แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : ขอโอกาสกราบเรียนถาม ท่านอาจารย์พุทธทาสมีแนวคิด วิธีการ ในการทำให้ศีลธรรมกลับมาอย่างเป็นสากลสำหรับชาวโลกทุกชาติ ทุกศาสนา ได้อย่างไร เข้าใจว่าท่านแนะนำไว้ โดยไม่ได้ต้องบอกว่าเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แต่ประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นมนุษย์ทุกคน
คำตอบ :
ท่านอาจารย์พุทธทาสมี ปณิธาน 3 ประการ ซึ่งอาตมาคิดว่า ปณิธาน 3 ประการนี้ตอบคำถามข้อนี้ได้ ก็คือว่า (หนึ่ง) ให้ชาวพุทธเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา (สอง) แล้วก็มีความร่วมมือกันระหว่างศาสนาต่างๆ (สาม) เพื่อที่จะเอาชนะวัตถุนิยม
อาตมาคิดว่า 3 ข้อนี้ เป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำให้ศีลธรรมกลับมา จริงๆ แล้วการที่จะทำให้ศีลธรรมกลับมาในโลกนี้ อย่างที่อาตมาบอก คือ การที่ชาวพุทธจะต้องเข้าถึงแก่นแท้กระทั่งละตัณหา อุปาทาน หรือลดตัณหา มานะทิฐิได้ แต่พระพุทธศาสนาจะสู้กับบริโภคนิยม วัตถุนิยม อาตมาว่าอาจจะสู้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ร่วมมือกับศาสนาอื่น หรือถ้าไม่ได้ร่วมมือกับศาสนาใหม่ เพราะว่าบริโภคนิยมนี่เป็นศาสนาที่มีสานุศิษย์มากที่สุดในโลก ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม ศาสนาบริโภคนิยมมีสานุศิษย์มากที่สุดในโลก แม้กระทั่งนักบวชของ 3 ศาสนา หรือนักบวชศาสนาใหญ่ๆ ก็เป็นสานุศิษย์ของศาสนาบริโภคนิยมโดยไม่รู้ตัว หรือว่าโดยแอบแฝง
ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ปานนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ แต่จะร่วมมือกันได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะทุกวันนี้มีความระแวงกันมาก ซึ่งก็สมควรจะระแวง เพราะว่าศาสนาบริโภคนิยมก็พยายามที่จะทำให้ศาสนาต่างๆ แตกแยกกัน ซึ่งถ้าจะเอาชนะบริโภคนิยมได้ เพื่อนำศีลธรรมกลับมา อย่างน้อยเราต้องเข้าใจถึงศาสนาของเรา เข้าใจว่าอะไรคือตัวศาสนาที่แท้ อย่างที่ท่านอาจารย์พรหมวังโส ท่านพูดว่าศาสนาที่แท้ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่วัด ไม่ใช่เจดีย์ แต่มันคือคุณธรรมภายใน ความรัก ความเมตตา ความปล่อยวาง อาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่า รักผู้อื่น ศาสนาพุทธก็เหมือนกัน รักผู้อื่น ไม่ใช่รักตัวอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าถึงแล้ว การที่เราจะเอาพลังของศาสนา พลังความรัก ความเมตตา ไม่มีความโกรธความเกลียดอยู่ภายใน เพื่อที่จะพาคนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของศีลธรรม มั่นคงในศีล มั่นคงในธรรมก็เป็นไปได้ เพราะว่าความสุขที่เกิดจากศีล ความสุขที่เกิดจากธรรม มันยั่งยืนกว่าความสุขที่เกิดจากการบริโภคจากวัตถุมาก นี่คือจุดแข็งของศาสนาพุทธ ก็คือว่า มันมีรางวัลคือความสุขที่ประณีต ความสุขที่ไปพ้นวัตถุ ประเสริฐกว่าวัตถุ ซึ่งถ้าเราเข้าถึงแก่นแท้พระพุทธศาสนา เราเข้าถึงความสุขชนิดนี้ เราจะไม่ยี่หระต่อวัตถุ ใครจะรวยก็เป็นเรื่องของเขา ใครจะมีชื่อเสียงมีสถานะก็เป็นเรื่องของเขา แม้เวลาเจ็บเวลาป่วยก็ยังมีความสุขเลย เพราะป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย แม้สูญเสียคนรัก ใจก็ยังเป็นปกติสุขได้ อย่างที่มีตัวอย่างในพุทธกาลหลายท่าน สุขแบบนี้ประเสริฐและเมื่อเข้าถึงความสุขแบบนี้แล้ว วัตถุนิยมไม่มีความหมายเลย และนี่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ
มนุษย์ต้องการอย่างน้อยๆ ก็คือความสงบใจ ไม่ใช่แค่ความสงบนอก แต่เป็นความสงบในด้วย พระพุทธศาสนาจะเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ก็เพราะพุทธศาสนาช่วยให้คนเข้าถึงความสงบแบบนี้ซึ่งเป็นความสุขเบื้องต้นเท่านั้น คือความสงบใจสงบข้างใน เพราะฉะนั้นอาตมาเชื่อว่าถ้าคนเราเข้าใจถึงแก่นแท้พระพุทธศาสนา ด้วยการปฏิบัติกับกายและใจของตัว ก็จะมีพลังในการที่จะเอาชนะ ในการที่จะนำพาศีลธรรมกลับมาได้ อยู่ที่ว่าเราเข้าถึงหรือเปล่า ถ้าเราไม่เข้าถึง ศาสนาก็เป็นเพียงแค่ยี่ห้อ คนวันนี้จำนวนมากนับถือศาสนาเพียงแค่ยี่ห้อ คือไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แล้วถ้าใครไม่นับถือยี่ห้อก็โกรธ ใช่ไหม แต่ที่เขาไม่นับถือยี่ห้อนี้ก็ช่างเขาสิ ถ้าเราเข้าใจและเข้าถึงพุทธศาสนานี้อย่างแท้จริง
คำถาม : ขอโอกาสกราบเรียนอีกคำถาม ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า การยึดมั่นถือมั่นในความดี ถ้ายึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ก็อาจจะทำผิดได้เหมือนกัน ในทางพุทธศาสนาเราควรพิจารณาหรือวางใจอย่างไร เพื่อไม่ให้เราเกิดการยึดมั่นถือมั่นในความดี จนผิดไป
คำตอบ :
เบื้องต้นก็คือต้องมีสติ รู้ทัน สติก็เหมือนกับตาในที่ทำใหรู้ทัน รู้ทันความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น เพราะว่าความยึดมั่น ตอนที่มันกบดานในใจเราจะไม่เห็น แต่มันจะแสดงอาการออกมาเมื่อเจอคนที่คิดต่างจากเรา หรือทำต่างจากเรา มันจะเกิดความไม่พอใจ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มีความโกรธเกิดขึ้น ให้รู้เลยว่า อุปาทานแสดงตัวแล้ว เวลาเราโกรธคนที่เขาไม่กดไลก์หรือถูกด่า เวลาเราไม่พอใจที่คนไม่กดไลก์ มันเกิดจากอุปาทานแท้ๆ ถ้าไม่ใช่ทิฏฐุปาทาน ก็อัตตวาทุปาทาน หรือถ้ามีคนขโมยของเรา หรือถ้าเงินหายของหายแล้วเราเสียใจ นั่นก็เพราะเรามีกามุปาทาน จริงๆ อุปาทานมี 4 ตัว อีกตัวคือ ใครสวดมนต์ หรือว่าใครกราบไม่เหมือนที่เรากราบ ก็ทุกข์ขึ้นมา อันนี้เรียกว่า “สีลพัตตุปาทาน” คืออุปาทานในศีลพรต แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหา ก็คือ“ทิฏฐุปาทาน”“กามุปาทาน”และ“อัตตวาทุปาทาน” มันจะแสดงออกมาด้วยความโกรธ ความไม่พอใจ เมื่อเห็นสิ่งที่เรายึดมั่นถูกคัดค้าน หรือว่าไม่มีคนคล้อยตามด้วย ดังนั้นถ้าเรามีสติรู้ทัน ความโกรธ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ เราก็จะเห็น เรามีอุปาทานเรื่องนี้ เราก็จะระมัดระวังอย่าให้มันเข้ามาครองใจ อันนี้เรียกว่ารู้ทันด้วยสติ
แต่การที่จะเพิกถอนอุปาทานอย่างแท้จริง ต้องรู้ด้วยปัญญา รู้จนเห็นแจ้งว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน ไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นเป็นเราเป็นของเราได้ อุปาทานทั้งหลายคือการยึดว่าเป็นเราของเราทั้งนั้น กามุปาทาน อัตตวาทุปาทาน หรือทิฏฐุปาทาน มันเป็นการยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีปัญญาเห็นแจ้งว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ก็คือเข้าใจเรื่อง“อนัตตา” มันก็จะไม่ยึดติด หรือเมื่อไรก็ตามที่เรารู้ว่าการยึดมั่นเป็นทุกข์ มันก็จะปล่อย ในบทสวดมีบทสวดมนต์ธรรมวัตรอันหนึ่งว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน่อ การสลัดของหนักทิ้งเสียเป็นความสุข เมื่อไรก็ตามที่เราทุกข์ ไม่ใช่โกรธอย่างเดียว เมื่อไรก็ตามที่เราทุกข์ เพราะเศร้าเสียใจ รู้สึกผิด หดหู่ นั่นก็เพราะการยึดมั่นถือมั่น อาการมันแสดงออกหลายอย่าง ความโกรธก็อันหนึ่ง ความเศร้าก็อันหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่เราทุกข์ใจ นั่นแปลว่าเรายึด เรามีอุปาทาน สติทำให้เราทันความทุกข์และวางมันลง แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีปัญญา เห็นแล้วว่าทุกอย่างมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราก็จะไม่ยึดไม่แบกอะไรต่อไปเลย เราจะเห็นเลยว่าการสลัดของหนักเสียเป็นความสุข
พระอริยะเจ้าเมื่อสลัดของหนักทิ้งลงเสียแล้ว ไม่หยิบเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก นักปฏิบัติธรรมหลายคนสลัดของหนักบางอย่างลง แล้วไปเอาของใหม่มาแบก อาจจะสลัดเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ไปแบกเอาทิฐิขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้ามีปัญญาเห็นว่าแบกอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น มันก็ปล่อย อุปาทานก็ไม่เหลือ ก็คือพูดง่ายๆ มีปัญญาเห็นแจ้งว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ก็ไม่แบก หรือมีปัญญาเห็นแจ้งว่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ มันก็ไม่ไปแบกไปยึดว่าเป็นของเราอีกต่อไป เรารู้ได้ 2 อย่าง คือ รู้ด้วยสติ และ รู้ด้วยปัญญา แต่ว่าสำหรับพวกเราก็ให้รู้ด้วยสติก่อน การเจริญสติทำให้พวกเรารู้ทันจิตเวลามันแบก แล้วมันต้องปล่อยได้เร็ว ซึ่งต้องปฏิบัติ การให้ทานการรักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิบัติการภาวนาด้วย จิตเราถึงจะไว ถึงจะมีสติรู้ทัน และตรงนั้นจะทำให้ศาสนาตั้งมั่นอยู่ในใจเราอย่างแท้จริง เพราะว่าปัญญาที่เห็นแจ้งในสัจธรรมความจริง ทำให้เราไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนกับอะไรอีกต่อไป
คำถาม : ขอโอกาสกราบเรียนถาม จะทำใจอย่างไรกับคนที่พูดอย่างทำอย่าง เช่น อยู่นอกบ้านทำดี แต่อยู่ในบ้านทำไม่ดี
คำตอบ :
อย่างแรกคือ อย่าไปโกรธอย่าไปเกลียดเขา บางทีก็อาจจะต้องแผ่เมตตาให้เขาด้วย ให้อภัยเขา อันหนึ่งคือต้องเข้าใจเขาด้วยว่าทำไมเขามีนิสัยแบบนั้น ความเข้าใจเขาทำให้เราให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเราสามารถช่วยเขาได้ก็น่าช่วย หรืออะไรทำให้เขาเป็นอย่างนั้น บางทีก็คือคนที่เรารักหรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา การที่เขายังไม่เข้าใจธรรมะ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมอย่างนั้น ซึ่งคนเราถ้ารู้ว่าตัวเองว่าต้องการอะไร เขาก็จะคงเส้นคงวา และยิ่งถ้าเขารักตัวเองด้วย เขาก็จะไม่ทำหรือมีพฤติกรรมแบบนั้น แต่ที่ถูกแล้วก็ต้องเริ่มต้นที่ใจเรา คือว่าอย่าไปหงุดหงิดกับเขา มีความหวังในตัวเขา แต่อย่าคาดหวังเขา เมื่อเช้าอาตมาก็พูดไปแล้วว่า การมีความหวังในตัวเขาว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าเราคาดหวัง แล้วเขาไม่เป็นไปอย่างที่เราหวัง เราก็จะทุกข์ เมื่อเราทุกข์ เราก็จะโกรธ เราก็จะเกลียดเขา และสายสัมพันธ์ก็จะร้าวฉานได้
คำถาม : ขอโอกาสกราบเรียนถามครับ คำสอนของบางวัดที่เป็นกรณีอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่เราทราบกัน ถือว่าเป็นคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่
คำตอบ :
อาตมาคิดว่า เราก็ต้องรู้จักแยกแยะ บางอย่างก็เป็นพุทธ เพราะว่าคำสอนบางอย่างก็จะเป็นคำสอนในพุทธศาสนา แต่คำสอนบางอย่างก็เป็นการต่อเติมขึ้นมา เราก็ต้องรู้จักแยกแยะ มันคงไม่ใช่ว่าที่เขาสอนมาผิดทั้งหมด ที่ถูกก็คงมี ที่ผิดก็มาก เราก็ต้องเลือกสรรเอา แยกแยะเอา ก็เหมือนคนก็มีทั้งดีและเลวอยู่ในตัวคนเดียวกัน พระพุทธเจ้า พระสารีบุตรเคยกล่าวว่า คนบางคนเขาดีทางกาย กายกรรมดี แต่ว่าวจีกรรมไม่ดี คนบางคนวจีกรรม แต่กายกรรมไม่ดี เวลาเจอคนที่ไม่ดี ธรรมชาติของคนเราก็จะโกรธ ก็จะไม่พอใจ ก็จะพยาบาท พระสารีบุตรแนะนำว่า วิธีลดละพยาบาทเมื่อเจอคนแบบนี้ ก็คือให้มองส่วนดีของเขา ที่พระสารีบุตรพูดไว้เปรียบเหมือนกับเวลาเราเดินไปกลางถนน แล้วเจอผ้า ผ้าตกอยู่ ผ้านี้ก็เก่าด้วย เราก็เลือกเอาเฉพาะส่วนที่ใช้การได้ เอาไปใช้ประโยชน์ สมัยก่อนจีวรพระต้องเก็บมาจากขยะ เก็บมาจากสุสาน จะได้ผ้ามาแต่ละชิ้น ก็เล็กนิดเดียว เพราะฉะนั้นเวลาเจอผ้าหรือเจอขยะบนถนน ก็ต้องรู้จักฉีกมาเฉพาะส่วนที่ใช้การได้ แล้วก็ไปตัดไปเย็บไปย้อมให้เป็นจีวร ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับว่า คนที่เดินทางไกล แล้วก็กระหายน้ำ มาเจอหนองเจอบึง แต่บึงนั้นมีจอกแหนเต็มไปหมดเลย ทำอย่างไรเราถึงจะเอาน้ำในบึงนั้นมากินได้ ทำอย่างไร เราก็แหวกจอกแหน ฉันใดก็ฉันนั้น พึงปฏิบัติกับคนที่เรารู้จัก บางคนเขาดีบางอย่าง เราก็มองแต่ตรงนั้น เขาดีทางกายก็ดูก็พิจารณากายเขา กายหมายถึงกายกรรม พฤติกรรม บางคนเขาดีทางคำพูด เราก็ใส่ใจตรงนั้น กับคนฉันใด กับวัดก็ฉันนั้น ก็คือว่าก็เลือกพิจารณา เอาส่วนดีของเขามา
คำถามสุดท้าย : ขอคำแนะนำเรื่องการวางจิตก่อนละจากโลกนี้ไป แล้วก็การทำจิตภาวนาในชีวิตประจำวัน
คำตอบ :
พระพุทธเจ้าเคยสอน เคยนำทางผู้ใกล้ตายหลายคน ก็จะมีวิธีการที่คล้ายๆ กัน อันนี้พระพุทธเจ้าปฏิบัติกับผู้ที่นับถือพระรัตนตรัย คือว่าให้เขาระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย แล้วก็ระลึกถึงศีลที่ได้ทำ หรือความดีที่ได้บำเพ็ญ แล้วสอง ก็ให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ คนรัก สมัยนี้ก็ต้องรวมถึงงานการด้วย และแม้กระทั่งสวรรค์ว่าจะไปชั้นไหน ไม่ต้องสนใจ ละให้หมด อันนี้ก็คือวิธีการที่สรุปย่อๆ ซึ่งอาตมาว่าใช้ได้ถึง 90% อยู่ที่ว่าเขาจะทำได้หรือไม่ ก็คือ 1 นึกถึงพระ และ 2 ละทุกสิ่ง คุณจำเอาไว้ 2 ข้อนี้ “นึกถึงพระ และละทุกสิ่ง” แล้วคุณเอาไปต่อ เอาไปขยายความ เอาไปประยุกต์ใช้กับแต่ละคนที่เหมาะกับกรณี บางคนเขาอาจจะไม่ได้ใกล้วัดเลย ก็ให้นึกถึงความดีที่เขาได้ทำ ที่ภาคภูมิใจ ละทุกสิ่ง ละทุกสิ่งจริงๆ แม้กระทั่งบุญกุศลที่ยังไม่ได้ทำ
มีคุณลุงคนหนึ่งแกเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบพาคนชวนคนเข้าวัด ชวนคนไปทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตามวัดต่างๆ ในชนบท เพื่อสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร แกก็ทำแบบนี้มาเป็น 10 - 20 ปี แกก็มีความสุข แล้ววันหนึ่งแกเป็นมะเร็ง แล้วมะเร็งก็ลุกลามเร็วมาก สุดท้ายแกก็มานอนอยู่ในระยะสุดท้ายที่บ้าน ตอนท้ายๆ แกมีอาการกระสับกระส่ายทุรนทุราย ลูกหลานก็เห็นว่าแกเป็นคนธรรมะธรรมโม ก็เลยเอาเทปธรรมะ พระสวดมนต์ให้คนไข้ฟัง ปรากฏว่าคนไข้ไม่หายกระสับกระส่าย ลูกหลานก็แปลกใจ คนธรรมะธรรมโมน่าจะฟังน่าจะสงบ จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนสนิทมาเห็น พอรู้ว่าเกิดอาการอะไรกับคนไข้ ก็ไปพูดข้างหูว่าโบสถ์ที่สร้างไม่เสร็จ ไม่ต้องห่วง พวกเราจะช่วยกันสร้างให้เสร็จ ปรากฏว่าแกได้ยินแค่นี้ แกสงบเลย แสดงว่าแกเป็นห่วงเรื่องสร้างโบสถ์ สร้างโบสถ์นี่เป็นของดีใช่ไหม เป็นการสร้างบุญกุศลใช่ไหม แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นมาก โดยเฉพาะในเวลาใกล้ตาย มันกลับเป็นโทษกับเจ้าของ กลับเป็นโทษกับตัวเอง กลับทำให้ตายไม่ได้ แม้กระทั่งบุญกุศลก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ต้องปล่อยให้หมด สร้างไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ ทำเต็มที่ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อถึงจะตายก็ละให้หมด เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งบุญกุศลก็ต้องละ แล้วก็จะไปดี
แต่ถ้าคนที่มีธรรมะ คนที่ปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็แนะนำให้พิจารณาสังขารอันเป็นไตรลักษณ์ อันนี้พระพุทธเจ้าแนะนำกับอุบาสกคนหนึ่งชื่อทีฆาวุอุบาสก กำลังจะตายพระพุทธเจ้าก็แนะนำให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย ให้ระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ที่เป็นอริยกันตศีล แล้วก็ให้พิจารณาต่อสังขารเป็นไตรลักษณ์ ขณะที่กำลังป่วยมันแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็นชัดเลย ถ้ามองเป็น พิจารณาเป็น ก็จะตายสงบ ปรากฏว่าไม่ได้ตายสงบอย่างเดียว พระพุทธเจ้าพยากรณ์หรือบอกว่า ทีฆาวุอุบาสกได้เป็นอนาคามีแล้ว ไม่ได้แค่ได้ไปดี แต่ว่าไปแบบไปสว่างเลย