พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ 23 มีนาคม 2567
นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งสนใจเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ ดังนั้นเมื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก็เลือกศึกษาพฤติกรรมของลิง โดยเฉพาะลิงชิมแปนซี (Chimpanzee)
วันหนึ่ง ขณะที่สังเกตพฤติกรรมของชิมแปนซีในสวนสัตว์ที่เมือง Arnhem ในประเทศฮอลแลนด์ ได้สังเกตเห็นลิงคู่หนึ่งต่อสู้กัน แล้วไล่กัน จนกระทั่งสองตัวนี้ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ สู้กันอย่างกราดเกรี้ยวมาก จนกระทั่งตัวหนึ่งยอมแพ้ พอตัวที่ยอมแพ้ส่งสัญญาว่า ฉันแพ้แล้ว ตัวที่ชนะก็เลิกทำร้าย แต่สีหน้าก็ยังมีความบึ้งตึงและเครียด ซึ่งก็ธรรมดา เพิ่งสู้รบกันมา
แต่สักพัก ตัวหนึ่งก็ยื่นมือมาให้อีกตัวหนึ่งจับ เหมือนกับบอกว่า เราดีกันดีกว่า เท่านั้นไม่พอ สองตัวนั้นจับมือกันเสร็จก็ลงมาจากต้นไม้ แล้วก็สวมกอดกัน จูบกันด้วย ทั้งที่เมื่อสักครู่นี้ยังสู้รบกันแทบจะเป็นจะตาย
นักศึกษาหนุ่มคนนั้นเห็นแล้ว เอ๊ะ นี่มันเป็นพฤติกรรมที่ถ้าเกิดกับคน เราเรียกว่าการคืนดี จึงเขียนเรื่องนี้ในวิทยานิพนธ์ ปรากฏว่าอาจารย์ที่คุมวิทยานิพนธ์ไม่พอใจ เป็นไปได้อย่างไร ลิงจะรู้จักคืนดีกันได้อย่างไร ในเวลานั้นคือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แม้กระทั่งในหมู่นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่สนใจพฤติกรรมของสัตว์ก็ยังเชื่อว่าสัตว์มีแต่ความรุนแรง ก้าวร้าว เห็นแก่ตัว เป็นความเชื่อที่แพร่หลายทั่วไป
เพราะฉะนั้น พอนักศึกษาคนนี้มาบอกว่าลิงมีพฤติกรรมแบบนี้ด้วย สู้รบกันแล้ว ตบตีกันแล้ว ก็รู้จักให้อภัย คืนดีกันได้ มันขัดกับความเชื่อของผู้รู้ในเวลานั้น อาจารย์ก็ไม่พอใจ แต่ว่านักศึกษาก็ยืนยันว่าเห็นอย่างนั้นจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่เห็นครั้งเดียว เห็นหลายครั้ง สุดท้ายก็ผ่าน ได้ดอกเตอร์ ชายหนุ่มคนนี้ชื่อ Frans de Waal
และนับแต่นั้นมา แกก็ศึกษาพฤติกรรมของลิงชนิดต่าง ๆ ชิมแปนซีบ้าง โบโนโบ (Bonobo) บ้าง คาปูชิน (Capuchin) บ้าง สังเกตหลายสิ่งหลายอย่างที่คนทั่วไปหรือแม้แต่ผู้รู้ไม่เคยสนใจ เช่น พบว่าลิงชอบช่วยเหลือกัน มันไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างเดียว เขาเห็นลิงตัวหนึ่งลากกล่องซึ่งหนักมาก ปรากฏว่าลิงตัวอื่นก็มาช่วยลากด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยอย่างเดียว มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มีลิงแก่ตัวหนึ่ง แก่มาก เดินลำบาก ปรากฏว่ามีลิงตัวอื่น โดยเฉพาะลิงตัวเมียมาช่วยประคอง แล้วเวลาลิงบาดเจ็บ อาจจะเป็นเพราะการสู้รบกัน การทะเลาะกัน การกัดกัน ปรากฏว่ามีตัวผู้มาช่วยเลียแผลของตัวที่บาดเจ็บ
ลิงเด็กเวลาแม่ไม่อยู่ก็มีตัวอื่นมาช่วยดูแล ไม่ใช่แค่ตัวเมีย ตัวผู้ก็มาช่วยดูแลลิงเด็กเล็กแทนแม่ที่ไม่อยู่ หรือเวลาเดินอพยพหรือเดินไปไหนในป่า บางทีตัวเล็ก ๆ เดินตามไม่ทัน ตัวผู้ใหญ่ก็เดินชะลอ เดินช้าลง เพื่ออะไร เพื่อให้ตัวเล็กเดินทัน อันนี้มันแสดงถึงความมีน้ำใจของลิง
แล้วเขายังเคยเห็นลิงตัวหนึ่งเจอนกที่บาดเจ็บ ลิงตัวนั้นก็คว้าจับนก แล้วก็ปีนขึ้นไปบนยอดไม้ ปีนขึ้นไปทำไม เพื่อช่วยนกให้บินกลับรังได้ สยายปีก ขยายปีกนก เหมือนกับจะบอกนกว่า บินสิ ๆ บินกลับรังได้แล้ว นกบาดเจ็บก็ช่วยนกให้ได้บินกลับรัง แต่นกจะบินได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ลิงก็พยายามช่วย
และนี่เป็นสิ่งที่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนไม่เคยคิดเลยว่าลิงจะมีพฤติกรรมแบบนี้ด้วย มีความเสียสละ มีน้ำใจ มีความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน
แล้วลิงก็ฉลาด เล่นการเมืองเป็น แต่ก่อนเข้าใจกันว่าลิงที่เป็นหัวหน้าฝูงต้องแข็งแรง เพราะว่าเชื่อกันว่ากฎป่าต้องอยู่ได้ด้วยกำลัง แต่ก็พบว่าลิงที่เป็นหัวหน้าฝูงหลายตัว จะว่าส่วนใหญ่ก็ได้ ไม่ได้แข็งแรงที่สุด แต่มันฉลาด รู้จักวางแผน รู้จักหาพวก ตัวไหนที่หาพวกได้เยอะก็ได้เป็นหัวหน้าฝูง เป็นจ่าฝูง ตัวที่แข็งแรงบางทีไม่มีพวก เพราะว่ามันไม่ค่อยฉลาดหรือไม่ค่อยมีน้ำใจ พอไม่มีพวกก็ไม่สามารถจะขึ้นมาเป็นจ่าฝูงได้
และวิธีหาพวกของลิงก็อาจจะใช้วิธีการให้รางวัลหรือให้สินบน หาอาหาร หาของให้พวกที่จะมาเป็นเครือข่าย บางทีก็มีตัวเมียมาช่วย ตัวเมียก็พยายามโปรยเสน่ห์เพื่อให้มาเป็นพวกของหัวหน้าฝูงหรือคนที่จะชิงชัยเป็นจ่าฝูง แสดงว่าลิงเล่นการเมืองเป็น รู้จักวางแผน ตัวที่วางแผนเก่ง ตัวที่หาพวกได้เยอะก็จะได้เป็นจ่าฝูง เหมือนคน รู้จักให้สินบน รู้จักให้รางวัลเพื่อหาพวก
แล้วที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลิงก็มีความสำนึกเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นธรรมไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างเดียว ลิงก็เป็น เขาทดลองลิงสองตัว อันนี้คือลิงคาปูชิน ไม่ใช่ลิงชิมแปนซี สองตัวอยู่ในกรงติด ๆ กัน ให้ทำงานอย่างเดียวกันก็คือ ยื่นก้อนหินมาให้คน ในกรงมีก้อนหินหลายก้อน ตัวไหนยื่นหรือครั้งใดที่ยื่นให้ก็จะได้รางวัล รางวัลก็คือแตงกวา
แต่มีคราวหนึ่ง ตัวหนึ่งได้แตงกวา แต่ตัวในกรงติด ๆ กันได้องุ่น ตัวที่ได้แตงกวาเห็นก็ไม่พอใจ ต่อมาก็เจอเหตุการณ์นี้ซ้ำอีก ยื่นก้อนหิน ทำงานเดียวกัน ฉันได้แตงกว่า แต่อีกตัวหนึ่งได้องุ่น เจอแบบนี้ซ้ำสอง ตัวที่ได้แตงกวาไม่พอใจ เอาแตงกวาขว้างใส่คน แล้วเขย่ากรง แล้วพยายามยื่นมือยื้อยุดเพื่อที่จะหยิบองุ่นจากคนเลี้ยง มันไม่พอใจที่ได้แตงกวา แต่เพื่อนได้องุ่น
ก็เหมือนคน ได้โบนัสไม่เท่ากัน คนหนึ่งได้โบนัส 5 หมื่น อีกคนหนึ่งได้แสนหนึ่ง คนที่ได้ 5 หมื่น ทีแรกก็พอใจ แต่พอรู้เพื่อนได้แสนหนึ่ง โอ้ ไม่พอใจแล้ว เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียม
คนที่ทำให้ความคิดเรื่องนี้แพร่หลาย จนกระทั่งต่อไปตอนหลังคนก็ไปศึกษาเรื่องปลาโลมา เรื่องปลาวาฬ เรื่องนก แม้กระทั่งเรื่องเต่า พบว่าพวกนี้ฉลาด มีความเสียสละ มีความเอื้อเฟื้อ นี่ก็เพราะงานบุกเบิกของชายหนุ่มคนนี้ ซึ่งตอนนี้ก็อายุมากแล้ว เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
Frans de Waal บุกเบิกมา 50 ปี ทำให้คนเข้าใจ รู้จักสัตว์มากขึ้นว่า สัตว์มันไม่ใช่แค่เห็นแก่ตัว หรือว่านิยมใช้กำลัง แต่ว่ามีความฉลาด มีความเสียสละ มีความเอื้อเฟื้อ คุณธรรมที่คนมี สัตว์ก็มีเหมือนกัน ซึ่งทำให้คนได้รู้จักสัตว์มากขึ้น แล้วเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นว่า เรามนุษย์เราไม่ได้พิเศษสุดหรือว่าแปลกไปกว่าสัตว์ชนิดอื่น คุณธรรมที่มนุษย์มี สัตว์ก็มี อันนี้ทำให้หลายคนไม่พอใจว่าทำไมคนเราไม่แตกต่างจากสัตว์เท่าไร ทำไมสัตว์มีความสามารถหรือคุณธรรมใกล้คน
อันนี้ก็เพราะผลงานของ Frans de Waal ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นับว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการมากสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมของสัตว์.