แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568
เดี๋ยวนี้มีคนกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มใหญ่ด้วย แล้วก็มีทั่วโลก กลุ่มนี้มีสมญานามที่แปลกดีเป็นภาษาฝรั่ง เขาเรียกว่าแซนด์วิชเจนเนอเรชั่น (Sandwich Generation) แซนด์วิชก็คือขนมแซนด์วิชนี่แหละ เป็นกลุ่มคนที่อายุประมาณว่า ถ้ามีลูกก็อายุราว 15 หรือ 10 ขวบ อยู่ในวัยที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ แต่เท่านั้นไม่พอ คนกลุ่มนี้ก็จะมีพ่อแม่อายุประมาณ 80-85 ปี ซึ่งก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่เหมือนกัน เรียกว่าเจอภาระหรือความรับผิดชอบทั้งข้างบนและข้างล่าง ข้างบนก็คือพ่อแม่ซึ่งแก่ชรา ส่วนข้างล่างคือลูกซึ่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ของคนในยุคนี้ เพราะว่าในสมัยนี้มีลูกช้า แต่ก่อนนี้อายุ 30-35 ก็มีลูกอายุ 10 หรือ 15 ขวบแล้ว ส่วนพ่อหรือแม่ก็อายุประมาณสัก 65 หรือว่า 60 ยังพอที่จะดูแลตัวเองได้เพราะอายุยังไม่มาก ภาระก็เลยมีแต่เฉพาะการดูแลลูก พออายุ 50 ลูกก็โตแล้ว ไม่เป็นภาระที่ต้องดูแลมาก ส่วนพ่อแม่ก็ตายไปแล้ว ก็ไม่มีภาระกดดันทั้งข้างบนและข้างล่างเมื่ออายุ 50 นี้คือเมื่อก่อน สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเรา แต่สมัยนี้มันไม่อย่างนั้น อายุ 45-50 ที่จริงในแง่ของหน้าที่การงานก็กำลังรุ่ง หรือว่ากำลังเป็นเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้จัดการ เป็นหัวหน้ากองเป็นผู้อำนวยการ การงานก็มีภาระความรับผิดชอบสูง แต่ในเรื่องครอบครัวเจอทั้งข้างบนข้างล่าง ลูกก็ยังวัยรุ่น ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูกวัยรุ่น ลูกก็อาจจะเสียผู้เสียคน หรือถ้าเกิดว่าดูแลมากไปก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะว่าวัยรุ่นนี่ก็เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีปากเสียงกับพ่อแม่ แค่นี้พ่อแม่ก็ปวดหัวแล้ว
แต่มันไม่ใช่เท่านั้น ข้างบนคือพ่อแม่ที่แก่ชรา ต้องการการดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะสมัยนี้มีลูกคนเดียว คนที่อายุ 50 เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ไม่เหมือนสมัยก่อนมีพี่น้องกันหลายคนก็ช่วยกันดูแลพ่อแม่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีพี่หรือน้องมาช่วยดูแลเท่าไร ก็ต้องดูแลพ่อแม่อยู่คนเดียว ก็เกิดภาระที่หนักมาก งานการก็ต้องรับผิดชอบ มีงานการเยอะ ถึงแม้ว่าจะเจริญรุ่งเรือง แต่ว่าภาระความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานการก็เรียกร้องเวลาไม่ใช่น้อย แถมยังต้องมีภาระทางครอบครัว ทั้งลูก บางทีหลานด้วย แล้วก็พ่อแม่ อันนี้เป็นลักษณะเด่นของคนยุคนี้ เพราะว่ามีลูกช้า ส่วนคนแก่ก็ตายช้า พ่อแม่แต่ก่อนอายุไม่ถึง 70 หรือ 75 ก็ตายแล้ว เดี๋ยวนี้ 80-90 คนรุ่นอายุ 45-50 ก็เลยต้องดูแลทั้งลูกหลาน แล้วก็ดูแลพ่อแม่ งานการก็ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่จะมีความเครียด
แล้วเดี๋ยวนี้มันก็มีปรากฏการณ์ อย่างเช่นคนที่อายุ 45-50 อยากจะให้เวลากับลูก ลูกเป็นวัยรุ่น พาลูกไปเที่ยวในวันหยุด พ่อแม่จะทำอย่างไร พ่อแม่ก็แก่ชรา จะไปแคมป์ปิ้ง จะไปเที่ยวทะเลก็ลำบาก เป็นภาระกับลูกแล้วก็หลาน หรือมิฉะนั้นก็ทำให้การไปเที่ยวกับลูกไม่สนุก ทำอย่างไร ในมาเลเซียจะมีปรากฏการณ์หนึ่ง คือคนเอาพ่อแม่ไปฝากไว้ที่โรงพยาบาล เพื่อลูกจะได้พาครอบครัวไปเที่ยว อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นชัดเจน โรงพยาบาลหลายแห่งบอกว่า พอถึงช่วงวันหยุดยาวจะมีคนแก่มาแอดมิตเยอะเลย คนแก่ไม่ได้มาแอดมิตเอง ลูกพามา เพราะอะไร เพราะว่าลูกเขาจะไปเที่ยวกับครอบครัว รู้สึกว่าพ่อแม่เป็นภาระ เอาไปด้วยไม่ได้ จะทิ้งไว้ก็ไม่มีใครดูแล เพราะเดี๋ยวนี้หาพี่เลี้ยงดูแลยากที่บ้าน ทางออกคือมาฝากไปที่ไว้ที่โรงพยาบาล
ที่มาเลเซียเขามีระบบประกันสุขภาพที่ดีเรียกว่าประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าโรงพยาบาลไม่แพงเท่าไร บางทีก็ฟรี เพราะฉะนั้นก็ไปเปิดช่องให้คนที่มีพ่อแม่แก่ชราเอาพ่อแม่มาฝากไว้ แล้วตัวเองก็ไปเที่ยว อาจจะไปเที่ยวกับลูก เที่ยวเกาะ เที่ยวทะเล เที่ยวภูเขา หรือบางทีไปต่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องการดูแลพ่อแม่ มีคนเขาเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่เลี้ยงสัตว์ แต่ว่าอยากจะไปเที่ยว แล้วน้องหมาน้องแมวจะทำอย่างไร ก็เอาไปฝากไว้กับโรงแรมสัตว์ เดี๋ยวนี้มีโรงแรมสัตว์รับฝาก 2 วัน 3 วัน เพื่อเจ้าของจะได้ไปเที่ยว ก็เลยมีคนเปรียบเทียบว่าเดี๋ยวนี้คนมาเลเซียทำกับพ่อแม่เหมือนกับทำกับสัตว์เลี้ยง อาจจะเปรียบเทียบแรงไปหน่อย มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะว่าคนที่อยู่ในรุ่นแซนด์วิชนี้มีภาระมากในการที่จะต้องดูแลลูก แล้วก็ดูแลพ่อแม่ บางทีจะดูแลลูกก็ต้องเอาพ่อแม่ไปฝากไว้ที่อื่นแทน นี้ก็เรียกว่าอาศัยช่องว่างของระบบในการที่จะผ่อนเบาภาระ มีโอกาสได้พักบ้าง หรือมีโอกาสที่ได้อยู่กับลูกซึ่งกำลังวัยรุ่นบ้าง
แต่สำหรับบางคนก็อาจจะโชคดี อย่างน้อยก็ตอนนี้ เพราะว่าไม่มีลูก ไม่มีสามีภรรยา แต่ยังมีพ่อแม่อายุ 50 แต่พ่อแม่ก็ยังอยู่ 80-85 จึงมีภาระแค่ดูแลพ่อแม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าหลายคนพบว่าแม้จะดูแลพ่อแม่ด้วยความตั้งใจ แต่เนื่องจากเป็นลูกคนเดียว หรือมีพี่น้องน้อยมากแค่คนสองคน แล้วตัวเองก็อาจจะเรียกว่าเออร์ลี่แล้ว ก็เลยได้รับภาระเป็นพิเศษให้มาดูแลพ่อแม่ ส่วนพี่ก็อาจจะทำงานแล้วก็หาเงินมาส่งให้น้อง ช่วยแบ่งเบาภาระของน้องในการดูแลพ่อแม่ ในการดูแลพ่อแม่สมัยนี้ก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน เพราะไม่มีคนมาช่วยผ่อนเบาภาระ เพราะว่าพี่น้องไม่มีหรือมีน้อย ไม่เหมือนในชนบทหรือว่าเมืองไทยสมัยก่อน มีคนมาช่วยดูแลคนแก่เยอะ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีแต่ลูกที่ต้องมาดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา หลายคนตั้งใจเอาใจใส่
แต่ว่าบางครั้งก็มีปัญหา พออยากจะไปที่อื่น เช่น อยากจะไปวัด อยากจะมาปฏิบัติธรรม หรืออยากจะพักบ้าง ปรากฏว่าพ่อแม่ไม่พอใจ รบเร้าให้อยู่กับแม่อยู่กับพ่อ เรียกร้องความเห็นใจต่าง ๆ นานา แต่บางคนก็ถึงกับด่าเลยเวลาลูกขอไปวัด หรือขอไปพักไม่กี่วันจะกลับมา บางทีก็ด่าแรงถึงขั้นว่าเป็นลูกเนรคุณ อกตัญญู พ่อแม่บางคนก็ไม่เคยว่าลูกขนาดนั้น แต่พอแก่ตัวแล้วลูกมาขอเวลาไปเข้าวัด ไปปฏิบัติธรรมบ้าง ก็ไม่ได้ไปเที่ยวอะไร ปรากฏพ่อแม่นี่ไม่พอใจ ถึงกับด่าลูก คนที่เป็นลูกก็ทุกข์สิ แค่ดูแลพ่อแม่แทบจะ 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอดอาทิตย์นี่ก็เหนื่อยแล้ว ตอนที่อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ก็พูดดี แต่พอลูกจะลาไปที่อื่นบ้าง เจอปฏิกิริยาที่รุนแรงหรือคำต่อว่าที่รุนแรง ก็เสียใจเหมือนกัน บางคนก็คิดว่าทำไมเราทำดีถึงไม่ได้ดี อันนี้สำหรับคนที่คิดจะไปวัดปฏิบัติธรรมนี่ มันก็ได้ปฏิบัติธรรมแล้วล่ะตอนนี้ ก็คือเราทำดีก็จริง แต่ว่าอย่าไปคาดหวัง คาดหวังว่าคนอื่นเขาจะเห็นความดีของเรา
ทุกข์ของคนดีก็คือว่า ทำดีแล้วคนอื่นเขาไม่เห็นความดีของเรา
หรือว่าทำดีแล้วมีคนเขาเข้าใจเราผิด เขาต่อว่าเรา เขาอิจฉาเรา ถ้าไม่ทำใจหรือไม่วางใจให้ถูกนี่มันทุกข์ แล้วบ่อยครั้งคำต่อว่าคำเสียดสีไม่ได้มาจากใคร ก็มาจากคนใกล้ตัวเรานี่เอง บางทีมันก็มาจากพ่อแม่หรือมาจากลูกด้วยซ้ำ หรือว่าคู่ชีวิต มันก็เป็นการฝึกจิตได้อย่างหนึ่ง ก็คือว่าทำดีอย่าไปคาดหวังผลแห่งความดี เราทำดีเพราะมันเป็นสิ่งดีที่ควรทำ แต่อย่าไปคาดหวังว่าคนเขาจะเห็นความดีของเรา แล้วให้มองว่าการที่เขาว่าเราหรือไม่เห็นความดีของเรา มันเป็นธรรมดาโลก มันเป็นโลกธรรม คนเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกธรรมฝ่ายลบให้ได้ ไม่ใช่อยู่กับหรือปรารถนาแต่โลกธรรมฝ่ายบวก คือคำชื่นชมคำสรรเสริญ เจอคำตำหนิคำต่อว่า ก็รู้จักรับมือกับมัน ฝึกรับมือกับมัน ไม่ใช่จากใคร จากพ่อแม่นี่แหละ หรือจากคนใกล้ชิดนี่แหละ แล้วต่อไปก็จะทำให้เรามีความฉลาดในการรับมือกับปฏิกิริยาทำนองนี้จากคนอื่น ๆ ในเวลาต่อไป ก็ถือว่าพ่อแม่เขามาสอนเรา มาฝึกเรา เป็นอาจารย์ของเราอีกแบบหนึ่ง มาฝึกให้เราปล่อยวาง ทำดีโดยทำจิตไปด้วย
จะว่าไปแล้วอีกอันหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราหรือลูกดูแลพ่อแม่ได้โดยที่ทุกข์ใจไม่มาก เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ สิ่งหนึ่งก็คือ ยอมรับ ยอมรับความเป็นจริงของพ่อแม่บุพการี ว่าพอแก่ตัวแล้วก็เป็นอย่างนี้แหละ ตอนที่พ่อแม่ยังอายุ 30-40 เรายังเด็กนี่ พ่อแม่ก็แบบหนึ่ง อาจจะเป็นคนที่มีน้ำใจ หรือว่ากล้าหาญ มั่นคง พึ่งตัวเองได้ เกรงใจคน แต่พอแก่ตัวนี่บางทีตรงกันข้ามเลย กราดเกรี้ยว เรียกร้องความเห็นใจ พออะไรที่ไม่เป็นไปดั่งใจก็โมโห คนที่ติดภาพพ่อแม่ในอดีตจะทุกข์นะเวลาเจอพ่อแม่ในยามแก่ชรา เพราะว่ากลายเป็นอีกคนหนึ่งไปแล้ว เป็นคนชนิดที่เรียกว่าคล้าย ๆ กับเด็กเลย
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดไว้ดี "เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่วนผู้ใหญ่ในวันนี้คือเด็กในวันหน้า" ท่านก็หมายถึงคนแก่ก็เหมือนกับเด็ก ต้องการความเห็นใจ ขี้เหงา แล้วก็เอาใจตัว เป็นต้น บางที่ก็หดหู่ห่อเหี่ยวง่าย เจออะไรมากระทบบางทีก็ร้องไห้ หรือไม่ก็กราดเกรี้ยว จะว่าไปก็ไม่ต่างกับเด็ก ถ้าเกิดว่าลูกยอมรับว่าพ่อแม่ของเราเป็นอย่างนี้ พอถึงวัยชราแล้วมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ร่างกายที่เสื่อมถอย ความตายที่ใกล้เข้ามา รวมทั้งเคมีฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป มันทำให้คนที่รื่นเริงแจ่มใสกลายเป็นคนหดหู่เหี่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยอ่อนไหว อยากให้คนอยู่ใกล้ พอลูกจะไม่อยู่ใกล้เพราะไปธุระ ก็ไม่พอใจ กลัว ตื่นตระหนก กราดเกรี้ยว อันนี้จะว่าไปมันก็ไม่ต่างกับเด็ก
ถ้ายอมรับว่าคนแก่พอมาถึงวัยหนึ่งแล้วก็ไม่ต่างจากเด็ก ยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น ไม่ติดในภาพที่เขาเป็นผู้ใหญ่ที่องอาจ เข้มแข็ง แจ่มใส มันก็ไม่ทุกข์เท่าไร
แล้วที่จริงถ้ามองอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่พ่อแม่ทำกับเราในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากที่เราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่เรายังเด็กเราก็โวยวาย เอาใจตัวเหมือนกัน บางทีถีบ บางทีอาละวาด ขว้างปาข้าวของเวลาไม่ถูกใจ ถึงตอนนี้สิ่งที่เราทำกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทำกับเรา แล้วก็อย่างที่บอกคือว่าตอนที่เราทำกับพ่อแม่นี่เรายังเด็ก พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่สลับบทบาทกลายเป็นเด็กไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำกับเรา มันก็ไม่ต่างจากเราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ลองนึกแบบนี้ก็ถือว่ามันก็แฟร์ เราทำกับเขาอย่างไร ตอนนี้เขาก็ทำกับเราอย่างนี้แหละ ตอนเราเป็นเด็กเราทำกับพ่อแม่อย่างไร ตอนนี้พ่อแม่เป็นเด็ก ก็ทำกับเราแบบนี้แหละ อันนี้ก็ได้เข้าใจหัวอกของพ่อแม่ตอนที่เจอการอาละวาดของเรา แล้วตอนนี้เราก็ต้องฝึกที่จะอดทน เหมือนกับที่พ่อแม่เคยอดทนกับเรามาแล้ว
แล้วมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ได้ปฏิบัติในเรื่องของขันติอย่างเดียว แต่ฝึกเรื่องของสติด้วย แล้วฝึกเรื่องของการปล่อยวางด้วย สติกับการปล่อยวางก็เรื่องเดียวกัน เพราะถ้ามีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเวลาถูกพ่อแม่อาละวาดโวยวายใส่ มันก็ปล่อยก็วางอารมณ์เหล่านั้นได้ ไม่ปล่อยให้มาครองใจ ถ้าไม่ฝึกสติ เจออะไรก็รับเข้าไปหมด เจอคำต่อว่า เจอคำดุด่า เข้าหูซ้ายก็ไม่ได้ทะลุหูขวาเลย วนเวียนอยู่ในหัว จนเครียดจนน้อยอกน้อยใจ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น หรือตระหนักว่านี่คือสิ่งที่เราเคยทำกับพ่อแม่มาก่อน ตอนนี้เราก็เจออย่างเดียวกัน มันก็ทำให้เราพอจะอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมีเวลาที่จะปลีกตัวหลีกเร้น หรือว่าไปชาร์จแบตเตอรี่ ไปพักผ่อน พักทั้งกายพักทั้งใจ เวลาพักกายก็ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ออกไปเที่ยวทะเล ออกไปต่างจังหวัด หรือมาวัด บางคนพักกายอยู่แต่ใจไม่ได้พักเลย เพราะรู้สึกผิดว่าเราทิ้งแม่ได้อย่างไร เราทิ้งพ่อได้อย่างไร ความติดดีมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกผิด ติดดีคืออยากจะรักษาภาพลักษณ์ว่าเราเป็นลูกที่ดี ต้องอยู่กับพ่อแม่ 24 ชั่วโมง ออกมาเที่ยวแบบนี้มันไม่สมควรสำหรับคนเป็นลูก ที่จริงออกมาแบบนี้ไม่ใช่ออกมาเพื่อหาความสุขส่วนตัว ออกมาเพื่อจะได้ทำงานดูแลพ่อแม่ได้ดีขึ้น แล้วก็ยาวนานขึ้น เพราะบางครั้งการดูแลพ่อแม่ต้องมีการยืนระยะ เพราะพ่อแม่บางคนอายุยืน เราก็ต้องยืนระยะ คนดูแลต้องยืนระยะ ก็ต้องรู้จักพักบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่พักเลย จะไปเที่ยวก็ไม่ได้ รู้สึกผิด แต่พออยู่ก็เครียด
บางคนสติแตก ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายด้วยคำพูด ทำร้ายด้วยการกระทำ หรือบางทีทำให้เขาตายเลย ฆ่าเขา เพราะไม่อยากให้เขาทรมานมากกว่านี้ แต่ที่จริงมันทำไปด้วยความรู้สึกสติแตกมากกว่า พอทำไปแล้วก็รู้สึกผิด ฆ่าตัวเองตายตามไปด้วย แบบนี้ก็มี ในญี่ปุ่นก็มีข่าวทำนองนี้ อย่างนี้เรียกว่าทำดีแต่ว่าไม่ได้ทำใจ ทำดีแต่ไม่ทำใจ สุดท้ายก็เกิดความเสียหายทั้งคนที่เป็นลูกและคนที่เป็นพ่อแม่ คนที่ช่วยเหลือและคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็เดือดร้อนไปหมด แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังดี ดีกว่าคนจำนวนไม่น้อยที่มีพ่อแม่แต่ว่าไม่ได้ใส่ใจเลย หรือถึงจะใส่ใจก็ใส่ใจแบบเอาเงินเข้าว่า ไม่ได้เลี้ยงดูเอง แต่ว่าจ้างคนมาเลี้ยงดู เอาเงินเป็นหลักในการเลี้ยงดู หรือเอาเงินเป็นเป้าหมายในการเลี้ยงดู มันก็มีแบบนี้ คาดหวังผลประโยชน์จากพ่อแม่ แม้กระทั่งในวัยชรา แม้กระทั่งในยามที่เสียชีวิต แบบนี้ก็มี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ในไทย เขาบอกว่าแม่เขาเกษียณแล้ว เป็นข้าราชการเกษียณแล้วมีบำนาญ 50,000 บาท ต่อมาอายุ 65 ก็เสียชีวิต เขามีความคิดว่าอยากจะเก็บศพแม่เอาไว้ ไม่แจ้งตาย เก็บไว้ที่บ้านนี่แหละ เก็บเอาไว้สัก 10 ปีหรือ 15 ปี เพราะอยากจะได้บำนาญอย่างต่อเนื่องจากแม่ บำนาญของแม่ก็เข้าบัญชีธนาคารเขา แม่ตายแล้วก็ยังอยากจะหาผลประโยชน์จากความตายของแม่ ไม่ได้คิดเรื่องการทำศพหรือการอุทิศให้แม่เลยนะ คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้ประโยชน์จากการตายของแม่ให้ได้นานที่สุด ก็เลยอยากจะเก็บศพของแม่ไว้ ไม่แจ้งตาย เงินบำนาญของแม่ก็จะได้เข้าบัญชีตัวเองไปเรื่อย ๆ เดือนละ 50,000 บาทก็ไม่น้อย ก็มีคนที่คิดแบบนี้ แล้วไม่รู้ว่าตอนที่แม่แก่เขาดูแลแม่แค่ไหน อาจจะไม่ค่อยได้ดูแลแม่เลยก็ได้ แต่พอแม่ตายก็คิดแต่ว่าจะหาประโยชน์จากแม่อย่างไร ที่จริงได้ประโยชน์จากแม่ตั้งแต่ตอนที่แม่ป่วยหนัก บำนาญของแม่ก็ตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ใช่แม่นั้นได้ แต่พอแม่ตายแล้วก็ยังอยากได้บำนาญของแม่ต่อ ก็เลยอยากจะเก็บศพเอาไว้ คนที่คิดแบบนี้ก็มี
แต่ที่คิดยิ่งกว่านี้ก็มี ประเภทแม่ยังไม่ตาย ผงาบ ๆ ก็ยื้อเอาไว้ ยื้อแม่เอาไว้ในโรงพยาบาล เพราะว่าแม่เป็นข้าราชการเบิกได้ ใช้เครื่องช่วยหายใจยื้อ ให้หายใจไปเรื่อย ๆ หายใจเป็นปี ยื้อเป็นปีเลย เงินค่าโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายเพราะเบิกได้ ยื้อไปทำไม ยื้อไปเพราะว่าอยากจะได้บำนาญจากแม่ เพราะว่าถ้าแม่ยังไม่ตาย เงินบำนาญของแม่ก็เข้าบัญชีตัวเองไปเรื่อย ๆ มีคิดถึงขนาดนี้ไปแล้ว อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลจากการที่แม่เลี้ยงลูกด้วยเงินหรือเปล่า พอเลี้ยงลูกด้วยเงิน ลูกก็หาประโยชน์จากแม่ โดยคิดถึงแต่เรื่องเงิน เพราะฉะนั้นขนาดแม่จะตายแล้วก็ยังไม่ยอมให้แม่ตาย
อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า กิเลสคนมันซับซ้อน ความเห็นแก่ตัว ความโลภสามารถทำให้หาช่องว่างจากระบบเพื่อสนองประโยชน์ของมันได้ เดี๋ยวนี้ระบบการให้บำนาญกับข้าราชการเกษียณจนตายก็ดี หรือว่าระบบประกันสุขภาพที่เอื้อเฟื้อคนแก่จนวาระสุดท้ายก็ดี มันก็ถูกพวกที่เห็นแก่ตัวอาศัยประโยชน์ อาศัยช่องว่างในการสนองประโยชน์ของตัว กิเลสนี่มันร้าย บางทีก็อ้างเพื่อความกตัญญูถึงยื้อแม่เอาไว้ เรารักแม่ เราไม่อยากจะให้แม่ตายก็เลยยื้อแม่ไว้ แต่ที่จริงแล้วก็เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เรื่องพวกนี้รู้เอาไว้สำหรับคนที่เป็นวัยแซนด์วิชเจนเนอเรชั่น ก็น่าจะเป็นอนุสติ ว่าถ้าตัวเองแก่อายุ 70-80 ปี ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอย่างพ่อแม่ของตัว คือทำอย่างไรถึงจะไม่งอแง ไม่เป็นภาระให้กับใคร หรือว่าไม่เรียกร้องคาดหวังจากลูกมากเกินไป
เมื่อมีความทุกข์เพราะพ่อแม่เขางอแง เขาเรียกร้องความเห็นใจ เขาพูดไม่ดีกับลูก เวลาลูกจะไปนู่นไปนี่ ก็ต้องจำเอาไว้ว่าเมื่อเราแก่ตัวเราจะไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความอยากไม่อยาก มันต้องปฏิบัติด้วย เพราะถึงเราไม่อยาก แต่ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่ได้ฝึกปฏิบัติไว้เลย พอเราแก่เราก็เป็นอย่างนี้แหละ ก็อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอก เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่วนผู้ใหญ่ในวันนี้คือเด็กในวันหน้า เราต่อไปก็จะเป็นเด็ก ถ้าเราไม่ฝึกเอาไว้ให้ดี ก็จะเป็นเด็กที่งอแงหรือบางทีก็งี่เง่า แต่ถ้าหากเราฝึกไว้ดี เราอาจจะเป็นเด็กแต่ก็เป็นเด็กที่เรียบร้อย หรือว่าสามารถที่จะอยู่กับตัวเองได้โดยที่ไม่ทุกข์ หรือไม่เรียกร้องจากใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือว่าคนที่เขาเอื้อเฟื้อปรารถนาดีกับเรา.