แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 27 มกราคม 2567
มีหมีตัวหนึ่ง ตัวใหญ่คงจะเป็นหมีภูเขา มีคนเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ สวนสัตว์ในเมืองนอกเขาไม่ได้ขังสัตว์ไว้ในกรง หมีตัวนี้มีลานกว้างให้เดินเล่น ใกล้ๆก็มีสระน้ำเล็กๆ ปรากฏว่ามีนกพิราบตัวหนึ่งเข้ามาเล่นที่สระน้ำนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าร้อน หรือเพราะมาหาเหยื่อก็ได้ นกตัวนี้พอเดินอยู่แถวๆ ขอบสระสักพักก็พลัดตกลงไปในน้ำ คือมันตกใจมากแล้วพยายามถีบน้ำ กระพือปีกตีปีก ทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล จนทำท่าจะจมลงไปในน้ำ ไม่ไกลจากสระน้ำประมาณสัก 2-3 เมตร หมีตัวนี้กำลังกินอาหารอยู่ ทีแรกมันก็คงไม่เอะใจอะไรเสียงแปลก ๆ ที่สระน้ำ แต่หลังจากที่เสียงดังพักใหญ่ หมีคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจึงหยุดกิน แล้วก็เดินไปที่สระน้ำ ก็พอดีกับนกพิราบกำลังจะจมน้ำพอดี ที่จริงจมไปแล้วตอนที่หมีเดินไปถึงขอบสระ หมีก็ไวพอเห็นนกพิราบจมลงไป มันเอาขาหน้าจ้วงน้ำ แล้วคว้านกพิราบขึ้นมาจากน้ำ ปากของมันก็คาบปลายปีกของนกพิราบตัวนั้น เป็นอันว่ามันดึงนกพิราบตัวนั้นขึ้นมาจากน้ำได้สำเร็จ นกพิราบรอดตาย
หมีตัวนี้มีน้ำใจ ทั้งที่นกพิราบตัวนี้ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหมี แต่ว่าทันทีที่รู้ว่านกพิราบตกอยู่ในอันตราย หมีไม่นิ่งดูดายกำลังกินอาหารอยู่เพลินเพลินก็หยุดกินเลย แล้วก็เดินมาช่วยนกพิราบตัวนั้นให้รอดตาย สิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ พอนกพิราบตัวนั้นรอดตาย มันก็สะบัดขนสะบัดปีกอยู่ตรงขอบสระ หมีตัวนั้นก็เดินกลับไปกินต่อ ไม่สนใจนกพิราบเลย ไม่ยินดีในความสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือนกพิราบให้รอดตาย ไม่คาดหวังหรือรอคอยคำขอบคุณจากนกพิราบเลย ยังคงกินอาหารตัวเองไปเรื่อยๆ ขณะที่นกพิราบคงจะสำนึกบุญคุณของหมีตัวนั้นมากเพราะว่า “ฉันรอดตายก็เพราะว่าหมีตัวนี้ แต่พอหมีช่วยฉันเสร็จ หมีก็ไป ปล่อยฉันไป ไม่ได้ยุ่งไม่ได้สนใจอะไรฉันต่อ”
มานึกดู คนเราก็น่าจะเรียนจากหมีตัวนี้ ข้อแรก คือ ความมีน้ำใจ ทันทีที่รู้ว่ามีคนกำลังเดือดร้อนแม้แต่ว่าเป็นคนละพันธุ์ หรือว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตัว ทันทีที่รู้ว่าเขาเดือดร้อนก็เข้าไปช่วย ทั้งที่เรียกว่าไม่ได้เป็นกงการอะไรของตัวเลย แต่ก็เข้าไปช่วย ช่วยเสร็จแล้วก็จบตรงนั้น ทำงานของตัวเองต่อไป ใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป คนเราเวลาช่วยใคร หลายคนก็คาดหวัง คาดหวังคำขอบคุณจากคนที่ตัวเองช่วย ไม่ว่าจะช่วยเรื่องหนี้สิน หรือว่าช่วยให้รอดพ้นจากอันตราย คาดหวังคำขอบคุณจากเขาพอไม่ได้ยินเสียงขอบคุณจากเขาก็เกิดความไม่พอใจ หรือว่าคาดหวังว่าเขาจะสำนึกในบุญคุณของเรา เราอุตส่าห์ช่วยเขาจนหมดหนี้หมดสิน แต่เขาก็ดูจะไม่สำนึกในบุญคุณของเราเลย แล้วก็ไม่ได้ตอบแทนบุญคุญเราเลย หลายคนเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้ ทั้งที่ช่วยคนแล้วเขาไม่สำนึกในบุญคุณ เขาไม่ขอบคุณ เขาไม่ตอบแทนบุญคุณ ซึ่งมันตรงข้ามกับตัวนี้ช่วยนกพิราบเสร็จก็หันหลังเลย แล้วก็ทำธุระของตัวเองต่อไป
[07:45] คนเราถ้าหากเวลาช่วยใคร วางใจแบบนี้บ้างก็ดี คือ “ช่วยเสร็จก็เสร็จกัน เขาจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ฉันก็ยังทำธุระของฉันต่อไป ใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ เหลียวมามองว่าเขาจะมาขอบคุณฉัน”
ที่จริงไม่ใช่แต่เฉพาะการช่วยเหลือ เวลาเราทำงานอะไร พอทำเสร็จมันก็จบกัน แล้วเราก็ไปทำอย่างอื่นต่อเดินหน้าต่อไป แต่หลายคนเวลาทำเสร็จก็ยังอดไม่ได้ที่จะหวนไปมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความสำเร็จก็อดไม่ได้ที่จะเอาความสำเร็จนั้นมาปรนเปรออัตตาของตัว “ฉันเก่ง” “กูแน่” หรือบางคนอาจจะเอาความสำเร็จนั้นมาค้ำคอของตัวเอง ค้ำคอยังไงก็หมายความว่าเวลาทำอะไรก็คาดหวังว่า “ฉันจะต้องสำเร็จอย่างที่เคยทำ” หรือคาดหวังว่า “ฉันจะต้องทำดีกว่านั้น” ก็กลายเป็นว่า สิ่งที่เคยทำทีแรกอาจจะทำด้วยความสนุกถึงทำได้ดีและประสบความสำเร็จ แต่พอสำเร็จบ่อยๆ เข้า มันก็กลายเป็นทำครั้งต่อไปหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะต้องสำเร็จด้วย แล้วก็เลยกลัวว่าจะไม่สำเร็จจึงเครียด อันนี้เรียกว่าเอาความสำเร็จของงานที่ผ่านมา มาค้ำคอตัวเอง
ซึ่งมันทำให้หลายคนเครียดที่สำเร็จแล้วสำเร็จเล่าก็ดี แต่พอจะทำงานชิ้นต่อไปหรือขณะที่กำลังทำงานอยู่มันอดไม่ได้ที่จะไปหวนนึกถึงความสำเร็จที่ผ่านมา แล้วก็นึกถึงว่า ถ้าทำไม่สำเร็จเหมือนที่เคยทำ มันจะรู้สึกแย่เกิดความเครียดขึ้นมา ไม่ว่าจะทำงาน เล่นกีฬา หรือว่าทำงานศิลปะ ร้องเพลง เล่นดนตรี ประสบความสำเร็จมาครั้งแล้วครั้งเล่า ทีนี้พอจะทำครั้งต่อไปเกร็ง กลัวว่าจะไม่สำเร็จเหมือนครั้งก่อน กลัวว่าเรตติ้ง (ratting) จะไม่ดีเท่าของเดิม อันนี้ก็เป็นความทุกข์ของคนที่ประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ที่จริงไม่จำเป็นต้องทุกข์ก็ได้ ถ้าหากว่าวางความสำเร็จหรือว่างานวางงานไว้ตรงนั้น ไม่เอามาค้ำคอตัวเอง เวลางานไม่สำเร็จก็เหมือนกัน หลายคนรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำไม่สำเร็จ มันก็จะคอยนึกถึงงานที่ไม่สำเร็จเหล่านั้น แล้วทำให้เกิดความไม่มั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ปล่อยให้ความไม่สำเร็จในอดีตมันมาหลอกหลอน ทำให้ขาดความมั่นใจ ซึ่งก็ทำให้หลายคนทำงานด้วยความเครียด ด้วยความทุกข์ สำเร็จก็ทุกข์ ไม่สำเร็จก็ทุกข์
แต่ที่จริงถ้าหากว่าวางงานนั้นลง ไม่ว่างานนั้นจะสำเร็จหรือไม่ สำเร็จก็วางไม่เอามาปรนเปรออัตตาเพลิดเพลินยินดีหลงใหลว่า กูเก่ง กูเก่ง หรือว่าไม่เอามาค้ำคอตัวเอง จนกระทั่งไม่กล้าริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวจะไม่สำเร็จเหมือนเคย หรือว่าทำแล้วก็เกิดความเกร็งขึ้นมา กลัวว่าจะไม่สำเร็จเหมือนเมื่อก่อน เวลาล้มเหลวก็เหมือนกันถ้าหากว่างาน แม้มันจะไม่ดีหรืองานจะล้มเหลวด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากเราวางไว้ตรงนั้น เมื่อเราทำงานใหม่เราก็จะทำงานได้ด้วยความรู้สึกไม่เครียด บ่อยครั้งเราทำเสร็จก็กลับมาด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ ตำหนิตัวเองว่าฉันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ที่จริง ถ้าใคร่ครวญว่าอะไรก็ตามที่เราทำไม่ดีก็แก้ไข ไม่เป็นไรแต่หลายคนพอมาใคร่ครวญแล้ว มันไม่ใช่ใคร่ครวญ มันคร่ำครวญ ใคร่ครวญดีแต่พอคร่ำครวญมันแย่ ฉันน่าจะทำดีกว่านี้ไม่น่าเลย บางทีก็โทษคนโน้นคนนี้
มีเรื่องเล่า ว่าอาจารย์โกวิท (อาจารย์โกวิท เขมานันทะ) ท่านเล่าเองว่าตอนที่ท่านยังบวชอยู่ ตอนนั้นท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียน มีวันหนึ่งท่านแสดงธรรม อาจารย์โกวิทเวลาแสดงธรรม ท่านแสดงได้ไพเราะ คนจะซาบซึ้งประทับใจ ท่านแสดงธรรมเสร็จ ท่านรู้สึกว่าทำไม่ค่อยดีเท่าไหร่ไม่สบายใจตำหนิตัวเองว่า น่าจะพูดอย่างนี้ไม่น่าจะพูดอย่างนั้น หลวงพ่อเทียนเห็นท่านก็เลยบอกว่า “พูดจบก็วางไว้ตรงนั้นแหละ” อาจารย์โกวิทได้คิดเลยว่า ใช่ พูดจบก็วางไว้ตรงนั้นเลย มันจะดีหรือไม่ดีมันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็จบตรงนั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็เดินหน้าต่อไป
[15:42] ถ้าเรารู้จักวางแบบนี้ได้ไม่ว่างานจะสำเร็จหรือไม่ เราจะทำงานอย่างมีความสุข
เวลาสำเร็จก็ไม่เพลิดเพลินหลงใหล ไม่ปลาบปลื้มยินดีจนลืมเนื้อลืมตัวเหมือนกับหมีตัวนั้น ไม่มายินดีเพลิดเพลินกับความสำเร็จที่ช่วยนกพิราบตัวนั้นได้ ช่วยเสร็จก็จบกัน กลับไปทำธุระของตัวเองต่อ ไม่มีอาการยินดี หัวเราะ หรือรอคอยคำขอบคุณจากนกพิราบตัวนั้น เวลาทำงานสำเร็จ เราก็อย่าไปเสียเวลาเพลิดเพลินยินดีกับมัน เราก็เดินหน้าต่อไปเพราะถ้าเราเพลิดเพลินยินดี เราก็จะติดในความสำเร็จ แล้วก็โหยหาความสำเร็จอย่างนั้น ถึงเวลาไม่สำเร็จอย่างที่คาด ก็จะทุกข์ มันธรรมดา ดีใจในความสำเร็จแล้วก็ต้องเสียใจในความล้มเหลว ซึ่งบางครั้งความเสียใจก็ทำให้ท้อแท้หดหู่ขาดความมั่นใจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ แล้วไม่ใช่แค่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว สิ่งที่จะตามมาคือ คำชื่นชมสรรเสริญหรือคำติฉินนินทาวิพากษ์วิจารณ์ อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ว่ามันจะมีหรือไม่ จะมีคำสรรเสริญหรือไม่ ก็ควรจะวางไว้ตรงนั้น ใครเขาสรรเสริญชื่นชมในความสำเร็จก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเราไม่เอามาปรนเปรออัตตาให้พองโต แม้งานจะไม่สำเร็จหรือไม่ถูกใจผู้คนและมีคนตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่เอามาทิ่มแทงจิตใจของเรา เอาความสำเร็จมาค้ำคอตัวเองหรือเอาความล้มเหลวมาทิ่มแทงจิตใจตัวเองก็ไม่ดีทั้งนั้น เช่นเดียวกันเอาความคำสรรเสริญชื่นชมยินดีมาพะนออัตตาตัวเอง หรือเอาคำติฉินนินทาวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นมากรีดแทงใจของตัวเอง ก็ไม่ควรทั้งนั้น เพราะจะทำให้เราไม่สามารถที่จะใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบันอย่างเต็มที่ มันก็แน่นอนเวลาทำอะไรก็ต้องมีคนชื่นชมสรรเสริญหรือไม่ก็ติฉินนินทา แต่ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้มารบกวนจิตใจ หรือมาคำนึงมากเกินไป ก็จะทำให้เราทำงานอย่างไม่มีความสุขได้
พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนพระนันทิยะ ซึ่งภายหลังท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์ มีครั้งหนึ่งพระองคุลีมาลก็มาสนทนาธรรมกับท่าน พระองคุลีมาลถามพระนันทิยะว่า “พระพุทธเจ้าสอนอะไรท่าน” พระนันทิยะก็นำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตนเองสดับมาเล่าให้พระองคุลีมาลฟังว่า มีตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าสอนว่า ผู้ใดสรรเสริญเยินยอท่านหรือบูชาท่านด้วยราขสักการะก็พึงมองว่าลาภสักการะและคำชื่นชมนั้นเป็นผลของความดีที่เราได้ทำ หมายความว่า ไม่ใช่เป็นเพราะตัวเรา แต่เป็นเพราะการกระทำของเรา ถ้าไปคิดว่าเป็นเพราะเรา ก็จะทำให้อัตตามันพองโต แต่ถ้าเราตระหนักว่ามันเป็นเพราะผลแห่งความดี ก็จะทำให้เราเกิดศรัทธาในความดีมากขึ้นหรือมุ่งมั่นที่จะทำความดี พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้พึงมองว่า คำราชสักการะและคำสรรเสริญนั้น เป็นผลของความดี อย่าไปสำคัญว่าเราดี ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะเราไปสำคัญว่ากูเก่ง กูดี ถ้าเขามองว่าเราดี เราเก่งก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
[21:13] พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเมื่อได้รับคำสรรเสริญหรือราชสักการะ ไม่พิจารณา มันก็กลายเป็นพิษผลแห่งความดี ย่อมเป็นพิษต่อผู้ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลเพลิดเพลินยินดีจนประมาทมัวเมา กลายเป็นไม่ดีไป เพราะผลแห่งความดีเป็นพิษได้แก่ผู้ที่ไม่พิจารณา"
ไม่พิจารณา คือเพลิดเพลินหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น และกลายเป็นประมาทมัวเมา พอเราประมาทก็ลืมตัว แล้วก็ทำให้เกิดความพลั้งพลาดพลั้งเผลอหรือทำให้เกิดความทุกข์เมื่อราขสักการะนั้นแปรเปลี่ยนไปซึ่งก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตามธรรมดาเช่นเดียวกับชื่อเสียงคำสรรเสริญ อันนี้ก็เรียกว่าท่านสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยวางในคำชื่นชมสรรเสริญหรือราชสักการะที่ได้มา ถ้าไม่ปล่อยวางก็ให้รู้จักพิจารณาว่า มันเป็นของไม่เที่ยง ที่จริงอย่าว่าแต่ทำงานเสร็จแล้วก็ปล่อยวางเลย แม้งานยังไม่เสร็จก็ควรปล่อยวาง โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ควรจะปล่อย
อาจารย์พุทธธทาสยังมีชีวิตอยู่ท่านยังมีกำลัง ท่านก็ชวนพระเณรสร้างอาคารหลายแห่ง อาคารหนึ่งคืออาคารธรรมนาวา เรียกสั้นๆว่าเรือ ใช้เวลานานเป็นปีหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ ตอนที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็โยมคนหนึ่งมาหามากราบท่านแล้วถามท่านว่าพระอาจารย์เรือสร้างไปถึงไหนแล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่าเสร็จแล้ว โยมก็แปลกใจ เมื่อสองสามเดือนก่อน มาที่เรือ ก็ยังเพิ่งสร้างได้แค่ครึ่งเดียว มันเสร็จแล้วหรือ แปลกใจละคนดีใจ แต่พอไปถึงที่ก่อสร้างพบว่า ธรรมนาวาก็ยังสร้างได้แค่ครึ่งเดียว อีกนานกว่าจะเสร็จ ก็เลยกลับมาถามท่านพุทธทาสว่าพระอาจารย์ไหนว่าเสร็จแล้ว มันเพิ่งสร้างได้แค่ครึ่งเดียวเอง พระอาจารย์ท่านก็บอกว่า เสร็จแล้ว เสร็จทุกวัน พรุ่งนี้ก็เสร็จ มะรืนก็เสร็จ ชายคนนั้นยิ่งงง แต่ที่จริงอันนี้เป็นวิธีการวางใจของท่านอาจารย์พุทธทาส คือ เสร็จ ไม่ได้แปลว่าต้องเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หมายความว่าเมื่อทำแล้ว เมื่อถึงเวลาพัก เช่น เลิกงานเพราะมันค่ำแล้ว นอกจากวางเครื่องไม้เครื่องมือลงแล้ว ก็ควรวางงานลงจากใจด้วย วางงานออกจากใจก็เหมือนเสร็จแล้ว เวลาทำงานไม่ว่างานจะไปถึงไหน เมื่อถึงเวลาพักก็ต้องวางานนั้นความรู้สึก มันเหมือนกับว่าเสร็จแล้ว แล้วพอถึงเวลาวันรุ่งขึ้นก็ทำใหม่ พอค่ำพัก ก็เสร็จแล้วเหมือนกัน
[25:21] ถ้าเรามีความวางใจว่าเสร็จทุกวัน เราจะไม่เครียด ไม่ใช่ว่าเก็บงาน แบกงานไปปรุงแต่ง ไปหมกมุ่น ไปพะวง แม้กระทั่งถึงบ้านแล้วก็ยังวางใจไม่ได้ ยังคิดถึงงานจนกระทั่งไม่สนใจคนที่กำลังคุยอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือสามีภรรยา หรือเป็นลูกก็ตาม ถึงเวลานอนก็นอนไม่หลับ อันนี้เพราะว่าไม่รู้จักวาง
ท่านพุทธทาสท่านพูดไว้ดีว่า “จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น” คือเมื่อทำงานแล้วไม่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ยึดว่าเป็นของกู ของกู ยกให้เป็นของความว่างไป ยกให้เป็นของธรรมชาติหรือยกให้เป็นของเพื่อนฝูงหมู่ร่วมคณะก็ได้ เพราะการที่ยึดเป็นของกู มันสร้างความทุกข์ ไม่ว่างานนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลวถ้ายึดเป็นของกูแล้ว มันก็ทำความทุกข์ให้ ถ้าเป็นความสำเร็จมันก็ค้ำคอ พะนออัตตา ถ้ามันไม่สำเร็จมันก็ทิ่มแทงใจ ถ้ามันคิดว่าเป็นของกู ของกูอยู่นั่น ไม่ใช่แค่เฉพาะงานอย่างเดียว แม้กระทั่งผลที่ตามมา จะเป็นคำชื่นชมสรรเสริญ คำติฉินนินทาก็เช่นกัน รับรู้ไว้แต่ไม่ยึดมาเป็นของเรา เอามาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้นแต่ไม่ใช่เพื่อมาพะนออัตตาค้ำคอตัวเอง หรือว่าหรือว่าทิ่มแทงจิตใจของตัวเอง
และที่จริง ถึงเราไม่คิดว่างานเป็นของเรา ถ้าใครจะมาช่วย ใครจะมามีส่วนร่วมก็ยินดี ไม่ใช่หวงแหนว่าเป็นงานของกู งานของกู ใครมายุ่งไม่ได้ ซึ่งก็สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน สร้างความร้าวฉานให้กับผู้คนมากมายในหลายที่ทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวาง ทำเต็มที่ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไม่ได้แปลว่า ปล่อยประละเลย ทำด้วยจิตที่ว่าง ไม่ยึดติดว่างานเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ยึดแม้กระทั่งความสำเร็จ หรือคาดหวังความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าเพราะว่าเป็นอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน วางอดีตวางอนาคตอยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และช่วยทำให้งานออกมาดีเท่าที่จะดีได้ แล้วก็ทำให้เรามีความสุขไม่เครียดด้วย.