พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 31 มกราคม 2567
ที่ประเทศฝรั่งเศส มีร้านเครื่องสำอางชื่อดังอยู่ร้านหนึ่งซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ แล้วก็ขยายไปหลายประเทศ ชื่อร้านเซโฟร่า (Sephora) อันนี้อาตมาก็เคยได้ยินมา แต่ไม่เคยไป ไม่เคยเข้าด้วย เป็นร้านที่ขายเครื่องสำอางราคาแพง เครื่องประทินโฉมนานาชนิด แบรนด์เนมทั้งนั้น
ปกติลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีฐานะ และเดี๋ยวนี้คงจะรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีเงินด้วย แต่ระยะหลังพบว่ามีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาร้านนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ คือเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ ไม่ใช่แค่มาดูแต่ซื้อด้วย ซื้ออะไร ซื้อเครื่องสำอาง เครื่องประทินโฉม โดยเฉพาะสินค้าที่ชะลอวัย 10 ขวบซื้อเครื่องประทินโฉมที่ชะลอวัย บำรุงผิว ทำให้ผิวกระชับ และลดความเหี่ยวย่น
คือถ้าเป็นผู้หญิงวัยกลางคน อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเด็ก 10 ขวบ มาสนใจเรื่องการทำให้ผิวตึง ชะลอวัย เพราะกลัวแก่ หรือว่าอยากจะให้ผิวกระชับ ไม่มีริ้วรอยหรือความเหี่ยวย่น อันนี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เพราะว่าธรรมดาของเด็ก 10 ขวบ พูดถึงผิวก็ดีอยู่แล้ว ด้วยอายุไม่มาก เด็กหลายคนกลับรู้สึกว่าตัวเองกลัวแก่ เลยต้องซื้อพวกเครื่องประทินโฉมที่ชะลอวัย
นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เขาพบว่าเห็นได้ง่ายขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ เด็กสาวไปช้อปปิ้งที่ร้านเซโฟร่า (Sephora) เยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการพูดกันด้วยความวิตกกังวล เพราะอะไร เพราะมันแสดงว่าเด็กจำนวนไม่น้อยคงจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย หรือว่าตัวเองแก่ หรือกลัวแก่ อันนี้มันเป็นเพราะอะไร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะค่านิยมของสังคมที่ให้คุณค่ากับเรื่องความสวยความงาม แล้วก็ค่านิยมที่กลัวแก่ ชื่นชมความเป็นหนุ่มเป็นสาว
แต่เด็กเหล่านี้ยังไม่ทันเป็นสาวเลยแต่ก็กลัวแก่เสียแล้ว แล้วก็พบว่าอิทธิพลสำคัญก็คือโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เพราะว่าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ ในโซเชียลมีเดียเหล่านี้ จะพูดถึงความสวยความงามเยอะมาก โดยเฉพาะมีการเชิดชูคนสวย เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ต่างคนต่างก็ประชันโฉมกันผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านอินสตาแกรม
แล้วก็แน่นอนส่วนใหญ่คงจะผ่านการตกแต่ง แต่งหน้า หรือว่าประทินโฉม หรือว่าเสริมทรง ยังไม่นับประเภทตกแต่งภาพด้วยแอปต่างๆ ให้ดูสวยดูงามกว่าความจริง
ภาพและเรื่องราวเหล่านี้ที่มันปรากฏในเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้คนเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าหน้าตาไม่สะสวย เพราะไปเทียบกับดารา นักร้อง นักแสดง เทียบจากไหน ก็เทียบจากโซเชียลมีเดีย จากเฟซบุ๊ก จากอินสตาแกรม โดยที่ไม่ได้เฉลียวใจว่าภาพที่เห็นมันก็เกิดจากการเติมแต่ง ปรุงแต่งภาพ เติมแต่งภาพ หรือว่าการเสริมทรงตกแต่งหน้าตาสารพัด
เดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ ทำให้บรรทัดฐานความสวย ความงาม หรือความหนุ่มสาวมันสูงขึ้น
แต่ก่อนนี้บรรทัดฐานความสวยความงามมันไม่ถึงขนาดนี้ แต่พอมันสูงขึ้นคนทั่วไปก็รู้สึกว่าตัวเองขี้เหร่ไม่สวยทั้งๆ ที่หน้าตาก็ดีอยู่แล้ว แต่พอไปเทียบกับดาราคนดังเหล่านั้น ก็รู้สึกว่าตัวเองหน้าตาไม่ค่อยดีเท่าไร ผิวคล้ำไม่ขาวเท่าที่ควร หรือว่าอ้วน และค่านิยมเหล่านี้มันก็ส่งผลไปถึงเด็กด้วยเด็กก็ซึมซับ
ถึงแม้ว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้มันจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องของคนหนุ่มคนสาวเขาคุยกัน แต่ว่าเด็กเล็กๆ 10 ขวบ หรืออาจจะต่ำกว่านั้น ก็ซึมซับรับเอาบรรทัดฐานความสวยความงามเหล่านี้เอามาเทียบกับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองด้อยไม่สวย
และยิ่งสังคมโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียมันให้คุณค่ากับความสวยความงามมากขึ้น เด็กที่ไม่สวยตามมาตรฐาน ซึ่งมันก็คงยังไม่ได้ เพราะยังเป็นเด็กอยู่ พอรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยตามมาตรฐานก็รู้สึกด้อยค่าตัวเอง รู้สึกเกลียดตัวเอง แทนที่จะภูมิใจว่าฉันเป็นคนที่มีคุณธรรม มีความดี แทนที่จะให้ค่ากับเรื่องสติปัญญา หรือว่าเรื่องของสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต กลับมองข้าม ไปให้ค่ากับเรื่องหน้าตามากเกินไปเด็กก็เลยรู้สึกด้อย
ยิ่งไปโรงเรียนถูกเพื่อนล้อ เดี๋ยวนี้เขาก็ล้อกันเรื่องนี้แหละ แทนที่จะล้อเรื่องนิสัยใจคอว่าไม่มีน้ำใจ เห็นแก่ตัว ก็มาล้อเรื่องว่ามีสิว หรือว่าไม่สวยอย่างโน้นไม่สวยอย่างนี้เด็กก็รู้สึกด้อย ก็เลยขวนขวายไปหาซื้อเครื่องสำอางราคาแพง เพื่อช่วยชะลอวัย แล้วเอาเงินมาจากไหนน่าคิด ก็เอาเงินมาจากพ่อแม่นั่นแหละ
อันนี้คือปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นในเมืองนอก เขาเคยสอบถามผู้ปกครองของเด็ก อายุ 8-18 ขวบ บอกว่าเด็กห่วงใยเรื่องอะไร กังวลเรื่องอะไร ปรากฏว่าอันดับหนึ่งคือเรื่องของผิวแล้ว ก็เรื่องของสิว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ รองลงมาก็เป็นเรื่องของน้ำหนัก รู้สึกว่าอ้วนไป
อันนี้เป็นปัญหาของเด็กหลายคนไม่ยอมกินอาหารเลย หรือกินแล้วก็พยายามอาเจียนให้ออกมา เพราะรู้สึกว่าตัวเองอ้วนไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้อ้วนอะไรเลย แต่ว่าไปเทียบกับดาราแล้วเราทำท่าจะอ้วนไปแล้ว ถูกเพื่อนล้ออีกต่างหาก แล้วก็ไม่ยอมกิน หรือถ้ากินเข้าไปแล้วก็เอานิ้วไปล้วงให้อาเจียนออก เกิดปัญหาการกินขึ้นมาในหมู่วัยรุ่น และก็เริ่มลามไปถึงเด็กๆ
เรื่องของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ มันก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากจนกระทั่งในหลายๆ ประเทศเขาก็เริ่มที่จะควบคุมแล้ว อย่างเช่นเมื่ออาทิตย์ที่แล้วรัฐฟลอริดา เขาออกกฎหมายว่าเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ห้ามมีบัญชี มีแอคเคาท์ในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม แล้วก็ในบางรัฐ อย่างเช่น รัฐยูทาห์ ควบคุมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง จนถึง 6 โมงเช้า
หลายประเทศเดี๋ยวนี้เขาคุมมากเลย เพราะเขาพบว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนมาก หลายคนฆ่าตัวตายเพราะว่าถูกล้อในเรื่องสารพัด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหน้าตาอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องที่ฉาบฉวยด้วย และนั่นก็เป็นโทษอันตรายมากสำหรับเด็กและเยาวชน แต่เมืองไทยเราไม่ค่อยตื่นตัว หรือตระหนักในเรื่องนี้ แต่ว่าผลร้ายมันก็จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการควบคุม อย่างน้อยก็โดยพ่อแม่ ซึ่งก็ต้องใช้อุบายที่ดีไม่ใช่ว่าห้ามเด็ดขาด อันนี้ไม่ได้ผล แต่ก็ต้องมีวิธีที่จะช่วยทำให้เด็กเขารู้จักใช้โซเชียลมีเดีย หรือว่ารู้จักพินิจพิจารณา มีวิจารณญาณ หรือว่าจำกัดเวลาที่ใช้ให้มันน้อยลง
แล้วก็ให้เด็กเขาได้รับรู้ถึงค่านิยมที่ดีๆที่มีคุณค่า เช่น เรื่องสติปัญญา เรื่องของคุณธรรม ให้มีความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง แม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะไม่สวยเหมือนดาราที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกด้อย หรือไม่ได้รู้สึกเกลียดตัวเอง.