พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 11 มิถุนายน 2567
อาทิตย์ที่แล้วได้ไปภูเก็ต ก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมหน่วยงานหนึ่งของเทศบาลภูเก็ตซึ่งตอนนี้ยกระดับเป็นเทศบาลนครภูเก็ต หน่วยงานนี้ชื่อว่าศูนย์ปันน้ำใจสร้างสุข หรือถ้าพูดให้เต็มยศก็คือ ศูนย์นครภูเก็ตปันน้ำใจสร้างสุข
ศูนย์นี้ทำอะไร ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือว่ากำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว
อุปกรณ์การแพทย์ตอนนี้หลายอย่างเป็นที่ต้องการมาก เพราะว่าคนแก่ตอนนี้ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ เดินก็ลำบาก ยังไม่นับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นคนแก่ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นวัยกลางคน เส้นเลือดในสมองแตก หรือว่าเส้นเลือดตีบตัน สมองขาดเลือด ทำให้เดินเหินลำบาก ยังไม่นับผู้ป่วยมะเร็ง ไตวาย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยที่ยืดเยื้อเรื้อรังน้อย และขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ติดเตียงยืดเยื้อเรื้อรังก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าคนเหล่านี้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหมด โรงพยาบาลก็จะไม่มีเตียงว่างเหลือมากสำหรับคนที่ป่วยชนิดที่ว่ารักษาหายได้ หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุซึ่งสามารถจะฟื้นฟูให้เป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้การที่ผู้ป่วยจำนวนมากมารับการดูแลรักษาตัวที่บ้านนี่เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แล้วผู้ป่วยเองก็ต้องการด้วย ส่วนใหญ่ก็อยากอยู่บ้านมากกว่าไปอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ว่าหลายบ้านหลายแห่งผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้านยาก เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เตียง แค่เตียงอย่างเดียวก็หลายหมื่นบาทแล้ว ยังไม่นับอุปกรณ์อย่างอื่นอีก
แต่ว่าศูนย์นครภูเก็ตแห่งนี้ เขาให้บริการ ใครจะมาหยิบยืมก็ได้ อุปกรณ์การแพทย์ เช่น เตียง ที่นอนลม ไม้เท้า ไม้เท้า 3 ขา Walker หรือไม้เท้าสำหรับหัดเดิน แล้วก็มีกระทั่งรถหัดเดิน เขาเรียกว่า 4 ขา มีทั้ง 4 ขาแบบมีเบรก ไม่มีเบรก ยังมีที่นั่งสำหรับคนแก่เวลาอาบน้ำ เวลาขับถ่าย เครื่องผลิตออกซิเจน เขามีเยอะเลย ประมาณเกือบ 30 รายการ
ครอบครัวไหนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต แม้กระทั่งคนแก่ เดินลำบากก็มาหยิบยืมอุปกรณ์เหล่านี้ได้
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนามากเพราะเป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบัน แล้วถามว่าอุปกรณ์เหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากคนที่มีน้ำใจดีบริจาค และจำนวนไม่น้อยก็มาจากครอบครัวที่เคยดูแลผู้ป่วย ผู้ป่วยบางคนก็เดินได้หลังจากที่หัดเดินมาเป็นปีๆ แต่ผู้ป่วยบางคนก็ล้มหายตายจากไป
อุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีประโยชน์อีกแล้วสำหรับครอบครัวที่ว่า ศูนย์นี้ก็รับบริจาค แล้วมีคนยินดีบริจาคเพราะว่าเตียงผู้ป่วยเก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีประโยชน์ บางทีก็รู้สึกรกบ้านด้วย ไม่มีที่เก็บ
ฉะนั้นศูนย์นี้ก็รับหน้าที่เป็นผู้รับบริจาค ทั้งเงินและอุปกรณ์เหล่านี้ อาตมาไปดูศูนย์แห่งนี้ เห็นมีเตียงเยอะแยะเลย เป็นสิบเตียง ไม้เท้าเป็นร้อย รวมทั้งพวก Walker หรือว่ารถเข็นผู้ป่วยหลายสิบคัน รวมทั้งรถหัดเดิน แสดงว่า 1. มีคนที่มีน้ำใจบริจาคเยอะ 2. มีบ้านที่เขาไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้แล้ว เพราะผู้ป่วยหาย กลับมาเป็นปกติ หรือไม่ก็ตาย
พอเขารู้ว่ามีศูนย์แบบนี้เขาก็ยินดีบริจาค ไม่ต้องขนเตียงมา ศูนย์นี้จัดหาพาหนะไปรับ และคนที่มาขอยืมก็เยอะมาก แล้วเดี๋ยวนี้ไม่ได้ยืมเฉพาะในเขตเทศบาลภูเก็ต อำเภอนอกๆ อำเภออื่นๆ ในภูเก็ตก็มาขอยืม
ศูนย์แบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะมีคนมีน้ำใจบริจาคเท่านั้น ยังต้องอาศัยจิตอาสาด้วย เพราะว่าอุปกรณ์หลายอย่างมันต้องซ่อม ไม่ว่าจะเป็นเตียง ไม่ว่าจะเป็นรถเข็น แล้วจะไปเอาใครมาซ่อม เทศบาลก็มีงบประมาณจำกัด จิตอาสานี่แหละมาช่วยกันซ่อม ถือว่าได้บุญ แล้วยังมีจิตอาสามาช่วยทำอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น หมอน หมอนสำหรับบีบเพื่อบริหารมือ ทำเยอะเลย ทำจากวัสดุที่ทิ้งแล้ว เช่น หลอด หมอนมีไว้แจก ไม่ได้ให้ยืม
การที่มีจิตอาสามากก็ทำให้ศูนย์แบบนี้สามารถที่จะช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับผู้ที่ต้องการได้ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดทุนทรัพย์
แต่ว่าจิตอาสาอย่างเดียวยังไม่พอ เจ้าหน้าที่ต้องมีจิตสำนึกด้วย และมีความเสียสละ เพราะว่าการดูแลอุปกรณ์ซึ่งรวมแล้วเป็นพันชิ้น เฉพาะแบ่งเป็นชนิดแล้วก็มีมากมายเกือบ 30 ชนิด ตั้งแต่เตียง ที่นอนลม Walker ไม้เท้า รถลาก รถเข็นหัดเดิน อุปกรณ์เกี่ยวกับการผลิตออกซิเจน จำนวนชิ้นมีนับเป็นพันชิ้น แล้วต้องจดบันทึก ใครให้มา ใครที่ไหนยืมไป บางทียืมแล้วคืนไหม ต้องไปตาม หรือว่าไต่ถาม เจ้าหน้าที่จะต้องเสียสละมากทั้งที่งานอื่นก็เยอะอยู่แล้ว แต่เขาก็ทำด้วยความเต็มใจ
แต่ที่จริงแล้วมันไม่ควรจะมีแต่เฉพาะเทศบาลภูเก็ต ที่จริงทุกเทศบาล ทุก อบต. ควรจะมีศูนย์แบบนี้ แต่ว่าหลายแห่งบอกว่าขาดกำลังคน ไม่มีคน ไม่มีเจ้าหน้าที่ อย่างในภูเก็ตนอกจากศูนย์ที่ว่านี้ที่เทศบาลนครภูเก็ตแล้ว ที่อื่นไม่มี แต่ว่าก็มาขอ มาหยิบยืม ศูนย์นี้ก็ดีแม้ผู้มาหยิบยืมจะอยู่นอกเขตบริการ คือไม่ใช่อยู่ในเขตเทศบาลก็ให้ยืม แต่ว่ามันก็เป็นภาระมาก เพราะว่าคนป่วยคนแก่ทั้งเกาะภูเก็ตก็เยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ภาระนี้ไปตกหนักอยู่กับศูนย์แห่งนี้อย่างเดียวคงไม่พอ เทศบาลอื่น อบต. อื่นก็ควรจะมี
แล้วไม่ใช่ที่ภูเก็ตอย่างเดียว ทุกจังหวัดเลย รวมทั้งที่ชัยภูมิด้วย อบต. เทศบาลควรจะริเริ่มกันทำศูนย์แบบนี้ขึ้นมา อาจจะรวมกันทำก็ได้ หลาย อบต. รวมกัน ทำศูนย์ที่ว่าขึ้นมา ให้บริการกับผู้ป่วย หรือคนแก่ซึ่งตอนนี้เยอะมาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคม สว. สูงวัยเต็มขั้นแล้ว จะมัวแต่สร้างถนน สร้างสะพานอย่างเดียวไม่พอ มันต้องทำกิจกรรมทำนองนี้ และจะต้องมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ที่จริงแล้วที่จะรอหน่วยงานของรัฐ หรือ อบต. เทศบาลอย่างเดียวไม่พอ ถ้าคนมีน้ำใจดีริเริ่มทำขึ้นมาในเขตท้องที่ของตัว คนจะสนับสนุนเยอะเลย ทั้งคนบริจาค ทั้งคนขอรับบริการ จะไปรอหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้
เหมือนกับสถานบริบาลพระอาพาธระยะสุดท้าย ที่จริงก็ควรจะเป็นงานของมหาเถรสมาคมหรือสำนักพุทธฯ แต่ว่าขืนรอก็คงไม่เกิดขึ้น สันติภาวันเกิดขึ้นได้เพราะว่าไม่คิดจะรอมหาเถรสมาคม ไม่คิดจะรอ อบต. หรือเทศบาล
พระที่ท่านใส่ใจเรื่องนี้ท่านเห็นความสำคัญ ท่านก็ทำขึ้นมาเลย อย่างอาจารย์วิชิตจัดตั้งสันติภาวันขึ้นมาโดยที่ไม่รอการสนับสนุนจากใคร ขอให้มีคนก็พอ แล้วตอนนี้ปรากฏว่า หลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลก็สนใจที่จะจัดให้มีศูนย์บริบาลพระอาพาธระยะท้ายขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่รู้เป็นกระแสหรือเปล่า
เรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยต้องมีหน่วยงานแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะไปรอคนโน้นคนนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่าความต้องการมีเยอะเหลือเกิน อันนี้ก็เป็นเรื่องดีๆ ที่อยากจะมาเล่าให้ฟังเช้านี้.