พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 มีนาคม 2568
เด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ 9 - 10 ขวบ พอกลับมาจากโรงเรียน ก็พบว่าหมาที่ตัวเองรักตายแล้ว คงตายเพราะความชรา เด็กเสียใจมาก
สองสามวันต่อมา พ่อแม่พาเด็กคนนี้ไปฟังธรรมที่หมู่บ้านพลัม เด็กก็ได้มีโอกาสถามท่านติช นัท ฮันห์ หลายคนในเมืองไทยเรียกท่านว่าหลวงปู่ เด็กถามท่านว่าหากหมาที่เรารักตายลง ทำยังไงเราจะไม่เศร้าโศกเสียใจ
ท่านติช นัท ฮันห์ บอกให้เด็กมองไปที่ท้องฟ้า แล้วพูดว่า เห็นก้อนเมฆไหม เด็กตอบว่า เห็นครับ ท่านบอกว่า หากก้อนเมฆที่เธอรัก มันหายไปจากท้องฟ้า ที่จริงแล้วก้อนเมฆไม่ได้หายไปไหน แต่ว่ากลายเป็นสายฝน ก่อนที่จะมาเป็นน้ำชาในถ้วยนี้
แล้วท่านชี้ให้ดูน้ำชาในถ้วย เมื่อเธอจิบชา ถ้วยใบนี้ก็จะมีเมฆที่เธอรักนั้นล่องลอยอยู่
ท่านกำลังชี้ให้เด็กเห็นว่า จริง ๆ แล้วความตายมันไม่มี มันมีแต่การเปลี่ยนสภาพ เวลาเมฆบนท้องฟ้าหายไป เราก็ไม่เรียกว่าเมฆมันตาย เพียงแต่เมฆเปลี่ยนสภาพจากก้อนเมฆก็กลายเป็นสายฝนที่โปรยปรายลงมา แล้วก็กลายเป็นลำห้วยลำธาร สุดท้ายก็กลายมาเป็นน้ำที่เราดื่ม ซึ่งรวมถึงน้ำในถ้วยชา
เวลากินน้ำในถ้วยชาหรือถ้วยอะไรก็ตาม หมายความว่ามีก้อนเมฆล่องลอยอยู่ อันนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ถ้าเรียกตามภาษาพุทธก็คือ อิทัปปัจจยตา ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
น้ำชาที่เรากินกับก้อนเมฆที่เราเห็นบนท้องฟ้า เมื่อวันก่อนหรือเมื่อหลายเดือนก่อน มันไม่ได้แยกจากกัน มันเชื่อมโยงกัน
การที่เมฆกลายเป็นหยดน้ำ กลายเป็นน้ำฝน แล้วกลายเป็นลำห้วย เราก็จะเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเมฆกลายเป็นน้ำ กลายเป็นลำธาร แล้วก็กลายเป็นน้ำที่เราดื่มจากถ้วย
ท่านติช นัท ฮันห์ สอนเด็กให้รู้ว่าแม้หมาที่รักมันตาย แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปรสภาพ สุดท้ายก็มาอยู่ใกล้เราในรูปใดรูปหนึ่ง
มีคนเปรียบเทียบว่า คนเราเปรียบเหมือนกับก้อนน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งเมื่อวางไว้ หรือเมื่อใส่ลงไปในแก้วที่มีน้ำเต็ม ไม่นานก้อนน้ำแข็งก็หาย แต่เราก็ไม่เรียกว่าก้อนน้ำแข็งมันตายหรือมันหายไปอย่างแท้จริง เพราะที่จริงๆแล้วมันก็แค่เปลี่ยนสภาพจากก้อนกลายเป็นของเหลว แล้วก็อยู่ในนั้น อยู่ในถ้วยนั่นแหละ
อันนี้ท่านติช นัท ฮันห์ อธิบายให้เด็กฟัง ให้เด็กตระหนักว่าจริง ๆ แล้วหมาที่เธอรักก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปรสภาพ ฉะนั้นจะพูดว่าความตายไม่มีก็ได้ แล้วมันก็ไม่มีแม้กระทั่งผู้ตาย แต่ว่าจะอธิบายให้เด็กเข้าใจอย่างนี้ ถ้าพูดตรง ๆ ให้ฟัง เด็กก็จะเข้าใจยาก ท่านก็เลยอุปมาให้เห็นจากความจริงของก้อนเมฆบนฟ้า ซึ่งเชื่อมโยงกับน้ำที่เรากินในถ้วย
บางครั้งท่านก็โยงให้เห็นกระทั่งว่า น้ำที่เรากินในถ้วย มันก็คือจักรวาล เพราะถ้าไม่มีจักรวาล ไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีระบบสุริยจักรวาล มันก็ไม่มีโลก หรือถึงมีโลกก็ไม่สามารถจะเป็นที่อาศัยของมนุษย์ได้ และแน่นอนก็ย่อมไม่มีเมฆ ไม่มีฝน มีดวงอาทิตย์ก็จึงมีเมฆ มีฝน มีฝนก็จึงมีน้ำที่เราดื่ม ไม่ว่าจากถ้วยหรือว่าจากขวด
ท่านก็เลยบอกว่าถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ น้ำที่เรากิน มันก็จะมีดวงอาทิตย์หรือจักรวาลทั้งจักรวาลแฝงเร้นอยู่
มีคำพูดที่จะเรียกว่าเป็นสัจธรรมของทางมหายานก็ว่าได้ว่า ทั้งหมดอยู่ในหนึ่ง - All in One แล้วก็ One in All 3หมายความว่า ทั้งหมดในโลกนี้ สรรพสิ่งมันล้วนแต่ก่อให้เกิดมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเห็น แล้วก็ไม่เห็นก็ตาม และทุกสิ่งนั้นก็ล้วนแต่มีผลกระทบต่อสรรพสิ่งที่เหลือ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเรียกว่าทั้งหมดในหนึ่งเดียว แล้วก็หนึ่งเดียวในทั้งหมด
อันนี้มันก็เป็นการอธิบายตามหลักอิทัปปัจจยตา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็นำมาขยายความมาเป็นปฏิจจสมุปบาท เพื่ออธิบายถึงกระบวนการเกิดทุกข์ว่ามันมีลำดับมีขั้นตอนยังไง ปฏิจจสมุปบาทนี่ก็ส่วนใหญ่ก็ใช้อธิบายเรื่องความเกิดทุกข์และการดับทุกข์
แต่อิทัปปัจจยตาก็เป็นกฎธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง และเพราะเหตุนี้การที่ทุกสิ่งมันอยู่ได้เพราะมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ มาช่วยทำให้เกิด มันจึงไม่มีตัวตนเรียกว่าอนัตตา
รถยนต์ ถ้าหากว่าถอดชิ้นส่วน ไม่ว่าล้อ เพลา ตัวถัง พวงมาลัย กระจก ไฟ ไม่ว่ามีกี่ร้อยกี่พันชิ้นถ้าถอดออกจนหมด ก็เหลือแต่ความว่างเปล่า อันนี้เรียกว่าว่างเปล่าจากตัวตน
หรือเหมือนกับต้นไม้ ต้นไม้ถ้าเอากิ่ง เอาใบ เอาเปลือก เอาลำต้น เอารากออก เอาออกหมดก็ไม่เหลืออะไรเลย
แล้วจะมีต้นไม้ได้ ก็ต้องมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มีเมฆ มีฟ้า และต้องมีนกที่มาหว่านเมล็ด ต้องมีความชื้น มีอุณหภูมิ มีฝน ทั้งหมดนี้จึงจะเกิดเป็นต้นไม้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ซึ่งดูแล้วจำแนก ก็มีเป็นร้อยเป็นพัน ถ้าเอาสิ่งเอาปัจจัยเหตุปัจจัยเหล่านั้นออกก็ไม่มีต้นไม้เหลือสักต้นเลย อันนี้เรียกว่าความไม่มีตัวตน ซึ่งก็แยกไม่ออกจากหลักอิทัปปัจจยตา
ฉะนั้นเวลาคนรักของเรา สัตว์ที่เรารัก สูญหายไปหรือเราเรียกว่าตาย ที่จริงก็ไม่ได้ตาย เพียงแต่เปลี่ยนสภาพ อันนี้มันตรงข้ามกับคำสอนเกี่ยวกับเรื่องอาตมัน ที่บอกว่าถ้าตายก็เป็นอันดับสิ้นเรียกว่าขาดสูญ
ความเชื่อของพราหมณ์ เขาเชื่อเรื่องอาตมันหรืออัตตา ซึ่งก็หมายความว่าเกิดโดยไม่มีสาเหตุ แล้วก็ดับแบบขาดสูญ แต่ว่าทางพุทธบอกว่ามันไม่ได้ดับขาดสูญ มันก่อให้เกิดเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เพราะฉะนั้นหมาที่เด็กน้อยรักเมื่อล้มตายนี่ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่บางคนก็อธิบายง่าย ๆ ว่าเขาไปเกิดในสวรรค์แล้ว อันนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องในส่วนจิต แต่ในส่วนกายนี้มันก็แปรเปลี่ยนไปเป็นอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่เราอาจจะนึกไม่ถึง
แต่ถ้าเราคิดใคร่ครวญตลอดสาย ก็จะพบได้ว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน ระหว่างเมฆบนฟ้ากับน้ำที่เรากิน ซึ่งก็รวมไปถึงคนที่เรารักด้วย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากแต่ว่าท่านติช นัท ฮันห์ ก็อธิบายให้เด็กเข้าใจโดยเปรียบเทียบกับเมฆบนท้องฟ้า ก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพียงแต่ อุปมาอุปไมยให้เห็นว่าเมฆบนท้องฟ้าที่เราชอบที่เรารัก กับ น้ำที่เราดื่ม ไม่ได้แยกจากกันเลย สัตว์ที่เราก็รักก็เหมือนกัน ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน อาจจะอยู่ใกล้ตัวเรานี่เอง เพียงแต่ว่าเราไม่รับรู้ หรือมองไม่ละเอียดพอ
อันนี้เรียกว่าเป็นการมองที่ช่วยทำให้เกิดการเข้าใจสัจธรรมความจริง ซึ่งทางพระเราก็เรียกว่าเป็นวิปัสสนาแบบหนึ่ง วิปัสสนา คือการทำให้จิตใจเกิดความสว่าง สว่าง คือเห็นแจ้งหรือเข้าใจในสัจธรรม แต่ท้องฟ้านี่มันยังสามารถจะช่วยให้เราได้เห็นอะไรอีกหลายอย่าง รวมทั้งช่วยให้เรารู้จักวางใจได้ถูกด้วย
โดยเฉพาะเวลาเราเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว ท้องฟ้าก็เป็นครูสอนเราได้ มีคนเปรียบว่าให้เราทำใจเหมือนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ท้องฟ้าไม่ว่าจะมีเมฆกี่ก้อน จะเป็นเมฆเล็ก เมฆน้อย หรือเป็นปุยขนาดใดก็ตาม ท้องฟ้าก็ไม่ได้รังเกียจอะไรเลย
การเจริญสติก็คือการทำใจของเราให้เหมือนท้องฟ้าที่อนุญาตให้เมฆต่าง ๆ สามารถจะล่องลอยอยู่ได้ ในใจเรามันก็มีความคิด มีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ถ้าลองทำใจของเราให้เหมือนกับท้องฟ้า และความคิด อารมณ์ต่าง ๆ นี้ก็เหมือนกับก้อนเมฆ ปล่อยให้ก้อนเมฆมันลอยอยู่บนท้องฟ้า ไม่ต้องไปเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ต้องผลักไสมัน
และไม่ว่าจะมีเมฆกี่ก้อน เมฆจะหนาแค่ไหน ฟ้าก็ยังเป็นฟ้าอยู่ ไม่ใช่ว่าเมฆจะทำให้ท้องฟ้าสูญเสียความเป็นฟ้าได้ และไม่ว่าจะมีเมฆหนาแค่ไหน มีเมฆเยอะเพียงใด สุดท้ายเมฆก็ล้วนแต่จางคลายหายไปจากท้องฟ้าไม่ช้าก็เร็ว
ใจเราก็เหมือนกัน มันมีความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ว่าความคิดต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ใจของเรามัวหมองลงไปเลย เหมือนกับมีเมฆแม้เมฆจะครึ้มยังไง เมฆจะหนายังไง ฟ้าก็ยังเป็นฟ้า
การปฏิบัติของเราคือ การเปิดใจของเราเหมือนฟ้าที่ไม่รังเกียจเมฆไม่ว่าก้อนใด จะเมฆสวยอย่างไรก็ไม่รังเกียจ เมฆจะสวยยังไงก็ไม่ไปหลงใหลยึดติด เมฆจะครึ้มจะดำยังไงก็ไม่รังเกียจ ให้เราทำใจของเราแบบนี้ มันก็จะช่วยทำให้เรา สุดท้ายก็ได้สัมผัสกับภาวะที่เรียกว่าความรู้สึกตัว
เวลาเจริญสติ เราไม่ต้องทำอะไรกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ ไม่ว่ายินดีหรือยินร้าย กุศลหรืออกุศล และแม้เราจะไม่ทำอะไรมัน แต่สุดท้ายมันก็ดับไป หายไป เหมือนเมฆในท้องฟ้ามันไม่เคยอยู่ยาวนานเลย
อย่างเมื่อตอนเช้าเราตื่นขึ้นมา พอสว่างขึ้นมา เราจะเห็นเมฆบนท้องฟ้าเยอะเลย แต่ว่าตอนบ่าย ๆ หายหมดแล้ว ไม่มีใครทำอะไรมัน มันหายไปเอง ฟ้าไม่ต้องขับไล่ไสส่งเมฆ ฉะนั้นความคิด อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เพราะไม่ว่ามันจะมีมากแค่ไหน มันก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นฟ้าแปรเปลี่ยนไป
แต่บางคนไปเข้าใจว่าเมฆคือฟ้า เหมือนกับที่หลายคนไปเข้าใจว่าความคิด อารมณ์ คือจิต มันไม่ใช่ ความคิดไม่ใช่จิต อารมณ์ก็ไม่ใช่จิต เหมือนกับเมฆไม่ใช่ฟ้า เราต้องแยกให้ออก และเพราะมันไม่ใช่จิต แล้วมันก็ทำอะไรจิตไม่ได้ สุดท้ายมันก็แปรเปลี่ยนไป สลายหายไป
หน้าที่ของเราก็คือดู ดูความเป็นไปของความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่เราดูความแปรเปลี่ยนของเมฆบนท้องฟ้า สุดท้ายจะพบความโปร่ง โล่ง เพราะว่าไม่ว่าเมฆจะมีมากแค่ไหน ฟ้าก็ยังเป็นฟ้าที่สว่าง สีคราม
การเจริญสติให้เราน้อมใจเหมือนกับเป็นท้องฟ้า ท้องฟ้าสามารถเป็นครูสอนเราได้ ไม่ใช่สอนเราเฉพาะเรื่องของอิทัปปัจจยตาหรือว่าปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้สอนเด็ก แต่ว่ายังสอนยังสามารถเป็นบทเรียนให้เรารู้จักวางใจให้เป็นกลาง ๆ แล้วเราจะพบกับความรู้สึกตัวที่มันเป็นความโปร่ง โล่ง
แม้ใหม่ ๆ มันจะมีความคิดออกมาเยอะ มีอารมณ์ต่าง ๆ ออกมามากมาย นิวรณ์หลายชนิด มาครบ 5 เลย แต่ถ้าเราไม่ไปทำอะไรกับความคิดเหล่านั้น ให้มันมาแล้วก็ไป เหมือนกับเราดูเมฆ มันมาแล้วก็ไป สุดท้ายก็เหลือแต่ท้องฟ้าที่โปร่ง โล่ง ใจเราก็สามารถจะเป็นเหมือนท้องฟ้าที่โปร่งโล่งได้ ถ้าเราแค่เพียงแต่ดูความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น
ที่จริงถ้าเรารู้จักมองฟ้าให้เป็นนี่ เราได้อะไรจากฟ้าได้เยอะเลย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา เมฆที่กลายเป็นน้ำในถ้วยที่เรากิน แต่ว่ายังรู้จักใช้ฟ้า สอนเราให้รู้จักวางใจเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่จริงแม้เพียงแค่เรามองท้องฟ้า โดยเฉพาะในยามที่เราหม่นหมอง มันก็ช่วยทำให้ใจเราสว่าง
คนเราถ้ารู้จักมองท้องฟ้าบ้าง แม้จะไม่ต้องเจริญสติหรือว่าทำวิปัสสนาอะไรเลย เพียงแค่เปิดใจรับรู้ท้องฟ้าอย่างที่มันเป็น โดยเฉพาะในเวลาเช้า ๆ ตื่นนอนขึ้นมา แทนที่จะคิดถึงความทุกข์ ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเมื่อวานหรือเมื่อหลายวันที่ผ่านมา หรือแทนที่จะไปนึกถึงงานการที่รออยู่ ปัญหาที่คาราคาซังอยู่ หรือสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดที่รบกวนรำคาญจิตใจ วางอดีต วางอนาคต เปิดใจอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ความงาม ความโปร่งโล่งของท้องฟ้า ใจเราก็จะสบาย
มันเป็นวิธีการเติมสุขให้ใจอย่างหนึ่ง เพียงแค่เรารู้จักมองท้องฟ้า แล้วก็ใจอยู่กับสิ่งที่ท้องฟ้ากำลังถ่ายทอดให้เรา มันเป็นวิธีเติมสุขให้ใจอย่างง่าย ๆ แล้วถ้าเกิดว่าเรามองเป็น แม้มันจะมีสิ่งต่าง ๆ มาดึง หันเหความสนใจของเรา แต่เราก็ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่หันเหนั้น
มีภาพหนึ่ง ในภาพมีคนติดคุก 2 คน อยู่ในคุก ในคุกตรงผนังมีหน้าต่าง แต่หน้าต่างมีลูกกรงปิดอยู่ เลยลูกกรงออกไปก็เป็นท้องฟ้าที่สว่างไสว สีครามสวย นักโทษ 2 คนกำลังวาดรูป คนหนึ่งวาด เห็นแต่ลูกกรงสีดำ ๆ ส่วนอีกคนหนึ่งวาดเห็นท้องฟ้าโดยไม่มีลูกกรงเลย
อันนี้มันก็เป็นอุปมาอุปไมยสอนเราว่า เวลาเราเจอเหตุการณ์ซึ่งมันก็มีทั้งบวกและลบ ถ้าเราเป็นอย่างนักโทษคนแรก ก็จะเห็นแต่ลูกกรง เห็นแต่การสูญเสียอิสรภาพ เห็นแต่สิ่งที่จำกัด เห็นแต่สิ่งที่ทำให้จิตใจหดหู่ แต่ถ้าเรามองเป็น ก็จะมองทะลุลูกกรงออกไป เห็นท้องฟ้าที่สวยงาม
สิ่งที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันก็มีทั้ง 2 อย่าง สิ่งที่ย่ำแย่เหมือนลูกกรง กับสิ่งที่ดีงามเหมือนกับท้องฟ้าที่สว่างไสว การที่เราเห็นทั้ง 2 อย่างเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากว่าเราไปติด หรือมองลบก็จะเห็นแต่ลูกกรง แล้วก็จะมีความทุกข์มากว่า ฉันติดคุกนี่ ฉันไม่มีอิสระ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ตีอกชกหัว
แต่อีกคนหนึ่งไม่ยอมให้ลูกกรงนี้มาขวาง มาปิดบังความงดงามของท้องฟ้า ฉะนั้นเวลาเขาวาดรูป ก็วาดท้องฟ้าที่สวยงามโดยไม่มีลูกกรงเลย
อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่า เราจะเลือกมองเห็นแต่ลูกกรง หรือเราเลือกที่จะมองเห็นท้องฟ้า บางคนเดี๋ยวนี้มองเห็นแต่ลูกกรง ทั้งที่มองเลยไปหน่อยก็จะเห็นท้องฟ้า แต่มองไม่เห็นท้องฟ้า
ฉะนั้นต้องฝึกใจของเราให้รู้จักมอง มองให้ทะลุลูกกรงออกไปจนเห็นท้องฟ้า และถ้ามองเห็นไปถึงขั้นว่า ท้องฟ้าก็สอนเราให้รู้จักวางใจเป็นกลางต่อความคิด อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนกับท้องฟ้านี้อนุญาตให้เมฆนานาชนิดเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับเมฆเหล่านั้น เพราะรู้ว่าไม่นานเมฆก็จางหายไป และท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าเหมือนเดิม
อันนี้เรียกว่ารู้จักทำใจให้สงบ โปร่งเบา หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ เห็นท้องฟ้าแล้วก็นึกถึงสัจธรรมความจริงว่าอะไร ๆ ต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เมฆกลายเป็นดอกไม้ กลายเป็นอาหารที่เรากิน แล้วกลายเป็นน้ำที่เราดื่ม
อันนี้เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้นมา ไม่ใช่แค่จิตใจสว่าง โปร่งโล่ง ซึ่งจัดอยู่ว่าเป็นเรื่องของสมถะ แต่ยังเห็นสัจธรรมความจริง เกิดปัญญาขึ้นมาซึ่งเป็นเรื่องของวิปัสสนา ฉะนั้นท้องฟ้านี่สอนอะไรเราได้เยอะเลย ถ้าเรามองเป็น.