พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 20 เมษายน 2567
เวลาพวกเราเดินทางโดยรถทัวร์หรือเครื่องบิน คงจะเคยเจอมีเด็กอ่อนเด็กเล็กร้องไห้เสียงดังเลย ถ้าเกิดว่าอยู่บนรถไฟก็ยังพอหลีกเสียงนั้นได้ เดินไปตู้อื่น หรือว่าถ้าเป็นรถประจำทางสายสั้น ก็อดทนรอหน่อยเดี๋ยวก็ลงแล้ว
แต่เวลานั่งรถทัวร์หรือนั่งเครื่องบินใช้เวลานาน อย่างมากก็หนึ่งชั่วโมงบางทีหลายชั่วโมง แล้วเวลาเจอเด็กร้อง หลายคนจะรู้สึกหงุดหงิด เพราะว่าเด็กร้องไม่หยุด แต่บางทีเราก็สงสาร สงสารทั้งเด็ก สงสารทั้งแม่หรือผู้ปกครองที่พาเด็กมา
เวลาเด็กร้องแล้วไม่รู้จะทำยังไง จะตะล่อมหรือว่ากล่อมเด็กยังไง เด็กก็ยังไม่ยอมหยุดร้อง ร้องอยู่นั่นแหละ คนเป็นแม่หรือผู้ปกครอง ก็คงไม่สบายใจที่ลูกของตัว หรือว่าเด็กของตัวสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสาร แล้วบางทีพอหงุดหงิดมากๆ ก็ระบายใส่ลูก ใส่เด็ก ทำไมไม่หยุดร้องสักที คนทั้งรถหรือคนทั้งเครื่องบินเขาหงุดหงิดกับฉันมากพอแล้ว เป็นสถานการณ์ที่ลำบากมาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่ลูก ลูกก็อายุแค่ 4 เดือนต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน จากโซล เกาหลีไปอเมริกา เข้าใจว่าเป็นแคลิฟอร์เนีย ต้องเดินทางอยู่บนเครื่องบิน 10 ชั่วโมง เธอก็คงคิดถึงปัญหานี้
ฉะนั้นเวลาขึ้นเครื่องบิน เธอก็จะแจกถุงพลาสติกให้กับผู้โดยสารทุกคนเลย ซึ่งมีเกือบ 200 คน ในถุงพลาสติกนั้นก็มีลูกอม มีหมากฝรั่ง แล้วก็มีหูฟัง ให้ทำไม ให้เหมือนกับเป็นเครื่องหมายของการขอโทษ ขอโทษผู้โดยสารคนอื่น ถ้าเกิดว่าลูกของฉันส่งเสียงร้องดัง เพราะว่า 10 ชั่วโมงเด็กยังไงก็ต้องร้อง ยิ่งแค่ 4 เดือน
แม่คนนี้แกน่ารัก เข้าใจความรู้สึกของผู้โดยสารคนอื่น ถ้าเกิดว่าลูกของเธอส่งเสียงร้อง ก็เลยอยากจะแสดงความขอโทษ ถ้าเกิดว่าลูกเธอจะร้อง ด้วยการแจกของที่ว่า และในถุงพลาสติกนั้น นอกจากลูกอม หมากฝรั่ง แล้วก็ที่อุดหู ยังมีกระดาษเป็นจดหมายน้อย
ข้อความทำนองนี้ “สวัสดีครับ ผมชื่อเจวุน ตอนนี้ผมอายุ 4 เดือนครับ ผมกำลังจะเดินทางกับแม่แล้วก็ย่าเพื่อไปเยี่ยมน้าที่อเมริกา ผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย กลัวด้วย เพราะเป็นการเดินทางครั้งแรกในชีวิตของผม เพราะฉะนั้นผมอาจจะร้องไห้ หรือว่าก่อความรบกวนทุกท่าน ต้องขออภัยด้วย ผมจะพยายามทำตัวให้สงบเสงี่ยม
แต่ผมก็รับปากไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าผมเกิดร้องขึ้นมา หรือก่อความไม่สะดวกให้กับพวกท่าน ผมต้องขออภัยด้วยครับ ของที่ใส่ไว้ในถุงเอาไว้ให้ท่าน เวลารู้สึกว่าเสียงผมดังเกินไปก็ช่วยใช้ด้วยครับ” แล้วจดหมายน้อยก็ตบท้ายว่า ให้ทุกท่านเดินทางอย่างราบรื่น
ใครที่เจอถุงพลาสติกจากแม่ลูกอ่อน มีข้อความอย่างนี้ก็คงอดยิ้มไม่ได้ แล้วก็คงจะรู้สึกว่าถ้าเด็กร้องก็เข้าใจได้ ให้อภัยเด็กได้ จะเรียกว่าไม่ใช่แค่มารยาทของผู้เป็นแม่ แต่ว่าเป็นความรู้สึกเกรงใจผู้โดยสาร ซึ่งก็จะทำให้ได้ต้องรู้จักแคร์ รู้จักใส่ใจ แล้วก็มีความเกรงใจด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ความใส่ใจ ความเกรงใจคนอื่น เริ่มหายากไปทุกที หรือว่าคนไม่รู้จักแสดงออก
ในหลายประเทศเขาใส่ใจเรื่องนี้มาก อย่างนี้ญี่ปุ่นเวลาเรานั่งรถไฟฟ้า นั่งรถเมล์ ทุกคนจะปิดเสียงโทรศัพท์ จะใช้ระบบสั่นสะเทือน และไม่มีการพูดคุยกันเลยทางโทรศัพท์ จะติดต่อใครก็ใช้วิธีเขียนข้อความแชท เราจะเห็นคนในญี่ปุ่นไม่ว่าวัยใด ถ้าไม่อ่านหนังสือก็นั่งจ้องจอโทรศัพท์แล้วก็กดนั่นกด กดเร็วมาก กดด้วยนิ้วโป้ง บางทีแค่มือเดียวเท่านั้น
แต่บรรยากาศที่เหมือนกันคือ ความสงบ แม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่าชิงกันเซ็น ข้างนอกเสียงดัง เพราะว่ารถวิ่งเร็วมากแต่ข้างในนี้สงบมาก เพราะคนมีมารยาท เกรงใจผู้อื่น ไม่พูดโทรศัพท์กันเลย คุยกันก็คุยกันแต่น้อย ซึ่งอันนี้ต่างจากหลายๆ ที่ รวมทั้งเมืองไทยด้วย
เมืองไทยผู้คนไม่ค่อยรู้จักวิธีใช้โทรศัพท์เท่าไหร่ ที่บอกว่าวิธีใช้โทรศัพท์นี้ไม่ได้หมายถึงเชิงเทคนิค แต่หมายถึงว่าใช้อย่างไรที่จะไม่รบกวนคนอื่น อันนี้เป็นมารยาทที่สังคมสมัยใหม่ควรจะมี
มารยาทบางอย่างมันเป็นของเก่าแล้ว เช่น ตอนเด็ก ๆ เราถูกสอนว่า อย่าเดินเสียงดัง มารยาทนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าสมัยก่อน พื้นเป็นพื้นไม้ อย่างพื้นศาลาหอไตรที่นี่เป็นพื้นไม้ ถ้าเดินเสียงดังมันก็รบกวนคนอื่น แต่เดี๋ยวนี้พื้นเป็นพื้นซิเมนต์พื้นปูน เดินยังไงก็ไม่ดัง มารยาทตรงนี้มันก็ล้าสมัย แต่มารยาทใหม่ก็ไม่มาแทนที่
มารยาทใหม่คืออะไร ก็คือว่า การใช้โทรศัพท์โดยที่ไม่รบกวนคนอื่น หรือว่าการดูหนังในโรงหนังที่ไม่รบกวนคนอื่น พวกนี้เป็นของใหม่ เพราะร้อยปีก่อนมันยังไม่มีคนดูหนังในโรง เพราะมันไม่มีโรงหนัง ไม่มีมารยาทเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือเพราะว่ามันเป็นของใหม่ แต่พอมีโทรศัพท์มือถือเข้ามา และใช้กันอย่างแพร่หลาย เรายังใช้ไม่เป็น เราก็ยังไม่รู้จักปิดเสียง เวลาอยู่ท่ามกลางผู้คน
รวมทั้งเวลาเดินทาง ก็ยังคุยโทรศัพท์กัน หรือแม้กระทั่งดูหนังแม้จะไม่คุยโทรศัพท์ แต่ว่าพอใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊ก แสงสว่างหน้าจอก็ไปรบกวนคนข้างๆ แบบนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น เขามองหน้าเลย เพราะแสดงว่าไม่มีมารยาท ไม่มีมารยาทเพราะว่าอะไร เพราะไม่สนใจคนอื่น ไม่รู้จักเกรงใจ
คนไทยคำว่าเกรงใจ เป็นคำที่ไม่มีในภาษาอื่นหายาก ไม่รู้ญี่ปุ่นมีคำว่าเกรงใจหรือเปล่า แต่พฤติกรรมเขาแสดงความเกรงใจ หรือคนเกาหลีแม่ลูกอ่อนคนที่ว่า เขาเกรงใจเพราะใส่ใจ แคร์ความรู้สึกของคนอื่น จึงเกิดความรู้สึกเกรงใจ แล้วก็รู้ว่าจะทำตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ตัวเองหรือว่าลูกหลานของตัวเองรบกวนคนอื่น
แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนในเมืองไทยไม่ค่อยใส่ใจว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันจะส่งผลกระทบกับคนอื่น นั่งรถไฟ นั่งรถทัวร์ นั่งรถไฟฟ้าก็คุยโทรศัพท์กันเสียงดัง ดูหนังในโรงก็คุยกัน หรือว่าเปิดโทรศัพท์มือถือใช้งานกัน อันนี้เรียกว่า เรายังไม่พัฒนาเรื่องของมารยาท เพราะว่ามันเป็นของใหม่
แต่ที่จริงถึงแม้เป็นของใหม่แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเกิดว่าเราใส่ใจ พอเราใส่ใจก็จะมีความเกรงใจ มันก็เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ไม่มีความเกรงใจ แต่ถ้ารู้จักเคารพสิทธิของคน ก็ยังได้
ฝรั่งไม่มีคำว่าเกรงใจ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งคือการเคารพสิทธิ สิทธิของคนอื่นที่จะได้รับความสงบ สิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนจากเสียงรอบข้าง การเคารพสิทธิก็เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เป็นเรื่องของเมตตากรุณา แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรพัฒนาให้มีขึ้น ให้กลายเป็นคุณธรรม เพราะถ้ามีแล้ว สังคมก็จะราบรื่น.