พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 18 เมษายน 2567
มีผู้ชายคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุต้องพิการตลอดชีวิต จึงต้องนั่งเก้าอี้รถเข็นตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ ชายคนนี้ตอนที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุเป็นคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ตอนที่เกิดอุบัติเหตุอายุยังไม่มาก ยังหนุ่มอยู่
พอต้องมานั่งเก้าอี้รถเข็น เพื่อน ๆ รู้สึกสงสาร เห็นใจ หลายคนถามเขาว่ารู้สึกลำบากใจมากไหมที่ต้องถูกขังอยู่ในที่คับแคบแบบนี้ ชายคนนี้ยิ้มแล้วบอกว่า “ผมไม่ได้รู้สึกว่าถูกขังอยู่บนเก้าอี้รถเข็นนี้เลย ที่จริงผมเป็นอิสระได้ก็เพราะมันนี่แหละ เพราะว่าถ้าไม่มีก็มีรถเข็น ผมก็ต้องนอนติดเตียง แล้วก็ไม่สามารถจะออกไปไหนจากบ้านได้เลย”
เขาตอบดีนะ ขณะที่เพื่อนมองว่าชายคนนี้ถูกขังอยู่บนเก้าอี้รถเข็น ชายคนนี้กลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระเพราะมันต่างหาก ไม่อย่างนั้นก็ต้องนอนติดเตียง ออกจากบ้านไม่ได้เลย เป็นมุมมองที่เพื่อน ๆ นึกไม่ถึง
คล้าย ๆ กับผู้ชายคนหนึ่ง หนุ่มเหมือนกัน ชอบชวนนักศึกษาไปออกค่าย ไปเป็นจิตอาสาตามโรงเรียนในชนบท มีคราวหนึ่งพานักศึกษาไปแม่ฮ่องสอน ขากลับระหว่างที่นั่งรถตู้ลงจากเขาซึ่งมีโค้งเยอะมาก ปรากฏว่ารถเกิดพลาด ตกจากไหล่เขา เดชะบุญ ไม่มีใครตาย นักศึกษาทุกคนปลอดภัย ยกเว้นตัวเขา พิการตั้งแต่ส่วนล่างลงมา ต้องนั่งรถเข็นเหมือนกัน แกเรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ล้อ
มีเพื่อน ๆ และคนรู้จักหลายคนมาพูดกับแกด้วยความรู้สึกสงสารแล้วตัดพ้อกลายๆ ว่า “นี่ขนาดคุณไปทำบุญ ยังเกิดอุบัติเหตุ ในใจคงรู้สึกว่า ทำไมทำบุญหรือทำดีแล้วไม่ได้ดี” ชายคนนี้ตอบว่า “ก็เพราะว่าผมทำบุญนะสิ ผมจึงเหลือตั้งเท่านี้” เหลือตั้งเท่านี้คืออะไร เหลือครึ่งตัว ถ้าไม่ทำบุญมาอาจจะไม่เหลือเลย หรืออาจจะพิการตั้งแต่คอลงมาก็ได้
แกมองดีนะ รู้จักมองบวก มองบวกหมายความว่ารู้จักมองเห็นสิ่งดี ๆ ท่ามกลางสิ่งที่แย่ หรือมองเห็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในยามที่ประสบทุกข์ ประสบอุปสรรค
คนเราเวลาเจอเหตุร้ายที่ไม่ปรารถนา เป็นธรรมดาที่เราจะพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ แต่ถ้าเราเปลี่ยนไม่ได้ หรือว่าทำเต็มที่แล้วก็ได้เท่านี้แหละ อย่างน้อยมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือ ทำใจ ร่างกายนี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะว่าพิการตลอดชีวิต อย่างมากก็แค่ทำกายภาพบำบัด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำได้มากคือทำใจ
ทำใจก็คือรู้จักมอง มองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามีข้อดีอย่างไรบ้าง ดีตรงที่ว่าส่วนหนึ่งของเรายังดีอยู่ เราแย่ครึ่งตัวเท่านั้น ส่วนบนเรายังดีอยู่ ส่วนล่างเราเท่านั้นที่แย่ ถือว่าเพราะทำบุญ หรือเรายังดีที่เรายังไปไหนมาไหนได้เพราะรถเข็น รถเข็นไม่ได้เป็นคุกขังเราเลย แต่ทำให้เราเป็นอิสระต่างหาก
ถ้ามองว่ารถเข็นเป็นคุก จะรังเกียจรถเข็น แต่ถ้ามองว่าเราเป็นอิสระได้เพราะรถเข็น จะขอบคุณรถเข็น แล้วถ้ามองแบบนี้ได้ก็ไม่ทุกข์
แต่ถ้ามองตรงข้ามว่า ทำไมเราทำบุญมา ยังต้องมาเจอแบบนี้ อันนี้ทุกข์ซ้ำสองเลย ไม่ได้ทุกข์กายอย่างเดียว ทุกข์ใจด้วย หรือว่าประสบอุบัติเหตุแล้วยังรู้สึกว่า นอกจากจะไปไหนมาไหนลำบากแล้ว ยังรู้สึกว่าถูกขังอยู่บนรถเข็น อย่างนี้คือการมองแบบซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง ทุกข์กายไม่พอ ทุกข์ใจด้วย
เราต้องรู้จักมองในทางที่ไม่ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจของเรา วิธีหนึ่งก็คือ มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ไม่ดี
อย่างเช่น อากาศร้อน ถ้ามองไม่เป็นก็ทุกข์ หงุดหงิด แต่ถ้ามองเป็น “เออ ดีนะที่ไม่มีน้ำท่วม เพราะถ้าน้ำท่วมนี่เดือดร้อนเลย แถมรถจะต้องติดหนัก ตอนนี้จราจรไปไหนมาไหนดีขึ้นเพราะไม่มีน้ำท่วม” หรือว่า “หน้าร้อนก็ดี ไม่มีมันแมลง ไม่มียุงมารบกวน ถ้าเป็นหน้าฝน เย็นก็จริง แต่ว่ายุงเยอะ”
มองแบบนี้ก็ไม่มีเหตุผลจะต้องมาบ่น อะไรที่เราแก้ไม่ได้หรือทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยให้ระลึกว่ามีอย่างหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำใจ หรือ เปลี่ยนที่ใจของเรา เปลี่ยนมุมมอง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ทุกเช้าขึ้นมาเราจะตื่นมาอย่างมีความสดชื่น เพราะว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็ยังกินอิ่ม นอนอุ่น ยังมีคนรักอยู่รอบข้างเรา ต้องหัดมองอย่างนี้ให้เป็นนิสัย ไม่อย่างนั้นพอถึงเวลาที่เจอเหตุร้ายจะมองแบบนั้นไม่ได้ถ้าหากว่านิสัยเราเป็นนิสัยที่ชอบมองอะไรในทางลบ
นิสัยที่มองในทางลบเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจากการที่ชอบเห็นอะไรในทางวิพากษ์วิจารณ์ เห็นแต่ข้อเสีย เห็นแต่ข้อบกพร่อง ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบบ่น ถ้ามีนิสัยแบบนี้จะให้มองบวก มองยากมาก จะมองแต่ลบอย่างเดียว แล้วมันก็ซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ
อีกอย่างหนึ่งคือต้องรู้จักเปรียบเทียบให้เป็น ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่เขาดีกว่า หรือช่วงวันเวลาที่ดีกว่านี้ เราจะทุกข์
อย่างชายคนที่นั่งเก้าอี้รถเข็น ถ้าแกเปรียบเทียบกับคนที่เขายังเดินเหินไปไหนมาไหนได้ วิ่งเล่นไปไหนมาไหนได้ แกจะทุกข์ แต่แกเปรียบเทียบกับคนที่นอนติดเตียง พอเปรียบเทียบกับคนที่นอนติดเตียง คนที่ติดคุกติดตาราง หรือว่าออกไปไหนจากบ้านไม่ได้ “โอ้ เราสบายกว่าเขาเยอะเลย” แกมีความสุข
การรู้จักมอง รู้จักเปรียบเทียบนี้สำคัญ ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่เขารวยกว่าเรา เราก็ทุกข์ เพราะจะรู้สึกว่าจนอยู่เสมอ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่เขาลำบากกว่าเรา เราก็จะมีความสุขที่เรายังกินอิ่ม นอนอุ่น
คนที่ชอบมองอะไรแบบสมบูรณ์แบบจะทุกข์ได้ง่าย ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น แม้สุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ก็ยังทุกข์ แต่ว่าคนที่เขารู้จักเปรียบเทียบ แม้พิการ นั่งรถเข็น ก็ยังยิ้มได้ มีความสุขได้
เราต้องรู้จักมองแบบนี้ให้เป็นนิสัย จะช่วยเราได้ โดยเฉพาะในยามที่เราทำอะไรไม่ได้ ถ้าเรายังทำอะไรได้ก็ควรจะทำ แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้แล้ว ให้ระลึกว่ามีอย่างหนึ่งที่เราทำได้ ก็คือทำใจ หรือเปลี่ยนที่มุมมองของเรา
เราต้องทำให้เป็นนิสัย เพราะไม่อย่างนั้นนิสัยเดิมจะคอยเป็นอุปสรรคขัดขวางหรือครอบงำจิต ให้มองอะไรแต่ในทางลบอยู่เสมอ แม้ได้เท่าไรก็ยังรู้สึกทุกข์ เพราะยังได้ไม่พอ หรือได้น้อยกว่าคนอื่น เป็นทุกข์ร่ำไปเพราะเหตุนี้.