พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 28 มกราคม 2567
หลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง ท่านเป็นพระที่ไม่ได้เรียนสูงมาก ดูเหมือนจะจบแค่ ป.4 แล้วภาษาฝรั่งก็พูดไม่ได้ แต่ว่าท่านมีพระที่เป็นลูกศิษย์ชาวตะวันตกมากทีเดียว หลายๆ ท่านก็มีความสำคัญต่อวงการพุทธศาสนาในตะวันตก อย่างเช่น หลวงพ่อสุเมโธ และยังมีลูกศิษย์ลูกหาอีกมากมายที่มีบทบาทสำคัญในเวลานี้ในเมืองไทย อย่างเช่น อาจารย์ชยสาโร เป็นต้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนอดทึ่งไม่ได้ที่แม้ว่าท่านจะพูดภาษาฝรั่งไม่ได้เลย แต่ท่านก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นฝรั่ง หลายคนเรียนจบถึงด็อกเตอร์ที่เคยประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ในอาชีพการงาน แต่สุดท้ายก็มาศึกษาปฏิบัติกับหลวงพ่อชา จนกระทั่งต้องมีการแยกวัดสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะคือ วัดป่านานาชาติ
เคยมีคนถามท่านว่า อะไรคืออุปสรรคที่สำคัญของการเข้าถึงธรรมสำหรับลูกศิษย์ชาวตะวันตก ท่านตอบสั้นๆ ว่า “ความคิดเห็น” ความคิดเห็นเป็นอุปสรรคสำคัญของการเข้าถึงธรรมสำหรับชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาสูงๆ อันนี้ก็น่าคิดว่าทำไมความคิดเห็นรวมถึงความคิด จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะอุปสรรคสำหรับลูกศิษย์ชาวตะวันตกเท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ต้องรวมไปถึงคนในยุคปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาสูงๆ ไม่ว่าในเมืองไทย หรือว่าจากที่ไหนก็ตาม
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เหตุผลสำคัญอาจจะเป็นเพราะว่าชาวตะวันตก รวมทั้งคนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งรวมถึงคนไทยจำนวนมากที่มีการศึกษาสูงๆ คนเหล่านี้เขาจะเชิดชูให้ความสำคัญกับความคิด ซึ่งก็รวมไปถึงความคิดเห็นด้วย เพราะถือว่าความคิด มันสามารถที่จะให้คำตอบอะไรกับคนเราได้ คำตอบนานาชนิดเลยทีเดียว
Descartes (เดสการ์ด) I think, there for I am
มีฝรั่งเป็นนักปรัชญาคนหนึ่ง ชื่อ Descartes (เดสการ์ด) ถือว่าเป็นคนดังในปรัชญาสมัยใหม่ ประโยคที่มีชื่อของเขาก็คือ I think, therefor I am. “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” หรือว่า “เพราะความคิด ฉันจึงเป็นตัวฉัน” อันนี้ก็เป็นคำแปลแบบง่ายๆ ซึ่งมันก็บ่งชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนตะวันตก รวมทั้งคนสมัยใหม่ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เขาก็ถือว่าความคิดมันเป็นแกนกลางของความเป็นตัวฉัน สาระสำคัญของความเป็นตัวฉันก็คือความคิด ถ้าไม่มีความคิด ฉันก็ไม่มีอยู่
อันนี้มันสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับความคิดมาก ซึ่งจะว่าไปก็มีส่วนสำคัญทำให้โลกเจริญในทางเทคโนโลยี ในทางวัตถุ ในทางเศรษฐกิจ มาจนถึงทุกวันนี้
คราวนี้พอพูดถึงการเข้าถึงธรรม การเข้าถึงธรรมหมายความว่าอะไร หมายถึงการเข้าถึงความจริง หรือว่าการพ้นทุกข์ หรือการแก้ทุกข์ อันนี้ก็คือสาระสำคัญของการบรรลุธรรม หรือการเข้าถึงธรรมทางพุทธศาสนา เข้าถึงความจริงหรือว่าสามารถที่จะหลุดจากทุกข์ได้ และคือสาระสำคัญจุดมุ่งหมายของการบรรลุธรรม หรือการเข้าถึงธรรมทางพุทธศาสนา
คราวนี้ทำไมความคิดจึงเป็นอุปสรรคของการเห็นความจริง หรือว่าการพ้นทุกข์ ก็เพราะว่าพอพูดถึงการเห็นความจริง คนสมัยใหม่หรือลูกศิษย์ชาวตะวันตกก็คิดว่า ความคิดจะช่วยให้เห็นถึงความจริงได้ หรือเข้าถึงความจริงได้ โดยเฉพาะความคิดแบบมีเหตุมีผล จะทำให้จะทะลุทะลวงถึงความจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความจริงทางกายภาพ หรือวิทยาศาสตร์ หรือความจริงในทางสังคม คือสังคมศาสตร์ ถ้าอาศัยความคิดที่ฉลาดหลักแหลมก็จะเข้าถึงความจริง และในขณะเดียวกันเมื่อมีความทุกข์ก็สามารถใช้ความคิด หรือความคิดเห็นแก้ความทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติธรรม การที่จะฝึกจิตฝึกใจให้มีสติมีความรู้สึกหรือเกิดปัญญา ก็เลยไม่สำคัญไม่จำเป็น เพราะว่าในเมื่อความคิดมันสามารถจะพาให้เข้าถึงความจริง หรือว่าช่วยทำให้พ้นทุกข์ได้ จะปฏิบัติธรรมไปทำไม
พอมีความคิดเห็นแบบนี้ก็เลยทำให้ไม่สนใจที่จะมาฝึกจิตหรือทำกรรมฐาน คิดว่าแค่อ่านหนังสือ หรือคิดเอาก็พอแล้ว อันนี้มันก็เลยเป็นอุปสรรคของการบรรลุธรรม เพราะว่าทำให้ไม่เห็นประโยชน์ หรือว่าเห็นความสำคัญของการฝึกจิต หรือการทำกรรมฐาน หรือว่าสมาธิภาวนา
เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นฝรั่ง หรือคนที่มีการศึกษาจำนวนมาก เวลาพูดถึงการภาวนา หรือการทำกรรมฐาน เขาจะไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไหร่ เพราะเขาคิดว่าแค่ใช้ความคิดก็ทำให้เห็นความจริงได้ หรือทำให้รู้ความจริง หรือว่าพอมีความคิดแล้วมันทำให้มีสิ่งอื่นที่จะทำให้แก้ทุกข์ได้ เช่น มีเงิน มีทอง มีชื่อเสียง มียศศักดิ์อัครฐาน พวกนี้จะทำให้หมดทุกข์ได้ มีชีวิตที่สะดวกสบาย แล้วมันก็ไม่มีทุกข์แล้ว เพราะว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งเกิดจากความคิดหรือความคิดเห็น
อันนี้มันก็เลยทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นคุณค่าของการทำสมาธิภาวนา หรือการทำกรรมฐาน แต่ที่จริงแล้วการรู้ความจริง หรือการเห็นความจริง มันทำไม่ได้ด้วยความคิด เราจะรู้ความจริง เราจะเห็นความจริงได้มันต้องอาศัยการประจักษ์ประสบสัมผัสด้วยใจ โดยเฉพาะความคิดที่มันเป็นเรื่องปรมัตถ์ หรือเรื่องความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ความคิดอาจจะเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ
อย่างที่หลวงปู่ดูลย์เคยกล่าวเอาไว้ คิดเท่าไหร่ๆ ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงจะรู้ แต่จะรู้ได้ต้องอาศัยความคิด ฟังดูก็ดูเหมือนงงๆ แต่ที่จริงชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของความคิดว่า คิดเท่าไหร่ๆ ก็ไม่รู้ ไม่รู้ในที่นี้คือ รู้ความจริง หรือเห็นความจริง
ที่จริงมันก็คงไม่ใช่เรื่องที่ยาก เพราะว่าเพียงแค่การรับรู้รสชาติของอาหาร เปรี้ยวหวานมันเค็ม มันใช้ความคิดไม่ได้ มันต้องอาศัยการประสบสัมผัสโดยตรง อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้ได้ทางลิ้น หรือทางหู มันคิดเท่าไหร่ๆ ก็ไม่มีทางซาบซึ้งถึงรสชาติของอาหาร หรือว่าถึงความไพเราะของเสียงเพลง มันต้องประจักษ์ด้วยตัวเอง ขนาดเป็นความจริงระดับพื้นๆ ถ้าความจริงในระดับปรมัตถ์ธรรม หรือความจริงในระดับของจิตใจ ความคิดมันกลับเป็นอุปสรรค
หลวงปู่ดูลย์ท่านจึงบอกว่าคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้ แต่ท่านก็บอกว่าถ้าจะรู้ต้องอาศัยความคิด อันนี้ที่จริงก็เข้าใจไม่ยาก เหมือนกับว่ากินเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ แต่ว่าจะรู้ได้ต้องอาศัยการกิน หรืออาหารเป็นปัจจัยช่วย เพราะถ้าไม่มีอาหาร ไม่ได้กินอาหาร มันก็จะไม่สามารถที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมได้
เพียงแต่ว่าอาหารอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นธรรมได้ แต่ถ้าไม่มีอาหาร ไม่มีการกิน การที่จะรู้แจ้งเห็นธรรมก็เป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้ ความคิดก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้รู้แจ้ง หรือเห็นความจริง เช่นเดียวกันกับความทุกข์ ความทุกข์แก้ไม่ได้ด้วยความคิด
หลายคนก็รู้ว่าทุกข์เพราะความโกรธ หรือทุกข์เพราะว่าคิดมาก ทุกข์เพราะซึมเศร้า แต่อาการเหล่านี้แก้ไม่ได้ด้วยความคิดเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าคิดมากไม่ดีแต่มันก็อดคิดไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าคิดฟุ้งซ่านยิ่งทำให้ทุกข์ แต่มันก็ทำให้อดคิดไม่ได้
รู้โทษของความคิด รู้โทษของกิเลส โลภ โกรธ หลง มันทำให้เกิดทุกข์อย่างไรบ้าง ความโกรธ ความอิจฉา ความพยาบาท ความน้อยเนื้อต่ำใจ มันทำให้เกิดความทุกข์อย่างไร แต่ว่าจะไม่ให้โกรธ จะไม่ให้อิจฉา โดยอาศัยความคิดมันไม่ได้ รู้โทษของมันแต่ก็ยังห้ามใจไม่ได้ อย่างที่เขาพูดกันว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้
เพราะฉะนั้นจะใช้ความคิด หรือความคิดเห็นแก้ทุกข์ของตัวเอง มันก็แก้ได้ในระดับหนึ่ง จนกว่าจะฝึกจิตให้มีกำลังในการรู้ทันหรือเห็นความทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องรู้ทุกข์ก่อน และจะรู้ทุกข์ได้มันไม่สามารถทำได้ด้วยการอาศัยความคิด มันต้องอาศัยสติ อาศัยปัญญา
และสติปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการปฏิบัติ คิดเท่าไรๆ มันก็ไม่มีทางที่จะรู้ทันความคิดได้ กลับยิ่งจมหลงเข้าไปในความคิดมากขึ้น รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่ว่าก็หักห้ามความโกรธไม่ได้ด้วยความคิด มันต้องอาศัยการมีสติแล้วก็อาจจะรวมถึงการมีสมาธิมีความรู้สึกตัว
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไปหลงเข้าใจว่าความคิดจะช่วยทำให้เรารู้ความจริงทำให้ออกจากทุกข์ได้ อันนี้ก็ยิ่งทำให้เข้ารกเข้าพงจนกว่าจะเห็นว่าความคิดมีข้อจำกัด
ความคิดก็มีข้อดี ความคิดเห็นก็เหมือนกันก็มีข้อดี แต่ว่ามันมีข้อจำกัดมันไม่สามารถจะทำให้เรารู้หรือเห็นความจริงชนิดที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ พ้นทุกข์ไม่จำเป็นที่จะต้องพ้นทุกข์ชนิดดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ เอาแค่ว่าเวลามีความโกรธ มีความเกลียด มีความเครียด แล้วสามารถที่จะถอนจิตจากอารมณ์เหล่านี้ได้
ทำอย่างนั้นได้ มันไม่ได้ทำได้ด้วยการใช้ความคิด หรือความตั้งใจด้วยซ้ำ มันต้องอาศัยการฝึกจิตให้มีคุณภาพคือมีสติ จนกระทั่งรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ปล่อยให้ใจมันจมในอารมณ์นั้น พอใจมันหลุดจากอารมณ์นั้นได้ แล้วก็ปล่อยวางให้อารมณ์เหล่านั้นมันดับไปเอง
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการพ้นทุกข์ชั่วขณะ ชั่วคราว ซึ่งก็ทำไม่ได้ด้วยการใช้ความคิด หรือความคิดเห็น แต่ต้องอาศัยการฝึกจิต ซึ่งก็คือการทำกรรมฐาน อันนี้แม้จะรู้ว่าการทำกรรมฐาน การเจริญสติ การทำสมาธิภาวนา มันจะช่วยทำให้เห็นความจริงและสามารถออกจากทุกข์ได้ พอลงมือปฏิบัติก็จะมีปัญหา ปัญหานั้นเกิดจากความคิดนั่นเอง
หลายคนปฏิบัติไปมันก็คิด เป็นความคิดในเชิงตั้งคำถามว่าทำแล้วได้อะไรมีประโยชน์อะไร ที่จะยกมือไปยกมือมา มีประโยชน์อะไรที่จะเดินกลับไปกลับมา มันจะมีคำถามในเชิงตั้งข้อสงสัย มีคำถามว่าทำไมๆ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคในการบรรลุธรรมหรือการเข้าถึงธรรมของผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนสมัยใหม่ที่ถูกสอนมาให้ชอบตั้งคำถาม หรือว่าหาเหตุผล ทั้งๆ ที่บางครั้งการได้ลองผิดลองถูก การได้ปฏิบัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม มันจะช่วยทำให้พบคำตอบได้ดีกว่า
หลายคนก็ปฏิบัติได้ไม่นาน เพราะว่ามันมีคำถาม คำถาม และมันมีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ หลวงพ่อคำเขียนท่านก็จะย้ำอยู่เสมอ เวลาปฏิบัติไม่ต้องเอาถูกเอาผิดไม่ต้องหาเหตุหาผล ให้ทำไปก่อนเลย แต่ว่ามันก็อดไม่ได้คนสมัยนี้ มันมีความคิดความเห็น ความวิพากษ์วิจารณ์ มันก็เลยทำให้การปฏิบัติไปได้ไม่ถึงไหนสุดท้ายก็ท้อเลิก เพราะว่ากิเลสมันชอบหาข้ออ้างที่ทำให้เราเลิกปฏิบัติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาคนเรากำลังปฏิบัติก็คือการทวนกระแสกิเลส เรากำลังจะเอาชกิเลส แต่กิเลสมันก็ไม่ยอมมันก็จะพยายามหาทางสกัดยับยั้งให้เราเลิกปฏิบัติ และวิธีที่มันใช้ก็คือการสรรหาเหตุผล หรือหาข้ออ้างนาๆ ชนิด มันก็อาศัยความคิดแหละ มาเป็นวิธีการ มาเป็นอุบาย มาเป็นข้ออ้าง ให้คนเลิกปฏิบัติ ยิ่งคิดเก่งเท่าไร กิเลสมันก็สามารถที่จะหาข้ออ้างที่สวยหรูมาทำให้การปฏิบัติมันต้องเลิกกลางคันไป
เพราะฉะนั้นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรมของคนสมัยใหม่ มันไม่ใช่กำลังวังชาที่อ่อนล้า มันไม่ใช่ความยากลำบาก แต่จริงๆ ก็เป็นเรื่องของความคิด พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติธรรม หรือการทำกรรมฐาน เป็นปฏิปักษ์ต่อความคิด ถ้าเข้าใจแบบนั้นมันก็สุดโต่งเหมือนกัน เพราะว่าเป็นการเข้าใจผิด คนจำนวนมากเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม หรือการทำกรรมฐาน ก็คือการขจัดความคิด หรือการดับความคิด
อันนั้นก็ไม่ถูกเพราะว่ามันก็จะนำไปสู่การบังคับจิต หรือว่าการหักห้ามความคิด ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งเครียด และพอเครียดมากๆ มันก็จะมีข้ออ้างให้เลิกปฏิบัติ ให้เลิกกลางคันทันที แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าความคิดมันออกมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ความคิดไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริง ถ้าหากว่าเราไม่หลงเข้าไปในความคิด
แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักเห็นความคิด รู้จักเท่าทันความคิด ความคิดก็สามารถที่จะแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ ความคิดมันสามารถที่จะเผยสัจธรรมให้เราเห็นได้ เช่น ความไม่เที่ยง บางวันก็คิดดีบางวันก็คิดไม่ดี หรือว่าบางวันก็เห็นว่าอย่างนี้ดีแล้ว แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงก็รู้สึกว่าความคิดแบบนี้ไม่เข้าท่า
เรามักจะประสบอยู่เสมอกับความคิด เวลามีความคิดเห็นบางเรื่องใหม่ๆ ก็จะบอกว่ามันเยี่ยมยอดมากเลย แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงก็กลับเห็นว่ามันไม่เข้าท่า คล้ายๆ กับเด็กที่ก่อปราสาททรายตามชายหาด ตอนที่ก่อใหม่ๆ ก็หวงแหนปราสาทเหลือเกิน ใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ใครจะมาเติมมาแต่งไม่ได้ แต่พอถึงเวลาที่จะเลิกจะกลับบ้านก็กระทืบปราสาททรายนั้นพังไปเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นหวงแหนมากใครจะมายุ่งไม่ได้ แต่ถึงเวลาก็กระทืบให้มันพัง ก่อนที่จะวิ่งกลับบ้าน
ซึ่งคนเราก็มีท่าทีต่อความคิดแบบนั้นเหมือนกัน มันก็ทำให้เห็นว่าความคิดของคนเรา มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งเราก็ชื่นชมคนนั้น แต่ไม่นานเราก็รังเกียจคนๆ เดียวกัน คนที่เรารังเกียจเมื่อวาน ตอนนี้เรากลับมาชื่นชมเขาเสียแล้ว
ฉะนั้นถ้าเรารู้จักพิจารณาเราจะเห็นว่าความคิดมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ แล้วทำให้เราเห็นต่อไปว่าเชื่อความคิดไม่ได้ ความคิดถ้าเราเชื่อมันๆ ก็พาเราเข้ารกเข้าพง และถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ความคิดนั่นแหละเป็นตัวที่จะปิดกั้นความจริง
ท่านติช นัท ฮันห์ เคยเล่าเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง เป็นชาวนาชาวไร่ เมียตายต้องอยู่กับลูกอายุแค่ 4-5 ขวบ ไร่ที่อยู่ไกลจากหมู่บ้าน แต่ว่าใกล้ชายป่า พ่อก็รักลูกมาก วันหนึ่งไปหาของป่ากลับมาปรากฏว่า บ้านถูกไฟไหม้ พวกวัวควายก็หายเกลี้ยง แต่ที่ชายคนนั้นตื่นตระหนกมากที่สุดก็คือลูกหายไป
บ้านถูกเผาเหลือแต่เถ้าถ่าน ลูกหายไปไหน และในที่สุดก็พบโครงกระดูกของเด็กอยู่ในกลางเถ้าถ่าน แกเสียใจมากไม่คิดว่าลูกจะตายกลางกองเพลิง เศร้าโศกเสียใจมาก เอากระดูกของลูกเอาเถ้าถ่านของลูกไว้ในหีบ และด้วยความเสียใจแกก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะอยู่ที่เดิมไม่ได้คิดถึงลูก
เวลาผ่านไป 10 กว่าปี ตอนกลางดึกมีเสียงเรียกหน้าบ้านหน้ากระท่อม เเล้วก็ทุบประตู “พ่อเปิดประตู” ชายคนนั้นก็ถามว่าใคร “ผมเองครับเอกไงครับ ผมดั้นด้นมาหลายปี ดีใจมากที่ได้มาเจอพ่อ” ชายคนนั้นก็บอกว่า “แกไม่ใช่ลูกฉัน ลูกฉันตายไปแล้ว เถ้าถ่านก็ยังอยู่ในหีบนี้เลย”
ชายที่อยู่ในหน้าบ้านก็บอกว่า “ไม่ใช่ ผมยังอยู่ ผมยังไม่ได้ตาย” ชายคนนั้นก็บอกว่า “ลูกฉันตายไปแล้ว แกไม่ใช่ลูกฉัน” ชายคนนั้นก็พยายามร้องเรียกอยู่ตั้งนานเพื่อให้เจ้าของบ้านเปิดประตู แต่ว่าเจ้าของบ้านก็ไม่ยอมเปิดประตูเพราะไม่เชื่อว่า คนที่มาเรียกอยู่หน้าบ้านเป็นลูกของเขา เพราะอะไร เพราะเขาเชื่อ และเขาคิดว่าลูกเขาตายไปแล้ว
แต่ความจริงก็คือว่า คนนั้นคือลูกของเขา ถูกโจรลักพาตัวไป โจรมันต้องการเด็ก อยากได้ลูก อยากได้ลูกชาย แต่ไม่มีลูกชาย พอรู้ว่าชายเจ้าของไร่คนนี้มีเด็กเล็กๆ อยู่ก็เลยมาลักพาตัวไป แล้วแกล้งสร้างหลักฐานว่าเด็กตายในกองเพลิง เอากระดูกเด็กที่ไหนไม่รู้มาวางไว้กลางเถ้าถ่าน
ตอนหลังเด็กคนนั้นชื่อเอกสามารถจะหนีจากหัวหน้าโจรได้ เมื่อเอกอายุมากแล้วประมาณ 19-20 ปี คิดถึงพ่อก็พยายามหนี พอหนีสำเร็จ แล้วก็ตามหาพ่อที่แท้ของตัวเอง ใช้เวลาอยู่เป็นปีกว่าจะพบ แต่พอเจอพ่อที่แท้แล้วปรากฏว่าพ่อไม่ยอมรับ เพราะอะไร เพราะพ่อเชื่อว่าลูกของตัวเองตายไปแล้ว ความเชื่อของพ่อมันทำให้พ่อไม่ยอมเปิดประตูต้อนรับลูกของตัว
อันนี้เรียกว่าเป็นความเชื่อ เพราะความคิดเห็น ความจริงก็เหมือนกับเด็กคนนั้น เอกก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความจริง ความจริงก็คือเข้ามาเคาะประตู แต่ว่าใจไม่เปิด ใจไม่เปิดเพราะมีความเชื่อ หรือมีความคิดบางอย่าง ความคิดที่เป็นตัวปิดกั้นความจริง เหมือนกับพ่อที่ไม่ยอมเปิดประตูรับลูกที่ดั้นด้นมาจากแดนไกล
สัจธรรมหรือความจริงมันแสดงต่อเราตลอดเวลาแต่ว่าใจเราไม่เปิดรับ เพราะว่าใจเรามีความคิดความเห็น ความเชื่อบางอย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แสดงตัวต่อเราตลอดเวลาแต่ว่าใจเราไม่ยอมรับ เพราะว่ามันมีความคิด ความเห็นว่าทุกอย่างมันเที่ยง ทุกอย่างเป็นสุข หรือว่ามันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นความคิดมันก็ปิดบังความจริงได้ แล้วด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเป็นอุปสรรคสำคัญของการบรรลุธรรม.