แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก ท่านบอกว่า“ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดมั่นเมื่อไร มันก็จะผิด เพราะไม่มีอะไรยึดมั่นได้เลย และถ้ายึดมั่นก็จะนำไปสู่ปัญหาได้” ที่จริงเรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่าคำสอนของพระองค์นั้นเหมือนกับแพที่เอาไว้ข้ามฝั่ง เมื่อข้ามฝั่งแล้ว ไม่มีใครหรอก ไม่มีคนฉลาดคนไหนที่จะแบกแพขึ้นฝั่งไปด้วย ต้องวางแพไว้ที่เดิม แล้วก็เดินตัวเปล่าขึ้นฝั่ง ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมที่พระพุทธองค์ได้สอนได้แสดงนี้ ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ขนาดกุศลธรรม ไม่ต้องพูดถึงอกุศลธรรม ยิ่งยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย
คราวนี้ เมื่อเรามีความใจกว้างและก็ตระหนักถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในความคิด เห็นโทษของความยึดติดถือมั่นแม้ในความถูกต้องแล้ว เราต้องพยายามที่จะก้าวข้ามความคิดแบบเราและเขา ดีและชั่ว ให้ได้ อย่าไปมองว่าเราดี คนอื่นชั่ว พวกเราดี พวกนั้นชั่ว เพราะจริงๆ แล้ว คนดีกับคนชั่วมันไม่ได้แยกกัน และที่จริงแล้วความดีกับความชั่วก็แยกจากกันได้ยาก อาตมาชอบที่นักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อ โซลเซนิตซิน (Aleksandr Solzhenitsyn) ได้รางวัลโนเบลเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ได้บอกว่า “มันจะง่ายดายสักเพียงใด ถ้าเพียงแค่คิด(รู้)ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนซักแห่งแล้วคอยทำสิ่งชั่วร้าย เราก็เพียงแค่แยกเขาออกมา แล้วกำจัดเขาเสียมันก็จบ” แต่เส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่วแท้จริงแล้วมันอยู่ในใจเรา เส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่วอยู่ในใจเรา ก็คือว่าในใจเราก็มีทั้งดีและชั่ว แต่คนเราไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าไร เพราะใครเล่าที่อยากจะทำลายบางส่วนในใจของเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ใครเล่าที่อยากจะมาเล่นงานตัวเอง การไปกำจัดคนชั่วข้างนอกนี้ง่าย แต่การกำจัดความชั่วในใจเรานี้ยาก เพราะธรรมชาติของคนเรานี้ มักจะยอมรับไม่ได้ว่าเรามีความไม่ดี มีความชั่วอยู่
อย่างที่ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) กล่าวว่า“ทุกคนมีระเบิดอยู่ข้างใน และระเบิดนี้พร้อมจะประทุหรือแผดก้องเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าเรามีสติ ไม่ประมาท ไม่หลงตน เราก็จะสามารถที่จะควบคุมไม่ให้ระเบิดนี้มันระเบิด และสามารถที่จะทำให้มันค่อยๆเลือนหายไป” ต้องกลับมาจัดการที่ใจของเรา แต่คนส่วนใหญ่นี้ เนื่องจากคิดมองอะไรแบบแยกส่วนเป็นทวิภาวะ ก็มักจะมองว่าตัวเราดีคนอื่นชั่ว มันง่ายมากที่จะมองคนอื่นชั่วและเราดี และมันง่ายมากที่จะกำจัดคนเหล่านี้ออกไป มันดีกว่า มันง่ายกว่า คือดีกว่าที่จะเล่นงานความชั่วในใจเรา แต่ที่จริงแล้ว ถ้าพูดในแง่พุทธศาสนา การที่เรามาจัดการกับความชั่วในใจหรือกิเลสในใจเรานี้ มันง่ายกว่า มันเป็นกุศลมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่าการมาเล่นงานความชั่วในใจเป็นเรื่องยาก ไปกำจัดคนอื่นข้างนอกนี้มันง่ายกว่า เพราะฉะนั้นถ้าคิดแบบนี้ การที่ความรุนแรงในโลกนี้จะหมดไป ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
ประการต่อมาคือว่า เมื่อเรารู้จักควบคุมใจไม่ให้ความโกรธความเกลียดครอบงำ และมีความคิดที่ไปพ้นทวิภาวะนี้แล้ว สิ่งสำคัญประการต่อมาก็คือ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบ เพราะถ้าเราใช้ความรุนแรง มันจะไม่ได้ลดความโกรธความเกลียด กล่าวคือแม้เราจะกำจัดคนหนึ่งได้ พี่น้องของเขา เพื่อนของเขาก็จะโกรธจะเกลียด และความโกรธความเกลียดก็จะแพร่ระบาดและนำไปสู่ความรุนแรง ความรุนแรงนี้มันไม่แก้ปัญหา มิหนำซ้ำกลับซ้ำเติมปัญหา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ก็เพราะความยึดมั่นในความถูกต้องของตัว ความคิดว่าเราดีเขาชั่ว และความคิดว่าเมื่อจุดหมายถูกต้องแล้วจะใช้วิธีการใดก็ได้ หรือความคิดว่าคนชั่วนี้ทำอะไรกับมันก็ดีทั้งนั้น เพราะคนชั่วนี้มีสิทธิ์เป็นศูนย์ อันนี้ก็เป็นทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป ว่าคนชั่วคนเลวนี้มีสิทธิ์เป็นศูนย์ คนชั่วนี้เราทำอย่างไรกับมันก็ได้ ซ้อม กระทืบขณะที่มาทำแผนประทุษกรรมหรือให้ประหารชีวิตไปเลย วิสามัญฆาตกรรม ความคิดแบบนี้มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะว่ามันยิ่งทำให้ความโกรธความเกลียดแพร่ระบาด ยิ่งเป็นชาวพุทธด้วยแล้ว มันต้องยึดมั่นในสันติวิธี จะไปใช้ความคิดว่าเขาแรงมา เราก็ต้องแรงไป ตาต่อตา ฟันต่อฟัน อันนั้นไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ
อาตมาชอบที่อาจารย์ปราโมทย์พูดเมื่อเร็วๆนี้ ท่านบอกว่า ที่มีคนพยายามเรียกร้องเชิญชวนให้คนมาเผามัสยิดนี้ มันผิดศีล และถ้ารักษาศีลไม่ได้ จะรักษาศาสนาได้อย่างไร ถ้ารักษาศีลไม่ได้จะรักษาพุทธศาสนาได้อย่างไร? นี่มันเป็นคำพูดที่ตรงมากเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะรักษาพุทธศาสนา เราจะรักษาความดีความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมต้องใช้สันติวิธี ถ้าเราจะรักษาความสงบสุขให้เกิดขึ้นหรือทำให้ความสงบสุขกลับคืนมา เราต้องใช้วิธีที่สันติ ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมา เราต้องใช้วิธีการที่ถูกศีลถูกธรรม นั่นแหละคือสันติวิธี
และนี่คือวิธีการที่สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ เอาชนะความเท็จด้วยสัจจะ” ยิ่งฝ่ายก่อการร้ายใช้ความรุนแรงมากเท่าไรเรายิ่งต้องใช้สันติวิธี ยิ่งเขาใช้ความมดเท็จมากเท่าไรเราต้องใช้สัจจะ อาตมาชอบที่นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์กล่าวไว้ ถ้าเราจำได้เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว มีการก่อการร้ายที่ประเทศนอร์เวย์คนตายไปเกือบ ๘๐ คน มือปืนมีคนเดียวเป็นชาวนอร์เวย์ที่เป็นฝ่ายขวาหัวรุนแรง ฝ่ายขวานี่ไม่ใช่มุสลิม ได้ฆ่าเด็กตายเกลื่อนเลย ปรากฏว่าถูกจับไม่ได้ถูกยิงทิ้ง เอาขึ้นศาล นายกรัฐมนตรีบอกว่า มือปืนหัวรุนแรงคนนี้ต่อต้านนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเรื่องสันติภาพ ประชาธิปไตย เปิดกว้างคนต่างศาสนาหรือผู้ลี้ภัย นายกรัฐมนตรีย้ำว่าวิธีที่จะรับมือกับคนก่อการร้ายแบบนี้ ก็คือทำให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น มีมนุษยธรรมมากขึ้น ยิ่งเขามาด้วยความคิดที่คับแคบ ยิ่งเขามาด้วยความคิดที่ไร้มนุษยธรรม เรายิ่งต้องเอาความเปิดกว้างสู้กับเขา เอามนุษยธรรมสู้กับเขา อันนี้ก็สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าเขามาด้วยความโกรธต้องเอาความไม่โกรธสู้กับเขา ถ้าเขามาด้วยความเท็จต้องเอาสัจจะสู้กับเขา ถ้าเขามาด้วยความชั่วต้องเอาความดีสู้กับเขา” นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้สันติวิธี
และถ้าเป็นไปได้เราต้องพร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะให้อภัย ให้ความรักแม้กระทั่งคนที่เห็นต่างจากเรา หรือแม้กระทั่งคนที่เขาทำร้ายเราด้วยซ้ำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “หากมีโจรชั่วมาเลื่อยอวัยวะของเราให้ขาดเป็น ๒ ท่อน ถ้าผู้ใดมีจิตคิดร้ายในโจรผู้นั้น ถือว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของเรา” และพระองค์ก็บอกว่า “เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้พึงสำเหนียกว่า เราจะไม่มีจิตคิดร้าย จะไม่มีจิตแปรผัน จะไม่กล่าววาจาชั่วหยาบกับคนเหล่านั้น จะมีแต่ความมุ่งอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและมีเมตตา ไม่มีโทสะอยู่ภายใน” นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าประเสริฐมาก แม้จะทำยาก ก็คือให้มีความรัก ไม่มีความโกรธความเกลียด แม้กระทั่งผู้ที่ทำร้ายเรา
อันนี้เป็นจุดยืนของชาวพุทธ ซึ่งมีวิธีนี้เท่านั้นที่จะเอาชนะความรุนแรง เอาชนะความโกรธความเกลียดได้ คานธีพูดไว้น่าสนใจ คานธีกล่าวว่า “มันเป็นการง่ายที่จะเป็นเพื่อนกับคนที่ดีกับเรา แต่สิ่งที่เราควรทำก็คือการเป็นมิตรกับคนที่เขาเป็นศัตรูกับเรา นี่แหละคือแก่นแท้ของศาสนา ที่เหลือนอกนั้นเป็นแค่การทำธุรกิจ” หมายความว่าเวลาทำธุรกิจนี้ใครดีกับเราเราก็ดีตอบ แต่ศาสนาไปมากกว่านั้น คือว่าแม้กระทั่งคนที่เป็นศัตรู เราก็สามารถจะรักเขาได้ ยากก็จริงแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำหรือควรเป็นจุดมุ่งหมาย ที่จริงนิพพานยากกว่านี้ แต่เราก็ยังคิด เราก็ยังเอาพระนิพพานเป็นเป้าหมายชีวิตได้
เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่า ในยุคที่มันเต็มไปด้วยความรุนแรง เต็มไปด้วยความโกรธความเกลียดนี้ การที่เราพยายามรักษาใจของเรา ไม่ให้ความโกรธความเกลียดเข้ามาครอบงำด้วยการที่มีสติ ด้วยการมีใจที่กว้าง รู้เท่าทันความยึดติดถือมั่นในความคิดของเราซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ไม่ปล่อยให้มันครองใจเรา และก็พยายามใช้สันติวิธีเท่าที่เราจะทำได้ ถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนาจิตจนกระทั่งมีเมตตาแม้กระทั่งคนที่คิดเห็นต่างจากเรา คนที่คิดร้ายกับเราอย่างนี้ อันนี้ก็จะเป็นวิธีการที่ทรงพลังมากในการที่จะช่วยทำให้ศีลธรรมกลับมา ช่วยทำให้ความโกรธความเกลียดมันมลายหายไปจากสังคมหรือว่าลดน้อยถอยลงไป และวิธีนี้นี่แหละที่จะทำให้“สันติสุข”กลับคืนมา อย่างน้อยๆ ก็ในใจของเรา
อาตมาก็ใช้เวลาพอสมควร ก็ขอยุติเท่านี้ ถ้ามีคำถามก็เชิญซักถามได้
คำถาม กราบพระอาจารย์ค่ะ สืบเนื่องจากเมื่อสักครู่นี้พระอาจารย์อธิบายให้ฟังก็เข้าใจนะคะ แต่ว่าอยากจะเรียนถามพระอาจารย์เพิ่มเติมว่า ถ้าเผื่อเกิดอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราสามารถที่จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูก อย่างที่พระอาจารย์เล่าให้ฟังถึงเรื่องการทดสอบที่มีการทดสอบให้มาทำการลบหลู่และก็ล่วงเกินนี้ค่ะ ทีนี้ ถ้าเผื่อถ้าเรามีสติ ทุกคนในนั้นมีสติไม่ไปทำร้ายผู้ที่เข้ามาลบหลู่นะคะ แล้วบุคคลที่เข้ามานั้น ไม่ได้เข้ามา คือในสถานการณ์ที่ไม่ใช่เป็นการทดสอบ แต่เป็นเรื่องจริงว่าถ้าเราไปเจอบุคคลที่ตั้งใจที่จะลบหลู่ และก็ต้องการแสดงออกอย่างนั้นจริงๆ เราควรจะให้มีลิมิต(Limit)แค่ไหน และเราควรจะHandle มันได้อย่างไร เราจะหยุดเขาได้อย่างไร หรือว่าถ้าเขาไม่ฟังและเขาก็จะทำต่อไปมากขึ้นมากขึ้นอย่างนี้ค่ะ พระอาจารย์เราจะปฏิบัติอย่างไรได้ต่อจากนั้นคะ
คำตอบ:
เรื่องนี้ท่านอาจารย์พรหมวังโส ท่านเคยเล่า เป็นบทแรกในหนังสือเรื่องชวนม่วนชื่น เล่ม ๒ มีฝรั่งมาถามท่านว่า ถ้าเกิดเขาจะเอาพระไตรปิฏกนี้ฉีกลงส้วม ท่านจะทำอย่างไร เอาพระไตรปิฏกนี้ฉีกลงส้วม ท่านบอกว่า ก็ต้องไปเรียกช่างประปามา เพื่อนคนนั้นหัวเราะเลย แค่นี้เองหรือ ท่านบอกว่า ใช่สิ ก็ถ้าฉีกลงส้วมมันก็ต้องตัน ก็ต้องเรียกช่างประปามาซ่อม คือท่านบอกว่าหนังสือนี้หรือแม้กระทั่งบุคคลนี้ ไม่ใช่ตัวศาสนา ศาสนาคือความรัก ความเมตตา การให้อภัย แม้จะมีวัดมากมาย จะมีคัมภีร์มากมายหรือมีคนบวชมากมาย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่คนไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตา ไม่มีการให้อภัย อันนี้มันก็เปรียบได้กับการทิ้งศาสนาลงส้วม เข้าใจไหม คือที่ท่านเล่านี้มันน่าคิด แล้วก็อาจจะแรงในความรู้สึกของหลายคน แต่ประเด็นของท่านที่อาตมาคิดต่อก็คือ เขาฉีกพระไตรปิฎกลงส้วมนี้เพราะอะไร เขาต้องการยั่วยุให้เราโกรธ เราก็ต้องไม่ยอมเข้าไปอยู่ในเกมของเขา การที่เราไม่โกรธนี่ก็เท่ากับว่าเราชนะเขาแล้ว ใช่ไหม เพราะเขาต้องการยั่วยุให้เราโกรธ ถ้าเราโกรธเราก็แพ้เขา เราต้องไม่โกรธ แต่อย่างไรก็ตาม อาตมาคิดว่าในกรณีนี้เราคงต้องทำมากกว่านี้ ก็คงต้องคุย ต้องทำกิจและทำจิต ทำจิตคือไม่โกรธและไม่เกลียดเขา ทำกิจก็คือต้องคุยต้องเจรจากับเขาว่า เขาทำอย่างนั้นเพื่ออะไร แต่เราจะยึดมั่นในการที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับเขา ใช้การเจรจา
มีอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งอันนี้น่าประทับใจมาก ในเกาหลีเมื่อซักสองถึงสามร้อยปีก่อน มีวัดๆ หนึ่งที่อยู่ในเมืองๆ หนึ่ง แล้วก็มีอีกเมืองหนึ่งที่เป็นศัตรูกับเมืองๆ นี้ ได้ยกกองทัพเข้ามาบุก คงไม่ได้นับถือพุทธแต่นับถือขงจื้อ บุกเข้ามาทำลายเมืองแล้วก็มาถึงวัดนี้ คนในวัดและพระในวัดต่างก็แตกตื่นหนีไปหมด เหลือแต่เจ้าอาวาสที่ไม่หนี แม่ทัพคนนั้นมาถึงก็ยืนสนทนากับเจ้าอาวาส แม่ทัพคนนั้นบอกว่า “ท่านรู้ไหมว่าข้าพเจ้าเป็นใคร ท่านรู้ไหมว่าข้าพเจ้านี่สามารถจะฟันท่านให้ขาดเป็น ๒ ท่อนได้” เจ้าอาวาสนั้นก็ตอบว่า “ท่านรู้ไหมว่าข้าพเจ้าเป็นใคร ข้าพเจ้าพร้อมที่จะให้ท่านฟันขาด ๒ ท่อนโดยตาไม่กระพริบ” ปรากฏนี้ใครเก่งกว่ากัน ระหว่างคนที่ฟันให้ขาด ๒ ท่อนกับคนที่ยอมให้ฟันโดยที่ตาไม่กระพริบนั้น ใครเก่งกว่ากัน แม่ทัพคนนั้นยอมเลย แพ้ใจใช่ไหม ไม่ทำอะไรเจ้าอาวาส ไม่เผา เพราะแม่ทัพรู้สึกว่านี่ของจริง คือท่านไม่โกรธและท่านยอมให้ทำ อาตมาคิดว่านี่คือหัวใจของพุทธ
มีพระลามะองค์หนึ่งชื่อ ลามะลาเซ เมื่อจีนเข้าไปยึดธิเบตเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ท่านไม่ได้หนี ทะไลลามะได้อพยพมาธรรมศาลา แต่ลามะลาเซไม่หนีและถูกจับทรมาน ถูกทรมานเป็น ๑๐ ปี จนกระทั่งท่านได้รับอิสรภาพ ท่านก็ลี้ภัยมาอยู่อินเดีย (ก็แก่เลย) มีนักข่าวไปถามท่านว่า ตอนที่ท่านถูกจีนจับนี้ ช่วงไหนเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดสำหรับท่าน คนถามก็นึกว่าท่านจะพูดถึงการทรมาน ท่านบอกว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุด ช่วงที่แย่ที่สุดคือช่วงที่อาตมาโกรธเขาเพราะว่า ท่านไม่ได้พูดต่อ แต่อาตมาขออธิบาย อาตมาเข้าใจอย่างนี้ว่า เมื่อตอนที่เขามาทรมานท่าน มันแค่ทุกข์กาย แต่ตราบใดที่จิตใจท่านเป็นปกติ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ใจก็ไม่ทุกข์ด้วย แต่ความทุกข์จะเกิดขึ้นกับท่านทันที เมื่อท่านโกรธ ท่านเกลียด มันจะไม่ได้แค่ปวดกายมันทุกข์ใจด้วย คนที่ป่วยนี่รู้ดีว่าป่วยกายไม่เท่าไหร่ แต่ป่วยใจนี้มันหนัก พระพุทธเจ้าสอนว่า ป่วยกายแต่อย่าป่วยใจ ในทำนองเดียวกัน ท่านลาเซก็เห็นเหมือนกันว่า ปวดกายไม่หนักเท่าปวดใจ เพราะฉะนั้นถูกทำร้ายเราไปนี่ไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อขณะที่เราโกรธนั่นคือแย่แล้ว แย่คือว่าจิตที่คิดร้ายก็เป็นบาป แต่ขณะเดียวกันเมื่อจิตโกรธก็เป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ
เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่าเรื่องทำจิตสำคัญ แต่ขณะเดียวกันการทำกิจก็สำคัญด้วย ต้องเจรจา ต้องพูดต้องคุยใช่ไหม เพราะว่าศาสนาที่แท้อย่างที่อาจารย์พรหมวังโสพูด มันอยู่ที่ใจที่มีเมตตากรุณา ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งของ เรารักษาสิ่งของไว้ได้ รักษาพระพุทธรูปไว้ได้ แต่เราทำร้ายเขา อันนี้ศาสนามันหายไปแล้ว
คำถาม : กราบนมัสการครับ จากที่พระอาจารย์ได้บรรยายธรรม ผมจะขอถามในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมหลังจากนี้นะครับ พอเราเข้าใจเรื่องความโกรธความเกลียด เราจะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพให้กับโลกได้อย่างไรบ้าง ในการใช้ชีวิตประจำวัน มากกว่าแค่การที่เราโพสเฟสบุ๊คว่า Pray for ที่นั่นที่นี่อะไรนั่น หลังจากนี้เป็นต้นไป เราพอมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้างไหมครับ
คำตอบ :
สร้างสันติภาพในบ้านเรา สร้างสันติภาพในหมู่เพื่อนเรา เพราะเพื่อนเรานี่อาตมาเชื่อว่าก็คงมีทะเลาะกัน ทะเลาะกันเรื่องสี ทะเลาะกันเรื่องเหลืองเรื่องแดงบ้าง ทะเลาะกันเรื่องมุสลิมบ้าง ใช่ไหม นี่อาตมาว่าเราทำตรงนี้ก่อน ไม่ต้องพูดสันติภาพในโลกเอาแค่สันติภาพในบ้านเมืองเราก่อน ตอนนี้ก็ทะเลาะกันเรื่องสีมากเหลือเกิน ทะเลาะกันเรื่องมีการปลุกประเด็นเรื่องพุทธ-มุสลิมขึ้นมา ว่ามุสลิมจะมากลืนพุทธอะไรต่างๆ ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความชังกัน ถึงกับพระบอกว่า ถ้าเขาฆ่าพระ ๑ รูปต้องไปเผามัสยิด ๑ วัด ๑ แห่ง อันนี้มันเป็นเรื่องของเหตุการณ์ในบ้านเรา ซึ่งอาตมาว่าก็ต้องใส่ใจ เรื่องเหตุการณ์ในโลกก็ใส่ใจด้วยแต่ว่าตอนนี้ปัญหามันใกล้ตัวเรามาก ในครอบครัวเรา ในบ้านของเรา ในหมู่เพื่อนของเรา สมาชิกไลน์ สมาชิกเฟสบุ๊ค ทะเลาะกัน ขอโทษนะ ฉิบหายวายป่วงกันหมด เพราะว่าตอนนี้ก็เยอะมากในหลายเพจ แค่เรื่องอาบัติเรื่องเดียวก็ทะเลาะกันเละเทะเลย เราก็ไม่เข้าใจว่ามันโกรธเกลียดกันได้อย่างไรเรื่องอาบัตินี่ มันนิดเดียวเองใช่ไหม ตอนนี้ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มันพร้อมจะทะเลาะกันได้ทุกเวลา เพียงเพราะเห็นต่างกัน เห็นต่างกันทำไมต้องเกลียดกันเล่า ใช่ไหม เห็นต่างกันนี่รักกันไม่ได้หรือ เห็นต่างทำไมต้องโกรธกันด้วย เอาแค่นี้ก่อน เห็นต่างแต่ว่าไม่โกรธกัน ไม่เกลียดกัน ทำที่เราแล้วมันจะช่วยทำให้ความสมานไมตรีในหมู่เพื่อนเรา กลุ่มไลน์ กลุ่มเฟสบุ๊ค หรือว่าในหมู่ชาวพุทธเรา กลับเป็นความสงบราบรื่นขึ้นมาได้ เอาตรงนี้ก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่เรื่องของโลก
คำถาม: ขอโอกาสพระอาจารย์ครับ มีผู้ฝากกราบเรียนถาม ทำอย่างไรเราจะรักษพระพุทธศาสนาไว้ได้ ไม่ให้เหมือนประเทศอินเดียหรือนาลันทา
คำตอบ:
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระสัทธรรมจะไม่เสื่อม จะไม่อันตรธาน สาเหตุแห่งความเสื่อมการอันตรธานของพระพุทธศาสนานี้ ก็อยู่ที่พุทธบริษัท ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม แล้วก็ไม่ปรับความเห็น หรือไม่แก้ต่างผู้ที่จ้วงจาบพุทธศาสนา คืออธิบายให้เขาเห็น ให้เขาเข้าใจ ถ้าไม่ทำตรงนี้พุทธศาสนาก็จะเสื่อมอันตรธาน พุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมอันตรธานเพราะคนอื่น
กรณีนาลันทานี้ก็พูดกันมาก แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมมุสลิมก็ไปทำลายฮินดูเหมือนกัน แต่ทำไม่ฮินดูไม่สูญไปจากอินเดีย คือเรามีทฤษฎีว่าพุทธศาสนาอินเดียสูญไปเพราะมุสลิมมาทำลาย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่มีกองทัพมุสลิมมาทำลาย มาฆ่า แต่เขาไม่ได้ฆ่าเฉพาะ หรือไม่ได้ทำลายเฉพาะพุทธศาสนา เขาทำลายฮินดู เขาฆ่า แต่ทำไมศาสนาฮินดูจึงไม่หมดไปจากอินเดีย แต่ทำไมพุทธศาสนาสูญไปจากอินเดีย ก็ต้องกลับมาที่ว่าพุทธศาสนานั้นในช่วงยุคนาลันทานี้เป็นอย่างไร เรามักมีความเข้าใจว่าพุทธศาสนาในยุคนาลันทานี้เป็นช่วงที่ความเจริญรุ่งเรือง มันมี ๒ ช่วง คือช่วงที่เจริญรุ่งเรืองกับช่วงที่เริ่มเสื่อม ความเสื่อมนี้เป็นความเสื่อมจากภายใน ก็เช่นว่า พระมัวไปมุ่งถกเถียงกันในเชิงทฤษฎีมาก ในเชิงปรัชญามาก และไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง ประการที่ ๒ พระเหินห่างจากชุมชน นาลันทานี้มีพระเป็นหมื่น แต่ว่าในชุมชนแทบจะไม่มีพระเลย พูดง่ายๆ คือว่าพอเด็ดยอดปุ๊บไม่เหลือเลย คราวนี้พุทธศาสนาจะอยู่ได้เพราะว่าพระอยู่ใกล้ชิดชุมชน ถ้าพระอยู่ใกล้ชิดชุมชน กองทัพมุสลิมแม้จะทำลายนาลันทาก็ไม่สามารถจะทำลายพุทธศาสนาได้ แต่ความจริงตอนนั้น พุทธศาสนาเริ่มมีปัญหาแล้ว คือ ๑.มุ่งในเชิงปรัชญามากกว่าการปฏิบัติ ๒.ไม่เกาะติดชุมชน มาอยู่เมืองกันมาก ๓.พึ่งพาการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์มาก
ก็อยู่กันเป็นหมื่น ชุมชนเลี้ยงไม่ไหวอยู่แล้ว ต้องพึ่งพาพระมหากษัตริย์ พอพระมหากษัตริย์ซึ่งอุปถัมภ์พุทธศาสนาถูกกำจัดเปลี่ยนเป็นมุสลิม ก็เสร็จเลย อันนี้ก็น่าเป็นห่วง พุทธศาสนาในเมืองไทยก็เหมือนกัน ที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะว่าอาศัยชุมชนนี้เป็นตัวเป็นฐาน ถ้าพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะพระเหินห่างจากชุมชน ไปพึ่งพารัฐมากเกินไป อันตราย ตอนนี้เรากำลังเรียกร้องให้พุทธศาสนามาอยู่ในการอุปถัมภ์ของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาคือ พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะพระสงฆ์ก็จะเริ่มเหินห่างชุมชนมากขึ้น เหินห่างหมู่บ้านมากขึ้น และนั่นคืออันตราย ฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนาลันทานี่ ต้องศึกษาให้ดีว่า ปัจจัยภายนอกนี้คือกองทัพมุสลิม ปัจจัยภายในคืออะไร ทำไมฮินดูไม่สาบสูญไปจากอินเดีย แต่พุทธถึงสาบสูญ ก็โดนถล่มเหมือนกัน ฮินดูเขาดีกว่าพุทธหรือเปล่า อาตมาไม่แน่ใจ