พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
ทุกเช้าเวลาไปบิณฑบาตมักจะมีหมาตัวหนึ่งเดินหรือวิ่งนำหน้า หมาตัวนี้คุ้นกับคนแต่ว่าก็ขี้กลัว มันเดินนำหน้าไปจนกระทั่งขากลับ ก็ยังเดินหรือวิ่งนำหน้าอยู่ ช่วงขากลับมีข้าวเหนียวมา บางครั้งจะปั้นข้าวเหนียวแล้วโยนไปให้หมาตัวนี้ บางทีก็ไปโดนลำตัวบ้าง บางคราวก็ไปโดนหัวบ้าง ทันทีที่โดนตัว เจ้าหมาตัวนี้จะร้องเอ๋งเลย ไม่ได้ร้องดีใจ แต่ร้องด้วยความตกใจ ตกใจเพราะอะไร
ตกใจเพราะมันนึกว่าเป็นก้อนหิน หมาตัวนี้คงจะโดนขว้างด้วยก้อนหินอยู่บ่อยๆ
ที่จริงข้าวเหนียวเป็นของดีสำหรับหมา แต่ว่าพอข้าวเหนียวถูกหรือสัมผัสหมาตัวนี้ มันจะร้องเอ๋งเพราะนึกไปถึงก้อนหินที่คนชอบขว้าง ก็จะตกใจ แล้วไม่ใช่แค่ร้องเอ๋งด้วยความตกใจ คงมีความปวดหรือรู้สึกปวดตามมาด้วย
เพราะเสียงร้องของหมาตัวนี้มันเหมือนกับว่าเจ็บปวด คงเป็นเพราะว่าพอนึกถึงก้อนหิน แล้วนึกต่อไปถึงความเจ็บปวดที่เคยโดนก้อนหินขว้าง พอนึกถึงความเจ็บปวดก็เลยรู้สึกปวดขึ้นจริงๆ ทั้งๆที่ข้าวเหนียวสัมผัสตัว มันไม่ได้ปวดอะไรเลย มันนิ่มต่างจากก้อนหิน เป็นความปวดที่นึกเอาเอง เพราะว่าไปนึกถึงก้อนหิน
อันนี้ก็เป็นการปรุงแต่งด้วยจินตนาการของหมา ซึ่งพอนึกถึงแล้วมันไม่ใช่แค่ตกใจอย่างเดียว รู้สึกปวดด้วย เป็นความปวดที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง หรือว่าอาจจะเป็นความปวดที่คูณ 3 คูณ 4 จากเดิมที่มีข้าวเหนียวมาสัมผัสตัว
ความกลัวมันมีผลอย่างนี้จริงๆ คือ มันเป็นตัวเพิ่มทุกข์ เป็นตัวเพิ่มความเจ็บปวด ไม่ใช่เฉพาะกับสัตว์อย่างเดียว กับคนก็เหมือนกัน เจอสัมผัสนิดหน่อยแต่พอกลัว มันจะขยายความรู้สึกนั้นหลายเท่า จนกลายเป็นความปวดขึ้นมา
เคยมีการทดลอง คนที่กลัวเข็มฉีดยา ถ้าเกิดโดนเข็มจิ้ม จะรู้สึกปวดกว่าคนที่ไม่กลัวเป็น 3 เท่า คนที่ไม่กลัวโดนเข็มฉีดยาก็ปวดแค่หนึ่ง แต่คนที่กลัวเข็มฉีดยาความปวดจะเป็น 3 แปลว่าความปวดมันคูณ 3
มันไม่ใช่แค่ความปวดอย่างเดียว บางทีมันทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา ทั้งๆ ที่สิ่งที่กระทบก็ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไร แต่พอกลัวแล้ว ผลที่เกิดขึ้น มันก็กลับกลายเป็นอันตราย จนบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อ มีแขกอินเดียคนหนึ่ง ขายของตอนเช้าอยู่ ปรากฏว่าโดนงูกัด งูมันขดอยู่ในกระสอบ กระสอบข้าวมั้ง แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นงูอะไร แล้วก็ไม่ได้เกิดผลอะไรขึ้นมา
เขาถูกงูกัดตอนเช้า ตอนเที่ยงก็ยังกลับไปบ้านกินข้าวเที่ยง ตอนนั้นก็ดีใจที่ลูกสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อได้ ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะพาลูกไปมอบตัว ขณะที่กินข้าวอยู่ เพื่อนบ้านเอางูมา เป็นงูที่ตายแล้ว เพื่อนบ้านบอกว่า จับงูตัวนี้ได้ที่ร้าน ก็เป็นงูตัวที่กัดเขา เพราะว่าก่อนที่เขาจะกลับบ้าน เขาก็ให้หมองูไปตามจับงูในบ้านที่กัดเขา หมองูจับได้แล้วก็ตีจนตาย งูที่เอามาให้ชายคนนั้นดู มันเป็นงูเห่า
ชายคนนั้นพอเห็นงูเห่า หน้าซีดเลย แล้วเขาก็อุทานมาว่า อย่างนี้ฉันก็ตายสิ แล้วก็ล้มเลย ปรากฏว่าเป็นลม กว่าจะพาส่งโรงพยาบาลได้ก็หลายชั่วโมง เพราะว่าเป็นหมู่บ้านในชนบท รถพยาบาลก็หายาก กว่าจะมาถึงก็เย็น ขณะที่รถพยาบาลกำลังมา เขาก็อาการก็แย่ลงไปเรื่อยๆ ตัวเริ่มแข็ง สุดท้ายพอไปถึงโรงพยาบาลก็ตาย
หมอบอกว่าตายเพราะหัวใจวาย ไม่ใช่ตายเพราะพิษงู ตอนที่ไม่รู้ว่าเป็นงูเห่าก็สบายดี แต่พอมีคนมาบอกว่า งูที่กัดเขาคืองูเห่า หน้าซีดเลยแล้วก็ตาย แต่ไม่ตายเพราะพิษงู ตายเพราะหัวใจวาย หัวใจวายเพราะอะไร เพราะตกใจ เพราะกลัว
ความกลัวมันสามารถที่จะทำให้คนเราตายได้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เจออาจจะไม่ได้ร้ายแรงอะไรเท่าไหร่ จริงๆ แล้วงูเห่ากัดเขาหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เพราะว่าถูกกัดแล้ว ยังสบายดี ตอนกลางวันยังไปกินข้าวที่บ้านได้ แล้วทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดพอเห็นงูเห่า พอได้รับคำบอกเล่าว่าคืองูเห่าที่กัดเขา ตกใจหน้าซีดเพราะว่านึกถึงความตายขึ้นมาเลย ขึ้นชื่อว่างูเห่ากัดใครแล้วก็ต้องตายทั้งนั้น พอนึกถึงความตายขึ้นมาปรากฏว่าหัวใจวาย
มันมีเรื่องทำนองนี้อยู่บ่อยๆ คนเราพอได้รับข่าวร้ายขึ้นมา ที่เคยสบายๆ ก็กลายเป็นทรุดเลย อย่างผู้ชายคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจอายุประมาณ 40 กว่า วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเสร็จหมอบอกว่าคุณหัวใจรั่ว เท่านี้แหละซึดเลย เพราะความเข้าใจของเขา หัวใจรั่วคือหัวใจเป็นรู เวลาหัวใจเต้น เลือดก็พุ่งกระฉูดออกมา แบบนี้ฉันก็ตายสิ! เขาคิดในใจ
จริงๆ หมอบอกไม่ครบ หมอตั้งใจจะบอกว่า ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรั่วก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เล่นเทนนิสอย่างที่เขาเคยเล่นเป็นประจำก็ยังทำได้ แต่ว่าด้วยความที่หมอพูดไม่ครบถ้วน และด้วยการที่เขาจินตนาการไปเองว่าหัวใจรั่ว มันเลวร้ายยังไงบ้าง ปรากฏว่ากลับไปบ้านแค่สองวัน ก็ต้องกลับเข้าโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็เข้าห้องไอซียู แล้วก็ไม่กลับออกมาอีกเลย
ลิ้นหัวใจรั่ว ไม่ได้ทำให้ถึงกับตาย ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจจะกินยาบ้าง แล้วก็ไม่ออกกำลังกายหักโหม ก็อยู่ได้ แต่ที่เขาตายเพราะอะไร ไม่ได้ตายเพราะลิ้นหัวใจรั่ว ตายเพราะความกลัว กลัวอะไร กลัวว่าจะตาย พอกลัวว่าจะตายเท่านั้นร่างกายก็เลยรวน สุดท้ายก็ตายจริง
อันนี้อย่างที่เขาบอกว่า มนุษย์เราจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว เจออะไรก็ตามแม้มันจะไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย แต่ทันทีที่มีความกลัวเกิดขึ้นในใจ มันก็ทำให้ร่างกายทรุด แล้วก็ถึงตายได้
ความกลัวมันเป็นตัวเพิ่มทุกข์ หรือตัวขยายความทุกข์ บางทีไม่เป็นอะไรแต่ร่างกายกลับทรุดเพราะความกลัว ที่จริงความกลัวมันเป็นกลไกธรรมชาติ ที่ช่วยให้เราหนีจากอันตราย ธรรมชาติให้คนเรามีความกลัว จะได้เกิดแรงกระตุ้นให้ถอย หนีห่างจากอันตราย ก็ช่วยทำให้พ้นอันตรายได้
แต่ว่าในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ ความกลัวกลับทำให้เกิดโทษ เกิดภัย เกิดอันตรายหนักกว่าเดิม เพราะว่าสิ่งที่เรากลัวสมัยก่อนอาจจะเป็นสัตว์ร้าย งู เสือ พอกลัวงู กลัวเสือ มันก็ทำให้ต้องถอยหนี ถอยห่าง ก็สามารถจะรอดพ้นอันตรายได้เพราะความกลัว ถ้าไม่กลัว อาจจะโดนสัตว์ร้ายขบกัดได้
แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรากลัว มันไม่ใช่เป็นสัตว์ร้าย ไม่ใช่เป็นภัยธรรมชาติ แต่มันเป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นมาในใจ เช่น ชายคนที่พบว่างูที่กัดเขา ซึ่งกัดจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ว่าเป็นงูเห่า เขาก็นึกถึงความตายขึ้นมาทันที แล้วด้วยเนื่องจากกลัวตายก็เลยทรุดเลย ถึงกับตกใจหัวใจวาย ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาต่อหน้า ไม่เหมือนกับเสือ ไม่เหมือนกับงู ที่พอเจอเข้าเขาก็กลัว กลัวแล้วก็ถอยหนี นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่ต่อหน้า
แต่ 2 กรณีที่ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้คือ ความตาย ตายเพราะถูกงูเห่า หรือตายเพราะหัวใจรั่วก็แล้วแต่ ความตายคือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาในความคิดของเขา และทันทีที่มันปรุงแต่งเป็นความคิด มันก็หนีไม่พ้น
เวลาเรากลัวงูเราก็ถอยหนีจากงู เราจึงรอดพ้นอันตราย แต่พอคิดถึงความตาย ความตายมันเป็นความคิดซึ่งมันตามติดเราไปทุกที่ เพราะฉะนั้นจริงๆ เราไม่ได้กลัวความตาย แต่เรากลัวความคิดเรื่องความตาย เหมือนคนที่กลัวผีนอนไม่หลับ จริงๆ ไม่ได้เจอผีเลย แต่ว่านึกถึงผี ผีก็คือความคิดนั่นเอง
เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้กลัวผีหรอก แต่กลัวความคิดเกี่ยวกับผี แล้วความคิดเกี่ยวกับผีมันจะตามติดคนเราไปได้ตลอดเวลา ถ้าคิดถึงมัน เพราะฉะนั้นพอกลัวเข้ามันก็ทำให้หนีไม่พ้นจากอันตราย เพราะสิ่งที่กลัวคือความคิด มันก็เลยทำให้ใจทรุด ใจทรุดกายก็ทรุดไปด้วย
ตรงนี้คือ เหตุผลที่ว่าคนเราเดี๋ยวนี้พอเกิดความกลัวขึ้นมา แทนที่ความทุกข์มันจะน้อยลง ความทุกข์มันกลับเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะทำก็คือ อย่าปล่อยให้ความกลัวมันครองใจ ต้องรู้ว่าสิ่งที่มันทำร้ายใจเราไม่ใช่สิ่งที่เรากลัว แต่คือความกลัวสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่มันดูไม่น่ากลัว แต่พอเรากลัวสิ่งนั้นแล้ว มันก็ทำให้เราแย่ลง บางคนกลัวลูกโป่ง บางคนกลัวเข็มฉีดยา บางคนกลัวตุ๊กแก ทั้งหมดที่พูดมามันไม่ได้น่ากลัวเลย แต่ทันทีที่กลัวขึ้นมา ตรงนี้คืออันตรายที่เกิดขึ้น
อันตรายไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เรากลัว แต่เกิดจากความกลัวสิ่งนั้น ก็เหมือนกับข้าวเหนียว มันไม่ได้น่ากลัวเลย แต่ว่าพอหมาตัวนั้นไปนึกว่า ข้าวเหนียวคือก้อนหิน แล้วก็โยงไปถึงความเจ็บความปวดที่เกิดจากก้อนหินซึ่งเป็นประสบการณ์ในอดีต มันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่ว่ามันก็เป็นความทุกข์ชั่วคราว พอไม่มีอะไรขว้างปามันก็หาย แต่ความกลัวตายไม่ว่าจะถูกงูเห่ากัด หรือว่าเป็นหัวใจรั่ว หรือว่าเป็นมะเร็ง มันบั่นทอนจิตใจมาก
จริงๆ แล้วก็อาจจะพูดว่า มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง คนที่เป็นมะเร็งบางคนก็อยู่ได้หลายปี แต่คนบางคนทันทีที่รู้ว่าเป็นมะเร็งก็ทรุดเลย
อย่างชาวบ้านคนหนึ่งหมอบอกว่าป้าเป็นมะเร็งอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน แกอยู่ได้ 12 วันแกก็ตาย แกไม่ได้ตายเพราะมะเร็งหรอก เพราะมะเร็งมันไม่ได้ลามเร็วขนาดนั้น แต่เป็นเพราะความกลัวมะเร็ง แล้วกลัวความตายที่จะเกิดขึ้น นึกถึงมันบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้จิตใจอกสั่นขวัญแขวน หรือว่าตื่นตระหนก หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ซึ่งมันเป็นความคิดทั้งนั้น มันไม่ใช่ปัจจุบัน แต่มันเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นข้างหน้า
เพราะฉะนั้นเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็ต้องพยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ว่าสิ่งที่เป็นสิ่งที่กำลังคุกคามเหล่านี้คือ ความกลัว และเป็นความกลัวที่เกิดจากความคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดหรือกลัวว่าจะเกิดในวันข้างหน้า
ถ้าเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปปล่อยใจไปนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ข้างหน้าจะเป็นยังไง อนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของมัน ตอนนี้ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถ้ากลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ ความกลัวมันก็จะไม่มาคุกคาม
ที่เรากลัวเพราะเรานึกถึงอนาคต คิดถึงสิ่งที่ยังอยู่ข้างหน้าคาดว่าจะเกิด กลับมาอยู่กับปัจจุบันหรือถ้าให้ดีก็ให้มารู้ทันความกลัวที่เกิดขึ้น ยอมรับความกลัวที่เกิดขึ้น ไม่ผลักไสมัน
น้องๆ ของความกลัวนั้น ก็คือความวิตกกังวล อันนี้ก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่เวลาเราวิตกกังวล เราวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด เป็นเพราะเราไปนึกถึงมัน แล้วก็ปรุงแต่งคาดการณ์ไปต่างๆ นานาก็เลยเกิดความวิตกกังวล มากไปกว่านั้นก็กลายไปเป็นความกลัว เดี๋ยวนี้คนเรามีความวิตกกังวลกับเรื่องสารพัด ซึ่งบางอย่างก็มีเหตุผล
อย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งท้อง 4 เดือนเป็นท้องแรก เธอก็กังวลว่าลูกจะแข็งแรงไหม กังวลว่าสุขภาพตัวเองจะมีผลต่อลูกไหม จะเดินจะเหินอะไรก็กังวลว่าเกิดหกล้มขึ้นมาเดี๋ยวลูกก็จะเดือดร้อน
แล้วก็มีคนแนะนำว่าอย่าไปวิตกกังวลเลย มันจะไม่ดีกับลูก เพราะว่าพอวิตกกังวลแล้ว มันก็จะมีสารความเครียดหลั่งออกมา สารความเครียดจากตัวแม่จะถ่ายเทไปสู่ตัวลูกโดยผ่านทางเลือดได้ จะทำให้ลูกได้รับผลกระทบจากความเครียดของแม่ เพราะฉะนั้นแม่ก็ไม่ควรจะวิตกกังวล พอแนะนำเช่นนี้แม่ยิ่งกังวลหนักขึ้นเลย กังวลก็เพราะกังวลนั่นเอง
กังวลอันแรก กังวลว่าลูกจะสุขภาพไม่ดี เพราะการประพฤติปฎิบัติตัวของแม่ กังวลตัวที่สองคือ กังวลเพราะว่ามีความกังวล พอรู้ว่าความกังวลของแม่จะทำให้ลูกได้รับผลกระทบไปด้วย ก็เลยเกิดความกังวล กังวลที่ตัวเองมีความกังวล กลายเป็นว่าแทนที่คำแนะนำที่ว่าจะทำให้แม่หายกังวล กลับกังวลเพิ่มขึ้น
มันก็ธรรมดา นักปฏิบัติธรรมเวลาโกรธขึ้นมา มันก็จะมีความรู้สึกโกรธซ้อนโกรธขึ้นมา โกรธตัวเองว่าทำไมจึงโกรธ ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วทำไมยังโกรธ มันมีโกรธซ้อนโกรธ หรือเวลาเครียดก็เกิดความเครียดซ้อนขึ้นมาว่า นี่เราปฏิบัติธรรม แต่ว่าทำไมยังเครียดอยู่ เกิดความหงุดหงิด เกิดความเครียดซ้อนเครียด ยิ่งรู้ว่าเครียดไม่ดีก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่ ยิ่งรู้ว่ากังวลไม่ดีกับลูกก็ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่
สิ่งที่ควรทำก็คือว่า ไม่ใช่อย่าไปวิตกกังวล อย่าไปแนะนำว่าอย่าไปวิตกกังวล แต่ให้ยอมรับความกังวลนั้น รู้ว่าเรากังวล ก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปพยายามขจัดความกังวล เพราะว่ายิ่งรู้ว่ากังวลไม่ดี มันก็ยิ่งกังวลที่ตัวเองกังวล เกิดกังวลซ้อนกังวล
แล้วยิ่งพยายามลดความกังวลไม่ได้ ทำยังไง ก็ยังกังวลอยู่ มันก็ยิ่งกังวลหนักขึ้น ว่าความกังวลของตัวนี้ทำให้ลูกได้รับผลกระทบ จะดีกว่าถ้าหากว่าเรายอมรับ ยอมรับความกังวล ว่ามันมี ยอมรับว่า กังวลเมื่อไรก็รู้ว่ากังวล ไม่ต้องพยายามผลักไสกดข่มมัน
เช่นเดียวกับความกลัว เมื่อมันเกิดขึ้นถ้าเราไปพยายามกดข่มมัน “อย่ากลัวๆ” มันยิ่งไม่ได้ผล แม่ไปบอกลูก ลูกกลัวผี ลูกกลัวโน่นกลัวนี่ บอก “อย่ากลัวๆ” ลูกกลับกลัวหนักเข้าไปใหญ่ หรือว่าเกิดความเครียดเข้าไปใหญ่ เพราะว่าพยายามกดข่ม แต่จะดีกว่าถ้าเกิดว่า สอนให้ลูกรับรู้ความกลัวที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ว่ามันเกิดจากความคิด
โดยเฉพาะความกลัวของคนสมัยนี้ มันไม่ได้กลัวสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า แต่มันกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็คือการปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพอนาคตนั่นเอง ถ้ารู้เท่าทันว่า เราคิดไปไกลแล้ว มันยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย ไปคิดถึงมันแล้ว
อย่างเดินทางในกรุงเทพฯ รถติด คนเครียดเพราะอะไร เครียดเพราะว่าคิดไปไกลแล้วว่า ถ้ารถติดนานกว่านี้เดี๋ยวจะไปประชุมสาย ส่งลูกไม่ทัน ตกเครื่องบิน หรือว่าผิดนัด โดยทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ว่าพอไปครุ่นคิดถึงมัน คิดเป็นจริงเป็นจังกับมันก็เลยเครียด
แล้วถ้าเกิดว่าเรารู้ว่า เราไปไกลแล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาตามลมหายใจ กลับมารับรู้ลมหายใจเข้าและออก ทีแรกอาจจะมารู้กายก่อน รู้กายว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต่อไปก็มีสติมากขึ้น ก็มารู้ใจ คือมาเห็นความกลัว เห็นความเครียด เห็นความวิตกที่เกิดขึ้น
หรือถ้าเกิดยังเห็นไม่ทัน ไม่รู้จะเห็นยังไง ไม่รู้ว่าจะรู้ทันยังไง ก็เอาแค่ยอมรับมันเสียก่อน ยอมรับว่ามันเป็นธรรมดาที่จะมีความวิตกกังวล เหมือนแม่ที่ย่อมวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพลูกในท้อง ก็แค่ยอมรับว่ามันมีความรู้สึกนี้ในใจ ไม่ต้องไปกดข่มผลักไสมัน หรือยอมรับเป็นเรื่องธรรมดา อย่างน้อยมันก็ไม่ทำให้มีวิตกกังวลตัวที่สอง ซึ่งเกิดจากการไม่ยอมรับมัน ไม่ยอมรับความวิตกกังวล
ที่ว่าเกิดความกังวลตัวที่สอง มันเป็นความกังวลที่เรา “ทำไมไม่หายกังวลสักที” ทำไมเรายังมีความกังวลอยู่ เดี๋ยวลูกจะเป็นยังไง มันมีวิตกกังวลซ้อนวิตกกังวล
เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถทำให้วิตกกังวลตัวแรกหายไปได้ แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้ไม่มีกังวลตัวที่สองเกิดขึ้นก็ด้วยการยอมรับ ยอมรับความกังวลตัวแรก แล้วถ้าทำได้ดี มีสติดี ความกังวลตัวแรกก็จะค่อยๆ เลือนหายไปเหมือนกัน ถ้าเรารู้ทันมัน หรือว่าเอาใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปเผลอคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพอนาคตในทางลบทางร้าย.