พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 มีนาคม 2567
เวลาเราอยู่ว่าง ๆ หรือทำงาน หรือแม้แต่ขณะที่เรากำลังปฏิบัติ เดินจงกรม สร้างจังหวะ บ่อยครั้งมันก็มีเสียงในหัวเรา บางเสียงเราได้ยินก็เฉย ๆ แต่บางเสียงก็ทำให้เราเกิดความไม่พอใจ เช่น เสียงตำหนิติเตียน หรือเสียงนินทาว่าร้ายเรา พอนึกถึงเสียงหรือได้ยินเสียงเหล่านั้นในหัว มันก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคือง เกิดความโกรธ
แต่บางครั้งมันไม่ได้มีเสียงตำหนิติเตียนเท่านั้น มีเสียงบางประเภทซึ่งทำให้เราทุกข์ใจเหมือนกัน แต่คนละแบบ เสียงนั้นมักจะเริ่มต้นด้วยคำว่า “ไม่น่าเลย..” เช่น อาทิตย์ที่แล้วขับรถถอยหลังแล้วก็ทับแมวตาย เสียใจ แล้วก็รู้สึกแย่ มันก็จะมีเสียงว่า “ไม่น่าเลย ถ้าไม่ถอยหลัง แมวที่น่ารักก็ไม่ตาย”
บางคน ลูกมาขออนุญาตไปแคมป์ ค้างแรมในแคมป์ ออกค่ายต่างจังหวัด แม่ก็อนุญาต ปรากฏว่าไปแล้วเกิดอุบัติเหตุกลางทาง แขนหัก ขาหัก ต้องเข้าโรงพยาบาลนานเป็นอาทิตย์ แม่ก็เสียใจมาก แล้วก็เฝ้าแต่พร่ำคิดว่า “ไม่น่าเลย ไม่น่าอนุญาตให้ลูกไปเลย”
บางคนชวนน้อง และเพื่อนรุ่นน้องไปเที่ยวป่า ขึ้นเขา trekking ลุยป่า ปรากฏว่าน้องคนหนึ่งเกิดหกล้มแขนหัก เจ้าตัวคือคนที่พาไปเสียใจมาก “ไม่น่าเลย ให้ไป Trekking ไปผจญภัยในป่าเลย ถ้าไม่ไป น้องก็ไม่แขนหัก”
หลายคนดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย เมื่อท่านอยู่ในระยะท้ายก็ดูแลอย่างเต็มที่ เรียกว่าทิ้งงานทิ้งการ ลางานมาดูแล อยู่กับท่าน 24 ชั่วโมง แต่ว่าวันสุดท้ายที่ท่านจากไป ผู้เป็นลูกมีธุระต้องไปทำเอกสารที่ธนาคาร หมดเขตแล้ว ต้องรีบไปทำ ปรากฏว่าว่าพ่อหรือแม่ก็เกิดเสียชีวิตตอนที่ตัวเองไปทำธุระ ผู้เป็นลูกก็เสียใจมาก “ฉันไม่น่าเลย ไม่น่าไปธนาคารเลย” ทำให้ไม่ได้อยู่ดูใจผู้มีพระคุณ โทษตัวเอง เสียใจมาก
บางคนเผลอไปต่อว่าขึ้นเสียงกับพ่อ ซึ่งเป็นมะเร็งปอด แต่ว่าพบว่า จับได้ว่าแอบสูบบุหรี่ หรือต่อว่าแม่ซึ่งเป็นเบาหวานแล้วอาการหนัก แต่ก็ไปแอบกินของหวาน กินช็อกโกแลต กินข้าวเหนียวทุเรียน ลูกนี้ดูแลแม่ ดูแลพ่อมาโดยตลอด แต่พอเห็นแบบนี้ เห็นพฤติกรรมของพ่อแม่แบบนี้ก็โมโหว่าท่าน พอท่านจากไปก็เสียใจ “เราไม่น่าเลยไปว่าท่าน ไม่น่าขึ้นเสียงกับท่านเลย”
พ่อแม่บางคนลูกป่วยหนัก ก็พยายามทำทุกอย่างในการเยียวยารักษาลูก แม้ว่าการเยียวยานี้มันจะทำให้ลูกเจ็บปวดอย่างไร ก็พยายามยืนกรานที่จะให้หมอทำ แล้วก็บอกหมอเลยว่า ทำทุกอย่าง Full Option เลย จนกระทั่งลูกไม่ไหวแล้ว พ่อแม่ก็ยังยืนกรานให้หมอทำทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าลูกจะหาย
จนกระทั่งพอมีปัญหาการหายใจก็สอดท่อเข้าไป ลูกหัวใจหยุดเต้น ปั๊มแล้วก็ช่วยไม่สำเร็จ ก็เสียใจ เสียใจที่ลูกต้องเจอความทุกข์ทรมานในช่วงสุดท้ายของชีวิต แล้วก็คิดว่า ถ้าหากว่าไม่ไปยื้อหรือไม่ไปทำทุกอย่างให้กับลูก ให้ลูกได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายสบาย ๆ ลูกก็คงจะจบได้สวยกว่านี้ พอคิดเช่นนี้ก็เสียใจ แล้วก็โทษตัวเองว่า “ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้จะไม่ทำแบบนี้เด็ดขาด”
อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น เสียงแบบนี้มันเกิดขึ้นกับคน จะเรียกว่าทุกผู้คนก็ว่าได้ เพียงแต่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับตนอาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นมีใครตาย ไม่ว่าน้องแมว หรือพ่อแม่ หรือลูก แต่มันก็มักจะมีเสียงในหัวพร่ำบ่นหรือทิ่มแทงใจ “ไม่น่าเลย ๆ รู้อย่างนี้ฉันไม่ทำอย่างนี้หรอก”
กรณีที่ไม่มีใครล้มตายหรือบาดเจ็บก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดมีคนล้มตายหรือบาดเจ็บ เสียงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ไม่น่าเลย” มันสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวมาก
และเช่นกัน นอกจากเสียงที่เริ่มต้นว่าไม่น่าเลยแล้ว บางครั้งก็เป็นเสียงที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “น่าจะ” “ฉันน่าจะทำอย่างโน้น” “ฉันน่าจะทำอย่างนี้”
เช่น พาพ่อไปเที่ยว พ่อก็แก่แล้ว ช่วงนั้นโควิดค่อนข้างจะรุนแรง แต่ก็เห็นว่าพาพ่อไปบ้านญาติ แล้วญาติทุกคนก็ไม่เห็นมีใครเป็นโควิดเลย เลยไม่ได้ยืนกรานหรือยืนยันให้พ่อสวมหน้ากาก แค่ไปบ้านญาติเท่านั้นเอง คนก็ไม่ได้เยอะอะไร ไม่น่าจะมีอะไร แต่ปรากฏว่า พอพ่อกลับจากการไปบ้านญาติก็ติดเชื้อโควิด และสุดท้ายเสียชีวิต
ผู้เป็นลูกเสียใจมาก มันก็จะมีเสียงพูดขึ้นมาในหัวว่า “ฉันน่าจะรบเร้าให้พ่อสวมหน้ากาก”
ที่จริงบางครั้งลูกอาจจะพูด แต่ไม่ได้พูดจริงจังอะไร พ่อก็เห็นว่าไม่มีอะไร ลูกไม่ได้คาดคั้นมาก แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา ลูกก็คิดว่า “ฉันน่าจะคาดคั้นยืนกรานพ่อ ยืนกรานให้พ่อใส่หน้ากากมากกว่าที่เป็นอยู่” แต่ไม่ได้ทำ พ่อเลยติดโควิดจากบ้านญาติ ซึ่งตอนนั้นคนที่ติดโควิดที่บ้านญาติยังไม่แสดงอาการ อาจจะเป็นเพราะว่าสุขภาพดี แต่พ่อแก่มากแล้ว พอได้เชื้อโควิดเข้ามาก็ป่วย แล้วก็เสียชีวิต
หรือบางทีลูกซึ่งยังหนุ่มยังแน่นเลย ไม่สบาย ปวดหัว เป็นไข้ ปวดหัวอย่างแรงเลย เป็นไข้ อ่อนเพลียมาก ตอนนั้นก็มืดแล้ว พ่อก็เลยให้ลูกนอนพัก กินยาสักหน่อย ปรากฏว่าคืนนั้นลูกก็เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน พ่อก็โทษตัวเองว่า “ฉันน่าจะพาลูกไปโรงพยาบาลคืนนั้นเลย” โทษเป็นเพราะตัวเองไม่พาลูกไปโรงพยาบาล ถ้าพาไปก็น่าจะช่วยได้ทันท่วงที
เสียงที่ขึ้นต้นว่า “ฉันน่าจะทำอย่างโน้น..อย่างนี้” มันก็เป็นเสียงที่ทำให้หลายคนมีความทุกข์มาก ทุกข์เพราะความรู้สึกผิด แต่บางครั้งมันไม่ใช่ความรู้สึกผิด แต่เป็นความเสียดาย
เช่น ไปห้างหรือไปเห็นเขาขายสินค้า เป็นของโปรดที่ชอบเลย เสื้อผ้าหรือรองเท้า ราคา 2,000 ก็ซื้อเลย แต่ว่าวันรุ่งขึ้นมีอีกร้านหนึ่งขาย 1,500 หรือ 1,000 พอรู้เข้า เกิดความเสียดาย “โอ้โฮ ฉันน่าจะรออีกสักวันหนึ่ง” หรือว่า “ฉันน่าจะตรวจให้ถ้วนถี่”
ถ้าเกิดว่าไปซื้อของออนไลน์ หลายคนพอเห็นของที่ถูกใจก็ซื้อเลย สั่งจ่ายเงินทันที แต่ว่าพอไปดูจากร้านอื่น เห็นเขาขายถูกกว่า เสียดาย “โอ้ ฉันน่าจะรอ” หรือ “ฉันน่าจะตรวจตราให้ละเอียดลออกว่านี้ ไม่น่าด่วนซื้อเลย”
หรือบางคนฝันเห็นเลข แต่ก็ไม่ได้ไปซื้อลอตเตอรี่ ไม่ได้ไปซื้อหวย ปรากฏว่าถูก “โอ้ ฉันน่าจะซื้อนะ ถ้าฉันซื้อ ฉันรวยไปแล้ว” หรือบางคนก็ซื้อหวย แต่ว่าซื้อไปแค่ 100 ถูก 3 ตัว เสียดาย แทนที่จะดีใจ กลับเสียดาย “ฉันน่าจะซื้อสัก 1,000 ถ้าซื้อ 1,000 ก็จะได้เป็นหมื่นเลยแหละ” เสียดาย ยิ่งคิดถึงคำว่า “น่าจะ” มันก็ยิ่งรู้สึกเสียดาย
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง แกไปชอบหญิงสาวที่ทำงานด้วยในสำนักงานเดียวกัน แล้วก็รักมานาน เคยคิดจะออกปากบอกความในใจให้หญิงสาว แต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าหญิงสาวจะปฏิเสธ ทนไม่ได้ที่หญิงสาวจะปฏิเสธก็เลยไม่ได้บอก ผ่านไป 10 ปี มาเจอกันใหม่หลังจากที่แยกกันไปทำงานที่อื่น ไม่ได้เจอกันมานาน ก็ดีใจ คุยกันสนิทสนมเลย
คุยไปคุยมา ชายหนุ่มก็เพิ่งทราบว่าหญิงสาวตอนนั้นก็ชอบตัวเองเหมือนกัน หญิงสาวเผลอพูดไปว่า ตอนนั้นฉันก็ชอบเธอ ชายหนุ่มพอรู้เข้า แทนที่จะดีใจ กลับเสียใจว่า “โอ้โฮ ฉันน่าจะบอกสารภาพรักให้กับเธอตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว” เพราะถ้าบอกความในใจ หญิงสาวก็คงจะบอกเหมือนกันว่าใจตรงกัน ก็คงจะอยู่ด้วยกัน แต่มารู้เอาก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่าตัวเองก็แต่งงานไปแล้ว หญิงสาวก็มีครอบครัวไปแล้ว หรือมีแฟนไปแล้ว พอรู้เช่นนี้ก็เสียดาย ฉันน่าจะบอกเธอตั้งแต่ตอนนั้น ก็โมโหตัวเอง
อันนี้คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากเหมือนกัน เสียงที่ดังขึ้นในหัวว่า “ไม่น่าเลย” หรือว่า “น่าจะอย่างโน้นอย่างนี้” มันทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกผิด แล้วก่อให้เกิดความรู้สึกเสียดาย ความเสียดายนี่มันยังไม่เกาะกินใจเท่ากับความรู้สึกผิด
ที่จริงคำว่า “น่าจะ” หรือ “ไม่น่าเลย” มันมีประโยชน์ถ้าเอามาใช้ในการพิจารณาว่า วันนี้ เวลานี้ ขณะนี้ควรจะทำอะไร หรือว่าวางแผนสำหรับอนาคตว่า ควรจะทำอะไร ไม่ควรทำอะไร คำว่าน่าจะ /ไม่น่าจะ มันจะมีประโยชน์มาก
แต่ถ้าเราใช้คำว่า น่าจะ / ไม่น่าเลย กับสิ่งที่เป็นอดีตหรือสิ่งที่เป็นเหตุการณ์ในอดีต มันไม่มีประโยชน์เลย แล้วมันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา รู้สึกผิด หรือไม่ก็เสียดาย ซึ่งก็ไม่ได้ดีทั้งสองประการ แต่คนเราก็มักจะปล่อยให้คำว่า ไม่น่าเลย หรือ น่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ เอามาครุ่นคิดอยู่ในหัว แล้วก็ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความทุกข์
มันจะดีกว่าถ้าเราเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียน แทนที่เราจะปล่อยใจให้จมอยู่กับความรู้สึกผิด หรือความเสียดาย เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือเป็นบทเรียน มันจะมีประโยชน์มากเลย
หลายคนถึงกับซึมเศร้าเลย เพราะว่าปล่อยให้คำว่า ไม่น่าเลย / น่าจะ มารบกวนจิตใจเป็นปี ๆ แล้วก็โทษตัวเอง โบยตีตัวเอง จนรู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วสุดท้ายก็ซึมเศร้า ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย
คนเราเวลามีความรู้สึกผิดเพราะว่าเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควรหรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ มันจะดีกว่าถ้าเรารู้จักขอโทษ เอ่ยปากขอโทษคนที่เรารู้สึกผิดต่อเขา แต่บางครั้งเราก็ไม่กล้า ไม่กล้าที่จะพูด แล้วปล่อยให้ความรู้สึกผิดมันรบกวนจิตใจ จนกระทั่งบางทีเขาตายจากไป ถึงตอนนั้นก็ดูเหมือนว่ามันสายไปแล้ว
แต่ที่จริงก็ยังไม่สาย เพราะแม้เขาจะจากไปแล้วเรา ก็ยังเอ่ยปากขอโทษได้ พูดกับเขาเหมือนกับเขามานั่งอยู่ข้างหน้าเรา แล้วก็บอกความในใจทุกอย่าง หลายคนพบว่าทำอย่างนี้แล้วมันช่วยได้ ช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดออกไปจากใจได้
แล้วขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักให้อภัยตัวเองด้วย ยอมรับว่าตอนนั้นเราอาจจะคุณหันพลันแล่นไป ตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดีพอ หรือตอนนั้นเรายังเด็กอยู่ คนเรามักจะฉลาดเมื่อประสบการณ์หรือเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่ตอนที่เหตุการณ์ยังไม่ลงเอยไปในทางใด เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะลงเอยอย่างไร
แม่พ่อที่ลุ้นเพื่อให้ลูกมีชีวิตรอด หายจากความเจ็บป่วย เขาก็ไม่รู้หรอกว่าการลุ้นให้หมอทำทุกอย่างไม่เกิดประโยชน์อะไร มารู้ก็ต่อเมื่อลูกสิ้นลมแล้ว แต่ตอนที่ลูกยังไม่สิ้นลม ไม่มีใครรู้หรอกว่าการรักษาจะได้ผลหรือเปล่า
แล้วคนเราก็ย่อมมีความหวังว่าปาฏิหาริย์สามารถเกิดขึ้นได้ แต่พอปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้นก็รู้ว่าที่ตัดสินใจมันผิด เรามารู้ว่าการตัดสินใจมันผิดก็ต่อเมื่อผลมันเกิดขึ้นแล้ว แต่ตอนที่ผลลัพธ์ยังไม่เกิดขึ้น เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยตัดสินใจบางอย่างที่อาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเมื่อมองย้อนหลัง
ฉะนั้น คนเราก็เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง เราก็มีความจำกัดในการรับรู้ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า เราก็เลยตัดสินใจไปอย่างนั้น
อันนี้ก็คือสิ่งที่เราควรจะให้อภัยตัวเอง เพื่อที่เราจะได้เดินหน้าต่อไป หรือว่าดียิ่งกว่านั้นก็คือว่า ให้ทำดีกับคนที่จากไป ตามประเพณีไทย เราก็มีการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ หรือทำความดีในนามของเขา หรือทำความดีชดเชย
ตอนที่พ่อมีชีวิตอยู่ ลูกอาจจะไม่ได้ให้เวลากับพ่อมากเท่าไร จนพ่อจากไป แต่ว่าลูกก็ยังมีแม่ แล้วพ่อก็รักแม่มาก ลูกอาจจะไม่ได้ทำดีกับพ่อเท่าที่ควรเพราะความประมาท แต่ว่าก็ยังไม่สายที่ลูกจะทำความดีให้กับแม่ซึ่งเป็นคนที่พ่อรัก การทำอย่างนี้ก็ช่วยได้ ช่วยทำให้ปลดเปลื้องความรู้สึกผิดออกไปจากใจ
ในส่วนที่เกิดความรู้สึกเสียดายว่า ฉันน่าจะทำอย่างโน้น น่าจะทำอย่างนี้ ที่จริงถ้าเรามองสักหน่อยว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เราได้ทำไปแล้วมันก็ใช้ได้นะ
ของที่เราซื้อมา แม้เราจะพบในเวลาต่อมาว่ามันมีขายถูกกว่านั้นครึ่งหนึ่ง แต่ว่าของที่เราซื้อมา แม้มันจะแพงกว่าอีกร้านหนึ่ง แต่ว่ามันก็เป็นของที่ดีไม่ใช่หรือ หรือแม้เราจะซื้อหวยแค่ 10 บาท แล้วได้เงินมาไม่กี่ร้อย ไม่กี่พัน มันก็ยังดีไม่ใช่หรือ
ถ้าเรารู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ มันก็ไม่ทุกข์อะไร แต่เพราะคนเราโลภ ได้สิบ อยากได้ร้อย ได้ร้อย อยากได้ล้าน มันก็เลยรู้สึกเสียดาย เสียใจ รู้สึกเป็นทุกข์ ทั้งที่สิ่งที่ได้มามันก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร ถ้าคนเรารู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ มันก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ หรือแม้บางอย่างเราอาจจะตัดสินใจผิด แต่สิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้วและชีวิตที่สืบเนื่องตามมามันก็ไม่ได้เลวอะไร
ชายหนุ่มที่ไม่ได้บอกรักหญิงสาวเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้ชีวิตเขาก็โอเคไม่ใช่หรือ ใครจะไปรู้ ขืนเกิดบอกรักแล้วก็ตกล่องปล่องชิ้นกันแล้วปุ๊บ อาจจะทะเลาะเบาะแว้งกัน อาจจะเลิกรากันไป หรือสร้างความทุกข์ให้กับกัน แทนที่จะมีความสุขอย่างทุกวันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นมีความทุกข์ก็ได้ ถ้ามองแบบนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเสียดายหรือเสียใจ
สิ่งที่เป็นปัญหาของคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมาสนใจปฏิบัติธรรม หรือได้มารู้เห็น มีประสบการณ์ เวลามองย้อนไปในอดีต เช่น ตอนที่เป็นเด็ก ๆ ก็จะรู้สึกผิด ตอนที่เป็นเด็ก เราคะนอง ยิงนก ตกปลา ไปแกล้งสัตว์ หรือว่าเล่นการพนัน สูบบุหรี่ กินเหล้า
ตอนนี้เราโตแล้ว ได้มารู้แล้วว่า ศีล 5 มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่เราควรจะยึดถือเอาไว้ หลายคนที่พอมาพบศีลแล้วก็หันมาศรัทธาในการสมาทานศีล เวลามองย้อนไปสมัยที่เป็นวัยรุ่นจะรู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะตอนนั้นไม่มีศีลเลย ศีลข้อ 3 ก็ไม่มี แล้วก็รู้สึกแย่กับตัวเองมาก
ที่จริงการที่คนเรามีพัฒนาการดีขึ้นเป็นเรื่องดี แต่เราไม่ควรจะเอาประสบการณ์ หรือเอาความรู้ที่เรามีในวันนี้ไปตัดสินหรือเหยียบย่ำการกระทำหรือประสบการณ์ในอดีต เพราะถ้าขืนเราทำอย่างนั้น เราจะไม่มีความสุขในชีวิตเลย เพราะว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาในวันนี้ มันดีกว่าเมื่อหลายปีก่อนเยอะ
เมื่อเรามองย้อนกลับไปสมัยที่เราเป็นนักเรียนประถม มัธยม ข้อสอบง่าย ๆ เราทำผิด แต่ตอนนี้เราจบปริญญาแล้ว เรารู้เลยว่า ถ้าเรามีความรู้ขนาดนี้ ข้อสอบแบบนั้นเราไม่ผิดหรอก แต่เราก็ไม่เคยไปด่าว่าหรือไปโทษตัวเราเองสมัยที่เป็นเด็กมัธยมว่าเราโง่ ทำไมโจทย์ง่าย ๆ แบบนี้ ทำผิด เราไม่เคยต่อว่าเพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าตอนนั้นเราก็มีความรู้เท่านั้น
แต่ว่าเวลาพูดถึงเรื่องธรรมะหรือเรื่องศีล หลายคนพอได้มาพบธรรมะ พอได้มาเห็นคุณค่าของศีล ก็มักจะมองตัวเองในอดีตแบบติดลบว่า ทำไมฉันแย่แบบโน้น ทำไมฉันแย่แบบนี้ ทั้งที่ตอนนั้นเราก็ยังเป็นเด็ก ไม่ได้รู้อะไรมาก มันก็เป็นธรรมดาที่จะยิงนก ตกปลา หรือว่าพลาดพลั้งเผลอไป ตามประสาเด็ก ตามประสาวัยรุ่น
ปัญหาของจำนวนมากคือ พอมาพบธรรมะ บางทีก็ ติดดี ติดดีก็เลยยอมรับไม่ได้ว่า สมัยก่อน ตอนที่ยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เราไม่มีศีล เราไม่มีธรรม รู้สึกละอายตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมา
อันนี้ไม่ใช่เป็นโทษของการมีธรรมะ แต่เป็นเพราะติดดีมากกว่า วางใจไม่เป็น ถ้าวางใจเป็นมันก็จะไม่ได้รู้สึกแย่อะไรกับตัวเองสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม ก็ถือว่า เออ เรายังไม่มีประสบการณ์ เรายังอ่อนต่อโลก เราก็เลยพลั้งเผลอไป แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แล้ว เราพบว่าอะไรเป็นคุณค่าของชีวิตแล้ว ก็น่าจะยินดีที่เรามืดมา สว่างไป ไม่ใช่พอสว่างไปแล้วก็มาโทษว่าทำไมตอนเด็กมันมืดอย่างนั้น น่าจะยินดีที่ตอนนี้เราพบทางสว่างแล้ว
ฉะนั้น ถ้าเราวางใจให้เป็น คำว่า "ไม่น่าจะ" "ไม่น่าเลย" หรือ "น่าจะ" มันจะไม่รบกวนจิตใจเรา เราจะไม่เอาคำนี้มาใช้ในทางที่ผิด คือเอามาใช้กับเหตุการณ์ในอดีต แต่เราจะเอามาใช้กับสิ่งที่เราจะทำในวันข้างหน้า หรือกำลังจะทำในวันนี้ต่างหาก และนี่คือสิ่งที่ควรทำ.
...