พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2567
มีหญิงพม่าคนหนึ่ง หนีความยากลำบากที่บ้านเกิดเมืองนอน มาเมืองไทย แล้วก็มาเป็นลูกจ้าง เป็นแม่บ้านให้กับครอบครัวๆ หนึ่งที่กรุงเทพฯ เธอทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร แล้วก็ใส่ใจในงานที่ทำ ช่างสังเกต ที่สำคัญคือมีความซื่อสัตย์ และมีความสุขกับงานที่ทำ
ทำมาได้ 10 ปี เจ้านายประทับใจมาก เพราะว่านอกจากความขยันความซื่อสัตย์แล้ว ยังเป็นคนที่มีวินัยมาก บ้านนี้หรือที่พักนี่อยู่ไกลประมาณ 20 กิโลเมตรจากที่ทำงาน แต่เธอก็มาตรงเวลาทุกวันเลย ทุกเช้าถ้าไม่ป่วย แปดโมงครึ่งเธอก็มาถึงบ้าน ซึ่งเป็นที่ทำงานของเธอ
แล้วเจ้านายยังเห็นว่าเธอก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันกับครอบครัวนี้ ก็เลยซื้อบ้านหลังใหม่ให้ เป็นหลังใหม่เลย ให้เธอกับสามี เพื่อเป็นการตอบแทนความดี ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ ความอดทน
ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ทั้งสองฝ่ายเลย ผู้เป็นนายจ้างก็บอกว่าหญิงพม่าคนนี้ชื่อฝน เป็นคนที่เห็นคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ ไม่รู้สึกด้อยว่าเป็นงานรับจ้าง เป็นงานทำความสะอาด เป็นงานแม่บ้าน
เจ้านายบอกว่า เธอทำงานอย่างมีความสุขทั้งวันเลย รู้ได้อย่างไร รู้ได้จากกล้องวงจรปิด เห็นภาพกล้องวงจรปิดเวลาเธอทำงาน ทำความสะอาด เธอก็จะร้องเพลง มีความสุข แล้วก็ใส่ใจในรายละเอียด เวลาของหายหาไม่เจอ บอกเธอว่าของที่หายหน้าตาเป็นอย่างไร ลักษณะเป็นอย่างไร ประเดี๋ยวเธอก็หาเจอแล้ว แสดงว่าของเหล่านั้นผ่านตาเธอมาก่อน พอบอกลักษณะ เธอก็นึกออกเลย
และเนื่องจากเป็นคนที่ทำความสะอาดบ้าน ดูแลบ้านทุกซอกทุกมุม ก็เลยรู้ว่าของอยู่ไหน คนที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องมีความใส่ใจในรายละเอียด แล้วก็เห็นคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ ไม่ได้ทำแบบขอไปที ถ้าทำแบบขอไปที ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าทำงานด้วยใจที่ลอย ทำไปบ่นไป แต่นี่เธอทำงานอย่างมีความสุข จึงมีความขยัน แล้วการอดทนก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าถ้าเราเจอความยากลำบากแล้ว มันจะกลายเป็นของง่าย ถ้าหากว่าเรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ หรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ
เจ้านายบอกว่า เธอนอกจากเห็นคุณค่าของงานที่ทำแล้ว ยังรู้คุณค่าของตัวเองด้วย หมายความว่า เห็นว่าคุณค่าของตัวเออยู่ที่คุณธรรมความดี ไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง คนเรานี้ถ้าเอาคุณค่าหรือความสุขของตัวเองไปผูกติดอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง เวลาทำงานก็จะไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าเงินเดือนมันน้อย ไปไหนก็ไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าเรามันจน
เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เพราะเอาความสุขและคุณค่าของตัวเองไปผูกติดอยู่กับสิ่งภายนอก อยู่กับสายตาของผู้คน อยู่กับทรัพย์สินเงินทองภายนอก ถ้าคิดแบบนี้ความซื่อสัตย์สุจริตมันก็เกิดขึ้นได้ยาก
แต่ว่าฝนนี้เขามีความซื่อสัตย์สุจริตมาก ของที่บ้านนี้มีค่าเพียงใดก็ไม่เคยหาย คนที่ซื่อสัตย์ก็เป็นเพราะเขาไม่ให้คุณค่ากับทรัพย์สินเงินทอง แต่ให้คุณค่ากับคุณธรรมภายใน
พอรู้คุณค่าตัวเองปรากฏว่า เวลาเจอใคร เขาก็ปฏิบัติด้วยความรัก ความเมตตา ความใส่ใจ ไม่รู้สึกด้อย หรือว่าไม่รู้สึกคิดที่จะเอาเปรียบ เพราะฉะนั้นนายจ้างบอกว่า ใครที่รู้จักฝน เขาจะให้เกียรติ ลูกชายเรียนจบหรือกลับจากต่างประเทศ มาเจอฝน ก็จะไหว้ก่อนเลย ไม่ได้มองว่าฝนเป็นลูกจ้าง คือให้ความเคารพให้เกียรติ เพื่อนบ้านของนายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงานเวลามาที่บ้าน ถ้าอายุน้อยกว่าก็จะไหว้ฝน แสดงว่าฝนเขาทำตัวจนกระทั่งใครๆ ก็ให้เกียรติ ให้ความเคารพ
นายจ้างก็เลยประทับใจ ก็เลยซื้อบ้านหลังใหม่ให้ โดยให้ฝนเลือกเลยว่าอยากจะได้บ้านตรงไหน เลือกเอาเลยทำเลที่ไหน ฝนบอกขอเลือกบ้านใกล้ๆ วัด จะได้ไปทำบุญสะดวก เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ชี้ให้เห็นเลยว่าคนเราถ้าหากว่าเห็นคุณค่าของงานที่ทำ เห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว ไม่ว่าทำงานอะไรก็มีความสุข ไม่มีการบ่นน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา
ที่จริงคนที่น่าประทับใจอีกคนหนึ่งก็คือนายจ้าง เพราะว่านายจ้างจำนวนมาก ปฏิบัติกับลูกจ้างเหมือนกับเป็นคนอีกระดับหนึ่ง ยิ่งเป็นพม่าด้วยแล้ว หรือว่าเป็นลูกจ้าง ถือว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยก็มักจะดูถูก บางทีก็กดค่าแรง เห็นว่าเป็นพม่าเอาเปรียบได้ง่าย หรือถ้าเป็นกะเหรี่ยงชาวเขานี่ก็ยิ่งกดค่าแรง เอาเปรียบทุกวิถีทาง หรือไม่ก็ดูถูก แต่ว่านายจ้างคนนี้รวมทั้งลูกๆ เขาก็ให้เกียรติ เคารพ เห็นคุณค่าของฝน รวมทั้งคงจะสำนึกในบุญคุณด้วย ว่าเขาอุตส่าห์ เพราะแม้เขาจะเป็นลูกจ้าง เขาก็ช่วยเหลือ เกื้อกูลเรามาตลอด อย่างที่นายจ้างเขาใช้คำว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน
ฉะนั้นการที่นายจ้างจะเห็นคุณค่าและเคารพ รวมทั้งสำนึกในบุญคุณของลูกจ้างนี้มีน้อย เพราะเดี๋ยวนี้เรามักจะปฏิบัติต่อกันโดยดูจากฐานะทางสังคม ใครที่มีฐานะสังคมต่ำกว่าก็ดูถูก ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยการให้เกียรติกัน หรือว่าปฏิบัติต่อกันโดยเคารพความดีของกันและกัน
นายจ้างคนนี้ ชื่อธีรพงศ์ แกพูดดีบอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้คุณค่าของตัวเอง เมื่อนั้นผู้คนก็จะเห็นคุณค่าของเรา และให้เกียรติเรา อันนี้ก็เป็นคำทิ้งท้ายของนายจ้างคนนี้ ก็คือไม่ต้องไปเรียกร้องว่ามาให้เกียรติฉัน เคารพฉัน ถ้าเราทำตัวให้ดี คือมีคุณธรรมแล้วจะมีคุณธรรมได้ มันก็ต้องเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำงานอะไรก็เห็นคุณค่าของงานที่ทำ แล้วคนอื่นก็จะเห็นคุณค่าของเรา แล้วก็ให้เกียรติเราเอง
อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เรียกว่าเป็นบทเรียนที่ดี ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นลูกจ้าง คนที่เป็นนายจ้างก็เหมือนกัน.