พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 มีนาคม 2568
หลายท่านในที่นี้ไม่ว่าพระหรือโยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ชื่อว่า ทำอะไรก็ธรรม บ้างก็เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายการนี้ หลายท่านก็เป็นคนต้นเรื่อง ก็จะคุ้นเคยกับประโยคนี้
ทำอะไรก็ธรรม มีความหมายดีมาก ชี้ให้เห็นว่าธรรมะมีความหมายที่กว้าง ไม่ว่าเราทำอะไรก็เรียกว่าเป็นธรรมหรือธรรมะได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน ทำความสะอาด ทำอาหาร ทำขนมก็เป็นธรรมะได้
อย่างเช่นการทำมาหากินเป็นธรรมะในแง่ที่ว่าเป็นสัมมาอาชีวะ การทำหลายอย่าง การทำงานก็เป็นธรรมะได้ ถ้าหากว่าประกอบไปด้วยศีล 5 คือ เป็นการทำโดยที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ไปพรากชีวิตของใคร ไม่ไปลักขโมย หรือว่าไม่ได้ไปล่วงละเมิดของรัก คนรักของใคร ยิ่งถ้าทำโดยที่ไม่ได้ไปพูดจาโกหกมดเท็จ หรือไม่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมาเป็นเครื่องย้อมใจ มันก็เป็นธรรมะได้
แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม แม้จะไม่ใช่เป็นการทำบุญในรูปแบบทั่ว ๆ ไป ยิ่งถ้าทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร หรือทำด้วยใจรัก ก็เป็นธรรมได้
แม้จะเป็นการทำอาหาร อย่างเช่นแม่ทำอาหารให้ลูกกิน ทำด้วยใจรัก หรือแม้จะเป็นแม่ค้าทำอาหารให้กับคนทั่วไป มันก็เป็นธรรมได้ ถ้าเกิดว่าไม่ใช่ทำเพียงแค่ว่าต้องการกำไร แต่ว่าทำด้วยใจที่อยากจะให้ลูกค้าเขาได้รับสิ่งดี ๆ บำรุงร่างกาย บำรุงจิตใจ
บางคนทำขนมเขาทำด้วยใจรัก อยากจะให้ขนมที่เขาทำ มันมีส่วนช่วยให้ครอบครัวนี้รักกัน เวลาเขาเห็นแม่เอาขนมให้ลูกกิน ลูกดีใจที่ได้ขนม กินแล้วอร่อย มีความสุข ขนมกลายเป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง เขาก็เกิดกำลังใจ แล้วก็เกิดฉันทะในการทำขนม
อันนี้มีหลายคนที่เขาคิดแบบนี้ หรือแม้กระทั่งคนที่มีอาชีพขัดส้วม ทำความสะอาดขัดพื้น ก็ดูเหมือนเป็นอาชีพธรรมดา ในแง่หนึ่งมันก็เป็นธรรมะอยู่แล้วเพราะมันเป็นสัมมาอาชีวะ ประกอบด้วยศีล 5 ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร
แต่ถ้าทำยิ่งกว่านั้นก็คือว่าทำด้วยใจรัก อยากจะให้คนที่ใช้ห้องน้ำเขาสบายใจ สมกับเป็นห้องสุขา ไม่ใช่แค่ถ่ายทุกข์ แต่ว่าได้มีความสุขเพราะห้องน้ำสะอาด หรือว่าสถานที่สะอาดหมดจด เห็นแล้วเจริญตาเจริญใจ ทำด้วยเจตนาแบบนี้ การถูพื้น ทำความสะอาดห้องน้ำนี้ก็เป็นธรรมะได้เหมือนกัน
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ในพุทธศาสนามีความหมายกว้าง ไม่ได้เจาะจงจำกัดแค่การมาทำบุญ การทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ แม้ว่าจะอยู่ไกลวัดก็ยังไม่ห่างธรรม
คนไปเข้าใจว่า เมื่อใดที่อยู่ไกลวัดก็ห่างธรรมเมื่อนั้น ที่จริงไม่ใช่ ตราบใดที่ทำอะไรก็ตามทำด้วยใจรัก ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำด้วยจิตเมตตา หรือว่าทำด้วยการกำกับของศีล 5 ทำสิ่งที่เป็นสัมมาอาชีวะ
หรือแม้กระทั่งการทำอะไรที่มันถูกกรณี ถูกกาลเทศะ จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพูดคุยในที่ที่มันมีคนเขาต้องการความสงบ ก็เปลี่ยนใจไม่พูดคุยทางโทรศัพท์ เปลี่ยนมาเป็นการเขียนข้อความแทน อย่างนี้ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกันเพราะว่ามีความเกรงอกเกรงใจ
เวลาเราไปญี่ปุ่นนี้จะเห็นได้เลยว่าเงียบมากไม่ว่าจะอยู่ในรถประจำทาง รถโดยสาร รถไฟฟ้า ทั้งที่คนนี่ก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น แต่ว่าเขาปิดเสียง แล้วเขาไม่มีการพูดกรอกเสียงลงไปในโทรศัพท์ เพราะเขาเกรงใจ เกรงใจคนอื่นที่ต้องการความสงบ เพราะเดี๋ยวนี้ความสงบกลายเป็นของหายากในเมือง อุตส่าห์มาขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้ายังเจอเสียงคนคุยโทรศัพท์ ไม่เกรงใจกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีธรรมะ
แต่ว่าถ้าตั้งใจจะใช้โทรศัพท์ งดออกเสียง ใช้ระบบสั่น อันนี้เรียกว่าเป็นธรรมะเหมือนกัน คือทำอะไรที่มันถูกกรณี ถูกกาลเทศะ ในทางตรงข้าม แม้จะสวดมนต์ แต่ว่าสวดมนต์ออกเสียงดังในที่ที่คนเขากำลังนั่งสมาธิ คนเขากำลังอ่านหนังสือหนังหาในห้องสมุด การสวดมนต์อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ธรรมะแล้ว เพราะว่ามันไปรบกวนคนอื่นเขา เป็นการกระทำที่ไม่ถูกกาลเทศะ
การปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่ามันไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกกรณี ก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรมได้ยาก เพราะว่ามันเกิดโทษ
อย่างบางคนเข้าใจว่าการสวดมนต์เป็นของดี พยายามสวดให้ได้วันละ 100 จบอิติปิโส หรือบางทีสวดตามธรรมเนียมของวัชรยาน อาจจะสวดสรรเสริญพุทธคุณถึงหมื่นจบ หรือบางทีเป็นล้านก็มี โอม มณี ปัทเม หุม มีบางท่านนี่บำเพ็ญเพียรมาก สวดมนต์ตั้งใจให้ได้แสนจบหรือล้านจบ แต่มันต้องสวดให้ถูกกรณี ถ้าสวดไม่ถูกกรณี มันก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมลำบากเพราะว่ามันเกิดโทษ
มีผู้หญิงคนหนึ่งเธอหกล้มอยู่เรื่อยเป็นประจำ แล้วมาในระยะหลังมักจะหกล้มเวลาจอดรถที่ในบ้าน เปิดประตูลงจากรถก็จะหกล้ม เป็นอย่างนี้ 2-3 ครั้ง จนกระทั่งไปหาหมอทำกายภาพบำบัด ทีแรกหมอก็แปลกใจ เพราะว่าคนไข้ยังสาว ปัญหาการทรงตัวมันจะไม่มี ไม่เหมือนคนแก่ แต่ทำไมเธอล้มบ่อย แล้วร่างกายก็กระแทกที่จุดเดียว แถมสถานที่ก็มักจะเป็นที่เดียวกัน คือในบ้านตอนลงจากรถ
ระหว่างที่นวดอยู่ ทำกายภาพบำบัดอยู่ ก็สังเกตในมือของผู้หญิงคนนั้นมีเครื่องกด กด กด เหมือนกับเวลาเราขึ้นเครื่องบิน จะเห็นพนักงานต้อนรับเขากดนับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาทีละคน ๆ หมอก็ถามว่ากดทำไม แกบอกว่าแกสวดมนต์ แกต้องการสวดให้ได้หมื่นจบ ก็เลยกดทุกครั้งที่สวด แม้กระทั่งขณะที่หมอทำกายภาพบำบัด ก็สวดมนต์
หมอก็เลยถามต่อว่าตอนที่คุณเปิดประตูลงจากรถ สวดมนต์ด้วยใช่ไหม คนไข้แปลกใจหมอรู้ได้อย่างไร หมอเดาได้ว่าพอตอนที่แกกำลังลงจากรถ ก็สวดมนต์ด้วย ก็เลยไม่มีสติ ลงจากรถไปด้วยสวดมนต์ไปด้วย มันก็เลยเกิดพลาด หกล้ม กระแทก เป็นอย่างนี้หลายครั้งจนต้องมาหาหมอ
จริง ๆ แล้วการสวดมนต์จะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อสวดให้ถูกกาลเทศะ ถูกกรณี ไม่ใช่ว่าขณะกำลังขับรถก็สวดมนต์ไปด้วย ขณะกำลังลงจากรถก็สวดไปด้วย ลงจากบันไดก็สวดไปด้วย ในเวลานั้นควรจะมีสติ เดินลงบันได เดินขึ้นบันไดก็ต้องมีสติ เดินเข้าห้องน้ำก็ต้องมีสติ ไม่ใช่สวดมนต์ไปด้วย เพราะพอสวดมนต์แล้วไม่มีสติมันก็หกล้ม ขนาดลงจากรถยังไม่มีสติเลยเพราะสวดมนต์ไปด้วย ก็เลยพลัดหกล้ม
ฉะนั้นขึ้นชื่อว่า การทำอะไร มันจะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อถูกกรณีด้วย ถูกกาลเทศะ ที่จริงแล้วการทำอะไรก็ตาม ถ้าหากว่ามันเป็นหน้าที่ที่เหมาะสมควร เหมาะสมหรือสมควรก็เป็นธรรมะ
อาจารย์พุทธทาสท่านก็เคยพูดไว้ว่าธรรมะมีความหมาย 4 ประการ ความหมายหนึ่งคือธรรมะคือหน้าที่ อย่างเรากินข้าว กินโดยถือว่าเป็นหน้าที่ในการบำรุงร่างกาย มันก็เป็นธรรมะ แต่ถ้าหากว่าทำเกินหน้าที่ คือไม่ใช่แค่บำรุงร่างกาย หรือไม่สนใจบำรุงร่างกาย แต่ว่ากินเพื่อความเอร็ดอร่อย การกินมันก็ไม่ใช่ธรรมะแล้ว
การนอนก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องอดหลับอดนอน เพราะการหลับการนอนก็เป็นหน้าที่ในการบำรุงร่างกาย ฟื้นฟูร่างกาย การพักผ่อนที่ถูกเวลาก็เป็นธรรมะ ถ้าไม่พักผ่อนเลย ทำเป็นอาจิณจนกระทั่งเป็นการทรมานร่างกาย มันก็ไม่ใช่ธรรมะ
ฉะนั้นคำว่า ธรรมะ มันแยกไม่ออกจากการกระทำ แต่ว่าก็ต้องทำอย่างมีสติ ทำอะไรก็ตามถ้ามีสตินั้นก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ยกเว้นว่าไปปล้น ไปจี้ หรือว่าไปคิดทำร้ายใคร จะไปลอบยิงใคร แต่ว่ายิงอย่างมีสติ อันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกศีล ไม่ถูกธรรม แล้วก็ไม่ถูกกรณี ถ้าจะยิงก็ไปยิงเป้าที่เป็นกระดาษ ไม่ใช่มายิงเป้าที่เป็นคน
นอกจากทำอะไรก็เป็นธรรมะแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมะที่เราไม่ควรมองข้าม ก็คือ เจออะไรก็เป็นธรรมะ ที่จริงคนเรานี้ทั้งวันก็มีแค่ 2 อย่างเท่านั้นในเวลาตื่นคือ ถ้าไม่ทำอะไร ก็เจอนั่นเจอนี่
ตื่นเช้าขึ้นมา เราก็เก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน เราก็ทำอย่างมีสติ นี่ก็ธรรมะแล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เก็บที่นอน ทำความสะอาด ล้างจานก็เป็นธรรมะแล้ว
แต่ว่าเราไม่ได้แค่ทำ เราเจอด้วย บางทีเจอข้อความ เจอข่าวที่ไม่ดีทางโทรศัพท์มือถือ เจอคำพูดที่ไม่ถูกใจทางโทรศัพท์มือถือ หรือว่าเจอฝนฟ้าที่มันไม่เป็นดั่งใจ นี่ก็ธรรมะ
ทุกอย่างที่เราเจอเป็นธรรมะทั้งนั้น แล้วทุกอย่างที่เราทำมันก็สามารถจะเป็นธรรมะได้
ในสมัยพุทธกาล มีพระรูปหนึ่ง พระติสสะ ท่านเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง เป็นบ้านของเศรษฐินี บ้านหลังนี้มีนางทาสี ทาสีก็คือทาสที่เป็นผู้หญิง นางคงผิดหวังในความรัก ก็เลยร้องเพลง เป็นเพลงเกี่ยวกับความรักที่แปรผัน ที่เคยรักแล้วก็จืดจาง พูดง่าย ๆ เป็นเพลงคนอกหัก
แต่ว่าท่านติสสะพอเดินผ่านไปแล้ว ได้ยินเสียงเพลง ท่านเกิดบรรลุธรรมขึ้นมาเลย เพราะเพลงนั้นพูดถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของความรัก ของชีวิต ท่านฟังแล้วว่ามันสอนธรรมให้กับเรา ความรักก็ไม่เที่ยง เคยรักกันดูดดื่มแล้วก็จืดจางกันไป หรือว่าความผิดหวังนี่มันคือทุกข์ที่มันเป็นสัจธรรมของชีวิต ท่านฟังก็บรรลุธรรมได้เลย ไม่ได้บรรลุธรรมเพราะว่าฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า
ไม่เหมือนกับปัญจวัคคีย์ ฟังธรรมะพระพุทธเจ้าก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ แต่พระติสสะฟังเสียงเพลงของนางทาสี แถมเป็นเพลงรักเสียด้วย
ที่จริงหลวงพ่อชาท่านเคยเล่าว่า ท่านเคยเดินเข้าไปในเมืองแล้วก็ได้ฟังเพลง แล้วตอนนั้นมีเพลงลูกทุ่งดังมากชื่อ มันบ่แน่ดอกนาย หลายคนฟังสนุก ๆ แต่ท่านฟังแล้วก็กลับมาเล่าว่า นี่มันเพลงของพระพุทธเจ้าเลยเชียว มันบ่แน่ดอกนาย เพราะว่ามันพูดถึงเรื่องของความไม่เที่ยงทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรแน่นอน นี่เรียกว่าสิ่งที่เราเจอไม่ว่าอะไรก็เป็นธรรมะได้
มีเรื่องเล่าในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง หญิงกับชายร้องเพลงเกี้ยวกัน ก็มีช่วงหนึ่งมีท่อนหนึ่งที่ผู้หญิงก็พูดตัดพ้อผู้ชายว่า ถ้าเธอไม่มีใจให้ฉัน เราก็เลิกกัน ปรากฏว่าตอนที่ร้องเพลงท่อนนี้ มีพระเซนรูปหนึ่งเดินผ่านโรงเตี๊ยมนี้มาได้ยินเสียงเพลงท่อนนี้ปรากฏว่าบรรลุธรรมเลย
เพราะว่าท่อนนี้กำลังบอกว่า ถ้าคนเราไม่มีจิตยึดมั่นถือมั่นกับอะไร หรือไม่ปักใจให้กับอะไร มันก็อิสระเท่านั้นเอง จิตก็เป็นอิสระเมื่อละอุปาทานได้ จิตก็หลุดพ้นเท่านั้นเอง
ผู้หญิงไม่ได้ตั้งใจพูดแบบนั้น แต่ว่าพระท่านได้ยิน แล้วก็ได้เห็นได้ฟังเป็นธรรมะ ฉะนั้นเสียงเพลงก็กลายเป็นธรรมะ ชนิดที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเจอใบไม้ที่กำลังร่วง หรือว่าเห็นดอกบัวที่กลีบกำลังโรย
บางท่านเห็นนี่ท่านก็บรรลุธรรม อย่างลูกศิษย์พระสารีบุตรท่านหนึ่ง พระสารีบุตรให้ไปพิจารณาซากศพอสุภกรรมฐาน ปรากฏว่าการปฏิบัติไม่ได้ก้าวหน้าเลย เกิดท้อขึ้นมาอยากจะสึก พระพุทธเจ้าก็แนะนำว่าให้ไปพิจารณาดอกบัวสิ เวลาบัวที่มันบาน แล้วกลีบมันค่อย ๆ ร่วง ค่อย ๆ โรย ทีละกลีบ ๆ ท่านก็พิจารณา ปรากฏว่าบรรลุธรรม อันนี้เรียกว่าเจอ เจอความไม่เที่ยงต่อหน้าต่อตา
เราเจออะไรมันก็เป็นธรรมะได้ อยู่ที่ว่าเราจะมองให้เป็นหรือเปล่า เพราะทุกอย่างมันก็หนีไม่พ้นธรรมะ มันแสดงออกซึ่งธรรมะ เช่น ความไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นสัจธรรมความจริง ซึ่งถ้าเราเปิดใจ ซึมซับ รับเอาสัจธรรม จนกระทั่งรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ จิตก็หลุดพ้นเท่านั้น
สิ่งที่เราเจอ มันไม่ใช่ว่าจะเจอแต่สิ่งดี ๆ บางทีเราก็เจอสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมือนกับธรรมะ ไม่เหมือนกับการทำ การทำนี้เราทำด้วยความตั้งใจ และแน่นอนถ้าเรามีสติ เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่ว่าการเจอเราเลือกไม่ได้
การทำของเราในแต่ละวันมันเกิดจากเจตนา ถ้าไม่หลงมันก็เกิดจากเจตนา แล้วเราก็สามารถที่จะทำให้เจตนาเป็นกุศลได้ แต่ว่าการเจอไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์ เจอผู้คน เจอการกระทำ และคำพูดของใครก็ตาม มันเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ อยากจะเจอท้องฟ้าที่โปร่ง แต่ก็กลับเจอฝนตก พายุกระหน่ำ ฟ้าครึ้ม อยากจะเจอถนนโล่ง แต่ก็กลับเจอถนนที่แน่นขนัดด้วยรถ รถติด เราสามารถจะเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจได้เยอะแยะ แต่มันก็เป็นธรรมะได้
ฉะนั้นเจออะไรก็เป็นธรรมะ แม้กระทั่งคำต่อว่าด่าทอก็เป็นธรรมะได้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาจารย์ทองรัตน์ ช่วงหนึ่งที่ท่านอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ทุกวันที่บิณฑบาตท่านสังเกตเห็นโยมบางคนที่ไม่สนใจใส่บาตร ท่านก็จะเรียกให้เขามาใส่บาตร เขาก็มาใส่บาตร ใส่ข้าวเหนียว กับข้าวให้ แต่พอท่านได้รับท่านก็ไม่ฉัน เพราะท่านรู้ว่าถ้าฉันก็อาบัติ อาหารที่ไปขอให้คนมาใส่มาให้ ขืนฉันเข้าไปก็เป็นอาบัติ
แต่ทำไมท่านไปเรียกเขาให้มา มาใส่บาตร ก็เพราะว่าท่านอยากให้เขารู้จักทำบุญ ลดความตระหนี่ แต่ก็มีชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจ พระอะไรมาเรียกร้องขอให้ชาวบ้านมาใส่บาตร อย่างนี้ไม่ถูก ชาวบ้านคนนั้นก็ไม่พอใจพระอาจารย์ทองรัตน์ วันหนึ่งท่านบิณฑบาต เขาก็ใส่บัตรสนเท่ห์ลงในบาตรของท่าน
ท่านก็รู้ พอท่านมาถึงวัด ท่านก็พาดผ้าสังฆาฏิ ห่มจีวรอย่างเรียบร้อย แล้วก็เรียกเณร เอ้า มาอ่านเร็ว ท่านก็ยื่นบัตรสนเท่ห์ให้ เป็นอมฤตธรรมเลย เทวดาท่านใส่บาตรมาเมื่อเช้า เป็นของดี
ระหว่างที่เณรอ่าน ท่านก็พนมมือฟังอย่างตั้งใจ บัตรสนเท่ห์เขียนว่า พระผีบ้า เป็นพระเป็นเจ้าไม่สำรวม ไม่มีศีล ไม่มีวินัย ประจบสอพลอขอข้าวชาวบ้าน พระแบบนี้ไม่น่าเคารพ ถึงแม้จะเหาะเหินเดินอากาศได้ ให้ออกไปจากวัดเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะมีลูกตะกั่วมาฝาก
ใช้คำแรง แล้วก็เล่นหนักด้วย เจตนาดีต้องการพิทักษ์พุทธศาสนา เห็นพระไม่ดีก็ต่อว่าเลย แต่แทนที่พระอาจารย์ทองรัตน์จะโกรธ ท่านกลับอนุโมทนา พอเณรว่าเสร็จ ท่านก็พนมมือสาธุเลย แล้วบอกเณรให้เอาเก็บไว้ใต้แท่นพระนะ ท่านบอกเณร วันนี้เพิ่งได้เจอแก่นธรรม เคยได้ยินแต่ว่าโลกธรรม 8 เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ได้เจอจริง ๆ เอาเก็บไว้ เป็นของดีนะ
คำต่อว่าด่าทอ หรือแม้กระทั่งคำขู่ ก็เป็นสัจธรรมได้เหมือนกัน เป็นธรรมะได้เหมือนกัน แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกลับมองเห็นว่าเป็นธรรมะ เป็นอมฤตธรรม คนที่ใส่บาตร ท่านก็เห็นว่าเป็นเทวดา ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ อะไรที่เราเจอแม้จะไม่ถูกใจ มันก็เป็นธรรม ถ้ามันไม่สะท้อนโลกธรรมบวกหรือลบ มันก็สะท้อนให้เห็นสัจธรรมความไม่เที่ยง
หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า แม้ถูกด่าก็เห็นสัจธรรมได้ เจอความสูญเสีย เสียเงิน เสียทอง ถูกหลอก ถูกขโมย นั่นแหละเรากำลังเห็นธรรมะ สัจธรรมกำลังแสดงให้เราเห็น ว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยอย่างแท้จริง สิ่งที่เรามีเป็นของชั่วคราว ถ้ามันเป็นของเราจริง ๆ มันก็ต้องอยู่กับเรา ไม่มีใครที่จะแย่งเอาไปได้ ไม่มีทางที่มันจะเสื่อมไปได้ แต่การที่มันเสื่อม มันเสีย มีคนเอาไป ก็เพราะมันไม่ใช่ของเรา อันนี้เรียกว่าเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็เป็นธรรมะ
เจ็บป่วยก็เหมือนกัน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเคราะห์ แต่ที่จริงมันคือธรรมะ ร่างกายกำลังแสดงสัจธรรมให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คนที่เห็นธรรมะจากความเจ็บป่วยนี้ จิตใจเขาแจ่มใส เขาไม่ทุกข์
อย่างผู้หญิงคนหนึ่งเธอป่วยเป็นมะเร็ง อายุแค่ 32 พบว่าเป็นมะเร็งระยะท้ายที่ต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 2 ปีก่อน เธอเป็นแม่ลูกอ่อน ลูกยังเล็ก ยังไม่ได้เข้าเรียนเลย แต่เธอหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีแววตาหม่นหมอง สีหน้าเศร้า เธอพูดว่าแม้ย้อนเวลากลับไปได้ ก็ยังอยากเป็นมะเร็งเหมือนเดิม เพราะอะไร
เพราะว่าก่อนเป็นมะเร็งเธอเหมือนกับบัวใต้น้ำ แต่พอเป็นมะเร็งแล้วเข้าใจสัจธรรมแล้ว เข้าใจธรรมะ เธอบอกว่าเธอไปไกลกว่าเดิม ไปไกลกว่าตอนที่ยังไม่เป็นมะเร็ง ไปไกลกว่าเมื่อปีที่แล้ว อันนี้ก็เรียกว่ามะเร็งก็แสดงธรรมให้เธอเห็น
ฉะนั้น ถ้าเราปรับความเข้าใจให้ดี ว่าทำอะไรก็เป็นธรรม หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่าเจออะไรก็เป็นธรรมได้เหมือนกัน เราจะมีความทุกข์น้อยลง และจริง ๆ แล้วชีวิตเราทั้งวันก็มีแค่ 2 อย่างนี้แหละ ถ้าไม่ทำนั่นทำนี่ ก็เจอนั่นเจอนี่
ฉะนั้น ถ้าเราวางท่าทีได้ถูก มองว่าเจออะไรก็เป็นธรรม ขณะเดียวกันทำอะไรก็ทำให้เป็นธรรม เราก็ไม่ได้ห่างจากธรรมเลยแม้จะเป็นฆราวาส จะอยู่วัด ห่างวัด แล้วก็เป็นหลักการปฏิบัติง่าย ๆ หรือจำง่าย ๆ ส่วนปฏิบัติอาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่ ก็คือว่า ไม่ว่าทำอะไรก็เป็นธรรมะได้ และไม่ว่าเจออะไรก็มองให้เห็นว่าเป็นธรรมะได้ ถ้าทำ 2 อย่างนี้ได้ ก็เรียกว่าจิตใจอิงแอบแนบแน่นอยู่กับธรรมะ.