แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 29 มกราคม 2567
เมืองจีน หลายร้อยปีก่อนมีแม่ทัพคนหนึ่งเล่นหมากล้อมเก่งมาก ไม่เคยแพ้ใครเลย วันหนึ่งได้รับบัญชาให้ไปออกรบ ระหว่างที่กรีฑาทัพผ่านหมู่บ้านหนึ่ง เหลือบไปเห็นบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านหลักเล็กๆ ติดป้ายว่า “หมากล้อมอันดับ 1 ของแผ่นดิน” พอเห็นป้ายนี้เท่านั้น แม่ทัพรู้สึกถูกท้าทาย อดรนทนไม่ได้ก็เลยให้หยุดทัพ แล้วลงจากหลังม้าไปถามหาเจ้าของบ้าน ชวนเล่นหมากล้อมด้วย ปรากฏว่าเล่นไปได้ 3 ตา แม่ทัพชนะทั้ง 3 ตาเลย ดีใจมาก หัวเราะเยาะใส่เจ้าของบ้าน แล้วก็บอกว่า “ปลดป้ายได้แล้ว” เสร็จแล้วขึ้นม้าเดินทางไปออกรบด้วยความดีใจ ผ่านไปไม่นาน เมื่อแม่ทัพได้ชัยชนะจากศึกสงคราม กลับมายังที่เดิม ผ่านหมู่บ้านนั้นก็เห็นบ้านหลังที่ตัวเองเคยลงไปท้าดวลหมากล้อม เขายังคงติดป้ายนั้นอยู่ ป้ายว่าหมากล้อมอันดับ 1 ของแผ่นดิน ก็เลยหยุดทัพ แล้วก็ลงไปจากหลังม้าเพื่อที่จะไปท้าดวลกับเจ้าของบ้านหลังนั้น กะจะสั่งสอนให้รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ปรากฏว่าเล่น 3 ตา แม่ทัพแพ้ทั้ง 3 กระดานเลย
แม่ทัพประหลาดใจมาก แล้วถามว่า “เป็นไปได้ยังไง ก่อนหน้านี้ฉันชนะเจ้าได้ทั้ง 3 กระดานเลย แต่ครานี้ทำไมถึงแพ้ทั้ง 3 กระดานรวด” เจ้าของบ้านคนนั้นพูดว่า “ครั้งก่อนท่านแม่ทัพกำลังจะไปออกรบ ข้าน้อยก็ไม่อยากทำให้ท่านเสียกำลังใจ แต่คราวนี้ท่านแม่ทัพได้รับชัยชนะจากศึกสงครามแล้ว ข้าน้อยก็เลยไม่ออมแรงแล้ว” ก็แสดงว่าเจ้าของบ้านนี้เก่งจริงๆ แต่แม้ว่าจะเก่ง ธรรมดาคนเก่งก็ย่อมมีความถือตัวว่า “ฉันเก่ง” “กูแน่” แล้วก็ไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ แต่เจ้าของบ้านคนนี้แกยอม แกยอมแพ้แม่ทัพเพราะอะไร เพราะแกรู้ว่าแม่ทัพกำลังจะไปทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ถึงแม้ว่าเจ้าของบ้านจะเก่งเพียงใด แต่ก็ไม่ยอมให้ความเก่งหรือความยึดมั่นในอัตตาว่า กูเก่ง มาครอบงำใจ จนกระทั่งลืมนึกถึงสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า
ที่จริงแล้วเจ้าของบ้านหลังนั้นสามารถจะเอาชนะแม่ทัพคนนั้นได้ไม่ยาก แต่เลือกที่จะยอมแพ้ เพราะเห็นแก่สิ่งอื่นที่สำคัญกว่าชัยชนะของตัว นั่นก็คือชัยชนะของบ้านเมืองหรือของแผ่นดิน อันนี้ก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ธรรมดาคนเก่ง ยิ่งเก่งมากเท่าไหร่ มันก็จะมีความยึดมั่นสำคัญหมายว่า “กูแน่ กูแน่” อันนี้เป็นธรรมดาของอัตตา ซึ่งมันจะไม่ยอมแพ้ ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะชนะก็จะไม่ยอมแพ้ แต่ว่าเจ้าของบ้านรายนี้ไม่ยอมให้อัตตามันครองใจ จนกระทั่งลืมนึกถึงสิ่งที่สำคัญกว่า หรือมองข้ามสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม พูดง่ายๆ คือว่าไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้นึกถึงแต่การสนองปรนเปรออัตตา แต่คนจำนวนไม่น้อย เมื่อพบว่าตัวเองเก่ง ไม่ว่าเก่งทางใดก็ตาม ก็มักจะปล่อยให้อัตตาหรือความยึดมั่นถือมั่นว่า กูเก่ง นี้มันครองใจ จนกระทั่งลืมนึกถึงสิ่งอื่นซึ่งสำคัญกว่า แล้วมันไม่ใช่แค่ความเก่งอย่างเดียว บางครั้งความถูกต้อง ถ้าหากว่าเราไปยึดมั่นถือมั่นว่า “ฉันถูก” ถ้าปล่อยให้ความยึดมั่นถือมั่นว่า “กูถูก กูถูก” นี้มันครองใจ ก็อาจจะละเลยหรือว่าลืมสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า
มีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ลูกอยู่กัน 3 คน แม่ไม่สบายมาก พ่อก็เลยบอกให้ลูกซึ่งเป็นวัยรุ่นรีบไปซื้อยาจากร้านของซินแสซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของคลอง “พ่อจะดูแลแม่ ส่วนลูกนี้ให้รีบไปซื้อยามาเร็วๆ” ลูกก็รีบไปทันทีเลย แต่ว่าผ่านไป 2-3 ชั่วโมง ลูกก็ยังไม่กลับ อาการแม่ก็แย่ลงไปเรื่อยๆ ผู้เป็นพ่อก็เลยร้อนใจ ออกไปตามหาลูก ปรากฏว่าพอเดินไปถึงสะพาน ก็ไปเจอลูกยืนอยู่กลางสะพาน เป็นสะพานที่แคบ กำลังประจัญหน้ากับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง พ่อก็เลยขึ้นสะพานไปถามลูกว่า “ทำไมไม่รีบเอายามาให้แม่” ลูกก็ตอบว่า “ก็ไอ้ผู้ชายคนนี้มันไม่ยอมหลีกทางให้ผมเลย ผมขึ้นสะพานก่อนมัน แต่ว่าพอถึงกลางสะพานแล้ว มันไม่ยอมหลีกทางให้ผม” ดูจากสารรูปของลูกชาย เหงื่อโชกเลย แสดงว่ายืนอยู่บนสะพานนี้มา 2-3 ชั่วโมงแล้ว พ่อก็เลยบอกลูกว่า “งั้นลูกยืนต่อไป แต่ว่าเอายามาให้พ่อ เดี๋ยวพ่อเอายาไปให้แม่เอง” ลูกชายก็เลยยืนอยู่ตรงนั้น ไม่ยอมไปไหน เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหลีกทางให้ ก็ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่กว่าชายหนุ่มคนนั้นมันจะกลับไปถึงบ้านได้ เพราะทั้งสองคนก็ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ฝ่ายผู้ที่เป็นลูกชายก็ไม่ยอมหลีกทางให้อีกคนหนึ่ง เพราะว่าถือว่าตัวเองนี้ขึ้นสะพานก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรที่จะหลีกทางให้ไอ้หนุ่มคนนั้น ไอ้หนุ่มคนนั้นมันขึ้นสะพานทีหลัง ควรจะหลีกทางให้
ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถือว่า “กูถูก กูถูก” ฝ่ายแรกฝ่ายหนุ่มแปลกหน้าที่ไม่ยอมก็อาจจะคิดว่า “จะยอมทำไม ยอมก็เสียหน้าสิ” ส่วนลูกของชายคนนั้นก็อาจจะคิดว่า “ฉันยอมไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าฉันเป็นฝ่ายถูก ฉันขึ้นสะพานก่อน ก็ควรได้เดินลงสะพานก่อน ไอ้คนที่ควรจะถอยก็คือมึงนั่นแหละ เพราะมึงขึ้นสะพานที่หลัง” ชายหนุ่มคนนั้นทั้งที่แม่ป่วยหนัก แต่ตอนนั้นไม่ยอมหลีกทาง คิดแต่เรียกร้องให้อีกฝ่ายหลีกเพราะตัวเองเป็นฝ่ายถูก ความยึดมั่นว่า กูถูก กูถูก ถ้าปล่อยให้มันครองใจ ก็ลืมไปเลยว่ามันมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า คนที่ฉลาด เขาจะไม่มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะฉะนั้นจึงพร้อมที่จะยอมเพื่อสิ่งที่สำคัญกว่า แล้วการที่ยอมนี้มันก็ไม่ได้เป็นการเสียหน้าแต่อย่างใด แต่ว่าบางครั้งคนเรามันก็ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องหน้าตา รวมทั้งกับความถูกต้องด้วย ก็เลยไม่ยอม ดังนั้นถ้าเราได้ยินเรื่องแบบนี้ก็คงจะนึกหัวว่า “ไอ้หนุ่มคนนั้น ทำไมมันโง่แบบนี้ เรื่องแค่นี้ก็ยอมไม่ได้ ทำไมมันไม่คิดถึงแม่ที่กำลังป่วยหนัก” ยืนประจัญกันอยู่บนสะพาน 2-3 ชั่วโมง เพราะไม่ยอมหลีกทางให้อีกคนหนึ่งด้วยเหตุผลว่า “ฉันถูก” “ฉันมาก่อน”
ฉะนั้นคนเรานี้ต้องระวัง บางครั้งพอเราไปยึดมั่นในความถูกต้อง มันทำให้เกิดการหลงลืม เพราะความถูกต้องนี้มันกลายเป็นความถูกต้องของกูไปแล้ว
หรือว่ากูถูกก็เลยไม่ยอมใครโดยเฉพาะคนที่ไม่ถูก ทั้งๆ ที่มันมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าที่เราควรจะรู้จักยอม การยอมหลีกทางให้หนุ่มแปลกหน้า เพื่อที่ตัวเองจะได้รีบกลับไปบ้านเอายาไปให้แม่ อันนี้มันเป็นสิ่งที่คนมีปัญญาสมควรทำมากกว่า แต่ว่าพอไปยึดในความถูกต้อง “ของกู ของกู” มันก็เลยกลายเป็นทำในสิ่งที่ดูจะไม่ถูกต้องขึ้นมา ที่จริงอย่าว่าแต่การไม่ยอมคนแปลกหน้าเลย แม้กระทั่งคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน หรือคนที่เป็นสามีภรรยากัน บางทีไอ้ความยึดมั่นถือมั่นว่า กูถูก กูถูก จนถึงขั้นไม่ยอมกัน มันก็นำไปสู่ความเสียหายได้
อย่างมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ ใหม่ๆ ที่ว่านี้ก็ 2-3 เดือน ความรักยังหวานชื่น แล้วทั้งสองนี้ก็ตกลงว่าจะย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ บ้านนี้ภรรยาออกแบบเอง รวมทั้งตกแต่งภายใน ไม่ว่าวัสดุ อุปกรณ์ สีของพื้นของผนัง รวมทั้งลานหรือระเบียงที่อยู่ติดกับสวน ลวดลายของกระเบื้องที่มาวาง ออกแบบเองหมดดูสวยงาม แล้วก็ฝากให้สามีไปติดต่อผู้รับเหมามาเรียงกระเบื้อง แต่ปรากฏว่าพอเรียงเสร็จกระเบื้องแผ่นหนึ่งมันผิดที่ผิดทาง ช่างรับเหมานี้เรียงกระเบื้องผิดไปแผ่นหนึ่ง ภรรยาเห็นก็ไม่พอใจ ถามสามีว่า “คุณคุยกับเขาหรือเปล่า เรื่องการเรียงกระเบื้อง” สามีบอก “คุยแล้ว” “แล้วคุณให้เขาดูแบบที่ฉันร่างไว้หรือเปล่า” สามีตอบ “ให้ดูแล้ว แล้วคุยกันรู้เรื่องแล้ว” ภรรยาก็ถามว่า “คุณแน่ใจหรือเปล่าว่าอธิบายได้ถูกต้อง ทำไมมันเป็นอย่างนี้” สามีก็บอก “พูดแล้ว อธิบายแล้ว เขาเป็นมืออาชีพ ไม่ต้องพูดมากหรอก” ภรรยาก็เลยย้อนไปว่า “ก็ถ้าเป็นมืออาชีพ ทำไมมันเป็นแบบนี้ ฉันไม่น่าไว้วางใจคุณเลย” อันนี้สามีก็เริ่มขุ่นแล้ว เริ่มโมโหเริ่มโต้กลับว่า “ตอนที่เขาเรียงวางกระเบื้อง คุณก็อยู่บ้าน ทำไมคุณไม่มาดูตอนที่เขาทำล่ะ” ภรรยาบอก “ฉันจะมาเฝ้าดูเขาทำตลอดเวลาได้ยังไง ฉันก็มีงานเยอะแยะ” สามีเลยย้อนไปว่า “แล้วคุณจะมาโทษผมได้ยังไง โธ่เอ๊ย เรื่องแค่นี้เอง มาทำเป็นเรื่องใหญ่ได้”
คราวนี้ภรรยาโมโหเลย “คุณว่าเรื่องแค่นี้เหรอ ฉันอุตส่าห์ตั้งใจทำงานนี้มา ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อนเลย คุณเองไม่ได้ช่วยอะไรเลย เอาแต่ดูซีรีส์” สามีโมโห เลยพูดตัดบท “อือ ก็แล้วแต่คุณสิ” ปรากฏว่าสามีภรรยาคู่นี้เลิกคุยกัน ไม่คุยกันเลย มึนตึงกันเป็นอาทิตย์เพราะกระเบื้องแผ่นเดียว กระเบื้องวางผิดแผ่นเดียว ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ต่างฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้องของตัว แล้วก็พยายามชี้ว่าอีกฝ่ายนี้ผิด พอไม่ยอมกัน ก็กลายเป็นว่า ความรักที่มันมี มันก็เสื่อม มันก็น่าหัว หันหลังให้กัน มึนตึงกัน เพียงเพราะกระเบื้องแผ่นเดียว ถ้าเกิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งยอม “อ่ะ ยอม” ความรัก ความสัมพันธ์ ก็จะยังราบรื่น แต่ก็ต่างฝ่ายต่างก็ถือว่า “ฉันถูก เธอผิด” ก็เลยไม่ยอม พอไม่ยอมเข้าก็เลยลืม ลืมนึกถึงสิ่งที่สำคัญกว่าระหว่าง กระเบื้องแผ่นเดียวกับความรัก-ความสัมพันธ์ อะไรที่มันสำคัญกว่ากัน ในยามที่สมองโปร่ง มีสติ มันก็รู้ว่ากระเบื้องแผ่นเดียวมันจะทำลายความสัมพันธ์ได้อย่างไร จะยอมให้กระเบื้องแผ่นเดียวทำลายความสัมพันธ์ได้อย่างไร แต่พอต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพราะถือว่าตัวเองถูก อีกฝ่ายผิด พอไม่ยอมกัน กระเบื้องแผ่นเดียวก็ทำให้ความสัมพันธ์นี้มันร้าวฉาน ยังดีที่ผ่านไป 1 อาทิตย์ ก็เริ่มยอมกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ขอโทษกันว่า “พูดแรงไปหน่อย”
ถ้าเกิดว่าไม่ยอมกันถือว่า ฉันถูก หรือ กูถูก ก็คงจะอยู่กันอย่างไม่มีความสุข
คนเราก็เป็นอย่างนี้ พอยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู มันก็ไม่ยอม พอยึดมั่นว่า “กูถูก” หรือว่า “ความคิดเห็นของกูถูก” ปล่อยให้อัตตาครองใจ มันก็ลืมสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะหลงก็เลยลืม หลงยึดในตัวกูของกู หลงยึดว่ากูเก่ง หรือว่าหลงยึดว่าความคิดของกูถูก มันก็เลยลืมหรือมองข้ามสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า
เช่นเดียวกัน กรณีเจ้าของบ้านที่เป็นแชมป์หมากล้อม เขาก็ถือว่าเขาแน่ ทั้งที่เป็นคนที่ชอบโอ้อวดเหมือนกันถึงขนาดติดป้ายที่หน้าบ้านว่า เป็นแชมป์หมากล้อมอันดับ 1 ของแผ่นดินนี้ ก็เรียกว่าคุยโม้เพราะมีอัตตา แต่เขาฉลาดพอที่จะไม่ให้อัตตาครองใจ เพราะนึกถึงสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า จึงยอมแพ้ได้ ยอมแพ้ให้กับแม่ทัพ เพราะรู้ว่าแม่ทัพนี้กำลังจะไปทำศึกสงครามเพื่อแผ่นดิน ถ้าทำให้แม่ทัพเสียกำลังใจเพราะพ่ายแพ้หมากล้อม เดี๋ยวผลเสียก็จะตกถึงบ้านเมือง อย่างนี้เรียกว่า รู้จักคิด แม้จะมีอัตตาหรือว่ามีความยึดมั่นถือมั่นว่ากูเก่ง แต่ก็ไม่ปล่อยให้มันครองใจ เมื่อถึงจังหวะหรือเมื่อถึงเวลาก็รู้จักยอมได้ ดังนั้นคนเราถ้าไม่รู้จักยอม มันก็อาจจะทำในสิ่งที่ถูกคนหัวเราะเยาะได้ว่าโง่หรือขาดปัญญา อย่างหนุ่มที่ไปยืนขวางบนสะพานโดยที่ไม่ยอมหลีกทางให้อีกคนหนึ่ง เพื่อตัวเองจะได้รีบเอายาไปให้แม่ มันไม่ใช่แค่ว่ากลายเป็นคนโง่ในสายตาของคนทั่วไปเท่านั้น แต่บางทีอาจจะเจอความเสียหายมากกว่านั้น ก็อย่างเช่นสามีภรรยาที่มึนตึงกัน จนกระทั่งแทบจะไม่หันมาคุยกัน ยังดีที่ยังรู้ตัวภายหลัง แต่บางคู่นี้ก็อาจจะเลิกรากันไปเลยเพียงเพราะกระเบื้องแผ่นเดียวพอไม่ยอมกัน แม้กระเบื้องแผ่นเดียวก็ทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉานได้
แล้วที่จริงมันก็ไม่ใช่แค่นั้น คนเราถ้าไม่ยอมกัน ความเสียหายอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ อย่างชายคนหนึ่งพาครอบครัวขับรถไปบนถนนหลวงด้วยความเร็วสูง ปรากฏว่าเลนหรือถนนอีกฝั่งหนึ่งรถก็แล่นมาเร็วเหมือนกัน มีช่วงหนึ่งมันมีรถบรรทุกขนาดใหญ่แล่นแซงรถทัวร์ แซงพ้นแล้ว แต่ว่ารถคันนั้นก็ยังมาอยู่ในเลนของรถคันแรก ชายหนุ่มที่เป็นคนขับรถคันแรก เห็นรถบรรทุกกำลังพุ่งเข้ามาในเลนของตัว แทนที่แกจะหลบหรือหลีกข้างทาง กลับพุ่งต่อไป ไม่เหยียบเบรก เพราะอะไร เขาบอกว่า “ฉันถูก นี้เลนของฉัน คนที่ควรจะหลบคือไอ้รถข้างหน้าแหละ เพราะมันไม่ใช่เลนของมัน ฉันถูก ฉันไม่หลบ” พอคิดแบบนี้ ไม่ยอมหลบอยู่ข้างทาง จะเกิดอะไรขึ้น มันก็ประสานงาเท่านั้น เพราะอีกฝ่ายนึงก็ไม่ยอมเหมือนกัน ฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ การยอมมันเป็นวิธีของคนฉลาด คนที่มีปัญญา เพราะรู้ว่าถ้าไม่ยอมนี้อะไรจะเกิดขึ้น และมันไม่ใช่แค่ตัวเองที่เดือดร้อน ครอบครัวที่พามาด้วยนี้ก็จะเดือดร้อนไปด้วย ลูกก็ดี ภรรยาก็ดี หรือพ่อแม่ก็ดีอาจจะต้องมีอันเป็นไป เพียงเพราะตัวเองไม่ยอม ถามว่าทำไมไม่ยอม ก็เพราะ “กูถูกไง มึงผิด มึงต้องหลบให้กูต่างหาก”
บางครั้งคนเราต้องรู้จักยอมแม้ว่าจะถูกหรือแม้ว่าจะเก่ง อย่าให้ความยึดมั่นถือมั่นในความเก่งหรือความถูกของตัว มันทำให้มองข้ามสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวม หรือว่าความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน หรือว่าสวัสดิภาพของคนที่เรารัก.