พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 3 มีนาคม 2568
คำว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า มันไม่ใช่ฟังธรรม ไม่ใช่สนทนาธรรม ฟังธรรมก็เป็นของดี สนทนาธรรมก็เป็นของดี แต่ว่าต้องไม่ลืมที่จะเอาธรรมนั้นมาปฏิบัติด้วย
ปฏิบัติธรรมตอนไหน หลายคนอาจจะสงสัย เราปฏิบัติธรรมทุกเมื่อทุกเวลาที่เราทำ ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่เก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน ขับรถ กินข้าว ทำงาน หรือว่าประกอบอาชีพ รวมทั้งการพูดการคุย ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตามมันหนีไม่พ้นที่เราควรเอาธรรมมาปฏิบัติ ปฏิบัติในทุกการกระทำ เช่น ทำอะไรก็ตามเมื่อเอาธรรมะมาปฏิบัติ มันก็ช่วยกำกับไม่ให้ผิดศีลผิดธรรม โดยเฉพาะเวลาเราประกอบอาชีพทำการงาน
การที่ทำงานประกอบอาชีพโดยไม่ผิดศีลผิดธรรม อันนี้มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง และเมื่อเราทำอะไรก็ตามเมื่อจะเอาธรรมมาปฏิบัติก็ต้องทำให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกกรณี อย่างเช่น ขณะที่ขับรถถ้าจะสวดมนต์ไปด้วย หรือว่านึกถึงการทำบุญทอดผ้าป่าเพราะเป็นเจ้าภาพ หรือว่าทอดกฐินเพราะว่าเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน
สิ่งที่คิดน่ะดี เรื่องการทำบุญ แต่ถ้าทำไม่ถูกเวลาไม่ถูกสถานที่ไม่ถูกกรณี มันก็เกิดโทษขึ้นมาได้ เช่น ขับรถ แต่ว่าแทนที่จะใส่ใจอยู่กับการขับรถ ก็ไปคิดถึงเรื่องการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าขณะที่ลงบันได สวดมนต์ไปด้วย แล้วสวดไม่พอ นับด้วยว่าสวดกี่จบ ๆ ไม่ว่าจะสวดสั้นหรือสวดยาว แทนที่จะมีสติอยู่กับการลงบันได ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ นี่เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่ถูกเวลาไม่ถูกสถานที่ มันก็กลายเป็นผิดไป หรือเกิดโทษ
หรือเวลาพบว่าลูกโกง หรือขโมยเงินคนอื่นเขา ก็กลับใช้เมตตากับลูกอย่างไม่ถูกต้อง แทนที่จะลงโทษลูกหรือว่าสอนลูกให้รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำเพราะถูกจับได้ว่าขโมยเงิน กลับแก้ตัวให้ลูกพ้นผิดด้วยความเมตตา เพราะเมตตาอยากจะให้ลูกไม่ถูกลงโทษ อย่างนี้เรียกว่าใช้ธรรมะไม่ถูกกรณี
กรณีแบบนี้ก็ต้องอุเบกขา คือลูกจะถูกครูลงโทษเพราะขโมยของจากเพื่อน หรือว่าถูกคนอื่นลงโทษเพราะว่าไปขโมยเงินเขา ก็ต้องยินยอมให้ลูกรับผิดชอบ หรือว่ารับผลของการทำผิดนั้น อันนี้ต้องใช้อุเบกขาเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ไม่ใช่เมตตาด้วยการแก้ต่างให้ลูก ซึ่งบางครั้งก็ต้องอาศัยการโกหก อย่างนี้เรียกว่าใช้ธรรมะไม่ถูกกรณี และไม่ใช่การปฏิบัติธรรมที่ถูก
หรือว่าทำอะไรก็ตามถ้าเราจะเอาธรรมะมาปฏิบัติ ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกตัว อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าวก็ทำด้วยความรู้สึกตัว มีสติ ก็ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าทำอะไรจำเป็นแล้วก็สมควรด้วยในการที่เราจะเอาธรรมะมาใช้ เรียกว่าปฏิบัติธรรมกับทุกการกระทำ รวมทั้งคำพูด อย่างน้อย ๆ ก็มีสติในทุกสิ่งที่ทำแม้จะเล็กน้อยเพียงใด เช่น ล้างหน้า ถูฟัน รดน้ำต้นไม้ ขึ้นบันได ลงบันได มันเป็นโอกาสที่จะเอาธรรมะมาปฏิบัติ
นอกจากปฏิบัติธรรมกับการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าเราเจออะไรก็เหมือนกัน มันก็เป็นโอกาสในการปฏิบัติธรรมได้ การทำมันเป็นเจตนาของเราที่จะทำ เราเลือกที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว เราเลือกเวลาเราเลือกสถานที่ได้ว่าจะทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไร แต่ว่าการเจออะไรมันมักจะไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ ดังนั้นเมื่อเราเจออะไรก็สมควรที่จะเอาธรรมะมาปฏิบัติ
เจอหรือเห็นกระเป๋าเงินของใคร สร้อยเพชรของใคร ก็ต้องรักษาใจไม่ให้เกิดความโลภ อยากได้ของที่ไม่ใช่ของเรา หรือบางทีเห็นคนที่เขาสวยถูกใจก็อยากจะไปพูดและเล็ม หรือว่าไปทำอะไรไม่ดีกับเขา อันนี้ก็เรียกว่าไม่ได้เอาธรรมะไปปฏิบัติ เจออะไรก็ตามในทางที่มันกระตุ้นให้เกิดโลภะ ราคะ ก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ควบคุมการกระทำและคำพูดไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น หรือว่าผิดศีลผิดธรรม
รวมทั้งสิ่งที่มันถูกใจเรา บางทีมันก็ไม่ผิดหรอกที่เราจะไปหาซื้อมาแต่ว่ามันไม่จำเป็น หรือว่าไปหามากินแล้วมันก็เป็นโทษต่อร่างกาย ก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักความพอดี อันนี้มันก็โยงกับเรื่องการบริโภคอย่างรู้จักประมาณ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง
การรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่อร่อยหรือว่าเหล้า บุหรี่ เดี๋ยวนี้ก็รวมไปถึงเกมออนไลน์ ถ้าเราไปเสพ ไม่รู้จักควบคุมจิตใจ มันก็ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นเจออะไรในทางที่มันสนองกิเลสของเรา ก็ต้องเอาธรรมะมาใช้เพื่อรักษาใจไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลส รู้จักยับยั้งชั่งใจ
แต่บางอย่างสิ่งที่เจอมันไม่ใช่ถูกใจ ตรงข้ามเลยคือไม่ถูกใจ จะเป็นคำพูดการกระทำของคนที่อยู่รอบตัว เจอความไม่ถูกใจอะไรในชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถแล้วโดนรถปาดหน้า มันก็ต้องรักษาใจไม่ให้เกิดความโกรธ อันนี้แหละคือช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรม เจออะไรที่ไม่ถูกใจก็รู้จักหักห้ามใจ ยับยั้งชั่งใจไม่ให้ทำไปตามอารมณ์ โดยเฉพาะความโกรธ
เมื่อใดก็ตามที่เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดของใคร รักษาใจให้สงบ หรือว่าแม้จะไม่สงบ เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคืองก็ไม่เผลอหลุดปากด่าออกไป หรือว่าตอบโต้ทำร้ายเขา นี่คือช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรม
หรือว่าเวลามีคนชม ได้โชคได้ลาภก็ไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน เพราะถ้าหลงหรือเพลิดเพลินยินดีเมื่อไหร่ มันก็จะลืมเนื้อลืมตัว ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ดีใจ ปรากฏว่าลืมตัว ไปกินเหล้าเฉลิมฉลองกัน หรือขับรถด้วยความประมาท ก็เกิดอุบัติเหตุ อันนี้ก็เรียกว่าเวลาเจอโชคเจอลาภ เจอคำชื่นชมสรรเสริญก็ไม่หลงเพลิดเพลินจนลืมเนื้อลืมตัว
บางทีเราคุยโม้โอ้อวด การที่คุยโม้โอ้อวดหรือคุยโวจนคนอื่นเขาไม่พอใจ มันก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม เช่นเดียวกัน เวลาเจอสิ่งที่ยั่วยุก็รักษาใจให้ปกติได้ ไม่หลงตัวลืมตน อันนี้แหละคือช่วงเวลาที่เราต้องเอาธรรมะมาปฏิบัติเพื่อรักษาใจ หรือเพื่อควบคุมการกระทำและคำพูดไม่ให้เกิดโทษทั้งกับตัวเองและผู้อื่น
หลายคนไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือ การปฏิบัติตัวเวลาอยู่ในวัด อยู่ในคอร์ส ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะว่าตอนนั้นก็เอาธรรมะมาปฏิบัติ แต่ว่าอันนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับเวลาเราเจอสิ่งกระทบ ไม่ว่าอยู่ในวัด หรือว่าออกไปสู่โลกภายนอก กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ๆ เราเจอสิ่งกระทบทั้งที่ถูกใจไม่ถูกใจ นั่นแหละคือช่วงเวลาสำคัญที่ต้องเอาธรรมะมาปฏิบัติ
การเจริญสติก็เหมือนกัน เราเจริญสติกับทุกการกระทำ แล้วก็เจริญสติเมื่อเราเจออะไรต่ออะไร ครูบาอาจารย์ก็สอนว่า เวลาเจริญสติก็ให้เห็นการเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก เวลากายเคลื่อนไหวก็เพราะเราทำนั่นทำนี่ เริ่มตั้งแต่ทำในรูปแบบ เช่น เดินจงกรม ยกมือสร้างจังหวะ แต่มันไม่ได้แค่นั้น เวลาเราออกจากทางจงกรม เวลาเราลุกไปที่กุฏิ
หรือเมื่อเรากลับบ้าน เราก็ต้องทำอะไรหลายอย่างตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนเก็บที่นอน เรียกว่าตลอดทั้งวันที่เราตื่นมาเรามีอะไรทำเยอะแยะไปหมด นั่นแหละคือช่วงเวลาของการเจริญสติ
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เป็นกิจวัตรหรือเป็นอิริยาบถย่อย เดินลงบันได เข้าห้องน้ำ ขึ้นบันได วางของ วางโทรศัพท์ วางกุญแจ รดน้ำต้นไม้ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขับรถ การประกอบอาชีพ นั่นแหละเป็นช่วงเวลาที่เราควรเจริญสติ แล้วถ้าเรามีสติกับสิ่งที่ทำ มันก็จะรู้หรือเห็นกายเคลื่อนไหว เราเห็นกายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ
ในทำนองเดียวกันเวลาเราเจออะไรกระทบ มันก็จะเกิดความคิดนึก อารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา บวกและลบ ยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจ ก็ต้องเห็น รวมทั้งความคิดที่มันผุดขึ้นมา อย่างที่เคยพูดไป พูดถึงเสียงในหัว มันก็เป็นความคิดอย่างหนึ่ง เวลาเจออะไรมันกระทบแล้วมันมีเสียงในหัวดังขึ้นมา มันมีความคิดอารมณ์เกิดขึ้นก็เห็นมัน อันนี้เรียกว่าเห็นใจคิดนึก
เรารู้กายเคลื่อนไหวเมื่อทำกิจ เราเห็นใจคิดนึกเมื่อเจอสิ่งต่าง ๆ ทั้งวันเราก็มีแค่ 2 อย่างนี้แหละ ไม่ทำก็เจอ ทำนี่คือเจตนาของเรา ส่วนเจอนี่มันบางทีมันไม่ได้เป็นเจตนาของเราเลย แต่ก็ต้องเจอ เจอรถติด เพื่อนผิดนัด เจอการกระทำและคำพูดที่ไม่ถูกใจ เจออากาศร้อน อากาศหนาว ฝนตก เจอข่าวร้าย เจอความสูญเสีย ทั้งหมดนี้เป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติ
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมเอามาใช้เฉพาะเวลาทำนั่นทำนี่ แต่พอเวลาเจอนั่นเจอนี่ไม่เอาธรรมะมาปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญสติการทำความรู้สึกตัว ยิ่งจำเป็นเข้าไปใหญ่เวลาเราเจอ ไม่ว่าเจอสิ่งที่ถูกใจหรือสิ่งที่ไม่ถูกใจ เพราะถ้าไม่มีธรรมะหรือไม่เอาธรรมะมาใช้ โดยเฉพาะสติหรือความรู้สึกตัว มันก็จะลืมตัว ลืมตัวไม่ว่าเพราะว่าเจอสิ่งที่ถูกใจ หรือว่าลืมตัวเพราะว่าเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ จนเกิดโลภะ ราคะ เจอความหงุดหงิด ความอิจฉาพยาบาท พวกนี้มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ มันเกิดโทษกับเราไม่ช้าก็เร็ว
เวลาเจอสุขก็ต้องมีธรรมะมาใช้ เช่น มีสติ ไม่ต้องพูดถึงเวลาเจอทุกข์ หลวงพ่อชาท่านพูด เวลามีความสุขมันก็เหมือนกับหางงู ความทุกข์ก็เหมือนกับหัวงู จับหัวงูก็โดนงูกัด จับหางงูถ้าไม่รีบวางก็โดนงูกัด ท่านหมายความว่า เวลาเจอทุกข์ก็อย่าไปยึดในทุกข์ เวลาเจอสุขก็อย่าไปยึดในสุข เพราะแม้สุขจะดูเป็นของดีแต่พอยึดเข้าไว้ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง มันก็เหมือนกับจับหางงู ก็โดนงูแว้งกัด สุขชั่วคราวแต่ว่าเจอทุกข์ตามมา
มันเป็นอย่างนี้แหละเวลาใครชมก็เพลิน ยินดีในคำชม แต่พอเขาไม่ชม ไม่เข้ามากดไลค์ก็ทุกข์เลย หรือหนักกว่านั้นคือ เจอเขาตำหนิ ต่อว่า ติเตียน ยิ่งเพลินในคำชมเท่าไหร่มันก็ยิ่งทุกข์เวลาเจอคำตำหนิ ถ้าไม่อยากทุกข์เวลาเจอคำตำหนิต่อว่าก็อย่าไปเพลินดีใจเวลามีคนชม
ฉะนั้นถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมทั้งในเวลาทำอะไรต่าง ๆ และเวลาเจอสิ่งต่าง ๆ มันก็จะช่วยทำให้จิตใจเราสามารถจะเป็นอิสระจากสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบได้ ไม่ใช่ว่าต้องคอยพึ่งพาอาศัยสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อม หลายคนก็อยากให้ใจพบกับความสงบ แต่คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเสียงดัง ไม่มีอะไรมากระทบ เจอแต่สิ่งดี ๆ เหล่านั้นมันก็ถือว่าโชคดีไป
แต่ว่าคนเราจะใจสงบเพียงเพราะไม่มีเสียงดังมันไม่พอ ต้องรู้จักรักษาใจให้สงบได้แม้จะมีเสียงดังเกิดขึ้น แม้จะมีสิ่งกระทบ ถ้าสงบเพียงเพราะว่าทุกอย่างราบรื่น ไม่มีเสียงดัง มันก็ยังเป็นความสงบที่ไม่น่าไว้วางใจ คนจำนวนไม่น้อยสงบได้เพราะปัจจัยแวดล้อมอำนวย
ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีนีคนหนึ่ง นางเวเทหิกา เธอก็อวดพูดอวดใครต่อใครว่า ฉันไม่มีโกรธแล้ว ฉันจิตใจสงบ ไม่มีความรู้สึกขุ่นมัวใด ๆ เลย จิตใจฉันราบเรียบมีความสุข พูดเหมือนกับว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว นางทาสีคนหนึ่งได้ยินก็อยากจะรู้ว่านางเวเทหิกาแกมีดีอะไรหรือเปล่า
วันหนึ่งก็เลยแกล้งนอนตื่นสาย ไม่ปรนนิบัติ ไม่เอาน้ำมา มาให้เพื่อล้างหน้าเหมือนเคย นางเวเทหิกาก็ไม่พอใจ ไม่พอใจอย่างเดียวไม่พอ ด่าด้วย ว่านางทาสีคนนี้ว่าทำไมตื่นสาย ทำไมขี้เกียจ วันที่ 2 นางทาสีก็แกล้งตื่นสาย นางเวเทหิกาโกรธมากเลย คราวนี้ด่าเลย ด่าว่าอัปรีย์จัญไรเลย พอคนเขาไม่ทำตามที่ถูกใจก็เกิดความโกรธ
วันที่ 3 นางทาสีแกก็เอาอีก อยากจะทดสอบว่านางเวเทหิกามีดีจริงหรือเปล่า เพราะไปคุยอวดเขาว่าฉันเหมือนกับไม่มีความโกรธแล้ว พอนางเวเทหิกาเจอนางทาสีตื่นสายเป็นวันที่ 3 คราวนี้โมโหมากเลย ถึงกับเอากระโถนขว้าง เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย จากเดิมที่สงบ ยิ้มแย้ม รู้สึกว่าฉันเข้าถึงธรรมแล้ว แต่พอวันที่ 3 กลายเป็นยักษ์เป็นมาร
แล้วคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น สงบได้ก็ต่อเมื่อไม่มีสิ่งมารบกวน แต่ที่จริงแล้วเราต้องพัฒนาไปถึงขั้นว่าแม้มีสิ่งมารบกวน สิ่งกระทบ แต่ใจก็สงบได้ เสียงจะดัง ใครจะทำไม่ดี ผิดนัด รถติด อากาศร้อน หรือแม้แต่เสียทรัพย์ ถูกโกง แต่จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจก็ไม่กระเพื่อม คือไม่เกิดอารมณ์ โกรธ โมโห ใครมาชมก็จิตใจก็ยังสงบไม่กระเพื่อม
เราต้องฝึกจิตของเราไปถึงขั้นที่เรียกว่า แม้จะมีเสียงดัง แม้จะมีการกระทำที่ไม่ถูกใจ หรือไม่ถูกต้อง แต่ว่าใจก็สงบได้ เรียกว่า จิตไม่ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ไม่มีอารมณ์เกิดขึ้น
แต่ที่จริงแล้วความสงบยังสามารถจะเกิดขึ้นได้แม้มีอารมณ์เกิดขึ้น แม้จะมีความโกรธ แม้จะมีความหงุดหงิด แม้จะมีความเศร้า ใจเราก็ยังสงบได้ สงบเพราะอะไร สงบเพราะว่ารู้ทันอารมณ์เหล่านั้น ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปผลักไสอารมณ์เหล่านั้น หรือไม่หลงเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น มันทำได้ ทำได้เพราะอะไร เพราะมีสติเห็นอารมณ์ ไม่หลงเข้าไปในอารมณ์นั้น หรือไม่ไปยึด ไม่ไปจับอารมณ์นั้น
เหมือนกับที่อาจารย์ชยสาโรท่านบอก งูถ้าเราไม่ไปจับมัน มันก็ไม่กัดเรา อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่เข้าไปยึดมัน มันก็ไม่ทำร้ายเรา มีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ ใจก็ยังสงบได้ ถ้าหากว่าแค่มีสติเห็นมัน รู้ซื่อ ๆ เหมือนกับแม้จะมีเสียงดังในหัวอย่างที่พูดเมื่อวานนี้ แต่ถ้าเราไม่สนใจมัน ไม่เข้าไปผลักไส ไม่ไปไหลตาม หรือคล้อยตามเสียงเหล่านั้น ใจก็สงบได้
พูดง่าย ๆ ก็คือว่าแม้จะมีอารมณ์เกิดขึ้นแต่ว่าไม่ปล่อยให้มันเข้ามาคุกคามจิตใจ
เหมือนกับมีถ่านก้อนแดง ๆ แต่ไม่ไปจับมัน มันก็ไม่ทำให้มือพอง มีเศษแก้วอยู่บนพื้นแต่ไม่ไปเหยียบมัน ก็ไม่เจ็บ มีกองไฟอยู่ข้างหน้าแต่ไม่โดดเข้ากองไฟนั้น มันก็ไม่ร้อน ยิ่งถอยห่างเท่าไหร่ความร้อนของกองไฟก็ทำอะไรเราไม่ได้ เราทำอย่างนั้นได้กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล มันเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับมัน ตรงนี้ถ้าเราเจริญสติเราจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เจริญสติก็นึกไม่ออก
แม้กระทั่งการเห็นไม่เข้าไปเป็น คนที่ไม่เจริญสติ ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเขาจะไม่เข้าใจ มีทุกข์แต่ว่าไม่เป็นทุกข์ มันทำได้ถ้ารู้ทุกข์หรือเห็นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงบอกไว้ ทุกข์มันไม่ได้มีไว้ให้เป็น มีไว้ให้เห็น ถ้าเรารู้ทุกข์ มันก็ไม่เป็นทุกข์ มีความเจ็บความปวดเกิดขึ้นกับกาย แต่ว่าไม่เข้าไปยึดมัน เห็นมัน มันก็ไม่มีผู้ปวดผู้เมื่อยเกิดขึ้น
เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด มันเกิดขึ้นแต่เห็นมัน ไม่เข้าไปยึด ไม่มีผู้โกรธ ไม่มีผู้โศกผู้เศร้า มันก็ไม่ทุกข์ อันนี้ต้องฝึกให้ได้แม้ว่าเรายังไม่สามารถทำให้จิตไม่หวั่นไหวใจไม่กระเพื่อมเวลามีการกระทบเกิดขึ้น
คนธรรมดาก็ย่อมมีอาการกระเพื่อม เวลาเจอเสียงดัง เวลาเจอคนต่อว่าด่าทอ เวลาสูญเสียทรัพย์ เวลาเจ็บป่วย แต่พอมันกระเพื่อมแล้วก็เห็นมัน เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้วก็ปล่อย มันก็สงบลง เป็นความสงบที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะมีเสียงดังจากข้างนอกแต่เพราะมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเกิดขึ้นข้างในก็ยังสงบได้ อันนี้คือความสงบที่เราควรจะรู้จัก.