แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรา เวลามีความทุกข์กาย สาเหตุของความทุกข์ มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน อาจจะได้แก่เชื้อโรค อาหารเป็นพิษ หรือว่าแผลระบมแผลอักเสบ หรือว่าเพราะอั้นปัสสาวะอุจจาระเอาไว้ หรืออาจจะเป็นเพราะโดนแดดเผา แต่ความทุกข์ใจบ่อยครั้ง สาเหตุอยู่ในอดีต ความเจ็บปวดรวดร้าว การถูกเอาเปรียบ การถูกทรยศหักหลัง ถูกโกงถูกต่อว่าด่าทอ จะเป็นเมื่อวาน หรืออาทิตย์ที่แล้ว หรือว่าหลายปีก็ตาม บางทีถอยหลังเป็นสิบๆปีเลย
มีป้าคนนึงอายุ 70 เธอเล่าว่าเมื่อตอนอายุ 20 กว่า แต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่ง ไม่นานก็พบความจริงว่าเขานอกใจ คบชู้ ก็โกรธแค้นมาก แม้จะเลิกรากันไป แต่ยังมีความแค้นฝังใจ จนกระทั่งเธออายุ 70 ผ่านมา 50 ปี ยังจำเหตุการณ์นั้นไม่มีวันไหนที่ไม่มีความแค้นรุ่มร้อน เพราะว่านึกถึงการกระทำของชายคนนั้น ผ่านไปตั้ง 50 ปีก็ยังมีความแค้นฝังใจ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ แต่ยังทุกข์กายด้วย
คนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ ความทุกข์ใจซึ่งไม่ใช่เฉพาะความโกรธ ความเศร้า ความขุ่นเคือง รวมถึงความรู้สึกผิด ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ในอดีต บางคนทำไม่ดีกับพ่อ ไม่ได้ดูแลพ่ออย่างเต็มที่ พ่อป่วย บางครั้งก็ต่อว่าพ่อ บางทีพ่อดื้อก็ตีพ่อก็มี ตอนหลังพ่อความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ จำอะไรไม่ได้ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แนะนำให้ทำอะไร สอนอะไรก็ไม่ทำตาม ดื้อ เถียง หรือทำอย่างอื่นที่ตรงข้าม ลูกก็โมโหก็ตีพ่อ ผ่านไป 20-30 ปี พ่อเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ยังมีความเสียใจ เศร้า รู้สึกผิด อันนี้เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากทีเดียว หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่มีความทุกข์ใจแทบทั้งหมดก็คงไม่ใช่ แต่ว่ากว่าครึ่ง เกิดเพราะจากการที่ยังฝังใจอยู่กับเรื่องราวในอดีต ทั้งๆ ที่เจ็บทั้งๆ ที่ปวด แต่ก็ยังชอบหวนนึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น
มันก็เป็นเรื่องที่แปลก เหตุการณ์ใดที่เราไม่ชอบ คนใดที่เรามีความชัง เราก็มักจะหวนไปนึกถึงเหตุการณ์หรือคนๆนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางทีนึกถึงบ่อยกว่าคนที่เรารัก หรือคนที่มีพระคุณต่อเราเสียอีก ใจที่หวนกลับไปจมฝังอยู่กับอดีต คือใจที่เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เมื่อใดก็ตามที่ถอนจิตออกจากเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ก็จะรู้สึกโปร่ง โล่ง
คุณป้าคนที่ว่านี้ ผ่านเวลามา 50 ปีแล้ว ที่แทบไม่มีวันใดที่ไม่ขุ่นเคือง รุ่มร้อน ตอนหลังเมื่อเธอหันมาสนใจทำสมาธิ เจริญสติ ก็เห็นเลยว่าที่เราทุกข์เป็นเพราะเราไปแบกไปยึดกับเรื่องราวที่มันผ่านไปนานแล้ว เป็นเพราะไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง พอเจริญสติแล้วก็ได้เห็นจิตเห็นความคิดของตัวที่ชอบไหลไปอยู่กับเรื่องราวในอดีต โดยเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ พอเห็นมันก็วางเลย พอวาง จิตใจก็สงบ เบา รู้สึกปลาบปลื้มมาก เพราะว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่จิตใจไม่มีความรุ่มร้อน เพราะเรื่องราวในอดีต
ที่จริงถ้ามองในแง่นี้ เราก็จะพบว่าเหตุการณ์ในอดีต ที่จริงก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย หรือว่ามันเป็นเพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆ แต่เป็นเพราะเราเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก เช่นไปแบกไปยึดไปจมอยู่กับมัน ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง เหตุการณ์มันจะเลวร้ายแค่ไหนถ้าเรารู้จักปล่อยรู้จักวาง มันก็ไม่ทุกข์ เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราคับแค้น หรือว่าโศกเศร้าได้ หรือบางคนกลับรู้สึกดีกับเหตุการณ์เหล่านั้นก็มี
อย่างคนที่เคยก่นด่าความยากจน พ่อแม่ยากจนตนเองก็ลำบาก ตนเองต้องปากกัดตีนถีบ ไปโรงเรียนก็อับอายเพื่อน เสื้อผ้ามอม ชุดนักเรียนก็สู้เพื่อนไม่ได้ แต่พอผ่านไป 20 -30 ปี เวลามองย้อนกลับไปในอดีตไม่ได้รู้สึกคับแค้น กลับขอบคุณความยากจนที่กระตุ้นให้เกิดความเพียรพยายาม ทำให้เกิดความอดทน แล้วก็รู้จักพึ่งพาตนเอง มาเห็นว่าชีวิตของตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเพื่อนร่วมชั้นบางคนเสียอีก เพื่อนร่วมชั้นที่มีครอบครัวร่ำรวย อยู่สบาย แต่ปรากฏว่า ชีวิตก็ไม่ได้เจริญก้าวหน้า เพราะว่าไม่รู้จักที่จะช่วยตนเอง เรียกว่ากินแต่บุญเก่าของพ่อแม่ ตัวเองเสียอีก ยากจนในวัยเด็ก แต่กลับมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ในเวลาต่อมา ก็เพราะความยากจนมันผลักดัน
บางคนมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพ่อ เพราะว่าพ่อไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ชอบทำร้ายแม่แล้วก็ด่าว่าลูก งานการก็ไม่ค่อยได้รับผิดชอบ ไม่ได้เป็นหลักของครอบครัว เพราะว่าไปมีเมียน้อย ตอนหลังก็ทิ้งเมียทิ้งลูก ลูกชายก็โกรธมากคับแค้นใจว่าทำไมเราถึงมีพ่อแบบนี้ แต่ผ่านไป 30-40 ปีกลับขอบคุณพ่อ ตอนหลังพ่อเจ็บป่วย ก็ไปรับพ่อมาดูแล ดูแลด้วยความเอาใจใส่ ไม่ใช่เพราะเป็นหน้าที่ ตอนที่พ่อตาย ก็กราบอกพ่อ น้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง ขอบคุณพ่อขอบคุณป๊าที่ทำให้ผมมีวันนี้ เพราะว่าความยากลำบาก จากการที่พ่อไม่ค่อยได้รับผิดชอบครอบครัว ทำให้เขาต้องปากกัดตีนถีบ รู้จักหาเลี้ยงให้ครอบครัว แม่ น้องตั้งแต่วัยเด็ก ก็ทำให้โตเกินวัย แล้วก็ทำให้มีประสบการณ์ชีวิต สามารถทำธุรกิจให้เจริญ ประสบความสำเร็จอย่างที่เพื่อนร่วมรุ่นก็เทียบไม่ได้ เขาก็เลยขอบคุณว่าก็เพราะความยากลำบากในวัยเด็กเพราะป๊านี่แหล่ะ จากเดิมที่เกลียดพ่อก็กลายเป็นขอบคุณ จากเดิมที่รู้สึกคับแค้นก็กลายเป็นความซาบซึ้ง
อันนี้แสดงให้เห็นว่า อดีตที่เจ็บปวดที่ย่ำแย่ มันไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป มันอยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร เช่น ถ้าเรารู้จักปล่อยรู้จักวาง เราก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความแน่วแน่ มั่นคง หรือยิ่งกว่านั้น ถ้าเราได้เห็นประโยชน์ ข้อดีของมัน เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะรู้สึกขอบคุณ นึกถึงทีไรไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด ไม่ได้รู้สึกคับแค้น มันมีแต่ความขอบคุณ ซาบซึ้ง ทั้งๆที่ตอนนั้นคับแค้นมาก
นอกจากเรื่องในอดีต คนเราทุกข์ใจเพราะเรื่องอนาคตก็ไม่ใช่น้อย จะเรียกว่าครึ่งครึ่งก็ได้ของความทุกข์ใจ ครึ่งหนึ่งเกิดจากการที่ใจชอบไหลไปจมอยู่ในอดีต ไปแบกไปยึดไปฝังอยู่กับเรื่องราวที่เจ็บปวดก็ทำให้เกิดความโกรธ เกิดความแค้น เกิดความเศร้า เกิดความรู้สึกผิด
แต่ในอีกด้านหนึ่ง พอใจไหลไปลอยไปในอนาคต มันก็เกิดความวิตก เกิดความกังวล เกิดความกลัว เกิดความเครียด คนเราเวลามีความวิตกกังวล มีความเครียด เรียกว่าส่วนใหญ่ เกิดจากการที่ใจไปพะวงไปจมอยู่กับเรื่องราวในอนาคต อันนี้เป็นปัญหาของคนในปัจจุบันมาก และหลายคนก็ไม่สามารถที่จะวางได้ เหตุที่ไม่สามารถวางได้เพราะไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าใจมันลอย ไม่รู้ว่าใจไปพะวงอยู่กับอนาคต เช่นเดียวกับใจที่ไปจมอยู่กับอดีต ก็เพราะไม่รู้ตัว ก็ไปยึดไปแบก วางไม่ได้
แต่เมื่อมีสติเห็น เห็นว่าใจมันไหลไปในอดีตแล้วรู้จักวางอย่างคุณป้าคนนั้น ใจก็จะเบา ความเครียดความวิตกกังวลก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักวางสิ่งที่เป็นอนาคต มันก็จะเบา จะเครียดน้อยลง มันต้องอาศัยสติที่รู้ทันความคิด มันคิดถึงเรื่องอดีตมันจึงเศร้า มันจึงคับแค้น โดยเฉพาะถ้าคิดไม่เป็น เช่นเดียวกัน พอมันคิดถึงอนาคต ก็เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา แต่ถ้าเราเห็นความคิดมันก็สามารถจะวางได้
แต่หลายคนก็บอกว่าวางไม่ได้ เพราะว่าสติเขาอ่อน สติเขาไม่ไว ไม่รู้ทันความคิด แต่มีตัวช่วยอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้วางได้ง่ายขึ้น เสริมกับสติก็คือ การหมั่นเตือนตน เช่นเตือนว่า มันยังไม่เกิดขึ้นน่ะ
บางคนสอบ เช่น สอบสมัครงาน สอบสัมภาษณ์ อะไรก็แล้วแต่ ก็กังวลไปล่วงหน้าแล้วว่าจะสอบไม่ได้หรือที่คนเป็นกันมากคือ ไปตรวจสุขภาพ ไปตรวจชิ้นเนื้อ หมอนัดฟังผลอีก 3 วัน ก็เครียด วิตก กังวลว่าชิ้นเนื้อจะมีผลเป็นมะเร็ง ผลตรวจยังไม่ออกมาเลย ก็เครียดไปแล้ว นอนไม่หลับ แต่ถ้าเตือนตนสักหน่อยว่า ผลสอบ ผลตรวจ มันยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปตีตนก่อนไข้ ถ้าเราเตือนตนอย่างนี้ว่ายังไม่เกิดขึ้น มันก็ช่วยทำให้วางได้เร็วขึ้น
บางคนก็กังวลกับเศรษฐกิจที่จะย่ำแย่ยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจ ถ้า Covid มันยืดยาวกว่านี้ ไม่ใช่แค่ปี 2564 อาจจะยืดยาวไปถึงปี 65 จะทำอย่างไร จิตใจรุ่มร้อน กังวล แต่เตือนตนสักหน่อยว่า มันยังไม่เกิด นี้มันแค่กลางปี 64 แต่บางคนคิดข้ามช็อตไปถึงปี 65 แล้ว แล้วก็นึกภาพไปในทางลบทางร้าย ก็เลยเกิดความกังวล เตือนตนสักหน่อยน่ะว่า มันยังไม่เกิด
หรือบางครั้งมีความกังวลหรือความเครียด พอนึกถึงงานการที่จะต้องทำ หรือปัญหาที่ต้องแก้ พรุ่งนี้หรือว่าอีก 2-3 วัน หรือบางคนจะไปสอบ เป็นการสอบครั้งสำคัญ สอบเข้ามหาวิทยาลัยพรุ่งนี้ เครียด นอนไม่หลับ หรือบางทีจะต้องไปประชุมนัดสำคัญ ไปเจรจาธุรกิจวันมะรืนนี้ เป็นเรื่องที่เรียกว่าชี้เป็นชี้ตาย เครียดเลยนอนไม่หลับ วางไม่ได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยได้คือเตือนตนว่า ยังไม่ถึงเวลา คืนนี้เรานอนก่อนนอนให้เต็มที่ ภารกิจที่ต้องทำ ปัญหาที่ต้องแก้ วันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้ หรืออาทิตย์หน้า ตอนนี้จะไปเครียดจะไปกังวลกับมันทำไม ถึงเวลานอนก็นอน หรือถ้าถึงเวลาทำงาน ก็ใช้เวลาไปกับการเตรียมงานเตรียมตัว มากกว่าเสียเวลาไปกับความทุกข์ความกังวล เอาเวลาไปใช้กับกวางการเตรียมตัวดีกว่าหมดไปกับความกังวล ซึ่งไม่ได้อะไรเลย เตือนตนสักหน่อยว่า ยังไม่ถึงเวลา มันก็จะช่วยทำให้ใจเราวางสิ่งหรือเรื่องราวเหล่านั้นลงได้ จะทำให้เราพักผ่อนหรือว่าจิตใจเราโปร่งโล่งขึ้น
ปัญหาบางอย่าง มันก็แก้ไม่ได้ เหตุการณ์บางอย่าง มันก็สุดวิสัยที่จะทำอะไรได้ กังวลไปก็ไม่มีประโยชน์อย่างเช่น การแพร่ระบาด covid มันไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้เลย นอกจากการดูแลตัวเองให้ดี หรือดูแลคนในครอบครัว อย่าว่าแต่ฝนตก รถติด มันเป็นสถานการณ์ที่เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าฝนมันจะตก รถจะติด เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราก็ทำได้แค่ยอมรับในเมื่อเราทำอะไรไม่ได้ จะกังวลไปทำไม
มันมีสุภาษิตทิเบตที่ว่า ปัญหาใดที่แก้ได้ ถ้ามันแก้ได้เราจะกังวลไปทำไม แต่ถ้าแก้ได้ หรือทำอะไรไม่ได้จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปกังวล สถานการณ์หลายอย่างเราไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ พรุ่งนี้จะจัดงานเลี้ยง ไม่รู้ฝนจะตกหรือเปล่า กลุ้มไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ 1 มันยังไม่เกิด ข้อ 2 ถึงเกิดเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะไปกังวลกับมันทำไม พอเราเตือนตัวเองแบบนี้ มันก็ช่วยทำให้เราวางได้ง่ายขึ้น
ปัญหาบางอย่างมันไม่ใช่เป็นเรื่องอนาคต บางทีเป็นเรื่องปัจจุบัน แต่บางทีก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ว่าเราไปคิดปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย เช่น ไประแวงว่า เพื่อนร่วมงานจะเลื่อยขาเก้าอี้เรา หรือว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา เขาพูดไม่ดีกับเรา ได้ฟังมาอย่างนั้น บางทีเราระแวงไปเอง พอเราระแวงไปเองเราก็ทุกข์ เพราะใจของคนเรามีแนวโน้มที่ชอบจะระแวงอยู่แล้ว แม้แต่อยู่กุฏิคนเดียว อยู่บ้านคนเดียว มันก็อดระแวงไม่ได้ว่าจะมีคนมาขึ้นบ้านหรือเปล่า มีผีมีสัตว์ร้ายข้างนอกจะมาทำร้ายเราไหมถ้าเกิดอยู่ในวัด พอคิดอย่างนั้นก็กลัว ต้องเตือนตนเองว่า ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เรายังไม่ได้เห็นด้วยตาหรือได้ยินกับหู หลายสิ่งหลายอย่างที่มันทุกข์เพราะเราไปนึกเอาเอง หรือว่าอาจจะสรุปเอาเอง แฟนเรานอกใจหรือเปล่า บางทีก็เห็นเขามีทีท่าไปสนิทสนมกับอีกคนหนึ่งเพื่อนร่วมงาน พอคิดแบบนี้มีทีท่าว่าเขาจะนอกใจ หรือปันใจให้กับคนอื่นเกิดความทุกข์เกิดความกลุ้มใจเกิดความแค้น บ่อยครั้งก็เป็นความคิดปรุงแต่งทั้งเพ แต่ถ้าเราเตือนตนเองสักหน่อยว่า ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า มันก็ช่วยลดความกังวล ช่วยทำให้ปล่อยวางได้
เวลาที่เรามีความกังวล มีความวิตก ถ้าเรารู้ทันความกังวลตั้งแต่ตอนที่มันเริ่มก่อตัวเป็นความคิดคือ คิดเกี่ยวกับเรื่องอนาคตไปในทางลบทางร้าย มันก็ช่วยทำให้เราวางได้ แต่ว่าหลายคนก็พบว่ามันวางไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราลองเตือนตนเอง อย่างน้อย 1 ใน 4 ข้อนี้คือ
ข้อ 1 มันยังไม่เกิด สิ่งที่กังวล มันยังไม่เกิด
ข้อ 2 มันยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลาที่จะไปทำงานหรือไปแก้ปัญหา อย่าเพิ่งเอามาเก็บมารกสมอง หรือมาทำให้กังวลจนนอนไม่หลับกินไม่อิ่ม
ข้อ 3 มันเป็นสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อทำอะไรไม่ได้ จะไปกลุ้มกับมันทำไม แล้ว
ข้อที่ 4 ไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า อาจจะเป็นการปรุงการแต่งของเราไปเอง หรือของความคิดที่ชอบระแวง มันไม่ใช่เราคิดแต่เป็นไอ้ตัวระแวงตัวหลงที่มันปรุงความคิดเหล่านี้ขึ้นมา ถ้าเราเชื่อมัน เราก็เป็นทุกข์
ทั้ง 4 ไม่นั้น เป็นคาถา ที่ช่วยเตือนใจเราได้ดี ไม่ให้เราไปกังวลกับเรื่องอะไรมากเกินไป เตรียมตัวไว้บ้างนั้นดี แต่ว่าจะไปกังวลหรือพะวงกับมัน มันก็มีแต่จะสร้างทุกข์
เวลาใด เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกกังวลแล้ววางไม่ได้ ก็เตือนตนด้วยคาถา 4 ไม่ คือ มันยังไม่เกิด มันยังไม่ถึงเวลา เราทำอะไรไม่ได้แล้ว หรือว่า เราไม่รู้ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า เตือนตัวเองด้วยคาถาเหล่านี้ มันก็ช่วยทำให้ปล่อยวางได้ และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
ที่จริงตอนที่พูดตอนต้นว่า สาเหตุของความทุกข์ใจเกิดจากอดีตหรืออนาคต ที่จริงมันก็เกิดจากการกระทำในปัจจุบันก็คือ ใจที่ไปยึดสิ่งที่เป็นอดีต หรือใจที่ไปพะวงกับอนาคต ใจที่ไปยึดกับอดีตหรือพะวงกับอนาคตมันก็คือปัจจุบัน คือกรรมในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเรื่องที่คิดจะเป็นอดีตหรือเป็นอนาคต แต่การกระทำของใจที่ทำให้ทุกข์คือการกระทำในปัจจุบัน คือ การยึดติด การปรุงแต่ง
แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ทันอาการของใจที่มันยึด ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต มันก็จะวางได้ หรือถ้าเรารู้จักเดือนใจให้มันได้คิดเสียบ้าง มันก็จะช่วยเตือนให้เรามีสติ แล้วก็ทำให้วางได้เหมือนกัน ก็ต้องหาตัวช่วยในการที่ทำให้สติมันทำงานได้ไวขึ้น จนกระทั่งทำให้จิตมันปล่อยวาง ไม่ไปก่อทุกข์ หรือซ้ำเติมความทุกข์ให้มากขึ้น
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวัตรเย็น วัดป่าสุคะโต วันที่ 17 มิถุนายน 2564