่ชอบใจ เรียกว่าให้ความสนใจให้คุณค่ากับความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง แต่พยาบาลคนนี้แกเอาความถูกต้องเป็นหลัก คนอื่นจะไม่ถูกใจฉันไม่เป็นไร แต่เอาความถูกต้องคือสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไข้
อันนี้เป็นบทเรียนที่ดีทั้งสำหรับพยาบาลและผู้เป็นหมอ บางครั้งเราก็ต้องมีการตรวจสอบ ทดสอบคุณสมบัติของลูกน้อง จะใช้วิธีการสอบถามไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีการสร้างสถานการณ์ เพื่อดูว่าลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหรือพยาบาลมีคุณสมบัติอย่างไร เขาตามน้ำหรือเขายืนยันในความถูกต้อง เขานึกถึงคนไข้หรือว่านึกถึงหน้าตัวเอง
มีหมออีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ แกสอนนักศึกษาแพทย์อยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ 5 คนและตอนท้าย ๆ ปีก็มีการทดสอบภาคปฏิบัติ ก็ให้นักศึกษาแพทย์ไปราวด์คนไข้ แล้วก็ดูว่านักศึกษาแพทย์นี้ปฏิบัติกับคนไข้อย่างไร รักษาคนไข้อย่างไร เสร็จแล้วก็ให้นักศึกษาทุกคนเข้ามาในห้องบรรยาย
บนโต๊ะในห้องนี้มีแก้วบรรจุปัสสาวะเต็มแก้ว แล้วหมอก็บอกว่า บางครั้งจำเป็นที่ต้องทดสอบปัสสาวะว่าคนไข้นี้อุณหภูมิเป็นอย่างไร อุ่นหรือเย็น ว่าแล้วแกก็เอานิ้วนี้จิ้มลงไปในถ้วยที่มีน้ำปัสสาวะ และก็บอกให้นักศึกษาทุกคนทำตาม
นักศึกษาก็กระอักกระอ่วน แต่ก็ทำเพราะว่าอาจารย์สั่ง เอานิ้วจิ้มเข้าไปในน้ำปัสสาวะ และอาจารย์ก็ถามว่าเป็นยังไงอุ่นหรือเย็น นักศึกษาก็บอกว่าอุ่นครับ แสดงว่าเพิ่งมาใหม่ ๆ และอาจารย์ก็บอกว่า นอกจากเราควรจะรู้ว่าปัสสาวะนี้อุ่นหรือเย็นแล้ว ควรจะรู้รสชาติด้วยนะว่ามันขมหรือว่ามันหวาน เพราะว่าคนไข้ที่เป็นเบาหวานนี้ปัสสาวะจะมีน้ำตาลมันหวาน
ว่าแล้วอาจารย์ก็เอานิ้วที่จิ้มน้ำปัสสาวะนี้ยัดเข้าไปในปากอม แล้วก็บอกให้นักศึกษาทุกคนทำตาม นักศึกษาหลายคนนี้ไม่กล้าเลย นิ้วที่เปื้อนปัสสาวะนี้เอาใส่ปาก แต่ทุกคนก็ทำตามด้วยความพะอืดพะอม
พอเสร็จแล้วทุกคนก็ดีใจที่ผ่านพ้นการทดสอบได้ แต่ปรากฏว่าทุกคนได้ศูนย์นะ ข้อนี้ทุกคนได้ศูนย์ หลายคนก็แปลกใจว่าทำไมถึงได้ศูนย์ ในเมื่อนักศึกษาก็มีความอดทน อาจารย์สั่งก็ทำ และจะต้องอมนิ้วที่มีน้ำปัสสาวะของคนไข้
อาจารย์ให้เหตุผลว่า เพราะนักศึกษาไม่สังเกตว่านิ้วของอาจารย์ที่จิ้มน้ำปัสสาวะกับนิ้วที่ใส่ปากนี้มันคนละนิ้ว นักศึกษาไม่ทันสังเกต นักศึกษาเอานิ้วเดียวกันนี้จิ้มเข้าไปแล้วก็อม นักศึกษานี้สอบตกเรื่องการสังเกต อาจารย์หลอกนักศึกษาแต่นักศึกษานี้มองไม่เห็น ไม่สังเกตว่านิ้วที่จิ้มน้ำปัสสาวะกับนิ้วที่อาจารย์อมนี้มันคนละนิ้วกันก็เลยตกไปนะ
อันนี้ก็เป็นการทดสอบที่น่าสนใจ ทดสอบภาคปฏิบัติซึ่งมันไม่อยู่ในตำรานะ แต่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน.