พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 มีนาคม 2568
เวลาเราได้ยินเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงหมาเห่า เสียงเพลง หรือแม้แต่เสียงคนคุยกัน เมื่อได้ยินแล้วเรารู้สึกรำคาญ หงุดหงิด ไม่พอใจ หรือบางทีเกิดความโกรธขึ้นมา เรียกรวม ๆ ว่า เกิดความทุกข์ เรามักคิดว่าที่ทุกข์เพราะเสียงที่มากระทบหู
แต่จริง ๆ แล้วตัวการที่ทำให้เราทุกข์จริง ๆ มันไม่ใช่เสียงที่ดังกระทบหู แต่มันคือเสียงในหัวของเรา
หลายคนยังไม่รู้เลยว่ามันมีเสียงในหัวเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงมากระทบหู และเสียงในหัวนี่แหละที่ทำให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เสียงในหัวอาจจะบ่นโวยวาย เป็นเสียงบ่นโวยวายตีโพยตีพาย เสียงก่นด่า ที่มาของเสียงอาจจะเป็นเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปผ่านมา เสียงจากข้างนอกมันไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับเสียงที่ดังอยู่ในหัว
แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสังเกต ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีเสียงในหัว เสียงก่นด่า เสียงโวยวาย บางทีก็อาจจะก่นด่า ทำไมมันไม่ขับรถให้เบากว่านี้ ทำไมเปิดเสียงดังจังโว้ย และบางทีอาจจะมีเสียงว่ากูทนไม่ไหวแล้ว ทั้งหมดนี่มันเป็นเสียงในหัว และนี่คือเหตุที่ทำให้เรามีความทุกข์
คนไปคอยคิดแต่ว่าจะจัดการต้นเสียงอย่างไรให้เสียงมันเบาหรือเสียงมันหายไป แต่ว่าลืมที่จะจัดการกับสิ่งที่ดังอยู่ในหัว ระหว่างเสียงดังข้างนอกกับเสียงดังในหัว ถามว่าอะไรที่เราจัดการได้ง่ายกว่ากัน
เสียงดังจากข้างนอก บ่อยครั้งเราก็ทำอะไรไม่ได้ หรือทำแล้วก็เกิดเรื่อง เสียงเพลงจากบ้านข้าง ๆ เสียงก่อสร้างจากตึกใกล้เคียง เสียงประกาศจากหอกระจายเสียง หอกระจายข่าว หรือบางทีก็มีเสียงมหรสพจากวัดที่อยู่ใกล้ ๆ เสียงเหล่านั้นเราทำอะไรไม่ค่อยได้ หรือทำอะไรไม่ได้เลย
แต่เสียงในหัว เราทำอะไรได้อยู่ แต่ว่าเป็นเพราะว่าคนเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามันมีเสียงในหัว อย่าว่าแต่ตระหนักว่ามันเป็นตัวการแห่งความทุกข์ แค่รู้ว่ามันมีอยู่ในหัวเราก็ยังไม่รู้เลย แล้วก็เลยไปคิดจัดการกับเสียงที่ดังอยู่ข้างนอก
ที่จริงมันไม่ใช่เวลาเสียงดังเท่านั้น เวลาเจออากาศร้อน อากาศหนาว หลายคนก็มีความไม่พอใจ มีความทุกข์ แล้วก็มักจะโทษอากาศหนาว อากาศร้อน แต่ไม่รู้เลยว่ามันมีเสียงในหัวดังขึ้นมา และเสียงในหัวนี่แหละที่เป็นตัวการสร้างทุกข์ให้กับเรายิ่งกว่าอากาศร้อน อากาศหนาว เสียงในหัวอาจจะเป็นเสียงที่ดังว่า ทำไมมันร้อนจังโว้ย ทำไมไม่มีพัดลมอยู่ใกล้ ๆ อาจจะโทษดินฟ้าอากาศ
พอปล่อยให้เสียงในหัวดังอยู่เรื่อย ๆ ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา อากาศร้อนไม่เท่าไหร่ อากาศร้อนแต่ถ้าไม่มีเสียงในหัวดังว่า ร้อนจริงโว้ย ไม่ไหวแล้ว ๆ มันก็ไม่ทุกข์เท่าไหร่ แต่พอมีเสียงในหัวดังขึ้นมา เอาล่ะ ก็จะทุกข์ขึ้นมาเลย ความหนาวก็เหมือนกัน ถ้าอากาศหนาวสัมผัสกายแต่ไม่มีเสียงในหัวดัง มันก็ไม่เท่าไหร่
แต่ที่เป็นทุกข์กันมากเพราะมันมีเสียงในหัวดัง หนาวจังเลย ไม่ไหวแล้ว ๆ ทำไมมันหนาวอย่างนี้ ทำไมไม่ปิดหน้าต่าง ทำไมไม่บอกมาก่อน ไม่บอกล่วงหน้าก่อนว่าต้องเอาผ้าห่มเอาเสื้อผ้ามา บางทีโวยวายใส่เพื่อนที่ชวนมาวัดไม่บอกล่วงหน้า เสียงในหัวนี่แหละที่มันทำความทุกข์ใจให้กับเรา อาการหนาวบ่อยครั้งเราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากหาผ้ามาคลุมหรือว่ากินอะไรร้อน ๆ
แต่บางครั้งก็ทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำได้คือ จัดการกับเสียงในหัวนั่นแหละ อย่างน้อยก็รู้ทัน แค่รู้ทันก็ช่วยได้เยอะแล้ว เพราะพอรู้ทันเสียงในหัวแม้ไม่ต้องทำอะไรกับมัน มันก็สงบลงได้
เวลาปวดเวลาเมื่อยก็เหมือนกัน ความเจ็บ ความปวดหรือความเมื่อย มันไม่ได้ทำร้ายเรามากเท่ากับเสียงในหัวที่มันดัง ปวดจริงโว้ย ปวดจริง ๆ ไม่ไหวแล้ว เมื่อไหร่จะหยุดพูดสักที จะได้ออกไปยืดเส้นยืดสาย อันนี้อาจจะเป็นเสียงในหัวที่ดังเวลานั่งฟังธรรมะอยู่ในห้อง อยู่ในศาลาเป็นชั่วโมง ๆ
อาจจะเป็นเสียงบ่นเพื่อนที่ชวนมา บางทีก็บ่นว่าตัวเองก็ไม่น่าหลงเชื่อเพื่อนเลย ถ้าเราไม่มานั่งหลังขดหลังแข็งในศาลานี้ ป่านนี้เราก็สบายไปแล้ว มันก็มีเสียงแบบนี้ดังขึ้นมา หรือบางทีก็เป็นเสียงที่วิตกกังวลว่าถ้านั่งนานกว่านี้เดี๋ยวเข่าจะทรุดหรือว่าเดี๋ยวขาจะแย่ หลังจะแย่ วิตกไปต่าง ๆ นานา ตัวนี้แหละที่ทำให้เราเป็นทุกข์ยิ่งกว่าความปวดความเมื่อยทางกายเสียอีก
นับประสาอะไรกับเวลาเจอคนนินทาว่าร้าย หรือว่าเสียงต่อว่าด่าทอพอกระทบหูแล้วมันโกรธ จริง ๆ เสียงที่ว่ามันไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับเสียงในหัว เป็นเสียงด่า ตอบโต้ เป็นเสียงต่อว่าทำนองตอบโต้ มันด่ากูได้ยังไง มานินทาว่าร้ายอย่างนี้ได้ยังไง หรือต้องไปจัดการมันสักหน่อย
เสียงแบบนี้แหละที่ดังในหัวที่มันทำให้เราทุกข์ เสียงที่ดังมากระทบหู เสียงต่อว่า ถ้ามันกระทบหูเราแล้วมันไม่มีเสียงดังในหัวเป็นการตอบโต้ มันก็ไม่ทุกข์
เช่นเดียวกันเวลาเงินหาย โทรศัพท์หาย เสียเงิน เสียโทรศัพท์นี่ไม่เท่าไหร่แต่ว่าเสียงในหัวที่มันทำให้เราทุกข์ เสียงโวยวายตีโพยตีพาย อาจเจอก่นด่าชะตากรรมว่า ทำไมต้องมาเจอเรื่องแบบนี้อีกแล้ว อาจจะบ่นด่าตัวเองว่าทำไมถึงวางของสะเพร่า
หรือบางทีก็ก่นด่าคนอื่นว่าทำไมไม่ปิดประตูให้แน่นหนา ทำไมไม่เฝ้าดูแลสถานที่ให้ดี ปล่อยให้คนข้างนอกเข้ามาขโมยเงินเรา คือหาเรื่องโทษคนนั้นคนนี้ หรือบางทีก็โทษว่า ทำไมไม่บอกเราก่อนว่าแถวนี้มีคนข้างนอกเข้ามาด้วย คือบางทีก็ไปโทษคนอื่นแทนที่จะโทษตัวเอง
แต่ถึงแม้โทษตัวเองก็แล้วแต่พอมีเสียงในหัวดังที่ต่อว่าตัวเอง ก็ทุกข์เลย แล้วถ้าลองมาสังเกตดูเวลามีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ไม่ว่าเมื่อเสียงกระทบหู รูปกระทบตา หรือว่าความร้อนกระทบกาย รวมทั้งความปวดความเมื่อย เท้าเหยียบหินเหยียบกรวดแล้วเจ็บ แล้วมันก็มีเสียงบ่น เสียงในหัวนี่แหละที่ทำร้ายเรายิ่งกว่าสิ่งที่เราเจอเราประสบเสียอีก
ทำงานก็เหมือนกัน ทำงานมันไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่าไหร่ แต่พอมีเสียงในหัวดัง เมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะเสร็จ หรือว่าเสียงดังที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ไหวแล้ว ๆ ๆ ทำไมฉันต้องทำด้วยคนอื่นไม่เห็นทำเลย เสียงเหล่านี้แหละที่มันสร้างความทุกข์ให้กับเรา
แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามันมีเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่ามันเป็นตัวการที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ยิ่งกว่าอะไรอื่น ทุกข์กายไม่เท่าไหร่แต่ที่ใจทุกข์เพราะว่าเสียงในหัวนี่แหละ
ถ้าเราไม่หันมาเฝ้าดูจิตใจตัวเอง หรือไม่หันมามองตน จะไม่รู้หรอกว่ามันมีเสียงในหัวดังขึ้นมา เป็นเสียงที่ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับจิตใจของเรา เสียงเหล่านี้เราไม่ต้องทำอะไรมากเพียงแค่รู้ว่ามันมีอยู่ พอมันดังขึ้นมาในหัวก็รู้ รู้แล้วก็รู้แบบรู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน มันก็จะสงบไปเอง
ในทางตรงข้ามถ้าไปพยายามกดข่มเสียงนี้ พยายามดับเสียง มันก็ยิ่งทำให้ทุกข์มากขึ้น บางครั้งมันมีเสียงดังในหัวอีกแบบหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เจออะไรมากระทบ ไม่เจอความหนาว ไม่เจอเสียงดัง ไม่ได้เหยียบหินเหยียบกรวดอะไร ไม่ได้นั่งหลังขดหลังแข็ง แต่มันก็มีเสียง เป็นเสียงที่ต่อว่าพ่อแม่ หรือว่าต่อว่าครูบาอาจารย์ หรือว่าจ้วงจาบพระรัตนตรัย
หลายคนทนไม่ได้กับเสียงนั้น รู้สึกว่าตัวนี้แย่มากเลย แย่มากที่มีความคิดแบบนี้ แล้วก็โทษตัวเองว่าเป็นคนเลว อกตัญญูกับพ่อแม่ เนรคุณกับศาสนาหรือครูบาอาจารย์ ยิ่งพยายามกดข่มมันเท่าไหร่ก็ยิ่งต่ออายุให้มัน และทำให้มันมีพลังเข้มข้นขึ้น
สุดท้ายมันรบกวนทั้งวันเลย จะกราบพระก็กราบไม่ได้ จะกราบพระก็จะมีเสียงดังในหัวจ้วงจาบพระรัตนตรัย เห็นหน้าครูบาอาจารย์ก็มีเสียงตำหนิท่าน หรือรู้สึกว่าตัวเองว่าเป็นคนเลวมาก บางคนไม่อยากจะอยู่เลยเพราะว่าอยู่แล้วมันมีแต่เสียงของพวกปีศาจ ก็รู้สึกว่าตัวเองนี่เลวมาก
เวลาเจอเสียงในหัวแบบนี้ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ไม่ต้องทำอะไรมัน แค่รู้เฉย ๆ รู้แล้วก็วาง รู้ซื่อ ๆ จะว่าไปมันเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ในหลายสถานการณ์มาก เพราะว่าพอรู้ซื่อ ๆ ไม่ทำอะไรกับมัน เรียกว่าเมินมันก็ได้ มันก็ค่อย ๆ แผ่วลง ๆ ๆ แต่ก่อนจะแผ่ว มันก็อาจจะหาทางยั่วยุให้เราตอบโต้กับมัน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมัน มันก็จะค่อย ๆ สงบไปเอง
เคล็ดลับในการจัดการกับเสียงในหัว ไม่ว่าเสียงบ่นโวยวายตีโพยตีพาย เสียงก่นด่าคนนั้นคนนี้ เสียงที่จะรบเร้าให้เราไปด่าตอนโต้ เอาคืน พวกนี้มันมีลูกไม้เยอะที่จะทำให้เราพลาดท่าเสียทีได้ บางทียิ่งรู้ธรรมะมากเท่าไหร่ มันก็จะเอาธรรมะนี้มาล่อมาหลอกให้เราไปสนใจเสียงในหัว สุดท้ายก็หลงเชื่อมัน ใครด่าเราแล้วก็ด่ากลับ หรือไม่ก็ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง
แต่ถึงแม้มันจะมีลูกไม้แพรวพราวแค่ไหน มีอุบายชั้นเลิศอย่างไร จุดหมายมันก็คือการถูกรู้ทัน พอแค่รู้เท่านั้นแหละว่ามีเสียงนี้อยู่ในหัว มันก็ไม่ต่างจากที่พระพุทธเจ้าตรัสกับมาร หรือพระสาวกพูดกับมารเวลามาก่อกวน มาร เรารู้จักเจ้าแล้ว อย่าคิดว่าเราไม่รู้จักเจ้า แค่นี้แหละมารนี่ก็ล่าถอยไปเลย เป็นอุบายชนะมารที่ไม่ต้องใช้ฤทธิ์ใช้เดช
แม้แต่พระโมคคัลลานะก็ใช้วิธีนี้กับมารที่มาก่อกวน สร้างความปั่นป่วนในท้อง พระโมคคัลลานะท่านมีฤทธิ์แต่ว่าบางครั้งก็ใช้ฤทธิ์สู้กับมารไม่ได้ แต่ว่าใช้การทักแบบนี้แหละ มาร เรารู้จักเจ้าแล้ว อย่าคิดว่าเราไม่รู้จักเจ้า พอถูกรู้ทันนี่มารก็หนีเลย
เสียงในหัวก็เหมือนกัน พอมันถูกรู้ทันเข้ามันจะหนีไปเลย ส่วนใหญ่เวลาเรารู้ว่ามันมีอยู่ เราจะไม่ค่อยรู้เฉย ๆ หรือซื่อ ๆ เราอาจจะเข้าไปทำอะไรกับมัน เข้าไปบี้มัน อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น การรู้ซื่อ ๆ หรือรู้แล้ววาง รู้แล้วเฉย รู้แล้วเมินนี่สำคัญมาก
ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องรู้อีกอย่างก็คือรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์ก็คืออันนี้แหละ คือการที่ไปหลงเชื่อเสียงในหัว ปล่อยให้มันโวยวาย ก่อความปั่นป่วนในจิตใจ
เสียเงินแต่ว่าไม่ปล่อยให้เสียงในหัวมันดัง มันก็เสียแต่ทรัพย์ใจไม่เสีย ใจไม่ทุกข์ เวลาป่วย ป่วยแต่กายแต่ว่าไม่มีเสียงในหัวดัง ใจก็ไม่ทุกข์ แต่บางทีเสียงในหัวดัง โอ้ ถ้าฉันเป็นหนักกว่านี้ฉันจะทำยังไง ไม่ไหวแล้ว ๆ แล้วมันจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า มันมีเสียงสารพัดดังในหัว ตัวนี้แหละที่มันทำให้เกิดความเกิดความทุกข์ในจิตใจ
ฉะนั้นเสียงในหัวมันก็เกิดจากการที่เราไม่มีสติรู้ทันเวลามันมีเวทนาเกิดขึ้น หรือพอมีอะไรมากระทบแล้วเกิดความยินร้ายขึ้นมา ความไม่พอใจขึ้นมา ก็ไปหลงเชื่อมัน หรือว่าปล่อยจิตปล่อยใจหลงเข้าไปในอารมณ์นั้น มันก็เลยปรุงแต่งสารพัดออกมาเป็นเสียงต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกว่า กูไม่ไหวแล้ว ๆ มันจะเปิดช่องให้ตัวกูนี่มันโผล่ขึ้นมาเป็นเจ้าของอาการต่าง ๆ และแสดงบทบาท
ที่จริงตัวกูมันก็เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่พอเราไม่รู้ทัน หรือเราหลง มันก็ปรุงตัวกูขึ้นมา กูร้อน กูหนาว กูเจ็บ กูไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ามีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูมันก็หายไป แต่ว่าความรู้สึกตัว มันก็เกิดขึ้นชั่วคราว พอหายไป ตัวหลงก็มา แล้วก็ปรุงแต่งตัวกู บ่นโน่นบ่นนี่ โวยวายตีโพยตีพาย
แต่ถ้าเราจับทางมันได้ หรือเราเห็นความจริงแจ่มแจ้งว่า จริง ๆ แล้ว ตัวกูไม่มีจริง มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา
ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหนความทุกข์จำกัดอยู่แค่กายหรือแค่ทรัพย์ แต่ว่ามันไม่ลามไปถึงใจ หรือถึงเกิดไปเผลอทุกข์ใจแล้ว พอรู้ความจริงว่าตัวกูไม่มี เสียงในหัวก็ดับ แล้วความทุกข์ก็จะดับไปด้วย ทุกข์กายยังมีอยู่เลยทุกข์ใจไม่มีแล้ว
เหมือนกับอาจารย์กำพลนี่ท่านพิการ พิการมา 10 กว่าปี ราว 16-17 ปีได้ ทุกข์มาก จนกระทั่งได้มาเจริญสติ แม้จะนอนอยู่บนเตียงเพราะว่าพิการตั้งแต่คอลงมา แต่มือก็ยังพลิกไปพลิกมาได้ แม้จะสร้างจังหวะไม่ได้ แต่ก็พลิกไปพลิกมา
แล้วก็ทำตามที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า ไอ้ที่พลิกมันคือรูป ไอ้ที่คิดนี่เป็นนาม เห็นรูปที่พลิก เห็นนามที่คิด พอทำไป ๆ ก็เห็นเลย ที่แท้มันมีแค่รูปกับนาม หรือกายกับใจ มันไม่มีตัวกูอยู่เลย แต่ก่อนนี้พลิกไปก็คิดว่าเราพลิก กูพลิก พอคิดก็คิดว่ากูคิด
แต่พอเจริญสติมันเห็นความจริงของกายและใจว่า ที่ทำก็มีแต่รูปทำ หรือไม่ก็นามทำ ที่หลวงพ่อเทียนว่า รูปทำ ไม่ใช่กูทำ แต่เป็นรูปที่ทำ นามที่ทำ
พอเห็นชัด จิตออกจากความพิการเลย จิตออกจากความทุกข์เลย เพราะว่าตอนนั้นเห็นเลยว่า ไอ้ที่พิการคือกายพิการแต่ไม่ใช่กูพิการ หลงคิดตั้งนานว่า กูพิการ ๆ แต่พอเห็นความจริงว่าไม่ใช่กูพิการ มันเป็นรูปที่พิการ หรือกายที่พิการ จิตลอยออกจากความทุกข์เลย
เสียงบ่นว่า กูพิการ ๆ กูจะไหวไหม กูเจ็บ กูปวดนี่มันมันหายไปเลย เพราะว่ามีสติจนกระทั่งเกิดปัญญาเห็นว่า มันไม่มีกู ที่พิการมันคือรูป ที่พิการไม่ใช่กูที่พิการ
แม้จะไม่มีปัญญาเห็นขนาดนั้น แต่ว่าถ้ามีสติมีความรู้สึกตัว ก็จะรู้ว่า เวลาปวดเวลาเมื่อยมันก็คือ กายปวดกายเมื่อย ไม่ใช่กูปวดกูเมื่อย
แต่พอไปหลงยึดว่ามีตัวกู มันก็เลยมีเสียงบ่น เป็นเสียงบ่นที่มาจากตัวกูที่ปรุงขึ้นมา ไม่ไหวแล้ว กูแย่แล้ว กูเหนื่อยแล้ว กูทนไม่ได้ มันมาด่ากู ๆ กูต้องตอบโต้ ตัวกูทั้งนั้นแหละที่มันส่งเสียงมารบกวน เป็นเสียงในหัวที่รบกวนจิตใจให้เกิดความทุกข์
ต้องฉลาดในการมองเห็นเสียงในหัวซึ่งมันก็เกิดจากปฏิกิริยาของใจ ไม่พอใจ ผลักไส ความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยามที่มีการกระทบมันก็นำไปสู่การปรุงแต่ง ยินดีไม่เท่าไหร่แต่พอยินร้ายมันก็มีเสียงในหัวดังขึ้นมาเลย
ต้องฉลาดในการที่จะรู้เท่าทันเวลามีเสียงในหัวดังขึ้นมา โดยเฉพาะเวลาเจอการกระทบ กระทบทางตา กระทบทางหู กระทบทางกาย
พอมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นปุ๊บนี่มันปรุงเลย ความรู้สึกความสำคัญมั่นหมายว่า กูทุกข์ กูเจ็บ กูปวดนี่มันปรุงเลย เสียงก่นด่า โวยวายตีโพยตีพาย หรือคร่ำครวญ เวลาทำงานก็ไม่ไหวแล้ว ๆ อะไรไม่ไหว กูไม่ไหว ๆ ที่จริงกายมันยังไหว ใจก็ยังไหว แต่กูไม่ไหว
เวลาใครมาพูดกระทบเข้าหูก็มันก็มีตัวกูเป็นผู้โกรธขึ้นมา กูถูกด่า กูถูกนินทา กูต้องตอบโต้ หรือระหว่างที่ยังตอบโต้ไม่ได้ก็กูโกรธ กูโมโห ยึดมั่นสำคัญหมายความโกรธว่าเป็นกูเป็นของกู
มันต้องเห็น ต้องรู้ทัน ทีแรกก็รู้ทันว่ามันมีเสียงในหัวดัง โดยเฉพาะเวลามีเสียงดังกระทบหูให้ลองสังเกตดูมันจะมีเสียงในหัวดัง เวลาเจออะไรที่ไม่ถูกใจ รถติดก็เหมือนกัน มันก็จะมีเสียงในหัวดัง เวลาเพื่อนผิดนัด ไม่มาตามนัด ก็มีเสียงในหัวดังขึ้นมาเลย
เวลาใครทำอะไรไม่ถูกใจก็มีเสียงในหัวดัง เสียงพวกนี้เป็นตัวการแห่งความทุกข์มากกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีเสียงนี้หรือเสียงมันสงบ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แต่พอปล่อยให้เสียงในหัวดังแล้วก็ไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก ไปหลงเชื่อมันบ้าง ไปตกอยู่ในอำนาจของมันบ้าง หรือไม่ก็ไปผลักไสมัน ต้องมีสติไว ไวเห็น ไวจนเห็นละเอียดพอที่จะได้ยิน รับรู้เสียงในหัวที่ดัง
ที่จริงมันก็ไม่ใช่มีเท่านี้ มันมีเสียงที่มาล่อหลอกให้เราเกิดความโลภ หรือว่าหลอกให้เราหาสิ่งปรนเปรอสนองกิเลสสารพัด เราต้องรู้ทัน ฉับไวมากพอ คิดอย่างเดียวไม่พอมันต้องมีสติด้วย
สติที่จะเห็น รับรู้เวลามีเสียงพวกนี้ดังขึ้นมา ใจมันก็กระเพื่อม ก็รู้ทัน แล้วก็แค่รู้ซื่อ ๆ มันก็เรียกว่าหมดพิษสง และไม่ช้าก็จะดับไป เสียงดังกระทบหูแต่เสียงในหัวไม่ดัง ใจก็สงบได้ ที่ใจไม่สงบมันไม่ใช่เพราะเสียงข้างนอกแต่เป็นเพราะเสียงในหัวต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความโกรธ ความกลัว ความโลภ พวกนี้ก็ทำให้จิตใจไม่สงบได้ เป็นทุกข์แม้ว่ารอบตัวจะราบรื่นหรือสงบสงัดก็ตาม.