พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 มีนาคม 2568
ไม่ว่าเราอยู่วัดหรืออยู่บ้าน ไม่ว่าเราจะทำบุญให้ทานรักษาศีลเพียงใด ก็อย่าทิ้งภาวนา ภาวนาในที่นี้ก็หมายถึงการฝึกจิต รักษาใจ ที่สำคัญก็คือการฝึกสติ ทำความรู้สึกตัว
การฝึกสติในที่นี้ก็คือ การหมั่นมาดูกายดูใจ อันนี้เป็นเรื่องหลัก ตามมาด้วยการดูเวทนา แล้วการเห็นธรรม ตามหลักสติปัฏฐาน 4
มีหลักง่ายๆ ว่า อะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ก็แค่รู้เฉยๆ อะไรที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การหายใจ หรือว่ามีเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนาก็ดี สุขเวทนาก็ดี ก็แค่รู้เฉยๆ อะไรที่เกิดขึ้นกับใจ ความคิด อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าบวกหรือลบ ก็รู้เฉยๆ ซึ่งหมายความว่า
ประการแรกคือ ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ยอมรับนี้ก็หมายความว่า ยอมรับด้วยใจที่เป็นกลาง อะไรที่ชอบที่ถูกใจ ก็ไม่เข้าไปฉวยไปจับ อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่ผลักไส ไม่รังเกียจ หรือพูดอีกอย่างคือว่า ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจโดยไม่ตัดสินว่า ดีหรือชั่ว
หรือว่าจะใช้คาถาว่า ช่างมัน หรือไม่เป็นไร ก็ได้ แม้มันจะมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้น ก็ช่างมัน
หลวงพ่อคำเขียนก็เคยแนะนำว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ธรรมชาติคนเรามักจะตัดสินว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี ไม่ใช่เฉพาะรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มากระทบ แต่รวมถึงความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเราเรียกว่าธรรมารมณ์
เรามักจะตัดสินว่า ดี ไม่ดี ดีก็ยึดเข้าไว้ คลอเคลียคลุกเคล้า อะไรที่ไม่ดีก็ผลักไส ที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราไปทำอย่างไรกับสิ่งนั้น พอเราไปให้ค่าว่าไม่ดี ตัดสินว่าไม่ดี ก็เกิดความไม่พอใจทันที และยิ่งผลักไสก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะว่าผลักไสอย่างไร มันก็ไม่ยอมไปหรือหายไปตามอำนาจของเรา กลับเป็นการต่ออายุให้มันด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น การที่เรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ช่วยลดความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจ ลดได้เยอะด้วยคือไม่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ
แล้วก็เป็นการฝึกสติไปในตัวด้วย เพราะถ้าเรายอมรับมันโดยไม่ตัดสิน ยอมรับมันด้วยใจที่เป็นกลาง มันก็ทำให้สติก็ดี ความรู้สึกตัวก็ดี เจริญมากขึ้น หรือว่าเป็นการเพิ่มทักษะ เพิ่มความสามารถให้กับสติ ในการที่จะรับรู้ หรือเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง
สติที่ว่านี้ คือสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดาที่เราใช้กันทุกวัน เมื่อเรายอมรับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว ต่อไปเราก็ขยับไปสู่การยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากเห็น
ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ก็คือว่าเห็นมันตามความเป็นจริง เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เวลาเห็นกายขยับเขยื้อน ก็เห็นหรือรู้ว่ามันเป็นรูปที่เขยื้อน เป็นกายที่ขยับ ไม่ใช่ไปยึดว่าเป็นเรา มีความคิดมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็เห็นว่ามันก็เป็นสักแต่ว่าความคิด หรือสักแต่ว่าอารมณ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
อย่างที่เวลาเราอ่าน หรือสาธยายสติปัฏฐาน มันก็จะมีข้อความว่า เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต ความหมายหนึ่งคือว่า เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตในจิต ก็คือเห็นจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
รวมทั้งสิ่งที่เป็นการกระทำที่ไปปรุงแต่งจิต เรียกว่าเจตสิก ก็เห็นว่ามันเป็นแค่เจตสิก มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือไม่ใช่ตัวเรา นี่เรียกว่ายอมรับมันอย่างที่มันเป็น ซึ่งมันก็เป็นการพัฒนาขึ้น จากการยอมรับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง
มันเริ่มขยับหรือเคลื่อนไปสู่การที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ตรงนี้ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือรูป ไม่ว่าจะเป็นใจหรือว่าเจตสิก ก็เท่ากับว่าปัญญาเริ่มเกิดขึ้นแล้ว
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ มันจะเป็นอารมณ์ที่เป็นลบ เป็นอกุศล แต่ว่ามันก็ทำให้ปัญญาเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เพราะปัญญาก็คือการเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง หรืออย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น หรือไม่ใช่เห็นตามการปรุงแต่ง
การเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง หรือเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เป็นขั้นตอนสำคัญของการเกิดปัญญาขึ้นมา เพราะต่อไปเราก็จะเห็นว่า มันก็ไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกาย การเคลื่อนไหวของจิต รวมทั้งเวทนาที่เกิดขึ้น มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์
ตรงนี้แหละที่มันทำให้ แทนที่เราจะมองด้วยการยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น มันก็กลายเป็นว่า มองเห็นว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับเราก็ดีทั้งนั้น อะไรที่เกิดขึ้นกับเราก็ดีทั้งนั้น แม้จะมีความเศร้าเกิดขึ้น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ความเครียด หรือแม้กระทั่งมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ดีทั้งนั้น
เพราะว่ามันเกิดขึ้นทีไร เราก็รู้ ไม่ใช่รู้ว่ามีมันเกิดขึ้น ไอ้การรู้ว่ามีมันเกิดขึ้น หรือมีมันอยู่ในใจเรา หรือมีมันเกิดขึ้นกับกายและใจของเรา อันนี้ก็มีประโยชน์ เพราะว่ายิ่งรู้เร็ว ยิ่งรู้บ่อย ไอ้ความรู้สึกตัวก็จะเติบโต แล้วก็ต่อเนื่อง
เพราะการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว ก็เพียงแต่ว่า รู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นกับกายและใจนี่ ก็ถือเป็นของดี มันมาให้เรารู้
แต่ก่อนเราก็จะมีการเลือกที่รักมักที่ชัง ถ้ามีสุขเวทนาเกิดขึ้นก็ยินดี มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ผลักไส มีความดีใจก็เกิดความพอใจ มีความเสียใจก็ไม่ชอบ ไม่ต้องพูดถึงความโกรธ ความโศก ความทุกข์ พอรู้สึกไม่ดีกับมัน มันก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ
แต่พอเราเริ่มมองว่าอะไรเกิดขึ้นกับใจ อะไรเกิดขึ้นกับกาย ก็ดีทั้งนั้น ดีตรงที่ได้รู้ ได้รู้ว่า 1 มันมีอยู่ การที่ได้รู้ว่ามันมีอยู่ มันช่วยทำให้ไม่เข้าไปเป็น รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้นในใจ มันก็ทำให้ไม่เข้าไปเป็นเพราะแค่เห็น
ปกติเวลามีความโกรธ ความโศก ความเศร้า ถ้าคนไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัวไวพอ มันเกิดขึ้นทีไร ก็ไม่รู้ไม่เห็น เพราะเข้าไปเป็นซะแล้ว เป็นผู้โกรธ เป็นผู้เศร้า หรือหลงจมเข้าไปในความโศก ความเศร้า ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความหงุดหงิด อันนี้มันก็ต้องลงเอยด้วยความทุกข์
แต่พอเปลี่ยนจากเป็น มาเป็น เห็น หรือรู้ว่ามี ความทุกข์มันก็ลดลง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้โศก ผู้เศร้า ผู้โกรธ ผู้เกลียดนี่ มันก็ไม่มีช่องเกิด
ฉะนั้นเพียงแค่รู้ว่ามันมีอยู่ในใจ หรือว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นกับกาย มันก็ช่วยได้เยอะแล้ว แต่เราไม่ได้รู้เท่านั้น เรารู้ว่ามันมีธรรมชาติ มีลักษณะ มีอาการอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้ว่ามีมันอยู่ ไม่ใช่รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น แต่รู้ว่าความโกรธนี่ อาการมันเป็นอย่างไร
ถ้าเราหมั่นดูหมั่นสังเกต เราก็จะพบว่าความโกรธ ความโศก ความเกลียด มันมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ก่อนไม่เคยสังเกต แต่ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่าความโกรธนี่มันมีอาการอย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร ความโศกเศร้าเสียใจมีลักษณะอย่างไร
อย่างเช่น ความโกรธนี่มันก็จะรู้สึกว่า มันมีอาการร้อนรุ่มในใจ ความโศกความเศร้า มันก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่บีบคั้นใจ ถ้าเป็นความเกลียด ก็เหมือนกับสิ่งที่กรีดแทงใจ ถ้าเป็นความกังวล มันก็มีความรู้สึกเหมือนกับหนักใจ หนักอกหนักใจ
เราจะเห็นความแตกต่างของอารมณ์ต่างๆ เห็นได้ยังไง เห็นได้เพราะหมั่นรู้ จากเดิมที่รู้ว่ามันมีอยู่ รู้ว่ามันเกิดขึ้น ก็รู้ต่อไปว่ามันมีอาการอย่างไร
แล้วมันมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์ตรงที่ว่าพอเรารู้สึกร้อนรุ่มข้างใน เราก็รู้สึกตัวแล้วว่าความโกรธมันมาแล้ว เวลารู้สึกบีบคั้นใจ รู้สึกว่าใจมันถูกบีบคั้นนี่ ก็รู้แล้วว่ามีความโศกเศร้าเสียใจ มีความรู้สึกหนักอกหนักใจก็รู้แล้ว ว่ามันมีความกังวลเกิดขึ้น
และรู้ทัน รู้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่มันจะลุกลามใหญ่โต พอเรารู้ได้เร็ว ก็ออกจากอารมณ์เหล่านั้นได้เร็ว หรือว่า รับมือกับมันได้ดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้มันลุกลามจนห้ามไม่อยู่
อย่างเช่น ความโกรธ ตอนที่มันเริ่มปะทุขึ้นมาเป็นความหงุดหงิด เป็นความไม่พอใจ ถ้าเรารู้ทัน รู้แล้วก็วางมันได้ มันก็ดับไป แต่พอไม่รู้ มันก็ลุกลามจนเป็นความโกรธ จนห้ามใจไม่อยู่ ยอมอยู่ในอำนาจของมัน มันสั่งให้ด่าก็ด่า สั่งให้ทำร้ายคนที่รักก็ทำร้าย สั่งให้ตบก็ตบ บางทีมันสั่งให้ยิงก็ยิง ห้ามไม่ได้
หลายคนก็รู้สึกว่า เวลามีความโกรธ มันรุนแรงมากจนห้ามไม่ไหว บางทีถึงกับต้องบอกว่า กูยอมตาย กูยอมติดคุก ขอให้ได้ฆ่ามัน ขอให้ได้ตบมัน
อันนี้ก็เป็นเพราะว่า ความโกรธมันลุกลามรุนแรง จนกระทั่งห้ามไม่อยู่ จิตมันพ่ายแพ้ต่อความโกรธ หลงเชื่อเหตุผลข้ออ้างของมัน นี่เป็นเพราะปล่อยให้มันลุกลามใหญ่โต
แต่ถ้าเกิดว่าตอนที่มันเริ่มปะทุขึ้นมา เรารู้ทันซะก่อน มันก็จัดการได้ง่าย เหมือนกับก่อนที่มันจะเกิดไฟไหม้ป่า เป็นพันๆ ไร่ เป็นหมื่นๆ ไร่ มันก็เริ่มต้นจากสะเก็ดไฟเล็กๆ อาจจะเกิดจากไม้ขีดไฟ หรือบางทีก็แค่สะเก็ดไฟที่มันลอยมาจากที่อื่น
ตอนที่มันเริ่มไหม้ มันก็ดับง่าย บางทีใช้เท้ากระทืบก็ดับแล้ว หรือบางทีแค่ถุยน้ำลาย หรือแค่อมน้ำแล้วก็พ่น มันก็ดับแล้ว แต่ถ้าปล่อยให้มันลุกลามใหญ่โต ไฟสูงเป็นสิบๆ เมตร ดับยากแล้ว ได้แต่ดูเฉยๆ ดูอย่างเดียวเลย เพราะทำอะไรไม่ได้
หรือบางที แม้จะมีอุปกรณ์ มีการดับไฟทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ ด้วยเครื่องบิน ฉีดพ่นสารเคมีใส่กองไฟอย่างที่ทำในยุโรป อเมริกา ก็ดับไม่ได้ นี่เพราะว่าอะไร เพราะปล่อยให้มันลาม แต่ตอนที่มันเป็นสะเก็ดไฟ หรือว่าตอนที่ยังไม่รุนแรง มันดับง่าย
อารมณ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้แต่เนิ่นๆ ตอนที่มันยังเป็นแค่ความหงุดหงิด ไม่ปล่อยให้มันกลายเป็นความโกรธ ความพยาบาท เราก็จัดการกับมันได้ง่าย แค่มีสติรู้ทัน มีสติรู้ทันมันก็ดับไปแล้ว
แต่จะทำอย่างนั้นได้ มันต้องรู้จักธรรมชาติของมันก่อน หรือว่าพูดอีกอย่างคือ สตินี่เตือนภัยได้เร็ว เหมือนกับสัญญาณกันเพลิงไหม้ที่ติดตามอาคารต่างๆ เดี๋ยวนี้มันไวมาก แค่มีควันเกิดขึ้นในห้องนี่ มันก็รู้แล้ว แล้วมันก็ส่งสัญญาณ เครื่องมันบอก มันส่งสัญญาณได้ เพราะมันรู้ว่าควันนี่มันมีสารประกอบอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร
ก็เหมือนกัน จิต สติของเรา ถ้าเกิดว่ามันรู้จักความโกรธได้เร็ว ได้แม่นยำ พอมันเริ่มมีความรู้สึก กรุ่นๆ ขึ้นมาในใจ สติก็รู้แล้ว แล้วก็บอกเราว่า มีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว เราก็รู้ตัว ไม่ปล่อยให้มันลุกลาม
เช่นเดียวกันกับความโศก ความเศร้า ความเครียด ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะอาการของพวกอารมณ์ต่างๆ นี่ มันสำคัญมาก
แล้วจะรู้ได้อย่างไร รู้ได้ก็เพราะมันเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วมันเกิดขึ้นแต่ละครั้งนี่ ถ้าเกิดว่าเรามีสติ ไปดูไปรู้ไปเห็น มันก็จะเริ่มจดจำได้ ว่าอาการของอารมณ์พวกนี้เป็นอย่างไร แล้วพอมันเริ่มเกิดขึ้นนั่นแหละ สติก็ส่งสัญญาณมาบอก ว่ามันมีความไม่ปกติเกิดขึ้นในใจแล้ว พอเรารู้ทัน เราก็ไม่ปรุงต่อ แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันลาม
เพราะฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ จึงเป็นเรื่องดีทั้งนั้น เพราะมันผ่านมาเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้รู้ ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันมีอยู่ หรือมันเกิดขึ้น แต่รู้ลักษณะอาการของมัน แล้วต่อไปก็จะรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อันนี้ก็สำคัญ ความโกรธเกิดขึ้นได้อย่างไร ความโศกเศร้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเกลียดเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร
การที่เรารู้ถึงต้นตอของมันนี่สำคัญมาก เพราะนั้นแหละ คือสมุทัยแล้ว ส่วนใหญ่คนมักจะมองว่าต้นตอของความโกรธ มันเกิดจากคำต่อว่าด่าทอของคนนั้นคนนี้ เกิดจากการกระทำคำพูดของใครบางคน หรือว่าความโศกเศร้าก็เกิดจากการที่มีใครมาเอาทรัพย์สมบัติของเรา เอาสิ่งที่เรารักไป พูดง่ายๆ คือไปมองว่าต้นเหตุมันอยู่ที่ภายนอก
แต่ถ้าหากว่าเรามีสติที่รู้อยู่เสมอ เวลามีความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น มันจะไม่ใช่รู้ว่ามีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น มันจะไม่ใช่รู้ว่าลักษณะอาการมันเป็นยังไง แต่รู้ไปถึงถึงขั้นว่ามันเกิดจากอะไร แล้วสุดท้ายก็พบว่า มันเกิดจากความยึดติดถือมั่นในใจของเรา ยึดติดถือมั่นในหน้าตา ในภาพลักษณ์ หรือว่ายึดติดถือมั่นใน ตัวตน ใครมากระทบ ใครมาพูดจากระทบตัวตนของเรา หรือสิ่งที่เรายึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็เกิดทุกข์ทันที
แต่ถ้าเกิดว่าไม่ได้มีความยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้น ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตัวกูของกู ใครมาพูดอะไร ใจก็ไม่กระเทือน ใครจะมาทำอะไรทรัพย์สมบัติ ก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจหรือคับแค้น เพราะไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา
หรือบางที แม้จะยังไม่สามารถละวางความยึดติดถือมั่นได้ แต่ว่าเรียนรู้ที่จะไม่ปรุงแต่งสิ่งที่เกิดขึ้น เสียงดังก็ดังไป แต่ไม่ได้ไปปรุงแต่งว่ามันเป็นเสียงที่รบกวนระคายโสตประสาท หรือไม่ได้ไปให้ค่ากับมันในทางลบ มันก็กระทบหูซ้ายทะลุออกไปทะลุหูขวา ไม่มาก่อความปั่นป่วนในจิตใจของเรา ไม่มีการปรุงแต่งเสียงในหัวให้มันดัง
อย่างที่ได้เคยพูดไว้เมื่อหลายวันก่อนว่า ไอ้เสียงที่กระทบหูเรา มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับเสียงที่ดังอยู่ในหัว เสียงโวยวายตีโพยตีพายคร่ำครวญ ไอ้เสียงนี้ต่างหาก ที่มันสร้างความทุกข์ให้กับเรา และเป็นเสียงที่เกิดจากการปรุงแต่งในใจ หรือปรุงแต่งเพราะใจของเรา
แต่พอเรารู้ว่า เหตุแห่งทุกข์ ที่แท้อยู่ที่ใจเรา อยู่ที่การปรุงแต่ง หรือให้ค่าในทางลบ ก็ปรับใจ ไม่ให้ค่าในทางลบ มองมันด้วยใจที่เป็นกลาง หรือถ้าเกิดเห็นไปถึงขั้นว่า ไอ้ที่ทุกข์นี่ เพราะความยึดติดถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเรา
แล้วก็มีปัญญาเห็นว่า มันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ หรือถึงไม่มีปัญญาขั้นนั้น ก็ยังมีสติไวพอที่จะไม่ไปยึดเอาอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีความโกรธ ก็เห็นมัน ไม่ไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีผู้โกรธเกิดขึ้น มันก็ไม่ทุกข์
ตรงนี้คือ การรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์เกิดจากอะไร จะช่วยทำให้เราออกจากความทุกข์ได้ง่าย หรือว่าป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น แล้วจะรู้อย่างนั้นได้ มันก็เกิดจากการที่หมั่นดูกายดูใจ อะไรเกิดขึ้นกับกายกับใจก็รู้ ไม่ใช่รู้ว่ามันมีอยู่ ไม่ใช่รู้ว่ามันเกิดขึ้น ไม่ใช่รู้เพียงเพราะว่ามันมีลักษณะอาการอย่างไร แต่รู้ว่ามันมีเหตุมาจากอะไร หรือมันเกิดจากการปรุงแต่งของใจ
เพราะฉะนั้น การเจริญสตินี้เพียงแค่เราฝึกให้สามารถที่จะเห็นอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากับกายหรือกับใจ ด้วยการรู้ซื่อๆ ด้วยการรู้เฉยๆ มีคุณูปการมากต่อชีวิตจิตใจของเรา และต่อร่างกายของเราด้วย
เริ่มต้นจากการยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น หรือถ้ายังยอมรับสิ่งต่างๆ ที่มันเป็นไม่ได้ ก็ยอมรับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลางก่อน คือไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไขว่คว้า ไม่ตัดสิน ไม่ให้ค่าทั้งในทางบวกหรือทางลบ แล้วค่อยขยับมาเป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น
แล้วจากการยอมรับ ก็ขยับมาเป็นการมองเห็นสิ่งต่างๆ ว่าเป็นของดี อะไรที่เกิดขึ้นกับเราก็ดีทั้งนั้น ดีตรงที่ได้รู้ เริ่มจากรู้ว่า มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็รู้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์กุศล อกุศล ดีใจหรือเสียใจ ความโกรธ ความหงุดหงิด เกิดขึ้นในใจก็ดีทั้งนั้น ดีเพราะเราได้รู้
การรู้ ก็เป็นการบำรุงสติให้เติบโต แล้วต่อไปมันไม่ใช่แค่สติ มันเกิดปัญญาด้วย เพราะเห็นว่าอารมณ์พวกนี้ มันมีเหตุปัจจัย หรือมีอะไรเป็นสมุทัย ตรงนี้ที่จะทำให้การภาวนาของเรา จากรู้กายรู้ใจรู้เวทนา พัฒนาไปสู่การรู้ธรรม
ธรรมานุปัสสนา ก็คือการที่รู้ว่านิวรณ์ 5 มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรทำให้มันตั้งอยู่ดับไป แม้นิวรณ์เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่พอมันเกิดขึ้น ก็เป็นของดี เพราะมันทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร และมันมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนิวรณ์ อะไรทำให้มันดับ เราก็เริ่มเข้าใจอริยสัจ 4 แล้ว การเข้าใจอริยสัจ 4 หรือการรู้แจ้งในอริยสัจ 4 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเห็นธรรม ธรรมานุปัสสนา ก็รวมถึงการเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 ด้วย
ฉะนั้น เพียงแค่เราเริ่มต้นจากการดูกายดูใจ แล้วขยับไปเป็นการดูเวทนา ต่อไปมันก็จะเห็นธรรม แล้วก็จะทำให้ออกจากทุกข์ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นลบ เมื่อมีการกระทบ ต่อไปก็จะสามารถรับมือกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
รูปกระทบตา ก็สักแต่ว่าเห็น เสียงกระทบหู ก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ยึดติด ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไขว่คว้า และต่อไป แม้กระทั่งสิ่งที่มันเคยให้ความสุขกับเรา เงินทองทรัพย์สมบัติ คนรัก ก็ไม่ยึด เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ฉะนั้นการภาวนาสำคัญมาก แม้ทำบุญรักษาศีล หรือหมั่นมาทำวัตร ใส่บาตร มันก็ดีแต่ว่าต้องไม่ทิ้งการภาวนา โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ หรือเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ จะทิ้งการภาวนาไม่ได้ และการภาวนาที่เป็นหัวใจก็คือสติปัฏฐาน 4 หรือการเจริญสติ.