พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 มีนาคม 2568
ในสมัยพุทธกาลมีคหบดีคนหนึ่งชื่ออตุละ วันหนึ่งได้พาบริวารไปที่เชตวัน เพื่อจะชวนกันไปฟังธรรม ทีแรกก็ไปหาพระเรวตะก่อน (พระเรวตะท่านเป็นพระอรหันต์) แต่พอไปถึงแล้วพระเรวตะก็ไม่พูดอะไรด้วย อตุละกับบริวารก็เลยเดินออกมา
อตุละก็บ่นกับบริวารว่าทำไมพระเรวตะไม่พูดอะไรเลย นิ่งเงียบ เราอุตส่าห์มาฟังธรรม จากนั้นก็พาไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ถามว่ามาทำไม อตุละก็บอกว่าเมื่อกี้นี้ไปหาท่านเรวตะ อยากจะฟังธรรม แต่ท่านกลับไม่พูดอะไรเลย ก็เลยมาหาพระสารีบุตรเพื่อจะได้ฟังธรรม
พระสารีบุตรก็เลยแสดงธรรมอย่างละเอียดเลย แต่ว่าอตุละไม่ค่อยพอใจเท่าใด พอพระสารีบุตรแสดงธรรมเสร็จ อตุละออกมาก็บ่นกับบริวารว่า พระสารีบุตรท่าน แสดงธรรมยาวเหยียดเลย ใครเขาจะจำได้ แสดงธรรมยาวแบบนี้
จากนั้นก็ไปหาพระอานนท์ แล้วก็เล่าว่าได้ไปหาพระเรวตะ ท่านไม่พูดอะไรเลย ข้าพเจ้าไม่ชอบ ครั้นไปหาพระสารีบุตร ท่านก็แสดงธรรมยาวเหยียด ข้าพเจ้าก็ไม่ชอบเหมือนกัน เลยมาหาพระอานนท์ พระอานนท์ก็เลยแสดงธรรมแบบย่อๆ
ปรากฏว่าแทนที่อตุละจะพอใจ กลับไม่พอใจ พอออกมาก็บ่นกับบริวารว่า พระอานนท์แสดงธรรมย่อแบบนี้ใครจะไปเข้าใจ เป็นอันว่าไม่ว่าฟังธรรมจากท่านใด ก็ไม่พอใจทั้งนั้น ก็เลยไปหาพระพุทธเจ้า แล้วก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อได้ไปฟังธรรมจากพระเรวตะ พระสารีบุตร แล้วก็พระอานนท์
พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า คนไม่พูดก็ถูกนินทาติเตียน คนพูดยาวก็ถูกนินทาติเตียน คนพูดสั้นพูดย่อก็ถูกนินทาติเตียน ไม่มีใครในโลกที่ไม่ถูกนินทาติเตียน
แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนเราจะถูกติเตียนหมด ที่ได้รับคำสรรเสริญก็มี แต่ว่าคนที่ได้รับคำสรรเสริญก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับการสรรเสริญหมด ย่อมมีบางคนติเตียนนินทาว่าร้าย
พระพุทธเจ้าตรัสน่าสนใจที่พูดว่า ไม่พูดเลยก็ถูกตำหนิหรือว่าติเตียน พูดยาวก็มีคนตำหนิ พูดสั้นก็มีคนตำหนิ แล้วคนที่ตำหนิก็อาจจะเป็นคนเดียวกันก็ได้ คือเจออะไรก็ไม่ชอบใจทั้งนั้น
อันนี้เราก็เจอกันใช่ไหม บางคนไปซื้อไปกินอาหาร ร้านแรกก็ไม่ชอบเพราะว่าเค็มไป ร้านที่สองรสชาติต่างจากเดิมก็ไม่ชอบ หวานไป ไปร้านที่สามก็บอกว่ามันเปรี้ยวไป ไม่ว่าเจออะไรก็ไม่ชอบทั้งนั้น
แล้วยังมีประเภทที่ว่า เคยชอบแต่ภายหลังไม่ชอบ คน ๆเดียวกันอย่างผู้ชายคนหนึ่ง ไปเจอผู้หญิง ถูกคอกันมาก เธอช่างพูดช่างคุย คุยสนุก แต่พอคบกันเป็นแฟน แต่งงานกัน ปรากฏว่ากลับไม่ชอบการพูดคุยของผู้หญิงคนเดิมคนนี้ไปเสียแล้ว หาว่าเธอช่างบ่น พูดไม่หยุด นิสัยเดียวกันที่เคยชอบจนหลงรัก แต่พอได้อยู่ด้วยกัน นิสัยเดียวกันกลับไม่ชอบแล้ว
ฉะนั้น คนเราก็เป็นอย่างนี้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ สรรเสริญกับนินทา ชอบใจกับไม่ชอบใจ พวกนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน แต่ที่แน่นอนคือว่า ไม่มีใครที่ปลอดพ้นจากการถูกนินทา ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ก็มีคนที่ไม่พอใจ
แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่คน ๆ หนึ่งไม่พอใจ อีกคนอาจจะพอใจก็ได้ อาหารที่คนหนึ่งบอกว่าเค็มไป แต่อีกคนกลับชอบ ในขณะที่อาหารที่บางคนบอกว่าหวานไป แต่ว่าคนอื่นกลับชอบก็มี
อันนี้มันก็แสดงให้เห็นว่า ทำอะไรจะให้ถูกใจคนไปหมด เป็นไปไม่ได้ และไม่ว่าทำอะไร ก็มีคนที่ไม่ชอบไม่พอใจอยู่นั่นเอง รวมทั้งไม่ทำอะไรด้วย ไม่พูดก็มีคนไม่ชอบ ตำหนิ พูดยาวก็มีคนไม่ชอบ ตำหนิ พูดสั้นก็มีคนไม่ชอบ ไม่พอใจ และก็คน ๆ เดียวกันนั้นไม่ชอบอะไรสักอย่าง แต่ก็มีบางคนที่ชอบทุกอย่าง
ดังนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นสัจธรรมความจริงคือ ไม่ว่าทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ก็จะมีคนที่ไม่ชอบ ไม่เป็นที่พอใจของผู้คน ไม่ใช่เพราะว่าผู้คนมีความหลากหลายอย่างเดียว เพราะแม้แต่คน ๆ เดียวก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวไม่ชอบ บางอย่างที่ไม่ชอบเดี๋ยวก็ชอบแล้ว หรือบางทีก็ไม่ชอบอะไรเลยสักอย่าง อย่างอตุละไม่ชอบอะไรเลยสักอย่าง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปให้ค่าให้ความสำคัญกับคำสรรเสริญหรือคำนินทา เพราะว่ามันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่ว่าทำดีแค่ไหนก็ย่อมมีคนไม่พอใจ
พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะมีปฏิปทางดงาม มีความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ ไม่เคยคิดร้ายหรือพูดร้ายต่อใคร ก็ยังมีคนไม่พอใจ ไม่พอใจถึงขั้นว่าร้าย ไม่ใช่แค่ตำหนิ แล้วไม่ใช่แค่ว่าร้ายอย่างเดียว ใส่ร้าย หรือรวมทั้งมุ่งร้ายหมายชีวิตด้วย
ดังนั้นคนเราถ้าไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ ก็จะเป็นทุกข์ได้ง่าย เวลาทำอะไรแล้วมีคนไม่พอใจ ก็ขนาดพระอรหันต์อย่างพระเรวตะ ยังมีคนไม่พอใจเพียงเพราะว่าท่านไม่พูด ครั้นพระสารีบุตรแสดงธรรม ก็ไม่พอใจ หาว่าพูดยืดยาว ใครเขาจะจำได้ ครั้นพระอานนท์พูดย่อๆ คนเดิมนั่นแหละที่ไม่พอใจ หาว่าพูดสั้นแบบนี้ ใครจะเข้าใจ
พระอรหันต์ท่านไม่ยึดติดในคำชื่นชมสรรเสริญหรือคำนินทาว่าร้ายแล้ว ฉะนั้นความเห็นหรือว่าคำวิจารณ์ของอตุละก็ไม่มีความหมาย แต่ชี้ให้เห็นได้ว่าขนาดพระอรหันต์ แม้ว่าท่านจะรู้ธรรมลึกซึ้ง แต่พอแสดงธรรมไปแล้ว ก็ยังมีคนไม่พอใจ ไม่ชอบ นับประสาอะไรกับเราซึ่งเป็นปุถุชน แม้จะทำดีอย่างไร หมดจดไพเราะอย่างไร แจ่มแจ้งอย่างไร มันก็มีคนไม่พอใจอยู่นั่นแหละ
ฉะนั้นคนที่ไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ พอมีคนไม่พอใจก็ย่อมหวั่นไหว แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็ย่อมเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่เห็นคุณค่าของการทำดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง พึงระลึกเอาไว้ ไม่ว่าทำดีแค่ไหน ก็ย่อมมีคนที่ไม่พอใจ หรือไม่เข้าใจ
แน่นอนคนที่สรรเสริญก็มี แต่คนที่สรรเสริญนั่นแหละวันดีคืนดีก็อาจจะไม่พอใจก็ได้ ทั้งที่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เจอก็เหมือนเดิม แต่ว่าใจคนมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ฉะนั้นเราจะไปคาดหวังคำสรรเสริญจากใคร มันก็มีแต่จะทุกข์ และขณะเดียวกันก็อย่าไปหวั่นไหวกับคำนินทาว่าร้าย มันไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูก แม้จะถูกต้อง แต่ถ้าไม่ถูกใจ ก็ยังเจอนินทาอยู่นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นก็อย่าไปให้ค่ากับคำสรรเสริญคำนินทามาก หมายความว่าใครสรรเสริญ เราก็อย่าไปเคลิบเคลิ้มหลงใหล เพราะว่าคนเดียวกันนั่นแหละ ที่เคยสรรเสริญ อาจจะเปลี่ยนใจมาตำหนิก็ได้
แล้วขณะเดียวกัน คนที่ตำหนิ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้อง มันเพียงแต่ไม่ถูกใจเขา และจะให้ถูกใจคนทุกคน ก็เป็นไปไม่ได้ อย่าว่าแต่คนทุกคนเลย แม้กระทั่งคนคนเดียว จะให้เขาพอใจ ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้
อย่างกรณีอตุละ ไม่พอใจสักอย่าง แต่ตอนหลังพอพระพุทธเจ้าพูดทักพูดเตือนว่า คนบางคนนี่ไม่พอใจอะไรเลยสักอย่าง และขณะเดียวกันการทำอะไรก็ตาม หรือแม้แต่ไม่ทำ มันก็ย่อมมีคนไม่พอใจ คนนินทา หรืออย่างที่เราสรุปกันสั้นๆ ว่า ไม่มีใครที่ไม่ถูกนินทา
พระพุทธเจ้านอกจากชี้แสดงสัจธรรมให้เห็นแล้ว ก็ยังตรัสเพิ่มว่า ให้รู้จักแยกแยะว่าคำนินทาหรือคำสรรเสริญของใครบางคนที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา ก็ไม่ควรเอาเป็นแก่นสาร ไม่ใช่เฉพาะคำนินทาว่าร้าย แม้กระทั่งคำสรรเสริญของคนเหล่านั้นก็ไม่ควรใส่ใจ
แต่คำติเตียนของผู้รู้ อันนี้ต่างหากที่ควรจะใส่ใจ พระพุทธเจ้าตรัสในที่อื่นว่ามันคือขุมทรัพย์เลยทีเดียวนะ ถ้ามองให้เป็น คำตำหนิคำติเตียน โดยเฉพาะที่มาจากผู้รู้ ถือว่าเป็นขุมทรัพย์เลยทีเดียว ดังนั้นก็ถือว่ามีประโยชน์
และพระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า อย่าไปสนใจ ก็ไม่ได้พูดเป็นทำนองนี้ แต่พระองค์ตรัสว่าให้มาใส่ใจกับการรักษาศีล การบำเพ็ญสมาธิ การเจริญปัญญาดีกว่า เพราะเมื่อทำเช่นนั้น ก็จะเห็นว่าทุกอย่างไม่มีอะไรที่น่ายึดถือเลย ทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งใดเลย ก็จะพ้นจากทุกข์ได้
แต่ถึงแม้เรายังไม่มีปัญญาเห็นสัจธรรมของสรรพสิ่งว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 ก็ช่วยทำให้เรามีภูมิคุ้มกันใจไม่ให้ทุกข์
โลกธรรม 8 ก็คือ ได้ลาภก็มาพร้อมกับเสื่อมลาภ ได้ยศก็คู่กับการเสื่อมยศ สรรเสริญก็มาพร้อมกับนินทา สุขแล้วก็ทุกข์
การที่จะเข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้งมันยาก แต่ว่าการเข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 มันง่ายกว่า คือได้ลาภกับเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน ได้ยศกับเสื่อมยศเป็นของคู่กัน สรรเสริญกับนินทาคู่กัน สุขกับทุกข์ก็เป็นของคู่กัน อันนี้เข้าใจง่าย เห็นง่าย
เมื่อเรารู้แล้ว เวลาเราได้ลาภก็ไม่หลงเพลิดเพลิน เพราะว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียก็ต้องเสื่อมจากลาภนั้น เวลาได้ยศได้คำสรรเสริญ มีคนกดไลค์เยอะๆ เรตติ้งสูง ก็อย่าไปเพลิดเพลินหลงใหลมาก เพราะว่าไม่นานมันก็ต้องเสื่อมลงไป สรรเสริญก็เหมือนกัน ถ้าไปพอใจความสรรเสริญ ก็จะต้องทุกข์เมื่อเจอคำตำหนิ
ดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา ที่เก่งๆ ได้รับความนิยม จำนวนไม่น้อยลงเอยด้วยความทุกข์ เพราะว่าตอนที่ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ ก็ปลาบปลื้มหลงใหลมีความสุขยิ้มแย้ม แต่ว่าพอถูกวิพากษ์วิจารณ์อาจจะเป็นเพราะการแสดงการร้องไม่ถูกใจคนจำนวนหนึ่ง หรือว่าอาจจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ถูกใจ บางทีไปมีแฟน พวกติ่งทั้งหลายไม่พอใจ ก็หาเรื่องค่อนแคะตำหนิ
คนดังหลายคนที่ไปพึงพอใจกับคำสรรเสริญ พอเจอคำตำหนิ เจอคำประชดประชัน เสียศูนย์เลยเพราะว่าไปเพลิดเพลินกับคำสรรเสริญ ถ้าไปยินดีกับคำสรรเสริญ ก็ต้องทุกข์เมื่อเจอคำตำหนิ และมันหนีไม่พ้นอยู่แล้ว สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่ใช่คนหนึ่งสรรเสริญอีกคนหนึ่งนินทาหรือติเตียน บางทีคนเดียวกันนั่นแหละวันนี้ชมพรุ่งนี้ด่า วันนี้กดไลค์วันรุ่งขึ้นกลับคอมเม้นท์แรงๆ
ที่จริงอย่าว่าแต่คนอื่นเลยที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวชอบใจเดี๋ยวไม่ชอบใจ เดี๋ยวสรรเสริญเดี๋ยวนินทา ใจเราเองก็เหมือนกัน มันก็ใช่ว่าจะอยู่ในร่องในรอย เคยสังเกตใจเราบ้างไหม เดี๋ยวก็ชอบใจเดี๋ยวก็ไม่ชอบใจ สิ่งเดียวกันเคยชอบแต่ผ่านไปไม่นาน ไม่ชอบแล้ว
บางคนมาวัด มาที่นี่ บอกชอบนะมันสงบ มันวิเวก แต่พอวันหลังมาบอก มันวังเวงน่ากลัว ยุงเยอะแมลงมาก ที่เดียวกัน สถานที่แห่งเดียวกัน วันนี้ชอบแต่ว่าวันต่อมาไม่ชอบเสียแล้ว และมันไม่ใช่ใครอื่น มันคือเรานั่นแหละ หรือใจเรา ลองสังเกตใจเราดูว่ามันเป็นอย่างไร เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย
หลวงพ่อชาเคยเล่าว่า สมัยท่านมีชีวิตอยู่ มักจะมีโยมผู้หญิง หลายคนเลยมาวัดด้วยสีหน้าเศร้าบอกว่าจะมาบวชชี เพราะว่ามีปัญหากับสามี จะขอบวชตลอดชีวิตเลย ท่านก็เตือนว่าอย่าเพิ่งตัดสินใจขนาดนั้น เอาแค่มาลองอยู่ดูก่อน หลายคนก็บอกว่า ฉันตัดสินใจแน่นอนแล้ว ฉันจะอยู่วัดไปจนตาย จะไม่หนีกลับไปอีก พอกันทีชีวิตฆราวาส ชีวิตครองเรือน
แต่พอบวชไม่เท่าไหร่ ผัวมาง้อ ก็มาบอกขอสึกเลย ฉันจะต้องกลับไปบ้านแล้ว ห่วงลูก มีข้ออ้างเยอะแยะทั้งที่เมื่อไม่กี่วันก่อนบอกจะอยู่วัดตลอดชีวิต แต่ว่าตอนนี้อยากจะกลับไปแล้ว เพียงเพราะว่าผัวมาง้อ หรือบางทีผัวไม่ง้อแต่ว่าอาจจะคิดถึงลูก อาจจะคิดถึงผัว ที่เคยยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าจะบวชไปตลอดชีวิตนี่ เปลี่ยนใจทันทีเลย
แล้วก็ไม่เฉพาะผู้หญิง หลายคนที่มาบวชพระ บ่นโอ๊ย เบื่อชีวิตทางโลกแล้ว ผมเบื่อชีวิตทางโลก ผมอยากจะมาบวช ผมจะมุ่งนิพพาน ผมจะบวชไม่สึก ชีวิตครองเรือนมันรุ่มร้อนเหลือเกิน มาหาความสงบจากผ้าเหลืองดีกว่า พอมาบวชได้ไม่ทันไร ไม่ทันครบพรรษา ร่ำร้องจะสึกแล้ว
ใจเรามันเอาแน่เอานอนไม่ได้เหมือนกัน ลองสังเกตดูใจเรา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเรื่องการบวชการสึก เรื่องความชอบความไม่ชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็จะมีทั้งเดี๋ยวชอบเดี๋ยวไม่ชอบเดี๋ยว ดีใจเดี๋ยวเสียใจ ฟังธรรมบางทีก็ชอบ แต่พออีกวันหนึ่งไม่ชอบเสียแล้ว
ไม่ใช่คนอื่นเลยที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวชอบเดี๋ยวไม่ชอบ เดี๋ยวสรรเสริญเดี๋ยวนินทา ใจเรานั่นแหล่ะก็เหมือนกัน ให้ลองสังเกตดู
ถ้าอยู่มาจนถึงวันนี้แล้ว ยังมองไม่เห็นว่าใจเรามันเอาแน่เอานอนไม่ได้นี่ แสดงว่าไม่รู้จักธรรมชาติของใจเรา และถ้าเรารู้จักธรรมชาติของใจเราว่า เดี๋ยวมันก็มีขึ้นมีลง มีชอบมีไม่ชอบ เราก็แค่ดูมันเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ดูมันแสดง ดูมันเล่นละคร
เหมือนกับเราดูละคร ที่มีจิตใจเป็นเวที ลองสังเกตดูบ้าง เดี๋ยวชอบเดี๋ยวไม่ชอบ เดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้าย บางทีเรื่องเดียวกันนั่นแหละ อาหารก็ดี เพลงก็ดี ผู้คนก็ดี สถานที่ก็ดี
ฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าใจเราเอาแน่เอานอนไม่ได้ เราก็จะไม่พลีผลามเชื่อใจของเรา เวลาชอบก็ไม่ใช่ว่าจะโจนเข้าไปหาสิ่งที่ชอบ เวลาไม่ชอบอะไรก็ไม่ใช่ว่าจะผลักไสถอยห่างสิ่งเหล่านั้น ก็ดูมันไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นความไม่แน่นอนของใจ โดยเฉพาะความชอบความไม่ชอบ เราก็รู้ว่าเชื่อมันมากไม่ได้ อย่างที่หลวงพ่อชาท่านก็สอนลูกศิษย์ว่า ใจเราอย่าไปเชื่อมันนะ เชื่อไม่ได้ แต่ถึงแม้มันแปรเปลี่ยนไป เราก็ไม่ต้องทุกข์กับมัน ก็แค่ดูมันไปเรื่อยๆ ดูมันขึ้นดูมันลง ดูมันดีใจดูมันเสียใจ ไม่หลงเชื่อมันง่ายๆ
อันนี้ก็ทำให้เราได้รู้จักตัวเองได้ดีขึ้น รู้จักใจของเรา ความชอบใจความไม่ชอบใจของคนอื่น เราก็รับรู้ว่ามันเป็นธรรมดา ไม่ปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มเมื่อคนชม ไม่ปล่อยใจจมดิ่งอยู่ในความทุกข์เมื่อมีคนตำหนิ เพราะเรารู้ว่าทำอะไรก็ตาม แม้จะดีแค่ไหน ก็มีคนไม่พอใจอยู่นั่นเอง
หรือแม้แต่ทำแย่ๆ มันก็ยังมีคนที่สรรเสริญเรา พอใจ เอานิยามไม่ได้ว่า สิ่งที่เราทำ ถ้ามีคนพอใจ แสดงว่าดี สิ่งที่เราทำ ถ้ามีคนไม่พอใจ แสดงว่าไม่ดี อันนั้นก็ไม่ใช่ เอาความรู้จักแยกแยะ มีวิจารณญาณ ไม่หวั่นไหว ใจกระเพื่อมไปกับเสียงสรรเสริญนินทา
ขณะเดียวกัน ความพอใจความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในใจ ก็แค่ดูมันเฉยๆ เห็นมัน หาประโยชน์จากมันให้ได้ ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แม้แต่คำต่อว่าด่าทอก็มีประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ที่ให้บทเรียนกับเรา แม้แต่ถูกด่าก็ยังเห็นสัจธรรม อันนี้หลวงพ่อคำเขียนเคยสอนเอาไว้ ใจที่ขึ้นที่ลงก็เหมือนกันนะ มันก็สอนอะไรเรามากมาย ให้เห็นว่าใจมันไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเราเลย คุมไม่ได้
และสิ่งนี้จะทำให้เราเกิดปัญญา เมื่อเจอความไม่เที่ยง ไม่ว่าสรรเสริญหรือนินทา ไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวางใจไม่เป็น ก็ทุกข์ หรือไม่ก็พลาดท่าเสียทีกิเลสได้.