พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
มีเรื่องเล่าว่าสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน มีคราวหนึ่งก็มีโยมมาถวายอาหาร แล้วก็ขนมขบเคี้ยวเป็นจำนวนมาก พระฉันก็ยังมีเหลือ เหลือเยอะด้วย พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสให้พระอานนท์นำอาหารนี้ไปแจกให้กับนักบวชนอกศาสนา เรียกว่าเดียรถีย์ มีทั้งพวกปริพาชก ปริพาชิกา อาชีวก
ปริพาชิกา คือปริพาชกที่เป็นผู้หญิง ก็มารับของเป็นขนม พระอานนท์เป็นผู้แจกจ่าย ก็ตั้งใจว่าจะมอบขนมให้ 1 คนต่อ 1 ชิ้น แต่บังเอิญมีช่วงหนึ่ง ท่านหยิบ 2 ชิ้นด้วยความเข้าใจว่าเป็นชิ้นเดียว คนที่ได้รับเป็นปริพาชิกาที่ยังสาว พอรับไปแล้ว เพื่อนปริพาชิกาก็ถามว่าทำไมเธอได้ 2 ชิ้น ฉันได้ชิ้นเดียว
ปริพาชิกาคนนั้นก็บอกว่า พระอานนท์ตั้งใจจะหยิบให้ชิ้นเดียว แต่ว่าติดมาอีกชิ้นหนึ่งเป็น 2 ชิ้น
วันต่อมาก็มีการแจกขนมเครื่องขบฉันอีก พระอานนท์ก็เป็นผู้แจก ปรากฏว่าปริพาชิกาคนเดียวกันนั้นได้ 2 ชิ้น ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดของพระอานนท์ ที่คิดว่าขนมเป็นชิ้นเดียว แต่มันติดกันมาอีกชิ้นหนึ่ง ปริพาชิกาคนอื่นก็ถามว่าทำไมเธอได้ 2 ชิ้น ปริพาชิกาคนนั้นก็บอกว่า พระอานนท์ตั้งใจจะหยิบให้ 1 ชิ้น แต่ว่ามันติดมาอีกชิ้นหนึ่งเป็น 2 พูดง่ายๆ คือไม่มีอะไร
แต่ว่าตอนหลังปริพาชิกาคนอื่นก็เอาเรื่องนี้มาล้อกันว่า เป็นคู่รักกันหรือเปล่า เธอกับพระอานนท์ ปรากฏว่าไปเข้าหูโยม อุบาสก อุบาสิกา ท่านก็ว่านี่เป็นเรื่องเสียหาย ไม่ดี ก็เลยมาทูลพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติข้อห้ามหรือสิกขาบทข้อหนึ่งว่า ห้ามไม่ให้ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักบวชนอกศาสนาด้วยมือตน จึงเป็นที่มาของสิกขาบทข้อนี้ ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักบวชนอกศาสนาด้วยมือตน ต้องปาจิตตีย์
คนที่ไม่เข้าใจที่มาของสิกขาบทนี้ ก็อาจจะตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่อนุญาตให้มอบของเคี้ยวของฉันให้นักบวชนอกศาสนา หรือศาสนาอื่น เป็นเพราะคับแคบหรือเปล่า แต่ที่จริงพระพุทธเจ้าตั้งใจตัดปัญหา ตามเรื่องนี้ที่ปรากฏว่าพระอานนท์หยิบ 2 ชิ้นให้กับปริพาชิกาคนเดียวกันถึง 3 ครั้ง ก็เลยเกิดข้อครหา เนื่องจากการหยอกล้อว่าเป็นแฟนกันหรือเปล่า เป็นคู่รักกันหรือเปล่า ในระหว่างเธอหรือปริพาชิกาคนนี้กับพระอานนท์
ซึ่งมันก็เป็นการหยอกล้อที่ก่อความเสียหายให้กับพระอานนท์และคณะสงฆ์ อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของสิกขาบทข้อนี้
แต่ก็มีเรื่องราวอีกเวอร์ชันหนึ่งว่า พระอานนท์หยิบผิดก็จริง แทนที่จะให้ 1 ชิ้น ก็ให้ 2 ชิ้น แต่ก็ผิดครั้งเดียว ปริพาชิกาที่ได้ 2 ชิ้น พอได้แล้วก็ยินดี ดีใจไปโอ้อวด ว่าฉันได้ 2 ชิ้นนะ ปริพาชิกาคนอื่นที่ได้ชิ้นเดียวก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความอิจฉา ก็เลยกล่าวหาว่าเธอกับพระอานนท์เป็นคู่รักกันกระมังจึงได้ 2 ชิ้น คือต้องการกล่าวหาให้นางปริพาชิกาคนนี้เสียหายด้วย เป็นการตอบโต้ที่มาโอ้อวด
พอเรื่องเข้าหูพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติสิกขาบท เรื่องราวที่เล่ามาเวอร์ชันนี้ดูสมจริงมากกว่า เพราะว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริง หรือพฤติกรรมของผู้คน คือคนเราพอได้อะไร เช่น ได้รางวัล ได้ของมากกว่าคนอื่น หรือได้ขณะที่คนอื่นไม่ได้ ก็มักจะโอ้อวด แล้วไม่ใช่แค่ดีใจพอใจเฉยๆ จะอวดด้วย อวดว่าฉันได้ 2 หรือว่าฉันได้รางวัล ฉันได้เงิน พอโอ้อวด ก็จะมีคนอิจฉา อิจฉาเพราะไม่ได้ พออิจฉาแล้วก็เริ่มกล่าวร้าย หรือเกิดความไม่พอใจคนที่โอ้อวด
การโอ้อวดกับความอิจฉา มันไปด้วยกัน ธรรมชาติของคนเราพอได้อะไร ไม่ว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ได้รับคำชม หรือว่าได้ซื้อของถูก ก็อดไม่ได้ที่จะอวด สิ่งที่ตามมาก็คือมีคนอิจฉา โอ้อวดกับอิจฉามันมาด้วยกัน แล้วมันทำให้เกิดปัญหาตามมา
ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลแทบทุกแห่ง เวลามีคนมาเยี่ยม จิตอาสามาเยี่ยมผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยอนาถาหรือผู้ป่วยรวม ก็จะขอร้องเลยว่าอย่าให้เงิน แม้ว่าคนที่ไปเยี่ยมปรารถนาดี และแม้ผู้ป่วยยากจน แต่พยาบาลก็จะบอกว่าอย่าให้เงินนะ บางคนไม่เข้าใจว่าให้แล้วมันจะเสียหายยังไง
ที่มันเสียหายเพราะว่าพอใครได้รับ ก็จะไปอวด ฉันได้ ผู้ป่วยคนอื่นพอไม่ได้ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความอิจฉาขึ้นมา แล้วก็เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับคนที่ได้ คนที่อวด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยก็จะกลายเป็นไม่ค่อยดี แต่ก่อนเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรก็แบ่งปันให้กับผู้ป่วยเตียงอื่น ตอนนี้เริ่มจะไม่แบ่งปันแล้ว เพราะว่าไม่พอใจ อิจฉา
ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไปเยี่ยมผู้ป่วยต้องให้ความใส่ใจ รวมไปถึงการช่วยเหลือคนอื่นด้วย ช่วยเหลือชาวบ้านที่ลำบาก ถ้าให้ไม่ทั่วถึงก็มีปัญหามาก คนที่ได้แม้เราจะให้เงียบๆ แต่เขาก็อดไม่ได้ที่จะโอ้อวด อวดว่าได้ คนอื่นก็ เอ๊ะ ทำไมฉันไม่ได้ อิจฉาขึ้นมา แล้วก็เริ่มค่อนแคะ กล่าวหา เกิดความไม่ราบรื่นกลมกลืนกัน
เพราะฉะนั้น โอ้อวดกับอิจฉาจึงเป็นเรื่องที่มาคู่กัน เหมือนกับหน้ามือกับหลังมือ เหมือนกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน และมันไม่ใช่แค่นั้น คนที่โอ้อวดก็มักจะมีนิสัยอิจฉาติดตัวไปด้วยเหมือนกัน
ทั้งที่โอ้อวดกับอิจฉานี้ ดูเหมือนกับตรงข้ามกัน โอ้อวดคือดีใจที่ได้หรือดีใจที่ได้มากกว่าคนอื่น อิจฉาคือไม่พอใจที่ไม่ได้หรือได้น้อย แต่คนๆ หนึ่งก็จะมีทั้งสองอย่าง ถ้าโอ้อวดเมื่อไรก็จะมีความอิจฉา มันมาด้วยกัน มันติดมาด้วยกัน ทั้งที่ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน คนที่ชอบคุยโม้ คนที่ชอบโอ้อวด เวลาไม่ได้หรือได้น้อยกว่าคนอื่นก็จะอิจฉา อันนี้มันเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
คล้ายๆ กับคนที่กราดเกรี้ยว คนที่กราดเกรี้ยวชอบว่าร้ายคนอื่น ชอบตำหนิชอบต่อว่า ทำให้คนอื่นเขาโมโห ทำให้คนอื่นเขาไม่พอใจ คนที่ชอบกราดเกรี้ยวใส่คนอื่นก็จะบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย แค่นี้เอง ทำไมต้องโกรธด้วย ทำไมเปราะบางเหลือเกิน แต่พอตัวเองโดนแตะบ้าง อาจจะไม่ถึงกับถูกด่า เพียงแค่ถูกพาดพิงหรือถูกนินทา โมโหโกรธาขึ้นมาเลย
คนที่กราดเกรี้ยวดูเผินๆ เหมือนกับว่าแข็งกระด้าง แต่ว่าจริงๆ แล้วเปราะบางมาก คือแตะไม่ได้ แตะนิดแตะหน่อยก็ไม่ได้ อันนี้เราเห็นได้ทั่วไป ความกราดเกรี้ยวความเปราะบางมันเลยดูเหมือนว่า แม้มันจะเหมือนสิ่งตรงข้ามกัน แต่มันอยู่ด้วยกัน
คนที่กราดเกรี้ยวอีกด้านหนึ่งก็คือเปราะบาง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวัง เพราะเปราะบางเมื่อไหร่ก็ทุกข์ได้ง่าย มันเป็นหน้ามือกับหลังมือ ของที่ดูตรงข้ามกัน บางทีมันก็อยู่ด้วยกัน โอ้อวดกับอิจฉา กราดเกรี้ยวกับเปราะบาง
อันนี้รวมไปถึงว่าความอยากได้ ความหวงแหน คนที่หวงแหนก็เพราะไม่อยากสูญเสีย แต่ว่ายิ่งหวงแหนเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสูญเสีย เมื่อเดือนที่แล้วได้พูดถึงผู้ชายคนหนึ่งซึ่งหึงหวงอย่างรุนแรง ประเภทว่าภรรยามองไปทางไหนที่มีผู้ชาย แกก็จะไม่พอใจมาก ไม่พอใจผู้หญิง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเขายิ้มให้ผู้ชาย หรือเขาพูดคุยกับผู้ชายคนไหน เขาก็จะโกรธมาก คือห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ชาย ให้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งผู้หญิงก็อึดอัดมาก
พอเล่าเรื่องนี้ ก็มีคนหนึ่งบอกว่าเหมือนพ่อแม่เขาเลย ตอนที่เขายังเด็ก พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย พ่อเป็นคนที่หึงหวงแม่มาก เวลาแม่มองไปทางไหนที่มีผู้ชายก็จะโกรธ หรือว่าแม่ไปพูดคุยกับผู้ชายคนไหนก็จะไม่พอใจ
เวลาอยู่สองต่อสองก็ทะเลาะกัน พ่อว่าแม่ด้วยความหึงหวงแล้วก็หวาดระแวง แม่ก็อึดอัดมาก เพราะว่าถูกพ่อจำกัดบริเวณ ไม่ให้ไปทำอะไรที่ข้องแวะกับผู้ชาย ไปงานแต่งงานไปงานเลี้ยงอะไร คนที่เป็นแม่ก็เรียกว่าตัวลีบเลย เพราะพ่อคอยจับตามอง จะไปวอกแวกอะไรกับใครที่ไหนหรือเปล่าโดยเฉพาะผู้ชาย แม่ทุกข์มาก
จนกระทั่งตอนหลังทั้งคู่ต้องเลิกรากัน อยู่ด้วยกันไม่ไหว ทุกข์ทั้งสองฝ่าย ยิ่งหวงแหนมันก็ยิ่งสูญเสีย เรื่องนี้มันก็สะท้อนความจริงแบบนี้ ยิ่งหวงแหนก็ยิ่งสูญเสีย หวงแหนเพราะกลัวสูญเสีย กลัวสูญเสียคู่รัก แต่ว่ายิ่งทำ ยิ่งหวงแหนด้วยความหึงหวง ก็ยิ่งสูญเสียคนที่ตัวเองรัก
มันเป็นสองด้านที่ดูเหมือนตรงข้ามกันว่า หวงแหนมันก็ต้องหมายความว่าสามารถจะยึดครองได้นานๆ แต่ตรงข้าม ยิ่งหวงแหนก็ยิ่งสูญเสีย
บางคู่ยังไม่ได้แต่งงาน เป็นแค่คู่รักกัน ผู้ชายก็หวงแหนผู้หญิงมาก จะสนทนาจะคบกับผู้ชายคนไหน ถ้าอยู่ในวัยใกล้ๆ กัน ผู้ชายก็จะไม่พอใจ เป็นทุกข์ สุดท้ายก็โกรธ ต่อว่าผู้หญิง ผู้หญิงก็เถียงว่าฉันไม่มีอะไร ก็ทะเลาะกัน สุดท้ายผู้หญิงก็ทนไม่ได้ ก็ตีห่าง ตีตัวถอยห่าง อันนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งหวงแหนก็ยิ่งสูญเสีย
หรือว่าอยากได้ความรัก ยิ่งอยากได้ความรักจากใคร ก็ยิ่งสูญเสียคนนั้นไป ผู้หญิงคนนั้นเขาก็ถอยห่างเพราะว่าพออยากได้ความรัก ก็ไปคาดคั้น เรียกร้องความรัก ความสนใจจากเขา อีกฝ่ายหนึ่งทีแรกก็คิดว่าให้ความรักให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ ยังไม่พอ ก็เรียกร้องคาดคั้นกดดัน จนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าถอยห่างดีกว่า จะได้สบายใจ อันนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ ยิ่งอยากได้ความรักก็ยิ่งสูญเสียความรัก
สิ่งตรงข้ามกันบางทีมันก็มาด้วยกัน เหมือนกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน หรือเหมือนกับหน้ามือกับหลังมือ หรือเรียกว่าเป็นปาท่องโก๋ก็ได้ อยากได้อะไรมันก็ยิ่งไม่ได้ หรือยิ่งอยากครอบครองก็ยิ่งสูญเสีย
เหมือนกับเวลาเราเดินทาง อยากถึงที่หมายไวๆ ก็มักจะถึงที่หมายช้า ที่ถึงที่หมายช้าเพราะว่าพออยากจะถึงไวๆ ก็เลยต้องรีบต้องเร่ง บางทีเหยียบ 150 กิโล หรือบางทีไม่พักเลยจนเหนื่อยล้า หรือว่าขับเร็วๆ ก็เกิดอุบัติเหตุยางแตก กลายเป็นว่าถึงช้า บางทีก็ถึงไม่ช้านะแต่ว่าในความรู้สึก มันก็ยังรู้สึกว่าถึงช้า เป็นความรู้สึกว่าถึงช้า แต่บ่อยครั้งมันก็ถึงช้าจริงๆ เพราะอยากไปให้ถึงไวๆ ก็ยิ่งถึงช้า มันก็เป็นเรื่องเดียวกับอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้
อย่างคนที่เวลาภาวนาอยากได้ความสงบ ยิ่งอยากได้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งไม่ได้ เพราะว่ายิ่งอยากได้ความสงบก็ยิ่งพยายามบังคับจิต จิตนี้ไม่ชอบการถูกบังคับอยู่แล้ว พอไปบังคับ มันก็ยิ่งขัดขืน ต่อต้าน พยศ
เหมือนกับวัยรุ่น ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งพยายามบังคับลูกให้อยู่ในครอบครอง อยู่ในโอวาท เด็กมันยิ่งพยศ จิตเราก็เหมือนกัน ยิ่งบังคับเพื่อให้มันไม่ฟุ้ง เพื่อให้มันอยู่นิ่งๆ มันก็ยิ่งพยศเข้าไปใหญ่ หลายคนจึงพบว่ายิ่งอยากสงบ จิตก็ยิ่งไม่สงบ ไม่ใช่แค่ฟุ้งอย่างเดียว มันเกิดความหงุดหงิดด้วย หงุดหงิดที่มันฟุ้งเยอะเหลือเกิน ก็กลายเป็นว่ายิ่งอยากได้ ก็ยิ่งไม่ได้
บางคนปฏิบัติ มีการวัดผล อยากได้ความสงบ อยากได้ความรู้สึกตัวเร็วๆ อยากให้จิตพัฒนาเร็วๆ ทุกวันก็จะมีการวัด วัดความรู้สึกตัวว่ามากแค่ไหนในแต่ละวัน อย่างพระจีนท่านหนึ่งมีเครื่องนับ นับความรู้สึกตัว รู้สึกตัวทีนึงก็นับที กดที เมื่อวานนี้ความรู้สึกตัวได้ 500 ครั้ง แล้วก็คาดหวังว่าวันนี้มันน่าจะมากกว่า 500
ความอยากจะให้การปฏิบัติมันเติบโตพัฒนาเร็วๆ แบบนี้ อาจจะยิ่งเครียดนะ แทนที่จะรู้สึกตัวกลับหลง หลงเพราะถูกความเครียดครอบงำ เมื่อวานนี้ได้ 500 ทำไมวันนี้ได้ 450 หรือความพยายามที่จะทำให้ได้ 550 ในวันนี้ เพราะเมื่อวานได้ 500 มันต้องพัฒนาสิ เมื่อวาน 500 วันนี้ก็ต้อง 550 ก็ยิ่งพยายามเค้นให้รู้สึกตัวเยอะๆ
วิธีเค้นก็คือบังคับจิต ไม่ให้คิด ไม่ให้ฟุ้ง มันก็กลายเป็นว่ายิ่งหลง ยิ่งเครียดมากขึ้น ยิ่งอยากก้าวหน้าเร็วๆ บ่อยครั้งมันยิ่งก้าวหน้าได้ช้า หรือบางทีถอยหลังด้วย
ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่อยากได้ มันกลับได้ เวลาภาวนา ถ้าเราวางความอยาก โดยเฉพาะความอยากสงบ อยากให้จิตนิ่ง ทิ้งความอยากไปเลย หรือลืมความอยากไปเลย มันกลับสงบ ยิ่งไม่อยากได้มันกลับได้ ยิ่งไม่อยากถึงเร็วๆ กลับถึงที่หมายได้เร็ว
เวลาเราฟังธรรมบางคนอยากให้มันจบเร็วๆ แต่ยิ่งอยากให้จบเร็วๆ ยิ่งรู้สึกว่ามันช้า ตรงข้ามเวลาคุยกับแฟน อยากให้คุยนานๆ อยากคุยนานๆ เป็นชั่วโมง เผลอแป๊บเดียวหมดแล้ว หมดเวลาแล้ว อันนี้มันเรื่องเดียวกัน ยิ่งอยากได้ ก็ยิ่งไม่ได้
ยิ่งอยากให้เสร็จเร็วๆ ก็ยิ่งเนิ่นช้า แต่ยิ่งอยากให้มันเนิ่นนาน มันยิ่งกลับผ่านไปเร็ว อันนี้เราคงรู้สึกได้ เวลาสนุกอยากให้มันสนุกนานๆ แต่ทำไมมันสนุกแป๊บเดียวเอง เวลาเจอความเบื่อ อยากให้ความเบื่อมันหายไปไวๆ ทำไมมันนานเหลือเกิน ที่จริงมันไม่นานหรอก มันก็เท่าเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าความรู้สึกถ้ามันเจือด้วยความอยากให้ผ่านไปไวๆ มันก็จะรู้สึกว่าผ่านไปเนิ่นนาน เนิ่นช้า ถ้าอยากให้มันผ่านไปช้าๆ ให้รู้สึกเนิ่นนาน มันกลับผ่านไปเร็ว ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้
แต่พอยิ่งสละ กลับได้ เช่น ความสุข ถ้าอยากได้ความสุข มันยิ่งทุกข์นะ เพราะว่าไม่ใช่ว่าไม่ได้ มันได้ แต่มันได้เท่าไหร่ก็ไม่พอใจ แต่ว่าพอไม่อยากได้ แถมสละด้วยนะ เช่น ให้ ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข อันนี้เป็นพุทธภาษิต มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พอเรายิ่งให้ยิ่งได้ แต่ถ้ายิ่งตักตวงก็ยิ่งสูญเสีย หรือไม่ได้ มันเป็นด้านตรงข้ามที่อยู่ด้วยกัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ คำว่าอยากหรือคาดหวัง มันเป็นอุปสรรคที่ทำให้สิ่งที่อยากหรือสิ่งที่คาดหวังไม่เกิดขึ้น หรือมาได้อย่างช้า ที่จริงบางทีมันไม่ได้ช้า แล้วมันก็ไม่ได้น้อยด้วย แต่ความอยากมันทำให้รู้สึกว่ามันช้า ความอยากมันทำให้รู้สึกว่าที่ได้มันยังน้อย เพราะยิ่งอยากก็ยิ่งโลภ
เช่นเดียวกัน ความกลัวก็เหมือนกัน ยิ่งกลัวอะไรยิ่งเจอ ยิ่งกลัวความสูญเสียก็ยิ่งเจอความสูญเสีย ยิ่งกลัวผีก็ยิ่งเจอผี บางทีมันไม่ใช่ สิ่งที่เจอมันไม่ใช่ผีหรอก แต่ใจมันปรุง ยิ่งกลัวก็ยิ่งเจอ
คนที่นอนไม่หลับ ยิ่งอยากนอนให้หลับ มันก็ยิ่งไม่หลับ แต่พอลืมความอยากไป มันจะหลับเมื่อไหร่ก็ได้ ฉันไม่สนใจ ปรากฏว่าไม่นานก็หลับ ความอยากนอนหลับมันทำให้เกิดความเครียด พอเกิดความเครียดแล้วก็ทำให้ใจมันไม่ค่อยสงบ มันก็เลยหลับได้ยาก พอมีความเครียดก็มีฮอร์โมนบางตัวหลั่งออกมา คอร์ติซอลอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนอนไม่หลับ
จริงๆ การนอนไม่หลับไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะอยากนอนให้หลับ เวลานอนไม่หลับมันก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะไม่มีเจ็บไม่มีปวด ก็แค่นอนอยู่บนเตียง หรือนอนอยู่บนฟูก นอนอยู่บนเบาะ ไม่ได้ทำอะไร ไม่เหนื่อยไม่ออกแรง ไม่ปวด มันจะทุกข์อะไร แต่ทำไมบางคนทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ไม่ใช่ทุกข์เพราะนอนไม่หลับ แต่เป็นเพราะอยากนอนให้หลับ พออยากนอนให้หลับมันก็ยิ่งไม่หลับ
แต่หลายคนก็เรียนรู้วิธี ก็อย่าไปสนใจความอยาก กลับมาตามลมหายใจ กลับมายอมรับความจริงว่าไม่หลับก็ไม่หลับ ปรากฏว่าไม่นานก็หลับเอง แต่คนที่อยากนอนให้หลับต่างหากที่นอนไม่หลับ อันนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ แต่ปัญหาคือคนเราไม่ค่อยตระหนักว่า ความอยากคือปัญหา ความอยากคืออุปสรรค รวมทั้งความคาดหวังด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักรู้เท่าทันความอยาก ไม่ใช่ห้ามมันนะ มันจะมีก็มีได้ แต่ว่าอย่าไปปล่อยให้มันครองใจ ความคาดหวังเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีได้ แต่อย่าให้มันครองใจเรา มีสติเห็นมัน เห็นความอยาก เห็นความคาดหวัง พอมันไม่ครองใจเรา มันก็ไม่ทำให้ใจว้าวุ่นหงุดหงิด แล้วสิ่งที่อยากจะมีอยากจะได้ หรือประสงค์จะให้เกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น
ไม่อยากให้ถึงที่หมายไวๆ วางความอยากลงกลับถึงเร็ว เขาถึงบอกให้อยู่กับปัจจุบัน ทำอะไรให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอยู่กับอนาคต เพราะถ้าไปอยู่กับอนาคตคือมันปล่อยให้ความคาดหวังเข้ามาครองใจ อยู่กับอนาคตคืออยากถึงที่หมายไวๆ อยากถึงที่หมายไวๆ เสร็จแล้วก็จะทุกข์ว่าเมื่อไหร่จะถึงๆ ตัวนี้แหละที่ทำให้รู้สึกว่าถึงช้า กลายเป็นความทุกข์ที่ตามติดมา
ให้เรารู้ทัน รู้ทันความอยาก ไม่ต้องผลักไสมัน ค่อยๆ ยอมรับมัน เห็นมัน แล้วก็อย่าปล่อยให้มันครองใจเท่านั้นเอง.